หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หอประชุมใหญ่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยmap

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกโดยย่อว่า หอประชุมจุฬาฯ เป็นหอประชุมใหญ่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพื้นที่แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มีความเป็นมาคู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นที่อาคารแห่งนี้หลายเหตุการณ์

ข้อมูลเบื้องต้น หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ข้อมูลทั่วไป ...
หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Chulalongkorn University Auditorium
Thumb
หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566
Thumb
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ประเภทหอประชุม, หอจัดแสดงดนตรี
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมไทย
ที่ตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน
เมืองกรุงเทพมหานคร
ประเทศ ประเทศไทย
พิกัด13.738310°N 100.532603°E / 13.738310; 100.532603
เริ่มสร้าง18 กันยายน พ.ศ. 2481 - 31 มกราคม พ.ศ. 2482[1]
ปรับปรุงครั้งแรก พ.ศ. 2527
ครั้งที่สอง พ.ศ. 2557
ผู้สร้างสร้างขึ้นตามดำริของ
จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อผนังด้วยอิฐ
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกพระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์)
พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์)
ผู้ออกแบบผู้อื่นรองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงษ์
รางวัลรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำ พ.ศ. 2545 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
การบูรณะและปรับปรุงในปี พ.ศ. 2557 เพื่อเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปิด

หอประชุมจุฬาฯ เป็นสิ่งปลูกสร้างที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของภูมิทัศน์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เกิดการปรับภูมิทัศน์โดยรอบ เช่น การขุดสระน้ำด้านหน้าประตูใหญ่ ตัดถนนรอบสนามรักบี้และสร้างลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2545 สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ได้มอบรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นให้แก่หอประชุมจุฬาฯ[2][3]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีพระราชทานแก่นิสิตที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแห่งแรก ก่อนที่กิจกรรมนี้จะมีขึ้นในอีกหลายมหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา เป็นที่มาของวันทรงดนตรี หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเป็นสถานที่ถือกำเนิดของ "วันทรงดนตรี"[4]

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นคู่มหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2482 นิสิตและบุคลากรของจุฬาฯ ล้วนผูกพันและมีโอกาสได้เข้าร่วมพิธีกรรมและกิจกรรมอันหลากหลายที่อาคารหลังนี้นับตั้งแต่กิจกรรมแรกของการเป็นนิสิต คือพิธีปฐมนิเทศนิสิตใหม่ พิธีปฐมนิเทศนิสิตหอพักของหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิธีไหว้ครู เปิดเทศกาลงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ จนกระทั่งเมื่อสำเร็จการศึกษา อาคารหลังนี้ก็เป็นสถานที่ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตร นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่จัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมในวาระสำคัญต่าง ๆ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับชาติ[5]

ที่ตั้งและลักษณะเด่น

สรุป
มุมมอง
Thumb
หอประชุมจุฬาฯ มุมมองถนนพญาไท

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (พระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล) ด้านหน้าของหมู่อาคารเทวาลัย หรืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์และอาคารมหาชิราวุธ ใจกลางพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท ทำให้ที่ตั้งของอาคารหอประชุมอยู่ในแขวงปทุมวัน ไม่ใช่แขวงวังใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งอย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัย

พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) และพระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) สถาปนิกผู้ออกแบบหอประชุมหลังนี้เป็นศิษย์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทำให้ตัวอาคารมีลักษณะเป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คล้ายกับอุโบสถวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบ กล่าวคือมีการดัดแปลงศิลปะขอมผสมผสานกับศิลปะไทย ใช้หลังคากระเบื้องเคลือบสีเช่นเดียวกับที่พบในอุโบสถวัด อันประกอบด้วยสีเขียว สีส้มและสีแดงอิฐ ประยุกต์เข้ากับสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรทำให้หอประชุมหลังนี้มีลักษณะพิเศษที่หาได้ยากในอาคารอื่น ๆ ที่สร้างในยุคสมัยเดียวกัน

โครงสร้างและการตกแต่งภายนอกของอาคารได้รับอิทธิพลอย่างเข้มข้นจากอุดมการณ์ของคณะราษฏร ดังจะเห็นได้ว่ามีการลดการใช้วัสดุที่แสดงฐานานุศักดิ์ทางสถาปัตยกรรมไทยในการตกแต่งอาคารลงอย่างมาก เพื่อสะท้อนแนวคิดความเท่าเทียมกันของมนุษย์ (Egalitarianism) เช่น ถ้วยชามกระเบื้องเคลือบ กระจกสี ลวดลายปูนปั้นที่สื่อหรือเล่าเรื่องราวถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ (หลักเทวสิทธิราชย์) และเน้นออกแบบโครงสร้างให้มีเส้นสายแนวตั้งและแนวนอนที่ดูแข็งและคม ดังจะเห็นได้จากเสาสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม ซุ้มเสาทั้งด้านหน้าอาคารและหลังอาคารที่ตัดตรง ไม่โค้งหรือไม่ประสานเป็นยอดแหลม เป็นลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของอาคารที่เกิดขึ้นในช่วง 15 ปีแรกของคณะราษฎร เรียกสถาปัตยกรรมกลุ่มนี้ว่า "สถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต"[6]

Thumb
ด้านหน้าจุฬาฯ ใหม่ที่หันสู่ถนนพญาไท

ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า[7] เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มีผนังก่ออิฐ ภายในอาคารเป็นโถงชั้นเดียว ด้านหน้ายกพื้นเป็นเวที มีอัฒจันทร์อยู่ด้านหลังและด้านข้างทั้งสองด้าน ส่วนด้านตะวันตกทำเป็นมุขซ้อน ชั้นล่างเป็นห้องรับรอง ชั้นบนเป็นห้องประชุม มีบันไดขึ้น-ลง ทั้งภายในและภายนอก 4 บันได ภายในหอประชุมมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดและพระผู้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นภาพเขียนด้วยสีน้ำมันประดิษฐานอยู่

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกในยุครัฐนิยมหรือยุคปลายคณะราษฎร (ก่อนรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500) การออกแบบและก่อสร้างหอประชุมหลังนี้เป็นสัญลักษณ์ของความพยายามในการสร้าง "ความเป็นไทย" แบบใหม่ขึ้น โดยออกแบบให้เป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยที่ลดทอนความอ่อนช้อยและวัสดุฟุ่มเฟือยลง ในขณะเดียวกันก็เน้นเส้นตรงที่คมชัดมากขึ้นเช่นเดียวกับที่พบในสถาปัตยกรรมคณะราษฎร ทำให้หอประชุมหลังนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างจากสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรตอนต้นที่เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในบรรดาสิ่งปลูกสร้างของรัฐนับตั้งแต่เหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475[8]

Thumb
สิ่งปลูกสร้างต่างยุคสมัยวางตัวตามแกนของหอประชุม

การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมของหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเชิงกายภาพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารหอประชุมแห่งนี้เป็นอาคารหลังที่สองที่ถูกสร้างขึ้นบนเส้นแกนจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกของที่ดินมหาวิทยาลัย การที่ผู้ออกแบบได้จัดวางให้ด้านหน้าของตัวอาคารหันไปยังทิศตะวันตก ทำให้ถนนพญาไทกลายเป็น "ด้านหน้า" ของมหาวิทยาลัย[9] แทนที่ถนนอังรีดูนังต์ หรือ "ถนนสนามม้า" ที่เคยทำหน้าที่เป็นด้านหน้าเมื่อครั้งหมู่อาคารเทวาลัย หรืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์และอาคารมหาวชิราวุธยังเป็นเพียงกลุ่มอาคารหลักแห่งเดียวบนพื้นที่ของมหาวิทยาลัย และยังได้เปลี่ยนให้ถนนพญาไทกลายเป็นถนนประธานบนอาณาเขตที่ดินของมหาวิทยาลัย ดังจะเห็นได้จากที่กลุ่มอาคารในยุคหลังที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท เช่น กลุ่มอาคารสำนักงานมหาวิทยาลัยทั้งหมด[10] อาคารมหาธีรราชานุสรณ์ (หอสมุดกลาง) สามย่านมิตรทาวน์ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างก็ถูกจัดวางให้หันด้านหน้าไปทางทิศตะวันออก[11] ในขณะที่เสาธงชาติของมหาวิทยาลัย พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า สนามรักบี้ สระน้ำ รวมถึงประตูรั้วหลัก ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท ถูกจัดวางให้หันด้านหน้าไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่ถนนพญาไท[2]

แนวการวางอาคารของหอประชุมจุฬาฯ ยังช่วยบังคับให้เกิดแกนแนวตะวันออก-ตะวันตกบนที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จริง[12] เพราะแม้ว่าจะไม่มีแผนพัฒนาภูมิทัศน์ระยะยาวตั้งแต่ พ.ศ. 2482 เป็นกฎเกณฑ์บังคับให้สิ่งปลูกสร้างยุคหลังต้องสร้างเรียงตัวตามแนวแกน แต่จนถึงปัจจุบัน สิ่งก่อสร้างที่ทยอยสร้างขึ้นใหม่ในอาณาเขตของมหาวิทยาลัยก็ยังคงยึดแนวแกนและทิศทางที่อาคารหอประชุมจุฬาฯ วางไว้เป็นมาตรฐาน[13] ดังจะเห็นได้จากการที่หน้าบันกลางของระเบียงทางเชื่อมระหว่างอาคารมหาจุฬาลงกรณ์และอาคารมหาวชิราวุธตรงกันพอดีกับเส้นกึ่งกลางของหอประชุมจุฬาฯ เสาธงประจำมหาวิทยาลัย ช่องว่างตรงกลางระหว่างพระบรมรูปของทั้งสองรัชกาล กึ่งกลางของจุดประดิษฐานพระบรมฉาลักษณ์ของพระประมุขของประเทศ สระน้ำ ประตูใหญ่ อาคารจามจุรี 4 หอสมุดกลาง และอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เกิดเส้นนำสายตาบนภูมิทัศน์สร้างจุดเด่นให้กับเขตปทุมวันได้อย่างดี[2]

ประวัติ

สรุป
มุมมอง
Thumb
ภายในหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างขึ้นในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งมีดำริให้สร้างหอประชุมขึ้นภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตร ทรงดนตรี และงานสำคัญของมหาวิทยาลัย เช่น การรับแขกบ้านแขกเมือง การประชุมสัมนาต่าง ๆ การแสดงละครของนิสิต ฯลฯ เริ่มสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2481 โดยมีพระสาโรชรัตนนิมมานก์เป็นสถาปนิกออกแบบก่อสร้างอาคาร และพระพรหมพิจิตรเป็นผู้ออกแบบลายกนก[14] อาคารหลังนี้แล้วเสร็จลงในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2482 และเปิดใช้ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2482 สองปีต่อมา (พ.ศ. 2484) มหาวิทยาลัยต้องทำการซ่อมแซมหอประชุม เนื่องจากหลังคาของอาคารรั่วและพื้นหอประชุมมีน้ำซึม สร้างความเสียหายถึงเพดานและดวงโคมภายในอาคาร จนกระทั่งใน พ.ศ. 2527 มหาวิทยาลัยจึงดำเนินการบูรณะและปรับปรุงหอประชุมครั้งใหญ่ โดยการปรับปรุงอาคารนี้อยู่ภายใต้ความดูแลของ รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ ด้านสถาปัตยกรรมไทย ร่วมกับคณะกรรมการอีกหลายท่าน เป็นการตกแต่งภายในใหม่ทั้งหมด พร้อมติดตั้งระบบปรับอากาศ ระบบแสง-เสียงให้มีคุณภาพดี ปรับขนาดเวทีให้ใหญ่ขึ้นและได้ประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์สีน้ำมันของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บนผนังทั้งสองข้างของเวทีอีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2557 เป็นการบูรณะและปรับปรุงหอประชุมครั้งใหญ่ครั้งที่สอง โดยมหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้คณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดำเนินการสำรวจความเสียหายและออกแบบเพื่อปรับปรุงอาคารหอประชุม เช่น การเสริมเสาเข็มรองรับพื้นเพื่อแก้ปัญหาการทรุดตัว ปรับปรุงระบบแสง-เสียงและการสื่อสาร เปลี่ยนและติดตั้งระบบปรับอากาศภายในใหม่ เพิ่มเติมโถงระเบียงทั้งสองข้างโดยยกระดับพื้นและผนังกระจก เปลี่ยนเก้าอี้ทั้งหมด ติดตั้งลิฟต์และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบหอประชุม เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เหตุการณ์สำคัญ

สรุป
มุมมอง
Thumb
ภายในหอประชุมจุฬาฯ ขณะแสดงดนตรีคลาสสิก
  • วันทรงดนตรี [15]

วันทรงดนตรีเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานแก่คณาจารย์และนิสิตจุฬาฯ ที่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีที่ประสูติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นิสิตจุฬาฯ เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2500 ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้รับสั่งกับนายสันทัด ตัณฑนันทน์ หัวหน้าวงดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาฯ สมัยนั้นว่าจะนำวงลายครามมาบรรเลงที่จุฬาฯ งานวันทรงดนตรี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นอกจากจะทรงดนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรยังได้พระราชทานข้อคิดแก่นิสิตจุฬาฯ และพระราชทานความเป็นกันเอง สร้างบรรยากาศอันอบอุ่น สนุกสนานและประทับใจเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จฯ มาทรงดนตรีที่จุฬาฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2501 – พ.ศ. 2516 เนื่องจากทรงมีพระราชภารกิจเพิ่มขึ้นจึงไม่ได้เสด็จฯ มาทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยอีก

  • การทูลเกล้าฯ ถวายปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[16]

กำหนดการของพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในปีนั้นมีว่า ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเข้าสู่หอประชุม ทรงจุดเทียนชนวนที่แท่นบูชา พลโทมังกร พรหมโยธี นายกสภามหาวิทยาลัยถวายรายงานเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นจึงทูลเกล้าฯ ถวายปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ใบแรกที่ทูลเกล้าถวายในรัชสมัยของพระองค์

  • พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานพระเกี้ยวองค์จำลองแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[17]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างพระเกี้ยวองค์จำลองจากพระเกี้ยวองค์จริงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพิจิตรเลขา (สัญลักษณ์ประจำรัชกาล) ประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเจิมและทรงพระสุหร่ายพระเกี้ยวก่อนพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยต่อหน้าประชาคมจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2531 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[18]

  • พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตร

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2489 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย[19] นับเป็นการพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครั้งแรกและครั้งเดียวของรัชกาลนี้

  • สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ถวายการต้อนรับพระองค์ในพิธีเปิดที่ทำการบริติช เคานซิล (British Council) ประจำประเทศไทย ณ อาคารวิทยกิตติ์ สยามสแควร์ จากนั้นพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งมายังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[20] พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี[21] เพื่อรับการถวายการต้อนรับจากประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ขณะนั้น ศาสตราจารย์กิตติคุณ เกษม สุวรรณกุลเป็นผู้แทนประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับเสด็จ ฐานตั้งธงโดยรอบเสาธงชาติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประดับธงยูเนียนแจ็ก ในการนี้นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกัน "บาก้า" เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์บริเวณระเบียงด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ จากนั้นวงดุริยางค์บรรเลงเพลงก็อดเซฟเดอะควีน (God Save the Queen) เป็นการส่งเสด็จ[22][23]

  • สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง หลังพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[24] ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

นายบิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐ พร้อมด้วยนางฮิลลารี คลินตัน ภริยา เดินทางมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เพื่อเข้าร่วมพิธีมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่นายบิล คลินตัน ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[25][26]

นายลินดอน บี. จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐ เดินทางมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมด้วยเลดี เบิร์ด จอห์นสัน ภริยา เดินทางมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2510 เพื่อเข้าร่วมพิธีมอบปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่นายลินดอน บี. จอห์นสัน ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[27]

  • สถานที่ประกาศผลและมอบรางวัลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยได้รับเลือกจากชมรมส่งเสริมโทรทัศน์ ให้เป็นสถานที่จัดงานประกาศผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำครั้งแรก และได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดงานอีก 5 ครั้ง ในหลายปีถัดมา[28]

  • Thumb
    หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
    สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้รับพระราชทานศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมายังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประจำปีการศึกษา 2551 ในการนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงเป็นหนึ่งในบัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้ด้วย พระองค์ทรงจบการศึกษาศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 (เหรียญทอง) ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.93 ในการนี้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมด้วย ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร[29]

  • "กิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ Bike for Dad"

วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังดำรงพระยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ทรงนำประชาชนไทยปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ใน "กิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ Bike for Dad" หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ประทับรับรองพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา[30][31]

  • การบรรยายพิเศษของมาฮาดีร์ บิน โมฮามัด ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561 มาฮาดีร์ บิน โมฮามัด นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธรัฐมาเลเซีย เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย และแสดงบรรยายพิเศษ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย และตอบคำถามอื่น ๆ จากผู้เข้าร่วมงาน โดยอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ. ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่จัดกิจกรรมครั้งนี้และถือเป็นการทำหน้าที่รับรองผู้นำรัฐบาลต่างประเทศครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[32][33]

  • การแสดงปาฐกถาพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เนื่องในโอกาสการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ

วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส มุขนายกแห่งคริสตจักรกรุงโรม (Bishop of the Church of Rome) พระประมุขของนครรัฐวาติกัน และผู้นำคริสตจักรโรมันคาทอลิกทั่วโลก เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ในวาระฉลอง 350 ปี มิสซังสยามและรำลึก 122 ปี แห่งการเสด็จเยือนนครรัฐวาติกันของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพระมหากษัตริย์พุทธมามกะพระองค์แรกที่เสด็จเยือนนครรัฐวาติกัน[34]

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำหน้าเป็นสถานที่แสดงปาฐกถาพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปาฯ พร้อมทั้งเป็นพื้นที่ให้ผู้แทนศาสนาทุกศาสนาในประเทศไทยได้ร่วมเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแสดงถึงเอกลักษณ์ของสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความหลากหลายแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษา นักวิชาการและประชาชนทั่วไปได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ในฐานะเวทีทางวิชาการที่เปิดกว้างด้วย[35][36]

  • การทูลเกล้าฯ ถวายครุยพระบรมราชูปถัมภกแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าอยู่หัว

วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2567 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมายังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพิธีทูลเกล้าฯ ถวายครุยพระบรมราชูปถัมภก เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในการนี้มหาวิทยาลัยได้จัดการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติ "รวมใจภักดิ์ เฉลิมทศมจักรีนฤบดินทร์" เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสดังกล่าวอีกด้วย[37]

การเดินทาง

สรุป
มุมมอง

การเดินทางมายังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

รถยนต์ส่วนตัว

ใช้ถนนพญาไทและถนนอังรีดูนังต์มายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยถนนพญาไทจะเข้าประตูใหญ่ด้านหน้าบริเวณสระน้ำได้สะดวกที่สุด หากใช้ถนนถนนอังรีดูนังต์สามารถเข้าประตูบริเวณคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ โดยจะสังเกตอาคารสถาปัตยกรรมไทย

รถไฟฟ้ามหานคร

รถไฟฟ้าบีทีเอส

รถประจำทาง

เนื่องจากหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่จะเดินทางมาจึงสามารถใช้รถประจำทางสายที่ผ่านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้

  • ถนนพระราม 1 สายรถประจำทางที่ผ่านมหาวิทยาลัย ได้แก่ สาย 11 15 25 40 54 73 204 และ 501[38]
  • ถนนพระราม 4 สายรถประจำทางที่ผ่านมหาวิทยาลัย ได้แก่ สาย 4 21 34 47 50 67 93 109 141 163 172 และ 177[39]
  • ถนนพญาไท สายรถประจำทางที่ผ่านมหาวิทยาลัย ได้แก่ สาย 11 25 29 34 36 36ก. 40 47 50 93 113 141 163 172 177 501 และ 529[40]
  • ถนนอังรีดูนังต์ สายรถประจำทางที่ผ่านมหาวิทยาลัย ได้แก่ สาย 16 21 และ 141[41][42]
Thumb
รถโดยสารภายในจุฬาฯ

รถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Pop Bus) หรือ "รถป็อพ" ทุกสาย คือ สาย 1 2 3 4 5 สามารถเข้าถึงพื้นที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ โดยมีจุดจอดดังนี้

ในพิธีสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น พิธีปฐมนิเทศนิสิตใหม่และถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิธีพระราชทานปริญญาบัตร พิธีทูลเกล้าฯ ถวายหรือมอบปริญญากิตติมศักดิ์แด่พระประมุขต่างประเทศ กิจกรรมรับน้องก้าวใหม่ และพิธีสำคัญที่มหาวิทยาลัยใช้หอประชุมจุฬาฯ เป็นสถานที่หลักในการจัดงาน รถโดยสายภายในจุฬาลงกรณ์กรณ์มหาวิทยาลัยจะประกาศเปลี่ยนเส้นทางเดินรถชั่วคราว โดยเลี้ยวเข้าพื้นที่มหาวิทยาลัยฝั่งตะวันออกของถนนพญาไททางประตูคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีแทน และไม่วิ่งผ่านบริเวณโดยรอบหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[43]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

Wikiwand - on

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.