Loading AI tools
อดีตพระมหากษัตริย์สยาม จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (1 มกราคม พ.ศ. 2424 – 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468) เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรีและเป็นรัชกาลที่ 50 ตามประวัติศาสตร์ไทย เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง โทศก จ.ศ. 1242 ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2424 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 32 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระองค์ที่ 3 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสวยราชสมบัติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พ.ศ. 2453 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ปีฉลู รวมพระชนมพรรษา 44 พรรษา ดำรงราชสมบัติรวม 15 ปี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
พระมหาธีรราชเจ้า | |||||||||||||
พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว | |||||||||||||
สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม[1] | |||||||||||||
ครองราชย์ | 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 – 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 (15 ปี 34 วัน) | ||||||||||||
ราชาภิเษก | 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 | ||||||||||||
ก่อนหน้า | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | ||||||||||||
ถัดไป | พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | ||||||||||||
ผู้สำเร็จราชการ | สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา | ||||||||||||
พระราชสมภพ | 1 มกราคม พ.ศ. 2424 พระบรมมหาราชวัง เมืองพระนคร ประเทศสยาม (ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย) | ||||||||||||
สวรรคต | 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 (44 พรรษา) พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระบรมมหาราชวัง จังหวัดพระนคร มณฑลกรุงเทพ ประเทศสยาม (ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย) | ||||||||||||
ถวายพระเพลิง | 24 มีนาคม พ.ศ. 2469 พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง | ||||||||||||
บรรจุพระอัฐิ | พระวิมานทองกลาง บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท | ||||||||||||
พระมเหสี |
| ||||||||||||
พระสนม | เปรื่อง สุจริตกุล (สมรส 2464) | ||||||||||||
พระราชธิดา | สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี | ||||||||||||
| |||||||||||||
ราชวงศ์ | จักรี | ||||||||||||
พระราชบิดา | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | ||||||||||||
พระราชมารดา | สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง | ||||||||||||
ศาสนา | เถรวาท | ||||||||||||
ลายพระอภิไธย | |||||||||||||
การศึกษา | |||||||||||||
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |||||||||||||
รับใช้ | สยาม | ||||||||||||
แผนก/ | กองทัพสยาม กองเสือป่า | ||||||||||||
ชั้นยศ | จอมพล จอมพลเรือ นายกองใหญ่ | ||||||||||||
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า "สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า" พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์จักรีที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงมีการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันขึ้นแทน ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ จึงทรงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน
พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งแรกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2485 ประดิษฐาน ณ สวนลุมพินี ซึ่งเป็นบริเวณที่ดินส่วนพระองค์ที่พระราชทานไว้เป็นสมบัติของประชาชน เพื่อจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์แสดงสินค้าไทยแก่ชาวโลกเป็นครั้งแรก เพื่อบำรุงเศรษฐกิจและพาณิชยกรรมของประเทศ (แต่มิทันได้จัดก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน) และทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าเมื่อเสร็จงานแล้ว จะพระราชทานเป็นสวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจแห่งแรกในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ในวันคล้ายวันสวรรคตของทุกปี วันที่ 25 พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้แทนพระองค์ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลา ถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ ณ สวนลุมพินีแห่งนี้ ในวันนั้นมีหน่วยราชการ หน่วยงานเอกชน นิสิตนักศึกษา พ่อค้าประชาชนจำนวนมากไปวางพวงมาลาถวายราชสักการะ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย ณ วชิราวุธวิทยาลัย[2]
ใน พ.ศ. 2524 ยูเนสโก (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก[3]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระองค์ที่ 2 ที่พระราชสมภพแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง โทศก จ.ศ. 1242 (ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2424)) เพลาอีกบาตรหนึ่ง ถึง 3 โมงเช้า ณ พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวังชั้นใน[4] มีพระเชษฐภคินีและพระโสทรานุชา 7 พระองค์ คือ
แม้ตอนพระราชสมภพ พระราชชนนียังดำรงพระยศเป็น พระราชเทวีอยู่ ยังมิได้ดำรงพระยศ พระอัครมเหสี แต่ตามขัตติยราชประเพณีในรัชกาลที่ 5 พระราชโอรสธิดาดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อมทุกพระองค์ พระอิสริยยศเดิมของพระองค์ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อม เมื่อพระชนมพรรษาเจริญครบเดือน สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ สถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ แต่ยังมิได้พระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงเรียกว่า "ลูกโต" พระประยูรญาติในพระราชสำนักดำเนินรอยตามพระบรมราชอัธยาศัยเรียกพระองค์ท่านว่า "ทูลกระหม่อมโต"[5] จัน ชูโต เป็นพระพี่เลี้ยง[6]
ต่อมาในวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2431 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2432) ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช จุฬาลงกรณ์นารถราชวโรรส มหาสมมติขัตติยพิสุทธิ บรมมกุฏสุริยสันตติวงษ อดิสัยพงษวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศวิมลรัตน ทฤฆชนมสวัสดิ ขัตติยราชกุมาร ทรงศักดินา 50,000 ตามอย่างเจ้าฟ้าต่างกรม และทรงตั้งเจ้ากรมเป็นกรมขุนเทพทวาราวดี รับพระเกียรติยศเป็นที่สองรองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร[7][8]
ในขณะที่ทรงพระเยาว์นั้น ได้ทรงศึกษาในพระบรมมหาราชวัง โดยมีหม่อมเจ้าประภากร มาลากุล พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และพระยาอิศรพันธุ์โสภณ (หนู อิศรางกูร ณ อยุธยา) เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรภาษาไทย ส่วนวิชาภาษาอังกฤษนั้นทรงศึกษากับนายโรเบิร์ต มอแรนต์ (Robert Morant)[9] ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2436 พระชนมายุได้ 12 พรรษาเศษ สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกไปทรงศึกษาต่อในหลักสูตรภาษาละตินและเรขาคณิต (เทียบเท่าแผนการเรียนภาษาอังกฤษ-คณิตศาสตร์(ศิลป์-คำนวณ)) ณ ประเทศอังกฤษ ในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงโปรดฯให้สถาปนาเฉลิมพระอิสริยยศขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมารสืบแทนสมเด็จพระเชษฐา[10][11]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาวิชาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษหลายแขนง ทางทหารทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์แล้วเข้ารับราชการในกรมทหารราบเบาเดอรัม ทางด้านพลเรือนทรงศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และกฎหมาย ที่วิทยาลัยไครสต์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ระหว่างปี พ.ศ. 2442 - พ.ศ. 2444[12] แต่เนื่องด้วยทรงพระประชวรด้วยพระโรคอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบ มีพระอาการมากต้องเข้ารับการผ่าตัดทันที ทำให้ทรงพลาดโอกาสที่ได้รับปริญญา ระหว่างการศึกษาในต่างประเทศ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยเสด็จในฐานะผู้แทนพระองค์ไปในงานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ทั้งในประเทศอังกฤษและประเทศใกล้เคียง เสด็จนิวัตพระนครตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถโดยเสด็จผ่านสหรัฐและประเทศญี่ปุ่น ถึงกรุงเทพมหานครเมื่อ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2445[13]
วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2447 เวลาเช้า 3 โมงเศษ ทรงผนวชเป็นครั้งที่ 3 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นพระอุปัชฌาย์ หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ถึงเวลาบ่าย 4 โมงเย็น ได้ทรงทำทัฬหีกรรม ณ พระพุทธรัตนสถาน กับพระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์พระองค์เดิม ผนวชแล้วประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[14] ถึงวันที่ 11 ธันวาคม ศกนั้น จึงทรงลาผนวช แล้วปฏิญาณพระองค์ถึงไตรสรณคมน์และรับศีล ยังทรงประทับในวัดบวรนิเวศวิหารต่อจนเช้าวันที่ 15 ธันวาคม จึงเสด็จฯ กลับ[15]
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินยุโรปครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2449 - 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอำนาจในราชกิจที่จะรักษาพระนครไว้แด่พระองค์ เป็นการรับสนองพระเดชพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระบรมชนกนาถในหน้าที่อันสำคัญที่สุดสิ่งหนึ่ง และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยเป็นที่สุดด้วยระหว่างทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์นี้ ทรงรับเป็นประธานการจัดสร้างพระบรมราชานุสรณ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกนาถ ซึ่งงานสำคัญบรรลุโดยพระราชประสงค์อย่างดี[16]
เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตลงเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ทั้ง ๆ ที่พระองค์นั้นได้รับการสถาปนาตั้งไว้ในพระรัชทายาทสืบพระราชสันตติวงศ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2437 แต่ก็ทรงเศร้าสลด ไม่มีพระราชประสงค์ที่จะแลกสิริราชสมบัติสำหรับพระองค์เองกับการสูญเสียพระชนมชีพของสมเด็จพระบรมชนกนาถ จนกระทั่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งเป็นพระปิตุลา (อา) แท้ ๆ ทูลเชิญเสด็จลงที่ห้องแป๊ะเต๋งบนชั้น 2 พระที่นั่งอัมพรสถาน และท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ผู้ใหญ่ องคมนตรี และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ที่ชุมนุมอยู่ พระปิตุลาได้คุกพระชงฆ์ลงกับพื้นกราบถวายบังคมอัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบสนองพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ และทันใดทุกท่านที่ชุมนุมอยู่ที่นั้น ก็ได้คุกเข่าลงกราบถวายบังคมทั่วกัน[17] และในคืนนั้นได้มีประกาศภาษาไทยให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชผู้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม จึงให้ออกพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[18]
ในวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 จึงรับบรมราชาภิเษก เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานารถมหาสมมตวงษ์ อดิศัยพงษวิมลรัตน์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฏนเรนทรสูรสันตติวงษวิสิฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหารอดิเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ บุริมศักดิสมญาเทพวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุตสมบัติ เสนางคนิกรรัตน์อัศวโกศล ประพนธปรีชามัทวสมาจาร บริบูรณ์คุณสารสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร บรมชนกาดิศรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเสวตฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศรามาธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤไทย อโนปไมยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว"[19]
ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 ทรงเห็นชอบกับคำกราบบังคมทูลของเหล่าเสนาบดีให้เฉลิมพระปรมาภิไธย "สมเด็จพระรามาธิบดี" แทนคำว่า "สมเด็จพระปรเมนทร" จึงมีพระปรมาภิไธยอย่างสังเขปว่า "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว"[20] และเมื่อยกรามาธิบดีเป็นคำนำพระปรมาภิไธยแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้แก้นเรศรามาธิบดี เป็นนเรศราธิบดี แทน[21]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เยือนต่างประเทศทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการหลายครั้ง โดยในระหว่าง พ.ศ. 2443 - 2444 เป็นการเสด็จไปทรงเยี่ยมพระมหากษัตริย์ และประมุขของประเทศต่าง ๆ เพื่อเจริญพระราชไมตรี และศึกษาดูงานกิจการต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นการเสด็จฯ ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ก่อนเสด็จนิวัตประเทศไทยหลังทรงสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ พระองค์ได้เสด็จเยือนประเทศต่าง ๆ ได้แก่ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม รัสเซีย อียิปต์ ออสเตรีย ฮังการี ฝรั่งเศส เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยแต่ละประเทศให้การยกย่องพระองค์และจัดการรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติดังนั้น เมื่อพระองค์เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว ประเทศไทยจึงยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศ รวมถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างประมุขต่อประมุขด้วย [22]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชสมบัติในช่วงที่ประเทศกำลังประสบวิกฤตเศรษฐกิจจากเหตุภัยแล้ง พ.ศ. 2450-2453[23] และเป็นยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว องค์ความรู้ต่างๆ รวมทั้งแนวคิดทางการเมือง หรือข่าวคราวการปฏิวัติในต่างประเทศได้ไหลบ่าเข้ามาสู่ผู้มีการศึกษาในสยาม
ในเดือนแรกหลังขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงปรับโครงสร้างกองทัพโดยการยุบกรมยุทธนาธิการ ทรงตั้งกระทรวงกลาโหมที่มีอำนาจบัญชากองทัพบกอย่างเดียว และทรงยกแยกกรมทหารเรือออกมาตั้งเป็นกระทรวงทหารเรือ มีอำนาจบัญชากองทัพเรืออย่างเดียว[24] อย่างไรก็ตาม การคลังสยามในเวลานั้นอยู่ในภาวะขัดสน ถึงกระนั้น กองทัพก็ยังคงเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด รายจ่ายด้านการป้องกันอาณาจักรคิดเป็นร้อยละ 24.3 ขณะที่รายจ่ายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจด้านเกษตรกรรม การศึกษา และพาณิชยกรรมรวมกันคิดเป็นเพียงร้อยละ 5.9 เท่านั้น[25]
รัฐบาลสยามในรัชสมัยพระองค์ยังค่อนข้างมีหัวแบบอนุรักษนิยม ต่อต้านการรับเงินทุนจากต่างชาติ และมีอคติต่อการให้สัมปทานต่อต่างชาติเข้ามาลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เงินทุนในสยามมีน้อย ประชากรส่วนใหญ่ยังยากจนข้นแค้น เหตุอื้อฉาวที่พระองค์ทรงย่ำยีเกียรติของทหารบกเมื่อครั้งเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ทำให้นายทหารส่วนใหญ่ไม่ค่อยนับถือพระองค์ ถึงขนาดที่หลังครองราชย์แล้ว พระองค์ถูกหว่านบัตรสนเท่ห์บริภาษอย่างรุนแรงว่าพระองค์ "เป็นคนเลวทรามไม่ควรจะอยู่บนพื้นโลก"[26] ซึ่งพระองค์ทรงตอบโต้ไว้ต่อบัตรสนเท่ห์ดังกล่าวว่า "พวกเก๊กเหม็งในกรุงเทพออกจะฟุ้งสร้านมาก พูดอึงไปถึงเรื่อง “รักชาติ” “ราษฎรเปนใหญ่” ฯลฯ ซึ่งเกิดเปนขี้ปากของพวกคนไทยเชื้อจีนขึ้นก่อน แล้วคนไทยหนุ่มๆที่ชอบคบเจ๊กพลอยเก็บขี้ปากของมันมาพูดกันบ้าง"[26] ข้อความนี้สะท้อนได้ว่า พระองค์ทรงมองประชาธิปไตยเป็นแนวคิดเพ้อเจ้อที่ถูกเสี้ยมโดยชาวไทยเชื้อสายจีน
นอกจากนี้ พระมงกุฎเกล้ามีความโปรดปรานใกล้ชิดบรรดามหาดเล็กเป็นพิเศษ ทรงสนใจอยู่แต่กับโขนการละคร ในรัชสมัยของพระองค์ มหาดเล็กกลายเป็นหน่วยราชการที่เติบโตอย่างรวดเร็วเกินกว่านายทหาร คราวที่พระองค์พระราชทานเงินของขวัญวันเกิดมหาศาลให้แก่เจ้าพระยารามราฆพ ได้เกิดปฏิกิริยาจากนายทหารที่ว่า "พระเจ้าแผ่นดินรักคนใช้มากดีไหม...ให้เงินทีตั้ง 100 ชั่ง หมายความว่ากระไร... พระเจ้าแผ่นดินเอาแต่เล่นโขน เอาเงินมาสร้างบ้านซื้อรถให้มหาดเล็ก...ทำไมพระราชาองค์นี้จึงโปรดมหาดเล็ก แต่ผู้หญิงไม่ชอบเลย"[27]
ด้วยความที่การที่พระมงกุฎเกล้าทรงขาดบารมีเหนือกองทัพ นายทหารในกองทัพภักดีต่อผู้บังคับบัญชาและอาจารย์ของตนมากกว่ากษัตริย์ เรื่องนี้พระองค์ทรงตระหนักเป็นอย่างดี ทรงมองว่าพระองค์ต้องเร่งสร้างความจงรักภักดีให้ขยายออกไปอย่างเร่งด่วนในหมู่ข้าราชการ พระองค์จึงทรงตั้งกองกำลังกึ่งทหารที่เรียกว่า "กองเสือป่า" ขึ้นเมื่อ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 ตัวพระองค์ทรงดำรงตำแหน่ง "นายกองใหญ่" มีเชื้อพระวงศ์และข้าราชบริพารบางส่วนเป็นคณะผู้บังคับบัญชา และมีข้าราชการพลเรือนเป็นพลเสือป่า[28]
การเป็นสมาชิกเสือป่าเป็นหนทางใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และยังได้สิทธิยกเว้นการเกณฑ์ทหาร ทำให้เครือข่ายเสือป่าขยายตัวทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว การที่ผู้บังคับบัญชาเสือป่าคือเหล่าผู้ใกล้ชิดพระองค์ ทำให้ในที่สุด เครือข่ายเสือป่าเริ่มแทรกแซงระบบราชการจนเสียหาย บางครั้งมีการเรียกตัวพลเสือป่าที่เป็นข้าราชการมาซ้อมรบ ทำให้ข้าราชการผู้นั้นขาดจากงานราชการปกติ บ้างก็เบียดบังงบประมาณแผ่นดินมาอุดหนุนกองเสือป่า การซ้อมรบเสือป่าก็ไม่มีความจริงจังเพื่อฝึกฝนความชำนาญ มักจัดฉากให้กองเสือป่าหลวงของพระองค์ชนะอยู่เสมอ มีครั้งหนึ่งที่ทรงซ้อมรบแพ้เจ้าพระยายมราช ก็รับสั่งให้คุมตัวเจ้าพระยายมราชมาและตัดสินใหม่ให้พระองค์ชนะ การซ้อมรบของเสือป่าจึงเป็นเพียงเพื่อความสำราญสนุกสนานของกษัตริย์[29] อาวุธของกองเสือป่าก็หยิบยืมมาจากกองทัพบกแทบทั้งสิ้น
การตั้งกองเสือป่าสร้างความคับแค้นใจแก่ทหารบกที่รู้สึกว่าถูกเบียดบังหน้าที่และทรัพยากร ในด้านกองทัพเรือยิ่งเลวร้าย มีการตัดค่าวิชาเดินเรือ มีการตัดเบี้ยเลี้ยงนักเรียนนายเรือเหลือวันละสลึง[30] บรรดาทหารต่างรู้สึกว่าถูกกษัตริย์ทอดทิ้ง ในขณะที่มหาดเล็กและผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทต่างได้ดิบได้ดี
ความคับแค้นใจที่ทหารเรือมีต่อพระองค์ ทำให้ทหารเรือแสดงออกโดยการเอาตอร์ปิโดประดับบนโต๊ะเสวยในงานเลี้ยงโรงเรียนนายเรือที่พระองค์เสด็จเป็นประธาน[30] หรือการก่อวิวาทกับบรรดามหาดเล็กบ่อยครั้ง นำไปสู่การปลดพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จากตำแหน่งอาจารย์เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2454 มีเนื้อความว่า "พวกนายทหารเรือที่ได้ศึกษาวิชาการมาจากโรงเรียนนายเรือมีความอิ่มเอิบกำเริบใจ จนไม่รู้สึกพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดิน มีความมัวเมาไปด้วยกำลังโมหจริตแห่งตน...นี่เพราะผู้ฝึกสอนและเปนใหญ่ปกครองละเลยไม่กำหราบศิษย์ อันมีจิตร์ฟุ้งสร้าน ศิษย์จึงมีความละเลิงใจ"[31]
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเล็งเห็นหลากหลายปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน ทรงโน้มน้าวให้พระมงกุฎเกล้าแก้ไขนโยบายหลายอย่าง เช่นทรงมองว่าการตั้งกองเสือป่ามีหลักการที่ดีแต่ก็มีจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไขมาก แต่คำแนะนำทั้งหมดถูกพระมงกุฎเกล้าเพิกเฉย[32]
ความคับแค้นใจต่อการปกครองของพระองค์จากเหตุปัจจัยข้างต้น ทำให้นายทหารกลุ่มหนึ่งและวางแผนลอบปลงพระชนม์และเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบใหม่ (ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญไม่ก็ระบอบสาธารณรัฐ) ซึ่งคณะผู้ก่อการได้รวมตัวกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2455 ประกอบด้วยผู้ร่วมคณะเริ่มแรกจำนวน 7 คน คือ [33] ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์, ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต.จรูญ ษตะเมษ, ร.ต.เนตร์ พูนวิวัฒน์ จาก กองปืนกล รักษาพระองค์, ร.ต.ปลั่ง บูรณโชติ, ร.ต.หม่อมราชวงศ์แช่ รัชนิกร, ร.ต.เขียน อุทัยกุล
คณะผู้ก่อการวางแผนจะก่อการในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และวันขึ้นปีใหม่ ผู้ที่จับฉลากว่าต้องเป็นคนลงมือลอบปลงพระชนม์ คือ ร.อ.ยุทธ คงอยู่ เกิดเกรงกลัวความผิด จึงนำความไปแจ้งหม่อมเจ้าพันธุ์ประวัติ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ และพากันนำความไปแจ้งกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ[34] ความทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประทับอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม คณะผู้ก่อการทั้งหมดจึงถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์[35]
ภายหลังการกวาดล้างกบฏ พระมงกุฎเกล้าให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์สยามออฟเซิร์ฟเวอร์ ทรงแสดงท่าทีสนับสนุนให้เกิดระบบรัฐสภาเมื่อถึงเวลาอันควร[32]
พ.ศ. 2457 สงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุขึ้นในทวีปยุโรป ทรงให้ความสนใจและติดตามข่าวการสงครามอย่างใกล้ชิด ในตอนแรกพระองค์มีนโยบายวางตัวเป็นกลาง แต่ก็เริ่มเอนเอียงไปเข้าข้างฝ่ายไตรภาคี (บริเตนใหญ่, ฝรั่งเศส และรัสเซีย) ในที่สุด ประเทศสยามประกาศตัวเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร[36] และประกาศสงครามต่อจักรวรรดิเยอรมันและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 การตัดสินพระทัยในครั้งนั้นได้รับการคัดค้านจากประชาชนทั่วไป[37] เนื่องจากในสมัยนั้นมีคนสยามไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีเป็นจำนวนมาก จึงนิยมและเคารพเยอรมนีเป็นเสมือนครูบาอาจารย์ และเยอรมนีไม่เคยสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้สยามมาก่อน[38]
ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรเปลี่ยนสถานะของสยามจากบ้านป่าเมืองเถื่อนห่างไกลเป็นประเทศที่เชิดหน้าชูตา และได้เป็นสมาชิกแรกก่อตั้งของสันนิบาตชาติที่ตั้งขึ้นใหม่หลังสงคราม และยังได้แก้ไขสนธิสัญญาที่สยามเสียเปรียบต่อประเทศอื่นๆด้วยกันถึง 13 ประเทศ การตัดสินพระทัยครั้งนี้ของพระองค์นับว่าถูกต้อง และช่วยกอบกู้ความนิยมของพระองค์ในหมู่ราษฎรได้ไม่น้อย
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัวทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับพระราชกรณียกิจด้านศิลปวัฒนธรรม[39] โดยเฉพาะศิลปการแสดง จนนับได้ว่ารัชสมัยของพระองค์เป็นยุคทองของศิลปะด้านการแสดง ทั้งแบบจารีตคือ โขน ละครนอก ละครใน และละครแบบใหม่ซึ่งได้รับอิทธิพลของประเทศตะวันตก อันได้แก่ ละครร้อง ละครพูด ละครดึกดำบรรพ์ ความสนพระทัยของพระองค์ต่องานแสดงนั้น มิใช่เพียงแต่การทอดพระเนตรดังเช่นรัชกาลที่ผ่านมา แต่ได้มีส่วนพระราชนิพนธ์บทละครทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศรวมประมาณ 180 เรื่อง ทรงควบคุมการแสดง และทรงแสดงร่วมด้วย[40]
ในช่วงปลายรัชกาลทรงใช้เวลาส่วนพระองค์ไปกับการพระราชนิพนธ์บทละคร และบทความเพื่อตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ พระองค์ได้ออกหนังสือข่าวของ "ดุสิตธานี" ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ คือ ดุสิตสมัย รายวัน และดุสิตสมิธ ราย 3 เดือน ซึ่งได้รับความนิยมมาก มีทั้งเรื่องการเมือง เรื่องตลกขบขัน เบ็ดเตล็ด และกวีนิพนธ์ ลักษณะเด่นคือมีการ์ตูนล้อการเมือง[41] หนังสือพิมพ์เป็นเวทีแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและสนามสำหรับแสดงโวหาร พระราชนิพนธ์ที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ได้แก่ "โคลนติดล้อ" เป็นการเขียนถึงสังคม ความเป็นอยู่ และการเมืองของไทย
ในปี 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยเจ้าจอมสุวัทนาเสด็จเยือนสหพันธรัฐมลายู การแก้ไขสนธิสัญญาความไม่เท่าเทียมกันกับมหาอำนาจยุโรปคืบหน้าไปทีละน้อย ในขณะที่วิกฤตการณ์ทางการเงินกำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสยาม เนื่องจากมีการกู้เงินจากอังกฤษที่ทำให้ขุนนางและข้าราชการถูกปลดออกจำนวนมาก ในปี 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ยุบมณฑลสุราษฎร์เข้ากับมณฑลนครศรีธรรมราชเพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดิน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรพระโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทรตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 โดยทรงได้เสวยพระกระยาหารผิดสำแดงและทรงพระบังคน มีมดมาเกาะพระบังคนหมอจึงสรุปว่า มีเบาหวานแทรกซ้อนแต่พระอาการก็ทรงกับทรุด จนเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เวลา 1 นาฬิกา 45 นาที[42] โดยได้อัญเชิญพระบรมศพไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท รวมพระชนมพรรษาได้ 44 พรรษา และเสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้ 15 พรรษา แต่รัชกาลที่ 7 มีพระราชประสงค์กำหนดวันสวรรคตของรัชกาลที่ 6 เป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน และถือว่าวันพระมหาธีรราชเจ้าตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน[43] ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2468 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2469) มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง [44]ส่วนพระบรมราชสรีรางคารได้เชิญไปประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และเชิญไปประดิษฐาน ณ พระปฤศฤๅงค์ พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ส่วนพระบรมอัฐิส่วนหนึ่งเชิญไปประดิษฐาน ณ พระวิมานองค์กลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และ อีกส่วนหนึ่งเชิญไปประดิษฐาน ณ พระวิมานพระอัฐิ วังรื่นฤดี[45] ของ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียว
เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริให้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธวิไลยลักษณา พระธิดาพระองค์กลางในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ถึงกับมีการหมายมั่นว่าพระองค์เจ้าสุทธวิไลยลักษณาจะได้เป็นสมเด็จพระราชินีในอนาคต แต่หลังจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศก็มิได้สนพระทัยในพระองค์เจ้าสุทธวิไลยลักษณานัก[46] และเมื่อตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงถูกเกณฑ์ให้เลือกคู่ แต่ก็มีพระราชกระแสว่า "ก็ฉัน ไม่รักนี่นา"[47]
ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเพลินไปกับการอุทิศพระองค์เพื่อดำเนินพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ในอันที่จะทรงนำสยามประเทศก้าวขึ้นสู่การยอมรับของนานาอารยประเทศ กระทั่งปี พ.ศ. 2460 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งแล้ว จึงได้มีพระราชกระแสทรงพระราชปรารภกับคุณมหาดเล็กที่ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทว่า "รบศึกยังไม่ชนะ ยังไม่มีเมีย ชนะศึกมีเมียได้แล้ว"[48] ทว่าเมื่อกองทหารอาสาที่ไปร่วมรบในงานพระราชสงคราม ณ ทวีปยุโรปเดินทางกลับมาถึงพระนคร ยังไม่ทันครบเดือน สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งทรงพระประชวรเรื้อรังมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ก็มาด่วนเสด็จสวรรคตไปอีกพระองค์หนึ่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2462 ในพระราชสำนักจึงต้องมีการไว้ทุกข์ถวายต่อเนื่องกันมาอีกหลายเดือน เสร็จการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2463 แล้ว จึงได้มีพระราชดำริให้มีการรื่นเริงเพื่อคลายทุกข์โศก เริ่มจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการประกวดภาพ ครั้งที่ 2 ที่ศาลาวรนาฏเวทีสถาน พระราชวังบางปะอิน ในระหว่างวันที่ 8-12 กรกฎาคม พ.ศ. 2463 แล้วมีกระแสพระราชดำรัสว่า "อยากจะให้ชาวกรุงเทพฯ ได้ชมการประกวดภาพแบบนี้บ้าง" จึงได้ทรงกำหนดให้มีการประกวดภาพครั้งที่ 3 ที่พระราชวังพญาไท ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน[49] ทำให้พระองค์ได้พบกับหม่อมเจ้าวรรณวิมล พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นครั้งแรกที่ห้องทรงไพ่บริดจ์ในงานประกวดภาพเขียน ณ โรงละครวังพญาไท ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2463 พระองค์โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามของพระธิดาในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ โดยพระนามของหม่อมเจ้าวรรณวิมล เปลี่ยนเป็น หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี พร้อมกับขนิษฐาอีก 4 องค์ ที่รวมไปถึงหม่อมเจ้าวรรณพิมล ก็ได้รับพระราชทานพระนามเป็น หม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ และต่อมาในวันที่ 9 พฤศจิกายนปีเดียวกัน ได้สถาปนาหม่อมเจ้าวัลลภาเทวี ขึ้นเป็น พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี[50] แต่ด้วยมีเหตุพระราชอัธยาศัยไม่ต้องกัน จึงมีพระบรมราชโองการถอนหมั้นลงเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2463 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2464) และโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี[51]
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2464 ได้สถาปนาหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ พระขนิษฐาของอดีตพระวรกัญญาปทานขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ[52] ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน ปีเดียวกัน จึงสถาปนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ พร้อมกับทรงหมั้น และมีพระราชวินิจฉัยว่าจะได้ราชาภิเษกสมรสในภายหน้า[53] แต่ในวันที่ 27 ตุลาคม ของปีนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงราชาภิเษกสมรสกับเปรื่อง สุจริตกุล[54] อดีตนางสนองพระโอษฐ์ของอดีตพระวรกัญญาปทาน[55] ได้รับการแต่งตั้งมีราชทินนามเป็น พระสุจริตสุดา[56] แต่ก็มิได้ตั้งครรภ์ตามพระราชประสงค์
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2464 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2465) จึงได้ราชาภิเษกสมรสกับประไพ สุจริตกุล น้องสาวของพระสุจริตสุดา และได้มีราชทินนามเป็น พระอินทราณี[57]
ด้วยเหตุที่พระอินทราณีได้ตั้งครรภ์ จึงได้รับการสถาปนาเป็น พระวรราชชายาเธอ[58] และพระบรมราชินี[59] ตามลำดับ แต่ในปลายปีเดียวกันนั้นก็ได้สถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ขึ้นเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ[60] แต่ทั้งสองพระองค์มิได้ราชาภิเษกสมรสหรือมีพระราชโอรสธิดาด้วยกัน ท้ายที่สุดจึงตัดสินพระทัยแยกกันอยู่
ภายหลังสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ทรงตกพระครรภ์หลายครั้ง กระทั่งในปี พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนาสุวัทนา อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นเจ้าจอมสุวัทนา[61] ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2468 ได้มีการเขียนพระราชพินัยกรรมขึ้น โดยได้เขียนไว้ว่าว่าห้ามนำพระอัฐิของพระองค์ตั้งคู่กับพระอัฐิของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี หากจะตั้งก็ให้ตั้งคู่กับเจ้าจอมสุวัทนา เพราะทรงยกย่องว่าเป็น "เมียดีจริงๆ" และยังเป็นที่ทรงหวังว่าจะมีพระราชโอรสสืบไปได้[62] และด้วยเกิดเหตุหลายประการเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี อันมีเรื่องการตกพระครรภ์หลายครั้ง เป็นเหตุผลประการหนึ่ง จึงมีการลดพระอิสริยยศของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ลงเป็น พระวรราชชายา เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468[63][64] ต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเองก็ได้มีการสถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาซึ่งเป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะประสูติกาลพระบุตรในไม่ช้า ขึ้นเป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เพื่อ "...ผดุงพระราชอิศริยยศแห่งพระกุมารที่จะมีพระประสูติการในเบื้องหน้า"[65]
แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรหนักและมีพระอาการรุนแรงขึ้น ในยามนั้นพระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีประทับ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ซึ่งติดกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เพื่อทรงรอฟังข่าวพระประสูติการอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งพระนางเจ้าสุวัทนา มีพระประสูติการเจ้าฟ้าหญิงในวันที่ 24 พฤศจิกายน จากนั้นในเวลาบ่าย เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ได้เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ” เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชดำรัสว่า “ก็ดีเหมือนกัน”[66] จนรุ่งขึ้นในวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน เจ้าพระยารามราฆพ เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยไปเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมชนกนาถผู้ทรงพระประชวรหนักบนพระแท่น เมื่อทอดพระเนตรแล้ว ทรงพยายามยกพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา แต่ก็ทรงอ่อนพระกำลังมากจนไม่สามารถจะทรงยกพระหัตถ์ได้เนื่องจากขณะนั้นมีพระอาการประชวรอยู่ในขั้นวิกฤต เจ้าพระยารามราฆพจึงเชิญพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา เมื่อจะเชิญเสด็จพระราชกุมารีกลับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโบกพระหัตถ์แสดงพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรพระราชธิดาอีกครั้ง จึงเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมาเฝ้าฯ เป็นครั้งที่สอง และเป็นครั้งสุดท้ายแห่งพระชนมชีพจนกลางดึกคืนนั้นเองก็เสด็จสวรรคต[66]
พระราชธิดาพระองค์นั้นต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2468[67] โดยมีสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ทรงพระเมตตาเอาพระราชหฤทัยใส่ดูแลทั้งด้านพระอนามัยและความเป็นอยู่มาโดยตลอด ด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงพระประชวรหนักนั้น ได้มีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าว่า “ขอฝากลูกด้วย” สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้ายังได้มีพระราชกระแสถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “เจ้าฟ้านี่ ฉันตายก็นอนตาไม่หลับ พระมงกุฎฝากฝังเอาไว้”[66] ต่อมาเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา พร้อมด้วยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้เสด็จฯ ไปประทับที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480[68] จนในปี พ.ศ. 2501 ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ นิวัติกลับประเทศไทยเป็นการถาวรและประทับที่วังรื่นฤดีร่วมกัน[68] ท้ายที่สุด สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีได้สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิตเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 16.37 นาฬิกา[69] ณ ตึก 84 ปี โรงพยาบาลศิริราช สิริพระชนมายุได้ 85 พรรษา
พระภรรยาเจ้า ตำแหน่งพระวรราชเทวี | ||||
พระรูป | พระนาม | พระสกุลวงศ์ | พระราชธิดา | |
---|---|---|---|---|
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี (เครือแก้ว อภัยวงศ์) |
บุตรีของ พระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) และ คุณเล็ก บุนนาค | สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี | ||
พระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง พระนางเธอ | ||||
พระรูป | พระนาม | พระสกุลวงศ์ | พระราชบุตร | |
พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ (หม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ) |
พระธิดาใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้นที่ 4 กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และ หม่อมหลวงตาด วรวรรณ (สกุลเดิม มนตรีกุล) | ไม่มีพระราชโอรส-ธิดา | ||
พระภรรยาเจ้า ตำแหน่ง พระวรราชชายา | ||||
พระฉายาลักษณ์ | พระนาม | พระสกุลวงศ์ | พระราชบุตร | |
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา (ประไพ สุจริตกุล) |
บุตรีของ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) และ ท่านผู้หญิงกิมไล้ สุธรรมมนตรี |
| ||
พระสนมเอก | ||||
รูป | ชื่อ | ชาติตระกูล | พระราชบุตร | |
พระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) | บุตรีของ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) และ ท่านผู้หญิงกิมไล้ สุธรรมมนตรี | ไม่มีพระราชโอรส-ธิดา | ||
อดีตพระคู่หมั้น | ||||
พระรูป | พระนาม | พระสกุลวงศ์ | พระราชบุตร | |
พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี (หม่อมเจ้าวรรณวิมล วรวรรณ) |
พระธิดาใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้นที่ 4 กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และ หม่อมอินทร์ วรวรรณ ณ อยุธยา | ไม่มีพระราชโอรส-ธิดา | ||
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังดำรงพระอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชทานนาม โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2448[70] ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของเชียงใหม่ และพระราชทานนาม โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2449 ซึ่งก่อตั้งโดยคณะมิชชันนารีอเมริกา ซึ่งไม่เป็นเพียงแต่การนำรูปแบบการศึกษาตะวันตกมายังหัวเมืองเหนือเท่านั้น แต่ยังแฝงนัยการเมืองระหว่างประเทศเอาไว้ด้วย[71] เห็นได้จากการเสด็จประพาสมณฑลพายัพทั้งสองครั้งระหว่าง พ.ศ. 2448-2450 พระองค์ได้ทรงสนพระทัยในกิจการโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ทั้งสิ้น โดยพระองค์ทรงบันทึกไว้ในพระราชนิพนธ์ "เที่ยวเมืองพระร่วง" และ "ลิลิตพายัพ"[71] ทั้งนี้ เป้าหมายของการจัดการศึกษายังแฝงประโยชน์ทางการเมืองที่จะให้ชาวท้องถิ่นกลมเกลียวกับไทยอีกด้วย[71]
พระองค์ทรงริเริ่มสร้างโรงเรียนขึ้นแทนวัดประจำรัชกาล ได้แก่ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบัน คือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย[72]) ทั้งยังทรงสนับสนุนกิจการของโรงเรียนราชวิทยาลัยซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 2440 (ปัจจุบัน คือ โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์) และในปี พ.ศ. 2459 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย[73][74]
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติคลังออมสิน พ.ศ. 2456 ขึ้น เพื่อให้ประชาชนรู้จักออมทรัพย์และเพื่อความมั่นคงในด้านเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังทรงริเริ่มก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทยขึ้น ทรงจัดตั้งสภาเผยแผ่พาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานคล้ายกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจในปัจจุบัน และใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ ธนาคารสยามกัมมาจล ทุนจำกัด (ปัจจุบันคือ ธนาคารไทยพาณิชย์) ซึ่งมีปัญหาการเงิน ทำให้ธนาคารของคนไทยแห่งนี้ดำรงอยู่มาได้
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายในราชสำนักของพระองค์ค่อนข้างฟุ่มเฟือย[75] กระทรวงพระคลังมหาสมบัติต้องถวายเงินเพิ่มขึ้นมากในพระคลังข้างที่ ทั้งนี้เพราะเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหมกมุ่นอยู่กับแต่ศิลปะวิทยาการ ทำให้การคลังของประเทศอ่อนแอ รายจ่ายของแผ่นดินมีสูงกว่ารายได้ ส่งผลให้เกิดยุคข้าวยากหมากแพงในตอนปลายรัชกาล[75] ไปจนถึงในรัชกาลถัดไป
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 ทรงจัดตั้งกองเสือป่าและทรงจัดตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) ด้านการฝึกสอนระบอบประชาธิปไตย ทรงทดลองตั้ง "เมืองมัง"[76] หลังพระตำหนักจิตรลดาเดิม ทรงจัดให้เมืองมัง มีระบอบการปกครองของตนเองตามวิถีทางประชาธิปไตย รวมถึงเมืองจำลอง "ดุสิตธานี"[77] ในพระราชวังดุสิต (ต่อมาทรงย้ายไปที่พระราชวังพญาไท) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งวชิรพยาบาลเมื่อ พ.ศ. 2455 และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เมื่อ พ.ศ. 2457[78] ทรงเปิดสถานเสาวภา เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2465 เพื่อผลิตวัคซีนและเซรุ่ม เป็นประโยชน์ทั้งแก่ประชาชนชาวไทยและประเทศใกล้เคียงอีกด้วย[79] ทรงเปิดการประปากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 ในปี พ.ศ. 2460 ทรงตั้งกรมรถไฟหลวง และเริ่มเปิดการเดินรถไฟสายกรุงเทพมหานครถึงจังหวัดเชียงใหม่ สายใต้จากธนบุรีเชื่อมกับปีนังและสิงคโปร์ อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานพระราม 6 เพี่อเชื่อมทางรถไฟไปยังภูมิภาคอื่น[80]
พระองค์ทรงยกเลิกบ่อนการพนัน หวย ก.ข. และลดการค้าฝิ่น ซึ่งเป็นอบายมุขมอมเมาประชาชน แม้ว่าจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลแหล่งหนึ่งก็ตาม[81] ทรงโปรดให้มีการตั้งนามสกุลเหมือนกับประเทศอื่น ๆ โดยให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455[82] และมีการพระราชทานนามสกุลให้แก่หลายครอบครัวที่เรียกว่า นามสกุลพระราชทานจำนวน 6,464 นามสกุล ทรงประกาศให้มีการใช้พุทธศักราชแทนรัตนโกสินทร์ศก เพราะมีพระราชดำริว่าการใช้รัตนโกสินทร์ศกมีข้อบกพร่องตรง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มใช้พุทธศักราช เป็นศักราชในทางราชการมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456[83] นอกจากนี้ทรงให้เปลี่ยนการนับเวลามาเรียกว่านาฬิกาและนับเวลาทางราชการใหม่ให้สอดคล้องกับธรรมเนียมสากลนิยม โดยให้ถือเวลาหลังเที่ยงคืนเป็นวันรุ่งขึ้นหรือวันใหม่ ซึ่งจากเดิมประเทศไทยนับเวลาตอนกลางวันเป็นโมง ตอนกลางคืนเป็นทุ่ม[84]
เมื่อรัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองอุทัยธานี ซึ่งขณะนั้นประสบเหตุอุทกภัยและทอดพระเนตรเห็นธงช้างของราษฎรซึ่งตั้งใจรอรับเสด็จไว้ถูกติดกลับหัว พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติอีกครั้ง โดยเปลี่ยนเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับแถบสีขาว 2 แถบ ซึ่งเหมือนกับธงชาติไทยในปัจจุบัน แต่มีเพียงสีแดงสีเดียว ซึ่งธงนี้เรียกว่า ธงแดงขาว 5 ริ้ว (ชื่อในเอกสารราชการเรียกว่า ธงค้าขาย) [85] พ.ศ. 2460 แถบสีแดงที่ตรงกลางธงค้าขายได้เปลี่ยนเป็น สีน้ำเงินขาบ หรือสีน้ำเงินเข้มเจือม่วงดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน[86] เหตุที่รัชกาลที่ 6 ทรงเลือกสีนี้เพราะสีขาบเป็นสีประจำพระองค์ที่โปรดมาก เนื่องจากเป็นสีประจำวันพระราชสมภพคือวันเสาร์ ตามคติโหราศาสตร์ไทย[87] ธงชาติแบบใหม่นี้ได้รับพระราชทานนามว่า "ธงไตรรงค์" ในปีพ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาคำนำหน้านามกำหนดให้ใช้คำนำหน้านามอย่างอารยประเทศ นั่นคือ ให้มีคำว่า เด็กชาย เด็กหญิง นาย นาง และนางสาวนำหน้าชื่อ[88]
ทรงตั้งกรมมหรสพ เพื่อฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย และยังได้ทรงสร้างโรงละครหลวงไว้ในพระราชวังทุกแห่ง[89] นอกจากนี้ ยังทรงสนพระราชหฤทัยด้านจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกแบบอาคารสมัยใหม่เป็นแบบทรงไทย เช่น ตึกอักษรศาสตร์ ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาคารโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ทรงส่งเสริมให้มีการแต่งหนังสือ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติวรรณคดีสโมสรย[90] สำหรับในด้านงานหนังสือพิมพ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสมุด เอกสาร พ.ศ. 2465 ขึ้น
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนศิลปะการแสดงโขนด้วยการพระราชนิพนธ์บท ทรงควบคุมการจัดแสดงและฝึกซ้อมด้วยพระองค์เอง และทรงโปรดให้ครูโขนละครจากคณะของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) เป็นผู้ฝึกหัดคณะโขของพระองค์ ด้านการละครทรงนำแบบอย่างมาเผยแพร่ ทั้งบทละคร วีธีแสดง การวางตัวละครบนเวที การเปล่งเสียงพูด พระองค์ทรงมีบทบาททั้งการพระราชนิพนธ์บทละคร ทรงควบคุมการแสดงและทรงแสดงร่วม พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทร้องประกอบเนื้อเรื่อง ทั้งทำนองเพลงไทยและเพลงสากล นอกจากนี้ยังทรงโปรดฯให้มีการสอนและฝึกซ้อมดนตรีไทยควบคู่ไปกับการเรียนการสอนวิชาสามัญ[91]
ขณะดำรงพระยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ในระหว่างปิดภาคเรียนขณะทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศส[92] และเสด็จทอดพระเนตรกิจการทหารของประเทศในภาคพื้นยุโรปเป็นเนืองนิจ ในปีพ.ศ. 2445 ขณะทรงพระชนมายุ 22 พรรษา หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดแล้ว พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปจนถึงประเทศอียิปต์ เพื่อเป็นการเจริญสัมพันธไมตรี จากนั้นประทับอยู่ในกรุงลอนดอนระยะหนึ่งเพื่อเตรียมพระองค์นิวัตประเทศไทย[93]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการประกาศสงครามกับประเทศฝ่ายเยอรมัน ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460[94] โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วยประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียเป็นผู้นำ พร้อมทั้งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งทหารไทยอาสาสมัครไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรปด้วย ผลของสงครามประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัยชนะ ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเจรจากับประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ ในการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เช่น สนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต สนธิสัญญาจำกัดอำนาจการเก็บภาษีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สนธิสัญญาจำกัดอำนาจกลางประเทศไทย[95]
ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นหลายแห่ง เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ
มีพระบรมราชานุสาวรีย์ที่เป็นจุดหลักที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เคยเสด็จไปทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะในวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี จำนวน 5 สถานที่ ดังนี้
เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งแรกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างด้วยทรัพย์พระราชทานจากพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี โดยประทานพระอนุญาตให้หักเงินรายได้ของพระองค์ 2 ใน 3 จากรายได้ทั้งหมด และทรัพย์พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งพระราชทานสมทบอีกส่วนหนึ่ง โดยส่วนที่เหลือรัฐบาลเป็นผู้อนุมัติงบจัดสร้าง สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2485 ประดิษฐาน ณ สวนลุมพินี ซึ่งเป็นบริเวณที่ดินส่วนพระองค์ ที่พระราชทานไว้เป็นสมบัติของประชาชน ทั้งนี้ในวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้แทนพระองค์ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลา ถวายบังคมพระบรมรูป[96]
เป็นอนุสรณ์สถานที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวาระครบรอบ 70 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร[97]
เริ่มจัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2505 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีประดิษฐานพระบรมรูป ณ พระบรมราชานุสรณ์หน้าหอประชุม และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ที่หน้าหอประชุม เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2508[98]
เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นภายหลัง ประดิษฐานอยู่กลางวงเวียนภายในหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (กรมการรักษาดินแดน เดิม)
ประดิษฐานบริเวณหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารออมสิน ถนนพหลโยธิน โดยธนาคารได้จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้พระราชทานกำเนิดธนาคาร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2509[99]
เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเมื่อคราวที่โรงเรียนสถาปนาครบรอบ 96 ปีและเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานนามโรงเรียนและมีพระราชหัตถเลขาชมเชยการสร้างโรงเรียนแทนการสร้างวัดวาอารามด้วยต้องตามพระราชนิยม และให้ประกาศออกไปทั่วพระราชอาณาจักรให้ราษฎรสร้างโรงเรียนแทนวัด นับเป็นโรงเรียนแรกในรัชสมัยที่พสกนิกรสร้างโรงเรียนถวายให้กับราชการ พระบรมราชานุสาวรีย์นี้อยู่ในพระอิริยาบถทรงยืน ฉลองพระองค์ชุดเสือป่าราบหลวง ด้านซ้ายของพระบรมรูปมีรูปหล่อโลหะเด็กชายสวมเครื่องแบบนักเรียนโรงเรียนวัดสุทธิวรารามนั่งถวายพานพุ่ม ส่วนด้านขวาของพระบรมรูปมีรูปหล่อโลหะเด็กชายสวมเครื่องแบบลูกเสือโรงเรียนวัดสุทธิวรารามนั่งถวายพานพุ่ม ทั้งหมดเป็นฝีมือของช่างจากกรมศิลปากร ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 และมีพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะในวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี
เป็นพระบรมรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับพระเก้าอี้ ฉลองพระองค์ชุดเสือป่าราบหลวงอย่างเก่าแบบทรงม้า เป็นฝีมือของช่างจากกรมศิลปากร ส่วนราชการจังหวัดนครปฐม ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้กลางพระราชวังสนามจันทร์ หลังเทวาลัยคเณศร์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2525[100][101]
เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นในภายหลัง เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์หล่อสำริดทรงยืนตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารเทียบรถพระที่นั่ง เป็นพระบรมรูปที่หล่อขึ้นมีขนาดเท่าพระองค์จริงทรงเครื่องยศจอมพลทหารบกประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี[102]
ตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิทหมายเลข 3 กิโลเมตรที่ 6 ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2544 โดยพลเรือโทสุทัศน์ ขยิ่ม ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ ได้ร่วมกับข้าราชการ ประชาชน และผู้มีจิตศรัทธาจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชสักการะ และแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานที่ดินทรงสงวน บริเวณอำเภอสัตหีบ ที่กองทัพเรือใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพเรือ โดยกองทัพเรือจะจัดพิธีวางพวงมาลาทุกวันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นประจำทุกปี[103]
ประดิษฐานบนแท่นหน้าตึกยุพราช โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จัดสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2557 เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยศยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชในรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานนามโรงเรียนว่า "โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย" ซึ่งมีความหมายว่า "โรงเรียนของสมเด็จพระยุพราช (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร)"[104]
ตั้งอยู่ ณ ค่ายหลวงบ้านไร่ ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีพิธีวางศิลาพระฤกษ์พระบรมราชานุสาวรีย์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 เนื่องจากค่ายหลวงบ้านไร่ เคยเป็นค่ายฝึกซ้อมรบเสือป่า ซึ่งเป็นตันกำเนิดของกิจการลูกเสือ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และทางราชการเห็นว่าสถานที่แห่งนี้มีความสำคัญจึงได้สร้างพระบรมราชาอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บ้านไร่แห่งนี้[105]
ตั้งอยู่ ภายในค่ายวชิราวุธ กองทัพภาคที่สี่ ค่ายทหารแห่งแรกในภูมิภาค
ตั้งอยู่ บริเวณหน้าอาคารเนติบัณฑิตยสภา เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
ตั้งอยู่ บริเวณหน้าอาคาร SCG 100 ปี ภายในบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร[106]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกำเนิดโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2453 เพื่อโรงเรียนแห่งนี้เป็นสถาบันที่ให้การศึกษาอย่างแท้จริงแก่กุลบุตรชาวไทย และเป็นเสมือนพระอารามหลวงประจำรัชกาล และพระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า "โรงเรียนมหาดเล็กหลวง"[107] ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามโรงเรียนให้ใหม่ว่า “วชิราวุธวิทยาลัย” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนสืบต่อไป[108]
ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 และชั้น 3 อาคารราชวัลลภ ภายในหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ตรงข้ามวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ถนนเจริญกรุง จัดแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชนิพนธ์ เครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น ชุดฉลองพระองค์ พระมาลา รองพระบาท อาวุธต่างๆ ในสมัยนั้น และประวัติความเป็นมาของกองกิจการเสือป่า ซึ่งทรงก่อตั้งและพัฒนามาเป็นนักศึกษาวิชาทหารในปัจจุบัน[109]
ก่อตั้งโดย หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล โดยถวายให้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงรับเป็นองค์ประธาน สร้างขึ้นเพื่อฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ 100 ปีของพระบาทสมเด็จพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2524 ตั้งอยู่ในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร เป็นอาคารทรงไทยขนาดใหญ่ อยู่ทิศเหนือของอาคารหอสมุดแห่งชาติ ชิดกับรั้วบริเวณท่าสุกรีซึ่งเคยเป็นที่ประทับแรม ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายครั้งหลายหน สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงประกอบพิธีวางศิลาพระฤกษ์ในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ครบ 8 รอบ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2520[110]
พระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ พระวชิระ ซึ่งมาจากพระบรมนามาภิไธยก่อนทรงราชย์ นั่นคือ "มหาวชิราวุธ" ซึ่งหมายถึง สายฟ้าอันเป็นศาสตราวุธของพระอินทร์ พระราชลัญจกรพระวชิระนั้น เป็นตรางา รูปรี กว้าง 5.5 ซ.ม. ยาว 6.8 ซ.ม. มีรูปวชิราวุธเปล่งรัศมีที่ยอด ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า 2 ชั้น มีฉัตรบริวารตั้งขนาบทั้งสองข้าง[111]
(1) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช | สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท | สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
(2) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย | สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ | สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
(3) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว | (4) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าปิ๋ว | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าโสมนัส | (5) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ | สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ | กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ | (6) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ | สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา | สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย | (7) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
(8) พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร | (9) พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
(10) พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.