Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ระบอบนาซี (เยอรมัน: Nazismus)[1] หรือชื่อทางการคือ ระบอบชาติสังคมนิยม (เยอรมัน: Nationalsozialismus) เป็นแนวปฏิบัติและอุดมการณ์ทางการเมืองแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ[2] ขวาจัด[3] ที่เกี่ยวข้องกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมันหรือพรรคนาซีในนาซีเยอรมนี ในยุโรปในช่วงของการเถลิงอำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในคริสต์ทศวรรษ 1930 ระบอบมักถูกเรียกในอีกชื่อว่า ลัทธิฮิตเลอร์ (เยอรมัน: Hitlerfaschismus) คำที่มีความเกี่ยวข้องในภายหลังคำว่า "นีโอนาซี" ใช้หมายถึงกลุ่มการเมืองขวาจัดอื่น ๆ ที่มีแนวคิดคล้ายกันที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ระบอบนาซีเป็นลัทธิฟาสซิสต์รูปแบบหนึ่ง[4][5][6][7] ซึ่งดูถูกเหยียดหยามประชาธิปไตยเสรีนิยมและระบบรัฐสภา โดยรวมระบอบเผด็จการ[2] การต่อต้านยิวอย่างกระตือรือร้น การต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ คตินิยมเชื้อชาติทางวิทยาศาสตร์ (scientific racism) และการใช้งานสุพันธุศาสตร์เข้าด้วยกันเป็นหลักความเชื่อของระบอบ ความเป็นชาตินิยมสุดโต่งของมันมีต้นตอมาจากอุดมการณ์รวมกลุ่มเยอรมันและขบวนการชาตินิยมชาติพันธุ์ (ethnic nationalism) นีโอเพแกน (neopagan) นามว่าขบวนการเฟิลคิช (Völkisch movement) ซึ่งได้กลายมาเป็นลักษณะสำคัญของชาตินิยมเยอรมัน (German nationalism) นับแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และยังได้รับอิทธิพลโดดเด่นจากกองกำลังกึ่งทหารไฟรคอร์ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นหลังจากความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเป็นแหล่งที่มาของ "ลัทธิบูชาความรุนแรง" (cult of violence) ที่เป็นพื้นเดิมของพรรค[8] ระบอบนาซีเห็นด้วยกับทฤษฎีวิทยาศาสตร์เทียมที่เกี่ยวกับลำดับชั้นทางเชื้อชาติ (racial hierarchy)[9] และทฤษฎีดาร์วินทางสังคม นาซีกล่าวอ้างว่าชาวเยอรมันเป็นเชื้อชาติอารยะที่สูงส่งที่สุด[10] โดยระบุว่าชาวเยอรมันเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่พวกนาซีถือว่าคือเชื้อชาติเจ้านายเชื้อชาติอารยัน (Aryan race) หรือนอร์ดิก (Nordic race)[11] โดยมีเป้าหมายเพื่อก้าวข้ามความแบ่งแยกในสังคมและสร้างสังคมเยอรมันที่เป็นเอกพันธุ์ (Homogeneity and heterogeneity) บนฐานของความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติซึ่งเป็นภาพแทนของประชาคมของประชาชน (ฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์ (Volksgemeinschaft)) พวกนาซีมุ่งที่จะเชื่อมผสานชาวเยอรมันทุกคนที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตของเยอรมนีในประวัติศาสตร์เข้าด้วยกัน และหาแผ่นดินมาเพิ่มสำหรับการขยายตัวของเยอรมนีภายใต้หลักการเลเบินส์เราม์ และกีดกันผู้ใดก็ตามที่พวกเขามองว่าเป็นคนต่างด้าวในประชาคม (community alien) หรือเป็นเชื้อชาติที่ "ต่ำกว่า" (อุนเทอร์เม็นช์)
คำว่า "ชาติสังคมนิยม" เกิดขึ้นจากความพยายามในการให้นิยามใหม่กับ สังคมนิยม ให้เป็นทางเลือกแทนไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยมสากลนิยมมากซิสต์หรือทุนนิยมตลาดเสรีก็ตาม ระบอบนาซีปฏิเสธแนวคิดมากซิสต์เกี่ยวกับการต่อสู้ทางชนชั้นและความเสมอภาคอันเป็นสากล ต่อต้านสากลนิยม (internationalism (politics)) พลเมืองโลก (cosmopolitanism) และต้องการโน้มน้าวใจสังคมเยอรมันใหม่ในทุกภาคส่วนให้วางผลประโยชน์ส่วนตัวของพวกเขาอยู่ใต้ "ประโยชน์ส่วนรวม" (common good) และยอมรับเอาผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นเป้าหมายหลักของการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจ[12] ซึ่งมักตรงกับทัศนะทั่วไปของคติรวมหมู่ (collectivism) หรือประชาคมนิยม (communitarianism) มากกว่าจะเป็นสังคมนิยมเศรษฐศาสตร์ ต้นเค้าของพรรคนาซี กล่าวคือพรรคกรรมกรเยอรมัน (DAP) ซึ่งต่อต้านยิวและเป็นชาตินิยมรวมกลุ่มเยอรมัน ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1919 และจนกระทั่งช่วงตั้นคริสต์ทศวรรษ 1920 พรรคถูกเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมันเพื่อดึงดูดกรรมกรที่นิยมการเมืองฝ่ายซ้าย[13] ซึ่งเป็นการเปลี่ยนชื่อที่ฮิตเลอร์ต่อต้านในตอนแรก[14] แนวนโยบายชาติสังคมนิยม (National Socialist Program) หรือแนวนโยบาย "25 ข้อ" ถูกรับมาใช้ใน ค.ศ. 1920 และเรียกร้องให้มีเยอรมนีใหญ่ที่เป็นปึกแผ่นที่จะไม่ให้ชาวยิวหรือบุคคลที่เป็นทายาทชาวยิวเป็นพลเมือง และในขณะเดียวกันสนับสนุนการปฏิรูปที่ดินและการโอนบางอุตสาหกรรมมาเป็นของรัฐ ในไมน์คัมพฟ์ ซึ่งแปลว่า "การต่อสู้ของข้าพเจ้า" ที่เผยแพร่ระหว่าง ค.ศ. 1925 และ 1926 ฮิตเลอร์ได้ร่างเค้าโครงให้การต่อต้านยิวและการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นใจกลางของปรัชญาการเมืองของเขา เช่นเดียวกันกับความรังเกียจของเขาต่อประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนและความเชื่อว่าประเทศเยอรมนีถือสิทธิที่จะขยายเขตแดนของตัวเองออกไป[15]
พวกเขากล่าวอ้างว่าความอยู่รอดของประเทศเยอรมนีในฐานะชาติที่ยิ่งใหญ่ในสมัยใหม่นี้จำต้องสร้างระเบียบโลกใหม่ขึ้น เป็นจักรวรรดิในทวีปยุโรปซึ่งจะทำให้ชาติเยอรมันมีผืนดินขนาดใหญ่ ทรัพยากร ตลอดจนการขยายตัวของประชากรที่จำเป็นต่อการแข่งขันกับมหาอำนาจอื่น ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหาร[16]
พวกนาซีกล่าวอ้างว่าชาวยิวเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของเชื้อชาติอารยะเยอรมัน พวกเขาพิจารณาว่าชาวยิวเป็นเชื้อชาติเบียดเบียนซึ่งแนบตนเองเข้ากับอุดมการณ์และขบวนการอื่น ๆ เพื่อธำรงไว้ซึ่งความอยู่รอดของตนเอง อาทิ การเรืองปัญญา เสรีนิยม ประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา ทุนนิยม การกลายเป็นอุตสาหกรรม มาร์กซิสต์ และสหภาพแรงงาน[17]
เพื่อกอบกู้เยอรมนีจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ นาซีเสนอตำแหน่งที่สามในทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจภายใต้การจัดการซึ่งมิใช่ทั้งทุนนิยมหรือคอมมิวนิสต์[18][19] นาซีกล่าวโทษคอมมิวนิสต์และทุนนิยมว่าเข้าร่วมกับอิทธิพลและผลประโยชน์ของชาวยิว[20] พวกเขาสนับสนุนสังคมนิยมรูปแบบชาตินิยมซึ่งเป็นหลักการสำหรับเชื้อชาติอารยันและชาติเยอรมัน: ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โครงการสวัสดิการสังคมสำหรับผู้ใช้แรงงาน ค่าจ้างที่ยุติธรรม เกียรติยศสำหรับความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่มีต่อชาติ และการป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์อันไม่ชอบธรรมของทุนนิยม[21]
พรรคนาซีได้รับส่วนแบ่งคะแนนเสียงของประชาชนสูงที่สุดในการเลือกตั้งสมาชิกไรชส์ทาคเป็นการทั่วไปทั้งสองครั้งใน ค.ศ. 1932 ทำให้เป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในสภานิติบัญญัติอย่างชัดเจน แม้ว่าจะยังไม่ถึงกับเป็นเสียงส่วนใหญ่ทีเดียว (37.3 % เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (July 1932 German federal election) และ 33.1 % เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1932 (November 1932 German federal election)) แต่ในเมื่อไม่มีพรรคใดต้องการหรือสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ ประธานาธิบดีเพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค จึงได้แต่งตั้งฮิตเลอร์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 ด้วยแรงสนับสนุนและความรู้เห็นเป็นใจจากนักชาตินิยมอนุรักษ์นิยมจารีตประเพณีซึ่งเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถควบคุมฮิตเลอร์และพรรคของเขาได้ ในไม่ช้าพวกนาซีก็สถาปนารัฐพรรคการเมืองเดียวและเริ่มดำเนินการไกลช์ชัลทุง โดยใช้รัฐกำหนดของประธานาธิบดีฮินเดินบวร์คและการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไวมาร์ (Weimar Constitution) ซึ่งให้อำนาจกับคณะรัฐมนตรีในการปกครองผ่านการออกฎหมายโดยตรงได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านทั้งประธานาธิบดีฮินเดินบวร์คหรือสภาไรชส์ทาคก็ตาม
ชตวร์มอัพไทลุง (SA) และชุทซ์ชตัฟเฟิล (SS) ทำหน้าที่เป็นองค์กรกึ่งทหารของพรรคนาซี ในช่วงกลาง ค.ศ. 1934 ฮิตเลอร์ใช้กองกำลัง SS กวาดล้างปีกของพรรคซึ่งมูลวิวัติในทางสังคมและเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้นำของ SA ด้วย เหตุการณ์เป็นที่รู้จักในชื่อคืนมีดยาว อำนาจทางการเมืองหลังจากอสัญกรรมของประธานาธิบดีฮินเดินบวร์คเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1934 ถูกรวมศูนย์เข้าเงื้อมมือฮิตเลอร์ เขาจึงได้กลายเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาลในตำแหน่งฟือเรอร์อุนท์ไรช์คันท์ซเลอร์ซึ่งแปลว่า "ผู้นำและนายกรัฐมนตรีเยอรมนี" (ดูเพิ่มที่การลงประชามติในประเทศเยอรมนี ค.ศ. 1934 (1934 German referendum)) นับแต่นั้นมา ในทางปฏิบัติ ฮิตเลอร์ได้กลายเป็นผู้เผด็จการนาซีเยอรมนีหรือในอีกชื่อว่าไรช์ที่สาม ซึ่งภายใต้เขานั้น ชาวยิว ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และองค์ประกอบ "อันไม่พึงประสงค์" อื่น ๆ จะถูกเบียดตกขอบ คุมขัง หรือฆ่า ผู้คนหลายล้านคนซึ่งรวมถึงประชากรยิวกว่าสองในสามที่อยู่ในยุโรปถูกฆ่าหมดสิ้นไปในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อฮอโลคอสต์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่สองและการค้นพบขอบเขตเต็มของเหตุการณ์ฮอโลคอสต์ อุดมการณ์นาซีจึงกลายเป็นความอัปยศโดยสากล และถูกถืออย่างกว้างขวางว่าเป็นความผิดศีลธรรมและความชั่วร้าย โดยมีเพียงกลุ่มเหยียดเชื้อชาติตกขอบจำนวนน้อยเท่านั้นที่กล่าวว่าตนเป็นผู้ติดตามอุดมการณ์ชาติสังคมนิยม โดยมักถูกเรียกว่าเป็นนีโอนาซีที่แปลว่านาซีใหม่
ชื่อเต็มของพรรคคือ Nationalsozialistische Deutsche Arbeiterpartei (ไทย: พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน) และในทางการใช้ตัวย่อ NSDAP คำว่า "Nazi" เองมีใช้อยู่แล้วก่อนกำเนิดของพรรคนาซี โดยเป็นคำภาษาปากและคำดูถูกไว้เรียกชาวนาและชาวสวน เป็นภาพลักษณ์ของคนซุ่มซ่ามและเคอะเขิน กล่าวคือคนบ้านนอก (yokel) คำว่านาซีในความหมายนี้เป็นชื่อเล่นจากชื่อเต็มของชายชาวเยอรมัน Ignatz/Ignaz (อีคนัทซ์) (ซึ่งมันเองผันมาจากชื่อ Ignatius) ซึ่งเป็นชื่อโหลในไบเอิร์นในสมัยนั้น เป็นบริเวณเดียวกันที่พรรคนาซีถือกำเนิดขึ้นมา[22][23]
ในคริสต์ทศวรรษ 1920 ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของพรรคนาซีในขบวนการแรงงานเยอรมันได้ฉวยโอกาสนี้ไว้ โดยล้อตามชื่อย่อ "Sozi" (โซทซี) สำหรับ Sozialist (โซทซีอาลิสต์)[23] ชื่อของพรรคนาซี Nationalsozialistische (นัทซีโอนาลโซทซีอาลิสทิชเชอ) จึงถูกย่อเป็น "Nazi" (นัทซี หรือนาซี) ในเชิงดูถูกเพื่อสัมพันธ์พวกเขากับการใช้งานคำในอีกความหมายดังที่อธิบายไว้ด้านบน[24][23][25][26][27] การใช้งานคำว่า "Nazi" โดยพวกชาติสังคมนิยมเองมีอยู่ใน ค.ศ. 1926 ในงานของโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ ที่ชื่อว่า Der Nazi-Sozi (แดร์ นัทซี-โซทซี) ในจุลสารของเกิบเบิลส์ คำว่า "Nazi" ปรากฏเคียงกับคำว่า "Sozi" เท่านั้นในฐานะตัวย่อของคำว่า "Nationalsozialistische"[28]
หลังจากพรรค NSDAP หรือพรรคนาซีขึ้นสู่อำนาจในคริสต์ทศวรรษ 1930 การใช้คำว่า "Nazi" แบบโดดหรือในคำอย่างนาซีเยอรมนี ระบอบนาซี และอื่น ๆ เกิดเป็นที่รู้จักจากผู้ถูกเนรเทศชาวเยอรมันที่อยู่นอกประเทศ แต่ในเยอรมนีเองกลับไม่ คำนี้จากพวกเขาก็กระจายไปยังภาษาต่าง ๆ และในที่สุดถูกนำย้อนกลับเข้ามาในประเทศเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง[25] พรรค NSDAP รับเอาชื่อ "นาซี" มาใช้อยู่สักครู่หนึ่งเพื่อพยายามฉกฉวยคำคืน (reappropriation) แต่ในไม่นานก็ล้มเลิกความพยายามนี้ไป และโดยทั่วไปจะหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำนี้ระหว่างที่ยังอยู่ในอำนาจ[25][26] ในแต่ละกรณี ผู้เขียนมักเรียกตัวเองว่าเป็น "National Socialists" และเรียกขบวนการว่า "National Socialism" แต่ไม่เรียกว่า "Nazi" เลย เอกสารรวบรวมบทสนทนาของฮิตเลอร์จาก ค.ศ. 1941 ถึง 1944 ชื่อว่า Hitler's Table Talk ไม่มีคำว่า "Nazi" เช่นกัน[29] ในคำปราศรัยของแฮร์มัน เกอริง เขาไม่เคยใช้คำว่า "Nazi"[30] ผู้นำยุวชนฮิตเลอร์เมลีทา มัชมัน (Melita Maschmann) ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ของเธอไว้ชื่อว่า Account Rendered[31] แต่เธอไม่เรียกตัวเองว่าเป็น "Nazi" แม้ว่าจะถูกเขียนขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองพอสมควร ใน ค.ศ. 1933 สมาชิกพรรคนาซี 581 คนได้ตอบคำถามสัมภาษณ์ของศาสตราจารย์ธีโอดอร์ เฟรด เอเบิล (Theodore Fred Abel) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พวกเขาก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็น "Nazi" เหมือนกัน[32]
นักวิชาการส่วนใหญ่จัดว่าระบอบนาซีทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติเป็นการเมืองฝ่ายขวาจัด[3] ลักษณะความเป็นขวาจัดในระบอบนาซีเช่น การอ้างว่าผู้ที่สูงส่งมีสิทธิที่จะครอบงำผู้อื่นและกวาดล้างให้สิ้นองค์ประกอบที่ต่ำต้อยไปจากสังคม[33] อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และผู้สนับสนุนปฏิเสธว่าระบอบนาซีไม่ได้เป็นทั้งฝ่ายซ้ายหรือขวา แต่วาดภาพแสดงระบอบนาซีเป็นขบวนการเชิงผสาน (Syncretic politics) แทนในทางการ[34][35] ในไมน์คัมพฟ์ ฮิตเลอร์โจมตีทั้งการเมืองฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในเยอรมนีโดยตรง โดยกล่าวว่า:
ในวันนี้ โดยเฉพาะนักการเมืองฝ่ายซ้ายของเรา พวกเขาคะยั้นคะยออยู่เสมอว่านโยบายต่างประเทศขี้ขลาดตาขาวและประจบสอพลอของพวกเขานั้นเป็นผลอันจำเป็นจากการลดอาวุธของเยอรมนี แม้ความจริงนั้นคือนี่เป็นนโยบายของพวกทรยศ ... แต่นักการเมืองฝ่ายขวาก็สมควรถูกตำหนิแบบเดียวกัน ก็เป็นเพราะความขี้ขลาดน่าสมเพชของพวกเขาที่ทำให้อันธพาลยิวพวกนั้นที่ขึ้นมามีอำนาจในปี 1918 ได้สามารถปล้นอาวุธไปจากชาติได้[i]
ในคำปราศรัยที่มิวนิกเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1922 ฮิตเลอร์กล่าวว่า:
มีความเป็นไปได้สองทางเท่านั้นในเยอรมนี อย่าคิดว่าผู้คนจะเลือกพรรคกลางพรรคแห่งการประนีประนอมตลอดไป วันหนึ่งพวกเขาจะหันมาหาคนเหล่านั้นที่ได้ทำนายอย่างสม่ำเสมอถึงความย่อยยับที่ใกล้เข้ามาและที่พยายามแยกตัวห่างจากมัน และพรรคนั้นก็จะเป็นพวกฝ่ายซ้าย พระเจ้าช่วยเราด้วย! มันจะนำเราไปสู่การทำลายล้างสิ้น จะกลายเป็นลัทธิบอลเชวิค หรือไม่อย่างนั้นก็จะเป็นพรรคพวกฝ่ายขวาซึ่งในตอนสุดท้ายที่ผู้คนหมดหวังเต็มทีแล้ว และได้เสียกำลังใจไปหมดสิ้นไม่เหลือความศรัทธาในสิ่งใด ๆ พวกเขาเป็นแน่ที่จะเข้ายึดบังเหียนอำนาจอย่างไร้ปรานี นั่นเองจะเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อต้านที่ผมได้พูดถึงไปไม่กี่นาทีที่แล้ว[ii]
บางครั้งฮิตเลอร์จะให้นิยามใหม่กับสังคมนิยม ตอนที่จอร์จ ซิลเวสเตอร์ เฟียร์เอ็ค (George Sylvester Viereck) ได้สัมภาษณ์ฮิตเลอร์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1923 และถามเขาว่าทำไมจึงเรียกพรรคตัวเองว่าเป็น 'สังคมนิยม' เขาตอบว่า:
สังคมนิยมเป็นศาสตร์ของการจัดการสวัสดิภาพของส่วนรวม ลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ใช่สังคมนิยม ลัทธิมากซ์ไม่ใช่สังคมนิยม พวกมากซิสต์ขโมยคำนี้ไปแล้วสับสนความหมายของมัน ผมสมควรที่จะเอาสังคมนิยมกลับมาจากพวกสังคมนิยม สังคมนิยมเป็นสถาบันเจอร์แมนิกอารยันโบราณ บรรพบุรุษเยอรมันของเราถือครองที่ดินบางส่วนเป็นส่วนรวม พวกเขาได้ปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับสวัสดิภาพของส่วนรวม ลัทธิมากซ์ไม่มีสิทธิที่จะจำแลงกายเป็นสังคมนิยม สังคมนิยมนั้นต่างจากลัทธิมากซ์ตรงที่มันไม่ยกเลิกทรัพย์สินส่วนบุคคล ต่างจากลัทธิมากซ์ตรงที่มันไม่ปฏิเสธบุคลิกลักษณะ และต่างจากลัทธิมากซ์ตรงที่มันรักชาติ[iii]
ใน ค.ศ. 1929 ฮิตเลอร์ได้ปราศรัยให้แก่กลุ่มผู้นำนาซี และทำให้คำว่า 'สังคมนิยม' ง่ายลงอีกให้แปลว่า "สังคมนิยม! เป็นคำอัปมงคลทีเดียว ... จริง ๆ แล้วสังคมนิยมแปลว่าอะไร? ถ้าผู้คนมีของให้กินและมีความสุขแล้ว พวกเขาก็มีสังคมนิยมของพวกเขา"[iv]
เมื่อถูกถามถึงในการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1934 ว่าเขาสนับสนุน "ฝ่ายขวากระฎุมพี" หรือไม่ ฮิตเลอร์อ้างว่าระบอบนาซีนั้นไม่ได้มีไว้สำหรับชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง และชี้ว่าไม่ได้สนับสนุนฝ่ายใดไม่ว่าซ้ายหรือขวา แต่เก็บองค์ประกอบ "บริสุทธิ์" มาจากทั้งสอง "ค่าย" โดยกล่าวว่า: "จากค่ายของประเพณีกระฎุมพี มันจะได้แก้ไขปัญหาระดับชาติ และจากวัตถุนิยมของลัทธิมากซ์ คือสังคมนิยมที่สร้างสรรค์และมีชีวิต"[v]
นักประวัติศาสตร์ถือว่าการจับระบอบนาซีมาเท่ากับ "ลัทธิฮิตเลอร์" นั้นเป็นการง่ายเกินไป เพราะเป็นคำที่มีใช้อยู่แล้วก่อนฮิตเลอร์และนาซีได้อำนาจ และอุดมการณ์ต่าง ๆ ซึ่งรวมอยู่ในระบอบนาซีนั้นมีรากฐานที่แข็งแรงอยู่แล้วในบางส่วนของสังคมเยอรมันก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[41] พวกนาซีได้รับอิทธิพลอย่างมากจากฝ่ายขวาจัดหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในเยอรมนี ซึ่งถือคติร่วมกันอาทิ การต่อต้านลัทธิมากซ์ การต่อต้านเสรีนิยม และการต่อต้านยิว พร้อมกับแนวคิดชาตินิยม ความรังเกียจในสนธิสัญญาแวร์ซาย และการประณามสาธารณรัฐไวมาร์ที่ไปลงนามสงบศึกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ซึ่งนำไปสู่การลงนามสนธิสัญญาแวร์ซายในภายหลัง[42] แรงบันดาลใจหลักของนาซีมาจากกองกำลังกึ่งทหารชาตินิยมขวาจัดไฟรคอร์ซึ่งมี่ความเกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[42] ในตอนแรก ฝ่ายขวาจัดเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งถูกควบคุมโดยฝ่ายราชาธิปไตยนิยม แต่คนรุ่นเด็กกว่าซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดชาตินิยมเฟิลคิช เป็นมูลวิวัติมากกว่าและไม่ได้ให้ความสนใจในการฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยเยอรมันเลย[43] คนรุ่นเด็กกว่ากลุ่มนี้ต้องการรื้อถอนสาธารณรัฐไวมาร์และสร้างใหม่เป็นรัฐที่แข็งแกร่งและมูลวิวัติบนฐานของชาติพันธุ์ชนชั้นปกครองที่จะทำศึกสงครามและจะสามารถรื้อฟื้น "จิตวิญญาณแห่ง ค.ศ. 1914" (Spirit of 1914) ซึ่งถูกเชื่อมโยงกับความเป็นเอกภาพของชาติเยอรมันกลับมาได้ (ฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์)[43]
พวกนาซี พวกราชาธิปไตยนิยมขวาจัด พวกปฏิกิริยาพรรคประชาชนแห่งชาติเยอรมัน (DNVP) และกลุ่มอื่น ๆ อย่างเช่นนายทหารที่สนับสนุนราชาธิปไตยในกองทัพเยอรมัน และนักอุตสาหกรรมคนสำคัญหลายคนได้ร่วมสร้างพันธมิตรต่อต้านสาธารณรัฐไวมาร์เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1931 ที่บาทฮาทซ์บวร์ค (Bad Harzburg) ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการว่า "Nationalen Front" (แนวร่วมแห่งชาติ) แต่มักถูกเรียกในชื่อแนวร่วมฮาทซ์บวร์ค (Harzburg Front)[44] พวกนาซีกล่าวว่าพันธมิตรนี้เป็นแค่พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ล้วน ๆ และยังพวกเขายังคงมีความแตกต่างจากพรรค DNVP แล้วพันธมิตรก็พังทลายลงเมื่อพรรค DNVP เสียที่นั่งจำนวนมากในไรชส์ทาคหลังจากการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1932 พวกนาซีกล่าวหาว่าพวกเขาเป็น "กลุ่มก้อนปฏิกิริยาที่ไม่มีความสำคัญ"[vi] พรรค DNVP จึงตอบกลับด้วยการกล่าวหาพวกนาซีเรื่องสังคมนิยม ความรุนแรงบนท้องถนน และ "การทดลองทางเศรษฐกิจ" ที่จะเกิดขึ้นหากพวกเขาได้ขึ้นสู่อำนาจ[46] แต่ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ไร้บทสรุปที่นักการเมืองอนุรักษ์นิยมฟรันทซ์ ฟ็อน พาเพิน และควร์ท ฟ็อน ชไลเชอร์ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้หากไร้พวกนาซี พาเพินจึงได้เสนอกับประธานาธิบดีฮินเดินบวร์คให้แต่งตั้งฮิตเลอร์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหัวหน้ารัฐบาลที่ประกอบไปด้วยพวกอนุรักษ์นิยมเป็นส่วนใหญ่ และมีรัฐมนตรีนาซีเพียงสามคน[47][48] ฮินเดินบวร์คทำเช่นนั้น และตรงข้ามกับความคาดหวังของพาเพินและพรรค DNVP ในไม่ช้าฮิตเลอร์จะสามารถก่อตั้งเผด็จการนาซีพรรคเดี่ยวได้[49]
ไคเซอร์วิลเฮ็ล์มที่ 2 ซึ่งถูกกดดันให้สละราชบัลลังก์และลี้ภัยหนีไปท่ามกลางความพยายามปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในเยอรมนี ซึ่งในตอนแรกพรรคนาซีสนับสนุน โอรสของเขาสี่คนซึ่งรวมถึงเจ้าชายไอเทิล ฟรีดริช และเจ้าชายอ็อสคาร์ (Prince Oskar of Prussia) เข้าเป็นสมาชิกพรรคนาซีโดยหวังว่าพวกนาซีจะการฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยกลับมาเพื่อแลกกับการสนับสนุนของพวกเขา[50]
ข้างในพรรคนาซีก็มีการแบ่งฝักฝ่าย ทั้งอนุรักษ์นิยมและมูลวิวัติ[51] นาซีอนุรักษ์นิยมแฮร์มัน เกอริง แนะนำให้ฮิตเลอร์ประนีประนอมกับพวกทุนนิยมและพวกปฏิกิริยา[51] นาซีอนุรักษ์นิยมคนสำคัญคนอื่นเช่นไฮน์ริช ฮิมเลอร์ และไรน์ฮาร์ท ไฮดริช[52] ในขณะที่นาซีมูลวิวัติโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ ต่อต้านทุนนิยม โดยมองว่ามีชาวยิวเป็นศูนย์กลางและเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่พรรคต้องเน้นภาพลักษณ์แบบชนกรรมาชีพและชาตินิยม อ็อทโท ชตรัสเซอร์ มีมุมมองเหล่านั้นร่วมด้วย และในภายหลังเขาออกจากพรรคนาซีไปตั้งแนวร่วมดำโดยเชื่อและกล่าวหาว่าฮิตเลอร์ได้ทรยศเป้าหมายสังคมนิยมของพรรคด้วยการสนับสนุนระบอบทุนนิยม[51]
จากที่ไม่มีใครรู้จัก พรรคนาซีกลายเป็นอิทธิพลการเมืองหลักหลัง ค.ศ. 1929 ปีกอนุรักษ์นิยมมีอิทธิพลมากยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อผู้บริจาคที่ร่ำรวยหันมาให้ความสนใจกับศักยภาพของนาซีที่จะเป็นปราการป้องกันลัทธิคอมมิวนิสต์[53] ก่อนหน้านั้นพรรคนาซีได้รับเงินทุนเกือบทั้งสิ้นจากค่าสมาชิก แต่หลังจาก ค.ศ. 1929 กลุ่มผู้นำเริ่มรุกแสวงหาเงินบริจาคจากนักอุตสาหกรรมเยอรมัน และฮิตเลอร์เริ่มจัดการประชุมระดมทุนกับกลุ่มผู้นำธุรกิจในหลายโอกาส[54] ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ธุรกิจเยอรมันซึ่งเผชิญกับความเป็นไปได้ของหายนะทางเศรษฐกิจในมือหนึ่ง และในอีกข้างเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยสังคมนิยมหรือรัฐบาลคอมมิวนิสต์ พวกเขาเริ่มหันมาหาระบอบนาซีกันมากขึ้นเพื่อเป็นทางออกจากสถานการณ์นั้นด้วยสัญญาของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยรัฐที่จะสนับสนุนผลประโยชน์ของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่แทนที่จะโจมตี[55] จนกระทั่งเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1933 พรรคนาซีได้รับความสนับสนุนจากอุตสาหกรรมเยอรมันในภาคส่วนที่มีความสำคัญ กล่าวคือผู้ผลิตถ่านหินและเหล็ก ธุรกิจประกันภัย และอุตสาหกรรมเคมีเป็นหลัก[56]
สัดส่วนขนาดใหญ่ของพรรคนาซี โดยเฉพาะในหมู่สมาชิกชตวร์มอัพไทลุง (SA) มุ่งมั่นในจุดยืนสังคมนิยม ปฏิวัติ และ ต่อต้านทุนนิยม (anti-capitalism) ที่เป็นทางการของพรรค และคาดหวังถึงการปฏิวัติทางสังคมและเศรษฐกิจหลังจากพรรคได้อำนาจมาใน ค.ศ. 1933[57] ทันที่ก่อนที่นาซีจะเข้ายึดอำนาจ ก็ยังมีแม้แต่พวกประชาธิปไตยสังคมนิยมและพวกคอมมิวนิสต์ที่เปลี่ยนฝั่งแล้วถูกเรียกว่า "นาซีสเต๊กเนื้อ" (Beefsteak Nazi): ข้างนอกสีน้ำตาลแต่ข้างในสีแดง[58] ผู้นำ SA แอ็นสท์ เริห์ม ผลักดันให้มี "การปฏิวัติครั้งที่สอง" ("การปฏิวัติครั้งที่หนึ่ง" คือที่นาซีเข้ายึดอำนาจ) ที่จะบัญญัตินโยบายสังคมนิยม มากไปกว่านั้นเริห์มยังต้องการให้กองทัพเยอรมันซึ่งมีขนาดเล็กกว่ารวมเข้ากับ SA ให้อยู่ภายใต้บัญชาของเขา[57] เมื่อนาซีได้อำนาจแล้ว ฮิตเลอร์ได้สั่งการให้ SA ของเริห์มเข้าปราบปรามพรรคฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรง และก็เริ่มโจมตีปัจเจกบุคคลที่ถือว่าเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาอนุรักษ์นิยมด้วย[59] ฮิตเลอร์มองว่าการกระทำโดยอิสระของเริห์มนั้นละเมิดและอาจเป็นภัยต่อภาวะผู้นำของเขา และยังเป็นอันตรายต่อระบอบด้วยความบาดหมางกับประธานาธิบดีอนุรักษ์นิยมเพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค และกองทัพเยอรมันที่เอียงไปทางอนุรักษ์นิยม[60] นี่ส่งผลให้ฮิตเลอร์กวาดล้างเริห์มและสมาชิกสายมูลวิวัติคนอื่น ๆ ใน SA ไปใน ค.ศ. 1934 เป็นที่รู้จักในชื่อคืนมีดยาว[60]
ก่อนฮิตเลอร์เข้าร่วมกองทัพกองทัพบาวาเรียเพื่อต่อสู้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขามีวิถีชีวิตแบบโบฮีเมีย (Bohemianism) เป็นศิลปินสีน้ำขนาดย่อมตามท้องถนนในเวียนนาและมิวนิก และเขายังคงบางส่วนของวิถีชีวิตนี้ไว้ในภายหลัง โดยเข้านอนดึกมากแล้วตื่นตอนบ่ายของวัน แม้ว่าหลังจากเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีและฟือเรอร์แล้วก็ตาม[61] หลังสงครามสิ้นสุด กองพันที่เขาอยู่ถูกรวมเข้ากับสาธารณรัฐโซเวียตไบเอิร์น (Bavarian Soviet Republic) ระหว่าง ค.ศ. 1918 ถึง 1919 ซึ่งเขาได้รับเลือกตั้งเป็นรองผู้แทนกองพัน นักประวัติศาสตร์โทมัส เวเบอร์ (Thomas Weber (historian)) กล่าวว่าฮิตเลอร์เข้าร่วมงานศพของคอมมิวนิสต์ควร์ท ไอส์เนอร์ (Kurt Eisner) (ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว) โดยสวมปลอกแขนไว้อาลัยสีดำไว้ข้างหนึ่ง และอีกข้างสวมปลอกแขนคอมมิวนิสต์สีแดง[62] ซึ่งเขามองว่าเป็นหลักฐานว่าความเชื่อทางการเมืองของฮิตเลอร์นั้นยังไม่ตกผลึก[62] ในไมน์คัมพฟ์ ฮิตเลอร์ไม่เคยกล่าวถึงการรับราชการให้กับสาธารณรัฐโซเวียตไบเอิร์น และกล่าวว่าเขากลายเป็นพวกต่อต้านยิวใน ค.ศ. 1913 ขณะที่อยู่ในเวียนนา ข้อความนี้ถูกแย้งว่าในตอนนั้นเขายังไม่เป็นพวกต่อต้านยิว[63] แม้ว่าเป็นที่ยอมรับแล้วว่าในช่วงเวลานั้นเขาได้อ่านหนังสือและวารสารต่อต้านยิวหลายฉบับและชื่นชมนายกเทศมนตรีเวียนนาที่ต่อต้านยิวคาร์ล ลูเอเกอร์ (Karl Lueger)[64] ฮิตเลอร์เปลี่ยนมุมมองทางการเมืองของเขาหลังจากการลงนามสนธิสัญญาแวร์ซายเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1919 และเมื่อนั้นเองเขาได้กลายเป็นชาตินิยมเยอรมันที่ต่อต้านยิว[63]
ฮิตเลอร์ต่อต้านทุนนิยมโดยถือว่ามีต้นกำเนิดจากยิว และกล่าวหาว่าทุนนิยมกำลังจับประเทศชาติเป็นตัวประกันเรียกค่าไถ่ให้กับผลประโยชน์ของชนชั้นปรสิตของเสือนอนกิน (rentier capitalism) พลเมืองโลก[65] เขาก็ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมรูปแบบสมภาคนิยมด้วย โดยอ้างว่าความไม่เท่าเทียมและการมีลำดับชั้นนั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ[66] เขาเชื่อว่าชาวยิวเป็นผู้ประดิษฐ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ขึ้นมาเพื่อทำให้ประเทศชาติอ่อนแอด้วยการส่งเสริมการต่อสู้ทางชนชั้น[67] หลังจากเขาได้ขึ้นสู่อำนาจ ฮิตเลอร์มีจุดยืนทางเศรษฐศาสตร์แบบปฏิบัตินิยม โดยอนุญาตให้มีทรัพย์สินส่วนบุคคลและให้วิสาหกิจเอกชนทุนนิยมดำรงอยู่ตราบใดที่พวกเขายึดโยงกับเป้าหมายของรัฐนาซี แต่ไม่ยอมทนกับวิสาหกิจที่พวกเขามองว่าขัดแย้งกับผลประโยชน์ของชาติ[51]
ผู้นำธุรกิจเยอรมันไม่ชอบอุดมการณ์นาซีแต่สนับสนุนฮิตเลอร์เพราะพวกเขามองว่าพวกนาซีเป็นพันธมิตรที่มีประโยชน์ในการส่งเสริมผลประโยชน์ของพวกเขา[68] กลุ่มธุรกิจมีส่วนสำคัญในเงินทุนของพรรคนาซีทั้งก่อนและหลังการยึดอำนาจ โดยพวกเขาหวังว่าเผด็จการนาซีจะกำจัดขบวนการแรงงานจัดตั้งและพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายให้หมดไป[69] ฮิตเลอร์แสวงหาการสนับสนุนจากผู้นำธุรกิจอย่างแข็งขันด้วยการอ้างว่าวิสาหกิจเอกชนนั้นเข้ากันไม่ได้กับระบอบประชาธิปไตย[70]
ถึงแม้ว่าฮิตเลอร์จะต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่เขาชื่นชมผู้นำสหภาพโซเวียตโจเซฟ สตาลิน และลัทธิสตาลินอย่างเปิดเผยในหลายโอกาส[71] ฮิตเลอร์ยกย่องสตาลินที่เขาพยายามชำระล้างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตให้สิ้นอิทธิพลยิว โดยระบุถึงการที่สตาลินได้กวาดล้างคอมมิวนิสต์ชาวยิวไม่ว่าจะเป็นเลออน ทรอตสกี, กรีโกรี ซีโนเวียฟ (Grigory Zinoviev), เลฟ คาเมเนฟ (Lev Kamenev) และคาร์ล ราเดค (Karl Radek)[72] ในขณะที่ฮิตเลอร์มีเจตนาที่จะให้ประเทศเยอรมนีมีความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตมาตลอดเพื่อให้สามารถเพิ่มเลเบินส์เราม์ ("พื้นที่อยู่อาศัย") ได้ แต่เขาก็สนับสนุนพันมิตรยุทธศาสตร์ชั่วคราวระหว่างนาซีเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตเพื่อสร้างแนวร่วมต่อต้านเสรีนิยมร่วมกันให้เอาชนะระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมให้ได้ โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส[71]
ฮิตเลอร์ชื่นชมจักรวรรดิบริติชและระบอบอาณานิคม (Analysis of Western European colonialism and colonization) ของจักรวรรดิว่าเป็นบทพิสูจน์ซึ่งดำรงอยู่ที่แสดงถึงความเหนือกว่าของเชื้อชาติเจอร์แมนิกเหนือเชื้อชาติที่ "ต่ำ" กว่า และมองสหราชอาณาจักรเป็นพันธมิตรโดยธรรมชาติของประเทศเยอรมนี[73][74] เขาเขียนไว้ในไมน์คัมพฟ์ว่า: "เวลาอีกยาวนานที่กำลังจะถึง ในยุโรปจะมีเพียงสองอำนาจที่อาจจะสามารถลงเอยเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีได้ อำนาจเหล่านี้คือบริเตนใหญ่และอิตาลี"[vii]
รากทางประวัติศาสตร์ของระบอบนาซีพบได้ในหลากหลายองค์ประกอบของวัฒนธรรมการเมืองยุโรปซึ่งหมุนเวียนอยู่ภายในเมืองศูนย์กลางทางปัญญาต่าง ๆ ในทวีป หรือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์โยอาคีม เฟสต์ (Joachim Fest) เรียกว่า "กองเศษวัสดุมโนคติ" (scrapheap of ideas) ที่แพร่หลายในสมัยนั้น[75][76] นักประวัติศาสตร์มาร์ทีน โบรสท์ซัท (Martin Broszat) ชี้ว่า:
องค์ประกอบสำคัญของอุดมการณ์นาซีเกือบทั้งสิ้นสามารถพบได้ในจุดยืนสายมูลวิวัติของขบวนการประท้วงเชิงอุดมการณ์ในประเทศเยอรมนีก่อน ค.ศ. 1914 เหล่านั้นเช่น: การต่อต้านยิวอย่างรุนแรง อุดมการณ์เลือดและดิน แนวคิดเชื้อชาติเจ้านาย และแนวคิดการเข้ายึดครองและตั้งถิ่นฐานในตะวันออก ความคิดเหล่านี้ฝังตัวอยู่ในแนวคิดชาตินิยมประชานิยมซึ่งต่อต้านนวนิยมและมนุษยนิยมอย่างแข็งขัน และเป็นเชิงศาสนาเทียม"[viii]
เมื่อรวมกันแล้ว ผลลัพธ์เป็นอุดมการณ์ที่ต่อต้านปัญญาชนและกึ่งไม่รู้ความในทางการเมืองซึ่งขาดความเชื่อมโยง อันเป็นผลผลิตของวัฒนธรรมมวลชนซึ่งมอบความผูกพันทางอารมณ์และโลกทัศน์ที่ย่อยง่ายและเรียบง่ายที่มีรากฐานเป็นปกรณัมทางการเมืองสำหรับมวลชนให้แก่ผู้ที่ติดตามมัน[76]
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และสมาชิกคนอื่น ๆ ของพรรคนาซีในสาธารณรัฐไวมาร์ (ค.ศ. 1918–1933) ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากนักคิดและผู้ที่นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับมานุษยวิทยานิเวศ (ecological anthropology), คตินิยมเชื้อชาติทางวิทยาศาสตร์ (scientific racism), วิทยาศาสตร์แบบองค์รวม (Holism in science), และอินทรียนิยม (organicism) ในเชิงปรัญชา ภว-ญาณวิทยา และทฤษฎีจากสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 หลายคน ในส่วนที่เกี่ยวกับองค์ประกอบของระบบซับซ้อน (complex system) และการสร้างทฤษฎีว่าด้วยสังคมของเชื้อชาติที่มีชีวิต[77][78][79][80] โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักปรัชญาชาตินิยมเยอรมันยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 โยฮัน ก็อทลีพ ฟิชเทอ หนึ่งในอิทธิพลที่สำคัญที่สุดที่มีต่ออุดมการณ์ของพวกนาซี ผลงานของเขาได้ทำหน้าที่เป็นแรงบันดาลใจแด่ฮิตเลอร์และสมาชิกพรรคนาซีคนอื่น ๆ และแนวคิดของเขาถูกนำไปปฏิบัติใช้เป็นส่วนหนึ่งของรากฐานทางปรัชญาและอุดมการณ์ของชาตินิยมเฟิลคิชแนวนาซี[78]
ผลงานของโยฮัน ก็อทลีพ ฟิชเทอ ทำหน้าที่เป็นแรงบันดาลใจแด่ฮิตเลอร์และสมาชิกพรรคนาซีคนอื่น ๆ เช่นดีทริช เอคาร์ท (Dietrich Eckart) และอาร์น็อลท์ ฟังค์ (Arnold Fanck)[78][81] ใน Speeches to the German Nation (ค.ศ. 1808) ซึ่งเขียนขึ้นมาระหว่างจักรวรรดิฝรั่งเศสที่หนึ่งเข้าครอบครองเบอร์ลินในช่วงสงครามนโปเลียน ฟิชเทอเรียกร้องให้มีการปฏิวัติแห่งชาติเยอรมันต่อต้านกองทัพจักรวรรดิฝรั่งเศส (French Imperial Army (1804–1815)) ผู้ครอบครอง โดยปราศรัยในที่สาธารณะด้วยแรงกล้า ติดอาวุธศิษย์ของเขาเพื่อต่อสู้กับฝรั่งเศส และเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการกระทำโดยชาติเยอรมันเพื่อให้สามารถปลดปล่อยตนเองได้[82] ชาตินิยมเยอรมันของฟิชเทอเป็นประชานิยมและตรงข้ามกับของอภิชนจารีตประเพณี โดยกล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องมี "สงครามของประชาชน" (Volkskrieg) และนำเสนอแนวคิดต่าง ๆ ซึ่งคล้ายกับที่นาซีดัดแปลงมาใช้[82] ฟิชเทอสนับสนุนคติข้อยกเว้นเยอรมัน (exceptionalism) และเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ชาติเยอรมันจะต้องทำให้ตนเองบริสุทธิ์ (ประกอบด้วยการชำระล้างคำภาษาฝรั่งเศสออกไปจากภาษาเยอรมัน ซึ่งเป็นนโยบายที่พวกนาซีนำไปปฏิบัติเมื่อได้อำนาจ)[82]
อีกบุคคลหนึ่งที่สำคัญในแนวคิดแบบเฟิลคิชยุคก่อนนาซีคือวิลเฮ็ล์ม ไฮน์ริช รีห์ล (Wilhelm Heinrich Riehl) ผลงานของเขา ลันท์อุนท์ล็อยเทอ (Land und Leute "แผ่นดินและผู้คน" เขียนขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1857 และ 1863) ผูกมัดฟ็อล์ค (ประชาชน) เยอรมันที่มีชีวิตรวมเข้ากับธรรมชาติและภูมิทัศน์พื้นถิ่นของพวกเขารวมกัน ซึ่งเป็นการจับคู่ที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงกับอารยธรรมแบบวัตถุนิยมและเชิงกลซึ่งในขณะนั้นกำลังพัฒนาขึ้นมาเนื่องมาจากการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม (industrialisation)[83] นักภูมิศาสตร์ฟรีดริช รัทเซิล และคาร์ล เฮาส์โฮเฟอร์ (Karl Haushofer) ได้หยิบยืมงานของรีห์ลมาใช้ เช่นเดียวกับผู้ติดตามอุดมการณ์นาซีอัลเฟรท โรเซินแบร์ค และเพาล์ ชุลท์เซอ-เนาม์บวร์ค (Paul Schultze-Naumburg) ทั้งสองได้นำเอาปรัชญาของรีห์ลบางส่วนมาใช้อ้างว่า "แต่ละรัฐประชาชาตินั้นเป็นสิ่งมีชีวิตซึ่งต้องการพื้นที่อยู่อาศัยประมาณหนึ่งเพื่อเอาชีวิตให้รอด"[84] อิทธิพลของรีห์ลนั้นมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากปรัชญาบลุทอุนท์โบเดิน (Blut und Boden "เลือดและดิน") ที่อ็อสวัลท์ ชเป็งเลอร์ (Oswald Spengler) เป็นผู้นำเสนอ ซึ่งนักเกษตรศาสตร์นาซีริชชาร์ท วัลเทอร์ ดาเร (Richard Walther Darré) และนาซีคนสำคัญคนอื่น ๆ นำไปใช้[85][86][87]
ชาตินิยมเฟิลคิชประณามวัตถุนิยม, ปัจเจกนิยม (individualism) และสังคมอุตสาหกรรมเมืองโลกวิสัยที่ไร้จิตวิญญาณ และสนับสนุนสังคมที่ "เหนือ" กว่าบนรากฐานของวัฒนธรรม "พื้นบ้าน" ชาติพันธุ์เยอรมันและ "เลือด" เยอรมัน[88] แนวคิดนี้ประณามคนต่างชาติและแนวคิดต่างชาติ และประกาศว่าชาวยิว ฟรีเมสัน และคนอื่น ๆ นั้นเป็น "พวกทรยศชาติ" และไม่สมควรถูกรวมเข้า[89] ชาตินิยมเฟิลคิชมองโลกผ่านแว่นของกฎหมายธรรมชาติ (natural law) และจินตนิยม (romanticism) และมองว่าสังคมนั้นมีชีวิต ยกย่องคุณธรรมของชีวิตชนบท ประณามการทอดทิ้งประเพณีและการเสื่อมของศีลธรรม ประณามการทำลายล้างธรรชาติแวดล้อม และประณามวัฒนธรรมแบบ "พลเมืองโลก" เช่นชาวยิวและชาวโรมานี[90]
พรรคการเมืองพรรคแรกที่พยายามผสมชาตินิยมเข้ากับสังคมนิยมคือพรรคกรรมกรเยอรมันในออสเตรีย-ฮังการี (German Workers' Party (Austria-Hungary)) ซึ่งเป็นหลักแล้วมุ่งเน้นที่จะแก้ไขความขัดแย้งระหว่างชาวเยอรมันเชื้อสายออสเตรียกับชาวเช็กในจักรวรรดิออสเตรียซึ่งหลากชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีในสมัยนั้น[91] ใน ค.ศ. 1896 นักการเมืองชาวเยอรมันฟรีดริช เนามันน์ (Friedrich Naumann) ได้ก่อตั้งสมาคมชาติสังคม (National-Social Association) ซึ่งมุ่งเน้นที่จะผสมชาตินิยมเยอรมันเข้ากับสังคมนิยมในรูปแบบที่ไม่ใช่มากซิสต์ ความพยายามกลับล้มเหลว แล้วความคิดที่จะเชื่อมต่อชาตินิยมเข้ากับสังคมนิยมถูกมองว่าเท่ากับการต่อต้านยิว ชาตินิยมเยอรมันสุดโต่ง และขบวนการเฟิลคิชโดยทั่วไปอย่างรวดเร็ว[41]
ในสมัยจักรวรรดิเยอรมัน ชาตินิยมเฟิลคิชถูกบดบังโดยอุดมการณ์รักชาติปรัสเซียและประเพณีสหพันธรัฐของรัฐสมาชิกแต่ละรัฐของมัน[92] เหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและจุดจบของระบอบราชาธิปไตยปรัสเซียในเยอรมนีส่งผลให้ชาตินิยมเฟิลคิชปฏิวัติเติบโตขึ้นมา[93] พวกนาซีสนับสนุนนโยบายชาตินิยมปฏิวัติแบบเฟิลคิชเหล่านั้น[92] และอ้างว่าอุดมการณ์ของพวกเขาได้รับอิทธิพลมาจากการนำและนโยบายของนายกรัฐมนตรีเยอรมนีอ็อทโท ฟ็อน บิสมาร์ค ซึ่งมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งจักรวรรดิเยอรมัน[94] พวกนาซีประกาศว่าพวกเขานั้นมีความมุ่งมั่นที่จะสานต่อกระบวนการก่อสร้างรัฐชาติเยอรมันที่เป็นปึกแผ่นที่บิสมาร์คได้ริเริ่มไว้และต้องการทำให้สำเร็จ[95] แม้ว่าฮิตเลอร์จะสนับสนุนการก่อสร้างจักรวรรดิเยอรมันของบิสมาร์ค แต่เขาวิพากษ์นโยบายในประเทศแบบสายกลางของบิสมาร์ค[96] ฮิตเลอร์กล่าวถึงประเด็นที่บิสมาร์คสนับสนุนไคลน์ด็อยชลันท์ (Kleindeutschland "เยอรมนีเล็ก" ซึ่งไม่รวมออสเตรีย) มากกว่าโกรสด็อยชลันท์ (Großdeutschland "เยอรมนีใหญ่") แบบรวมกลุ่มเยอรมันที่นาซีสนับสนุนไว้ว่า ที่บิสมาร์คสามารถสร้างไคลน์ด็อยชลันท์ได้สำเร็จนั้นเป็น "ความสำเร็จสูงสุด" ที่บิสมาร์คสามารถทำได้ "ภายใต้ข้อจำกัดที่ทำได้ในช่วงเวลานั้น"[97] ในไมน์คัมพฟ์ ฮิตเลอร์นำเสนอตัวเองเป็น "บิสมาร์คคนที่สอง"[98]
ฮิตเลอร์ในวัยเด็กของเขาที่ออสเตรียได้รับอิทธิพลทางการเมืองจากผู้สนับสนุนการรวมกลุ่มเยอรมันชาวออสเตรียเกออร์ค ริทเทอร์ ฟ็อน เชอเนอเรอร์ (Georg Ritter von Schönerer) ซึ่งสนับสนุนชาตินิยมเยอรมันมูลวิวัติ (German nationalism in Austria), การต่อต้านยิว, การต่อต้านคาทอลิก (anti-Catholicism), การต่อต้านสลาฟ (anti-Slavic sentiment) และการต่อต้านราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค[99] ฮิตเลอร์ดัดแปลงการทักทายด้วยไฮล์ (Heil) มาใช้ในขบวนการนาซี ตำแหน่งฟือเรอร์ และตัวแบบการนำพรรคแบบสมบูรณาญาสิทธิ์มาจากฟ็อน เชอเนอเรอร์ และผู้ติดตามของเขา[99] ฮิตเลอร์ยังมีความประทับใจกับการต่อต้านยิวแบบประชานิยมและการปลุกปั่นต่อต้านกระฎุมพีเสรีนิยมของคาร์ล ลูเอเกอร์ ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีของเวียนนาในขณะที่ฮิตเลอร์อยู่ที่นั่น เขาใช้การปราศรัยปลุกระดมที่ดึงดูดใจมวลชนวงกว้าง[100] ลูเอเกอร์ไม่ได้เป็นชาตินิยมเยอรมันซึ่งต่างจากต่างจากฟ็อน เชอเนอเรอร์ แต่เป็นผู้สนับสนุนราชวงศ์ฮาพส์บวร์คและคาทอลิกและใช้วาทกรรมชาตินิยมเยอรมันเป็นบางครั้งก็เมื่อเป็นประโยชน์กับวาระทางการเมืองของเขาเท่านั้น[100] แม้ว่าฮิตเลอร์จะชื่นชมทั้งลูเอเกอร์และเชอเนอเรอร์ แต่เขาวิจารณ์ลูเอเกอร์ที่ไม่ปฏิบัติใช้หลักคำสอนทางเชื้อชาติกับชาวยิวและชาวสลาฟ[101]
แนวคิดเกี่ยวกับเชื้อชาติอารยันที่พวกนาซีส่งเสริมนั้นมีรากมาจากทฤษฎีเชื้อชาติที่กล่าวว่าคนยุโรปเป็นทายาทของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอินโด-อิหร่าน ซึ่งเป็นผู้คนจากอินเดียโบราณและเปอร์เซียโบราณ[102] ผู้ที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ใช้ข้อเท็จจริงที่ว่าคำในภาษาแถบยุโรปมีการออกเสียงและความหมายที่คล้ายคลึงกับคำในกลุ่มภาษาอินโด-อิเรเนียน[102] โยฮัน ก็อทฟรีท แฮร์เดอร์ อ้างว่าชาวเจอร์แมนิกมีความเชื่อมโยงทางเชื้อชาติที่ใกล้ชิดกับชาวอินเดียโบราณและชาวเปอร์เซียโบราณ ซึ่งเขาอ้างว่าเป็นผู้คนขั้นสูงที่มีความสามารถยิ่งใหญ่ในทางสติปัญญา ความสูงศักดิ์ ความอดกลั้น และวิทยาศาสตร์[102] ผู้คนในสมัยเดียวกับแฮร์เดอร์ใช้แนวคิดเรื่องเชื้อชาติอารยันเพื่อลากเส้นแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นวัฒนธรรมอารยันที่ "สูงส่งและสูงศักดิ์" ออกจากสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมเซมีติกซึ่งเป็น "ปรสิต"[102]
แนวคิดเกี่ยวกับความสูงสุดของคนผิวขาว (white supremacy) และความเหนือกว่าของเชื้อชาติอารยันถูกหลอมรวมเข้ากันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อพวกที่เชื่อในความสูงสุดของคนผิวขาวยึดในความเชื่อว่าคนผิวขาวบางกลุ่มนั้นเป็นสมาชิกของ "เชื้อชาติเจ้านาย" ที่เหนือกว่าเชื้อชาติอื่น ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหนือกว่าเชื้อชาติเซมีติก ซึ่งพวกเขาสัมพันธ์มันกับ "ความเป็นหมันทางวัฒนธรรม"[102] อาร์ตูร์ เดอ กอบีโน (Arthur de Gobineau) นักทฤษฎีเชื้อชาติและชนชั้นสูงชาวฝรั่งเศสกล่าวโทษว่าการล่มสลายของอองเซียงเรฌีมในประเทศฝรั่งเศสนั้นเป็นเหตุจากความเสื่อมทรามทางเชื้อชาติที่เกิดจากการผสมเชื้อชาติ (Miscegenation) ซึ่งเขาอ้างว่าได้ทำลายความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติอารยัน เขาใช้คำนี้สำหรับหมายถึงชาวเจอร์แมนิกเท่านั้น[103][104] ทฤษฎีของกอบีโนซึ่งได้ดึงดูดผู้ติดตามที่เข้มแข็งในเยอรมนี[103] เน้นย้ำถึงการดำรงอยู่ของสภาพขั้ว (polarity (international relations)) ระหว่างวัฒนธรรมอารยัน (เจอร์แมนิก (Germanic culture)) กับวัฒนธรรมยิว (Jewish culture) ที่ปรองดองกันไม่ได้[102]
รหัสยลัทธิอารยันอ้างว่าศาสนาคริสต์มีต้นกำเนิดมาจากประเพณีศาสนาอารยัน และชาวยิวแย่งชิงตำนานนั้นไปจากชาวอารยัน[102] ผู้สนับสนุนทฤษฎีเชื้อชาติชาวอังกฤษเชื้อสายเยอรมันฮิวสตัน สจวร์ต เชมเบอร์ลิน (Houston Stewart Chamberlain) สนับสนุนแนวคิดความสูงสุดของกลุ่มชนเจอร์แมนิกและการต่อต้านยิวในเยอรมนี[103] งานของเชมเบอร์ลิน The Foundations of the Nineteenth Century (ค.ศ. 1899 "รากฐานของคริสต์ศตวรรษที่ 19") สรรเสริญความสร้างสรรค์และจิตนิยมของชาวเจอร์แมนิกและกล่าวว่าจิตวิญญาณเจอร์แมนิกนั้นถูกขู่เข็ญจากจิตวิญญาณ "ยิว" ซึ่งเห็นแก่ตัวและเป็นวัตถุนิยม[103] เชมเบอร์ลินใช้สมมติฐานของเขาเพื่อส่งเสริมแนวคิดอนุรักษนิยมราชาธิปไตยและประณามระบอบประชาธิปไตย, เสรีนิยม และสังคมนิยม[103] หนังสือเล่มนี้กลายเป็นที่นิยมขึ้นมาโดยเฉพาะในประเทศเยอรมนี[103] เชมเบอร์ลินเน้นย้ำว่าชาติจำเป็นที่จะต้องรักษาความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติไว้เพื่อป้องกันจากความเสื่อมทรามและอ้างว่าการผสมเชื้อชาติกับชาวยิวนั้นควรถูกห้าม[103] ใน ค.ศ. 1923 เชมเบอร์ลินได้พบกับฮิตเลอร์ ซึ่งเป็นผู้นำที่เขายกย่องว่าเป็นจิตวิญญาณเสรีที่กลับมาเกิดใหม่[105] หนังสือเล่มหนึ่งที่ฮิตเลอร์อ่านแล้วกล่าวว่าเป็น "ไบเบิลของผม" คืองานของแมดิสัน แกรนต์ (Madison Grant) The Passing of the Great Race (ค.ศ. 1916 "สิ้นเชื้อชาติอันยิ่งใหญ่") ที่สนับสนุนลัทธินอร์ดิก (Nordicism) และนำเสนอให้มีการปฏิบัติใช้โครงการสุพันธุศาสตร์เพื่ออนุรักษ์ความบริสุทธิ์ของเชื้อชาตินอร์ดิก[106]
ในประเทศเยอรมนี ความเชื่อว่าชาวยิวนั้นกำลังใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากชาวเยอรมันกลายเป็นที่นิยมเพราะชาวยิวผู้มั่งคั่งหลายคนได้ขึ้นรับตำแหน่งสำคัญในการรวมชาติเยอรมันเมื่อ ค.ศ. 1871[107] ตั้งแต่ ค.ศ. 1871 จนถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ชาวเยอรมันเชื้อสายยิวมีอยู่มากในชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในขณะที่ในชนชั้นล่างของประเทศเยอรมนีกลับมีอยู่น้อย โดยเฉพาะในภาคส่วนของแรงงานเกษตรและอุตสาหกรรม[108] นักการเงินการธนาคารชาวเยอรมันเชื้อสายยิวมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจเยอรมันระหว่าง ค.ศ. 1871 จนถึง 1913 และพวกเขาได้รับผลประโยชน์มหาศาลจากการขยายตัวนี้ ใน ค.ศ. 1908 ในยี่สิบเก้าตระกูลชาวเยอรมันที่ร่ำรวยที่สุดซึ่งความมั่งคั่งรวมกันแล้วกว่า 55 ล้านมาร์คในสมัยนั้น ห้าตระกูลเป็นเชื้อสายยิวและตระกูลชาวเยอรมันที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับสองคือตระกูลรอธส์ไชลด์[109] ชาวยิวมีความเด่นชัดมากในภาคการธนาคาร การพาณิชย์ และอุตสาหกรรมของประเทศเยอรมนีในช่วงเวลานี้ แม้ว่าชาวยิวนั้นประกอบเพียงร้อยละ 1 ของประชากรในประเทศเยอรมนีเท่านั้นโดยประมาณ[107] ชาวยิวที่ประกอบเป็นจำนวนมากเกินสัดส่วนในสาขาเหล่านี้กลายเป็นเชื้อเพลิงให้กับความขุ่นเคืองของชาวเยอรมันที่ไม่ได้มีเชื้อสายยิวในช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจ[108] เหตุการณ์ตลาดหุ้นตกใน ค.ศ. 1873 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ตามมาส่งผลให้เกิดกระแสการโจมตีชาวยิวที่ถูกกล่าวหาว่าครอบงำเศรษฐกิจเยอรมนี และการต่อต้านยิวก็เพิ่มขึ้น[108] ในช่วงเวลานี้ ในคริสต์ทศวรรษ 1860 ชาตินิยมเฟิลคิชเยอรมันรวมทั้งขบวนการการเมืองฝ่ายขวามูลวิวัติอีกหลายกลุ่มเริ่มนำประเด็นการเหยียดเชื้อชาติและการต่อต้านยิวมาใช้[110]
ผู้สนับสนุนชาตินิยมเฟิลคิชคนสำคัญหลายคนส่งเสริมการต่อต้านยิวแบบมูลวิวัติ เช่นอ็อยเกิน ดีเดอริชส์ (Eugen Diederichs), เพาล์ เดอ ลาการ์ด (Paul de Lagarde) และยูลีอุส ลังเบห์น (Julius Langbehn)[90] เดอ ลาการ์ด เรียกชาวยิวว่าเป็น "บาซิลลัส พาหะของความเสื่อมโทรม ... เป็นมลทินต่อวัฒนธรรมทุก ๆ ชาติ ... และทำลายล้างศรัทธาทั้งสิ้นด้วยเสรีนิยมแบบวัตถุนิยมของพวกเขา"[ix] และเรียกร้องให้มีการกำจัดชาวยิวให้สิ้นไป[111] ลังเบห์นเรียกร้องให้มีสงครามทำลายล้างชาวยิว และในภายหลังพวกนาซีได้เผยแพร่นโยบายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขาจำหน่ายให้กับทหารแนวหน้าระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง[111] ผู้สนับสนุนอุดมการณ์ต่อต้านยิวอีกคนหนึ่งในสมัยนั้นฟรีดริช ลังเงอ (Friedrich Lange (journalist)) ยังได้ใช้คำว่า "ชาติสังคมนิยม" ไว้เรียกแม่แบบชาตินิยมเฟิลคิชแนวต่อต้านทุนนิยมของเขาเอง[112]
โยฮัน ก็อทลีพ ฟิชเทอ กล่าวหาว่าชาวยิวในประเทศเยอรมนีเป็น "รัฐซ้อนรัฐ" ที่เป็นภัยต่อเอกภาพของชาติเยอรมันและจะเป็นต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้[82] ฟิชเทอเสนอสองตัวเลือกสำหรับการจัดการกับเรื่องนี้ ประการแรกคือการก่อสร้างรัฐยิวในภูมิภาคปาเลสไตน์เพื่อจูงใจให้ชาวยิวย้ายออกจากยุโรป[113] ตัวเลือกที่สองคือการใช้ความรุนแรงต่อชาวยิว และเขากล่าวว่าเป้าหมายของความรุนแรงนั้นคือเพื่อ "ตัดหัวของพวกเขาให้หมดภายในหนึ่งคืน ตั้งหัวใหม่ไว้บนไหล่ของพวกเขา ซึ่งควรจะไม่มีแนวคิดยิวอยู่ในนั้นแม้แต่เสี้ยวเดียว"[113]
The Protocols of the Elders of Zion (ค.ศ. 1912 "พิธีสารปราชญ์แห่งไซออน") เป็นงานที่ถูกปลอมแปลงขึ้นโดยโอฮรานา (okhrana) หน่วยงานลับของจักรวรรดิรัสเซีย พวกต่อต้านยิวหลายคนเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริงและมันจึงกลายเป็นที่โด่งดังหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[114] พิธีสารนั้นอ้างถึงการสมคบคิดอย่างลับของชาวยิวจากนานาชาติที่จะเข้ายึดครองโลก[115] อัลเฟรท โรเซินแบร์ค เป็นผู้แนะนำให้ฮิตเลอร์ได้รู้จักกับพิธีสารนั้น และตั้งแต่ ค.ศ. 1920 เป็นต้นมาเขามุ่งเน้นการโจมตีด้วยการอ้างว่าลัทธิมากซ์และศาสนายูดาห์มีความเกี่ยวโยงกันโดยตรง ว่าชาวยิวและพวกบอลเชวิคเป็นคนกลุ่มเดียวกลุ่มเดียวกัน และว่าลัทธิมากซ์เป็นอุดมการณ์ยิว ซึ่งเหล่านี้กลายเป็นที่รู้จักว่า "ลัทธิบอลเชวิกยิว"[116] ฮิตเลอร์เชื่อว่าพิธีสารชิ้นนั้นเป็นของแท้[117]
ก่อนนาซีขึ้นสู่อำนาจ ฮิตเลอร์มักกล่าวโทษว่าศีลธรรมนั้นเสื่อมลงเพราะรัสเซินชันเดอ (Rassenschande "ความเสื่อมเสียทางเชื้อชาติ") ซึ่งเป็นวิธีการเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ติดตามของเขาว่ายังคงต่อต้านยิวอยู่ ซึ่งถูกทำให้เจือจางลงไว้สำหรับคนส่วนมาก[118] ก่อนที่พวกนาซีออกกฎหมายเชื้อชาติเนือร์นแบร์คมาใน ค.ศ. 1935 พวกชาตินิยมเยอรมันหลายคนสนับสนุนกฎหมายที่ห้ามรัสเซินชันเดอระหว่างชาวอารยันกับชาวยิวโดยให้ถือเป็นการกบฏต่อเชื้อชาติ เช่นโรลันท์ ไฟรส์เลอร์[118] และแม้กระทั่งก่อนกฎหมายจะออกมาอย่างเป็นทางการเสียอีก พวกนาซีก็ได้ห้ามเพศสัมพันธ์และการสมรสกันระหว่างสมาชิกพรรคกับชาวยิวแล้ว[119] สมาชิกพรรคที่พบว่ามีความผิดฐานรัสเซินชันเดอจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง สมาชิกพรรคบางคนถูกตัดสินให้รับโทษประหารชีวิตก็มี[120]
พวกนาซีอ้างว่าบิสมาร์คไม่สามารถรวมชาติเยอรมันได้สำเร็จเพราะมีชาวยิวแทรกซึมอยู่ในรัฐสภาเยอรมัน และอ้างว่าการที่พวกเขายุบสภาได้ทำให้อุปสรรคต่อการรวมชาตินี้สิ้นสุดลง[94] พวกนาซีกล่าวหาชาวยิวและประชากรกลุ่มอื่น ๆ ที่พวกเขาถือว่าไม่เป็นเยอรมันว่ามีความภักดีต่อต่างชาติด้วยตำนานแทงข้างหลัง นี่จึงทำให้การต่อต้านยิวในเยอรมนีเรื่องยูเดินฟราเกอ (ปัญหาชาวยิว) รุนแรงขึ้น กล่าวคือข้อกล่าวหาเท็จ (Antisemitic canard) ของการเมืองฝ่ายขวาจัดซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงที่ขบวนการเฟิลคิชเชิงชาติพันธุ์และนโยบายชาตินิยมแบบจินตนิยม (romantic nationalism) เพื่อสถาปนาโกรสด็อยชลันท์ (เยอรมนีใหญ่) ของมันกำลังเข้มแข็ง[121][122]
นโยบายเชื้อชาติของระบอบนาซีอาจพัฒนามาจากมุมมองของนักชีววิทยาคนสำคัญในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาทินักชีววิทยาชาวฝรั่งเศสฌ็อง-บาติสต์ ลามาร์ก (Jean-Baptiste Lamarck) ผ่านทฤษฎีของลามาร์กแบบจิตนิยมของแอ็นสท์ เฮ็คเคิล (Ernst Haeckel) และนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมันบิดาของวิชาพันธุศาสตร์เกรกอร์ เม็นเดิล[123] ในภายหลัง พวกนาซีประณามงานของเฮ็ตเติลว่าไม่เหมาะสมสำหรับ "การก่อร่างและการศึกษาแบบชาติสังคมนิยในไรช์ที่สาม" [x] ส่วนหนึ่งอาจเป็นจากปรัชญาวัตถุนิยมและอเทวนิยม "แบบเอกนิยม" ของเขาซึ่งพวกนาซีไม่นิยม พร้อมทั้งความเป็นมิตรที่เขามีต่อชาวยิว การต่อต้านแสนยนิยม (militarism) และการสนับสนุนปรัตถนิยม (altruism) โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐนาซีคนหนึ่งเรียกร้องให้ประณามเขา[124] ทฤษฎีของลามาร์กจัดลำดับชั้นเชื้อชาติตามวิวัฒนการจากเอป ซึ่งต่างจากทฤษฎีของเม็นเดิลซึ่งไม่ได้จัดลำดับชั้นของเชื้อชาติว่ามีวิวัฒนาการที่สูงหรือต่ำกว่าจากเอป เพียงแต่กล่าวว่ามนุษย์ล้วนวิวัฒน์มาจากเอปด้วยกัน[123] ผู้สนับสนุนลามาร์กมองว่าเชื้อชาติที่ "ต่ำกว่า" ได้ประสบกับสภาวะที่ทรุดโทรมมานานเกินพอที่ "การพัฒนา" ของสภาวะของพวกเขาอย่างมีนัยสำคัญใด ๆ จะสามารถเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้[125] เฮ็คเคิลใช้ทฤษฎีของลามาร์กเพื่ออธิบายถึงการต่อสู้ระหว่างเชื้อชาติที่เกิดขึ้นและจัดวางแต่ละเชื้อชาติลงบนลำดับชั้นของวิวัฒนาการ โดยเรียงลงมาตั้งแต่มนุษย์เต็มตัวจนถึงต่ำกว่ามนุษย์[123]
พวกนาซีและนักสุพันธุศาสตร์กระแสหลักในสมัยนั้นสนับสนุนพันธุศาสตร์ของเม็นเดิลหรือทฤษฎีของเม็นเดิล ทฤษฎีการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของเม็นเดิลกล่าวว่าลักษณะทางพันธุกรรมจะถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น[126] นักสุพันธุศาสตร์ใช้ทฤษฎีการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของเม็นเดิลเพื่อแสดงการถ่ายทอดโรคและความบกพร่องทางชีววิทยาจากบุพการีสู่บุตร ซึ่งรวมถึงความผิดปกติทางจิต ในขณะที่ผู้อื่นใช้ทฤษฎีของเม็นเดิลเพื่อแสดงการถ่ายทอดลักษณะทางสังคม โดยพวกถือคตินิยมเชื้อชาติอ้างว่าเบื้องหลังลักษณะทั่วไปบางประการเช่นความคิดสร้างสรรค์หรือพฤติกรรมอาชญากรนั้นมีธรรมชาติเชิงเชื้อชาติอยู่[127]
ฮิตเลอร์และนักทฤษฎีกฎหมายนาซีหลายคนได้รับแรงบันดาลใจจากคตินิยมเชื้อชาติเชิงสถาบัน (institutional racism) ของประเทศสหรัฐอเมริกาและมองเห็นเป็นมันตัวแบบสำหรับทำตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขามองเห็นมันเป็นตัวแบบสำหรับการขยายเขตแดนและการขจัดผู้อยู่อาศัยพื้นเมืองออกไป เห็นกฎหมายที่ปฏิเสธความเป็นพลเมืองเต็มตัวให้กับชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา (Disfranchisement after the Reconstruction era) เป็นตัวแบบที่พวกเขาต้องการปฏิบัติใช้ในแบบเดียวกันกับชาวยิว และเห็นกฎหมายคนเข้าเมืองที่เหยียดเชื้อชาติ (Immigration Act of 1924) ที่ห้ามบางเชื้อชาติเป็นตัวแบบ ในไมน์คัมพฟ์ ฮิตเลอร์สรรเสริญว่าประเทศสหรัฐอเมริกานั้นเป็นตัวอย่างร่วมสมัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่มีกฎหมายพลเมืองแบบเหยียดเชื้อชาติ (หรือแบบ "เฟิลคิช") อยู่ในคริสต์ทศวรรษ 1920 และนักกฎหมายนาซีได้นำตัวแบบอเมริกันไปใช้ในการประดิษฐ์กฎหมายสำหรับใช้ในนาซีเยอรมนี[128] กฎหมายความเป็นพลเมืองสหรัฐและกฎหมายต่อต้านการผสมเชื้อชาติในสหรัฐ (Anti-miscegenation laws in the United States) เป็นแรงบันดาลใจโดยตรงให้กับกฎหมายเนือร์นแบร์คที่สำคัญสองฉบับ กฎหมายว่าด้วยความเป็นพลเมืองไรช์และกฎหมายเพื่อคุ้มครองสายเลือดเยอรมันและเกียรติภูมิเยอรมัน[128]
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันโยฮันน์ เพล็งเกอ (Johann Plenge) กล่าวถึงการเติบโตของ "ชาติสังคมนิยม" ท่ามกลางสิ่งที่เขาเรียกว่า "แนวคิดของปี 1914" ว่าเป็นการประกาศสงครามต่อ "แนวคิดของปี 1789" (การปฏิวัติฝรั่งเศส)[129] อ้างอิงตามเพล็งเกอ "แนวคิดของปี 1789" เช่นสิทธิของมนุษย์ ประชาธิปไตย ปัจเจกนิยม และเสรีนิยมกำลังถูกปฏิเสธและแทนที่ด้วย "แนวคิดของปี 1914" เช่น "คุณค่าเยอรมัน" เรื่องหน้าที่ วินัย กฎหมาย และระเบียบ[129] เพล็งเกอเชื่อว่าความสามัคคีทางชาติพันธุ์ (ฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์) จะมาแทนที่การแบ่งแยกทางชนชั้น และ "สหายเชื้อชาติ" จะรวมกันสร้างสังคมแบบสังคมนิยม ประเทศเยอรมนีของ "ชนกรรมาชีพ" ปะทะบริเตนของ "ทุนนิยม"[129] เขาเชื่อว่า "จิตวิญญาณแห่งปี 1914" ได้ปรากฏตัวเป็นมโนทัศน์ของ "สันนิบาตประชาชนแห่งชาติสังคมนิยม" (People's League of National Socialism)[130] ชาติสังคมนิยมนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของระบอบสังคมนิยมรัฐที่ปฏิเสธ "แนวคดิเกี่ยวกับเสรีภาพแบบไร้ขอบเขต" และสนับสนุนเศรษฐกิจที่จะรับใช้ประเทศเยอรมนีทั้งมวลภายใต้การนำของรัฐ[130] ชาติสังคมนิยมนี้ต่อต้านทุนนิยมเพราะมีส่วนประกอบซึ่งขัดกับ "ผลประโยชน์แห่งชาติ" ของเยอรมนี แต่ยืนกรานว่าชาติสังคมนิยมจะแสวงหาเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า[130] เพล็งเกอสนับสนุนให้อภิชนปกครองที่ใช้เหตุผลและอำนาจนิยมพัฒนาระบอบชาติสังคมนิยมผ่านรัฐเทคโนแครตที่มีลำดับชั้น[131] และแนวคิดของเขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานของระบอบนาซี[129]
นักปรัชญาวัฒนธรรมชาวเยอรมันอ็อสวัลท์ ชเป็งเลอร์ เป็นหนึ่งในอิทธิพลหลักที่มีต่อระบอบนาซี แม้ว่าหลัง ค.ศ. 1933 เขาถูกแปลกแยกจากระบอบนาซีและถูกพวกนาซีประณามในภายหลังเพราะวิจารณ์อดอล์ฟ ฮิตเลอร์[132] พวกนาซีและขบวนการปฏิวัติอนุรักษ์นิยม (Conservative revolution) ยึดถือมโนทัศน์ว่าด้วยชาติสังคมนิยมของชเป็งเลอร์และมุมมองทางการเมืองของเขาร่วมกัน[133] มุมมองของชเป็งเลอร์ก็เป็นที่นิยมในหมู่ฟาสชิสต์ชาวอิตาลี (Italian fascism) ด้วย ซึ่งรวมถึงเบนิโต มุสโสลินี[134]
หนังสือของชเป็งเลอร์ The Decline of the West (ค.ศ. 1918 "ความตกต่ำของตะวันตก") ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงเดือนท้าย ๆ ของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กล่าวถึงความเสื่อม (decadence) ของอารยธรรมยุโรปสมัยใหม่ที่สมมุติขึ้นมา เขาอ้างว่ามันเกิดจากกระบวนการทำให้เป็นปัจเจกอะตอมและไร้ศาสนา กับภาวะพลเมืองโลก[132] สมมติฐานหลักของชเป็งเลอร์กล่าวว่ามีกฎของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์อยู่ซึ่งประกอบด้วยวัฏจักรของกำเนิด ความเจริญ ชราภาพ และมรณภาพเมื่อถึงรูปแบบสุดท้ายของอารยธรรมของมันแล้ว[132] เมื่อถึงจุดแห่งอารยธรรม วัฒนธรรมจะสูญเสียความสามารถคิดสร้างสรรค์ไปและยอมจำนนต่อความเสื่อมจนกว่าการปรากฏตัวของ "อนารยชน" จะมาสร้างยุคสมัยใหม่[132] ชเป็งเลอร์พิจารณาว่าโลกตะวันตกได้ยอมจำนนต่อความเสื่อมของปัญญา เงินตรา ชีวิตในเมืองแบบพลเมืองโลก ชีวิตที่ไร้ศาสนา ปัจเจกนิยมปรมาณู และเชื่อว่ามันกำลังอยู่ที่จุดจบของภาวะเจริญพันธุ์ทั้งในทางชีววิทยาและ "ทางจิตวิญญาณ" ของมันแล้ว[132] เขาเชื่อว่าชาติเยอรมัน "อันเยาว์วัย" เมื่อเป็นอำนาจจักรวรรดิจะสืบทอดมรดกของโรมโบราณมา และนำไปสู่การฟื้นฟูของคุณค่าภายใน "สายเลือด" และสัญชาตญาณ และในขณะเดียวกันอุดมคติของเหตุผลนิยมจะถูกเปิดเผยว่าไร้เหตุผล[132]
แนวคิด "สังคมนิยมปรัสเซีย" ของชเป็งเลอร์อย่างที่อธิบายไว้ในหนังสือของเขา Preussentum und Sozialismus (ค.ศ. 1919 "ความเป็นปรัสเซียและสังคมนิยม") ได้มีอิทธิพลต่อระบอบนาซีและขบวนการปฏิวัติอนุรักษ์นิยม[133] ชเป็งเลอร์เขียนว่า: "ความหมายของสังคมนิยมคือชีวิตที่มิได้ถูกควบคุมโดยความขัดแย้งกันระหว่างความรวยกับความจน แต่โดยลำดับชั้นซึ่งได้มาด้วยความสำเร็จและความสามารถ นั่นคือเสรีภาพของเรา เสรีภาพจากอำนาจเด็ดขาดทางเศรษฐกิจของปัจเจก"[xi] ชเป็งเลอร์รับเอาแนวคิดต่อต้านอังกฤษที่เพล็งเกอและซ็อมบาร์ทพูดถึงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งประณามเสรีนิยมอังกฤษ (Liberalism in the United Kingdom) และระบบรัฐสภาแบบอังกฤษและสนับสนุนระบบชาติสังคมนิยมที่เป็นอิสระจากลัทธิมากซ์และจะเชื่อมโยงปัจเจกชนเข้ากับรัฐผ่านองค์กรแบบบรรษัทนิยมมาปรับใช้[132] ชเป็งเลอร์อ้างว่าคุณลักษณะของปรัสเซียแบบสังคมนิยมนั้นดำรงอยู่ทั่วทั้งประเทศเยอรมนี ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ วินัย ความเห็นแก่ประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ผลิตภาพ และการเสียสละตนเอง[135] เขาเสนอว่าสงครามเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยกล่าวว่า: "สงครามเป็นรูปนิรันดร์ของการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่เหนือกว่า และรัฐดำรงอยู่ก็เพื่อสงคราม: มันเป็นการแสดงออกถึงความอยากทำสงคราม"[xii]
นิยามของสังคมนิยมของชเป็งเลอร์ไม่ได้มีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางทรัพย์สิน[133] เขาประณามลัทธิมากซ์ว่าพยายามฝึกซ้อมชนกรรมาชีพให้ไป "ยึดทรัพย์จากผู้ยึดทรัพย์" หรือนายทุน แล้วให้ใช้ชีวิตที่สุขสบายด้วยทรัพย์ที่ยึดมาเหล่านี้[138] เขาอ้างว่า "ลัทธิมากซ์คือทุนนิยมของชนชั้นแรงงาน" และไม่ใช่สังคมนิยมที่แท้จริง[138] อ้างอิงตามชเป็งเลอร์ สังคมนิยมที่แท้จริงจะเป็นบรรษัทนิยมรูปแบบหนึ่ง เขากล่าว "องค์กรบรรษัทท้องถิ่นที่จัดระเบียบตามความสำคัญที่แต่ละวิชาชีพมีต่อประชาชนโดยรวม การมีผู้แทนในลำดับที่สูงขึ้นไปจนถึงสภาสูงสุดแห่งรัฐ ที่อาณัติสามารถถูกถอดถอนได้ทุกเมื่อ ไม่มีพรรคการเมืองจัดตั้ง ไม่มีนักการเมืองมืออาชีพ ไม่มีการเลือกตั้งเป็นประจำ"[139]
ปัญญาชนต่อต้านยิวชาวเยอรมันวิลเฮ็ล์ม ชตาเพิล (Wilhelm Stapel) ใช้สมมติฐานของชเป็งเลอร์ว่าด้วยการปะทะกันทางวัฒนธรรมระหว่างชาวยิวที่ชเป็งเลอร์อธิบายว่าเป็นคนจำพวกเมไจ (Magi) กับชาวยุโรป (Ethnic groups in Europe) ซึ่งเป็นคนจำพวกเฟาสต์[140] ชตาเพิลพรรณนาว่าชาวยิวเป็นชนร่อนเร่ไร้แผ่นดินที่กำลังตามหาวัฒนธรรมนานาชาติที่จะใช้เพื่อปรับตัวเขากับอารยธรรมตะวันตก[140] ดังนั้น ชตาเพิลจึงอ้างว่าสังคมนิยม สันตินิยม หรือทุนนิยมในรูปแบบ "สากล" จึงดึงดูดใจชาวยิว เพราะชาวยิวซึ่งเป็นผู้คนที่ไม่มีแผ่นดินได้รุกล้ำเขตแดนของชาติและวัฒนธรรมมามากมายแล้ว[140]
ในช่วงแรก อาร์ทัวร์ เมิลเลอร์ ฟัน เดน บรุค (Arthur Moeller van den Bruck) เป็นบุคคลสำคัญของระบอบนาซีที่ได้รับอิทธิพลจากนักปฏิวัติอนุรักษ์นิยม[141] เขาปฏิเสธอนุรักษ์นิยมแบบปฏิกิริยาและเสนอให้มีรัฐใหม่ซึ่งเขาบัญญัติชื่อว่า "ไรช์ที่สาม" ซึ่งจะประสานทุก ๆ ชนชั้นภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยม[142] ฟัน เดน บรุค สนับสนุนส่วนผสมระหว่างชาตินิยมจากฝ่ายขวาและสังคมนิยมจากฝ่ายซ้าย[143]
ลัทธิฟาสซิสต์เป็นหนึ่งในอิทธิพลหลักที่มีต่อระบอบนาซี การยึดอำนาจโดยผู้นำฟาสชิสต์ชาวอิตาลีเบนิโต มุสโสลินี ในการเดินขบวนสู่โรมใน ค.ศ. 1922 ได้ดึงดูดความชื่นชมจากฮิตเลอร์ ซึ่งไม่ถึงเดือนถัดมาก็ได้เริ่มจำลองตัวเองและพรรคนาซีตามแบบมุสโสลินีและพวกฟาสชิสต์[144] ฮิตเลอร์นำเสนอให้พวกนาซีเป็นลัทธิฟาสชิสต์เยอรมันรูปแบบหนึ่ง[145][146] ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1923 พวกนาซีได้พยายามทำ "การเดินขบวนสู่เบอร์ลิน" ตามแบบอย่างการเดินขบวนสู่โรม ซึ่งนำไปสู่กบฏโรงเบียร์ที่มิวนิกซึ่งล้มเหลว[147]
ฮิตเลอร์กล่าวถึงหนี้ที่ระบอบนาซีมีต่อความสำเร็จในการขึ้นสู่อำนาจของลัทธิฟาสชิสต์ในประเทศอิตาลี[148] ในการสนทนาส่วนตัวเมื่อ ค.ศ. 1941 ฮิตเลอร์กล่าวว่า "พวกชุดน้ำตาลคงไม่เกิดขึ้นหากไม่มีพวกชุดดำ" โดยที่ "พวกชุดน้ำตาล" หมายถึงกองกำลังนาซีและ "พวกชุดดำ" หมายถึงกองกำลังฟาสชิสต์ (blackshirts)[148] เขากล่าวถึงช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 ด้วยว่า: "หากมุสโสลินีถูกลัทธิมากซ์แซงไป ผมก็ไม่รู้ว่าเราจะรอดมาได้สำเร็จหรือเปล่า ในช่วงเวลานั้นชาติสังคมนิยมยังเติบโตอย่างเปราะบางมาก"[xiii]
นาซีคนอื่น ๆ โดยเฉพาะพวกซึ่งในสมัยนั้นมีความเกี่ยวข้องกับปีกสายมูลวิวัติกว่าของพรรค อาทิเกรกอร์ ชตรัสเซอร์, โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ และไฮน์ริช ฮิมเลอร์ ปฏิเสธลัทธิฟาสชิสต์อิตาลี (italian fascism) และกล่าวหาว่ามันเป็นอนุรักษ์นิยมหรือทุนนิยมมากเกินไป[149] อัลเฟรท โรเซินแบร์ค ประณามลัทธิฟาสชิสต์อิตาลีว่าสบสันทางเชื้อชาติและมีอิทธิพลของความคลั่งไคล้ยิว (Philosemitism)[150] ชตรัสเซอร์วิจารณ์นโยบายฟือเรอร์พรินท์ซีพ (Führerprinzip) ว่าเป็นสิ่งประกอบสร้างของมุสโสลินีและถือว่าเป็นแนวคิดต่างด้าวที่ถูกนำเข้ามาอยู่ในระบอบนาซี[151] ตลอดความสัมพันธ์ระหว่างนาซีเยอรมนีและอิตาลีฟาสชิสต์ นาซีชั้นผู้น้อยหลายคนมองลัทธิฟาสชิสต์ด้วยความเหยียดหยามว่าเป็นขบวนการอนุรักษ์นิยมที่ขาดศักยภาพในการปฏิวัติอย่างเต็มที่[151]
นักประวัติศาสตร์มาร์ทีน โบรสท์ซัท เขียนไว้ในหนังสือของเขา The Hitler State (Der Staat Hitlers) ว่า:
...ชาติสังคมนิยมไม่ได้เป็นในเชิงอุดมการณ์หรือแนวนโยบายเป็นหลัก แต่เป็นขบวนการเชิงบารมี (charismatic authority) ซึ่งอุดมการณ์นั้นรวมเข้าอยู่ในตัวฟือเรอร์ฮิตเลอร์ และมันจะเสียอำนาจรวบรวมของมันไปสิ้นหากไร้ซึ่งเขา ... อุดมการณ์ชาติสังคมนิยมที่คลุมเครือ ยูโทเปีย และนามธรรมนั้นประสบความเร็จกลายเป็นจริงและแน่นอนเพียงเท่าที่มันทำได้ผ่านฮิตเลอร์เป็นสื่อกลาง[xiv]
ดังนั้น การอธิบายอุดมการณ์ของระบอบนาซีจะต้องเป็นการอธิบายแบบพรรณนา เพราะมันไม่ได้เป็นผลผลิตจากหลักการเบื้องต้นเป็นหลัก แต่เป็นผลมาจากปัจจัยหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นมุมมองส่วนตัวที่ฮิตเลอร์ถือไว้อย่างเข้มแข็ง บางส่วนจากแผน 25 ข้อ เป้าหมายโดยทั่วไปของขบวนการชาตินิยมและขบวนการเฟิลคิช และความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ภายในพรรคนาซีที่ต่อสู้กันแก่งแย่ง "เอาชนะใจฮิตเลอร์ให้ยอมรับการตีความชาติสังคมนิยมของพวกเขาแต่ละคน" และหลังจากพรรคเริ่มกวาดล้างอิทธิพลเบี่ยงเบนเช่นลัทธิชตรัสเซอร์ออกไปแล้ว กลุ่มผู้นำของพรรคได้ยอมรับให้ฮิตเลอร์เป็น "อำนาจสูงสุดในการตัดสินใจประเด็นเชิงอุดมการณ์"[152]
ระบอบนาซีเน้นความสำคัญของชาตินิยมเยอรมัน ไม่ว่าจะเป็นลัทธิเรียกร้องดินแดนคืน (irredentism) หรือลัทธิการขยายอาณาเขต (expansionism) ระบอบนาซียึดถือทฤษฎีเชื้อชาติที่มีรากฐานอยู่บนความเชื่อว่ามีเชื้อชาติเจ้านายอารยันซึ่งเหนือกว่าเชื้อชาติอื่นใดทั้งมวลอยู่ พวกนาซีเน้นความสำคัญของการดำรงอยู่ซึ่งความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างเชื้อชาติอารยันกับเชื้อชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะชาวยิวซึ่งพวกนาซีมองว่าเป็นเชื้อชาติผสมที่ได้แทรกซึมเข้าไปในหลายสังคมและมีส่วนในการเอาเปรียบและกดทับเชื้อชาติอารยัน พวกนาซีก็จัดประเภทชาวสลาฟเป็นอุนเทอร์เม็นช์ (ต่ำกว่ามนุษย์) ด้วย[153]
นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันว็อล์ฟกัง บีอาลาส (Wolfgang Bialas) อ้างว่าสำนึกในศีลธรรมของนาซีสามารถอธิบายได้ว่าเป็นจริยธรรมเชิงคุณธรรม (virtue ethics) เชิงกระบวนการรูปแบบหนึ่ง เพราะว่ามันต้องการให้เชื่อฟังต่อคุณธรรมสัมบูรณ์อย่างไร้เงื่อนไขพร้อมด้วยเจตคติของการวิศวกรรมสังคม และได้แทนที่อัชฌัตติกญาณสามัญด้วยคำสั่งและคุณธรรมเชิงอุดมการณ์ชุดหนึ่ง บุรุษแบบใหม่ในอุดมคติของนาซีต้องมีจิตสำนึกทางเชื้อชาติและเป็นนักรบผู้อุทิศตนแด่อุดมการณ์ซึ่งจะสามารถกระทำการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แห่งเชื้อชาติเยอรมันและเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเที่ยงธรรมไปในเวลาเดียวกัน พวกนาซีเชื่อว่าปัจเจกจะสามารถพัฒนาความสามารถและคุณลักษณะปัจเจกของตนได้เพียงภายใต้กรอบของเชื้อชาติที่ปัจเจกนั้นเป็นสมาชิกอยู่เท่านั้น เชื้อชาติที่เขาเป็นจะเป็นตัวกำหนดว่าเขาสมควรได้รับการดูแลอย่างถูกศีลธรรมหรือไม่ มโนทัศน์ของการปฏิเสธตนเอง (self-denial) แบบคริสเตียนจะถูกแทนที่ด้วยการเสนอตนเองเหนือพวกที่เขาถือว่าต่ำกว่า พวกนาซีประกาศให้การคัดเลือกโดยธรรมชาติและการต่อสู่แย่งชิงการดำรงอยู่เป็นกฎที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุด พวกเขากล่าวว่าผู้คนและปัจเจกซึ่งถือว่าต่ำกว่าจะไม่สามารถเอาชีวิตรอดได้โดยไม่มีพวกที่ถือว่าเหนือว่า ทว่าการกระทำเช่นนี้ก็เป็นการที่พวกเขาเพิ่มภาระให้กับพวกที่เหนือกว่า พวกเขาถือว่าการคัดเลือกโดยธรรมชาติจะเห็นชอบความแข็งแกร่งเหนือความอ่อนแอ และพวกนาซีถือว่าการปกป้องพวกที่ถือว่าต่ำกว่าเป็นการป้องกันมิให้ธรรมชาติดำเนินตามครรลองของมัน พวกเขามองว่าพวกที่ไม่สามารถเสนอตนได้ถูกกำหนดให้พบกับหายนะ และพวกที่จะได้รับสิทธิในการมีชีวิตคือพวกที่สามารถเอาชีวิตรอดด้วยตนเองได้เท่านั้น[154]
พรรคนาซีเยอรมันสนับสนุนการอ้างสิทธิ์เรียกร้องดินแดนประเทศออสเตรีย อาลซัส-ลอแรน ภูมิภาคที่ปัจจุบันเป็นสาธารณรัฐเช็ก และภูมิภาคที่เป็นที่รู้จักตั้งแต่ ค.ศ. 1919 ว่าฉนวนโปแลนด์กลับคืนประเทศเยอรมนี หนึ่งในนโยบายหลักของพรรคนาซีเยอรมันคือเลเบินส์เราม์ ("พื้นที่อยู่อาศัย") สำหรับชาติเยอรมันซึ่งอ้างอิงข้ออ้างว่าหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งประเทศเยอรมนีประสบกับวิกฤตประชากรล้นเกินและจะต้องขยายอาณาเขตเพื่อให้ปัญหาประชากรล้นประเทศหมดไปจากเขตแดนจำกัดที่มีอยู่ และเพื่อจัดหาทรัพยากรอันจำเป็นต่อสวัสดิภาพของประชาชนของประเทศ[156] ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1920 พรรคนาซีส่งเสริมการขยายอาณาเขตชองประเทศเยอรมนีเข้าไปในอาณาเขตที่สหภาพโซเวียตถือครองอยู่อย่างเปิดเผย[157]
ในไมน์คัมพฟ์ ฮิตเลอร์กล่าวว่าจะหาเลเบินส์เราม์มาได้จากยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะประเทศรัสเซีย[158] ในปีแรก ๆ ในตำแหน่งผู้นำนาซี ฮิตเลอร์กล่าวอ้างว่าเขายินดีน้อมรับความสัมพันธ์แบบเป็นมิตรกับประเทศรัสเซียบนเงื่อนไขเชิงยุทธศาสตร์ที่รัสเซียจะยอมคืนเส้นแบ่งเขตแดนกลับไปแบบที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศเยอรมนีและประเทศรัสเซียสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ซึ่งลงนามโดยกริกอรี โซคอลนีคอฟ (Grigori Sokolnikov) จากสาธารณรัฐโซเวียตรัสเซียเมื่อ ค.ศ. 1918 ที่มอบอาณาเขตผืนใหญ่ที่รัสเซียถือครองมาอยู่ภายใต้การควบคุมของเยอรมนีเพื่อแลกกับสันติภาพ[157] ใน ค.ศ. 1921 ฮิตเลอร์ชมเชยสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้แก่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีและรัสเซียว่า:
ผ่านสันติภาพกับรัสเซีย การยังชีพเยอรมนีและการจัดหางานจะหามาได้จากการครอบครองแผ่นดินและผืนดิน จากการเข้าถึงวัตถุดิบ และจากมิตรสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ
— อดอล์ฟ ฮิตเลอร์[xv]
ระหว่าง ค.ศ. 1921 ถึง 1922 ฮิตเลอร์ปลุกเรียกใช้ทั้งวาทกรรมของความสำเร็จของเลเบินส์เราม์ซึ่งจะประกอบด้วยการยอมรับประเทศรัสเซียที่มีอาณาเขตลดลง และการสนับสนุนพวกชาตินิยมรัสเซีย (Russian nationalism) ให้โค่นล้มบอลเชวิคและสถาปนารัฐบาลรัสเซียขาวใหม่[157] แต่จุดยืนของฮิตเลอร์เปลี่ยนไปเมื่อสิ้นปี 1922 เมื่อเขาหันมาสนับสนุนให้มีพันธมิตรระหว่างเยอรมนีกับบริเตนเพื่อทำลายรัสเซีย[157] ในภายหลังฮิตเลอร์ประกาศว่าเขาตั้งใจขยายประเทศเยอรมนีเข้าไปในประเทศรัสเซียถึงเท่าใด:
ทวีปเอเชีย แหล่งกักเก็บมนุษย์ที่น่ากังวลเหลือเกิน! เราไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของทวีปยุโรปจนกว่าเราจะขับไล่เอเชียไปอยู่หลังยูรัลได้ ไม่ควรมีรัฐรัสเซียจัดตั้งอยู่เลยเส้นนั้นมาทางทิศตะวันตก
— อดอล์ฟ ฮิตเลอร์[xvi]
นโยบายสำหรับเลเบินส์เราม์วางแผนให้มีการขยายอาณาเขตของเยอรมนีอย่างมหาศาลไปทางตะวันออกของเทือกเขายูรัล[159][160] ฮิตเลอร์วางแผนเนรเทศประชากรรัสเซีย "ส่วนเกิน" ที่อาศัยทางตะวันตกของเทือกเขายูรัลไปยังฝั่งตะวันออกของเทือกเขายูรัล[161]
นักประวัติศาสตร์อดัม ทูซ (Adam Tooze) อธิบายว่า ฮิตเลอร์เชื่อว่าเลเบินส์เราม์นั้นมีความสำคัญต่อการจัดหาความมั่งคั่งแบบบริโภคนิยมแนวอเมริกันมาให้แก่ชาวเยอรมัน ทูซอ้างว่าเพราะเหตุนี้การมองว่าระบอบนาซีประสบกับข้อขัดแย้งระหว่าง "ปืนหรือเนย" (guns and butter) นั้นเป็นการมองที่ผิด แม้ว่าจะจริงที่ทรัพยากรถูกเบี่ยงออกจากการบริโภคของภาคพลเรือนมาใช้ในการผลิตทางทหาร แต่ทูซอธิบายว่าในระดับยุทธศาสตร์แล้ว "ในท้ายที่สุด ปืนถูกมองว่าเป็นวิธีการหาเนยมาเพิ่ม"[162]
ในขณะที่ความหมกมุ่นที่พวกนาซีมีกับวิถีชีวิตเกษตรกรรมและการผลิตอาหารนั้นมักถูกมองว่าเป็นนัยที่สื่อถึงความล้าหลังของพวกเขา แต่ทูซอธิบายว่าความจริงแล้วเหล่านั้นเป็นหนึ่งในประเด็นขับเคลื่อนหลักของสังคมยุโรปเป็นเวลาอย่างน้อยสองศตวรรษที่ผ่านมา หนึ่งในปัญหาหลักที่ยุโรปต้องประสบพบเจอในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 คือปัญหาว่าสังคมยุโรปควรตอบสนองต่อเศรษฐกิจโลก (world economy) ใหม่ของอาหารอย่างไร วิถีชีวิตเกษตรกรรมมีอยู่แพร่หลายอย่างยิ่งในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1930 ในทวีปยุโรป (อาจยกเว้นเกาะบริเตนใหญ่) และชาวเยอรมันกว่า 9 ล้านคน (เกือบหนึ่งในสามของกำลังแรงงาน) ยังทำงานอยู่ในภาคการเกษตร และหลายคนที่ไม่ได้ทำงานเกษตรกรรมก็ยังมีแปลงจัดสรรขนาดเล็กหรือปลูกอาหารไว้บริโภคเอง ทูซประมาณการณ์ว่ากว่าครึ่งของประชากรเยอรมันในคริสต์ทศวรรษ 1930 อาศัยอยู่ในเมืองเล็ก ๆ และหมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งมีประชากรต่ำกว่า 20,000 คน หลายคนที่อาศัยในเมืองใหญ่ยังคงมีความทรงจำถึงการย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองจากชนบทอยู่ ทูซจึงอธิบายว่าความหมกมุ่นที่พวกนาซีมีกับแนวคิดเกษตรนิยมนั้นไม่ใช่การเคลือบเงาความล้าสมัยลงบนชาติอุตสาหกรรมสมัยใหม่ แต่เป็นผลพวงมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าระบอบนาซี (ทั้งในฐานของอุดมการณ์และขบวนการ) เป็นผลผลิตของสังคมที่ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ[163]
ความหมกมุ่นของพวกนาซีในเรื่องการผลิตอาหารเป็นผลของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แม้ว่าทวีปยุโรปจะสามารถหลีกเลี่ยงทุพภิกขภัยได้ด้วยการนำเข้าจากนานาชาติ แต่การปิดล้อมได้นำเอาประเด็นความมั่นคงทางอาหาร (food security) กลับเข้ามาในการเมืองยุโรป การปิดล้อมประเทศเยอรมนี (blockade of Germany) โดยฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและหลังสงครามไม่ได้ทำให้เกิดทุพภิกขภัยโดยสมบูรณ์ แต่ภาวะขาดสารอาหารเรื้อรังได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 600,000 คนโดยประมาณในประเทศเยอรมนีและออสเตรีย วิกฤตเศรษฐกิจในยุคระหว่างสงครามหมายความว่าชาวเยอรมันส่วนใหญ่มีความทรงจำถึงอาการหิวเฉียบพลัน ทูซจึงสรุปว่าความหมกมุ่นของพวกนาซีในเรื่องการหาที่ดินเพิ่มไม่ได้เป็นเรื่องของ "การเดินทวนเข็มนาฬิกา" แต่เป็นการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าการแบ่งสรรที่ดิน ทรัพยากร และประชากรอันเป็นผลมาจากสงครามจักรวรรดินิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 นั้นควรถูกยอมรับว่าเป็นที่สิ้นสุดเสียมากกว่า ในขณะที่ผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมีอาจมีที่ดินทำการเกษตรที่เหมาะสมกับสัดส่วนประชากรหรือจักวรรดิขนาดใหญ่ (หรือทั้งสองอย่าง) ซึ่งทำให้พวกเขาสรุปประเด็นเรื่องพื้นที่อยู่อาศัยให้เป็นที่สิ้นสุดได้ แต่พวกนาซีซึ่งรู้ว่าประเทศเยอรมนีขาดทั้งสองอย่างนี้ได้ปฏิเสธที่จะยอมรับให้ที่ยืนของประเทศเยอรมนีบนโลกเป็นโรงงานขนาดกลางซึ่งต้องพึ่งพาอาหารนำเข้า[164]
หากอิงตามเกิบเบิลส์ การพิชิตล่าหาเลเบินส์เราม์นั้นมีความตั้งใจให้เป็นก้าวแรก[165] สู่เป้าหมายสุดท้ายของอุดมการณ์นาซี ซึ่งคือการสถาปนาอำนาจนำโลก (Hyperpower) ของเยอรมนีอย่างสมบูรณ์[166] รูด็อล์ฟ เฮ็ส บอกกล่าวแก่วัลเทอร์ เฮเวิล ถึงความเชื่อของฮิตเลอร์ว่าสันติภาพโลกจะเกิดขึ้น "ก็ต่อเมื่ออำนาจหนึ่ง ซึ่งเป็นเชื้อชาติที่ดีที่สุด (supremacism) ได้มาซึ่งความสูงสุดอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง" และเมื่อได้อำนาจควบคุมนี้แล้ว อำนาจนี้จะสามารถตั้งตนเป็นตำรวจโลกได้และรับประกันให้กับตัวเองซึ่ง "พื้นที่อยู่อาศัยอันจำเป็น [...] เชื้อชาติที่ต่ำกว่าจะต้องจำกัดตนเองตามจากนั้น"[166]
การจัดเชื้อชาติแบบนาซีมองว่าเชื้อชาติอารยันเป็นเชื้อชาติเจ้านายของโลก เป็นเชื้อชาติที่เหนือว่าเชื้อชาติอื่นใด[167] โดยมองว่าชาวอารยันมีความขัดแย้งทางเชื้อชาติกับกลุ่มชนเชื้อชาติผสมกลุ่มหนึ่ง กล่าวคือชาวยิว ซึ่งพวกนาซีชี้ว่าเป็นศัตรูร้ายของชาวอารยัน และมองกลุ่มชนอื่น ๆ หลายกลุ่มว่าเป็นภัยต่อสวัสดิภาพของเชื้อชาติอารยัน ใน ค.ศ. 1935 มีการออกประมวลกฎหมายเชื้อชาติมาเพื่อสงวนไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติอารยันที่พวกเขามองนามว่ากฎหมายเนือร์นแบร์ค ในช่วงแรกกฎหมายนี้ห้ามเฉพาะเพศสัมพันธ์และการสมรสระหว่างชาวเยอรมันกับชาวยิว แต่ในภายหลังถูกขยายให้ครอบคลุมถึง "ยิปซี เนโกร และทายาทลูกผสมของพวกเขา" ด้วย ซึ่งพวกนาซีบรรยายว่าเป็นผู้คน "สายเลือดต่างด้าว"[168][169] ความสัมพันธ์เช่นนั้นระหว่างชาวอารยัน (ดูที่ใบรับรองอารยัน (Aryan certificate)) กับคนที่มิใช่ชาวอารยันสามารถถูกลงโทษได้ภายใต้กฎหมายเชื้อชาติฐานเป็นรัสเซินชันเดอ หรือ "ความเสื่อมเสียทางเชื้อชาติ"[168] หลังสงครามเริ่มต้นขึ้น กฎหมายความเสื่อมเสียทางเชื้อชาติถูกขยายครอบคลุมถึงคนต่างชาติทั้งหมด (คนที่มิใช่ชาวเยอรมัน)[170] เชื้อชาติที่มิใช่อารยันที่อันดับล่างสุดมีชาวยิว ชาวโรมานี ชาวสลาฟ[171] และคนผิวดำ[172] ในที่สุดพวกนาซีพยายามฆ่าล้างชาวยิว ชาวโรมานี ชาวสลาฟ และคนพิการทางร่างกาย (Physical disability) และทางทางสติปัญญา (Developmental disability) เพื่อรักษา "ความบริสุทธิ์และความแข็งแกร่ง" ของเชื้อชาติอารยัน[171][172] กลุ่มอื่น ๆ ที่ถูกชี้ว่า "เสื่อม" (Social degeneration) และ "ไม่เข้าสังคม" (Asociality) ที่ไม่ถูกเพ่งเล็งสำหรับฆ่าล้างแต่ได้รับการปฏิบัติแบบกีดกันจากรัฐนาซีเช่นคนรักร่วมเพศ คนผิวดำ (Black people in Nazi Germany) ศาสนิกชนพยานพระยะโฮวา และศัตรูทางการเมือง[172] ความมุ่งมั่นหนึ่งของฮิตเลอร์ในตอนต้นสงครามคือการฆ่าล้าง ขับไล่ หรือจับเป็นทาสชาวสลาฟส่วนใหญ่หรือทั้งหมดจากยุโรปกลางและตะวันออกเพื่อหาเลเบินส์เราม์ให้กับผู้ตั้งถิ่นฐานชาวเยอรมัน[173]
หนังสือเรียนสำหรับนักเรียนเยอรมันสมัยนาซีชื่อว่า Heredity and Racial Biology for Students (กรรมพันธุ์และชีววิทยาเชื้อชาติสำหรับนักเรียน) ที่เขียนขึ้นโดยยาค็อพ กรัฟ (Jakob Graf) อธิบายมโนทัศน์ว่าด้วยเชื้อชาติอารยันของนาซีให้นักเรียนไว้ในส่วน "The Aryan: The Creative Force in Human History" (ชาวอารยัน: แรงสร้างสรรค์ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ)[167] กรัฟอ้างว่าชาวอารยันดั้งเดิมพัฒนามาจากชาวนอร์ดิกที่เข้าบุกรุกอินเดียโบราณ พวกเขาเริ่มพัฒนาวัฒนธรรมอารยันในช่วงแรกที่นั่น และในภายหลังก็กระจายเข้าสู่เปอร์เซียโบราณ (ancient Persia) เขาอ้างว่าเปอร์เซียพัฒนากลายเป็นจักรวรรดิได้เพราะมีชาวอารยันอาศัยอยู่[167] เขาอ้างว่าชาวนอร์ดิกเป็นชนผู้พัฒนาวัฒนธรรมกรีกโบราณเพราะในภาพวาดจากสมัยนั้นแสดงถึงชาวกรีกซึ่งตัวสูง ผิวสีอ่อน ตาสีอ่อน และผมสีทอง[167] เขากล่าวว่ากลุ่มชนอิตาลิก (Italic peoples) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับชาวเคลต์เป็นชนผู้พัฒนาจักรวรรดิโรมันและเป็นชาวนอร์ดิกด้วย[167] เขาเชื้อว่าเพราะประชากรนอร์ดิกหายไปจากประชากรของกรีซโบราณและโรมโบราณจึงนำไปสู่ความล่มสลายของทั้งสอง[167] เขาอ้างว่าสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาพัฒนาขึ้นมาในจักรวรรดิโรมันตะวันตกเพราะสายเลือดนอร์ดิกระลอกใหม่เข้ามาสู่ดินแดนของจักรวรรดิในสมัยการย้ายถิ่น เช่นสายเลือดนอร์ดิกที่มีอยู่ในชาวลอมบาร์ด (ในหนังสือใช้คำว่าลองโกบาร์ด) และอ้างว่ากลุ่มชาววิซิกอทที่หลงเหลืออยู่เป็นชนผู้สร้างจักรวรรดิสเปน และอ้างว่ามรดกของชาวแฟรงก์ ชาวกอท และกลุ่มชนเจอร์แมนิกในประเทศฝรั่งเศสเป็นเหตุให้มันสามารถโตขึ้นเป็นมหาอำนาจได้[167] เขาอ้างว่าจักรวรรดิรัสเซียเถลิงอำนาจขึ้นมาได้เพราะนำโดยกลุ่มชนทายาทนอร์มัน[167] เขาอธิบายว่าสังคมแอลโกล-แซกซันเติบโตขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือ ประเทศแอฟริกาใต้ และประเทศออสเตรเลียเพราะเป็นผลมาจากมรดกนอร์ดิกของชาวแองโกล-แซกซัน[167] เขาสรุปความประเด็นเหล่านี้ด้วยการกล่าวว่า: "ในทุก ๆ แห่ง แรงสร้างสรรค์ของชาวนอร์ดิกได้สร้างจักวรรดิที่ยิ่งใหญ่ด้วยความคิดจิตใจสูงส่ง และตราบจนวันนี้ภาษาและคุณค่าวัฒนาธรรมของชาวอารยันก็กระจายอยู่ทั่วส่วนใหญ่ของโลก แม้ว่าสายเลือดนอร์ดิกที่สร้างสรรค์นั้นจะได้หายไปจากหลายแห่งนานแล้วก็ตาม"[xvii]
ในนาซีเยอรมนี ความคิดการสร้างเชื้อชาติเจ้านายทำให้เกิดความพยายามทำให้ด็อยท์เชอฟ็อลค์ (ชาวเยอรมัน) บริสุทธิ์ด้วยสุพันธุศาสตร์ (Nazi eugenics) และผลสุดท้ายกลายเป็นการบังคับทำหมัน (compulsory sterilisation) หรือการุณยฆาตโดยขัดกับความประสงค์ (involuntary euthanasia) ของผู้พิการทางร่างกายหรือสติปัญญา ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โครงการการุณยฆาตดังกล่าวถูกเรียกว่าอัคซีโยน เทเฟียร์[174] ข้อแก้ตัวทางอุดมการณ์สำหรับการุณยฆาตมาจากมุมมองที่ฮิตเลอร์มีต่อสปาร์ตา (ระหว่างศตวรรษที่ 11 ถึงปี 195 ก่อนคริสตกาล) ว่าเป็นรัฐเฟิลคิชต้นฉบับ เขาชื่นชมที่สปาร์ตาทำลายทารกกำเนิดผิดรูปอย่างไร้อารมณ์ความรู้สึกเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติ[175][176] ในองค์กรนาซีเช่นยุวชนฮิตเลอร์และแวร์มัคท์มีคนที่ไม่ใช่ชาวอารยันสมัครเข้าร่วมอยู่บางคน ประกอบด้วยชาวเยอรมันเชื้อสายแอฟริกา[177] และเชื้อสายยิว[178] พวกนาซีเริ่มนำนโยบาย "อนามัยทางเชื้อชาติ" มาปฏิบัติใช้ทันทีที่ได้อำนาจมา "กฎหมายป้องกันบุตรหลานเป็นโรคทางพันธุกรรม" (Law for the Prevention of Hereditarily Diseased Offspring) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1933 กำหนดให้บังคับทำหมันผู้คนที่มีอาการต่าง ๆ ซึ่งถูกมองว่าเป็นตามกรรมพันธุ์ เช่นโรคจิตเภท โรคลมชัก โรคฮันติงตัน และ "ปัญญาอ่อน" นอกจากนี้ยังบังคับทำหมันผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังและมีความเบี่ยงเบนทางสังคม (deviance (sociology)) ด้วย[179] ผู้คนประมาณ 360,000 คนถูกทำหมันจากกฎหมายนี้ระหว่าง ค.ศ. 1933 ถึง 1939 แม้ว่านาซีบางคนเสนอให้ขยายโครงการครอบคลุมถึงผู้พิการทางร่างกายด้วย แต่ความคิดนั้นต้องแสดงออกมาอย่างระมัดระวัง ด้วยข้อเท็จจริงว่านาซีบางคนมีความพิการทางร่างกาย ตัวอย่างหนึ่งเป็นหนึ่งในผู้ทรงอำนาจมากที่สุดของระบอบ นั่นคือโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ ซึ่งมีขาขวาผิดรูป (clubfoot)[180][181]
นักทฤษฎีเชื้อชาตินาซีฮันส์ เอฟ. เค. กึนเทอร์ (Hans F. K. Günther) อ้างว่าชาวยุโรปสามารถแบ่งออกได้เป็นห้าเชื้อชาติ กล่าวคือเชื้อชาตินอร์ดิก เมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean race) ดินาริก (dinaric race) แอลป์ (alpine race) และบอลติกตะวันออก (east baltic race)[11] กึนเทอร์ใช้มโนทัศน์แบบลัทธินอร์ดิกเพื่อให้เหตุผลกับความเชื่อของเขาว่าชาวนอร์ดิกอยู่สูงที่สุดบนลำดับชั้นของเชื้อชาติ[11] ในหนังสือของเขา Rassenkunde des deutschen Volkes (ค.ศ. 1922 "ศาสตร์เชื้อชาติของชาวเยอรมัน") กึนเทอร์ให้ชาวเยอรมันประกอบด้วยทั้งห้าเชื้อชาติ แต่เน้นว่าพวกเขามีมรดกจากนอร์ดิกที่เข้มข้ม[182] ฮิตเลอร์ได้อ่าน Rassenkunde des deutschen Volkes ซึ่งส่งอิทธิพลต่อนโยบายด้านเชื้อชาติของเขา[183] กึนเทอร์เชื้อว่าชาวสลาฟอยู่ใน "เชื้อชาติตะวันออก" และเตือนชาวเยอรมันว่าอย่าผสมกับพวกเขา[184] พวกนาซีบรรยายถึงชาวยิวว่าเป็นกลุ่มชนเชื้อชาติผสมระหว่างเชื้อชาติตะวันออกใกล้ (Armenoid race) และบูรพา (Arabid race) เป็นหลัก[185] เพราะเชื้อชาติดังกล่าวเหล่านั้นถูกถือว่ามีศูนย์กลางอยู่นอกทวีปยุโรป พวกนาซีจึงอ้างว่าชาวยิวเป็น "เชื้อชาติต่างด้าว" จากชาวยุโรปทั้งมวลและไม่มีรากเหง้าทางเชื้อชาติที่ลึกซึ้งในทวีปยุโรป[185]
กึนเทอร์เน้นยำว่าชาวยิวมีมรดกทางเชื้อชาติแบบตะวันออกใกล้[186] เขาชี้ว่ามีชาวยิวอยู่สองกลุ่มหลัก ๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนศาสนาครั้งใหญ่ของชาวคาซาร์ (Khazars) มาเป็นศาสนายูดาห์ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 กลุ่มที่มีมรดกทางเชื้อชาติแบบตะวันออกใกล้เป็นหลักกลายเป็นชาวยิวอัชเกนัซ (ซึ่งเขาเรียกว่าชาวยิวตะวันออก) ในขณะที่กลุ่มที่มีมรดกทางเชื้อชาติแบบบูรพาเป็นหลักกลายเป็นชาวยิวเซฟาร์ดี (ซึ่งเขาเรียกว่าชาวยิวใต้)[187] กึนเทอร์อ้างว่ากลุ่มตะวันออกใกล้ประกอบด้วยผู้ค้าที่มีชั้นเชิงและจิตวิญญาณค้าขาย ว่ากลุ่มนั้นมีทักษะการชักจูงทางจิตวิทยาที่เข้มแข็งซึ่งช่วยพวกเขาในการค้าขาย[186] เขาอ้างว่าเชื้อชาติตะวันออกใกล้นั้น "ไม่ได้ผสมพันธุ์มาเพื่อการพิชิตและการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเท่าใดนัก เพราะตลอดมานั้นคือเพื่อการพิชิตและการใช้ประโยชน์จากผู้คน"[xviii] กึนเทอร์เชื่อว่าชาวยุโรปมีความรังเกียจผู้คนที่มีต้นกำเนิดจากเชื้อชาติตะวันออกใกล้และคุณลักษณะของพวกเขาโดยมีเชื้อชาติเป็นแรงจูงใจ และเขาแสดงหลักฐานสนับสนุนสิ่งนี้ด้วยการแสดงตัวอย่างของภาพวาดแสดงรูปของซาตานหลายชิ้นในศิลปะยุโรปที่มีลักษณะหน้าตาแบบตะวันออกใกล้[188]
มโนทัศน์ว่าด้วยแฮร์เรินฟ็อลค์อารยัน ("เชื้อชาติเจ้านายอารยัน") ของฮิตเลอร์ไม่รวมถึงชาวสลาฟส่วนใหญ่จากยุโรปกลางและตะวันออก (Central and Eastern Europe) (อาทิชาวโปแลนด์ (Nazi crimes against the Polish nation) ชาวรัสเซีย ชาวยูเครน ฯลฯ) พวกเขาถูกมองว่าเป็นเชื้อชาติของคนที่ไม่มีแนวโน้มไปทางอารยธรรมขั้นที่สูงกว่าซึ่งตกอยู่ใต้อำนาจของสัญชาตญาณที่คืนสภาพพวกเขากลับสู่ธรรมชาติ พวกนาซีมองว่าชาวสลาฟมีอิทธิพลแบบยิวและเอเซียติก (หมายถึงมองโกล) ที่อันตรายอยู่ด้วย[189] เพราะเช่นนี้เอง พวกนาซีประกาศให้ชาวสลาฟเป็นอุนเทอร์เม็นเชิน ("ต่ำกว่ามนุษย์")[153] นักมานุษยวิทยานาซีพยายามพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ถึงส่วนผสมทางประวัติศาสตร์ของชาวสลาฟซึ่งอาศัยอยู่ไกลออกไปทางทิศตะวันออก และนักทฤษฎีเชื้อชาตินาซีชั้นนำฮันส์ กึนเทอร์ ถือว่าชาวสลาฟเป็นนอร์ดิกเป็นหลักเมื่อหลายศตวรรษที่แล้ว แต่เขาเชื่อว่าพวกเขาได้ผสมกับพวกที่ไม่ใช่นอร์ดิกเมื่อเวลาผ่านไป[190] มีข้อยกเว้นให้กับชาวสลาฟสัดส่วนเล็ก ๆ ที่พวกนาซีมองว่าเป็นทายาทของผู้ตั้งถิ่นฐานเยอรมันและจึงเหมาะสมที่จะถูกเปลี่ยนเป็นเยอรมันและยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของเชื้อชาติเจ้านายอารยัน[191] ฮิตเลอร์บรรยายว่าชาวสลาฟเป็น "มวลชนของข้าทาสแต่กำเนิดซึ่งรู้สึกถึงความต้องการเจ้านาย"[192] นิยามว่าด้วยชาวสลาฟของนาซีที่บอกว่าอยู่ต่ำกว่าได้ทำหน้าที่เป็นข้ออ้างให้ความชอบธรรมแก่ความต้องการสร้างเลเบินส์เราม์ให้กับชาวเยอรมันและกลุ่มชนเจอร์แมนิกอื่น ๆ ในยุโรปตะวันออก ที่ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวเยอรมันและเจอร์แมนิกอื่น ๆ หลายล้านคนจะย้ายเข้าไปอยู่เมื่อสามารถยึดครองพื้นที่เหล่านั้นได้แล้ว ในขณะที่ผู้อยู่อาศัยชาวสลาฟดั้งเดิมก็จะถูกกวาดล้าง ลบทิ้ง หรือตกเป็นทาส[193] นโยบายของนาซีเยอรมนีที่มีต่อชาวสลาฟได้เปลี่ยนไปเพื่อตอบสนองต่อความขาดแคลนกำลังทหาร และถูกบังคับให้ต้องอนุญาตชาวสลาฟเข้าทำงานในกองกำลังติดอาวุธภายในพื้นที่ที่กำลังยึดครองอยู่ได้ แม้ว่าพวกเขาจะถูกมองว่าเป็นพวก "ต่ำกว่ามนุษย์" ก็ตาม[194]
ฮิตเลอร์ประกาศว่าความขัดแย้งทางเชื้อชาติต่อชาวยิวเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยให้เยอรมนีรอดพ้นจากความทุกข์ทรมานของการอยู่ใต้พวกเขา และปัดทิ้งความกังวลว่าความขัดแย้งดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ไร้มนุษยธรรมและอยุติธรรมไว้ว่า:
เราอาจไร้มนุษยธรรม แต่หากเราช่วยเหลือเยอรมนีได้เราก็ได้กระทำการอันยิ่งใหญ่สูงสุดในโลกนี้สำเร็จแล้ว เราอาจทำการอยุติธรรม แต่หากเราช่วยเหลือเยอรมนีได้เราก็ได้ลบล้างอยุติธรรมสูงสุดในโลกนี้แล้ว เราอาจผิดศีลธรรม แต่หากช่วยเหลือประชาชนของเราให้รอดได้เราก็ได้เปิดหนทางสู่ศีลธรรมแล้ว[xix]
นักโฆษณาชวนเชื่อนาซีโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ มักใช้วาทกรรมต่อต้านยิวเพื่อขีดเส้นใต้มุมมองนี้อยู่บ่อย ๆ: "พวกยิวเป็นศัตรูและเป็นผู้ทำลายสายเลือดอันบริสุทธิ์ ผู้ทำลายเชื้อชาติของเราโดยเจตนา"[xx]
การเมืองชาติสังคมนิยมมีหลักการการจัดตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันและการต่อสู้ และพวกนาซีเชื่อว่า "ชีวิตมนุษย์ประกอบขึ้นด้วยการต่อสู้และการแข่งขันอันเป็นนิรันดร์ และความหมายของมันมาจากการต่อสู้และการแข่งขัน"[xxi] พวกนาซีมองการต่อสู้นิรันดร์นี้ผ่านแว่นตาแบบทหาร และสนับสนุนให้มีสังคมซึ่งจัดระเบียบคล้ายกับกองทัพเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น พวกเขาส่งเสริมแนวคิด "ประชาคมของประชาชน" แห่งชาติและเชื้อชาติ (ฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์) เพื่อบรรลุผล "การดำเนินการต่อสู้กับชนและรัฐอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ"[198] ฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์นี้คล้ายกับกองทัพและตั้งใจให้ประกอบขึ้นด้วยลำดับชั้นของยศและชนชั้นของผู้คน บางส่วนสั่งการและส่วนอื่นเชื่อฟัง ทั้งมวลทำงานด้วยกันโดยมีเป้าหมายร่วมกัน[198] มโนทัศน์มีรากเหง้ามาจากงานเขียนยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของนักเขียนเฟิลคิชที่เชิดชูสังคมเยอรมันยุคกลาง โดยมองว่าเป็น "ประชาคมซึ่งหยั่งรากลงในแผ่นดินและมัดรวมกันด้วยขนบธรรมเนียมและประเพณี" ซึ่งไม่มีความขัดแย้งระหว่างชนชั้นหรือปัจเจกนิยมเห็นแก่ตัว[199] มโนทัศน์ว่าด้วยฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์ของนาซีดึงดูดใจคนจำนวนมาก เพราะอย่างที่เคยเป็นครั้งหนึ่ง มันถูกมองว่าเป็นการยืนยันความตั้งใจต่อสังคมชนิดใหม่สำหรับยุคสมัยใหม่ แต่ก็ยังมอบความคุ้มครองจากความตึงเครียดและความไม่มั่นคงของความทันสมัย (modernisation) ซึ่งจะรักษาสมดุลระหว่างความสำเร็จของปัจเจกกับความสามัคคีของกลุ่ม และระหว่างการร่วมมือกันกับการแข่งขัน เมื่อริบผิวหน้าอุดมการณ์ออกไปแล้ว วิสัยทัศน์ของการทำให้ทันสมัยที่ไร้ความขัดแย้งภายในและประชาคมการเมืองที่มอบความมั่นคงและโอกาสให้ของนาซีเป็นวิสัยทัศน์ของอนาคตที่มีศักยภาพอย่างยิ่งเสียจนชาวเยอรมันหลายคนพร้อมมองข้ามเนื้อแท้ที่เหยียดเชื้อชาติและต่อต้านยิวของมันไป[200]
ระบอบนาซีปฏิเสธแนวคิดการต่อสู้ทางชนชั้นของลัทธิมากซ์ และชมเชยทั้งนายทุนและกรรมกรเยอรมันว่าทั้งสองเป็นส่วนสำคัญของฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์ ในฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์ ชนชั้นทางสังคมจะยังดำรงอยู่ แต่จะไม่มีความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างกัน[201] ฮิตเลอร์กล่าวว่า "พวกนายทุนเขาทำงานไต่เต้าขึ้นไปบนยอดด้วยความสามารถของพวกเขา และด้วยพื้นฐานการคัดเลือกนี้ ซึ่งพิสูจน์ว่าพวกเขาเป็นเชื้อชาติที่เหนือกว่าก็เท่านั้น พวกเขาจึงมีสิทธิที่จะนำ"[xxii] ผู้นำธุรกิจเยอรมันร่วมมือกับนาซีในช่วงที่พวกเขากำลังขึ้นสู่อำนาจและได้รับผลประโยชน์มากมายจากรัฐนาซีหลังถูกสถาปนาขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลกำไรที่สูงและการผูกขาดและสร้างคาร์เทลที่รัฐอนุญาต[203] มีการเฉลิมฉลองขนาดใหญ่และการใช้สัญลักษณ์อย่างทั่วถึงเพื่อสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ใช้แรงงานทางกายภาพในนามของเยอรมนี โดยนาซีชั้นนำหลายคนมักสรรเสริญ "เกียรติของแรงงาน" ซึ่งปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นประชาคม (เกอไมน์ชัฟท์) ให้กับชาวเยอรมันและส่งเสริมความสมานฉันท์ในอุดมการณ์นาซี[204] บางครั้งโฆษณาชวนเชื่อนาซีนำเสนอเป้าหมายของนโยบายขยายดินแดนว่าเป็น "การต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชาติ" เพื่อแย่งชิงกรรมกรจากลัทธิมากซ์[202] หมวกแก๊ปหลากสีของเด็กนักเรียนถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในกองไฟเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเอกภาพระหว่างชนชั้นทางสังคมต่าง ๆ[205]
ใน ค.ศ. 1922 ฮิตเลอร์ดูถูกพรรคการเมืองชาตินิยมและเชื้อชาตินิยมอื่น ๆ ว่าลอยตัวอยู่เหนือมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นเด็กในชนชั้นแรงงานและชนชั้นล่าง ว่า:
พวกเชื้อชาตินิยมไม่มีความสามารถดึงเอาข้อสรุปเชิงปฏิบัติมาจากการตัดสินทางทฤษฎีที่ถูกต้องได้ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาชาวยิว ในการนี้ขบวนการเชื้อชาตินิยมเยอรมันพัฒนาแบบแผนที่คล้ายกับอย่างในทศวรรษ 1880 และ 1890 ในสมัยนั้นตำแหน่งผู้นำของมันค่อย ๆ ตกกลายเป็นของพวกที่มีเกียรติยศสูงส่ง แต่เป็นผู้มีการศึกษา ศาสตราจารย์ สมาชิกสภาเขต ผู้อำนวยการโรงเรียน และนักกฎหมายที่ไร้เดียงสาจนน่าอัศจรรย์ กล่าวสั้น ๆ คือพวกชนชั้นกระฎุมพี จิตนิยม และสุภาพบุรุษ มันขาดลมหายใจอันอบอุ่นของพลังอันเยาว์วัยของชาติ[xxiii]
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ฐานคะแนนเสียงของพรรคนาซีกลับเป็นเกษตรกรและชนชั้นกลางเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงกลุ่มข้ารัฐการรัฐบาลไวมาร์ ครูบาอาจารย์ แพทย์ เสมียน นักธุรกิจส่วนตัว พนักงานขาย ข้ารัฐการเกษียณ วิศวกร และนักเรียน[207] ความต้องการของพวกเขาประกอบด้วยการลดภาษี การขึ้นราคาอาหาร การจำกัดควบคุมห้างสรรพสินค้าและสหกรณ์ผู้บริโภค และการลดบริการทางสังคมและค่าจ้าง[208] ความจำเป็นที่จะต้องรักษาคนกลุ่มเหล่านี้ไว้ทำให้พวกนาซีดึงดูดชนชั้นแรงงานได้อย่างยากลำบาก เพราะชนชั้นแรงงานมักมีความต้องการไปในทางตรงกันข้าม[208]
จาก ค.ศ. 1928 เป็นต้นมา พรรคนาซีขยายกลายเป็นขบวนการการเมืองระดับชาติขนาดใหญ่โดยพึ่งพาการสนับสนุนของชนชั้นกลาง และภาพลักษณ์ที่มีต่อสาธารณะซึ่ง "สัญญาว่าจะอยู่ข้างชนชั้นกลาง และเผชิญหน้ากับอำนาจทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของชนชั้นแรงงาน"[209] ความล้มละลายทางการเงินของชนชั้นกลางคอปกขาว (White-collar worker) ในคริสต์ทศวรรษ 1920 เป็นโดยส่วนมากว่าทำไมพวกเขาจึงสนับสนุนระบอบนาซีอย่างเข้มแข็ง[210] ถึงแม้ว่าพวกนาซีพยายามดึงดูดใจ "กรรมกรเยอรมัน" ต่อ แต่นักประวัติศาสตร์ทิโมธี เมสัน (Timothy Mason) สรุปว่า "ฮิตเลอร์ไม่มีอะไรให้กับชนชั้นแรงงานนอกจากคำขวัญ"[211]
นักประวัติศาสตร์โคนัน ฟิชเชอร์ (Conan Fischer) และเด็ทเล็ฟ มืห์ลแบร์เกอร์ (Detlef Mühlberger) อ้างว่า แม้ว่าพวกนาซีมีฐานรากเป็นชนชั้นกลางค่อนล่างเป็นหลัก แต่สามารถดึงดูดใจคนจากทุกชนชั้นในสังคมได้ และแม้ว่ากรรมกรโดยทั่วไปมีแสดงตนอยู่น้อย แต่ก็ยังเป็นฐานเสียงสนับสนุนที่มีน้ำหนักสำหรับนาซี[212][213] เอช. แอล. อันส์บัคเคอร์ กล่าวอ้างว่าทหารที่มาจากชนชั้นแรงงานเป็นส่วนที่มีความศรัทธาในตัวฮิตเลอร์มากกว่ากลุ่มวิชาชีพใด ๆ ในประเทศเยอรมนี[214]
พวกนาซียังได้สร้างค่านิยมว่ากรรมกรคนงานทุก ๆ คนควรที่จะมีทักษะอยู่บ้าง นี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่วาทกรรม จำนวนผู้ชายที่ลาออกจากการเรียนเพื่อหางานทำเป็นผู้ใช้แรงงานไม่มีฝีมือลดลงจาก ค.ศ. 1934 ที่ 200,000 คนกลายเป็น 30,000 คนใน ค.ศ. 1934 สำหรับครอบครัวชนชั้นแรงงานหลายครัวเรือน คริสต์ทศวรรษ 1930 และ 1940 เป็นสมัยของการขยับสถานะทางสังคม แต่ไม่ใช่ในความหมายที่เป็นการขยับเข้าสู่ชนชั้นกลาง แต่เป็นการขยับภายในลำดับชั้นทักษะแรงงานคอปกน้ำเงิน[215] โดยรวมแล้วประสบการณ์ของคนทำงานในระบอบนาซีมีความแตกต่างกันอย่างมาก ค่าจ้างของคนทำงานไม่ได้เพิ่มขึ้นมากในระบอบนาซี เนื่องมาจากการจำกัดการขึ้นค่าจ้างของรัฐบาลที่กลัวเงินเฟ้อจากค่าจ้างและราคา ราคาอาหารและเครื่องนุ่งห่มสูงขึ้น แต่ราคาสำหรับทำความร้อน ค่าเช่า และแสงไฟลดลง มีการขาดแคลนคนงานฝีมือตั้งแต่ ค.ศ. 1936 เป็นต้นไป หมายความว่าคนทำงานที่จบอาชีวศึกษามีโอกาสได้รับค่าจ้างที่สูงพอสมควร สิทธิประโยชน์ที่ได้จากแนวร่วมแรงงานเยอรมันถูกมองในแง่บวกโดยทั่วไป แม้ว่าคนงานจะไม่เชื่อในโฆษณาเรื่องฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์เสมอไป คนทำงานน้อมรับโอกาสการจ้างงานหลังจากหลายปีที่ลำบากในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ซึ่งสร้างความเชื่อร่วมกันว่านาซีได้แก้ปัญหาความไม่มั่นคงของการว่างงานได้แล้ว คนทำงานที่ยังคงไม่พอใจเสี่ยงถูกจับได้จากสายของเกสตาโพ ในตอนสุดท้ายนาซีต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งระหว่างโครงการสะสมกำลังรบซึ่งจำเป็นต้องใช้ความเสียสละทางวัตถุสภาพจากคนงาน (เวลาทำงานที่ยาวขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ต่ำลง) กับความจำเป็นที่จะต้องรักษาความไว้วางใจจากชนชั้นแรงงานที่มีต่อระบอบ ฮิตเลอร์มีความเห็นใจต่อมุมมองที่เน้นย้ำให้ใช้มาตรการเพิ่มเติมสำหรับการสะสมกำลังรบ แต่เขาไม่ได้นำมาตรการเหล่านั้นมาใช้โดยสมบูรณ์เท่าที่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความแปลกแยกต่อชนชั้นแรงงาน[216]
แม้ว่านาซีจะมีแรงสนับสนุนที่มีน้ำหนักจากชนชั้นกลาง แต่พวกเขามักโจมตีคุณค่าของชนชั้นกลางแบบประเพณีดั้งเดิม และฮิตเลอร์รังเกียจพวกเขาเป็นการส่วนตัว นี่เป็นเพราะภาพจำดั้งเดิมของชนชั้นกลางนั้นเป็นภาพของกลุ่มคนที่หมกมุ่นกับสถานะของตน ความสำเร็จทางวัตถุ และการดำเนินชีวิตที่สุขสบาย ซึ่งตรงกันข้ามกับบุรุษแบบใหม่ในอุดมคติของนาซี วิสัยทัศน์ของบุรุษแบบใหม่ของนาซีเป็นวีรบุรุษซึ่งปฏิเสธชีวิตส่วนตัวและวัตถุนิยมและหันมาหาชีวิตสาธารณะและสำนึกในหน้าที่ที่หยั่งลึก ซึ่งพร้อมสละทุกสิ่งเพื่อชาติ แต่พวกนาซียังคงสามารถรักษาคะแนนเสียงของชนชั้นกลางหลายล้านเสียงได้ถึงแม้ว่าจะรังเกียจคุณค่าของพวกเขาก็ตาม เฮอร์แมนน์ เบค (Hermann Beck) อ้างว่าถึงชนชั้นกลางบางคนปัดว่าเหล่านี้เป็นแค่วาทกรรม คนอื่น ๆ หลายคนเห็นด้วยกับพวกนาซีในหลายแง่ ความพ่ายแพ้ใน ค.ศ. 1918 และความล้มเหลวของยุคไวมาร์ได้ทำให้ชาวเยอรมันชนชั้นกลางหลายคนตั้งข้อสงสัยกับอัตลักษณ์ของตน โดยคิดว่าคุณค่าจารีตประเพณีดั้งเดิมของพวกเขาเป็นสิ่งหลงยุคและเห็นด้วยกับนาซีว่าคุณค่าเหล่านี้ใช้ไม่ได้อีกต่อไป แม้ว่าวาทกรรมนี้เริ่มน้อยลงหลัง ค.ศ. 1933 จากการเน้นในแนวคิดฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์ มากขึ้น และวาทกรรมและแนวคิดของมันจะยังไม่หายไปจริง ๆ จนกระทั่งระบอบถูกโค่นล้ม พวกนาซีเน้นว่าชนชั้นกลางจะต้องกลายเป็นชตาทสเบือเกอร์ (staatsbürger) พลเมืองซึ่งตื่นรู้และมีส่วนร่วมในสาธารณะ แทนที่จะเป็นชปีสเบือเกอร์ (spießbürger) ที่เห็นแก่ตัวและวัตถุนิยมซึ่งสนใจแต่ชีวิตส่วนตัว[217][218]
ระบอบนาซีสนับสนุนให้กีดกันผู้หญิงออกจากการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และจำกัดให้พวกเขาอยู่ในขอบเขตของ "คินเดอร์, คึชเชอ, เคียร์ชเชอ" (Kinder, Küche, Kirche "เด็ก ครัว โบสถ์") เท่านั้น[219] ผู้หญิงหลายคนสนับสนุนระบอบอย่างกระตือรือร้น แต่ก็สร้างลำดับชั้นภายในกลุ่มของพวกเขาเอง[220] ฮิตเลอร์มีความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับประเด็นเรื่องผู้หญิงในนาซีเยอรมนีว่า ประวัติศาสตร์เยอรมันยุคอื่น ๆ ประสบกับพัฒนาการและการปลดปล่อยความคิดของผู้หญิง แต่เป้าหมายของชาติสังคมนิยมมีเพียงหนึ่งเดียวคือให้พวกเขาผลิตเด็กออกมา[221] ฮิตเลอร์ครั้งหนึ่งกล่าวถึงผู้หญิงโดยอิงฐานความคิดนี้ว่า "เด็กทุกคนที่เธอนำออกมาสู่โลก คือการต่อสู้เพื่อชาติของเธอ ผู้ชายลุกขึ้นยืนเพื่อ ฟ็อล์ค เหมือนกับที่ผู้หญิงลุกขึ้นยืนเพื่อครอบครัว"[222] โครงการมูลเดิมก่อนการสนับสนุนการเกิด (natalism) ในนาซีเยอรมนีมีการให้เงินกู้และเงินทุนแก่คู่สมรสใหม่ และส่งเสริมให้พวกเขาให้กำเนิดบุตรออกมาด้วยการเพิ่มแรงจูงใจต่าง ๆ[223] ผู้หญิงที่ "มีคุณค่า" ทางเชื้อชาติในนาซีเยอรมนีถูกโน้มน้าวให้ไม่ใช้การคุมกำเนิดและมีการห้ามทำแท้งด้วยกฎหมายที่เคร่งครัด โดยระบุโทษจำคุกให้ผู้หญิงที่แสวงหาบริการและโทษจำคุกให้แพทย์ที่ให้บริการพวกเขา แต่กับผู้ที่มีเชื้อชาติ "อันไม่พึงประสงค์" กลับส่งเสริมให้เข้ารับการทำแท้ง[224][225]
ฮิตเลอร์มักใช้ข้ออ้างว่าชีวิตยุ่งซึ่งทำให้ขาดโอกาสในการสมรสใด ๆ และจนกระทั่งสิ้นระบอบแล้วเขาก็ยังคงไม่ได้แต่งงาน[226] สำหรับผู้สนับสนุนอุดมการณ์นาซี การสมรสไม่ได้มีคุณค่าเพราะเหตุผลทางศีลธรรม แต่เพราะมันเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับการผสมพันธุ์ มีการกล่าวว่า ไรชส์ฟือเรอร์-เอ็สเอ็ส ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ เคยบอกกับคนสนิทคนหนึ่งว่าในตอนที่เขาจัดตั้งโครงการเลเบินส์บอร์นขึ้นมา ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อการเพิ่มอัตราการเกิดของเด็ก "อารยัน" ให้มากขึ้นอย่างล้นหลามด้วยความสัมพันธ์นอกสมรสระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายซึ่งทั้งสองถูกจัดประเภทว่ามีเชื้อชาติบริสุทธิ์ เขาพิจารณาเฉพาะ "ผู้ช่วยการตั้งครรภ์" เพศชายที่บริสุทธิ์ที่สุดเท่านั้น[227]
ตั้งแต่ที่นาซีได้ขยายกฎหมายรัสเซินชันเดอ ("ความเสื่อมเสียทางเชื้อชาติ") ให้ครอบคลุมชาวต่างชาติทั้งหมดเมื่อสงครามเริ่มต้นขึ้น[170] ก็มีจุลสารที่เผยแพร่ออกมาให้แก่ผู้หญิงชาวเยอรมันที่สั่งให้พวกเขาหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับกรรมกรต่างชาติซึ่งถูกนำเข้ามาในประเทศเยอรมนี จุลสารเหล่านั้นยังได้สั่งให้ผู้หญิงชาวเยอรมันมองกรรมกรต่างชาติเหล่านี้เป็นภยันตรายต่อสายเลือดของพวกเขาอีกด้วย[228] แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะใช้ได้กับทั้งสองเพศสภาพ แต่ผู้หญิงชาวเยอรมันถูกลงโทษด้วยความรุนแรงมากกว่าสำหรับการมีเพศสัมพันธ์กับแรงงานเกณฑ์ต่างชาติในเยอรมนี[229] พวกนาซีออกรัฐกฤษฎีกาโปแลนด์ (Polish decrees) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1940 ซึ่งประกอบด้วยข้อกำหนดว่าด้วยแรงงานเกณฑ์ชาวโปแลนด์ (ซีวีลอาร์ไบเทอร์ (Zivilarbeiter)) ที่ถูกนำเข้ามาในประเทศเยอรมนีระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หนึ่งในนั้นกล่าวว่าชาวโปแลนด์คนใด "ผู้มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายหรือผู้หญิงชาวเยอรมัน หรือเข้าหาพวกเขาด้วยกิริยาอันไม่สมควรอย่างอื่นอย่างใดก็ตาม จะได้รับโทษประหารชีวิต"[230] หลังจากกฎหมายฉบับนี้ออกมา ฮิมเลอร์กล่าวว่า:
พี่น้องเยอรมันคนใดที่มีเพศสัมพันธ์กับกรรมกรพลเมืองสัญชาติโปแลนด์ไม่ว่าชายหรือหญิง กระทำการอันผิดศีลธรรมอื่น ๆ หรือมีความสัมพันธ์รักใคร่ ก็จะถูกจับทันที[231]
ในภายหลังพวกนาซีได้ออกข้อกำหนดที่คล้ายกันสำหรับกรรมกรจากแถบตะวันออก (อ็อสท์อาร์ไบเทอร์ (Ostarbeiter)) ซึ่งประกอบด้วยโทษประหารชีวิตหากพวกเขามีเพศสัมพันธ์กับชาวเยอรมัน[232] เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 ไฮดริชได้ออกรัฐบัญญัติซึ่งประกาศว่าการร่วมเพศระหว่างผู้หญิงชาวเยอรมันกับกรรมกรหรือเชลยศึกชาวรัสเซียจะนำไปสู่การลงโทษประหารชีวิตฝ่ายชายชาวรัสเซีย[233] เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1942 ฮิมเลอร์ได้ออกรัฐบัญญัติซึ่งกล่าวว่า "การร่วมเพศที่ไม่ได้รับอนุญาต" จะนำไปสู่โทษประหารชีวิต[234] แต่เพราะกฎหมายเพื่อคุ้มครองสายเลือดเยอรมันและเกียรติภูมิเยอรมันไม่อนุญาตให้ใช้โทษประหารชีวิตกับความเสื่อมเสียทางเชื้อชาติ จึงมีการจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาเพื่อให้สามารถตัดสินประหารชีวิตในบางกรณีได้[235] ผู้หญิงชาวเยอรมันซึ่งถูกกล่าวหาว่าสร้างความเสื่อมเสียทางเชื้อชาติจะถูกโกนหัวและห้อยป้ายที่ระบุอาชญากรรมของพวกเขาเดินแห่ไปบนท้องถนน[236] และผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดเสื่อมเสียต่อเชื้อชาติจะถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันต่าง ๆ[228] มีรายงานว่าเมื่อฮิมเลอร์ถามฮิตเลอร์ว่าโทษสำหรับเด็กผู้หญิงและผู้หญิงชาวเยอรมันซึ่งถูกตัดสินว่ามีความผิดเสื่อมเสียต่อเชื้อชาติกับเชลยศึกควรเป็นอย่างไร เขาสั่งว่า "เชลยศึกทุกคนซึ่งมีความสัมพันธ์กับเด็กผู้หญิงชาวเยอรมันหรือชาวเยอรมันจะโดนยิง" และผู้หญิงชาวเยอรมันจะถูกทำให้อับอายขายหน้าในที่สาธารณะด้วยการ "โกนผมและส่งตัวไปยังค่ายกักกัน"[237]
มีการกล่าวถึงสันนิบาตสาวเยอรมันโดยเฉพาะ ว่าได้สั่งให้เด็กผู้หญิงชาวเยอรมันหลีกเลี่ยงความเสื่อมเสียทางเชื้อชาติ ซึ่งได้รับความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับกรณีของผู้หญิงวัยเยาว์[238]
ภายหลังเหตุการณ์คืนมีดยาว ฮิตเลอร์ได้เลื่อนยศฮิมเลอร์และส่งเสริมชุทซ์ชตัฟเฟิล ซึ่งต่อมาปราบปรามรักร่วมเพศด้วยความกระตือรือร้น โดยกล่าวว่า: "เราจะต้องถอนรากถอนโคนคนพวกนี้ ... พวกรักร่วมเพศจะต้องโดนกวาดล้าง"[239] ใน ค.ศ. 1936 ฮิมเลอร์ได้ก่อตั้ง "สำนักงานกลางไรช์เพื่อการปราบปรามรักร่วมเพศและการทำแท้ง" (Reichszentrale zur Bekämpfung der Homosexualität und Abtreibung) ขึ้นมา[240] ระบอบนาซีคุมขังคนรักร่วมเพศกว่า 100,000 คนในคริสต์ทศวรรษ 1930[241] นักโทษชายรักร่วมเพศในค่ายกักกันถูกบังคับให้ติดเครื่องหมายสามเหลี่ยมชมพู[242][243][ต้องการเลขหน้า] อุดมการณ์นาซีมองว่าผู้ชายชาวเยอรมันซึ่งเป็นเกย์ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเชื้อชาติเจ้านายอารยัน แต่ระบอบนาซีพยายามบังคับให้พวกเขาเปลี่ยนคล้อยตามแบบแผนทางเพศและสังคม คนรักร่วมเพศถูกมองว่าล้มเหลวในการทำหน้าที่ร่วมเพศและขยายพ้นธุ์ให้แก่ชาติอารยัน เกย์เพศชายที่ไม่ยอมเปลี่ยนหรือเสแสร้งว่าเปลี่ยนรสนิยมทางเพศของตนถูกส่งไปยังค่ายกักกันภายใต้โครงการ "การกำจัดผ่านการใช้แรงงาน"[244]
แนวนโยบายพรรคนาซีใน ค.ศ. 1920 รับประกันเสรีภาพให้กับทุกศาสนานิกายที่ไม่เป็นศัตรูต่อรัฐ และสนับสนุนศาสนาคริสต์เชิงบวกเพื่อต่อสู้ต้าน "จิตวิญญาณวัตถุนิยมยิว"[245] ศาสนาคริสต์เชิงบวกเป็นคริสต์ศาสนาฉบับดัดแปลงซึ่งให้ความสำคัญกับความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติ (Racial hygiene) และชาตินิยม[246] นักเทววิทยาอย่างแอ็นสท์ แบร์คมันน์ (Ernst Bergmann (philosopher)) ให้ความช่วยเหลือพวกนาซี ในงานของเขา Die 25 Thesen der Deutschreligion ("25 ข้อแห่งศาสนาเยอรมัน") แบร์คมันน์มีมุมมองว่าคัมภีร์ไบเบิลพันธสัญญาเดิมมีความไม่สอดคล้องกันกับบางส่วนในพันธสัญญาใหม่ อ้างว่าพระเยซูไม่ใช่ชาวยิวแต่เป็นชาวอารยัน และอ้างว่าอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นพระผู้ช่วยให้รอดองค์ใหม่[246]
ฮิตเลอร์ประณามว่าพันธสัญญาเดิมเป็น "ไบเบิลของซาตาน" และพยายามใช้บางชิ้นบางตอนในพันธสัญญาใหม่เพื่อพิสูจน์ว่าพระเยซูเป็นทั้งชาวอารยันและเป็นพวกต่อต้านยิวโดยอ้างอิงข้อพระคำภีร์ยอห์นบทที่ 8 ข้อที่ 44[xxiv] ว่าพระเยซูตะโกนใส่ "พวกยิว" แล้วกล่าวต่อพวกเขาว่า "พ่อของท่านคือมาร" กับเหตุการณ์การชำระพระวิหาร (Cleansing of the Temple) ที่บรรยายว่าพระเยซูใช้แส้ขับไล่ "ลูกของมาร"[247] ฮิตเลอร์อ้างว่าพันธสัญญาใหม่ถูกเปาโลอัครทูตบิดเบือน ฮิตเลอร์บรรยายว่าเขาเป็น "ฆาตกรหมู่ที่กลายเป็นนักบุญ"[247] พวกนาซีใช้งานเขียนของนักปฏิรูปโปรเตสแตนต์มาร์ติน ลูเทอร์ ในโฆษณาชวนเชื่อ และจัดแสดงต้นฉบับงานเขียนของลูเทอร์ Von den Jüden und iren Lügen ("ว่าด้วยยิวและคำโกหกของพวกเขา") ออกสู่สาธารณะในการเดินขบวนประจำปีที่เนือร์นแบร์ค[248][249] พวกนาซีรับรององค์กรคริสเตียนเยอรมันที่สนับสนุนนาซี
ในตอนแรกนาซีเป็นศัตรูกับคาทอลิกเพราะคาทอลิกส่วนใหญ่สนับสนุนพรรคกลางเยอรมัน ผู้นับถือนิกายคาทอลิกต่อต้านมาตรการบังคับทำหมันผู้ที่ถูกมองว่าต่ำกว่าที่นาซีสนับสนุน และพระศาสนจักรคาทอลิกห้ามไม่ให้สมาชิกลงคะแนนเลือกพรรคนาซี นาซีใช้ความรุนแรงต่อคาทอลิกใน ค.ศ. 1933 อันเนื่องจากการสมาคมกับพรรคกลางและการต่อต้านกฎหมายการทำหมันของระบอบนาซีของชาวคาทอลิก[250] พวกนาซีเรียกร้องให้ชาวคาทอลิกประกาศความภักดีต่อรัฐเยอรมัน[251] พวกนาซีใช้องค์ประกอบต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์คาทอลิกของประเทศเยอรมนีในโฆษณาชวนเชื่อ โดยเฉพาะคณะอัศวินท็อยโทคาทอลิกเยอรมันและศึกสู้รบของพวกเขาในยุโรปตะวันออก พวกนาซีชี้ว่าคนกลุ่มนี้เป็น "องครักษ์" ในตะวันออกที่ต่อต้าน "ความวุ่นวายสลาฟ" แต่นอกจากเรื่องเชิงสัญลักษณ์แล้วคณะอัศวินท็อยโทมีอิทธิพลต่อระบอบนาซีที่จำกัด[252] ฮิตเลอร์ยอมรับว่าการเดินขบวนยามค่ำคืนของนาซีได้รับแรงบันดาลใจมาจากพิธีกรรมคาทอลิกที่เขาพบเจอมาแต่วัยเด็ก[253] พวกนาซีพยายามคืนดีกับพระศาสนจักรคาทอลิกอย่างเป็นทางการ และเห็นด้วยกับการจัดตั้งองค์กรคาทอลิกที่สนับสนุนนาซี คร็อยทซ์อุนท์อาเดลอ (Kreuz und Adler "ไม้กางเขนและเหยี่ยว") ซึ่งสนับสนุนฉบับหนึ่งของนิกายคาทอลิกชาตินิยม (national Catholicism) ซึ่งจะเป็นการปรองดองกันระหว่างความเชื่อของศาสนจักรกับของระบอบนาซี[251] ในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1933 นาซีเยอรมนีและพระศาสนจักรคาทอลิกลงนามร่วมกันในสัญญาไรช์สค็องคอร์ดัท) (Reichskonkordat) ซึ่งเป็นเงื่อนไขให้คาทอลิกชาวเยอรมันภักดีต่อรัฐเยอรมันเพื่อแลกกับการยอมรับพระศาสนจักรคาทอลิกในเยอรมนี แล้วทางศาสนจักรจึงได้ยกเลิกข้อห้ามให้สมาชิกสามารถสนับสนุนพรรคนาซีได้[251]
เกสตาโพและชุทซ์ชตัฟเฟิลเริ่มให้ความสนใจกับบาทหลวงและแม่ชีมากขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองและกระแสคลั่งไคล้นาซี มีการจัดตั้งเขตแยกสำหรับนักบวชในค่ายกักกัน และการต่อต้านจากศาสนาจักรใด ๆ จะถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด ภคินีมารีอา เรสตีตูตา คัฟคา (Maria Restituta Kafka) ถูกศาลประชาชนตัดสินประหารชีวิตเหตุเพียงจากเพลงวิพากษ์ระบอบซึ่งไร้พิษภัย[254] นักบวชชาวโปแลนด์เข้าค่ายกักกันเอาช์วิทซ์เป็นจำนวนมาก กลุ่มคาทอลิกต่อต้านอย่างเช่นคนรอบข้างโรมัน คาร์ล ช็อลทซ์ (Roman Karl Scholz) ถูกประหัตประหารอย่างไม่ประนีประนอม[255][256] ในขณะที่กลุ่มคาทอลิกต่อต้านมักต่อต้านสงครามและไม่ต่อสู้ แต่ก็มีตัวอย่างของพวกที่ต่อสู้กับชาติสังคมนิยมอย่างแข็งขัน เช่นกลุ่มคนรอบข้างบาทหลวงไฮน์ริช ไมเออร์ (Heinrich Maier) ที่เข้าหาหน่วยงานลับสหรัฐและประกอบภาพร่างแผนและทำเลที่ตั้งของจรวดวี-2, รถถังทีเกอร์ (1/2), เม็สเซอร์ชมิท เบเอ็ฟ 109 และเม็สเซอร์ชมิท เอ็มเอ 163 โคเมท (Messerschmitt Me 163 Komet) และโรงผลิตของเหล่านี้ให้พวกเขาสามารถทิ้งระเบิดโรงงานได้สำเร็จ[257][258][259][260][261] ประวัติศาสตร์ของพวกเขามักถูกลืมเลือนหลังช่วงสงคราม เพราะพวกเขาปฏิบัติขัดกับคำสั่งด่วนจากเจ้าหน้าที่ศาสนจักรของพวกเขา[262][263][264]
นักประวัติศาสตร์ไมเคิล เบอร์ลีห์ (Michael Burleigh) อ้างว่าระบอบนาซีใช้คริสต์ศาสนาเพื่อประโยชน์ทางการเมือง แต่ในการนั้น "หลักคำสอนพื้นฐานถูกถอนทิ้งไป แต่อารมณ์ร่วมทางศาสนาซึ่งแพร่หลายที่เหลือมียังประโยชน์ของมันอยู่"[265] เบอร์ลีห์กล่าวว่ามโนทัศน์เรื่องจิตวิญญาณของระบอบนาซีเป็น "แบบเพแกนและบุพกาลโดยรู้ตัวเอง"[266] นักประวัติศาสตร์รอเจอร์ กริฟฟิน (Roger Griffin) ปฏิเสธคำกล่าวอ้างว่าระบอบนาซีเป็นแบบเพแกนโดยหลัก โดยชี้ว่าแม้จะมีพวกเพแกนใหม่ที่ทรงอิทธิพลบางคนอยู่ในพรรคนาซี อาทิไฮน์ริช ฮิมเลอร์ และอัลเฟรท โรเซินแบร์ค แต่พวกเขาเป็นส่วนน้อยและมุมมองของพวกเขาไม่ได้ส่งอิทธิพลต่ออุดมการณ์นาซีมากไปกว่าเชิงสัญลักษณ์ และชี้ว่าในไมน์คัมพฟ์ ฮิตเลอร์ประณามลัทธิเพแกนเจอร์แมนิกและกล่าวโทษว่าลัทธิเพแกนของฮิมเลอร์กับโรเซินแบร์คเป็นเรื่อง "ไร้สาระ"[267]
นาซีเถลิงอำนาจท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เมื่ออัตราการว่างงานเข้าใกล้ร้อยละ 30[268] กล่าวโดยทั่วไป นักทฤษฎีและนักการเมืองนาซีกล่าวโทษว่าความผิดพลาดทางเศรษฐกิจในอดีตของเยอรมนีมีเหตุจากอิทธิพลของลัทธิมากซ์ต่อกำลังแรงงาน แผนการชั่วร้ายและฉวยโอกาสที่พวกเขาเรียกว่าพวกยิวนานาชาติ และความอาฆาตพยาบาทของผู้นำทางการเมืองชาติตะวันตกที่เรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พวกนาซีเสนอการแก้ไขปัญหาด้วยการเมืองแทนแรงจูงใจทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม เช่นการขจัดสหภาพแรงงานจัดตั้งทิ้ง การติดอาวุธครั้งใหม่ (ซึ่งละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซาย) และการเมืองเชิงชีววิทยา[269] มีการจัดตั้งหลายโครงการอาชีพที่ถูกออกแบบมาเพื่อการจ้างงานชาวเยอรมันให้สมบูรณ์เมื่อพวกนาซีได้เข้ายึดอำนาจระดับชาติ ฮิตเลอร์ส่งเสริมโครงการสนับสนุนระดับชาติต่าง ๆ อาทิการก่อสร้างระบบทางด่วนเอาโทบาน การริเริ่มรถยนต์ของประชาชนในราคาที่จับต้องได้ (ฟ็อลคส์วาเกิน) และต่อมาพวกนาซีค้ำจุนเศรษฐกิจด้วยธุรกิจและการจ้างงานอันเป็นผลผลิตจากการติดอาวุธทหารครั้งใหม่[270] พวกนาซีได้รับประโยชน์ในช่วงแรกของการดำรงอยู่ของระบอบจากเศรษฐกิจขาขึ้นครั้งแรกหลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และนี่ประกอบกับโครงการโยธาธิการ (public works) ต่าง ๆ โครงการจัดหางาน และโครงการสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือน จึงได้ลดการว่างงานลงไปมากถึงร้อยละ 40 ภายในหนึ่งปี พัฒนาการเหล่านี้ลดบรรยากาศทางจิตวิทยาอันไม่พึงประสงค์จากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งก่อน และจูงใจให้ชาวเยอรมันก้าวเดินไปพร้อมกับระบอบ[271] นโยบายทางเศรษฐกิจของนาซีในหลายแง่มุมสืบเนื่องมาจากนโยบายของพรรคประชาชนแห่งชาติเยอรมัน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวอนุรักษ์นิยมชาตินิยม (national conservatism) และเป็นพันธมิตรร่วมรัฐบาลกับพรรคนาซี[272] ในขณะเดียวกันที่ประเทศทุนนิยมตะวันตกแห่งอื่นตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมตกเป็นกรรมสิทธิ์รัฐ (state ownership) เพิ่มมากขึ้น พวกนาซีกลับถ่ายโอนกรรมสิทธิ์สาธารณะให้กับภาคเอกชน (private sector) และมอบงานบริการสาธารณะบางส่วนให้กับองค์กรเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคนาซี โดยที่เป็นนโยบายโดยเจตนาที่มีจุดประสงค์หลากหลายมากกว่าการขับเคลื่อนทางอุดมการณ์ และเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างแรงสนับสนุนให้กับรัฐบาลและพรรคนาซี[273] นักประวัติศาสตร์ริชาร์ด โอเวอรี (Richard Overy) กล่าวว่าเศรษฐกิจสงครามของนาซีเป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างตลาดเสรีกับการวางแผนจากส่วนกลาง (Economic planning) และบรรยายว่าเป็นระบบเศรษฐกิจที่อยู่กึ่งกลางระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบควบคุมของสหภาพโซเวียต (Economy of the Soviet Union) กับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของสหรัฐ (Economy of the United States)[274]
รัฐบาลนาซีสานต่อนโยบายเศรษฐกิจที่ริเริ่มโดยรัฐบาลของควร์ท ฟ็อน ชไลเชอร์ ใน ค.ศ. 1932 เพื่อจัดการกับผลของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งนั้น[275] เมื่อฮิตเลอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. 1933 เขาได้แต่งตั้งฮยัลมาร์ ชัคท์ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เยอรมัน (German Democratic Party) ขึ้นเป็นประธานธนาคารไรช์ (Reichsbank) ใน ค.ศ. 1933 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจไรช์ใน ค.ศ. 1934[268] ฮิตเลอร์ให้สัญญาว่าจะเพิ่มการจ้างงาน ปกป้องเงินตราเยอรมัน และส่งเสริมการฟื้นตัวหลังจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เหล่านี้ประกอบด้วยโครงการตั้งถิ่นฐานกสิกรรม การรับรัฐการแรงงาน และการประกันการให้บริการสุขภาพและบำนาญ[276] อย่างไรก็ตาม นโยบายและโครงการเหล่านี้ซึ่งได้รับการอุดหนุนจากรายจ่ายขาดดุล (deficit spending) โดยเป็นโครงการโยธาธิการขนาดใหญ่ต่าง ๆ เช่นการก่อสร้างโครงข่ายเอาโทบานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดการว่างงาน[277] ตกทอดและวางแผนดำเนินการมาตั้งแต่สาธารณรัฐไวมาร์ระหว่างวาระของประธานาธิบดีอนุรักษ์นิยมเพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค และถูกพวกนาซีอ้างว่าเป็นของพวกเขาเองหลังจากขึ้นสู่อำนาจแล้ว[278] เป้าหมายของฮิตเลอร์ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือการติดอาวุธและเสริมกำลังให้กับกองทัพเยอรมันเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสงครามเพื่อเข้ายึดครองเลเบินส์เราม์ทางทิศตะวันออกที่จะเกิดขึ้น[279] นโยบายของชัคท์ได้วางแผนไว้สำหรับการคลังแบบขาดดุล โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินไว้ใช้จ่ายกับโครงการขนาดใหญ่ชื่อว่าตั๋วเงินเมโฟ (Mefo bills) ซึ่งบริษัทต่าง ๆ สามารถใช้ในการค้าขายระหว่างกันได้[280] ตั๋วเงินเมโฟนี้มีประโยชน์เป็นสำคัญในการทำให้เยอรมนีสามารถติดอาวุธใหม่ได้เพราะมันไม่ใช่ไรชส์มาร์คและจึงไม่ปรากฏอยู่ในงบประมาณสหพันธ์ และช่วยปิดบังการติดอาวุธใหม่[281] ฮิตเลอร์กล่าวในช่วงแรกของการอยู่ในอำนาจว่า "อนาคตของเยอรมนีขึ้นอยู่กับการปฏิสังขรณ์แวร์มัคท์ขึ้นมาใหม่เท่านั้น ภารกิจอื่นทั้งหมดจะต้องยอมถอยให้กับภารกิจของการติดอาวุธใหม่"[xxv] นโยบายนี้ถูกนำมาปฏิบัติใช้ในทันที และงบประมาณรายจ่ายของกองทัพโตขึ้นสูงกว่าของโครงการสร้างงานภาคพลเรือนอย่างรวดเร็ว เพียงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1933 งบประมาณรายจ่ายของกองทัพในปีนั้นสูงกว่ารายจ่ายในมาตรการการสร้างงานภาคพลเรือนทั้งของ ค.ศ. 1932 และ 1933 รวมกันถึงสามเท่า[282] นาซีเยอรมนีเพิ่มรายจ่ายของกองทัพได้เร็วกว่ารัฐใด ๆ ระหว่างช่วงสงบ โดยรายจ่ายของกองทัพเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 10 ของรายได้ประชาชาติภายในสองปีแรกของระบอบเท่านั้น[283] จนกระทั่งสูงขึ้นเหยียบร้อยละ 75 ใน ค.ศ. 1944[284]
แม้ก่อนเถลิงอำนาจนาซีจะใช้วาทกรรมประณามธุรกิจขนาดใหญ่ (big business) แต่พวกเขาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับธุรกิจเยอรมันอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 ในเดือนนั้น หลังจากที่ฮิตเลอร์ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก่อนที่เขาจะได้อำนาจเผด็จการ เขาร้องขอผู้นำภาคธุรกิจเยอรมันเป็นการส่วนตัวให้ช่วยเหลือด้านเงินทุนกับพรรคนาซีในเดือนต่อ ๆ มาที่จะเป็นการขี้ขาด เขาให้เหตุผลว่าพวกเขาควรสนับสนุนให้เขาจัดตั้งเผด็จการให้ได้เพราะ "วิสาหกิจเอกชนจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในยุคสมัยของประชาธิปไตย"[xxvi] และเพราะประชาธิปไตยจะนำทางไปสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามที่เขากล่าวอ้าง[70] เขาสัญญาว่าจะทำลายสหภาพแรงงานและฝ่ายซ้ายเยอรมัน โดยไม่กล่าวถึงนโยบายต่อต้านยิวหรือการพิชิตดินแดนต่างชาติ[285] ในสัปดาห์ถัดจากนั้นมา พรรคนาซีได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ กว่าสิบเจ็ดกลุ่ม โดยที่ขนาดใหญ่ที่สุดมาจากบริษัทเคมีอีเก ฟาร์เบิน (IG Farben) และธนาคารเยอรมัน[285] นักประวัติศาสตร์อดัม ทูซ เขียนว่าผู้นำธุรกิจเยอรมันจึงเป็น "หุ้นส่วนกันโดยเจตนาในการทำลายล้างพหุนิยมทางการเมืองในประเทศเยอรมนี"[xxvii] เจ้าของและผู้จัดการกิจการเยอรมันต่าง ๆ จึงได้รับอำนาจในการควบคุมกำลังแรงงานของตนอย่างไม่เคยมีมาก่อนเป็นการแลกเปลี่ยน การรวมกันเจรจาต่อรอง (collective bargaining) ถูกยกเลิกไป และค่าจ้างถูกแช่แข็งไว้ที่ระดับต่ำพอสมควร[286] กำไรของธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การลงทุนของบริษัทก็เช่นกัน[287] นอกจากนั้น นาซียังได้ถ่ายโอนทรัพย์สินสาธารณะและบริการสาธารณะไปเป็นของเอกชน และเพิ่มการควบคุมเศรษฐกิจโดยรัฐผ่านระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ เท่านั้น[288] ฮิตเลอร์เชื่อว่ากรรมสิทธิส่วนบุคคลมีประโยชน์เพราะว่ามันส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่สร้างสรรค์และนวัตกรรมทางเทคนิค แต่ยืนยันว่ามันจะต้องสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศและควรมี "ผลิตภาพ" แทนที่จะเป็น "ปรสิต"[289] สิทธิทรัพย์สินส่วนบุคคลนั้นมีเงื่อนไขอยู่บนฐานของลำดับความสำคัญทางเศรษฐกิจที่ผู้นำนาซีกำหนด โดยใช้กำไรที่สูงเป็นรางวัลแด่สถานประกอบการที่ทำตามพวกเขา และใช้การโอนเป็นของรัฐเพื่อขู่เข็ญผู้ที่ไม่ทำตาม[290] ในเศรษฐศาสตร์แบบนาซี การแข่งขันโดยเสรีและตลาดที่กำกับดูแลตนเองลดความสำคัญลงไป แต่ความเชื่อในทฤษฎีดาร์วินทางสังคมของฮิตเลอร์ทำให้เขายังคงเก็บการแข่งขันของธุรกิจและทรัพย์สินส่วนบุคคลไว้ในฐานะของเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ[291][292]
พวกนาซีต่อต้านแนวคิดสวัสดิการสังคม (social welfare) โดยหลักการ และยึดแนวคิดแบบทฤษฎีดาร์วินทางสังคมแทนว่าผู้ที่อ่อนแอและอ่อนด้อยควรดับสูญไป[293] พวกเขาประณามระบบสวัสดิการของสาธารณรัฐไวมาร์และการกุศลของเอกชน โดยกล่าวหาว่าเป็นการช่วยเหลือผู้คนที่พวกเขามองว่ามีเชื้อชาติที่อ่อนแอและต่ำต้อยซึ่งควรถูกถอนรากถอนโคนทิ้งผ่านกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ[294] อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการว่างงานและความยากจนอย่างแพร่หลายจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ พวกนาซีจำเป็นต้องจัดตั้งสถาบันการกุศลมาช่วยเหลือชาวเยอรมันที่มีเชื้อชาติบริสุทธิ์เพื่อรักษาฐานเสียงสนับสนุนจากประชาชน และในขณะเดียวกันอ้างว่านี่เป็นการแสดงถึง "การช่วยเหลือตนเองทางเชื้อชาติ" และไม่ใช่การกุศลแบบไม่เลือกหน้าหรือระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า[295] โครงการนาซีอาทิโครงการบรรเทาทุกข์ฤดูหนาวของประชาชนเยอรมัน (Winterhilfswerk) และโครงการสวัสดิการประชาชนชาติสังคมนิยม (National Socialist People's Welfare; NSV) ที่ครอบคลุมกว่าถูกจัดระเบียบในรูปสถาบันกึ่งเอกชน โดยตามหลักการจะพึ่งพาทุนบริจาคเอกชนจากชาวเยอรมันเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นที่มีเชื้อชาติเดียวกัน แต่ในทางปฏิบัติผู้ที่ไม่ยอมบริจาคอาจได้พบกับผลร้ายแรงที่จะตามมา[296] ระบบ NSV ต่างจากสถาบันสวัสดิการสังคมสมัยสาธารณรัฐไวมาร์และองค์กรการกุศลคริสเตียน โดยที่จะให้ความช่วยเหลือบนฐานของเชื้อชาติอย่างชัดเจน ความช่วยเหลือมีไว้สำหรับเฉพาะผู้ที่ "มีความสมบูรณ์ทางเชื้อชาติ สามารถและพร้อมทำงาน เชื่อถือได้ในทางการเมือง กับพร้อมและสามารถสืบพันธุ์" ส่วนผู้ที่ไม่ใช่ชาวอารยันจะถูกยกเว้น รวมถึงผู้ที่ "ขี้เกียจทำงาน" "ไม่เข้าสังคม" และ "เจ็บป่วยทางพันธุกรรม"[297] มีความพยายามนำผู้หญิงชนชั้นกลางเข้าทำงานเพื่อสังคมในการสนับสนุนครอบครัวขนาดใหญ่ซึ่งประสบความสำเร็จ[205] และโครงการบรรเทาทุกข์ฤดูหนาวมีบทบาทเป็นพิธีกรรมเพื่อผลิตความเห็นอกเห็นใจจากสาธารณชน[298]
นโยบายกสิกรรมมีความสำคัญต่อนาซี เพราะนอกจากเป็นการตอบสนองต่อเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการตอบสนองต่อมโนทัศน์ทางภูมิศาสตร์การเมืองเกี่ยวกับเลเบินส์เราม์ของพวกเขาเช่นกัน ในความคิดของฮิตเลอร์ การหาที่ดินและผืนดินมาเพิ่มเป็นสิ่งที่จำเป็นในการขึ้นรูปเศรษฐกิจเยอรมนี[299] และเพื่อผูกมัดเกษตรกรกับที่ดินของเขา การซื้อขายที่ดินทำเกษตรถูกห้าม[300] กรรมสิทธิ์ไร่นายังคงเป็นของเอกชน แต่มีการมอบสิทธิผูกขาดธุรกิจให้กับคณะกรรมการการตลาดในการควบคุมราคาและการผลิตด้วยระบบโควตา[301] กฎหมายไร่นามรดกไรช์ (Reichserbhofgesetz) ค.ศ. 1933 ได้จัดตั้งโครงสร้างกลุ่มผูกขาดขึ้นภายใต้องค์กรรัฐนามว่าไรช์สแนร์ชตันท์ (Reichsnährstand; RNST) ซึ่งกำหนด "ทุกอย่างตั้งแต่เมล็ดพันธุ์และปุ๋ยที่ให้ใช่จนถึงวิธีการสืบทอดที่ดิน"[xxviii] ฮิตเลอร์มองว่าเศรษฐกิจเยอรมันเป็นเครื่องมือทรงอำนาจเป็นหลัก และเชื่อว่าเศรษฐกิจนั้นไม่ได้มีไว้สร้างความมั่งคั่งหรือความก้าวหน้าทางเทคนิคเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลเมืองประชาชาติ แต่เชื่อว่าความสำเร็จทางเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการจัดหาปัจจัยและวัสดุพื้นฐานที่จำเป็นในการพิชิตดินแดนทางทหาร[302] แม้ว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากโครงการชาติสังคมนิยมต่าง ๆ จะมีบทบาทในการสนองต่อประชาชนเยอรมัน แต่นาซีและฮิตเลอร์โดยเฉพาะไม่เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวจะเพียงพอต่อการผลักดันเยอรมนีขึ้นเป็นมหาอำนาจในเวทีโลก พวกนาซีจึงพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยทั่วไปไปพร้อมกับการใช้จ่ายทางทหารอย่างมหาศาลเพื่อติดอาวุธใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการปฏิบัติใช้แผนสี่ปี ซึ่งรวบอำนาจปกครองให้กับพวกเขาและความสัมพันธ์แบบสั่งการที่เหนียวแน่นระหว่างรัฐบาลชาติสังคมนิยมกับอุตสาหกรรมอาวุธเยอรมัน[303] งบประมาณรายจ่ายของกองทัพระหว่าง ค.ศ. 1933 และ 1939 สูงถึงแปดหมื่นสองพันล้านไรชส์มาร์ค และนับเป็นสัดส่วนร้อยละ 23 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติเยอรมนี เมื่อพวกนาซีได้เคลื่อนขบวนประชาชนและเศรษฐกิจของพวกเขาเข้าทำสงคราม[304]
พวกนาซีอ้างว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพของชาติ เพราะมันมีเจตนาที่จะยกเลิกทรัพย์สินส่วนบุคคล สนับสนุนการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ต่อต้านชนชั้นกลาง มุ่งร้ายต่อธุรกิจขนาดเล็ก และเป็นอเทวนิยม[305] ระบอบนาซีปฏิเสธสังคมนิยมที่อยู่บนฐานของการต่อสู้ระหว่างชนชั้นและสมภาคนิยมทางเศรษฐกิจ (economic egalitarianism) และนิยมเศรษฐกิจแบบมีลำดับชั้นทางสังคมบนฐานของคุณธรรมและความสามารถแทน ที่จะรักษาทรัพย์สินส่วนบุคคลไว้และสรรสร้างความสามัคคีซึ่งก้าวข้ามความแบ่งแยกระหว่างชนชั้น[21]
ในไมน์คัมพฟ์ ฮิตเลอร์กล่าวถึงความปรารถนาของเขาที่จะ "ทำสงครามต่อหลักการมากซิสต์ที่ว่ามนุษย์ทั้งปวงนั้นเท่ากัน"[306] เขาเชื่อว่า "คติเรื่องความเท่าเทียมเป็นบาปกรรมต่อธรรมชาติ"[307] ระบอบนาซีค้ำจุน "ความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์" อาทิความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเชื้อชาติต่าง ๆ และภายในเชื้อชาติเช่นกัน รัฐนาซีมุ่งที่จะผลักดันปัจเจกชนที่มีความสามารถและความฉลาดเป็นพิเศษเพื่อให้พวกเขาปกครองมวลชนได้[66] อุดมการณ์นาซีพึ่งพาแนวคิดอภิชนนิยมและฟือเรอร์พรินท์ซีพ (หลักการท่านผู้นำ) เพื่ออ้างว่าชนกลุ่มน้อยอภิสิทธิชนควรมีหน้าที่เป็นผู้นำเหนือชนส่วนใหญ่ และชนกลุ่มน้อยอภิสิทธิชนเองนั้นควรถูกจัดระเบียบตาม "ลำดับชั้นของความสามารถ" โดยมีผู้นำแต่เพียงหนึ่งเดียว คือฟือเรอร์ที่จุดสุดยอด[308] หลักการฟือเรอร์พรินท์ซีพกล่าวว่าสมาชิกแต่ละคนภายในลำดับชั้นหนึ่งอยู่ในโอวาทของผู้ที่อยู่เหนือเขาโดยสมบูรณ์ และควรถืออำนาจโดยสมบูรณ์เหนือผู้ที่อยู่ต่ำกว่าเขา[67]
ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1920 ฮิตเลอร์หนุนให้นาซีแต่ละเหล่าที่มีความแตกต่างกันหันมาร่วมกันต่อต้านลัทธิบอลเชวิกยิว[309] ฮิตเลอร์กล่าวว่า "ความชั่วสามประการ" ของ "ลัทธิมากซ์ยิว" ประกอบด้วยประชาธิปไตย สันตินิยม และสากลนิยม[310] ขบวนการคอมมิวนิสต์ สหภาพแรงงาน พรรคสังคมประชาธิปไตย และสื่อฝ่ายซ้ายทั้งหมดถูกมองว่าถูกพวกยิวควบคุมและเป็นส่วนหนึ่งของ "การสมคบคิดของยิวนานาชาติ" ที่จะทำให้ชาติเยอรมนีอ่อนแอด้วยการสนับสนุนความแตกแยกภายในผ่านการต่อสู้ทางชนชั้น[67] พวกนาซีเชื่อว่าชาวยิวเป็นผู้ยุยงปลุกปั่นให้เกิดการปฏิวัติบอลเชวิคในประเทศรัสเซีย และเชื่อว่าพวกคอมมิวนิสต์แทงข้างหลังประเทศเยอรมนีและเป็นตัวการที่ทำให้พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[311] พวกเขาอ้างว่าความนิยมในวัฒนธรรมสมัยใหม่ของคริสต์ทศวรรษ 1920 (เช่นดนตรีแจ๊สและศิลปะบาศกนิยม) เป็นตัวแทนของ "ลัทธิบอลเชวิคทางวัฒนธรรม" และเป็นส่วนหนึ่งของการข่มขืนทางการเมืองที่มุ่งให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตวิญญาณของ ฟ็อลค์ (ประชาชน) เยอรมัน[311] โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ เผยแพร่จุลสารนามว่า The Nazi-Sozi ซึ่งกล่าวถึงประเด็นต่าง ๆ ว่าชาติสังคมนิยมแตกต่างจากลัทธิมากซ์อย่างไร[28] ใน ค.ศ. 1930 ฮิตเลอร์กล่าวไว้ว่า: "คำว่า 'Socialist' ที่เราเอามาใช้นั้นไม่มีอะไรเกี่ยวกับสังคมนิยมมากซิสต์ ลัทธิมากซ์ต่อต้านทรัพย์สิน สังคมนิยมที่แท้จริงนั้นไม่"[312]
พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมนี (KPD) เป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้นข้างนอกสหภาพโซเวียต จนกระทั่งมันถูกทำลายลงไปโดยพวกนาซีใน ค.ศ. 1933[313] ในคริสต์ทศวรรษ 1920 และช่วงต้นของ 1930 พวกคอมมิวนิสต์และพวกนาซี (Weimar paramilitary groups) ต่อสู้ปะทะกันซึ่งหน้าอย่างรุนแรงบนท้องถนนบ่อยครั้ง โดยองค์กรกึ่งทหารนาซีจะปะทะกับแนวหน้าแดงคอมมิวนิสต์และขบวนการต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ (Antifaschistische Aktion) ต่อมาภายหลังช่วงเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั้งคอมมิวนิสต์และนาซีได้รับคะแนนเสียงเพิ่มมากขึ้น แต่พวกคอมมิวนิสต์ปฏิเสธไม่ร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนีซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่ใหญ่ที่สุด ในขณะเดียวกันพวกนาซียอมเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรคฝ่ายขวาอื่น ๆ[314] หลังจากนาซีขึ้นสู่อำนาจ พวกเขาสั่งห้ามพรรคคอมมิวนิสต์อย่างรวดเร็ว โดยกล่าวหาว่าพวกเขากำลังเตรียมพร้อมก่อการปฏิวัติและเป็นผู้ก่อเหตุเพลิงไหม้ไรชส์ทาค[315] เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมนีจำนวน 4,000 คนถูกจับในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 และจนสิ้นปีคอมมิวนิสต์ 130,000 คนถูกส่งไปยังค่ายกักกันนาซี[316]
ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 และ 1940 รัฐบาลและกลุ่มที่สนับสนุนระบอบนาซีประกอบด้วยพวกฟาลังเฆ (FET y de las JONS) ในประเทศสเปนภายใต้การนำของฟรังโก ฝรั่งเศสเขตวีชีและกองพลทหารราบสรรพาวุธที่ 33 แห่งเอ็สเอ็ส "ชาร์เลอมาญ" ในประเทศฝรั่งเศส และสหภาพฟาสชิสต์บริติช (British Union of Fascists) ภายใต้การนำของออสวอลด์ มอสลีย์ (Oswald Mosley) เป็นต้น[317]
พวกนาซีกล่าวว่าทุนนิยมตลาดเสรีจะทำให้ประเทศชาติเสียหายจากการเงินระหว่างประเทศ (international finance) และอำนาจครอบงำทางเศรษฐกิจทั่วโลกของธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไม่จงรักภักดี ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นผลผลิตของอิทธิพลยิว[305] ใบปิดโฆษณาชวนเชื่อนาซีในเขตชนชั้นแรงงานเน้นย้ำคติการต่อต้านทุนนิยม อาทิแผ่นหนึ่งกล่าวว่า "การธำรงระบบอุตสาหกรรมอันเน่าเฟะไว้นั้นไม่เกี่ยวข้องกับชาตินิยมเลย เรารักเยอรมนีและเกลียดทุนนิยมได้"[xxix]
ฮิตเลอร์ต่อต้านระบอบทุนนิยมตลาดเสรีทั้งเป็นการส่วนตัวและสาธารณะเพราะว่ามัน "ไม่สามารถไว้ใจให้ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศเป็นเอกได้" โดยอ้างว่ามันจะจับประเทศเป็นตัวประกันเพื่อแลกกับผลประโยชน์ของชนชั้นปรสิตของเสือนอนกินพลเมืองโลก[319] เขาเชื่อว่าการค้าเสรีระหว่างประเทศจะนำไปสู่การครอบงำโลกโดยอำนาจจักรวรรดิบริติชและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาเชื่อว่าถูกควบคุมโดยนักการธนาคารชาวยิวในวอลสตรีตและนครลอนดอน ฮิตเลอร์มองว่าสหรัฐโดยเฉพาะจะกลายเป็นคู่ปรับหลักในอนาคตและกลัวว่าโลกาภิวัตน์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจะทำให้ทวีปอเมริกาเหนือสามารถมาชิงตำแหน่งทวีปที่ทรงอำนาจที่สุดในโลกแทนที่ทวีปยุโรปได้ แก่นเรื่องหลักในหนังสือ ซไวเทิสบูค (Zweites Buch "เล่มที่สอง") ของฮิตเลอร์ที่ไม่ถูกตีพิมพ์ออกมาคือความวิตกกังวลที่ฮิตเลอร์มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ (Economic history of the United States) ครั้งหนึ่งเขาถึงขั้นคาดหวังให้สหราชอาณาจักรหันมาเป็นพันธมิตรกับประเทศเยอรมนีบนฐานของการแข่งขันทางเศรษฐกิจร่วมกันกับสหรัฐ[320] ฮิตเลอร์ปรารถนาให้มีระบบเศรษฐกิจที่จะจัดการทรัพยากรต่าง ๆ "ในทิศทางที่ตรงกับเป้าหมายแห่งชาติทั้งหลายของระบอบ" ไม่ว่าจะเป็นการเสริมกำลังทหาร โครงการก่อสร้างเมืองและถนน และเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง[289] ฮิตเลอร์เคลือบแคลงใจในระบอบทุนนิยมตลาดเสรีเพราะว่ามันไม่น่าไว้วางใจเนื่องด้วยอติมานะ (egotism) ของมัน และนิยมเศรษฐกิจที่จัดการโดยรัฐที่จะรักษาทรัพย์สินส่วนบุคคลและการแข่งขันไว้ แต่เหล่านั้นจะเป็นรองต่อผลประโยชน์แห่งฟ็อลค์และชาติ[319]
ฮิตเลอร์กล่าวกับผู้นำพรรคคนหนึ่งใน ค.ศ. 1934 ว่า "ระบบเศรษฐกิจทุกวันนี้เป็นสิ่งประดิษฐ์ของชาวยิว"[xxx] ฮิตเลอร์กล่าวกับเบนิโต มุสโสลินี ว่าระบบทุนนิยมนั้น "มาสุดทางแล้ว"[319] และฮิตเลอร์กล่าวว่าพวกชนชั้นกระฎุมพีผู้ประกอบการ "ไม่รู้จักอย่างอื่นใดนอกจากกำไรของตัวเอง 'ปิตุภูมิ' เป็นเพียงแค่ศัพท์คำหนึ่งสำหรับพวกเขา"[xxxi] ฮิตเลอร์โดยส่วนตัวรังเกียจอภิชนกระฎุมพีชนชั้นปกครองของประเทศเยอรมนีในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ โดยเขากล่าวถึงพวกเขาว่าเป็น "พวกขี้ขลาดตาขาว" (cowardly shits)[322]
ในไมน์คัมพฟ์ ในทางปฏิบัติฮิตเลอร์สนับสนุนลัทธิพาณิชยนิยม โดยเชื่อว่าควรใช้กำลังเข้ายึดทรัพยากรทางเศรษฐกิจจากดินแดนต่าง ๆ ของมัน เพราะเขาเชื่อว่านโยบายเลเบินส์เราม์ของเขาจะจัดหาเขตแดนอันล้ำค่าทางเศรษฐกิจดังกล่าวนั้นมาให้กับประเทศเยอรมนี[323] เขาอ้างว่าสหรัฐและสหราชอาณาจักรได้ประโยชน์จากการค้าเสรีก็เพียงเพราะพวกเขาได้ยึดครองตลาดภายในประเทศไว้มากมายแล้วผ่านการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิบริติชและการขยายดินแดนไปทางทิศตะวันตกของสหรัฐอเมริกา (Territorial evolution of the United States)[320] ฮิตเลอร์อ้างว่าทางเดียวที่จะสามารถรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจไว้ได้คือการมีอำนาจควบคุมทรัพยากรโดยตรง (Autarky) แทนที่การถูกบังคับให้ต้องพึ่งพาการค้าโลก[323] ฮิตเลอร์อ้างว่าวิธีการเดียวที่จะสามารถหาทรัพยากรเหล่านั้นมาได้โดยที่จะล้ำหน้าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่กำลังล้มเหลวคือการทำสงคราม[323]
ทว่าในทางปฏิบัติ พวกนาซีต่อต้านทุนนิยมเพียงชนิดเดียว กล่าวคือทุนนิยมตลาดเสรีและตัวแบบปล่อยให้ทำไปยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งถึงกระนั้นพวกเขากลับนำมันมาใช้ในแวดวงทางสังคมในรูปของทฤษฎีดาร์วินทางสังคม[293] บางคนได้อธิบายว่านาซีเยอรมนีเป็นแบบอย่างอันหนึ่งของระบอบบรรษัทนิยม (corporatism) ทุนนิยมแบบอำนาจนิยม (authoritarian capitalism) หรือทุนนิยมรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ (Inverted totalitarianism)[273][324][325][326] พวกนาซีได้ทำลายขบวนการการพึ่งพาตนเองที่มีอยู่จริง แม้ในขณะเดียวกันอ้างในโฆษณาชวนเชื่อว่าตนพยายามเดินหน้าสู่การพึ่งตนเอง (autarky)[327] และได้จัดตั้งเส้นสายความสัมพันธ์ด้านเงินทุนที่ครอบคลุมในการเตรียมพร้อมสำหรับการทำสงครามขยายอาณาเขตและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์[328] โดยรวมกันเป็นพันธมิตรร่วมกับอภิชนภาคธุรกิจและการพาณิชย์ (commerce) จารีต[329] แม้ว่าพวกเขาจะใช้วาทกรรมต่อต้านทุนนิยมต่อต้านธุรกิจขนาดใหญ่ แต่พวกนาซีกลับร่วมพันธมิตรกับธุรกิจสัญชาติเยอรมันทันทีที่พวกเขาได้อำนาจมาโดยอาศัยความกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์และสัญญาที่จะทำลายฝ่ายซ้ายและสหภาพแรงงานเยอรมัน[330] ซึ่งในที่สุดก็ได้กวาดล้างทั้งสายที่มูลวิวัติและปฏิกิริยามากกว่าออกจากพรรคไปใน ค.ศ. 1934[60]
โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ ซึ่งในภายหลังได้กลายเป็นรัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการนาซี ต่อต้านทั้งทุนนิยมและคอมมิวนิสม์อย่างชัดเจน โดยมองว่าทั้งสองเป็น "สองเสาหลักแห่งวัตถุนิยม" ซึ่งเป็น "ส่วนหนึ่งของการสมคบคิดเพื่อครอบงำโลกของยิวนานาชาติ"[xxxii] อย่างไรก็ตาม เขาเขียนไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัวใน ค.ศ. 1925 ว่าหากเขาจำต้องเลือกระหว่างสองอย่างนั้น "ในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย คงเป็นการดีแก่เรากว่าหากต้องเดินตามรอยลัทธิบอลเชวิค มากกว่าการตกเป็นทาสตลอดกาลภายใต้ระบอบทุนนิยม"[xxxiii] เกิบเบิลส์ยังได้เชื่อมโยงการต่อต้านยิวของเขากับการต่อต้านทุนนิยม โดยกล่าวในจุลสารจาก ค.ศ. 1929 เล่มหนึ่งว่า "เราแลเห็น ในชาวฮีบรู การจุติของทุนนิยม การใช้ผลผลิตของชาติในทางที่ผิด"[xxxiv]
ภายในพรรคนาซีเอง ฝ่ายที่ถือความเชื่อต่อต้านทุนนิยมคือชตวร์มอัพไทลุง กองกำลังกึ่งทหารซึ่งนำโดยแอ็นสท์ เริห์ม ชตวร์มอัพไทลุงมีความสัมพันธ์แบบซับซ้อนกับที่เหลือของพรรค ซึ่งทำให้ทั้งเริห์มและผู้นำชตวร์มอัพไทลุงท้องถิ่นมีอัตตาณัติมากพอสมควร[333] ผู้นำท้องถิ่นหลายคนยังได้ส่งเสริมแนวคิดทางการเมืองต่าง ๆ ในหน่วยของตัวเอง ทั้ง "แนวคิดชาตินิยม สังคมนิยม ต่อต้านยิว เหยียดเชื้อชาติ เฟิลคิช หรืออนุรักษ์นิยม"[xxxv] มีความตึงเครียดเกิดขึ้นระหว่างชตวร์มอัพไทลุงและฮิตเลอร์ โดยเฉพาะตั้งแต่ ค.ศ. 1930 เป็นต้นไป หลายคนในชตวร์มอัพไทลุงเริ่มไม่วางใจในตัวฮิตเลอร์เนื่องด้วย "ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดขึ้นเรื่อย ๆ ที่มีกับกลุ่มผลประโยชน์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่และกำลังฝ่ายขวาจารีต"[xxxvi] พวกชตวร์มอัพไทลุงมองการยึดอำนาจของฮิตเลอร์ใน ค.ศ. 1933 ว่าเป็น "การปฏิวัติครั้งแรก" ต่อฝ่ายซ้าย และเริ่มมีเสียงเรียกร้องในหมู่พวกเขาให้มี "การปฏิวัติครั้งที่สอง" ต่อฝ่ายขวา[336] หลังจากที่ได้ใช้ความรุนแรงกับฝ่ายซ้ายไปใน ค.ศ. 1933 กองกำลังชตวร์มอัพไทลุงของเริห์มก็ได้เริ่มโจมตีรายบุคคลซึ่งถูกหมายไว้ว่าเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาฝ่ายอนุรักษ์นิยม[59] ฮิตเลอร์เห็นการกระทำโดยอิสระของเริห์มว่าได้ละเมิดและอาจถึงขั้นเป็นภัยต่อตำแหน่งผู้นำของเขา และยังเป็นอันตรายต่อระบอบโดยเป็นการแปลกแยกประธานาธิบดีฝ่ายอนุรักษ์นิยมเพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค และกองทัพเยอรมันซึ่งเอนเอียงไปฝ่ายอนุรักษ์นิยม[60] ผลสุดท้ายเริห์มและสมาชิกสายมูลวิวัติคนอื่น ๆ ของชตวร์มอัพไทลุงได้ถูกฮิตเลอร์กวาดล้างไปใน ค.ศ. 1934 ในเหตุการณ์คืนมีดยาว[60]
ภายใต้ระบอบนาซีซึ่งเน้นชาติเป็นสำคัญ ปัจเจกนิยมถูกประณาม และความเป็นส่วนหนึ่งของฟ็อลค์ (Volk) และฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์ (Volksgemeinschaft "ประชาคมของประชาชน") ของชาวเยอรมันถูกเน้นย้ำแทน[337] ฮิตเลอร์ประกาศว่า "ทุกกิจกรรมและทุกความต้องการของปัจเจกทั้งปวงจะได้รับจัดการโดยส่วนรวมซึ่งมีพรรคเป็นตัวแทน"[xxxvii] ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ ให้เหตุผลกับการจัดตั้งรัฐตำรวจ (police state) ควบคุม ที่กองกำลังรักษาความมั่นคงสามารถใช้อำนาจได้โดยพลการ ด้วยการกล่าวว่าความเป็นระเบียบและความมั่นคงของชาติควรมาก่อนความต้องการของปัจเจกชน[339]
อ้างอิงตามนักปรัญชาและนักทฤษฎีการเมืองฮันนาห์ อาเรินท์ (Hannah Arendt) สิ่งเย้ายวนของระบอบนาซีในฐานะอุดมการณ์รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ (พร้อมไปด้วยประชากรเยอรมันขับเคลื่อนรับใช้ของมัน) อยู่ในภาพสรรสร้างที่จะช่วยเหลือสังคมจัดการกับความรับรู้ซึ่งขัดแย้งไม่ลงรอยกัน (cognitive dissonance) ทั้งสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นสอดแทรกอยู่อย่างน่าสลด และหายนะทางเศรษฐกิจและทางวัตถุอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่นำมาซึ่งการก่อการปฏิวัติกำเริบรอบตัวพวกเขา ระบอบนาซีในฐานะระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จนำเสนอทางออกจากปัญหาทางประวัติศาสตร์ซึ่งประเทศเยอรมนีประสบที่ "ชัดเจน" ที่จะมาแทนที่พหุลักษณ์ซึ่งดำรงอยู่ภายในรัฐระบอบรัฐสภาหรือประชาธิปไตย ระดมแรงเกื้อหนุนด้วยการด้อยค่ารัฐบาลไวมาร์ชุดก่อน และจัดเตรียมแนวทางการเมืองเชิงชีววิทยาเพื่อไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ที่จะเป็นไทจากความไม่แน่นอนในอดีต มวลชนซึ่งแปลกแยกและปลีกแยกถูกฮิตเลอร์และอภิชนพรรคชี้นำไปยังทิศทางหนึ่ง ถูกทำให้กลายเป็นสาวกทางอุดมการณ์ด้วยโฆษณาชวนเชื่อที่เฉียบแหลม และถูกใช้ปลุกชีพระบอบนาซีขึ้นมา[340]
ในขณะที่ผู้ฝักใฝ่ระบอบนาซีรังเกียจการปกครองโดยรัฐสภาและประชาธิปไตยแบบสหรัฐหรืออังกฤษคล้ายกับลัทธิสตาลิน (Comparison of Nazism and Stalinism) แต่พวกเขามีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร วิกฤตญาณวิทยาจะเกิดขึ้นหากพยายามสังเคราะห์และเปรียบต่างระหว่างระบอบนาซีและลัทธิสตาลินให้เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกันด้วยการมีผู้นำทรราช เศรษฐกิจซึ่งควบคุมโดยรัฐ และโครงสร้างตำรวจควบคุมที่คล้ายกัน กล่าวได้ว่า แม้ทั้งสองจะมีองค์ประกอบของสิ่งประกอบสร้างทางการเมืองร่วมกัน แต่ทั้งสองมีโลกทัศน์ที่เป็นปฏิปักษ์กันโดยสิ้นเชิง และเมื่อวิเคราะห์เปรียบกันโดยตรงก็จะพบ "อสมมาตรที่มิอาจเชื่อมประสานกันได้"[341]
แม้ว่าระบอบนาซีมักถูกมองว่าเป็นขบวนการปฏิกิริยา แต่มันไม่ได้ต้องการย้อนกลับไปหาประเทศเยอรมนีระบอบราชาธิปไตยยุคก่อนไวมาร์ แต่มองย้อนกลับไปไกลกว่าถึงยุคสงบสุขในตำนานของประเทศเยอรมนีที่ไม่เคยมีอยู่จริง และก็ยังถูกมองว่าเป็นผลลัพธ์ของวิกฤตทุนนิยมที่ปรากฏตัวเป็น "ทุนนิยมผูกขาดรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ" โดยนักวิชาการชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน (German Americans) ฟรันทซ์ เลโอพ็อลท์ นอยมันน์ (Franz Leopold Neumann) ในมุมมองนี้ ระบอบนาซีเป็นขบวนการเคลื่อนไหวมวลชนชนชั้นกลางที่ต่อต้านขบวนการเคลื่อนไหวของคนงานในระบอบสังคมนิยมและรูปสุดโต่งของมัน นั่นคือลัทธิคอมมิวนิสต์[342] นักประวัติศาสตร์คาร์ล ดีทริช บราเคอร์ (Karl Dietrich Bracher) กล่าวว่า:
การตีความแบบนี้เสี่ยงที่จะตัดสินองค์ประกอบเชิงปฏิวัติของระบอบชาติสังคมนิยมผิดไป ซึ่งไม่อาจเมินเฉยได้ว่าเป็นเพียงปฏิกิริยา ในทางกลับกัน ตั้งแต่แรกแล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันพัฒนากลายเป็นรัฐ SS ระบอบชาติสังคมนิยมมุ่งหมายจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐและสังคม[xxxviii]
บราเคอร์กล่าวถึงจุดยืนทางการเมืองของฮิตเลอร์และพรรคนาซีต่ออีกว่า:
ธรรมชาติของพวกเขาเป็นแบบปฏิวัติ: การทำลายโครงสร้างทางการเมืองและสังคมและกลุ่มอภิชนซึ่งค้ำจุนมันอยู่ และการดูถูกเหยียดหยามระเบียบพลเมือง ค่านิยมทางศีลธรรมและมนุษยธรรม ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คและราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น และแนวคิดเสรีนิยมและมากซิสต์อย่างเต็มที่ ชนชั้นกลางและค่านิยมของชนชั้นกลาง ชาตินิยมกระฎุมพีและทุนนิยม พวกผู้เชี่ยวชาญ ปัญญาชน และชนชั้นสูงถูกปฏิเสธอย่างแหลมคมที่สุด พวกนี้เป็นกลุ่มที่จะต้องถูกถอนรากถอนโคน[xxxix]
นักประวัติศาสตร์มอดริส เอ็กชเตนส์ (Modris Eksteins) กล่าวคล้ายกันว่า:
ตรงกันข้ามกับการตีความระบอบนาซีจำนวนมากซึ่งชอบมองมันเป็นขบวนการปฏิกิริยา หรือในคำพูดของโทมัส มันน์ เป็น "การระเบิดของลัทธิโบราณวัตถุ" ซึ่งมีเจตนาจะเปลี่ยนประเทศเยอรมนีให้กลายเป็นชุมชนพื้นบ้านท้องทุ่งของกระท่อมตับจากและชาวบ้านที่เบิกบาน แรงส่งโดยทั่วไปของขบวนการแม้จะมีความโบราณแต่ล้ำยุค ระบอบนาซีเป็นการกระโดดหัวทิ่มเข้าไปสู่อนาคต ไปยัง "โลกกล้าใบใหม่" แน่นอนว่ามันใช้ความโหยหาของอนุรักษ์นิยมและยูโทเปียให้เป็นประโยชน์ โดยแสดงความเคารพต่อวิสัยทัศน์จินตินิยมพวกนี้ แล้วเด็ดสอยเอาผ้าคลุมทางอุดมการณ์ของมันมาจากเยอรมนีในอดีต แต่เป้าหมายของมัน ตามไฟส่องทางของมันเอง คือความก้าวหน้าโดยเด่นชัด มันมิได้เป็นเทพยานุสที่มีสองหน้าผู้ใส่ใจทั้งอดีตและอนาคตเท่า ๆ กัน และมันก็มิได้เป็นโพรเตียสเทพแห่งการแปลงร่างสมัยใหม่ผู้ทำซ้ำรูปร่างที่มีอยู่ก่อนแล้ว เจตนาของขบวนการนั้นคือการสร้างมนุษย์ชนิดใหม่ ซึ่งจะให้กำเนิดแด่ศีลธรรมชนิดใหม่ ระบบสังคมแบบใหม่ และในที่สุดคือระเบียบโลกแบบใหม่ อันที่จริงแล้ว นี่คือเจตนาของขบวนการฟาสชิสต์ทั้งหมด หลังจากที่ออสวอลด์ มอสลีย์ ไปอิตาลีและได้พบกับมุสโสลินี เขาเขียนว่าลัทธิฟาสชิสต์ "มิได้ผลิตระบอบการปกครองแบบใหม่ขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังสร้างมนุษย์ประเภทใหม่ ผู้ที่ต่างไปจากนักการเมืองในโลกเก่าเสมือนกับมาจากต่างดาว" ฮิตเลอร์ก็กล่าวแบบนี้อย่างไม่รู้จบ ชาติสังคมนิยมเป็นมากกว่าขบวนการทางการเมือง เขากล่าว มันเป็นมากกว่าศรัทธา มันเป็นความปรารถนาที่จะสร้างมนุษยชาติขึ้นใหม่[xl]
นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษเอียน เคอร์ชอว์ (Ian Kershaw) กล่าวถึงระบอบนาซี ลัทธิฟาสชิสต์อิตาลี และลัทธิบอลเชวิคไว้ในงานเขียนประวัติศาสตร์ยุโรปในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ของเขา To Hell and Back เอาไว้ว่า:
พวกมันมีรูปร่างที่ต่างกันเป็นระบอบเผด็จการนวยุคแบบใหม่ทั้งหมด - เป็นปฏิพากย์ของประชาธิปไตยเสรีนิยม พวกมันล้วนเป็นแบบปฏิวัติ หากในคำนั้นเราเข้าใจว่าหมายถึงการพลิกแผ่นดินทางการเมืองโดยขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายแบบยูโทเปียที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมแต่ฐานราก พวกเขาไม่พอใจเพียงกับการใช้การปราบปรามเพื่อควบคุมเท่านั้น แต่ต้องการที่จะขยับเดินหน้า "สั่งสอน" ผู้คนภายใต้อุดมการณ์พิเศษให้พวกเขากลายมาเป็นผู้เชื่ออย่างสุดจิตสุดใจ เพื่อยึดใช่แต่จิตวิญญาณพวกเขาแต่ร่างกายด้วย แต่ละระบอบเหล่านี้จึงมีพลวัตในแบบที่อำนาจนิยม "แบบฉบับ" ไม่มี[xli]
หลังจากกบฏโรงเบียร์ล้มเหลวใน ค.ศ. 1923 และหลังจากที่ฮิตเลอร์ถูกพิจารณาคดีและคุมขังต่อจากนั้น เขาตัดสินใจว่าพรรคนาซีจะได้อำนาจมาได้มิใช่ผ่านการก่อการกบฏ แต่ผ่านวิถีทางกึ่งถูกกฎหมาย เรื่องนี้ไม่เป็นที่นิ่งนอนใจในหมู่ทหารเสื้อน้ำตาลของชตวร์มอัพไทลุงโดยเฉพาะพวกที่อยู่ในเบอร์ลิน พวกเขาหมดความอดทนกับข้อจำกัดที่ฮิตเลอร์ตั้งขึ้นมาและการอยู่ใต้บังคับบัญชาของพรรค ที่นำไปสู่การก่อการกบฏชเต็นเน็ส (Stennes Revolt) ใน ค.ศ. 1930–1931 ซึ่งหลังจากนั้นฮิตเลอร์ตั้งตนขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของชตวร์มอัพไทลุงและเอาตัวแอ็นสท์ เริห์ม กลับมาเป็นเสนาธิการและกันไม่ให้พวกเขาแตกแถว การลบล้างอารมณ์ปฏิวัติของชตวร์มอัพไทลุงได้สร้างความเชื่อมั่นให้นักธุรกิจและผู้นำกองทัพว่าพวกนาซีได้ละทิ้งประวัติการทำกบฎของพวกเขาแล้ว และฮิตเลอร์จะสามารถเป็นพันธมิตรที่พึ่งพาได้[346][347]
หลังจาก "การยึดอำนาจ" ของนาซีใน ค.ศ. 1933 เริห์มและพวกเสื้อน้ำตาลไม่พอใจกับการที่พรรคจะถือบังเหียนแห่งอำนาจเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขากดดันให้ดำเนิน "การปฏิวัติชาติสังคมนิยม" ต่อไปเพื่อนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างท่วมท้นที่ฮิตเลอร์ไม่ต้องการกระทำ ณ ขณะนั้นด้วยเหตุผลเชิงยุทธวิธีเป็นหลัก เขากลับเน้นการสร้างกองทัพขึ้นใหม่และการปรับทิศทางของเศรษฐกิจแทนเพื่อจัดเตรียมการติดอาวุธครั้งใหม่ที่จำเป็นต่อการบุกรุกประเทศทางทิศตะวันออกของเยอรมนี โดยเฉพาะโปแลนด์และรัสเซีย เพื่อยึดเอาเลเบินส์เราม์ ("พื้นที่อยู่อาศัย") ที่เขาเชื่อว่าจำเป็นต่อการมีชีวิตรอดของเชื้อชาติอารยัน เพื่อการนี้ เขาต้องการความร่วมมือจากทั้งกองทัพและองคาพยพที่สำคัญของระบอบทุนนิยม อาทิธนาคารและธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเขาอาจไม่ได้มันมาหากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของเยอรมนีถูกยกเครื่องใหม่ทั้งหมดแบบมูลวิวัติ เริห์มที่ประกาศอย่างเปิดเผยว่าชตวร์มอัพไทลุงจะไม่ยอมให้ "การปฏิวัติเยอรมัน" ถูกยั้งไว้หรือถูกทำลายทำให้ฮิตเลอร์ประกาศว่า "การปฏิวัติไม่ได้เป็นสภาพถาวร" เริห์มและชตวร์มอัพไทลุงที่ไม่ยอมหยุดการปลุกปั่นเรียกร้องให้มี "การปฏิวัติรอบที่สอง" และความกลัวที่ไม่มีอะไรมารับรองว่าจะเกิด "กบฎของเริห์ม" ขึ้นเพื่อทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ ทั้งสองเป็นปัจจัยเบื้องหลังที่ทำให้ฮิตเลอร์กวาดล้างผู้นำ'ชตวร์มอัพไทลุงไปในคืนมีดยาวในฤดูร้อน ค.ศ. 1934[348][349]
ถึงแม้ว่าเหตุผลทางปฏิบัติทำให้ต้องมีการหยุดพักเชิงยุทธวิธี ซึ่งเป็นเรื่องปกติของฮิตเลอร์หลังจากที่ขึ้นสู่อำนาจแล้วและในช่วงแรกของระบอบ ผู้ที่มองว่าฮิตเลอร์เป็นนักปฏิวัติโต้แย้งว่าเขาไม่เคยหยุดเป็นนักปฏิวัติที่อุทิศตนต่อการแปรสภาพเยอรมนีตั้งแต่มูลฐาน โดยเฉพาะประเด็นด้านเชื้อชาติ ในบทความของมาร์ติน เฮาสเดน (Martyn Housden) Hitler: Study of a Revolutionary? เขาสรุปว่า:
[ฮิตเลอร์]ได้รวบรวมชุดของเป้าหมายปฏิวัติที่ครอบคลุมที่สุด (ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองแบบมูลวิวัติ) เขาได้ระดมนักปฏิวัติผู้ติดตามที่แพร่หลายและทรงพลังจนเป้าหมายของเขาหลายประการสำเร็จลุล่วง เขาได้จัดตั้งและดำเนินการรัฐปฏิวัติเผด็จการ และได้เผยแพร่แนวคิดของเขาผ่านนโยบายการต่างประเทศแบบปฏิวัติและสงคราม กล่าวโดยสั้น เขาได้ให้นิยามและควบคุมการปฏิวัติชาติสังคมนิยมในทุกลำดับขั้นของมัน[xlii]
ระบอบนาซีในบางแง่มุมเป็นปฏิกิริยาอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นเจตคติที่มีต่อบทบาทของผู้หญิงในสังคมซึ่งเป็นแบบจารีตนิยมโดยสิ้นเชิง[351] โดยเรียกร้องให้ผู้หญิงย้อนกลับหาบ้านเป็นภริยา มารดา และแม่ศรีเรือน แต่นโยบายเชิงอุดมการณ์นี้เองกลับถูกทำลายลงในความเป็นจริงจากความขาดแคลนแรงงานและความต้องการของคนงานที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากผู้ชายที่ต้องออกจากกำลังแรงงานไปรับใช้กองทัพ จำนวนผู้หญิงที่ทำงานเพิ่มขึ้นจาก 4.24 ล้านคนใน ค.ศ. 1933 เป็น 4.52 ล้านคนใน ค.ศ. 1936 และกลายเป็น 5.2 ล้านคนใน ค.ศ. 1938[352] ถึงแม้ว่าระบอบนาซีได้สร้างอุปสรรคทางกฎหมายและกีดกันไม่ให้ทำอย่างแข็งขันแล้วก็ตามที[353] อีกหนึ่งแง่มุมเชิงปฏิกิริยาของระบอบนาซีคือนโยบายด้านศิลปะซึ่งมีรากฐานอยู่ในการปฏิเสธศิลปะ ดนตรี (20th-century classical music) และสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ "เสื่อม" ทุกรูปแบบของฮิตเลอร์[354]
นักประวัติศาสตร์มาร์ทีน โบรสท์ซัท บรรยายระบอบนาซีไว้ว่า:
... ความสัมพันธ์แบบลูกผสมประหลาดครึ่งปฏิกิริยาครึ่งปฏิวัติกับสถาบันสังคม ระบอบการเมือง และจารีตประเพณี ... อุดมการณ์ของมันเกือบคล้ายจะเป็นยูโทเปียแบบมองย้อนหลัง มันเอาระบอบการเมืองและสังคมมาจากภาพจินตนิยมและสำนวนจำเจในอดีต จากยุคสมัยของสมบูรณาญาสิทธิ์ ปิตาธิปไตย และวีรบุรุษสงคราม แต่ซึ่งถูกแปลความหมายกลายเป็นประชานิยมและความล้ำยุค กลายเป็นคำขวัญต่อสู้ของชาตินิยมรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ มโนทัศน์อภิชนจากขุนนางอำมาตย์กลายเป็นเชื้อชาติเจ้านายที่เป็น 'ขุนนางทางสายเลือด' แบบเฟิลคิช 'ทฤษฎีเทวสิทธิ์' ของกลุ่มเจ้านายถูกแทนที่ด้วยฟือเรอร์ของชาติที่เป็นประชานิยม การสวามิภักดิ์โดยดุษณีกลายเป็นความแข็งขันของ 'ผู้ติดตาม' ในระดับชาติ[xliii]
ภายหลังนาซีเยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 (End of World War II in Europe) และสิ้นสุดฮอโลคอสต์ การแสดงออกสนับสนุนแนวคิดนาซีอย่างเปิดเผยถูกห้ามในเยอรมนีและประเทศยุโรปอื่น ๆ ถึงอย่างนั้นก็ตาม ขบวนการซึ่งเรียกตนเองว่าเป็นชาติสังคมนิยมหรือถูกบรรยายว่าเชื่อในระบอบนาซียังคงดำรงอยู่บนชายขอบของการเมืองในหลายสังคมตะวันตก โดยทั่วไปสนับสนุนอุดมการณ์ความสูงสุดของคนผิวขาว และหลายกลุ่มจงใจนำสัญลักษณ์ของนาซีเยอรมนีมาใช้[356]
พวกท่านมาจากพ่อของท่านคือมาร และท่านอยากจะทำตามความปรารถนาของพ่อ มันเป็นฆาตกรตั้งแต่เริ่มแรกและไม่ได้ตั้งอยู่ในสัจจะ เพราะมันไม่มีสัจจะ เมื่อมันพูดเท็จมันก็พูดตามสันดานของมันเอง เพราะมันเป็นผู้มุสา และเป็นพ่อของการมุสา
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.