Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การตรวจพิจารณาในประเทศไทยมีประวัติอย่างยาวนาน การก่อกวน การชักใยและการควบคุมข่าวการเมืองอย่างเข้มงวดเป็นเรื่องปกติในรัฐบาลทุกสมัย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกันเสรีภาพในการพูด และการประกันเสรีภาพดังกล่าวดำเนินต่อมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กลไกในการตรวจพิจารณารวมถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวด การควบคุมโดยตรงของรัฐบาลหรือทหารต่อสื่อแพร่สัญญาณ และการใช้แรงกดดันทางเศรษฐกิจและการเมือง[1] การวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ถูกห้ามตามรัฐธรรมนูญ แม้คดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยส่วนใหญ่มุ่งไปยังคนต่างด้าว หรือคู่แข่งของผู้นำการเมือง สังคมและพาณิชย์ที่เป็นชาวไทย[2]
ในการสำรวจดัชนีเสรีภาพสื่อทั่วโลก จัดโดยผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 59 จาก 167 ประเทศในปี 2547[3] แล้วร่วงลงเป็นอันดับที่ 107 ในปี 2548[4] และไปอยู่อันดับที่ 153 จาก 178 ประเทศในปี 2554[5] แล้วค่อยขึ้นมาอยู่อันดับที่ 137 จาก 179 ประเทศในปี 2555[6]
การตรวจพิจารณาในประเทศไทยกรณีแรกเกิดขึ้นเมื่อเริ่มมีสิ่งพิมพ์ในประเทศ[7] หนังสือกฎหมายเล่มแรกของไทยถูกห้ามและทุกสำเนาและต้นฉบับเดิมถูกสั่งให้ทำลาย[8]
ภายใต้พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ตำรวจสันติบาล (เจ้าพนักงานการพิมพ์) มีอำนาจออกคำเตือนแก่สิ่งพิมพ์เผยแพร่ด้วยการละเมิดต่าง ๆ เช่น ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน[9]
จากการศึกษาของหอสมุดรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2393 ถึง 2542 มีหนังสือและวารสารถูกห้ามอย่างเป็นทางการโดยมีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา รวมทั้งหนังสือหลายเล่มที่ได้รับพิจารณาเป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน หนังสือหลายเล่มสะท้อนความรู้สึกต่อต้านคอมมิวนิสต์แห่งยุคสมัย แต่ตีพิมพ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั้งในภาษาไทย จีน เวียดนาม เกาหลี มลายู อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศสและสเปน
ในอดีต พระราชบัญญัตินี้และอีกหลายฉบับถูกใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพสื่ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างรัฐบาลทหารที่มีจอมพลแปลก พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรี (ถึงปี 2516) หนังสือเกี่ยวกับศักดินาไทย พะมหากษัตริย์และศาสนาที่ถูกรัฐบาลไทยมองว่าก่อปัญหาถูกห้าม และผู้ประพันธ์ถูกจำคุก[10] การก่อการกำเริบที่นำโดยนักศึกษาในปี 2516 นำมาซึ่งยุคเสรีภาพสื่อสั้น ๆ กระทั่งการปราบปรามอย่างรุนแรงของทหารในปี 2519 ซึ่งลงเอยด้วยการจำกัดเสรีภาพสื่อขนานใหญ่ ทศวรรษต่อมาค่อย ๆ เห็นการลดการตรวจพิจารณาสื่อลงเป็นลำดับ
แม้จะมีการวิพากวิจารณ์ราชวงศ์ พระมหากษัตริย์และประเด็นที่ละเอียดอ่อนของรัฐบาล หนังสือทั้งนอกและในประเทศโดยปกติจะไม่ถูกห้ามและแจกจ่ายได้อย่างเสรี การถกสาธารณะทั้งหมดเกี่ยวกับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระเชษฐาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถึงเหตุต้องพระแสงปืนเข้าที่พระเจ้าถูกห้ามและมิให้สอนในโรงเรียนแม้กระทั่งวิชาเอกประวัติศาสตร์
The Devil's Discus โดยเรน ครูเกอร์ (2507) ผลของรายงานการสืบสวน ซึ่งสอบสวนกรณีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ถูกห้ามทันที และผู้ประพันธ์ถูกห้ามมิให้เข้าประเทศไทย แต่น่าแปลกที่ฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาไทย (ใช้ชื่อว่า กงจักรปีศาจ) ในปี 2515 ไม่ถูกห้ามทั้งคู่ อย่างไรก็ดี 16 หน้าแรกของกงจักรปีศาจทุกสำเนาที่มีอยู่ถูกตัดออกและดูเหมือนจะไม่มีข้อความใดที่ขาดหายไปตรงกับต้นฉบับภาษาอังกฤษ
หนังสือ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (2538) ของ สายพิน แก้วงามประเสริฐ ที่ใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ค้นหาคำตอบ จนพบว่า วีรกรรมของท้าวสุรนารีถูกนำมาใช้เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองและชี้ให้เห็นความล้มเหลวของการสอนวิชาประวัติศาสตร์ แต่เมื่อถึงปี 2539 ผู้เขียนก็ถูกชาวจังหวัดนครราชสีมาประท้วง และข่มขู่ จนสำนักพิมพ์มติชนต้องเก็บหนังสือออกจากท้องตลาด และผู้เขียนย้ายออกจากจังหวัดนครราชสีมา[11]
The Revolutionary King โดยวิลเลียม สตีเวนสัน (2542) มีความผิดพลาดพื้น ๆ และเอ่ยถึงพระมหากษัตริย์ตลอดทั้งเล่มด้วยพระนามเล่นครั้งยังทรงพระเยาว์ว่า "เล็ก" หนังสือเล่มนี้ยังแสดงทฤษฎีใหม่ถึงการมีส่วนเกี่ยวข้องของญี่ปุ่นในการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล หนังสือเล่มนี้ถูกห้ามอย่างไม่เป็นทางการในประเทศไทยนับแต่วันตีพิมพ์ อย่างไรก็ดี ในปี 2548 ตามรายงานว่า หนังสือดังกล่าวสามารถสั่งซื้อได้จากร้านหนังสือในประเทศ โดยการแทรกแซงของพระมหากษัตริย์ แต่ไม่มีร้านใดเต็มใจเก็บไว้
ข้อโต้เถียงที่ปัจจุบันกว่าเกิดขึ้นเมื่อ เดอะคิงเนเวอร์สไมส์ (2549) โดยพอล แฮนด์ลีย์ อดีตผู้สื่อข่าวในกรุงเทพมหานคร ที่สำนักพิมพ์อธิบายว่าเป็น "ชีวประวัติตีความ" ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หนังสือเองถูกห้ามในประเทศไทยตั้งแต่ตีพิมพ์ในเดือนกรกฎาคม 2549 แต่เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการขายหนังสือดังกล่าวถูกห้ามตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548 เนื่องจากสำนักพิมพ์ไม่เผยแพร่สำเนาหรือส่วนที่คัดมาของหนังสือออกมาก่อน จึงเหมือนกับว่าหนังสือถูกห้ามเป็นการป้องกันไว้ก่อนเนื่องจากชื่อเรื่องเพียงอย่างเดียว
การตรวจพิจารณาหนังสือส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาษาไทยที่ตีพิมพ์ในประเทศ ขณะเดียวกัน หนังสือส่วนใหญ่ตั้งแต่ปี 2542 ถูกห้าม "อย่างไม่เป็นทางการ" ซึ่งทำให้เป็นการยากที่จะรวบรวมข้อมูลการตรวจพิจารณา
การเซ็นเซอร์ตนเองเป็นกระแสที่เติบโตขึ้นในประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปฏิเสธจะบรรจุหนังสือ "รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ซึ่งเป็นประชุมบทนิพนธ์วิจารณ์รัฐประหารเมื่อปี 2549 ในภาษาไทย เขียนโดยปัญญาชนและนักวิชาการชั้นนำ รวมทั้งนิธิ เอียวศรีวงศ์, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ธงชัย วินิจจะกูลและสุลักษณ์ ศิวรักษ์ อย่างไรก็ดี ร้านหนังสือภาษาไทยบางร้านได้นำมาวางขาย และมีรายงานว่าขายได้รวดเร็ว ในเดือนเดียวกัน ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผิดสัญญาความตกลงทั้งขายและจัดจำหน่าย "อะกูป์ฟอร์เดอะริช" ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ เป็นเพราะบางแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงมาจาก เดอะคิงเนเวอร์สไมล์ หนังสือดังกล่าวเขียนโดย ใจ อึ๊งภากรณ์ รองศาสตราจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 6 มีนาคม ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปฏิเสธการขายหนงสือตาม แม้จะไม่ได้ถูกห้ามอย่างเป็นทางการ และอธิการบดีจะกลับการตัดสินใจและมีการขายหนังสือที่ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยฯ ปัจจุบัน ข้อสรุปอย่างกว้างขวางในคณะผู้อภิปรายซึ่งจัดที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย คณะผู้อภิปรายคาดว่า อะกูป์ฟอร์เดอะริช จะถูกยึดและถูกห้าม
กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT) ริเริมโครงการหนังสือที่ถูกห้ามเพื่อสแกนหนังสือที่ถูกห้ามในประเทศไทยให้ได้มากที่สุดเพื่อการตีพิมพ์เสรีบนเว็บ เริ่มด้วยหนังสือในหลายภาษาเกี่ยวกับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ระหว่างที่ยังมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอยู่นั้น หนังสือที่เกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์และสังคมนิยม (อ้างถึงคาร์ล มาร์กซ, ฟรีดริช เองเกลส์, เลนิน, สตาลิน, ทร็อตสกีหรือเหมา เจ๋อตุง) ร่วมกับสิ่งพิมพ์เผยแพร่ที่เกี่ยวข้อง เช่น แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ทุน ถูกห้าม ถึงขนาดที่มิให้ถูกใช้ และ/หรือ สอนในวิชาสังคมศาสตร์ การห้ามนี้ขยายไปถึงสิ่งพิมพ์เผยแพร่เกี่ยวกับการปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งโดยปกติเกี่ยวข้องกับองค์การลัทธิเหมา และขบวนการผู้นิยมระหว่างประเทศปฏิวัติ (Revolutionary Internationalist Movement) ปัจเจกบุคคลที่มีวรรณกรรมคอมมิวนิสต์ (หนังสือ สิ่งพิมพ์/สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เสียง ภาพวีดิทัศน์) ในครอบครอง จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นกบฏต่อรัฐบาลไทย
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ในราชกิจจานุเบกษามีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๖๐๙/๒๕๕๗ อาศัยอำนาจตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 สั่งห้ามนำเข้าหนังสือ "A Kingdom in Crisis" ของแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ โดยอาศัยบทวิจารณ์หนังสือสองบท[12]
สื่อยังถูกตรวจพิจารณาจากการตีพิมพ์ข่าวที่สร้างความเสียหายแก่พระมหากษัตริย์ รัฐบาลไทยถูกกล่าวหาว่ากดดันสื่อให้จำกัดการรายงานข่าวที่สร้างความเสียหายนั้น
หนังสือพิมพ์ ดิอีโคโนมิสต์ ฉบับหนึ่งในปี 2545 ถูกยึด เพราะอ้างถึงพระมหากษัตริย์ "อย่างไม่เหมาะสม"[13] นิตยสารวิจารณ์การเมืองและสังคม ฟ้าเดียวกัน ถูกห้ามและผู้ขายถูกแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งของคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองที่มีสุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี[14] กฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกใช้เป็นปกติเพื่อการตรวจพิจารณาและการปราบทางการเมืองในประเทศไทย เช่นเดียวกับเป็นกฎหมายที่ห้ามอภิปรายหรือวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลไทย
วันที่ 6 สิงหาคม 2548 บางกอกโพสต์ ตีพิมพ์ขึ้นหน้าหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับรอยแตกที่ทางวิ่งตะวันตกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เอ่ยนาม บทความที่ผู้เชี่ยวชาญการบินแนะนำให้ก่อสร้างใหม่เพื่อซ่อมแซมรอยแตกขนาดใหญ่ในทางวิ่ง การสอบสวนภายในของหนังสือพิมพ์พบว่า ขณะที่ยังมีรอยแตกขนาดเล็กบนไหล่ทางวิ่ง แหล่งข่าวอ้างอย่างผิด ๆ ว่าผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าทางวิ่งต้องมีการก่อสร้างใหม่ แหล่งข่าวนิรนาม ผู้อ้างว่าเป็นนักธุรกิจที่มีพี่ชายใกล้ชิดกับสมาชิกพรรคไทยรักไทยบางคน ปฏิเสธจะยืนยันความเห็นของเขา หัวหน้าผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการข่าวถูกตัดสินว่ากระทำการโดยประมาทในการตีพิมพ์เรื่องราวถูกไล่ออก นักวิจารณ์บางคนในหนังสือพิมพ์อ้างว่า แหล่งข่าวถูกกดดันจากรัฐบาลมิให้ยืนยันรายละเอียดของเรื่อง[15]
ในปี 2549 หม่อมราชวงศ์ทองน้อย ทองใหญ่ ราชเลขานุการส่วนพระองค์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ผู้กำลังจะได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการผู้บริหารบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น เมื่อการแต่งตั้งของเขาถูกพระราชวังขัดขวาง หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ ต้องดึงหลายพันสำเนาออกจากเครื่องพิมพ์หลังตีพิมพ์เรื่องราวโดยอ้างคำพูดของนักวิชาการฝ่ายซ้ายซึ่งเรียกร้องให้สื่อสืบสวนว่าเหตุใดหม่อมราชวงศ์ทองน้อยจึงถูกไล่ออกในลักษณะแปลก ๆ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงเรียกผู้สื่อข่าวกลุ่มหนึ่งไปยังพระราชวัง ซึ่งมีรายงานว่าพระองค์ตรัสว่า "Do you have a problem with me?"[16]
วันที่ 22 กันยายน 2558 สำนักพิมพ์ไทยของหนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ปฏิเสธไม่ยอมพิมพ์บทความพาดหัว "As Thai king ails, crown’s future unclear" (เมื่อพระมหากษัตริย์ไทยทรงพระประชวร อนาคตของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ชัดเจน)[17] วันที่ 1 ธันวาคม 2558 สำนักพิมพ์ไทยของหนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ปฏิเสธไม่ยอมพิมพ์บทความพาดหัว "Thai economy and spirits are sagging" (เศรษฐกิจและจิตวิญญาณของไทยกำลังร่วง)[18]
ในเดือนกันยายน 2557 มีข่าวว่า ชื่อของอดีตนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ถูกลบออกจากแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า อภิชนไทยปฏิบัติทั่วไป แต่จะยากขึ้นเพราะมีสื่อสังคมและการควบคุมความคิดของมหาชนไม่ง่ายเหมือนก่อนแล้ว คริส เบเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทย มองว่าการตรวจพิจารณาประวัติศาสตร์เป็นความหลงผิด และว่าการตัดประวัติศาสตร์อย่างนี้ถอดมาจากคู่มือของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ วินัย รอดจ่าย ประธานคณะกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ว่า การละเว้นทักษิณเป็นความผิดปกติ แต่เขาอธิบายไม่ได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรและทำไม เขาว่า บรรณาธิการอาจตัดชื่อออก และชื่อทักษิณจะถูกแทรกในฉบับปรับปรุงครั้งหน้า[19]
แบบเรียนใหม่นี้ไม่กล่าวถึงรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์ เพียงแต่ระบุว่ามีรัฐบาลหนึ่งที่ "ได้ความนิยมจากประชาชนผ่านงบประมาณมหาศาล" แต่กล่าวถึงการคัดค้านการปกครองของทักษิณ โดยอธิบายการประท้วงซึ่งเกิดก่อนการโค่นอำนาจเขาว่าเป็น "ขบวนการประชาชนต่ออำนาจเผด็จการ การทุจริตและการยักยอก"[19]
การตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตดำเนินการโดยตำรวจ, กสท โทรคมนาคม และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ก่อนหน้ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 การตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยส่วนใหญ่มุ่งบล็อกเว็บไซต์ลามก แต่ในหลายปีที่ผ่านมามีกระแสการประท้วงรุนแรง ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย พระราชกำหนด[20] กฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์ใหม่ และพระราชบัญญัติความมั่นคงฉบับใหม่[21] อย่างต่อเนื่อง การตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยส่วนใหญ่เปลี่ยนไปเป็นประเด็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ความมั่นคงของชาติและการเมืองแทน
ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่อินเทอร์เน็ตอยู่ภายใต้การตรวจตรา (Under Surveillance) โดยผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนในปี 2554[22] และอยู่ในกลุ่ม "ไม่เสรี" จากรายงานเสรีภาพบนเน็ต 2011 โดยฟรีดอมเฮาส์ ซึ่งอ้างการตรวจพิจารณาทางการเมืองจำนวนมาก และการจับกุมบล็อกเกอร์และผู้ใช้ออนไลน์อื่น[23]
เหตุผลของการบล็อก:
ก่อน 2549[24] | 2553[25] | เหตุผล |
11% | 77% | เนื้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ รวมถึงการวิจารณ์รัฐบาล การเมือง และพระมหากษัตริย์ |
60% | 22% | เนื้อหาลามก อนาจาร |
2% | <1% | เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการพนัน |
27% | <1% | การละเมิดลิขสิทธิ์ ผลิตภัณฑ์และบริการเถื่อน ยาเถื่อน การขายอุปกรณ์ทางเพศ โสเภณี ฯลฯ |
ยูอาร์แอลที่ถูกบล็อกโดยคำสั่งศาล:[25]
ปี | คำสั่งศาล | ยูอาร์แอล ที่ถูกบล็อก |
2550 | 1 | 2 |
2551 | 13 | 2071 |
2552 | 64 | 28,705 |
2553 | 39 | 43,908 |
รวม | 117 | 74,686 |
มีการประเมินว่า มียูอาร์แอลอีกหลายหมื่นยูอาร์แอลถูกบล็อกโดยปราศจากคำสั่งศาลผ่านคำร้องอย่างไม่เป็นทางการหรือภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การประเมินให้จำนวนเว็บไซต์ที่ถูกบล็อกกว่า 110,000 เว็บ และเพิ่มขึ้นในปี 2553[26]
ตามรายงานของ แอสโซซิเอเตดเพรส พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มีส่วนต่อการเพิ่มขึ้นอย่างมากของจำนวนคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ทุกปีในประเทศ[27] ขณะที่ระหว่างปี 2533 ถึง 2548 มีการไต่สวนในศาลไทยประมาณห้าคดีต่อปี แต่หลังจากนั้น มีการไต่สวนราว 400 คดีต่อปี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1,500[27]
เว็บไซต์ถูกบล็อกโดยโปรแกรมชี้แหล่งทรัพยากรสากล (URL) และ/หรือ ที่อยู่ไอพี อย่างไรก็ดี มีเว็บไซต์ที่ถูกบล็อกเพียงราวร้อยละ 20 ที่ถูกระบุด้วยที่อยู่ไอพี ที่เหลืออีกร้อยละ 80 ไม่สามารถระบุที่ตั้งทางกายภาพเจาะจงได้ หากเว็บไซต์เหล่านี้สามารถระบุได้ตั้งอยู่ในประเทศไทย ผู้ดำเนินการจะสามารถถูกฟ้องคดีตามกฎหมาย ฉะนั้น การขาดที่อยู่ไอพีจึงเป็นการหลบเลี่ยงที่สำคัญ
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารบล็อกทางอ้อมโดย "ร้องขอ" อย่างไม่เป็นทางการให้ผู้ให้บริหารอินเทอร์เน็ต 54 รายของประเทศ ทั้งเชิงพาณิชย์และไม่แสวงผลกำไร บล็อกเว็บไซต์ แม้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่มีข้อกำหนดให้ต้องยินยอมตาม "คำร้อง" เหล่านี้ ไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงฯ เขียนเมื่อปี 2549 ว่า ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ไม่ยอมปฏิบัติตามจะถูกบังคับลงโทษโดยรัฐบาลในรูปของการจำกัดความกว้างแถบความถี่ (bandwidth) หรือกระทั่งเสียสัญญาอนุญาตดำเนินการ
ปัจจุบันการตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเฉพาะห้ามเข้าเว็บไซต์ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้อื่นได้โดยใช้อีเมล เมสเซนเจอร์และทวิตเตอร์ได้โดยไม่ถูกตรวจพิจารณา
เดือนมกราคม 2553 มีรายงานว่า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่จะเพิ่มการรักษาความสงบเรียบร้อยไซเบอร์ กรมฯ จึงได้ขยายความร่วมมือระหว่าง 'หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานวิจัยและสถาบันการศึกษา' ในการสร้างทรัพยากรกฎหมายดิจิตอล ดีเอสไอร่วมมือกับสองมหาวิทยาลัยในการฝึกนักศึกษาในการสนับสนุนการสอบสวนไซเบอร์ของรัฐ แม้จะมีภัยคุกคามหลายประการต่อไซเบอร์สเปซของไทย แต่รองกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) อัศนีย์ ก่อตระกูล รับรู้ว่าคดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ใหญ่ที่สุดในปีที่ผ่านมาเกี่ยวข้องกับการละเมิดกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ เป็นการยากที่จะละเลยบทบาทของสถาบันวิชาการที่ถูกขอให้มีส่วนในการตรวจพิจารณาไซเบอร์[28][29]
หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แถลงว่า ระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคม ได้บล็อกยูอาร์แอลไปกว่า 100 ยูอาร์แอลภายใต้กฎอัยการศึกซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557[30] วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 คสช. เรียกตัวหัวหน้าสื่อมายังสโมสรทหารบกและสั่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ตรวจพิจารณาข้อมูลข่าวสารใดที่ดูยั่วยุ ปลุกปั่น อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย มีความลับของทางราชการ มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือหมิ่นประมาท คสช.[31] นอกจากนี้ ยังขู่ปิดสื่อสังคมหากผู้ให้บริการไม่สามารถสกัดกั้นข้อมูลข่าวสารซึ่งปลุกระดมความไม่สงบหรือปลุกระดม "การคัดค้านการรักษาความสงบ"[32]
เพื่อสนองต่อกิจกรรมต่อต้านรัฐประการบนสื่อสังคม คสช. สั่งกระทรวงไอซีทีให้บล็อกเฟซบุ๊กในประเทศไทยเป็นระยะ มีผลตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม เย็นวันนั้น เฟซบุ๊กถูกบล็อกทั่วประเทศเป็นเวลาราวหนึ่งชั่วโมง[33] ต่อมา รองโฆษก คสช. ออกมาแถลงว่า เป็นเหตุขัดข้องทางเทคนิค คสช. ไม่มีนโยบายปิดเฟซบุ๊ก และจากการตรวจสอบพบข้อขัดข้องทางเทคนิคที่เกตเวย์ (gateway) ด้านกระทรวงไอซีทีและ กสทช. ก็ออกมายืนยันทำนองเดียวกัน[34]
รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งทางออกอินเทอร์เน็ตทางเดียวทั้งประเทศ (single gateway) เพื่อให้รัฐบาลสามารถสอดส่องทุกกิจกรรมออนไลน์ได้ โดยในเดือนสิงหาคม 2558 ปรากฏเอกสารข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการจัดตั้ง single gateway โดยอ้างเหตุผลว่า "เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางอินเทอร์เน็ต"[35]
ในเดือนธันวาคม 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2559 ซึ่งฮิวแมนไรท์วอชว่า ให้อำนาจรัฐบาลจำกัดเสรีภาพในการพูด บังคับใช้การสอดส่องและการตรวจพิจารณา และการโต้ตอบนักกิจกรรม และมีบัญญัติว่าศาลสามารถสั่งให้ลบสารสนเทศที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเท็จและสร้างความเสียหายต่อบุคคลอื่นหรือสาธารณะออกจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะมีผลใหญ่หลวงต่อการค้นคว้าและการรายงานเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิที่รัฐสนับสนุน[36]
ในการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ ฉากที่แสดงความเปลือย การบริโภคแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การใช้ยาเสพติดและอาวุธที่เล็งไปยังมนุษย์ถูกตรวจพิจารณาเป็นปกติโดยทำเบลอตรงส่วนนั้น เช่นเดียวกับสื่อทุกแขนง การวิจารณ์พระมหากษัตริย์ไม่ได้รับอนุญาต
หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองส่งรถถังและกองทหารไปยึดสถานีโทรทัศน์ทุกแห่ง ผู้นำคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองสั่งให้ตรวจพิจารณารายงานข่าวและผลสำรวจความคิดเห็นที่อาจส่งผลเสียต่อกองทัพ[37] ผู้กระจายเสียงโทรทัศน์ไทยมิได้แพร่คลิปการเดินขบวนต่อต้านรัฐประหาร ผู้ให้บริหารเคเบิลท้องถิ่นของซีเอ็นเอ็น บีบีซี ซีเอ็นบีซี เอ็นเอชเคและช่องข่าวต่างประเทศอีกจำนวนมากถูกตรวจพิจารณา โดยภาพใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณถูกหยุดการถ่ายทอด[38]
หลังรัฐประหารในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติสั่งให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งหยุดออกอากาศรายการปกติและให้แพร่สัญญาณรายการของกองทัพบกเท่านั้น[39] คสช. จับกุมวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ซึ่งดำเนินการสถานีไทยพีบีเอส หลังเขาอนุญาตให้แพร่สัญญาณรายการพิเศษเกี่ยวกับรัฐประหารทางยูทูบแทนโทรทัศน์[40][41]
สถานีวิทยุในประเทศไทยต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาล และแต่เดิมดำเนินการโดยรัฐบาลและกองทัพเป็นหลัก[42]
ในเดือนพฤษภาคม 2536 กองทัพปิดสถานีวิทยุของกองทัพที่ให้กลุ่มข่าวเอกชนยืมเป็นเวลาสามวันหลังสถานีดังกล่าววิจารณ์แสดงข้อคิดเห็นต่อกองทัพ[42]
เมื่อเดือนมีนาคม 2546 การแพร่สัญญาณวิทยุไอเอ็นเอ็นถูกยกเลิกชั่วคราวหลังเครือข่ายออกอากาศการวิจารณ์รัฐบาลของสมาชิกคณะรัฐมนตรีคนหนึ่ง ในการสนองต่อการประท้วงสาธารณะ รัฐบาลจึงส่งการแพร่ภาพคืนและอ้างว่า การปิดชั่วคราวดังกล่าวมีสาเหตุมาจากไอเอ็นเอ็นไม่สามารถต่อสัญญาอนุญาตแพร่สัญญาณ
พระมหากษัตริย์ไม่สามารถถูกพูดถึงในทางไม่ดี และกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ก็มีผลใช้บังคับ เมื่อปี 2529 วีระ มุสิกพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ถูกพิพากษาลงโทษ จำคุกและห้ามจากการเมืองหลังคำปราศรัยหาเสียงซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า "ผมเลือกเกิดมันใจกลางพระมหาราชวังไม่ดีเหรอ เป็นพระองค์เจ้าวีระไปแล้ว ถ้าเป็นพระองค์เจ้าป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบคอแห้ง นี่เวลาก็ตั้งหกโมงครึ่ง ผมเสวยน้ำจัณฑ์เพื่อให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าเหรอ ที่มายืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์เต็มที่แล้วนะ"[43]
คำพิพากษาของศาลไทยไม่อาจถูกวิจารณ์ได้ หลังคำวินิจฉัยชี้ขาดซึ่งพิพาทเมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 ซึ่งศาลอาญาจำคุกกรรมการการเลือกตั้ง 3 คน ศาลร่วมกับตำรวจระบุปัจเจกบุคคล 16 คนที่ถูกจับภาพบนภาพข่าวโทรทัศน์ขณะวิจารณ์คำพิพากษา[44] ภายหลังศาลตัดสินทุกคนมีความผิดและตัดสินจำคุกไป 4 คน ได้รับโทษจำคุกสูงสุดเจ็ดปี[45]
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการใช้กฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทบ่อยครั้งเพื่อปิดปากผู้ไม่เห็นด้วยในรัฐบาลทักษิณ ซึ่งบ่อยครั้งโดยตัวนายกรัฐมนตรีเอง ทำให้เกิดคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทและคดีฟ้องกลับคั่งค้างในศาล
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.