Loading AI tools
การเดินขบวนและการดื้อแพ่งนิยมประชาธิปไตยในประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 เป็นการประท้วงต่อรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แรกเริ่มเกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 การประท้วงเกิดขึ้นในพื้นที่สถานศึกษาทั้งหมด และหยุดไปช่วงหนึ่งจากการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย และการออกคำสั่งปิดสถานศึกษาเพื่อควบคุมโรค
การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 | |||
---|---|---|---|
ตามเข็มนาฬิกาจากด้านบน:
| |||
วันที่ |
| ||
สถานที่ | ประเทศไทย และมีการประท้วงในต่างประเทศส่วนหนึ่ง | ||
สาเหตุ |
| ||
เป้าหมาย |
| ||
วิธีการ | เดินขบวน,[a] แฟลชม็อบ, รณรงค์ออนไลน์, เข้าชื่อ, ศิลปะการประท้วง, การดำเนินกิจกรรมของผู้บริโภค, การปาอาวุธชนิดระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ | ||
ผล | การประท้วงยุติลง
| ||
คู่ขัดแย้ง | |||
| |||
ผู้นำ | |||
| |||
จำนวน | |||
| |||
ความเสียหาย | |||
เสียชีวิต | 4 คน[20][21][22][23] (ตำรวจ 1 นาย)[24][c] | ||
บาดเจ็บ | 154+ คน[d] | ||
ถูกจับกุม | 581+ คน[e] | ||
ถูกตั้งข้อหา | 1,634+ คน[44] |
การประท้วงกลับมาอุบัติขึ้นอีกครั้งในวันที่ 18 กรกฎาคม ในรูปแบบการเดินขบวนซึ่งจัดระเบียบภายใต้กลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นับเป็นการชุมนุมใหญ่สุดในรอบ 6 ปี มีการยื่นข้อเรียกร้อง 3 ประการต่อรัฐบาล ได้แก่ ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การประท้วงในเดือนกรกฎาคมนั้นเกิดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด-19 และการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) นับแต่นั้นทำให้ต่อมาการประท้วงได้ลามไปอย่างน้อย 44 จังหวัดทั่วประเทศ จนวันที่ 3 สิงหาคม กลุ่มผู้ประท้วงจัดปราศรัยเกี่ยวกับประเด็นพระราชอำนาจและเพิ่มข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังจากนั้น ประเด็นพระราชอำนาจดูเหมือนเข้ามารวมอยู่ในเป้าหมายการประท้วงด้วย กลุ่มประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลจัดการชุมนุมตอบโต้ โดยกล่าวหาผู้ประท้วงว่าถูกยุยงปลุกปั่นมีเจตนาแฝงล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ การประท้วงในวันที่ 19 กันยายนมีผู้เข้าร่วม 20,000–100,000 คน หลังรัฐสภาลงมติเลื่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปลายเดือนกันยายนทำให้เกิดการแสดงออกนิยมสาธารณรัฐอย่างเปิดเผยหมู่ครั้งแรกในประเทศไทย นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานครระหว่างวันที่ 15–22 ตุลาคม โดยอ้างเหตุขวางขบวนเสด็จฯ แต่ก็ถูกกล่าวหาว่าทางการจงใจจัดขบวนเสด็จฯ ฝ่าผู้ชุมนุม สมัยประชุมวิสามัญได้ข้อสรุปว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาการเมือง การประชุมในเดือนพฤศจิกายนมีการรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ซึ่งยังคงมีวุฒิสภา และห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 ทำให้การประท้วงในเดือนพฤศจิกายนมุ่งเป้าไปยังพระมหากษัตริย์มากขึ้น และมีการเผชิญหน้าระหว่างผู้ประท้วงและกลุ่มคนเสื้อเหลือง
การประท้วงหยุดไปอีกครั้งในช่วงปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 แต่การต่อสู้คดีของแกนนำผู้ประท้วงยังดำเนินต่อ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ศาลไม่ให้ประกันตัวจำเลยในคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย และการไม่รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นชนวนให้เกิดการประท้วงบนท้องถนนอีกครั้ง ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงยังพยายามเรียกกระแสให้กลับคืนมาอีกครั้ง
การตอบสนองของภาครัฐมียุทธวิธีประวิงเวลา การแจ้งข้อหาอาญาโดยใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มีการใช้หน่วยสงครามข่าวสาร การตรวจพิจารณาสื่อ และมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาล และมีการป้ายสีมีรัฐบาลและมีองค์การนอกภาครัฐต่างประเทศให้การสนับสนุน บ้างกล่าวหาว่าผู้ประท้วงกำลังต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือตกเป็นเหยื่อของนักการเมือง
สื่อนิยมเจ้าและนิยมรัฐบาลพยายามลงข่าวให้เข้าใจว่าผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายสร้างความรุนแรง และมีชาวสหรัฐ[45][46]ให้การสนับสนุน มีผู้สังเกตว่าการตอบสนองของทางการในปี 2564 หนักมือขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ดี เมื่อถึงปี 2565 การประท้วงบนท้องถนนได้ยุติลงไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสื่อคาดว่าเป็นเพราะทางการใช้วิธีปราบปรามและสอดแนมผู้ชุมนุมคนสำคัญอย่างหนัก และความแตกแยกในหมู่สมาชิกขบวนการประท้วงเอง
ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา สถาปนาอำนาจและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 คสช. ครองอำนาจบริหารประเทศเป็นเวลา 5 ปี 55 วัน โดยไม่มีการตรวจสอบ เป็นช่วงที่สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนถูกจำกัด และความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจกว้างขึ้น[47][48] หลังการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2559 ที่ผลเป็นข้อพิพาท ตลอดจนไม่เสรีและเป็นธรรม[49] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน มีผลใช้บังคับ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหลายอย่าง เช่น วุฒิสภาที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้งทั้งหมดและมีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเวลาห้าปี (สองคน) และผูกมัดให้รัฐบาลในอนาคตต้องปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช. นักวิชาการเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยที่มีการชี้นำ (guided democracy) โดยกองทัพ[50]
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ถูกมองว่า "เสรีบางส่วนและไม่เป็นธรรม" และเป็นอำนาจนิยมแบบมีการเลือกตั้ง (electoral authoritarianism)[51] ทำให้ คสช. สิ้นสุดลงแต่ในนาม อย่างไรก็ดี ระบบการเมืองเดิมยังดำเนินต่อในรูปพรรคทหารแบบประเทศพม่า[51] กองทัพยังคงดำเนินนโยบายและปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช. พรรคร่วมรัฐบาลประกอบด้วยพรรคที่สนับสนุนประยุทธ์และพรรคเล็กที่ได้รับผลประโยชน์จากการตีความกฎหมายเลือกตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.[52] อีกทั้งยังมีพรรคพวกในวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรตามรัฐธรรมนูญต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่ในราชการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ถูกแต่งตั้งตามกลไกของ คสช. ผู้มีอำนาจจำนวนมาก รวมทั้งผู้มีส่วนในอาชญากรรมที่มีการจัดตั้ง (organized crime) ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญ[51][53][54]
ระหว่างการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้รับเสียงตอบรับดีจากผู้มีความคิดก้าวหน้าและเยาวชน ซึ่งมองว่าเป็นทางเลือกสำหรับพรรคการเมืองแบบเก่าและต่อต้าน คสช.[55] เผยให้เน้นการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจและสังคมตามรุ่นวัย[51] หลังรัฐบาลผสมอายุได้ 11 เดือน พรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นฝ่ายค้านถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคในห้วงที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังมีญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล[56] อดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่เปิดโปงการมีส่วนร่วมของรัฐบาลใน 1MDB[57]
ในขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าสาเหตุของการประท้วงมาจากการที่คณะรัฐประหารนั้นผิดสัญญาที่ให้ไว้ในเพลง "คืนความสุขให้ประเทศไทย"[58]เช่น เหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2558 เหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการก่อการร้ายและ เหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 ที่ทหารลงมือสังหารประชาชนด้วยอาวุธปืน รวมถึงระยะเวลาที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี นั้นนานมาก[59]
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชอำนาจเพิ่มขึ้นกว่าพระราชอำนาจตามประเพณีที่ทรงอำนาจอยู่แล้วนับแต่รัชกาลก่อน พระองค์ทรงมีความเห็นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และนำไปสู่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้งที่ผู้ออกเสียงลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญนั้นแล้ว[60]และมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2561 ซึ่งส่งผลให้พระองค์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาค
นับตั้งแต่ปี 2560[61][62]มีพระราชโองการปลดข้าราชการพลเรือนในพระองค์และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์จำนวนมาก[63][64][65][66][67][68] อาทิปลด พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย[69]เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณีออกจากยศทหารและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์[70]บางกรณีได้มีการแต่งตั้งกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม[71][72]ข้อหาที่ปลดอาทิ คบชู้ โต้แย้งพระราชกระแส ประพฤติชั่วร้ายแรง ผิดราชสวัสดิ์ในลักษณะเชิงชู้สาว[73]
พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 เริ่มใช้วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ซึ่งมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท พลเรือเอก ณะ อารีนิจ พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง และ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทหารอยู่ในสภาจำนวนมาก อนุมัติกฎหมายฉบับนี้ซึ่งส่งผลให้พระองค์มีรายได้จากเงินปันผลเฉพาะ ปูนซีเมนต์ไทย และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2565 มากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ถึง 3 ปี โดยคำนวนก่อนหักภาษี ณ ที่จ่าย 10%[74]จากจำนวนปีช่วงดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 6 ปี ฟ้าเดียวกัน ระบุว่าตลอดหกปีที่กฎหมายบังคับใช้ทรงมีรายได้จากเงินปันผลจากสองบริษัทรวม 59,796 ล้านบาท เมื่อคำนวนโดยหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% เป็นรายรับรวม 53,816.53 ล้านบาท
ต่อมามีพระบรมราชโองการปลด อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ พ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้อย่างเร่งด่วน[75]ซึ่งส่งผลให้พระองค์เป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งตาม พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2491 ที่ใช้ตลอด 69 ปีถือว่าเป็นของสาธารณะ ปีเดียวกันมีพระบรมราชโองการปลดผู้บริหารกรมราชองครักษ์ทั้งหมด[76]
ต่อมาวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 คณะรัฐมนตรีชุดใหม่สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง โดยสมาชิกคณะรัฐมนตรีนั้นกล่าวสวามิภักดิ์ต่อพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นการละเมิดการสาบานก่อนเข้ารับตำแหน่งโดยไม่ยอมกล่าวแก้ไข[52] ในปี 2563 รัฐบาลโอนหน่วยทหาร 2 หน่วยให้เป็นส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งดูเหมือนว่ากระทำในพระปรมาภิไธย[77] ในช่วงเดียวกัน พระองค์ยังถูกกล่าวหาว่าพยายามลบประวัติศาสตร์ โดยมีการทำลายอนุสรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ คณะราษฎร และ การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 [52]ช่วงปลายปีได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์[78]
การใช้บังคับกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) เป็นหัวข้อถกเถียงมาตั้งแต่รัชกาลก่อน จำนวนคดีได้เพิ่มสูงสุดหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557[79] นักวิจารณ์มองว่ากฎหมายนี้เป็นอาวุธทางการเมืองที่ใช้ปราบปรามผู้เห็นต่าง และจำกัดเสรีภาพในการพูด แม้ไม่มีคดีใหม่ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งประยุทธ์กล่าวว่าทรงเป็นพระราชประสงค์ แต่ก็มีการใช้กฎหมายความมั่นคงอื่นแทน เช่น กฎหมายการปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116), พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือความผิดฐานอั้งยี่ซึ่งทั้งหมดล้วนมีโทษร้ายแรงพอ ๆ กับกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ในเดือนมิถุนายน 2563 การบังคับให้สูญหายของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ในประเทศกัมพูชา ได้รับความสนใจและเห็นใจในโลกออนไลน์[80] และต่อมาในวันที่ 9 กรกฎาคม ทิวากร วิถีตน ถูกบังคับเข้าโรงพยาบาลจิตเวชจากการโพสต์รูปใส่เสื้อยืด "เราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์แล้ว" ซึ่งเป็นการถูกคุกคามทางการเมืองโดยอ้างจิตเวช ทำให้เกิดกระแส #saveทิวากร เป็นอันดับหนึ่งในโลกออนไลน์ [81]
รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม และสั่งเคอร์ฟิวเพื่อจำกัดการระบาด รัฐบาลยังสั่งงดเดินทางเข้าประเทศจากต่างประเทศ[82] แม้ประเทศค่อนข้างประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคแล้ว เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขที่ทนทาน[83][84] แต่รัฐบาลยังไม่ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อจำกัดทางเศรษฐกิจที่รุนแรง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีความสำคัญของประเทศได้รับผลกระทบหนัก กองทุนการเงินระหว่างประเทศทำนายว่าจีดีพีไทยจะหดตัวลงร้อยละ 6.7 ในปี 2563[85] รัฐบาลกู้ยืมเงินและประกาศเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท (60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่มีผู้ได้รับประโยชน์จริงจำนวนน้อย[86]
วันที่ 15 กรกฎาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ 3 คน แต่ 2 ใน 3 คนนั้น เป็นทหารชาวอียิปต์และครอบครัวอุปทูตซูดาน ซึ่งทั้งสองเป็นแขกพิเศษของรัฐบาล และรัฐบาลผ่อนผันมาตรการปฏิบัติต่อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 บางอย่าง รัฐบาลปิดบังพื้นที่เสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยสองรายนี้จนกระทั่งวันที่ 16 กรกฎาคม ทำให้ชาวเน็ตหลายคนเกรงว่าอาจมีการระบาดระลอกที่ 2[87] ประชาชนจำนวนมากจึงวิจารณ์ความล้มเหลวของรัฐบาลในการควบคุมโรคกับแขกวีไอพีเหล่านี้[88] และความล้มเหลวในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19[89][90] วันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีเดินทางลงพื้นที่จังหวัดระยอง ตำรวจจับผู้ประท้วงสองคนที่ถือป้ายข้อความประท้วงนายกรัฐมนตรีและเรียกร้องให้ลาออก มีรายงานว่าทั้งสองถูกตำรวจทำร้ายด้วย[91]
การประท้วงระยะแรกเกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ พรรคการเมืองฝ่ายค้านซึ่งได้รับความนิยมในหมู่เยาวชน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563[92] จึงเกิดการเดินขบวนในมหาวิทยาลัย วิทยาลัยและโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศตั้งแต่นั้นมา การประท้วงเหล่านี้มีแฮชแท็กที่จำเพาะกับสถาบันของพวกตน การประท้วงในช่วงแรก ๆ เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โรงเรียนที่ประท้วงด้วย เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและโรงเรียนศึกษานารีวิทยา อย่างไรก็ดี การประท้วงเหล่านี้จำกัดอยู่ในสถาบันของตนเท่านั้น[93][94] ด้านบุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ระบุว่า การประท้วงบนถนนไม่เคยสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทย หากกองทัพยังอยู่ข้างรัฐบาล[1]
แฮชแท็กที่เกิดขึ้นในการประท้วงเดือนกุมภาพันธ์ เช่น ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป, ใน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ใช้ #ลูกพ่อขุนไม่รับใช้เผด็จการ , ในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ใช้ #เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ, ในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ใช้ #มศวขอมีจุดยืน, #รากฐานจะหารด้วย อีกจำนวนหนึ่งใช้แสดงออกถึงความเป็นปรปักษ์กับกลุ่มผู้สนับสนุนเผด็จการ เช่น #KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ, #KKUขอโทษที่ช้าโดนสลิ่มลบโพสต์, #ศาลายางดกินของหวานหลายสี, #พระจอมเกล้าชอบกินเหล้าไม่ชอบกินสลิ่ม
ต่อมาการประท้วงหยุดไปจากสถานการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย และคำสั่งปิดสถานศึกษาทั่วประเทศเพื่อควบคุมโรคโดยให้จัดการเรียนการสอนทางออนไลน์แทน
การรณรงค์ให้หยุดก่อม็อบลงถนนหลังกรณีศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่เพราะกลัวให้เป็นข้ออ้างในการปราบปรามสังหารประชาชนหรือการรัฐประหารซ้อน[95] การติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์เริ่มเป็นที่นิยมในชื่อ save เพื่อให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากรัฐ เช่น #saveวันเฉลิม (วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยในประเทศกัมพูชา)[96], #saveทิวากร ผู้สวมเสื้อ เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว[97]
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์และผู้ลี้ภัยทางการเมือง ทวีตตั้งคำถามเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 พร้อมใส่แฮชแท็กดังกล่าว จนนำไปสู่การที่กลุ่มเยาวชนกล้าพูดในเรื่องที่สุ่มเสี่ยงที่สุด คือ #กษัตริย์มีไว้ทำไม[98] เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผู้ใช้ทวิตเตอร์ "นิรนาม_"ถูกจับกุมที่ทวิตภาพและข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 และถูกฝากขังที่ศาลพัทยา และไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้การตรวจสอบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากบริษัททรู[99]
ต่อมาในวันที่ 24 เมษายน สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ระบุว่า สนท. ขอเชิญชวนชาวไทยทุกคนร่วมประท้วงออนไลน์ โดยการถ่ายรูปถือป้ายแสดงความรู้สึกต่อรัฐบาลพร้อมติด #MobFromHome "โควิดหายมาไล่รัฐบาลกันไหม?"[100] ส่งผลให้ในวันต่อมา (25 เมษายน) #MobFromHome พุ่งติดเทรนด์ยอดนิยมอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ประเทศไทย โดยมีผู้ใช้ทวิตเตอร์แต่ละบัญชีต่างออกมาระบายความอัดอั้นตันใจที่มีต่อรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์[101]
และวันที่ 27 เมษายน นายแพทย์ สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวร่วม #MobFromHome ด้วย และได้เปิดตัวแฮชแท็กใหม่อีกคือ #NoCPTPP เนื่องจากในวันถัดมา (28 เมษายน) คณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ นำโดยจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะมีการเสนอให้ประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ CPTPP ซึ่งจากข้อตกลงนี้มีกฎหมายข้างเคียงที่จะทำให้ไทยถูกเอาเปรียบทางด้านการเกษตรและด้านการแพทย์อย่างมาก เช่น ต่างชาติสามารถผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชได้ ยามีราคาแพงขึ้น สิทธิบัตรยาถูกผูกขาดมากขึ้น ทำให้ไทยมีความมั่นคงทางอาหารและยาลดลง[102]และ ตุล ไวฑูรเกียรติ นักร้องนำวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า ก็ได้ออกมาร่วมรณรงค์ให้คัดค้าน CPTPP ด้วย จนทำให้แฮชแท็ก #NoCPTPP ก็ติดอันดับ 1 ในทวิตเตอร์[103] จนกระทั่งจุรินทร์ต้องสั่งถอนวาระเรื่อง CPTPP ออกจากวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีทันทีในวันนั้นเอง[104]และได้มีคำสั่งให้ย้าย นายแพทย์ สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย[105] อำเภอสะบ้าย้อยพร้อมแจ้งความดำเนินคดี[106]
ในวันที่ 16 มิถุนายน ทิวากร วิถีตนได้โพสต์รูปบนเฟสบุคตัวเอง ซึ่งเป็นกระแสอย่างมากในโลกออนไลน์ ก่อนหน้านั้นทิวากรได้นำเสนอแนวคิดโดยการใช้สโลแกน 'เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว' ในกลุ่มรอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส ของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งผู้ใช้งานหลายคนได้กังวลเรื่องความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย จนถูกคุกคามทางการเมืองโดยอ้างจิตเวชในวันที่ 9 กรกฎาคม มีรถตำรวจและโรงพยาบาล 10 คัน มาจอดที่บ้านเขาในเวลาย่ำค่ำ กลุ่มตำรวจและพยาบาลเข้ามาในบ้านและใช้การบังคับให้ออกไปโดยใช้คนถึง 6 คนเพื่อส่งไปโรงพยาบาลจิตเวช ในรถพยาบาลเจ้าหน้าที่ได้มัดแขนเขาด้วยผ้า และฉีดยาไม่ทราบชนิดให้ หลังจากนั้นตำรวจได้ค้นบ้าน นำคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือไป พร้อมทั้งให้มารดาลงชื่อยินยอมให้นำตัวเข้าโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ [81]
วันที่ 18 กรกฎาคม ประเทศไทยมีการเดินขบวนตามถนนครั้งใหญ่สุดนับแต่รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557[107] ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในกรุงเทพมหานคร ผู้ประท้วงซึ่งรวมตัวกันในชื่อกลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" (อังกฤษ: Free Youth) ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ประการ ได้แก่ การยุบสภาผู้แทนราษฎร, การหยุดคุกคามประชาชน และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกำหนดระยะเวลาให้รัฐบาลตอบสนองภายใน 2 สัปดาห์ มิฉะนั้นผู้ประท้วงจะทำการยกระดับการชุมนุมต่อไป[108] สาเหตุการประท้วงเกิดจากเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน[109][110] โดยการชุมนุมเริ่มต้นในเวลา 17:00 น. มีผู้เข้าร่วมประมาณ 2,500 คน[111]
จากนั้นการประท้วงได้ลามไปทั่วประเทศ มีการจัดระเบียบการเดินขบวนในกว่า 20 จังหวัดในวันที่ 23 กรกฎาคม[112] บางมหาวิทยาลัยและโรงเรียนสั่งห้ามบุคลากรและนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมการชุมนุมและห้ามจัดการชุมนุมในพื้นที่โดยอ้างเหตุความกังวลเรื่องโควิด-19 พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกและกลุ่มนิยมรัฐบาลชี้ว่าการกระทำบางอย่างของนักศึกษาอาจเข้าข่ายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย วันที่ 24 กรกฎาคม ที่จัตุรัสท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา มีการจัดการนั่งยึดพื้นที่โดยกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาจาก 4 มหาวิทยาลัยในจังหวัด นับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่ง[113] วันที่ 27 และ 29 กรกฎาคม คนไทยที่กรุงลอนดอน ในสหราชอาณาจักร และนครนิวยอร์กในสหรัฐ ร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลด้วย[114]
นอกจากการประท้วงโดยมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองแล้ว กลุ่มหลากหลายทางเพศ ชื่อ เสรีเทย ยังจัดการเดินขบวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องกฎหมายสมรสเพศเดียวกันนอกเหนือจากข้อเรียกร้องสามข้อของเยาวชนปลดแอก[115]
รายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ระบุว่า จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม มีการจัดกิจกรรมแล้ว 75 ครั้งใน 44 จังหวัด ในจำนวนนี้ 5 กิจกรรมไม่สามารถจัดได้เพราะมีการคุกคามและปิดกั้นของทางการ[116]
วันที่ 1 สิงหาคม กลุ่มเยาวชนปลดแอกยกระดับการชุมนุม และตั้งกลุ่มการเมืองใหม่ในชื่อ "คณะประชาชนปลดแอก" (อังกฤษ: Free People) และได้เชิญชวนประชาชนทุกเพศ ทุกวัย มาร่วมมือกับเยาวชนเพื่อขับไล่รัฐบาลชุดนี้ด้วย โดยได้นัดหมายการชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 16 สิงหาคม[117]
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก | |
---|---|
คำปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของอานนท์ นำภา, วิดีโอยูทูบ |
วันที่ 3 สิงหาคม กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มมอกะเสดจัดการชุมนุม มีแฮชแท็กว่า #เสกคาถาไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร[118] เป็นการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน[119] โดยเวลาประมาณ 20.00 น. อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขึ้นปราศรัย[120] อานนท์ถูกตั้งข้อหาหลายข้อหา รวมทั้งข้อหาหนักสุดการปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116) และถูกตำรวจจับกุมในวันที่ 7 สิงหาคม[121] ตามมาด้วยภาณุพงศ์ จาดนอก[122] ปฏิกิริยาจากการจับกุมดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คนในวันที่ 8 สิงหาคม[123] ประมาณต้นเดือนสิงหาคม เกิดการรณรงค์ #ไม่รับปริญญา หมายถึง ไม่เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร[124]
วันที่ 7 สิงหาคม ไอลอว์เริ่มจัดกิจกรรมรวบรวมรายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หวังรวบรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน[125]
วันที่ 10 สิงหาคม ในช่วงเย็นถึงหัวค่ำ มีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี ชื่อ "#ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" มีผู้เข้าร่วมจากหลายกลุ่มและหลายมหาวิทยาลัย และมีกลุ่มอาชีวะมาช่วยรักษาความปลอดภัยให้[126] รวมประมาณ 3,000 คน[127] และใช้สโลแกนว่า "เราไม่ต้องการปฏิรูป เราต้องการปฏิวัติ" มีการประกาศข้อเสนอ 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์[128] ซึ่งถือเป็นการชุมนุมที่ทลายเพดานการเคลื่อนไหวแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง[129]
|
วันที่ 14 สิงหาคม บีบีซีรายงานว่ามีการจัดประท้วงแนวร่วมเยาวชนปลดแอกใน 49 จังหวัด และประชาชนปกป้องสถาบันฯ 11 จังหวัด[130]
วันที่ 16 สิงหาคม คณะประชาชนปลดแอกซึ่งยกระดับจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก[52] จัดการชุมนุม "ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียนรีวิวรายงานอ้างตำรวจภาคสนามว่ามีผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 20,000 คน[131] โดยผู้ชุมนุมข้อเรียกร้องเดิม และยื่นคำขาดว่า ภายในเดือนกันยายน จะต้องยกเลิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน[52] นอกจากนี้ในวันเดียวกัน มีการชุมนุมสนับสนุนในต่างประเทศ คือ ในกรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ซึ่งมีชาวไต้หวัน ชาวฮ่องกงและชาวสิงคโปร์เข้าร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง[132] มีนักเรียนหลายโรงเรียนร่วมประท้วงด้วย ใช้แฮชแท็ก #โรงเรียนหน้าเขาไม่เอาเผด็จการ มีการกล่าวถึง 4 แสนครั้ง[133]
วันที่ 18 สิงหาคม กลุ่ม "นักเรียนเลว" จัดการประท้วงเป่านกหวีดที่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อขับณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีต กปปส.[134]
วันที่ 30 สิงหาคม มีกลุ่ม "ไทยภักดี" ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยประมาณ 1,000–1,200 คนชุมนุมในสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง จัดโดยนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม ในพื้นที่ใกล้เคียงเกิดเหตุทำร้ายร่างกายภารโรงสูงอายุคนหนึ่งที่ใส่เสื้อแดง[135][136]
วันที่ 26 สิงหาคม กลุ่มนักศึกษายื่นข้อเรียกร้อง รวมทั้งข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อสภาผู้แทนราษฎร[137] ต่อมาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองฝ่ายยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมทั้งเพื่อแก้ไขในวรรคว่าด้วยวิธีดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ[138][139] วันที่ 28 สิงหาคม ผู้มีชื่อตามหมายจับจำนวน 15 คนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ ส.น. สำราญราษฎร์ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางประกัน วันเดียวกัน เกิดเหตุ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ศิลปินเพลง สาดสีใส่ชุดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ[140]
วันที่ 9 กันยายน แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้แถลงรายละเอียดหน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เกี่ยวกับการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน ซึ่งเป็นวันครบรอบ 14 ปี ของการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ซึ่งจะเป็นการชุมนุมปักหลักค้างคืน และจะมีการเดินขบวนไปยื่นข้อเรียกร้องแก่พลเอกประยุทธ์ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันรุ่งขึ้น โดยคาดว่าจะใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์หรือท้องสนามหลวงเป็นที่ชุมนุม[141]
ก่อนหน้าชุมนุมที่มีการนัดหมายในวันที่ 19 กันยายน เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยปิดประตู[142] คณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่ามีอาสาสมัครตั้งเต็นท์ศูนย์อำนวยการติดตามการชุมนุม[143]
วันที่ 19 กันยายน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดการชุมนุมภายใต้ชื่อ "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร" แต่เป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกที่เชิญชวนประชาชนให้ปักหลักค้างคืน[144] มีการเจรจาระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยจนสามารถเข้าไปในพื้นที่ได้สำเร็จ[145] ในเวลาบ่าย ผู้ชุมนุมย้ายไปปักหลักที่ท้องสนามหลวง โดยมีเจ้าหน้าที่กั้นรั้วรอบพื้นที่พระบรมมหาราชวัง[144] ในช่วงเย็น มีประมาณการผู้ร่วมชุมนุมระหว่าง 20,000–100,000 คนแล้วแต่แหล่งข้อมูล[146][147] ฝ่ายตำรวจมีการระดมเจ้าพนักงานกว่า 10,000 นายเข้ามาในพื้นที่[148] เช้าวันที่ 20 กันยายน มีการทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2 เพื่อรำลึกถึงหมุดคณะราษฎรเดิมที่หายไปในปี 2560[149][150] และผู้ประท้วงเปลี่ยนแผนจากการเคลื่อนไปทำเนียบรัฐบาล เป็นเคลื่อนไปทำเนียบองคมนตรีแทน และยื่นข้อเรียกร้องต่อประธานองคมนตรีผ่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาลก่อนสลายตัว[151] ไม่มีรายงานเหตุการณ์ความรุนแรง โดยพริษฐ์ ชิวารักษ์ ประกาศนัดชุมนุมอีกในวันที่ 14 ตุลาคม[151] หมุดดังกล่าวถูกนำออกจากบริเวณภายใน 24 ชั่วโมง[152] สื่อต่างประเทศบางสำนักระบุว่าการประท้วงครั้งนี้เป็นการประท้วงต่อการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเปิดเผย[153]
วันที่ 24 กันยายน ซึ่งเป็นวันลงมติในญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีการชุมนุมเพื่อกดดันสมาชิกวุฒิสภา สุดท้ายรัฐสภามีมติตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ อันเป็นผลให้เลื่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญออกไปอย่างน้อย 1 เดือน ทำให้เกิดทวีต #RepublicofThailand (สาธารณรัฐไทย) ติดอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ในคืนนั้น นับเป็นการแสดงออกนิยมสาธารณรัฐแบบหมู่สาธารณะครั้งแรกในประเทศไทย[154]
ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งได้รับสมญาว่า "นักร้องการเมือง" ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกลุ่มผู้ชุมนุมว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม จนศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในวันที่ 16 กันยายน โดยนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้หน่วยงานของราชการส่งหลักฐานให้แก่เขาในวันที่ 24 กันยายน ทั้งนี้เขาหวังว่าคำวินิจฉัยของศาลว่าจะสามารถตีความอย่างกว้างขวางเพื่อขัดขวางมิให้กล่าวถึงในประเด็นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อีกต่อไป และยังสามารถดำเนินคดีกับผู้สนับสนุนต่าง ๆ ได้[155]
วันที่ 2 ตุลาคม กลุ่มนักเรียนมัธยม "นักเรียนเลว" จัดการประท้วงในโรงเรียนหลายแห่งในกรุงเทพมหานครเพื่อประท้วงการละเมิดนักเรียน แล้วชุมนุมกันที่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลาออกอีกครั้ง[156]
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก | |
---|---|
ขบวนเสด็จฯ ฝ่าแนวผู้ชุมนุมประท้วง 14 ตุลาคม 2563, วิดีโอเฟซบุ๊ก | |
เหตุทำร้ายร่างกายนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรามคำแหง 21 ตุลาคม 2563, วิดีโอทวิตเตอร์ |
วันที่ 13 ตุลาคม ก่อนหน้าวันที่นัดหมายชุมนุมใหญ่ 1 วัน ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งชุมนุมกันที่ถนนราชดำเนินใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อประท้วงขบวนเสด็จฯ[157] โดยระหว่างขบวนเสด็จฯ ผ่านผู้ประท้วงได้ชูสัญลักษณ์มือสามนิ้วซึ่งเป็นการแสดงออกไม่พอใจพระมหากษัตริย์ไทยอย่างเปิดเผย มีการสลายการชุมนุม และมีผู้ประท้วงถูกจับกุม 21 คน ต่อมาแฮชแท็กโจมตีพระมหากษัตริย์ติดอันดับทวิตเตอร์[158]
วันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันนัดชุมนุมใหญ่ เริ่มมีการชุมนุมตั้งแต่เช้าภายใต้ชื่อ "คณะราษฎร" จำนวนหลายหมื่นคน[159] โดยประกาศจะเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออก[160]และมีการจัดชุมนุมในประเทศเกาหลีใต้โดยชนกนันท์ รวมทรัพย์[161]ปรากฏว่าการประท้วงภายในประเทศไทยทางการสั่งขนผู้ประท้วงตอบโต้โดยใช้พาหนะของราชการ[162]ส่วนกลุ่มนิยมเจ้า เช่น กลุ่มประชาชนเพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน จัดการประท้วงตอบโต้[163] วันเดียวกัน เกิดเหตุทำร้ายร่างกายผู้ประท้วงโดยฝ่ายตรงข้าม มีการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลแล้วตั้งเต้นท์และเวทีปราศรัยโดยรอบทั้ง 4 ทิศ ทั้งนี้ การประท้วงดังกล่าวตรงกับการเสด็จพระราชดำเนินตามหมายกำหนดการ ซึ่งผ่านบริเวณชุมนุมที่ถนนพิษณุโลกและไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการล่วงหน้า และทั้งที่กำหนดการเดิมว่าจะใช้ถนนราชดำเนิน[164] ไม่มีการขัดขวางขบวนเสด็จ แต่นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ว่าจะดำเนินคดีอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ขัดขวางขบวนเสด็จฯ ตามอ้าง[164] เช่นเดียวกับกลุ่มฝ่ายขวาและสื่อที่รีบออกมาโจมตีผู้ชุมนุม[165][166] ด้าน อานนท์ นำภา กล่าวว่า ราชการจงใจจัดขบวนเสด็จฯ ฝ่าบริเวณชุมนุม และอานนท์กะจำนวนผู้เข้าร่วมประท้วงประมาณ 200,000 คนก่อนเวลาเที่ยงคืน[167]
วันที่ 15 ตุลาคม เวลา 04:00 น. นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร มีคำสั่งห้ามชุมนุม และจำกัดการนำเสนอข่าว[168] รวมถึงจัดตั้งกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ขึ้นมาควบคุมสถานการณ์โดยเฉพาะ[169] ทำให้ตำรวจใช้อำนาจนี้เข้าสลายการชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาล โดยมีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 20 คน และผู้ชุมนุมนัดหมายอีกครั้งในเวลา 16:00 น. ที่แยกราชประสงค์ ส่งผลให้แฮชแท็ก #15ตุลาไปราชประสงค์ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 แม้การเชิญชวนไปชุมนุมจะเป็นความผิด[170] วันเดียวกัน นายตำรวจระดับสูงสามนายถูกสั่งย้ายและสอบสวนจากกรณีขบวนเสด็จฯ[171] มีการส่งกำลังทหารมายังทำเนียบรัฐบาลและอาคารรัฐสภา[172] ส.ส. ฝ่ายค้านจึงตั้งข้อสังเกตว่าเป็นบรรยากาศเหมือนช่วงก่อนเกิดรัฐประหารปี 2557[173] พรรคร่วมฝ่ายค้านเรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร และเปิดสมัยประชุมวิสามัญ[174] การประท้วงในเวลาเย็นที่แยกราชประสงค์ดำเนินต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 13,500 คน[175] มีผู้ถูกจับกุมเพิ่มอีกอย่างน้อย 20 คน[176] แต่ผู้ประท้วงยืนยันจะประท้วงต่อโดยใช้ยุทธวิธีแฟลชม็อบ[177] มีนักกิจกรรมถูกจับกุม 2 คนฐานประทุษร้ายพระราชินี[178] ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 51 คนระหว่างวันที่ 13 ถึง 15 ตุลาคม[42]
วันที่ 16 ตุลาคม ประยุทธ์กล่าวถึงผู้ประท้วงตอนหนึ่งว่า "อย่าประมาทกับชีวิต เพราะคนเราสามารถตายได้ทุกเวลา อย่าไปท้าทายกับพญามัจจุราช"[179] โดยเป็นการยกคำสอนตอนหนึ่งของพระพุทธเจ้า แต่ถูกมองว่าเป็นการขู่ฆ่าอย่างทรราช[180] ในเวลาเย็น ผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธประมาณ 2,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น จัดแฟลชม็อบที่แยกปทุมวัน โดยเปลี่ยนจากแยกราชประสงค์ที่มีตำรวจประจำอยู่หนาแน่น แต่ไม่ถึงสองชั่วโมงถัดมาก็ถูกตำรวจสลายการชุมนุม มีรายงานใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง น้ำผสมสารเคมี[175] และแก๊สน้ำตา[181] ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลพยายามเจรจากับตำรวจขอให้เคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บออกจากที่ชุมนุม แต่ไร้ผล ด้าน พลตำรวจโท ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกล่าวว่ามีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 100 คน[43] หลังมีการสลายการชุมนุม นักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยจัดแฟลชม็อบเพื่อประณามการกระทำดังกล่าว[182][183][184] ขณะที่วรงค์ เดชกิจวิกรมและ อัษฎางค์ ยมนาค หยิบยกคลิปโดยสำนักข่าวเอเอฟพีที่มีผู้ประท้วงใช้คีมตัดเหล็กฟาดใส่ตำรวจในชุดเกราะมาตั้งคำถามว่าผู้ชุมนุมมือเปล่าจริงหรือไม่[185][186] สีของน้ำนั้นคาดการณ์ว่าเป็นเมทิลีนบลู, แอเซอร์เอ, หรือไทโอนีน และใช้ติดตามตัวบุคคลเป็นเวลาหลายวัน[187] ด้านตำรวจไม่สามารถยืนยันประเภทของสารเคมีได้แน่ชัด ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าดูไม่ได้ศึกษาสารเคมีที่จัดซื้อมา[188]
วันที่ 17 ตุลาคม ผู้ชุมนุมในนาม "กลุ่มราษฎร" ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากคณะราษฎร และตำรวจประเมินว่ามีจำนวนประมาณ 23,000 คน ได้จัดการชุมนุมในรูปแบบไร้แกนนำในหลายจุดในกรุงเทพมหานคร ทำให้รัฐบาลสั่งปิดระบบขนส่งมวลชน และมีผลกระทบต่อผู้โดยสารหลายแสนคน[189] การชุมนุมในวันที่ 18 ตุลาคม จัดที่แยกอโศกมนตรี แยกบางนา และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นหลัก เป็นการชุมนุมโดยสงบและไม่ยืดเยื้อ พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้อำนวยการ กอร.ฉ. ใช้อำนาจสั่งปิดสถานีรถไฟฟ้าและสกายวอล์คในบริเวณดังกล่าว[190] ตำรวจระบุว่ามีผู้ชุมนุมประมาณ 6,000 คน ตามแยกต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งยังไม่รวมการประท้วงในอีกหลายจังหวัด[191] วันที่ 21 ตุลาคม กลุ่มคณะราษฎรเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง แต่ถูกตั้งเครื่องกีดขวางอย่างแน่นหนาและมีฝ่ายตรงข้ามพยายามขวาง[192] เกิดเหตุการณ์กลุ่มชายชุดเหลืองที่ประกาศตนว่าสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ก่อเหตุฝ่าแนวกั้นตำรวจเข้าทำร้ายกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำให้นักศึกษาต้องย้ายสถานที่ชุมนุม ซึ่งกลุ่มชายชุดเหลืองประกาศว่าเป็นชัยชนะ[193][194][195] มีนักศึกษาได้รับบาดเจ็บ 1 คนและเข้าแจ้งความดำเนินคดี[28] วันเดียวกัน ประยุทธ์ออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ขอให้ทั้งสองฝ่ายลดความรุนแรงและแก้ไขสถานการณ์ผ่านกระบวนการรัฐสภา ขอให้ผู้ประท้วงลดคำพูดที่ "ก่อให้เกิดความแตกแยก"[196][197] วันที่ 22 ตุลาคม ประยุทธ์ออกประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร[198][199]
ประยุทธ์จัดสมัยประชุมวิสามัญของรัฐสภาไทย 26–27 ตุลาคม 2563[200] แต่ผู้ประท้วงต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออกก่อนเพื่อเป็นการแสดงความสุจริตใจก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ[201] ในสมัยประชุมนั้นไม่มีประเด็นใดตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง[202][203] หลังการประชุม ประยุทธ์กล่าวว่ารัฐบาลจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และตั้งคณะกรรมการหาทางออก แต่ตนจะไม่ลาออก[204]
วันที่ 24 ตุลาคม กลุ่มราษฎรพบว่าประยุทธ์ไม่ลาออกจากตำแหน่งตามกำหนด จึงยกระดับการชุมนุมอีกครั้ง โดย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จัดการชุมนุมในวันที่ 25 ตุลาคม ที่แยกราชประสงค์ นับเป็นการชุมนุมใหญ่ที่แยกราชประสงค์ของกลุ่มคณะประชาชนปลดแอก เป็นครั้งที่ 2[205] และวันถัดมาคือ 26 ตุลาคม ได้เดินขบวนจากแยกสามย่านไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี เพื่อยื่นหนังสือสอบถามเกี่ยวกับการใช้พระราชอำนาจในประเทศเยอรมนีของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฮโค มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศเยอรมนี ระบุว่า ได้ติดตามสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำระหว่างประทับอยู่ในเยอรมนีมานานพอสมควรแล้ว และยังคงตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ามีการทำผิดกฎหมายจะดำเนินการทันที[206] วันที่ 29 ตุลาคม มีการชุมนุมหน้าวัดพระศรีมหาอุมาเทวี เพื่อประท้วงเสื้อผ้าของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยมีรายงานว่าได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน 13 ล้านบาท[207][208][209] วันที่ 30 ตุลาคม เกิดการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น หลังพริษฐ์ ชิวารักษ์ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และภาณุพงศ์ จาดนอก ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ แต่ตำรวจอายัดตัวต่อ[210] ซึ่งพบร่องรอยการบาดเจ็บ การถูกทำร้าย ขาดน้ำและอดนอน[29]
วันที่ 3 พฤศจิกายน มีการประท้วงหน้าศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นที่ตั้งของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประท้วงการสั่งปิดเว็บไซต์สื่อลามก พอร์นฮับ ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่าพยายามปกปิดภาพของพระมหากษัตริย์ที่ละเอียดอ่อน[211]
วันที่ 8 พฤศจิกายน กลุ่มราษฎรจัดกิจกรรมส่งราษฎรสาส์นถึงพระมหากษัตริย์ที่สำนักพระราชวัง แต่ถูกตำรวจฉีดน้ำสกัดก่อนถึงที่หมายโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าและยังไม่ทันเจรจา[212] จนสุดท้ายได้หย่อนจดหมายที่ตู้ไปรษณีย์จำลองโดยไปไม่ถึงสำนักพระราชวัง กลุ่มผู้ชุมนุมยังมีแถลงการณ์ระบุว่า "กษัตริย์มิอาจเลือกที่รักมักที่ชัง"[212] มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 คน เป็นเจ้าหน้าที่ 1 คน[30] ด้านตำรวจออกมาขอโทษผู้ชุมนุมโดยอ้างว่าเป็นความผิดพลาด "มือลั่น"[213] แต่ต่อมาอ้างว่าเป็นการฉีดน้ำหลังจากพยายามเจรจาแล้วไม่เป็นผล[212] ทางการและหน่วยสารสนเทศของรัฐบาลส่งต่อภาพที่ปรากฏว่ามีผู้ชุมนุมขว้างวัตถุที่เหมือนติดไฟใส่ตำรวจและพยายามสร้างภาพว่าผู้ประท้วงใช้ความรุนแรง แต่ผู้ชุมนุมระบุว่าเป็นเพียงระเบิดควันเท่านั้น ซึ่งปาไปเพราะต้องการบดบังทัศนวิสัยหลังฉีดน้ำรอบแรก[214]
วันที่ 10 พฤศจิกายน เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติประเมินว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีผู้เข้าร่วมลดลงทั่วประเทศ โดยประเมินว่ามีจำนวนไม่เกิน 15,000 คนในกรุงเทพมหานคร และไม่เกิน 20,000 คนทั่วประเทศ พร้อมขู่ว่าเมื่อกระแสอ่อนแรงเมื่อไรจะดำเนินคดีตามกฎหมาย[215]
วันที่ 14 พฤศจิกายน กลุ่มประท้วงประมาณ 20 กลุ่ม ซึ่งมีตั้งแต่นักเรียนมัธยมปลาย นักกิจกรรมสิทธิสตรีและ LGBTQ ร่วมจัดการประท้วงในงาน "ม็อบเฟสต์" กลุ่มนักเรียนมีการใช้ผ้าคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเกิดการปะทะกับตำรวจเล็กน้อย ซึ่งสื่อรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บที่ขา 1 นาย[32]
วันที่ 17 พฤศจิกายน รัฐสภาเริ่มต้นการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ การประท้วงนอกอาคารรัฐสภาในวันนั้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 55 คน หลังผู้ประท้วงพยายามเข้าใกล้อาคารและถูกตำรวจสกัดด้วยปืนใหญ่ฉีดน้ำและแก๊สน้ำตาสีม่วง ต่อมาในช่วงค่ำ เกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับผู้ประท้วงนิยมเจ้าสวมเสื้อเหลือง ซึ่งมีผู้ถูกปืนยิง 6 คน[31][216] มีคนสวมเสื้อเหลืองคนหนึ่งถูกจับกุมในบริเวณนั้นฐานครอบครองปืนสั้นและเครื่องกระสุน แต่เขาอ้างว่าพกมาเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น[217] สำหรับสารที่ตำรวจใช้นั้น รองศาสตราจารย์ วีรชัย พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่ามีสารเคมีหลายชนิดในกลุ่มแก๊สน้ำตา แต่มีการผสมให้เข้มข้นมาก และทำให้ผู้ถูกสารมีตุ่มน้ำพุพอง[218]
วันที่ 18 พฤศจิกายน รัฐสภาลงมติรับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ซึ่งให้มีวุฒิสภาต่อไป และห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 แต่ปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ไอลอว์ยกร่าง[219] ผู้ชุมนุมที่รู้สึกโกรธเพราะถูกปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ไอลอว์ยกร่างและการใช้กำลังของตำรวจเมื่อวันก่อนจึงยกระดับการชุมนุมและจัดชุมนุมที่แยกราชประสงค์อีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 โดยมีการเปลี่ยนชื่อแยกเป็น "ราษฎรประสงค์" และมีการเดินขบวนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสาดสีและเติมรอยขูดขีดเขียนในบริเวณดังกล่าว และได้นัดชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่หน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บริเวณวังแดง เพื่อทวงคืนทรัพย์สินที่ควรเป็นของราษฎร วันต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลรีบทำความสะอาดป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บ้างใช้สีขาวหรือสีดำทาทับพื้นถนน และประยุทธ์ขอบใจการกระทำนี้[220]
วันที่ 21 พฤศจิกายน กลุ่มนักเรียนเลวจัดกิจกรรม "บ๊ายบายไดโนเสาร์" ซึ่งหมายถึงสมาชิกรัฐสภาที่มีความคิดล้าสมัย ในกิจกรรมมีหญิงในชุดนักเรียนถือกระดาษมีข้อความว่า "หนูถูกครูทำอนาจาร รร.ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย"[221] ทำให้มีสมาชิกวุฒิสภาฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลออกมากล่าวหาในเรื่องความจริงใจและเจตนาของเธอ[222][223]
วันที่ 23 พฤศจิกายน ตำรวจล้อมรั้วลวดหนามและตู้คอนเทนเนอร์รอบสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งติดตั้งป้าย "เขตพระราชฐาน" ในยามวิกาล[224] วันที่ 24 พฤศจิกายน ตำรวจออกหมายเรียกแกนนำผู้ชุมนุมจำนวน 12 คน ให้เข้าไปรับทราบข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งในครั้งแรกตำรวจขอหมายจับ แต่ศาลไม่อนุมัติ[225] ตอนดึก ผู้ชุมนุมประกาศย้ายสถานที่จัดการชุมนุม โดยย้ายไปชุมนุมที่หน้าเอสซีบีพาร์กพลาซา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ บนถนนรัชดาภิเษกแทน โดยระบุว่าเพื่อเลี่ยงการปะทะกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง[226]
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก | |
---|---|
คลิปบุคคลปาวัตถุระเบิด ณ ที่ชุมนุม 25 พฤศจิกายน 2563, วิดีโอทวิตเตอร์ |
วันที่ 25 พฤศจิกายน เวลา 15:00 น. กลุ่มราษฎรได้จัดชุมนุมที่หน้าเอสซีบีพาร์กพลาซาตามกำหนด[227] พริษฐ์ ชิวารักษ์ เสนอรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อยกเลิก พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แยกทรัพย์สินส่วนพระองค์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจากกัน[228] สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปราศรัยเพิ่มว่า การที่รัฐบาลกลับมาดำเนินคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยถือเป็นการขัดพระบรมราชโองการ และประยุทธ์ควรลาออก[229] ทั้งนี้ผู้ชุมนุมได้ประกาศจัดการชุมนุมต่อเนื่องยาว 5 วัน[230] ก่อนหน้านี้ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่าไม่มีความคิดในการใช้กฎอัยการศึก[231] จากนั้นในช่วงดึกเกิดเสียงระเบิดและเสียงปืนดังขึ้นในบริเวณที่ชุมนุม มีการ์ดผู้ชุมนุมถูกยิงได้รับบาดเจ็บและนำตัวส่งโรงพยาบาล 2 คน คนหนึ่งได้รับบาดเจ็บที่ท้องและต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน[33][232] ด้านผู้ชุมนุมจับตัวผู้ต้องสงสัยไว้ได้[233] ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าตำรวจเข้าระงับเหตุล่าช้า[234] วันรุ่งขึ้น ตำรวจสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าเป็นเหตุวิวาท โดยอ้างคลิปวิดีโอที่เข้าใจว่าเป็นการ์ดผู้ชุมนุมสนทนากัน และยังไม่มีการควบคุมตัวผู้ใด ส่วนประยุทธ์รีบออกแถลงการณ์ว่ารัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง[234] นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลอ้างว่าเป็นการยิงกันเองเพื่อสร้างสถานการณ์[235]
วันที่ 27 พฤศจิกายน กลุ่มราษฎรจัดกิจกรรม "ซ้อมต้านรัฐประหาร" ที่ห้าแยกลาดพร้าว โดย ภาณุพงศ์ จาดนอก ได้ขึ้นเวทีเพื่อปราศรัยวิธีการต่อต้านรัฐประหาร โดยนำรถยนต์ไปจอดทิ้งไว้บนถนนสายต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อขัดขวางการเคลื่อนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหาร รวมทั้งรวมตัวกันขัดขืนคำสั่งของคณะรัฐประหาร[236]
วันที่ 29 พฤศจิกายน กลุ่มราษฎรจัดชุมนุมเดินขบวนจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ไปยังกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ทั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแผนจากเดิมที่จะจัดชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งตำรวจได้ล้อมรั้วลวดหนามและตู้คอนเทนเนอร์ไว้โดยรอบ และเมื่อถึงกรมทหารราบที่ 11 แกนนำได้อ่านแถลงการณ์เกี่ยวกับการถ่ายโอนอำนาจของกองกำลังทหารให้คืนสู่ต้นสังกัดเดิม[237]
วันที่ 1 ธันวาคม กลุ่มนักเรียนเลว จัดกิจกรรมนัดแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียนในวันเปิดภาคเรียน เพื่อต่อต้านกฎระเบียบเกี่ยวกับชุดนักเรียน โดยมีบางโรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนที่แต่งชุดไปรเวทสามารถเข้าเรียนได้ แต่บางโรงเรียนจะไม่อนุญาตให้เข้าเรียน บ้างก็ให้ไปคุยกับผู้บริหารในห้องปกครองนานหลายชั่วโมง[238]
วันที่ 2 ธันวาคม กลุ่มราษฎรนำโดย ชินวัตร จันทร์กระจ่าง จัดชุมนุมอีกครั้งที่ห้าแยกลาดพร้าวเพื่อประท้วงและวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าประยุทธ์ไม่ได้กระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเข้าพักอาศัยในบ้านพักราชการทหาร[239] และ นาย อรรถพล บัวพัฒน์ ทำการทุบศาลพระภูมิด้วย[240]
วันที่ 31 ธันวาคม กลุ่ม We volunteer (วีโว่) จัดกิจกรรมจำหน่ายกุ้งสดบริเวณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ต่อมาตำรวจได้จับกุม ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำการชุมนุม โดยมีการปะทะมีผู้บาดเจ็บหนึ่งราย จากการทำร้ายร่างกายบริเวณใบหน้า[241] ต่อมาในเวลาดึก มีเหตุเสียงระเบิดคล้ายระเบิดปิงปองใต้ท้องรถกระบะริมถนนราชดำเนิน[242] มีผู้บาดเจ็บ 4 ราย ซึ่งตำรวจไม่สามารถตามหาตัวคนร้ายได้[243]
ในช่วงปลายปี 2563 มีการหยุดพักการชุมนุมบนท้องถนนเพื่อป้องกันการระบาดอีกครั้งของโรคโควิด-19 แต่การประท้วงทางออนไลน์ยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ชุมนุมที่มีชื่อเสียงยังต้องต่อสู้คดี โดยระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม มีผู้ถูกดำเนินคดี 38 คน[244] ถัดมาในวันที่ 14 มกราคม 2564 มีนักศึกษาคนหนึ่งถูกจับกุมที่หอพักในเวลาดึก ทำให้มีการจัดการประท้วงแฟลชม็อบที่สถานีตำรวจในเวลาไล่เลี่ยกัน[245] วันที่ 16 มกราคม นักกิจกรรม 5 คนถูกจับกุมหลังกลับมามีการชุมนุมบนถนนอีก เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ เกิดเหตุระเบิดซึ่งคาดว่าเป็นระเบิดดินเทาโดยดูเหมือนว่าปาใส่ตำรวจปราบจลาจล ทำให้เกิดความกังวลเรื่องความรุนแรง[246] วันเดียวกัน การ์ดราษฎรคนหนึ่งถูกลักพาตัว จนมาพบตัวอีกครั้งในวันที่ 17 มกราคม โดยคาดว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ความมั่นคง[247] วันที่ 19 มกราคม 2564 เบนจา อะปัญ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ไปประท้วงถือป้าย "ผูกขาดวัคซีน หาซีนให้เจ้า" ที่ไอคอนสยามและถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้านี้ของไอคอนสยาม[248][249]
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 อัยการสั่งฟ้องแกนนำกลุ่มราษฎร 4 คนในหลายข้อหา รวมทั้งความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย[250] และคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว[251] ทำให้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มราษฎรกลับมาจัดการชุมนุมบนท้องถนนอีกครั้งในรอบ 3 เดือน โดยจัดกิจกรรม "รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ" บนสกายวอล์กวันสยาม แยกปทุมวัน โดยผู้ชุมนุมได้นำหม้อ จาน ชาม มาตีและเคาะ[252] เลียนแบบการประท้วงรัฐประหารในประเทศพม่า[253] และกล่าวหาว่ารัฐบาลใช้มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ที่ทำให้ประชาชนตกงาน, บริหารเศรษฐกิจล้มเหลว และจัดหาวัคซีนล่าช้า[254] จากนั้น ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ประกาศว่ามีผู้ชุมนุมจำนวน 10 คน ถูกควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ผู้ชุมนุมจึงได้เคลื่อนขบวนลงและเดินขบวนไปยังสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน[255] เมื่อถึงสถานีตำรวจ ภาณุพงศ์ จาดนอก ได้เข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ปล่อยตัว และประกาศว่าหากเจ้าหน้าที่ไม่ยอมปล่อยตัวผู้ชุมนุมภายในเวลา 20:30 น. ผู้ชุมนุมจะบุกเข้าไปในโรงพัก[256] จากนั้นเกิดเสียงดังคล้ายระเบิดต่อเนื่องประมาณ 3-4 ลูกบริเวณแนวกั้น[257] เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าไปสอบสวนแต่ผู้ชุมนุมเข้าใจว่าจะออกมาควบคุมตัวพวกเขา ทำให้แกนนำต้องออกมาชี้แจง และมีการ์ดราษฎรมากันผู้ชุมนุม[258] และมีรถพยาบาลเคลื่อนมารับผู้บาดเจ็บ จากนั้น ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้ปราศรัยต่อว่า ที่ผ่านมาพวกเขาต่อสู้แบบประนีประนอม ไม่ใช้ความรุนแรง และได้เชิญชวนให้ประชาชนออกมาชุมนุมบนถนนกันให้มากขึ้น รวมถึงจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาควบคู่ไปกับในสภาด้วย ก่อนจะยุติการชุมนุม[259] ตำรวจวางกำลังประมาณ 100 นาย เผชิญหน้ากับผู้ประท้วงกว่า 1,000 คน มีการใช้แก๊สน้ำตา แต่ตำรวจรีบออกมาบอกว่าเป็นแก๊สน้ำตาที่ถูกขโมยไปจากการชุมนุมก่อนหน้านี้ ทั้งที่ยังไม่ได้มีการสอบสวน[260] มีนักกิจกรรมถูกจับกุมราว 10 คน[261]
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก | |
---|---|
ตำรวจกระทืบผู้แต่งเครื่องแบบแพทย์สนาม 13 กุมภาพันธ์ 2564, คลิปทวิตเตอร์ | |
ตำรวจกระทืบผู้ประท้วง 28 กุมภาพันธ์ 2564, คลิปทวิตเตอร์ | |
ตำรวจไล่ผู้ประท้วงที่กำลังหนี 20 มีนาคม 2564, คลิปทวิตเตอร์ |
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ประท้วงจัดการประท้วงอย่างสันติอีกครั้ง โดยจัดกิจกรรมปราศรัยและห่ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยผ้าแดง ก่อนเคลื่อนไปยังศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร[262] แต่ในเวลาหัวค่ำหลังผู้ประท้วงส่วนใหญ่แยกย้ายตามประกาศของแกนนำแล้วได้เกิดการปะทะระหว่างผู้ประท้วงที่เหลือกับตำรวจ เกิดเสียงระเบิดดังหลายครั้ง และตำรวจอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 20 คน[262] และมีผู้ประท้วงถูกจับกุม 11 คน[263] นอกจากนี้ยังมีการ์ดอาชีวะคนหนึ่งถูกยิงที่ขาด้วยปืนที่คาดว่าเป็นลูกซองสั้น ผู้ประท้วงเข้าปิดล้อมร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น ที่ผู้ลงมือหลบหนีเข้าไปจนตำรวจตามมาจับกุมในภายหลัง[264] มีคลิปวิดีโอออกมาว่า ผู้สวมชุดแพทย์อาสาถูกตำรวจรุมทำร้าย[262] จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้แฮชแท็ก #ตำรวจกระทืบหมอ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์[265]
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มราษฎรได้จัดกิจกรรม "ม็อบเฟสต์" ครั้งที่ 2 ที่หน้าสัปปายะสภาสถาน โดยมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาจำนวน 8 ประเด็น[266] และดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมจากหลากหลายกลุ่มทั่วประเทศมาเข้าร่วมด้วย[267] และวันที่ 23 กุมภาพันธ์ กลุ่มราษฎรได้จัดการชุมนุมใหญ่ที่แยกราชประสงค์เป็นครั้งที่ 4 และมีการเดินขบวนไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นครั้งที่ 2 เพื่อประท้วงการทุจริตและการแทรกแซงการเลื่อนตำแหน่งในวงการตำรวจ จากกรณี "ตั๋วช้าง"[268]
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ชุมนุมในกลุ่ม "รีเด็ม-ประชาชนสร้างตัว" ซึ่งแตกสาขาออกมาจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก[269] จำนวนประมาณ 2,000 คน[270] เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปชุมนุมประท้วงโดยไม่มีแกนนำที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ อันเป็นที่ตั้งของบ้านพักของประยุทธ์[271] ตามการนัดหมายในเทเลแกรม[272] มีการตัดสินใจยุติการชุมนุมตั้งแต่เวลา 21.30 น. แต่ผู้ประท้วงสายแข็งบางส่วนยังชุมนุมต่อและถูกการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนยาง ไปจนถึงเวลาดึก ศูนย์แพทย์ฉุกเฉินอ้างว่ามีประชาชนได้รับบาดเจ็บ 10 คน และตำรวจได้รับบาดเจ็บ 22 นาย[273]
วันที่ 1 มีนาคม 2564 อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหา 5 รายในคดีที่ตำรวจอ้างว่าได้พยายามชิงตัวผู้ต้องหา พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ภาณุพงศ์ จาดนอก เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 โดยผู้พิพากษาไม่ให้ประกันตัว[274]
วันที่ 2 มีนาคม 2564 พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ พลอากาศเอก เกษม อยู่สุข หัวหน้าสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ และ พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข เข้าร่วมพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ร.ต.อ.วิวัฒน์ สินเสริฐ [275]
วันที่ 3 มีนาคม 2564 ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ถูกจับกุมฐานวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งเขายอมรับและบอกว่าตนมีเหตุผลในการลงมือ[276] โดยก่อนหน้านี้ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัว 4 แกนนำคณะราษฎรในคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ทำให้จำเลยถูกคุมขังทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด[277] ต่อมาในวันที่ 6 มีนาคม ผู้ชุมนุมกลุ่มรีเด็มเดินขบวนจากห้าแยกลาดพร้าวไปยังศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก และได้เผาขยะหน้าศาลเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และมีการเรียกร้องให้ปล่อยผู้ชุมนุมที่ถูกคุมขัง[278] ก่อนจะประกาศยุติอย่างสงบ โดยไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น[279]
นอกจากนี้ กลุ่มราษฎร ร่วมกับกลุ่ม พีเพิล โก เน็ตเวิร์ค ยังได้จัดกิจกรรมเดินขบวนประท้วงเพิ่มเติม คือ "กิจกรรมเดินทะลุฟ้า คืนอำนาจประชาชน" เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมก่อนหน้านี้ โดยเดินขบวนจากลานย่าโมไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นระยะทาง 247.5 กิโลเมตร[280] เริ่มออกขบวนเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์[281] ใช้เวลา 33 วัน จึงถึงจุดหมายเมื่อวันที่ 7 มีนาคม[282] ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม กลุ่มเดินทะลุฟ้าเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อสมทบกับกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม, ชาวบางกลอย และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม[283] ตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าเพื่อกดดัน และปักหลักจนกว่าประยุทธ์จะลาออก[284] ทั้งนี้ ในช่วงประมาณกลางเดือนมีนาคม ยังมีข่าวกลุ่มบุคคลเข้าไปพบผู้ต้องขังในคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยในเวลาดึก ทำให้อานนท์ นำภา ยื่นคำร้องต่อศาล ต่อมากรมราชทัณฑ์อ้างว่าเป็นการตรวจหาเชื้อโควิด-19[285]
วันที่ 17 มีนาคม 2564 รัฐสภามีมติไม่ผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับในวาระสาม เนื่องจากได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกวุฒิสภาไม่ถึงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด[286] โดยก่อนหน้านั้น วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หากผ่านรัฐสภาจะเกิดปัญหา[287] โดยในขั้นถัดไป นักการเมืองแต่ละฝ่ายยังเห็นไม่ตรงกันว่าจะดำเนินการต่อโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา หรือจัดการลงประชามติก่อน[288]
วันที่ 20 มีนาคม 2564 มีการจัดการชุมนุมของกลุ่มรีเด็มที่ท้องสนามหลวง หน้าพระบรมมหาราชวัง ซึ่งตำรวจตั้งเครื่องกีดขวางเป็นตู้คอนเทนเนอร์และรั้วลวดหนาม โดยมีผู้ประท้วงประมาณ 1,000 คน[289] เหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมบางส่วนกับตำรวจควบคุมฝูงชนเริ่มต้นประมาณ 18.30 น. เมื่อผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งพยายามรื้อเครื่องกีดขวาง[290] ตำรวจใช้ไม้ตะบอง เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตาและกระสุนยางต่อผู้ประท้วงและสื่อมวลชน[291] ส่วนผู้ประท้วงบางส่วนใช้โมโลตอฟค็อกเทล[292] และมีการเผายางที่แยกคอกวัว[293] ผู้ชุมนุมคนหนึ่งอ้างว่าตนและเพื่อนถูกคนร้ายยิงด้วยกระสุนจริง รวม 2 คน และอาจทุพพลภาพตลอดชีวิต ญาติเข้าแจ้งความดำเนินคดีแล้ว[294] ศูนย์เอราวัณรายงานจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บที่ 33 คน เป็นเจ้าหน้าที่ 13 นาย ประชาชน 20 คน[295] ถูกจับกุมรวม 32 คน ตำรวจอ้างว่าความรุนแรงเกิดจากผู้ประท้วงเป็นหลัก และเตรียมดำเนินคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยกับบางคนที่ "ได้กระทำโดยกระทบจิตใจของคนไทยโดยรวม มีการกระทำผิดตามประมวลอาญา มาตรา 112 อย่างจงใจ"[290] มีผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 3 คน[296] ด้านหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ อ้างว่า ผู้ชุมนุมบางส่วนพกปืน ยิงหนังสติ๊กลูกแก้วใส่ตำรวจ และทำลายพระบรมฉายาลักษณ์หน้าศาลฎีกา[297] จากเหตุการณ์ดังกล่าว วันที่ 21 มีนาคม จึงมีการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร เช่น ชูสามนิ้ว ร้องเพลงชาติ แต่มีเหตุการณ์ผู้ประท้วงถูกกลุ่มปกป้องสถาบันทำร้าย และคนหนึ่งถูกสาดน้ำใส่ทั้งที่อยู่ระหว่างตำรวจควบคุมตัว[298]
วันที่ 24 มีนาคม 2564 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้จัดการชุมนุมโดยมีการตั้งเวทีและมีแกนนำที่แยกราชประสงค์อีกครั้ง เวลา 17.00 น. นับเป็นการชุมนุมที่นี่เป็นครั้งที่ 5 ของกลุ่มราษฎร[299] โดยก่อนหน้านี้ได้นัดรวมตัวผู้ชุมนุมตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ตำรวจกล่าวว่าจะไม่มีการปิดรถไฟฟ้า[300] มีการติดภาพวาดใบหน้าของผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ทับป้ายชื่อแยก มีแกนนำหลักในการปราศรัย 3 คน ซึ่งจะต้องไปฟังคำสั่งฟ้องข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยของอัยการในวันรุ่งขึ้น ส่วนเนื้อหาหลักคือการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดย รองศาสตราจารย์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ได้ส่งคลิปที่พูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มาให้ผู้ชุมนุมได้รับชมด้วย[301]
วันที่ 28 มีนาคม 2564 ตำรวจเข้าสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าตั้งแต่ช่วงเช้า จับกุมผู้ชุมนุมได้ทั้งหมด 70 ราย นำส่งไปดำเนินคดีต่อที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน[302] แต่ในช่วงบ่ายได้มีการจัดกิจกรรมทวงคืนหมู่บ้านทะลุฟ้า พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยผู้ชุมนุมในหมู่บ้านทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข[303]
วันที่ 2 เมษายน 2564 กลุ่มคนเดือนตุลาประกาศเปิดตัว "กลุ่มคนเดือนตุลาเพื่อประชาธิปไตย" เพื่อเรียกร้องหลักนิติธรรมจากฝ่ายตุลาการในเรื่องการดำเนินคดีทางการเมือง[304] วันที่ 3 เมษายน บนแอปพลิเคชันคลับเฮาส์มีการจัดคอนเสิร์ต M.O.B Aid: Free Concert Live on Clubhouse เพื่อช่วยเหลือนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี[305] วันที่ 4 เมษายน จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ร่วมกับพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 นำผู้ชุมนุมหลากหลายกลุ่มจัดการชุมนุมในชื่อ "ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย" ที่อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร เพื่อขับไล่ประยุทธ์[306] โดยมีข้อตกลงว่าห้ามเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์[307] ก่อนหน้านั้น จตุพรให้สัมภาษณ์ว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวไม่ได้ออกมาในนาม นปช. และมองว่าประยุทธ์เป็นศูนย์กลางของปัญหาทั้งหมด โดยไม่กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์[308]
วันที่ 10 เมษายน 2564 ผู้ชุมนุมหลายกลุ่มจัดกิจกรรมรำลึกการสลายการชุมนุมที่แยกคอกวัวเมื่อปี 2553 แต่อดีตแกนนำ นปช. จัดกิจกรรมเพียงสั้น ๆ แล้วกลับ[309] โดยก่อนหน้านั้น ในวันที่ 9 เมษายน จตุพรประกาศพักเวทีของตนไว้ก่อนเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกที่ 3 และหันไปจัดกิจกรรมออนไลน์แทน[310] เช่นเดียวกับกลุ่มรีเด็ม[311] ต่อมาประมาณกลางเดือนเมษายน ตำรวจจับกุมชายจากจังหวัดเชียงรายที่มาอดอาหารประท้วงหน้าศาลฎีกาเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหากลุ่มราษฎรหลังเริ่มได้ 3 วัน พร้อมแจ้งข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย[312]
วันที่ 29 เมษายน 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมและกลุ่มนักเรียนนักศึกษาไปประท้วงที่หน้าศาลอาญาเพื่อส่งจดหมายเรียกร้องการประกันตัวนักเคลื่อนไหวที่กำลังอดอาหารในเรือนจำ โดยนำเอกสารที่ล่ารายชื่อผู้สนับสนุนกว่า 10,000 ชื่อ แนบมาด้วย[313]
วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 กลุ่มรีเด็มจัดการชุมนุมอีกครั้งในรูปแบบคาราวานรถยนต์และจักรยานยนต์ ได้เคลื่อนขบวนจากเกาะพญาไทไปเข้าตัวเมืองและเดินทางสิ้นสุดที่หน้าศาลอาญา รัชดา เพื่อประท้วงการคัดค้านการประกันตัวนักโทษคดีการเมือง[314] ผู้ประท้วงได้นำรูปภาพของชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มาปิดที่ป้ายสำนักงานศาลยุติธรรม และได้ขว้างปาไข่ไก่ มะเขือเทศ ใส่พระบรมฉายาลักษณ์ เข้าไปในพื้นที่สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา[315] เวลาประมาณ 20.30 น. ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายผู้ประท้วงกลุ่มรีเด็มที่ยังคงอยู่ในพื้นที่หลังมีประกาศยุติการชุมนุมแล้ว โดยตำรวจอ้างว่ามีการปาระเบิดปิงปองและพลุใส่ตำรวจ มีผู้ถูกจับกุม 4 ราย[316]
วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ศาลให้ประกันตัวแกนนำราษฎรครบ 7 คนจากคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 แล้ว โดยพบว่าหลายคนติดโควิด-19 ระหว่างถูกคุมขัง[317] อย่างไรก็ดี พบว่ามีเยาวชนรวม 7 คนถูกแจ้งความดำเนินคดีในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ถึงพฤษภาคม 2564 โดยมีอายุต่ำสุด 14 ปี[318]
วันที่ 3 มิถุนายน 2564 พบแผ่นกระดาษ เอ 4 สีขาว เขียนข้อความต่าง ๆ ในเชิงสื่อข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล ถูกติดไว้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และสถานที่อื่น ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อมามีการเปิดเผยว่าเป็นกิจกรรมของกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อความหวัง (เด็มโฮป)[319]
วันที่ 24 มิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นวันครบรอบการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 มีการชุมนุมของมวลชนหลายกลุ่มในหลายจังหวัดทั่วประเทศ[320]
วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่มราษฎร พร้อมด้วยมวลชนและผู้ค้า เดินทางมารวมตัวกันเพื่อร่วมกิจกรรม ภายหลังมีคำสั่ง ศบค. ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากเดือดร้อนได้รับผลกระทบ พร้อมยืนยันเจตนารมณ์ในการขับไล่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี[321] วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 มวลชนร่วมกิจกรรมการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) พร้อมกลุ่มแนวร่วม รวมถึงกลุ่มคาร์ม็อบภายใต้การนำของ สมบัติ บุญงามอนงค์[322]
ภาพจากแหล่งข้อมูลภายนอก | |
---|---|
ตำรวจเล็งปืนใส่พลเรือนไม่มีอาวุธ 1 ส.ค. 2564, เฟซบุ๊ก |
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก | |
---|---|
"ขอพวกพี่สนุกหน่อย มันเต็มที่แล้ว" 10 สิงหาคม 2564, วิดีโอเฟซบุ๊ก |
วันที่ 1 สิงหาคม 2564 มีการชุมนุมคาร์ม็อบ (CarMob) ตามนัดหมาย นำโดย กลุ่มราษฎร แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มทะลุฟ้า[323] โดยทำการขับรถยนต์และจักรยานยนต์บีบแตรและเปิดไฟกะพริบเพื่อประท้วงต่อต้านรัฐบาล เช่นเดียวกับการชุมนุมในอีก 30 จังหวัดทั่วประเทศ
วันที่ 7 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันครบรอบ "วันเสียงปืนแตก" หรือการเริ่มต้นการก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย มีการนัดหมายชุมนุมที่พระบรมมหาราชวัง ทำให้มีกลุ่มต่าง ๆ ประกาศถอนตัว[324] คืนก่อนหน้านั้น พริษฐ์ ชิวารักษ์โพสต์ว่าตำรวจมารออยู่นอกบ้าน และคงไม่ได้ไปร่วมชุมนุม[325] มีการจัดวางตู้คอนเทนเนอร์และถังน้ำมันรอบสนามหลวง[326] ต่อมามีการเปลี่ยนสถานที่ไปชุมนุมยังทำเนียบรัฐบาล[327] ก่อนจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยนัดหมายที่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อมุ่งหน้าไปยัง กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งได้มีสื่อบางสำนักลงข่าวผู้ประท้วงเผารถผู้ต้องหา[328] เวลาประมาณ 18.15 น. เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนใช้กำลังเข้าสลายผู้ชุมนุมจนสามารถยึดคืนพื้นที่ถนนราชวิถีฝั่งดินแดงได้สำเร็จ และเคลื่อนกำลังเข้ายึดพื้นที่รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิคืนจากกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีการยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางอย่างต่อเนื่อง มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมอย่างน้อย 4 คน[329]
วันที่ 9 สิงหาคม 2564 พริษฐ์ไปมอบตัวกับตำรวจ และศาลมีคำสั่งถอนประกันตัว ขณะนำตัวไปฝากขังมีคลิปว่าเจ้าหน้าที่ใช้กำลังกับเขา[330] วันที่ 10 สิงหาคม มีคลิปตำรวจคุมฝูงชนใช้คำพูดว่า "ขอพวกพี่สนุกหน่อย มันเต็มที่แล้ว" เพื่อกันสื่อมวลชนออกจากพื้นที่ ทำให้ได้รับเสียงวิจารณ์[331]
วันที่ 10 สิงหาคม 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ จัดคาร์ม็อบที่ราษฎร์ประสงค์ขึ้น เคลื่อนขบวนไปปราศรัยหน้าอาคารซิโนไทยของรองนายกรัฐมนตรี อนุทิน ชาญวีรกูล[332] ทำให้ภายหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2564 เบนจา อะปัญ ถูกจับกุมใน ในข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ในประเด็นการปราศรัยเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์วันที่ 10 สิงหาคม และไม่ได้รับการประกันตัว[333]
วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564 นายมานะ หงษ์ทอง ถูกกระสุนยางยิงและต่อมาเสียชีวิตในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2565
วันที่ 19 กันยายน 2564 ที่แยกอโศกมนตรี กลุ่มผู้ชุมนุมคาร์ม็อบ 19 กันยา ขับรถยนต์ชนรถถัง มีการตั้งขบวนคาร์ม็อบ ที่แยกอโศกมนตรี ใน ม็อบ 19 กันยา วันนี้แล้ว ทั้งนี้ม็อบดังกล่าวมี ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำนักเคลื่อนไหวการเมือง[334] มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดกิจกรรมรำลึกถึงการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และ เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 กิจกรรมคาร์ม็อบครั้งนี้ จะมีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถแท็กซี่ เข้าร่วมขบวน เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของ นายนวมทอง ไพรวัลย์ ผู้ที่ขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถังของคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 โดยจะเริ่มตั้งหัวขบวนที่แยกอโศก มุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย[335]
วันที่ 28 ตุลาคม 2564 นายวาฤทธิ์ สมน้อย อายุ 15 ปี 6 เดือน ที่ถูกยิงที่ศีรษะตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 เสียชีวิต นับเป็นผู้ประท้วงคนแรกที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้[336]
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยผู้ถูกร้องทั้งสามคนคือ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลในคดีปราศรัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ซึ่งผู้ร้องคือ ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยต้องหาว่า ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย เป็นการอ้างสิทธิเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงหลักเสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งผู้พิพากษาได้วินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง จึงสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสามคนยุติการกระทำดังกล่าว[337] จนกระทั่งวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 มีการชุมนุมต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของทุกกลุ่ม ซึ่งเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปที่สนามหลวง แต่ถูกปิดเส้นทางโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงย้ายไปที่แยกปทุมวันแล้วเดินขบวนไปยื่นหนังสือที่สถานทูตเยอรมนี ซึ่งระหว่างทางมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่เป็นระยะ[338]
วันที่ 28 ธันวาคม 2564 ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ร่วมพิธีถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ ผู้ประท้วงได้ตะโกน "ยกเลิก 112" หลายครั้งพร้อมกับชูสามนิ้ว นักกิจกรรมที่ถูกจับกุมมีทั้งหมด 3 คน ถูกควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจนครบาลบุปผาราม[339]
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ศาลอาญาให้ประกันตัวอานนท์ นำภา และพริษฐ์ ชิวารักษ์ แต่กองทุนราษฎรประสงค์ซึ่งเป็นกองทุนช่วยเหลือคดีทางการเมืองนั้นมีเงินไม่เพียงพอต่อการวางหลักประกัน จึงประกาศขอระดมทุนเข้ากองทุนเพิ่มเติม[340] และได้รับยอดเงินบริจาคกว่า 10 ล้านบาทภายใน 3 ชั่วโมง[341] อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวทั้งสองคนแต่อย่างใด[342][343] ก่อนที่ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 พริษฐ์ ชิวารักษ์ จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเวลาสามเดือน[344]วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ได้มีคำสั่งมหาวิทยาลัย [345]ที่ 0821/2565 ปลด เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อถึงปี 2565 การประท้วงบนท้องถนนได้ยุติลงไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสื่อคาดว่าเป็นเพราะทางการใช้วิธีปราบปรามและสอดแนมผู้ชุมนุมคนสำคัญอย่างหนัก[346][347]
มีการเสนอว่า บทความนี้หรือส่วนนี้ควรแยกเป็นหลายหน้า (อภิปราย) |
วันที่ 13 มีนาคม 2565 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผู้ชุมนุมกลุ่ม ศปปส. ปะทะกับกลุ่มราษฎร[348]
วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 เนติพร เสน่ห์สังคม ถูกจำคุก[349]
วันที่ 11 มิถุนายน 2565 การชุมนุมกลับมาอีกครั้งโดย "กลุ่มคนแดงเราเพื่อนกัน" และ "กลุ่มแนวร่วม" รวมตัวกันชุมนุมในกิจกรรมชื่อว่า "เดินไล่ตู่" มีการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยเริ่มการชุมนุมตั้งแต่เวลา 14:00 น.[350] และยุติการชุมนุมเมื่อเวลา 17:20 น. แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นมีผู้ชุมนุมบางส่วนปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชนที่แยกสามเหลี่ยมดินแดงอีกครั้ง ก่อนจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติเมื่อเวลา 19:30 น.[351]
หลังจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เขาประกาศให้พื้นที่ 7 แห่งสามารถจัดการชุมนุมสาธารณะได้ หนึ่งในนั้นคือบริเวณลานหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานครหรือ "ลานคนเมือง" กลุ่มราษฎรและเครือข่ายเข้าใช้พื้นที่เพื่อจัดงาน "เฉลิมฉลองวันชาติ" ครบรอบ 90 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565[352] มีการเดินขบวนแห่หมุดคณะราษฎรจำลองและชูป้าย "ยกเลิก 112 เราไม่เอาสมบูรณายาสิทธิราช ปล่อยเพื่อนเรา กฎหมายหมิ่นที่ฆ่าคนได้ ฯลฯ" กลุ่มที่เข้าร่วมเช่นแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม วีโว่ และนักเรียนเลว และมีบุคคลที่มีความโดดเด่นในการประท้วงระหว่าง พ.ศ. 2563–2564 เข้าร่วม อาทิ ปิยรัฐ จงเทพ, ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ และภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล[353] ในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2565 มีการจัดการแสดงดนตรีทางการเมือง "เดโม่ เอ็กซ์โป" ที่ลานคนเมือง โดยมีศิลปินที่มีบทเพลงเป็นที่รู้จักและถูกใช้ในการชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง เช่น วงสามัญชน[354] แร็ปอะเกนต์ดิกเทเตอร์ชิป[355] และ แอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์[356][357] มีการตั้งโต๊ะกิจกรรมทางการเมืองของ "[คณะก้าวหน้า], ครย.112, ilaw, พิพิธภัณฑ์สามัญชน, WE FAIR, สหภาพคนทำงาน, ประชาไท, นักเรียนเลว, Amnesty Thailand, 2475 Graphic Novel" และ "FreeArts ศิลปะปลดแอก" และการจัดแสดงเชิงสัญลักษณ์ถึงผู้ต้องหาคดีทางการเมืองทั้งจากกฎหมายมาตรา 112 การชุมนุมบริเวณแยกดินแดง การสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ และกรณีอื่น ๆ รวมทั้งที่ถูกกักบริเวณ [358]
กลุ่มผู้ประท้วงไม่มีแกนนำชัดเจน แต่ผู้ประท้วงบางคนโดดเด่นขึ้นมาและมีชื่อปรากฏในสื่อ เช่น อานนท์ นำภา และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งเป็นผู้ปราศรัยบนเวทีและกล่าวข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ให้สัมภาษณ์ว่าเขายินดีที่ขบวนการประท้วงไม่ต้องการผู้นำ และสามารถระดมคนออนไลน์ได้ภายใน 30 นาที[359] การประท้วงในช่วงแรก ๆ นั้นมีสื่ออธิบายว่ามีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ มีการประท้วงโดยใช้สัญลักษณ์ปัญหาสังคมโดยเลี่ยงการกล่าวออกมาตรง ๆ[360] รวมทั้งการพาดพิงถึงวัฒนธรรมป็อป ติ๊กต็อก และทวิตเตอร์ เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ประท้วงนิยมใช้ และน่าจะเป็นครั้งแรกที่การประท้วงได้ลบขอบเขตระหว่างโลกจริงและโลกออนไลน์[361] ผู้ประท้วงมักใช้สัญลักษณ์ชูสามนิ้วจากภาพยนตร์ชุด เกมล่าเกม เพื่อต่อต้านรัฐบาล อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ประท้วงถูกประเมินว่าขาดยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกัน และไม่ได้มองการณ์ไกลไปมากกว่าชุมนุมแบบวันต่อวันเท่านั้น ส่วนหนึ่งคาดว่ามีสาเหตุจากการขาดโครงสร้างแบบรวมศูนย์เช่นเดียวกับขบวนการนักศึกษาในพุทธทศวรรษ 2510[362] สมาชิกขบวนการส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษา และเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ ซึ่งต่างจากการประท้วงบนถนนก่อนหน้านี้ที่ฝ่ายทางการเมืองแย่งชิงอำนาจกัน[359] ในการชุมนุมบางครั้ง ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นหญิง ซึ่งต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศและปิตาธิปไตย[363] ผู้ประท้วงยังใช้ยุทธวิธีศิลปะประท้วง คือ การแบ่งปันไฟล์ภาพหมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2[364] ในเดือนมีนาคม 2564 มีการตั้งค่ายพักเพื่อปักหลักชุมนุมไม่มีกำหนดข้างทำเนียบรัฐบาล ชื่อ "หมู่บ้านทะลุฟ้า" พร้อมให้ผู้ชุมนุมเข้าพักฟรี[365][366]
ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในเดือนสิงหาคม 2563 นับเป็นครั้งแรกที่มีการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นมองว่าข้อเสนอดังกล่าวน่าจะลดจำนวนผู้สนับสนุนขบวนการลง แต่หากรัฐบาลใช้กำลังปราบปรามก็อาจจะทำให้มีผู้กลับมาสนับสนุนขบวนการนี้มากขึ้น[367] ด้านหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ลงความเห็นว่า ขบวนการอาจต้องขยายวาระทางสังคมหากต้องการให้การประท้วงสัมฤทธิ์ผล[368] แต่หลังจากการเลื่อนการลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเดือนกันยายน 2563 คอลัมนิสต์บางกอกโพสต์คนหนึ่งเขียนว่า สำนึกเรื่องสาธารณรัฐนิยมเพิ่มสูงสุดในประเทศไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน[369] สำหรับข้อเรียกร้องต่าง ๆ นั้น ทัดเทพมองว่าต่างมีความชัดเจนอยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องเจรจา[359] ผู้ประท้วงยืนยันว่าข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกตนนั้น "ประนีประนอมที่สุดแล้ว"[370]
หลังการจับกุมผู้ประท้วงคนสำคัญในเดือนตุลาคม 2563 รองศาสตราจารย์ ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการรัฐศาสตร์ มองว่า เมื่อขาดแกนนำไปอาจทำให้ขบวนการอยู่นอกเหนือการควบคุมได้ และไม่สามารถริเริ่มทางยุทธศาสตร์ได้[371] ผู้ประท้วงยึดถือคติ "ทุกคนคือแกนนำ" หันไปนิยมสวมเครื่องแต่งกายสีดำเพื่อให้ปลอดภัยและลดความสะดุดตา มีการพกเสื้อกันฝนและร่มโดยส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันสารเคมีที่ตำรวจอาจใช้ ผู้ประท้วงหันไปใช้การสื่อสารแบบเกมป้องปากและภาษามือเนื่องจากไม่สามารถใช้รถติดเครื่องขยายเสียง มีการใช้สื่อสังคมกระจายข่าวสาร กลุ่มแชตดังกล่าวยังเป็นที่สำหรับเลือกจัดการชุมนุมครั้งถัดไปด้วย ด้านขบวนการนักศึกษาย้ายไปใช้แอปพลิเคชันเทเลแกรม หลังมีข่าวว่าทางการเตรียมใช้อำนาจปิดหน้าเดิมด้วย[372] ในระยะหลัง ผู้ร่วมชุมนุมใช้ร่มต่างโล่ บ้างสวมหมวกกันน็อก แว่นตาและหน้ากากกันแก๊ส และมีการปรับใช้ยุทธวิธีสายน้ำแบบการประท้วงในฮ่องกง[373] หลังการสลายการชุมนุมในวันที่ 16 ตุลาคม แฮชแท็ก #WhatsHappeningInThailand (เกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย) มีการใช้มากขึ้น โดยมีการเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่นและเกาหลี ในแพลตฟอร์มสื่อสังคมหลายแห่ง เพื่อเรียกความสนใจของประชาคมโลกถึงสถานการณ์ในประเทศ[374]
การสาดสีเป็นวิธีการแสดงออกอย่างหนึ่งที่ผู้ประท้วงเลือกใช้ ซึ่งมีผู้ประท้วงแสดงความเห็นเป็นวิธีการแสดงออกแบบใหม่ ส่วนไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ แสดงความเห็นถึงผู้ที่มองว่าไม่เหมาะสมไว้ว่า "มันคือสังคมดัดจริตเกินไป ในขณะที่ขีดเขียนถนนแล้วโดนวิพากษ์วิจารณ์ หรือใด ๆ ก็ตามที่ทำถนนเลอะเทอะ มองภาพใหญ่เรากำลังโดนกดขี่ และทำให้สังคมสกปรกมากกว่านั้นอีก การขีดเขียนพวกนี้เป็นเรื่องเล็กครับ"[375]
ผลของการประท้วงของกลุ่มรีเด็มซึ่งใช้ยุทธวิธีไร้แกนนำในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ทำให้ผู้ประท้วงหลายคนกลับมาทบทวนยุทธวิธีดังกล่าว แม้ว่ายุทธวิธีนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกเสมอภาค แต่ผู้ประท้วงก็ไม่รู้จะฟังใคร ไม่มีวิธีลดระดับความรุนแรง อดีตนักเคลื่อนไหว นปช. คนหนึ่งให้ความเห็นว่า ยุทธวิธีแบบนี้ใช้ได้ผลดีหากเป็นการปักหลักชุมนุมอยู่กับที่ โดยมีกำหนดการต่าง ๆ ชัดเจน[273]
ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ศาสตราจารย์แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินว่า ผู้ชุมนุมเริ่มมีจำนวนลดน้อยลงหลังผู้ชุมนุมคนสำคัญถูกจำคุก และเมื่อมีการแสดงสัญลักษณ์ค้อนเคียวในช่วงปลายปี 2563 และมองว่าเป้าหมายของกลุ่มเอื้อมไม่ถึงและใช้ยุทธวิธีที่ไม่ก่อให้เกิดผล[376]
การประท้วงในช่วงปี 2563 ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินผ่านการบริจาค[377][378] ซึ่งหลัก ๆ มาจากทราย เจริญปุระ นักแสดง[379][380] และจากแฟนคลับศิลปินเกาหลีในประเทศไทยที่ระดมทุนกัน[381][382] โดยเงินจากกลุ่มหลังนี้ ในวันที่ 18 ตุลาคม 2563 มียอดรวมกว่า 3.6 ล้านบาท[383] นอกจากนี้ยังมีการเดินถือกล่องเพื่อเรี่ยไรเงินบริจาค[384] ส่วนปกรณ์ พรชีวางกูร เปิดตัวเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินของผู้ประท้วงอีกคนหนึ่ง แต่แถลงว่าจะไม่ชี้แจงที่มาของเงินบริจาค เพราะเป็นเอกชนมาบริจาคให้เอง และการเปิดเผยชื่อจะนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัยรวมถึงการต่อต้านการล้างเผ่าชาวโรฮิงญาและ เสรีภาพทางศาสนาของชนกลุ่มน้อย[236] ยังมีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิประกันตัวของผู้ต้องหาจัดตั้ง "กองทุนราษฎรประสงค์" ขึ้นเพื่อช่วยเหลือเงินค่าประกันตัวแก่นักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี โดยมีการแสดงรายรับ-รายจ่ายอย่างโปร่งใส[385]
มีความพยายามดำเนินคดีต่อผู้บริจาคดังกล่าว[386] และมีข้อกล่าวหาจากกลุ่มนิยมสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า การประท้วงได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งสถานทูตสหรัฐปฏิเสธ[387]
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก | |
---|---|
ตำรวจจับกุมพริษฐ์ ชีวารักษ์ แกนนำนักศึกษา 14 สิงหาคม 2563, วิดีโอยูทูบ | |
ตำรวจจับไผ่ ดาวดิน 13 ตุลาคม 2563, วิดีโอยูทูบ |
บทวิเคราะห์พบว่าการตอบสนองของภาครัฐได้แก่การใช้กำลังและการคุกคาม การกักขังตามอำเภอใจ การจับกุมและตั้งข้อหา การเผยแพร่ความเท็จ การใช้หน่วยสงครามข่าวสาร (IO) การตรวจพิจารณาสื่อ การประวิงเวลา การขัดขวาง การสนับสนุนกลุ่มนิยมรัฐบาล และการเจรจา[388] กรมประชาสัมพันธ์เปิดตัวคลิปโฆษณาชวนเชื่อโจมตีผู้ประท้วง[389] พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์เตือนว่าการกระทำของผู้ประท้วงบางคนอาจเข้าข่ายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย และน้ำตาคลอเมื่อเล่าถึงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของตน[390] ด้านพลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ที่เพิ่งรับตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2563 รีบตำหนิข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ทันที พร้อมกับบอกว่าให้ "ปฏิรูปตนเองก่อน"[391] ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แสดงความกังวลถึงโอกาสแพร่กระจายของโรคโควิด-19 แต่วางท่าทีเป็นกลางต่อข้อเรียกร้อง 3 ประการ[392]
ยุทธวิธีของทางการไทยประกอบด้วยคำสั่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อสั่งให้ขัดขวางการชุมนุมของนักศึกษา และรวบรวมชื่อแกนนำผู้ประท้วง การกล่าวหาว่าข้อเรียกร้องของนักศึกษาจะนำไปสู่ความรุนแรง บ้างมีการพาดพิงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา และพฤษภาทมิฬ[393] มหาวิทยาลัยที่สั่งห้ามชุมนุมในพื้นที่ของตน เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีข่าวว่าตำรวจบางท้องที่ส่งจดหมายสั่งห้ามจัดการชุมนุมในสถานศึกษา[394] ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2563 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานออกประกาศอนุญาตให้นักเรียนจัดการชุมนุมในโรงเรียนรัฐได้ โดยห้ามคนนอกเข้าร่วม[395] แต่ในปลายเดือนสิงหาคม มีรายงานว่ามีการกีดกันหรือคุกคามการแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 109 กรณี[396]
ทางการใช้ยุทธวิธีคุกคามฝ่ายผู้ประท้วงหลายวิธี เช่น การติดตามหาข้อมูลถึงบ้าน การถ่ายภาพผู้ประท้วงและป้ายข้อความรายบุคคล การปิดกั้นพื้นที่ ฯลฯ[397] จนถึงเดือนตุลาคม 2563 มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 167 คน โดยมีการตั้งข้อหาหนักสุดคือปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง รวมทั้งมีการจับกุมเยาวชน 5 คนโดยไม่มีการตั้งข้อหา[36][398] อ้างว่าทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนว่าถูกควบคุมตัวไปยังค่าย ตชด. แห่งหนึ่ง[399] ฝ่ายตำรวจอ้างว่าตรวจสอบแล้วไม่พบเหตุดังกล่าว และได้ออกหมายจับนายเวหา แสนชนชนะศึก แอดมินของเพจดังกล่าว ข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ[398] ตำรวจยึดหนังสือคำปราศรัยของอานนท์ นำภา[400] ระหว่างเดือนมีนาคม 2563 ถึงมีนาคม 2564 มีผู้ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินอย่างน้อย 444 คน ทั้งที่อ้างว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19[401] ผู้ที่ถูกตำรวจควบคุมตัวบางครั้งพบว่าได้รับบาดเจ็บ[29]
รัฐบาลถูกกล่าวหาว่าใช้กฎหมายบังคับแทนการเจรจาอย่างสันติวิธี มีการใช้นิติสงคราม หมายถึง การแจ้งความดำเนินคดีที่มีอัตราโทษหนักทั้งที่ไม่เข้าองค์ประกอบ[402] ตำรวจยังใช้วิธีอายัดตัวและฝากขังแกนนำผู้ประท้วงไปทีละหมายจับ พาตัวไปยังที่ทุรกันดาร และขัดขวางการทำหน้าที่ของทนายความ[403] ช่วงต้นปี 2564 อัยการสั่งฟ้องแกนนำกลุ่มราษฎรและฝากขังในเรือนจำโดยไม่ให้ประกันตัว[404] สาธารณะบางส่วนตั้งคำถามถึงการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐที่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมโดยอ้างเหตุป้องกันการระบาดของโควิด-19 แต่กลับปล่อยปละละเลยให้การชุมนุมอื่นทั้งที่ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 หละหลวมกว่า[405]
ตำรวจอ้างว่าได้ปฏิบัติตามหลักสากลในการควบคุมฝูงชน ทั้งการใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา รวมทั้งกระสุนยาง แต่คำแนะนำของสหประชาชาติระบุว่าปืนใหญ่ฉีดน้ำให้ใช้เฉพาะกับการประท้วงรุนแรงเท่านั้น และต้องไม่ฉีดไปยังตัวบุคคลโดยตรง[406] และการใช้กระสุนยางก็มีอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่งและถูกวิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน[407] ด้านสื่อต่างประเทศคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ตำรวจใช้ยุทธวิธีหนักมือขึ้นในการรับมือการประท้วง โดยอ้างเหตุป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19[292] ในหลายโอกาสตำรวจปล่อยปละละเลยให้กลุ่มคนเสื้อเหลืองปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม กับมีข่าวลือว่าเครือข่ายนักการเมืองภาคตะวันออกเกณฑ์คนเข้ามาในกรุงเทพมหานคร[408] ก่อนหน้านี้ ศาสตราจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ไทย เคยแสดงความกังวลว่าหากปล่อยเวลาไปอีก 6 เดือน กอ.รมน. อาจจัดตั้งฝ่ายต่อต้านได้สำเร็จเหมือนกับครั้งในปี 2519[409]
วันที่ 15 ตุลาคม 2563 นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร และตั้งกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง[410] ซึ่งอาจารย์และนักรัฐศาสตร์กว่า 100 คนเขียนจดหมายเปิดผนึกตั้งคำถามถึงความชอบด้วยกฎหมายของการประกาศดังกล่าว[411] ต่อมามีการใช้อำนาจสั่งปิดสื่อ ประกอบด้วยประชาไท เดอะรีพอร์ตเตอส์ เดอะสแตนดาร์ด และวอยซ์ทีวี[412] รวมทั้งสั่งปิดแอปพลิเคชันเทเลแกรม[413] แต่ต่อมาศาลมีคำสั่งยกเลิกคำร้อง[414] ตำรวจยังยึดหนังสือที่มีเนื้อหาวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน[415]
กรุงเทพมหานครให้การสนับสนุนผู้ประท้วงโต้โดยมีการจัดรถส่งคนไปยังที่ชุมนุม[416] และจัดหารถสุขาและรถขยะให้[417]
ในเดือนพฤศจิกายน 2563 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและมหาเถรสมาคมสั่งห้ามภิกษุสามเณรร่วมการชุมนุมทางการเมือง[418]โดยให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) เป็นผู้ลงโทษผู้ฝ่าฝืน ต่อมาประยุทธ์แถลงว่าจะยกระดับการบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับและทุกมาตราต่อผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการกลับมาดำเนินคดีฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์[419]
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก | |
---|---|
การปะทะที่ดิโอสยามเดือนเมษายน, วิดีโอยูทูบ |
ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2566 ที่ดิโอลด์สยามพลาซ่า นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง เกิดปะทะกับกลุ่มศปปส.
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสำนักพระราชวังไม่มีความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับการประท้วงต่อสาธารณะตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ในเดือนสิงหาคม หนังสือพิมพ์ เอเชียไทมส์ รายงานอ้างข้าราชการคนหนึ่งว่า พระมหากษัตริย์ทรงไม่รู้สึกถูกรบกวนจากการประท้วง และผู้ประท้วงควรสามารถแสดงความคิดเห็นได้[420] อย่างไรก็ดี อัลจาซีรารายงานว่า พระมหากษัตริย์ทรงให้สื่อไทยตรวจพิจารณาข้อเรียกร้อง 10 ข้อ[421]
วันที่ 24 ตุลาคม 2563 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสชมสิบตรี สุวิทย์ ทองประเสริฐ อดีตพระพุทธะอิสระและนาย ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ผู้ชูพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กลางกลุ่มผู้ชุมนุม[422] นับเป็นการแสดงความเห็นต่อสาธารณะครั้งแรกต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ทำให้แฮชแท็ก #23ตุลาตาสว่าง ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ของประเทศไทย โดยมีการรีทวีตกว่า 500,000 ครั้ง ผู้ประท้วงคนหนึ่งออกความเห็นว่า พระมหากษัตริย์อยู่ ณ ใจกลางของปัญหาการเมืองไทยมาโดยตลอด[11] แพทริก จอรี อาจารย์มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ระบุว่า พระองค์ทรงมีอุปนิสัยทำนายไม่ได้ ทรง "เต็มพระทัยใช้ความรุนแรง" และอาจกดดันประยุทธ์ให้ปราบปรามผู้ประท้วง[423]
บทบาทของพระมหากษัตริย์มีมากขึ้นโดยในวันที่ 3 มิถุนายน 2566 นาย ชินวัตร จันทร์กระจ่างได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ[424]ต่อมาในวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ประยูร จิตรเพ็ชร ประธานกรรมการคณะประชาชนคนไทยรักในหลวงได้จัดการชุมนุมให้กำลังใจวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12 และขอเงินบริจาค 28 ล้าน 7 แสนบาท[425]ในวันที่มีการการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2566 ครั้งที่ 1 ผลปรากฎว่าวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12 ได้กล่าวในประเด็น ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ตลอดทั้งวัน อาทิ คำนูณ สิทธิสมาน กล่าวตอนนึงว่า มาตรา 112 เป็น มรดกทางวัฒนธรรม เสรี สุวรรณภานนท์ กล่าวตอนนึงว่าพรรคก้าวไกลต้องการแก้ มาตรา 112 เพื่อกลุ่มที่กระทำผิดอาทิ กลุ่มทะลุวัง ในขณะที่ชาดา ไทยเศรษฐ์ ระบุตอนหนึ่งในการอภิปรายว่าตนจะขอแก้ให้มีการใช้ปืนยิงผู้หมิ่นสถาบันดีไหม[426]ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าช่วงระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึง 22 กันยายน 2566 มีรายงานผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 มากถึง 257 ราย[427]
มี ส.ส. สังกัดพรรคก้าวไกล ระบุว่าการพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ในการประท้วง (เช่น การล้อเลียน เสียดสี มีม ฯลฯ) เป็นความจริงที่น่ากระอักกระอ่วน และจำต้องให้ความสนใจ อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ สนธิ ลิ้มทองกุล และ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ตอบโต้อย่างรุนแรง โดยมองว่าในผู้ประท้วงมีกลุ่มผู้ต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์แอบแฝง หรือไม่นักศึกษาก็ตกเป็นเหยื่อของผู้อยู่เบื้องหลังที่มีเจตนาดังกล่าว[428] นับแต่มีข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ สำหรับพรรคการเมืองมีเพียงพรรคก้าวไกลที่ออกมาสนับสนุนให้เปิดโอกาสแสดงออกแก่นักศึกษา[429] คณาจารย์อย่างน้อย 147 คนลงชื่อสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาในวันที่ 10 สิงหาคม และระบุว่าเนื้อหาไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย[430][131] และนักวิชาการเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองอย่างน้อย 358 สนับสนุนการประท้วง[131] บุคลากรโรงเรียนบางส่วนสนับสนุนการแสดงออกของนักเรียน[431]
มารีญา พูลเลิศลาภ นางงาม แสดงจุดยืนเข้ากับผู้ประท้วง[432] ต่อมาเธอเล่าว่าตนได้รับผลกระทบจากการสนับสนุนดังกล่าว นักแคสเกมที่มีชื่อเสียงที่ใช้ชื่อว่า ฮาร์ตร็อกเกอร์ ก็แสดงความสนับสนุนเช่นกัน[433] หลังมีข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในต้นเดือนสิงหาคม ผู้กำกับ ทรงยศ สุขมากอนันต์, ดารา พีรวัส แสงโพธิรัตน์, ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์, โฟกัส จีระกุล, วิญญู วงศ์สุรวัฒน์, ยุทธเลิศ สิปปภาค, หนึ่งธิดา โสภณ, อวัช รัตนปิณฑะ, กรุณพล เทียนสุวรรณประกาศสนับสนุนการประท้วง[434] เช่นเดียวกับสมาชิกบีเอ็นเคโฟร์ตีเอตห้าคน[435][436] แพทย์หญิง จรสดาว ริมพณิชยกิจ แพทย์โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีถูกไล่ออกจากโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะเนื่องจากลงนามให้ตำรวจงดใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม โดย พลตรี นายแพทย์ เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะและประธานองค์กรเก็บขยะแผ่นดินซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับผู้ชุมนุม[437]โพสต์เฟซบุ๊กไล่ออกในวันที่ 17 ตุลาคม เวลา 23.19 น.[438]
องค์การระหว่างประเทศบางองค์การแสดงออกเพื่อสนับสนุนและเรียกร้องให้คุ้มครองสิทธิในการประท้วง ยูนิเซฟออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายรับรองความปลอดภัยของผู้ชุมนุมเด็กและเยาวชน โรงเรียนและสถานศึกษาเป็นที่แสดงออกและแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างสร้างสรรค์[439] สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและองค์การนิรโทษกรรมสากลรับรองสภาพสงบของการชุมนุม และประณามการสลายการชุมนุม[440][441] ผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอชเอเชียกล่าวว่า การทำให้การชุมนุมโดยสงบเป็นความผิดเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองระบอบเผด็จการ ทั้งเรียกร้องให้สหประชาชาติและรัฐบาลนานาประเทศประณามด้วย และให้ปล่อยตัวนักโทษ[175] นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกง โจชัว หว่อง โพสต์ทวิตเตอร์แสดงความเป็นอันหนึ่งเดียวกับผู้ประท้วง และขอให้ทั่วโลกสนใจการประท้วงในประเทศไทย[442] ในเดือนธันวาคม 2563 สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐจำนวนเก้าคนออกข้อมติสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงในประเทศไทย[443]
หนังสือพิมพ์ ข่าวสด และ บางกอกโพสต์ เขียนบทบรรณาธิการเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออกเพื่อลดความขัดแย้ง แต่ทั้งสองไม่ได้กดดันข้อเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์[444][445]
นี่สิ่งที่เพื่อน ๆ ของเราหลายคนต้องเจอค่ะ
- ขู่ตัดแม่ตัดลูกถ้ายังไม่หยุดทำ
- ไม่ให้เงินไปโรงเรียนมาเกือบ 2 เดือน
- เก็บค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าที่อยู่กับลูกตัวเอง
- จะไล่ออกจากบ้าน ให้ไปอยู่ที่อื่น
- จะส่งไปอยู่ต่างประเทศ
- จะไม่จ่ายค่าเทอมให้
Sep 16, 2020[446]
การคัดค้านในเวลาต่อมาพยายามอ้างว่ามีรัฐบาลหรือองค์การนอกภาครัฐต่างชาติให้การสนับสนุนการประท้วง วันที่ 10 สิงหาคม สถาบันทิศทางไทย ซึ่งมีอดีตสมาชิกกลุ่ม กปปส. เข้าร่วม[447] เผยแพร่ "แผนผังเครือข่ายปฏิวัติประชาชน" ซึ่งโยงผู้ประท้วงนักศึกษากับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และทักษิณ ชินวัตร ตลอดจนมีการเชื่อมโยงเป็นทฤษฎีสมคบคิดเพื่อทำลายประเทศไทย[448] บ้างอ้างว่า การที่องค์การการบริจาคทรัพย์เพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Endowment for Democracy) ของสหรัฐ ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐที่ได้รับจัดสรรเงินสนับสนุนผ่านรัฐสภาสหรัฐ สนับสนุนกลุ่มต่าง ๆ ที่ถือฝ่ายผู้ประท้วงนั้น เป็นหลักฐานเชื่อมโยงดังกล่าว[449] ในหลายกรณีพบกลุ่มชายฉกรรจ์ทรงผมสั้นเกรียนและสวมเสื้อผ้าคล้ายกันในการชุมนุมหลายครั้ง ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นทหารหรือตำรวจนอกเครื่องแบบ[450]
ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่วนใหญ่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ประยุทธ์แสดงความไม่สบายใจ[451] ด้านคุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่กระทบกระเทือนพระราชอำนาจ[452] หนังสือพิมพ์แนวหน้า เขียนว่าข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำชั่วร้าย สร้างความแตกแยก อ้างว่าเป็นการประท้วงรัฐบาลหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อบังหน้า แต่เป็นการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ มีพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่เป็นเบื้องหลัง[453] ในช่องทางออนไลน์ กลุ่มองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน ซึ่งถูกขนานนามในวารสารวิชาการระดับนานาชาติว่าเป็นองค์การคลั่งเจ้า ฟาสซิสต์และได้รับการสนับสนุนจากรัฐ[454][455][456] กล่าวหานักศึกษาว่าเป็นพวกล้มเจ้า กบฏ คนทรยศและขยะ[457][458] นอกจากนี้เกิดเหตุทำร้ายร่างกายผู้ประท้วงโดยมวลชนฝ่ายตรงข้าม[459] วันที่ 16 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยกรณีปราศรัยข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในวันที่ 10 สิงหาคมในข้อหาล้มล้างการปกครอง[460]
หลังจากการเข้าร่วมการชุมนุมของนักเรียนมัธยม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีกรณีการคุกคามนักเรียนอย่างน้อย 103 กรณี[461] การดูหมิ่นผู้ประท้วงนักเรียนหญิงบางคนไปไกลถึงขั้นว่าสมควรถูกข่มขืนกระทำชำเรา[462] ต่อมาในเดือนกันยายน ทวิตเตอร์กลุ่มนักเรียนเลวโพสต์ว่าสมาชิกกลุ่มบางส่วนได้รับผลกระทบทั้งในด้านความสัมพันธ์ในครอบครัวและเศรษฐกิจจากการเข้าร่วมการชุมนุม[463]
บางคนและกลุ่มค้านยุทธวิธีของผู้ประท้วง เช่น รองศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยตรี เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือเพจโปลิศไทยแลนด์ ประณามการสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจของผู้ประท้วง โดยกล่าวว่าเป็น "ความรุนแรง"[464][465]ต่อมา สุกิจ อัถโถปกรณ์ แถลงว่ารับไม่ได้กับภาษาหยาบคายที่แกนนำผู้ชุมนุมใช้[466]
ตำรวจและกลุ่มฝ่ายขวาส่วนหนึ่งรังควานธนาธรและอดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่เพราะถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนการประท้วง[467][468] สื่อหลายสำนักพยายามลงข่าวให้เข้าใจว่าฝ่ายผู้ชุมนุมพยายามก่อให้เกิดความรุนแรงก่อน[469][470]
แม้นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกประกาศว่าจะไม่รัฐประหาร แต่สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรียกร้องให้กองทัพเข้ารักษาความสงบอีกครั้ง[471] เช่นเดียวกับกลุ่ม คปส.[472]
สื่อฝ่ายขวาหลายสำนักตีข่าวการนัดหมายชุมนุมในวันที่ 7 สิงหาคม 2564 โดยไปเชื่อมโยงกับวันเสียงปืนแตก การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์และการปฏิวัติฝรั่งเศส[473]
การรายงานของสื่อไทยพบว่ามีความเกรงใจรัฐบาลและตำรวจสูง คือ ปรากฏภาพความรุนแรงที่เกิดจากฝั่งตำรวจน้อยมาก ทั้งโจมตีผู้ประท้วงและแก้ต่างให้รัฐบาลกับตำรวจ ส่วนภาพและวิดีทัศน์ความรุนแรงจากตำรวจนั้นล้วนเผยแพร่ทางสื่อสังคมต่าง ๆ ทำให้เกิดกระแส #แบนสื่อช่องหลัก[474][475] เดือนสิงหาคม 2563 เนชั่นทีวีลงข่าวยอมรับว่ามีผู้สื่อข่าวของตนปกปิดสังกัดและแอบอ้างว่ามาจากช่องอื่นจริง และกองบรรณาธิการเรียกตักเตือนแล้ว แต่อ้างว่านักข่าวกระทำเช่นนั้นเพราะกลัวเกิดอันตรายจากผู้ชุมนุม[476] ต่อมาจึงเกิดการดำเนินกิจกรรมของผู้บริโภคชื่อ #แบนสปอนเซอร์เนชั่น เพื่อให้เนชั่นเปลี่ยนแปลงวิธีการนำเสนอข่าว[477] ทำให้เนชั่นต้องมีการปฏิรูปองค์กรในช่วงเดือนพฤศจิกายน[478] และปัจจุบันบุคลากรกลุ่มสุดโต่งได้ย้ายไปทำสถานีข่าวชื่อท็อปนิวส์เรียบร้อยแล้ว
หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ลงแก้ไขข่าวว่าในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 2563 รายงานผิดว่าผู้ประท้วงรบกวนระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร แต่แท้จริงแล้ว กอร.ฉ. สั่งปิดรถไฟฟ้า[479]
ในเดือนพฤศจิกายนมีสื่ออีก 3 สำนักที่นำเสนอข่าวผิดจากข้อเท็จจริง ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากฝั่งราษฎร ได้แก่ ช่องวัน 31 ที่อ้างว่ามีการย้ายรถตำรวจจึงทำให้เกิดเหตุการณ์ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงขึ้น[480], อมรินทร์ทีวี ที่พาดหัวใส่ร้ายราษฎรว่าทำร้ายกลุ่มเสื้อเหลือง[481] และ ไทยรัฐทีวี ที่ด่วนสรุปว่าเหตุความวุ่นวายเกิดจากนักเรียนอาชีวะทะเลาะกันเอง[480]
ส่วนการรายงานของสื่อต่างประเทศ สำนักข่าวรอยเตอส์และไฟแนนเชียลไทมส์ลงข่าวกระแสแฮชแท็ก #RepublicofThailand ทางทวิตเตอร์ในปลายเดือนกันยายน[482] ขณะที่เดือนตุลาคมสัญญาณจากซีเอ็นเอ็น, บีบีซี เวิลด์นิวส์, อัลญะซีเราะฮ์อิงกลิช, เอ็นเอชเคเวิลด์ และสำนักข่าวต่างประเทศอื่นที่นำเสนอการชุมนุมในประเทศไทยถูกห้ามออกอากาศทางทรูวิชั่นส์และแอปพลิเคชันทรูไอดี[483] 31 ตุลาคม สำนักข่าวเอเอฟพีลงข่าวเพื่อแก้ไขข่าวเท็จที่บิดเบือนคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า พระมหากษัตริย์ไทยมิได้กระทำผิด[484]
ในเดือนพฤศจิกายน หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ ลงบทวิเคราะห์ว่ามีข่าวลือรัฐประหารในไทยอีกครั้ง ส่วนสื่อต่าง ๆ ในประเทศเยอรมนีจับประเด็นการพำนักของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว[485] สื่อในสหราชอาณาจักร ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ที่ได้รับความเคารพนับถือไปจนถึงแทบลอยด์ต่างให้ความสนใจกับข่าวการประท้วง หลายเจ้าตั้งคำถามถึงพระจริยวัตรและพระราชทรัพย์ เช่น ดิอีโคโนมิสต์ ลงว่า พระองค์ต้องการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ เดอะไทมส์ พาดหัวว่า พระองค์ทรงเป็นของขวัญของนักสาธารณรัฐนิยม[486]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.