ประเทศซาอุดีอาระเบีย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซาอุดีอาระเบีย (อังกฤษ: Saudi Arabia; อาหรับ: ٱلسُّعُوْدِيَّة) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (อังกฤษ: Kingdom of Saudi Arabia; อาหรับ: ٱلْمَمْلَكَة ٱلْعَرَبِيَّة ٱلسُّعُوْدِيَّة) เป็นรัฐอาหรับในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ กินอาณาบริเวณกว้างขวางในคาบสมุทรอาหรับ มีพื้นที่ประมาณ 2,150,000 ตารางกิโลเมตร ประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในโลกอาหรับรองจากประเทศแอลจีเรีย ใหญ่เป็นอันดับ 5 ในทวีปเอเชีย และใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันตก มีพรมแดนติดประเทศจอร์แดนและอิรักทางเหนือ ติดประเทศคูเวตทางตะวันออกเฉียงเหนือ ติดประเทศกาตาร์ บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ทางตะวันออก ติดประเทศโอมานทางตะวันออกเฉียงใต้ และติดประเทศเยเมนทางใต้ และแยกกับประเทศอียิปต์ด้วยบริเวณตอนเหนือของอ่าวอัลอะเกาะบะฮ์ ซาอุดีอาระเบียถือเป็นประเทศเดียวที่มีชายฝั่งติดทั้งทะเลแดงและอ่าวเปอร์เซีย ภูมิประเทศส่วนใหญ่ประกอบด้วยทะเลทราย ภูเขา และพื้นที่แห้งแล้งซึ่งไม่สามารถอยู่อาศัยได้ มีประชากรราว 32 ล้านคนซึ่งมากเป็นอันดับ 4 ในโลกอาหรับ เมืองหลวงและเมืองขนาดใหญ่ที่สุดคือรียาด โดยมีญิดดะฮ์เป็นเมืองท่าที่สำคัญและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ซาอุดีอาระเบียยังเป็นที่ตั้งของนครมักกะฮ์และอัลมะดีนะฮ์ สองนครสำคัญทางศาสนาอิสลาม
ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ٱلْمَمْلَكَة ٱلْعَرَبِيَّة ٱلسُّعُوْدِيَّة (อาหรับ) | |
---|---|
เมืองหลวง และเมืองใหญ่สุด | รียาด 24°39′N 46°46′E |
ภาษาราชการ | อาหรับ[2][3] |
กลุ่มชาติพันธุ์ (ค.ศ. 2014[4]) | 90% ชาวอาหรับ 10% แอฟริกา-อาหรับ |
ศาสนา (ค.ศ. 2010)[5] |
|
เดมะนิม |
|
การปกครอง | รัฐเดี่ยว สมบูรณาญาสิทธิราชย์อิสลาม |
สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ | |
• มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรี | มุฮัมมัด บิน ซัลมาน |
สภานิติบัญญัติ | ไม่มี [a] |
ก่อตั้ง | |
• รัฐซาอุดีแรก | ค.ศ. 1727 |
• รัฐซาอุดีที่สอง | ค.ศ. 1824 |
• เอมิเรตรียาด | 13 มกราคม ค.ศ. 1902 |
• รวมประเทศ | 23 กันยายน ค.ศ. 1932 |
24 ตุลาคม ค.ศ. 1945 | |
• รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน | 31 มกราคม ค.ศ. 1992 |
พื้นที่ | |
• รวม | 2,149,690[2] ตารางกิโลเมตร (830,000 ตารางไมล์) (อันดับที่ 12) |
0.7 | |
ประชากร | |
• ค.ศ. 2022 ประมาณ | 38,401,000[9] (อันดับที่ 40) |
15 ต่อตารางกิโลเมตร (38.8 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 174) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | ค.ศ. 2022 (ประมาณ) |
• รวม | 2.00 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[10] (อันดับที่ 17) |
• ต่อหัว | 55,800 ดอลลาร์สหรัฐ[10] (อันดับที่ 27) |
จีดีพี (ราคาตลาด) | 2022 (ประมาณ) |
• รวม | 1.01 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[10] (อันดับที่ 18) |
• ต่อหัว | 27,900 ดอลลาร์สหรัฐ[10] (อันดับที่ 43) |
จีนี (ค.ศ. 2013) | 45.9[11] ปานกลาง |
เอชดีไอ (ค.ศ. 2021) | 0.875[12] สูงมาก · อันดับที่ 40 |
สกุลเงิน | ริยาลซาอุดีอาระเบีย (SR) (SAR) |
เขตเวลา | UTC+3 (เวลามาตรฐานซาอุดีอาระเบีย) |
รูปแบบวันที่ | วว/ดด/ปปปป (ฮ.ศ.) |
ขับรถด้าน | ขวา |
รหัสโทรศัพท์ | +966 |
โดเมนบนสุด |
|
ก่อนการถือกำเนิดของศาสนาอิสลามในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ดินแดนของซาอุดีอาระเบียเป็นที่ตั้งของวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณมากมาย บริเวณนี้แสดงให้เห็นร่องรอยจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ศาสนาอิสลามซึ่งถือเป็นศาสนาที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกถือกำเนิดขึ้นในดินแดนปัจจุบัน ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7 มุฮัมมัด ได้รวบรวมประชากรทั้งหมดในคาบสมุทรอาหรับเข้าด้วยกัน และถือเป็นจุดเริ่มต้นของศาสนาอิสลาม[13] หลังการเสียชีวิตใน ค.ศ. 632 ผู้ติดตามของเขาได้ขยายอาณาเขตอย่างรวดเร็วภายใต้การปกครองของชาวมุสลิม ตามมาด้วยการพิชิตดินแดนครั้งใหญ่โดยมุสลิม (ตั้งแต่บริเวณทางตะวันตกของคาบสมุทรไอบีเรียไปยังบางส่วนของเอเชียกลางและภูมิภาคตะวันออกของเอเชียใต้) ในเวลาไม่กี่ทศวรรษ ราชวงศ์อาหรับที่มีต้นกำเนิดมาจากดินแดนซาอุดีอาระเบียปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งรัฐเคาะลีฟะฮ์รอชิดีน (ค.ศ. 632–661) รัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์ (ค.ศ. 661–750) รัฐเคาะลีฟะฮ์อับบาซียะฮ์ (ค.ศ. 750–1517) และรัฐเคาะลีฟะฮ์ฟาฏิมียะฮ์ (ค.ศ. 909–1171) เช่นเดียวกับราชวงศ์อื่น ๆ ในเอเชีย แอฟริกา และยุโรป
พื้นที่บริเวณคาบสมุทรและพื้นที่ในภูมิภาคตอนเหนืออันอุดมสมบูรณ์เคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐและจักรวรรดิโบราณหลายแห่ง ในขณะที่พื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ซึ่งมีความแห้งแล้งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเล็ก ๆ และเป็นถิ่นอาศัยของชนเผ่าเร่ร่อน นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อออตโมมันอาระเบีย พื้นที่ประเทศซาอุดีอาระเบียสมัยใหม่ประกอบด้วยสี่ภูมิภาคสำคัญ ได้แก่ ฮิญาซ นัจญด์ และบางส่วนของอาระเบียตะวันออกและอาระเบียใต้[14] ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียก่อตั้งใน ค.ศ. 1932 โดย สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลอะซีซ อิบน์ ซะอูด ทรงรวบรวมสี่ภูมิภาคเข้าเป็นรัฐเดี่ยวผ่านการพิชิตหลายครั้งเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1902 ด้วยการยึดรียาด บ้านบรรพบุรุษแห่งราชวงศ์ซะอูดของพระองค์ นับแต่นั้น ซาอุดีอาระเบียปกครองแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยการตัดสินใจทางการเมืองตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปรึกษาหารือระหว่างพระมหากษัตริย์ คณะรัฐมนตรี และชนชั้นสูง จนอาจเรียกได้ว่าเป็นระบอบเผด็จการ[15][16] กลุ่มเคลื่อนไหวทางศาสนาในชื่อ วะฮาบีย์ ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งนิกายซุนนี ถูกมองว่าสะท้อนลักษณะเด่นของวัฒนธรรมซาอุดีอาระเบีย[17] แต่อิทธิพลจากสถาบันศาสนาก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในคริสต์ทศวรรษ 2010[18] กฎหมายพื้นฐานของซาอุดีอาระเบียยังคงนิยามตนเองว่าเป็นรัฐอิสลามอาหรับที่มีอำนาจอธิปไตย โดยมีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการ และกรุงรียาดมีสถานะเป็นเมืองหลวง
มีการค้นพบปิโตรเลียมในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1938 และตามมาด้วยการค้นพบอื่น ๆ อีกหลายแห่งในแคว้นตะวันออก[19][20] และนับแต่นั้น ซาอุดีอาระเบียได้กลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดชาติหนึ่งของโลก ซาอุดีอาระเบียได้รับการวิจารณ์ในหลายด้าน เช่น บทบาทในสงครามกลางเมืองเยเมน การถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนการก่อการร้าย และประวัติด้านสิทธิมนุษยชนที่ย่ำแย่ โดยเฉพาะโทษประหารชีวิตที่รุนแรง ตลอดจนความล้มเหลวในการดำเนินการเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ การเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนา และผู้ที่ไม่ศรัทธาในพระเจ้า การต่อต้านชาวยิว และการตีความกฎหมายชารีอะฮ์ที่เคร่งครัด[21] นับตั้งแต่ ค.ศ. 2016 รัฐบาลมุ่งพัฒนาประเทศภายใต้โครงการวิชัน 2030 โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน
ซาอุดีอาระเบียถือเป็นประเทศอำนาจนำภูมิภาค และประเทศอำนาจปลานกลางของโลก[22] มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง และเป็นอันดับที่ 19 ของโลกตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และอันดับ 17 ตามภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ รายได้หลักมาจากการส่งออกน้ำมัน โดยถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก มีปริมาณน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับ 2 และปริมาณแก๊สธรรมชาติสำรองเป็นอันดับ 6 ของโลก[23] ซาอุดีอาระเบียถูกจัดอันดับโดยธนาคารโลกอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยสูง และเป็นประเทศเดียวในโลกอาหรับที่เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในกลุ่ม 20[24] และเป็นประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์สูง พลเมืองมีสิทธิเข้าถึงการศึกษาโดยไม่เสียค่าเล่าเรียน ไม่มีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา[25] และมีบริการสุขภาพที่ทันสมัย ซาอุดีอาระเบียยังเป็นถิ่นอาศัยของผู้พลัดถิ่นที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก สืบเนื่องจากความต้องการแรงงานต่างชาติจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเป็นสังคมผู้สูงอายุน้อยที่สุดของโลก โดยกว่าร้อยละ 50 ของประชากรมีอายุต่ำกว่า 25 ปี[26] นอกจากการเป็นสมาชิกของสภาความร่วมมืออ่าวแล้ว ซาอุดีอาระเบียยังเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของสหประชาชาติ องค์การความร่วมมืออิสลาม สันนิบาตอาหรับ องค์การผู้ให้บริการการขนส่งทางอากาศอาหรับ โอเปก และยังเป็นคู่ค้าที่สำคัญขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้
การควบรวมราชอาณาจักรฮิญาซและภูมิภาคนัจญด์เข้าด้วยกันนำไปสู่การก่อตั้งรัฐใหม่ในชื่อ อัลมัมละกะตุลอะเราะบียะตุสซุอูดียะฮ์ (المملكة العربية السعودية) ตามพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1932 โดยสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลอะซีซ อิบน์ ซะอูด วลีดังกล่าวมีความหมายตามตัวอักษรว่า "ราชอาณาจักรอาหรับแห่งราชวงศ์ซะอูด"[27] หรือ "ราชอาณาจักรแห่งราชวงศ์ซะอูดอาหรับ"[28] แต่ในภาษาอังกฤษโดยทั่วไปนิยมแปลว่า "ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย" (the Kingdom of Saudi Arabia)[29]
คำว่า ซาอุดี (Saudi) ในภาษาอังกฤษแผลงมาจากวลี อัสซุอูดียะฮ์ (السعودية) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชื่อประเทศในภาษาอาหรับ วลีดังกล่าวเป็นคุณศัพท์วลีที่ได้จากการเติมหน่วยคำแสดงความเกี่ยวข้องที่เรียกว่า นิสบะฮ์ (نسبة) ต่อท้ายชื่อราชวงศ์ซะอูดหรือ อาลซุอูด (آل سعود) การใช้วลี อัสซุอูดียะฮ์ ในชื่อประเทศสะท้อนให้เห็นถึงทัศนะที่ว่าประเทศนี้เป็นสมบัติส่วนตัวของราชวงศ์[30][31] ชื่อ อาลซุอูด เป็นชื่อในภาษาอาหรับที่ได้จากการเติมคำว่า อาล (آل) ซึ่งหมายถึง "ตระกูลของ..." หรือ "ราชวงศ์ของ..."[32] ไว้ข้างหน้าชื่อบุคคลที่เป็นบรรพบุรุษต้นตระกูล ซึ่งในกรณีของชื่อ อาลซุอูด นี้ก็คือ ซะอูด อิบน์ มุฮัมมัด อาล มุกริน พระราชบิดาของมุฮัมมัด อิบน์ ซะอูด อาล มุกริน ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 18[33]
ดินแดนของซาอุดีอาระเบียครอบครองพื้นที่ประมาณร้อยละ 80 บริเวณคาบสมุทรอาหรับ (คาบสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในโลก)[34] ซึ่งอยู่ระหว่างละติจูดที่ 16° ถึง 33° เหนือ และลองจิจูด 34° ถึง 56° เนื่องจากทางใต้ของประเทศมีพรมแดนติดกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน ขนาดที่แน่นอนของประเทศจึงไม่ได้กำหนดไว้ กองสถิติแห่งสหประชาชาติประมาณการตัวเลขที่ 2,149,690 ตารางกิโลเมตร (830,000 ตารางไมล์) และระบุว่าซาอุดีอาระเบียเป็นรัฐที่ใหญ่เป็นอันดับ 12 ของโลก เป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลางและแผ่นอาหรับ[35]
ลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลายของซาอุดีอาระเบียถูกปกคลุมโดยทะเลทรายอาหรับ สเตปป์ เทือกเขาหลายแห่ง ทุ่งลาวาภูเขาไฟ และที่ราบสูง รุบอุลคอลี ครอบคลุมถึงสามส่วนในภาคใต้ของคาบสมุทรอาหรับ ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเป็นทะเลทรายทรายที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก[36] แม้จะมีทะเลสาบในประเทศ ทว่าซาอุดีอาระเบียถือเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกตามขนาดพื้นที่ที่ไม่มีแม่น้ำถาวร บริเวณที่อุดมสมบูรณ์จะพบได้ในลุ่มน้ำในลุ่มน้ำ แอ่ง และโอเอซิส[37] จังหวัดทางตะวันตกเฉียงใต้ของ Asir เป็นภูเขาและมีภูเขา Sawda สูง 3,133 ม. (10,279 ฟุต) ซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดในประเทศ ซาอุดีอาระเบียเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟกว่า 2,000 ลูก[38]
ซาอุดีอาระเบียมีสภาพอากาศแบบทะเลทรายซึ่งมีอุณหภูมิสูงถึงสูงมากในตอนกลางวันโดยเฉพาะในฤดูร้อน และอุณหภูมิจะลดลงอย่างรวดเร็วในตอนกลางคืน อุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูร้อนอยู่ที่ประมาณ 45 °ซ (113 °ฟ) แต่สูงสุดอาจสูงถึง 54 °ซ (129 °ฟ) ในฤดูหนาว อุณหภูมิจะลดลงต่ำกว่า 0 °ซ (32 °ฟ) ยกเว้นพื้นที่ส่วนใหญ่ทางเหนือของประเทศที่มีหิมะตกเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในพื้นที่ภูเขาของแคว้นตะบูก อุณหภูมิต่ำสุดที่บันทึกไว้จนถึงปัจจุบันคือ -12.0 °ซ (10.4 °ฟ)
ซาอุดีอาระเบียเป็นถิ่นอาศัยของระบบนิเวศภาคพื้นดิน 5 แห่ง ได้แก่ ทะเลทรายที่มีหมอกริมชายฝั่งคาบสมุทรอาหรับ ทุ่งหญ้าบริเวณเชิงเขาอาหรับทางตะวันตกเฉียงใต้ ป่าดิบเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ของอาหรับ ทะเลทรายอาหรับ และทะเลแดง ทะเลทรายเขตร้อนนูโบ-ซินเดียน และพื้นที่กึ่งทะเลทราย[39] เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่านานาชนิด อาทิ เสือดาวอาระเบีย หมาป่าอาระเบีย ไฮยีนา วงศ์พังพอน ลิงบาบูน แมวทราย สัตว์ต่าง ๆ เช่น ละมั่ง ออริกซ์ เสือดาว และเสือชีตาห์ มีจำนวนมากจนถึงศตวรรษที่ 19 เมื่อการล่าอย่างกว้างขวางทำให้สัตว์เหล่านี้เกือบจะสูญพันธุ์ สิงโตอินเดีย สัตว์ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมอาศัยในซาอุดีอาระเบียจนถึงปลายศตวรรษที่ 19 ก่อนถูกล่าจนสูญพันธุ์จากธรรมชาติ นกพบได้ทุกภูมิภาค ได้แก่ นกอินทรี เหยี่ยว แร้ง นกทราย และนกปรอด ซาอุดีระเบียยังเป็นของงูหลายชนิด รวมถึงงูพิษหลายสายพันธุ์ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ทะเลแดงเป็นหนึ่งในแหล่งระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์และหลากหลายที่สุดของโลก เป็นที่อยู่อาศัยของปลามากกว่า 1,000 ชนิด[40]
ความหลากหลายอันอุดมสมบูรณ์ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวปะการังความยาวกว่า 2,000 กม. (1,240 ไมล์) ที่ทอดยาวไปตามแนวชายฝั่ง แนวประการังเหล่านี้มีอายุ 5,000–7000 ปี และส่วนใหญ่ประกอบด้วยหินปะการังหินปะการังและปะการังพอไรต์ ทะเลแดงยังมีแนวปะการังนอกชายฝั่งหลายแห่ง การก่อตัวของแนวปะการังนอกชายฝั่งที่ผิดปกติจำนวนมากขัดต่อรูปแบบการจำแนกแนวปะการังแบบคลาสสิก และโดยทั่วไปมีสาเหตุมาจากกิจกรรมการแปรสัณฐานในระดับสูงซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่
ประวัติศาสตร์ประเทศซาอุดีอาระเบียเริ่มขึ้นประมาณปี 1850 ในใจกลางคาบสมุทรอาหรับ เมื่อ มุฮัมมัด บินซะอูด ผู้นำท้องถิ่นได้ร่วมมือกันกับ มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮาบ ก่อตั้งอาณาจักรใหม่ขึ้นมา เรียกว่า ราชอาณาจักรซาอุดีแรก โดยแยกออกจากอาณาจักรออตโตมัน แต่ประเทศที่เป็นซาอุดีอาระเบียในปัจจุบันนั้นสถาปนาขึ้นเป็นครั้งที่สองโดยกษัตริย์อับดุลอะซีซ อาลซะอูด (หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนามของ อิบนุซะอูด) ในปี 1902 อิบนุซะอูดได้ยึดรียาดซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าแก่ของราชวงศ์ซะอูด คืนมาจากตระกูลอัลรอชีด ซึ่งเป็นศัตรูคู่แข่งของราชวงศ์ซะอูด ต่อจากนั้น ก็ได้กรีฑาทัพเข้ายึดแคว้นต่าง ๆ มาได้ ได้แก่ อัลฮะสาอ์, นะญัด และฮิญาซ อันเป็นที่ตั้งของนครมักกะฮ์และนครมะดีนะฮ์ ในปี 1932 อิบนุซะอูดได้ทำการรวมประเทศขึ้นเป็นราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
การเจรจาทำสนธิสัญญาแบ่งเส้นเขตแดนระหว่างซาอุดีอาระเบียกับจอร์แดน อิรัก และคูเวต มีขึ้นช่วงทศวรรษ 1920 และได้มีการจัดตั้ง "เขตเป็นกลาง" ขึ้นด้วยกัน 2 แห่ง คือระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิรัก และซาอุดีอาระเบียกับคูเวต ในปี 1971 ได้มีการแบ่งเขตเป็นกลางระหว่างซาอุดีอาระเบียกับคูเวต โดยให้แต่ละฝ่ายแบ่งทรัพยากรน้ำมันกันอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนการแบ่งขตเป็นกลางระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิรักได้เสร็จสิ้นลงในปี 1983 ทางด้านเขตแดนตอนใต้ที่ติดกับเยเมนนั้น มีการเจรจาแบ่งเขตแดนโดยสนธิสัญญาฏออิฟ ในปี 1934 (พ.ศ. 2477) แต่ก็สิ้นสุดลงด้วยการสู้รบระหว่างสองประเทศ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ เขตแดนระหว่างซาอุดีอาระเบียกับเยเมนในบางพื้นที่ก็ยังมิได้แบ่งลงไปอย่างแน่ชัด ส่วนเขตแดนที่ติดกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้นสามารถตกลงกันได้ในปี 1974 สำหรับเขตแดนกับกาตาร์นั้นยังเป็นปัญหาอยู่
อิบนุซะอูด สิ้นพระชนม์ในปี 1953 และพระราชโอรสองค์โตคือเจ้าชายซะอูด ได้ขึ้นครองราชย์ต่อมาอีก 11 ปี ในปี 1964 กษัตริย์ซะอูดได้สละราชสมบัติให้กับเจ้าชายฟัยศ็อล ซึ่งเป็นน้องชายต่างมารดาและดำรงตำแหน่ง รมว.กต.อยู่ด้วย กษัตริย์ฟัยศ็อล เป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียพัฒนาไปสู่ระบบที่ทันสมัย
ซาอุดีอาระเบียมิได้ส่งกำลังทหารเข้าร่วมรบในสงครามหกวันระหว่างอาหรับกับอิสราเอล แต่ได้ให้เงินช่วยเหลือรายปีแก่อียิปต์ จอร์แยเหลือเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ ในช่วงสงครามอาหรับ-อิสราเอล ปี 1973 ซาอุดีอาระเบียได้เข้าร่วมการคว่ำบาตรทางน้ำมันต่อสหรัฐอเมริกาและเนเธอร์แลนด์ ในฐานะสมาชิกของโอเปก (OPEC) ซาอุดีอาระเบียได้ร่วมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ขึ้นราคาน้ำมันในปี 1971 ภายหลังสงครามปี 1973 ราคาน้ำมันได้พุ่งสูงขึ้นอย่างมากนำความมั่งคั่งและอิทธิพลทางการเมืองมาสู่ซาอุดีอาระเบีย
ในปี 1975 กษัตริย์ฟัยศ็อล ถูกลอบสังหารโดยหลานชายของพระองค์เอง เจ้าชายคอลิด พระอนุชาต่างมารดาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อมาและยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย กษัตริย์คอลิด ได้แต่งตั้งเจ้าชายฟะฮัด น้องชายต่างมารดาของพระองค์เป็นมกุฎราชกุมาร และมอบหมายให้มีอำนาจให้ดูแลกิจการภายในประเทศและต่างประเทศ ในรัชสมัยของกษัตริย์คอลิด เศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและซาอุดีอาระเบียได้มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในเวทีการเมืองในภูมิภาคและในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในปี 1982 กษัติรย์ฟะฮัดได้ขึ้นครองราชย์และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนกษัตริย์คอลิด ซึ่งสิ้นพระชนม์ลง กษัตริย์ฟะฮัดได้แต่งตั้งเจ้าชายอับดุลลอฮ์ น้องชายต่างมารดาซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการของซาอุดีอาระเบียขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร ส่วนเจ้าชายสุลต่านรัฐมนตรีกลาโหมซึ่งเป็นน้องชายแท้ ๆ ของกษัตริย์ฟะฮัด ได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่สอง
ภายใต้รัชสมัยของพระราชาธิบดีฟะฮัด เศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียได้ปรับสภาพให้เข้ากับรายได้จากน้ำมันซึ่งมีราคาตกต่ำลงอย่างมากอันสืบเนื่องมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งตกต่ำลงในช่วงสงครามอิรัก-อิหร่าน ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการให้มีการหยุดยิงระหว่างอิรัก-อิหร่านในปี 1988 และในการก่อตั้งคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศรัฐริมอ่าว 6 ประเทศ
ในระหว่างปี 1990 - 1991 พระราชาธิบดี ฯ มีบทบาทสำคัญทั้งก่อนหน้าและระหว่างสงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War) โดยพระองค์ได้ช่วยเป็นจุดศูนย์กลางในการระดมความสนับสนุนความช่วยเหลือ และได้ใช้อิทธิพลของพระองค์ในฐานะผู้พิทักษ์มัสญิดต้องห้ามอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งสอง ชักชวนให้ประเทศอาหรับและอิสลามเข้าร่วมในกองกำลังผสม
ก่อนหน้าปี 2534 ซาอุดีอาระเบียใช้กฎหมายอิสลามเป็นหลักในการปกครองประเทศโดยพระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดและสูงสุดในการบริหารประเทศ ต่อมาหลังจากวิกฤตการณ์อิรัก-คูเวต ได้มีความเคลื่อนไหวจากประชาชนบางส่วนให้มีการพัฒนารูปแบบการปกครองให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย พระราชาธิบดีฯ จึงได้วางรูปแบบการปกครองอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรก โดยประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา 3 ฉบับ เมื่อเดือนมีนาคม 2534 กฎหมายดังกล่าวระบุว่า การปกครองเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช พระมหากษัตริย์ มีอำนาจสูงสุด เป็นผู้แต่งตั้งและเพิกถอนครม. และสภาที่ปรึกษา (Shura) สภาที่ปรึกษานี้ถือเป็นพัฒนาการใหม่ของซาอุดีอาระเบีย ทีเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ แต่ก็เป็นเพียงในฐานะที่ปรึกษาเท่านั้น มิใช่สภานิติบัญญัติเช่นประเทศอื่น ๆ แม้ว่าในทางกฎหมายพระราชาธิบดีฯ มีอำนาจสิทธิขาดในปกครองประเทศ แต่ในทางปฏิบัติ พระราชาธิบดี ฯ จะใช้วิธีดำเนินนโยบายที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกัน (consensus) จากกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศ อาทิ ประชาชน ฝ่ายศาสนา ทหาร ราชวงศ์ และนักธุรกิจ
รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ซึ่งกำหนดให้ชาวมุสลิมและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมปฏิบัติตามกฎหมายชะรีอะห์ ล้วนอยู่ภายใต้การปกครองโดยเด็ดขาดของราชวงศ์ซะอูดซึ่งได้รับการวิจารร์จากองค์กรและรัฐบาลระหว่างประเทศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ[41] ลัทธิอำนาจนิยม ที่ครอบงำพลเมืองซาอุดีอาระเบียได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มที่ "เลวร้ายที่สุด" ในการสำรวจประจำปีโดย องค์กรวิจัยและสนับสนุนประชาธิปไตย เสรีภาพทางการเมือง และสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล วิจารณ์ว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงและความยุติธรรมใช้วิธีทรมานผู้ต้องขัง เพื่อดึงคำสารภาพเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาคดี[42] ซาอุดีอาระเบียงดเว้นจากการลงคะแนนเสียงของสหประชาชาติที่รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยกล่าวว่าขัดต่อกฎหมายอิสลาม[43] ตัวเลขการประหารชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยการประหารชีวิตในปี 2016 2019 และ 2022 ถูกประณามจากกลุ่มสิทธิระหว่างประเทศ[44]
กฎหมายของซาอุดีอาระเบียไม่ให้การรับรองความหลากหลายทางเพศ หรือเสรีภาพทางศาสนา รวมถึงข้อห้ามในการปฏิบัติของพลเมืองที่มิใช่มุสลิม[45] ระบบยุติธรรมของประเทศสนับสนุนการลงโทษประหารชีวิตเป็นประจำ รวมถึงการประหารชีวิตในที่สาธารณะด้วยการตัดศีรษะ[46] โทษประหารชีวิตบังคับใช้ได้สำหรับความผิดที่หลากหลาย[47] รวมถึงการฆาตกรรม, ข่มขืน, การโจรกรรมด้วยอาวุธ, การใช้ยาเสพติด, การละทิ้งความเชื่อทางศาสนา, การล่วงประเวณี, การใช้เวทมนตร์คาถาอย่างงมงาย และสามารถทำได้โดยการตัดศีรษะด้วยดาบ การขว้างปาหิน หรือการยิง ตามด้วยตรึงกางเขน[48] ในเดือนเมษายน 2020 ศาลฎีกาซาอุดีอาระเบียได้ออกคำสั่งให้ยกเลิกการลงโทษการเฆี่ยนตีออกจากกฎหมายของซาอุดีอาระเบีย และให้แทนที่ด้วยโทษจำคุกหรือปรับ[49][50]
ประชากรสตรีในซาอุดีอาระเบียต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และอยู่ภายใต้ระบบการปกครองซึ่งถือว่าประชากรหญิงเปรียบเสมมือนผู้เยาว์[51] แม้จะมีประชากรหญิงกว่า 70% ได้สิทธิลงทะเบียนเรียนในมหาวิทยาลัย ทว่าด้วยเหตุผลทางสังคม แรงงานสตรียังคิดเป็นกว่า 5% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ[52] การปฏิบัติต่อสตรีในประเทศได้รับการขนานนามว่าเป็น "การแบ่งแยกเพศ" อย่างชัดเจน[53] ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศปลายทางที่มีชื่อเสียงสำหรับชายและหญิงที่ถูกค้ามนุษย์เพื่อการใช้แรงงานทาส และการแสวงประโยชน์ทางเพศในเชิงพาณิชย์ ชายและหญิงจากเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอื่น ๆ อีกมากมายสมัครใจเดินทางไปซาอุดีอาระเบียในฐานะคนรับใช้ในบ้านหรือแรงงานที่มีทักษะต่ำ ทว่ามีบางรายที่ถูกบังคับไปโดยไม่สมัครใจ
กองกำลังทหารของซาอุดีอาระเบียประกอบด้วยกองกำลังย่อยสาขาต่าง ๆ ได้แก่ กองทัพอากาศ, กองทัพเรือ, การป้องกันทางอากาศของราชวงศ์, กองกำลังขีปนาวุธยุทธศาสตร์, กองกำลังป้องกันดินแดนแห่งชาติ, กองทหารรักษาการณ์, กองกำลังรักษาชายแดน, กองกำลังฉุกเฉิน, กองกำลังรักษาความปลอดภัยพิเศษ และหน่วยรักษาความปลอดภัยพิเศษ รวมจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำการทุกสาขาเกือบ 480,700 ราย นอกจากนี้ยังมีหน่วยสืบราชการลับ รับผิดชอบการในเรื่องการแสวงหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับราชการ
ซาอุดีอาระเบียมีความสัมพันธ์ทางการทหารกับปากีสถานมาอย่างยาวนาน มีการสันนิษฐานว่าซาอุดีอาระเบียได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการระเบิดปรมาณูของปากีสถานอย่างลับ ๆ และมีความพยายามซื้ออาวุธปรมาณูจากปากีสถานในอนาคตอันใกล้นี้[54][55] ซาอุดีอาระเบียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้จ่ายทางทหารสูงที่สุดในโลก โดยประมาณการใช้จ่ายกว่า 8% ของจีดีพีประเทศในการทหาร ตามการประมาณการของ SIPRI ในปี 2020 ซึ่งกำหนดให้ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่ใช้จ่ายด้านการทหารมากเป็นอันดับสามของโลกรองจากสหรัฐ และจีน[56] และยังเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลกระหว่างปี 2015 ถึง 2019 โดยเป็นผู้รับอาวุธกว่าครึ่งหนึ่งที่สหรัฐส่งออกมายังตะวันออกกลาง[57] การใช้จ่ายด้านการป้องกันและความปลอดภัยเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 และมีมูลค่าประมาณ 78.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ ปี 2019
จากข้อมูลของบีไอซีซี ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีกำลังทหารมากเป็นอันดับที่ 28 ของโลก และมีอุปกรณ์ทางทหารที่ดีที่สุดเป็นอันดับสองในภูมิภาครองจากอิสราเอล ซาอุดีอาระเบียยังพัฒนาคลังแสงเทคโนโลยีชั้นสูงที่ทันสมัย ทำให้เป็นประเทศติดอาวุธที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยอุปกรณ์ทางทหารของประเทศส่วนใหญ่ได้รับการส่งมอบจากสหรัฐ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร[58] โดยสหรัฐทำการค้าอาวุธ และอุปกรณ์ทางการทหารด้วยมูลค่าสูงถึง 80 พันล้านดอลลาร์ระหว่าง ค.ศ. 1951 ถึง 2006 ให้แก่กองทัพซาอุดีอาระเบีย[59] เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2010 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้แจ้งเจตนารมย์ต่อสภาคองเกรสถึงความตั้งใจที่จะขายอาวุธที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ ซึ่งจะเป็นมูลค่าการซื้อขายกว่า 60.5 พันล้านดอลลาร์ แผนการนี้แสดงถึงการพัฒนาความสามารถในการพัฒนากองทัพซาอุดีอาระเบียอย่างมาก[60] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2012 บีเออี บริษัทชั้นนำด้านการป้องกันของอังกฤษได้ลงนามในข้อตกลงมูลค่า 1.9 พันล้านปอนด์ (3 พันล้านดอลลาร์) เพื่อจัดหาเครื่อง บีเออี ฮ็อค ให้แก่ซาอุดีอาระเบีย[61] ตามรายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม ระหว่างปี 2010–2018 ซาอุดีอาระเบียกลายเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก โดยได้รับอาวุธหลักมากกว่าใน ค.ศ. 2005–2009 ถึงสี่เท่า การนำเข้าที่สำคัญประกอบด้วยเครื่องบินรบ 45 ลำจากสหราชอาณาจักร เฮลิคอปเตอร์ต่อสู้ 38 ลำจากสหรัฐอเมริกา เครื่องบินบรรทุกน้ำมัน 4 ลำจากสเปน และยานเกราะมากกว่า 600 คันจากแคนาดา
ซาอุดีอาระเบียเข้าร่วมสหประชาชาติในปี 1945 และยังเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของสหประชาชาติ องค์การความร่วมมืออิสลาม สันนิบาตอาหรับ องค์กรผู้ให้บริการการขนส่งทางอากาศแห่งอาหรับ และ โอเปก ซาอุดีอาระเบียสนับสนุนการก่อตั้งสหภาพศุลกากรอาหรับในปี 2015 และตลาดร่วมอาหรับตามที่ประกาศในการประชุมสุดยอดสันนิบาตอาหรับปี 2009[62] ตั้งแต่ ค.ศ. 1960 ในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้งโอเปก ราชอาณาจักรมีบาทบาทนำในการนโยบายการกำหนดราคาน้ำมันโดยทั่วไป ทำให้ตลาดน้ำมันโลกมีเสถียรภาพและพยายามลดการผันผวนของราคาเพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจตะวันตก[63] ใน ค.ศ. 1973 ซาอุดีอาระเบียและประเทศอาหรับอื่น ๆ ได้กำหนดห้ามขนส่งน้ำมันกับสหรัฐ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และประเทศตะวันตกอื่น ๆ ที่สนับสนุนอิสราเอลในสงครามยมคิปปูร์[64] การคว่ำบาตรทำให้เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันที่มีผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาวมากมายต่อการเมืองและเศรษฐกิจโลก
ระหว่างกลางทศวรรษ 1970 ถึง 2002 ซาอุดีอาระเบียใช้เงินกว่า 70 พันล้านดอลลาร์ใน "ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในต่างประเทศ" ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ และตั้งแต่ประธานาธิบดี บารัก โอบามา เข้ารับตำแหน่งในปี 2009 สหรัฐได้ค้าอาวุธให้กับซาอุดีอาระเบียคิดเป็นมูลค่ากว่า 110,000 ล้านดอลลาร์[65] อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์เริ่มตึงเครียดในช่วงปีสุดท้ายของการบริหารของโอบามา[66][67] แม้ว่าโอบามาจะอนุญาตให้กองกำลังสหรัฐให้การสนับสนุนด้านโลจิสติกส์และข่าวกรองแก่ซาอุดีอาระเบียในการแทรกแซงทางทหารในเยเมน[68] ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 ซาอุดีอาระเบียจ่ายเงิน 100 ล้านดอลลาร์ให้แก่บริษัทอเมริกันเพื่อล็อบบี้รัฐบาลสหรัฐ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 2017 ประธานาธิบดี ดอนัลด์ ทรัมป์ และกษัตริย์ซัลมานได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงสำหรับซาอุดีอาระเบียเพื่อซื้ออาวุธจากสหรัฐมูลค่า 110 พันล้านดอลลาร์ทันที และ 350 พันล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 10 ปี[69] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2021 วุฒิสภาสหรัฐ ลงมติคัดค้านข้อเสนอให้หยุดการขายขีปนาวุธอากาศสู่อากาศพิสัยกลางขั้นสูงมูลค่า 650 ล้านดอลลาร์ไปยังซาอุดีอาระเบีย เพื่อไม่ให้มีการแทรกแซงทางทหารในเยเมน
ความสัมพันธ์กับชาติตะวันออกกลางหลายชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิหร่านและอิรักเต็มไปด้วยความตึงเครียด จากการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ[70] และบทบาทของซาอุดีอาระเบียในสงครามอ่าวปี 1991 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่กองทหารสหรัฐประจำการบนซาอุดีอาระเบียตั้งแต่ปี 1991 กระตุ้นให้เกิดการตอบโต้ของอิสลามิสต์ และขยายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงสืบถึงปัจจุบัน จีนถือเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรที่สำคัญ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ชาวซาอุดีอาระเบียจำนวนมากได้แสดงมุมมองเชิงบวกต่อจีนเช่นกัน[71] ใน ค.ศ. 2019 มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ออกมาปกป้องกลุ่มค่ายปรับทัศนคติซินเจียง โดยกล่าวว่า "จีนมีสิทธิ์ดำเนินการต่อต้านการก่อการร้ายและขจัดความรุนแรงเพื่อความมั่นคงของชาติ"[72] ในเดือนกรกฎาคม 2019 เอกอัครราชทูตสหประชาชาติใน 37 ประเทศ รวมทั้งซาอุดีอาระเบีย ได้ลงนามในจดหมายร่วมถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อปกป้องการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ของจีนและชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่น ๆ ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์
เพื่อปกป้องราชวงศ์คาลิฟาแห่งบาห์เรน ซาอุดีอาระเบียได้ส่งกองทหารไปปราบปรามการประท้วงของชาวบาห์เรนเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2011[73] รัฐบาลซาอุดีอาระเบียถือว่าการลุกฮือในระยะเวลา 2 เดือนเป็น "ภัยคุกคามด้านความปลอดภัย" ที่เกิดจากชาวชีอะห์ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชากรส่วนใหญ่ของบาห์เรน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 2015 ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มรัฐมุสลิมซุนนี ได้เริ่มการแทรกแซงทางทหารในเยเมนเพื่อต่อต้านกลุ่มชีอะห์ และกองกำลังที่จงรักภักดีต่ออดีตประธานาธิบดี อาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ ซึ่งถูกปลดออกจากการลุกฮือของชาวอาหรับสปริง มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 56,000 คนจากเหตุรุนแรงในเยเมนระหว่างเดือนมกราคม 2016 ถึงเดือนตุลาคม 2018[74] ซาอุดีอาระเบีย ร่วมกับกาตาร์และตุรกี สนับสนุนกองทัพแห่งชัยชนะอย่างเปิดเผย[75][76] กลุ่มกองกำลังต่อต้านรัฐบาลที่ต่อสู้ในสงครามกลางเมืองซีเรีย
ในเดือนมีนาคม 2015 สวีเดนยกเลิกข้อตกลงด้านอาวุธกับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการยุติข้อตกลงด้านการป้องกันประเทศที่มีมายาวนานกว่าทศวรรษกับราชอาณาจักร การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดนถูกซาอุดีอาระเบียขัดขวางขณะพูดเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสิทธิสตรีที่สันนิบาตอาหรับในกรุงไคโร[77] ซาอุดีอาระเบียถูกมองว่าเป็นอิทธิพลปานกลางในความขัดแย้งอาหรับ–อิสราเอล ในช่วงต้นปี 2014 ความสัมพันธ์กับกาตาร์เริ่มตึงเครียดจากการสนับสนุนกลุ่มอิควานมุสลิมีน และความเชื่อของซาอุดีอาระเบียว่ากาตาร์กำลังแทรกแซงกิจการของตน ซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรได้วิพากษ์วิจารณ์ช่องทีวีอัลญะซีเราะฮ์ในกาตาร์ และความสัมพันธ์ของกาตาร์กับอิหร่าน ใน ค.ศ. 2017 ซาอุดีอาระเบียได้เริ่มต้นการปิดล้อมทางบก ทางน้ำ และทางอากาศในกาตาร์[78]
ใน ค.ศ. 2017 ซาอุดีอาระเบียวางแผนที่จะสกัดยูเรเนียมภายในประเทศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อก้าวไปสู่ความพอเพียงในการผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 2017 รัฐบาลได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับจีนเพื่อสำรวจและประเมินยูเรเนียม เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 2020 มีรายงานว่าซาอุดีอาระเบียได้สร้างโรงงานในทะเลทรายในภูมิภาคเมดินาสำหรับการสกัดยูเรเนียมด้วยความช่วยเหลือของประเทศจีน[79] เมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 2020 เดอะการ์เดียนได้เผยแพร่รายงานพิเศษที่เปิดเผยว่าซาอุดีอาระเบียกำลังปูทางสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในประเทศ รายงานลับที่ได้รับจากสื่อระบุว่า ราชอาณาจักรได้รับความช่วยเหลือจากนักธรณีวิทยาจีนในการผลิตยูเรเนียมมากกว่า 90,000 ตันจากแหล่งสะสมหลักสามแห่งในใจกลาง และทางตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย ใกล้กับบริเวณการพัฒนาเมืองใหม่ที่จะเป็นศูนย์กลางทางการค้าอย่างนีอุม
ซาอุดีอาระเบียแบ่งการปกครองเป็น 13 แคว้น ได้แก่
ณ เดือนตุลาคม ค.ศ. 2018 ซาอุดีอาระเบียมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลางและเป็นอันดับที่ 18 ของโลก[80] มีปริมาณน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก ประมาณ 260 พันล้านบาร์เรล หรือประมาณหนึ่งในสี่ของปริมาณน้ำมันสำรองโลก รายรับประมาณ 2 ใน 3 มาจากการส่งออกน้ำมัน เศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียจึงขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันโลก ในช่วงหลังสงครามอิรัก-คูเวต ภาระค่าใช้จ่ายในระหว่างวิกฤตการณ์อ่าวเปอร์เซียประกอบกับรายได้ที่ลดลงจากการตกต่ำของราคาน้ำมัน และรายจ่ายภาครัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้ออาวุธ ทำให้ซาอุดีอาระเบียเผชิญปัญหาขาดดุลงบประมาณติดต่อกัน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในสภาพที่มั่นคง การลงทุนภาคเอกชนมีมากขึ้น ความพยายามในการกระจายรายรับโดยการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่น้ำมันเริ่มประสบผลสำเร็จ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในต่อหัว (Per Capita Gross Domestic Product GDP Per Capita) ของซาอุดีอาระเบีย มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมาเนื่องจากอัตราเพิ่มของประชากรมีมากกว่าอัตราความเจริญทางเศรษฐกิจ
อุตสาหกรรมน้ำมันคิดเป็น 45% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของซาอุดีอาระเบีย เทียบกับ 40% ของภาคเอกชน ซาอุดีอาระเบียมีน้ำมันสำรองอย่างเป็นทางการประมาณ 260 พันล้านบาร์เรล (4.1×1010 m3) ซึ่งประกอบด้วยประมาณหนึ่งในห้าของปริมาณสำรองปิโตรเลียมทั้งหมดที่ถูกค้นพบแล้วของโลก[81] โอเปก จำกัดการผลิตน้ำมันของสมาชิกโดยพิจารณาจาก "ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว" ปริมาณสำรองที่เผยแพร่ของซาอุดีอาระเบียมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยตั้งแต่ปี 1980 คือเพิ่มขึ้นประมาณ 100 พันล้านบาร์เรล (1.6×1010 m3) ระหว่างปี 1987 ถึง 1988[82] ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 ถึง 2013 "บริการสาธารณูประโภคหลักหลายประการ" ได้รับการปฏิรูป เช่น ประปาเทศบาล ไฟฟ้า โทรคมนาคม และบางส่วนของการศึกษาและการดูแลสุขภาพ การควบคุมการจราจร และการรายงานอุบัติเหตุทางรถยนต์ ดัชนี TASI ของตลาดหลักทรัพย์ซาอุดีอาระเบียพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 16,712.64 ในปี 2005 และปิดที่ 8,535.60 ณ สิ้นปี 2013 ในเดือนพฤศจิกายน 2005 ซาอุดีอาระเบียได้รับการอนุมัติให้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก รัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงานการลงทุนทั่วไปของซาอุดีอาระเบียเพื่อส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบียมีรายชื่อภาคอุตสาหกรรมที่ห้ามการลงทุนจากต่างประเทศ แต่รัฐบาลมีแผนที่จะเปิดการลงทุนในบางส่วน เช่น โทรคมนาคม การประกันภัย และการส่ง/จำหน่ายไฟฟ้าในอนาคต
นอกจากปิโตรเลียมและก๊าซแล้ว ซาอุดีอาระเบียยังมีภาคการทำเหมืองทองคำที่สำคัญ และอุตสาหกรรมแร่ที่สำคัญอื่น ๆ ภาคเกษตรกรรม (โดยเฉพาะในตะวันตกเฉียงใต้) เป็นที่ตั้งหลักของผลิตผลจากผัก ผลไม้ อินทผลัม ฯลฯ และปศุสัตว์และงานชั่วคราวจำนวนมากที่สร้างขึ้นโดยผู้แสวงบุญฮัจญ์ประจำปีประมาณสองล้านคน ซาอุดีอาระเบียกำลังเปิดใช้งานท่าเรือของตนมากขึ้นเพื่อมีส่วนร่วมในการค้าระหว่างยุโรปและจีนนอกเหนือจากการขนส่งน้ำมัน ด้วยเหตุนี้ ท่าเรือต่าง ๆ กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีการลงทุนด้านโลจิสติกส์ ประเทศนี้ในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมทางทะเลที่วิ่งจากชายฝั่งจีนไปทางทิศใต้ผ่านปลายด้านใต้ของอินเดียไปยังมอมบาซา ผ่านทะเลแดงและคลองสุเอซไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไปจนถึงภูมิภาคเอเดรียติกตอนบน สู่ศูนย์กลางเมือง ตรีเยสเต ทางตอนเหนือของอิตาลี พร้อมเส้นทางรถไฟไปยังยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก และทะเลเหนือ[83][84][85][86]
ตัวเลขและสถิติด้านความยากจนในราชอาณาจักรไม่สามารถหาได้จากแหล่งข้อมูลของสหประชาชาติ เนื่องจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียไม่ได้ออกเอกสารใด ๆ ในเรื่องนี้[87] ในเดือนธันวาคม 2011 กระทรวงมหาดไทยของซาอุดีอาระเบียได้จับกุมนักข่าวสามคน และกักขังเป็นเวลาเกือบสองสัปดาห์เพื่อสอบปากคำหลังจากที่พวกเขาอัปโหลดวิดีโอในหัวข้อดังกล่าวบนยูทูบ[88] โดยเจ้าของวิดีโอได้ให้ข้อมูลว่าประชากรกว่า 22% ของประเทศอาจประสบความยากจน[89]
การพัฒนาการเกษตรอย่างจริงจังเริ่มขึ้นในทศวรรษ 1970 รัฐบาลได้เปิดตัวโครงการสำคัญเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อสร้างถนนในชนบท เครือข่ายชลประทาน โรงเก็บและส่งออก และส่งเสริมสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตร เป็นผลให้มีการเติบโตอย่างมหัศจรรย์ในการผลิตอาหารพื้นฐานทั้งหมด ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียมีทรัพยากรอาหารหลายอย่างในประเทศอย่างพอเพียง รวมทั้งเนื้อสัตว์ นม และไข่ ประเทศเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลี อินทผลัม ผลิตภัณฑ์นม ไข่ ปลา สัตว์ปีก ผลไม้ ผัก และดอกไม้ไปยังตลาดทั่วโลก นอกจากนี้ ชาวนาซาอุดีอาระเบียยังปลูกธัญพืชอื่นๆ จำนวนมาก เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง ในปี ค.ศ. 2016 รัฐบาลประกาศยุติการผลิตข้าวสาลีเพื่อรักษาทรัพยากรน้ำ[90]
ซาอุดีอาระเบียมีฟาร์มโคนมที่ทันสมัย และใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง อัตราการผลิตนมต่อปีอยู่ที่ 6,800 ลิตร (1,800 แกลลอนสหรัฐ) ซึ่งเป็นหนึ่งในปริมาณที่สูงที่สุดในโลก บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมในท้องถิ่น Almarai เป็นบริษัทนมครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง[91] ความสำเร็จทางการเกษตรที่น่าทึ่งที่สุดของราชอาณาจักรซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก คือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการเป็นผู้นำเข้ามาเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีใน ค.ศ. 1978 ประเทศได้สร้างโรงเก็บเมล็ดพืชแห่งแรกขึ้น หลังจากนั้นไม่นาน ซาอุดีอาระเบียเริ่มส่งออกข้าวสาลีไปยัง 30 ประเทศ รวมทั้งจีนและอดีตสหภาพโซเวียต และในพื้นที่การผลิตหลักอย่างตะบูก ลูกเห็บ และกอซิม ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 8.1 ตันต่อเฮกตาร์ (3.6 ตันสั้น/เอเคอร์) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เพิ่มการผลิตผักและผลไม้ด้วยการปรับปรุงทั้งเทคนิคทางการเกษตรและถนนที่เชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภคในเมือง ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ส่งออกผักและผลไม้รายใหญ่ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน พืชผลส่วนใหญ่ได้แก่ แตงโม องุ่น ผลไม้รสเปรี้ยว หอมใหญ่ สควอช และมะเขือเทศ ปลูกในบริเวณทางตะวันตกเฉียงใต้ที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ของประเทศ[92]
แม้ว่าการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในซาอุดีอาระเบียยังคงเกี่ยวข้องกับการแสวงบุญทางศาสนาเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีการเติบโตในภาคการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน และนันทนาการ จากข้อมูลของธนาคารโลก มีผู้เดินทางมาซาอุดีอาระเบียประมาณ 14.3 ล้านคนในปี 2012 ทำให้เป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากเป็นอันดับ 19 ของโลก[93] การท่องเที่ยวเป็นองค์ประกอบสำคัญของวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบียปี 2030 และจากรายงานของ BMI Research ในปี 2018 พบว่าการท่องเที่ยวทั้งเชิงศาสนาและนันทนาการมีศักยภาพในการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ
นับตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 2018 รัฐบาลเสนอการตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาและคอนเสิร์ต ในเดือนกันยายน 2019 รัฐบาลได้ประกาศแผนการที่จะเปิดการยื่นขอการตรวจลงตราสำหรับผู้มาเยือน ซึ่งผู้คนจากประมาณ 50 ประเทศจะสามารถขอกาตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวไปยังซาอุดีอาระเบียได้
การศึกษาในทุกระดับไม่มีค่าใช้จ่าย แม้ว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะจำกัดเฉพาะพลเมืองเท่านั้น[94] ระบบการศึกษาประกอบด้วยโรงเรียนประถม และมัธยมศึกษา ชั้นเรียนมีการแยกตามเพศชัดเจน ในระดับมัธยมศึกษา สามารถเลือกโรงเรียนได้ 3 แบบ คือ ศึกษาทั่วไป เทคนิค หรือ การศึกษาเพื่อศาสนา[95] อัตราการรู้หนังสือของประเทศอยู่ที่ 99% ในเพศชายและ 96% ในเพศหญิงในปี 2020[96][97] สำหรับเยาวชน อัตราการรู้หนังสือเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 99.5% สำหรับทั้งสองเพศ[98][99]
ตามแผนการศึกษาสำหรับการศึกษาระดับมัธยมศึกษา 1435–1438 ปฏิทินฮิจเราะห์ นักเรียนที่ลงทะเบียนในสาขา "วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ" จะต้องศึกษาวิชาศาสนาห้าวิชา ได้แก่ เตาฮีด ฟิกฮฺ ตัฟซีร หะดีษ และการศึกษาอิสลามและคัมภีร์กุรอาน อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. 2021 กระทรวงศึกษาธิการของซาอุดีอาระเบียได้ควบรวมวิชาทางศาสนาอิสลามหลายวิชาเข้าบรรุในตำราเล่มเดียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา นอกจากนี้ นักศึกษายังต้องลงทะเบียนในสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ 6 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ธรณีวิทยา และคอมพิวเตอร์ การศึกษาระดับอุดมศึกษาขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยจำนวนมากก่อตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะตั้งแต่ทศวรรษ 2000 สถาบันอุดมศึกษาประกอบด้วยมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ มหาวิทยาลัยซาอูด ก่อตั้งขึ้นในปี 1957 มหาวิทยาลัยอิสลามแห่งอัลมะดีนะฮ์ ก่อตั้งในปี 1961 และมหาวิทยาลัยคิงอับดุลอาซิซ ในญิดดะฮ์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1967 มหาวิทยาลัยปรินเซสโนรา บินท อับดุลารามัน เป็นมหาวิทยาลัยสำหรับสตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อตั้งใน ค.ศ. 1970
อันดับทางวิชาการของมหาวิทยาลัยโลก จัดอันดับสถาบันซาอุดีอาระเบีย 4 แห่งรวมอยู่ในรายชื่อมหาวิทยาลัยชั้นนำ 500 แห่งในปี 2021[100] การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก QS แสดงรายการมหาวิทยาลัยซาอุดีอาระเบีย 14 แห่งจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกปี 2022 และมหาวิทยาลัย 23 แห่งรวมอยู่ใน 100 อันดับแรกในโลกอาหรับ[101]
ใน ค.ศ. 2018 ซาอุดีอาระเบียอยู่ในอันดับที่ 28 ของโลกในด้านผลงานวิจัยคุณภาพสูงตามวารสาร Nature ทำให้เป็นประเทศตะวันออกกลาง ประเทศอาหรับ และประเทศมุสลิมที่มีผลงานดีที่สุด ซาอุดีอาระเบียใช้จ่าย 8.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพื่อการศึกษา เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 4.6%[102] ซาอุดีอาระเบียอยู่ในอันดับที่ 66 ในดัชนีนวัตกรรมโลกในปี 2021 เพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 68 ในปี 2019[103][104] การท่องจำโดยท่องส่วนใหญ่ของอัลกุรอาน การตีความและความเข้าใจ (ตัฟซีร) และการนำประเพณีอิสลามมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นหัวใจสำคัญของ ศาสนาที่สอนในลักษณะนี้ยังเป็นวิชาบังคับสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยทุกคนหลักสูตร[105] อย่างไรก็ตาม ซีไอเอรายงานถึงผลที่ตามมาก็คือ เยาวชนซาอุดีอาระเบีย "โดยทั่วไปขาดการศึกษาและทักษะทางเทคนิคที่ภาคเอกชนต้องการ"
ภาคศาสนาของหลักสูตรระดับชาติของซาอุดีอาระเบียได้รับการตรวจสอบในรายงานปี 2006 โดย Freedom House ซึ่งสรุปว่า "หลักสูตรศาสนาของโรงเรียนรัฐบาลของซาอุดีอาระเบียยังคงเผยแพร่อุดมการณ์แห่งความเกลียดชังต่อ "ผู้ไม่ศรัทธา" นั่นคือ คริสเตียน ยิว ชีอะต์ และศูฟี ,ชาวมุสลิมซุนนีย์ที่ไม่ปฏิบัติตามหลักคำสอนของวะฮาบี, ชาวฮินดู, ผู้ไม่เชื่อในพระเจ้า และอื่น ๆ"[106]
การดูแลสุขภาพในซาอุดีอาระเบียเป็นระบบการดูแลสุขภาพระดับชาติผ่านหน่วยงานรัฐ ซาอุดีอาระเบียได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน 26 ประเทศที่ดีที่สุดในการให้บริการด้านการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพสูง[107] กระทรวงสาธารณสุขของซาอุดีอาระเบีย (MOH) เป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลที่ดูแลด้านการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพประชากร ต้นกำเนิดของกระทรวงสามารถสืบย้อนไปถึง ค.ศ. 1925 เมื่อมีการจัดตั้งหน่วยงานด้านสุขภาพในภูมิภาคหลายแห่ง โดยแห่งแรกในเมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย สถาบันสุขภาพต่าง ๆ ถูกควบรวมกันใน ค.ศ. 1950 อับดุลลาห์ บิน ไฟซาล อัล ซาอุด เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนแรกดำรงตำแหน่งเป็นเวลาสามปี โดยมีบทบาทหลักในการจัดตั้งกระทรวงที่จัดตั้งขึ้นใหม่[108]
กระทรวงสาธารณสุขจัดการแข่งขันระหว่างแต่ละอำเภอ และระหว่างบริการทางการแพทย์และโรงพยาบาลต่าง ๆ แนวคิดนี้ส่งผลให้มีการสร้างโครงการ "Ada'a" ซึ่งเปิดตัวในปี 2016 ระบบใหม่นี้เป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพระดับประเทศสำหรับบริการและโรงพยาบาล หลังจากการนำตาราง KPI ใหม่ไปใช้ เวลาในการรอการรับบริการ และการวัดผลที่สำคัญอื่น ๆ ก็ดีขึ้นอย่างมากทั่วทั้งราชอาณาจักร[109] กระทรวงได้พัฒนายุทธศาสตร์ใหม่ หรือที่เรียกว่ากลยุทธ์การควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย หรือเรียกสั้นๆ ว่า DPAS[110] การดูแลตนเองที่ไม่ดีในบรรดาประชากรบางกลุ่มในประเทศ ทำให้เกิดการเลือกวิถีชีวิตที่ไม่ดี ส่งผลให้กระทรวงแนะนำว่าควรขึ้นภาษีสำหรับอาหาร เครื่องดื่ม และบุหรี่ที่ไม่ดีต่อสุขภาพในภูมิภาค
ซาอุดีอาระเบียมีความคาดหมายคงชีพเฉลี่ยที่ 75 ปี (73.79 สำหรับเพศชาย และ 76.61 สำหรับเพศหญิง) อัตราการเสียชีวิตของทารกในปี 2019 เท่ากับ 5.7 ต่อ 1,000 ราย[111] ในปี 2016 ประชากรผู้ใหญ่ 69.7% มีน้ำหนักเกิน และ 35.5% เป็นโรคอ้วน[112] การสูบบุหรี่ในซาอุดีอาระเบียในทุกกลุ่มอายุเป็นที่แพร่หลาย ในปี 2009 เปอร์เซ็นต์เฉลี่ยของผู้สูบบุหรี่ต่ำสุดคือนักศึกษามหาวิทยาลัย (~13.5%) ในขณะที่ผู้สูงอายุมีอัตราสูงสุด (~25%) การศึกษายังพบว่าร้อยละของผู้สูบบุหรี่ชายนั้นสูงกว่าเพศหญิงมาก (~26.5% สำหรับผู้ชาย, ~9% สำหรับผู้หญิง) ก่อนปี 2010 ซาอุดีอาระเบียไม่มีนโยบายห้ามหรือจำกัดการสูบบุหรี่
ประชากรของซาอุดีอาระเบีย ณ เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2013 คาดว่าจะอยู่ที่ 26.9 ล้านคน แม้ว่าประชากรซาอุดีอาระเบียได้รับการพิสูจน์แล้วว่ายากต่อการประมาณการอย่างแม่นยำมาเป็นเวลานานเนื่องจากแนวโน้มของผู้นำซาอุดีอาระเบียที่จะขยายผลการสำรวจสำมะโนประชากร[113] ประชากรซาอุดีอาระเบียเติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 1950 และหลายปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตของประชากรสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี[114] องค์ประกอบทางชาติพันธุ์ของพลเมืองซาอุดีอาระเบียประกอบไปด้วยชาวอาหรับคิดเป็น 90% และแอฟโฟร-อาหรับอีก 10%
ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ชาวซาอุดีอาระเบียส่วนใหญ่ใช้ชีวิตแบบยังชีพในจังหวัดชนบท แต่ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ดินแดนทั้งหมดได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปี 2012 ชาวซาอุดีอาระเบียประมาณ 80% อาศัยอยู่ในเขตเมืองใหญ่ โดยเฉพาะรียาด ญิดดะห์ หรือ อัดดัมมาม
ซาอุดีอาระเบียมีทัศนคติและขนบธรรมเนียมเก่าแก่หลายศตวรรษ ซึ่งมักมาจากอารยธรรมอาหรับ ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของซาอุดีอาระเบียคือมรดกอิสลามและประเพณีของชาวเบดูอินตลอดจนบทบาททางประวัติศาสตร์ในฐานะศูนย์กลางการค้าโบราณ[125]
อาหารซาอุดีอาระเบีย คล้ายกับประเทศโดยรอบในคาบสมุทรอาหรับและโลกอาหรับในวงกว้าง และได้รับอิทธิพลจากอาหารตุรกี อินเดีย เปอร์เซีย และแอฟริกา เนื้อหมูเป็นสิ่งต้องห้ามโดยชาวมุสลิม การรับประทานเนื้อปศุสัตว์ต้องได้รับการเชือดอย่างถูกต้องภายใต้ข้อกำหนดของ ฮาลาล กะบาบ และ ฟาลาฟล เป็นที่นิยมเช่นเดียวกับชาวัรมา (เนื้อแกะย่างเนื้อแกะหรือไก่หมัก) เช่นเดียวกับในประเทศอาหรับอื่น ๆ ในคาบสมุทรอาหรับ มัคบู (กับซะฮ์) ข้าวพร้อมเนื้อแกะ ไก่ ปลา หรือกุ้ง เป็นหนึ่งในอาหารประจำชาติ เช่นเดียวกับมานดิ ขนมปังทาบูนเป็นอาหารหลักในแทบทุกมื้อ เช่นเดียวกับอินทผลัม ผลไม้สด โยเกิร์ต และครีม กาแฟอาหรับเป็นเครื่องดื่มแบบดั้งเดิมในอาหารอาหรับ หลักฐานยืนยันที่เก่าแก่ที่สุดของการดื่มกาแฟหรือความรู้เกี่ยวกับต้นกาแฟมีประวัติสืบไปถึงศตวรรษที่ 15 โดยลัทธิศูฟี
เนื่องจากซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง อีกทั้งประชาชนยังนับถือศาสนาอิสลามซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการแต่งตัวไว้อย่างเคร่งครัด ทำให้ชาวซาอุดีอาระเบียแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่หลวมเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้อย่างสะดวก แต่ปกปิดร่างกายอย่างมิดชิดทั้งผู้ชายและผู้หญิงเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายเสียความชุ่มชื้น ผู้ชายจะใส่ชุดสีขาว เรียกว่า โต๊ป (Thobe) ส่วนผู้หญิงต้องสวมใส่เสื้อคลุมสีดำที่เรียกว่า อาบายะห์ (Abaya)
ฟุตบอลเป็นกีฬาประจำชาติของชาวซาอุดีอาระเบีย ฟุตบอลทีมชาติซาอุดีอาระเบีย เป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดทีมหนึ่งในทวีปเอเชีย โดยชนะเลิศการแข่งขันเอเชียนคัพ 3 สมัย (ค.ศ. 1984, 1988 และ 1996) และเป็นหนึ่งในสองทีมที่เข้าชิงชนะเลิศรายการนี้มากที่สุด 6 ครั้ง ซาอุดีอาระเบียเข้าร่วมฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 6 ครั้ง และยังเป็นชาติแรกในเอเชียที่เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศการแข่งขันของฟีฟ่าในนามทีมชาติชุดใหญ่
การดำน้ำสกูบา วินด์เซิร์ฟ เรือใบ และบาสเกตบอล (ซึ่งเล่นโดยทั้งชายและหญิง) ก็เป็นที่นิยมเช่นกัน ทีมบาสเกตบอลแห่งชาติซาอุดีอาระเบียที่คว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันชิงแชมป์เอเชียปี 1999[126][127][128] กีฬาแบบดั้งเดิมเช่น การแข่งม้าและอูฐก็เป็นที่นิยมเช่นกัน สนามกีฬาในริยาดจัดการแข่งขันในฤดูหนาวประจำปีซึ่งเริ่มขึ้นในปี 1974 เป็นหนึ่งในการแข่งขันที่สำคัญที่สุดของกีฬาและดึงดูดสัตว์และผู้ขับขี่จากทั่วทั้งภูมิภาค การล่าสัตว์ป่าในสภาพธรรมชาติและที่อยู่อาศัยโดยใช้นกล่าเหยื่อที่ได้รับการฝึกฝนเป็นอีกหนึ่งกีฬาที่ได้รับความนิยม
กีฬาของสตรีเป็นที่ถกเถียงกันเนื่องจากการปราบปรามการมีส่วนร่วมของสตรีโดยเจ้าหน้าที่กลุ่มอนุรักษ์นิยม อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดนี้ผ่อนคลายลงเล็กน้อยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา[129][130] จนถึงปี 2018 สตรีไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าชมกีฬาในสนาม ที่นั่งแบบแยกส่วนซึ่งอนุญาตให้ประชากรสตรีเข้าได้ ได้รับการพัฒนาในสนามกีฬาสามแห่งทั่วเมืองใหญ่ในประเทศ[131]
โทรทัศน์ได้รับการเผยแพร่เข้าสู่ซาอุดีอาระเบียใน ค.ศ. 1954 ซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดหลักสำหรับดาวเทียมและเพย์ทีวีในภูมิภาค โดยครอบครองส่วนแบ่งที่ใหญ่ที่สุดของตลาดกระจายเสียงในกลุ่มสันนิบาตอาหรับ บริษัทกระจายเสียงรายใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ เอ็ม บี ซี กรุ๊ป, โรตานา กรุ๊ป และ Saudi Broadcasting Authority[132]
รัฐบาลซาอุดีอาระเบียติดตามสื่ออย่างใกล้ชิด และจำกัดสื่อดังกล่าวภายใต้กฎหมายของรัฐที่เป็นทางการ มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อลดข้อจำกัดเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ความพยายามบางอย่างที่นำโดยรัฐบาลในการควบคุมข้อมูลได้ดึงดูดความสนใจจากนานาชาติด้วยเช่นกัน ใน ค.ศ. 2022 ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนประเมินสถานการณ์สื่อมวลชนของราชอาณาจักรว่า "ตึงเครียดมาก"[133] หนังสือพิมพ์ยุคแรก ๆ ส่วนใหญ่ในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียกำเนิดขึ้นในซาอุดีอาระเบีย หนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศและในบริเวณอ่าวเปอร์เซียคือ อัล ฟะลาฮ์ ซึ่งเปิดตัวในปี 1920 หนังสือพิมพ์ทั้งหมดที่ตีพิมพ์ในซาอุดีอาระเบียดำเนินงานโดยเอกชน[134]
ประชากรของซาอุดีอาระเบียได้รับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในปี 1994[135] จากข้อมูลของธนาคารโลก ณ ปี 2020 ประชากร 98% ของซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่ 8 ของประเทศที่มีเปอร์เซ็นต์ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงสุด[136] ซาอุดีอาระเบียมีความเร็วอินเทอร์เน็ต 5G ที่เร็วที่สุดชาติหนึ่งในโลก[137][138] และยังเป็นตลาดการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 27 ด้วยรายได้ 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน ค.ศ. 2021 โดยนำหน้าเบลเยียมและหลังนอร์เวย์
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.