Loading AI tools
ความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย (มลายู: Pemberontakan di Thailand Selatan) หรือ ไฟใต้ หมายถึง ความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามจังหวัด คือ จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มก่อความไม่สงบหลายกลุ่ม อย่างไรก็ดี บางครั้งมีการลุกลามมาถึงบางอำเภอของจังหวัดสงขลา[41] และบางทีมีการโทษว่าการก่อการร้ายในกรุงเทพมหานครและจังหวัดภูเก็ตเป็นฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบภาคใต้ด้วย[42]
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
เนื้อหาในบทความนี้ล้าสมัย โปรดปรับปรุงข้อมูลให้เป็นไปตามเหตุการณ์ปัจจุบันหรือล่าสุด ดูหน้าอภิปรายประกอบ |
ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
แผนที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีพื้นที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเชื้อสายมลายู | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (BRN)
อดีตผู้สนับสนุน:
| |||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
แพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) |
สะแปอิง บาซอ[21] อดีตผู้สนับสนุน:
| ||||||
หน่วยที่เกี่ยวข้อง | |||||||
กองทัพอากาศไทย[33][34][35]
| ไม่มีหน่วยเฉพาะ | ||||||
กำลัง | |||||||
60,000 นาย [2] | 10,000–30,000 นาย[2] | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
เสียชีวิตมากกว่า 7,152 ราย (พ.ศ. 2547–2563)[37][38][39] บาดเจ็บมากกว่า 13,000 ราย (พ.ศ. 2547–2564)[40] |
ภูมิภาคสามจังหวัดภาคใต้ดังกล่าวนั้นเดิมเป็นรัฐสุลต่านปตานีดารุสซาลามซึ่งปกครองตนเองมาก่อน จนเมื่อมีการกลืนวัฒนธรรมทำให้เกิดความขัดแย้งเริ่มตั้งแต่ปี 2491[43] เป็นการก่อกำเริบการแยกออกทางเชื้อชาติและศาสนาในภูมิภาคมลายูปัตตานี[44] มีความรุนแรงเพื่อแบ่งแยกดินแดนระดับต่ำในภูมิภาคดังกล่าวหลายทศวรรษ แต่เหตุการณ์บานปลายหลังปี พ.ศ. 2544 โดยมีการกลับกำเริบในปี 2547 ระหว่างปี 2547–2554 มีผู้เสียชีวิต 4,500 คนและได้รับบาดเจ็บ 9,000 คน ลักษณะการก่อเหตุมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้แค้นมากขึ้น และเป็นการโจมตีไม่เลือกลดลง[45]
กลุ่มก่อความไม่สงบในระยะแรกมีเป้าหมายเพื่อแยกตัวออกเป็นอิสระ เช่น BNPP และ PULO ผู้นำท้องถิ่นเรียกร้องอัตตาณัติระดับหนึ่งแก่ภูมิภาคปัตตานีอย่างต่อเนื่อง และขบวนการผู้ก่อการกำเริบแยกตัวออกบางส่วนเรียกร้องให้มีการเจรจาสันติภาพ อย่างไรก็ดี หลังความรุนแรงรอบใหม่ในปี 2544 แม้ยังไม่ทราบกลุ่มก่อความไม่สงบแน่ชัด แต่มีการชี้ว่า GMIP, BRN-C และ RKK (กลุ่มติดอาวุธของ BRN) เป็นผู้นำการก่อเหตุ ซึ่งบางรายงานระบุว่ากลุ่มเหล่านี้ไม่ได้ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ แต่ต้องการทำให้ภูมิภาคปาตานีปกครองไม่ได้[46]
ระหว่างปี 2547–2554 มีผู้เสียชีวิตกว่า 4,500 คน และได้รับบาดเจ็บกว่า 9,000 คนจากความไม่สงบ นับเป็นความขัดแย้งที่มียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[45] ในปี 2554 สถานการณ์กลายเป็นการคุมเชิงระดับต่ำ ส่วนใหญ่ลักษณะการก่อเหตุเป็นการประกบยิง แต่มีเหตุระเบิดแสวงเครื่องบ้างเฉลี่ย 12 ครั้งต่อเดือน[45] มีเหตุการณ์ความรุนแรงกว่า 11,000 ครั้งและการวางระเบิดกว่า 2,000 ครั้ง[47]
ข้างฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบไม่มีข้อเรียกร้องทางการเมืองออกมาชัดเจนจึงบอกไม่ได้ว่าเหตุใดความไม่สงบจึงปะทุกลับมาอีกครั้ง[48] อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์เสนอว่ามีการเปลี่ยนจากเป้าหมายด้านเชื้อชาติและชาติพันธุ์และแบ่งแยกดินแดนมาเป็นอิสลามิสต์หัวรุนแรง[48] สถานที่ก่อเหตุย้ายจากป่าเข้ามาในหมู่บ้าน เมืองและนคร สภาพดังกล่าวทำให้มีการใช้กลุ่มนักรบขนาดเล็ก 5–10 คน[49] กลางปี 2549 ตำรวจประเมินว่ามีนักรบ 3,000 คนปฏิบัติการใน 500 เซลล์ ทางการเชื่อว่าผู้ก่อความไม่สงบในเซลล์ในหมู่บ้านสองในสามจากทั้งหมด 1,574 แห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้[50] โครงสร้างแบบเซลล์นี้ทำให้ไม่ต้องใช้เงินทุนสนับสนุนมากนัก ผู้ก่อความไม่สงบบางส่วนใช้เงินทุนสนับสนุนจากการจ้างงานของตนเอง รายงานของกลุ่มวิกฤตระหว่างประเทศปี 2548 ระบุว่า ผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน เคร่งศาสนา ติดอาวุธไม่ดีและพร้อมสละชีพเพื่ออุดมการณ์[50] กลางปี 2548 ยอดผู้เสียชีวิตมุสลิมสูงกว่ายอดผู้เสียชีวิตพุทธ ซึ่งเชื่อว่ามุสลิมที่ตกเป็นเป้านั้นใกล้ชิดกับทางการไทยหรือค้านความคิดอิสลามิสต์[51]
จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ พบว่า ความถี่ของการก่อเหตุขึ้น ๆ ลง ๆ แต่สูงสุดในปี 2550 (2,409 เหตุการณ์) และ 2555 (1,851 เหตุการณ์) ซึ่งศูนย์ฯ ตั้งข้อสังเกตว่าความถี่ของเหตุการณ์อาจเพิ่มขึ้นและลดลงเป็นวัฏจักรโดยจะมีความถี่สูงสุดทุก 5 ปี ยอดผู้เสียชีวิตรายปีลดลงทุกปีนับแต่ปี 2556[52]
อันดับ | พื้นที่ | จำนวนครั้ง |
---|---|---|
1 | อำเภอเมือง จังหวัดยะลา | 1,713 |
2 | อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส | 1,191 |
3 | อำเภอรามัน จังหวัดยะลา | 1,099 |
4 | อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส | 1,054 |
5 | อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา | 1,035 |
6 | อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี | 1,016 |
7 | อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี | 863 |
8 | อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี | 840 |
9 | อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี | 790 |
10 | อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส | 639 |
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ตั้งข้อสังเกตว่าพื้นที่ที่มีการก่อเหตุสูงสุดเป็น 7 หัวเมืองประวัติศาสตร์เดิม อันประกอบด้วย เมืองปัตตานี ยะหริ่ง หนองจิก ยะลา รามัน สายบุรี และระแงะ[52]
ส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุมุ่งเป้าไปยังกำลังความมั่นคงและสัญลักษณ์อำนาจของรัฐไทยอย่างข้าราชการ โรงเรียนและวัด แต่ผู้เสียชีวิตกว่า 90% เป็นพลเรือน[53] มีการตัดศีรษะ แขวนคอและทุบตี มีการฆ่าผู้หญิง เด็ก ครูและพระสงฆ์ และมีการหายตัวอยู่เป็นนิจ[54]
การโจมตีระยะแรก ๆ เป็นการประกบยิงใส่นายตำรวจที่ลาดตระเวนจากมือปืนหรือจักรยานยนต์ หลังปี 2544 ลักษณะการก่อเหตุบานปลายเป็นการโจมตีที่มีการประสานงานกันอย่างดีใส่สถานที่ตั้งของตำรวจ เช่น สถานีตำรวจและด่านตรวจ แล้วหลบหนีไปพร้อมกับขโมยอาวุธและเครื่องกระสุน ยุทธวิธีอื่นที่ใช้เพื่อเรียกชื่อเสียงจากความตื่นตระหนกและหวาดกลัว ได้แก่ การฆ่าพระสงฆ์ การวางระเบิดวัด การตัดศีรษะ การข่มขู่พ่อค้าหมูและลูกค้า ตลอดจนการวางเพลิงโรงเรียน ฆ่าครูและอำพรางศพ[55]
จุดมุ่งหมายของการก่อเหตุมีลักษณะโจมตีไม่เลือกลดลง และเป็นการโจมตีแก้แค้นมากขึ้น โดยมีกำลังความมั่นคง ข้าราชการและมุสลิมสายกลางเป็นเป้าหมาย[45] มีการใช้ระเบิดแสวงเครื่องขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 5–10 กิโลกรัม สร้างขึ้นจากถึงแก๊สหุงต้ม หรือถังดับเพลิงบรรจุแอมโมเนียมไนเตรตซึ่งมีราคาถูก ระเบิดในภายหลังมีแนวโน้มใช้อุปกรณ์วิทยุจุดแทนโทรศัพท์เคลื่อนที่[56] และมีการใช้ระเบิดแสวงเครื่องแบบหน่วงเวลา (time-delayed) มากขึ้นเพื่อมุ่งเป้าไปยังผู้รับแจ้งเหตุ[57] การลอบยิง ซึ่งอาจเป็นการซุ่มโจมตีหรือการยิงประกบจากมอเตอร์ไซค์ เป็นวิธีการฆ่าหลัก และเปลี่ยนมามีรูปแบบการแก้แค้นมากขึ้น[57] ความรุนแรงระหว่างมุสลิมด้วยกันเป็นเรื่องการแก่งแย่งอำนาจมาโดยตลอด[57] กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต้องการไล่พุทธออกจากพื้นที่ ส่วนพุทธที่เหลืออยู่อยู่ในพื้นที่ที่มีอาวุธแน่นหนา[57] การก่อเหตุลอบวางเพลิงลดลง ส่วนหนึ่งเพราะมีทหารคุ้มครอง และบางส่วนเพราะมุสลิมไม่พอใจที่โรงเรียนถูกเผา[58] ผู้ก่อความไม่สงบไม่เต็มใจยิงปะทะและมักเป็นไปเพื่อป้องกันตัว แต่มีแหล่งข่าวระบุว่ามีการยิงปะทะยืดเยื้อเฉลี่ยเดือนละ 4 ครั้ง[59]
ในปี 2561 การโจมตีกำลังความมั่นคงลดลงเหลือ 1–2 ครั้งต่อเดือน ยุทธวิธีที่นิยมใช้ยังเป็นการวางระเบิดริมถนนและการยิง มีการใช้ระเบิดท่อเหล็ก เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม79 และปืนเล็กยาวเอ็ม16 ในการก่อเหตุ[60]
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ |
พรรคการเมืองหลักที่เกี่ยวข้อง
|
การเมืองไทย • ประวัติศาสตร์ไทย |
อดีตรัฐสุลต่านปาตานีซึ่งกินอาณาเขตสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทยปัจจุบัน ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส ตลอดจนบางส่วนของจังหวัดสงขลาที่อยู่ใกล้เคียง และส่วนตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศมาเลเซียส่วนที่อยู่ปลายคาบสมุทรมลายูปัจจุบันถูกราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์พิชิตในปี พ.ศ. 2328 สนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม พ.ศ. 2452 ยืนยันการปกครองของสยามเหนือดินแดนดังกล่าว ทว่า ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 รัฐบาลรัตนโกสินทร์ปล่อยให้ดินแดนดังกล่าวมีอำนาจปกครองตัวเองเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งการคงกฎหมายอิสลาม จนในปี 2486 จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ริเริ่มกระบวนการแผลงเป็นไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกลืนวัฒนธรรมชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศ รวมทั้งชาวปาตานี[61] ในปี 2487 มีการใช้บังคับกฎหมายแพ่งของไทยในภูมิภาคปาตานีแทนการปกครองแบบอิสลามท้องถิ่นเดิม หลักสูตรในโรงเรียนมีการทบทวนให้ยึดไทยเป็นศูนย์กลาง และสอนเป็นภาษาไทย ศาลมุสลิมตามประเพณีถูกแทนที่ด้วยศาลแพ่งที่รัฐบาลกลางในกรุงเทพมหานครเห็นชอบ การกลืนวัฒนธรรมแบบบังคับนี้เป็นที่ระคายเคืองต่อชาวมาเลย์ปาตานี[62]
ในปี 2490 หะยีสุหลง ผู้ก่อตั้งขบวนการประชาชนปาตานี เริ่มการรณรงค์ร้องทุกข์ โดยเรียกร้องอัตตาณัติ สิทธิทางภาษาและวัฒนธรรม และการใช้กฎหมายอิสลาม[63] ในเดือนมกราคม 2491 สุหลงถูกจับฐานกบฏร่วมกับผู้นำท้องถิ่นอื่น และถูกตราว่าเป็น "ผู้แบ่งแยกดินแดน"[63] ในเดือนเมษายน 2491 เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู เรียก กบฏดุซงญอ ต่อมา สุหลงได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในปี 2495 ก่อนหายตัวไปภายใต้พฤติการณ์น่าสงสัยในปี 2497[63]
ผู้นำปาตานีปฏิเสธการรับรองว่าเป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ และตอบโต้นโยบายของรัฐบาลไทย ขบวนการชาตินิยมปาตานีเริ่มเติบโตขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากอุดมการณ์อย่างนิยมนัสเซอร์ (Nasserism) ในคริสต์ทศวรรษ 1950 โดยในปี 2502 อดุลย์ ณ สายบุรีก่อตั้งขบวนการแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติปัตตานี (BNPP) ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏมลายูกลุ่มแรก[63] ตามมาด้วยองค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี (PULO) ในปี 2511 ณ เวลาการก่อตั้ง เป้าหมายของกลุ่มชาตินิยมเหล่านี้ได้แก่การแยกตัวออก มีการเน้นสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธสู่รัฐเอกราชซึ่งชาวปาตานีสามารถใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีโดยไม่ถูกบังคับด้วยค่านิยมวัฒนธรรมต่างด้าว[64]
หลังจากนั้นมีการกำเนิดกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มในภาคใต้ แม้มีอุดมการณ์ต่างกันแต่ส่วนใหญ่มีเป้าหมายแบ่งแยกดินแดนร่วมกัน ล้วนใช้ความรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมาย มีการกำหนดรูปแบบการโจมตีที่ตั้งของตำรวจและทหาร เช่นเดียวกับโรงเรียนและสถานที่ราชการ อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพของกลุ่มเหล่านี้จำกัดด้วยความขัดแย้งภายในและการขาดความเป็นหนึ่งเดียวกัน[65]
ขอบเขตของความไม่สงบลดลงอย่างมากในปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 เนื่องจากไม่มีกลุ่มพูโล และรัฐบาลไทยเริ่มเพิ่มงบประมาณในพื้นที่และเพิ่มความเข้าใจในท้องถิ่น จนมีการตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยดำเนินการช้าในการยกฐานะทางเศรษฐกิจในพื้นที่และยังมีการปิดกั้นชาวมลายูมุสลิมในธุรกิจและการปกครองท้องถิ่น จนมีการยุบ ศอบต.[66]: 8–9
ความรุนแรงรอบใหม่เริ่มขึ้นในปลายปี 2544 หลังจากนั้นระดับความไม่สงบค่อย ๆ สูงขึ้นในช่วงสองปีถัดมา จนต้นปี 2547 มีปฏิบัติการปล้นอาวุธจากค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาส[66]: 9 แม้ยังไม่อาจทราบตัวการแน่ชัดและไม่มีข้อเรียกร้องเป็นรูปธรรม แต่มีการระบุว่ากลุ่มที่ได้รับฟื้นฟูอย่าง ขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี (GMIP), บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต (BRN-C) และฝ่ายติดอาวุธตามอ้าง รุนดากุมปูลันเกอจิล (RKK) เป็นหัวหอกการก่อการกำเริบใหม่นี้[67]
มีการอ้างว่าความยากจนและปัญหาเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยหนึ่งเบื้องหลังการก่อการกำเริบด้วย[68][69] อย่างไรก็ตาม ข้อมูลส่อความว่าภาคใต้ไม่ได้มีปัญหาความยากจน ภาคใต้มีสุขภาพและการเคหะติดอันดับต้น ๆ ของประเทศ[70] ในแง่ของดัชนีความสำเร็จของมนุษย์นั้น จังหวัดภาคใต้ติดอันดับทั้งต้นและท้าย ในแง่ของรายได้ครัวเรือน ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ติดอันดับครึ่งบนของประเทศ ยกเว้นจังหวัดปัตตานี อย่างไรก็ดี จังหวัดดังกล่าวมีปัญหาเรื่องการว่างงานและการกระจายรายได้[70]
ในระบบโรงเรียนปอเนาะ (Ponok) ของไทย พบว่ามีบางโรงเรียนที่มีเป้าหมายการแบ่งแยกดินแดน หรือการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ เพื่อตอบโต้รัฐบาลไทย ที่ชาวมุสลิมมลายูในพื้นที่เชื่อว่ากดขี่ข่มเหงพวกเขาชัดเจน ระบบโรงเรียนดังกล่าวถูกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหัวรุนแรงแทรกซึม แล้วเผยแพร่ลัทธิอุดมการณ์ ซึ่งหน่วยข่าวกรองกองทัพบก ระบุว่า โรงเรียนสอนศาสนากลายเป็นแหล่งบ่มเพาะสมาชิกใหม่ของกลุ่มต่าง ๆ และหัวหน้ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนนั้น ก็สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนปอเนาะ[71]
ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (BRN) ควบคุมกำลังก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุด ขบวนการดังกล่าวมีโครงสร้างแบบแบ่งเป็นส่วนซึ่งให้สมาชิกมีอัตตาณัติและความยืดหยุ่นในการลงมือ มีสภาปกครองเรียก สภาองค์กรนำ (Dewan Pimpinan Parti หรือ DPP) มีสมาชิกเกือบ 10,000 คน ซึ่งร่วมสายข่าว ผู้สนับสนุนและผู้เห็นใจด้วย ในเดือนมกราคม 2560 ดุนเลาะ แวะมะนอเป็นผู้นำกลุ่มแทนสะแปอิง บาซอ[72] ดุนเลาะเป็นที่ทราบกันว่าเป็นสายแข็ง และหลังเขาดำรงตำแหน่งผู้นำ การก่อเหตุในปี 2561 แสดงให้เห็นว่ามีการวางแผนอย่างดีโดยมีการวางระเบิดหลายจุดประสานงานกัน[73] ผู้ก่อความไม่สงบในประเทศไทยมีอุดมการณ์ต่างจากรัฐอิสลามอิรักและลิแวนต์ เพราะต้องการตั้งมาตุภูมิของตนเอง ไม่ใช่รัฐเคาะลีฟะฮ์ข้ามชาติ นอกจากนี้ผู้ก่อความไม่สงบในประเทศไทยยังไม่ใช้วิธีโจมตีฆ่าตัวตาย ไม่เลือกเป้าหมายหรือโจมตีเน้นยอดผู้เสียชีวิตมากเพราะเกรงว่าจะเสียผู้สนับสนุน[74]
ขบวนการผู้ก่อความไม่สงบเองก็ไม่มีเอกภาพและมีหลายกลุ่มแยกเช่นเดียวกับรัฐ ผู้อาวุโสและมีประสบการณ์มากกว่ามักมีแรงจูงใจชาตินิยมและศาสนามากกว่า ส่วนนักรบท้องถิ่นด้อยอาวุโสมีความสัมพันธ์กับเครือข่ายอาชญากรท้องถิ่นมากกว่า[75]
ระดับ | ลักษณะ |
---|---|
จือแว "ตัวจริง" | อุดมการณ์เข้มแข็ง ฝึกอย่างดี ไม่ยุ่งกับกิจกรรมผิดกฎหมาย มีความรู้ |
จือแว "ระดับสอง" | พวกหัวรุนแรง "ดี" ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ค้าไม้ผิดกฎหมาย ปฏิบัติตามคำสั่ง |
จือแว "ระดับสาม" | พวกหัวรุนแรง "ไม่ดี" ซื้อขายยาเสพติด เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจผิดกฎหมาย ปฏิบัติการอิสระ |
โจร | ใช้ยาเสพติด ปล้น ฆ่าไม่เลือก |
กลุ่มก่อความไม่สงบปัจจุบันประกาศญิฮัดและไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนอีกต่อไป ส่วนใหญ่มีสายแข็งซาลาฟีเป็นหัวหน้า ซึ่งมีเป้าหมายสุดขั้วและข้ามชาติ อย่างรัฐเคาะลีฟะฮ์อิสลาม โดยไม่มีอัตลักษณ์วัฒนธรรมปาตานีหรือชาตินิยม กลุ่มญิฮัดซาลาฟีเป็นปรปักษ์ต่อมรดกทางวัฒนธรรมและวัตรของมุสลิมมลายูตามประเพณีโดยกล่าวหาว่าทั้งสองสิ่งนี้ไม่เป็นอิสลาม[65] กลุ่มนี้ไม่เดือดร้อนเกี่ยวกับการเป็นชาติเอกราช แต่เป้าหมายคือทำให้ภูมิภาคปาตานีปกครองไม่ได้[46]
ปฏิบัติการปราบปรามการก่อการกำเริบของทางการมีระบบราชการที่ล่าช้าและการขาดความเป็นมืออาชีพเป็นอุปสรรค รวมทั้งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความไม่ไว้วางใจรัฐบาล[45] นโยบายการตอบสนองต่อความไม่สงบของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ทำให้เหตุการณ์บานปลายยิ่งขึ้น[47] รัฐบาลวางกำลังตำรวจและทหารรวม 24,000 นายในภาคใต้[63]: 17 ในปี 2547 กองทัพภาคที่ 4 ตั้งกองบัญชาการส่วนหน้าเพื่อประสานงานปฏิบัติการทางทหารในภาคใต้ ปีเดียวกันมีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมบุคคลโดยไม่มีหมายศาล และสามารถค้นและกักขังโดยไม่ต้องแจ้งข้อหาได้[63]: 18 มีการเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการถึง 3 ครั้งระหว่างปี 2547–49 นอกจากนี้ยังมีการขัดขากันเองของหน่วยงานในกองทัพภาคที่ 4 และการวางกำลังแบบอยู่กับที่ จึงมีผลทำให้ยกชนบทให้แก่ผู้ก่อการกำเริบ[79] ในปี 2548 รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความปรองดองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีการเสนอแนะนโยบายและวิธีดำเนินงานหลายอย่าง แต่รัฐบาลไม่รับทำ[80]
หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวขอโทษต่อประชาชนภาคใต้ ปรับปรุงความสัมพันธ์กับประเทศมาเลเซีย และเสนอการปฏิรูปหลายอย่าง แต่มีการปฏิบัติจริงเพียงเล็กน้อย[81] รัฐบาลให้ตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ แต่กว่าหน่วยงานดังกล่าวจะเข้ามามีบทบาทเข้มแข็งในการประสานงานปฏิบัติการข่าวกรองและยุทธวิธีก็ปลายปี 2552–ต้นปี 2553[82] หลายรัฐบาลตั้งแต่รัฐบาลทักษิณมาจนถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความไม่สงบต่ำ[83]
มีการจัดอาสาสมัครป้องกันหมู่บ้านเพื่ออารักขาครูในพื้นที่ แต่อาสาสมัครดังกล่าวติดอาวุธเบา และไม่มีเครื่องป้องกัน[84] นอกจากนี้ ทหารพรานซึ่งมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเสียมาก มีการชั่งใจในการเลือกเป้าหมายต่ำและมักก่อวิสามัญฆาตกรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างอื่น อาวุธปืนมักเป็นอาวุธที่ปลดประจำการแล้ว[85]
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก สั่งเพิ่มทหารและการลาดตระเวน ทำให้การก่อเหตุที่สูงสุดในปี 2550 ค่อย ๆ ลดลง[81] ในปี 2554 ทางการมีกำลังความมั่นคงในพื้นที่ 60,000 นาย โดยรวมทหารพราน 10,000 นาย จนถึงปีนั้น รัฐบาลใช้งบประมาณเพื่อพยายามแก้ปัญหาในพื้นที่ 145,000 ล้านบาท[86] ในปี 2550 กองทัพใช้วิธีกักขังหมู่ผู้ต้องสงสัยกว่า 2,000 คน ในคดีความมั่นคงกว่า 7,400 คดีนั้น ปิดคดีไม่ได้กว่า 77% และชาวบ้านที่ถูกตำรวจจับจนถึงปี 2554 นั้นมีเพียง 19% ที่ถูกตั้งข้อหา ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ต้องขังกว่า 90% ด้านกองทัพใช้วิธีกักขังซึ่งอาจนานถึง 12 ถึง 18 เดือน แล้วหลังปล่อยตัวไม่ได้รับให้กลับภูมิลำเนาเดิม[87]
รัฐบาลอภิสิทธิ์อัดฉีดงบประมาณพัฒนาห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2552–2555 เป็นจำนวน 63,000 ล้านบาท[70] อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีนโยบายลงโทษ "พื้นที่สีแดง" คือ จะให้งบประมาณแก่พื้นที่ที่มีอัตราความไม่สงบต่ำ นอกจากนี้ยังมีองค์การนอกภาครัฐระบุว่างบพัฒนาหายไป 20% และหลายคนเสนอว่างบประมาณอาจไปสนับสนุนฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์[88]
วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรี กำหนดให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คผบ.จชต.) ประกอบด้วย ประธาน 1 คน และคณะกรรมการ 5 คน ซึ่งมี 5 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านความมั่นคง 2. ด้านการต่างประเทศ 3. ด้านการศึกษา 4. ด้านเศรษฐกิจ และ 5. ด้านสังคมพหุวัฒนธรรม มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี
วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2564 นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งหมด 5 รายชื่อ ประกอบด้วย 1. พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ด้านความมั่นคง 2. รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ด้านการต่างประเทศ 3. นายเชื่อง ชาตอริยะกุล ด้านเศรษฐกิจ 4. นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ด้านการศึกษา 5. นายดลเดช พัฒนรัฐ ด้านสังคมพหุวัฒนธรรม[89]
งบประมาณแผ่นดินเพื่อการแก้ปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (หน่วย: ล้านบาท)[52]
รัฐบาลไทยเจรจาโดยอ้อมกับผู้ก่อความไม่สงบตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร แต่ไม่ใช่ทุกกลุ่มที่เห็นชอบกับการเจรจา[90] ผู้นำองค์การปัตตานีมีการประชุมกันทุก 2 เดือนในประเทศมาเลเซีย โดยองค์การข่าวกรองภายนอกและกระทรวงกลาโหมมาเลเซียเป็นผู้ผลักดัน แต่การเจรจาไม่มีความคืบหน้าตั้งแต่ปี 2550 ผู้นำกลุ่ม BRN-C ที่ก่อเหตุมากที่สุด ไม่เห็นประโยชน์ของการเจรจา รวมทั้งสมาชิกเข้าร่วมการประชุมในมาเลเซียแต่ไม่ยอมเจรจากับรัฐบาลไทย[90]
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ผู้แทนรัฐบาลยิ่งลักษณ์และกลุ่ม BRN ลงนาม "ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการเจรจาสันติภาพ" ที่แสดงเจตนาของรัฐบาลที่จะเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยรับรองกลุ่มก่อความไม่สงบอย่างเปิดเผย[91]: 3 อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์มองว่าทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ริเริ่มนโยบายดังกล่าว และมองว่าเขาต้องการแก้ไขภาพลักษณ์ของตนที่ดำเนินนโยบายผิดพลาดในสมัยรัฐบาลเขา และสภาผู้นำ BRN ไม่รับรองการเจรจาดังกล่าว ต่อมา BRN มอบหมายให้ผู้นำสายแข็งสองคนก่อนการประชุมรอบแรกในเดือนมีนาคม 2556[91]: 3–4 BRN ออกข้อเรียกร้องห้าข้อในรูปวิดีทัศน์ทางยูทูบก่อนการประชุมรอบแรก ซึ่งในการประชุมรอบสองในเดือนเมษายน 2556 รัฐบาลแถลงว่ากำลังพิจารณาเพิกถอนหมายจับผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบซึ่งเป็นข้อเรียกร้องหนึ่ง ในการประชุมรอบสามในเดือนมิถุนายน ผู้แทน BRN ตกลงว่าจะพยายามลดความรุนแรง[91]: 4–5 การเจรจาดังกล่าวทำให้เกิดข้อริเริ่มสันติภาพเราะมะฎอนซึ่งมุ่งลดความรุนแรงในช่วงถือศีลอด[91]: 5 วันที่ 12 กรกฎาคม ประเทศมาเลเซียประกาศว่าทั้งสองฝ่ายพยายามลดความรุนแรงตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคมถึง 18 สิงหาคม[91]: 5 อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ระเบิดแสวงเครื่องและการตอบโต้ของทางการทำให้การลดความรุนแรงล้มเหลว วันที่ 6 สิงหาคม มีวิดีทัศน์จากกลุ่ม BRN ว่ากลุ่มระงับการเจรจากับรัฐบาลไทย[91]: 6
ในเดือนเมษายน 2560 กลุ่มบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์เรียกร้องเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทย โดยให้มีตัวกลางไกล่เกลี่ยที่เป็นกลางจริง ๆ มีอำนวยการ[92] แต่บีอาร์เอ็นจะรอจนฝ่ายการเมืองของกลุ่มมีความพร้อมเสียก่อน และจะไม่เจรจาหากถูกกดดัน[93]
ต่อมาได้มีการแต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จาก พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็น พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์[94] และมี พล.ต.อ.ตัน สรี อับดุล ราฮิม บินโมฮัมหมัด นูร์ เป็นหัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศมาเลเซีย[95]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ระหว่างปี 2547–2552 มีมุสลิมเสียชีวิต 2,337 คน พุทธเสียชีวิต 1,607 คน มุสลิมได้รับบาดเจ็บ 2,389 คน และพุทธได้รับบาดเจ็บ 4,207 คน จนถึงปี 2554 ความไม่สงบทำให้เกิดหญิงหม้าย 2,100 คนและเด็กกำพร้า 5,000 คน[96] ในปี 2562 ยอดเด็กกำพร้าในพื้นที่เพิ่มเป็น 9,800 คน[97]
ผลทำให้ประชากรพุทธกว่า 20% หนีออกจากพื้นที่[47] ชาวพุทธที่เหลือส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง ชาวพุทธในชนบทส่วนมากอยู่รวมกันโดยติดอาวุธแน่นหนา มีผู้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าที่การก่อเหตุลดลงเพราะผู้ก่อเหตุประสบความสำเร็จในการขับไล่ชาวพุทธบางส่วนออกจากพื้นที่[96] ผลจากการฆ่าพระสงฆ์ในพื้นที่ทำให้สภาสงฆ์นราธิวาสสั่งงดบิณฑบาต ทำให้ชาวพุทธในพื้นที่เสียกำลังใจ[96] เหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้มีการลงมือตอบโต้กับนักบวชและครูมุสลิม[96] ในเดือนมิถุนายน 2552 เกิดเหตุแก้แค้นโจมตีมัสยิดในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ถูกกลุ่มมือปืนโจมตี ซึ่งมีผู้ต้องสงสัยเป็นกลุ่มอาสาสมัครหมู่บ้านและมีผู้สนับสนุนระดับสูง[98]
อัตรามารดาเสียชีวิตขณะคลอดในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาสคิดเป็น 9% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานประเทศสามเท่า โดยสาเหตุมาจากความรุนแรงทำให้ไม่ได้รับการฝากครรภ์อย่างเหมาะสม อัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นสองเท่าระหว่างปี 2546 ถึง 2549[96] อัตราตายทารกสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ 30% นอกจากนี้ยังมีปัญหาไม่ได้แจ้งเกิด ไม่ได้รับวัคซีนและทุพโภชนาการ[96] ปัญหาความไม่สงบยังทำให้ขาดแคลนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ โดยมีการขอย้ายออกกว่า 9,000 คน และคงเหลือพยาบาลภาครัฐในห้าจังหวัดใต้สุดของประเทศ 1,300 คน[96]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.