Remove ads
อดีตรัฐจักรวรรดิในทวีปยุโรปกลาง (ค.ศ. 1867–1918) จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี[a] รู้จักกันในนาม ออสเตรีย-ฮังการี (อังกฤษ: Austria-Hungary) เป็นรัฐราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และเป็นมหาอำนาจในยุโรปกลาง[b] ที่ดำรงอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1867 ถึง ค.ศ. 1918[7][8] จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีได้รับการสถาปนาขึ้นจากการประนีประนอมระหว่างออสเตรียและฮังการี ใน ค.ศ. 1867 และถูกยุบหลังจากที่จักรวรรดิออสเตรีย–ฮังการีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ราชาธิปไตยออสเตรีย-ฮังการี | |
---|---|
ค.ศ. 1867–1918 | |
เมืองหลวง | เวียนนา[1] (ออสเตรีย) บูดาเปสต์ (ฮังการี) |
เมืองใหญ่สุด | เวียนนา |
ภาษาราชการ |
ภาษาอื่นๆ: เช็ก, โปแลนด์, รูทีเนีย, โรมาเนีย, เซอร์เบีย, สโลวัก, สโลวีเนีย, อิตาลี, โรมานี (สำเนียงคาร์เพเทีย), ยิดดิช,[4] และอื่น ๆ (ฟรียูลี, อิสเตรีย-โรมาเนีย, ลาดิน) |
ศาสนา |
|
เดมะนิม | ชาวออสเตรีย–ฮังการี |
การปกครอง | ราชาธิปไตยคู่ |
จักรพรรดิ-กษัตริย์ | |
• ค.ศ. 1867–1916 | ฟรันทซ์ โยเซ็ฟที่ 1 |
• ค.ศ. 1916–1918 | คาร์ลที่ 1 และ 4 |
มุขมนตรีออสเตรีย | |
• ค.ศ. 1867 (คนแรก) | ฟรีดริช แฟร์ดีนันท์ ฟ็อน บ็อยซท์ |
• ค.ศ. 1918 (ตนสุดท้าย) | ไฮน์ริช ลัมมัช |
นายกรัฐมนตรีฮังการี | |
• ค.ศ. 1867–1871 (คนแรก) | ดยุลอ นอดราชี |
• ค.ศ. 1918 (คนสุดท้าย) | ยานอช ฮาดิก |
สภานิติบัญญัติ | สภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2 แห่ง |
• สภาจักรวรรดิ | สภาขุนนาง สภาผู้แทนราษฎร |
• สภานิติบัญญัติฮังการี | สภาผู้ทรงอิทธิพล สภาผู้แทนราษฎร |
ยุคประวัติศาสตร์ |
|
30 มีนาคม ค.ศ. 1867 | |
• พันธมิตรคู่ | 7 ตุลาคม ค.ศ. 1879 |
• วิกฤตการณ์บอสเนีย | 6 ตุลาคม ค.ศ. 1908 |
28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 | |
• การรุกรานเซอร์เบีย | 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 |
31 ตุลาคม ค.ศ. 1918 | |
12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 | |
12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 | |
10 กันยายน ค.ศ. 1919 | |
4 มิถุนายน ค.ศ. 1920 | |
พื้นที่ | |
ค.ศ. 1905[6] | 621,538 ตารางกิโลเมตร (239,977 ตารางไมล์) |
สกุลเงิน |
|
จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีถูกปกครองด้วยราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค และถือเป็นระยะสุดท้ายในวิวัฒนาการทางรัฐธรรมนูญของราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีเป็นจักรวรรดิพหุชนชาติและเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของทวีปยุโรปในเวลานั้น ในด้านภูมิศาสตร์ จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากจักรวรรดิรัสเซีย โดยมีพื้นที่ 621,538 ตารางกิโลเมตร (239,977 ตารางไมล์)[6] และเป็นจักรวรรดิที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสาม (รองจากจักรวรรดิรัสเซียและจักรวรรดิเยอรมัน) จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีได้สร้างอุตสาหกรรมด้านการผลิตเครื่องจักรที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่สี่ รองจากสหรัฐ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร[9] นอกจากนี้ยังเป็นจักรวรรดิที่ผลิตและส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในภาคอุตสาหกรรม และเครื่องผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงงานไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสาม รองจากสหรัฐและจักรวรรดิเยอรมัน[10][11]
แกนกลางที่แท้จริงอองเตรีย–ฮังการี คือระบอบราชาธิปไตยคู่ซึ่งเป็นสหภาพที่มีองค์การร่วมกันระหว่างซิสไลทาเนีย ซึ่งมีพื้นที่อยู่ที่ฟากตะวันตกและฟากเหนือของอดีตจักรวรรดิออสเตรีย และราชอาณาจักรฮังการี ภายหลังการปฏิรูป ค.ศ. 1867 รัฐออสเตรีย และฮังการีก็มีอำนาจอย่างเท่าเทียมกัน รัฐทั้งสองดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศ ด้านการกลาโหม และด้านการคลังอย่างร่วมกัน ในขณะที่คณะรัฐมนตรีของรัฐต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดในจักรวรรดิก็ได้รับการแบ่งแยกการบริหารซึ่งอาจจะแตกต่างกันออกไปภายในแต่ละรัฐ โดยที่องค์ประกอบที่สามของสหภาพคือราชอาณาจักรโครเอเชีย-สลาโวเนีย ซึ่งเป็นภูมิภาคปกครองตนเองที่อยู่ภายใต้ราชบัลลังก์ฮังการี ซึ่งได้รับการเจรจาโดยความตกลงโครเอเชีย–ฮังการี ใน ค.ศ. 1868 ภายหลัง ค.ศ. 1878 บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองร่วมทั้งด้านการพลเรือนและด้านการทหารของออสเตรียและฮังการี[12] จนกระทั่งบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาถูกผนวกอย่างสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1908 ซึ่งทำให้วิกฤตการณ์บอสเนียเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่พอใจของมหาอำนาจอื่น ๆ[13]
จักรวรรดินี้ได้สืบทอดมาจากจักรวรรดิออสเตรีย (ค.ศ. 1804-ค.ศ. 1867) โดยมีอาณาเขตพื้นที่เดียวกัน โดยมีต้นกำเนิดจากการเจรจาต่อรองระหว่างออสเตรียและฮังการี เมื่อปีพ.ศ. 2410 ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ถูกราชวงศ์ฮาพส์บวร์คปกครองมาช้านาน โดยเจรจาให้มีการรวมอาณาจักรเป็นหนึ่งเดียว โดยจักรวรรดินี้เป็นอาณาจักรที่มีหลากหลายเชื้อชาติและมีความเจริญรุ่งเรืองขีดสุด ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม
ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คนั้นได้ปกครองประเทศในฐานะจักรพรรดิออสเตรีย และราชอาณาจักรฮังการีในฐานะพระมหากษัตริย์ฮังการี ผู้ทรงเปรียบเสมือนเบื้องขวาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า นอกจากนั้นยังได้ปกครองทั่วทั้งทางตะวันตกและทางเหนือ รวมทั้งครึ่งหนึ่งของทวีปยุโรปเลยทีเดียว โดยทุกประเทศที่อยู่ภายใต้จักรวรรดินี้ มีรัฐบาลเป็นของตนเอง มิได้มีรัฐบาลและศูนย์กลางทางการเมืองหรือรัฐบาลที่ประเทศเดียว เมืองหลวงของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีนั้น มีอยู่ 2 เมืองด้วยกันคือ กรุงเวียนนา ที่ประเทศออสเตรีย และกรุงบูดาเปสต์ที่ประเทศฮังการี จักรวรรดินี้มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากจักรวรรดิรัสเซีย และเป็นอาณาจักรที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับ 3 รองจากจักรวรรดิรัสเซียและจักรวรรดิเยอรมัน ซึ่งปัจจุบันนี้ พื้นที่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดินั้นมีประชากรรวมทั้งหมดถึง 73 ล้านคน
ชื่ออย่างเป็นทางการของราชาธิปไตยออสเตรีย–ฮังการีในภาษาเยอรมัน (Österreichisch-Ungarische Monarchie) และในภาษาฮังการี (Osztrák–Magyar Monarchia) ล้วนแปลได้ว่า ราชาธิปไตยออสเตรีย-ฮังการี[14] ถึงแม้ว่าชื่อที่นิยมใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะใช้คำว่า ออสเตรีย–ฮังการี ก็ตาม (เยอรมัน: Österreich-Ungarn; ฮังการี: Ausztria-Magyarország) ออสเตรียเองก็ยังได้ใช้คำว่า คา. อู. คา. โมนาร์ชี (k. u. k. Monarchie)[15] (ความหมายเต็มในภาษาเยอรมัน: Kaiserliche und königliche Monarchie Österreich-Ungarn; ฮังการี: Császári és Királyi Osztrák–Magyar Monarchia)[16] และ ราชาธิปไตยโดเนา (เยอรมัน: Donaumonarchie; ฮังการี: Dunai Monarchia) หรือ ราชาธิปไตยคู่ (เยอรมัน: Doppel-Monarchie; ฮังการี: Dual-Monarchia) และ นกอินทรีสองหัว (เยอรมัน: Der Doppel-Adler; ฮังการี: Kétsas) แต่คำเหล่านี้ก็ไม่ได้แพร่หลายทั้งในฮังการีและที่อื่นมากนัก
โดยชื่ออย่างเต็มในการบริหารภายในของราชาธิปไตยคือ เหล่าราชอาณาจักรและดินแดนอันมีผู้แทนในราชสภาและดินแดนแห่งมงกุฎฮังการีอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนักบุญอิชต์วาน
นับตั้งแต่ ค.ศ. 1867 เป็นต้นไป ชื่อย่อของหน่วยงานทางการของออสเตรีย–ฮังการีก็ได้สะท้อนถึงภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้:
ใน ค.ศ. 1868 หลังจากที่จักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟที่ 1 ทรงตัดสินพระทัยแล้ว ราชาธิปไตยก็ได้ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ราชาธิปไตยออสเตรีย–ฮังการี (เยอรมัน: Österreichisch-Ungarische Monarchie/Reich; ฮังการี: Osztrák–Magyar Monarchia/Birodalom) หากมีการใช้คำในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชื่อของออสเตรีย–ฮังการีมักจะใช้คำในรูปแบบโดยย่อว่า ราชาธิปไตยคู่ หรือเรียกโดยอย่างง่ายว่า ออสเตรีย[17]
การเจรจาต่อรองระหว่างออสเตรียและฮังการี ค.ศ. 1867 (หรือที่เรียกกันว่า เอาส์ไกลช์ [Ausgleich] ในภาษาเยอรมัน และกลีดแยเซช์ [Kiegyezés] ในภาษาฮังการี) อันเป็นจุดเริ่มต้นของโครงสร้างแบบควบคู่ของจักรวรรดิออสเตรีย–ฮังการี ภายในพื้นที่อันดั้งเดิมของจักรวรรดิออสเตรีย (ค.ศ. 1804–1867) ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นอันเนื่องมาจากการที่ออสเตรียเริ่มเสื่อมถอยทั้งทางกำลังทหารและทางอำนาจ ซึ่งเกิดขึ้นบนคาบสมุทรอิตาลี (อันเป็นผลมาจากสงครามประกาศอิสรภาพอิตาลีครั้งที่สอง ใน ค.ศ. 1859) และรัฐต่าง ๆ ของอดีตสมาพันธรัฐเยอรมันเดิม ถูกแทนที่ด้วยสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือภายใต้การนำของปรัสเซีย ซึ่งเป็นมหาอำนาจของรัฐผู้พูดภาษาเยอรมัน หลังสงครามออสเตรีย-ปรัสเซียสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1866 ซึ่งทำให้จักรวรรดิออสเตรียถูกทอดทิ้งให้อยู่นอกรัฐสมาพันธ์[18] การประนีประนอมได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง[19] ซึ่งรวมไปถึงการฟื้นฟูอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ของราชอาณาจักรฮังการี ซึ่งได้สูญเสียไปหลังจากที่พ่ายแพ้ในการปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1848
ปัจจัยอื่น ๆ ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่ฮังการีไม่พอใจที่ตนเองถูกกรุงเวียนนาปกครองโดยตรง และความตระหนักรู้ด้านชนชาติ (หรือชาติพันธุ์) อื่น ๆ ของจักรวรรดิออสเตรียที่เพิ่มมากขึ้น การที่ฮังการีไม่พอใจจักรวรรดิออสเตรียนั้น ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการที่ออสเตรียปราบปรามการจลาจลฮังการีในการปฏิวัติเสรีนิยมของฮังการี ใน ค.ศ. 1848 ซึ่งมีจักรวรรดิรัสเซียเข้ามาสนับสนุนอีกแรง อย่างไรก็ตาม ความไม่พอใจต่อการปกครองของออสเตรียในฮังการี มีมากขึ้นเป็นเวลาหลายปี และอาจมีสาเหตุอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
ในปลายคริสต์ทษวรรษที่ 1850 มีชาวฮังการีจำนวนมากซึ่งเคยให้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านจักรวรรดิออสเตรียในการปฏิวัติ ค.ศ. 1848–1849 คิดที่จะให้การยอมรับราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คด้วยความเต็มใจ โดยที่พวกเขาโต้แย้งว่า ฮังการีมีสิทธิ์ที่จะได้รับเอกราชจากภายในอย่างสมบูรณ์ ภายใต้การรับรองในทางทฤษฎี ค.ศ. 1713 กิจการด้านการต่างประเทศและการป้องกันประเทศ "ถือเป็นเรื่องที่ดูเหมือนกัน" ทั้งในออสเตรียและฮังการี[20]
ภายหลังจากที่ออสเตรียพ่ายแพ้ที่เคอนิชเกรทซ์ รัฐบาลก็ได้ตระหนักว่าควรที่จะปรองดองกับฮังการี เพื่อทำการรื้อฟื้นสถานะการเป็นมหาอำนาจ เคานต์ฟรีดริช แฟร์ดีนันท์ ฟ็อน บ็อยสท์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศคนใหม่ต้องการสรุปการเจรจากับฮังการีซึ่งยังทำอะไรไม่ได้มากนัก เพื่อรักษาอำนาจราชาธิปไตย ในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1867 จักรพรรดิฟรันซ์ โยเซ็ฟ ทรงเริ่มการเจรจากับขุนนางฮังการีซึ่งนำโดยแฟแร็นซ์ แดอาค รัฐสภาฮังการีซึ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่ที่แป็ชต์ได้เริ่มทำการเจรจาเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ เพื่อให้มีการอนุมัติกฎหมายในวันที่ 30 มีนาคม อย่างไรก็ตาม ผู้นำของฮังการีก็ให้การยอมรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของจักรพรรดิในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งฮังการี ในวันที่ 8 มิถุนายน เนื่องจากในการออกกฎหมายนั้นต้องมีความจำเป็นที่จะต้องทำในดินแดนแห่งมงกุฎฮังการีอันศักดิ์สิทธิ์[20] ในวันที่ 28 กรกฎาคม จักรพรรดิฟรันซ์ โยเซ็ฟ ในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งฮังการีซึ่งเป็นพระอิสริยยศใหม่ของพระองค์ ก็ทรงอนุมัติและประกาศใช้กฎหมายใหม่ ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของราชาธิปไตยคู่อย่างเป็นทางการ
การประนีประนอมได้เปลี่ยนอาณาจักรฮาพส์บวร์ค ให้กลายเป็นสหภาพที่มีองค์การร่วมกัน ระหว่างจักรวรรดิออสเตรีย ("เหล่าราชอาณาจักรและดินแดนอันมีผู้แทนในราชสภา" หรือ ซิสไลทาเนีย)[6] ในพื้นที่ฟากตะวันตกและฟากเหนือ และราชอาณาจักรฮังการี ("ดินแดนแห่งราชบัลลังก์นักบุญอิชต์วาน" หรือ ทรานไลทาเนีย)[6] ในพื้นที่ฟากตะวันออก ดินแดนทั้งสองมีพระมหากษัตริย์เป็นพระองค์เดียวกัน[21] โดยจักรพรรดิออสเตรียทรงปกครองพื้นที่ฟากตะวันตกและฟากเหนือ ในขณะที่พระมหากษัตริย์ฮังการีทรงปกครองฟากตะวันออก[6][21] ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการป้องกันประเทศได้รับการบริหารอย่างร่วมกัน และทั้งสองประเทศก็ได้ทำการจัดตั้งสหภาพศุลกากรขึ้น[22] โดยที่หน้าที่ของรัฐอื่น ๆ ในราชาธิปไตยคู่ทั้งหมดจะต้องได้รับการบริหารแบบแยกกันไป โดยมีรัฐแต่ละรัฐของดินแดนทั้งสองเป็นฝ่ายบริหาร
ในบางภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่นกาลิเชียของโปแลนด์ซึ่งอยู่ภายในซิสไลทาเนีย และโครเอเชียซึ่งอยู่ในทรานไลทาเนีย มีสถานภาพเป็นรัฐปกครองตนเอง ซึ่งในแต่ละรัฐก็มีโครงสร้างการปกครองที่เป็นลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง (ดูที่: สิทธิ์ในการปกครองตนเองของโปแลนด์ในกาลิเซีย และข้อตกลงโครเอเชีย–ฮังการี)
การแบ่งออสเตรียและฮังการีออกจากกันนั้นดูชัดแจ้งมากจนไม่มีพลเรือนที่มีสัญชาติร่วมกัน กล่าวคือ ไม่ใช่พลเรือนคนใดคนหนึ่งที่ถือสัญชาติออสเตรียหรือสัญชาติฮังการี[23][24] ซึ่งหมายความว่า ออสเตรียกับฮังการีต่างก็มีหนังสือเดินทางเป็นของตนเอง และจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีไม่เคยมีหนังสือเดินทางที่ใช้ร่วมกัน[25][26] อย่างไรก็ตาม ภายในราชอาณาจักรโครเอเชีย-สลาโวเนียก็ไม่มีการใช้หนังสือเดินทางของออสเตรียและฮังการี และราชอาณาจักรก็เลือกที่จะออกหนังสือเดินทางเป็นของตนเอง โดยเป็นหนังสือเดินทางที่ถูกเขียนในภาษาโครเอเชียและภาษาฝรั่งเศส และแสดงตราแผ่นดินของราชอาณาจักรโครเอเชีย-สลาโวเนีย-แดลเมเชีย[27] โครเอเชียและสลาโวเนียมีอิสระในการบริหารงานที่เกี่ยวข้องกับการแปลงสัญชาติและการแปลงพลเรือนของตน ซึ่งได้กำหนดสัญชาติสำหรับพลเรือนในราชอาณาจักรเป็น "สัญชาติโครเอเชีย-ฮังการี"[28] และไม่มีใครทราบว่าหนังสือเดินทางที่ใช้ในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของทั้งออสเตรียและฮังการี เป็นหนังสือเดินทางประเภทใด[ต้องการอ้างอิง]
ราชอาณาจักรฮังการียังคงรักษาสภานิติบัญญัติฮังการีซึ่งถือเป็นรัฐสภาของตนเองเอาไว้ โดยถึงแม้ว่าจักรวรรดิออสเตรียจะได้รับการสถาปนาขึ้นใน ค.ศ. 1804[29] แต่ระบบการบริหารและรัฐบาลของราชอาณาจักรฮังการี (ระบบดังกล่าวถูกใช้จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1848–1849) ยังคงเป็นระบบการบริหารที่ไม่สามารถจับต้องได้จากโครงสร้างรัฐบาลของจักรวรรดิออสเตรียซึ่งถือเป็นผู้ปกครองเป็นส่วนใหญ่ โดยที่โครงสร้างของรัฐบาลกลางฮังการียังคงเป็นโครงสร้างที่แยกออกจากรัฐบาลจักรวรรดิออสเตรียได้เป็นอย่างดี ฮังการีถูกปกครองโดยสภาผู้แทนฮังการี (Council of Lieutenancy of Hungary) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่เพร็สบวร์ค และในเวลาต่อมาจึงย้ายไปที่แป็ชต์ ซึ่งถูกดำเนินการจากเสนาบดีหลวงแห่งฮังการี (Hungarian Royal Court Chancellery) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในกรุงเวียนนาอีกทอดหนึ่ง[30] ภายหลังการปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1848 รัฐบาลและรัฐสภาฮังการีก็ถูกยกเลิก และหลังจากที่มีการประนีประนอมระหว่างออสเตรีย-ฮังการีใน ค.ศ. 1867 รัฐบาลและรัฐสภาก็กลับคืนสู่สภาพเดิม
สภาคณะรัฐมนตรีของจักรวรรดิเป็นตัวควบคุมรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย 3 รัฐมนตรีที่มีส่วนร่วมในการควบคุมด้วย คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีผู้ส่วนร่วมคนอื่น ๆ อีก เช่นอาร์คดยุคและอาร์ชดัชเชส รวมทั้งพระราชวงศ์อิมพีเรียลบางพระองค์อีกด้วย โดยคณะผู้แทนจากออสเตรีย 1 คน และจากฮังการีอีก 1 คนจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของสภาสามัญของคณะรัฐมนตรีหรือการจัดการทรัพย์สินแผ่นดิน โดยให้ 2 รัฐบาลเป็นตัวกำหนดและควบคุมการบริหารและการจัดการทรัพย์สินแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนสุดท้ายของการประชุมทุกครั้ง คณะรัฐมนตรีจะต้องยื่นถวายฎีกาต่อจักรพรรดิ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้ตัดสินความทั้งหมด
หน้าที่รับผิดชอบระหว่างคณะรัฐมนตรีฝ่ายหนึ่งกับคณะรัฐมนตรีอีกฝ่ายหนึ่ง ได้สร้างความไม่ลงรอยกันและไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงาน การบริหารกองทัพบกนั้นได้อยู่ในภาวะลำบาก เป็นกองทัพที่ไร้ประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่ารัฐสภากลางได้กำหนดทิศทางการบริหารงานของกองทัพบก และกระทรวงกลาโหมแล้ว แต่รัฐบาลออสเตรียและรัฐบาลฮังการีจะมีการกำหนดกฎหมายบังคับ การเกณฑ์ทหาร การจัดหาและการย้ายทหารไปออกรบ และกฎหมายบังคับเฉพาะเมือง ที่ไม่ใช่ทหารเกณฑ์แต่เป็นสมาชิกของกองทัพบก โดยบางส่วนให้กระแสว่า แต่ละรัฐบาลควรจะเข้มแข็ง ควรเข้มงวดต่อการบริหารตัวเองมากกว่านี้ แทนที่จะไปใส่ใจรับผิดชอบรัฐสภาสามัญ
ความสัมพันธ์ทางการเมืองในครึ่งศตวรรษแรก หลังปี พ.ศ. 2410 นั้น มีการขัดแย้งในเรื่องของการจัดการพิกัดอัตราภาษีศุลกากรหรือค่าธรรมเนียมภายนอก และการจัดการทางการเงินของคณะรัฐบาล ภายใต้ข้อกำหนดของการเจรจาต่อรองระหว่างออสเตรียและฮังการี รวมไปถึงข้อตกลงที่มีการเจรจาทุก ๆ 10 ปี โดยกำหนดสิ่งที่ต้องทำในคณะรัฐบาลต่าง ๆ โดยมีการออมเงินเพื่อให้ความสับสนอลหม่านทางการเมืองได้คืนสู่สภาพกลับมาเป็นเหมือนเดิม การโต้เถียงระหว่างรัฐบาลในจักรวรรดิในช่วงปี ค.ศ. 1900 ซึ่งทำให้ยืดระยะเวลาวิกฤติการเมืองการปกครองไปอีก ซึ่งมีความขัดแย้งกันในรัฐบาลรวมทั้งหน่วยรบและกองทัพของฮังการีเป็นตัวนำ ซึ่งเป็นการเพิ่มขยายอำนาจทางทหารของฮังการี เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2449 โดยมีนักชาตินิยมฮังการีมีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม การกลับสู่สภาวะปกติในจักรวรรดิก็เป็นได้แค่เพียงชั่วคราว แต่ก็ได้จัดการให้กลับมาสู่สภาวะปกติเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2450 และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2460 ได้วางรากฐานใหม่และสถานะใหม่ของจักรวรรดิใหม่ แต่ด้วยเวลาเพียงน้อยนิดเท่านั้น จักรวรรดิก็นำไปสู่กาลอวสาน...
ออสเตรียและฮังการีต่างมีรัฐสภาเป็นของตนเอง และมีนายกรัฐมนตรีเป็นของตนเอง แต่รัฐสภาทั้งหมดอยู่ภายใต้อำนาจของจักรพรรดิหรือสมเด็จพระราชาธิบดีแต่เพียงพระองค์เดียว ด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จและสภาของสำนักอิมพีเรียลนั้น มีหน้าที่เกี่ยวกับกองทัพราชนาวี การต่างประเทศ และสหภาพต่างในจักรวรรดิ เป็นต้น
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
เมื่อการเจรจาต่อรองระหว่างออสเตรียและฮังการีเพื่อรวมอาณาจักรเป็นหนึ่งเดียวเมื่อปี พ.ศ. 2410 นั้น ทำให้ฮังการีได้ขาดสมดุลทางเสรีภาพและเกิดการหยิ่งทะนงในนักชาตินิยมแม็กยาร์ โดยมีชาวสลาฟเป็นแรงสนับสนุนอันเนื่องมาจากความเมตตาสงสารของสลาฟในตัวฮังการี ซึ่งช่วยกันพยายามที่จะปฏิรูประบอบประชาธิปไตย หลังจากทำการข้อตกลงเมื่อปี พ.ศ. 2410 แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศได้หารือกับนายกรัฐมนตรีของฮังการี ซึ่งหลังจากได้รับการข่มขู่การยึดอำนาจของกลุ่มแพน สลาฟ ซึ่งรัสเซียได้เข้าใจถึงสถานการณ์นี้ เพราะรัสเซียก็ได้รับการข่มขู่เช่นกัน รัสเซียจึงยื่นมือเข้าช่วยเหลือ โดยร่วมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและเค้านท์กิวล่า แอนดราสซี จูเนียร์ ผู้แทนและบุตรชายของนายกรัฐมนตรีฮังการี
ในช่วงปี ค.ศ. 1860 ความทะเยอะทะยานของออสเตรีย รวมทั้งอิตาลีและเยอรมนีทางต่างประเทศได้ถูกปิดกั้น โดยชาติมหาอำนาจอื่น ๆ มีแต่ประเทศในแถบบัลข่านเท่านั้นที่ได้ขยายตัวทางด้านการต่างประเทศ จักรวรรดิได้นำการเจริญสัมพันธไมตรีทางด้านการทูตแบบใหม่มาใช้ โดยเริ่มแรกใช้โดยเค้านท์แอนดราสซี ซึ่งตอนนั้นได้เจริญสัมพันธไมตรีกับเขตพื้นที่บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาซึ่งชาวสลาฟในเขตนั้นเห็นว่ายังมีบางส่วนที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมันอยู่ ซึ่งอาจนำไปสู่วิกฤติการณ์หลายอย่าง รวมทั้งการลอบปลงพระชนม์ที่เมืองซาราเยโว เมื่อปี พ.ศ. 2457 อีกด้วย
ในกรณีที่อยู่ภายใต้วิกฤติการณ์บัลข่านหรือสงครามรัสเซีย-ตุรกี ออสเตรีย-ฮังการีได้อาศัยช่วงสงครามนี้เข้ายึดครองบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาได้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2421 หลังจากมีการอนุมัติในสนธิสัญญาเบอร์ลิน ซึ่งทำให้ความสนใจในรัสเซียของบัลข่านมีความกระเตื้องตัวขึ้น โดยเกี่ยวข้องกับเยอรมนีในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2422 จักรวรรดิได้ผนวกบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2451 และได้เข้าควบคุมกระทรวงการคลังของบอสเนียมากกว่าการจัดการบริหารรัฐบาลแผ่นดิน โดยกำหนดให้บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา รวมทั้งโครเอเชียเป็นส่วนที่ 3 ของจักรวรรดิ และให้ชาวสลาฟเป็นส่วนหนึ่งของโครเอเชีย
กองทัพออสเตรีย-ฮังการีอยู่ภายใต้พระมหากษัตริย์หรือจักรพรรดิเป็นองค์จอมทัพ
กองทัพบกของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติในจักรวรรดิ ทำให้เกิดความยากลำบากด้านการสื่อสารทางภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย อีกทั้งขวัญกำลังใจของกองทัพยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ทหารบกถือได้ว่าอ่อนแอไร้สรรมถภาพมาก แล้วยังมีความอ่อนแอในการคลังอาวุธกระสุนปืนใหญ่ ในสงครามก็แทบจะใช้หมดไปในปี 1914 ต่อจากนั้นก็ขาดแคลนอย่างรุนแรง
กองทัพอากาศออสเตรีย-ฮังการีมีเครื่องบินเยอรมันรุ่นอบาสทรอน-เอ3 เป็นส่วนใหญ่ กองทัพอากาศของจักรวรรดิออสเตรียนั้นประสบ ปัญหาการขาดแคลนเครื่องบินรบและประสบความล้มเหลวในการรบ เช่น การป้องกันแคว้นกาลิเชียจากกรมอากาศยานจักรวรรดิรัสเซีย หรือการรบที่แนวรบบูซิลอฟ จนต้องพึ่งกรมอากาศยานหลวงเยอรมันในการรบ
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
สภาพเศรษฐกิจในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีได้มีการเปลี่ยนแปลงตามการปกครอง ด้วยการที่มีระบอบการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ควบคู่ (Dual Monarchy) ทางด้านเทคโนโลยีนั้นได้ขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงสภาพของเมืองต่าง ๆ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทางด้านการผลิตนั้นได้เติบโต และสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ในช่วงเวลา 50 ปีของการริเริ่มยุคกลางของการผลิตอุตสาหกรรม โดยในช่วงแรกนั้น ระบบเศรษฐกิจได้เจริญเติบโตเฉพาะในกรุงเวียนนา พื้นที่เขตอัลไพน์ และโบฮีเมีย แต่ต่อมา เมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 19 ระบบเศรษฐกิจได้เจริญเติบโตในเขตพื้นที่ฮังการีตอนกลางและเขตพื้นที่คาร์พาเธียน ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจได้พัฒนาขึ้นในเขตจักรวรรดิในระยะเริ่มต้น โดยระบบเศรษฐกิจในจักรวรรดิฝั่งตะวันตกจะพัฒนาได้ดีและมากกว่าระบบเศรษฐกิจในฝั่งตะวันออก เมื่อแรกเริ่มศตวรรษที่ 20 จักรวรรดิหลายจักรวรรดิส่วนใหญ่ได้ริเริ่มพัฒนาระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยีต้อนรับศตวรรษใหม่ มาตรวัดรายรับและผลผลิตของประเทศ (GNP) เจริญเติบโตร้อยละ 1.45% ต่อปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2413 ถึงพ.ศ. 2456 ซึ่งการเจริญเติบโตของรายรับและผลผลิตของจักรวรรดินี้ สามารถนำไปเปรียบเทียบกับระบบเศรษฐกิจชาติอื่น ๆ ได้ เช่น อังกฤษ (1.00%), ฝรั่งเศส (1.06%), และเยอรมนี (1.51%) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจของจักรวรรดิยังมีความล้าหลังกว่าชาติอื่น ๆ อยู่บ้าง เช่น อังกฤษมีรายรับและผลผลิตของประเทศเกือบ 3 เท่า ซึ่งมากกว่าจักรวรรดิถึงแม้ว่ามาตรวัดจะน้อยกว่า ในขณะเดียวกันที่เยอรมนี ได้มีรายรับและผลผลิตของประเทศ 2 เท่าซึ่งมากกว่าออสเตรีย-ฮังการีด้วยซ้ำ ทั้งในด้าน GNP และมาตรวัดรายรับและผลผลิตของประเทศ ถึงแม้ว่าทุกประเทศนั้นจะมียอดพัฒนาระบบเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ระบบคมนาคมทางรถไฟนั้น ได้ขยายอย่างรวดเร็ว โดยแรกเริ่มนั้น มีการสร้างทางรถไฟโดยเริ่มจากกรุงเวียนนาเมื่อปี พ.ศ. 2384 สมัยที่ออสเตรีย-ฮังการี ยังเป็นจักรวรรดิออสเตรียอยู่ ตรงจุดนั้นเองที่รัฐบาลได้ริเริ่มใช้ทางรถไฟเพื่อใช้ในด้านทหารและกองทัพบก โดยลงทุนเพื่อโครงสร้างทางทหารทั้งหมดให้ทางรถไฟเชื่อมต่อในเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองโพสโซนี (ปัจจุบันคือเมืองบราติสลาวา เมืองหลวงของประเทศสโลวาเกีย), กรุงบูดาเปสต์ของฮังการี, กรุงปรากของโบฮีเมีย (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐเช็ก), เมืองคราโคว์ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโปแลนด์), เมืองกราซของออสเตรีย, เมืองไลบาช (ปัจจุบันคือเมืองลูบลิยานา เมืองหลวงของประเทศสโลวีเนีย) และเมืองเวนิสของประเทศอิตาลี โดยเมื่อปี พ.ศ. 2397 จักรวรรดิได้มีรางรถไฟเกือบ 2000 กิโลกรัม ประมาณ 60% ถึง 70% ของรัฐเลยทีเดียว โดยรัฐบาลเริ่มทำการซื้อรางรถไฟส่วนใหญ่เพื่อใช้ส่วนตัวสำหรับนักลงทุน และการกระทำโดยฉับพลันของการใช้เงินมากเกินไปโดยใช้ผลประโยชน์จากการปฏิวัติพ.ศ. 2391 และสงครามไครเมีย ซึ่งออสเตรีย-ฮังการีไม่ได้มีส่วนกี่ยวข้องในสงครามนี้เลยแม้แต่น้อย โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2397 ถึง พ.ศ. 2422 มีดำเนินการ จัดการโครงสร้างการคมนาคมทางรถไฟเกือบทั้งหมด โดยพื้นที่ของจักรวรรดิในส่วนซิสเลอธาเนียได้รับรางรถไฟถึง 7,952 กิโลกรัม ส่วนฮังการีได้รับรางรถไฟ 5,839 กิโลกรัม ขณะที่พื้นที่อื่น ๆ ได้เข้าร่วมเชื่อมต่อการคมนาคมทางรถไฟ ดังนั้นระบบเศรษฐกิจด้านการคมนาคมรถไฟจึงเจริญเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว
หลังจากปี พ.ศ. 2422 รัฐบาลกลางของออสเตรีย-ฮังการีได้โอนการคมนาคมรถไฟมาเป็นของรัฐ เนื่องจากอัตราการพัฒนาระบบเศรษฐกิจได้เริ่มอยู่ในภาวะซบเซา และเฉื่อยชาลงในช่วงปี ค.ศ. 1870 โดยระหว่างปี พ.ศ. 2422 ถึง พ.ศ. 2443 ระยะทางของรางรถไฟทั้งหมดทั้งในพื้นที่ซิสเลอธาเนียและฮังการีทั้งหมดมากกว่า 25,000 กิโลเมตร รัฐบาลจึงได้มีการเชื่อมต่อรางรถไฟไปยังนอกเขตจักรวรรดิเพื่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยมีองค์การคมนาคมขนส่งทางรถไฟออสเตรีย (Imperial Austrian State Railways) เป็นบริษัทเดียวในการจัดการคมนาคมทางรถไฟทั้งหมดในจักรวรรดิ
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ภาษาเยอรมัน: 24% |
ภาษาฮังการี: 20% ภาษาเช็ก: 13% |
ภาษาโปแลนด์: 10% ภาษารูเทเนียน: 8% |
ภาษาโรมาเนีย: 6% ภาษาโครเอเชีย: 5% |
ภาษาสโลวักและเซิร์บ: 4% |
ภาษาสโลวีเนียและอิตาลี: 3% |
มีความขัดแย้งเรื่องภาษาและเชื้อชาติหลังจากทุกอย่างได้ขึ้นอยู่การตัดสินใจว่า จะให้ภาษาไหนเป็นภาษาราชการ หรือ landesüblich ชาวเยอรมันที่ยึดถือระบบราชการเดิม หรือที่เป็นกลุ่มคนที่ร่ำรวยกว่าคนอื่น ชาวเยอรมันพวกนี้ต้องการที่จะให้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาราชการและใช้กันทั่วทั้งจักรวรรดิ ขณะที่ภาษาอิตาลีได้รับการพิจารณาว่าเป็นภาษาวัฒนธรรม (Kultursprache) โดยชาวเยอรมันที่ยินยอมให้ความทัดเทียมทางภาษา แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า จะให้ความทัดเทียมแก่ภาษาสลาฟให้ทัดเทียมภาษาเยอรมัน อีกด้านหนึ่งเห็นว่าควรจะให้ความทัดเทียมกันทุกภาษาในจักรวรรดิ
แต่อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมาได้เห็นถึง การปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากข้อบังคับทางภาษาทุกภาษา ทั่วทุกพื้นที่ในจักรวรรดิ ตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ ฉบับ พ.ศ. 2410 ว่าภาษาโครเอเชียได้รับความทัดเทียม ซึ่งจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เช่นเดียวกับภาษาอิตาลีซึ่งได้เป็นภาษารองของแดลเมเชีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2425 ได้มีเสียงข้างมากจากชาวสโลวีเนีย ในคาร์นิโอล่า และในเมืองลูบลิยานา (ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของประเทศสโลวีเนีย) ได้เสนอภาษาสโลวีเนียเป็นภาษาที่มีความสำคัญมากที่สุดในจักรวรรดิ แทนที่ภาษาเยอรมัน ส่วนภาษาโปแลนด์ได้รับการนำเสนอให้แทนที่ภาษาเยอรมันเมื่อปี พ.ศ. 2412 และให้เป็นภาษาราชการของกาลิเชีย โดยชาวกาลิเชียหรือชาวโปแลนด์ได้ปฏิเสธการพิจารณาภาษายูเครนตามที่ชนกลุ่มน้อยชาวยูเครนเสนอ ดังนั้นภาษายูเครนจึงไม่ได้รับการยินยอมให้เป็นภาษาราชการ
ส่วนภาษาเช็กที่มีการถกเถียงกันให้เป็นภาษาราชการนั้นไม่ได้มีการเรียกร้องหรือประท้วงกันในโบฮีเมียและโมราเวีย ซึ่งชาวเช็คต้องการที่จะก่อตั้งภาษาของเขาให้เป็นภาษาราชการไม่ว่าจะเป็นเขตแดนอาณาจักรที่ประชากรใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาราชการ และมีการเรียกร้องให้ภาษาเยอรมันให้เป็นภาษาราชการเช่นกันในเมืองปราก นครหลวงของโบฮีเมีย (ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐเช็ก) เมืองพิสเซน และเมืองบรุนน์ ในที่สุด ภาษาเยอรมันก็มีการนำมาเป็นส่วนหนึ่งของส่วนพื้นที่ของเช็กเมื่อปี พ.ศ. 2425 หลังจากการลงประชามติในมหาวิทยาลัยชาร์ลส์ (Charles University in Prague)
ขณะเดียวกันนั้นชาวแม็กยาร์หรือฮังการีได้เผชิญหน้ากับผู้ประท้วงหรือเรียกร้องของชาวโรมาเนียในแถบทรานซิลเวเนีย และเมืองบานัท (ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสโลวาเกีย) นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมเรียกร้องเรื่องภาษาราชการอีกของชาวโครเอเชียและชาวเซิร์บ ในแถบโครเอเชีย และแดลเมเชีย (ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโครเอเชีย) นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมประท้วงเรื่องการให้ความสำคัญของภาษาของตนในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และจังหวัดวอยโวดีนา (ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเซอร์เบีย) โดยต่อมา ชาวโรมาเนียและชาวเซิร์บได้ก่อตั้งกลุ่มชาตินิยม ในนามของรัฐโรมาเนียและเซอร์เบีย (พ.ศ. 2402 - พ.ศ. 2421) ถึงแม้ว่า ผู้นำฮังการีจะแสดงความไม่พออกพอใจมากกว่าตอนที่มีการเจรจาแบ่งปันอำนาจและแยกรัฐบาลและรัฐสภากับออสเตรียเมื่อปี พ.ศ. 2410 พวกเขาได้ยอมรับขอบเขตอิสรภาพในการก่อตั้งราชอาณาจักรโครเอเชียเมื่อปี พ.ศ. 2411 ก่อนที่จะถูกผนวกรวมเข้ากับจักรวรรดิในเวลาต่อมา ซึ่งอาจพ่วงไปถึงเศรษฐกิจและการบริหารทางทหารของฮังการีที่เข้ามามีบทบาทในโครเอเชีย
ภาษาเป็นสิ่งที่นำมาถกเถียงในวาระการประชุมสภาอยู่บ่อยครั้ง โดยทุกรัฐสภาจะต้องพบกับความยากลำบากในการแบ่งแยกภาษาต่าง ๆ ในโครงสร้างของการเมือง โดยมีเสียงส่วนน้อยเห็นว่าควรจะแยกการศึกษาภาษาของตนเอง และให้การศึกษาแก่ 2 ภาษาหลักในจักรวรรดิ คือ ภาษาเยอรมันและภาษาฮังการี โดยการถกเถียงอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องภาษาในจักรวรรดินั้น มีการประชุมรัฐสภากลางที่มีการกล่าวขานมากที่สุดคือ การประชุมประกาศพระราชบัญญัติ กฤษฎีกาฉบับวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2440 โดยนายกรัฐมนตรีของออสเตรีย คาซิเมียร์ เฟลิกซ์ กราฟ บาเดอนี ได้ให้ความเสมอภาคแก่ภาษาเช็กให้มีความสำคัญเท่ากับภาษาเยอรมันในรัฐสภาของโบฮีเมีย และให้มีการศึกษาภาษาเยอรมันเป็นภาษาหลักในโบฮีเมียอแกด้วย ทั้งนี้มีพวกอนุรักษ์ชาตินิยมเยอรมันได้ปลุกปั่นให้มีการพูดภาษาเยอรมันเท่านั้นในจักรวรรดิ เป็นเหตุให้เฟลิกซ์ บาเดอนี ถูกปลดออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2450 โรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่เขตสโลวักที่อยู่ในเขตของราชอาณาจักรฮังการี ซึ่งประชากรโดยประมาณ 2 ล้านคนได้ศึกษาภาษาฮังการีเพียงภาษาเดียว โดยสั่งห้ามทำสื่อที่เป็นภาษาสโลวัก และได้ทำลายหนังสือหรือหนังสือพิมพ์ที่ป็นภาษาสโลวักอีกด้วย โดยการกระทำนี้ได้มีการวิพากย์วิจารณ์เรื่องการไม่ให้ความเสมอภาคทางภาษา นำโดยบียอร์สเตียร์เน มาร์ตินุส บียอร์สัน นักเขียนชื่อดังชาวนอร์เวย์ ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม นอกจากนี้ยังมีมิช่า เกล็นนี่ ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษได้วิพากย์วิจารณ์ถึงการเอารัดเอาเปรียบทางภาษาของออสเตรียที่กระทำต่อเช็ก
จักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟนั้น ในช่วงเวลาที่พระองค์ครองราชย์ พระองค์ทรงปกครองอาณาจักรที่มีหลายเชื้อชาติ หลายภาษา โดยพระองค์ทรงอักษรและทรงพูดภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน ภาษาฮังการี ภาษาเช็ก ภาษาโปแลนด์ รวมทั้งภาษาอิตาลี และภาษาอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้นถือเป็นความยากลำบากอย่างหนึ่งของพระราชวงศ์ออสเตรียที่จะต้องศึกษาภาษาทุกภาษาที่มีอยู่ในจักรวรรดิ รวมทั้งภาษาอังกฤษด้วย
ภาษา | จำนวน | ร้อยละ |
---|---|---|
เยอรมัน | 12,006,521 | 23.36 |
ฮังการี | 10,056,315 | 19.57 |
เช็ก | 6,442,133 | 12.54 |
เซอร์เบีย-โครเอเชีย | 5,621,797 | 10.94 |
โปแลนด์ | 4,976,804 | 9.68 |
รูทิเนีย | 3,997,831 | 7.78 |
โรมาเนีย | 3,224,147 | 6.27 |
สโลวัก | 1,967,970 | 3.83 |
สโลวีเนีย | 1,255,620 | 2.44 |
อิตาลี | 768,422 | 1.50 |
อื่น ๆ | 1,072,663 | 2.09 |
รวม | 51,390,223 | 100.00 |
ตารางแสดงการนับถือศาสนาและนิกายต่างในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จากผลสำรวจเมื่อวันที่31 ธันวาคม พ.ศ. 2453 ตีพิมพ์ในหนังสือGeographischer Atlas zur Vaterlandskunde an der österreichischen Mittelschulen. K. u. k. Hof-Kartographische Anstalt G. Freytag & Berndt, Vienna, 1911.
ศาสนา/นิกาย | พื้นที่ทั้งหมด | พื้นที่ออสเตรีย | พื้นที่ฮังการี | บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา |
---|---|---|---|---|
ศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก | 76.6% | 90.9% | 61.8% | 22.9% |
ศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนต์ | 8.9% | 2.1% | 19.0% | 0% |
ศาสนาคริสต์ นิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ | 8.7% | 2.3% | 14.3% | 43.5% |
ยิว | 4.4% | 4.7% | 4.9% | 0.6% |
มุสลิม | 1.3% | 0% | 0% | 32.7% |
ข้อมูล: การสำรวจสำมะโนประชากร ใน ปี ค.ศ. 1910[31]
อันดับ | ชื่อในปัจจุบัน | ชื่ออย่างเป็นทางการร่วมสมัย[32] | ชื่ออื่น ๆ | ประเทศในปัจจุบัน | ประชากรใน ค.ศ. 1910 | ประชากรในปัจจุบัน |
---|---|---|---|---|---|---|
1. | เวียนนา | Wien | Bécs, Beč, Dunaj | ออสเตรีย | 2,031,498 (city without the suburb 1,481,970) | 1,840,573 (Metro: 2,600,000) |
2. | ปราก | Prag, Praha | Prága | เช็กเกีย | 668,000 (city without the suburb 223,741) | 1,301,132 (Metro: 2,620,000) |
3. | ตรีเยสเต | Triest | Trieszt, Trst | อิตาลี | 229,510 | 204,420 |
4. | ลวิว | Lemberg, Lwów | Ilyvó, Львів, Lvov, Львов | ยูเครน | 206,113 | 728,545 |
5. | กรากุฟ | Krakau, Kraków | Krakkó, Krakov | โปแลนด์ | 151,886 | 762,508 |
6. | กราทซ์ | Grác, Gradec | ออสเตรีย | 151,781 | 328,276 | |
7. | เบอร์โน | Brünn, Brno | Berén, Börön, Börénvásár | เช็กเกีย | 125,737 | 377,028 |
8. | แชร์นิวต์ซี | Czernowitz | Csernyivci, Cernăuți, Чернівці | ยูเครน | 87,128 | 242,300 |
9. | เปิลแซญ | Pilsen, Plzeň | Pilzen | เช็กเกีย | 80,343 | 169,858 |
10. | ลินทซ์ | Linec | ออสเตรีย | 67,817 | 200,841 |
อันดับ | ชื่อในปัจจุบัน | ชื่อย่างเป็นทางการร่วมสมัย[32] | อื่นๆ | ประเทศในปัจจุบัน | ประชากรใน ปี ค.ศ. 1910 | ประชากรในปัจจุบัน |
---|---|---|---|---|---|---|
1. | บูดาเปสต์ | Budimpešta | ฮังการี | 1,232,026 (city without the suburb 880,371) | 1,735,711 (Metro: 3,303,786) | |
2. | แซแก็ด | Szegedin, Segedin | ฮังการี | 118,328 | 170,285 | |
3. | ซูบอตีตซา | Szabadka | Суботица | เซอร์เบีย | 94,610 | 105,681 |
4. | แดแบร็ตแซ็น | ฮังการี | 92,729 | 208,016 | ||
5. | ซาเกร็บ | Zágráb, Agram | โครเอเชีย | 79,038 | 790,017 | |
6. | บราติสลาวา | Pozsony | Pressburg, Prešporok | สโลวาเกีย | 78,223 | 425,167 |
7. | ทิมิโซอารา | Temesvár | Temeswar | โรมาเนีย | 72,555 | 319,279 |
8. | ออราเดีย | Nagyvárad | Großwardein | โรมาเนีย | 64,169 | 196,367 |
9. | อารัด | Arad | โรมาเนีย | 63,166 | 159,074 | |
10. | คลูช-นาโปกา | Kolozsvár | Klausenburg | โรมาเนีย | 60,808 | 324,576 |
หลังจากการสิ้นพระชนม์ของจักรพรรดิแม็กซีมีเลียน พระราชอนุชาในจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟ และพระราชโอรสองค์เดียวของพระองค์ อาร์คดยุครูดอล์ฟ มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการี ทำให้พระราชนัดดาของพระองค์ อาร์คดยุคฟรันซ์ เฟอร์ดินานด์ ได้รับตำแหน่งองค์รัชทายาทสืบต่อจากอาร์คดยุครูดอล์ฟ แต่เมื่อวันที่28 มิถุนายน พ.ศ. 2457 เมื่อพระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรพร้อมด้วยพระชายาในเมืองซาราเยโว นครหลวงของเขตบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ทั้งสองพระองค์ได้ถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยกระสุนปืนโดยกาฟรีโล พรินซิป หนึ่งในสมาชิกกลุ่มแบล็คแฮนด์ นักชาตินิยมจากเซอร์เบีย เป็นเหตุให้ทั้งสองพระองค์สิ้นพระชนม์ทันที ซึ่งการลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1
การบริหารทางการทหารไม่ได้รับการบริหารที่ดีตั้งแต่การประชุมที่เบอร์ลิน (พ.ศ. 2421) ขณะที่เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียได้ประกาศอำนาจในการประชุม โดยหลังจากการประชุมจักรวรรดิได้เสียดินแดนอิตาลีให้กับปิเอดมอนต์ รวมทั้งเสียเปรียบทางความเคลื่อนไหวทางชาตินิยม ซึ่งถูกอิตาลีจับตาดูอยู่ นอกจากนี้ออสเตรีย-ฮังการีได้สูญเสียพื้นที่ทางตอนใต้ซึ่งมีประชากรชาวสลาฟอาศัยอยู่ให้กับเซอร์เบีย ซึ่งเซอร์เบียเพิ่งจะได้รับสิทธิ์และผลประโยชน์เพิ่มเรื่องพื้นที่ หลังจากสงครามบอลข่านครั้งที่สอง เมื่อปีพ.ศ. 2455 จึงส่งผลต่อความยากลำบากภายในรัฐบาลของออสเตรียและฮังการี โดยมีสมาชิกรัฐสภาบางคน เช่น คอนราด วอน เฮิตเซนดอร์ฟ ต้องการที่จะเผชิญหน้ากับการฟื้นคืนอำนาจของการเมืองเซอร์เบียเป็นเวลาหลายปี โดยผู้นำออสเตรีย-ฮังการี เค้านท์ลีโอโพลด์ วอน เบิร์ชโทลด์ สามารถเอาคืนเซอร์เบียได้โดยมีสัมพันธมิตรอย่างเยอรมนีเข้าช่วยเหลือ โดยตัดสินใจเผชิญหน้ากับกองทัพเซอร์เบีย ก่อนที่จะกระตุ้นก่อให้เกิดการต่อต้านภายในจักรวรรดิ โดยใช้กรณีการลอบปลงพระชนม์เป็นข้ออ้างในการก่อสงครามกับเซอร์เบีย
เหตุการณ์นี้ได้นำจักรวรรดิไปสู่การพิพาทกับเซอร์เบียในเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2457 ซึ่งนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 โดยความเคลื่อนไหวของเซอร์เบียนี้ มีรัสเซียเป็นตัวช่วยในการทำศึกสงคราม อิตาลีได้ประกาศวางตัวเป็นกลางตั้งแต่แรกเริ่งสงคราม ถึงแม้ว่าจะมีความสัมพันธไมตรีกับออสเตรีย-ฮังการี แต่ในปีพ.ศ. 2458 อิตาลีได้สร้างความเข้าใจอันดีกับออสเตรีย-ฮังการี โดยเข้าร่วมสงครามกับจักรวรรดิเผชิญหน้ากับเซอร์เบียและรัสเซีย เพื่อหวังจะได้รับแผ่นดินที่ออสเตรีย-ฮังการียึดครองไป กลับมาเหมือนเดิม ผู้บัญชาการของกองทัพคือ นายพลคอนราด วอน เฮิตเซนดอร์ฟ ซึ่งภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลเฮิตเซนดอร์ฟนี้ ได้นำกองทัพไปสู่สมรภูมิรบในสงคราม
เมื่อเริ่มสงคราม กองทัพได้ถูกแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งบุกโจมตีเซอร์เบีย ขณะที่อีกส่วนหนึ่งได้บุกโจมตีกองทัพของรัสเซีย ซึ่งสนับสนุนเซอร์เบียและได้ประกาศสงครามกับออสเตรีย-ฮังการีด้วย การบุกรุกเซอร์เบียนั้น หาได้ประสบความสำเร็จไม่ กองทัพออสเตรีย-ฮังการีได้สูญเสียทหาร 227,000 นาย จากทหารทั้งหมด 450,000 นาย ส่วนการโจมตีกองทัพรัสเซียนั้น กองทัพจักรวรรดิสามารถเอาชนะรัสเซียในสมรภูมิเล็มเบิร์ก และสามารถล้อมเมืองพริเซ็มมิวส์ได้ แต่ก็ต้องถอนกองทัพออกเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2458
เมืองเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2458 อิตาลีได้ร่วมฝ่ายพันธมิตรเข้าโจมตีออสเตรีย-ฮังการี โดยตอนแรกนั้นอิตาลีได้เข้าร่วมทำสงครามกับออสเตรีย-ฮังการี แต่เป็นเพราะสนธิสัญญาเบอร์ลิน อิตาลีจึงยอมเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตร โดยสมรภูมิแรกที่ออสเตรีย-ฮังการีต่อสู้กับอิตาลีนั้นอยู่ที่เทือกเขาแอลป์ โดยเมื่อตอนหน้าร้อน กองทัพได้รวมเข้ากับกองทัพเยอรมัน และกองทัพบัลแกเรีย พิชิตเซอร์เบีย
พ.ศ. 2459 กองทัพรัสเซียได้ถูกโจมตีอย่างหนักจากกองทัพจักรวรรดิ แต่ก็มีความสูญเสียพอๆกัน โดยกองทัพออสเตรียได้สูญเสียทหารประมาณ 1 ล้านคน การสูญเสียครั้งใหญ่หลวงนี้ ทำให้รัสเซียยอมถอนตัวจากสงคราม หลังจากรัสเซียถอนตัวจากสงครามแล้ว ก็ต้องเผชิญหน้ากับการปฏิวัติภายในจักรวรรดิรัสเซีย พ.ศ. 2460 กองทัพออสเตรีย-ฮังการีจึงอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของเยอรมัน โดยให้กองทัพเยอรมันจัดการให้ทั้งหมด แต่ในขณะที่มีการจัดการกองทัพอยู่นั้น ฝ่ายพันธมิตรได้โจมตีเยอรมันอย่างหนัก เป็นเหตุให้เยอรมันแพ้และยอมถอนตัวออกจากสงคราม เมื่อเยอรมันแพ้สงคราม ออสเตรีย-ฮังการีก็แพ้สงครามด้วยเช่นกัน
ผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 คือฝ่ายพันธมิตรซึ่งได้แก่จักรวรรดิอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และสหรัฐอเมริกาได้รับชัยชนะ นักชาตินิยมได้รับกระแสนิยมในอิสรภาพมากขึ้น โดยประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา วูดโรว์ วิลสัน กล่าวในสุนทรพจน์ "ประเด็นทั้งสิบสี่" ว่า โอกาสแห่งอิสรภาพและเสรีภาพได้มาอยู่ในกำมือของเราแล้ว เราจะพัฒนาของเราเอง ในทางกลับกัน จักรพรรดิคาร์ล จักรพรรดิแห่งออสเตรีย-พระราชาธิบดีแห่งฮังการี ได้ทรงเปิดวาระประชุมในสภาอิมพีเรียล โดยมีพระบรมราชานุญาตให้มีการก่อตั้งสมาพันธรัฐพร้อมด้วยการตั้งสภาย่อยเป็นของตนเอง เพื่อรักษาความเป็นจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ขณะที่หลายฝ่ายเริ่มไม่ไว้วางใจในเสรีภาพหลังจากจบสงครามแล้ว
เมื่อวันที่14 ตุลาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ บารอนสเตฟาน วอน ราเจ็คส์ ได้พยายามที่จะพิสูจน์ศรัทธาที่มีต่อจักรวรรดิ โดยจักรพรรดิคาร์ลได้ทรงประกาศเรื่องอนาคตของพระราชวงศ์อิมพีเรียล 2 วันหลังจากที่ออสเตรียกลายเป็นสหภาพ-สหพันธรัฐ ซึ่งประกอบด้วยอีก 4 ประเทศคือ เยอรมนี เช็ก สลาฟใต้ และยูเครน ส่วนประเทศโปแลนด์นั้นได้รับเอกราชอย่างเต็มตัว
ประเทศหลายประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิต่างก็ประกาศเอกราช ไม่ขึ้นตรงต่อจักรวรรดิอีกต่อไป โดยกลุ่มประเทศแรกที่ประกาศเอกราชนั้นคือ โบฮีเมีย โมราเวีย ซีลีเซีย กาลิเชีย และบูโกวินา โดยรวมประเทศทั้งหมดเป็นสาธารณรัฐเชโกสโลวักที่ 1 เมื่อวันที่28 ตุลาคม พ.ศ. 2461 ต่อมาวันที่29 ตุลาคม สลาฟใต้ได้ประกาศเอกราชและก่อตั้งรัฐแห่งชาวสโลวีน โครแอต และเซิร์บ ต่อมา รัฐบาลฮังการีได้ประกาศสิ้นสุดความสัมพันธ์ทางสหภาพกับออสเตรียเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ส่งผลให้ประเทศทุกประเทศที่เป็นของออสเตรีย-ฮังการี แตกแยกไปก่อตั้งประเทศเป็นของตนเอง จะมีอยู่ส่วนน้อยที่ยังขึ้นตรงต่อจักรวรรดิอยู่ เช่น เขตพื้นที่แถบอัลไพน์และดานูบ
การนำไปสู่จุดจบของจักรวรรดินี้ จักรพรรดิคาร์ล (ใช้พระนามคาร์ลที่ 4 ในฮังการี) ได้ถูกรัฐบาลของออสเตรียและฮังการีขับออกจากราชสมบัติ โดยพระองค์ไม่ทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่11 - 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 ในความที่พระองค์ไม่ทรงสละราชสมบัตินั้น ก็ยังมีประชาชนส่วนหนึ่งที่ยังคงมีความจงรักภักดีต่อพระองค์และพระราชวงศ์อิมพีเรียลอยู่ ทำให้เกิดกระแสการฟื้นฟูสถาปนาระบอบพระมหากษัตริย์ในฮังการี เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2463 โดยพระองค์ยังคงราชสมบัติอยู่ แต่จะมีผู้สำเร็จราชการแทนคือ มิกโลช โฮร์ตี ดูแลปกครองประเทศแทนพระองค์ ส่วนตัวพระองค์พร้อมด้วยพระราชวงศ์อพยพไปที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเกาะมาไดร่า ประเทศโปรตุเกสและประทับอยู่ที่นั่น จนกระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคตด้วยโรคปอดบวม
ประเทศที่ได้ก่อตั้งใหม่หลังจากสิ้นสุดจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี มีดังนี้
พื้นที่บางส่วนของจักรวรรดิได้ผนวกเข้ากับราชอาณาจักรโรมาเนีย , ราชอาณาจักรอิตาลี และ ลิกเตนสไตน์ โดยมีเขตโวราร์ลเบิร์กนั้น ประชาชนได้ลงประชามติให้ผนวกเข้ากับสวิตเซอร์แลนด์
. เขตพรมแดนออสเตรีย-ฮังการี เมื่อ พ.ศ. 2457
เขตพรมแดนเมื่อ พ.ศ. 2457 เขตพรมแดนเมื่อ พ.ศ. 2463 |
พื้นที่ อาณาเขตและประเทศต่างๆในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีที่ประกาศเอกราช หลังจากที่ถูกล้มล้างหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ดังนี้:
ประเทศต่างๆในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี: ซิสเลอธาเนีย: 1. โบฮีเมีย, 2. บูโกวิน่า, 3. คารินเธีย, 4. คาร์นิโอล่า, 5. แดลเมเชีย, 6. กาลิเชีย, 7. คืสเตนแลนด์, 8. โลเวอร์ ออสเตรีย, 9. โมราเวีย, 10. ซาร์ซบูร์ก, 11. ซีลีเซีย, 12. สตีเรีย, 13. ทีรอล, 14. อัปเปอร์ ออสเตรีย, 15. โวราร์ลเบิร์ก; ทรานส์เลอธาเนีย: 16. ราชอาณาจักรฮังการี, 17. ราชอาณาจักรโครเอเชีย-สลาโวเนีย, 18. บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาในออสเตรีย-ฮังการี |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.