Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ความคิดและความเคลื่อนไหวที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของราชอาณาจักรสยาม จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นประชาธิปไตยนั้น มีมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อประมาณ ร.ศ. 103 (พ.ศ. 2427) หลังจากนั้น ได้มีการแสดงความคิดเห็นและความเคลื่อนไหวอยู่เรื่อย ๆ จนนำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎรยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
ความคิดและความเคลื่อนไหวเพื่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย มีมาจากประชาชนในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23 การปกครองของอังกฤษซึ่งค่อย ๆ ดำเนินไปสู่ระบบรัฐสภาแห่งเสรีประชาธิปไตย โดยไม่ต้องมีการปฏิวัติเสียเลือดเนื้อ การเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองของสหรัฐอเมริกาจากอังกฤษใน พ.ศ. 2319 (ค.ศ. 1776) ในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และการปฏิวัติฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2332 (ค.ศ. 1789) ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หลังจากนั้นความคิดแบบประชาธิปไตยก็แพร่ขยายไปยังประเทศต่าง ๆ ประเทศไทยก็ได้รับแนวความคิดเรื่องการปกครองประเทศระบอบประชาธิปไตย ด้วยการติดต่อกับประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
การติดต่อกับต่างประเทศในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มตั้งแต่มีพระราชไมตรีทางการค้ากับประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2367 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาพวกมิชชันนารี นำโดย หมอบรัดเลย์ จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในประเทศไทย คนไทยเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษ ศึกษาวิทยาการต่าง ๆ โดยเฉพาะพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ กลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์ และกลุ่มข้าราชการก็ศึกษาวิชาการต่าง ๆ ด้วย ดังนั้นสังคมไทยบางกลุ่มจึงได้มีค่านิยมโลกทัศน์ตามวิทยาการตะวันตก
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2394 นั้นพระองค์ทรงตระหนักว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องยอมเปิดสันติภาพกับประเทศตะวันตกในลักษณะใหม่ และปรับปรุงบ้านเมืองให้ก้าวหน้าเยี่ยงอารยประเทศ ทั้งนี้เพราะเพื่อนบ้านกำลังถูกคุกคามด้วยลัทธิจักรวรรดินิยม จึงทรงเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของไทยมาเป็นการยอมทำสนธิสัญญาตามเงื่อนไขของประเทศตะวันตก และพยายามรักษาไมตรีนั้นไว้เพื่อความอยู่รอดของประเทศ
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะปฏิรูปประเทศไทยให้เจริญทัดเทียมกับประเทศตะวันตก ปัจจัยที่จะนำไปสู่จุดหมายได้คือ คน เงิน และการบริหารที่ดี มีพระราชดำริว่า หนทางแห่งความก้าวหน้าของชาติจะมีมาได้ก็ต้องอาศัยการศึกษาเป็นปัจจัย จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยเด็ดเดี่ยวว่า เยาวชนรุ่นใหม่ทั้งของราชวงศ์และบุตรขุนนางจะต้องได้รับการศึกษาอย่างดีกว่ารุ่นพระองค์เอง ในระยะแรกอิทธิพลของประเทศตะวันตกที่มีต่อประเทศไทยคือ ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หม่อมเจ้าเจ๊ก นพวงศ์ กับพระยาชัยสุรินทร์ (หม่อมราชวงศ์เทวหนึ่ง สิริวงศ์) ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษเป็นพวกแรก นับว่าเป็นครั้งแรกที่ทรงส่งนักเรียนหลวงไปเรียนถึงยุโรป ต่อมาก็ส่งพระราชโอรสและนักศึกษาไปศึกษาวิชาทหารที่ประเทศเยอรมนี ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเดนมาร์ก และประเทศรัสเซีย ก่อนหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคัดเลือกหม่อมเจ้า 14 คน ไปเรียนหนังสือที่สิงคโปร์ 2 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2413 - พ.ศ. 2415 ในโอกาสที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2413 นั่นเป็นการเตรียมคนที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาพระราชภาระในการปรับปรุงประเทศ การเตรียมปัจจัยการเงินเป็นการเตรียมพร้อมประการหนึ่ง ถ้าขาดเงินจะดำเนินกิจการใดให้สำเร็จสมความมุ่งหมายคงจะเป็นไปได้ยาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า การจัดการเงินแบบเก่ามีทางรั่วไหลมาก พวกเจ้าภาษีนายอากรไม่ส่งเงินเข้าพระคลังครบถ้วนตามจำนวนที่ประมูลได้ พระองค์จึงทรงจัดการเรื่องการเงินของแผ่นดินหรือการคลังทันทีที่พระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะ มีอำนาจในการปกครองแผ่นดินเต็มที่ เริ่มด้วยให้ตราพระราชบัญญัติตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ จ.ศ. 1235 (พ.ศ. 2416) มีพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติในปี จ.ศ. 1237 (พ.ศ. 2418) เพื่อจะได้ใช้จ่ายทุนบำรุงประเทศ ต่อมาทรงให้จัดทำงบประมาณจัดสรรเงินให้แต่กระทรวงต่าง ๆ เป็นสัดส่วน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังไม่ทรงทันได้ปรับปรุงการปกครองประเทศให้เป็นไปตามที่พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ ก็มีกลุ่มเจ้านายและข้าราชการทำหนังสือกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองราชการแผ่นดินเมื่อ ร.ศ. 103 (พ.ศ. 2427) ทั้งนี้อาจจะวิเคราะห์ได้ว่า ที่พระองค์ยังไม่ทรงปรับปรุงงบการบริหารประเทศก่อน พ.ศ. 2428 เพราะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น คือ วิกฤตการณ์วังหน้า เมื่อ พ.ศ. 2417 การที่ทรงตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ให้รวมเงินมาอยู่ที่เดียวกัน กระทบกระเทือนต่อเจ้านาย และข้าราชการ โดยเฉพาะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมหมื่นไชยชาญ วิกฤติการณ์วังหน้าเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้า แสดงถึงปฏิกิริยาโต้ตอบ การริเริ่มดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางคือสถาบันกษัตริย์ เห็นได้ชัดเจน ว่าเมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตในปี พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงปรับปรุงการบริหารการปกครองส่วนกลางเป็น 12 กรม (ต่อมาเรียกว่า กระทรวง) ในปี พ.ศ. 2432
ความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ได้เริ่มมีมาแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีความเคลื่อนไหวมาตลอดจนถึงวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แนวความคิดและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้แก่
ร.ศ. 103 ตรงกับ พ.ศ. 2427 เป็นปีที่ 17 ของการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีเจ้านายและข้าราชการ จำนวนหนึ่งที่รับราชการ ณ สถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน และกรุงปารีส ได้ร่วมกันลงชื่อในเอกสารกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 ทูลเกล้าฯ ถวาย ณ วันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือน 2 ปีวอก ฉอศอ ศักราช 124 ตรงกับวันที่ 9 เดือนมกราคม พ.ศ. 2427
เจ้านายและข้าราชการที่จัดทำหนังสือกราบบังคมทูลความเห็นครั้งนั้น มีพระนามชื่อปรากฏอยู่ท้ายเอกสาร ได้แก่
พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ได้ทรงมีบันทึกไว้ว่า
สาระสำคัญของคำกราบบังคมทูล นี้อยู่สามข้อ กล่าวคือ
ภัยอันตราย ที่จะมาถึงบ้านเมือง คือ ภัยอันตรายที่จะมีมาจากประเทศที่มีอำนาจมากกว่าประเทศไทย ถ้ามหาอำนาจในยุโรปประสงค์ จะได้เมืองใดเป็นอาณานิคม ก็จะต้องอ้างเหตุผลว่าเป็นภารกิจของชาวผิวขาวที่มีมนุษยชาติ ต้องการให้มนุษย์มีความสุขความเจริญ ได้รับความยุติธรรมเสมอกัน ประเทศที่มีการปกครองแบบเก่านอกจากจะกีดขวางความเจริญของประเทศในเอเชียแล้ว ยังกีดขวางความเจริญของประเทศที่เจริญรุ่งเรืองแล้วด้วย แล้วสรุปว่า รัฐบาลที่มีการปกครองแบบเก่าจัดการบ้านเมืองไม่เรียบร้อย เกิดอันตรายทำให้อันตรายนั้นมาถึงชาวยุโรป นับว่าเป็นช่องทางที่ชาวยุโรปจะเข้าจัดการให้หมดอันตราย และอีกประการหนึ่ง ถ้าปิดประเทศไม่ค้าขายก็จะเข้ามาเปิดประเทศค้าขายให้เกิดประโยชน์ ทั้งหมดเป็นเหตุผลที่ประเทศในยุโรปจะยึดเอาเป็นอาณานิคม
การป้องกันอันตรายที่จะบังเกิดขึ้นอยู่หลายทางแต่คิดว่าใช้ไม่ได้คือ
ในหนังสือกราบบังคมทูล ได้เสนอความเห็นที่เรียกว่าจัดการบ้านเมืองตามแบบยุโรป รวม 7 ข้อ ดังนี้
ในข้อเสนอนั้นได้ระบุว่า “ทางที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาว่าเป็น คอนสติติวชั่นยุโรปนั้นหาได้ประสงค์ที่จะมีปาลิเมนต์ในเวลานี้ไม่หมายความผู้เสนอขอให้มีรัฐธรรมนูญ (Constitution) ยังไม่ได้ต้องการรัฐสภา (Parliament) เหมือน “ดังกรุงอังกฤษฤๅอเมริกา” ซึ่งอำนาจและความผิดชอบอยู่ในเนื้อมือราษฎรทั้งสิ้นให้มี “เคาเวอนเมนต์ และกำหนดกฎหมายความยุติธรรมอันแน่นอน” หมายถึงให้มีคณะรัฐบาล (Government) ซึ่งประกอบด้วยเสนาบดีหรือรัฐมนตรีพร้อมทั้งมีกฎหมายที่ให้ความยุติธรรม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ ความเห็นของคณะที่กราบบังคมทูลจะให้เปลี่ยนแปลงการปกครองว่า พระองค์ทรงตระหนักในอันตรายที่กล่าวมานั้นและไม่ต้องห่วงว่าพระองค์จะทรง “ขัดขวางในการที่จะเสียอำนาจซึ่งเรียกว่า แอบโซลูด” พระองค์ทรงกล่าวต่อไปว่าเมื่อพระองค์ทรงครองราชสมบัติใหม่ ๆ ทรงไม่มีอำนาจอันใดเลย ขณะพระองค์ทรงมีอำนาจบริบูรณ์ ในเวลาที่ทรงมีอำนาจน้อย ก็มีความลำบาก เวลานี้มีอำนาจมากก็มีความลำบาก พระองค์จึงทรงปรารถนาอำนาจปานกลาง ได้ทรงครองราชย์มาถึง 17-18 ปี ได้ทรงศึกษาเหตุการณ์บ้านเมืองอื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เหมือนคางคกในกะลาครอบหรือทรงอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทรงทำอะไรเลย ที่เรียกร้องให้มีรัฐบาล (คอเวอนเมนต์) ก็มีเสนาบดีเป็นรัฐบาลแล้ว แต่ยังไม่ดี สิ่งที่พระองค์ทรงต้องการคือ “คอเวอนเมนตรีฟอม” หมายถึงให้พนักงานของราชการแผ่นดินทุก ๆ กรมทำการให้ได้เต็มที่ ให้ได้ประชุมปรึกษากัน ติดต่อกันง่ายและเร็ว อีกประการหนึ่งทรงหาผู้ทำกฎหมายสละที่ปรึกษากฎหมายการกระทำทั้งสองประการต้องได้สำเร็จก่อน การอื่น ๆ ก็จะสำเร็จตลอด
แท้จริงแล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราโชบายที่จะทรงปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินมาตั้งแต่พระองค์ทรงมีอำนาจในการปกครองอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ ใน พ.ศ. 2417 ได้ทรงสถาปนาสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและสภาที่ปรึกษาในพระองค์เป็นองค์กรใหม่ช่วยบริหารประเทศ โดยมีพระราชดำริว่า “ราชการบ้านเมืองที่จะเกิดขึ้นใหม่และที่คั่งค้างมาแต่เดิมนั้น ไม่สามารถที่จะทรงจัดการให้สำเร็จโดยลำพังพระองค์เอง” ถ้ามีผู้ช่วยกัน คิดหลายปัญญาแล้ว การที่รกร้างมาแต่เดิม ก็จะปลดเปลื้องไปทีละน้อย ๆ ความดีความเจริญก็ยังเกิดแก่บ้านเมือง... สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) มีสมาชิกเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นพระยา 12 นาย ทำหน้าที่ประชุมปรึกษาข้อราชการและออกพระราชกำหนดกฎหมายตามพระบรมราชโองการ หรืออาจจะกราบบังคมทูลเสนอความคิดเห็นในการออกกฎหมายใหม่ ส่วนสภาที่ปรึกษาในพระองค์ (Privy Council) สมาชิกของสภานี้คือ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการระดับต่าง ๆ มี 49 นาย ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาข้อราชการ และเสนอความคิดเห็นต่าง ๆ ซึ่งอาจจะนำไป อภิปรายในสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน แต่ปรากฏว่าสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและสภาที่ปรึกษาในพระองค์ไม่ได้มีผลงานหรือจะเรียกว่าประสบความล้มเหลว สมาชิกทั้งสองสภาไม่ค่อยได้แสดงความคิดเห็นตามวิถีทางอันควร อาจเป็นเพราะขาดความรู้ความสามารถ และหรือไม่กล้าที่จะออกความคิดเห็นซึ่งไม่ใช่ลักษณะที่เคยทำมาก่อน
เพราะฉะนั้น การเรียกร้องให้มีรัฐบาลและรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายปกครองประเทศตามความหมายของระบอบประชาธิปไตยเป็นไปได้ยาก
คำว่ารัฐธรรมนูญตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Constitution" ได้มีการบัญญัติขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ผู้ที่บัญญัติศัพท์คำนี้คือ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ มีความหมายว่า "กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ" ซึ่งกำหนดรูปแบบและหลักการปกครอง ตลอดจนวิธีการดำเนินการปกครองไว้อย่างเป็นระเบียบ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ของประชาชนที่พึงกระทำต่อรัฐกับรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งรัฐจะละเมิดมิได้ไว้อีกด้วย
ได้มีผู้สงสัยว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ ทรงปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นแบบอารยประเทศ จะไม่มีพระกระแสพระราชดำริเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรือคำกราบบังคมทูลของกลุ่มบุคคลใน ร.ศ. 103 ไม่บังเกิดผลแต่อย่างไร ต่อมานายปรีดา ศรีชลาลัย ได้เล่าเรื่องการค้นพบ “ร่างรัฐธรรมนูญแผ่นดินของสมเด็จพระปิยมหาราช” ว่า
ร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งรัชกาลที่ 5 ในร่างนั้นมีระบุถึงประธานาธิบดีแต่ไม่ใช่
ประธานาธิบดีแห่งมหาชนรัฐ ข้อความบ่งให้ทราบว่าได้ร่างขึ้นก่อน ร.ศ 112
(คือก่อน พ.ศ. 2436) แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ร่าง ครั้นต่อมาได้พบสำเนาจดหมาย
ของท่านเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี กราบบังคมทูลพระกรุณาท้าวความถึงสมเด็จ
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ...สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ได้ทรงทราบ
จดหมายของท่านเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีตลอดแล้ว จึงลงลายพระหัตถ์เป็น
การชี้แจงตอบ... ล้วนแต่เกี่ยวกับการเมืองอย่างสำคัญ ๆ ในระหว่างนั้นและ
โดยเฉพาะราชการของที่ประชุมร่างกฎหมายและกฎข้อบ้งคับ ประสบอุปสรรค
ต่าง ๆ เพราะเหตุไร ในส่วนพระองค์ท่าน...ทำการร่างกฎหมายสำคัญไปแล้วมีอะไร
บ้าง เช่น (1) ราชประเพณี (ได้แก่ที่เรียกในปัจจุบันนี้ว่า รัฐธรรมนูญ) (2) พระราช
กฤษฎีกาสำหรับที่ชุมนุมทั้งปวงปรึกษากันในสภา ฯลฯ เป็นอันทราบได้จากสำเนา
ลายพระหัตถ์ดังกล่าวมานี้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่าราชประเพณี
สมเด็จพรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงร่างเสด็จ ก่อนวันที่ 9 สิงหาคม
พ.ศ. 2432 (คือเมื่อก่อน60 ปีมานี้ หรือก่อนสิ้นรัชกาลที่ 5 เป็นเวลา 20 ปีเต็ม)“ราชประเพณี” ที่กล่าวถึง ชื่อว่า “ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม” เป็นร่างกฎหมาย 20 มาตรา กำหนดพระบรมเดชานุภาพ ราชสดมภ์คือ (1) รัฐมนตรีสภาหรือลูกขุน ณ ศาลหลวง คือผู้ซึ่งทรงเลือกสรรให้คิดร่างกฎหมาย และคอยระวังไม่ให้เสนาบดีสภาทำผิดพระราชกำหนดกฎหมาย (2) องคมนตรีสภา เป็นผู้ทรงเลือกสรรไว้ต่างพระเนตรพระกรรณ (3) เสนาบดีสภา หรือลูกขุน ณ ศาลา เป็นผู้ซึ่งทรงเลือกสรรไว้ทำนุบำรุงแผ่นดินตามพระบรมราโชบายและตามพระราชกำหนดกฎหมาย ในราชประเพณียังกล่าวถึงการสืบสันตติวงศ์ ผู้รั้งราชการ การประชุม คำวินิจฉัยตกลงเป็นมาตราสุดท้าย
ร่างรัฐธรรมนูญในรัชการที่ 5 มีความสำคัญที่จะได้เปรียบเทียบว่า ความมุ่งหมายของคนในสมัยนั้นกับความมุ่งหมายของคนในปัจจุบัน แตกต่างกันอย่างไร ส่วนไหนเป็นประโยชน์และความต้องการของฝ่ายปกครอง และส่วนไหนราษฎรจะได้ผลดีบ้าง ร่างรัฐธรรมนูญในรัชกาลที่ 5 ไม่ได้ปรากฏว่านำมาใช้แต่อยางไรบทความเกี่ยวกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยของเทียนวรรณ เทียนวรรณ หรือ ต.ว.ส วัณณาโภ เกิดใน พ.ศ. 2358 หลังจากสึกจากสมณเพศใน พ.ศ. 2411 ได้ลงเรือไปกับฝรั่งท่องเที่ยวในเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิกเป็นเวลาหลายปี เทียนวรรณเคยถวายหนังสือที่เขาพิมพ์ขึ้นพร้อมกับขอรับราชการเมื่อ ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) เทียนวรรณเป็นที่ปรึกษาของหนังสือพิมพ์สยามออฟเซอรเวอร์ ต่อมาได้ออกหนังสือรายปักษ์ชื่อ ตุลวิภาคพจนกิจ ได้ล้มเลิกเมือ พ.ศ. 2449 แล้วออกหนังสือเล่มใหม่ชื่อ ศิริพจนภาค เป็นรายเดือนในปี พ.ศ. 2451 เทียนวรรณตกลงใจเขียนสิ่งที่จนคิดออกเผยแพร่ วิจารณ์สภาพการณ์ที่เขาเห็นว่าควรมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลงด้วยความรักชาติ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
เรื่องที่เทียนวรรณวิจารณ์รุนแรงที่สุด จนเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องทรงโต้ตอบก็คือ เรื่องว่าด้วยกำลังใหญ่ 3 ประการของบ้านเมือง กล่าวคือต้องมีปัญญาและมีความรู้มาทั่วกัน ทั้งเจ้านาย ขุนนาง และราษฎร มีโภคทรัพย์สมบัติมาก และบ่อเกิดของทรัพย์เกิดจากปัญญาและวิชาความเพียรของรัฐบาลและราษฎร มีทหารและพลเมืองมากและกล่าวว่า ชาวยุโรปได้เอาใจใส่ปกครองชาติ ราษฏรมีโอกาสอันดีด้วยความสามัคคีเป็นใหญ่ พูดถึงญี่ปุ่นใช้เวลา 60 ปี ก็เจริญโดยเร็วทั้งมีความรู้ยิ่ง ประเทศอังกฤษยอมให้คนบังคับอังกฤษรับอำนาจวินิจฉัยของศาลญี่ปุ่นตามแต่ญี่ปุ่นจะพิพากษา
ในเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตย เทียนวรรณเสนอความคิดในข้อเขียนเรื่อง “ว่าด้วยความฝันละเมอแต่มิใช่นอนหลับ” ในข้อที่ 28 กล่าวไว้ว่า
รัฐบาลได้ ในข้อที่มีคุณและมีโทษทางความเจริญและไม่เจริญนั้น ๆ ได้
ตามเวลาที่กำหนดอนุญาตไว้
ในความฝันที่เราฝันมานี้ ในชั้นต้นจะโหวตเลือกผู้มีสติปัญญาเป็น
ชั้นแรกคราวแรกที่เริ่มจัด ให้ประจำการในกระทรวงทุกอย่างไปก่อน
กว่าจะได้ดำเนินให้เป็นปรกติเรียบร้อยได้ต่อมาเทียนวรรณได้เขียนกลอนให้เห็นว่า ราษฎรจำเป็นต้องมีผู้แทน มีรัฐสภา ซึ่งเทียนวรรณใช้คำทับศัพท์ว่า ปาลิเมนต์
ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ | ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ | |
แม้นนิ่งช้าล้าหลังยังมิทำ | จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย |
ขอให้เป็นเช่นเราผู้เฒ่าทก | บำรุงรักษาชาติสะอาดศรี | |
ทั้งเจ้านายฝ่ายพหลและมนตรี | จะเป็นศิวิไลซ์จริงอย่านิ่งนาน |
ให้รีบหาปาลิเมนต์ขึ้นเป็นหลัก | จะได้ชักน้อมใจไพร่สมาน | |
เร่งเป็นฟรีปรีดาอย่าช้ากล | รักษาบ้านเมืองเราช่วยเจ้านาย |
จะเห็นว่าข้อเสนอของเทียนวรรณ ก้าวหน้าไปกว่าคำกราบบังคมทูลของกลุ่มเจ้านาย และข้าราชการใน ร.ศ. 103 เพราะได้เรียกร้องให้มีรัฐสภาซึ่งมาจากราษฎร
การเรียกร้องให้มีการปกครองแบบรัฐสภา ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคีแก้ความในคาถาที่มีโนอามแผ่นดิน” ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะอธิบายแนวความคิดอันเป็นพื้นฐานของพระราโชบายของพระองค์เกี่ยวกับการปรับปรุงการปกครองบ้านเมือง ทั้งเป็นการชี้แจงด้วยว่าเหตุใดพระองค์จึงยังไม่ทรงจัดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทยให้เป็นไปตามแบบฉบับของประเทศในยุโรปโดยทันทีเช่น
ขึ้นในหมู่คนซึ่งไม่มีความรู้พอที่จะคิดราชการ และไม่เป็นความต้องการ
ของคนทั้งปวง นอกจากที่อยากจะเอาอย่างประเทศยุโรปเพียงสี่ห้าคน
เท่านั้น … ถ้าจะจัดตั้งปาลิเมนต์ หรือให้เกิดมีโปลิติกัลปาตีขึ้นใน
เวลาที่บ้านเมืองยังไม่ต้องการดังนี้ ก็จะมีแต่ข้อทุ่มเถียงกันจนการอันใด
ไม่สำเร็จไปได้ เป็นเครื่องถ่วงให้บ้านเมืองมีความเจริญช้า… ส่วน
เมืองเราราษฎรไม่มีความปรารถนาอยากจะเปลี่ยนแปลงอันใด …
การที่อยากเปลี่ยนแปลงนั้นกลับเป็นของผู้ปกครองบ้านเมืองอยาก
เปลี่ยนแปลง… ถ้าจะตั้งปาลิเมนต์ขึ้นในเมืองไทย เอาความคิดราษฎร
เป็นประมาณในเวลานี้แล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะไม่ได้จัดการอันใดได้
สักสิ่งหนึ่งเป็นแน่แท้ที่เดียว คงจะเถียงกันป่นปี้ไปเท่านั้นจากพระบรมราชธิบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของพระองค์ว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะมีการปกครองตามระบอบรัฐสภา พระองค์จึงไม่ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองให้มีรัฐสภาและมีรัฐธรรมนูญ แต่พระองค์ก็ทรงยอมรับว่า การปกครองของประเทศจะต้องเปลี่ยนไปในทางที่จะมีรัฐสภาและรัฐธรรมนูญในภายหน้า ถึงกับมีพระราชดำรัสในที่ประชุมเสนาบดีว่า "ฉันจะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญให้แก่พลเมืองไทยทันทีที่ขึ้นสู่ราชบัลลังก์กล่าวคือ ฉันจะให้เขามีปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น"
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พ.ศ. 2453 นั้นกลุ่มปัญญาชนต่างก็มุ่งหวังว่า พระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษซึ่งมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และคงได้ทรงเตรียมพระองค์ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสไว้ แต่ปรากฏว่ายังไม่มีพระราชดำริในเรื่องรัฐสภาและรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ในเวลาเดียวกันประเทศจีนมีการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์แมนจู เปลี่ยนการปกครองประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐเป็นผลสำเร็จ ทำให้ความคิดอยากจะได้ประชาธิปไตยมีมากขึ้น ประกอบกับความไม่พอใจในพระราชจริยาวัตรบางประการของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาที่จะล้มล้างระบอบการปกครอง
ดังนั้น เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คือ พวกนายทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน รวมประมาณ 100 คน เรียกตัวเองว่า คณะ ร.ศ. 130 ได้วางแผนการปฏิวัติการปกครองหวังให้พระมหากษัตริย์พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทยคณะ ร.ศ. 130 นั้น ถ้าจะพิจารณารายชื่อกันแล้วส่วนใหญ่เป็นนายทหารบก อายุน้อย เพิ่งสำเร็จการศึกษาใน ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2451) หัวหน้าคณะได้แก่ นายร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์)อายุ 28 ปี อายุคนอื่น ๆ เช่น นายร้อยตรีเหรียญ ศรีจันทร์ เพียง 18 ปี นายร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ อายุ 19 ปี เป็นต้น คณะ ร.ศ. 130 ได้กำหนดวันปฏิวัติเป็นวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2455 อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยสมัยนั้น ซึ่งจะมีพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่คณะก่อการคณะนี้ได้ถูกจับกุมเสียก่อนเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 เพราะผู้ร่วมงานคนหนึ่งคือนายร้อยเอก หลวงสินาคโยธารักษ์ นำความลับไปทูลหม่อมเจ้า พันธุประวัติผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งก็ได้กราบทูลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถให้ทรงทราบและดำเนินการจับกุมด้วยพระองค์เอง คณะ ร.ศ. 130 ถูกศาลทหารพิพากษาให้ประหารชีวิต 3 คน จำคุกตลอดชีพ 20 คน และจำคุกนานลดหลั่นกันตามความผิด โทษที่น้อยคือจำคุกมีกำหนด 12 ปี ในข้อหาว่าจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองของพระราชอาณาจักรและทำการกบฏประทุษร้ายพระเจ้าแผ่นดิน แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ความผิดของพวกเขาเหล่านี้มี "ข้อสำคัญที่จะกระทำร้ายต่อตัวเรา เราไม่ได้มีจิตพยาบาทอาฆาตมาดร้ายต่อพวกนี้ เห็นควรที่จะลดหย่อนผ่อนโทษโดยฐานกรุณา ซึ่งเป็นอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินจะยกให้ได้" ดังนั้น ผู้ที่มีชื่อถูกประหารชีวิต 3 คน จึงได้รับการลดโทษลงมาเป็นจำคุกตลอดชีวิต และผู้ที่มี่ชื่อถูกจำคุกตลอดชีวิต 20 คนให้ลดโทษลงมาเหลือจำคุก 20 ปี อีก 68 คนซึ่งมีโทษจำคุกต่าง ๆ กันนั้น ให้รอการลงอาญาไว้ (ใน พ.ศ. 2467 นักโทษการเมืองทั้ง 23 คนได้ถูกปล่อยตัวหมด)
สาเหตุของการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นเพียงขบวนเล็กน้อย คือในปลาย พ.ศ. 2452 ได้มีการโบยหลังนายทหารสัญญาบัตรกลางสนามหญ้า ภายในกระทรวงกลาโหมท่ามกลางวงล้อมของนายทหารกองทัพบก ด้วยการบัญชาการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทั้งนี้เพราะนายร้อยเอกโสม ได้ตามไปตีมหาดเล็กของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ที่มาทะเลาะวิวาทกับทหารบกที่หน้ากรมทหาร การโบยหลังนายร้อยเอกโสม ทำให้เกิดปฏิกิริยาเกิดขึ้นในหมู่ทหารบก และโดยเฉพาะนักเรียนนายร้อยทหารบก ครั้นต่อมา ใน พ.ศ. 2453 – 2454 นายทหารรุ่นที่จบจากโรงเรียนนายทหารบกในปลาย ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) ได้เข้ารับราชการประจำกรมกองต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักรแล้ว มีหลายคนที่เกิดความรู้สึกสะเทือนใจอย่างแรงกล้าจากการตั้ง "กองเสือป่า" คิดว่าพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงสนับสนุนกิจการทหารบก และคิดต่อไปว่าการที่ประเทศไทยไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควรเพราะเป็นการปกครองด้วยคนคนเดียว นายทหารบกกลุ่มนี้คิดเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มการปฏิรูปประเทศพร้อม ๆ กัน แต่เหตุใดประเทศญี่ปุ่นจึงเจริญเกินหน้าประเทศไทยไปไกล คำตอบที่นายทหารบกกลุ่ม ร.ศ. 130 คิดได้คือประเทศญี่ปุ่นได้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยใต้กฎหมาย ทั้งยังปลูกฝังให้พลเมืองรู้จักรักชาติ รักวัฒนธรรม รัฐบาลรู้จักประหยัดการใช้จ่ายในไม่ช้าก็มีการค้าไปทั่วโลก มีผลิตผลจากโรงงานอุตสาหกรรมของตนเอง มีการคมนาคมทั้งทางน้ำและทางบกภายในประเทศและนอกประเทศ และแผ่อิทธิพลทางการเมือง การทหาร การสังคมและวัฒนธรรมไปทั่วโลกได้อีกด้วย แต่ประเทศไทยไม่สามารถจะหยิบยกภาวะอันใดที่เป็นความเจริญก้าวหน้ามาเทียบเคียงกับประเทศญี่ปุ่นได้เลย เมื่อคำนึงถึงความล้าหลังของประเทศ และคิดว่าไม่ควรที่อำนาจการปกครองประเทศชาติจะอยู่ในมือของคนคนเดียว จึงทำให้นายทหารบกคิดปฏิวัติ
แผนการปฏิวัตินั้น จะขอเพียงว่าให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเล้าเจ้าอยุ่หัวทรงยอมยกตำแหน่งมาอยู่ใต้กฎหมายสูงสุดคือ รัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น และได้วางแผนกันต่อมา ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงยินยอม ก็จะทูลเชิญเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกแห่งสาธารณรัฐไทย บรรดานายทหารบกคิดจะทูลเชิญสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงเป็นประธานาธิบดี พวกทหารเรือก็คิดว่าควรจะเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นต้น การดำเนินงานตามแผนเน้นจะใช้เวลาถึง 10 ปีเพื่อจะได้มีเวลาสอนทหารเกณฑ์ทุกรุ่นในช่วงเวลานั้น รอให้ทหารเกณฑ์ได้แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพตามภูมิลำเนาทั่วประเทศ และได้อบรมสั่งสอนลูกหลานในทำนองเดียวกัน อีกประการหนึ่งก็เพื่อให้ผู้คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีวัยวุฒิ และคุณวุฒิเพิ่มขึ้น คือมีอายุ และตำแหน่งในหน้าที่การงานสูงขึ้น ความสามารถและความสุจริตจะได้เป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติให้มหาชนเชื่อถือได้
อุดมการณ์ของคณะ ร.ศ. 130 เป็นอุดมการณ์ของคนหนุ่มซึ่งส่วนมากเพิ่งสำเร็จการศึกษามีความห่วงใยในอนาคตของประเทศชาติ แต่ก็นับว่าเป็นผลผลิตของการศึกษาแผนใหม่แบบตะวันตกซึ่งเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกนักเรียนนายร้อยทหารบกได้รับการสั่งสอนเรื่องระบอบการปกครองและลัทธิ จากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถและพระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และได้วิพากษ์วิจารณ์กันในห้องเรียนถึงลัทธิที่ดีและไม่ดี ถึงแม้ว่าคณะ ร.ศ. 130 จะประสบความล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ตามแต่ก็นับได้ว่าเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนในการริเริ่ม และวางรากฐานความคิดที่จะมีการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งต่อมาการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ได้กระทำสำเร็จก็เป็นคณะปฏิวัติที่มาจากทหารบกอีกเช่นกัน จึงเห็นได้ว่าเป็นอิทธิพลทางความคิดที่ต่อเนื่องกัน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความต้องการของกลุ่มปัญญาชนทั้งข้าราชการและประชาชนที่ต้องการปกครองในแนวประชาธิปไตย พระราชดำริของพระองค์เกี่ยวกับประชาธิปไตยได้ปรากฏในจดหมายเหตุรายวัน[1] ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีข้อดีในการที่อำนาจการปกครองประเทศไม่ตกอยู่กับบุคคลคนเดียว แต่ถ้าจะนำมาใช้ก็มีข้อจำกัด คือประชาชนไม่มีความรู้พอที่จะปกครองตนเองได้ ถ้าให้อำนาจในการตัดสินใจแทนผู้ปกครองแประเทศก็อาจจะเกิดผลร้ายต่อชาติ นอกจากนี้ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรก็ไม่แน่เสมอไปว่า จะได้คนดีมีความรู้ความสามารถ เนื่องจากประชาชนไม่มีเวลามากพอที่จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วน นอกจากนั้นพระองค์ยังมีพระราชวิจารณ์เกี่ยวกับระบบพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองใดทุนมากก็อาจจะล่อใจให้ประชาชนเลือกพรรคของตน อำนาจจึงตกเป็นของคนกลุ่มน้อย แทนที่จะอยู่ในมือของประชาชน และการที่พรรคการเมืองผลัดกันเข้ามาบริหารประเทศ ทำให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ไม่ติดต่อกัน การงานล่าช้า และชะงักงัน
สรุปว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นด้วยกับการปกครองระบบประชาธิปไตยที่จะมีมาในขณะนั้น ดังนั้นพระองค์จึงทรงสอดแทรกแนวพระราชดำริเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของประชาธิปไตยต่อสังคมไทยทุกโอกาส[1] เช่น พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่นักเรียนไทยในยุโรป เมื่อ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2468 ตอนหนึ่งว่า ก่อนที่จะรับลัทธิการปกครองใด ๆ ว่าเป็นสิ่งดีและน่านิยม ควรจะพิจารณาว่าลัทธิหรือวิธีการนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปหรือไม่ สภาพบ้านเมืองของยุโรปกับประเทศไทยไม่เหมือนกัน สิ่งที่เป็นคุณสำหรับยุโรปอาจเป็นโทษสำหรับประเทศไทยได้
สิ่งที่พระองค์ทรงทำได้ในขณะนั้นก็คือทรงใช้วิธีการปลูกฝังความรู้สึกชาตินิยมให้ประชาชนมีความสามัคคี รักชาติ และจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ ด้วยการพระราชนิพนธ์ต่าง ๆ เป็นบทความลงหนังสือพิมพ์ บทละครทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง และพระราชดำรัสในวโรกาสต่าง ๆ เน้นถึงความเหมาะสมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชต่อสภาพของเมืองไทย[1]
ใน พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดโครงการเมืองทดลองเรียกว่า ดุสิตธานี ซึ่งมีลักษณะเป็นเมืองตุ๊กตา มีบ้านเล็ก ๆ และถนนที่ย่อส่วน แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เลือกมหาดเล็กและข้าราชการเป็นเจ้าของบ้านสมมุติในดุสิตธานี ดุสิตธานีอยู่ในบริเวณสนามเนื้อที่สองไร่ครึ่งระหว่างพระที่นั่งอุดรและอ่างหยกในบริเวณพระราชวังดุสิต พระราชดำริที่จะให้ดุสิตธานีเป็นก้าวแรกของการเตรียมตัวเพื่อการปกครองตนเองของราษฎร ดังพระราชดำรัสในวันเปิดศาลารัฐบาลของดุสิตธานีว่า
ทั้งนั้น วิธีการที่ดำเนินไปนี้ เป็นการทดลองว่าจะเป็นประโยชน์
เพียงใด เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับธานีให้แน่ชัดเสียก่อน วิธีการ
ดำเนินการในธานีเล็ก ๆ ของเราเป็นเช่นไร ก็ตั้งใจว่าจะให้ประเทศ
สยามได้ทำเช่นเดียวกัน แต่จะให้เป็นการสำเร็จรวดเร็วทันใจดัง
ธานีเล็กนี้ก็ยังทำไปทีเดียวยังไม่ได้ โดยมีอุปสรรคบางอย่าง …พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกาศธรรมนูญลักษณะการปกครองคณะนครภิบาลของดุสิตธานี มีการดำเนินการในรูปแบบของการปกครอง มีวาระ 1 ปี ต่อมามีการตั้งตำแหน่งกรรมการในนคราภิบาลสภาขึ้นอีกเรียกว่า เชษฐบุรุษ คือผู้แทนทวยนาครในอำเภอ
การปกครองของดุสิตธานี ไม่ได้นำมาเกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศไทยในส่วนรวมเลย ดุสิตธานีจึงเป็นเพียงเมืองสมมุติเท่านั้น อย่างไรก็ดี พระยาราชนกุล (อวบ เปาโรหิต) ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตนำพระบรมราโชบายและวิธีการของดุสิตธานีไปทดลองตามจังหวัดต่าง ๆ กำหนดทดลองใช้ที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นแห่งแรก โดยใช้พระยาสุนทรพิพิธเป็นผู้ดำเนินการ แต่ปรากฏว่าเรื่องเงียบไปจนสิ้นรัชกาล
อีกประการหนึ่ง มีบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องรายงานการประชุมปาลิเมนต์สยาม เป็น "ปฏิกิริยา" ที่พระองค์ทรงมีต่อข้อเรียกร้องของเทียนวรรณที่จะให้ประเทศไทยมีรัฐสภาเหมือนกับชาติอื่น ๆ เทียนวรรณได้เขียนบทความโดยอ้างว่าได้ฝันไปหรือได้ฝันทั้ง ๆ ที่กำลังตื่นอยู่ ดังนั้นพระราชนิพนธ์รายงานการประชุมปาลิเมนต์สยามจึงเป็นบทความล้อเลียนเทียนวรรณคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระสุบินไปว่า ประเทศไทยมีรัฐสภาแล้ว มีสมาชิกรัฐสภา 2 ท่าน ชื่อ นายเกศร์ ซึ่งอาจเป็น ก.ศ.ร กุหลาบ และนายทวน คงจะเป็นเทียนวรรณเสนอความเห็นในรัฐสภา แล้วเป็นการพูดนอกประเด็น
ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังไม่ทรงเห็นด้วยในการที่ประเทศไทยจะมีการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2468 โดยไม่ได้ทรงคาดคิดมาก่อน เนื่องจากพระองค์เป็นพระราชอนุชาองค์เล็กที่สุด และมีพระเชษฐาหลายพระองค์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระองค์ แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและการใช้สอยพระราชทรัพย์ของรัชกาลก่อน ทำให้เงินท้องพระคลังร่อยหรอ เศรษฐกิจตกต่ำ บรรดาพระเชษฐาทั้งหลายเห็นตนเองไร้ความสามารถ จึงได้ถวามราชสมบัติแด่พระองค์ เมื่อต้องทรงรับหน้าที่เป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ก็ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะทรงทำนุบำรุงให้ราษฎรอยู่เป็นสุขโดยทั่วหน้า
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ใหม่ ๆ มีผู้ใช้นามว่านายภักดีกับนายไทย ถวายฎีกาขอให้พระราชทานรัฐธรรมนูญ และในขณะนั้นหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่งมีบทความเกี่ยวกับแง่คิดหรือปัญหาบ้านเมืองลงพิมพ์อยู่เนื่อง ๆ เสียงเรียกร้องเหล่านี้อาจเป็นแรงกระตุ้นให้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มแสวงหาการปกครองที่เหมาะสม
แนวพระราชดำริเรื่องประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเห็นได้อย่างเด่นชัดเมื่อ ดร. ฟรานซีส บีแซร์ หรือพระยากัลยาณไมตรี อดีตที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศของไทยมาเยือนประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชบันทึกปรึกษาพระยากัลยาณไมตรีว่า ประเทศไทยควรมีรัฐบาลในรูปแบบใด ประเทศไทยจะมีการปกครองในระบบรัฐสภาได้หรือไม่ในอนาคต ระบบรัฐสภาแบบอังกฤษจะเหมาะสมกับชาวตะวันออกหรือไม่ ส่วนพระองค์เองทรงมีความเห็นว่าในเวลานั้นประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะมีการปกครองแบบมีผู้แทน คำกราบบังคมทูลของพระยากัลยาณไมตรีเป็นไปในลักษณะสนับสนุนแนวพระราชดำริที่ว่า เมืองไทยยังไม่พร้อมที่จะมีรัฐสภามีมาจากประชาชนโดยตรง ระบบรัฐสภาที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมาจากการเลือกตั้งอย่างใช้สติปัญญาของผู้มีสิทธิเลือกผู้แทน มิฉะนั้นจะกลายเป็นเผด็จการทางรัฐสภา ฉะนั้นจึงควรรอให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาสูงขึ้นก่อน
สภากรรมการองคมนตรี เป็นพระราชกรณียกิจประการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระราชดำริที่จะต้องเตรียมการให้ประชาชนรู้เรื่องประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถ้าประชาชนใช้รัฐธรรมนูญไม่เป็น ก็จะเกิดปัญหายุ่งยาก พระราชดำรินี้อยู่ในพระราชบันทึก เรื่อง “Democracy in Siam” ว่า
ปกครองแบบรัฐสภาจะเป็นไปได้อย่างไรในสยาม เขาต้องพยายามให้
การศึกษาแก่ประชาชนให้มีความสำนึกทางการเมือง ถ้าเราจะต้อง
มีรัฐสภา เราต้องสอนประชาชนว่าจะออกเสียงอย่างไร และจะเลือก
ผู้แทนอย่างไร ที่จะมีจิตใจฝักใฝ่กับผลประโยชน์ของพวกเขาอย่างแท้จริงดังนั้น พระองค์จึงทรงปรับปรุงสภาองคมนตรี ซึ่งเป็นสภาที่ปรึกษาราชการในพระองค์ที่มีมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 277 คน ด้วยการออกพระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช 2470 ให้มีสภากรรมการองคมนตรี ทรงคัดเลือกผู้ที่มีคุณวุฒิและความสามารถพิเศษ จำนวน 40 คนจากองคมนตรีเข้าเป็นสมาชิกสภากรรมการองคมนตรีมีหน้าที่ประชุมปรึกษาข้อราชการตามแต่จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานลงมาให้ปรึกษา แต่พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีมากกว่านั้น พิจารณาได้จากกระแสพระราชดำรัสในการเปิดประชุมสภากรรมการองคมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 ตอนหนึ่งว่า
ตั้งขึ้น ต้องเป็นไปตามสภาพที่เหมาะแก่ประเทศเรา กล่าวคือ เรา
มีความประสงค์ที่จะทดลองและปลูกฝังการศึกษาในวิธีการศึกษาโต้เถียง
ให้สำเร็จเป็นมติตามแบบอย่างที่ประชุมใหญ่ ถ้าหากถึงเวลาอันควร
ที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองประเทศต่อไป ก็จะได้ทำได้โดยสะดวก
การที่เราได้เลือกท่านเป็นกรรมการองคมนตรีนั้น ควรเห็นว่าเป็น
หน้าที่สำคัญอย่างยิ่ง และท่านทั้งหลายพึงเข้าใจว่า เรามิได้เลือกท่าน
มาเป็นผู้แทนชนคณะใดหรือเหล่าใดโดยเฉพาะ ท่านทั้งหลายจงออก
ความเห็นโดยระลึกถึงประโยชน์ส่วนรวมส่วนใหญ่ของแผ่นดิน และ
ประชาชนชาวสยามโดยทั่วไปเป็นสำคัญ เราเชื่อว่าท่านคงจะดำเนิน
การประชุมให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง แม้มีสิ่งไรที่ท่านเห็นว่าจะ
ยังความผาสุกให้บังเกิดขึ้นแก่ประชาชน ก็ให้ท่านถวายความเห็นได้
ทุกเมื่อ เรายินดีที่จะฟังเสมอจะเห็นได้ว่า การจัดตั้งสภากรรมการองคมนตรี ตลอดจนวิธีการประชุมมีลักษณะคล้าย สภาผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่จะไม่ได้รับการเลือกตั้งจากราษฎรโดยตรง ในทางปฏิบัติ สภากรรมการองคมนตรีประสบความล้มเหลวที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมืองตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้ ผลงานของสภามีเพียงพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามพระบรมราชโองการเท่านั้น และเวลาในการที่จะประชุมถกเถียงกันก็มีน้อย สมาชิกขาดประชุมและไม่กระตือรือร้นในการปฏิบัติงานเท่าที่ควร
ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงแสวงหาแนวทางอยู่นั้น การแสดงความคิดเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์เรื่องประชาธิปไตยมีมากขึ้น เช่นใน บางกอกการเมือง ผู้ใช้นามว่า พระจันทร เขียนว่าไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังคงใช้การปกครองในระบอบพระราชาอยู่เหนือกฎหมาย ราษฎรไม่มีเสียงเลยในการปกครองซึ่งทำให้คนมีเงินได้เปรียบคนจน แล้วยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาว่ามีการปกครองแบบรีปับลิค ซึ่งเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วจนเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง
ส่วนหนังสือพิมพ์ สยามรีวิว ได้ลงพิมพ์บทความเรื่อง “ราษฎรตื่นแล้ว” โดยเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องใช้ความรุนแรง และยกตัวอย่างกรณีพระเจ้าชาร์นิโคลาสแห่งรัสเซียถูกปลงพระชนม์ รัฐบาลสมัยนั้นได้ทำการสอบสวนหนังสือพิมพ์ สยามรีวิว และก็สั่งปิดหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น
หนังสือพิมพ์ราษฎร ลงบทความเห็นว่าจ้าวเป็นลูกถ่วงความเจริญ ยกตัวอย่างการปฏิวัติจีนที่ซุนยัดเซ็นล้มจักรพรรดิจีน (การปฏิวัติซินไฮ่) และสถาปนาระบบสาธารณรัฐขึ้นแทน เสนอแนวคิดว่า การที่จะสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่าเก่าได้นั้นจะต้องทำลายสังคมเดิมลงไปก่อน ถ้าจะให้สังคมเสมอภาคก็ต้องทำเหมือนเครื่องบดยา ก่อนถูกบดให้ละเอียดนั้นเครื่องยาย่อมมีขนาดไม่เสมอกัน เมื่อบดละเอียดแล้วจึงมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน หรือประเทศใดที่เกิดศึกสงครามมาก ประเทศนั้นย่อมเจริญมาก ไฟไหม้ที่ใดที่นั้นจะสวยงามขึ้น เป็นต้น
ความกดดันจากหนังสือพิมพ์ ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะให้เตรียมตัวประชาชนทั่วไปให้มีความรู้พอสมควรที่จะมีระบอบรัฐสภาได้อย่างมีประสิทธิภาพ พระราชดำริของพระองค์ คือให้มี “Municipal Council”(สภาเทศบาล) “Local Government” (การปกครองท้องถิ่น) เป็นการสอนให้ประชาชนรู้จักการปกครองตนเองตั้งแต่ระดับท้องถิ่น นับเป็นการเตรียมการในการปูพื้นฐานประชาธิปไตยระดับฐานราก เรื่องนี้ได้มีกรรมการร่างพระราชบัญญัติเทศบาลเสร็จในปี พ.ศ. 2473 แต่ก็มิได้มีผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด
ต่อมาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือเตรียมการจะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทย จึงทรงมอบหมายให้กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้ศึกษาระบบการปกครองแบบมีผู้แทนที่ประเทศเนเธอร์แลนด์จัดในชวาในคราวที่กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัยตามเสด็จประพาสชวาใน พ.ศ. 2472 ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2474 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาพระเนตร นักข่าวของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ชื่อ นายแฮโรลด์ เคนนี ได้รับพระราชทานโอกาสให้สัมภาษณ์ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2474 มีข้อความว่า พระองค์จะทรงจัดให้มีการปกครองระดับท้องถิ่นก่อนเพื่อเป็นการให้การศึกษาและฝึกการปกครองในระบบผู้แทนในระดับรากฐาน
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จนิวัติกลับสู่พระนครแล้ว ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2474 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) ปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างประเทศ ผู้สำเร็จเนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษ และนายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ผู้สำเร็จวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยเป็นผู้แทนราษฎรรัฐนิวแฮมเชียร์ สังกัดพรรคดีโมแครต รองประธานการเดินเรือแห่งสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้แทนอเมริกันในสภาการขนส่งทางทะเลของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้ง 2 ท่านนี้เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
พระยาศรีวิศาลวาจา และนายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2474 ร่างเป็นภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า “An Outline of Changes in the Form of Government” ได้กำหนดรูปแบบการปกครองสัมพันธ์ระหว่างอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ โดยมีเนื้อหาว่า พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงอยู่ในที่ประชุมเสนาบดีอีก และในการบริหารราชการแผ่นดิน จะมีบุคคลหนึ่งเป็นประธานของเสนาบดี ที่มีที่มาจากพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง เป็นผู้ลงนามสนองรับพระบรมราชโองการ ซึ่งเท่ากับว่าพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงอยู่ในฐานะรับผิดชอบทางการเมือง และจะอยู่ในสถานะเหนือการเมือง ตลอดจนมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ด้วย แต่มิได้มีกล่าวถึงรัฐธรรมนูญ หรือรัฐสภา[2]
การเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น แรกทีเดียวมีพระราชดำริว่า จะพระราชทานในวาระที่มีงานพระราชพิธีฉลองกรุงเทพมหานคร ครบรอบ 150 ปีในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงส่งเอกสารร่างรัฐธรรมนูญไปให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อนำเข้าประชุมอภิรัฐมนตรีสภา พร้อมบันทึกความเห็นของนายสตีเวนส์และพระยาศรีวิศาลวาจา ซึ่งมีความเห็นว่ายังไม่ควรใช้ระบอบการปกครองโดยรัฐสภาในตอนนั้นเนื่องจากประชาชนยังไม่พร้อม โดยเฉพาะสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นั้นทรงเห็นคัดค้านอย่างเต็มที่ โดยทรงเขียนโต้แย้งเป็นภาษาอังกฤษกราบทูลกลับไปยังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยว่า หากพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงแต่งตั้งประธานเสนาบดีแล้ว เมื่อถึงเวลาที่จะปลด ผู้ใดจะปลด หากอำนาจที่จะปลดยังคงอยู่ที่พระมหากษัตริย์ ก็เท่ากับว่าอำนาจสูงสุดก็ยังคงอยู่ที่พระมหากษัตริย์เหมือนเดิม[2]
ไม่ปรากฏเอกสารรายงานการประชุมอภิรัฐมนตรีครั้งนั้น แต่หลักฐานของอุปทูตอังกฤษกล่าวว่า อภิรัฐมนตรีสภาไม่เห็นด้วยทีจะให้มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริไว้ ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญที่ได้เตรียมการไว้ ก็ยังไม่ถึงประชาชนในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 และในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรก็ก่อการปฏิวัติ[2]
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกาศแก่ประชาชนทั้งปวงให้ทราบทั่วกัน ด้วยได้ทรงรับฎีการาษฎรทูลเกล้าฯถวายมาแต่ที่ต่างๆหลายฉบับกราบบังคมทูลร้องทุกข์ถึงความอัตคัตฝืดเคืองซึ่งเกิดขึ้นแต่ปีหลังมาจนบัดนี้ เป็นเหตุให้ขัดสนทรัพย์ ทำมาหากินได้ไม่พอเลี้ยงชีพและเสียภาษีอากรได้สะดวกเหมือนดังแต่ก่อน พากันขอให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ…จึงมีพระราชประสงค์ใคร่จะให้ทราบตามความเป็นจริงทั่วกันว่า บุคคลที่รับความลำบากในเวลานี้ไม่เฉพาะแต่ราษฎรที่ถวายฎีกาเท่านั้น ถึงที่เป็นคฤหบดีแลพ่อค้าตลอดจนข้าราชการและเจ้านายก็ได้รับความลำบากด้วยกันทั้งนั้น เพราะมูลเหตุแห่งความอัตคัตฝืดเคืองครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นในพระราชอาณาเขตต์ อันพึงจะป้องกันได้ด้วยพระบรมเดชานุภาพ… (ประกาศเรื่อง ความอัตคัตฝืดเคือง วันที่ 2 มิถุนายน 2475)
เนื่องด้วยการศึกษากระบวนการปฏิวัติสยามในที่นี้มุ่งเน้นภาพของการเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยส่วนรวม การอธิบายการเคลื่อนไหวของราษฎรระดับล่างสุดจึงเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาอันจำเป็นและไม่อาจละเลยได้ แต่เนื่องจากราษฎรส่วนใหญ่ซึ่งมีจำนวนประมาณ 11 ล้านคนในปี พ.ศ. 2472 และจำนวนประมาณ 14 ล้านคนในปี พ.ศ. 2480 เป็นกลุ่มที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นโดยตัวของเขาเอง (ในสังคมอื่นๆก็คงเป็นเช่นเดียวกันนี้) ในที่นี้เราจึงต้องทำการศึกษาผ่านกลุ่มผู้นำราษฎร ซึ่งเป็นราษฎรส่วนน้อยที่มีความแข็งขันกระตือรือร้น เป็น “ปัญญาชน” ของราษฎรหรือเป็นปัญญาชนของชาวบ้าน กล่าวคือ พวกเขารู้สึกว่าตนเองก็มีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงจากระดับรัฐและจากทางระบบสังคมเศรษฐกิจได้เข้าไปมีผลกระทบต่อพวกเขา พวกเขาจึงมีปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น และได้แสดงปฏิกิริยาออกมาในรูปแบบต่างๆ และรูปแบบสำคัญรูปแบบหนึ่งซึ่งสามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจนคือ การถวายฎีกาต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งในระยะต่อมาภายหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ได้มีรูปแบบการทำหนังสือร้องทุกข์ส่งตรงถึงผู้นำของชาติเพิ่มเติมขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง
กลุ่มผู้นำราษฎรหรือปัญญาชนของชาวบ้านนี้ น่าตั้งข้อสังเกตว่ามักมีบทบาทอย่างเข้มแข็งอยู่ในช่วงที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเป็นที่น่าเชื่อว่ามีรูปแบบของการแสดงออกที่แตกต่างไปตามท้องที่ และสำหรับในเขตภาคกลางของสยามใหม่นั้น การเคลื่อนไหวในรูปแบบของขบวนการผู้มีบุญนั้นไม่ได้ปรากฏว่าเป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวหลักของชาวนา ซึ่งอาจเป็นเพราะอำนาจรัฐส่วนกลางมีความเข้มแข็งสามารถควบคุมและแยกสลายคำสั่งสอนทางศาสนาและอื่นๆซึ่งเป็นเงื่อนไขรองรับการเคลื่อนไหวในรูปแบบอุดมการพระศรีอาริย์หรือผู้มีบุญไปได้ อย่างไรก็ดี การไม่มีการเคลื่อนไหวในรูปแบบผู้มีบุญในภาคกลางย่อมไม่ได้หมายความว่าในเขตท้องที่นี้ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆจากระดับราษฎรขึ้นมา อันนี้เป็นความผิดพลาดของผู้ศึกษาเองมากกว่าและหลักฐานสำคัญส่วนหนึ่งซึ่งสามารถใช้ศึกษาและสามารถอธิบายการเคลื่อนไหวของราษฎรได้คือ การถวายฎีกา
การศึกษาการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้นำราษฎรผ่านเอกสารหนังสือฎีกา พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญเกิดขึ้นในปลายทศวรรษ 2460 กล่าวคือ มีการถวายฎีกาเข้ามีเป็นจำนวนมากอย่างหนึ่งตกประมาณปีละ 600 ถึง 1,000 ฉบับต่อปี และมีฎีกาที่เจ้าหน้าที่เองก็ประสบความยากลำบากว่าจะจัดเป็นฎีกาประเภทใดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ตามพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้าฯถวายฎีกา พ.ศ. 2457 ดังได้กล่าวมาแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับฎีกาเพียง 4 ประเภทใหญ่ๆเท่านั้น แต่ก็เป็นไปได้อย่างมากว่าคงมีฎีกาที่ไม่เข้าประเภทใดส่งถวายเข้ามาและเจ้าหน้าที่ได้เก็บเรื่องไว้โดยไม่ทูลเกล้าฯถวาย แต่ในสมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริต่างจากพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน ดังนั้นจึงมีการรับเรื่องฎีกาแปลกๆไว้มาก และฎีกาพวกนี้ผู้ถวายมักไม่ได้ระบุเรื่องที่ขอพระมหากรุณามาให้ชัดเจ้าหน้าที่จึงจัดเป็นเรื่อง “ขอพระมหากรุณาอย่างอื่น” แต่ไม่ใช้ขอพระราชทานเงินแทน และในฎีกาหมวดนี้เอง ซึ่งในปี พ.ศ. 2472 มีประมาณ 100 ฉบับ ก็ปรากฏว่ามีฎีกาซึ่งสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกว่าเป็น “ฎีกาแสดงความคิดเห็น” เกิดมีและได้ส่งถวายกันเข้ามามากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบต่อพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์และพระทัยของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่อยู่พอสมควร
เพราะเหตุใดจำนวนฎีกาจึงมีเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัวในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมาจนสมัยรัชกาลที่ 6 และสมัยรัชกาลที่ 7 เรื่องนี้คงพออธิบายได้หากเราพิจารณาแบบแผนของการเปลี่ยนแปลงในเขตชนบทของสยามเป็นเบื้องต้น การศึกษาทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจหลายชิ้นกล่าวว่า ราษฎรชาวนาได้ขยายเนื้อที่การเพาะปลูกออกไปอย่างมากโดยใช้แรงงานเป็นหลักและใช้การเพาะปปลูกแบบดั้งเดิม พวกเขามีโอกาสชื่นชมการเพิ่มของผลผลิตและข้าวซึ่งมีราคาดีอยู่เพียง 3 ทศวรรษเศษภายหลังการเปิดประเทศเท่านั้น แต่ภายหลังจากนั้นราษฎรชาวนาต้องพบกับความยากลำบากอันเนื้องมาจากภัยธรรมชาติซึ่งมาเยี่ยมเยือนเป็นระยะๆ อีกทั้งผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มลดลง ราคาข้าวมีความผันผวนไม่แน่นอนไปตามราคาข้าวในตลาดโลก รวมทั้งการเพิ่มและการเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษีค่านาของรัฐในทศวรรษ 2450 ก็มีส่วนกระทบต่อราษฎรชาวนาด้วยเป็นอย่างมาก ในในสถานการณ์ซึ่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามเองไม่มีนโยบายพัฒนาระบบเกษตรกรรม แม้ว่ามีการโต้เถียงกันมากในหน้าเอกสาร (ดู ฉัตรทิพย์ 2524[4]; Johnston 1975[5]) ราษฎรชาวนาจึงอยู่ในสถานะที่ต้องช่วยเหลือตนเองในรูปแบบเดิมๆ คือ การประหยัดอดทนหนึ่ง การแสวงหางานอื่นๆทำทดแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหัตถกรรมนั้นมีแนวโน้มว่ากำลังกลับมาฟื้นตัวในทศวรรษ 2460 อีกอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ก็มีวิธีอื่นๆซึ่งปรากฏว่าราษฎรชาวนานิยมกระทำคือการนำลูกหลานไปขายฝากเป็นแรงงานรับใช้ตามบ้านเพื่อขอกู้ยืมเงิน อีกทั้งการปล้นและลักขโมยในเขตชนบทก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นด้วย และยังมีอีกวิธีการหนึ่งซึ่งเข้าใจว่าเป็นวิธีการสุดท้ายเมื่อความทุกข์ยากนั้นสะสมเพิ่มขึ้นและมิอาจปลดเปลื้องไปได้ นั้นคือการถวายฎีกาทำโดยการเขียนโดยตนเอง(เป็นส่วนน้อย) และขอให้ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำราษฎร กับพวกหัวหมอ ทนายความช่วยเขียนแทน
ชาวนาจากเขตทุ่งคลองรังสิตเป็นราษฎรกลุ่มสำคัญที่ช่วยกันทำให้จำนวนฎีกาเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ทศวรรษ 2450 เป็นต้นมา หนังสือถวายฎีกาเพื่อขอลดหย่อนอากรค่านานับมีจำนวนสูงสุด และในหนังสือฎีกานั้นพวกเขาเริ่มเรียกพวกเจ้าที่ดินว่าเป็นผู้ที่ “ทำนาบนหลังคน” กันโดยทั่วไป (Johnston 1975, ch.7) และฎีกาได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นในท้องที่ที่มีการเร่งรัดจัดเก็บอากรค่านา อาทิเช่นในเขตเมืองธัญญบุรี มณฑลกรุงเทพฯ กับมณฑลราชบุรีในปี พ.ศ. 2453 มีหนังสือฎีกาถวายกันเข้ามาเป็นจำนวนมาก ถัดมาคือหนังสือถวายฎีกาจากเขตมณฑลนครไชยศรีและเขตมณฑลกรุงเก่าซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นในไป พ.ศ. 2458 เป็นต้น (นิติ 2525)[6]
อาจกล่าวได้ว่า นโยบายของรัฐบาลต่อการจัดเก็บอากรค่านาอย่างหนึ่ง และการเรียกเก็บเงินรัชชูปการอีกอย่างหนึ่ง ต้องนับรวมกันเป็นปัจจัยจากเบื้องบนซึ่งกระทบต่อการเพิ่มขึ้นทั้งของจำนวนและประเภทของฎีกาซึ่งพวกราษฎรชาวนาได้ถวายกันเข้ามา กล่าวคือ ตามพระราชบัญญัติลักษณะเก็บเงินค่านา ร.ศ.119 และ พระราชบัญญัติเก็บเงินค่าราชการ ร.ศ. 120 และพระราชบัญญัติลักษณะเก็บเงินรัชชูปการ พ.ศ. 2462 มีบทบัญญัติระบุโทษผู้ที่ไม่เสียเงินค่านาและเงินรัชชูปการไว้อย่างรุนแรง กล่าวคือ เจ้าพนักงานของรัฐมีอำนาจกระทำการต่อผู้ที่ค้างเงินอากรค่านาและเงินรัชชูปการได้อย่างใดอย่างหนึ่งในสามประการด้วยกัน คือ หนึ่ง ห้ามไม่ให้ทำนาในที่ที่ค้างอากรค่านา สอง คือมีอำนาจยึดทรัพย์สมบัติและนำมาขายทอดตลาด เพื่อเอาเงินนั้นมาจ่ายภาษีอากรที่ค้างอยู่ และสาม คือให้นายอำเภอเอาตัวผู้ค้างเงินอากรค่านาและเงินรัชชูปการไปทำงานโยธา และให้คิดค่าแรงงานแทนจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีอากร
ดังนั้นรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงผ่อนผันการเร่งรัดการจัดเก็บอากรค่านาและเงินรัชชูปการให้แก่ราษฎรชาวนาได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น [ยกเว้นแต่จะทำการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดเก็บภาษีใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาสำคัญในทางหลักแนวคิดและแนวนโยบายแห่งรัฐ (ดู นราธิปพงศ์ประพันธ์ 2514 ข, 405-412)[7]] เนื่องด้วยรัฐบาลไม่มีระบบธนาคารเพื่อการเกษตรหรือระบบการให้กู้ยืมเงิน ดังนั้นภายในไม่ช้าหรือเร็วก็จำเป็นต้องมีการปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ และรัฐบาลได้เร่งรัดการจัดเก็บอากรค่านาและเงินรัชชูปการที่ค้างชำระและขึ้นบัญชีไว้ ซึ่งในบางพื้นที่ได้เร่งรัดการจัดเก็บในปลายทศวรรษ 2450 อย่างเช่นเขตบางเขน เป็นต้น ปรากฏหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำตามกฎหมายคือยึดทรัพย์ราษฎรแล้วนำทรัพย์นั้นมาขายทอดตลาดเพื่อจ่ายเป็นค่าภาษีอากรที่ราษฎรค้างไว้ (นิติ 2525, 154-158) แต่โดยทั่วไปแล้วในทศวรรษ 2460 ได้มีการเร่งรัดการจัดเก็บภาษีอากรและเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายกันในเกือบทุกท้องที่ ต่อเนื่องมาจนถึงทศวรรษ 2470 ซึ่งหนังสือพิมพ์บางฉบับในสมัยนั้นเรียกว่าการกระทำของ “ลัทธิบีบหัวใจราษฎร”
การขายทอดตลาดทรัพย์สมบัติของราษฎรผู้ยากจนข้นแค้น ไม่มีเงินเสียให้แก่หลวงในบางตำบลได้กระทำอย่างน่าเอน็จอานาถที่สุด และนอกจากจะน่าสงสารราษฎรเจ้าทรัพย์ ซึ่งมานั่งดูเขาขายทอดตลาดทรัพย์สมบัติของตน มีเรือกสวนไร่นา และโค ควายตาปะหลกๆ จะสอื้นก็ไม่ใช่ จะร้องให้ก็ไม่เชิงแล้ว ยังน่าชมเชยความสามารถในการกระทำของเจ้าน่าที่บางท่านในบางตำบล คือท่านไม่ประกาศให้ใครรู้… ลัทธิบีบหัวใจราษฎรชนิดนี้ยังมีที่แปลกๆอีกมากมาย… (“ลัทธิบีบหัวใจราษฎรยังมีอยู่”, หลักเมือง, 28 มิถุนายน 2472 )
การเร่งรัดการจัดเก็บเงินรัชชูปการของรัฐบาล เราอาจพิจารณาได้จากจำนวนรายได้ของรัฐบาลในหมวดดังกล่าว เริ่มจากปี พ.ศ. 2448 ซึ่งรัฐบาลเก็บเงินรัชชูปการได้ปีละ 4 ล้านกว่าบาทและค่อยๆเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละประมาณ 1 ล้านบาท เป็นการเพิ่มอย่างช้าๆ จนถึงในปี พ.ศ. 2462 เก็บได้สูงสุดถึง 9 ล้านบาท แต่ก็ได้มีการผ่อนผันลดลงเหลือ 8 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2463 และลดลงเหลือปีละ 7 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2467 และปี พ.ศ. 2468 ก็ยังคงมียอดรวมเท่ากับปีก่อนคือ 7 ล้านบาทเศษ แต่หลังปี พ.ศ. 2469 เป็นต้นไป เป็นที่น่าสังเกตว่าทางรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้มีนโยบายเร่งรัดการจัดเก็บเงินรัชชูปการและภาษีทางตรงอื่นๆ (รวมทั้งอากรค่านาดังได้กล่าวมาแล้ว) ดังนั้น ยอดรวมของเงินรัชชูปการในปี พ.ศ. 2469 จึงเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านบาทเศษ คือเพื่มขึ้นจากยอดรวมของปีก่อนถึง 3 ล้านบาท (ดู SYB, 20: 278)[8] และในปีต่อมาคือในปี พ.ศ. 2470 รัฐบาลก็พยายามรักษายอดรวมนี้ไว้ คือเก็บเงินรัชชูปการได้รวม 10 ล้านบาทเศษเช่นเดิม จำนวนรวมของรายได้ของรัฐบาลหมวดนี้ลดลงเพียงเล็กน้อยในระหว่างปี พ.ศ. 2471 ถึงปี พ.ศ. 2475 คือรัฐบาลได้เร่งรัดการจัดเก็บเงินรัชชูปการไว้ให้ได้ยอดรวมถึงปีละ 9 ล้านบาทเศษโดยเฉลี่ย คือไม่ต่ำไปกว่าปีละ 9 ล้านบาทเศษเลย นี่เป็นสภาพความเป็นจริงที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรและกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้นำราษฎรเป็นอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญในอีกทางหนึ่งซึ่งทำให้การถวายฎีกามีจำนวนเพิ่มขึ้นมากนับตั้งแต่ทศวรรษ 2450 เป็นต้นมาและทำให้เกิดมีฎีกาแปลกๆ ซึ่งเรียกว่า “ฎีกาแสดงความคิดเห็น” เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 2460 และต่อเนื่องมาจนถึงหลังปี พ.ศ. 2475
ลักษณะของ “ฎีกาแสดงความคิดเห็น” ซึ่งต่อมาในระยะหลังปี พ.ศ. 2475 คือ “หนังสือร้องเรียนแสดงความคิดเห็น” มีรูปแบบท่วงทำนองทั่วๆไป ดังตัวอย่างฎีกาของนายชื้น อัมโภช ลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2474 เรื่อง “ถวายความเห็น”ว่าการทำนาที่ไม่ได้ผลเป็นเพราะมีปัญหาเรื่องน้ำ รัฐบาลควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่บำรุงทางน้ำ ทำการเรียไรเก็บเงินจากราษฎรในท้องถิ่นปีละครั้ง โดยจัดตั้งเป็นโครงการ “ราษฎร์สาธารณกุศล” และรัฐบาลควรเก็บเงินรัชชูปการจากพวกที่รับราชการทหารครบ 2 ปี ในจำนวนกึ่งอัตราเพื่อช่วยเหลือบ้านเมือง และช่วยลดภาระการเสียเงินรัชชูปการของราษฎรทั่วไปลง
โดยรูปแบบการเคลื่อนไหวของผู้นำราษฎรในลักษณะ “ถวายฎีกาแสดงความคิดเห็น” ดังกล่าว ก็จะพบได้ว่าผู้นำราษฎรไม่ได้เป็นผู้นั่งดูการเปลี่ยนแปลงอย่างนิ่งเฉย พวกเขามี “ส่วนร่วม” ในการเปลี่ยนแปลงอยู่ด้วยในช่องทางซึ่งเป็นสถาบันการเมืองแบบจาริต คือยอมรับว่าสังคมการเมืองประกอบด้วยบุคคลที่มีอำนาจและมีสถานภาพที่ไม่เสมอภาคกัน และอำนาจสูงสุดนั้นอยู่ที่พระมหากษัตริย์ซึ่งสามารถพระราชทานความยุติธรรมให้เกิดแก่ราษฎรโดยส่วนรวม และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อบ้านเมือง แต่ราษฎรเองเมื่อประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสก็ไม่ใช่เป็นผู้นั่งรอพระมหากรุณาธิคุณถ่ายเดียว สามารถกราบบังคมทูลเสนอแนะความคิดเห็นต่างๆได้ด้วย นี่นับว่าเป็นความกล้าหาญในทาง “วัฒนธรรม” ของราษฎร ซึ่งช่วยกันเคลื่อนไหวคนละทางสองทาง และทำให้การถวายฎีกากลายมาเป็นสิ่งที่มีชีวิตชีวาเป็นอย่างมากในทศวรรษ 2470
พิจารณาเนื้อหาของ “ฎีกาแสดงความคิดเห็น” ซึ่งผู้นำราษฎรถวายเข้ามา เราจะพบว่าประเด็นปัญหาหลักคือ ราษฎรชาวนาไม่มีเงินจะเสียภาษีอากร รวมทั้งไม่มีเงินกันเลยในแต่ละบ้าน (ดูเพิ่มเติม มังกร 2475, ความนำ)[9] ซึ่งจะนำไปเสียเป็นค่านาและเงินรัชชูปการได้ ดั้งนั้นผู้นำราษฎรจึงขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณลดหย่อนและผ่อนผันการเร่งรัดการเก็บค่านาและเงินรัชชูปการไปสังระยะหนึ่ง ซึ่งตามเกณฑ์เดิมแล้ว เรื่องดังกล่าวจัดเป็นฎีกาประเภทขอพระราชทานพระมหากรุณา และขอรับพระราชทานพระราชานุเคราะห์ในกิจส่วนตัวเพื่อปลดเปลื้องทุกข์อันจะหาทางปลดเปลื้องโดยอาการอื่นไม่ได้ นับเป็นการถวายฎีกาที่มีความชอบธรรมตามจารีตประเพณีทุกประการ แต่ดังได้กล่าวมาแล้วว่าผู้นำราษฎรได้ใช้ช่องทางแบบจารีตนี้ถวายความเห็นเข้ามาเป็นจำนวนมาก ความเห็นที่ถวายเข้ามานั้นเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาว่าจะช่วยแก้ใขปัญหาชาวนาอย่างไรประการหนึ่ง และจะแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างไรอีกประการหนึ่ง ในประการหลังนั้นหมายความว่ารัฐบาลควรคิดตั้งโครงการอะไรขึ้นบ้าง หรือควรหาเงินอย่างไรบ้างเพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาคิดเก็บภาษีอากรจากชาวนาให้มากนัก
ตัวอย่างเช่นการถวายฎีกาของราษฎรชาวนาจากอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ราษฎรชาวนาได้บรรยายสภาพการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของตัวเองก่อน พวกเขากล่าวว่า ราษฎรชาวนานั้นมีอยู่ 3 พวก คือ พวกหนึ่งมีที่นาของตนเอง พวกที่สองไม่มีที่นาของตนเองต้องเช่าที่นาของคนอื่นเขาทำ และพวกที่สามไม่มีที่นาและไม่มีอะไรเลย อยู่ในฐานะที่หมดหนทางทำมาหากิน คือถึงแม้ต้องการเช่านาคนอื่นก็ไม่มีค่าเช่าจะชำระได้ และพวกที่ทำฎีกาขึ้นมานี้เป็นราษฎรชาวนาพวกที่สอง คือเช่าที่นาคนอื่นๆเขาทำ แต่ในระยะนี้มีปัญหาทำนาไม่ได้ผล ต้องรับภาระจ่ายดอกเบี้ยซึ่งพอกพูนสะสมไว้เป็นมากในอัตราชั่งละ 1 บาท จึงอยู่ในสภาพที่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเสียเงินอากรค่านาและเงินรัชชูปการ และมีความเกรงกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะยึดทรัพย์ของพวกตนไปขายทอดตลาด เพราะจะทำให้หมดหนทางทำมาหากินกันอีกต่อไป สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้รัฐบาลออกกฤษฎีกา (ราษฎรชาวนามีความรู้เรื่องกฤษฎีกาหรือไม่ยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอยู่ สันนิษฐานว่าคงได้ความคิดมาจากพวกหัวหมอทนายความมากกว่า) ให้ลูกหนี้งดการชำระหนี้ได้ชั่วคราวระยะหนึ่งก่อนและขอให้คิดดอกเบี้ยลดลงจากชั่งละ 1 บาทเป็นชั่งละ 50 สตางค์ และเมื่อเจ้าหน้าที่มาเก็บอากรค่านาและเงินรัชชูปการในปีนี้ก็ขอผ่อนผันขออย่าให้ถูกฟ้องศาล และถ้าถูกเจ้าหนี้และเจ้าหน้าที่รัฐบาลยึดทรัพย์ก็ขอพระมหากรุณาธิคุณอย่าให้ยึดบ้านที่อยู่อาศัยเลย (หจช. ร.7 รล.20/194 “สรุปย่อฎีการาษฎรจังหวัดปทุมธานี และนนทบุรี” 4 เมษายน 2475)
ประเด็นปัญหาที่ผูกต่อกันมาเป็นลูกโซ่คือว่า เมื่อผู้นำราษฎรชาวนาได้เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือชาวนาแล้วรัฐบาลเองก็ไม่มีเงินทุนรัฐบาลจะทำอย่างไร เรื่องนี้ฝ่ายผู้นำราษฎรหรือ “ปัญญาชน”ของราษฎรเองก็คงต้องคิดอยู่ จึงมีการถวายความคิดเห็นเข้ามาด้วย ซึ่งพอจำแนกได้เป็น 3 ทางใหญ่ๆ ทางหนึ่งคือเงินทุนนั้นมาจากรัฐบาลเองโดยหลักการที่ว่า “รัฐบาลยอมเป็นทุนและราษฎรยอมเป็นแรง” และการลุงทุนกับราษฎรนี้นับเป็นการกู้ฐานะประเทศสยามจากระดับรากฐานของสังคม ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสยามรอดพ้นจากเศรษฐภัยได้ (หจช. ร.7 รล.20/173 “นายถวัติ ฤทธิเดช ถวายฎีกา” 4 พฤศจิกายน 2474) ทางสองคือรัฐบาลควรออกใบบอนด์ (พันธบัตรรัฐบาล) ชนิดเปลี่ยนมือได้ ซึ่งก็คือการกู้เงินจากราษฎรและจ่ายดอกเบี้ยให้ด้วย ความเห็นนี้นับเป็นทางเลือกทางหนึ่งซึ่งมีความเฉียบคมอยู่ในช่วงเวลานั้น (ดู หจช. ร.7 รล.20/172 “นายเขียน พันธุ์โภคา ถวายฎีกา” 2 ธันวาคม 2547 ) ทางที่สามคือการจัดตั้งกองทุนกลางขึ้นโดยการขอเรี่ยไรรับบริจาค และเป็นที่น่าเชื่อว่าคงได้รับบริจาคเป็นจำนวนมากจากพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีทรัพย์มากอยู่แล้ว (หจช. ร.7 รล.20/137 “นายสวัสดิ์ ประดับแก้ว ถวายฎีกา” 6 มกราคม 2473) อาจกล่าวได้ว่า ความเห็นทั้งสามแนวทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสองทางแรกนั้น ผู้นำราษฎรชาวนาได้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการในทางเศรษฐกิจคือเข้าแทรกแทรงระบบเศรษฐกิจมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นความรู้สึกนึกคิดที่คล้ายคลึงกับความคิด “ชาตินิยมและสังคมนิยม” ที่เคลื่อนไหวอยู่ในหมู่ปัญญาชนบางส่วนของสยาม และข้อสำคัญคือเป็นความเห็นที่ตรงกันข้ามกับนโยบาย “เสรีนิยม” ในทางเศรษฐกิจของรัฐบาลสยามในขณะนั้น ซึ่งกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ไม่ต้องด้วยความประสงค์หากรัฐต้องเข้าดำเนินการในทางเศรษฐกิจเอง
ตัวอย่างสุดท้ายได้แก่ นายนรินทร์ ภาษิต ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวสามัญชนคนสำคัญอีกคนหนึ่งของยุคนี้ เขาเป็นผู้นำและเป็น “ปัญญาชน” ชาวบ้าน ซึ่งมีชื่อเสียงว่าชอบทำอะไรแปลกๆ เช่น มีความคิดที่จะปฏิรูปศาสนา ให้สตรีบวชเป็นพระได้ ให้สังคา ยนาไล่อลัชชีซึ่งมีอยู่มากมายในขณะนั้น และให้เลิกนิตยภัตต์ภิกษุสงฆ์นั้นนายนรินทร์กล่าวว่า
…ข้าพระพุทธเจ้าได้เสนอหนังสือถึงเสนาบดีคลังและอภิรัฐมนตรีแล้ว ว่าควรเลิกการจ่ายเงินนิตยภัตต์ รวมทั้งเลิกลัทธิต่างๆ เช่นการโล้ชิงช้านั้นเสีย เพราะในอดีตการพระราชทานนิตยภัตต์ก็เพื่อประกาศเกียรติคุณ ปัจจุบันพระสงฆ์รวยยิ่งกว่าบรรพชิต แม้ในชั้นต่ำสุดก็ยังไม่ขาดแคลน เหตุผลไม่ใช่ในทางธรรมคือรักษาวินัยอย่างเดียว แต่มีประโยชน์ในทางโลก คือได้ช่วยแก้เศรษฐกิจการประหยัดเงินทองทางรัฐบาล มิให้เปลืองไปโดยใช่เหตุ… (หจช. ร.7 รล. 20/172 “นายนรินทร์ ภาษิต ถวายฎีกา” 1 กุมภาพันธ์ 2474 )
นั่นหมายความว่ารัฐบาลเองก็สามารถประหยัดรายจ่ายลงได้ และมีรายได้เพิ่มขึ้นในอีกทางหนึ่ง เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว นายนรินทร์ก็มีความเห็นอย่างแรงกล้าว่ารัฐบาลนั้นควรยกเลิกการเก็บเงินรัชชูปการไปเสียเลย
…การเก็บเงินรัชชูปการแก่คนจนนี้เป็นการเดือดร้อนอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าได้ขอร้องให้รัฐบาลเก็บแต่ผู้มีทรัพย์สมบัติยกเว้นให้แก่คนจน คือ ยกเลิกจับคนมาใช้งานโยธาแทนเงินรัชชูปการ รัฐบาลก็นิ่งเฉย… ความเดือดร้อนอย่างวายร้ายของคนจนเนื่องจากผู้ปกครองมีใจเหี้ยมโหดร้ายกาจยิ่งไปกว่าพวกมหาโจร เพราะอ้ายพวกมหาโจรเมื่อมันเห็นคนคนใหนๆที่ไม่มีเงิน มันก็ยกเว้นให้อภัยคือไม่ปล้น มันปล้นแต่คนมั่งมี นี่เป็นความจริงยิ่งกว่าความจริง เช่นรัฐบาลไม่ยกเว้นเก็บเงินรัชชูปการแก่คนจนจริง คนจนไม่มีที่จะให้แล้วยังไม่มีใจเมตตากรุณา เที่ยวมาใช้งานโยธาแทนเงินได้ และที่ค้างมาเท่าไรก็จดจำไว้เช่นนี้ จะนับว่ามีใจเช่นไรอ้ายพวกมหาโจรมันจะมีใจดีเสียกว่ากระมัง… (หจช. สร. 0201.15/5 “สำเนาเอกสารเรื่องไทยไม่ใช่ทาษ” มกราคม 2475 )
ความรู้สึกนึกคิดและข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ได้กระทบต่อหลักความชอบธรรมในการปกครองของผู้ปกครองทั้งในระบอบเก่า และต่อเนื่องมาถึงระบอบใหม่ด้วยอีกระยะหนึ่ง เนื่องด้วยรัฐบาลในระบอบใหม่เองก็ไม่ได้ยกเลิกเงินรัชชูปการโดยทันที ยังมีการเก็บอยู่แต่ได้ผ่อนลงไปมาก จำนวนยอดรวมของเงินรัชชูปการที่เก็บได้ในแต่ละปีหลังปี พ.ศ. 2475 มีจำนวนลดลงมากคือเหลือประมาณปีละ 6-7 ล้านบาท เท่าๆกับที่เก็บได้ในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลจึงได้ยกเลิกการจัดเก็บภาษีอากรชนิดดังกล่าวไปโดยสิ้นเชิง
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.