จังหวัดเพชรบูรณ์
จังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เพชรบูรณ์ เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางตอนบน[3] หรือภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย[4] มีพื้นที่ประมาณ 12,668 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของประเทศ มีประชากร 978,372 คน[2] แบ่งการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ และมีเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์เป็นศูนย์กลางของจังหวัด จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติ มีความอุดมสมบูรณ์ และมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก
จังหวัดเพชรบูรณ์ | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Changwat Phetchabun |
จากซ้ายไปขวา บนลงล่าง:
| |
คำขวัญ: เมืองมะขามหวาน อุทยานน้ำหนาว ศรีเทพเมืองเก่า เขาค้ออนุสรณ์ นครพ่อขุนผาเมือง | |
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดเพชรบูรณ์เน้นสีแดง | |
ประเทศ | ไทย |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | ศรัณยู มีทองคำ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2567) |
พื้นที่[1] | |
• ทั้งหมด | 12,668.416 ตร.กม. (4,891.303 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 9 |
ประชากร (พ.ศ. 2566)[2] | |
• ทั้งหมด | 967,421 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 22 |
• ความหนาแน่น | 76.36 คน/ตร.กม. (197.8 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 63 |
รหัส ISO 3166 | TH-67 |
ชื่อไทยอื่น ๆ | เพชบุระ |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
• ต้นไม้ | มะขาม |
• สัตว์น้ำ | แมงกะพรุนน้ำจืด (Craspedacusta sowerbii) |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ภายในศูนย์ราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ หมู่ที่ 5 ถนนสระบุรี-หล่มสัก ตำบลสะเดียง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ 67000 |
• โทรสาร | +66-0-5672-9756 |
เว็บไซต์ | www |
ชื่อของจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อสมัยก่อนน่าจะชื่อว่าเมือง "เพชบุระ" ตามที่ปรากฏในจารึกลานทองคำ ที่พบจากเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ วัดมหาธาตุ ซึ่งหมายถึงเมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร แต่ในระยะหลังต่อมาได้เพื้ยนหรือเปลี่ยนเป็นชื่อ "เพ็ชร์บูรณ์"[5] และเปลี่ยนเป็น "เพชรบูรณ์" กลายความหมายเป็นเมืองที่อุดมด้วยเพชร และได้นำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด
เพชรบูรณ์ แปลว่าเมืองพระหรือเมืองวิถีพุทธ หมายถึง เมืองที่ประชาชนดำเนินชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา คำว่า "เพชร" ในคำว่า เพชรบูรณ์ เป็นศัพท์ทางศาสนา ไม่ได้หมายถึงเพชรที่เป็นอัญมณี (diamond) แต่มาจากคำว่า สัพพัญญู แปลว่า ผู้รู้ทุกอย่าง (หมายถึงพระพุทธเจ้า) แล้วทำให้เหลือสองพยางค์ตามหลักอักขระวิธีเป็น สรรเพชญ์ และเอาคำว่า เพชญ์ คำเดียวมาสนธิกับคำว่า ปุระ รวมกันเป็น เพ็ชญปุระ เพี้ยนมาเป็นเพชรบูรณ์ในปัจจุบัน คล้ายกับชื่อเมือง จันทบูร แผลงมาเป็น จันทบุรี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการรวบรวมหัวเมืองตามชายแดนที่สำคัญตั้งเป็นเขตการปกครองใหม่ ขึ้นเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล ในปี พ.ศ. 2442 มณฑลเพชรบูรณ์ได้ตั้งขึ้นเป็นอิสระ เนื่องจากท้องที่มีภูเขาล้อมรอบ มีการเชื่อมต่อคมนาคมกับมณฑลอื่นไม่สะดวก ลำบากแก่การติดต่อราชการ และโอนเมืองหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า อำเภอวังสะพุง มาขึ้นกับมณฑลเพชรบูรณ์ ยุบเมืองวิเชียรบุรีเป็นอำเภอ โอนอำเภอบัวชุม (ปัจจุบันเป็นตำบล) อำเภอชัยบาดาลขึ้นกับเมืองเพชรบูรณ์ มณฑลเพชรบูรณ์จึงมีสองเมือง คือ หล่มสัก กับ เพชรบูรณ์[6]
พ.ศ. 2447 ได้ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ และได้ตั้งเป็นมณฑลอีกในปี พ.ศ. 2450 และได้ยุบอีกครั้งในปี พ.ศ. 2459 จังหวัดเพชรบูรณ์ในขณะนั้นมี 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอวัดป่า (ปัจจุบันคือตำบลในอำเภอหล่มสัก) อำเภอวิเชียรบุรี และกิ่งอำเภอชนแดน[6] จนกระทั่ง พ.ศ. 2476 ได้ยกเลิกมณฑลต่าง ๆ ทั่วประเทศ
จังหวัดเพชรบูรณ์มีตำแหน่งทางอุตุนิยมวิทยาในเขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย เดิมเกณฑ์การแบ่งภาคของราชการได้กำหนดให้เพชรบูรณ์เป็นจังหวัดในภาคกลาง[3] ต่อมาใน พ.ศ. 2551 มีมติคณะรัฐมนตรีปรับปรุงกลุ่มจังหวัดซึ่งกำหนดให้จังหวัดเพชรบูรณ์อยู่ในภาคเหนือตอนล่าง[4] เพชรบูรณ์เป็นจังหวัดที่มีแนวเขตติดต่อระหว่างภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประมาณเส้นรุ้งที่ 16 องศาเหนือ กับเส้นแวง 101 องศาตะวันออก ส่วนที่กว้างที่สุดวัดจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกยาว 55 กิโลเมตร ส่วนที่ยาวที่สุดวัดจากทิศเหนือถึงทิศใต้ยาว 296 กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 346 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21
จังหวัดเพชรบูรณ์มีพื้นที่ประมาณ 12,668.416 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,917,760 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 114 เมตร มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 9 ของประเทศ ลักษณะทางกายภาพของจังหวัดเพชรบูรณ์นั้นเป็นพื้นที่ราบลุ่มแบบท้องกระทะ ประกอบด้วยเนินเขา ป่า และที่ราบเป็นตอน ๆ สลับกันไป พื้นที่มีลักษณะลาดชันจากเหนือลงไปใต้ ตอนเหนือมีทิวเขาสูง ตอนกลางเป็นพื้นที่ราบและมีเทือกเขาขนาบกันไปทั้งสองข้างมีลักษณะเป็นรูปเกือกม้า[6] มีแม่น้ำป่าสักเป็นแม่น้ำสายสำคัญโดยไหลจากจังหวัดเลย เพชรบูรณ์ ผ่านไปสู่จังหวัดในภาคกลาง แล้วลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตามลำดับ จึงส่งผลให้พื้นที่ดีมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ดินมีสภาพอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชทำการเกษตร
เนื่องจากสภาพภูมิประเทศล้อมรอบด้วยภูเขา ทำให้สภาพภูมิอากาศแตกต่างกันมากในแต่ละฤดูกาล คือ อากาศจะร้อนมากในฤดูร้อน และหนาวจัดในฤดูหนาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อำเภอน้ำหนาว อำเภอเขาค้อ และอำเภอหล่มเก่า ส่วนพื้นที่บนภูเขาจะมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี ในฤดูฝนมีฝนตกชุก และมีน้ำป่าไหลหลากมาท่วมในที่ราบ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักตอนใต้ของจังหวัด ในฤดูแล้งน้ำจะขาดแคลนไม่เพียงพอกับการเกษตรกรรม ในฤดูร้อนและฤดูฝน จะมีอุณหภูมิ 20–24 องศาเซลเซียส[7]
ข้อมูลภูมิอากาศของจังหวัดเพชรบูรณ์ | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือน | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ทั้งปี |
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) | 31.9 (89.4) |
34.4 (93.9) |
36.3 (97.3) |
37.2 (99) |
35.0 (95) |
32.9 (91.2) |
32.3 (90.1) |
31.8 (89.2) |
32.0 (89.6) |
32.2 (90) |
31.6 (88.9) |
31.0 (87.8) |
33.22 (91.79) |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) | 15.9 (60.6) |
18.9 (66) |
21.8 (71.2) |
24.1 (75.4) |
24.5 (76.1) |
24.2 (75.6) |
23.8 (74.8) |
23.8 (74.8) |
23.6 (74.5) |
22.6 (72.7) |
19.5 (67.1) |
16.1 (61) |
21.57 (70.82) |
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) | 7.0 (0.276) |
17.4 (0.685) |
34.5 (1.358) |
70.3 (2.768) |
157.4 (6.197) |
153.1 (6.028) |
168.5 (6.634) |
189.3 (7.453) |
211.9 (8.343) |
98.3 (3.87) |
13.2 (0.52) |
3.8 (0.15) |
1,124.7 (44.28) |
วันที่มีหยาดน้ำฟ้าโดยเฉลี่ย | 1 | 2 | 4 | 7 | 15 | 17 | 18 | 21 | 18 | 11 | 3 | 1 | 118 |
แหล่งที่มา: Thai Meteorological Department |
จังหวัดเพชรบูรณ์ มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายชนิด ดังนี้
จังหวัดเพชรบูรณ์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ 117 ตำบล 1,430 หมู่บ้าน ซึ่งอำเภอทั้ง 11 อำเภอมีดังนี้
องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และมีสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 30 คน[8]
ภายในพื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์แบ่งออกเป็นเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่างหรือระดับพื้นฐานจำนวนทั้งหมด 127 แห่ง ได้แก่ เทศบาลเมือง 3 แห่ง, เทศบาลตำบล 22 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 102 แห่ง[9] รายชื่อเทศบาลทั้งหมดในจังหวัดเพชรบูรณ์มีดังนี้
อันดับ (ปีล่าสุด) | อำเภอ | พ.ศ. 2557[10] | พ.ศ. 2556[11] | พ.ศ. 2555[12] | พ.ศ. 2554[13] | พ.ศ. 2553[14] | พ.ศ. 2552[15] | พ.ศ. 2551[16] |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
1 | เมืองเพชรบูรณ์ | 210,822 | 210,730 | 210,420 | 210,023 | 211,046 | 211,055 | 210,967 |
2 | หล่มสัก | 157,720 | 157,576 | 157,595 | 157,494 | 158,535 | 158,352 | 158,431 |
3 | วิเชียรบุรี | 132,542 | 132,456 | 132,572 | 132,299 | 135,235 | 135,274 | 136,538 |
4 | หนองไผ่ | 112,757 | 112,885 | 113,164 | 112,911 | 113,370 | 113,305 | 113,403 |
5 | ชนแดน | 79,780 | 79,685 | 79,679 | 79,267 | 79,494 | 79,621 | 80,026 |
6 | บึงสามพัน | 71,998 | 71,859 | 71,770 | 71,511 | 71,851 | 71,626 | 71,579 |
7 | ศรีเทพ | 70,608 | 70,454 | 70,472 | 70,143 | 69,772 | 69,654 | 69,670 |
8 | หล่มเก่า | 66,995 | 66,885 | 66,800 | 66,611 | 66,741 | 66,577 | 66,417 |
9 | วังโป่ง | 37,393 | 37,545 | 37,584 | 37,552 | 37,629 | 37,722 | 37,873 |
10 | เขาค้อ | 37,082 | 36,494 | 36,043 | 35,551 | 35,081 | 34,762 | 34,325 |
11 | น้ำหนาว | 18,110 | 17,828 | 17,603 | 17,445 | 17,277 | 17,177 | 17,003 |
— | รวม | 995,807 | 994,397 | 993,702 | 990,807 | 996,031 | 995,125 | 996,231 |
สภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดเพชรบูรณ์ในปี พ.ศ. 2562 มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด 83,808 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นภาคเกษตร 29,478 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.17 และนอกภาคเกษตร 54,331 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64.82
รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของประชาชน จังหวัดเพชรบูรณ์ คือ 75,574 บาท เมื่อพิจารณา ในระดับอำเภอ พบว่า อำเภอที่มีรายได้เฉลี่ยมากที่สุด คืออำเภอเมืองเพชรบูรณ์ มีรายได้เฉลี่ย 82,291 บาท/คน/ปี และอำเภอที่มีรายได้เฉลี่ยน้อยที่สุด คือ อำเภอน้ำหนาว มีรายได้เฉลี่ย 62,374 บาท/คน/ปี[17]
ในปี พ.ศ. 2562 ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ภาคการเกษตรมีมูลค่า 29,478 ล้านบาทและจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข้อมูลสถิติในด้านการใช้ที่ดินของทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2562 พบว่า เนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรทั้งหมดของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีจำนวน 3,058,671 ไร่ โดยจำแนกเป็นเนื้อที่นาข้าว 1,261,478 ไร่ เนื้อที่พืชไร่ 1,645,881 ไร่ เนื้อที่สวนไม้ผล ไม้ยืนต้น 141,614 ไร่ เนื้อที่สวนผัก/ไม้ดอก/ไม้ประดับ 44,670 ไร่ และเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรอื่นๆ 185,909 ไร่
จังหวัดเพชรบูรณ์มีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทย จำนวน 2 สินค้า ได้แก่ มะขามหวานเพชรบูรณ์ เป็นที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมาอย่างยาวนานว่าเป็นมะขามหวานที่มีคุณภาพดี เปลือกสีน้ำตาลเนียน เนื้อสีสวยสม่ำเสมอ เนื้อหนานุ่ม เหนียว สาแหรกน้อย ไม่แข็งกระด้าง รสชาติหวานหอม เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งการบริโภคสดและ แปรรูป จากลักษณะของสภาพภูมิอาการและสภาพภูมิประเทศของจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ส่งผลให้มะขามหวานของเพชรบูรณ์คุณภาพที่ดี และมีลักษณะที่แตกต่างจากมะขามที่ปลูกที่อื่น และข้าวเหนียวดำพันธุ์ลืมผัวเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองชนิดหนึ่งที่ชาวเขาเผ่าม้งปลูกสำหรับบริโภคเป็นอาหารหลักกันมาอย่างยาวนานเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สร้างวัฒนธรรมในการเพาะปลูก ความเป็นอยู่ วิถีชีวิตประเพณี
ในปี 2563 จังหวัดเพชรบูรณ์ มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนและได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 500 โรงงาน มีเงินลงทุนรวม 36,931.62 ล้านบาท มีจำนวนคนงาน 15,322 คน สำหรับประเภทโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด 5 ลำดับได้แก่
อุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วย การแปรรูปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ เป็นหลัก รองลงมาได้แก่ การผลิตน้ำตาล, การผลิตน้ำแข็งและน้ำดื่ม, การผลิตไอศกรีมและนมสดพลาสเจอร์ไรส์
อุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ ประกอบด้วย การผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็นหลัก รองลงมาได้แก่ ปรับปรุงคุณภาพของเสียรวม, การทำห้องเย็น และการโม่
บด หรือย่อยหิน
อุตสาหกรรมการเกษตร (ผลิตภัณฑ์จากพืช)ประกอบด้วย การผลิตเกี่ยวกับเมล็ดพืช ข้าวโพด โรงสีข้าว และผลผลิตเกษตรกรรม การอบเมล็ดพืชข้าวโพด และการผลิตมันเส้น
อุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ ประกอบด้วย อู่ซ่อมรถ ซ่อมและเคาะพ่นสี ซ่อมอุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์ ทำโครงกระบะสำหรับรถบรรทุกและผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์อื่นๆ และศูนย์บริการซ่อมแซมรถยนต์
อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ประกอบด้วย การผลิตเครื่องดื่มประเภท น้ำดื่ม น้ำแร่ เป็นหลัก รองลงมาได้แก่ ผลิตเอทานอล
ในปี 2563 จังหวัดเพชรบูรณ์มีจำนวนเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ในพื้นที่น้ำจืดจำนวน 8,978 ครัวเรือน และมีเนื้อที่สำหรับเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดรวม 14,708.00 ไร่ รวมทั้ง มีผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงเท่ากับ 3,330.845 กิโลกรัม ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับปี 2560 เนื้อที่ในการเพาะเลี้ยง มีปริมาณลดลง จำนวน 19,628.2 ไร่ และผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงลดลง 569,799 กิโลกรัม ตามลำดับ โดยอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ เป็นอำเภอที่มีปริมาณผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดและการทำประมงน้ำจืดมากที่สุด
การท่องเที่ยวอยู่ในเกณฑ์ดี โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นมากในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของจังหวัด เนื่องจากภาครัฐบาลและเอกชนได้จัดรายการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทำให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้นเป็นอย่างมาก
ข้อมูลนิติบุคคลในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีผู้จดทะเบียนนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 3 ราย ทุนจดทะเบียน 2.03 ล้านบาท ประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำนวน 1,506 ราย ทุนจดทะเบียน 3,617.72 ล้านบาท ประเภทบริษัทจำกัด จำนวน 1,048 ราย ทุนจดทะเบียน 15,082.68 ล้านบาท บริษัทจำกัด (มหาชน) จำนวน 1 ราย ทุนจดทะเบียน 351.00 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลนิติบุคคลในจังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2561 พบว่า มีการจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มขึ้นทุกปี สะท้อนให้เห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ดีขึ้น
การก่อสร้างชะลอตัวลดจากปีก่อน โดยการก่อสร้างการให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนยังคงหดตัว จากการจดทะเบียนนิติบุคคลของบุคคลของผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างลดลงร้อยละ 17.64 เงินทุนลดลงร้อยละ 41.56 ตามลำดับภาวะการค้าของจังหวัดในปี พ.ศ. 2543 ยังคงทรงตัวต่อเนื่องจากปีก่อน จะมีการใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงฤดูท่องเที่ยว
ในปี พ.ศ. 2543 จังหวัดเพชรบูรณ์ มีสถาบันการเงินที่ให้บริการแก่ประชาชนทั้งสิ้น 46 แห่ง ซึ่งสถาบันการเงินที่สำคัญ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และบริษัทประกันชีวิต
ในปี พ.ศ. 2563 จังหวัดเพชรบูรณ์มีการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดา นิติบุคคล รวมทั้งสิ้น 765.37 ล้านบาท เทียบกับปี 2562 จัดเก็บได้ 731.89 ล้านบาท ส่วนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต รวมจำนวนทั้งสิ้น 82.72 ล้านบาท
การศึกษาแบ่งเป็นระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 546 แห่ง และระดับอุดมศึกษา 10 แห่ง
สถาบันอุดมศึกษาที่สำคัญในจังหวัดเพชรบูรณ์ มีดังต่อไปนี้
การขนส่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนใหญ่จะใช้ระบบถนน เนื่องจากไม่มีทางรถไฟ และมีท่าอากาศยาน 1 แห่ง คือ ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์ การขนส่งทางถนนในจังหวัดเพชรบูรณ์ มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 เป็นทางหลวงสายหลักพาดผ่านในแนวเหนือ-ใต้ ผ่านเขตจังหวัดเป็นระยะทาง 114.834 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพมหานครมายังจังหวัด สามารถใช้ถนนพหลโยธิน จากนั้นเลี้ยวเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 ที่แยกพุแค (ประมาณกิโลเมตรที่ 123 ของถนนพหลโยธิน) ผ่านจังหวัดลพบุรี แล้วเข้ามายังจังหวัดเพชรบูรณ์ ผ่านตัวจังหวัด แล้วออกไปยังจังหวัดเลย ระยะทางจากกรุงเทพมหานครมายังตัวจังหวัดอยู่ห่างประมาณ 346 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 เชื่อมต่อไปยังจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดขอนแก่น, ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 113 เชื่อมต่อจังหวัดไปยังจังหวัดพิจิตร, ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225 เชื่อมต่อไปยังจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดชัยภูมิ
จังหวัดเพชรบูรณ์ มีประชากรที่เป็นคนพื้นถิ่นพูดภาษาถิ่นที่แตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ยัง มีประชากรที่อพยพมาจากส่วนต่าง ๆ ของ ประเทศไทยที่ยังใช้ภาษาถิ่นเดิมของตน และชาวไทยภูเขาที่พูดภาษาของ เผ่าม้ง จึงทำให้วัฒนธรรมทางภาษาถิ่นของเพชรบูรณ์มีความหลากหลาย ภาษาถิ่นที่ใช้กันในจังหวัดเพชรบูรณ์ สรุปได้ดังนี้
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.