Loading AI tools
รองนายกรัฐมนตรีไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ม.ป.ช. ม.ว.ม. (เกิด 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502) ชื่อเล่น ตุ๋ย เป็นนักการเมืองชาวไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ใน รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ อดีตกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค | |
---|---|
พีระพันธุ์ ใน พ.ศ. 2552 | |
รองนายกรัฐมนตรี | |
เริ่มดำรงตำแหน่ง 1 กันยายน พ.ศ. 2566 (1 ปี 65 วัน) ดำรงตำแหน่งร่วมกับ ภูมิธรรม เวชยชัย (พ.ศ. 2566–ปัจจุบัน) สมศักดิ์ เทพสุทิน (พ.ศ. 2566–2567) ปานปรีย์ พหิทธานุกร (พ.ศ. 2566–2567) อนุทิน ชาญวีรกูล (พ.ศ. 2566–ปัจจุบัน) พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (พ.ศ. 2566–2567) สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (พ.ศ. 2567–ปัจจุบัน) พิชัย ชุณหวชิร (พ.ศ. 2567–ปัจจุบัน) ประเสริฐ จันทรรวงทอง (พ.ศ. 2567–ปัจจุบัน) | |
นายกรัฐมนตรี | เศรษฐา ทวีสิน แพทองธาร ชินวัตร |
ก่อนหน้า | ประวิตร วงษ์สุวรรณ วิษณุ เครืองาม จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ อนุทิน ชาญวีรกูล ดอน ปรมัตถ์วินัย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน | |
เริ่มดำรงตำแหน่ง 1 กันยายน พ.ศ. 2566 (1 ปี 65 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | เศรษฐา ทวีสิน แพทองธาร ชินวัตร |
ก่อนหน้า | สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม | |
ดำรงตำแหน่ง 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 (2 ปี 232 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ |
ก่อนหน้า | สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ |
ถัดไป | ประชา พรหมนอก |
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี | |
ดำรงตำแหน่ง 20 ธันวาคม พ.ศ. 2565 – 1 กันยายน พ.ศ. 2566 (0 ปี 255 วัน) | |
นายกรัฐมนตรี | ประยุทธ์ จันทร์โอชา |
ก่อนหน้า | ดิสทัต โหตระกิตย์ |
ถัดไป | พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช |
หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ | |
เริ่มดำรงตำแหน่ง 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 (2 ปี 94 วัน) | |
ก่อนหน้า | ธนดี หงษ์รัตนอุทัย (รักษาการ) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
พรรคการเมือง | ประชาธิปัตย์ (2539–2562) พลังประชารัฐ (2564–2565) รวมไทยสร้างชาติ (2565–ปัจจุบัน) |
คู่สมรส | สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค |
ศิษย์เก่า | โรงเรียนเซนต์คาเบรียล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ที่จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนที่ 4 และเป็นบุตรชายคนที่ 2 ของพลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์และเจ้ากรมการพลังงานทหาร ผู้ริเริ่มการขุดเจาะน้ำมันที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และผู้ก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร (ปัจจุบันคือ ปตท.) เป็นหลานปู่ของพระยาสาลีรัฐวิภาค (สงวน ไนคีตะเสน) กับ คุณหญิงขนิษฐา สาลีรัฐวิภาค ส่วนมารดา โสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: สุมาวงศ์) อดีตดาวจุฬาฯ คนแรก ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้สุนทราภรณ์แต่งเพลงดาวจุฬาฯและขวัญใจจุฬาฯ เป็นบุตรีพระมนูเวทย์วิมลนาท (มนูเวทย์ สุมาวงศ์) อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักร และประธานศาลฎีกา กับคุณหญิงแฉล้ม มนูเวทย์วิมลนาท
ชีวิตครอบครัว พีระพันธุ์สมรสกับ สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: โทณวณิก) มีบุตรธิดารวมกันทั้งหมด 4 คน ได้แก่ ชลิตา[1], ภัทร[2] และฝาแฝด ภัทรพร-ภัทรพรรณ สาลีรัฐวิภาค[3]
สมาคมศิษย์เก่าเซนต์คาเบรียล มอบรางวัล "ศิษย์เก่าดีเด่น" ของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ประจำปี พ.ศ. 2565 (รางวัล John Mary Award) แก่พีระพันธุ์ (เลขประจำตัว ซ.ค.10527 รุ่น SG 46) โดยมีการประกาศผลเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2565[4]
พีระพันธุ์ มีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการมาก่อน เข้าสู่แวดวงการเมืองโดยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2539 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมทีมกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และธารินทร์ นิมมานเหมินท์ บทบาทในสภาฯ ของพีระพันธุ์ เป็นไปในทางการตรวจสอบการทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ของกองทัพ เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) ของสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงปี พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2548 มีผลงานสำคัญคือการสอบสวนการทุจริตโครงการก่อสร้างทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง (ทางพิเศษบูรพาวิถี) หรือ "ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท" ซึ่งถูกนำไปใช้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลและชนะคดี ทำให้คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่พร้อมดอกเบี้ยนับหมื่นล้านบาท
ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 พีระพันธุ์ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานครได้ย้ายไปลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ โดยพรรคส่งพันเอกเฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา ลงสมัคร ส.ส.เขต แทน แต่พันเอกเฟื่องวิชชุ์ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2550 พีระพันธุ์ได้ลงรับสมัครในเขต 3 กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย เขตห้วยขวาง เขตดินแดง และเขตพญาไท คู่กับ ธนา ชีรวินิจ และ สรรเสริญ สมะลาภา สามารถนำทีมชนะการเลือกตั้งทั้ง 3 คน โดยพีระพันธุ์ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ของเขต
ภายหลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่เป็น อดีตผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการ ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรค ให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเงา[5]
พีระพันธุ์ยังทำหน้าที่เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณานโยบาย งบประมาณ และประสิทธิภาพกองทัพ รองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2552 และกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญอื่นๆ อีกหลายคณะ
วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลที่มีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี[6] ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ[7] และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกสมัย
ในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 พีระพันธุ์ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 16 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการเลือกตั้ง[8]
ในวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562 พีระพันธุ์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โดยให้มีผลทันทีในวันเดียวกัน ทำให้ต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปด้วย ส่งผลให้พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล บัญชีรายชื่อลำดับที่ 24 ซึ่งเป็นบุตรสาวคนโตของพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ได้ขยับขึ้นมาทำหน้าที่แทน[9]
วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 140/2565 แต่งตั้งพีระพันธุ์ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี[10] ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ โดยความเห็นชอบของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 2 วันก่อน (17 ธันวาคม พ.ศ. 2562) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป[11] ก่อนประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2563[12]
วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 คณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการประชุมครั้งพิเศษ 10-1/2563 ซึ่งในการประชุมดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติแต่งตั้งให้พีระพันธุ์ ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ[13]
วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564 พีระพันธุ์ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และวันถัดมา (5 ตุลาคม พ.ศ. 2564) ได้รับการแต่งตั้งจากพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้เป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พร้อมกับสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น[14]
วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2565 พีระพันธุ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าเตรียมให้คนไปยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กับทางพรรคและนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ กกต. ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2565 เนื่องจากจัดทำโครงสร้างพรรคให้เข้มแข็งเสร็จเรียบร้อยแล้ว[15] จากนั้นวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2565 พีระพันธุ์ได้ให้สัมภาษณ์ว่าได้ให้เจ้าหน้าที่ไปยื่นหนังสือลาออกกับทางพรรคพลังประชารัฐกับทาง กกต. เรียบร้อยแล้ว ส่วนเรื่องอนาคตทางการเมืองเมื่อถึงเวลาจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง[16]
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 พีระพันธุ์ได้รับรางวัล "นักการเมืองแห่งปี" จากสยามรัฐออนไลน์ ในฐานะนักการเมืองที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศ จากการพิจารณาคัดเลือกของคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ[17]
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 140/2565 แต่งตั้ง คณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ โดยมี พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธานกรรมการ เพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนผู้ร้องเรียนและผู้ร้องทุกข์ และการอำนวยความเป็นธรรมให้ประชาชนโดยเร็ว[18]
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 พีระพันธุ์ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2565 ของพรรค โดยชูนโยบายการแก้ไขกฎหมายล้าสมัย และสร้างสังคมเท่าเทียม
พีระพันธุ์ เปิดเผยว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรคที่ได้รวบรวมกลุ่มคนทำงาน ที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งคนที่มีประสบการณ์ในการเป็น ส.ส.ทำงานรับใช้พี่น้องประชาชนมาแล้ว ผู้ที่เคยเป็น ส.ส. และคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจจะเข้ามาทำงานในฐานะนักการเมือง เพื่อขับเคลื่อนประเทศชาติตามวิสัยทัศน์หลักของพรรค คือการสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสในการดำรงชีวิตในทุกมิติอย่างเท่าเทียมกัน โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรคการเมืองที่มุ่งเรื่องของการทำงานมากกว่าการเล่นการเมือง และมองเห็นเรื่องของการทำงานเพื่อประเทศชาติประชาชนเป็นสำคัญ[19]
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 324/2565 แต่งตั้ง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แทนที่ดิสทัต โหตระกิตย์ ที่ลาออกก่อนหน้านี้ ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันเดียวกัน[20]
ในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 พีระพันธุ์ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับการเลือกตั้ง[21] แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2566 พีระพันธุ์ได้ลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อความสะดวกในการดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี[22]
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 นายพีระพันธุ์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตามพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ในพระราชกิจจานุเบกษาที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566[23]
ส่วนหนึ่งของผลงานนายพีระพันธุ์ที่ปรากฎในเว็บไซต์ของพรรครวมไทยสร้างชาติ[24]
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ‘พีระพันธุ์’ ได้ใช้ความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ในการสร้างความเป็นธรรมและปกป้องผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง โดยเป็นผู้ยกร่างและผลักดันให้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่สัญญาที่ไม่มีโอกาสต่อรองเงื่อนไขสัญญา และเป็นผู้ยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เพื่อป้องกันการ “ฮั้วประมูล” ด้วย
นอกจากนี้ ‘พีระพันธุ์’ยังเป็นผู้ยกร่างและเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญายกเลิกอายุความคดีทุจริต ซึ่งส่งผลให้คดีทุจริตไม่มีอายุความอีกต่อไป ทั้งนี้เพื่ออุดช่องว่างไม่ให้ผู้กระทำผิดหลีกเลี่ยงการรับโทษ รวมทั้งเป็นผู้ยกร่าง “กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร” ที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ พ.ศ. 2550 และมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน[25]
ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ‘พีระพันธุ์’ ยังคงผลักดันร่างกฎหมายในนามของพรรค ผ่านกลไกของรัฐสภาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ที่เขาเป็นผู้ยกร่างและเสนอเข้าสภาฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคจากการคิดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ไม่เป็นธรรม [26] และ ร่าง พ.ร.บ.ประมง เพื่อพลิกฟื้นการทำอาชีพประมง โดยเฉพาะประมงพื้นบ้าน และอุตสาหกรรมประมง ให้กลับมาเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศอีกครั้ง [27] รวมถึง ร่าง พ.ร.บ. สร้างเสริมสังคมสันติสุข ที่เสนอให้มีการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมืองเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ โดยพรรคมีจุดยืนสำคัญที่จะไม่นิรโทษกรรมผู้ที่ละเมิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่นิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ทำการทุจริตคอร์รัปชัน และไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ที่กระทำความผิดอาญาอย่างร้ายแรง เช่น ฆ่าผู้อื่น หรือทำร้ายร่างกายผู้อื่นให้สูญเสียแก่ชีวิต [28]
ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ‘พีระพันธุ์’ ได้ใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประเทศตามแนวทาง “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ที่เริ่มต้นจากการ “รื้อ” โครงสร้างพลังงานทั้งระบบ ด้วยการยกร่างและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อ “ลด”ภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน พร้อม “ปลด” ล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคด้านพลังงาน และ “สร้าง” ระบบพลังงานของประเทศขึ้นใหม่ให้ดีกว่าเดิม เพื่อให้เกิดความมั่นคง เป็นธรรม และยั่งยืนด้านพลังงานของประเทศ และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย[29]
‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ถือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปกป้องเงินภาษีของประชาชนหลายหมื่นล้านบาท จากการนำทีมต่อสู้คดี “ค่าโง่” โฮปเวลล์ หรือ โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร ที่เริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปี 2533 แต่มีปัญหาสร้างไม่เสร็จ และถูกเอกชนฟ้องร้องเรียกเสียหายจำนวนมหาศาลจากการยกเลิกสัมปทาน แถมรัฐบาลยังแพ้คดีทั้งในชั้นอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2551 และในชั้นศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 2562 ซึ่งทำให้รัฐบาลมีภาระที่จะต้องนำเงินภาษีไปจ่ายให้กับบริษัทโฮปเวลล์รวม 2.4 หมื่นล้านบาท และเป็นตำนาน ‘ค่าโง่’ ที่อาจทำให้คนไทยต้องเสียเงินค่าภาษีหลายหมื่นล้านบาทกับโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์
‘พีระพันธุ์’ ได้ติดตามศึกษาคดีมหากาพย์โฮปเวลล์อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2562 หลังจากที่ได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ตัดสินว่าคดีนี้ไม่ขาดอายุความ แต่ก่อนหน้านั้น ศาลปกครองกลางที่เป็นศาลชั้นต้นของศาลปกครองเคยมีคำตัดสินคดีเดียวกันนี้ว่า คดีโฮปเวลล์ขาดอายุความ
หลักกฎหมายเรื่อง “อายุความ” นี้เป็นจุดสนใจให้ ‘พีระพันธุ์’ ทำการสืบค้นเพิ่มเติมและพบว่า ศาลปกครองกลางได้เคยวินิจฉัยบนพื้นฐานของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ ที่บัญญัติไว้ว่า"การนับอายุความ" ให้นับตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี โดยไม่ได้มีบทเฉพาะกาลยกเว้นไว้ว่า คดีนั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเปิดทำการศาลปกครอง แต่ปรากฏว่า ศาลปกครองสูงสุดใช้ “มติของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด” เป็นหลักในการตัดสินว่า คดีที่เกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการ ให้นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ จึงส่งผลให้คดีโฮปเวลล์ยังไม่ขาดอายุความตามกฎหมาย
อย่างไรก็ดี ‘พีระพันธุ์’ มีความเห็นต่างในเรื่องนี้โดยชี้ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ศาลทุกศาล รวมถึงศาลปกครอง ต้องตัดสินตามกฎหมายเท่านั้น แต่หากเห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุมในประเด็นปัญหาสำหรับคดีที่เกิดขึ้นก่อน ก็ต้องไปให้รัฐสภาดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว ไม่สามารถใช้ "มติที่ประชุมใหญ่" เป็นหลักในการตัดสินได้เพราะขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ
จากนั้น ‘พีระพันธุ์’ ได้เข้ามามีบทบาทหลักในการต่อสู้คดีนี้ ตั้งแต่ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร ผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ จนถึงศาลปกครองสูงสุด ในฐานะหัวหน้าทีมสืบค้นพยานหลักฐานต่างๆ และข้อพิรุธในการทำสัญญาคดีโฮปเวลล์ อีกทั้งยังเป็นผู้ยกร่างคำร้องต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพื่อขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่และขอให้งดการบังคับคดี
ถึงแม้ในเบื้องต้น ศาลปกครองชั้นต้นจะยกคำร้องไม่ให้มีการพิจารณาคดีใหม่ แต่ ‘พีระพันธุ์’ และคณะทำงานได้ขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง จนในที่สุด ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ให้พิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ และต่อมาในวันที่ 14 มีนาคม 2565 ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำสั่งงดการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดคดีโฮปเวลล์ ทำให้กระบวนการบังคับคดีที่เคยให้ภาครัฐต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี รวม 25,711 ล้านบาท ต้องหยุดพักไว้ก่อน จนกว่าการพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่จะได้ข้อยุติ
ต่อมา ศาลปกครองกลางได้ดำเนินการพิจารณาคดีใหม่ และมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ชดใช้ค่าเสียหายแก่ บริษัทโฮปเวลล์ฯ เนื่องจากการใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทดังกล่าวขาดอายุความตามกฎหมาย ทำให้รัฐบาลไม่ต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายค่าโง่หลายหมื่นล้านบาท จากการทำงานอย่างมุ่งมั่นของ ‘พีระพันธุ์’ และทีมงาน ซึ่งยังคงติดตามสะสางคดีนี้ต่อไปในชั้นศาลแพ่ง
ในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ที่มีการรัฐประหารโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) มีทหารกลุ่มหนึ่งได้บุกเข้าไปในบ้านพีระพันธุ์ ด้วยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นบ้านของ พลตำรวจตรี พีรพันธุ์ เปรมภูติ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน นายตำรวจคนสนิทของ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทำให้ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะต้องโทรศัพท์มาขอโทษด้วยตัวเอง[30]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.