คำถามยอดนิยม
ไทมไลน์
แชท
มุมมอง

มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์

การประกวดนางงามในประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Remove ads

มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ (อังกฤษ: Miss Universe Thailand) เป็นการประกวดนางงามในราชอาณาจักรไทย เพื่อคัดเลือกตัวแทนของราชอาณาจักรไทยเข้าร่วมประกวดนางงามจักรวาล

ข้อมูลเบื้องต้น ก่อตั้ง, ประเภท ...
Remove ads

ประวัติ

สรุป
มุมมอง

ยุคนางสาวไทย

องค์การนางงามจักรวาล (Miss Universe Organization) มอบสิทธิในการจัดหาผู้แทนประเทศไทย เพื่อเข้าประกวดนางงามจักรวาล แก่ชาติเชื้อ กรรณสูต เป็นคนแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 โดยขณะนั้น คุณชาติเชื้อมีทั้งสถานะของ กรรมการผู้จัดการบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และนายกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เป็นผู้ถือสิทธิในชื่อการประกวดนางสาวไทย เขาจึงนำทั้งสององค์กร มาร่วมกันจัดการประกวดนางสาวไทย เพื่อส่งผู้ชนะเลิศเป็นผู้แทนประเทศไทย เข้าประกวดนางงามจักรวาลดังกล่าว จนกระทั่งคุณชาติเชื้อเสียชีวิตลง องค์การนางงามจักรวาลจึงสนับสนุนให้ สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ผู้เป็นน้องสาวของชาติเชื้อ เป็นผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวต่อไป

ยุคจันทร์ 25 (ปี 2543-2561)

เมื่อปี พ.ศ. 2543 สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย นำชื่อการประกวดนางสาวไทย ไปจัดร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ก่อนที่หลังจากปี พ.ศ. 2551 จะย้ายไปจัดร่วมกับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ จนถึงปี พ.ศ. 2559 นางสาวไทยถึงกลับมาจัดการประกวดที่ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เช่นเดิม ด้วยกรณีดังกล่าว ช่อง 7 สี จึงก่อตั้งการประกวดในชื่อใหม่ว่ามิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ต่อมาองค์การนางงามจักรวาล มีมติให้ผู้ถือลิขสิทธิ์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก กำหนดชื่อการประกวด และชื่อตำแหน่งนางงามของแต่ละประเทศ โดยใช้คำว่ามิสยูนิเวิร์ส และตามด้วยชื่อประเทศนั้น ๆ เป็นผลให้สุรางค์ประกาศเปลี่ยนชื่อการประกวดเป็น มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ในการแถลงข่าวการจัดประกวดในครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555 พร้อมทั้งเปลี่ยนผู้ดำเนินการถ่ายทอดโทรทัศน์ จากช่อง 7 สีไปเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เนื่องจาก บจก.กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ มีคำสั่งให้สุรางค์พ้นจากทุกตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปีถัดมา[1]

ต่อมา บริษัท จันทร์ 25 จำกัด ผู้จัดการประกวด เปลี่ยนผู้ดำเนินการถ่ายทอดโทรทัศน์อีกครั้งจาก ททบ.5 ไปเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ตั้งแต่การประกวดในปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป[2] เนื่องจาก ททบ.5 ต้องปรับปรุงเนื้อหารายการ เป็นบริการสาธารณะเพื่อความมั่นคง ตามที่ กสทช. กำหนด จึงไม่สามารถเผยแพร่การประกวด ซึ่งถือเป็นรายการประเภทบันเทิงต่อไปได้ ประกอบกับทางบริษัท จันทร์ 25 จำกัด ร่วมผลิตละครกับทางบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 จึงมีความสัมพันธ์อันดีอยู่แล้ว เป็นสองเหตุผลสำคัญ ที่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ยุคทีพีเอ็น (ปี 2562-2567)

ภายหลังในปี พ.ศ. 2562 บริษัท ทีพีเอ็น 2018 จำกัด โดยสมชาย ชีวสุทธานนท์, ปิยาภรณ์ แสนโกศิก และณรงค์ เลิศกิตศิริ ได้รับความไว้วางใจจากองค์กรนางงามจักรวาล ให้เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์แทนสุรางค์เป็นระยะเวลา 5 ปี[3] ทำให้มีการเปลี่ยนผู้ดำเนินการถ่ายทอดโทรทัศน์อีกครั้งเป็น พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 ที่เคยได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดนางงามจักรวาล 2018 ที่ทีพีเอ็นได้รับสิทธิ์จัดการประกวดมาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ทีพีเอ็น 2018 ได้มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น บริษัท ทีพีเอ็น โกลบอล จำกัด

หลังจาก บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป เข้าซื้อกิจการทั้งหมดขององค์กรนางงามจักรวาลจากเอนเดฟเวอร์ไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2565 จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเจเคเอ็นในฐานะเจ้าขององค์กรนางงามจักรวาล กล่าวว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ อีกทั้งกล่าวว่าองค์กรฯ และทีพีเอ็น โกลบอล จะยังคงทำงานร่วมกันต่อไป[4][5]

ยุคเอ็มจีไอ (ปี 2568-ปัจจุบัน)

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 คณะกรรมการของบริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (MGI) ผู้ถือลิขสิทธิ์การประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ ได้อนุมัติเข้าซื้อลิขสิทธิ์การประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ จากเจเคเอ็น โกลบอล คอนเทนต์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของเจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป ที่เป็นเจ้าของร่วมขององค์กรนางงามจักรวาล เป็นระยะเวลา 5 ปี ด้วยมูลค่า 180,000,000 บาท ทำให้ MGI เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์แทนทีพีเอ็น โกลบอล ไปโดยปริยาย[6] นอกจากนี้ในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2568 คณะกรรมการบริษัทยังประกาศเพิ่มว่ามีมติอนุมัติให้จัดการประกวดนางงามจักรวาล 2025 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ[7]

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2568 คณะกรรมการของ MGI ได้อนุมัติให้ต่ออายุสัญญาการถือลิขสิทธิ์การประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ที่ทำกับเจเคเอ็น โกลบอล คอนเทนต์ เพิ่มอีก 4 คราว คราวละ 5 ปี รวมระยะเวลาที่ต่อสัญญาทั้งหมด 20 ปี และรวมระยะเวลาการถือลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ทั้งหมดเพิ่มเป็น 25 ปี[8]

เพลงประจำการประกวด[9]

ในการประกวดนางสาวไทย (ยุคช่อง 7 สีร่วมกับสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยฯ) มีการใช้เพลง เดือนในหมู่ดาว (ชื่ออื่น: เธอ, ยอดพธู) ซึ่งขับร้องโดยเต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์ เริ่มใช้ครั้งแรกในการประกวดเมื่อปี พ.ศ. 2527 (ต่อมาจัดทำดนตรีและขับร้องใหม่ ใช้ครั้งแรกในการประกวดเมื่อปี พ.ศ. 2535) เป็นเพลงประจำการประกวด

ต่อมาในยุคมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ก็เปลี่ยนมาใช้เพลงหนึ่งในร้อย ขับร้องโดยเบิร์ด - ธงไชย แมคอินไตย์ จากนั้นในยุคมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ สุรางค์นำเพลงเดือนในหมู่ดาว ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ส่วนบุคคลของตน มาให้เบิร์ดขับร้องใหม่ เพื่อใช้กับการประกวดในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2560 มีการจัดทำเพลง "สู่จักรวาล" เป็นเพลงประจำการประกวดเพลงที่ 3 ซึ่งขับร้องโดย เวลล์ - ดิษย์กรณ์ ดิษยนันทน์ (มิสเตอร์ดี) ส่วน "เดือนในหมู่ดาว" และ "หนึ่งในร้อย" ก็ยังมีการใช้ในเวทีการประกวดเช่นเดิม

ในปี พ.ศ. 2562 หลังจากเปลี่ยนผู้ถือลิขสิทธิ์เป็นทีพีเอ็น จึงได้จัดทำเพลง หนึ่งเดียวในใจ (You're the one) ขึ้นมาเป็นเพลงประจำการประกวดเพลงใหม่ ขับร้องโดย อภิวัฒน์ พงษ์วาท (หนึ่ง อีทีซี) และได้เผยแพร่ครั้งแรกในงานแถลงข่าวเปิดตัวผู้เข้าร่วมประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2019 ในวันที่ 12 มิถุนายน ณ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี[10]

ในปี พ.ศ. 2563 ทีพีเอ็นได้จัดทำเพลง จักรวาลคือเธอ (You are the Universe) ขึ้นมาเป็นเพลงประจำการประกวดเพลงใหม่ ขับร้องโดย ธนิดา ธรรมวิมล (ดา เอ็นโดรฟิน) และได้เผยแพร่ครั้งแรกในการประกวดรอบออดิชันรอบแรกของมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ในวันที่ 8 กันยายน ณ อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ[11]

Remove ads

รายชื่อผู้ดำรงตำแหน่ง

ข้อมูลเพิ่มเติม ปี พ.ศ. (ค.ศ.), ผู้ดำรงตำแหน่ง ...
Remove ads

ทำเนียบมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

Loading content...

แหล่งข้อมูลอื่น

Loading related searches...

Wikiwand - on

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Remove ads