Remove ads
อดีตพระมหากษัตริย์สยาม จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 – 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484) เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี และเป็นรัชกาลที่ 51 ตามประวัติศาสตร์ไทย เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง เบญจศก จ.ศ. 1255 เวลา 12.25 น. หรือตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 96 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระองค์ที่ 15 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 และสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 รวมดำรงราชสมบัติ 9 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 สิริพระชนมพรรษา 47 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระบรมฉายาลักษณ์ พ.ศ. 2478 | |||||
สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม | |||||
ครองราชย์ | 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 – 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 (9 ปี 96 วัน) | ||||
ราชาภิเษก | 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 (นับแบบปัจจุบัน) | ||||
ก่อนหน้า | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว | ||||
ถัดไป | พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร | ||||
ผู้สำเร็จราชการ | |||||
นายกรัฐมนตรี | |||||
พระราชสมภพ | 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 พระที่นั่งสุทธาศรีภิรมย์ พระบรมมหาราชวัง เมืองพระนคร ประเทศสยาม | ||||
สวรรคต | 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 (47 พรรษา) เซอร์รีย์ ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร | ||||
ถวายพระเพลิง | 3 มิถุนายน พ.ศ. 2484 สุสานโกลเดอร์ส-กรีน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร | ||||
บรรจุพระอัฐิ | พระวิมานทองกลาง บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท | ||||
อัครมเหสี | สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี (สมรส พ.ศ. 2461) | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | จักรี | ||||
พระราชบิดา | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | ||||
พระราชมารดา | สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง | ||||
ศาสนา | พุทธเถรวาท | ||||
ลายพระอภิไธย |
พระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้าน เช่น ด้านการปกครอง โปรดให้ตั้งสภากรรมการองคมนตรี ทรงตรากฎหมายเพื่อควบคุมการค้าขายที่เป็นสาธารณูปโภคและการเงิน ระบบเทศบาล ด้านการศาสนา การศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรมนั้น พระองค์โปรดให้สร้างหอพระสมุด ทรงปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ มีการปรับปรุงการศึกษาจนยกระดับมาตรฐานถึงปริญญาตรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยสมบูรณ์ ชื่อว่า “พระไตรปิฎกสยามรัฐ” เป็นต้น
สำหรับชีวิตส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ (ต่อมาเฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี) ไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา แต่มีพระราชโอรสบุญธรรมคือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต หลังสวรรคต พระองค์ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 เนื่องในวโรกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 ปี พระองค์ทรงได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์บางส่วนว่าเป็น "กษัตริย์นักประชาธิปไตย" เนื่องจากทรงยินยอมสละพระราชอำนาจของพระองค์ให้เป็นของประชาชน และลดพระราชฐานะของพระองค์ให้เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญพระองค์แรก
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชสมภพแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง เบญจศก จ.ศ. 1255 ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 ณ พระที่นั่งสุทธาศรีภิรมย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามเมื่อการสมโภชเดือนว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณนารถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธ์ มหามงกุฎราชพงษบริพรรต บรมขัตติยมหารชดาภิสิญจนพรรโษทัย มงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร[1] พระนามทั่วไปเรียกว่า "ทูลกระหม่อมเอียดน้อย"[2]
พระองค์มีพระโสทรเชษฐาและพระโสทรเชษฐภคินีรวม 7 พระองค์ ได้แก่
เมื่อพระองค์เจริญวัยครบกำหนดที่จะตั้งการพิธีโสกันต์และพระราชทานพระสุพรรณบัฏตามขัตติยราชประเพณีแล้ว พร้อมกันนี้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ก็มีพระชนม์ครบกำหนดโสกันต์เช่นกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการโสกันต์และเฉลิมพระนามของทั้งสองพระองค์ขึ้นพร้อมกันบริเวณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2448[3] โดยพระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณ์นารถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธ์ มหามงกุฎราชพงษ์บริพัตร บรมขัตติยมหารัชฎาภิสิญจน์พรรโษทัย มงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา[4]
เมื่อพระองค์เจริญพระชันษาพอสมควรทรงเข้ารับการศึกษาตามประเพณีขัตติยราชกุมาร และจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษ ต่อมา ครั้นทรงโสกันต์แล้วเสด็จไปศึกษาวิชาการที่ประเทศอังกฤษ เมื่อกรกฎาคม พ.ศ. 2449 ในขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 13 ปี ทรงเริ่มรับการศึกษาในวิชาสามัญในวิทยาลัยอีตันซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมชั้นหนึ่งของประเทศ เมื่อสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยอีตันแล้ว ทรงสอบเข้าศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยทหาร (Royal Military Academy) ณ เมืองวูลิช ทรงเลือกศึกษาวิชาทหารแผนกปืนใหญ่ม้า แต่ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2453 พระองค์จึงได้เสด็จกลับประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และได้ถวายงานครั้งสุดท้ายแด่สมเด็จพระบรมชนกนาถ ด้วยการประคองพระบรมโกศคู่กับสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ขณะเชิญพระบรมศพเวียนพระเมรุมาศ [5] แล้วจึงเสด็จกลับไปศึกษาต่อในปี พ.ศ. 2456 ภายหลังทรงเข้าประจำการ ณ กรมทหารปืนใหญ่ม้าอังกฤษอยู่ที่เมืองอัลเดอร์ชอต (Aldershot) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2456 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2457 ซึ่งเป็นช่วงเวลาการซ้อมรบ โดยรัฐบาลอังกฤษตามความเห็นชอบของที่ประชุมกองทหาร (Army Council) และได้รับอนุญาตให้ทรงเครื่องแบบนายทหารอังกฤษสังกัดใน “L” Battery Royal Horse Artillery ทรงได้รับสัญญาบัตรเป็นนายทหารยศร้อยตรีกิตติศักดิ์แห่งกองทัพอังกฤษ และในกาลที่พระองค์สำเร็จการศึกษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งพระยศนายร้อยตรีนอกกอง สังกัดกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นนายร้อยโทและนายทหารนอกกอง สังกัดกรมทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์[6]
ในปี พ.ศ. 2457 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้นในยุโรป แต่เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ยังไม่สำเร็จศึกษาวิชาการทหาร หากจะกลับมาเมืองไทยก็ยังทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองยังไม่ได้เต็มที่ ดังนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤษดากร ทรงจัดหาครูเพื่อสอนวิชาการเพิ่มเติมโดยเน้นวิชาที่จะเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง ในวิชากฎหมายระหว่างประเทศ พงศาวดารศึก และยุทธศาสตร์การศึก
ครั้งสงครามได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก และการหาครูมาถวายพระอักษรก็ลำบาก เนื่องด้วยนายทหารที่มีความสามารถต้องออกรบในสงคราม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอพระราชดำเนินกลับประเทศไทย แต่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอมีความประสงค์ที่จะเสด็จร่วมรบกับพระสหายชาวอังกฤษ หากแต่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร ไม่สามารถทำตามพระราชประสงค์ เนื่องด้วยพระองค์เป็นคนไทยซึ่งเป็นประเทศเป็นกลางในสงคราม สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอจึงจำเป็นต้องเสด็จกลับประเทศไทยในเดือนเมษายน พ.ศ. 2458
ครั้นเมื่อเสด็จกลับประเทศไทย พระองค์เข้ารับราชการในตำแหน่งนายทหารคนสนิทพิเศษของจอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งเป็นพระเชษฐาในพระองค์ ต่อมาพระองค์ได้เลื่อนเป็นผู้บังคับกองร้อยทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์และเป็นร้อยเอกต่อมาเสด็จเข้ารับราชการประจำกรมบัญชาการกองพันน้อยที่ 2 ในตำแหน่งนายทหารเสนาธิการ และต่อมาวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2462 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายพันตรี[7] แล้วเป็นพันโทบังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอทรงปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งหน้าที่การงานต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยมาโดยตลอด ต่อมาทรงลาราชการเพื่อผนวช ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปี พ.ศ. 2460 โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ (ต่อมาคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ แล้วเสร็จประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[8] ทรงได้รับฉายาว่า "ปชาธิโป" ในระหว่างที่ผนวชนั้น สมเด็จพระอุปัชฌาย์ทรงปรารภว่า พระองค์นั้นเป็นพระอนุชาพระองค์เล็ก ถึงอย่างไรก็คงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นแน่ ดังนั้น จึงทรงชวนให้พระองค์อยู่ในสมณเพศตลอดไป เพื่อจะได้ช่วยปกครองสังฆมณฑลสืบไป แต่พระองค์ได้ปฏิเสธ เนื่องจากในขณะนั้นพระองค์ทรงพอพระทัยที่จะอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ มากกว่า[9][10]
เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอลาผนวชและเสด็จเข้ารับราชการแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสขอหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ ต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสพระราชทาน โดยมีพิธีขึ้นตำหนัก ณ วังศุโขทัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินให้และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักขึ้นพระราชทานเป็นเรือนหอ และมีพระราชพิธีอภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ซึ่งนับเป็นการอภิเษกสมรสครั้งแรกหลังจากการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ รวมทั้ง ยังเป็นการแต่งงานแบบตะวันตกอย่างแท้จริง กล่าวคือมีการถามความสมัครใจของคู่บ่าวสาวด้วย[11][12]
พระองค์ทรงพระประชวรเรื้อรังจึงจำเป็นต้องลาราชการไปพักรักษาพระองค์ในสถานที่ที่มีอากาศเย็นตามความเห็นของคณะแพทย์ พระองค์จึงเสด็จไปรักษาพระองค์ที่ทวีปยุโรปในปี พ.ศ. 2463 ครั้นพระองค์ทรงหายจากอาการประชวรแล้ว ทรงเข้าศึกษาวิชาการในโรงเรียนนายทหารฝ่ายเสนาธิการฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส จนสำเร็จการศึกษาเสด็จกลับประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2464 หลังจากนั้นอีก 4 ปี ทรงเข้ารับราชการอีกครั้ง โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในตำแหน่งปลัดกรมเสนาธิการทหารบก และเลื่อนพระยศขึ้นเป็นนายพันเอก ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 2 และเป็นผู้บังคับการพิเศษกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 ในคราวเดียวกัน
พระองค์ทรงปฏิบัติราชการโดยพระวิริยะอุตสาหะ ปรากฏพระเกียรติคุณและสติปัญญาจนสามารถรับราชการสำคัญสนองพระเดชพระคุณต่างพระเนตรพระกรรณได้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการให้เลื่อนกรมขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณนาถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธิ์ มหามกุฎราชพงศบริพัตร บรมขัตติยมหารัชฎาภิสิญจน์พรรโษทัย มงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468[6] ก่อนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคตเพียงไม่กี่วัน
ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตได้มีพระราชหัตถเลขานิติกรรมเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติไว้ ความตอนหนึ่งว่า
...หากมีพระราชโอรส ก็ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์จนกว่าพระมหากษัตริย์จะทรงบรรลุนิติภาวะ แต่ถ้าไม่มีพระราชโอรสก็ใคร่ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงรับรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ตามราชประเพณี...[13]
ขณะที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี มีพระประสูติการพระราชธิดาพระองค์เดียว (สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรและเสด็จสวรรคตในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ได้เสด็จ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ทรงแจ้งข่าวสวรรคตต่อที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์เสนาบดีและองคมนตรีผู้ใหญ่แล้ว เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวังในขณะนั้น ได้อัญเชิญพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอ่านในที่ประชุม เสร็จแล้วผู้เข้าประชุมได้พร้อมกันถวายอาเศียรวาทแต่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ซึ่งรับเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำเร็จราชการแผ่นดินสืบราชสันตติวงศ์ต่อไป[14] ทั้งที่ไม่ได้ทรงเต็มพระทัยที่จะทรงรับราชสมบัติ ด้วยทรงเห็นว่าพระองค์ไม่แก่ราชการเพียงพอและเจ้านายที่มีอาวุโสพอจะรับราชสมบัติก็ยังน่าจะมี[15]
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับพระบรมราชาภิเษกโดยมีพระนามอย่างย่อว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[b]
ในการนี้พระองค์ได้สถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระวรราชชายา ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี[16][17] ซึ่งนับเป็นพระอัครมเหสีพระองค์แรกที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินีในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก[18]
หลังจากนั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะอภิรัฐมนตรี อันประกอบด้วย สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ซึ่งมีหน้าที่ถวายคำปรึกษาราชการแผ่นดินและราชการในพระองค์ระหว่างที่ยังทรงใหม่ต่อหน้าที่[19]
ในขณะที่พระองค์ขึ้นครองราชสมบัตินั้น ฐานะทางการคลังของสยามและสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างมาก พระองค์ได้ตัดลดงบประมาณในส่วนต่าง ๆ เช่น งบประมาณส่วนพระมหากษัตริย์ งบประมาณด้านการทหาร รวมถึง การการยุบหน่วยราชการและปลดข้าราชการออกเป็นจำนวนมากเพื่อลดรายจ่ายของประเทศ ทำให้เกิดความไม่พอใจอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสยามในเวลาต่อมา[20] พระราชกรณียกิจประการหนึ่งที่ คือ พระองค์มีพระราชปรารภจะพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองให้แก่สยาม โดยพระองค์ได้มอบหมายให้นายเรย์มอนด์ บาร์ทเล็ตต์ สตีเฟนส์ ที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศชาวอเมริกัน และพระยาศรีวิสารวาจา ร่วมกันทำบันทึกความเห็นในเรื่องดังกล่าว [20] แต่ถูกทักท้วงจากพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่จึงได้ระงับไปก่อน[21]
ร่างรัฐธรรมนูญของเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์และพระยาศรีวิสารวาจา พ.ศ. 2474 ที่เรียก An outline of changes in the form of government มีใจความว่า ให้พระมหากษัตริย์ยังคงเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารและรัฏฐาธิปัตย์ นายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของและต้องรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ มีสภานิติบัญญัติซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์และการเลือกตั้งอย่างละเท่า ๆ กัน กรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างสภากับนายกรัฐมนตรีให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ตัดสิน พระมหากษัตริย์มีอำนาจยับยั้ง และสามารถออกกฎหมายฉุกเฉินได้โดยไม่ต้องผ่านสภา[22]
ภายหลังงานเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 150 ปี พระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปยังวังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในระหว่างนั้นเองคณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และได้เข้ายึดสถานที่สำคัญของทางราชการได้ รวมทั้ง ได้เชิญสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการพระนคร พร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อเป็นตัวประกัน[23]
เมื่อพระองค์ทรงทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว พระองค์ตรัสเรียกพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีที่อยู่ที่หัวหินให้เข้าประชุมกันที่วังไกลกังวลเพื่อทรงหารือแนวทางต่าง ๆ ที่จะรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในที่ประชุมนั้นแสดงความเห็นออกเป็นสองฝ่ายทั้งสนับสนุนให้ต่อสู้กับคณะราษฎรและฝ่ายที่เห็นว่าไม่ควรสู้ หลังจากนั้น พระองค์ตรัสว่า "เมื่อได้ฟังความเห็นของเจ้านายและเสนาบดีทั้งสองฝ่ายแล้ว ทรงเห็นว่าถ้าจะสู้ก็คงสู้ได้ แต่จะเสียเลือดเนื้อข้าแผ่นดินซึ่งเป็นคนไทยด้วยกัน"[24] สุดท้ายทรงตัดสินพระทัยที่จะอยู่ในราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญดังที่พระองค์ทรงสนับสนุนที่จะให้ประชาชนมีรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด[25]
พระองค์เสด็จกลับพระนครและได้พระราชทานพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อย่างไรก็ดี ทรงต่อรองให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพราะไม่พอพระราชหฤทัยในบทบัญญัติเกี่ยวกับพระราชอำนาจ และข้อที่ว่าสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิฟ้องร้องกษัตริย์[26]: 11 การร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้นมีขุนนางกษัตริย์นิยมร่วมร่างหลายคน และมีการร่วมมือกับพระองค์อย่างใกล้ชิด จนมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายประการตามพระราชประสงค์คือ เปลี่ยนจากความคิดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนมาเป็นความคิดแบบ "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" (สมมติว่ากษัตริย์มาจากมติของปวงชน)[26]: 12 ทรงเสนอให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ควรเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ข้าราชการ และให้กษัตริย์มีอำนาจยับยั้ง[26]: 17 ในภายหลังพระองค์ทรงกล่าวหาคณะราษฎรว่าขัดพระราชประสงค์ซึ่งจะให้ ส.ส. ประเภทที่ 2 มาจากการเลือกตั้ง แต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม กล่าวในสภาฯ ว่า ที่การเลือกตั้ง ส.ส. ประเภทที่ 2 ช้ากว่าที่คณะราษฎรตั้งไว้ไป 10 ปีนั้นเป็นไปตามพระราชประสงค์[26]: 17–8
ในเดือนเมษายน 2476 ทรงร่วมกับนายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในกฎหมายปิดสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อขัดขวางกระบวนการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจ พ.ศ. 2475 (สมุดปกเหลือง) ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่[26]: 19 เนื่องจากเค้าโครงการดังกล่าวมีแผนเปลี่ยนให้รัฐบาลเป็นเจ้าของที่ดินทำให้พระองค์ทรงวิตก[26]: 19–20 เมื่อก่อการเสร็จแล้วก็ผ่านกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 ผลักดันหลวงประดิษฐ์มนูธรรมออกนอกประเทศ และทรงสนับสนุนให้เผยแพร่สมุดปกขาวซึ่งเป็นเอกสารวิจารณ์สมุดปกเหลืองในพระปรมาภิไธยโดยไม่มีผู้สนองพระบรมราชโองการ[26]: 21 พระองค์ยังทรงตำหนินายกรัฐมนตรีว่าจัดการกับคณะราษฎรได้ไม่เด็ดขาดพอ และลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการประหารชีวิตสมาชิกคณะราษฎรไว้ล่วงหน้า[26]: 21 ทรงตั้งหน่วยสืบราชการลับส่วนพระองค์เพื่อถวายรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ[26]: 23–4 เกิดเป็นเครือข่ายต่อต้านการปฏิวัติใต้ดินระหว่างกลุ่มกษัตริย์นิยม พรรคการเมือง และหนังสือพิมพ์ที่มีวังไกลกังวลเป็นศูนย์กลาง[26]: 27 ในการเตรียมการกบฏบวรเดชนั้นมีเช็คสั่งจ่ายเงินของพระคลังข้างที่แก่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชจำนวน 200,000 บาท[26]: 27 นอกจากนี้ สายลับส่วนพระองค์ยังลงมือลอบสังหารผู้นำคณะราษฎรหลายครั้งระหว่างปี 2476–78 รวมทั้งมีคำสั่งฆ่าตัดตอนมือปืนชุดหนึ่งเพื่อไม่ให้สืบสาวมาถึงสายลับด้วย[26]: 32–3
พระองค์ทรงใช้อำนาจยับยั้งร่างกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้แยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ต้องเสียภาษีมรดกเนื่องจากทรงไม่ประสงค์เสียภาษี ทรงคัดค้านการแก้ไขกฎหมายให้กำหนดระยะเวลาฎีกาของนักโทษประหารที่เดิมกษัตริย์มีอำนาจวินิจฉัยสุดท้ายเหนือศาลยุติธรรม[26]: 34–5 หลังจากทรงเพลี้ยงพล้ำหลายครั้งแก่คณะราษฎร ทรงเปลี่ยนกลับมาแสดงท่าทีสนับสนุนประชาธิปไตย[26]: 35–6 ทำให้ผู้แทนราษฎร ร้อยโท ทองคำ คล้ายโอกาส กล่าวในสภาฯ ว่า
"...พระราชบันทึกของพระองค์ พระองค์ต้องการให้ประเทศเรามีการปกครองอย่างประชาธิปไตยอย่างอังกฤษแท้ ๆ แต่พระองค์ก็บอกไว้ในนั้นเอง บอกแย้งในนั้นเองว่า จะให้ฉันทำอย่างพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ [ให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้นกับรัฐบาลและต้องเสียภาษีพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์] ไม่ได้ ทีการปกครองละก็จะเอาอย่างอังกฤษ [กษัตริย์มีอำนาจแต่งตั้งสภาขุนนาง] แต่ไม่อยากจะเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ [ในเรื่องทรัพย์สิน] เพราะฉะนั้นก็เหลือที่จะทนทานเหมือนกัน"[26]: 36
พระองค์ทรงโยกย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าบัญชีส่วนพระองค์จำนวน 6 ล้านบาท[26]: 33 เป็นเหตุให้เกิดคดียึดทรัพย์พระองค์ ข้อขัดแย้งก่อนสละราชสมบัติระหว่างพระองค์กับรัฐบาลยังมีเรื่องอำนาจการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกึ่งหนึ่งของสภา[27]: 161 วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 (นับแบบเก่า) พระองค์เสด็จออกนอกประเทศสยามเพื่อไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงต่อรองกับรัฐบาลเรื่องพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และเรื่องพระราชทรัพย์และผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ แต่ผู้แทนรัฐบาลปฏิเสธ[27]: 163 โดยเฉพาะกรณีมีพระประสงค์ให้แก้ไขมาตรา 39 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ให้กฎหมายใดที่ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยต้องเป็นอันตกไป และสภาผู้แทนราษฎรที่เสนอร่างกฎหมายนั้นต้องถูกยุบ เมื่อรัฐบาลไม่ยินยอมจึงมีพระราชดำริที่จะสละราชสมบัติ[28] ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำริว่าตราบที่ประเทศสยามยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ พระมหากษัตริย์ก็ต้องมีพระราชอำนาจส่วนหนึ่ง แต่คณะราษฎรเห็นว่าพระมหากษัตริย์ถือเป็นประมุขเฉพาะในทางพิธีการอย่างพระมหากษัตริย์อังกฤษเท่านั้น[27]: 164 รัฐบาลจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นหนึ่งคณะโดยมีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานสภาผู้แทนราษฎร ณ ขณะนั้น เป็นประธานคณะกรรมการ พร้อมกับพลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) และนายดิเรก ชัยนาม เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และไกล่เกลี่ยเพื่อกราบบังคมทูลให้เสด็จกลับประเทศไทย แต่การเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ[29] พระองค์ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัตินั้น ปรากฏข้อความที่ใช้อ้างอิงกันเสมอในเวลาต่อมาว่า
ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของ ข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดย สิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร... ...บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียง ในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้ เป็นอันหมดหนทาง ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เป็นต้นไป[30][31]
หลังจากมีพระราชหัตเลขาสละราชสมบัติ พระองค์ทรงกลับไปใช้พระนามและพระราชอิสริยยศเดิม ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา มีคำนำหน้าพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชปิตุลา[32] และไม่ทรงตั้งรัชทายาท เพื่อพระราชทานวโรกาสให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คัดเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เอง คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระราชนัดดา (หลาน) พระองค์เดียวในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ไทยตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478[33]
หลังการสละราชสมบัติ พระองค์ยังคงเก็บความรู้สึกไม่พอพระราชหฤทัยคณะราษฎรไว้ ที่ทรงไม่มีอำนาจแม้แต่ตั้งราชสกุลวงศ์ใหม่ ทรงมีบันทึกว่า
เรื่องนี้ [การตั้งราชสกุลวงศ์] ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ในวันหนึ่ง และถ้าเราตายกันหมดแล้ว ก็หวังว่าหนูเดชน์ [พระราชนัดดา] จะจัดการได้ เพราะกว่ามันจะโต พวกห่าโลกต่าง ๆ คงตายไปแล้ว[26]: 38
ทรงดำรงพระชนมชีพอย่างเงียบ ๆ และสำราญพระอิริยาบถกับพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิด อาทิ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 และ สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งเสด็จไปประทับที่พระตำหนักแฟร์ฮิลล์ ซึ่งห่างไปราว 40 กิโลเมตร พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระภาติยะ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระโอรสบุญธรรม และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช โดยทรงโปรดกีฬากอล์ฟและเทนนิส โดยทรงโปรดให้จัดการแข่งขันเทนนิสขึ้นเป็นประจำที่ตำหนักเวอร์จิเนียวอเตอร์ โดยโปรดให้พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ใน ร.6 นำอาหารมาออกร้านพระราชทานเลี้ยงแก่บรรดาข้าราชการสถานทูตที่มาร่วมงาน เป็นที่สนุกสนาน[34]
หลังจากที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ โดย พ.ศ. 2480 พระองค์ทรงพระประชวรมากด้วยโรคตัวบิดเข้าไปอยู่ในพระยกนะ (ตับ) แต่แพทย์ได้รักษาจนเป็นปกติ พระอาการประชวรของพระองค์กำเริบหนักขึ้นโดยลำดับตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2483 แต่ก็เริ่มทุเลาขึ้นเรื่อยมา กระทั่งวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระองค์เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย ขณะที่มีพระชนมพรรษา 48 พรรษา[35]
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงจัดการพระบรมศพเป็นการภายในโดยอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐาน ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน โดยรัฐบาลอังกฤษได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษในการประดิษฐานพระบรมศพเป็นเวลา 4 วันเพื่อให้ประยูรญาติที่อยู่ห่างไกลมาถวายบังคมลา การจัดการพระบรมศพนั้นเป็นไปอย่างเงียบ ๆ[36]
หลังจากทราบข่าวการเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นที่พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหารตามราชประเพณี โดยมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์[37]
ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ก็ได้อัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนรถไปยังสุสานโกดเดอร์สกรีน (Golders Green) ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงลอนดอน เมื่อเจ้าหน้าที่อัญเชิญพระบรมศพเข้าสู่ฐานที่ตั้ง และผู้ที่ตามเสด็จเข้าประทับและนั่งเก้าอี้แถวโดยลำดับแล้ว อาร์. ดี. เครก (R. D. Craig) ชาวอังกฤษ ซึ่งเคยรับราชการอยู่เมืองไทยและเป็นพระสหายของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อ่านสุนทรพจน์สรรเสริญพระเกียรติคุณ มีการบรรเลงเพลงเมนเดลโซน ไวโอลิน คอนแชร์โต (Mendelssohn Violin Concerto) ซึ่งเป็นเพลงที่พระองค์โปรดเป็นพิเศษ ถวาย[38] จากนั้นพระบรมอัฐิและพระบรมสรีรางคารถูกอัญเชิญกลับไปประดิษฐานยังพระตำหนักคอมพ์ตันอันเป็นที่ประทับของพระองค์
ในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ร่วมกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมมหาราชวัง ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีทักษิณานุปทานอุทิศถวายตามพระราชประเพณี หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ หอพระบรมอัฐิ ซึ่งอยู่ชั้นบนของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท[39] ส่วนพระบรมสรีรางคารนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุไว้ที่พระพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสภายในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร[40]
เศรษฐกิจ สืบเนื่องจากผลของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประเทศทั่วโลกประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจ ตกต่ำ ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนมาสู่ประเทศไทย พระองค์ได้ทรงพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การควบคุมงบประมาณ ตัดทอนรายจ่าย ลดอัตราเงินเดือนข้าราชการ รวมถึงการลดจำนวนข้าราชการ ปรับปรุงระบบภาษี การเก็บภาษีเพิ่มเติม ยุบรวมจังหวัด เลิกมาตรฐานทองคำเปลี่ยนไปผูกกับค่าเงินของอังกฤษ เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมกิจการสหกรณ์ให้ประชาชนได้มีโอกาสร่วมกันประกอบกิจการทางเศรษฐกิจ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 ขึ้น
การสุขาภิบาลและสาธารณูปโภค โปรดให้ปรับปรุงงานสุขาภิบาลทั่วราชอาณาจักรให้ทัดเทียมอารยประเทศ ด้านการสื่อสารและการคมนาคมนั้น ได้มีการอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระองค์จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง ถ่ายทอดเสียงทางวิทยุเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในพิธีเปิดสถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พระราชวังพญาไท[41] ในส่วนกิจการรถไฟ ขยายเส้นทางรถทางทิศตะวันออกจากทางจังหวัดปราจีนบุรี จนกระทั่งถึงต่อเขตแดนประเทศกัมพูชา
ในปี พ.ศ. 2475 เป็นวาระที่กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 150 ปี ทรงจัดงานเฉลิมฉลองโดยทำนุบำรุงบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งสำคัญอันเป็นหลักของกรุงเทพมหานครหลายประการ คือ บูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง, สร้างปฐมบรมราชานุสรณ์และสะพานพระพุทธยอดฟ้าเชื่อมฝั่งกรุงเทพมหานครและฝั่งธนบุรีเพื่อเป็นการขยายเขตเมืองให้กว้างขวาง[42][43] เป็นต้น สำหรับในเขตหัวเมือง ทรงได้จัดตั้งสภาจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตกขึ้น เพื่อทำนุบำรุงหัวหินและใกล้เคียงให้เป็นสถานที่ตากอากาศชายทะเล
พบหลักฐานว่าพระองค์ทรงรับรู้ทั้งสนับสนุน "คณะกู้บ้านกู้เมือง" และมีพระราชดำรัส "ประเทศนี้พร้อมแล้วหรือยังที่จะมีการปกครองแบบมีผู้แทน… ตามความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าขอย้ำว่าไม่" ทั้งทรงขัดขวางเค้าโครงการเศรษฐกิจปี 2475 ของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งรูปแบบเนื้อหาเอนเอียงทางคอมมิวนิสต์[44] อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสยาม ยาสุกิจิ ยาตาเบ กล่าวว่า "ประชาชนสยามไม่เคยได้รับการฝึกฝนทางการเมือง ไม่มีอิสรภาพในการพูด หากไม่มีการปฏิวัติและรอให้พระปกเกล้าฯ ปฏิรูปการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น รอไปอีกหนึ่งร้อยปีก็ไม่มีทางสำเร็จ"[45] สำหรับความข้องแวะในกบฏบวรเดชนั้นก็ปรากฏหลักฐานว่าทรงให้เงินและกำลังใจแก่คณะกบฏ[45]
ทรงส่งเสริมการศึกษาของชาติทั้งส่วนรวมและส่วนพระองค์ โปรดให้สร้างหอพระสมุดสำหรับพระนคร เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าศึกษาได้อย่างเสรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา เพื่อมีหน้าที่บริหารและเผยแพร่วิชาการด้านวรรณคดี โบราณคดี และศิลปกรรม ในด้านวรรณกรรม โปรด ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมใน พ.ศ. 2475 พระราชทานเงินส่วนพระองค์ เป็นรางวัลแก่ผู้แต่งหนังสือยอดเยี่ยม และให้ทุนนักเรียนไปศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศ การศาสนา ทรงปลูกฝังเยาวชนให้มีคุณธรรมดีงาม โดยยึดหลักคำสอนของศาสนาพุทธ โปรดให้ราชบัณฑิตยสร้างหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก ซึ่งนับว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงสร้างหนังสือสำหรับเด็ก ส่วนการศึกษาในพระพุทธศาสนานั้น โปรดให้สร้างหนังสือพระไตรปิฎกภาษาบาลี เรียกว่า ฉบับสยามรัฐ โดยหนึ่งชุดมีจำนวน 45 เล่ม เพื่อเป็นอนุสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[46][47]
ในด้านศิลปวัฒนธรรมของชาตินั้น พระองค์ทรงสถาปนาราชบัณฑิตย์สภาขึ้น (เดิมคือ กรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร) เพื่อจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนครและสอบสวนพิจารณาวิชาอักษรศาสตร์ เพื่อจัดการพิพิธภัณฑสถานตรวจรักษาโบราณสถานและโบราณวัตถุ และเพื่อจัดการบำรุงรักษาวิชาช่าง[48] ผลงานของราชบัณฑิตสภาเป็นผลดีต่อการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชาติเป็นอย่างมาก เช่น การตรวจสอบต้นฉบับเอกสารโบราณออกตีพิมพ์เผยแพร่ มีการส่งเสริมสร้างสรรค์วรรณกรรมรุ่นใหม่ด้วยการประกวดเรียบเรียงบทประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง
ทรงอนุรักษ์ดนตรีไทยไว้ด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้เพราะได้ทรงสนพระราชหฤทัยในวิชาดนตรีไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เข้าถวายการฝึกสอนจนสามารถ พระราชนิพนธ์ทำนองเพลงไทยได้ ถึง 3 เพลง คือ เพลงราตรีประดับดาวเถา เพลงเขมรลออองค์เถา และเพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง[49]
ทางด้านวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม ทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์ปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โปรดฯให้เขียนภาพพงศาวดาร สมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้ที่ผนังพระวิหาร
ทรงพยายามสร้างค่านิยมให้มีสามีภรรยาเพียงคนเดียว โปรดให้ตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. 2473 ริเริ่มให้มีการจดทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนรับรองบุตร อันเป็นการปลูกฝังค่านิยมแบบใหม่ทีละน้อยตามความสมัครใจ นอกจากนี้ยังทรงปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างโดยทรงมีแต่พระบรมราชินีเพียงพระองค์เดียว
นอกจากนี้แล้ว เมื่อทรงว่างจากพระราชภารกิจ พระองค์โปรดในการถ่ายภาพนิ่งและถ่ายภาพยนตร์ ทรงมีกล้องถ่ายภาพและภาพยนตร์จำนวนมากที่ทรงสะสมไว้ สะท้อนให้เห็นพระอุปนิสัยโปรดการถ่ายภาพและภาพยนตร์ ภาพยนตร์ทรงถ่ายมีเนื้อหาทั้งที่เป็นสารคดีและที่ให้ความบันเทิง ในจำนวนภาพยนตร์เหล่านี้ เรื่องที่เป็นเกียรติประวัติของวงการภาพยนตร์ไทยและแสดงพระราชอัจฉริยภาพดีเยี่ยมในการสร้างโครงเรื่อง กำกับภาพ ลำดับฉาก และอำนวยการแสดง คือ เรื่องแหวนวิเศษ นับได้ว่าพระองค์เป็นหนึ่งในบุคคลที่บุกเบิกวงการภาพยนตร์ไทยอีกพระองค์หนึ่ง นอกจากนี้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งนับเป็นโรงภาพยนตร์ทันสมัยในสมัยนั้น นับเป็นโรงมหรสพแห่งแรกในเอเชียที่มีเครื่องปรับอากาศระบบไอน้ำ[50]
ในต้นรัชสมัยได้ทรงดำเนินกิจการสำคัญที่ทรงเกี่ยวข้องกับต่างประเทศที่ค้างมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้สำเร็จลุล่วงไป เช่น การให้สัตยาบันสนธิสัญญาต่าง ๆ นอกจากนี้ยังทรงทำสัญญาใหม่ ๆ กับประเทศเยอรมนีหลังสถาปนาความสัมพันธ์ขั้นปกติ เมื่อ พ.ศ. 2471 และทำสนธิสัญญากับประเทศฝรั่งเศสเกี่ยวกับดินแดนในลุ่มแม่น้ำโขง เรียกว่าสนธิสัญญาอินโดจีน พ.ศ. 2469 โดยกำหนดให้ มีเขตปลอดทหาร 25 กิโลเมตร ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำโขงแทนที่จะมีเฉพาะฝั่งสยามแต่เพียงฝ่ายเดียว[51][52]
เมื่อปี 2556 ที่ประชุมใหญ่ของยูเนสโก (UNESCO) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ประกาศยกย่องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นบุคคลสำคัญของโลกในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ในการประกอบพระราชกรณียกิจในไทยหลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับจากการศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ[53]
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการจึงมีการสร้างพระบรมราชานุสรณ์หลายแห่งเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เช่น
คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้วันที่ 30 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระองค์เป็น "วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติให้เป็นที่ประจักษ์และเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อปวงชนชาวไทยนานัปการ [54]
วังศุโขทัย ตั้งอยู่มุมถนนขาวและถนนสามเสน โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นของขวัญในการอภิเษกสมรสของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา (พระยศขณะนั้น) กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ (พระยศขณะนั้น) เมื่อปี พ.ศ. 2461 โดยได้รับพระราชทานนามวังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "วังศุโขไทย"[55]
ถนนประชาธิปก เป็นถนนที่เริ่มตั้งแต่สะพานพระพุทธยอดฟ้าถึงวงเวียนใหญ่ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตั้งชื่อถนนถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "ถนนพระปกเกล้า" หรือ "ถนนประชาธิปก" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าและถนนเพื่อเชื่อมฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี โดยพระองค์พระราชทานนามถนนนี้ว่า "ถนนประชาธิปก"[56]
สถาบันพระปกเกล้า เป็นสถาบันพัฒนาประชาธิปไตยที่จัดตั้งขึ้นในวโรกาสครบรอบ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนชาวไทย โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรให้เชิญพระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นชื่อของสถาบัน[57]
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นมหาวิทยาลัยเปิดโดยใช้ระบบการศึกษาทางไกล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยตามพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศที่ "กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา" นอกจากนี้ ยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 7 นำมาประกอบกับเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอาณาจักรสุโขทัยเป็นตราประจำมหาวิทยาลัยด้วย[58]
โรงพยาบาลพระปกเกล้า เดิมชื่อ โรงพยาบาลจันทบุรี คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลพระปกเกล้าเพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2496 นอกจากนี้ ยังมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและตึกต่าง ๆ เช่น อาคารประชาธิปก อาคารประชาธิปกศักดิเดชน์ ภายในโรงพยาบาล รวมทั้ง มีการจัดตั้งโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยขึ้นที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า ปัจจุบัน คือ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้ง "ทุนประชาธิปก" (ต่อมาเปลี่ยนเป็น มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี) เพื่อสนับสนุนกิจการของโรงพยาบาลพระปกเกล้า, วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี [59]
ตั้งอยู่หน้าอาคารรัฐสภาไทย ใกล้กับพระราชวังดุสิต มีขนาดหนึ่งเท่าครึ่งพระองค์จริง ทรงเครื่องพระบรมราชภูษิตาภารณ์ฉลองพระองค์ครุยสวมพระชฎามหากฐินปักขนนกการเวก เสด็จประทับเหนือพระที่นั่งพุดตาญจนสิงหาสน์ พระหัตถ์วางเหนือพระเพลาทั้งสองข้าง ออกแบบโดยนาวาเอกสมภพ ภิรมย์ โดยจะมีพิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญ เป็นประจำทุกปี[60] ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ทำการย้ายออกไปบูรณะที่สำนักช่างสิบหมู่ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และเมื่อแล้วเสร็จ จะนำไปตั้งไว้หน้าอาคารรัฐสภาไทยแห่งใหม่ คือสัปปายะสภาสถาน[61]
ตั้งอยู่หน้าอาคารประชาธิปกศักดิเดชน์ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี มีขนาด 2 เท่าของพระองค์จริง สูง 3.14 เมตร ฐานสูง 20 เซนติเมตร แท่นฐานสูง 2.60 เมตร โดยมีพันโทนภดล สุวรรณสมบัติ เป็นประติมากร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551[59]
ตั้งอยู่ ณ อุทยานการศึกษารัชมังคลาภิเษก มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 ในโอกาสครบ 100 ปี วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพิพิธภัณฑ์ในความดูแลของสถาบันพระปกเกล้า ตั้งที่อาคารกรมโยธาธิการเดิม บริเวณสี่แยกผ่านฟ้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าได้บูรณะเพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จัดแสดงภาพถ่าย เอกสาร และพระราชประวัติของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร) เสด็จฯ แทนพระองค์ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2545 [62]
พิพิธภัณฑ์อาคารที่ประทับประชาธิปกศักดิเดชน์ ตั้งอยู่ในกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน เป็นอาคารที่พำนักของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยที่พระองค์ทรงรับราชการเป็นนายทหารเหล่าทหารปืนใหญ่ (พ.ศ. 2458 - พ.ศ. 2464) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2463 เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง หลังคามุงด้วยกระเบื้องลูกว่าว แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ด้านหน้าจะมี 3 ห้อง คือ ห้องทรงงาน ห้องบรรทม และห้องพระกระยาหาร ส่วนด้านหลังเป็นห้องเตรียมพระกระยาหารและยังมีชานโล่งสำหรับพักผ่อนภายนอก อาคารนี้ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2541 เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เผยแพร่พระเกียรติคุณและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ [63]
พิพิธภัณฑ์สถาน พระปกเกล้ารำไพพรรณี เฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่ที่วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี สร้างขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ที่มีพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ชาวจังหวัดจันทบุรีและวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทำพิธีเปิดแพรคลุมป้ายพิพิธภัณฑ์ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551 [64]
ในปี พ.ศ. 2567 ได้มีการสร้างแอนิเมชันเรื่อง ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ โดยมีตัวละคร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พากย์เสียงโดย ฉัตรชัย เปล่งพานิช
ภายหลังสวรรคต
พระราชลัญจกรประจำพระองค์ เรียกว่า พระแสงศร เป็นรูปพระแสงศร 3 องค์ วางอยู่บนราวพาดที่เบื้องบนเป็นตรามหาจักรีบรมราชวงศ์ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ เบื้องซ้ายและเบื้องขวาของราวพาดพระแสงศร ตั้งบังแทรกสอดแทรกด้วยลายกระหนกอยู่บนพื้นตอนบนของดวงตรา
พระราชลัญจกรองค์นี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบ โดยทรงนำพระบรมนามาภิไธยเดิมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ ประชาธิปกศักดิเดชน์ ซึ่งคำว่า เดชน์ แปลว่า ลูกศร มาใช้ในการออกแบบ ดังนั้น พระราชลัญจกรประจำพระองค์จึงเป็นรูปพระแสงศร อันประกอบด้วย พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต และพระแสงศรอัคนีวาต ซึ่งเป็นพระแสงศรที่ใช้ในพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล (พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา)[67][68]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.