สยามพารากอน
ศูนย์การค้าบริเวณย่านสยาม เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศูนย์การค้าบริเวณย่านสยาม เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สยามพารากอน (อังกฤษ: Siam Paragon) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมบนพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของย่านสยาม ถนนพระรามที่ 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร บริหารงานโดย บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ร่วมกับกลุ่มเดอะมอลล์ ในนาม บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท สยามพารากอน รีเทล จำกัด โครงการประกอบด้วยศูนย์การค้า โรงแรม และอาคารชุดเพื่อการพักอาศัย
ด้านหน้าห้างสยามพารากอน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 | |
ที่ตั้ง | 991/1 ถนนพระรามที่ 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร |
---|---|
พิกัด | 13°44′47″N 100°32′6″E |
เปิดให้บริการ | 9 ธันวาคม พ.ศ. 2548 |
ผู้บริหารงาน | บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท สยามพารากอน รีเทล จำกัด โดย บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด |
พื้นที่ชั้นขายปลีก | 500,000 ตารางเมตร |
จำนวนชั้น | 10 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน 2 ชั้น) |
ที่จอดรถ | 4,000 คัน |
ขนส่งมวลชน | สยาม |
เว็บไซต์ | www |
สยามพารากอนเป็นศูนย์การค้าหลักของกลุ่มวันสยาม และเป็นศูนย์การค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในย่านสยาม และใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย รองจากเซ็นทรัลเวิลด์ ไอคอนสยาม และเซ็นทรัล เวสต์เกต เน้นความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง, กลุ่มนักท่องเที่ยว, กลุ่มลูกค้าต่างชาติ และกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบนในศูนย์การค้าเดียว อีกทั้งยังเป็นศูนย์การค้าที่เป็นคู่แข่งกับเซ็นทรัลเวิลด์ในย่านราชประสงค์โดยตรง เนื่องจากอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน โดยมีวัดปทุมวนารามราชวรวิหารคั่นกลาง และยังเป็นห้างที่นำแบรนด์เนมดัง ๆ เข้ามาในไทย อาทิ ZARA[1] Uniqlo แอร์แม็ส[2] หลุยส์ วิตตอง
สยามพารากอนมีลูกค้าชาวไทยประมาณ 60% และชาวต่างชาติ 40%[3] เป็นสถานที่ที่มีผู้แชร์ภาพผ่านอินสตาแกรมมากที่สุดในโลกในปี พ.ศ. 2556[4] และจากข้อมูลในปี พ.ศ. 2560 มีผู้มาเยี่ยมเยือนศูนย์การค้าเฉลี่ย 80,000–200,000 คน/วัน[5] นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนอันดับ 1 คือ จีน รองลงมา คือ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย และมาเลเซีย ตามลำดับ[6]
จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2554 สยามพารากอนใช้ไฟฟ้าราว 123 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งถือว่ามากกว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งมีประชากรราว 2.5 แสนคนและใช้ไฟฟ้า 65 ล้านหน่วย[7]
สยามพารากอนตั้งอยู่บนพื้นที่ทางทิศเหนือของถนนพระรามที่ 1 สร้างบนที่ดินส่วนหนึ่งของวังสระปทุม อันเป็นที่ดินพระราชมรดกของราชสกุลมหิดล ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับสร้างวังพระราชทานแก่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก แต่เดิมที่ดินส่วนนี้เป็นสวนผลไม้ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ในเวลาต่อมา บริษัท บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอล โฮเต็ลส จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2546) ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจากสำนักพระราชวัง เพื่อก่อสร้างโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ซึ่งถือเป็นโรงแรมแห่งแรกของไทยที่บริหารด้วยเครือโรงแรมของต่างประเทศ และในช่วงเวลาดังกล่าว สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดตั้งสยามสแควร์ขึ้นบริเวณฝั่งตรงข้ามถนนพระรามที่ 1 จึงทำให้ในเวลาดังกล่าว พื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งของถนนพระรามที่ 1 ถูกเรียกรวมว่า "ย่านสยาม"
เมื่อโรงแรมดำเนินกิจการมาครบ 30 ปี ครบกำหนดสัญญาเช่าในปี พ.ศ. 2538 และได้รับการขยายอายุสัญญาต่อไปอีก 30 ปี[8] อีกทั้งมีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่บนพื้นที่เดิมของโรงแรม เพื่อให้เหมาะสมกับมูลค่าของที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น จึงได้รื้อโรงแรมและสิ่งปลูกสร้างโดยรอบลง เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์การค้าแห่งใหม่บนพื้นที่ดังกล่าว คือ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างกลุ่มเดอะมอลล์และสยามพิวรรธน์[9] เดิมสยามพารากอนกำหนดเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2547[10] แต่ได้เลื่อนมาเป็นปีถัดจากนั้น โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์การค้าเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2548[11]
ในปี พ.ศ. 2558 สยามพิวรรธน์ได้รวมตัวกับกลุ่มธุรกิจสยามสแควร์ และบริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งสมาคมการค้าพลังสยามขึ้น เพื่อพัฒนาศูนย์การค้าในย่านสยามให้เป็นย่านค้าปลีกระดับโลก[12][13] สยามพิวรรธน์จึงได้รับงบประมาณจำนวน 300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงพื้นที่ศูนย์อาหารบริเวณชั้น G ฝั่งทิศเหนือ โซน The Gourmet Garden ในสยามพารากอน โดยปรับปรุงแล้วเสร็จในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559[14] และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 สยามพารากอนได้ทยอยปรับปรุงอาคารครั้งใหญ่ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงกลางปี พ.ศ. 2567[15]
สยามพารากอนเป็นอาคารสูง 8 ชั้น และชั้นใต้ดินอีก 2 ชั้น มีลิฟต์แก้วที่ใช้กระจกทั้งหมดเป็นแห่งแรกของประเทศไทย มีจำนวนลิฟต์ทั้งหมด 26 ตัว แบ่งเป็นลิฟต์แก้วแบบใช้กระจกทั้งหมด 2 ตัว, ลิฟต์แก้วแบบธรรมดา 2 ตัว, ลิฟต์ธรรมดา 22 ตัว, บันไดเลื่อน 88 ตัว, ทางเลื่อน 4 ตัว พื้นที่ใช้สอยประมาณ 500,000 ตารางเมตร และใช้เงินลงทุนมากกว่า 15,000 ล้านบาท[16] ประกอบด้วยพื้นที่สำคัญดังนี้
ห้างสรรพสินค้าพารากอน (อังกฤษ: Paragon Department Store) เป็นห้างสรรพสินค้าในอาคารสยามพารากอน บริหารงานโดย บริษัท สยามพารากอน รีเทล จำกัด ซึ่งกลุ่มเดอะมอลล์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีพื้นที่รวม 50,000 ตารางเมตร[10] ภายในประกอบด้วยแผนกและร้านค้าย่อยต่าง ๆ
ศูนย์การค้าพารากอน (อังกฤษ: Paragon Shopping Complex) เป็นศูนย์การค้าในอาคารสยามพารากอน บริหารงานโดย บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งกลุ่มสยามพิวรรธน์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยโอบล้อมส่วนของห้างสรรพสินค้าทางทิศเหนือ ตะวันตก และใต้ ในลักษณะคล้ายรูปตัวแอล ภายในพื้นที่ศูนย์การค้า ประกอบด้วยร้านสินค้าลักชูรี ร้านค้าแฟชัน ร้านสินค้าเทคโนโลยี โชว์รูมรถยนต์ ร้านสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ร้านอาหาร นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของร้านภูฟ้าผสมผสาน, ร้านหนังสือคิโนะคูนิยะ, เทสลา เอ็กซ์พีเรียนซ์ สโตร์ สาขาแรกในประเทศไทย[17], เอสซีบี เอ็กซ์ เน็กซ์ เทค ชุมชนด้านเทคโนโลยี[18] และสถานออกกำลังกายฟิตเนส เฟิร์ส แพลทินัม ซึ่งสร้างบนพื้นที่เดิมของแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ อีกด้วย[ต้องการอ้างอิง]
สยามพารากอน เป็นที่ตั้งของซูเปอร์มาร์เก็ต "กูร์เมต์ มาร์เก็ต" แห่งที่สองต่อจากเอ็มโพเรียม นอกจากนี้ยังมีโซนร้านอาหารต่างๆ อาทิ กูร์เมต์ อีทส์, เดอะ กูร์เมต์ การ์เดน, ฟู้ด พาสซาจ ออน โฟร์ธ เป็นต้น และยังมีร้านอาหารต่างๆ กระจายตัวโดยรอบศูนย์การค้า
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ซี ไลฟ์ โอเชียน เวิลด์ กรุงเทพ หรือ บางกอก ซี ไลฟ์ โอเชียนเวิลด์ (อังกฤษ: Sea Life Bangkok Ocean World; ชื่อเดิม: สยามโอเชียนเวิลด์) เป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในอาคารสยามพารากอน บริหารงานโดย เมอร์ลิน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ กรุ๊ป
พารากอน ซีนีเพล็กซ์ (อังกฤษ: Paragon Cineplex) เป็นโรงภาพยนตร์ในศูนย์การค้าสยามพารากอน บริหารงานโดย บริษัท สยาม ซีนีเพล็กซ์ จำกัด ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ โดยมีพื้นที่รวม 20,000 ตารางเมตร ออกแบบโดยร็อกเวลล์กรุ๊ป[19][20] โดยมีโรงภาพยนตร์ย่อยจำนวน 16 โรง ซึ่งทั้งหมดใช้เครื่องฉายระบบเลเซอร์ ในจำนวนนี้มีโรงภาพยนตร์ระบบสกรีนเอ็กซ์[21], ซัมซุง โอนิกซ์, โฟร์ดีเอกซ์ ระบบละ 1 โรง โดยมีโรงภาพยนตร์สยามภาวลัย โดย กรุงไทยแอ๊กซ่า เป็นโรงภาพยนตร์ระบบดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ความจุ 1,164 ที่นั่ง[22] ใช้เครื่องฉายเลเซอร์จากคริสทีย์ (Christie) เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยชื่อของโรงภาพยนตร์เป็นชื่อได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มีความหมายว่า "ความสว่างเรืองรองแห่งสยาม" นอกจากนี้พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ยังเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์กรุงศรี ไอแมกซ์ เลเซอร์ ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ที่บริหารงานโดย บริษัท กรุงเทพไอแมกซ์เธียเตอร์ จำกัด โดยถือเป็นโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยความสูง 21 เมตร หรือเทียบเท่าอาคาร 8 ชั้น[19] พร้อมกันนี้ในชั้นเดียวกันยังเป็นที่ตั้งของโถงกิจกรรมอินฟินิซิตี้ฮอลล์ และบลูโอ รึธึ่ม แอนด์ โบว์ล สาขาแรกในประเทศไทย
พารากอนฮอลล์ (อังกฤษ: Paragon Hall, ชื่อเดิม: รอยัล พารากอน ฮอลล์) เป็นศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมในสยามพารากอน บริหารงานโดย บริษัท สยามอัลไลแอนซ์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ภายในประกอบด้วยห้องโถงใหญ่ 3 ห้อง (Paragon Hall 1–3) ขนาดตั้งแต่ 2,000 ถึง 2,828 ตารางเมตร โดย Paragon Hall 2–3 สามารถเชื่อมต่อกันเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการจัดคอนเสิร์ตความจุ 5,000 คน หรือ แบบนั่งชมได้ 5,200 คน และห้องประชุมเล็กขนาด 40–300 ตารางเมตร อีก 6 ห้อง (Meeting Room 1–6) รองรับได้ตั้งแต่ 30–120 คนต่อห้อง ทั้งนี้ พารากอนฮอลล์ได้ปิดปรับปรุงตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 และมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567
โรงแรมสยาม เคมปินสกี กรุงเทพ (อังกฤษ: Siam Kempinski Bangkok) เป็นโรงแรมในโครงการสยามพารากอน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอาคารหลัก โดยเป็นการร่วมทุนกับเครือโรงแรมและรีสอร์ท เคมปินสกีอาเก ประเทศเยอรมนี ภายในประกอบด้วยห้องพัก ห้องจัดเลี้ยง และร้านอาหาร โดยหนึ่งในนั้นคือร้าน "สระบัว บาย กิน กิน" ซึ่งเคยได้รับดาวมิชลินหนึ่งดวง
พาร์ค พารากอน (อังกฤษ: Parc Paragon) ลานกิจกรรมที่สามารถเชื่อมตัวศูนย์การค้าเข้ากับสถานีสยามของรถไฟฟ้าบีทีเอส และสยามเซ็นเตอร์ได้ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของจอแอลอีดีขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อมต่อกับจอแอลอีดีที่ติดตั้งบริเวณสยามเซ็นเตอร์ และอาคารจอดรถสยาม
สยามพารากอนเคยเป็นที่ตั้งของ คิดส์ซาเนีย กรุงเทพ (อังกฤษ: KidZania Bangkok) ศูนย์การเรียนรู้ในรูปแบบเมืองจำลองสำหรับเด็ก ลิขสิทธิ์จากประเทศเม็กซิโก ซึ่งสร้างในพื้นที่ที่เคยวางแผนเป็นโรงละครสยามโอเปร่า[23] คิดส์ซาเนียปิดการให้บริการอย่างกะทันหันตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 โดยที่ผู้บริหารของศูนย์การค้าไม่สามารถติดต่อกับเจ้าของโครงการได้ และพนักงานของคิดส์ซาเนียก็ถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหันเช่นกัน อนึ่ง ผลประกอบการในปี พ.ศ. 2561-2562 ของคิดส์ซาเนีย กรุงเทพ ขาดทุนสะสม 68 ล้านบาท[24]
วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 มีผู้พลัดตกจากบันไดเลื่อนที่กำลังเคลื่อนอยู่ระหว่างชั้น M และ G ลงไปยังชั้น B บริเวณลานด้านหน้า บางกอก ซี ไลฟ์ โอเชียนเวิลด์ บาดเจ็บสาหัส ก่อนจะเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บในวันถัดมา[25]
ช่วงเย็นของวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เกิดเหตุกราดยิงโดยสุ่มภายในห้าง เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 4 คน ผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนชายวัย 14 ปี และถูกจับกุมหลังเกิดเหตุ[26]
ปี | รางวัล | สาขา | ผล |
---|---|---|---|
2566 | Thailand Zocial Awards 2023[27] | Best Brand Performance on Social Media กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า | ชนะ |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.