Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะภราดรตระกูลเยอรมันแห่งนักบุญมารีในเยรูซาเลม (ละติน: Ordo domus Sanctæ Mariæ Theutonicorum Hierosolymitanorum) หรือที่เรียกในปัจุบันว่า คณะเยอรมัน (เยอรมัน: Deutscher Orden) หรือ คณะอัศวินเยอรมัน (เยอรมัน: Deutschritterorden) เป็นคณะอัศวินสมัยกลางของเยอรมนี และในสมัยปัจจุบันกลายเป็นคณะศาสนาคาทอลิกเต็มตัว ก่อตั้งขึ้นราว ค.ศ. 1190 ในราชอาณาจักรเยรูซาเลม เพื่อสนับสนุนคริสต์ศาสนิกชนไปจาริกแสวงบุญยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และก่อตั้งสถานบริบาล
คณะอัศวินทิวทอนิก | |
---|---|
ตราอาร์มของคณะ | |
ประจำการ | ราว ค.ศ. 1190–ปัจจุบัน |
ขึ้นต่อ | พระสันตะปาปา, จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ |
รูปแบบ | คณะศาสนาโรมันคาทอลิก (ค.ศ. 1192-1929 คณะทหาร) |
Headquarters | เอเคอร์ (ค.ศ. 1192-1291) เวนิส (ค.ศ. 1291-1309) มาเรียนบวร์ก (ค.ศ. 1309-1466) เคอนิกสแบร์ก (ค.ศ. 1466-1525) เมอร์เกนท์ไฮม์ (ค.ศ. 1525-1809) เวียนนา (ค.ศ. 1809-ปัจจุบัน) |
สมญา | อัศวินทิวทัน, คณะเยอรมัน |
ผู้อุปถัมภ์ | พระนางมารีย์พรหมจารี, นักบุญเอลิซาเบธแห่งฮังการี, & นักบุญจอร์จ |
Attire | เสื้อคลุมขาวมีเครื่องหมายกางเขนดำ |
ผู้บังคับบัญชา | |
อัคราจารย์คนแรก | Heinrich Walpot von Bassenheim |
อัคราจารย์คนปัจจุบัน | Bruno Platter |
สมาชิกของคณะเรียกว่า อัศวินทิวทัน เพราะยังได้รับราชการในคณะทหารที่ทำสงครามศาสนาในสมัยกลาง สมาชิกภาพทหารนั้นมีจำนวนน้อยอยู่เสมอ โดยมีอาสาสมัครและทหารรับจ้างเสริมกองกำลังตามที่จำเป็น หลังการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ เบลลีวิกแห่งยูเทรกต์ของคณะกลายเป็นโปรเตสแตนต์ สาขานี้ยังประกอบด้วยอัศวิน แต่คณะโรมันคาทอลิกสมัยใหม่ประกอบด้วยพระ แม่ชีและผู้ร่วมงานโรมันคาทอลิก
คำว่า "ทิวทัน" อ้างอิงถึงป่าท็อยโทบวร์ค[ต้องการอ้างอิง] ถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของชนเผ่าเยอรมันก่อนที่จะสามารถขับไล่กองทัพโรมันออกไปจากแผ่นดินดังกล่าวในยุทธการที่ป่าท็อยโทบวร์คเมื่อปีที่ 9 ก่อนคริสตกาล
ปี ค.ศ. 1143 พระสันตปาปาเซเลสทีนที่ 2 ทรงมีบัญชาให้คณะอัศวินบริบาล เข้าคุมการบริหารจัดการของสถานพยาบาลเยอรมันในนครเยรูซาเลม ซึ่งจัดที่พำนักให้แก่ผู้แสวงบุญและทหารครูเสดของเยอรมันในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ หลังจากที่กรุงเยรูซาเลมเสียให้แก่เศาะลาฮุดดีนใน ค.ศ. 1187 ไม่นาน ฝ่ายคริสเตียนก็เริ่มสงครามครูเสดครั้งที่ 3 ขึ้นในปี 1189 เพื่อทวงคืนเมืองเยรูซาเลมทำให้คณะผู้แสวงบุญชาวเยอรมันจากเมืองเบรเมินและลือเบค คิดจัดตั้งศูนย์รักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บในสนามรบในระหว่างยุทธการปิดล้อมเมืองเอเคอร์ ซึ่งกลายเป็นฐานที่ตั้งแห่งแรก ก่อนจะได้รับการรับรองจากพระสันตปาปาเซเลสทีนที่ 3 ใน ค.ศ. 1192 ต่อมาคณะทิวโทนิกได้กลายสถานะไปเป็นคณะอัศวิน ตามอย่างพวกเทมพลาร์ โดยผู้นำคณะมีตำแหน่งเป็น อัคราจารย์
ในสมัยของอัคราจารย์ แฮร์มัน ฟ็อน ซัลซา (Hermann von Salza) คณะอัศวินทิวทันซื้อปราสาทมงต์ฟอร์ (Montfort) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเอเคอร์ ซึ่งเป็นยุทธภูมิสำคัญที่ป้องกันเส้นทางออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ปราสาทนี้เป็นสถานบัญชาการของอัศวินทิวทันอยู่จนฝ่ายมุสลิมมายึดเอาไปได้ใน ค.ศ. 1271 ต่อมาภายหลังได้รับบริจาคที่ดินจากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และจากชาติอื่น ๆ และจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จักรพรรดิเฟรดเดอริกที่ 2 ยังเป็นสหายสนิทของ แฮร์มัน ฟ็อน ซัลซา ผู้นำของอัศวินทิวทันอีกด้วย
แต่ถึงแม้จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ทรงอิทธิพล แต่อิทธิพลของอัศวินทิวทันในอาณาจักรของพวกครูเสดกลับสู้กลุ่มอัศวินคริสเตียนกลุ่มอื่นอย่าง อัศวินเทมพลาร์และอัศวินบริบาล ไม่ได้ หลังจากที่กองทัพครูเสดพ่ายแพ้ต่อพวกมุสลิม กษัตริย์แห่งฮังการีก็ได้รับพวกอัศวินทิวทันเข้ามาอยู่ในดินแดนของตน และพวกอัศวินทิวทันก็ช่วยปกป้องฮังการีจากพวก Cuman อย่างแข็งขัน พวกอัศวินทิวทัน จึงได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานในทรานซิลเวเนีย แต่หลังจากนั้นไม่นาน กษัตริย์แห่งฮังการีก็โกรธที่พวกอัศวินทิวทันเชื่อฟังคำสั่งของพระสันตะปาปามากกว่าคำสั่งของตัวเอง จึงสั่งเนรเทศพวกอัศวินทิวทันออกไป
ในปี ค.ศ. 1226 อัคราจารย์ Hermann von Salza ผู้นำของอัศวินทิวทัน ก็ได้ร่วมมือกับดยุกคอนราทที่ 1 แห่งมาโซเวียน (Konrad I of Masovia) ยกทัพเข้าไปในดินแดนปรัสเซีย ที่ซึ่งยังมีพวกที่ยังนับถือศาสนา pagan อยู่เป็นจำนวนมาก การยกทัพครั้งนี้เป็นการแพร่ขยายอิทธิพลของศาสนาคริสต์เข้าสู่ปรัสเซีย และไล่ล่าพวก pagan ที่ต่อต้านศาสนาคริสต์ หลังจาก 50 ปีแห่งการต่อสู้นองเลือด พวกอัศวินทิวทันก็ได้ตั้งรัฐของตัวเองขึ้นมาในดินแดนปรัสเซีย ซึ่งเทียบได้กับรัฐของพวกลัทธิเซนต์จอห์น บนเกาะโรดส์ หลังจากตั้งถิ่นฐานมั่นคง และฟื้นตัวจากกาฬโรคระบาดดีแล้ว พวกอัศวินทิวทัน ก็เริ่มวางแผนที่จะรุกรานรัสเซีย เพื่อไปพิชิตพวกนิกายออร์ธอด็อกซ์ให้หันมานับถือนิกายโรมันคาทอลิก แต่พวกอัศวินทิวทันกลับพ่ายแพ้ต่อเจ้าชาย Alexander Nevsky แห่ง Novgorod แผนการนี้จึงถูกยกเลิก ถึงแม้จะพ่ายแพ้ต่อพวกออร์ธอด็อกซ์ แต่พวกอัศวินทิวทันยังคงมีอำนาจทางทหารมาก และยังยกทัพไปรุกรานดินแดนข้างเคียงอยู่เนือง ๆ เช่นเข้ารุกรานลิทัวเนีย ที่ซึ่งยังมีคนนับถือ pagan อยู่ และมีเรื่องกระทบกระทั่งกับพวกโปแลนด์
อัศวินทิวทันขึ้นสู่จุดสูงสุดในปี 1407 อาณาเขตของรัฐกินพื้นที่หลายแคว้น และมีอำนาจในทะเลบอลติก และลงสู่จุดตกต่ำในยุทธการที่แทนเนนเบิร์ก
เนื่องด้วยทั้งประเทศโปแลนด์และประเทศลิทัวเนีย ต่างมองว่าอัศวินทิวทัน เป็นศัตรูร่วมของทั้ง 2 ประเทศ จึงตกลงตั้งกองทัพผสมเพื่อกำจัดอัศวินทิวทันให้หมดสิ้นไป พวกอัศวินทิวทันก็เริ่มรู้ตัวว่าทั้ง 2 ประเทศนั้นกำลังเตรียมการเพื่อที่จะกำจัดตนเองออกไป จึงตระเตรียมพร้อมรับมือเต็มที่ และเตรียมรับศึก 2 ด้าน กองทัพผสมโปแลนด์-ลิทัวเนีย เดินทัพเข้าไปในดินแดนของพวกอัศวินทิวทัน โดยมีจุดมุ่งหมายที่ฐานบัญชาการของพวกอัศวินทิวทัน สร้างความตระหนกต่อพวกอัศวินทิวทันอย่างมาก เพราะคิดว่าศัตรูจะใช้วิธีตีขนาบ 2 ข้าง นึกไม่ถึงว่าศัตรูจะรวมตัวตีด้านเดียวกัน
ในที่สุดทั้ง 2 กองทัพก็ได้ประจัญหน้ากัน ต่างฝ่ายต่างตั้งแถวพร้อมรบ ปีกซ้ายของกองทัพผสมโปแลนด์-ลิทัวเนีย นำโดยกษัตริย์ Władysław Jagiełło แห่งโปแลนด์ ซึ่งประกอบไปด้วยทหารม้าหนักเป็นส่วนใหญ่ ส่วนกองทัพลิทัวเนีย ซึ่งเป็นทหารม้าเบาเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นยังมีกองหนุนจากชนเผ่า Tatar อีก
กองทัพของอัศวินทิวทัน ประกอบด้วยทหารม้าหนัก และทหารราบหนักและยังมีอัศวินที่พระสันตปาปาส่งมาช่วยอีกด้วย
ผู้นำทัพลิทัวเนียเริ่มโจมตีกองทัพอัศวินทิวทันทางปีกซ้าย ขณะเดียวกันทัพทหารม้าหนักโปแลนด์ก็เข้าตีทางปีกขวาด้วยเช่นกัน ทางกองทัพอัศวินทิวทัน จึงส่งกองทหารม้าหนักเข้าปะทะด้วย หลังจากปะทะกันราว 1 ชั่วโมง ผู้นำทัพลิทัวเนียก็เริ่มใช้กลยุทธ โดยสั่งให้กองทหารม้าเบาถอยจากการต่อสู้ และถอยทัพเข้าไปในบริเวณบึงและป่าทึบ ซึ่งกลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์ที่พวกมองโกลใช้ ผู้นำทัพของลิทัวเนียเคยมีประสบการณ์ต่อสู้กับทัพมองโกลมาแล้ว จึงนำกลยุทธ์นี้มาใช้ในสงครามครั้งนี้ พวกทหารม้าหนักทัพโปแลนด์ตีฝ่าเพื่อเปิดทางถอยให้ทหารม้าเบาลิทัวเนีย ซึ่งเสียหายหนักจากการปะทะกองทัพอัศวินทิวทัน พวกอัศวินทิวทันเห็นศัตรูเสียหายหนักและล่าถอยจึงหลงกล ไล่ติดตามศัตรูที่ถอยทัพเข้าไปในพื้นที่หนองบึง ซึ่งกองทัพลิทัวเนีย เตรียมรับมือไว้แล้ว ขณะเดียวกันทางด้านทัพหลักของโปแลนด์ ซึ่งกำลังเสียเปรียบพวกอัศวินทิวทันอย่างหนัก ปกรนด์มาสเตอร์ Ulrich von Jungingen ผู้นำของอัศวินทิวทัน นำกองมหารม้าเข้าชาร์จหน่วยที่แข็งแกร่งที่สุดของโปแลนด์ สร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่ทัพโปแลนด์ สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อกองทหารม้าหนักของอัศวินทิวทัน ไล่ตามกองทัพลิทัวเนีย ที่แกล้งเป็นถอยทัพไป ทำให้กำลังพลของอัศวินทิวทันเหลือน้อยลง ประกอบกับทัพโปแลนด์ส่งกองหนุนมาอีก ทำให้สถานการณ์ของทัพอัศวินทิวทันย่ำแย่ ถึงแม้กองทหารม้าที่ไล่ตามทัพลิทัวเนีย จะเลิกไล่ตามและกลับเข้าสู่สมรภูมิแล้ว แต่ก็มาสายเกินไป กองทัพอัศวินทิวทันจึงจำเป็นต้องถอยทัพ สถานการณ์ย่ำแย่ลงอีก เมื่อกองทัพลิทัวเนียที่แกล้งทำเป็นถอยทัพไป กลับเข้ามาในสมรภูมิอีกครั้งในสภาพเกือบไร้ความบอบช้ำเพราะไม่ได้เข้าต่อสู้โดยตรง ทำให้กลายเป็นว่าจำนวนกองทัพผสมโปแลนด์-ลิทัวเนีย มีจำนวนทหารมากกว่าทหารของกองทัพอัศวินทิวทัน ผู้นำของกองทัพผสมโปแลนด์-ลิทัวเนียสั่งให้กองทหารทั้งหมด เข้าโจมตีกองทัพของอัศวินทิวทัน พวกอัศวินทิวทันถูกล้อมและเสียหายหนัก ตัวผู้นำ Ulrich von Jungingen ถูกฆ่าตายด้วยน้ำมือของทหารราบชาวนา เมื่อเห็นว่าผู้นำตายแล้ว กองทัพอัศวินทิวทัน จึงถอยทัพกลับไปที่แคมป์ของตน ซึ่งก็ถูกไล่ตีแตกและถูกล่าสังหารจนคนสุดท้าย พวกโปแลนด์-ลิทัวเนียได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด
สมรภูมินี้เป็นตัวอย่างของการใช้กลยุทธ์ในการเอาชนะกองทัพที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า พวกอัศวินทิวทันนั้นมีอุปกรณ์และอาวุธที่เหนือกว่าศัตรูมากมาย แต่ก็ต้องพ่ายให้กองทัพที่ใช้กลยุทธที่ดี
หลังจากสงครามครั้งนี้ อัศวินทิวทันสูญเสียอิทธิพลที่ตนเคยมีไป และไม่เคยฟื้นตัวกลับมาดังเดิมได้เลย
หลังจากพ่ายแพ้ อัศวินทิวทันก็ถูกบีบให้ทำสัญญาที่ทำให้ต้องสูญเสียดินแดนของตนเองในปรัสเซียไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งสูญเสียดินแดนของตนในปรัสเซียทั้งหมด
แต่พวกอัศวินทิวทันยังไม่ได้ล่มสลายไป แต่ยังสามารถรวมตัวกันในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อยู่ ถึงแม้จะสูญเสียอิทธิพลไปหมดแล้วก็ตาม และยังคงคอยช่วยเหลือจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ในการทำสงครามอยู่บ่อย ๆ และยังคงอำนาจทางทหารอยู่มาได้เป็นร้อยปีจนถึงยุคดินปืน
ปี 1809 บทบาททางการทหารของอัศวินทิวทันก็จบสิ้นลง เมื่อนโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส สั่งให้ยุบกำลังทหารของกลุ่มทั้งหมด
ถึงแม้จะสูญเสียกำลังทหารไปแล้ว พวกอัศวินทิวทันก็ยังคงรวมกลุ่มกันในออสเตรีย จนกระทั่งปี 1929 กลุ่มอัศวินทิวทันก็ได้เปลี่ยนไปเป็นองค์กรทางศาสนาเต็มตัว และเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะเยอรมัน" (เยอรมัน: Deutscher Orden, อังกฤษ: German Order)
ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อพวกนาซีเข้ายึดออสเตรีย กลุ่มก็ถูกพวกนาซียุบ เนื่องจากพวกนาซีต้องการใช้ชื่ออัศวินทิวทันและภาพลักษณ์อัศวินศาสนายุคกลางในการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อปลุกกระแสนาซี
กลุ่มได้ถูกตั้งขึ้นใหม่ในปี 1945 ในเยอรมัน ในปัจจุบัน ทางกลุ่มสมาชิก 1000 คน ซึ่งเป็นพระ 100 รูปและแม่ชี 200 คน ซึ่งเหล่าแม่ชีมีหน้าที่หลักในการดูแลสงเคราะห์ผู้ป่วยและคนชรา
ผู้นำคนปัจจุบันคือ Bruno Platter
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.