Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล (เกิด 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487) อดีตกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์[2] เป็นอดีตประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง[3]
พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล | |
---|---|
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง | |
ดำรงตำแหน่ง 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 – 6 มกราคม พ.ศ. 2544 | |
นายกรัฐมนตรี | ชวน หลีกภัย |
รัฐมนตรีว่าการ | ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเทศไทย |
พรรคการเมือง | ประชาธิปัตย์ (2535–ปัจจุบัน) |
คู่สมรส | ลลิดา พันธุ์วิชาติกุล[1] |
พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล เกิดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 [4]) ที่บ้านริมแม่น้ำตาปี อำเภอพุนพิน[5] จังหวัดสุราษฎร์ธานี[6] โดยอยู่ใกล้กับบ้านสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นบุตรชายของจรุง และวันเพ็ญ พันธุ์วิชาติกุล[5]
จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนวิเชียรมาตุมัธยมปลาย จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร จบปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชีวิตครอบครัว สมรสกับลลิดา พันธุ์วิชาติกุล (นามสกุลเดิม: เอกาพันธุ์) มีบุตรหญิง–ชาย ทั้งหมด 3 คน คือ พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล, พิมพ์รำไพ พันธุ์วิชาติกุล และปาฏิหาริย์ พันธุ์วิชาติกุล[5]
พิเชษฐ ประกอบวิชาชีพทนายความมาอย่างยาวนาน ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และยังประกอบธุรกิจหลายด้านในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีบทบาทสำคัญในสภาหอการค้า ทำให้มีความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจการค้า เข้าสู่วงการเมืองโดยลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกที่จังหวัดกระบี่ เมื่อปี พ.ศ. 2535 และชนะเลือกตั้งมาโดยตลอดทุกครั้งที่ลงสมัคร เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมาธิการการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร
พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 และเป็นหนึ่งในแกนนำทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ในเวลาต่อมา
นอกจากทำงานการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ นายพิเชษฐ ยังเป็นคอลัมนิสต์ประจำ ให้กับ หนังสือพิมพ์แนวหน้า มีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณะในชื่อของตัวเอง โดยสม่ำเสมออีกด้วย และยังมีธุรกิจส่วนตัวมากมาย เช่น โรงแรม หรือรีสอร์ต ในจังหวัดกระบี่
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้ง คณะรัฐมนตรีเงา (ครม.เงา) ขึ้นมาเป็นครั้งแรก พิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล ได้รับเลือกจาก ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ให้ทำหน้าที่ รองนายกรัฐมนตรีเงา ดูแลตรวจสอบ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา[7] ระหว่างการอภิปรายผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่มี พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 อยู่นั้น พิเชษฐได้ใช้คำพูดในการอภิปรายที่ไม่เหมาะสมหลายครั้ง เช่น "ไอ้สัตว์นรก", "ก็พวกมึงเผา" เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงไปมาระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาลอยู่นาน โดยมี จ่าสิบตำรวจ ประสิทธิ์ ไชยศีรษะ ลุกขึ้นประท้วงแล้วกล่าวหาว่า "ไม่เต็มบาท ไอ้แก่ตัณหากลับ" โดยมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ ส.ส.อาวุโสของพรรคประชาธิปัตย์เป็นวงกว้างถึงการไม่เหมาะสม
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ภายหลังการประชุมใหญ่เลือกกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เขต 3 จังหวัดกระบี่ พิเชษฐได้เขียนข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าได้ตัดสินใจประกาศยุติบทบาททางการเมือง เนื่องจากปัญหาสุขภาพ [8] และต่อมาในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 72 ปี ได้มีการจัดงานเลี้ยงฉลองวันเกิดที่โรงแรมกระบี่เมอร์ริไทม์ จังหวัดกระบี่ อย่างคึกคัก ซึ่งพิเชษฐก็ได้ประกาศย้ำอีกครั้งว่ายุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด และจะผลักดันบุตรสาวของตน คือ พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ให้สืบสานต่อ[4]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.