Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การปฏิวัติซินไฮ่ (จีน:辛亥革命อังกฤษ: Xinhai (Hsinhai) Revolution) หรืออีกชื่อว่า การปฏิวัติ ค.ศ. 1911 หรือการปฏิวัติจีน เป็นการปฏิวัติซึ่งโค่นล้มราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองจีน การปฏิวัติได้เปลี่ยนการปกครองของประเทศไปสู่ประชาธิปไตยและสถาปนาสาธารณรัฐจีน การปฏิวัตินี้ได้ชื่อว่าซินไฮ่เพราะมีขึ้นใน ค.ศ. 1911 ซึ่งตรงกับอักษรซินไฮ่ในแผนภูมิสวรรค์ในปฏิทินจีน[2]
การปฏิวัติซินไฮ่ (การปฏิวัติจีน) | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
วันดับเบิลเท็นในเซี่ยงไฮ้ บนถนนหนานจิงหลังการก่อการกำเริบเซี่ยงไฮ้ ประดับตกแต่งด้วยธงห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพซึ่งเป็นธงที่ใช้ในการปฏิวัติจีน | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
พรรคนิยมราชวงศ์[1] |
ฝ่ายสาธารณรัฐ
ถงเหมิงฮุ่ย
| ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
จักรพรรดินีหลงยฺวี่ พระพันปีหลวง องค์ชายไจ้เฟิง (ฉุนชินหวัง), จักรพรรดิผู่อี๋, หยวน ซื่อไข่, เฟิ่งเกาจาง หม่าอันเหลียง, ต้วนฉีรุ่ย, หยางเจิ้งซิน, หม่าฉี, อภิชนราชวงศ์ชิงอื่นอีกมาก |
ซุน ยัตเซ็น, เฉิน ฉีเหม่ย์ หวงซิง, ซ่งเจียวเหริน, หลี่ หยวนหง | ||||||
กำลัง | |||||||
200,000 | 100,000 | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
~170,000 | ~50,000 |
การปฏิวัติซินไฮ่ | |||||||||||||||||||||||
"การปฏิวัติซินไฮ่" เขียนแบบอักษรจีน | |||||||||||||||||||||||
ภาษาจีน | 辛亥革命 | ||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ความหมายตามตัวอักษร | "Xinhai (stem-branch) revolution" | ||||||||||||||||||||||
|
การปฏิวัติประกอบด้วยการกบฏและการก่อการกำเริบหลายครั้ง จุดเปลี่ยนคือ การก่อการกำเริบวูชางเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1911 ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดการกับขบวนการคุ้มครองทางรถไฟที่ผิด การปฏิวัติสิ้นสุดลงด้วยการสละราชสมบัติของจักรพรรดิผู่อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้าย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912 อันเป็นจุดสิ้นสุดของจักรวรรดิจีนอายุกว่า 2,000 ปี และจุดเริ่มต้นของการปกครองแบบสาธารณรัฐของจีน[3]
โดยทั่วไปแล้ว การปฏิวัติครั้งนี้เป็นปฏิกิริยาต่อสามปัจจัยหลัก: (1) ความเสื่อมของรัฐชิงและความไม่สามารถปฏิรูปและนำพาจีนสู่ความทันสมัยเพื่อเผชิญหน้ากับการท้าทายของต่างชาติ, (2) เพื่อย้อนความเสื่อมโทรมภายใน และ (3) ความไม่พอใจของชาวจีนฮั่นซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ต่อชนกลุ่มน้อยแมนจูที่เป็นชนชั้นปกครอง กลุ่มต่อต้านชิงใต้ดินหลายกลุ่มและด้วยการสนับสนุนจากนักปฏิวัติจีนพลัดถิ่น ได้พยายามโค่นล้มราชวงศ์ชิง สงครามกลางเมืองระยะสั้น ๆ ที่เกิดขึ้นตามมายุติลงด้วยการประนีประนอมทางการเมืองระหว่างหยวน ซื่อไข่ ผู้มีอิทธิพลทางทหารในสมัยปลายราชวงศ์ชิง และซุน ยัตเซ็น ผู้นำถงเหมิงฮุย (สหสันนิบาต) หลังราชสำนักจีนโอนอำนาจไปยังสาธารณรัฐที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ การสถาปนารัฐบาลผสมเฉพาะกาลได้มีขึ้นร่วมกับรัฐสภา อย่างไรก็ดี อำนาจทางการเมืองในรัฐบาลแห่งชาติใหม่ในกรุงปักกิ่งนั้น ไม่นานได้ถูกผูกขาดโดยหยวนและนำไปสู่การแบ่งแยกทางการเมืองและยุคขุนศึกนานอีกหลายทศวรรษ รวมทั้งความพยายามฟื้นฟูจักรวรรดิหลายครั้ง
ปัจจุบัน ทั้งสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวันและสาธารณรัฐประชาชนจีนบนแผ่นดินใหญ่มองว่าตนเป็นผู้สืบทอดการปฏิวัติซินไฮ่และยังคงเคารพอุดมการณ์ของการปฏิวัติ รวมทั้งชาตินิยม สาธารณรัฐนิยม การทำให้จีนทันสมัยและความสามัคคีแห่งชาติ วันที่ 10 ตุลาคมในไต้หวันเป็นวันดับเบิลเท็น (Double Ten Day) วันชาติของสาธารณรัฐจีน ในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงและมาเก๊า วันเดียวกันนี้ยังมักเฉลิมฉลองเป็นวันครบรอบการปฏิวัติซินไฮ่[4] ชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมากยังเฉลิมฉลองในไชนาทาวน์ทั่วโลก
ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ภัยพิบัติและความทุกข์ยากของชนชาวจีนทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความขัดแย้งทางสังคมก็รุนแรงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อันเนื่องมาจากการปกครองที่ล้มเหลวของราชวงศ์ชิง
ขุนนางและชนชั้นสูงในราชสำนักชิงตั้งแต่บนลงล่างที่อยู่ในสถานการณ์ง่อนแง่นได้ทำการปฏิรูประบบการเมืองใหม่ หรือที่เรียกว่า 'การปฏิรูป 100 วัน' แต่ทว่าประสบความล้มเหลว
และในเวลาเดียวกันนั้น พลังแห่งการปฏิวัติของชนชั้นนายทุนที่มี 'ดร.ซุนจงซาน' (หรือ ซุน ยัตเซ็น 孫中山 หรือ 孫日新) เป็นตัวแทนได้ขึ้นมาอยู่บนเวทีประวัติศาสตร์อย่างรวดเร็ว และรับผิดชอบภารกิจอันยิ่งใหญ่ด้วยการเป็นผู้นำการปฏิวัติประชาชนอย่างกล้าหาญ
ค.ศ. 1894 ดร.ซุน ยัตเซ็น เริ่มก่อตั้งคณะปฏิวัติซิ่งจงฮุ่ย (興中會) และพยายามริเริ่มก่อตั้งประเทศที่ปกครองแบบสาธารณรัฐขึ้น
กระแสหลักของการลุกฮือส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับขบวนการปฏิวัติของดร.ซุน ยัตเซ็นรวมทั้งกลุ่มย่อยต่างๆ
การลุกฮือบางกลุ่มเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ไม่เคยรวมเข้าด้วยกันกับ ถงเหมิงฮุ่ย ดร.ซุนยัตเซ็นอาจมีส่วนร่วมในการลุกฮือ 8-10 ครั้ง การลุกฮือทั้งหมดล้มเหลวก่อนสำเร็จในการลุกฮือที่อู่ชาง
ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1895 ขบวนการซิ่งจงฮุ่ย, ซึ่งมีฐานที่มั่นตั้งอยู่ที่ฮ่องกงวางแผนการก่อการลุกฮือขึ้นที่เมืองกวางโจวครั้งแรก (廣州起義) ขบวนการดังกล่าวได้มีแกนนำคือ ลู่ เฮาตง ผู้ซึ่งได้เกิดแรงบันดาลใจในการออกแบบธงที่ใช้ในการลุกฮือ หรือ ธงท้องฟ้าสีครามกับดวงตะวันสาดส่อง (ต่อมาภายหลังคือธงชาติของสาธารณรัฐจีน)[5] เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1895 ขบวนการซิ่งจงฮุ่ยนำโดย เหยิงกวานและดร.ซุนยัตเซ็นนำเจิ้งเหอเหลียงและลู่เฮาตงเดินทางไปยังเมืองกวางโจวเพื่อเตรียมยึดเมืองเป็นฐานที่มั่น อย่างไรก็ตามแผนการของพวกเขารั่วไหลรู้ไปถึงทางราชสำนักชิงเข้า[5]
ทางราชสำนักจึงเริ่มจับกุมกลุ่มนักเคลื่อนไหวปฏิวัติรวมถึงลู่เฮาตงซึ่งถูกประหารชีวิตโดยการตัดหัวในเวลาต่อมา[5] การพยายามยึดเมืองกวางโจวครั้งแรกจึงจบลงด้วยความล้มเหลว ภายใต้แรงกดดันจากราชสำนักชิงทำให้รัฐบาลของฮ่องกงภายใต้อาณานิคมอังกฤษสั่งห้ามกลุ่มนักเคลื่อนไหวเหล่านี้เข้าสู่ดินแดนเป็นเวลาห้าปี ดร.ซุนยัตเซ็นต้องหลบลี้ภัยและได้ทำการเคลื่อนไหวปฏิวัติใต้ดินและระดมทุนในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, แคนาดาและสหราชอาณาจักร
ในปี ค.ศ. 1901 หลังจากการลุกฮือ เหยิงกวานถูกลอบสังหารโดยนักฆ่าที่ถูกจ้างจากราชสำนักชิงในฮ่องกง[6]
เมื่อการลุกฮือที่กวางโจวครั้งแรกประสบความล้มเหลว ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1905 ดร.ซุนก่อตั้งสมาคมสหมิตร (ถงเหมิงฮุ่ย 同盟會) ขึ้นที่กรุงโตเกียว สมาคมสหมิตรเสนอโครงร่างการปฏิวัติไว้ว่า
"กำจัดชนกลุ่มน้อยทางเหนือ (ชาวแมนจู) ฟื้นฟูประเทศจีน ก่อตั้งสาธารณรัฐ แบ่งเฉลี่ยกรรมสิทธิ์ที่ดิน" (驅除韃虜, 恢復中華, 創立民國, 平均地權)
ในวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1907 สฺวี ซีหลิน ได้ก่อตั้งขบวนการต่อต้านราชวงศ์ชิง กวงฝูฮุ่ย นำการจลาจลในเมืองอันชิ่ง, มณฑลอานฮุย ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ "การลุกฮือที่อันชิ่ง"[7] สฺวี ซีหลินในขณะนั้นได้เป็นข้าราชการตำรวจและหัวหน้ากรมของราชสำนักชิง เขาได้ตัดสินใจแปรพักต์มาเข้าร่วมสมทบกับฝ่ายปฏิวัติขบวนการถงเหมิงฮุ่ยในภายหลัง เขานำการจลาจลที่ลอบสังหารผู้ว่าราชการมณฑลอานฮุย, เอิงหมิง (恩銘) ซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ผู้หนึ่งในราชสำนักชิง[7] การก่อการจบลงด้วบความพ่ายแพ้ของสฺวีซีหลินหลังจากการต่อสู้สี่ชั่วโมง สฺวีซีหลินและกลุ่มผู้ก่อการทั้งหมดถูกจับและทหารองครักษ์ของเอิงหมิงได้ทำการประหารชีวิตพวกเขาอย่างโหดร้ายทารุณด้วยการควักหัวใจและตับของเขาออกและกินพวกเขา[7]
ญาติของสฺวีซีหลิน ชิว จิ่น นักสตรีนิยมและสตรีนักปฏิวัติได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกถงเหมิงฮุ่ย ชิวจิ่นได้ออกตีพิมพ์สตรีรายเดือน มีชื่อว่า “วารสารสตรีรายเดือน” สนับสนุนนโยบายการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ชิงของดร.ซุนยัตเซ็นและยังมีนโนบายสนับสนุนสิทธิสตรีขึ้นเป็นครั้งแรกในจีน ทำให้เธอเป็นนักสตรีนิยมคนแรกที่บุกเบิกความเสมอภาคเท่าเทียมของสิทธิสตรีในจีน เมื่อสฺวีซีหลินถูกประหารอย่างโหดร้าย เธอจึงได้เตรียมกำลังเพื่อทำการลุกฮือปฏิวัติต่อ แต่เธอกลับถูกราชสำนักชิงจับกุมเสียก่อนและถูกประหารชีวิตตัดหัวในไม่กี่วันต่อมา[7]
เหล่าชนชั้นปกครองต้าชิงรู้สึกว่าการจะรักษาระบบการเมืองให้คงสภาพเดิมต่อไปนั้นเป็นเรื่องยาก จึงประกาศรัฐธรรมนูญชั่วคราวในปี ค.ศ. 1908 ในปีเดียวกันฮ่องเต้กวงสวี่ตี้ (光緒帝) และพระนางซูสีไทเฮา (慈禧太后) สิ้นพระชนม์ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองอันวุ่นวายก็ได้สถาปนาฮ่องเต้น้อยผู่อี๋ (ปูยี 溥儀) ขึ้นครองราชย์
วันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1911 ดร.ซุน และ หวงซิง (黃興) นำมวลชนลุกฮือขึ้นก่อการปฏิวัติที่เมืองกว่างโจว ปฏิบัติการครั้งนั้นล้มเหลว มีผู้ก่อการเสียชีวิตจำนวนมาก ต่อมามีการนำร่างผู้เสียชีวิต 72 คนไปฝังไว้ที่เนินหวงฮัว ในประวัติศาสตร์เรียกว่า '72 วีรบุรุษเนินหวงฮัว'
เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1911 ราชสำนักชิงได้ขายสิทธิอำนาจการเดินรถไฟให้กับชาติมหาอำนาจ ทำให้ราชวงศ์ถูกตราหน้าว่าเป็นทรราชยอมขายชาติ ยังเหตุให้เกิดความไม่พอใจขึ้นในหมู่ชาวจีนผู้รักชาติ นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านขึ้นใน 4 มณฑลคือ หูหนาน หูเป่ย เสฉวนและกวางตุ้ง ราชสำนักชิงจึงนำกองทัพเข้าปราบปรามทันที
ภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วประเทศเกิดกระแสทวงคืนเส้นทางรถไฟไม่หยุดหย่อนนั้น ได้เกิดกลุ่มปฏิวัติ 2 กลุ่ม คือ เหวินเซียะเซอ (文學社) และก้งจิ้นฮุ่ย (共進會) เตรียมก่อการครั้งใหญ่ที่เมืองอู่ฮั่นในมณฑลหูเป่ย ผู้นำทั้งสองกลุ่มล้วนเป็นสมาชิกสมาคมถงเหมิงฮุ่ยทั้งสิ้นและแฝงตัวอยู่ในกองทัพซินจวินแห่งหูเป่ย ทหารจำนวน 1 ใน 3 และนายทหารระดับล่างล้วนแล้วแต่เป็นคนของทั้งสองกลุ่มนี้รวม ๆ แล้วมีจำนวนคนกว่า 5,000–6,000 คน
ต่อมาพวกเขาได้ตัดสินใจปฏิบัติการณ์ร่วมกันโดยมี เจี่ยงอี้อู่ (蔣翊武) แห่งกลุ่มเหวินเซียะเซอเป็นผู้บัญชาการ ซุนอู่ (孫武) แห่งกลุ่มก้งจิ้นฮุ่ยเป็นเสนาธิการ กำหนดเปิดฉากการปฏิวัติขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1911 แต่เวลาต่อมาได้ยืดเวลาออกไปเนื่องจากเตรียมตัวไม่พร้อม
วันที่ 9 ตุลาคม ขณะที่ซุนอู่ผลิตระเบิดอยู่ที่กลุ่มก้งจิ้นฮุ่ยที่ตั้งอยู่ที่เมืองฮั่นโข่วเขตเช่าของรัสเซีย ได้เกิดอุบัติเหตุระเบิดขึ้น ซุนอู่ได้รับบาดเจ็บและหลบหนีไป ทางการเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุพบเอกสาร ตราทางราชการและธงของขบวนการปฏิวัติถงเหมิงฮุ่ย
รุ่ยเฉิง (瑞澂) ข้าหลวงใหญ่ในราชสำนักชิงประจำมณฑลหูเป่ยและหูหนาน รู้สึกถึงสถานการณ์รุนแรง จึงประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วเมืองทันทีและมีการกวาดจับผู้ต้องสงสัย รวมถึงผู้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับคณะปฏิวัติ
เจี่ยงอี้อู่และหลิวฟู่จี ผู้บัญชาการสูงสุดรู้ว่าที่ฮั่นโข่วเกิดเรื่อง แผนการปฏิวัติอาจถูกเปิดโปง ในสภาวการณ์อันล่อแหลมพวกเขาจึงตัดสินใจอย่างเฉียบขาดว่าจะเริ่มปฏิบัติการก่อนกำหนด จึงยิงปืนใหญ่ขึ้นที่ประตูจงเหอเพื่อเป็นสัญญาณ และส่งประกาศคณะปฏิวัติอย่างลับ ๆ ตามค่ายทหารต่าง ๆ ของกองทัพซินจวิน
ในคืนนั้นกองบัญชาการของกลุ่มปฏิวัติถูกปิดล้อม หลิวฟู่จีและเผิงฉู่ฟานถูกจับกุม เจี่ยงอี้อู่หนีไปได้ เช้ารุ่งขึ้นของวันที่ 10 ตุลาคม หลิวฟู่จี เผิงฉู่ฟาน และอีกหลายคนถูกยิงเป้า กลุ่มปฏิวัติขาดผู้บัญชาการพวกเขาจึงเชื่อมสัมพันธ์กันเองและชูธงปฏิวัติอย่างเด็ดเดี่ยว
สงปิ่งคุน (熊秉坤) คนของกลุ่มปฏิวัติที่แฝงตัวในฐานที่มั่นที่ 8 ค่าย 8 ของกองทัพซินจวินที่เมืองอู่ชาง จึงฉวยโอกาสดำเนินการอย่างฉับพลัน และเรียกแกนนำขบวนการปฏิวัติมาประชุมหารือ กำหนดก่อการปฏิวัติในเวลา 1 ทุ่มตรงของคืนวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1911
สงปิ่งคุนนำกองทัพปฏิวัติสังหารนายทหารที่ทำการต่อต้าน 9 นาย และนำทหาร 40 นายเข้ายึดครองคลังเก็บอาวุธที่ฉู่ว่างไถ หลังจากยึดคลังอาวุธได้จึงส่งจดหมายไปยังกลุ่มปฏิวัติกลุ่มอื่น ๆ ให้มาชุมนุมกันที่ฉู่ว่างไถ ส่วนสงปิ่งคุนและอู๋จ้าวหลินนำกองทัพบุกโจมตีจงตูสู่ (หน่วยงานของผู้สำเร็จราชการเมือง) ของมณฑลหูเป่ยและหูหนาน
รุ่ยเฉิงอาศัยทหาร 3,000 นายที่อยู่เฝ้ารักษาการณ์จงตูสู่ อิงชัยภูมิที่ได้เปรียบทำการต่อต้านอย่างเหนียวแน่น กองทัพปฏิวัติแบ่งกำลังทหารออกเป็น 3 สาย ออกโจมตีอย่างดุเดือด 3 ด้าน กองทหารปืนใหญ่เดินทางมาสนับสนุน จงตูสู่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก รุ่ยเฉิงสั่งให้คนเจาะกำแพงที่อยู่ล้อมรอบออก แล้วขึ้นเรือรบหนีไปยังฮั่นโข่ว
หลังจากการต่อสู้อันดุเดือดเป็นเวลาหนึ่งคืน กองทัพปฏิวัติก็เข้าควบคุมเมืองอู่ชาง จากค่ำคืนของวันที่ 11 จนถึงเช้าตรู่วันที่ 12 กองทัพซินจวินในเมืองฮั่นโข่ว และฮั่นหยางได้ทยอยกันลุกฮือขึ้นก่อการปฏิวัติ 3 อำเภอในอู่ฮั่นถูกกองทัพปฏิวัติครอบครองทั้งหมด การปฏิวัติที่อู่ชางได้รับชัยชนะ
หลังเกิดการปฏิวัติที่อู่ชาง มณฑลต่าง ๆ ทั่วประเทศจีนจำนวนมากต่างทยอยกันประกาศตนเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อราชสำนักชิง การปกครองอันเสื่อมทรามของราชวงศ์ชิงจึงใกล้ถึงการอวสานเต็มที
ภายหลังจากคณะปฏิวัติที่นำโดยกองทัพซวินจินยึดเมืองอู่ชางได้ ขณะนั้นคณะปฏิวัติเห็นควรที่จะมีผู้นำทางทหารที่มีบารมีมาควบคุมสถานการณ์เบื้องต้น จึงได้เห็นพ้องต้องกันว่าควรผลักดันให้ 'หลีหยวนหง' ขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่รักษาเมืองอู่ชาง หลีหยวนหง (黎元洪 ค.ศ. 1864–1928) เกิดที่มณฑลหูเป่ย ในครอบครัวผู้ดีมีฐานะ เมื่ออายุ 14 ปี ได้ติดตามบิดามาค้าขายที่มณฑลจื๋อลี่ ครั้นอายุ 19 ปี เขามีความสนใจด้านการทหารจึงเข้าเรียนวิชาทหารเรือ เมื่อจบการศึกษาจึงเข้าประจำการณ์ที่เรือรบกว่างเจี่ย
ระหว่างสงครามจีน - ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1894–1895) เรือรบกว่างเจี่ยถูกทัพเรือญี่ปุ่นยิงจนล่มลงที่ทะเลหวงไห่ (ทะเลเหลือง) แต่หลีหยวนหงรอดมาได้ ภายหลังได้รับทุนให้ไปศึกษาวิชาทหารต่อที่ญี่ปุ่น เมื่อจบแล้วจึงกลับมาใช้ความรู้พัฒนากองทัพเรือจีนจนก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ต่อมาจึงเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บังคับการทหารนครอู่ชาง จากชื่อเสียงอันโด่งดังจึงทำให้เขาถูกยกย่องให้เป็นผู้กุมอำนาจทางทหารในช่วงนาทีสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ในช่วงเวลานั้น ดร.ซุนติดภาระกิจสำคัญที่ต่างประเทศ เพื่อระดมทุนจากชาวจีนโพ้นทะเลเป็นทุนในการปฏิวัติ ดร.ซุนได้ทราบข่าวการปฏิวัติที่อู่ชางขณะที่โดยสารรถไฟในสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าจะมีความปลาบปลื้มยินดี แต่ท่านกังวลเรื่องท่าทีของชาติมหาอำนาจจึงไม่เดินทางกลับประเทศจีนทันที
ดร.ซุนมีภารกิจสำคัญที่จะต้องเจรจาหยั่งท่าทีของชาติมหาอำนาจในการรับรองสาธารณรัฐจีน โดยเฉพาะอังกฤษที่มีแหล่งข่าวน่าเชื่อถือว่า อังกฤษให้การสนับสนุนขุนศึกภาคเหนือผู้หนึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ขุนศึกผู้นั้นมีนามว่า 'หยวนซื่อข่าย' (袁世凱 )
วันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ.1911 ราชสำนักชิงในสภาพจนตรอกได้แต่งตั้ง หยวน ซื่อข่าย เป็นผู้แทนพระองค์มีอำนาจเต็มที่ในการสั่งการปราบปรามกบฏ หยวน ซื่อข่าย แต่งตั้ง เฝิง กั๋วจาง (馮國璋) เป็นแม่ทัพกองทัพที่ 1 บุกถล่มภาคใต้ แต่ขณะเดียวกันก็ส่งคนแอบเจรจาต่อรองอย่างลับ ๆ กับคณะปฏิวัติ
กองทัพภาคเหนือใช้แสนยานุภาพทางการทหารที่เหนือกว่าปิดล้อมเมืองฮั่นโข่ว ฮั่นหยาง และหยุดทัพไว้เพื่อทำการเจรจาต่อรอง แต่ทว่าคณะปฏิวัติปฏิเสธข้อเสนอของ หยวน ซื่อข่าย
วันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1911 กองทัพหยวนซื่อข่ายเผด็จศึกกองทัพปฏิวัติด้วยการระดมยิงปืนใหญ่ จนทัพปฏิวัติต้องล่าถอย กองทัพหยวนซื่อข่ายสามารถยึดเมืองฮั่นโข่วอย่างง่ายดาย
หลี หยวนหง แต่งตั้งหวงซิงเป็นแม่ทัพหน้าในการรับศึก แต่ก็เพียงแต่ในนามเท่านั้น เพราะไม่ได้มอบอำนาจการบังคับบัญชาทหารให้เต็มที่และไม่สนับสนุนด้านยุทธปัจจัยเท่าที่ควร กองทัพปฏิวัติจึงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
หลังจากความพ่ายแพ้ทางการทหาร คณะปฏิวัติเรียกประชุมฉุกเฉินและมีมติให้ หลี หยวนหง รับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่เป็นการชั่วคราว โดยมีหวงซิงเป็นรองฯ เพื่อช่วยกันกู้สถานการณ์อันย่ำแย่
วันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1911 ดร.ซุนเดินทางกลับถึงประเทศจีนที่นครซ่างไห่ (เซี่ยงไฮ้) เพื่อหารือถึงการจัดตั้งระบอบสาธารณรัฐ ในที่ประชุมได้เสนอให้ ดร.ซุนรับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลใหม่ในฐานะจอมพลเป็นการชั่วคราว
และในที่ประชุมได้กล่าวถึงกรณีขุนศึกหยวนซื่อข่าย ผู้กุมอำนาจทหารที่ปักกิ่งแสดงเจตนาแน่ชัดว่าอยากเป็นประธานาธิบดี หากให้เขารับตำแหน่งนี้ เขาจะร่วมมือกับการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ ผลจากการประชุมมีมติเบื้องต้นให้ดร.ซุน รับเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว
วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1912 ดร.ซุนรับตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว ณ นครหนานจิง (นานกิง) หลี หยวนหง เป็นรองประธานาธิบดี ควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารมณฑลหูเป่ย ตั้งกองบัญชาการที่เมืองอู่ชาง พร้อมกำหนดให้ใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามระบบสุริยคติ แทนระบบจันทรคติซึ่งใช้มาอย่างยาวนานตามปฏิทินเดิม นับเป็นการเริ่มต้นยุคสาธารณรัฐตามกฎหมายภายใต้สถานการณ์อึมครึม
วันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1912 ขุนศึกต้วนฉีรุ่ย ( 段祺瑞 ) คนสนิทของหยวนซื่อข่าย รวบรวมรายชื่อคณะบุคคลจำนวน 47 คนยื่นฎีกาให้ฮ่องเต้สละราชสมบัติ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยสันติ
ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่นิ่ง หยวนซื่อข่ายยังไม่ให้การยอมรับรัฐบาลหนานจิง อีกทั้งชาติมหาอำนาจหลายชาติก็ไม่ยอมรับเช่นกัน และแสดงท่าทีหนุนหลังรัฐบาลของขุนศึก หยวน ซื่อข่าย มากกว่า
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912 หลงยวี่ไทเฮา (隆裕太后) พระราชมารดาเลี้ยงในฮ่องเต้เสวียนถ่ง (宣統帝 หรือปูยี) ประกาศการสละราชสมบัติของฮ่องเต้อย่างเป็นทางการ แต่มีเงื่อนไขขอให้พำนักอยู่ต่อไปในพระราชวังกู้กงและมีบรรดาศักดิ์นำหน้าเช่นเดิม เท่ากับว่าการปกครองกว่า 268 ปี ของราชวงศ์ชิงได้จบสิ้นลง
ภายหลังจากฮ่องเต้สละราชสมบัติ 1 วัน ดร.ซุนขอลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวและยินยอมให้หยวนซื่อข่ายรับตำแหน่งตามความต้องการ แต่มีข้อแม้ว่าต้องมารับตำแหน่งที่นครหนานจิง ในระหว่างนี้ดร.ซุนจะรักษาการในตำแหน่งไปก่อน
หยวน ซื่อข่าย มีคำสั่งให้แม่ทัพเฉาคุน (曹錕) นำหน่วยทหารกุมกำลังก่อการจลาจลในปักกิ่งเพื่ออ้างสถานการณ์จำเป็น ไม่อาจปลีกตัวไปรับตำแหน่งที่หนานจิงได้
วันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1912 หยวนซื่อข่ายประกาศตนเป็นประธานาธิบดี โดยไม่ยอมมารับตำแหน่งที่หนานจิง ความตรึงเครียดระหว่างภาคเหนือและภาคใต้จึงปะทุขึ้น
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.