Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การคุมกำเนิด (อังกฤษ: birth control) คือเทคนิคและวิธีการที่ใช้ในการป้องกันการปฏิสนธิหรือขัดขวางการตั้งครรภ์[1] การคุมกำเนิดถูกใช้มาแต่โบราณ ทว่าวิธีที่ปลอดภัยและได้ผลดีพึ่งมีในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20[2] การวางแผน เตรียมการ และการใช้การคุมกำเนิดถูกเรียกว่าเป็นการวางแผนครอบครัว[3][4] บางวัฒนธรรมไม่สนับสนุนและจำกัดการเข้าถึงวิธีการคุมกำเนิดเพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นที่ต้องการทางศีลธรรม ศาสนา หรือการเมือง[2]
วิธีที่ซึ่งให้ประสิทธิผลสูงสุดคือการทำหมัน โดยการตัดหลอดนำอสุจิ (vasectomy) ในเพศชายและการผูกท่อรังไข่ในเพศหญิง การใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด (IUD) และการใช้ยาฝังคุมกำเนิด[5] ตามมาด้วยการใช้ฮอร์โมน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง วงแหวนช่องคลอด และการฉีดฮอร์โมน วิธีที่ได้ผลรองลงมาได้แก่วิธีการนับระยะปลอดภัยและวิธีการที่ใช้สิ่งกีดขวาง เช่น ถุงยางอนามัย หมวกครอบปากมดลูก และฟองน้ำคุมกำเนิด[5] วิธีที่ได้ผลน้อยที่สุดได้แก่การใช้สารฆ่าเชื้ออสุจิ (spermicide) และการหลั่งนอกช่องคลอด[5]
การทำหมันให้ประสิทธิผลสูงแต่มักเป็นการคุมกำเนิดที่ถาวร ต่างกับวิธีอื่นซึ่งเป็นการคุมแบบชั่วคราวและสามารถย้อนกลับได้เมื่อหยุดใช้[5] การปฏิบัติทางเพศที่ปลอดภัย เช่นการใช้ถุงยางอนามัยชายหรือหญิงยังสามารถป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์[6] ส่วนวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นไม่ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์[7] เทคนิคการคุมกำเนิดฉุกเฉินสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ใช้ภายใน 72 ถึง 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน[8][9] บางคนเชื่อว่าการไม่มีเพศสัมพันธ์เป็นการคุมกำเนิดแบบหนึ่ง ทว่าเพศศึกษาแบบที่สอนให้งดเว้นอย่างเดียวอาจเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นหากไม่สอนควบคู่ไปกับการใช้การคุมกำเนิด เพราะการไม่ยอมทำตาม[10][11] ในประเทศไทย พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ให้ผู้มีอายุระหว่าง 10 ถึง 20 ปี เข้ารับการฝังยาคุมกำเนิดชนิดฝังใต้ผิวหนังได้ฟรีในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ[12]
การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีความเสี่ยงที่จะส่งผลเสียมากกว่า[13] เพศศึกษาที่มีเนื้อหาครอบคลุมและการเข้าถึงการคุมกำเนิดลดอัตราการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในวัยรุ่น[13][14] แม้ผู้เยาว์สามารถใช้การคุมกำเนิดทุกแบบ[15] วิธีคุมกำเนิดชั่วคราวที่ออกฤทธิ์นาน เช่น ยาฝังคุมกำเนิด ห่วงอนามัยคุมกำเนิด หรือ วงแหวนช่องคลอด เป็นวิธีที่ลดโอกาสการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้ดีที่สุด[14] หลังให้กำเนิดผู้หญิงที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวสามารถตั้งท้องอีกครั้งหลัง 4 – 6 สัปดาห์[15] วิธีคุมกำเนิดบางวิธีสามารถใช้ได้ทันทีหลังคลอดบุตร และบางวิธีอาจต้องรอเป็นเวลานานสุดหกเดือน[15] วิธีคุมกำเนิดแบบใช้โปรเจสเตอโรนอย่างเดียวถูกใช้โดยผู้หญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่า ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมน 2 ชนิด[15] ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดระดูถูกแนะนำให้ใช้การคุมกำเนิดต่อไปอีกหนึ่งปีหลังหมดประจำเดือน[15]
ผู้หญิงประมาณ 222 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ไม่ได้กำลังใช้วิธัคุมกำเนิดสมัยใหม่[16][17] การใช้การคุมกำเนิดในประเทศกำลังพัฒนาลดจำนวนการตายระหว่างการตั้งครรภ์ลง 40% (ช่วยชีวิตคนประมาณ 270,000 คน ใน พ.ศ. 2551) และสามารถลดการตายถึง 70% หากสามารถตอบรับความต้องการคุมกำเนิดทั้งหมด[18][19] การคุมกำเนิดสามารถพัฒนาสุขภาพของผู้เป็นแม่หลังการให้กำเนิดบุตรและเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของบุตรโดยการเพิ่มระยะเวลาระหว่างการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง[18] ในโลกกำลังพัฒนา รายได้และสินทรัพย์ของผู้หญิง รวมทั้งน้ำหนัก สุขภาพ และการศึกษาของเด็ก ล้วนดีขึ้นเมื่อมีการเข้าถึงการคุมกำเนิดที่มากขึ้น[20] การคุมกำเนิดทำให้เศรษฐกิจเติบโตเพราะลดจำนวนเด็กที่ต้องพึ่งพาผู้อื่น เพิ่มจำนวนผู้หญิงในแรงงาน และลดการใช้ทรัพยากร[20][21]
วิธีคุมกำเนิด | ในการใช้ทั่วไป | ในการใช้อย่างถูกต้อง |
---|---|---|
ไม่มีการป้องกัน | 85% | 85% |
ยาคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม) | 9% | 0.3% |
ยาคุมกำเนิด(ฮอร์โมนเดียว) | 13% | 1.1% |
การทำหมัน (หญิง) | 0.5% | 0.5% |
การทำหมัน (ชาย) | 0.15% | 0.1% |
ถุงยางอนามัย (หญิง) | 21% | 5% |
ถุงยางอนามัย (ชาย) | 18% | 2% |
ห่วงอนามัยเคลือบทองแดง | 0.8% | 0.6% |
ห่วงอนามัยหลั่งฮอร์โมน | 0.2% | 0.2% |
แผ่นแปะคุมกำเนิด | 9% | 0.3% |
วงแหวนช่องคลอด | 9% | 0.3% |
ยาฉีดคุมกำเนิด | 6% | 0.2% |
ยาฝังคุมกำเนิด | 0.05% | 0.05% |
ฝาครอบปากมดลูกและสารฆ่าเชื้ออสุจิ | 12% | 6% |
การนับระยะปลอดภัย | 24% | 0.4–5% |
การหลั่งนอก | 22% | 4% |
การคุมกำเนิดโดยการให้นมลูก (อัตราล้มเหลวใน 6 เดือนแรก) | 0–7.5%[24] | <2%[25] |
วิธีคุมกำเนิดมีทั้งแบบใช้สิ่งกีดขวาง (barrier method), แบบใช้ฮอร์โมน, แบบใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิด (IUD), การทำหมัน, และวิธีทางพฤติกรรม ที่ใช้ก่อนหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ส่วนการคุมกำเนิดฉุกเฉินอาจยับยั้งการตั้งครรภ์ได้หลายวันหลังมีเพศสัมพันธ์ ประสิทธิผลของวิธีคุมกำเนิดแบบต่าง ๆ มักอยู่ในรูปแบบของจำนวนเปอร์เซ็นต์ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เมื่อใช้วิธีนั้น ๆ ในปีแรก[26] และบางทีวิธีที่มีประสิทธิผลสูงเช่นการผูกท่อรังไข่อาจถูกแสดงในรูปแบบของโอกาสล้มเหลวในช่วงชีวิต[27]
วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิผลสูงสุดได้แก่วิธีที่ให้ผลยาวนานโดยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์เป็นประจำ[28] การทำหมันโดยการผ่าตัด การฝังฮอร์โมน และการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิดมีโอกาสล้มเหลวในปีแรกต่ำกว่า 1%[22] ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง วงแหวนช่องคลอด และวิธีการคุมกำเนิดโดยการให้นมลูก (lactational amenorrhea method -LAM) มีโอกาสล้มเหลวต่ำกว่า 1% ในปีแรก (ใน 6 เดือนแรกสำหรับ LAM) หากใช้อย่างถูกต้อง[28] โดยมีอัตราการล้มเหลวถึง 9% ในการใช้แบบทั่วไปเนื่องจากการใช้แบบผิด ๆ[22] วิธีแบบอื่น เช่น ถุงยางอนามัย ฝาครอบปากมดลูก (diaphragm) และสารฆ่าเชื้ออสุจิมีอัตราล้มเหลวในปีแรกที่สูงกว่าแม้เมื่อใช้งานอย่างถูกต้อง.[28] สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกาแนะนำให้ผู้เยาว์ใช้วิธีคุมกำเนิดระยะยาวที่ย้อนกลับได้เป็นอันดับแรก[29]
แม้วิธีคุมกำเนิดทุกแบบอาจมีผลข้างเคียง ผลเสียเหล่านั้นน้อยกว่าผลเสียที่มากับการตั้งครรภ์[28] คนที่หยุดการใช้ยาคุมกำเนิดหรือยาฉีด หรือถอดอุปกรณ์คุมกำเนิดแบบต่าง ๆ เช่น ห่วงอนามัยหรือยาฝังมีอัตราการตั้งครรภ์ในปีต่อมาเท่ากับคนที่ไม่ได้คุมกำเนิด[30]
คนที่มีปัญหาด้านสุขภาพอาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม[31] ส่วนสำหรับผู้หญิงที่ร่างกายแข็งแรง การคุมกำเนิดหลายวิธีสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย รวมถึง ยาคุมกำเนิดแบบกิน แบบฉีด หรือแบบฝัง และถุงยางอนามัย[32] งานวิจัยพบว่าการตรวจภายใน การตรวจเต้านม หรือการตรวจเลือดก่อนเริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดไม่ส่งผลกระทบใด ๆ[33][34] ในพ.ศ. 2552 องค์การอนามัยโลกเผนแพร่รายชื่อเกณฑ์สุขภาพสำหรับวิธีคุมกำเนิดแต่ละชนิด[31]
การคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมนมีหลายแบบ เช่น ยาเม็ด ยาฝังใต้ผิวหนัง ยาฉีด ยาแปะ ห่วงอนามัย และวงแหวนช่องคลอด วิธีเหล่านี้ล้วนใช้ได้กับผู้หญิงเท่านั้น ส่วนสำหรับผู้ชายกำลังอยู่ในระยะทดสอบ[35] ยาเม็ดคุมกำเนิดมีอยู่สองชนิด แบบฮอร์โมนรวม (ซึ่งมีทั้งเอสโตรเจนและโปรเจสติน) และแบบที่มีแค่โปรเจสตินอย่างเดียว[36] ยาทั้งสองแบบไม่มีผลต่อทารกในครรภ์หากรับประทานขณะตั้งครรภ์[34] ยาคุมกำเนิดทั้งสองแบบป้องกันการปฏิสนธิโดยยับยั้งการตกไข่และเพิ่มความข้นของมูกช่องคลอดเป็นหลัก[37][38] ประสิทธิผลของยาข้นอยู่กับการที่ผู้ใช้รับประทานยาอย่างตรงเวลา[34] โดยยาอาจส่งผลต่อเยื่อบุโพรงมดลูกทำให้ตัวอ่อนฝังตัวยากขึ้น[38]
ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของภาวะอุดตันของหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดงเล็กน้อย[39] โดยเฉลี่ยภาวะหลอดเลือดดำอุดตันเพิ่มขึ้นจาก 2.8 เป็น 9.8 ต่อ 10,000 ปีผู้หญิง[40] ซึ่งน้อยกว่าความสัมพันธ์กับการตั้งครรภ์[39] เพราะเหตุนี้จึงไม่แนะนำให้ผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปีที่สูบบุหรี่รับประทานยาคุมกำเนิด[41]
ยาอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการทางเพศต่างกันในแต่ละคน โดยอาจเพิ่มหรือลด ทว่าส่วนใหญ่ไม่มีความเปลี่ยนแปลง[42] ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมลดความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่และมะเร็งเยื่อบุมดลูกและไม่เพิ่มหรือลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม[43][44] ยามักลดปริมาณประจำเดือนและลดอาการปวดประจำเดือน[34] วงแหวนช่องคลอดปล่อยเอสโตรเจนในระดับต่ำกว่าจึงอาจลดโอกาสของการเจ็บเต้านม คลื่นไส้ และปวดหัว[43]
ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดียว (โปรเจสติน), ยาคุมกำเนิดแบบฉีด, และห่วงอนามัยคุมกำเนิดไม่สัมพันธ์กับความเสี่ยงของภาวะอุดตันของหลอดเลือด และผู้หญิงที่มีภาวะหลอดเลือดดำอุดตันสามารถใช้ได้[39][45] ส่วนผู้มีประวัติหลอดเลือดแดงอุดตันควรใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดียวแบบใดก็ได้นอกจากแบบฉีด[39] ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดียวอาจลดอาการประจำเดือน และหญิงที่กำลังให้นมลูกสามารถรับประทานยาคุมชนิดนี้ได้เนื่องจากไม่ส่งผลต่อการผลิตนม วิธีคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเดียวอาจส่งผลต่อประจำเดือน โดยผู้ใช้บางคนอาจไม่มีประจำเดือนเลย[46] อัตราการล้มเหลวในปีแรกเมื่อใช้อย่างถูกต้องของโปรเจสตินแบบฉีดอยู่ที่ 0.2% และอยู่ที่ 6% ในการใช้แบบทั่วไป[22]
การคุมกำเนิดโดยใช้สิ่งกีดขวางป้องกันการตั้งครรภ์โดยหยุดไม่ให้ตัวอสุจิเข้าไปยังมดลูก[47] ถุงยางอนามัยชายและหญิง หมวกครอบปากมดลูก ฝาครอบปากมดลูก และฟองน้ำคุมกำเนิดร่วมกับสารฆ่าเชื้ออสุจิ ล้วนเป็นการใช้สิ่งกีดขวาง[47]
ถุงยางอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมสูงสุดทั่วโลก[48] ถุงยางอนามัยชายใช้สวมบนองคชาตขณะแข็งตัวและป้องกันน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาไม่ให้เข้าไปในตัวของคู่นอน[49] ถุงยางอนามัยสมัยใหม่ทำจากยางพารา ทว่าบางทีอาจทำจากวัสดุอื่น เช่น โพลียูรีเทน หรือลำไส้แกะ[49] ส่วนถุงยางอนามัยหญิงมักทำจากยางไนไตร ยางพารา หรือโพลียูรีเทน[50] ถุงยาอนามัยชายมีข้อดีคือราคาถูก ใช้ง่าย และไม่ค่อยมีผลข้างเคียง[51] การทำให้วัยรุ่นเข้าถึงถุงยางอนามัยได้ง่ายไม่ส่งผลต่ออายุที่เริ่มมีกิจกรรมทางเพศหรือความถี่[52] ในประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 80% ของคู่รักใช้ถุงยางอนามัยเพื่อคุมกำเนิด ส่วนในประเทศเยอรมันตัวเลขอยู่ที่เพียง 25%[53] และอยู่ที่ 18% ในสหรัฐอเมริกา[54]
ถุงยางอนามัยชายและฝาครอบปากมดลูกร่วมกับสารฆ่าเชื่ออสุจิมีอัตราการล้มเหลวในปีแรกเมื่อใช้อย่างทั่วไปอยู่ที่ 18% และ 12% ตามลำดับ[22] ในการใช้แบบถูกต้อง ถุงยางอนามัยมีประสิทธิผลสูงกว่า โดยมีอัตราการล้มเหลวในปีแรกอยู่ที่ 2% ส่วนฝาครอบปากมดลูกอยู่ที่ 6%[22] นอกจากนี้ถุงยางอนามัยยังสามารถช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นโรคเอดส์[5]
ฟองน้ำคุมกำเนิดเป็นการใช้สิ่งกีดขวางร่วมกับสารฆ่าเชื้ออสุจิ[28] ใช้โดยการใส่เข้าไปในช่องคลอดก่อนการมีเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกับฝาครอบปากมดลูก และต้องวางบนปากมดลูกถึงจะใช้ได้[28] อัตราการล้มเหลวในการใช้ปีแรกขึ้นอยู่กับว่าผู้หญิงที่ใช้เคยมีลูกหรือไม่ โดยอยู่ที่ 24% สำหรับผู้เคยมีลูก และ 12% สำหรับผู้ไม่เคยมี[22] สามารถใส่ฟองน้ำได้ถึง 24 ชั่วโมงก่อนมีเพศสัมพันธ์และต้องทิ้งไว้ในช่องคลอดไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมงหลังร่วมเพศ[28] นอกจากนี้ยังมีรายงานอาการแพ้[55] และผลข้างเคียงที่สาหัสอย่างอาการท็อกสิกช็อก (toxic shock syndrome)[56]
ในปัจจุบัน ห่วงอนามัยคุมกำเนิด (ไอยูดี) เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็ก มักมีรูปตัว T และมักเคลือบด้วยทองแดงหรือฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) ซึ่งใช้โดยการใส่เข้าไปในมดลูก นับเป็นวิธีคุมกำเนิดระยะยาวที่ย้อนกลับได้แบบหนึ่ง[57] อัตราการล้มเหลวของห่วงคุมกำเนิดเคลือบทองแดงอยู่ที่ประมาณ 0.8% ส่วนแบบใช้ลีโวนอร์เจสเตรลมีอัตราการล้มเหลวอยู่ที่ 0.2% ในการใช้ปีแรก[58] ผู้ใช้ห่วงอนามัยและยาคุมกำเนิดแบบฝังมีความพึงพอใจสูงสุดเมื่อเทียบกับผู้ใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่น[59] ณ พ.ศ. 2550 ห่วงอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบย้อนกลับได้ที่ถูกใช้มากที่สุด และมีผู้ใช้กว่า 180 ล้านคนทั่วโลก[60]
หลักฐานชี้ว่าห่วงอนามัยปลอดภัยและมีประสิทธิผลดีเมื่อใช้กับวัยรุ่น[59] และคนที่ไม่เคยมีลูก[61] ห่วงอนามัยไม่ส่งผลกระทบต่อการให้นมลูก และสามารถติดตั้งได้ทันทีหลังให้กำเนิดบุตร[62] นอกจากนี้ยังสามารถใช้ได้ทันทีหลังทำแท้ง[63] เมื่อถอดออกภาวะเจริญพันธุ์จะกลับมาปกติทันทีแม้จะเคยใช้มาเป็นเวลานาน[64]
ห่วงอนามัยชนิดเคลือบทองแดงอาจส่งผลให้ประจำเดือนมามากและปวดประจำเดือนมากขึ้น[65] ในทางตรงข้าม ห่วงอนามัยแบบฮอร์โมนอาจลดประจำเดือนหรือหยุดประจำเดือน[62] อาการปวดประจำเดือนสามารถบรรเทาด้วยยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAID)[66] ผลกระทบที่อาจตามมาได้แก่ expulsion (2-5%) และมดลูกฉีกขาดที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก (น้อยกว่า 0.7%)[62][66] ห่วงอนามัยแบบเก่าที่ชื่อ Dalkon shield ถูกพบว่าเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (pelvic inflammatory disease) อย่างไรก็ตามห่วงอนามัยรุ่นปัจจุบันไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงนี้หากผู้ใช้ไม่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ตอนช่วงเวลาติดตั้ง[67]
การทำหมันมีทั้งการผูกท่อรังไข่สำหรับผู้หญิงและการตัดหลอดนำอสุจิสำหรับผู้ชาย[2] ทั้งคู่ไม่มีผลข้างเคียงระยะยาว และการผูกท่อรังไข่สามารถลดความเสี่ยงมะเร็งรังไข่[2] การตัดหลอดนำอสุจิมีโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าการผูกท่อรังไข่ถึง 20 เท่า[2][68] หลังการตัดหลอดนำอุจิถุงอัณฑะอาจมีอาการบวมหรือเจ็บทว่าอาการมักดีขึ้นภายในหนึ่งถึงสองสัปดาห์[69] ส่วนการผูกท่อรังไข่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน 1–2% โดยภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมักเกิดขึ้นจากการวางยาสลบ[70] การทำหมันไม่ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์[2]
หลายคนอาจรู้สึกเสียดายหลังทำหมัน ประมาณ 5% ของผู้หญิงที่ทำหมันซึ่งมีอายุมากกว่า 30 ปี เสียใจกับการตัดสินใจของตน และประมาณ 20% ของหญิงอายุต่ำกว่า 30 ปี รู้สึกเสียดาย[2] ในทางตรงกันข้าม ผู้ชายน้อยกว่า 5% รู้สึกเสียใจที่ทำหมัน โดยผู้ชายที่รู้สึกเสียดายมักอายุน้อย มีลูกที่ยังเด็ก ไม่มีลูก หรือมีปัญหากับชีวิตคู่หลังแต่งงาน[71] แบบสอบถามพบว่า 9% ของพ่อแม่ที่แท้จริงกล่าวว่าหากย้อนเวลาได้พวกเขาจะเลือกไม่มีลูก[72]
การทำหมันถูกเรียกว่าเป็นกระบวนการที่ถาวร[73] ทว่าเป็นไปได้ที่จะพยายามต่อท่อรังไข่หรือต่อหลอดนำอสุจิอีกครั้ง ผู้หญิงมักมีความต้องการจะย้อนกระบวนการทำหมันเมื่อเปลี่ยนคู่ครอง[73] อัตราความสำเร็จของการตั้งครรภ์หลังการต่อท่อรังไข่อยู่ระหว่างร้อยละ 31 ถึง ร้อยละ 88 โดยมีความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การท้องนอกมดลูก[73] ร้อยละ 2 ถึง 6 ของผู้ชายที่ทำหมันขอต่อหลอดนำอสุจิอีกครั้ง[74] อัตราความสำเร็จหลังย้อนการทำหมันอยู่ที่ 38–84% ยิ่งทำหมันมาเป็นเวลานานอัตราความสำเร็จหลังการต่อหลอดนำอสุจิอีกครั้งยิ่งต่ำลง[74] ผู้ชายยังสามารถใช้วิธีสกัดอสุจิตามด้วยการปฏิสนธินอกร่างกาย[75]
การคุมกำเนิดโดยพฤติกรรมเป็นการควบคุมเวลาหรือวิธีร่วมเพศเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิเข้าไปยังช่องคลอดในช่วงเวลาที่ผู้หญิงอาจกำลังตกไข่[76] หากใช้อยากถูกต้องการคุมกำเนิดแบบนี้มีอัตราการล้มเหลวในปีแรกอยู่ที่เพียง 3.4% ทว่าหากใช้อย่างผิด ๆ อัตราการล้มเหลวในปีแรกอาจเพิ่มสูงถึง 85%[77]
การนับระยะปลอดภัยใช้เพื่อบอกภาวะเจริญพันธุ์ในรอบประจำเดือนผู้หญิงและหลีกเลี่ยงการร่วมเพศอย่างไม่ป้องกันในวันเหล่านั้น[76] สัญญาณใช้เพื่อชี้ภาวะเจริญพันธุ์ได้แก่ อุณหภูมิร่างกายขณะพัก มูกช่องคลอด หรือรอบประจำเดือน[76] วิธีนี้มีอัตราการล้มเหลวในการใช้ปีแรกอยู่ที่ 24% เมื่อใช้แบบทั่วไป และอยู่ที่ 0.4% ถึง 5% เมื่อใช้อย่างถูกต้อง[22] ทั่วโลกมีคู่รักประมาณ 3.6% ใช้วิธีนี้[78] ณ พ.ศ. 2559 มีโปรแกรมประยุกต์จำนวนหนึ่งที่ถูกสร้างมาเพื่อนับระยะปลอดภัย ทว่ามักถูกใช้เพื่อช่วยให้ตั้งครรภ์มากกว่าเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์[79]
การหลั่งนอกช่องคลอดเป็นการที่ผู้ชายถอนอวัยวะเพศออกจากช่องคลอดขณะกำลังร่วมเพศก่อนที่จะถึงจุดสุดยอดและก่อนหลั่งน้ำอสุจิ[80] ความเสี่ยงหลักของวิธีนี้คือการที่ผู้ชายอาจกะเวลาไม่ถูก[80] อัตราการล้มเหลวในการใช้ปีแรกอยู่ที่ 4% เมื่อใช้อยากถูกต้อง และ 22% สำหรับการใช้ทั่วไป[22] แพทย์บางคนอาจคิดว่าวิธีนี้ไม่ใช่การคุมกำเนิด[28]
ข้อมูลเกี่ยวกับประมาณอสุจิในน้ำหล่อลื่นนั้นมีจำนวนไม่มาก[81] บางงานวิจัยไม่พบตัวอสุจิเลย[81] งานวิจัยหนึ่งพบอสุจิในอาสาสมัคร 10 คน จาก 27 คน[82] คู่รัก 3% ใช้วิธีการหลั่งนอกเพื่อคุมกำเนิด[78]
การงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์อาจหมายถึงการไม่ประกอบกิจกรรมทางเพศหรือร่วมเพศทางอื่นนอกจากช่องคลอด โดยถือว่าเป็นการคุมกำเนิดชนิดหนึ่ง[83][84] การงดเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100%[85][86] อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่า 88% ของคนที่สัญญาว่าจะไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานได้ร่วมเพศก่อนแต่งงาน[87] การงดเว้นไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ที่เกิดจากการข่มขืน นโยบายทางสาธารณสุขที่รณรงค์ให้งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ไม่ค่อยมีประสิทธิผลเท่าไหร่นักโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส[88][89]
บางครั้งการร่วมเพศแบบไม่สอดใส่หรือการร่วมเพศทางปากถือเป็นการคุมกำเนิดเช่นกัน[83] แม้บางครั้งอาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้ตั้งครรภ์แม้ไม่ได้สอดใส่ก็ตาม ตัวอย่างเช่น การร่วมเพศบริเวณขาหนีบหรือบริเวณอื่นใกล้ช่องคลอด การถูไถด้านนอกช่องคลอด และขณะถอนองคชาตออกหลังการร่วมเพศทางทวารหนัก โดยอสุจิอาจติดอยู่ตรงบริเวณช่องคลอดและเคลื่อนตัวไปกับน้ำหล่อลื่นที่ออกมา[90][91] การสอนเพศศึกษาที่เน้นการงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์อย่างเดียวไม่ลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น[7][92]
การคุมกำเนิดโดยการให้นมลูก (LAM) เป็นวิธีคุมกำเนิดโดยธรรมชาติ หลังคลอดผู้หญิงมักอยู่ในภาวะไม่เจริญพันธุ์เป็นระยะเวลาหนึ่งและสามารถคงภาวะไว้ได้ด้วยการให้นมลูก[93] โดยสามารถใช้ได้หากไม่มีประจำเดือน เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว และลูกยังอายุไม่ถึง 6 เดือน[25] องค์การอนามัยโลกกล่าวว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวมีอัตราการล้มเหลวอยู่ที่ 2% ในหกเดือนแรกหลังคลอด [94] งานวิจัย 6 งานพบอัตราการล้มเหลวในหกเดือนแรกหลังคลอดอยู่ระหว่าง 0 ถึง 7.5%[95]อัตราการล้มเหลวเพิ่มขึ้นเป็น 4–7% ในหนึ่งปี และ 13% ในสองปี[96] การเลี้ยงลูกด้วยนมผง การปั้มนมแทนที่การให้ดูดจากเต้า การใช้จุกนม และการให้ทานอาหารแข็ง มีส่วนเพิ่มอัตราการล้มเหลว[97] ในคนที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวมี 10% ที่เริ่มมีประจำเดือนภายในสามเดือน และ 20% ภายในหกเดือน[96] ส่วนคนที่ไม่ได้ให้นมลูกอาจกลับมาเจริญพันธุ์ภายใน 4 สัปดาห์หลังคลอด[96]
การคุมกำเนิดฉุกเฉินคือการใช้ยาเม็ด (ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน)[98] หรืออุปกรณ์หลังมีเพศสัมพันธ์อย่างไม่ป้องกัน เพื่อลดโอกาสการตั้งครรภ์[8] มักทำงานโดยป้องกันการตกไข่หรือการปฏิสนธิ[2][99] ปกติแล้วจะไม่ส่งผลกระทบต่อการฝังตัวของตัวอ่อน[99] วิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินมีหลายแบบ เช่น การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดในปริมาณมาก ฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเตรล ยาไมฟีพริสโทน และห่วงอนามัยคุมกำเนิด[100] ยาเม็ดที่มีลีโวนอร์เจสเตรลลดโอกาสการตั้งครรภ์ถึง 70% เมื่อรับประทานภายใน 3 วันหลังร่วมเพศโดยไม่ป้องกันหรือหากถุงยางอนามัยรั่ว (มีโอกาสตั้งครรภ์ 2.2%)[8] ส่วนยาอีกตัวหนึ่งที่เรียกว่า ulipristal ลดโอกาสตั้งกันประมาณ 85% เมื่อรับประทานภายใน 5 วันหลังร่วมเพศ (มีโอกาสตั้งครรภ์ 1.4%)[8][100][101] ยาไมฟีพริสโทนมีประสิทธิผลสูงกว่ายาเม็ดที่มีลีโวนอร์เจสเตรล และห่วงอนามัยเคลือบทองแดงเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินที่ให้ประสิทธิผลสูงสุด[100] ห่วงอนามัยป้องกันการตั้งครรภ์ได้มากกว่า 99% หากใส่ภายใน 5 วันหลังร่วมเพศ (มีโอกาสตั้งครรภ์ 0.1–2%)[2][102][103] ยาที่มีลีโวนอร์เจสเตรลอาจมีประสิทธิผลต่ำกว่าเมื่อใช้โดยผู้มีโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน จึงแนะนำให้ใช้ห่วงอนามัยหรือ ulipristal แทน[104]
การป้องกันสองชั้นเป็นการใช้วิธีที่ป้องกันทั้งการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์[105] โดยอาจใช้ถุงยางอนามัยอย่างเดียวหรือร่วมกับวิธีคุมกำเนิดแบบอื่น หรือโดยการหลีกเลี่ยงการร่วมเพศแบบสอดใส่[106][107] การป้องกันสองชั้นเหมาะกับผู้ไม่อยากตั้งครรภ์[106] และผู้ที่ใช้ยารักษาสิวอย่าง isotretinoin ที่เพิ่มความเสี่ยงความพิการแต่กำเนิดในครรภ์[108]
มีการประมาณว่าการคุมกำเนิดในประเทศกำลังพัฒนาลดจำนวนการตายของมารดาจากการมีครรภ์และการคลอดโดยตรงถึง 40% หรือประมาน 270,000 คนใน พ.ศ. 2541 และอาจสามารถป้องกันการตายถึง 70% หากความต้องการทั้งหมดของการคุมกำเนิดถูกตอบรับ[18][19] ผลดีเหล่านี้มาจากการลดจำนวนการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนซึ่งมักจบด้วยการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย และการป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ในกลุ่มเสี่ยง[18]
การคุมกำเนิดยังช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของเด็กในประเทศกำลังพัฒนาโดยการเพิ่มระยะเวลาระหว่างการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง[18] กลุ่มนี้มักมีผลลัพธ์แย่ลงเมื่อมารดาตั้งครรภ์อีกครั้งภายใน 18 เดือนหลังคลอด[18][110]
การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นโดยเฉพาะในวัยรุ่นที่มีอายุน้อย มักส่งผลเสียต่อทารก เช่น คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อย หรือาจเสียชีวิตหลังคลอด[13] ในสหรัฐอเมริกา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอายุระหว่าง 15 ถึง 19 ปี เกิดขึ้นโดยไม่ได้วางแผน[66] การสอนเพศศึกษาแบบรอบด้าน (comprehensive sex education) และการเข้าถึงการคุมกำเนิดมีประสิทธิผลในการลดอัตราการตั้งครรถ์ในกลุ่มอายุนี้[111]
มีลูก 7–8 คน
มีลูก 6–7 คน
มีลูก 5–6 คน มีลูก 4–5 คน |
มีลูก 3–4 คน
มีลูก 2–3 คน
มีลูก 1–2 คน
มีลูก 0–1 คน |
ในประเทศกำลังพัฒนา การคุมกำเนิดทำให้เศรษฐกิจเติบโตด้วยการลดจำนวนเด็กที่ต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ และเพิ่มจำนวนผู้หญิงที่ทำงาน[20] รายได้ ทรัพย์สิน ดัชนีมวลกายของผู้หญิง รวมถึงการศึกษาและดัชนีมวลกายของลูก สูงขึ้นกับการเข้าถึงการคุมกำเนิดที่มากขึ้น[20] การวางแผนครอบครัวโดยการคุมกำเนิดเป็นหนึ่งในนโยบายด้านสุขภาพที่คุ้มทุนที่สุด[112] สหประชาชาติประมาณว่าเงินทุก ๆ 32 บาท ($1) ที่ใช้ไปกับการคุมกำเนิดเท่ากับการประหยัดเงินไป 60 ถึง 180 บาท ($2–6)[17] เป็นการประหยัดเงินจากกรลดการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนและลดการกระจายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ [112] แม้ทุกวิธีจะช่วยประหยัดเงิน การใช้ห่วงอนามัยเคลือบทองแดงช่วยประหยัดเงินได้เยอะที่สุด[112]
ในสหรัฐอเมริกาค่าใช้จ่ายรวมตั้งแต่ตั้งครรภ์ คลอด รวมถึงในการดูแลทารกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ $21,000 หรือประมาณ 670,000 บาท หากคลอดแบบธรรมชาติ และ $31,000 (990,000 บาท) หากผ่าคลอด ณ พ.ศ. 2555[113] ค่าใช้จ่ายในประเทศอื่นมักถูกกว่านี้กว่าครึ่ง[113]
6%
12%
18% 24% |
36%
48%
60% 60% |
66%
78%
86%
ไม่มีข้อมูล |
ณ พ.ศ. 2542 ประมาณ 60% ของคู่สามีภรรยาที่สามารถมีลูกได้ทั่วโลกใช้การคุมกำเนิด[114] ความนิยมของแต่ละวิธีคุมกำเนิดแตกต่างกันในแต่ละประเทศ[114] วิธีคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศพัฒนาแล้วคือถุงยางอนามัยและยาเม็ดคุมกำเนิด ส่วนในทวีปแอฟริกาคือยาเม็ดคุมกำเนิด การทำหมันได้รับความนิยมที่สุดในทวีปเอเชียและลาตินอเมริกา[114] ในประเทศกำลังพัฒนา 35% ของการคุมกำเนิดทำโดยการทำหมันหญิง 30% โดยการใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิด 12% โดยการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด 11% โดยการใช้ถุงยางอนามัย และ 4% ทำโดยการทำหมันชาย[114]
จำนวนผู้หญิงที่ใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิด ณ พ.ศ. 2550 มีมากกว่า 180 ล้านคนและส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา[60] ทั่วโลกผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ประมาณ 3.6% หลีกเลี่ยงการร่วมเพศระหว่างระยะเจริญพันธุ์ ทว่าอัตราการใช้วิธีนี้สูงถึง 20% ในแถบอเมริกาใต้[115] ณ พ.ศ. 2548 ร้อยละ 12 ของคู่รักทั่วโลกใช้การคุมกำเนิดชาย (ถุงยางอนามัยชายหรือการตัดท่อนำอสุจิ) โดยประเทศพัฒนาแล้วมีอัตราการใช้สูงกว่า[116] อัตราการใช้การคุมกำเนิดชายลดลงระหว่างพ.ศ. 2523 และ 2552[114] การใช้การคุมกำเนิดในผู้หญิงแถบแอฟริกาใต้สะฮาราเพิ่มขึ้นจาก 5% ในพ.ศ. 2534 เป็น 30% ในพ.ศ. 2549[117]
ณ พ.ศ. 2555 ร้อยละ 57 ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ต้องการที่จะหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ (867 ล้านคนจาก 1,520 ล้านคน)[118] ผู้หญิงประมาณ 222 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงการคุมกำเนิด ในจำนวนนี้ 53 ล้านคนอาศัยอยู่ที่แถบแอฟริกาใต้สะฮาราและ 97 ล้านคนอาศัยอยู่ในแถบเอเชีย[118] สิ่งนี้ก่อให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนจำนวน 54 ล้านครั้ง และนำไปสู่การตายของมารดาจำนวนเกือบ 80,000 รายต่อปี[114] ผู้หญิงหลายคนไม่สามารถเข้าถึงวิธีคุมกำเนิดด้วยข้อจำกัดทางศาสนาหรือทางการเมือง[2] อีกเหตุผลนึงคือความยากจน[119] ผู้หญิงหลายคนในแถบแอฟริกาใต้สะฮาราหันไปหาการทำแท้งเถื่อนหลังตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนเนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งที่เข้มงวด ทำให้ผู้หญิงประมาณ 2–4% ในหนึ่งปีทำแท้งอย่างไม่ปลอดภัย[119]
พาไพรัสอีเบอร์ส์ (Ebers Papyrus) แห่งอียิปต์จาก 1550 ปีก่อนคริสตกาลและพาไพรัสคาฮุน (Kahun Papyrus) จาก 1850 ปีก่อนคริสตกาลได้บันทึกการคุมกำเนิดที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในวิธีที่เก่าแก่ที่สุด โดยการใช้น้ำผึ้ง ใบจากต้นอาเคเชีย และผ้าพันแผลใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อกีดขวางน้ำอสุจิ .[120][121] เชื่อกันว่าต้นซิลเฟียม (silphium) แห่งกรีซโบราณถูกใช้เพื่อคุมกำเนิด และด้วยประสิทธิผลและความต้องการทำให้มันสูญพันธุ์ไปในที่สุด[122]
ในสมัยกลางของยุโรป การกระทำเพื่อหยุดยั้งการตั้งครรภ์ถูกพระศาสนจักรคาทอลิกมองว่าผิดศีลธรรม[120] ทว่าเชื่อกันว่าสมัยน้นผู้หญิงยังคงใช้การคุมกำเนิดรูปแบบต่าง ๆ เช่น การหลั่งนอกและการใส่รากต้นลิลีเข้าไปในช่องคลอด[123] ผู้หญิงในสมัยกลางยังมักถูกแนะนำให้มัดลูกอัณฑะเพียงพอนไว้ที่ต้นขาระหว่างมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์[124] ถุงยางอนามัยซึ่งเก่าแก่ที่สุดถูกพบในซากปราสาทดัดลีย์ในประเทศอังกฤษ และคาดว่ามาจาก ค.ศ. 1640[124] โดยทำจากลำไส้สัตว์และคาดว่ายังถูกใช้ป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษ[124]
กาซาโนวา ผู้ใช้ชีวิตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ของอิตาลี บรรยายเกี่ยวกับการใช้หนังแกะคลุมเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม การใช้ถุงยางอนามัยเริ่มถูกใช้ในวงกว้างในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20[120]
การเคลื่อนไหวทางการคุมกำเนิดพัฒนาขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20[125] Malthusian League ตั้งขึ้นบนฐานความคิดของ ทอมัส มาลธัสใน ค.ศ. 1877 ที่สหราชอาณาจักร เพื่อให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับความสำคัญของการวางแผนครอบครัวและยังสนับสนุนให้เลิกลงโทษผู้ที่ส่งเสริมการคุมกำเนิด[126] มาร์กาเร็ต แซนเกอร์ และ ออตโต บ็อบเซน ทำให้คำว่า "การคุมกำเนิด" เป็นที่รู้จักใน ค.ศ. 1914[127][128] หลัก ๆ แล้วแซนเกอร์สนับสนุนการคุมกำเนิดเพราะเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้หญิงไปทำแท้งอย่างไม่ปลอดภัย ทว่าเธอมักรณรงค์ว่าการคุมกำเนิดลดข้อบกพร่องทางกายและทางจิต[129][130] ส่วนใหญ่เธอเคลื่อนไหวภายในสหรัฐอเมริกา ต่อมาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 เธอเริ่มมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ในช่วงนั้นมีการใช้กฎหมายเกี่ยวกับระเบียบอันเคร่งครัด (Comstock Law) ทำให้การแจกจ่ายวิธีคุมกำเนิดเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เธอได้รับการประกันตัวใน ค.ศ. 1914 หลังถูกจับข้อหาแจกจ่ายข้อมูลเกี่ยวกับการคุมกำเนิด และย้ายออกจากสหรัฐไปยังสหราชอาณาจักร[131] ในสหราชอาณาจักรแซงเกอร์ยังคงต่อสู้เพื่อการคุมกำเนิด โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก Havelock Ellis เธอเชื่อว่าผู้หญิงต้องสามารถร่วมเพศอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องกังวลว่าจะตั้งครรภ์ ระหว่างใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ แซงเกอร์เห็นฝาครอบปากมดลูกที่มาความยืดหยุ่นมากกว่าเดิมในคลินิกดัชแห่งนึง เธอคิดว่ามันเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ดีกว่า[130] เมื่อแซงเกอร์กลับไปที่สหรัฐ เธอก่อตั้งคลินิกในบรุกลิน รัฐนิวยอร์กโดยได้รับความช่วยเหลือจากน้องสาว Ethel Bryne[132] ใน ค.ศ. 1916 แต่ว่าเพียง 11 วันต่อมาก็ถูกปิดตัวลง ซ้ำเธอยังโดนจับกุม[133] ความโด่งดังของการเข้าจับกุม การสู้คดี และการอุทธรณ์จุดประกายให้เกิดผู้ยึดถือทฤษฎีเกี่ยวกับการคุมกำเนิดขึ้นทั่วสหรัฐ[134] นอกจากน้องสาวของเธอแล้ว แซงเกอร์ยังได้รับความช่วยเหลือจากสามีคนแรก วิลเลียม แซงเกอร์ และสามีคนที่สอง James Noah H. Slee[130]
คลินิกถาวรเพื่อการคุมกำเนิดแห่งแรกถูกก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2464 ณ ประเทศอังกฤษ โดย มารี สโตปส์ (Marie Stopes)[135] ดำเนินการโดยนางผดุงครรภ์และได้รับการสนับสนุนจากแพทย์รับเชิญ[136] คลินิกเป็นที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการคุมกำเนิดแก่ผู้หญิงและยังสอนเกี่ยวกับการใช้หมวกครอบปากมดลูก คลินิกของเธอทำให้การคุมกำเนิดเป็นที่ยอมรับในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 โดยการใช้คำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ สโตรปส์และผู้นำคตินิยมสิทธิสตรีผู้อื่นทำหน้าที่สำคัญในการทำลายข้อห้ามเกี่ยวกับเซ็กส์ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1930 การประชุมการคุมกำเนิดได้รวบรวมตัวแทน 700 คน และนำการคุมกำเนิดและการทำแท้งเข้าสู่โลกทางการเมือง สามเดือนต่อมา กระทรวงสาธารณสุขในสหราชอาณาจักรอนุญาตให้องค์การรัฐวิสาหกิจท้องถิ่นให้คำแนะนำเกี่ยวกับการคุมกำเนิดในศูนย์สวัสดิการ[137]
ใน ค.ศ. 1936 ศาลสหรัฐให้การตัดสินในคดี U.S. v. One Package ว่าการจ่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยชีวิตหรือพัฒนาความเป็นอยู่ของคนไข้ไม่ถือว่าขัดกับกฎหมายเกี่ยวกับระเบียบอันเคร่งครัด ผสการสำรวจระดับชาติใน ค.ศ. 1937 ชี้ว่า 71% ของผู้ใหญ่สนับสนุนการคุมกำเนิด ใน ค.ศ. 1938 สหรัฐมีคลินิกคุมกำเนิดทั้งหมด 347 แห่ง แม้การโฆษณาเกี่ยวกับคลินิกยังถือว่าผิดกฎหมาย เอลานอร์ รูสเวลต์ (Eleanor Roosevelt) อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งสนับสนุนการคุมกำเนิดและการวางแผนครอบครัวอย่างเปิดเผย[138] ใน ค.ศ. 1966 ประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน กล่าวสนับสนุนการจัดหาเงินทุนสาธารณะสำหรับบริการวางแผนครอบครัว และรัฐบาลกลางสหรัฐยังเริ่มสงเคราะห์เงินช่วยเหลือบริการคุมกำเนิดแก่ครอบครัวรายได้น้อย[139] รัฐบัญญัติคุ้มครองผู้ป่วยและการบริบาลที่เสียได้ถูกลงนามเป็นกฎหมายเมื่อมีนาคม ค.ศ. 2010 ภายใต้ประธานาธิบดี บารัก โอบามา และกำหนดให้แผนประกันสุขภาพทุกแบบครอบคลุมวิธีคุมกำเนิด รวมถึง วิธีที่ใช้สิ่งกีดขวาง วิธีที่ใช้ฮอร์โมน อุปกรณ์ฝัง การคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน และการทำหมัน[140]
ใน ค.ศ. 1909 ริชาร์ด ริกเตอร์ พัฒนาห่วงอนามัยแบบแรกจากลำไส้ของตัวไหม โดยได้รับการพัฒนาต่อมาจนออกสู่ตลาดในประเทศเยอรมันช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1920[141] ใน ค.ศ. 1951 นักเคมีชื่อ คาร์ล เจอราสซี (Carl Djerassi) จากเม็กซิโกซิตีสร้างฮอร์โมนในยาเม็ดโปรเจสเตอโรนโดยใช้มันสายพันธุ์แม็กซิกัน[142] เจอราสซีได้สร้างยาเม็ดคุมกำเนิดขึ้นมาทว่าขาดทรัพยากรณ์ในการกระจายยาให้ผู้ใช้ การทำแท้งด้วยยากลายเป็นอีกทางเลือกของการทำแท้งโดยศัลยกรรมหลังการพัฒนาของสารที่มีโครงสร้างคล้ายโพรสตาแกลนดินในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 และยาไมฟีพริสโตน (mifepristone) ในคริสต์ทศวรรษ 1980[143]
ข้อตกลงสิทธิมนุษยชนกำหนดให้รัฐบาลส่วนใหญ่จัดหาบริการเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวและข้อมูลเกี่ยวกับการคุมกำเนิดให้กับประชาชน รวมถึงข้อกำหนดของการวางแผนชาติสำหรับการให้บริการวางแผนครอบครัว การยกเลิกกฎหมายที่จำกัดการเข้าถึงการวางแผนครอบครัว การรับรองการเข้าถึงวิธีคุมกำเนิดหลากหลายวิธีซึ่งปลอดภัยและมีประสิทธิภาพรวมถึงการคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน การทำให้แน่ใจว่ามีผู้ให้บริการทางการแพทย์และสิ่งอำนวยความสะดวกในราคาที่เหมาะสม และสร้างระบบเพื่อทบทวนโครงการที่ได้นำไปใช้ รัฐบาลที่ไม่สามารถสนองข้อกำหนดเหล่านี้อาจถูกจัดว่าได้ละเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศ[144]
แต่ละศาสนามีมุมมองหลากหลายเกี่ยวกับจริยธรรมของการคุมกำเนิด[145] คริสตจักรโรมันคาทอลิกยอมรับเพียงการวางแผนครอบครัวโดยวิธีธรรมชาติเท่านั้น[146] อย่างไรก็ตามชาวโรมันคาทอลิกในประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมากยอมรับการคุมกำเนิดโดยวิธีสมัยใหม่[147][148][149] ในนิกายโปรเตสแตนต์มีมุมมองหลากหลายตั้งแต่ที่ไม่ยอมรับวิธีคุมกำเนิดใด ๆ เลยจนถึงที่ยอมรับการคุมกำเนิดทุกรูปแบบ[150] มุมมองในศาสนายูดาห์มีตั้งแต่พวกที่เคร่งครัดอย่างนิกายออร์โธด็อกซ์ไปจนถึงนิกายปฏิรูปที่เคร่งน้อยกว่า[151] ผู้นับถือศาสนาฮินดูอาจใช้การคุมกำเนิดทั้งแบบธรรมชาติและแบบประดิษฐ์[152] ชาวพุทธส่วนใหญ่มักยอมรับการป้องกันการตั้งครร์ แต่ไม่ยอมรับการทำแท้ง[153] ศาสนาอิสลามอนุญาตให้คุมกำเนิดหากไม่ส่งผลต่อสุขภาพแม้บางคนอาจไม่เห็นด้วย[154]
วันที่ 26 กันยายนของทุกปีถือว่าเป็นวันคุมกำเนิดโลกซึ่งอุทิศให้กับการเพิ่มความตระหนักและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษาและอนามัยการเจริญพันธุ์ โดยมีวิสัยทัศน์ว่าโลกซึ่งทุกการตั้งครรภ์เป็นที่ต้องการ[155]
มีหลายความเชื่อเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ซึ่งไม่ถูกต้อง[156] การสวนล้างช่องคลอด (douching) หลังมีเพศสัมพันธ์ไม่ใช่การคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ[157] แถมยังมักส่งผลเสียต่อสุขภาพและไม่แนะนำให้ใช้[158] ผู้หญิงอาจตั้งครรภ์ได้แม้ในการร่วมเพศครั้งแรก[159] และในทุกท่วงท่าการร่วมเพศ[160] นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ (แม้จะโอกาสต่ำ) ที่จะตั้งครรภ์ระหว่างเป็นประจำเดือน[161]
การพัฒนาวิธีคุมกำเนิดยังเป็นที่ต้องการ ด้วยประมาณครึ่งของผู้ตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจได้ใช้วิธีคุมกำเนิดในขณะนั้น[28] ขณะนี้วิธีการคุมกำเนิดแบบต่าง ๆ เช่น ถุงยางอนามัยสตรีที่ดีขึ้น ฝาครอบปากมดลูกที่ดีกว่าเดิม แผ่นแปะคุมกำเนิดโดยโปรเจสตินอย่างเดียว และวงแหวนช่องคลอดที่มีโปรเจสเตอโรนซึ่งให้ผลเป็นเวลานาน กำลังถูกศึกษา[162] สำหรับผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ไม่บ่อย การรับประทานยาเม็ดที่มีลีโวนอร์เจสเตรลช่วงที่มีเพศสัมพันธ์อาจเป็นทางเลือกที่ดี[163]
อุปกรณ์ที่เรียกว่า Essure ซึ่งขยายตัวเพื่อปิดทางเมื่อใส่เข้าไปในท่อนำไข่ได้รับอนุญาตในสหรัฐใน พ.ศ. 2545[164]
วิธีคุมกำเนิดชาย ได้แก่ ถุงยางอนามัย การตัดหลอดนำอสุจิ และการหลั่งนอก[165][166] ระหว่างร้อยละ 25 ถึง 75 ของชายที่ยังมีเพศสัมพันธ์จะใช้วิธีคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนหากพวกเขาสามารถหาได้[116][165] วิธีทั้งที่ใช้ฮอร์โมนและไม่ใช่กำลังอยู่ในขั้นทดลอง[116] และยังมีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนคุมกำเนิด[167]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.