Remove ads
อำเภอในจังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เมืองนนทบุรี เป็นอำเภอศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา เศรษฐกิจ และการสาธารณสุขของจังหวัดนนทบุรี
อำเภอเมืองนนทบุรี | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Mueang Nonthaburi |
หอนาฬิกานนทบุรี | |
แผนที่จังหวัดนนทบุรี เน้นอำเภอเมืองนนทบุรี | |
พิกัด: 13°51′44″N 100°30′48″E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | นนทบุรี |
พื้นที่[1] | |
• ทั้งหมด | 77.018 ตร.กม. (29.737 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2566) | |
• ทั้งหมด | 359,949 คน |
• ความหนาแน่น | 4,673.57 คน/ตร.กม. (12,104.5 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 11000 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 1201 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี ซอยรัตนาธิเบศร์ 6 (ศูนย์ราชการ) ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
อำเภอเมืองนนทบุรีตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังนี้[2]
อำเภอเมืองนนทบุรีในครั้งแรกนั้นมีชื่อว่า อำเภอตลาดขวัญ ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีฐานะเป็นอำเภอตั้งแต่เมื่อใด แต่ปรากฏชื่ออำเภอนี้ในชื่อเอกสารที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2445 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอนนทบุรี โดยปรากฏชื่อเอกสารเกี่ยวข้องกับชื่ออำเภอนี้ในราชกิจจานุเบกษาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2466 ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ในตัวอาคารศาลากลางเมืองนนทบุรี ข้างวัดท้ายเมือง ตำบลตลาดขวัญ[3] (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลสวนใหญ่)
เนื่องจากอำเภอนนทบุรีมีอาณาเขตกว้างขวาง บางท้องที่อยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอมาก กระทรวงนครบาล (หน่วยงานที่ดูแลหัวเมืองต่าง ๆ ในมณฑลกรุงเทพขณะนั้น) จึงพิจารณาโอนตำบลท่าอิฐซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปขึ้นกับอำเภอปากเกร็ดใน พ.ศ. 2463[4] และโอนตำบลบางเลนซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกสุดของอำเภอไปขึ้นกับอำเภอบางแม่นางใน พ.ศ. 2464[5] ณ พ.ศ. 2470 อำเภอนนทบุรีจึงเหลือท้องที่การปกครองอยู่ 12 ตำบล ได้แก่ ตำบลตลาดขวัญ ตำบลบางกระสอ ตำบลท่าทราย ตำบลลาดโตนด ตำบลบางเขน ตำบลบางตะนาวศรี (สวนใหญ่) ตำบลบางไผ่ ตำบลบางสีเมือง (บางศรีเมือง) ตำบลบางกร่าง ตำบลบางข่า ตำบลบางรักน้อย และตำบลไทรม้า[6] เมื่อถึง พ.ศ. 2471 อำเภอนนทบุรีได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาอยู่ที่โรงเรียนราชวิทยาลัย บ้านบางขวาง ตำบลบางตะนาวศรี (ปัจจุบันคือศาลากลางจังหวัดหลังเก่าบริเวณท่าน้ำนนทบุรี ตำบลสวนใหญ่)[3]
ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2475 ทางราชการได้โอนพื้นที่บางส่วนของตำบลลาดโตนดไปขึ้นกับอำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร เพื่อความสะดวกในการตรวจตราของเจ้าหน้าที่และความสะดวกในการติดต่อราชการของประชาชน[7] และในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2480 ได้โอนพื้นที่หมู่ 1, 3 (ในขณะนั้น) ของตำบลลาดโตนด และหมู่ที่ 1 (ในขณะนั้น) ของตำบลท่าทราย เฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตหวงห้ามของคลองประปาฝั่งตะวันตกไปขึ้นกับตำบลสองห้องของอำเภอบางเขน โดยใช้แนวเขตหวงห้ามของคลองประปาฝั่งตะวันตกเป็นเส้นเขต[8] หมายความว่าแนวเขตการปกครองระหว่างจังหวัดนนทบุรีกับจังหวัดพระนครได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากแต่เดิมจังหวัดนนทบุรีมีอาณาเขตด้านตะวันออกติดต่อกับจังหวัดพระนครโดยใช้คลองเปรมประชากรตั้งแต่สี่แยกบางเขนขึ้นไปจนถึงคลองบ้านใหม่ตลาดเนื้อเป็นเส้นแบ่งเขต[9]
ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่ออำเภอนนทบุรีเป็น อำเภอเมืองนนทบุรี[10] เนื่องจากทางราชการมีนโยบายเปลี่ยนชื่ออำเภอที่เป็นที่ตั้งจังหวัดเป็น "อำเภอเมือง..." อย่างไรก็ตามใน พ.ศ. 2486 จังหวัดนนทบุรีก็ถูกยุบลงเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณราชการ[11] เนื่องจากขณะนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อำเภอเมืองนนทบุรีจึงย้ายไปขึ้นกับจังหวัดพระนครและได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอนนทบุรี"[12] จนกระทั่งวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดนนทบุรีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง[13] อำเภอนนทบุรีจึงเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็น "อำเภอเมืองนนทบุรี"[14] ตั้งแต่นั้น
ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงเขตการปกครองระดับตำบลภายในท้องที่อยู่เนือง ๆ เช่น ตำบลบางไผ่ถูกยุบรวมเข้ากับตำบลบางศรีเมือง ตำบลบางข่าถูกยุบรวมเข้ากับตำบลบางกร่าง เป็นต้น จนกระทั่งในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยจัดตั้งตำบลขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยแบ่งพื้นที่หมู่ที่ 6–10 (ในขณะนั้น) จากตำบลบางศรีเมืองมาจัดตั้งเป็นตำบลบางไผ่ และรวมพื้นที่หมู่ที่ 6–10 (ในขณะนั้น) ของตำบลไทรม้าและหมู่ที่ 11 (ในขณะนั้น) ของตำบลบางกร่างมาจัดตั้งเป็นตำบลบางรักน้อย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ปีเดียวกัน[15] อำเภอเมืองนนทบุรีจึงแบ่งออกเป็น 10 ตำบลจนถึงทุกวันนี้
เมื่อ พ.ศ. 2535 ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรีได้ย้ายที่ตั้งอีกครั้งหนึ่งจากบริเวณโรงเรียนราชวิทยาลัยเดิม ไปอยู่ที่ศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ถนนรัตนาธิเบศร์ ใกล้ทางแยกแคราย หมู่ที่ 8 ตำบลบางกระสอ
อำเภอเมืองนนทบุรีแบ่งเขตการปกครองย่อยเป็น 10 ตำบล แต่ละตำบลแบ่งออกเป็นหมู่บ้าน รวมทั้งหมด 32 หมู่บ้าน (หรือ 26 หมู่บ้าน หากไม่นับรวมในเขตเทศบาลเมืองบางศรีเมืองซึ่งไม่มีตำแหน่งกำนันและผู้ใหญ่บ้านแล้ว) ได้แก่
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | จำนวนประชากร (ธันวาคม 2565)[16] |
สี | แผนที่ |
---|---|---|---|---|---|---|
1. | สวนใหญ่ | Suan Yai | ยกเลิกระบบหมู่ |
35,061 |
||
2. | ตลาดขวัญ | Talat Khwan | ยกเลิกระบบหมู่ |
45,831 |
||
3. | บางเขน | Bang Khen | ยกเลิกระบบหมู่ |
40,830 |
||
4. | บางกระสอ | Bang Kraso | ยกเลิกระบบหมู่ |
56,753 |
||
5. | ท่าทราย | Tha Sai | ยกเลิกระบบหมู่ |
66,762 |
||
6. | บางไผ่ | Bang Phai | 5 |
12,848 |
||
7. | บางศรีเมือง | Bang Si Mueang | 5 |
24,678 |
||
8. | บางกร่าง | Bang Krang | 10 |
32,964 |
||
9. | ไทรม้า | Sai Ma | 6 |
24,180 |
||
10. | บางรักน้อย | Bang Rak Noi | 6 |
21,218 |
ท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรีประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง ได้แก่
ถนนสายสำคัญของอำเภอ ได้แก่
ถนนสายรอง ได้แก่ ถนนเรวดี (ตำบลตลาดขวัญ) ถนนสามัคคี (ตำบลท่าทราย) ถนนบางศรีเมือง ถนนบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ดอนพรหม (ตำบลบางศรีเมืองและตำบลบางกร่าง)
ปัจจุบัน อำเภอเมืองนนทบุรีมีทางพิเศษ 1 สาย คือ ทางพิเศษศรีรัช และมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 4 แห่ง คือ สะพานพระนั่งเกล้า สะพานพระราม 5 สะพานคู่ขนานสะพานพระนั่งเกล้า และสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์
การสัญจรทางน้ำยังคงมีความสำคัญอยู่มากในอำเภอเมืองนนทบุรี โดยเฉพาะสำหรับผู้คนที่ต้องเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนและต้องการหลีกเลี่ยงการจราจรทางบกที่ติดขัด ปัจจุบันมีเส้นทางเดินเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา (เริ่มตั้งแต่อำเภอปากเกร็ด ผ่านอำเภอเมืองนนทบุรี ไปยังกรุงเทพมหานคร) และในคลองอ้อม
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.