ศาลาพระเกี้ยว
อาคารเอนกประสงค์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาคารเอนกประสงค์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศาลาพระเกี้ยว เป็นอาคารเอนกประสงค์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างในปี พ.ศ. 2508[1] ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมของมหาวิทยาลัยหลายอย่าง เช่น จุฬาฯวิชาการ ชั้นใต้ดินเป็นศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลักษณะภายนอกของศาลาพระเกี้ยวเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ รูปทรงคล้ายพระเกี้ยว ในปี พ.ศ. 2559 ศาลาพระเกี้ยวได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์[2]
ศาลาพระเกี้ยว | |
---|---|
Sala Prakieo | |
ศาลาพระเกี้ยวในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ประเภท | อาคารเอนกประสงค์ |
สถาปัตยกรรม | สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ |
เมือง | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 |
ประเทศ | ประเทศไทย |
พิกัด | 13.735487°N 100.531432°E |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2508 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2509 |
ปรับปรุง | ครั้งแรก พ.ศ. 2522 ครั้งที่สอง พ.ศ. 2557 |
ผู้สร้าง | จอมพล ประภาส จารุเสถียร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
โครงสร้าง | คอนกรีตเสริมเหล็กและไม้ |
การออกแบบและการก่อสร้าง | |
สถาปนิก | หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ เลิศ อุรัสยะนันทน์ |
วิศวกร | รชฎ กาญจนะวณิชย์ |
รางวัล | รางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2559 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ |
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีนิสิตเป็นจำนวนมาก มีการสนับสนุนให้นิสิตทำกิจกรรมในระหว่างศึกษาในมหาวิทยาลัย ทำให้สโมสรนิสิตจำเป็นต้องมีการขยายพื้นที่ปฏิบัติงานจากอาคารจักรพงษ์ที่ใช้อยู่เดิม ในขณะนั้นจอมพล ประภาส จารุเสถียร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยในขณะนั้นมีแนวคิดที่จะสร้างอาคารเอนกประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวมกิจกรรมของนิสิต สภามหาวิทยาลัยจึงอนุมัติให้สร้างอาคารหลังหนึ่งโดยใช้ชื่อว่า ศาลาพระเกี้ยว ขึ้นบริเวณด้านหลังอาคารจุลจักรพงษ์ในปัจจุบัน ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 12 ล้านบาท[3]
ศาลาพระเกี้ยวเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2508 สร้างเสร็จลงใน พ.ศ. 2509 มีหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ เป็นสถาปนิกออกแบบ เลิศ อุรัสยนันทน์เป็นสถาปนิกผู้ช่วยและมีรชฏ กาญจนะวณิชย์เป็นวิศวกรควบคุมการก่อสร้าง หลังจากสร้างเสร็จสมบูรณ์ได้มีพิธีเปิดในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2510 ซึ่งตรงกับวันครบรอบการประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบ 50 ปี[4]
ในปี พ.ศ. 2522 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการปิดศาลาพระเกี้ยวเพื่อทำการปรับปรุงซ่อมแซมครั้งใหญ่ เนื่องจากความทรุดโทรมที่เกิดจากการใช้งานมายาวนานและปัญหาฐานรากทรุด ใช้งบประมาณในการซ่อมแซมในครั้งนี้เป็นเงิน 19 ล้านบาท ใช้เวลา 2 ปีครึ่งจึงแล้วเสร็จ[5] หลังจากนั้น 35 ปี ในปี พ.ศ. 2557 ศาลาพระเกี้ยวปิดทำการอีกครั้งเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ 2 ประกอบไปด้วยการปรับปรุงชั้นล่าง (ชั้นใต้ดิน) ใช้งบประมาณ 4 ล้านบาท[6] และการปรับปรุงตัวอาคารศาลาพระเกี้ยว ใช้งบประมาณ 60 ล้านบาท ในครั้งนี้ใช้เวลาปรับปรุง 1 ปีจึงสามารถเปิดทำการได้ในปีการศึกษา 2558[7]
ศาลาพระเกี้ยวเป็นอาคารคอนกรีตเสริมแรงด้วยเหล็ก (คอนกรีตเสริมเหล็ก) 2 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 1 ชั้น ภายในชั้น 1 เป็นโถงขนาดใหญ่ปูพื้นด้วยไม้ ชั้น 2 เป็นชั้นลอยเกาะติดกับตัวอาคารด้านในรอบด้าน เพดานโปร่งสูง ผนังด้านข้างเป็นหน้าต่างกระจก รูปทรงโดยรวมของตัวอาคารออกแบบให้คล้ายพระเกี้ยว สัญลักษณ์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2559 ศาลาพระเกี้ยวได้รับการคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ให้ได้รางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น[8]
ด้วยจุดประสงค์ของโครงการก่อสร้างศาลาพระเกี้ยวคือการเป็นอาคารศูนย์รวมกิจกรรมนิสิต ที่ตั้งของศาลาพระเกี้ยวจึงถูกเลือกให้รายล้อมด้วยอาคารคณะวิชา หน่วยงานและป้ายหยุดรถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นจุดสัญจรสำคัญของนิสิตและผู้มาติดต่อมหาวิทยาลัย กลุ่มอาคารของคณะและหน่วยงานที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงศาลาพระเกี้ยว เช่น คณะรัฐศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันภาษาและพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.