Loading AI tools
แง่มุมหนึ่งของประวัติศาสตร์ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เชื่อว่ามีมนุษย์อยู่อาศัยอยู่ถาวรในอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบันมาแล้วประมาณ 40,000 ปี เดิมชาวมอญ เขมรและมลายูปกครองพื้นที่ดังกล่าว โดยมีอาณาจักรใหญ่ เช่น ฟูนาน ทวารวดี หริภุญชัย จักรวรรดิเขมร และตามพรลิงก์ ส่วนบรรพบุรุษไทยสยามปัจจุบันซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มชาวไท-ไตเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในแถบเดียนเบียนฟูในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 8 และเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยในอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบันในคริสต์ศตวรรษที่ 11 รัฐของชาวไทเกิดขึ้นจำนวนมากในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ประมาณปี 1780 พ่อขุนบางกลางหาวรวบรวมกำลังกบฏต่อเขมร และตั้งอาณาจักรสุโขทัย เหนือขึ้นไป พญามังรายทรงตั้งอาณาจักรล้านนาในปี 1839 มีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงใหม่ ทรงรวบรวมแว่นแคว้นขึ้นในแถบลุ่มแม่น้ำปิง ส่วนบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีการตั้งสหพันธรัฐในบริเวณเพชรบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรีและอยุธยาในคริสต์ศตวรรษที่ 11 นักประวัติศาสตร์กระแสหลักมักเลือกนับสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของคนไทย
อาณาจักรอยุธยาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1893 ต่อมาเป็นใหญ่แทนจักรวรรดิเขมร และแทรกแซงอาณาจักรสุโขทัยอย่างต่อเนื่องจนสุดท้ายถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงจัดการปกครองโดยแบ่งพลเรือนกับทหารและจตุสดมภ์ซึ่งบางส่วนใช้สืบมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงริเริ่มระบบเจ้าขุนมูลนาย ทำให้ประชากรส่วนใหญ่เป็นไพร่ใช้แรงงานปีละ 6 เดือน กรุงศรีอยุธยาเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตกเมื่อ พ.ศ. 2054 หลังจากนั้นในปี 2112 กรุงศรีอยุธยาตกเป็นประเทศราชของราชวงศ์ตองอูแห่งพม่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพในอีก 15 ปีให้หลัง กรุงศรีอยุธยายังติดต่อกับชาติตะวันตก จนรุ่งเรืองถึงขีดสุดในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความขัดแย้งภายในติด ๆ กันหลายรัชกาลในราชวงศ์บ้านพลูหลวง และการสงครามกับราชวงศ์คองบอง (อลองพญา) จนส่งผลให้เสียกรุงครั้งที่สองเมื่อปี 2310 หลังจากนั้นบ้านเมืองแตกออกเป็นชุมนุมต่าง ๆ เจ้าตากทรงรวบรวมแผ่นดินและขยายอาณาเขต หลังเกิดความขัดแย้งช่วงปลายรัชกาล พระองค์และพระราชโอรสทั้งหลายทรงถูกสำเร็จโทษโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นในปี 2325
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาอำนาจปกครองเหนือประเทศลาวและกัมพูชาปัจจุบันและยุติสงครามกับพม่า ต่อมากรุงรัตนโกสินทร์ถูกครอบงำด้วยปัญหาความพยายามแผ่อิทธิพลของชาติตะวันตกโดยมีการบรรลุสนธิสัญญาต่าง ๆ เช่น สนธิสัญญาเบอร์นี สนธิสัญญาเบาว์ริง ตามด้วยสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมอีกหลายฉบับ เป็นการเริ่มต้นการทำให้ประเทศทันสมัยและกลายเป็นตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มการรวมศูนย์อำนาจแทนให้เจ้าท้องถิ่นปกครองแบบเดิม เลิกทาสและไพร่ และจัดระเบียบการปกครองแบบกระทรวง มีการยอมแลกดินแดนหลายครั้งเพื่อแลกกับการแก้ไขสนธิสัญญาต่าง ๆ ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประเทศสยามถือฝ่ายสัมพันธมิตร
ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ไม่เป็นผล มีส่วนให้เกิดการปฏิวัติในปี 2475 อันนำมาซึ่งการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและทำให้คณะราษฎรมีบทบาททางการเมือง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยถูกญี่ปุ่นบุกครองและลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น หลังสงครามยุติในปี 2488 ประเทศไทยสามารถบอกเลิกสถานะสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำให้ไม่ตกอยู่ในสภาพผู้แพ้สงคราม ระหว่างสงครามเย็น ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐเต็มตัว และรัฐประหารในปี 2500 ทำให้คณะราษฎรหมดอำนาจและมีการรื้อฟื้นพระราชอำนาจ สงครามเวียดนามเร่งให้เกิดการพัฒนาและความเหลื่อมล้ำในประเทศ ทำให้เกิดการสำนึกทางการเมืองของชนชั้นกลาง "เหตุการณ์ 14 ตุลา" ปี 2516 นำมาซึ่ง "ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน" ช่วงสั้น ๆ ซึ่งสิ้นสุดลงด้วยรัฐประหารในปี 2519 การก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ยุติในปี 2523
ขณะเดียวกันระบอบการปกครองของไทยสลับกันระหว่างเผด็จการทหารและประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอยู่เรื่อย ๆ เศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงเฉียบพลัน ในพุทธทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยตกอยู่ในวิกฤตการณ์การเมืองระหว่างฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านทักษิณ ชินวัตรเป็นหลัก โดยมีรัฐประหารล่าสุดในปี 2557
การจัดแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ของไทยนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแสดงพระทัศนะไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง "ตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร" ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเมื่อ พ.ศ. 2457 ถึงการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของไทยไว้ว่า "เรื่องพระราชพงศาวดารสยาม ควรจัดแบ่งเป็น 3 ยุค คือ เมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานียุค 1 เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานียุค 1 เมื่อกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานียุค 1"[1] ซึ่งการลำดับสมัยทางประวัติศาสตร์แบบเส้นตรง (Linear) โดยวางโครงเรื่องผูกกับกำเนิดและการล่มสลายของรัฐ กล่าวคือใช้รัฐหรือราชธานีเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ ยังคงมีอิทธิพลอยู่มากต่อการเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบัน
นักวิชาการให้เหตุผลในการเลือกเอาอาณาจักรสุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทยไว้ 2 เหตุผล ได้แก่ 1) วิชาประวัติศาสตร์มักยึดการเริ่มมีภาษาเขียนเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ เมื่อประกอบกับการประดิษฐ์อักษรไทยในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จึงเหมาะสมเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทย และ 2) สะดวกในการนับเวลาและเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน เพราะนักประวัติศาสตร์มีหลักฐานความสืบเนื่องกันตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน ทว่า เหตุผลทั้งสองประการก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันอย่างเป็นเอกฉันท์นัก[2]
ในปัจจุบัน มีข้อเสนอใหม่ ๆ เกี่ยวกับโครงเรื่องประวัติศาสตร์ไทยขึ้นมาบ้าง ที่สำคัญคือ ศ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้เสนอถึงหัวข้อสำคัญที่ควรเป็นแกนกลางของประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยไว้ 8 หัวข้อ[lower-alpha 1]
สุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการประวัติศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยเป็นประวัติศาสตร์ของราชสำนัก ตัดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่าง ๆ ออกไปหมด[4]
การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยยังถูกตั้งคำถามว่าเป็นการยัดเยียดให้นักเรียนเกิดความรักชาติ และมีเวลาเรียนถึง 1,200 ชั่วโมงต่อปีซึ่งมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก[5] รวมทั้งมีการปลูกฝังอคติเกลียดชังประเทศเพื่อนบ้าน[6]
นักโบราณคดีชาวฮอลันดา ดร. เอช. อาร์. แวน ฮิงเกอเรน ได้ขุดค้นพบเครื่องมือหินเทาะซึ่งทำขึ้นโดยมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณใกล้สถานีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีข้อสันนิษฐานว่ามนุษย์เหล่านี้อาจเป็น มนุษย์ชวาและมนุษย์ปักกิ่ง[7] ซึ่งอยู่อาศัยเมื่อประมาณ 5 แสนปีมาแล้ว อันเป็นหลักฐานในยุคหินเก่า
เดวิด วัยอาจ (David Wyatt) เขียนว่า มีมนุษย์อยู่อาศัยในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบันตั้งแต่ 40,000 ปีมาแล้ว โดยเริ่มจากการเก็บของป่าล่าสัตว์[8]: 5 จนเริ่มมีการกสิกรรมเมื่อ 10,000–20,000 ปีก่อน พบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวอยู่กันกระจัดกระจายตั้งแต่ที่ราบจีนตอนกลางลงไปถึงคาบสมุทรอินโดนีเซีย มีเทคโนโลยีการปลูกข้าวและประดิษฐ์เรือมีกราบกันโคลงทำให้แล่นไปได้ถึงญี่ปุ่นและแอฟริกาตะวันออก มีการหล่อขวานสำริดอายุ 5,000 ปี เหล็กหล่ออายุ 3,000 ปีรวมทั้งเครื่องปั้นดินเผา[8]: 5–6 ทั้งนี้ เชื่อว่าแหล่งโบราณคดีในบ้านเชียงและที่ราบสูงโคราชเป็นหลักฐานการปลูกข้าวและหล่อสำริดที่อาจมีอายุเก่าแก่ที่สุดในทวีปเอเชีย[9]: 5
อาณาจักรฟูนานเป็นอาณาจักรแรกสุดและทรงอำนาจที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจริญขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล โดยมีอาณาเขตครอบคลุมภาคกลางของประเทศไทยและทั้งประเทศกัมพูชาปัจจุบัน โดยมีเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการค้าทางทะเลและเกษตรกรรม มีการติดต่อการค้าอย่างใกล้ชิดกับอินเดียและเป็นฐานสำหรับนักเผยแผ่ศาสนาฮินดู[9]: 5
ต่อมา ชาวมอญอาศัยช่วงที่ฟูนานเสื่อมลงตั้งอาณาจักรของตนในคริสต์ศตวรรษที่ 6 อาณาจักรทวารวดีตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนกลางและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน แต่รายละเอียดต่าง ๆ ยังไม่ค่อยทราบกันดีนัก[8]: 30 โดยตั้งขึ้นเพื่อการค้าขายทางบกระหว่างอ่าวเมาะตะมะและอ่าวไทยผ่านด่านเจดีย์สามองค์ แต่มีการแผ่ขยายทางทิศตะวันออกไปถึงกัมพูชา ทางเหนือไปถึงเชียงใหม่และทางเหนือของประเทศลาว พอทราบว่ามีกลุ่มเมืองหนึ่งอยู่แถบนครปฐมและสุพรรณบุรี กลุ่มหนึ่งตั้งอยู่ที่ลพบุรี และอีกกลุ่มหนึ่งแถบที่ราบสูงโคราช[8]: 32–3 ซึ่งคนไทในสมัยนั้นก็อาศัยอยู่ตามชายขอบของทวารวดี[8]: 35 ประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ชาวมอญตั้งอาณาจักรหริภุญไชยที่ลำพูน ซึ่งต่อมาเป็นศูนย์กลางทางศาสนาพุทธและวัฒนธรรม ส่วนชาวเขมรตั้งอาณาจักรใหญ่มีศูนย์กลางอยู่ที่อังกอร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 9[9]: 7 ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 รัฐมอญรับศาสนาพุทธผ่านผู้เผยแผ่ศาสนาจากเกาะลังกา และเผยแผ่ต่อให้จักวรรดิเขมร แม้มอญครอบงำทางวัฒนธรรมในภูมิภาค แต่มักตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าและเขมรอยู่เนือง ๆ ผลทำให้ในคริสต์ศตวรรษที่ 9 จักรวรรดิเขมรครอบงำลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบันทั้งหมด[9]: 7 จักรวรรดิเขมรมีการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่จำนวนมากเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ แต่การหมกมุ่นกับการก่อสร้างมากเกินไปทำให้เศรษฐกิจของรัฐเสื่อมลง[9]: 7
อาณาจักรตามพรลิงก์เป็นรัฐมลายูที่ควบคุมการค้าผ่านช่องแคบมะละกาที่ทรงอำนาจที่สุด เจริญขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ตามพรลิงก์รวมเข้ากับอาณาจักรศรีวิชัยซึ่งเป็นสมาพันธรัฐทางทะเลที่มีอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึง 13 ตามพรลิงก์รับศาสนาพุทธ แต่อาณาจักรมลายูที่อยู่ใต้ลงไปรับศาสนาอิสลาม ทำให้เกิดพรมแดนศาสนาระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่กับคาบสมุทรมลายู[9]: 5
เดวิด วัยอาจเขียนว่า บรรพชนของคนไท-ไตที่อาศัยอยู่ในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ พม่า ยูนนานใต้ ไทยและลาวปัจจุบัน คือ กลุ่มไท-ไตที่อยู่แถบเดียนเบียนฟูในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 8[8]: 9 โดยเชื่อว่าเป็นกลุ่มไท-ไตที่เดิมอาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำแดงที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้สุดของจีน และถูกจีนและเวียดนามแผ่แรงกดดันทางทหารและการปกครองเข้ามาจนประชากรกลุ่มหนึ่งเคลื่อนลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้[8]: 9–10 พบว่าอาณาจักรน่านเจ้าที่อยู่ทางเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่ ไม่ใช่อาณาจักรของคนไท-ไต แต่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์กลุ่มไท-ไตในแง่ที่ช่วยกั้นอิทธิพลของจีนจากทิศเหนือ และรับศาสนาพุทธและวัฒนธรรมอินเดียทางทิศตะวันตก[8]: 20–1 และช่วยส่งเสริมการขยายตัวของกลุ่มไท-ไต[9]: 9
มีการกล่าวถึงชาวไทยสยามครั้งแรกในนครวัดในคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยเรียกว่า "เสียม" หรือคนผิวน้ำตาล[9]: 3 พบว่าคนไท-ไตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11–12 อาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและตอนกลางของแม่น้ำโขงในลาว[8]: 40 ลพบุรีซึ่งเป็นเมืองมอญถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเขมรในคริสต์ศตวรรษที่ 11[8]: 41 ลพบุรีเป็นศูนย์กลางของเสียม (สยำ) หรือเป็นเมืองที่รับผิดชอบการบริหารจัดการชาวเสียม[8]: 42
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11–12 ชาวไท-ไตตั้งรัฐใหม่ ๆ ทางเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่ มีคำกล้าวอ้างว่าชาวไท-ไตปล้นสะดมและจับเชลยของเจ้านายไท-ไตหลายพระองค์ ผู้ปกครองที่พ่ายต่อชาวไท-ไตต่างเกรงกลัวยอมส่งเครื่องราชบรรณาการและให้เชื้อพระวงศ์อภิเษกสมรสด้วย ย่างเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 13 ชาวไท-ไตต่าง ๆ ยังอยู่กันเป็นแว่นแคว้นไม่มีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ในช่วงนี้เมืองของชาวไท-ไตมีขนาดพอ ๆ กันไม่มีเมืองใดใหญ่กว่าเมืองอื่น และตั้งอยู่รอบจักรวรรดิเขมรและอาณาจักรพุกาม ไปจนถึงตอนเหนือของลาว[8]: 48–9
เมื่อจักรวรรดิเขมรและอาณาจักรพุกามเสื่อมอำนาจเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ทำให้เกิดรัฐใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมากในเวลาไล่เลี่ยกัน อาณาจักรของชาวไทกินอาณาบริเวณตั้งแต่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียปัจจุบันจนถึงทิศเหนือของลาว และลงไปถึงคาบสมุทรมลายู[8]: 38–9 ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีประชากรชาวไทอาศัยอยู่มั่นคงในอดีตดินแดนแกนกลางของอาณาจักรทวารวดีและอาณาจักรลพบุรี จนถึงดินแดนนครศรีธรรมราช แต่ไม่มีบันทึกรายละเอียดการเข้ามาของชาวไท[8]: 50–1
เมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 คนไท-ไตเริ่มย้ายจากหุบเขามาอยู่ที่ลุ่ม ทำให้เกิดรัฐเล็ก ๆ จำนวนมากที่แย่งชิงอาณาเขตกัน และเริ่มเข้ามาแทนที่สองจักรวรรดิใหญ่ คือ พุกามและพระนคร[8]: 53 นครรัฐของไทค่อย ๆ เป็นอิสระจากจักรวรรดิเขมรที่เสื่อมอำนาจลง กล่าวกันว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ครองราชย์ 1792–1822) ทรงสถาปนาราชอาณาจักรสุโขทัยเมื่อปี 1781 นักประวัติศาสตร์ทราบลำดับเหตุการณ์ในช่วงแรกของอาณาจักรน้อยมาก แต่พอทราบว่าในรัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีเหตุให้กรุงสุโขทัยรบกับเมืองฉอด ซึ่งขุนรามทรงประกอบวีรกรรมชนช้างชนะข้าศึก[8]: 74 พ่อขุนรามคำแหง (ครองราชย์ 1822–1841) ทรงเป็นผู้นำชาวไทที่มีความโดดเด่นและทะเยอทะยาน ทรงขยายอาณาเขตโดยใช้การทหารและการทูตผสมกัน ทั้งนี้ อาณาเขตอันกว้างขวางของกรุงสุโขทัยนั้นไม่ได้เกิดจากการเดินทัพไปหักตีเอาเมืองต่าง ๆ แต่เป็นเขตอิทธิพลที่มีผู้นำเข้าสวามิภักดิ์ และเขตอิทธิพลของสุโขทัยทางใต้ก็เกิดจากนครศรีธรรมราชที่เข้าสวามิภักดิ์ด้วย[8]: 78–79 พญาลิไท (ครองราชย์ 1841–1889/90) ทรงสืบราชสมบัติต่อมา แต่หลายเมืองเอาใจออกห่างทันที การที่สุพรรณบุรีแยกตัวออกทำให้กั้นระหว่างกรุงสุโขทัยกับดินแดนสวามิภักดิ์ที่อยู่ใต้ลงไป และนำไปสู่ชุดเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความเจริญของกรุงศรีอยุธยา[8]: 86
พญามังราย (ครองราชย์ 1802–1860) ทรงสืบราชสมบัติเป็นเจ้าผู้ครองหิรัญนครเงินยางเชียงลาว (เชียงแสน) ทรงพิชิตดินแดนเพื่อนบ้านแล้วขยายอำนาจลงทิศใต้ โดยตั้งเมืองเชียงรายขึ้นในปี 1805 รวมทั้งเข้ายึดครองเชียงของและฝาง ในเวลาต่อมา พระองค์เข้าเป็นพันธมิตรกับพญางำเมือง (ครองราชย์ 1801–1841) แห่งแคว้นพะเยาและพ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย ด้วยเหตุผลด้านความทะเยอทะยานในการขยายอำนาจและร่วมกันรับมือภัยคุกคามจากมองโกลทางเหนือ ทั้งนี้ ทั้งสามพระองค์ทรงเห็นแก่อัตลักษณ์ร่วมไท-ไต[8]: 61–62 พญามังรายทรงพิชิตหริภุญไชยได้ในปี 1824 นับเป็นเจ้าผู้ครองดินแดนทางเหนือได้ทั้งหมด ระหว่างปี 1835 ถึง 1854 มองโกลกับเชียงรุ่งรบกัน จนสุดท้ายทั้งสองสงบศึกโดยเชียงรุ่งและเชียงใหม่ส่งบรรณาการให้แก่ราชสำนักจีน[8]: 65–66
ประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 อาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรของคนไทขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับล้านนาและสุโขทัย ท่ามกลางแว่นแคว้นจำนวนมากในภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน นับเป็นครั้งแรกที่กษัตริย์ไทมีความทะเยอทะยานก่อตั้งมากกว่าชุมชนเมืองเล็ก ๆ[8]: 89 ศูนย์กลางของอาณาจักรอยุธยาเป็นแคว้นลพบุรีในจักรวรรดิเขมรเดิม แคว้นลพบุรีรอดพ้นจากการพิชิตดินแดนของสุโขทัย โดยยังรักษาอิทธิพลเหนือที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก[8]: 92–3 ในช่วงเวลานั้นแคว้นสุพรรณบุรีควบคุมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ชัยนาททางเหนือจนถึงชุมพรทางใต้[8]: 94–5
พระเจ้าอู่ทอง (ครองราชย์ 1893–1912) ทรงก่อตั้งอาณาจักรอยุธยาในปี 1893 พระองค์ทรงยกทัพไปตีนครธม เมืองหลวงของจักรวรรดิเขมร จนสามารถปกครองเมืองได้ช่วงสั้น ๆ[8]: 102 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ครองราชย์ 1913–31) ทรงหันไปสนพระทัยกับหัวเมืองเหนือ และทำสงครามกับสุโขทัยตลอดรัชกาล จนบังคับให้สุโขทัยยอมรับอำนาจเหนือของอยุธยาได้[8]: 102 มีวิกฤตการสืบราชสมบัติอยู่เนือง ๆ ระหว่างราชวงศ์สุพรรณบุรีและลพบุรีอยู่หลายชั่วคน จนราชวงศ์สุพรรณบุรีชนะในปี 1952[11]: 15 ในรัชกาลสมเด็จพระอินทราชา (ครองราชย์ 1952–67) กรุงศรีอยุธยาเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในสุโขทัย เริ่มจากลดฐานะเจ้าผู้ครองเป็นเจ้าสวามิภักดิ์ เข้าไปตัดสินปัญหาการสืบราชสมบัติ จนผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาในปี 1987[8]: 104 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (ครองราชย์ 1967–91) นครธมถูกกองทัพอยุธยาตีแตก จนปกครองนครธมในฐานะหัวเมืองประเทศราชช่วงสั้น ๆ ก่อนถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง[8]: 105–6 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ 1991–2031) ทรงรับช่วงการสงครามกับล้านนาต่อ พระองค์ยังทรงสร้างระบบควบคุมกำลังคนทำให้กรุงศรีอยุธยาได้เปรียบเหนือดินแดนเพื่อนบ้าน โดยมีระบบการควบคุมไพร่ปีละหกเดือนให้สังกัดขุนนางท้องถิ่น[8]: 107 ระบบราชการเริ่มใช้ตามรูปแบบของจักรวรรดิเขมร คือ สร้างความห่างเหินระหว่างกษัตริย์กับราษฎร และควบคุมขุนนางด้วยเอกสารลายลักษณ์อักษรแทนการสวามิภักดิ์[8]: 108–9 พระองค์ยังทรงออกกฎหมายจัดลำดับชั้นและแบ่งแยกหน้าที่ในสังคมที่ซับซ้อน ทรงตั้งจตุสดมภ์และเพิ่มตำแหน่งกลาโหมและมหาดไทย[11]: 30
ประมาณปี 2000–2010 ราชอาณาจักรอยุธยาควบคุมคาบสมุทรมลายูและฝั่งทะเลเบงกอล คือ ทวายและตะนาวศรี ทำให้สามารถควบคุมการค้านานาชาติ ทำให้เรือสินค้าไม่ต้องอ้อมแหลมมะละกา[8]: 129–30 การยึดครองมะละกาของโปรตุเกสในปี 2054 ทำให้อยุธยาเริ่มการติดต่อกับชาติตะวันตก โปรตุเกสส่งทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับทั้งจัดหาปืนและอาวุธให้[8]: 132 ในช่วงนี้เองกรุงศรีอยุธยาเริ่มพัฒนาวัฒนธรรมของตนเองโดยมีรูปแบบการแสดงออกทางภาษา วรรณคดีและพิธีกรรม และมีภูมิหลังจากมอญ เขมรและไท-ไตผสมกัน ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์นิยามความเป็น "สยาม" ต่างจากไทยวนล้านนาและลาวล้านช้าง[8]: 134 ครั้นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ (ครองราชย์ 2074–93) แห่งตองอูพิชิตอาณาจักรมอญโบราณที่หงสาวดีและตีเมืองเชียงกรานซึ่งเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระไชยราชาธิราช (ครองราชย์ 2077–90) ทรงยกทัพไปชิงเมืองคืน[8]: 137 สมเด็จพระไชยราชาธิราชยังทรงกังวลกับล้านนาด้วยจึงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่สองครั้งแต่ไม่สามารถยึดเมืองหลวงได้[8]: 137–8 หลังสิ้นรัชกาลเกิดการชิงราชสมบัติกัน ท้าวศรีสุดาจันทร์ยกขุนวรวงศาธิราชชู้รักของพระนางให้เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ทรงราชย์ได้หกสัปดาห์ ก็ถูกบรรดาขุนนางสมคบกันลอบปลงพระชนม์และยกสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ครองราชย์ 2091–2108 และ 2110–1) ให้สืบราชสมบัติ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงยกกองทัพเรือนแสนมาล้อมกรุงศรีอยุธยาในปี 2092 แต่ไม่สำเร็จ[8]: 139 พระเจ้าบุเรงนอง (ครองราชย์ 2094–2124) ทรงยกทัพมาตีอาณาจักรอยุธยาอีกครั้ง หลังสามารถควบคุมอาณาจักรล้านนาทั้งหมดไว้ได้[8]: 141–3 ครั้งนี้พระมหาธรรมราชาเป็นผู้สนับสนุนพม่า และสุดท้ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องยอมตามข้อเรียกร้องของพม่าและส่งพระราเมศวร พระราชโอรส เป็นองค์ประกัน[8]: 142 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิพยายามอภิเษกสมรสทางการเมืองกับล้านช้าง แต่พระมหาธรรมราชาส่งข่าวให้พม่าชิงตัวเจ้าหญิงอภิเษก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิส่งกองทัพไปตีพิษณุโลกเพื่อตอบโต้ แต่ถูกอุบายทำให้ถอนทัพกลับไป[8]: 144 ในปี 2111–2 พระเจ้าบุเรงนองส่งกองทัพขนาดใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยาอีก กรุงศรีอยุธยารับศึกได้หนึ่งปีแต่สุดท้ายเสียกรุงให้แก่พม่าในวันที่ 8 สิงหาคม 2112[8]: 145–7
พม่าให้สมเด็จพระมหาธรรมราชา (ครองราชย์ 2112–33) ปกครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะเจ้าประเทศราช อาณาจักรอ่อนแอลงจนถูกกัมพูชาถือโอกาสบุกเข้ามากวาดต้อนผู้คนถึง 6 ครั้งในรอบสองทศวรรษ[8]: 156 พระนเรศวรทรงแสดงพระปรีชาสามารถทางทหารในการต่อสู้กับกัมพูชา และเสด็จไปร่วมปราบรัฐฉานกับกองทัพพม่า[8]: 157–8 หลังจากนั้น พระนเรศวรถูกลอบปองร้ายจากราชสำนักพม่าจึงยกทัพกลับบ้านเกิด ทรงรบป้องกันบ้านเมืองจากพม่าและกัมพูชาสามครั้งในช่วงปี 2128–30[8]: 158 ในปี 2135 พระมหาอุปราชาของพม่ายกทัพมาทางกาญจนบุรี สมเด็จพระนเรศวร (ครองราชย์ 2133–48) ยกทัพไปรับศึกที่หนองสาหร่ายและชนช้างชนะพระมหาอุปราชา ผลของศึกทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นอิสระมั่นคง[8]: 158–9 หลังจากสมเด็จพระนเรศวรยึดหัวเมืองชายทะเลของพม่าและกัมพูชา และได้ล้านนามาอยู่ในอำนาจแล้ว พระองค์ทรงทำสงครามลึกเข้าไปในแผ่นดินพม่าอีกตลอดรัชกาล และสวรรคตขณะทรงยกทัพไปตีรัฐฉานเพื่อชิงตัดหน้าการรวบรวมอำนาจของพม่าใหม่[8]: 163
หลังจากนั้น การค้าต่างประเทศของกรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ สาเหตุเพราะมีความสัมพันธ์อันดีกับโปรตุเกส ฟิลิปปินส์ (ในการปกครองของสเปน) จีน ญี่ปุ่นและรีวกีว และควบคุมเมืองตะนาวศรีและทวายฝั่งอ่าวเบงกอล[8]: 163–4 สมเด็จพระเอกาทศรถ (ครองราชย์ 2148–53) ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติ ทรงส่งทูตไปฮอลันดาเป็นคณะแรกในปี 2151 และไปเมืองกัวของโปรตุเกสในอินเดียในปี 2149[8]: 171 สมเด็จพระนารายณ์ (ครองราชย์ 2199–2231) ทรงขึ้นครองราชย์ได้ด้วยความช่วยเหลือของคนต่างด้าว[8]: 175 ในรัชกาลของพระองค์ทรงอนุญาตให้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ และมีคณะเยซูอิตมาช่วยเหลือราชสำนักอยุธยาในด้านการช่าง ทรงส่งทูตไปยังราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสในปี 2223[8]: 179 และคอนสแตนติน ฟอลคอนซึ่งมีพื้นเพเป็นนักแสวงโชคชาวกรีก ค่อย ๆ ไต่เต้าตำแหน่งราชการในพระคลัง จนสุดท้ายเป็นสมุหนายกซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของขุนนางฝ่ายพลเรือน[8]: 177, 180 ในปี 2231 เกิดการปฏิวัติเนื่องจากอิทธิพลของฟอลคอนในราชสำนักและความประพฤติเสื่อมเสียของคนต่างด้าวที่มีอยู่นานแล้ว สุดท้ายสมเด็จพระเพทราชา (ครองราชย์ 2231–48) เถลิงราชสมบัติแทน[8]: 185–6 ผลทำให้บาทหลวงคริสต์ถูกจำคุก และชาวคริสต์ถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย แต่ชาติอื่นที่มิใช่ฝรั่งเศสยังอยู่กันปกติ และไม่นานบาทหลวงฝรั่งเศสก็มีอิสระในการเผยแผ่ศาสนาอีกครั้ง[8]: 186
ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (ครองราชย์ 2251–75) ชาวจีนเริ่มมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองเพิ่มขึ้น[8]: 196–7 หลังสิ้นรัชกาล เกิดการแก่งแย่งราชสมบัติซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ครองราชย์ 2275–2301) ได้ครองราชบัลลังก์ ทรงพยายามแก้ไขปัญหาดุลอำนาจระหว่างพระมหากษัตริย์กับเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ กล่าวคือ เพิ่มตำแหน่งเจ้าทรงกรมเพื่อให้มีไพร่ที่บังคับน้อยลง ผลทำให้การควบคุมคนเกิดความแตกแยก[8]: 198–9 คนรุ่นหลังยกให้รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นยุคทอง เพราะทรงทำนุบำรุงศาสนาพุทธ และส่งสมณทูตไปลังกาหลายคณะ[8]: 200 และทรงทำให้กรุงศรีอยุธยามีบทบาทในระดับนานาชาติอีกครั้ง ทรงแทรกแซงกัมพูชาจนยกเจ้าที่นิยมอยุธยาเป็นพระมหากษัตริย์ได้สำเร็จ และรับผู้อพยพชาวมอญหงสาวดี[8]: 201 ในทศวรรษสุดท้าย เกิดการแข่งขันชิงอำนาจกันมโหฬารระหว่างตระกูลขุนนางที่ต้องการขยายอำนาจในกิจการการค้าระหว่างประเทศและกำลังคน[8]: 204–5 ในปี 2300 ราชวงศ์โก้นบองของพม่าฟื้นฟูอำนาจหลังตองอูถูกมอญพิชิตไปก่อนหน้านี้ พระเจ้าอลองพญา (ครองราชย์ 2295–2303) ทรงยกทัพมาตีอาณาจักรอยุธยาแต่ล้มเหลวเพราะสวรรคตกลางคัน[8]: 208–9 สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (ทรงราชย์ 2301–10) ทรงสนองต่อการขอความช่วยเหลือจากเชียงใหม่ด้วยการส่งกำลังเล็ก ๆ ไปช่วยเหลือแต่ไปไม่ทัน[8]: 211 ในปี 2308 พระเจ้ามังระ (ครองราชย์ 2306–19) ทรงส่งกองทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยาเป็นสองทาง สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ทรงใช้ยุทธศาสตร์ตั้งรับในกรุงและรอฤดูน้ำหลากเป็นหลัก แต่พม่าสามารถเตรียมการรับมือได้จึงไม่ได้ล่าถอยไป หลังการล้อมกรุงนานปีกว่า สุดท้ายกรุงศรีอยุธยาจึงเสียเป็นครั้งที่สองเมื่อปี 2310[8]: 210–2
ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และ 15 อาณาจักรล้านนามีความขัดแย้งกับดินแดนเพื่อนบ้านหลายแห่ง และอยู่ในภาวะสงครามภายในบ่อยครั้ง[8]: 112–3 ล้านนาใช้ระบบส่งผู้แทนส่วนกลางไปควบคุมเขตกึ่งเอกเทศหลายร้อยเขต ซึ่งเจ้าล้านนาประสบความสำเร็จมากน้อยไม่เท่ากันในการสร้างเอกภาพในอาณาจักร[8]: 114 พญากือนา (ครองราชย์ 1910–28) ทรงตั้งศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์และตั้งวัดสวนดอก ซึ่งจะเป็นพลังชี้นำทางปัญญาและวัฒนธรรมในอาณาจักร รวมทั้งพัฒนาความสำนึกเรื่องอัตลักษณ์ของชาวไทยวน[8]: 115–6 ในรัชกาลพญาแสนเมืองมา (ครองราชย์ 1928–44) และพญาสามฝั่งแกน (ครองราชย์ 1944–53) เกิดการแก่งแย่งบัลลังก์กัน และมีการชักศึกภายนอก คือ สุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา[8]: 116–7 ในปี 1947–8 ล้านนาสามารถต้านทานกองทัพขนาดใหญ่จากยูนนานได้สำเร็จ[8]: 117 พระเจ้าติโลกราช (ครองราชย์ 1985–2030) ทรงได้รับยกย่องว่าเป็นพระมหากษัตริย์ล้านนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทรงใช้เวลาทศวรรษแรกปราบปรามผู้ชิงบัลลังก์ทั้งหลาย[8]: 117–8 ในปี 1992 พระองค์ยังทรงครองอำนาจเหนือนครน่านหลังเอาใจออกห่างโดยร่วมมือกับแพร่และหลวงพระบาง[8]: 118 ระหว่างปี 1985 ถึง 2029 ทรงผลัดกันเป็นฝ่ายบุกและตั้งรับในสงครามกับกรุงศรีอยุธยาโดยต่างฝ่ายต่างไม่อาจเอาชนะอีกฝ่ายได้[8]: 118–21 หลังรัชกาลพญาเกศเชษฐราช (ครองราชย์ 2069–81 และ 2086–8) อาณาจักรล้านนาเข้าสู่ยุคเสื่อมเพราะการสืบราชสมบัติที่ไม่ราบรื่นและขุนนางมีอำนาจเหนือพระมหากษัตริย์[8]: 125–6 หลังจากนั้นมีการแทรกแซงทางการเมืองจากทั้งกรุงศรีอยุธยาและล้านช้าง ขุนนางบางส่วนยกให้สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ล้านช้างขึ้นครองราชย์ช่วงสั้น ๆ[8]: 126–7
ราชวงศ์มังรายสิ้นสุดลงเมื่อเชียงใหม่ตกเป็นของพม่าในปี 2101 พม่าเป็นผู้แต่งตั้งเจ้าผู้ครองล้านนาในฐานะประเทศราช และมีการเกณฑ์ทหารและเสบียงเพื่อทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา[8]: 187 หลังพม่าขาดเอกภาพหลังพระเจ้านันทบุเรงเสด็จสวรรคตในปี 2142 เจ้าเชียงใหม่ถูกตัดขาดจากความช่วยเหลือในศึกกับล้านช้าง จึงทรงยอมอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาในช่วงสั้น ๆ[8]: 188 พระเจ้าอะเนาะเพะลูนทรงส่งทัพไปยึดหัวเมืองเหนืออีกครั้งในปี 2156 แต่ปล่อยให้ล้านนาแตกออกเป็นเมืองเล็กน้อย[8]: 188–9 หลังเจ้าพลศึกศรีสองเมือง (ครองราชย์ 2158–74) ประกาศอิสรภาพต่อพม่าไม่สำเร็จ พม่าเริ่มเปลี่ยนมาตั้งเจ้าเมืองเชียงใหม่ขึ้นปกครองโดยตรง[8]: 189 ในปี 2204 สมเด็จพระนารายณ์ยกทัพมาตีเชียงใหม่และลำปางได้ แต่ไม่สามารถยึดครองเมืองไว้ได้[8]: 190 หลังจากนั้น พม่าส่งเจ้ามาปกครองเป็นอุปราชเหมือนก่อน บ้านเมืองยากจนและประชากรน้อยลงเพราะถูกขูดรีดภาษีและเกณฑ์คนไปมาก และตกเป็นเหยื่อของดินแดนใกล้เคียง[8]: 190–1 ระหว่างปี 2270 ถึง 2306 แม้ว่าพม่าจะยังควบคุมดินแดนส่วนใหญ่ของล้านนาไว้ได้ แต่กลุ่มผู้นำในเมืองเชียงใหม่แข็งเมืองต่อพม่า[8]: 191–2, 209
หลังกรุงศรีอยุธยาแตกในปี 2310 บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะอนาธิปไตย พม่าที่ติดพันในการสงครามกับจีนจึงเหลือกองทหารเล็ก ๆ ไว้รักษากรุงเก่าเท่านั้น บ้านเมืองแตกออกเป็น 5 ชุมนุม ได้แก่ ชุมนุมเจ้าพิมายที่นครราชสีมา ชุมนุมเจ้าพิษณุโลก ชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองสวางคบุรี (ฝาง) ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช และชุมนุมเจ้าตาก เจ้าตากเริ่มสร้างฐานอำนาจที่จันทบุรีแล้วใช้เวลาไม่ถึงปีขยายอำนาจทั่วภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน[8]: 220–1 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ครองราชย์ 2310–25) หลังปราบดาภิเษกแล้ว ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีซึ่งมีทำเลเหมาะแก่การค้าทางทะเล ทรงใช้เวลาอีกสามปีรวบรวมหัวเมืองที่เคยขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาเป็นหนึ่งอีกครั้ง[8]: 223 พระองค์ยังทรงขยายอิทธิพลไปยังดินแดนใกล้เคียง หัวเมืองมลายูตรังกานูและปัตตานีส่งเครื่องราชบรรณาการให้กรุงธนบุรี ทรงผลักดันเจ้ากัมพูชาให้ขึ้นครองราชย์ และทรงให้ความช่วยเหลือแก่พระเจ้ากรุงเวียงจันในการสงคราม นอกจากนี้ ยังทรงขับทหารพม่าออกจากล้านนาได้ในปี 2319 ทำให้ล้านนาเป็นประเทศราชของกรุงธนบุรีนับแต่นั้น[8]: 224–5 จากนั้นโปรดให้ยกทัพไปปราบหัวเมืองตะวันออก โดยนครเวียงจันถูกตีแตกในปี 2321 และมีการอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน[8]: 227–8 ในช่วงปลายรัชกาล มีบันทึกว่าพระองค์มีพระสติฟั่นเฟือนเพราะบังคับให้พระสงฆ์กราบไหว้และสั่งลงโทษพระสงฆ์ที่ไม่ยอมตาม อย่างไรก็ดี น่าจะเป็นเรื่องแต่งเติมเพราะพระองค์เป็นคนนอกไม่มีพื้นเพเป็นตระกูลผู้ดีเก่ากรุงศรีอยุธยามากกว่า[8]: 229–30 ปลายปี 2324 กลุ่มชนชั้นนำต่างคิดเห็นว่าควรปลดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสีย ครั้นปี 2325 เกิดกบฏพระยาสรรค์ เจ้าพระยาจักรีที่กำลังยกทัพไปปราบกบฏในกัมพูชาในปีเดียวกันจึงยกทัพกลับมารักษาความสงบในกรุง และสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[8]: 230–1
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ครองราชย์ 2325–52) ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงย้ายเมืองหลวงมายังกรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีการขนย้ายอิฐกำแพงกรุงศรีอยุธยาเดิมมาสร้างเป็นกำแพงพระนครแห่งใหม่ด้วย[8]: 233–4 พระองค์ทรงให้ปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ มีการออกกฎคณะสงฆ์ สังคายนาพระไตรปิฏก ทรงให้ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมอย่างกรุงศรีอยุธยาซึ่งถือเป็นยุคทอง โปรดให้จัดทำประมวลกฎหมาย ชื่อ กฎหมายตราสามดวง ซึ่งใช้กันในกรุงรัตนโกสินทร์ต่อมาอีกหนึ่งศตวรรษ[8]: 234–5 ในปี 2328 พระเจ้าปดุง (ครองราชย์ 2324–62) แต่งทัพออกเป็น 9 ทัพ ยกมาตีกรุงเทพมหานคร 5 ทิศทาง เรียก สงครามเก้าทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงใช้ยุทธศาสตร์กระจายกำลังไปรับศึกนอกพระนครได้เป็นผลสำเร็จ พม่ายกทัพมาอีกครั้งในปลายปี 2328 และต้นปี 2329 เรียก สงครามท่าดินแดง แต่ก็ถูกตีกลับไปเช่นกัน[8]: 240–5 กรุงเทพมหานครยังส่งทัพไปช่วยล้านนาจากพม่าได้สามครั้ง[8]: 246–7 ทรงให้พระยากาวิละ (ต่อมาเป็นพระเจ้ากาวิละ) ต้นราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เป็นเจ้าครองล้านนาในฐานะประเทศราชของกรุงเทพมหานครสืบต่อไป[8]: 251–2 พระยากาวิละรวบรวมผู้คนเพื่อมาตั้งรกรากในเชียงใหม่ที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้อีกครั้ง และขยายอาณาเขตไปทางทิศเหนือจนตีได้เชียงแสนและหัวเมืองแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน นับได้ว่าสามารถฟื้นฟูอาณาจักรล้านนาโบราณได้สำเร็จ[8]: 252–3 กรุงเทพมหานครยังพยายามขยายอิทธิพลเข้าไปในกัมพูชาและลาว โดยใช้วิธีแบ่งแยกและปกครอง คือ แบ่งล้านช้างออกเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ เพื่อทำให้อ่อนแอจนไม่สามารถแข่งขันกับกรุงเทพมหานครได้[8]: 257 แยกสงขลาออกจากเจ้านครศรีธรรมราชแล้วส่งขุนนางส่วนกลางไปปกครองโดยตรง กับทั้งลดฐานะของเจ้านครศรีธรรมราชเป็นเจ้าเมือง และแบ่งแยกกลันตันและตรังกานู[8]: 259
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ครองราชย์ 2352–67) ถือเป็นยุคทองแห่งศิลปะ และสงบสุขเกือบตลอดรัชกาล กัมพูชากลายเป็นสนามรบระหว่างกรุงเทพมหานครและเวียดนาม สุดท้ายเวียดนามครอบงำกัมพูชาอยู่หลายสิบปีหลังปี 2356 แต่กรุงเทพมหานครเข้าควบคุมพื้นที่กว้างขวางขึ้นในกัมพูชา[8]: 257–9 หลังจากอิทธิพลของอังกฤษในภูมิภาคเพิ่มขึ้นจากการได้มะละกา เกาะหมาก (ปีนัง) และสิงคโปร์ ในปี 2364 ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดียส่งจอห์น ครอว์เฟิร์ดเข้ามาเจรจาค้าขาย แต่ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันกลับไป[8]: 271, 273
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 2367–94) รัฐบาลอังกฤษในอินเดียส่งเฮนรี เบอร์นีเข้ามาเจรจากับกรุงเทพมหานคร โดยขอให้ส่งเสบียงช่วยเหลือหรือไม่ก็วางตนเป็นกลางในสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง (2367–9) อังกฤษกลายมามีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานครหลังยึดดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของพม่าไว้ได้[8]: 279–80 ราชสำนักยอมตกลงสนธิสัญญาเบอร์นีในปี 2369 หลังมีข่าวว่าอังกฤษชนะพม่า เนื้อหาของสนธิสัญญา อังกฤษยอมรับอำนาจของกรุงเทพมหานครเหนือไทรบุรี กลันตัน ตรังกานูและปัตตานี แลกกับที่กรุงเทพมหานครยอมรับอิสรภาพของเปรักและสลังงอร์ และลดการเก็บภาษีจำนวนมากกับวาณิชต่างประเทศเหลือค่าธรรมเนียมปากเรืออย่างเดียว[8]: 281 ในปี 2376 สหรัฐส่งทูตเข้ามาทำสนธิสัญญาโรเบิร์ต ซึ่งนับเป็นสนธิสัญญาแรกระหว่างสหรัฐกับชาติเอเชีย[13]
ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ (ครองราชย์ 2348–71) แห่งเวียงจันหลังทราบข่าวกรุงเทพมหานครเตรียมรับศึกอังกฤษ ก็หมายฉวยโอกาสโจมตีกรุงเทพมหานครเพื่อกวาดต้อนผู้คนไปไว้ในราชอาณาจักร ในปี 2369 ก่อกบฏโดยยกทัพเข้ามายึดนครราชสีมา ฝ่ายกรุงเทพมหานครหยุดยั้งการบุกเอาไว้ได้ และส่งกองทัพไปตีกรุงเวียงจันได้สำเร็จ[8]: 283–4 แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่พอพระทัยที่จับเจ้าอนุวงศ์ไม่ได้ และมีพระราชประสงค์ให้ทำลายเวียงจันให้สิ้นซาก ในปี 2370 มีการส่งกองทัพอีกกองหนึ่งขึ้นไปตีกรุงเวียงจันที่เจ้าอนุวงศ์ตีกลับคืนไปได้อีกครั้ง ครั้งนี้มีการทำลายอาคารบ้านเรือนทั้งหมดจนสิ้นซาก และกวาดต้อนผู้คนมาอยู่ในแถบภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน คณะสำรวจฝรั่งเศสอีกสี่สิบปีถัดมาบันทึกว่าเวียงจันยังเป็นเมืองร้าง[8]: 284–5 หลังจากนั้นอีกหลายสิบปี กรุงเทพมหานครยังกวาดต้อนชาวลาวเข้ามาตั้งรกรากในที่ราบสูงโคราช ผลทำให้หัวเมืองลาวอีสานเพิ่มขึ้นประมาณ 40 เมืองซึ่งเกิดจากชาวลาวที่กวาดต้อนมา[8]: 285–6 ฝ่ายมลายูทางใต้ กรุงเทพมหานครปรับนโยบายเป็นให้เจ้ามลายูปกครองกันเองหลังเกิดกบฏขึ้น 2 ครั้งในปี 2374 และ 2381 จากนั้นในภูมิภาคดังกล่าวก็มีระเบียบและความมั่นคงพอสมควร[8]: 287–9 ฝ่ายทางตะวันออก กรุงเทพมหานครรบกับเวียดนามเพื่อแย่งชิงอิทธิพลเหนือกัมพูชาอีกครั้ง เรียก อานัมสยามยุทธ (2376–90) สุดท้ายทั้งสองตกลงกันโดยให้เจ้ากัมพูชาส่งเครื่องราชบรรณาการให้ทั้งสองอาณาจักร[8]: 290–2
หลังจากสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่งในจีน (2382–5) ชาติตะวันตกเริ่มก้าวร้าวมากขึ้น และระหว่างปี 2392–3 มีคณะทูตจากอังกฤษและสหรัฐเข้ามาเรียกร้องให้กรุงเทพมหานครยกเลิกข้อกีดกันทางการค้าและตั้งศาลกงสุลแต่ถูกปัดกลับไป สาเหตุจากประจวบกับช่วงที่กำลังมีความกังวลเรื่องการแก่งแย่งราชสมบัติ[8]: 301–2 อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงภัยคุกคามของชาติตะวันตก ดังที่มีกระแสพระราชดำรัสก่อนเสด็จสวรรคตว่า "การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่พวกข้างฝรั่ง"[8]: 305
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 2394–2411) ทรงได้รับการยกให้ขึ้นครองราชสมบัติพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเกลี่ยอำนาจของพระอนุชา[8]: 310–1 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความขัดเคืองของทูตอังกฤษที่กลับไปมือเปล่าในช่วงปลายรัชกาลก่อน จึงทรงติดต่อฮ่องกง[8]: 311 ต้นปี 2398 รัฐบาลสหราชอาณาจักรในกรุงลอนดอนส่งคณะทูตซึ่งมีเซอร์จอห์น เบาว์ริงเป็นหัวหน้าเข้ามาเจรจา มีการบรรลุสนธิสัญญาเบาว์ริง[lower-alpha 2] ในเวลาสองสัปดาห์ถัดมา มีเนื้อหาจำกัดพิกัดภาษีขาเข้า ให้คนต่างด้าวพำนักและเป็นเจ้าของที่ดินรอบ ๆ พระนครได้ การให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต และการยกเลิกการผูกขาดการค้าของราชการ[8]: 311–3 ภายในหนึ่งทศวรรษหลังจากนั้น กรุงเทพมหานครยังลงนามสนธิสัญญาทำนองเดียวกันกับอีก 12 ประเทศ เป็นการริเริ่มความสัมพันธ์แบบพหุภาคีเพื่อหวังให้ชาติเหล่านั้นถ่วงดุลอำนาจกันเอง[8]: 314–5 ปริมาณการค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 5.6 ล้านบาทในปี 2393 เป็น 10 ล้านบาทในปี 2411 กรุงเทพมหานครเปลี่ยนโฉมโดยมีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและตัดถนนใหม่[8]: 318–9 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มการปฏิรูป ตั้งแต่การพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา ทรงเลิกธรรมเนียมโบราณ ทรงให้ราษฎรถวายฎีกา และให้ผู้หญิงเลือกคู่เองได้ และเริ่มจ้างชาวต่างประเทศในงานพิเศษบางอย่าง ทั้งนี้ พระองค์ทรงตระหนักดีว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องเป็นไปอย่างช้า ๆ หากพระองค์จะได้รับความร่วมมือจากขุนนางผู้ใหญ่ที่กุมอำนาจในระบบราชการเป็นเวลาหลายชั่วคนแล้ว[8]: 322, 324
หลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตกระทันหันด้วยโรคมาลาเรีย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 2411–53) จึงสืบราชสมบัติทั้งที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยมมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หลังบรรลุนิติภาวะแล้ว ทรงริเริ่มการปฏิรูปเป็นชุด โดยมีการตั้งศาลพิเศษเพื่อชำระคดีของศาลกรมต่าง ๆ ที่ค้างอยู่ ทรงรวมศูนย์อำนาจการจัดทำงบประมาณและสัมปทานค้าฝิ่นและบ่อนเบี้ย ทรงตั้งสภาที่ปฤกษาราชการแผ่นดินและปรีวีเคาน์ซิล ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มหรือคู่แข่งตระกูลบุนนาค ทรงออกกฎหมายค่อย ๆ ลดการมีทาสเพื่อทำลายระบบการควบคุมคนและเศรษฐกิจของชนชั้นขุนนาง[8]: 329–30 ในปี 2417 ความพยายามปฏิรูปทำให้เกิดความขัดแย้งกับอำนาจเก่าอย่างหนัก เกิดความขัดแย้งกับวังหน้าอย่างรุนแรงจนเกือบเกิดสงครามกลางเมือง[lower-alpha 3] สุดท้ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสามารถจำกัดอำนาจของวังหน้าได้แต่ทรงยอมยุติการปฏิรูปไปก่อน[8]: 331–3 พระองค์ทรงเริ่มใช้วิธีส่งข้าหลวงต่างพระองค์ไปปกครองหัวเมืองเหนือ หัวเมืองตะวันออกเฉียงเหนือและหัวเมืองใต้เริ่มตั้งแต่ปี 2413 เพื่อพยายามทำให้ดินแดนเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของสยาม[8]: 334–5
ในช่วงนี้ฝรั่งเศสมีความพยายามแสวงหาดินแดนใหม่เพิ่มขึ้น เริ่มจากการทำสัญญากับสยามในปี 2410 ให้กัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสและเริ่มส่งคณะสำเร็จไปลุ่มแม่น้ำโขง[8]: 337 ในปี 2430 มีการปรับคณะรัฐบาลโดยให้ตั้งกรมขึ้นมา 12 กรมที่มีฐานะเท่ากันตามอย่างรัฐบาลสหราชอาณาจักร ซึ่งมีการยกฐานะเป็นกระทรวงในปี 2432[8]: 347 ช่วงปี 2430–6 ฝรั่งเศสพยายามขยายอิทธิพลเหนือลาว ในปี 2436 เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 คือ มีเหตุการณ์ไล่ตัวแทนฝรั่งเศสออกจากหลวงพระบาง มีการเรียกร้องเอาดินแดนลาวฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง และเมื่อกองทัพสยามในพื้นที่ต่อสู้ทหารฝรั่งเศสที่พยายามเข้าควบคุมพื้นที่นั้น รัฐบาลฝรั่งเศสสบช่องจะประกาศสงครามกับสยาม และส่งเรือรบมายังปากแม่น้ำเจ้าพระยา สุดท้ายพระเจ้าอยู่หัวทรงยอมตามคำขาดของฝรั่งเศส เช่นเดียวกับการจ่ายค่าปรับและการยกบางส่วนของแคว้นน่านและจันทบุรีให้ฝรั่งเศส[8]: 352–5 ในปี 2439 ฝรั่งเศสและบริเตนตกลงให้สยามมีเอกราชและเป็นรัฐกันชนระหว่างพม่าของบริเตนและอินโดจีนของฝรั่งเศส[15]
ในทศวรรษสุดท้ายของการครองราชย์ สยามพยายามให้พิจารณาสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม แต่ผลเป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยต้องมีการลงนามสัญญาอีกหลายฉบับในปี 2446–9 เพื่อให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรีและตราด เช่นเดียวกับการทำสัญญากับบริเตนในปี 2452 เพื่อแลกหัวเมืองประเทศราชมลายูแก่บริเตนกับการเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนในบังคับบริเตน[8]: 358–9 ในปี 2436 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีมหาดไทยในขณะนั้น ทรงริเริ่มระบบมณฑลเทศาภิบาลที่นครราชสีมาเป็นที่แรก แล้วส่งข้าหลวงจากส่วนกลางไปปกครองโดยตรงแทนผู้ปกครองสืบทอดในหัวเมือง มีการสร้างทางรถไฟไปภาคอีสานและภาคเหนือ การปรับปรุงกฎหมายสยามโดยยึดตามประมวลกฎหมายนโปเลียนของฝรั่งเศส[8]: 363–5 อย่างไรก็ดี ในปี 2445 เกิดกบฏขึ้นในราชอาณาจักร 3 ครั้ง เพื่อต่อต้านการโอนอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง[8]: 372–3 ในปี 2448 มีการปฏิรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป จนสามารถแทนที่ระบบการเกณฑ์แรงงานแบบเก่ามาใช้ระบบเงินรัชชูปการและการเกณฑ์ทหารสมัยใหม่แทน[8]: 365–6 ผลของการเลิกระบบไพร่ทำให้ราษฎรทำการเกษตรเพิ่มขึ้น ปริมาณการส่งออกข้าวของสยามเพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 1 ล้านเกวียนในคริสต์ทศวรรษ 1850 เป็นกว่า 11 ล้านเกวียนในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19[8]: 375 ในปี 2441 เริ่มมีการตั้งโรงเรียนในหมู่บ้านต่าง ๆ โดยใช้ตำราเรียนและหลักสูตรเดียวกันที่ส่วนกลางกำหนดแทนการศึกษาในวัดแบบเดิม นับเป็นการเริ่มหล่อหลอมให้เกิดรัฐชาติที่มีเอกภาพ[8]: 378–9 นอกจากนี้ ชาวจีนยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ด้วย โดยจำนวนชาวจีนเพิ่มขึ้นจาก 230,000 คนในปี 2368 เป็น 792,000 คนในปี 2453 ชาวจีนเหล่านี้ประสมประสานวัฒนธรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งของสยาม และมีบทบาทในเศรษฐกิจสมัยใหม่ของอาณาจักร[8]: 380–1
การพัฒนาราชอาณาจักรสยามในรัชกาลที่ 5 ไม่ได้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ คือ สังคมเข้าสู่สมัยใหม่เร็วช้าไม่เท่ากัน ทำให้เกิดช่องว่างทางสังคม[8]: 393 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 2453–68) ทรงสร้างให้เกิดสำนึกความเป็นชาติอย่างน้อยก็ในหมู่ชนชั้นนำ ในปี 2454 ทรงตั้งกองเสือป่าซึ่งสมาชิกหลุดพ้นจากกรอบราชการและนับถือประมุข[8]: 396–7 ในปีเดียวกัน เกิดเหตุการณ์คณะนายทหารชั้นผู้น้อยคบคิดกันเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยมีแนวคิดต่อต้านสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ยังไม่ทันวางแผนเสร็จก็ถูกจับได้เสียก่อน[8]: 397, 399 พระองค์ทรงตอบโต้ด้วยการแต่งตั้งเสนาบดีซึ่งเป็นข้าราชการที่ได้รับการศึกษาในทวีปยุโรป ทรงตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหางบประมาณขาดดุลและทรงใช้วิธีประชาสัมพันธ์และโฆษณาชวนเชื่อซึ่งใช้มาจนสิ้นรัชกาล[8]: 400–2 คือ ทรงใช้พระปรีชาทางวรรณศิลป์เผยแพร่พระราชนิพนธ์ทางสื่อต่าง ๆ โดยย้ำแนวคิดสำคัญส่งเสริมวิถีชีวิตแบบตะวันตก ทรงริเริ่มธรรมเนียมอย่างตะวันตก เช่น นามสกุล กีฬาที่เล่นเป็นหมู่คณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งฟุตบอล ธรรมเนียมผัวเดียวเมียเดียว ทรงส่งเสริมการศึกษาแผนใหม่ โดยสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2459 และทรงให้การศึกษาระดับประถมเป็นภาคบังคับ[8]: 402–3 ทั้งยังทรงเผยแพร่แนวคิดชาตินิยมทางการเมืองและชาตินิยมทางเศรษฐกิจที่ประสงค์ให้กำจัดอิทธิพลของชาวจีนในเศรษฐกิจสยาม[8]: 404 ทรงพยายามส่งเสริมให้ราษฎรรู้จักสมาคมกันโดยไม่แบ่งวรรณะ รู้จักตัดสินโดยยึดหลักเสียงข้างมาก และกระตุ้นการอภิปรายสาธารณะในสื่อต่าง ๆ[8]: 406 ด้านกิจการทหาร ทรงจัดหาเรือรบที่ทันสมัย และในปี 2460 ราชสำนักเล็งเห็นว่าการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอาจก่อให้เกิดประโยชน์ในการเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม จึงประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางในวันที่ 22 กรกฎาคม 2460[8]: 407 ผลทำให้ชาติตะวันตกยอมแก้ไขสนธิสัญญาในช่วงปี 2463–9 ให้สยามได้รับอิสระในการจัดเก็บภาษีอากรและยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต[8]: 408–9 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการปกครองจะทำให้สยามพินาศล่มจมจึงปฏิเสธข้อเสนอแนะให้ใช้ระบอบรัฐธรรมนูญเสียทุกครั้ง[8]: 412 ในด้านเศรษฐกิจ รายได้ของรัฐที่ลดลงจากราคาผลผลิตการเกษตรที่ตกต่ำ และรายจ่ายส่วนพระองค์ที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ งบประมาณจึงขาดดุลเช่นนี้ไปจนสิ้นรัชกาล ทำให้ต้องมีการกู้เงินต่างประเทศมาเป็นระยะ ๆ[8]: 413
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 2468–78) บ้านเมืองเต็มไปด้วยความไม่สงบและปัญหาเศรษฐกิจ ความพยายามลดงบประมาณทำให้เกิดการทะเลาะกันในหมู่ข้าราชการทำให้เกิดภาพไร้ประสิทธิภาพ[8]: 416–7 หนังสือพิมพ์สะท้อนความคิดเห็นของมหาชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พระองค์ทรงเร่งสถาปนาอภิรัฐมนตรีสภาเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า พระองค์ยังทรงมีแนวคิดทดลองประชาธิปไตยในสยาม อย่างไรก็ดี ความพยายามให้ทดลองการปกครองตนเองระดับเทศบาลมีผลเล็กน้อยจนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง[8]: 421 ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 มีกลุ่มนักเรียนต่างประเทศซึ่งมีแนวคิดต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่โดดเด่นได้แก่ ปรีดี พนมยงค์ และแปลก ขีตตะสังคะ เริ่มพบปะกันอย่างลับ ๆ เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 2472 ผลสะเทือนถึงสยามทำให้ราคาข้าวตกลง รัฐเสียรายได้ และเกิดวิกฤตค่าเงินบาท[8]: 426–7 ในปี 2475 รัฐบาลดำเนินมาตรการ เช่น ปลดข้าราชการออกจำนวนมาก ระงับการเลื่อนขั้น และเพิ่มการเก็บภาษี ผลทำให้เกิดชนชั้นกลางได้รับผลกระทบมากเมื่อเทียบกับคนจีน ชนชั้นสูงและเจ้า และเกิดความไม่พอใจ[8]: 428 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาความเป็นไปได้ของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีการทูลเกล้าฯ ถวายรัฐธรรมนูญฉบับร่างโดยเนื้อหามีใจความว่า จะให้โอนอำนาจบริหารเป็นของนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้ง มีสภานิติบัญญัติควบคุมตรวจสอบโดยมีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งอย่างละกึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ดี เจ้านายในคณะอภิรัฐมนตรีสภาคัดค้านร่างรัฐธรรนนูญดังกล่าว จึงไม่ได้ดำเนินการอย่างไรต่อ[8]: 429, 431
วันที่ 24 มิถุนายน 2475 กลุ่มบุคคลที่เรียกคณะราษฎรก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง ผลทำให้ระหว่างปี 2478–2500 เป็นช่วงเวลาที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ปกครอง และพระมหากษัตริย์ทรงไม่มีบทบาททางสังคมอีกจนพ้นช่วงดังกล่าว[8]: 440 คณะราษฎรเริ่มวางแผนปฏิรูปการเมืองแต่เป็นไปอย่างช้า ๆ[8]: 442–3 หลังจากนั้น คณะราษฎรเกิดขัดแย้งกันเอง โดยฝ่ายพลเรือนมีอำนาจน้อยกว่าฝ่ายทหาร คณะราษฎรแตกกันเป็น 5 ฝ่าย และหลังเกิดวิกฤต 3 ครั้งในปี 2476 สุดท้ายฝ่ายทหารหนุ่มชนะ[8]: 444–5 พระมหากษัตริย์และกลุ่มกษัตริย์นิยมพยายามเอาชนะคณะราษฎรทุกวิถีทาง เกิดเป็นเครือข่ายต่อต้านการปฏิวัติที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง เริ่มจากกฎหมายปิดสภาฯ, เดือนตุลาคม 2476 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงนำทหารในต่างจังหวัดกบฏ แต่ก่อการไม่สำเร็จ[16]: 17–27 ความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับรัฐบาลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และหลังจากรัฐบาลปฏิเสธการต่อรองเพื่อปรับเปลี่ยนพระราชอำนาจและรูปแบบการปกครอง พระองค์ทรงสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม 2477 (นับแบบเก่า)[8]: 448 รัฐบาลกราบบังคมทูลพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล (ต่อมาเป็นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร, ครองราชย์ 2478–89) ขณะยังทรงพระเยาว์และกำลังศึกษาในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เป็นพระมหากษัตริย์และแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คณะรัฐมนตรีในช่วงแรก ๆ สั่นคลอนแต่อยู่ร่วมกันได้เพราะบุคลิกของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และในปี 2478 รัฐบาลสามารถเจรจาจนสยามมีอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์[8]: 452–3
ในปี 2481 จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาจัดการความนิยมของรัฐบาลด้วยการควบคุมสื่อและตรวจพิจารณา มีการจับนักโทษการเมืองและเคลื่อนไหวต่อต้านราชวงศ์[8]: 455, 457 ภายในปีแรก รัฐบาลออกกฎหมายต่อต้านชาวจีนหลายฉบับ และสงวนบางอาชีพให้เฉพาะชาวไทยซึ่งเป็นความคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ออกรัฐนิยม 12 ประการ รวมทั้งการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นไทย และควบคุมวิถีชีวิตประจำวันต่าง ๆ โดยอ้างว่าเพื่อให้ต่างประเทศมองว่าไทยเป็นประเทศสมัยใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2483 ไทยส่งกำลังรุกเข้าไปในลาวและกัมพูชา ถึงแม้จะแพ้ในยุทธนาวีเกาะช้าง แต่ทางบกสามารถยึดดินแดนได้ จนญี่ปุ่นเข้ามาเป็นตัวกลาง โดยมีการบรรลุอนุสัญญายกดินแดนลาวและกัมพูชาบางส่วนให้ไทย[8]: 462 หลังจากนั้นประเทศไทยเตรียมรับศึกญี่ปุ่น แต่ชาติมหาอำนาจอังกฤษและสหรัฐต่างไม่สามารถช่วยรักษาความมั่นคงของไทยได้[8]: 462–3
วันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นเคลื่อนทัพผ่านประเทศไทย มีการปะทะกับญี่ปุ่นหลายจุด จอมพล ป. เห็นว่าการขัดขืนเปล่าประโยชน์ จึงสั่งหยุดยิง ยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทยโดยแลกกับให้ญี่ปุ่นยอมรับเอกราชของไทย[8]: 463, 465 ต่อมารัฐบาลเห็นญี่ปุ่นได้ชัยตามสมรภูมิต่าง ๆ ก็เชื่อว่าญี่ปุ่นจะชนะสงคราม จึงเข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามต่อสหรัฐและสหราชอาณาจักร ฝ่ายเสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐในเวลานั้น ปฏิเสธยื่นคำประกาศสงครามไปยังสหรัฐ และก่อตั้งขบวนการเสรีไทย เดือนพฤษภาคม 2485 รัฐบาลนำกำลังเข้ายึดครองรัฐฉาน สถาปนาเป็นสหรัฐไทยเดิม ขณะเดียวกันญี่ปุ่นยังมอบดินแดนมลายูที่ยกให้บริเตนในปี 2452 แก่ไทยด้วย[8]: 466–7 อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นเริ่มเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในปี 2487 ไทยประสบปัญหาขาดแคลนสินค้าจำเป็น การเพิ่มภาษีและเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ทั้งยังเผชิญกับการทิ้งระเบิดทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตร[8]: 467–8 เดือนกรกฎาคม 2487 จอมพล ป. พิบูลสงครามแพ้มติในสภาผู้แทนราษฎรจึงลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ เหตุผลหนึ่งคือ ส.ส. ต้องการพัฒนาความสัมพันธ์กับฝ่ายสัมพันธมิตรและเห็นว่าจอมพล ป. คือสายสัมพันธ์ในอดีตกับญี่ปุ่น และเลือกควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรีแทน[8]: 470 ช่วงปลายสงคราม รัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะให้รอดพ้นจากข้อเรียกร้องของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยพยายามเสนอขบวนการเสรีไทยในประเทศให้ฝ่ายสัมพันธมิตรใช้เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น และไทยพึ่งความสัมพันธ์กับรัฐบาลสหรัฐ[8]: 472–3
หลังญี่ปุ่นยอมจำนนในเดือนสิงหาคม 2488 ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้เหตุผลว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐและสหราชอาณาจักรไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปฏิเสธข้อตกลงทั้งหมดระหว่างรัฐบาลจอมพล ป. กับญี่ปุ่น ด้านควง อภัยวงศ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะไปมีส่วนกับญี่ปุ่นระหว่างสงคราม[8]: 473–4 รัฐบาลสหราชอาณาจักรมีข้อเรียกร้องยืดยาวต่อไทย แต่ถูกรัฐบาลสหรัฐใช้อิทธิพลข่มไว้ สุดท้าย มีการตกลงความตกลงสมบูรณ์แบบซึ่งให้ไทยคืนดินแดนที่ได้มาระหว่างสงครามแก่เจ้าของเดิมและการขายข้าวให้สหราชอาณาจักรเพื่อแลกกับการได้รับเสียงสนับสนุนให้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติเท่านั้น ในปี 2489 ศาลฎีกายุติคดีจอมพล ป. ที่เกี่ยวข้องกับสงคราม และวันที่ 9 มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลต้องพระแสงปืนสวรรคตอย่างมีปริศนา[8]: 467–8 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดชสืบราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดช (ครองราชย์ 2489–2559) ในช่วงปี 2489–2490 รัฐบาลฝ่ายที่สนับสนุนปรีดีเสื่อมอำนาจอย่างรวดเร็ว เพราะสังคมมองว่ารัฐบาลไม่สามารถคลี่คลายคดีได้
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะทหารรัฐประหาร มีการถอนรากถอนโคนฝ่ายซ้าย โดยเฉพาะผู้สนับสนุนของปรีดี[8]: 480 ส่วนหนึ่งอ้างเหตุไขคดีสวรรคตไม่ได้ด้วย รัฐบาลจอมพล ป. หวนคืนสู่อำนาจอีกครั้งในปี 2491 และใช้นโยบายปราบปรามชาวจีน มลายู และนักการเมืองภาคอีสาน เดือนเมษายน 2491 เกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของชาวบ้านดุซงญอ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งรัฐบาลใช้กำลังปราบปรามอย่างหนัก[8]: 486 ในปี 2492 ปรีดีและพันธมิตรซึ่งประกอบด้วยทหารเรือและอดีตสมาชิกเสรีไทยพยายามเพื่อยึดอำนาจคืน แต่ไม่สำเร็จ จึงถูกเรียกว่า กบฏวังหลวง นับแต่นั้นพันธมิตรทางการเมืองของปรีดีก็หมดอำนาจลงอย่างสิ้นเชิง
หลังจากเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันและกบฏสันติภาพในปี 2494 พลตรี เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และ พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ค่อย ๆ มีอำนาจมากขึ้นแทนจอมพล ป.[8]: 488, 490 บทบาทของสหรัฐในเวลานั้นมองว่าไทยเป็นรัฐที่ต้องได้รับการปกป้องเพื่อกันการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ประเทศไทยเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลีในปี 2497 เป็นประเทศหลักในองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยได้รับเงินอุดหนุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ความช่วยเหลือทางเทคนิค และการปรับปรุงกองทัพและตำรวจจากสหรัฐ[8]: 493–4 ช่วงปี 2498–2500 จอมพล ป. เริ่มผ่อนปรนการควบคุมการเมืองอย่างเข้มงวดและให้จดทะเบียนพรรคการเมืองได้ ในช่วงนั้นจอมพล ป. และ พล.ต.อ. เผ่าซึ่งเป็นพันธมิตรกันเห็นว่าพวกตนกำลังแพ้ให้กับกลุ่มจอมพลสฤษดิ์และกลุ่ม "ศักดินา" จึงพยายามดึงตัวปรีดีกลับประเทศ แต่ถูกรัฐบาลสหรัฐขัดขวาง นอกจากนี้ จอมพล ป. ยังเกิดขัดแย้งกับพระเจ้าอยู่หัวในหลายโอกาส จอมพลสฤษดิ์ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเนื่องจากลาออกจากคณะรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม 2500 จนในวันที่ 13 กันยายน จอมพลสฤษดิ์นำกองทัพรัฐประหาร[8]: 496–9
หลังรัฐประหารปี 2500 พลเอก ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลถูกค้านในสภาผู้แทนราษฎรอย่างหนักจนไม่สามารถทำงานอย่างราบรื่น จอมพลฤษฎดิ์มีความเห็นว่าพฤติกรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สื่อมวลชนที่ขาดการควบคุม และข้อพิพาทแรงงานและการประท้วงล้วนบ่อนทำลายประเทศ[8]: 508–9 ในปี 2501 เขายกเลิกรัฐธรรมนูญและออกคำสั่งสภาปฏิวัติ และสั่งจับผู้วิจารณ์รัฐบาลหลายร้อยคน เขาตอกย้ำภาพความสะอาดและความเป็นระเบียบ โดยจัดการปัญหาอาชญากรรมอย่างเฉียบขาด สังคมไทยหลายภาคส่วนยอมรับผู้นำเบ็ดเสร็จแบบดังกล่าว[8]: 510 เขายังเปลี่ยนจากความจงรักภักดีต่อรัฐและรัฐธรรมนูญมาเป็นความภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งย่อมทำให้รัฐบาลในพระมหากษัตริย์มีความชอบธรรมตามไปด้วย[8]: 511 เขาฟื้นฟูบทบาททางสังคมของสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังพยายามสร้างความชอบธรรมตามวิถีประชาธิปไตยด้วยการดำเนินนโยบายพัฒนาชนบท ส่งเสริมการลงทุนของเอกชนและต่างชาติเพื่อยกฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ[8]: 513–4 หลังขบวนการปะเทดลาวซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ค่อย ๆ มีอำนาจเพิ่มขึ้นในลาว รัฐบาลยอมรับข้อตกลงของสหรัฐในการคุ้มครองไทย และให้สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศ[8]: 516–7
หลังจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 มีการสืบทอดตำแหน่งผู้นำประเทศเข้าสู่ยุคถนอม-ประภาส ประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องในสงครามเวียดนามมากขึ้น อย่างไรก็ตาม วัยอาจระบุว่าไม่ใช่ว่าประเทศไทยสละความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระในนโยบายต่างประเทศ แต่ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์กับสหรัฐเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนคือสร้างมิตรกับฝ่ายที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ในลาวและกัมพูชา และต่อต้านอิทธิพลของเวียดนามในสองประเทศนี้[8]: 523–4 เมื่อรัฐบาลไทยและสหรัฐเข้าไปตอบโต้ปฏิบัติการของเวียดนามในลาวและกัมพูชา เวียดนามเหนือและจีนตอบโต้ด้วยการส่งเสริมการต่อต้านรัฐบาลในประเทศไทย[8]: 524 ระหว่างปี 2507–11 มีการส่งทหารอเมริกันเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจนมีเจ้าหน้าที่เกือบ 45,000 คน มีเครื่องบินรบเกือบ 600 ลำ[8]: 524 จนถึงปี 2510 ไทยส่งกองทัพครบทั้งสามเหล่าทัพเข้าร่วมปฏิบัติการในเวียดนามใต้ โดยในปี 2512 มีทหารไทยในเวียดนาม 11,000 นายซึ่งคิดเป็นร้อยละ 14 ของกำลังพลทั้งหมด[8]: 525 ผลกระทบของการเข้ามาของทหารอเมริกันนี้ยังเปลี่ยนความสัมพันธ์ของชาวนาในชนบท และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกองทัพกับผู้นำธุรกิจเชื้อสายไทย-จีน คนหนุ่มสาวในชนบทเข้าเมืองเพื่อหางานทำ เร่งโอกาสทางการศึกษาและการเข้าถึงสื่อมวลชน[8]: 526–7 นอกจากนี้ ชาวนาในชนบทยังเกิดสำนึกเรื่องความไม่เสมอภาคทำให้เกิดความไม่พอใจรัฐบาล ปลายปี 2507 เริ่มเกิดการก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์เริ่มจากภาคอีสาน แล้วลามไปภาคเหนือและใต้
ในช่วงเดียวกัน จำนวนประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และเศรษฐกิจของประเทศเริ่มเปลี่ยนจากเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม จำนวนคนหนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษาดีมีเพิ่มขึ้นนำไปสู่การขยายชนชั้นกลางที่เป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ชนชั้นกลางเหล่านี้มีอัตลักษณ์ของตนเองโดยมีลักษณะอนุรักษนิยมทางการเมือง พร้อมกับยึดถือค่านิยมที่เน้นเสรีภาพอย่างตะวันตก[8]: 537 การที่รัฐบาลเข้าไปมีอำนาจในหมู่บ้านชนบททำให้เกิดความไม่พอใจ เพราะชาวบ้านถูกทหารและตำรวจข่มเหง หรือถูกข้าราชการฉ้อโกง มีการต่อต้านรัฐบาลควบคู่ไปกับการดำเนินงานของสหภาพชาวนาและกรรมกร[8]: 539–40
ในปี 2511 ท่ามกลางแรงกดดันจากนักศึกษาในประเทศและสหรัฐ จอมพลถนอมจึงประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งคู่กับวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง จอมพลถนอมชนะการเลือกตั้งในปี 2512 และได้ตั้งรัฐบาลอีกสมัย แต่ความขัดแย้งในสภา และกิจกรรมทางการเมืองที่เกิดจากการผ่อนปรนการจำกัดการแสดงออก ทำให้รัฐบาลตื่นภัยว่าอาจเป็นความล่มสลายของความสามัคคีในชาติ เช่นเดียวกับฐานะของจอมพลถนอมและประภาสในกองทัพที่มีอนาคตไม่แน่นอน เดือนพฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอมยุบสภาและยกเลิกพรรคการเมือง นำประเทศกลับสู่ยุคกองทัพครอบงำอีกครั้ง[8]: 540–1 จอมพลถนอมใช้วิธีสร้างผู้นำให้เข้มแข็งที่เคยใช้ได้ผลมาก่อน แต่ในช่วงนั้นชนชั้นกลางและชาวนาต้องการส่วนแบ่งอำนาจทางการเมืองมากขึ้น เหตุการณ์ในเดือนตุลาคม 2516 ที่มีการจับกุมนักศึกษาที่แจกใบปลิวต่อต้านรัฐบาล ทำให้มีการเดินขบวนใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมนับแสนคนในกรุงเทพมหานคร รัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิต 77 คน สุดท้ายจอมพลถนอมและประภาสถูกบีบให้ลาออกจากลี้ภัยออกนอกประเทศ
ผลจากเหตุการณ์ 14 ตุลาทำให้เกิด "ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน" หรือ "การทดลองประชาธิปไตย" การแสดงความเห็นต่างที่ถูกเก็บกดมาหลายสิบปีกลับมามีปากเสียง เกิดรัฐบาลพลเรือน และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้ทั้งสมาชิกรัฐสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เกิดองค์การการเมืองและการดำเนินกิจกรรมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เกิดการประท้วงของกรรมกรและชาวนาไปทั่ว การแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะมีอิสระ งานเขียนของปัญญาชนฝ่ายซ้ายได้รับความนิยม สมัยนายกรัฐมนตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชสามารถเจรจาให้สหรัฐถอนฐานทัพออกจากประเทศและเจรจาสร้างความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน[8]: 544, 546–7 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในภูมิภาคขณะนั้นประเทศลาวมีการเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ และคอมมิวนิสต์ชนะสงครามเวียดนาม หลังการเลือกตั้งในปี 2519 ได้รัฐบาลผสมอีกสมัยที่มีความเปราะบาง เกิดขัดแย้งในสภาทำให้รัฐบาลแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้น้อย และนักศึกษาฝ่ายซ้ายเริ่มทำให้ผู้สนับสนุนรู้สึกแปลกแยก สถาบันพระมหากษัตริย์ ชนชั้นนำในเมืองและชนชั้นกลางจำนวนมากเริ่มหันมาสนับสนุนกลุ่มฝ่ายขวาต่าง ๆ เช่น นวพล ลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มกระทิงแดง เพราะมองว่านักศึกษาถูกลัทธิคอมมิวนิสต์ชักนำ[8]: 547–8 ในช่วงนี้กลุ่มนักศึกษาฝ่ายซ้ายถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง ในปี 2519 จอมพลถนอมที่บวชเป็นสามเณรเดินทางกลับประเทศ โดยมีสมาชิกราชวงศ์เสด็จไปเยี่ยมที่วัด[8]: 548 เกิดการประท้วงขึ้นรายวันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย่างเข้าเดือนตุลาคม 2519 ฝ่ายขวามีปฏิกิริยาต่อการประท้วงโดยการปลุกระดมใส่ร้ายนักศึกษาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนสุดท้ายมีการสังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการต่างประเทศมองว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีส่วนส่งเสริมเหตุการณ์จากการสนับสนุนกลุ่มฝ่ายขวาและการเสด็จฯ เยี่ยมพระถนอม[17]: 31 กองทัพเข้ามาครอบงำการเมืองอีกครั้ง และการแสดงออกถูกปิดกั้น[8]: 549
หลังรัฐประหารในปี 2519 มีรัฐบาลขวาจัดที่ใช้อำนาจควบคุมอย่างเข้มงวด นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายหนีเข้าป่าและออกนอกประเทศจำนวนมาก รัฐบาลเริ่มเสียการสนับสนุนจากกองทัพ จนมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีในปี 2520[8]: 552–3 รัฐบาลใหม่พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลดความรุนแรงของฝ่ายขวาและพยายามนำผู้หลบหนีออกจากป่า ในช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์เวียดนามบุกกัมพูชา ทำให้ชายแดนตะวันออกของประเทศมีผู้ลี้ภัยเข้ามานับแสนคน และกลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มพยายามโจมตีข้ามชายแดนเข้ามา เมื่อประกอบกับรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ เขาถูกบังคับให้ลาออกก่อนมีรัฐประหารโดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2523[8]: 553–4 ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม มีการใช้นโยบายยันกองทัพเวียดนามที่ชายแดนโดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ รัฐบาลยังสามารถนำผู้ก่อการเริบกลับเข้าสู่สังคมและจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้ในปี 2526[8]: 557 ในทศวรรษนั้นเริ่มเห็นได้ชัดว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาททางการเมือง หลังจากทรงสนับสนุนนักศึกษาในปี 2516 ทรงเปลี่ยนมาสนับสนุนกลุ่มฝ่ายขวาในปี 2519 และรัฐบาลธานินทร์ จนสู่รัฐบาลพลเอกเปรม[8]: 558 ปรากฏชัดในครั้งกบฏยังเติร์กในปี 2524 ที่ทรงประกาศสนับสนุนรัฐบาลพลเอกเปรมทำให้กบฏล้มเหลว[8]: 558–9
ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 ถึง 1990 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารอีกครั้ง กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก ประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลก ประเทศเข้าสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ซึ่งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ[8]: 561 พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ชนะการเลือกตั้งในปี 2531 เขาดูแลกองทัพที่เป็นพวกของตน ทำให้กองทัพอีกฝ่ายยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 นำโดยพลเอก สุจินดา คราประยูร ทีแรกเขาให้สัญญาว่าจะไม่รับอำนาจทางการเมืองแต่สุดท้ายเขาตระบัดสัตย์และเข้าเป็นหัวหน้ารัฐบาลใหม่[8]: 572–3 เหตุการณ์เดินขบวนประท้วงในกรุงเทพมหานครในเดือนพฤษภาคม 2535 ลงเอยด้วยการสั่งปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้พลเอกสุจินดาและพลตรี จำลอง ศรีเมือง แกนนำผู้ประท้วง เข้าเฝ้าฯ จากนั้นพลเอกสุจินดาลาออกจากตำแหน่ง กลางปี 2540 เกิดเหตุการณ์ฟองสบู่เศรษฐกิจแตก อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทไทยต่อดอลลาร์สหรัฐลดลงอย่างรวดเร็ว วิกฤตนี้ทำให้รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชาและพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ล้ม ชวน หลีกภัยกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง รัฐบาลสามารถเจรจาข้อตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ แม้การกู้เงินดังกล่าวจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย แต่มีเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นกองทุนช่วยเหลือคนรวย มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างใหญ่โต[8]: 575–6
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังปี 2544 ถูกครอบงำด้วยความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544 พรรคไทยรักไทยซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 3 ปี ชนะการเลือกตั้งทั่วไป นโยบายเศรษฐกิจของเขาที่เรียก ทักษิโณมิกส์ เน้นกระตุ้นการบริโภคในประเทศและการเพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ นโยบายของเขายังรวมการเพิ่มสวัสดิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในชนบท อย่างไรก็ดี การเอื้อพวกพ้องของทักษิณในการเลื่อนยศทหารใกล้ชิดในกองทัพทำให้พลเอกเปรมและพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่พอใจ[18]: 268 การเคลื่อนไหวต่อต้านทักษิณครั้งแรกเริ่มจากนโยบายภาคใต้ เริ่มจากการเปลี่ยนองค์การของกองทัพมาให้ตำรวจคุมในปี 2545 และปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายทหารจังหวัดนราธิวาสแห่งหนึ่งในปี 2547 ชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครเริ่มไม่พอใจนโยบายประชานิยม การวิจารณ์ในสื่อเพิ่มขึ้น[18]: 268 สนธิ ลิ้มทองกุลซึ่งเป็นเจ้าของสื่อคนหนึ่งวิจารณ์ทักษิณทางโทรทัศน์จนรายการของเขาถูกสั่งระงับ จึงหันมาเดินขบวนตามท้องถนนและปลุกเร้าอารมณ์ด้วยการอ้างว่าทักษิณเป็นภัยคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์[18]: 269 การประท้วงในปี 2548 ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ในปี 2549 หลังมีเหตุการณ์ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ปให้แก่เทมาเส็กโฮลดิงส์ของรัฐบาลสิงคโปร์โดยไม่เสียภาษี ทำให้เริ่มมีการชุมนุมโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กองทัพบางส่วนเล็งเห็นโอกาสในการโค่นทักษิณจึงร่วมมือกับ พธม.[18]: 269 การชุมนุมเน้นกล่าวหาทักษิณว่ามีแผนเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[18]: 269 ทักษิณประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์คว่ำบาตรการเลือกตั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกทักษิณไปเข้าเฝ้าและหลังจากนั้นทักษิณประกาศจะถอยออกจากการเมืองแถวหน้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชดำรัสให้ฝ่ายตุลาการมีบทบาทเพิ่มขึ้นใน "การขับเคลื่อนประชาธิปไตย"[18]: 269
รัฐประหารในปี 2549 มีผู้นำเป็นกลุ่มนิยมเจ้าอย่างเข้มข้น และอ้างว่ารัฐบาลทักษิณสร้างความแตกแยกและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อย่างไรก็ดี ฝ่ายทหารได้ฉวยประโยชน์จากโอกาสนี้ด้วย โดยมีนายทหารได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและตำแหน่งสำคัญ ๆ งบประมาณของกองทัพเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 ภายในสองปี[18]: 270 เป้าหมายหลักของรัฐบาลทหารคือการกำจัดทักษิณ ลดบทบาทของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และคืนอำนาจให้แก่ข้าราชการและกองทัพ[18]: 270 กองทัพยังตั้งใจใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อทวงบทบาทควบคุมดูแลการเมืองของประเทศ โดยผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ลดอำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ การก่อตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550[18]: 271 นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 กองทัพและพวกนิยมเจ้ายกให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางความมั่นคงของชาติ และมีการใช้กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวาง[19]: 374–5 บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทยชัดเจนขึ้นหลังการมีส่วนและสนับสนุนรัฐประหารครั้งนี้[19]: 378
ความพยายามทั้งหลายนี้ไม่อาจกำจัดเสียงสนับสนุนทักษิณในชนบทได้ หลังมีการรื้อฟื้นการปกครองแบบรัฐสภาในเดือนธันวาคม 2550 พรรคไทยรักไทยที่ถูกสั่งยุบพรรคในปี 2549 ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกในชื่อพรรคพลังประชาชนโดยมีสมัคร สุนทรเวชเป็นหัวหน้า พรรคพลังประชาชนครองอำนาจอยู่พักหนึ่งก็เกิดการประท้วงของ พธม. ด้านกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งถือกำเนิดในเดือนกรกฎาคม 2550 ชุมนุมต่อต้าน พธม. ฝ่าย พธม. อ้างว่าตนกำลังพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ และ นปช. อ้างว่าตนกำลังพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย[18]: 274 หลังการชุมนุมดำเนินมาจนสิ้นปี ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน หลังจากนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคใหญ่อันดับสองในสภา เป็นนายกรัฐมนตรี ในครั้งนั้นพลเอกเปรมและพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก อำนวยความสะดวกหรือสั่งการโดยตรงให้มีการซื้อตัวกลุ่มเพื่อนเนวิน[20]: 87 นปช. ชุมนุมในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยเข้าขัดขวางการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปี 2552 และในปีต่อมา มีการชุมนุมยืดเยื้อในกรุงเทพมหานครตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2553 และปิดฉากลงด้วยเหตุการณ์เผาย่านธุรกิจในเขตราชประสงค์ และเผาอาคารราชการ 4 แห่งในต่างจังหวัด
เมื่ออภิสิทธิ์ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ในปี 2554 ปรากฏว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวผู้ไม่มีประสบการณ์การเมืองของทักษิณ นำพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ดูเหมือนว่าเธอจะใช้วิธีประนีประนอมกับพระราชวังและให้กองทัพจัดการตนเอง วิธีนี้ดูเหมือนทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ถูกท้าทายอย่างจริงจังในช่วงแรก ปลายปี 2556 อดีต พธม. ร่วมกับกลุ่มต่อต้านทักษิณและนิยมเจ้าอื่น ๆ เข้าพวกกันตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย[19]: 374 กลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองเมื่อพรรครัฐบาลพยายามเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมซึ่งจะให้ประโยชน์แก่ทักษิณ แต่แม้ว่ารัฐบาลจะถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป กปปส. ยังคงชุมนุมอย่างต่อเนื่องพร้อมกับใช้วาทศิลป์ค้านการเมืองแบบเลือกตั้ง[19]: 374 เห็นได้จากการขัดขวางและทำร้ายร่างกายผู้ออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้งปี 2557[19]: 375 ฝ่ายตุลาการถอดถอนยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่ง แต่รัฐบาลรักษาการยังดำรงอยู่ จนมีรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557[19]: 375
คณะผู้ยึดอำนาจปกครองควบคุมรัฐบาล ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างกว้างขวาง มีการแต่งตั้งสภาหุ่นเชิดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่างรัฐธรรมนูญที่จะกวาดล้างความนิยมของทักษิณได้ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 พยายามก่อรูปร่างของสังคมด้วยค่านิยมตามที่พวกตนกำหนด[19]: 376 นอกจากเพื่อต่อต้านทักษิณแล้ว กองทัพยังรู้สึกว่าตนต้องควบคุมการเปลี่ยนรัชกาลที่กำลังมาถึง และมีแผนจัดโครงสร้างทางการเมืองเพื่อสงวนอำนาจของอภิชน[21]: 281 ผู้นำรัฐประหารยังเพิ่มบทบาทและอำนาจของกองทัพขณะที่ลดอำนาจของประชาสังคมและการปกครองส่วนท้องถิ่นจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีการวางแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี และให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งเป็นผู้ดำเนินการ[21]: 282 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคตในปี 2559 และเข้าสู่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ตั้งแต่ปี 2559) ระเบียบการเมืองเดิมที่ยึดโยงพระมหากษัตริย์ที่มีบารมีหมดไป และกองทัพก้าวเข้ามาเป็นผู้ชี้นำการกระจายอำนาจและผลประโยชน์ในช่วงหลังเปลี่ยนรัชกาลใหม่[21]: 286 นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทหารที่เรียก ประชารัฐ ทำให้เกิดทุนนิยมแบบลำดับชั้นที่ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยเชื้อสายจีนเข้าไปเลี้ยงดูและชี้นำธุรกิจในท้องถิ่น[21]: 300 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ 20 หลังจากครองอำนาจเกือบห้าปี คสช. ยอมให้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ผลทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ โดยได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภา ในปี 2563 เริ่มเกิดการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย ตามมาด้วยการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.