จังหวัดนนทบุรี
จังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นนทบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นครั้งล่าสุดโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครนายก พุทธศักราช 2489 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 [4] และเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานครมากที่สุด ด้วยระยะทาง 20 กิโลเมตร
จังหวัดนนทบุรี | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Changwat Nonthaburi |
(จากซ้ายไปขวา บนลงล่าง) เจดีย์เอียงในวัดปรมัยยิกาวาส, วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร, วัดกู้, ศาลากลางจังหวัดนนทบุรีหลังเก่า, อิมแพ็ค เมืองทองธานี, รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง | |
คำขวัญ: พระตำหนักสง่างาม ลือนามสวนสมเด็จ เกาะเกร็ดแหล่งดินเผา วัดเก่านามระบือ เลื่องลือทุเรียนนนท์ งามน่ายลศูนย์ราชการ[1] | |
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดนนทบุรีเน้นสีแดง | |
ประเทศ | ไทย |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | เกียรติศักดิ์ ตรงศิริ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2567) |
พื้นที่[2] | |
• ทั้งหมด | 622.303 ตร.กม. (240.273 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 75 |
ประชากร (พ.ศ. 2566)[3] | |
• ทั้งหมด | 1,308,092 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 13 |
• ความหนาแน่น | 2,102.02 คน/ตร.กม. (5,444.2 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 2 |
รหัส ISO 3166 | TH-12 |
ชื่อไทยอื่น ๆ | เมืองนนท์ |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
• ต้นไม้ | นนทรี |
• ดอกไม้ | นนทรี |
• สัตว์น้ำ | ปลาเทพา |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ภายในศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 |
• โทรศัพท์ | 0 2580 0705-6 |
• โทรสาร | 0 2580 0705-6 |
เว็บไซต์ | http://www.nonthaburi.go.th/ |
ปัจจุบัน จังหวัดนนทบุรีจัดเป็นพื้นที่ในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร มีขนาดเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 75 ของประเทศ (รวมกรุงเทพมหานคร) แต่มีประชากรหนาแน่นที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากกรุงเทพมหานคร
ประวัติศาสตร์
สภาพทั่วไปของจังหวัดนนทบุรีเป็นที่ราบลุ่มมีความอุดมสมบูรณ์ จึงมีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนหนาแน่นตามริมแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่อดีต เช่น บ้านวัดชลอ บ้านวัดเขมา บ้านบางม่วง บ้านตลาดขวัญ บ้านบางขนุน เป็นต้น
สมัยอยุธยา
หลักฐานการตั้งถิ่นฐานที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดนนทบุรีปรากฏที่วัดปรางค์หลวง[5] ตั้งอยู่ในตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ เป็นวัดที่มีพระปรางค์ลักษณะย่อมุมไม้ยี่สิบขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นหลักแก่ชุมชนชาวเมืองอู่ทองที่อพยพหนีโรคระบาดมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้ก่อนจะมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี[6] ชุมชนแห่งนี้ได้ขยายตัวและกระจัดกระจายออกไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ในบริเวณนี้ โดยมีชุมชนสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ บ้านตลาดขวัญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ท้องที่จังหวัดนนทบุรีทั้งหมดในสมัยนี้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา[7]
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2091 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา จากเหนือวัดชลอไปทะลุใกล้วัดมูลเหล็ก (ปัจจุบันคือวัดสุวรรณคีรี เขตบางกอกน้อย) เพื่อใช้เป็นเส้นทางลัดในการเดินทางและเพื่อเพิ่มปริมาณแหล่งน้ำสำหรับการเกษตรในพื้นที่[8]
ในปีเดียวกันนั้น พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กษัตริย์พม่าได้ยกกองทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ผลจากสงครามทำให้สมเด็จพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์บนคอช้าง เมื่อพม่ายกทัพกลับไป และกรุงศรีอยุธยาได้จัดการพระศพสมเด็จพระสุริโยทัยเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงทรงปรับปรุงกิจการทหารให้มั่นคงกว่าเดิม พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นอีกหลายเมือง รวมทั้งให้ยกฐานะหมู่บ้านตลาดขวัญขึ้นเป็น เมืองนนทบุรี ในปี พ.ศ. 2092[9] เนื่องจากมีราษฎรจำนวนมากหนีภัยสงครามครั้งนั้นไปอยู่ตามป่าเขาและไม่ยอมกลับพระนคร หากตั้งเมืองใหม่ขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อการเกณฑ์ไพร่พลเมื่อเกิดสงคราม นอกจากนี้ยังสามารถเป็นเมืองท่าและเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยาได้อีกด้วย ที่ตั้งของเมืองนนทบุรีในครั้งแรกนี้ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีวัดเทพอุรุมภังค์ (วัดหัวเมือง) เป็นเขตเหนือ (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า) และมีวัดท้ายเมืองเป็นเขตใต้[10]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2179 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดตัดส่วนโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ใต้วัดท้ายเมืองไปทะลุออกหน้าวัดเขมา[9] (เดิมแม่น้ำเจ้าพระยาไหลวกเข้าไปทางบางกรวยและบางใหญ่) ซึ่งทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทางเดินไหลเข้าคลองที่ขุดใหม่ กลายเป็นแนวแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่าในปัจจุบัน ส่วนแม่น้ำเดิมก็ตื้นเขินลงเป็นคลองอ้อม คลองบางกอกน้อย และคลองบางกรวยตามที่ปรากฏในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2208 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพระราชดำริว่า แนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่สั้นลงจะทำให้ข้าศึกเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาได้ง่ายขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองนนทบุรีจากบ้านตลาดขวัญไปตั้งบริเวณปากคลองอ้อม บ้านบางศรีเมือง[9] (ที่ตั้งเมืองอยู่บริเวณนี้จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) และให้สร้างกำแพงเมืองรวมทั้งป้อมปราการขึ้น 2 ป้อม คือ "ป้อมแก้ว" ตั้งอยู่ที่บ้านตลาดแก้ว (สันนิษฐานว่าอยู่ที่วัดปากน้ำในปัจจุบัน) และ "ป้อมทับทิม" ตั้งอยู่บริเวณวัดเฉลิมพระเกียรติในปัจจุบัน[11] (ปัจจุบันกำแพงและป้อมถูกรื้อไปหมดแล้ว) ในช่วงนี้สภาพเศรษฐกิจของเมืองนนทบุรีมีความมั่นคงมาก ทั้งการค้าขายและการทำสวนผลไม้[11]
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2264 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดเกร็ดขึ้นตัดความโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ไหลวกอ้อมไปทางบางบัวทอง[11] ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางการไหล ชายฝั่งทั้งสองข้างของคลองลัดเกร็ดถูกกัดเซาะให้ห่างออกจากกันมากขึ้น พื้นที่ตรงกลางที่มีน้ำล้อมรอบจึงกลายเป็นเกาะ เรียกว่า "เกาะเกร็ด"
ปี พ.ศ. 2307 ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเล็กน้อย พระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่า โปรดเกล้าฯ ให้มังมหานรธาเป็นแม่ทัพเข้าตีเข้ากรุงศรีอยุธยาจากทางทิศใต้ ตีหัวเมืองรายทางเรื่อยมาจนถึงเมืองธนบุรีและเมืองนนทบุรี ก็เข้ายึดเมืองทั้งสองได้เช่นกัน พม่าแบ่งกำลังบางส่วนขึ้นมาตั้งค่ายอยู่บริเวณวัดเขมา ขณะนั้นมีเรือกำปั่นอังกฤษซึ่งมาค้าขายอยู่ที่เมืองธนบุรีได้อาสาช่วยรบโดยยิงปืนเข้าใส่ค่ายพม่าในเวลากลางคืน[12] แต่ในที่สุดก็สู้กองทัพพม่าไม่ได้ จึงล่องเรือหนีไป
จากนั้นกองทัพพม่าจึงบุกขึ้นไปทางทิศเหนือ เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2309 และเข้ายึดได้ในปี พ.ศ. 2310 ตลอดการสู้รบได้ส่งผลให้บ้านเมือง วัดวาอารามต่าง ๆ ถูกทำลายและทิ้งร้าง ชาวเมืองนนทบุรีต้องอพยพจากถิ่นที่อยู่เดิม ข้ามแม่น้ำไปหลบซ่อนในสวนบางกรวยและบางใหญ่เพื่อหนีภัยสงคราม[13]
สมัยธนบุรี
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงไปรับครอบครัวชาวมอญมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในแขวงเมืองนนท์ ในท้องที่ปากเกร็ด[13] หลังจากที่มอญพ่ายพม่า ในภาวะสงครามคืนสู่ปกติ ชาวนนทบุรีเริ่มเพาะปลูก ค้าขายและติดต่อกับเมืองหลวง นนทบุรีขณะนั้นมีสถานะเป็นชานพระนคร ยังเป็นแหล่งรองรับชาวกรุงเก่า[14]
สมัยรัตนโกสินทร์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้ผู้คนต่างถิ่นตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองนนทบุรี เมืองปทุมธานี และเมืองนครเขื่อนขันธ์[15] นอกจากนี้ยังมีชาวไทยมุสลิมเมืองปัตตานีที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[15] และชาวไทยมุสลิมเมืองไทรบุรีที่เข้ามาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสองพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ชาวไทยมุสลิมเหล่านี้ตั้งถิ่นฐานที่บ้านท่าอิฐ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอปากเกร็ด) และบ้านบางบัวทอง[15]
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนสร้อยชื่อเมืองจากเดิมคือ เมืองนนทบุรีศรีมหาสมุทร เป็น เมืองนนทบุรีศรีมหาอุทยาน[16] และต่อมาเปลี่ยนเป็น เมืองนนทบุรีศรีเกษตราราม[17] ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ เมืองนนทบุรีมีฐานะเป็นหัวเมืองชายทะเล สังกัดกรมท่า[18]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงปฏิรูปการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ เป็นการปกครองส่วนภูมิภาค เมืองนนทบุรี จึงจัดอยู่ในมณฑลกรุงเทพ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอตลาดขวัญ อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง และอำเภอปากเกร็ด[18] ส่วนศาลากลางเมืองนนทบุรีนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากปากคลองอ้อม บ้านบางศรีเมือง มาตั้งอยู่ที่ปากคลองบางซื่อใกล้วัดท้ายเมือง[18] จนกระทั่งปี พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็น "จังหวัด"[19] เมืองนนทบุรีจึงเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น จังหวัดนนทบุรี
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายศาลากลางจังหวัดนนทบุรีมาตั้งที่โรงเรียนราชวิทยาลัย[20] ศาลากลางจังหวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากที่ทำการเมืองและศาลากลางจังหวัดนนทบุรีในอดีตลงมาทางทิศใต้ ปัจจุบันก็คือศาลากลางจังหวัดหลังเก่าบริเวณท่าน้ำนนทบุรีนั่นเอง
สมัยปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2474 ทางราชการได้ตัดถนนประชาราษฎร์[21] ขึ้นเป็นเส้นทางเชื่อมการคมนาคมระหว่างจังหวัดนนทบุรีกับจังหวัดพระนครสายแรก[22] และต่อมาจึงตัดถนนพิบูลสงครามเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นเป็นสายที่สอง[22] ในท้องที่ตำบลสวนใหญ่
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางราชการจึงยุบจังหวัดนนทบุรีลงเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ โดยโอนอำเภอเมืองนนทบุรีและอำเภอปากเกร็ดไปขึ้นกับจังหวัดพระนคร และโอนอำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ และอำเภอบางบัวทองไปขึ้นกับจังหวัดธนบุรี[23][22] จนกระทั่งนนทบุรีได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2489[24] อำเภอต่าง ๆ จึงกลับมาอยู่ในเขตการปกครองของทางจังหวัดตามเดิม
ปี พ.ศ. 2499 กระทรวงมหาดไทยได้ยกกิ่งอำเภอไทรน้อยซึ่งแยกพื้นที่ปกครองจากอำเภอบางบัวทองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 ให้มีฐานะเป็นอำเภอไทรน้อย[25] จังหวัดนนทบุรีจึงมีเขตการปกครองรวม 6 อำเภอจนถึงปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2535 กระทรวงมหาดไทยย้ายศาลากลางจังหวัดนนทบุรีและหน่วยงานราชการอื่น ๆ ไปตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ และใช้เป็นที่ทำการมาจนถึงทุกวันนี้
ทำเนียบผู้ว่าราชการ
รายนามผู้ว่าราชการเมืองนนทบุรีและผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี[26]
ลำดับ | ชื่อผู้ว่าราชการ | ระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง | ลำดับ | ชื่อผู้ว่าราชการ | ระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|---|---|---|
1 | มหาอำมาตย์ตรี นายพันตรีพระยาไกรโกษา (ทัด สิงหเสนี) |
ไม่ทราบข้อมูล | 2 | หม่อมเจ้าขจรศุภสวัสดิ์ |
ไม่ทราบข้อมูล |
3 | พ.ศ. 2457–2465 | 4 | พระยานนทบุรีศรีเกษตราราม (เล็ก บูรณฤกษ์) |
พ.ศ. 2465–2469 | |
5 | พระยาศิริชัยบุรินทร์ (เปี่ยม หงสเดช) |
พ.ศ. 2469–2476 | 6 | พระยาบริหารเทพธานี (เฉลิม กาญจนาคม) |
พ.ศ. 2476–2478 |
7 | หลวงภูวนารถนราภิบาล (สนิท มหามุสิต) |
พ.ศ. 2478–2480 | 8 | พ.ศ. 2480–2482 | |
9 | หลวงอรรถเกษมภาษา (สวิง ถาวรพันธ์) |
พ.ศ. 2482–2483 | 10 | หลวงโยธีพิทักษ์ (โปร่ง สาทิศกุล) |
พ.ศ. 2483–2484 |
11 | นายสุทิน วิวัฒนะ |
พ.ศ. 2484–2485 | 12 | หลวงนรกิจบริหาร (แดง กนิษฐสุต) |
พ.ศ. 2485–2489 |
13 | นายลิขิต สัตยายุทธ์ |
พ.ศ. 2489–2491 | 14 | ขุนบุรีภิรมย์กิจ (พริ้ม จารุมาศ) |
พ.ศ. 2491–2499 |
15 | นายประกอบ ทรัพย์มณี |
พ.ศ. 2499–2503 | 16 | นายสอาด ปายะนันทน์ |
พ.ศ. 2503–2510 |
17 | นายแสวง ศรีมาเสริม |
พ.ศ. 2510–2514 | 18 | นายวิจิตร แจ่มใส |
พ.ศ. 2514–2519 |
19 | นายสุชาติ พัววิไล |
พ.ศ. 2519–2521 | 20 | นายศรีพงศ์ สระวาลี |
พ.ศ. 2521–2524 |
21 | นายฉลอง วงษา |
พ.ศ. 2524–2526 | 22 | ดร.สุกิจ จุลละนันท์ |
พ.ศ. 2526–2530 |
23 | พ.ศ. 2530–2534 | 24 | นายทวีป ทวีพาณิชย์ |
พ.ศ. 2534–2536 | |
25 | นายชัยจิตร รัฐขจร |
พ.ศ. 2536–2537 | 26 | นายสุจริต ปัจฉิมนันท์ |
พ.ศ. 2537–2539 |
27 | พ.ศ. 2539–2542 | 28 | นายขวัญชัย วศวงศ์ |
พ.ศ. 2542–2544 | |
29 | นายสาโรช คัชมาตย์ |
พ.ศ. 2544–2545 | 30 | นายชาญชัย สุนทรมัฎฐ์ |
พ.ศ. 2545–2547 |
31 | พ.ศ. 2547–2549 | 32 | นายเชิดวิทย์ ฤทธิประศาสน์ |
พ.ศ. 2549–2552 | |
33 | นายวิเชียร พุฒิวิญญู |
พ.ศ. 2552–2556 | 34 | นายธนน เวชกรกานนท์ |
พ.ศ. 2556–2557 |
35 | นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ |
พ.ศ. 2557–2558 | 36 | นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ |
พ.ศ. 2558–2560 |
37 | นายภานุ แย้มศรี |
พ.ศ. 2560–2562 | 38 | นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ |
พ.ศ. 2562–2565 |
39 | นายสุธี ทองแย้ม |
พ.ศ. 2565–2567 |
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้งและอาณาเขตติดต่อ
จังหวัดนนทบุรีตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือค่อนทางเหนือ 20 กิโลเมตร มีพื้นที่ปกครองทั้งหมด 622.303 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 388,939.375 ไร่ โดยมีพิกัดภูมิศาสตร์อยู่ละติจูดที่ 13 องศา 47 ลิปดาเหนือ ถึงละติจูดที่ 14 องศา 04 ลิปดาเหนือ และลองจิจูดที่ 100 องศา 15 ลิปดาตะวันออก ถึงลองจิจูดที่ 100 องศา 34 ลิปดาตะวันออก[27] และมีอาณาเขตจรดอำเภอและจังหวัดข้างเคียงเรียงตามเข็มนาฬิกา ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอลาดหลุมแก้ว และอำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตดอนเมือง เขตหลักสี่ และเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร (ฝั่งพระนคร)
- ทิศใต้ ติดต่อกับเขตบางพลัด เขตตลิ่งชัน และเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร (ฝั่งธนบุรี)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอพุทธมณฑลและอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดนนทบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีแม่น้ำไหลผ่าน จึงแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งตะวันตก มีพื้นที่ 3 ใน 4 ของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมถึง มีคูคลองขนาดต่าง ๆ เชื่อมโยงกันหลายสายเหมือนใยแมงมุม มีการทำเรือกสวนไร่นา และฝั่งตะวันออกมีพื้นที่ 1 ใน 3 ของจังหวัด ได้แก่พื้นที่ในเขตเทศบาลนครนนทบุรีและเทศบาลนครปากเกร็ด เป็นเขตเมืองมีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น อาจถือได้ว่าส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองหลวง เพราะเขตแดนระหว่างนนทบุรีกับกรุงเทพมหานครนั้นแทบจะไม่เป็นที่รู้จัก
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของจังหวัดนนทบุรีเป็นแบบร้อนชื้นเช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคกลางของประเทศ
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
- ตัวอักษรย่อ จังหวัดนนทบุรีใช้อักษรย่อ "นบ"
- คำขวัญประจำจังหวัด พระตำหนักสง่างาม ลือนามสวนสมเด็จ เกาะเกร็ดแหล่งดินเผา วัดเก่านามระบือ เลื่องลือทุเรียนนนท์ งามน่ายลศูนย์ราชการ
- ตราประจำจังหวัด รูปหม้อน้ำลายวิจิตร หมายถึง ชาวจังหวัดนนทบุรีมีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งยึดถือเป็นอาชีพและมีชื่อเสียงมาช้านาน
- ต้นไม้ประจำจังหวัด ต้นนนทรี (Peltophorum pterocarpum)
- ดอกไม้ประจำจังหวัด ดอกนนทรี
- สัตว์น้ำประจำจังหวัด ปลาเทพา (Pangasius sanitwongsei)
การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
จังหวัดนนทบุรีแบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาค (ตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่) ออกเป็น 6 อำเภอ 52 ตำบล 424 หมู่บ้าน แต่หากไม่นับรวมหน่วยการปกครองในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนครซึ่งยุบเลิกตำแหน่งกำนันและผู้ใหญ่บ้านแล้ว จะมีทั้งหมด 34 ตำบล 328 หมู่บ้าน[28] โดยอำเภอทั้ง 6 อำเภอของจังหวัดนนทบุรี มีรายชื่อและข้อมูลทั่วไปดังนี้
ลำดับ [# 1] |
ชื่ออำเภอ | ชั้น [29] |
พื้นที่ (ตร.กม.) |
ห่างจากศาลากลางจังหวัด (ก.ม.)[30] |
ตั้งเมื่อ (พ.ศ.) |
ตำบล [# 2][31] |
หมู่บ้าน [# 3][31] |
ประชากร (คน)[32] |
แผนที่ |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
1 | เมืองนนทบุรี | พิเศษ | 77.018 [33] | – | ไม่ปรากฏข้อมูล | 10 | 26 | 364,073 | |
2 | บางกรวย | 2 | 57.408 [34] | 16.86 | 2447 [35] | 9 | 41 | 147,181 | |
3 | บางใหญ่ | 2 | 96.398 [36] | 8.11 | 2464 [37] | 6 | 69 | 163,791 | |
4 | บางบัวทอง | 1 | 116.439 [38] | 15.96 | 2445 [39] | 8 | 73 | 288,587 | |
5 | ไทรน้อย | 2 | 186.017 [40] | 29.01 | 2499 [41] | 7 | 68 | 72,821 | |
6 | ปากเกร็ด | 1 | 89.023 [42] | 7.45 | 2427 [43] | 12 | 51 | 252,151 |
- เรียงตามรหัสเขตการปกครองของกรมการปกครอง
- รวมตำบลในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนครด้วย
- เฉพาะหมู่บ้านนอกเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร (ทั้งเต็มหมู่และบางส่วน) เท่านั้น สำหรับจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด ให้ดูในบทความของแต่ละอำเภอ
การปกครองส่วนท้องถิ่น
องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ทำหน้าที่บริหารราชการส่วนท้องถิ่นครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดนนทบุรี มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และมีสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 36 คน[44]
ภายในพื้นที่ของจังหวัดนนทบุรีแบ่งออกเป็นเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่างหรือระดับพื้นฐานจำนวนทั้งหมด 45 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนคร 2 แห่ง, เทศบาลเมือง 10 แห่ง, เทศบาลตำบล 10 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 23 แห่ง[45] รายชื่อเทศบาลทั้งหมดในจังหวัดนนทบุรีมีดังนี้
ลำดับ | ชื่อเทศบาล | พื้นที่ (ตร.กม.) |
ตั้งเมื่อ (พ.ศ.)[# 1] |
อำเภอ | ครอบคลุมตำบล | ประชากร สิ้นปี 2563 (คน)[3] | ||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ทั้งตำบล | บางส่วน | รวม | ||||||
เทศบาลนคร | ||||||||
1 | เทศบาลนครนนทบุรี | 38.90 [46] | 2538 [47] | เมืองนนทบุรี | 5 | – | 5 | 251,026 |
2 | เทศบาลนครปากเกร็ด | 36.04 [48] | 2543 [49] | ปากเกร็ด | 5 | – | 5 | 189,458 |
เทศบาลเมือง | ||||||||
1 | เทศบาลเมืองบางบัวทอง | 13.50 [50] | 2480 [51] | บางบัวทอง | 1 | 4 | 5 | 51,441 |
2 | เทศบาลเมืองบางกรวย | 8.40 [52] | 2545 [53] | บางกรวย | 2 | – | 2 | 44,527 |
3 | เทศบาลเมืองบางศรีเมือง | 6.36 [54] | 2549 [55] | เมืองนนทบุรี | 1 | 1 | 2 | 33,005 |
4 | เทศบาลเมืองพิมลราช | 15.08 [56] | 2557 [57] | บางบัวทอง | – | 1 | 1 | 47,874 |
5 | เทศบาลเมืองบางคูรัด | 19.70 [58] | 2562 [59] | บางบัวทอง | 1 | – | 1 | 40,360 |
6 | เทศบาลเมืองบางรักพัฒนา | 11.48 [60] | 2562 [61] | บางบัวทอง | – | 1 | 1 | 46,986 |
7 | เทศบาลเมืองบางแม่นาง | 14.40 [62] | 2563 [63] | บางใหญ่ | – | 1 | 1 | 47,395 |
8 | เทศบาลเมืองบางกร่าง | 6.55 [64] | 2563 [65] | เมืองนนทบุรี | – | 1 | 1 | 23,667 |
9 | เทศบาลเมืองไทรม้า | 8.14 [52] | 2563 [66] | เมืองนนทบุรี | 1 | – | 1 | 23,742 |
10 | เทศบาลเมืองใหม่บางบัวทอง | 29.70 | 2563 [67] | บางบัวทอง | – | 1 | 1 | 55,181 |
เทศบาลตำบล | ||||||||
1 | เทศบาลตำบลปลายบาง | 15.68 [52] | 2542 [68] | บางกรวย | 2 | 1 | 3 | 46,355 |
2 | เทศบาลตำบลบางม่วง | 1.67 [69] | 2542 [68] | บางใหญ่ | – | 3 | 3 | 6,101 |
3 | เทศบาลตำบลบางใหญ่ | 7.23 [70] | 2542 [68] | บางใหญ่ | – | 3 | 3 | 12,083 |
4 | เทศบาลตำบลไทรน้อย | 2.30 | 2542 [68] | ไทรน้อย | – | 2 | 2 | 2,511 |
5 | เทศบาลตำบลศาลากลาง | 14.78 [71] | 2551 [72] | บางกรวย | 1 | – | 1 | 20,057 |
6 | เทศบาลตำบลเสาธงหิน | 10.50 | 2554 [73] | บางใหญ่ | – | 1 | 1 | 39,574 |
7 | เทศบาลตำบลบางเลน | 7.60 [74] | 2554 [75] | บางใหญ่ | – | 1 | 1 | 16,376 |
8 | เทศบาลตำบลบ้านบางม่วง | 11.21 [76] | 2554 [77] | บางใหญ่ | – | 1 | 1 | 17,599 |
9 | เทศบาลตำบลบางสีทอง | 5.80 [78] | 2556 [79] | บางกรวย | 1 | – | 1 | 11,426 |
10 | เทศบาลตำบลบางพลับ | 8.31 [80] | 2556 [81] | ปากเกร็ด | 1 | – | 1 | 10,899 |
- หมายถึงปีที่ได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลในระดับปัจจุบัน
ประชากร
ปี | ประชากร | ±% |
---|---|---|
2556 | 1,156,271 | — |
2557 | 1,173,870 | +1.5% |
2558 | 1,193,711 | +1.7% |
2559 | 1,211,924 | +1.5% |
2560 | 1,229,735 | +1.5% |
2561 | 1,246,295 | +1.3% |
2562 | 1,265,387 | +1.5% |
2563 | 1,276,745 | +0.9% |
2564 | 1,288,637 | +0.9% |
2565 | 1,295,916 | +0.6% |
2566 | 1,308,092 | +0.9% |
อ้างอิง:กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย[ต้องการอ้างอิง] |
ตามข้อมูลจำนวนประชากรของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 จังหวัดนนทบุรีมีประชากร 1,288,637 คน คิดเป็นอันดับที่ 15 ของประเทศ โดยแบ่งเป็นประชากรเพศชาย 599,167 คน และประชากรเพศหญิง 689,470 คน[ต้องการอ้างอิง] นอกจากนี้ยังมีความหนาแน่นประชากรโดยเฉลี่ยถึง 2,070.76 คนต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศรองจากกรุงเทพมหานคร
ประชากรในจังหวัดนนทบุรีประกอบด้วยหลายเชื้อชาติทั้งไทย (มีจำนวนมากที่สุด มีอยู่ทั่วไปในจังหวัด) จีน มอญ (อพยพมาในสมัยกรุงธนบุรีและสมัยรัชกาลที่ 2) และมลายู (อพยพมาจากเมืองปัตตานีและไทรบุรี)[82] โดยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา รองลงไปเป็นศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาอื่น ๆ จากการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน พ.ศ. 2561 ด้านศาสนา พบว่าประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 93.64 รองลงมานับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 6.02 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 0.30 นอกนั้นนับถือศาสนาซิกข์ ฮินดู และอื่น ๆ รวมกันร้อยละ 0.04[83]
เนื่องจากในปัจจุบัน นนทบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีทำเลที่ตั้งอยู่ในเขตปริมณฑลของเมืองหลวง มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และมีความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ส่งผลให้ชาวไทยจำนวนมากจากทุกภูมิภาคของประเทศพิจารณาย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่เพื่อความสะดวกในการเดินทางเข้าไปทำงานหรือศึกษาในกรุงเทพมหานคร ดังนั้น ความพลุกพล่านและความหนาแน่นของประชากรในจังหวัดนนทบุรีจึงไม่แตกต่างกับกรุงเทพมหานครมากนัก โดยเฉพาะทางด้านตะวันออกของอำเภอบางกรวย อำเภอเมืองนนทบุรี และอำเภอปากเกร็ดซึ่งอยู่ติดกับเขตเมืองชั้นในและเขตเมืองชั้นกลางของกรุงเทพมหานคร
สถานที่สำคัญและสถานที่ท่องเที่ยว
- อำเภอเมืองนนทบุรี
- ศาลากลางจังหวัดนนทบุรีหลังเก่า ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ท่าน้ำนนทบุรี ตำบลสวนใหญ่ สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นที่ตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัย ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงเรียนนี้ถูกยุบเลิกเนื่องจากประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ อาคารโรงเรียนจึงได้ใช้เป็นศาลากลางจังหวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 เป็นอาคารตึกไม้ 2 ชั้น ทรงไทยประยุกต์ ประดับด้วยงานไม้ลายวิจิตร ทำด้วยไม้สักทั้งหลัง เมื่อส่วนราชการจังหวัดทั้งหมดได้ย้ายออกไปตั้งที่ศูนย์ราชการแห่งใหม่ริมถนนรัตนาธิเบศร์ กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนศาลากลางแห่งนี้เป็นโบราณสถาน ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมและจัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวนนทบุรี
- วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในซอยพิบูลสงคราม 3 ถนนพิบูลสงคราม ตำบลสวนใหญ่ มีตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาวัดนี้เป็นพระอารามหลวงชั้นโท สิ่งที่น่าสนใจในได้แก่ พระมหาเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระอุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา พระตำหนักแดงซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และพระที่นั่งมูลมณเฑียรซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รื้อจากพระบรมมหาราชวังมาปลูกเป็นตึกไว้ที่นี่
- วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ฯ 4 ถนนบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ฯ ตำบลบางศรีเมือง เป็นพระอารามหลวงชั้นโทที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2390 เพื่ออุทิศถวายแด่พระอัยกา พระอัยกี และสมเด็จพระราชชนนี (แต่มาแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) มีการผสมผสานศิลปะจีนตามพระราชนิยมไว้ในการก่อสร้างด้วย เช่น พระอุโบสถหลังคามุงกระเบื้องแบบจีน โดยมีจิตรกรรมฝาผนัง บานประตูและหน้าต่างเขียนลายทองรดน้ำ ส่วนพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยทองแดงทั้งองค์ มีพระนามว่า "พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา" นอกจากนี้ยังมีอาคารที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น พระวิหารหลวง (วิหารพระศิลาขาว) พระเจดีย์ทรงกลม (แบบลังกา) ศาลาการเปรียญหลวง กำแพงใบเสมาและป้อมปราการทั้งสี่มุมรอบวัด
- อุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษก ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ติดกับวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร ซอยบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ฯ 4 ถนนบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ฯ ตำบลบางศรีเมือง มีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี อุทยานแห่งนี้นอกจากจะเป็นสวนสาธารณะที่มีทั้งร่มเงาและความเงียบสงบให้ผู้ที่ต้องการพักผ่อนแล้ว ยังมีศูนย์ศึกษาธรรมชาติ พืชพรรณ สัตว์ปีก และสัตว์น้ำนานาชนิดอีกด้วย อาคารที่โดดเด่นที่สุดคือ "วิมานสราญนวมินทร์" เป็นอาคารพลับพลาทรงไทยตั้งอยู่กลางสระน้ำของอุทยาน
- วัดปราสาท ตั้งอยู่ในซอยบางกร่าง 57 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลบางกร่าง สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จุดเด่นอยู่ที่ผนังพระอุโบสถที่มีลักษณะโค้งตกท้องช้าง สร้างแบบมหาอุด กล่าวคือ ผนังด้านข้างไม่มีหน้าต่าง มีเพียงช่องระบายลมเล็ก ๆ ตรงผนังด้านหลังเท่านั้น ผนังภายในตกแต่งด้วยจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายโดยฝีมือของสกุลช่างศิลปะนนทบุรี ปัจจุบันถือว่าเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดซึ่งแม้จะเลือนหายไปมากแต่ก็ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างถูกวิธี นอกจากนี้ ที่ศาลาการเปรียญยังมีธรรมาสน์ที่มีลวดลายสวยงาม มีอายุตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายเช่นเดียวกัน ดังนั้น วัดแห่งนี้จึงคุ้มค่าต่อการเข้าเยี่ยมชมและการศึกษาทางโบราณคดีอย่างยิ่ง
- วัดตำหนักใต้ ตี่งอยู่ที่ซอยนนทบุรี 27 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลท่าทราย ตามตำนานเล่าว่าก่อนที่จะมีการสร้างวัด พื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นพลับพลาที่ประทับชั่วคราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาก่อน สันนิษฐานว่าพระวิหารและหอระฆังสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2367 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
- วัดชมภูเวก ตั้งอยู่ที่ซอยนนทบุรี 33 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลท่าทราย มีชื่อเดิมว่า "วัดชมภูวิเวก" เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีความเงียบสงบมาก ชาวมอญเป็นผู้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2300 (สมัยอยุธยาตอนปลาย) ปัจจุบันยังคงมีจิตรกรรมฝาผนังพระวิหารและพระอุโบสถที่งดงามหลงเหลืออยู่ รวมทั้งซึ่งเป็นหมู่เจดีย์แบบมอญ (เรียกว่า "พระมุเตา") ที่สร้างโดยพระสงฆ์มอญเมื่อปี พ.ศ. 2460
- วัดโชติการาม ตั้งอยู่ที่ซอยบางไผ่ ซอย 4 ถนนบางไผ่พัฒนา-แยกวัดรวก ตำบลบางไผ่ มีชื่อเดิมว่า "วัดสามจีน" สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2350 สิ่งที่สวยงามที่สุดในวัดนี้คือ พระวิหารทรงโรงที่มีจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน โดยเขียนภาพตั้งแต่พื้นขึ้นไปจรดเพดาน นอกจากนี้ยังมีพระอุโบสถทรงเรือสำเภาแบบอยุธยาตอนปลายอีกด้วย
- อำเภอบางกรวย
- วัดบางไกรใน ตั้งอยู่ที่ถนนวัดโพธิ์เอน-วัดบางไกรใน ตำบลบางขุนกอง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตามประวัติกล่าวว่า ลูกหลานของนายไกร (ไกรทอง) ได้สร้างวัดขึ้นในบริเวณนี้เพื่ออุทิศแก่นายไกร ชาวสวนเมืองนนทบุรีผู้ปราบจระเข้ชาละวันแห่งเมืองพิจิตรลงได้ จุดเด่นของวัดอยู่ที่อุโบสถเก่าซึ่งมีอายุกว่า 300 ปี โครงหลังคาสร้างด้วยไม้สักทอง หน้าบันเป็นไม้สักฉลุลวดลาย บานประตูด้านหน้ามีภาพเขียนสีรูปทวารบาลถืออาวุธด้ามยาว ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไกรรัตนนายก (หลวงพ่อโต) มีศาลนายไกรทองตั้งอยู่ข้างอุโบสถเก่า
- วัดชลอ
- วัดโพธิ์บางโอ
- ตลาดน้ำบางคูเวียง
- ตลาดน้ำวัดตะเคียน
- อำเภอบางใหญ่
- อำเภอบางบัวทอง
- วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์ เป็นวัดในความอุปถัมภ์ของคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ถนนเทศบาล 9 ตำบลโสนลอย สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเนื่องในวโรกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ในบริเวณวัดประกอบด้วยวิหารต่าง ๆ ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมตามแนวปรัชญาและคติธรรมทางศาสนาพุทธจีนนิกายฝ่ายมหายาน เช่น วิหารพระกวนอิมโพธิสัตว์ วิหารหมื่นพุทธเจ้า เป็นต้น
- อำเภอไทรน้อย
- ตลาดน้ำไทรน้อย
- วัดไทรใหญ่
- วัดเสนีวงศ์
- วัดคลองขวาง
- หมู่บ้านบอนสีเฉลิมพระเกียรติ
- โรงเรียนวัดมะสงมิตรภาพที่ 55
- อำเภอปากเกร็ด
- สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ นนทบุรี เป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 80 พรรษา ลำดับที่ 11 ตั้งอยู่ที่หนองปรือ หมู่ที่ 3 ซอยศรีสมาน 4 ถนนศรีสมาน ตำบลบ้านใหม่ มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นน้ำ มีจักรยานน้ำให้เช่าถีบ สวนโดยรอบจัดปลูกพรรณไม้ยืนต้นเพื่อให้ความร่มรื่น รวมทั้งมีการจัดปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ล้มลุก และไม้ตัดพุ่มสลับสีเพื่อความสวยงาม นอกจากนี้ยังได้รวบรวมไม้ผลที่มีชื่อเสียงมาแต่โบราณของเมืองนนทบุรีมาจัดปลูกไว้ด้วย เช่น ทุเรียน กระท้อน มะปราง เป็นต้น
- เกาะเกร็ด
- คลองขนมหวาน
- ตลาดน้ำวัดแสงสิริธรรม
- วัดกู้
- วัดปรมัยยิกาวาส
- วัดเสาธงทอง
- วัดฉิมพลีสุทธาวาส
- วัดบางจาก
- วัดโปรดเกษ
- วัดท้องคุ้ง
- วัดสะพานสูง
การขนส่ง
ระบบราง
ท่าเรือ
|
|
|
|
บุคคลที่มีชื่อเสียง
- พระสงฆ์
- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) – สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จสถิต ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
- พระราชธรรมนิเทศ (พยอม กลฺยาโณ) – เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี
- นักแสดง / นักร้อง / ผู้กำกับละคร
|
|
- นักการเมือง
|
|
- ผู้สื่อข่าว
- วาสนา นาน่วม – ผู้สื่อข่าวสายทหาร
- ยุคล วิเศษสังข์ – ผู้สื่อข่าวช่องเนชั่นทีวี และสื่อออนไลน์ภายใต้ชื่อ "EasyYukhon"
- นักกีฬา
|
|
อ้างอิง
ดูเพิ่ม
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.