Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ระเบิดขนาดเล็กจำนวนมากได้จุดชนวนระเบิดกว่าห้าแห่งทั่วทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล[5] สถานที่เกิดเหตุ ได้แก่ สถานีช่องนนทรี ใกล้กับคิง เพาเวอร์ มหานคร, ย่านพระราม 9, ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร, กองบัญชาการกองทัพไทย และภายในร้านมินิโซสยามสแควร์[6][7] การระเบิดทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเจ็ดคน[2]
เหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2562 | |
---|---|
ร่องรอยการระเบิดบนพื้นของร้านมินิโซ ภายในสยามสแควร์ | |
สถานที่ | กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
วันที่ | 2 สิงหาคม พ.ศ. 2562 (เวลาสากลเชิงพิกัด+07:00) |
ประเภท | การวางระเบิด |
อาวุธ | ระเบิดแสวงเครื่องจากเพนตะอิริทริตอลเตตระไนเทรต[1] |
เจ็บ | 7 คน[2] |
ผู้ก่อเหตุ | ผู้แบ่งแยกดินแดนมุสลิม (ที่ถูกสงสัย)[3][4] |
จำนวนก่อเหตุ | 21 คน (สั่งการ 5 คน, ปฎิบัติการณ์ 16 คน)[ต้องการอ้างอิง] |
การสอบสวนเบื้องต้นโดยตำรวจไทยได้รายงานว่าผู้ต้องสงสัยที่ก่อความไม่สงบมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเดียวกันที่ได้ทำการโจมตีแบบเดียวกันใน พ.ศ. 2559[6] เหตุระเบิดดังกล่าวเกิดขึ้นใกล้กับช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จัดขึ้นในตัวเมือง[5]
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เวลา 04:45 น. ตามเวลากรุงเทพ (เวลาสากลเชิงพิกัด+7.00) ได้เกิดเหตุระเบิดเล็กน้อยที่ที่มินิโซสาขาหนึ่ง ซึ่งเป็นร้านขายสินค้าสาธารณูปโภค ในศูนย์การค้าสยามสแควร์ เขตปทุมวัน ซึ่งระเบิดถูกยัดไว้ในตุ๊กตาจากการ์ตูนซีรีส์ 3 หมีจอมป่วน ส่งผลให้ชั้นวางและสินค้าในร้านพังเสียหาย ซึ่งไม่มีใครได้รับบาดเจ็บเนื่องจากร้านยังไม่เปิด กล้องรักษาความปลอดภัยเปิดเผยในภายหลังว่าระเบิดถูกวางโดยชายสวมหน้ากากที่สวมแว่นกันแดดเมื่อวันก่อน โดยร้านยังคงปิดเป็นเวลาสองวันเพื่อซ่อมบำรุงชั้นวางที่เสียหาย[8]
เมื่อเวลา 07:00 น. มีการแจ้งเหตุระเบิดสี่ลูกที่ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานครที่สถานีตำรวจท้องที่ ระเบิดสองลูกแรกได้จุดชนวนที่หน้าทางเข้าศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ตามด้วยระเบิดลูกที่สาม ซึ่งได้ระเบิดที่หน้ากองบัญชาการกองทัพไทย ส่วนระเบิดลูกที่สี่ถูกปลดชนวนโดยเจ้าหน้าที่อีโอดีที่อาคารบี ของศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร[9][10][11] และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ[11]
เมื่อเวลา 08:00 น. ได้มีการจุดชนวนระเบิด 2 ลูกที่หน้าสถานีช่องนนทรี และบริเวณทางเข้าคิง เพาเวอร์ มหานคร ซึ่งตามมาด้วยมีรายงานว่าพบวัตถุต้องสงสัยที่อยู่ด้านหน้าทางเข้ารถไฟฟ้าบีทีเอส ตำรวจท้องที่ได้ทำลายวัตถุระเบิดต้องสงสัยด้วยปืนฉีดน้ำแรงดันสูง[9][12] โดยมีรายงานผู้บาดเจ็บ 2 ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต[2]
เมื่อเวลา 8:50 น. ระเบิดลูกที่เจ็ดได้จุดชนวนในย่านพระรามเก้า แยก 57/1 ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 4 รายและบาดเจ็บสาหัส 2 ราย[10] รวมถึงมีการรายงานเกี่ยวกับอุปกรณ์ระเบิดต้องสงสัยที่เป็นเท็จหลายครั้งหลังจากเกิดเหตุการณ์ 3 ครั้งแรก[2]
ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดอาเซียนไม่ได้มีการหยุดชะงัก[13]
การสอบสวนเบื้องต้นรายงานโดยสำนักข่าวกรองแห่งชาติซึ่งรายงานว่าการโจมตีครั้งนี้อาจเชื่อมโยงกับการขยายปฏิบัติการโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำฝ่ายค้านของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จักรทิพย์ ชัยจินดา ได้แถลงว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มเดียวกันที่ก่อเหตุโจมตีลักษณะเดียวกันในเจ็ดอำเภอภาคใต้เมื่อ พ.ศ. 2559[6]
วัตถุระเบิดที่ตำรวจไทยรายงานเชื่อว่าเป็นระเบิดแบบทำที่บ้านซึ่งมีขนาดเท่าลูกเทนนิส[5] แม้ว่าจะยังไม่ทราบแรงจูงใจของการโจมตีครั้งนี้ แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นการโจมตีภาพลักษณ์ของประเทศในขณะที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่ซึ่งผู้นำทางการเมืองจากแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ในขณะที่ยังมีตัวแทนของประเทศอื่น ๆ เช่น รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร, รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ และนักการทูตของจีน[5][14]
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สั่งการให้กองบังคับการปราบปราม (CSD) ตรวจสอบการโจมตีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา[15] ซึ่งกองบังคับการปราบปรามได้ทำงานร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด (OAG) อย่างใกล้ชิด เพื่อรวบรวมข่าวกรองและหลักฐานเกี่ยวกับการโจมตี รวมถึงมีรายงานว่าได้มีการวางแผนโจมตีดังกล่าวใกล้ชายแดนไทย–มาเลเซีย[15]
เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนนำภาพผู้ต้องสงสัยจากกล้องวงจรปิดจากจุดเกิดเหตุไปเปรียบเทียบข้อมูลกับกล้องวงจรปิดบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)และพบผู้ต้องสงสัย 4 คน เดินทางไปยังภาคใต้เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 1 สิงหาคมและพบว่าผู้ก่อเหตุเดินทางมายังกรุงเทพด้วยรถทัวร์มาในช่วงเช้ามืดของวันเดียวกัน[16][17]
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ตำรวจไทยได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับเหตุโจมตี การโจมตีนี้จัดทำโดยกลุ่มคน 15 คน ซึ่งพยานหลักฐานได้มาจากการสอบถามผู้ต้องสงสัย 2 คนที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม[18] ขณะที่มีการสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบสถานที่ระเบิดและได้รวบรวมหลักฐานกล้องวงจรปิด รวมถึงตัวอย่างลายนิ้วมือและดีเอ็นเอจากสถานที่ดังกล่าว สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจได้ตรวจสอบตัวอย่างและได้ขีดฆ่าประวัติอาชญากร เพื่อจำกัดการค้นหาผู้ต้องสงสัยอีก 13 คนให้แคบลง[18]
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ตำรวจไทย ซึ่งนำโดยศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ได้ออกหมายจับผู้ต้องสงสัยจำนวน 9 คน เจ้าหน้าที่ยังอ้างว่าผู้ต้องสงสัยบางคนอาจมีประวัติอาชญากรรม[19] ขณะที่ผู้ต้องหาอีก 2 คนที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ได้รับโทษจำคุกชั่วคราวตามคำสั่งศาล[19]
เมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่กองปราบปราม มีผู้ต้องสงสัยอีก 2 คนที่ถูกจับกุมจากจังหวัดนราธิวาส โดยผู้ต้องสงสัย 2 คนได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา[20][21] ซึ่งผู้ต้องสงสัย 2 รายนี้ถูกกล่าวหาว่าส่งมอบอุปกรณ์ระเบิดให้กับมือระเบิดตามจุดต่าง ๆ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม[20] และเจ้าหน้าที่ตำรวจนิติวิทยาศาสตร์ได้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ รวมถึงลายนิ้วมือเพื่อตรวจเทียบกับตัวอย่างที่รวบรวมจากจุดเกิดเหตุ[20]
ภายในวันที่ 4 กันยายน ศาลอาญาได้ออกหมายจับทั้งหมด 14 หมาย และได้จับกุมผู้ต้องสงสัยทั้งหมด 3 ราย[20]
ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตอบโต้การโจมตีครั้งนี้ด้วยการประณามผู้ที่วางแผนโจมตีและทำลายความสงบเรียบร้อยของประเทศ ขณะที่รองนายกรัฐมนตรี ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้บอกกับนักข่าวว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้เตรียมสร้างสถานการณ์ให้รัฐบาลอับอายในขณะที่ตัวเมืองเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน[22]
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จักรทิพย์ ชัยจินดา เชื่อเช่นกันว่าเหตุจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีนี้เกี่ยวข้องกับการเมือง เนื่องจากประเทศไทยได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งแรกในเดือนมีนาคมนับตั้งแต่รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557[22][23][24] อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านของรัฐบาลหลายคนเชื่อว่าการโจมตีครั้งนี้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลเอง เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณชนต่อภาพลักษณ์สาธารณะที่ย่ำแย่ของรัฐบาลในปัจจุบัน[25]
วันที่ 2 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดชุมพรได้จับกุมลูไอ แซแง อายุ 23 ปี และวิลดัน มาหะอายุ 29 ปี บนรถทัวร์ปรับอากาศ กรุงเทพ-นราธิวาส ที่แยกปฐมพร อำเภอเมืองชุมพร หลังจากตำรวจได้รับรายงานว่าผู้ต้องสงสัยในคดีลอบวางระเบิดสำนักงานตำรวจแห่งชาติหลบหนีมายังภาคใต้ โดยพบวัตถุที่มีลักษณะคล้ายระเบิดเวลาถูกใส่ในกระป๋องมันฝรั่งทอด และผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 คน ถูกส่งตัวไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ[26][10]และทั้ง 2 คนถูกฝากขังที่เรือนจำชั่วคราวทุ่งสองห้อง[27] ส่วนมูฮัมมัดอิลฮัม สะอิ อายุ 27 ปีและผู้ต้องสงสัยอีก 1 คนที่ช่วยประสานการโจมตีถูกจับกุมบริเวณด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 2 กันยายน[21][20] ต่อมาในวันที่ 6 พฤศจิกายน อัยการสำนักงานคดีอาญา 6 ได้ยื่นฟ้อง ลูไอ, วิลตันและมูฮัมมัดอิลฮัม 11 ข้อหา ซึ่งรวมถึงข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ก่อการร้ายโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีความมุ่งหมายสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนและครอบครองวัตถุระเบิด[28] ต่อมาในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมสุกรี ดือรามัน ที่อำเภอเทพา โดยรับสารภาพว่าเป็นคนนำระเบิดไปซ่อนในตุ๊กตาที่ร้านมินิโซ[29][30] ในวันที่ 5 กรกฎาคมพ พ.ศ.2564 อัมรี มะมิง กับ คูไมดี รีจิ ถูกวิสามัญฆาตกรรม ที่บ้านชะเมาสามต้น อำเภอสายบุรีหลังจากการยิงปะทะกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ[31] โดยอัมรีมีส่วนร่วมกับการวางระเบิดเพลิงที่ประตูน้ำ ห้างสยามสแควร์วัน และห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน[32] เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2565 เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฏหมายได้วิสามัญสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบ 3 คน รวมถึงศรัทธา อาแวซึ่งมีหมายจับในคดีวางระเบิดที่กรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ. 2562 ที่อำเภอจะนะ หลังจากการเจรจาล้มเหลวและยิงใส่เจ้าหน้าที่เพื่อฝ่าวงล้อม[33] ส่วนสมาชิกอีกคนได้หลบหนีเข้าไปในมัสยิดและยอมมอบตัวหลังจากการปิดล้อมเป็นเวลา 9 ชั่วโมง ต่อมาสมาชิกคนดังกล่าวถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตแต่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีจึงลดโทษเหลือจำคุก 50 ปี[34][35] ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ 2565 เจ้าหน้าที่ได้วิสามัญมะยากี มะลาซิง อายุ 30 ปี ที่ตำบลคลองมะนิง อำเภอเมืองปัตตานี หลังจากใช้ปืนยิงเปิดทางเพื่อหลบหนี โดยมะยากีมีหมายจับ 5 หมายรวมถึงการวางระเบิดที่กรุงเทพมหานครเมื่อปีพ.ศ. 2562[36]
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ศาลอาญา พิพากษาจำคุกตลอดชีวิตลูไอ แซแงและวิลดัน มะหา ในความผิดฐานก่อการร้าย, ใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาต, พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและซ่องโจร แต่ให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีจึงลดโทษเหลือจำคุก 39 ปี 16 เดือน ส่วนมูฮัมหมัดอิลฮัม สะอิ ศาลรับฟังข้อเท็จจริงว่า สะอิร่วมเป็นตัวการในการกระทำความผิดโดยร่วมประชุมเพื่อวางแผนกับลูไอ, วิลตันและพวก ที่ประเทศมาเลเซียและจัดหาวัตถุระเบิด ศาลพิพากษาจำคุก 164 ปี 72 เดือน 240 วัน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกต้องไม่เกิน 50 ปี จึงพิพากษาจำคุก 50 ปีและริบของกลาง กิจจา อาลีอิสเฮาะ ทนายความได้กล่าวว่าจะศึกษาคำวินิจัยของศาลเพื่อยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป[37][38]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.