สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์
สะพานในจังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สะพานในจังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์[2] หรือที่นิยมเรียกกันว่า สะพานเจษฎาบดินทร์ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เชื่อมพื้นที่ตำบลสวนใหญ่ (ฝั่งตะวันออก) เข้ากับตำบลบางศรีเมือง (ฝั่งตะวันตก) โดยเริ่มต้นจากปลายสะพานทางแยกต่างระดับบนถนนนนทบุรี 1 ใกล้โรงเรียนศรีบุณยานนท์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในท้องที่หมู่ที่ 2 ตำบลสวนใหญ่ ทางด้านใต้ของชุมชนตลาดขวัญและท่าเรือพิบูลสงคราม 4 โดยวางตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และขึ้นฝั่งตะวันตกบริเวณปากคลองอ้อมฝั่งใต้ ระหว่างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง (เดิม) ที่อยู่ทางเหนือกับอุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษกที่อยู่ทางใต้ ในท้องที่หมู่ที่ 3 บ้านท่าน้ำนนท์ ตำบลบางศรีเมือง เส้นทางจากนั้นเป็นแนวถนนตัดใหม่ซึ่งมุ่งไปสู่ทางแยกต่างระดับที่ถนนราชพฤกษ์
สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ | |
---|---|
เส้นทาง | ถนนนนทบุรี 1, ทางหลวงชนบท นบ.5038 |
ข้าม | แม่น้ำเจ้าพระยา |
ที่ตั้ง | อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี |
ชื่อทางการ | สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ |
ชื่ออื่น | สะพานเจษฎาบดินทร์ |
ผู้ดูแล | กรมทางหลวงชนบท |
รหัส | ส.008 |
เหนือน้ำ | สะพานพระนั่งเกล้า |
ท้ายน้ำ | สะพานพระราม 5 |
ข้อมูลจำเพาะ | |
ประเภท | สะพานคานขึง |
ความยาว | 460 เมตร |
ประวัติ | |
วันเริ่มสร้าง | 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 |
วันเปิด | 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557 (อย่างไม่เป็นทางการ)[1] 30 กันยายน พ.ศ. 2558 (อย่างเป็นทางการ) |
สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์สร้างขึ้นตามโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1 กับสร้างและขยายถนนต่อเชื่อม ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 1/2547 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 มีมติมอบหมายให้กรมทางหลวงชนบทรับผิดชอบดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตจังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพมหานครตอนบน[3] เนื่องจากการพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินและการขยายตัวของชุมชนเมืองโดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาได้ส่งผลให้ปริมาณการจราจรบนเส้นทางที่เชื่อมระหว่างสองฝั่งแม่น้ำมีสภาพหนาแน่นขึ้นมาก อีกทั้งเพื่อเป็นการปรับปรุงโครงข่ายเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สอดคล้องตามยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้สามารถรองรับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของชุมชน
กรมทางหลวงชนบทจึงได้ว่าจ้างกลุ่มที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำรวจออกแบบรายละเอียด และสำรวจอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2549[4] โดยเริ่มดำเนินการเวนคืนตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีเดียวกัน จนแล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551[3] แหล่งเงินทุนในการดำเนินการก่อสร้างโครงการประกอบด้วยเงินงบประมาณจากรัฐบาลไทยและเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ในอัตราส่วน 30 ต่อ 70 จากนั้นกรมทางหลวงชนบทได้เปิดประกวดราคาเพื่อคัดเลือกผู้รับจ้างและได้ทำสัญญาว่าจ้างกิจการร่วมค้าไอทีดี-เอสเอ็มซีซี (อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และสุมิโตโม มิตซุย คอนสตรัคชั่น) ให้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ระยะเวลาก่อสร้างรวม 30 เดือน มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557[3] ภายหลังได้ขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปจนถึงวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558 แต่ก็สร้างเสร็จและสามารถเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ได้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557[5] นับเป็นสะพานรถยนต์ข้ามแม่น้ำสะพานที่ 7 ในเขตจังหวัดนนทบุรี
ในปี พ.ศ. 2557 กรมทางหลวงชนบทได้ทำเรื่องกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานชื่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1 อย่างเป็นทางการจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยได้เสนอชื่อ "สะพานเจษฎาบดินทร์" เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยหรือจะทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออื่นตามพระราชอัธยาศัย[6] ต่อมาในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558 กระทรวงคมนาคมแถลงว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานชื่อสะพานแห่งนี้ว่า "สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์"[7] ซึ่งมีความหมายว่า สะพานที่เป็นอนุสรณ์ถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[8] ด้วยสะพานนี้ตั้งอยู่ใกล้กับวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหารที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระอัยกา พระอัยกี และพระราชชนนีซึ่งมีนิวาสถานเดิมอยู่บริเวณนั้น โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีเปิดสะพานเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558
สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่จะเดินทางสัญจรไปมาระหว่างพื้นที่ฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดนนทบุรี นอกจากนี้ยังจะช่วยระบายความหนาแน่นของการจราจรจากเส้นทางข้างเคียงโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนงามวงศ์วาน ถนนติวานนท์ หรือถนนนครอินทร์ และจะช่วยแบ่งเบาการจราจรบนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ สะพานพระนั่งเกล้าซึ่งมีปริมาณจราจรเฉลี่ย 54,568 คันต่อวัน สะพานคู่ขนานสะพานพระนั่งเกล้าซึ่งมีปริมาณจราจรเฉลี่ย 139,776 คันต่อวัน และสะพานพระราม 5 ซึ่งมีปริมาณจราจรเฉลี่ย 96,550 คันต่อวัน[9] โดยคาดว่าสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์จะสามารถรองรับปริมาณรถได้ประมาณวันละ 45,000-50,000 คันต่อวัน[5][10]
สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์มีขนาด 6 ช่องจราจร ช่องจราจรละ 3.50 เมตร ความยาว 460 เมตร (ช่วงกลางสะพานระหว่างตอม่อยาว 200 เมตร และช่วงข้างสะพานยาวด้านละ 130 เมตร)[11] มีเสาใหญ่ (pylon) เป็นเสาคอนกรีต 2 ต้น สูงจากพื้นสะพานประมาณ 45 เมตร (รวมยอดประดับ) เสาแต่ละต้นขึงสายเคเบิลไว้ 12 คู่ มีตอม่อซึ่งเป็นที่ตั้งเสาใหญ่ตั้งอยู่ในน้ำ 1 ตอม่อ อยู่บนบกริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ 1 ตอม่อ และมีช่องลอดสำหรับการสัญจรทางน้ำกว้าง 150 เมตร สูง 5.60 เมตร[11]
โครงสร้างของสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์เป็นสะพานคานขึง (extradosed prestressed concrete bridge)[11] ซึ่งมีลักษณะผสมระหว่างสะพานเคเบิลขึงกับสะพานคานคอนกรีตอัดแรง (girder bridge) ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการก่อสร้างสะพานคานขึงในประเทศไทย[10][12] สาเหตุที่เลือกสร้างสะพานรูปแบบนี้เนื่องจากพื้นที่โครงการเป็นพื้นที่ต่ำ ไม่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นสะพานคอนกรีตที่ใช้ตอม่อเป็นตัวรับน้ำหนักสะพานเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้พื้นสะพานหนาขึ้นและเหลือช่องลอดต่ำ ไม่เช่นนั้นก็ต้องสร้างสะพานให้สูงขึ้นซึ่งต้องใช้พื้นที่เชิงลาดมากขึ้นและจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่มากขึ้น[13] หากสร้างเป็นสะพานขึงซึ่งใช้เสาใหญ่และสายเคเบิลเป็นตัวรับน้ำหนักสะพาน แม้พื้นสะพานจะบางกว่า แต่จะทำให้งบประมาณการก่อสร้างสูงขึ้นมาก
ผู้ออกแบบสะพานได้นำสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สมัยรัตนโกสินทร์มาใช้เป็นแนวคิดหลักในการออกแบบเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับตัวสะพาน กล่าวคือ ยอดประดับของเสาใหญ่ทั้งสองต้นมีรูปทรงดอกบัวบานและมีแกนกลางเป็นดอกบัวตูมเปล่งแสงสว่าง เปรียบเสมือนแสงแห่งปัญญาตามหลักศาสนา[12] อีกนัยหนึ่งรูปทรงดังกล่าวยังเปรียบเสมือนพระมหาพิชัยมงกุฎ แสดงถึงการเทิดทูนพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี[13] นอกจากนี้ ยังมีการประดับตัวสะพานด้วยเสาไฟซึ่งออกแบบตามสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ร่วมสมัยเช่นกัน
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.