Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 – 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466) มีพระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล "อาภากร" เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด พระองค์ทรงได้รับสมัญญานามว่า "องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย"
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ | |
---|---|
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 5 พระองค์เจ้าชั้นเอก กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ | |
เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ | |
ดำรงตำแหน่ง | 1 เมษายน พ.ศ. 2466 – 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา |
ถัดไป | สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา |
ประสูติ | 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
สิ้นพระชนม์ | 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 (42 ปี) จังหวัดชุมพร ประเทศสยาม |
พระราชทานเพลิง | 24 ธันวาคม พ.ศ. 2466 พระเมรุ ท้องสนามหลวง จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
พระชายาและหม่อม | พระชายา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ หม่อม หม่อมกิม หม่อมแฉล้ม หม่อมเมี้ยน หม่อมช้อย หม่อมแจ่ม |
พระบุตร | 11 องค์ |
ราชสกุล | อาภากร |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระมารดา | เจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 5 |
พระองค์ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือ ทรงได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือเรียกขานพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย" หรือ "หมอพร" และ "พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย" ต่อมาใน พ.ศ. 2536 มีประกาศกองทัพเรือขนานพระนามพระองค์ว่า "พระบิดาของกองทัพเรือไทย"[1] และใน พ.ศ. 2544 แก้ไขเป็น "องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย"[2]
ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ได้มีการจัดสร้างศาลและพระอนุสาวรีย์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รวมทั้งสิ้น 217 แห่งทั่วประเทศไทย[3] เช่น มณฑลทหารบกที่ 44 ค่ายเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร[4] โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี[5] หรือที่พระตำหนักที่หาดทรายรี จังหวัดชุมพร
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม 3 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง โทศก จ.ศ. 1242 ตรงกับวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เป็นพระโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นพระองค์แรกที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด ป.จ. ธิดาเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวงและเป็นน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ มีพระกนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรองค์อรรคยุพา (สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์) และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส (พระนามเดิม:พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์ ต้นราชสกุลสุริยง) พระองค์นับเป็นพระภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง) กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องด้วยพระมารดาของพระองค์กับพระมารดาของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีเป็นพี่น้องกัน นอกจากนี้พระองค์นับทรงเป็นพระปิตุลา(เสด็จลุง)สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เนื่องจากทรงเป็นพระธิดาองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เหตุทำให้ทรงเป็นพระอนุชาธิราชต่างมารดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
ทรงเข้าเป็นนักเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อมีพระชันษาได้ 13 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ที่ประเทศ สหราชอาณาจักร พร้อมกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ทรงเข้าร่วมเป็นนายทหารเรือของราชนาวีหรือ royal navy[6]ใน พ.ศ. 2436 ทรงเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยราชนาวีกรีนนิช ใน พ.ศ. 2439 ต่อจากนั้นทรงศึกษาต่อในโรงเรียนปืนใหญ่ และโรงเรียนตอร์ปิโด จนได้เลื่อนยศเป็นเรือเอก รวมเวลาที่ทรงศึกษาอยู่ใน 6 ปีเศษ
เสด็จกลับประเทศไทย ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2443 จึงได้รับพระราชทานยศเป็น นายเรือโท (ปัจจุบันเทียบเท่า นาวาตรี)[7] ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่ "กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์"[8] ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ[9] และทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ใน พ.ศ. 2449 พระองค์ได้ทรงแก้ไขปรับปรุงระเบียบการในโรงเรียนนายเรือ ทรงเป็นครูสอนนักเรียนนายเรือ ทรงจัดเพิ่มเติมวิชาสำคัญสำหรับชาวเรือ คือวิชาดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ พีชคณิต อุทกศาสตร์ การเดินเรือเรขาคณิต เพื่อประสงค์ให้นักเรียนนายเรือสามารถเดินเรือทางไกลในทะเลน้ำลึกได้ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว[ต้องการอ้างอิง]
ทรงเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 ทำให้กิจการทหารเรือมีรากฐานมั่นคง และกองทัพเรือจึงยึดถือวันดังกล่าวของทุกปีเป็น "วันกองทัพเรือ"[ต้องการอ้างอิง]
นอกจากนี้ยังทรงดำรงตำแหน่งองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[10] และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[11]
พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระองค์ออกจากราชการอยู่ชั่วระยะหนึ่ง จึงได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจากตำราไทย ทรงเขียนตำราสมุดข่อยด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และรับรักษาโรคให้ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดมูลค่า ทรงคิดแต่เพียงค่าครูเท่านั้น ทั้งนี้พระองค์ทรงโปรดให้เรียกพระองค์ว่า "หมอพร"[12]
พ.ศ. 2460 ประเทศสยามได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และกองทัพเรือยังขาดผู้มีความรู้ความสามารถ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จกลับเข้ารับราชการในตำแหน่ง จเรทหารเรือ[13] และดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ[14]
พ.ศ. 2462 ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงพิเศษออกไปจัดหาซื้อเรือในภาคพื้นยุโรป เรือที่จะจัดซื้อนี้ได้รับพระราชทานนามว่า "เรือรบหลวงพระร่วง" ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ นำเรือรบหลวงพระร่วงเดินเรือข้ามทวีปจากสหราชอาณาจักร เข้ามายังกรุงเทพมหานคร ด้วยพระองค์เอง[ต้องการอ้างอิง]
พ.ศ. 2463 มีพระบรมราชโองการให้เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขึ้นเป็นกรมหลวงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิงหนาม ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ฯลฯ (คำ "เขตร" ในพระนามเปลี่ยนเป็น "เขต" ด้วย)[15][16]
ทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ที่เล็งเห็นการณ์ไกล พระองค์ได้ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานที่ดินบริเวณอำเภอสัตหีบ สร้างเป็นฐานทัพเรือ เมื่อ พ.ศ. 2465 เนื่องจากทรงเห็นว่า อ่าวสัตหีบเป็นอ่าวที่มีขนาดใหญ่ น้ำลึกเหมาะแก่การฝึกซ้อมยิงตอร์ปิโด มีเกาะน้อยใหญ่รายล้อม สามารถบังคับคลื่นลมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ เมื่อเรือภายนอกแล่นผ่านบริเวณนี้จะไม่สามารถมองเห็นฐานทัพได้[ต้องการอ้างอิง]
วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2466 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ[17] ต่อจาก จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต นับเป็นตำแหน่งทางราชการตำแหน่งสุดท้ายในพระชนม์ชีพของพระองค์[ต้องการอ้างอิง]
หลังจากทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้ไม่นาน พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้กราบถวายบังคมลาเพื่อเสด็จออกไปรักษาพระองค์ (ลาป่วย) ณ มณฑลสุราษฎร์ เป็นเวลา 1 เดือน เนื่องจากประชวรด้วยโรคประจำพระองค์ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชนิพนธ์ไว้ในพระราชบันทึกส่วนพระองค์ว่า กรมหลวงชุมพรฯ ทรงปฏิบัติตามคำแนะนำของหม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ ไชยันต์ นายแพทย์ใหญ่ทหารเรือ ซึ่งได้วินิจฉัยพระอาการของพระองค์ว่าประชวรด้วยพระโรคเส้นประสาทไม่ปรกติ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสังเกตเห็นว่า กรมหลวงชุมพรฯ เริ่มทรงพระดำเนินไม่ถนัดมาตั้งแต่งานทำบุญวันคล้ายวันเกิดของเจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 5 เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2465 (ตามปฏิทินในขณะนั้น) แล้ว[18]
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้ประทับพักรักษาพระองค์อยู่ที่ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร มณฑลสุราษฎร์ ระหว่างนั้นทรงประชวรแทรกซ้อนด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่ พระอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 เวลา 11 นาฬิกา 40 นาที[19] สิริพระชันษา 42 ปี 5 เดือน (42 ปี 151 วัน) มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2466 ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง[20]
กองทัพเรือไทยได้ถือเอาวันที่ 19 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เป็น "วันอาภากร"
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นผู้มีความสามารถด้านมวยไทย และในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงเป็นผู้ฝึกสอนให้กับนักมวยต่างจังหวัด ทั้ง นายทับ จำเกาะ นายยัง หาญทะเล นายตู้ ไทยประเสริฐ และนายพูน ศักดา ซึ่งเป็นนักมวยที่มีฝีมือชาวโคราช[21]
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ศิษย์เอก หลวงปู่ศุข ยังมีความสามารถในด้านศิลปะ โดยพระองค์ได้ทรงเขียนภาพพุทธประวัติไว้ที่ผนังโบสถ์ของวัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท อันเป็นภาพเหตุการณ์ที่พระโคตมพุทธเจ้าทรงพบปัญจวัคคีย์ ซึ่งเป็นผลงานที่ยังคงปรากฏสืบมาจนถึงปัจจุบัน และได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผลงานที่มีความละเอียดอ่อนลึกซึ้ง[22]
ทางด้านชีวิตส่วนพระองค์อภิเษกสมรสกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ พระธิดาในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 (นับแบบปัจจุบันเป็นปี พ.ศ. 2444) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ กรุณาพระราชทานน้ำสังข์ในพิธีอภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง[23] แต่ในภายหลัง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ ทรงน้อยพระทัยพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ และปลงชีพพระองค์เองด้วยยาพิษ[24]
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีพระเถระที่พระองค์ทรงนับถืออย่างมาก ได้แก่ พระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) แห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท และพระครูประศาสน์สิกขกิจ (พริ้ง อินฺทโชติ) แห่งวัดบางปะกอก กรุงเทพมหานคร[25]
พระองค์มีพระโอรสและพระธิดา ดังนี้:[26][27]
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งสยามและต่างประเทศ ดังนี้[19]
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ | |
---|---|
รับใช้ | ไทย |
แผนก/ | กองทัพเรือสยาม กองเสือป่า |
ชั้นยศ | พลเรือเอก นายกองโท |
พงศาวลีของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.