Loading AI tools
รถไฟฟ้าโมโนเรลไร้คนขับสายที่สองของประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (แคราย–แจ้งวัฒนะ–รามอินทรา–มีนบุรี) (อังกฤษ: Metropolitan Rapid Transit Pink Line, MRT Pink Line) ซึ่งเรียกตามสีที่กำหนดในแผนแม่บทโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนรองในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งเหนือ ตลอดจนถึงพื้นที่ของจังหวัดนนทบุรี ดำเนินการโดยบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด โดยได้รับสัญญาสัมปทานจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินการในรูปแบบรถไฟฟ้ายกระดับแบบรางเดี่ยวหรือโมโนเรล เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ. 2559 ก่อนหยุดการก่อสร้างไประยะหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2563–2564 จนในที่สุดได้เปิดให้สาธารณชนทดลองใช้งานในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 และกำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2567 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 ในรูปแบบหุ้นส่วนมหาชน-เอกชน (Public Private Partnership: PPP) โดยให้รัฐบาลโดย รฟม. เป็นผู้ลงทุนจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ในโครงการ และเอกชนเป็นผู้ลงทุนในงานโยธา ระบบรถไฟฟ้า ตลอดจนดำเนินระบบรถไฟฟ้าและกิจการจนครบสัญญา
เส้นทางสายนี้เกิดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2537 โดยเป็นหนึ่งในเส้นทางขนส่งมวลชนระบบรองที่ได้รับการบรรจุลงในแผนแม่บท แต่ในระยะแรกโครงการมีระยะทางรวมทั้งสิ้นเพียง 27 กิโลเมตร มีสถานีต้นทางอยู่ที่บริเวณแยกปากเกร็ด และได้ถูกนำออกไปเมื่อครั้งปรับปรุงแผนแม่บท พ.ศ. 2543 แต่ต่อมาได้มีนำกลับมาอีกครั้งใน พ.ศ. 2549 พร้อมขยายแนวเส้นทางมาตามแนวถนนติวานนท์ และย้ายต้นทางจากแยกปากเกร็ดมายังแยกแคราย เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรมที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี และใน พ.ศ. 2554 ได้มีการพิจารณายกระดับโครงการขึ้นมาเป็นรถไฟฟ้ารางหนัก เนื่องจากพิจารณาภาพรวมแล้วโครงการมีเส้นทางที่ยาวมาก และเหมาะสมกับความต้องการของประชาชนในเส้นทางดังกล่าว แต่แล้วสุดท้ายโครงการก็ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการในรูปแบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวตลอดทั้งโครงการ เนื่องจากเหมาะสมกับพื้นที่มากกว่า
ปัจจุบันมีระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม จากนั้นวิ่งขึ้นไปทางแยกปากเกร็ด แล้วเบี่ยงไปทางทิศตะวันออก ผ่านสถานีเมืองทองธานี แนวเส้นทางจะถูกแยกออกเป็นสองสาย โดยถือเป็นระบบขนส่งมวลชนทางรางสายแรกในประเทศไทยที่มีเส้นทางสายสาขา (branch line) ให้บริการ สายหนึ่งมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทราจนถึงสถานีตลาดมีนบุรี แนวเส้นทางจะเบี่ยงลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เพื่อไปสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีมีนบุรีซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม อีกสายหนึ่งจะวิ่งย้อนกลับไปทางแยกปากเกร็ด ก่อนเบี่ยงเข้าสู่ซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 เพื่อเข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมืองทองธานีอันเป็นชุมชนหนาแน่น และสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีทะเลสาบเมืองทองธานีบริเวณภายในศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเส้นอื่น ๆ จำนวน 4 สถานี ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อกับสายฉลองรัชธรรม สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อกับสายธานีรัถยา สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อกับสายสุขุมวิท และสถานีมีนบุรี เชื่อมต่อกับสายสีส้ม
รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูเป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีโครงสร้างเป็นทางยกระดับเหนือพื้นดินตลอดโครงการ ดำเนินการโดย บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด บริษัทร่วมค้าของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ที่มี บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ได้รับสัมปทานโครงการในการร่วมทุนก่อสร้างและดำเนินการเชิงพาณิชย์ หรือ PPP-Net Cost ภายในกรอบระยะเวลา 33 ปี 3 เดือน จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มีแนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งเหนือเป็นส่วนใหญ่ ตลอดจนพื้นที่บางส่วนของจังหวัดนนทบุรี เริ่มต้นเส้นทางจากบริเวณแยกแครายซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม วิ่งไปทางทิศตะวันออกแล้วเลี้ยวซ้ายขึ้นเหนือตามแนวถนนติวานนท์จนถึงบริเวณแยกปากเกร็ด แนวเส้นทางจะมุ่งไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อผ่านทางพิเศษศรีรัช แนวเส้นทางจะแยกออกเป็นสองสาย โดยสายหลักจะมุ่งหน้าต่อเพื่อเข้าเขตกรุงเทพมหานครหลังพ้นแยกคลองประปา เมื่อพ้นวงเวียนหลักสี่ที่เป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท แนวเส้นทางจะยังคงมุ่งไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนรามอินทรา และถนนสีหบุรานุกิจจนถึงตลาดมีนบุรี แล้วเส้นทางจะเบี่ยงขวาลงไปหาถนนรามคำแหง เพื่อสิ้นสุดที่แยกรามคำแหง-ร่มเกล้า อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม รวมระยะทาง 36 กิโลเมตร และอีกสายหนึ่งจะวิ่งย้อนกลับขึ้นไปทางปากเกร็ดก่อนเข้าสู่ซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 หรือซอยเข้าศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เพื่อเข้าสู่ใจกลางเมืองทองธานีอันเป็นที่ตั้งของศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี รวมระยะทาง 3 กิโลเมตร
ตำบล/แขวง | อำเภอ/เขต | จังหวัด |
---|---|---|
บางกระสอ, ท่าทราย | เมืองนนทบุรี | นนทบุรี |
บางตลาด, ปากเกร็ด, คลองเกลือ, บ้านใหม่ | ปากเกร็ด | |
ทุ่งสองห้อง, ตลาดบางเขน | หลักสี่ | กรุงเทพมหานคร |
อนุสาวรีย์, ท่าแร้ง | บางเขน | |
รามอินทรา, คันนายาว | คันนายาว | |
มีนบุรี | มีนบุรี | |
จุดต้นทางของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ถนนรัตนาธิเบศร์ แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านแยกแครายเข้าสู่ถนนติวานนท์ แนวเส้นทางจะวิ่งไปตามเกาะกลางถนนติวานนท์จนถึงแยกปากเกร็ดแล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งมีโครงการก่อสร้างสายแยกเข้าศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานีด้วย ผ่านทางแยกต่างระดับแจ้งวัฒนะ โดยลอดใต้จุดเชื่อมต่อระหว่างทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษอุดรรัถยา ข้ามคลองประปาเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ผ่านศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้มที่สถานีหลักสี่ลอดใต้ทางยกระดับอุตราภิมุข และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งไปตามถนนรามอินทรา ผ่านข้ามทางพิเศษฉลองรัชบริเวณแยกวัชรพล ข้ามทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 หรือวงแหวนรอบนอกตะวันออกจนถึงทางแยกเมืองมีนแล้ววิ่งเข้าสู่เขตมีนบุรี ตามแนวถนนสีหบุรานุกิจ จนถึงสะพานข้ามคลองสามวา ก็จะเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบ และข้ามถนนรามคำแหงมาสิ้นสุดสถานีปลายทางที่บริเวณใกล้แยกรามคำแหง-ร่มเกล้า ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม โดยในอนาคตมีแผนศึกษาส่วนต่อขยายจากมีนบุรีไปยังย่านลาดกระบัง และเชื่อมต่อการเดินทางสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยใช้แนวถนนร่มเกล้า
ชื่อและสีของสถานี | รหัสสถานี | จุดเปลี่ยนเส้นทาง | วันที่เปิดให้บริการ | ที่ตั้ง | |
---|---|---|---|---|---|
เส้นทางหลัก ศูนย์ราชการนนทบุรี-มีนบุรี | |||||
ศูนย์ราชการนนทบุรี | PK01 | สายสีม่วง สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สายสีน้ำตาล สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (โครงการ) |
7 มกราคม พ.ศ. 2567 | นนทบุรี | |
แคราย | PK02 | ||||
สนามบินน้ำ | PK03 | ||||
สามัคคี | PK04 | ||||
กรมชลประทาน | PK05 | ||||
แยกปากเกร็ด | PK06 | เรือด่วนเจ้าพระยา ท่าเรือปากเกร็ด | |||
เลี่ยงเมืองปากเกร็ด | PK07 | ||||
แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 | PK08 | ||||
ศรีรัช | PK09 | ||||
เมืองทองธานี | PK10 | สายแยกเมืองทองธานี-อิมแพ็ค | |||
แจ้งวัฒนะ 14 | PK11 | กรุงเทพมหานคร | |||
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ | PK12 | ||||
โทรคมนาคมแห่งชาติ | PK13 | ||||
หลักสี่ | PK14 | สายสีแดงเข้ม สถานีหลักสี่ | |||
ราชภัฏพระนคร | PK15 | ||||
วัดพระศรีมหาธาตุ | PK16 | สายสุขุมวิท (สถานีร่วม) | |||
รามอินทรา 3 | PK17 | ||||
ลาดปลาเค้า | PK18 | ||||
รามอินทรา กม. 4 | PK19 | ||||
มัยลาภ | PK20 | ||||
วัชรพล | PK21 | สายสีเทา สถานีวัชรพล (โครงการ) | |||
รามอินทรา กม. 6 | PK22 | ||||
คู้บอน | PK23 | ||||
รามอินทรา กม. 9 | PK24 | ||||
วงแหวนรามอินทรา | PK25 | ||||
นพรัตน์ | PK26 | ||||
บางชัน | PK27 | ||||
เศรษฐบุตรบำเพ็ญ | PK28 | ||||
ตลาดมีนบุรี | PK29 | ||||
มีนบุรี | PK30 | สายสีส้ม (สถานีร่วม) (กำลังก่อสร้าง) | |||
เส้นทางแยก เมืองทองธานี-อิมแพ็ค | |||||
เมืองทองธานี | PK10 | สายหลักศูนย์ราชการนนทบุรี-มีนบุรี | 3 มิถุนายน พ.ศ. 2568 | นนทบุรี | |
อิมแพ็ค เมืองทองธานี | MT01 | ||||
ทะเลสาบเมืองทองธานี | MT02 | ||||
ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังรถไฟฟ้าชานเมือง ได้ที่สถานีดังต่อไปนี้
รหัสสถานี | สถานีรถไฟฟ้ามหานคร | สถานีรถไฟฟ้าชานเมือง | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
จุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีที่เปิดให้บริการแล้ว | |||
PK14 | สถานีหลักสี่ | สายสีแดงเข้ม : สถานีหลักสี่ | เชื่อมต่อด้วยสะพานลอยข้ามถนนวิภาวดีรังสิต |
ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ได้ที่สถานีดังต่อไปนี้
รหัสสถานี | สถานีรถไฟฟ้ามหานคร | สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
จุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีที่เปิดให้บริการแล้ว | |||
PK16 | สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ | สายสุขุมวิท : สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ | เป็นสถานีร่วมกับระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท |
ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังรถไฟฟ้ามหานคร ได้ที่สถานีดังต่อไปนี้
รหัสสถานี | สถานีรถไฟฟ้ามหานคร | รหัสสถานี | สถานีรถไฟฟ้ามหานคร | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
จุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีที่เปิดให้บริการแล้ว | ||||
PK01 | สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี | PP11 | สายสีม่วง : สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี | เชื่อมต่อโดยทางเดินยกระดับ |
จุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีในอนาคต | ||||
PK01 | สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี | BR01 | สายสีน้ำตาล : สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี | เชื่อมต่อโดยทางเดินยกระดับ |
PK21 | สถานีวัชรพล | GL01 | สายสีเทา : สถานีวัชรพล |
ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังเรือโดยสารต่างๆ ได้ที่สถานีดังต่อไปนี้
ในบางสถานีผู้โดยสารสามารถเดินจากสถานีไปยังอาคารต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียงได้ดังนี้
โครงการมีศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถอยู่บริเวณถนนร่มเกล้า ใกล้กับแยกรามคำแหง-ร่มเกล้า ในพื้นที่เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีมีนบุรี
มีอาคารจอดแล้วจร (Park and Ride) ที่สถานีปลายทาง (มีนบุรี) ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม สามารถจอดรถได้สูงสุด 3,000 คัน
มีสถานีทั้งหมด 32 สถานี เป็นสถานียกระดับทั้งหมด
ตัวสถานีมีความยาว 150 เมตร ออกแบบให้รองรับขบวนรถไฟฟ้าได้สูงสุด 7 ตู้ต่อหนึ่งขบวน โดยมีรูปแบบชานชาลาถึงสี่รูปแบบในโครงการเดียว ดังต่อไปนี้
ตัวสถานีออกแบบให้มีประตูกั้นชานชาลาแบบครึ่งความสูงทุกสถานี หลบเลี่ยงสาธารณูปโภคทั้งบนดินและใต้ดิน รวมถึงออกแบบให้รักษาสภาพผิวจราจรบนถนนให้ได้มากที่สุด และมีเสายึดสถานีอยู่บริเวณเกาะกลางถนน และบริเวณพื้นที่ว่างในบางสถานี
รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เลือกใช้รถไฟฟ้ารุ่น อินโนเวีย โมโนเรล 300 จากอัลสตอม (บอมบาร์ดิเอร์ เดิม) ผลิตโดยซีอาร์อาร์ซี ผู่เจิ้น อัลสตอม ทรานสปอร์เทชัน ซิสเท็ม (CRRC-PATS) ในมณฑลอานฮุย ประเทศจีน ขนาดกว้าง 3.147 เมตร ยาว 11.8-13.2 เมตร สูง 4.06 เมตร (เมื่อคร่อมรางทั้งหมด) จุผู้โดยสารสูงสุด 356 คนต่อตู้ (คำนวณจากอัตราความหนาแน่นที่ 4 คน/ตารางเมตร) มีทั้งหมด 30 ขบวน 120 ตู้ รับไฟฟ้ากระแสตรง 750 โวลท์ จากรางที่ 3 ที่ติดตั้งด้านข้างคานรองรับทางวิ่งเพื่อป้อนระบบขับเคลื่อนรถ ตัวยางล้อใช้ยางรุ่น เอ็กซ์ เมโทร จากมิชลิน ประเทศไทย ติดตั้งระบบระบบปรับอากาศและสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ในอนาคตสามารถเพิ่มจำนวนตู้โดยสารเป็น 7 ตู้ต่อขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ขบวนรถสามารถขับเคลื่อนจากจุดจอดแต่ละสถานีได้เองโดยไม่ต้องใช้คนควบคุมหรือสั่งการ
ในการเดินรถไฟฟ้าได้นำระบบอาณัติสัญญาณ CITYFLO 650 ซึ่งเป็นระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการควบคุมการเดินรถโดยอัตโนมัติ เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพ, สะดวกรวดเร็ว, ปลอดภัยสูงสุด และรองรับการเดินรถไฟฟ้าแบบไม่ใช่คนควบคุมขบวนรถ (Driverless Operation)
รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูใช้วิธีการมอบสัมปทานทั้งโครงการให้เป็นของเอกชนรายเดียวที่เสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลต่ำที่สุด โดยสัมปทานเป็นของ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (Northern Bangkok Monorail; NBM) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนโดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เดิม) ระยะเวลาสัมปทาน 33 ปี 3 เดือน แบ่งเป็นระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน (39 เดือน) และดำเนินการงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง 30 ปี โดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบคือ ซิโน-ไทย เป็นผู้ดำเนินการงานโยธาทั้งหมดของโครงการ รวมถึงเป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลจากอัลสตอม และได้จดสิทธิบัตรเป็นของบริษัทฯ ใน พ.ศ. 2562 ราช กรุ๊ป เป็นผู้สนับสนุนการติดตั้งระบบไฟฟ้าภายในโครงการ และบีทีเอส กรุ๊ป เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในโครงการสูงสุด เป็นผู้ติดตั้งงานระบบที่เกี่ยวข้อง และเป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียว โดยเอ็นบีเอ็มใช้วิธีการว่าจ้างให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้งระบบตลอดอายุสัญญา ในส่วนของการพัฒนาและบริหารพื้นที่บนสถานีและป้ายโฆษณาบนสถานีและบนตัวรถ เป็นกรรมสิทธิ์ของ บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) ตลอดอายุสัญญาสัมปทานเช่นกัน
รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เปิดให้บริการเดินรถในแต่ละสถานีไม่เท่ากัน โดยเริ่มเดินรถขบวนแรกในเวลา 05.30 น. จากสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี และสถานีมีนบุรี แต่เปิดทำการห้องจำหน่ายบัตรโดยสารในเวลา 06.00 - 24.00 น. (ปิดรับชำระด้วยบัตรเครดิตเวลา 22.00 น.) โดยมีความถี่การเดินรถปกติที่ 10 นาที/ขบวน และ 5 นาที/ขบวนในช่วงเวลาเร่งด่วน ในส่วนของเวลาปิดให้บริการตามปกติ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู จะมีขบวนรถไฟฟ้าวิ่งรับส่งผู้โดยสารจนถึงเวลา 00.45 น.
รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ใช้ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยจะจัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทางที่เดินทางจริงตั้งแต่สถานีเริ่มต้นที่ผู้โดยสารเข้าระบบ (สถานีที่ 0) จนถึงสถานีปลายทาง ซึ่งผู้โดยสารจะมีระยะเวลาอยู่ในระบบได้ไม่เกิน 120 นาที หากเกินจากเวลาที่กำหนดจะต้องชำระค่าปรับเป็นอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรลเรียกเก็บในขณะนั้น อนึ่งอัตราค่าโดยสารที่ประกาศเรียกเก็บมีอายุ 2 ปีนับจากวันที่ 7 มกราคมของปีที่มีประกาศปรับอัตราค่าโดยสารเป็นลายลักษณ์อักษรจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จนถึงวันที่ 6 มกราคมในอีก 2 ปีถัดมา หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงจาก รฟม. โดยรอบการปรับค่าโดยสารเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2567 นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล เรียกเก็บอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15-45 บาท
กรณีเดินทางจากรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) และสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ภายใต้เงื่อนไขบัตรโดยสารแบบ EMV ใบเดียวกัน ผู้โดยสารจะได้รับการยกเว้นค่าแรกเข้าระบบ และจ่ายอัตราค่าโดยสารเพิ่มตามระยะทาง โดยที่ผู้โดยสารที่เดินทางจากสายสีชมพูไปสายสีม่วง จะได้รับการยกเว้นค่าแรกเข้าของสายสีม่วง 14 บาท และผู้โดยสารที่เดินทางจากสายม่วงไปสายสีชมพู จะได้รับการยกเว้นค่าแรกเข้าของสายสีชมพู 15 บาท และเมื่อรวมกับค่าแรกเข้าของสายสีน้ำเงิน 14 บาท ผู้โดยสารจะได้รับการยกเว้นค่าแรกเข้าสูงสุด 29 บาท ทั้งนี้ผู้โดยสารจะต้องชำระค่าโดยสารเต็มจำนวนทั้งสองระบบ และระบบของ รฟม. จะคืนเงินเข้าบัตรเครดิต/เดบิตให้ภายใน 3 วันทำการ โดยผู้โดยสารต้องแตะบัตรเข้าระบบอีกระบบหนึ่งภายในระยะเวลา 30 นาที นับจากเวลาที่แตะออกจากระบบ มิเช่นนั้นจะถือว่าสละสิทธิ์การเชื่อมต่อระบบในการเดินทางครั้งนั้น
ในส่วนของการเดินทางจากรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส (สายสีเขียว) ผู้โดยสารสามารถออกบัตรโดยสารเที่ยวเดียวจากสถานีในสายสีชมพูหรือจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือใช้บัตรแรบบิทในการเดินทาง จะสามารถเชื่อมต่อระหว่าง 2 ระบบได้ทันทีโดยไม่ต้องออกจากระบบที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ โดยผู้โดยสารต้องชำระค่าโดยสารของทั้งสองระบบเต็มจำนวน กล่าวคือค่าโดยสารของสายสีชมพูรวมกับค่าโดยสารของรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่หากผู้โดยสารเดินทางด้วยบัตร EMV Contactless จากรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู จะต้องออกจากระบบที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุก่อนแล้วใช้บัตรแรบบิทหรือบัตรโดยสารเที่ยวเดียวของรถไฟฟ้าบีทีเอสเข้าระบบที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุอีกครั้งเพื่อเดินทางต่อ[1] หากผู้โดยสารไม่แตะบัตรออกจากระบบก่อน ผู้โดยสารจะถูกปรับในกรณีเดียวกันกับการอยู่ในระบบเกิน 120 นาที คือจะถูกหักค่าโดยสารในรูปแบบค่าปรับ คืออัตราค่าโดยสารสูงสุดที่นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรลเรียกเก็บในขณะนั้น รวมกับค่าโดยสารนับจากสถานีที่แตะเข้าระบบจนถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ อย่างไรก็ตามผู้โดยสารยังคงสามารถชำระค่าโดยสารในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสเต็มจำนวน (นับจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุจนถึงสถานีปลายทาง) ได้ที่สถานีปลายทางโดยไม่เสียค่าปรับเพิ่มเติม
ทั้งนี้ นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล และ รฟม. มีนโยบายลดค่าโดยสารให้กับผู้ถือบัตรโดยสารแรบบิทแบบเติมเงิน ประเภทผู้สูงอายุ โดยลดค่าโดยสาร 50% จากอัตราปกติที่นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรลเรียกเก็บ กล่าวคือผู้ถือบัตรประเภทผู้สูงอายุจะเรียกเก็บอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 8-23 บาท คิดตามจริงตั้งแต่สถานีที่ 0 รวมกับระยะทางที่เดินทางจริง รวมถึงยังมีนโยบายสนับสนุนค่าโดยสารให้กับผู้รับสิทธิ์สวัสดิการแห่งรัฐ โดยผู้ได้รับสิทธิ์สามารถยื่นบัตรประชาชนเพื่อออกบัตรโดยสารได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ทั้งนี้ต้องไม่เกินงบค่าโดยสารสูงสุด 500 บาท/เดือน หากเกิน นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จะออกบัตรโดยสารที่มีมูลค่าต่ำสุด (15 บาท) ให้ผู้โดยสารแตะเข้าระบบ และผู้โดยสารต้องชำระส่วนต่างเพิ่ม ณ สถานีปลายทาง และไม่สามารถใช้สิทธิ์เชื่อมต่อระบบเพื่อรับสิทธิ์การยกเว้นค่าแรกเข้าในระบบที่สองได้
การออกตั๋วโดยสารให้ผู้พิการ จะต้องออกตั๋วกระดาษ โดยเจ้าพนักงานของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ต้องเซ็นกำกับที่ตั๋วทุกครั้งและอาจต้องแสดงตั๋วกับพนักงานรักษาความปลอดภัยก่อนออกจากสถานีต้นทาง เมื่อถึงที่หมายจะมีเจ้าพนักงานหรือพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยรับผู้โดยสารบริเวณชานชาลาเพื่ออำนวยความสะดวกในการพาไปยังทางออกที่ต้องการ และมีเจ้าพนักงานมีอำนาจในการเปิดหรือปิดประตูรับตั๋วบริเวณทางออกซึ่งต้องเป็นเจ้าพนักงานของรถรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูเท่านั้น
เจ้าพนักงานของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู รวมถึงพนักงานรักษาความปลอดภัยมีความเต็มใจที่จะช่วยเหลือผู้มีความพิการ อาทิการจูงผู้พิการทางสายตาไปยังสถานี การให้บริการติดตามผู้โดยสารที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น การสนับสนุนสะพานเชื่อมชานชาลา สำหรับผู้โดยสารที่ใช้รถเข็น รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยสำหรับรถเข็น การนำพาผู้โดยสารไปยังที่นั่งสำรองพิเศษภายในขบวนรถ หรือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีโดยให้พนักงานเดินทางไปด้วย เช่นผู้โดยสารที่เดินทางครั้งแรก ฯลฯ เพียงแจ้งให้เจ้าพนักงานที่สถานีทราบเท่านั้น
นอกจากนี้ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ยังอนุญาตให้ผู้โดยสารสามารถนำสุนัขที่ได้รับการฝึกสำหรับนำทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าได้โดยไม่ถือเป็นการขัดต่อกฎการให้บริการฯ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยผู้โดยสารต้องแจ้งความประสงค์ให้เจ้าพนักงานที่สถานีรับทราบเพื่ออำนวยความสะดวกเป็นกรณีพิเศษ
รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู มีบริการอาคารจอดรถและจุดจอดรถจักรยานยนต์ 1 แห่ง ได้แก่อาคารจอดรถบริเวณถนนรามคำแหง ให้บริการโดยบีทีเอสซี ผู้ที่ใช้บริการจะได้รับบัตรจอดรถซึ่งผู้โดยสารจะต้องแตะบันทึกส่วนลดที่สถานีมีนบุรี จากนั้นผู้โดยสารจะต้องนำบัตรมาคืนที่จุดคืนบัตรจอดรถอัตโนมัติ พร้อมชำระค่าจอดรถและรับรถคืนภายในเวลาที่กำหนด กล่าวคือเฉพาะเวลา 05.00-01.00 น. เท่านั้น แต่หากลืมแตะบัตรจะคิดในราคาเท่ากับผู้ไม่ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู คือ 20 บาทต่อชั่วโมง การจอดรถนานเกินช่วงเวลาดังกล่าวจะมีอัตราโทษปรับตามเกณฑ์ที่กำหนดในขณะนั้นๆ ปัจจุบันคือ 400 บาท รวมกับค่าจอดรถของวันที่มารับรถ เนื่องจากไม่รับฝากรถข้ามคืน อนึ่ง ผู้โดยสารสามารถใช้บัตรแรบบิทแตะเข้าอาคารจอดแล้วจรสถานีมีนบุรีได้โดยไม่ต้องออกบัตรจอดรถ และสามารถใช้บัตรแรบบิทใบเดิม ชำระค่าจอดรถและนำรถออกจากอาคารจอดแล้วจรได้ทันที ทั้งนี้หากผู้โดยสารทำบัตรจอดรถหาย หรือทำบัตรแรบบิทที่ใช้เข้าจอดรถหาย จะต้องชำระค่าปรับในการนำรถออกจากอาคาร 400 บาท หากจอดรถค้างคืนด้วย จะต้องชำระเพียงค่าจอดรถค้างคืนตามอัตราที่บีทีเอสซีกำหนด
นอกจากอาคารจอดแล้วจร รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูยังมีพื้นที่จอดรถสำหรับการจอดรถรายวันให้ที่สถานีหลักสี่ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง และพื้นที่จอดรถเอกชนให้บริการตามสถานีต่าง ๆ อีกด้วย
รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูมีส่วนต่อขยายสายทางจากสถานีเมืองทองธานี เป็นสายแยกเข้าสู่เมืองทองธานีในชื่อ "อิมแพ็คลิงก์" ซึ่งเป็นข้อเสนอพิเศษจากกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ โดยเส้นทางจะเริ่มจากสถานีเมืองทองธานี วิ่งเข้าสู่ซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 (ซอยเข้าศูนย์ประชุมอิมแพ็ค) วิ่งในแนวกึ่งกลางของทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี และไปสิ้นสุดบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี รวมระยะทาง 3.7 กิโลเมตร มีสถานีทั้งสิ้น 2 สถานี คือ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2568[2]
นอกจากนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ยังได้ทำการศึกษาเส้นทางเดินรถเพิ่มเติมอีก 2 ส่วนเพื่อเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. บรรจุลงในแผนแม่บทโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่สอง (M-Map Phase 2) โดยเส้นทางส่วนต่อขยายที่ได้ศึกษา ส่วนแรกจะต่อขยายจากปลายสายทางบริเวณภายในศูนย์ซ่อมบำรุงออกมายังถนนร่มเกล้าตามแบบที่กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ได้สร้างเตรียมไว้ให้ แล้วมุ่งหน้าต่อบนถนนร่มเกล้า ตัดผ่านถนนเจ้าคุณทหาร ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ - ชลบุรี) ถนนลาดกระบัง เข้าสู่ถนนสุวรรณภูมิ 2 และสิ้นสุดที่อาคารรถโดยสาร (Bus Terminal) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะทาง 8.7 กิโลเมตร มีจุดมุ่งหมายเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเพื่อให้ผู้โดยสารจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สามารถเดินทางเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครตอนเหนือได้อย่างรวดเร็ว และส่วนที่ 2 จะเป็นส่วนต่อขยายของสายแยกอิมแพ็คลิงก์ จากปลายทางบริเวณสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี ไปตามแนวซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 เพื่อสิ้นสุดที่ปากทางถนนติวานนท์ ระยะทาง 2.1 กิโลเมตร มีจุดมุ่งหมายเพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูเข้าสู่ถนนติวานนท์ ตลอดจนภายในบริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนที่ประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น
เมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ได้รับแจ้งมีเหตุรางเหล็กของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ตกหล่นลงมาโดนรถยนต์เสียหายจำนวน 3 คันและมีเสาไฟฟ้าแรงสูงหักอีก 1 ต้น เหตุเกิดหน้าตลาดกรมชลประทาน ถนนติวานนท์ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จึงไปตรวจสอบ พร้อมประสานเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าและเจ้าหน้าที่ของรถไฟฟ้าเข้าตรวจสอบ[3][4] ต่อมา นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล แถลงถึงผลการตรวจสอบพบว่ารางดังกล่าวเป็นรางนำไฟฟ้า (Conductor rail) หลุดร่วงลงมาเป็นระยะทางรวม 4.3 กิโลเมตร ตั้งแต่สถานีแครายถึงสถานีสามัคคี พบน็อตกับคลิปล็อกหลุดตามระยะทางเป็นจำนวนมาก และพบคราบเขม่าควันที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรหนึ่งจุด สาเหตุเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากอุบัติเหตุโดยประมาทเลินเล่อของผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ (บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน จำกัด (มหาชน)) ที่ใช้รถเครนถอนเหล็กเข็มพืด (Sheet pile) ความยาวประมาณ 10 เมตรบริเวณปากซอยติวานนท์ 34 แล้วหัวเครนไปเกี่ยวเข้ากับรางนำไฟฟ้าพอดี จนทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร และรางนำไฟฟ้าตกระดับ ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวบริษัทได้นำรถไฟฟ้าเปล่าวิ่งทดสอบประจำวัน แรงสั่นสะเทือนจึงส่งผลให้รางนำไฟฟ้าหลุดร่วงลงมา และด้วยความที่เป็นช่วงสับราง (Guide switch) ที่ใช้รางยาวพิเศษท่อนละ 12 เมตร จึงส่งผลให้รางนำไฟฟ้าตั้งแต่ช่วงสถานีแครายจนถึงสถานีสามัคคีหลุดร่วงลงมา และขบวนรถไฟฟ้าเสียหาย 1 ขบวนบริเวณขาแปรงรับไฟฟ้าและล้อนำราง
เบื้องต้น นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล คาดว่าการซ่อมแซมจะเกิดขึ้นได้หลังปีใหม่ เนื่องจากอะไหล่สำรองที่เตรียมไว้มีไม่พอประกอบกับติดช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ ทำให้การซ่อมบำรุงไม่สามารถดำเนินการได้ในทันที และเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้เป็นช่วงทดลองให้บริการ นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล และ รฟม. ได้ตกลงที่จะเลื่อนการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์และการเก็บค่าโดยสารจากเดิมในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2567 โดยจัดเก็บค่าโดยสารเฉพาะช่วงกรมชลประทาน-มีนบุรี ในอัตราพิเศษลด 15% จากอัตราปกติ (เริ่มต้น 13 บาท สูงสุด 38 บาท) ส่วนช่วงศูนย์ราชการนนทบุรี-กรมชลประทานจะยังไม่จัดเก็บค่าโดยสารจนกว่าการซ่อมบำรุงจะเสร็จสิ้น (ยกเว้นการเข้า-ออกสถานีกรมชลประทานสถานีเดียว ผู้โดยสารต้องชำระค่าผ่านระบบ 13 บาท) ทั้งนี้ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ได้ปรับรูปแบบการให้บริการแบ่งเป็นสองช่วง ได้แก่ช่วงสถานีมีนบุรี-สถานีกรมชลประทาน ให้บริการตามปกติทั้ง 2 ชานชาลา ความถี่ 10 นาที/ขบวน นอกช่วงเวลาเร่งด่วน และ 5 นาที/ขบวน ในช่วงเวลาเร่งด่วน และช่วงสถานีกรมชลประทาน-สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ให้บริการแบบ Shuttle Train โดยใช้เพียงชานชาลาเดียว ความถี่ 20 นาที/ขบวน[5]
กระทรวงคมนาคม รฟม. และ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล ได้ร่วมตรวจความพร้อมการให้บริการหลังซ่อมแซมรางนำกระแสไฟฟ้า โดยได้ข้อสรุปสำหรับการเปิดบริการครบทั้ง 30 สถานี ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป[6]
4 ก.ค.2567 เวลา 6:05 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย แจ้งว่า รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เกิดเหตุรถไฟฟ้าหมายเลข 26 ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ ระหว่าง รามอินทรา3 (PK17)- ลาดปลาเค้า(PK18) มุ่งหน้าสถานีมีนบุรี อยู่ระหว่างการแก้ไข และมีขบวนที่ 10 ในเวลา 7:04 ออกตัวจากสถานีลาดปลาเค้าหลังจากที่เปลี่ยนขบวน ได้หยุดกระทันหัน และประตูฝั่งถนนมีการเปิดผิดพลาดระหว่างตอนที่หยุด ทำให้ผู้โดยสารหวาดระแวง โดยเอ็นบีเอ็มแจ้งปรับรูปแบบการเดินรถชั่วคราว โดยจัดรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ถึงสถานีปลายทางมีนบุรี สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไปสถานีปลายทางศูนย์ราชการนนทบุรี และสถานีปลายทางมีนบุรี กรุณาเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีลาดปลาเค้า และสถานีวัชรพล
จากการสอบสวนในเหตุการณ์ดังกล่าว พบว่าเหตุดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบ แต่เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของผู้โดยสารรวมกับความผิดพลาดในการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ กล่าวคือในช่วงเวลาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ควบคุมขบวนรถได้แจ้งหยุดรถฉุกเฉิน สืบเนื่องจากหลังขบวนรถออกจากสถานีลาดปลาเค้า เจ้าหน้าที่ได้ยินเสียงกระทบกระทั่งดังบริเวณข้างรถ และพบเห็นผู้โดยสารกำลังดึงอะไรบางอย่างให้ติดไว้กับประตู เมื่อสังเกตออกไปนอกหน้าต่างจึงเห็นว่าเป็นกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารรายดังกล่าวติดประตูอยู่ด้านนอกขบวนรถ จึงได้แจ้งหยุดการเดินรถทั้งระบบเพื่อเตรียมการแก้ไข เดิมทีเจ้าหน้าที่วางแผนการแก้ไขด้วยวิธีการนำขบวนรถถอยกลับเข้าสู่สถานีลาดปลาเค้าด้วยระบบอัตโนมัติ แล้วสั่งเปิดประตูเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถดึงสัมภาระที่ติดอยู่กลับมาได้อย่างปลอดภัย แต่เป็นเพราะความผิดพลาดในการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ชัดเจน ทำให้ศูนย์สั่งการทำการสั่งเปิดประตูรถก่อนที่ขบวนรถจะถอยกลับถึงสถานี ทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อผู้โดยสารที่มาใช้บริการ
จากการสอบสวนโดยละเอียดร่วมกับวิศวกรของอัลสตอม ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ เนื่องจากส่วนที่ติดกับประตูคือสายสะพายกระเป๋า ซึ่งมีความหนาที่ไม่มากพอที่ระบบอัตโนมัติของขบวนรถจะสั่งเปิดประตูฉุกเฉิน ทำให้ขบวนรถเข้าใจว่าประตูรถปิดสนิทก่อนสั่งเดินรถตามปกติ จากเหตุการณ์นี้เอ็นบีเอ็มร่วมกับอัลสตอมจะร่วมกับปรับระบบรถไฟฟ้าให้สามารถป้องกันสายสะพายติดบริเวณประตูเป็นการเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นในอนาคต
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.