Remove ads
พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พลตรีหญิง เจ้าคุณพระสินีนาถ พิลาสกัลยาณี ชื่อเล่น ก้อย (นามเดิม: นิรมล อุ่นพรม ; เกิด 26 มกราคม พ.ศ. 2528)[1][2] เป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นสตรีคนแรกที่เป็นพระสนมของพระมหากษัตริย์ไทยในรอบเกือบร้อยปี[4]
ท่านเจ้าคุณ เจ้าคุณพระสินีนาถ พิลาสกัลยาณี | |
---|---|
พระสนมเอก | |
ดำรงยศ | 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน (5 ปี 149 วัน) |
เกิด | นิรมล อุ่นพรม 26 มกราคม พ.ศ. 2528[1][2] อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
พระสนมเอกใน | พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมรส 2562)[3] |
บิดา | วิรัตน์ อุ่นพรม[2] |
มารดา | คุณหญิงปราณี อุ่นพรม[2] |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | ไทย |
แผนก/ | กองทัพบกไทย |
ประจำการ | 2551–2562, 2563–ปัจจุบัน |
ชั้นยศ | พลตรี |
บังคับบัญชา | ทหารรักษาพระองค์ |
เดิมเจ้าคุณพระสินีนาถ พิลาสกัลยาณี เป็นพยาบาลทหารกองทัพบก ภายหลังได้เป็นบาทบริจาริกาของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และได้รับพระราชทานยศและตำแหน่งทางทหาร รวมถึงชื่อ สินีนาฏ วงศ์วชิราภักดิ์ จากพระองค์ ครั้นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเสวยราชย์แล้ว ได้สถาปนาสินีนาฏ วงศ์วชิราภักดิ์ ขึ้นเป็นพระสนม บรรดาศักดิ์ว่า เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562[5] ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถอดเจ้าคุณพระออกจากยศศักดิ์ทั้งหมด เนื่องจากทรงเห็นว่า มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายประการ และมีความขัดแย้งกับสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี พระอัครมเหสีของพระองค์[6] อย่างไรก็ดี ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ทรงคืนยศศักดิ์ให้ดังเดิม เพราะทรงเห็นว่า "มิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง"[7]
เจ้าคุณพระสินีนาถ พิลาสกัลยาณี[8] เกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2528 ณ ตำบลท่าวังผา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ชื่อเมื่อเกิดว่า นิรมล อุ่นพรม เป็นธิดาของวิรัตน์ อุ่นพรม กับปราณี อุ่นพรม[9][10]
เจ้าคุณพระสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา จาก โรงเรียนราชปิโยรสา ยุพราชานุสรณ์ (ชื่อเดิม โรงเรียนริม-ป่าคาประชานุเคราะห์) ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม จังหวัดน่าน ระดับปริญญาตรี เข้าศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ณ วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก รุ่นที่ 41 จนจบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2551[11] แล้วได้ทำงานเป็นพยาบาลประจำโรงพยาบาลอานันทมหิดลกองทัพบก[12]
ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เจ้าคุณพระได้เข้าร่วมขบวนพระบรมราชอิสริยยศเชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพไปยัง พระจิตกาธานบนพระเมรุมาศ ในฐานะผู้บังคับแถวแซงเสด็จ ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ และออกคำสั่งให้ทหารกองเกียรติยศทำความเคารพและจัดระเบียบแถวทหารด้วยเสียงเฉียบขาด[13] นอกจากนี้ ยังปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งองครักษ์คู่เคียงพระบรมอัฐิ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งยามถวายพระเกียรติพระบรมศพ และปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งแถวรับเสด็จขบวนพระบรมราชสรีรังคาร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560[ต้องการอ้างอิง]
วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สถาปนาพลตรีหญิง ท่านผู้หญิงสินีนาฏ วงศ์วชิราภักดิ์ ขึ้นเป็นเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี[14]
หลังได้รับการสถาปนาแล้ว เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ได้เดินทางไปเข้าถวายสักการะสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562[15] นับเป็นการปฏิบัติภารกิจครั้งแรกหลังเป็นเจ้าคุณพระ[16] นอกจากนี้ เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณียังได้เป็นผู้แทนพระองค์ไปตรวจเยี่ยมและร่วมกิจกรรมจิตอาสาในจังหวัดปทุมธานีเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2562 โดยมีข้าราชการผู้ใหญ่ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด รวมถึงประชาชนจิตอาสา รอต้อนรับ[17] และในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เป็นรองประธานที่ปรึกษาโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี ด้วยหัวใจ[18]
อย่างไรก็ดี วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงถอดยศเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี จากยศศักดิ์ทั้งหมดและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้น เนื่องจากทรงเห็นว่า มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายประการ และกระทำตนให้เทียบเท่าสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี พระอัครมเหสีของพระองค์ เพราะ "มุ่งหวังที่จะให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสถาปนาตนเองให้สูงขึ้นเทียบเท่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี"[6] แม้กระนั้น เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงคืนยศศักดิ์ทั้งหมดและพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์ทุกชั้นกลับมาให้แก่เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ดังเดิม ด้วยทรงเห็นว่า "มิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง"[19][7]
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2564 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เป็นรองประธานที่ปรึกษาโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อีกครั้ง[20]
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2567 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ให้แก่ เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ว่า "เจ้าคุณพระสินีนาถ พิลาสกัลยาณี" (Chaokhun Phra Sineenatha Bilasakalyani) อ่านว่า "เจ้า - คุน - พระ - สิ - นี - นาด - พิ - ลาด - กัน - ละ - ยา - นี" ซึ่งมีความหมายว่า นางผู้เป็นที่พึ่งอันงดงาม เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติแห่งกุลสตรี[21]
พลตรีหญิง เจ้าคุณพระสินีนาถ พิลาสกัลยาณี | |
---|---|
รับใช้ | กองทัพบกไทย |
ประจำการ | พ.ศ. 2551 – พ.ศ. 2562[6] พ.ศ. 2563[19] – ปัจจุบัน |
ชั้นยศ | พลตรีหญิง |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.