คำถามยอดนิยม
ไทมไลน์
แชท
มุมมอง
ฟุตบอลทีมชาติบราซิล
ทีมฟุตบอลชายตัวแทนประเทศบราซิล จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Remove ads
ฟุตบอลทีมชาติบราซิล (โปรตุเกส: Seleção Brasileira de Futebol) เป็นทีมฟุตบอลชายตัวแทนของประเทศบราซิล อยู่ภายใต้การควบคุมของสมาพันธ์ฟุตบอลบราซิล (CBF) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลฟุตบอลในประเทศบราซิล พวกเขาเป็นสมาชิกของฟีฟ่ามาตั้งแต่ ค.ศ. 1923 และเป็นสมาชิกของคอนเมบอลมาตั้งแต่ ค.ศ. 1916
Remove ads
บราซิลเป็นทีมชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในฟุตบอลโลก โดยชนะเลิศทั้งสิ้น 5 สมัยในปี 1958, 1962, 1970, 1994 และ 2002 นอกจากนี้ ยังทำอีกหลายสถิติในฟุตบอลโลก ได้แก่ ชนะมากที่สุดที่ 76 นัดจากการลงเล่น 114 นัด ทำผลต่างประตูได้ถึง 129 ลูก ทำคะแนนได้ถึง 247 แต้ม และแพ้เพียงแค่ 19 นัดเท่านั้น[9][10] บราซิลเป็นเพียงทีมชาติเดียวที่ลงแข่งขันฟุตบอลโลกครบทุกครั้ง และไม่เคยต้องแข่งขันในรอบเพลย์ออฟ[11]
บราซิลเป็นทีมชาติที่มีอันดับอีโลโดยเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก และมีอันดับอีโลสูงสุดสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก โดยการจัดอันดับนี้เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1962[12] บราซิลได้รับรางวัลทีมยอดเยี่ยมแห่งปีของฟีฟ่ามากที่สุดที่ 13 ครั้ง[13] บรรดานักวิจารณ์และอดีตผู้เล่นต่างออกมายกย่องว่าทีมชาติบราซิลยุคปี 1970 เป็นทีมฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลก[14][15][16][17][18] ส่วนทีมชาติบราซิลในยุคอื่น ๆ ก็ถูกมองว่าเป็นทีมที่มีคุณภาพดีด้วยเช่นกัน อย่างเช่น ทีมชาติในปี 1958–62 และ 1982[19][20][21][22]
บราซิลเป็นเพียงชาติเดียวที่ชนะเลิศฟุตบอลโลกบนสี่ทวีปที่แตกต่างกัน ได้แก่ หนึ่งสมัยที่ยุโรป (สวีเดน 1958), หนึ่งสมัยที่อเมริกาใต้ (ชิลี 1962), สองสมัยที่อเมริกาเหนือ (เม็กซิโก 1970 และสหรัฐ 1994) และหนึ่งสมัยที่เอเชีย (เกาหลีใต้/ญี่ปุ่น 2002) พวกเขาเป็นหนึ่งในสามทีมชาติร่วมกับฝรั่งเศสและอาร์เจนตินาที่ชนะเลิศการแข่งขันครบสามรายการใหญ่ของฟีฟ่า ได้แก่ ฟุตบอลโลก, คอนเฟเดอเรชันส์คัพ และโอลิมปิกฤดูร้อน[note 1] พวกเขาเคยครองสถิติไม่แพ้ใครติดต่อกันมากที่สุดที่ 35 นัดร่วมกับทีมชาติสเปน[23] บราซิลยังเป็นชาติที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในรายการฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพจากการชนะเลิศสี่สมัยใน ค.ศ. 1997, 2005, 2009 และ 2013 และจากการคว้าเหรียญทองในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2016 ส่งผลให้บราซิลเป็นชาติที่สองต่อจากฝรั่งเศสที่ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลชายของฟีฟ่าแบบผู้เล่น 11 คนในทุกรุ่นอายุ[24][25][26][27]
บราซิลมีทีมชาติคู่ปรับหลายทีม ได้แก่ อาร์เจนตินา ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Superclássico das Américas ในภาษาโปรตุเกส, อิตาลี ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Clásico Mundial ในภาษาสเปนหรือ เวิลด์ดาร์บี ในภาษาอังกฤษ[28][29] อุรุกวัย จากเหตุการณ์มารากานาโซอันเป็นบาดแผลทางใจของบราซิล[30] ฝรั่งเศส จากการพบกันในฟุตบอลโลกที่บราซิลมักเป็นรองกว่า[31] เนเธอร์แลนด์ จากการพบกันในฟุตบอลโลกและรูปแบบการเล่นของทั้งสองทีมที่คล้ายกัน[32] และโปรตุเกส จากการที่ทั้งคู่มีมรดกและวัฒนธรรมร่วมกัน เช่นเดียวกับการที่มีนักฟุตบอลชาวบราซิลหลายคนเกิดที่โปรตุเกส[33][34] มีคำพูดหนึ่งที่กล่าวว่า "อังกฤษคิดค้นฟุตบอล แต่บราซิลทำให้มันสมบูรณ์แบบ" (Os ingleses o inventaram, os brasileiros o aperfeiçoaram)[35]
Remove ads
ประวัติ
สรุป
มุมมอง
ก่อตั้งทีมยุคแรก (1914–1922)

เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าการแข่งขันครั้งแรกของฟุตบอลทีมชาติบราซิลเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1914 เป็นการรวมตัวนักฟุตบอลชาวบราซิลจากเมืองริโอเดอจาเนโรและเซาเปาลู โดยได้แข่งขันกับสโมสรฟุตบอลจากประเทศอังกฤษกับสโมสรฟุตบอลเอ็กซิเตอร์ซิตี ที่สนามฟลูมีเนงซีสเตเดียม.[36][37] ผลปรากฏว่าทีมชาติบราซิลเอาชนะไปได้ 2–0 จากประตูของ ออสวัลโด โกมีซ และ ออสแมน,[36][37][38] ซึ่งในปีเดียวกันเกมส์ในระดับนานาชาติครั้งแรกของทีมชาติบราซิลคือการเล่นกับ อาร์เจนตินา โดยนัดนี้บราซิลได้แพ้ไป 3–0 โดยแข่งกันที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ต่อมา ภายใต้การคุมทีมของอาร์ตูร์ ฟรีเดนริช หนึ่งในกองหน้าระดับตำนานของบราซิล พวกเขาชนะเลิศการแข่งขันรายการแรกในโกปาอาเมริกา ค.ศ. 1919 ตามด้วยแชมป์สมัยที่สองในอีกสามปีถัดมา
ฟุตบอลโลกครั้งแรก (1930–1949)
บราซิลลงแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1930 ที่ประเทศอุรุกวัย พวกเขาเริ่มต้นด้วยการชนะโบลิเวีย แต่แพ้ยูโกสลาเวียตกรอบแบ่งกลุ่ม[39] ต่อมาในฟุตบอลโลก 1934 ที่อิตาลีเป็นเจ้าภาพ พวกเขาตกรอบแรกโดยแพ้สเปน 1–3 และมีผลงานที่ดีที่สุดในฟุตบอลโลก 1938 โดยเข้าถึงรอบรองชนะเลิศก่อนจะแพ้ทีมแชมป์ในครั้งนั้นคืออิตาลี 1–2 โดยพวกเขาเป็นทีมจากทวีปอเมริกาใต้เพียงทีมเดียวที่ได้แข่งขันในครั้งนี้ บราซิลยุติช่วงเวลา 27 ปีที่ไม่สามารถชนะเลิศการแข่งขันระดับทางการด้วยการคว้าแชมป์โกปาอเมริกาด้วยผลงานชนะถึง 6 จาก 7 นัด จบอันดับหนึ่งในการแข่งขันซึ่งในครั้งนี้พวกเขาเป็นเจ้าภาพเช่นเดียวกับปี 1922
มารากานาซู
บราซิลเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 1950 พวกเขาทำผลงานได้ยอดเยี่ยมในรอบแบ่งกลุ่มรอบแรก และลงเล่นนัดตัดสินกับอุรุกวัยในนัดสุดท้ายของรอบต่อมา ณ สนามกีฬามารากานัง โดบบราซิลต้องการเพียงผลเสมอเพื่อคว้าแชมป์โลก แต่เป็นฝ่ายแพ้ไปด้วยผลประตู 1–2 การแข่งขันในนัดนี้ถูกเรียกว่า "มารากานาซู" นำไปสู่ความผิดหวังของชาวบราซิลทั้งประเทศ
ต่อมา ในฟุตบอลโลก 1954 ที่สวิตเซอร์แลนด์ บราซิลมีการสร้างทีมขึ้นใหม่อีกครั้ง รวมถึงเปลี่ยนสีชุดแข่งขันจากสีขาวล้วนมาเป็นสีเหลืองและสีเขียวเป็นครั้งแรกซึ่งเป็นสีธงชาติ ทั้งนี้ เพื่อต้องการเพิ่มสีสันและความมีชีวิตชีวาให้ชาวบราซิลหลังจากความผิดหวังในฟุตบอลโลกครั้งก่อน แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้เล่นหลายรายแต่ยังมีผู้เล่นชื่อดังหลายคน พวกเขาเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศและแพ้ทีมเต็งแชมป์อย่างฮังการีด้วยผลประตู 2–4 ซึ่งเป็นหนึ่งในนัดการแข่งขันฟุตบอลที่ดุเดือดและได้รับการวิจารณ์ถึงความรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่ง โดยมีผู้เล่นได้รับใบแดงถึงสามคนได้รับการตั้งชื่อว่าเป็น "การต่อสู้แห่งเมืองแบร์น"
ยุคทองของเปเล่ (1958–70)

ในฟุตบอลโลก 1958 บราซิลถูกจับสลากอยู่กลุ่มเดียวกับอังกฤษ, สหภาพโซเวียต และออสเตรีย พวกเขาเปิดสนามด้วยการเอาชนะออสเตรีย 3–0 ต่อด้วยการเสมออังกฤษ 0–0 และในนัดสุดท้ายของกลุ่ม หัวหน้าผู้ฝึกสอน บีเซนเต ฟีโอลา เลือกที่จะพักผู้เล่นตัวหลักสามคนอย่างซีตู, การิงชา และเปเล่เป็นตัวสำรอง ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าบราซิลจะต้องแพ้โซเวียตอย่างแน่นอน เมื่อเริ่มต้นการแข่งขัน พวกเขาแข่งขันด้วยความกดดันในช่วง 3 นาทีแรก (ซึ่ง 3 นาทีนี้ถูกเรียกว่าเป็น "สามนาทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอล")[40] ก่อนที่วาว่าจะยิงประตูขึ้นนำ และจบลงด้วยชัยชนะ 2–0 ของบราซิล ต่อมา เปเล่ทำประตูชัยช่วยให้ทีมเอาชนะเวลส์ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ก่อนที่ทีมจะไปเอาชนะฝรั่งเศสในรอบรองชนะเลิศ 5–2 และในรอบชิงชนะเลิศ บราซิลเอาชนะสวีเดนไปได้ 5–2 ทำให้พวกเขาชนะเลิศฟุตบอลโลกสมัยแรกและเป็นชาติแรกที่ชนะเลิศฟุตบอลโลกนอกทวีปของตน เปเล่ร้องไห้พร้อมกล่าวว่า เวลาของเขากับทีมชาติมาถึงแล้ว[41]

ในฟุตบอลโลก 1962 บราซิลคว้าแชมป์โลกสมัยที่สองโดยมีการิงชาเป็นผู้เล่นตัวหลัก แม้ว่าเปเล่จะได้รับบาดเจ็บในนัดที่สองของกลุ่มที่พบกับเชโกสโลวาเกียจนไม่สามารถลงเล่นในนัดที่เหลือได้ก็ตาม[42][43]
ในฟุตบอลโลก 1966 บราซิลมีผลงานในฟุตบอลโลกที่ย่ำแย่ พวกเขากล่าวว่าการแข่งขันครั้งนี้มีการเข้าสกัดที่หนักและเปเล่ก็เป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ได้รับผลกระทบนั้น โดยในนัดที่พบกับโปรตุเกส เปเล่ถูกผู้เล่นโปรตุเกสเข้าสกัดอย่างหนักถึง 7 ครั้งก่อนที่เขาจะต้องออกจากเกมและไม่ได้ลงเล่นในรายการนั้นอีกเลย บราซิลจึงตกรอบแรกของฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ค.ศ. 1934 และกลายเป็นแชมป์โลกเก่าทีมที่สองที่ต้องตกรอบแรกต่อจากอิตาลีใน ค.ศ. 1950 เช่นเดียวกันกับฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปน และเยอรมนีที่เป็นแชมป์เก่าและตกรอบแรกเช่นกันในปี 2002, 2010, 2014 และ 2018 ตามลำดับ หลังการแข่งขันครั้งนั้น เปเล่ประกาศว่าเขาจะไม่ลงเล่นในฟุตบอลโลกอีก อย่างไรก็ตาม เขากลับมาลงเล่นอีกครั้งใน ค.ศ. 1970[44]
บราซิลชนะเลิศฟุตบอลโลกเป็นสมัยที่สามที่เม็กซิโกในปี 1970 โดยผู้เล่นชุดนั้นถูกขนานนามว่าเป็นผู้เล่นชุดที่ดีที่สุดในโลก[14][15][16][19] ซึ่งประกอบไปด้วยเปเล่ที่ลงเล่นฟุตบอลโลกครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย, กัปตันทีม การ์ลุส อัลเบร์ตู ตูร์เรซ, แจร์ซิญโญ, ตอสเตา, แกร์สัน และรีเวลีนู แม้ว่าการิงชาจะเลิกเล่นไปแล้ว แต่ทีมก็ยังมีขุมกำลังที่แข็งแกร่ง พวกเขาชนะรวดทั้ง 6 นัด ตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่มที่เอาชนะเชโกสโลวาเกีย, อังกฤษ และโรมาเนีย ต่อด้วยการเอาชนะเปรู, อุรุกวัย และอิตาลีในรอบแพ้คัดออก แจร์ซิญโญเป็นผู้เล่นที่ทำประตูมากเป็นอันดับที่สองในรายการนั้นที่ 7 ประตู และเป็นผู้เล่นเพียงคนเดียวที่ทำประตูครบทุกนัดในฟุตบอลโลก ในขณะเปเล่ทำได้ 4 ประตู บราซิลได้ชูถ้วยรางวัลชูลส์รีเมต์เป็นครั้งที่ 3 ทำให้พวกเขาเป็นชาติแรกที่ได้เก็บถ้วยรางวัลนี้เป็นการถาวร ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนรูปแบบถ้วยรางวัลใหม่ ซึ่งบราซิลต้องใช้เวลาถึง 24 ปีกว่าจะได้ชูถ้วยรางวัลนี้อีกครั้ง[45]
ยุคถดถอย (1974–1990)
หลังจากที่เปเล่และผู้เล่นตัวหลักคนอื่น ๆ ที่ลงแข่งขันฟุตบอลโลก 1970 ประกาศเลิกเล่นทีมชาติ บราซิลมีผลงานที่แย่ลง โดยพ่ายแพ้ให้กับเนเธอร์แลนด์ในฟุตบอลโลก 1974 ที่เยอรมนีตะวันตก และจบอันดับที่ 4 หลังจากที่แพ้ในการชิงอันดับที่ 3 ให้กับโปแลนด์[46]
ในรอบแบ่งกลุ่มรอบสองของฟุตบอลโลก 1978 บราซิลต้องแย่งชิงอันดับเพื่อเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศกับเจ้าภาพอย่างอาร์เจนตินา โดยในนัดสุดท้ายของกลุ่ม บราซิลเอาชนะโปแลนด์ 3–1 และขึ้นเป็นจ่าฝูงของกลุ่มด้วยผลต่างประตู +5 ในขณะที่อาร์เจนตินา ซึ่งยังไม่ได้แข่งขันในนัดสุดท้าย มีผลต่างประตู +2 เท่านั้น แต่ในนัดสุดท้ายของกลุ่มของอาร์เจนตินา พวกเขาเอาชนะเปรูยับเยิน 6–0 ทำให้อาร์เจนตินามีผลต่างประตูแซงบราซิลจนได้เข้าชิงชนะเลิศ ส่วนบราซิลต้องไปชิงอันดับที่สาม ซึ่งพวกเขาสามารถเอาชนะอิตาลีได้ และยังเป็นทีมเดียวที่ไม่แพ้ใครในรายการแข่งขันครั้งนั้น
ในฟุตบอลโลก 1982 ที่ประเทศสเปน บราซิลถูกมองว่าเป็นตัวเต็งของรายการนั้น แต่ความพ่ายแพ้ของพวกเขาต่ออิตาลี 3–2 ที่บาร์เซโลนา ทำให้พวกเขาต้องตกรอบ โดยการตกรอบครั้งนั้นถูกเรียกว่า "หายนะที่ซาร์เรีย" ซึ่งตั้งชื่อตามชื่อสนามที่แข่งขัน ทีมชาติบราซิลในฟุตบอลโลกครั้งนั้นมีกองกลางอย่างโซกราเตส, ซิโก้, ฟัลเกา และเอแดร์ พวกเขาถูกจดจำในฐานะทีมที่ดีที่สุดที่ไม่ชนะเลิศฟุตบอลโลก[20]
ผู้เล่นบางคนจากฟุตบอลโลก 1982 อย่างโซกราเตสและซิโก้ ได้กลับมาลงเล่นในฟุตบอลโลก 1986 ที่ประเทศเม็กซิโก บราซิลยังคงมีทีมที่ดีและมีแนวรับที่แข็งแกร่งกว่าเมื่อสี่ปีก่อน พวกเขาพบกับฝรั่งเศสซึ่งนำทีมโดยมีแชล ปลาตีนีในรอบก่อนรองชนะเลิศซึ่งถือเป็นเกมโททัลฟุตบอลที่คลาสสิกเกมหนึ่ง ผลจบลงด้วยการเสมอในเวลาปกติ 1–1 และไม่มีการทำประตูเพิ่มในช่วงต่อเวลาพิเศษ ทำให้ต้องตัดสินด้วยการยิงลูกโทษ ซึ่งบราซิลเป็นฝ่ายแพ้ไป 4–3 ต่อมาบราซิลชนะเลิศโกปาอาเมริกา 1989 นับเป็นการชนะเลิศรายการนี้ครั้งแรกในรอบ 40 ปี และเป็นการชนะเลิศครั้งที่สี่จากการแข่งขันรายการใหญ่สี่ครั้งที่จัดขึ้นในประเทศตัวเอง นี่ยังถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของบราซิลในรอบ 19 ปีหลังจากที่ชนะเลิศฟุตบอลโลก 1970
บราซิลเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก 1990 ที่ประเทศอิตาลี ภายใต้การคุมทีมของเซบัสตีเอา ลาซาโรนี ซึ่งเคยคุมทีมชนะเลิศโกปาอาเมริกา 1989 ทีมชาติชุดนี้เน้นระบบเกมรับโดยมีกองกลางอย่างดุงกา, กองหน้าอย่างคาเรซา และเซ็นเตอร์แบ็กถึงสามคน แม้ว่าทีมจะขาดความสร้างสรรค์ในการเข้าทำ แต่พวกเขาก็ผ่านเข้าสู่รอบที่สองได้ พวกเขาตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายด้วยการพ่ายแพ่ต่ออาร์เจนตินาที่นำทีมโดยดิเอโก มาราโดนา 1–0 ที่ตูริน[47]
กลับมาประสบความสำเร็จ (1994–2002)
หลังจากที่ไม่ชนะเลิศหรือเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกมาเป็นเวลานานถึง 24 ปี บราซิลได้เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก 1994 ที่สหรัฐ โดยทีมชาติชุดนั้นมีแนวรุกอย่างโรมารีอูและเบแบตู, กองกลางอย่างกัปตันดุงกา, ผู้รักษาประตู เกลาดีโอ ทัฟฟาเรล และกองหลังอย่างฌอร์ฌีญู พวกเขาคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้เป็นสมัยที่ 4 โดยทำผลงานอันโดดเด่นด้วยการเอาชนะสหรัฐ 1–0 ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เอาชนะเนเธอร์แลนด์ 3–2 ในรอบก่อนรองชนะเลิศที่แดลลัส และเอาชนะสวีเดน 1–0 ในรอบรองชนะเลิศที่โรสโบวล์ในแพซาดีนา ก่อนที่จะเข้าไปชิงชนะเลิศกับอิตาลีที่แพซาดีนาเช่นกัน เกมนัดชิงชนะเลิศจบลงด้วยผลเสมอไร้ประตู ทำให้ต้องตัดสินด้วยการยิงลูกโทษ ซึ่งบราซิลเป็นฝ่ายเอาชนะไปได้หลังจากที่โรแบร์โต บัจโจ คนยิงสุดท้ายของอิตาลี ยิงลูกโทษไม่เข้า[48] แม้ว่าจะบราซิลจะประสบความสำเร็จ แต่ทีมชุดที่ชนะเลิศฟุตบอลโลกครั้งนั้นกลับไม่ได้รับการยกย่องเทียบเท่ากับทีมชุดชนะเลิศฟุตบอลโลกครั้งอื่น โดยโฟร์โฟร์ทูกล่าวว่าทีมชาติชุดชนะเลิศฟุตบอลโลก 1994 ไม่เป็นที่ชื่นชอบของแฟนบอลในประเทศ เนื่องด้วยรูปแบบการเล่นที่เน้นรับมากกว่ารุก[45]
บราซิลเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก 1998 ในฐานะแชมป์เก่า ซึ่งพวกเขาจบด้วยตำแหน่งรองชนะเลิศ ในรายการนั้น บราซิลจบอันดับที่หนึ่งของกลุ่ม ก่อนที่จะเอาชนะได้ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายและรอบก่อนรองชนะเลิศ บราซิลเอาชนะการยิงลูกโทษต่อเนเธอร์แลนด์หลังจากที่เสมอกัน 1–1 ในรอบรองชนะเลิศ ผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนต์อย่างโรนัลโดทำ 4 ประตูและ 3 แอสซิสต์ ช่วยให้ทีมเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นที่ดีที่สุดในโลก ณ ตอนนั้นอย่างโรนัลโด กลับประสบภาวะลมชักเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนเริ่มแข่ง[49] การประกาศรายชื่อผู้เล่นตัวจริงซึ่งไม่มีโรนัลโด ส่งความประหลาดใจให้กับสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม โรนัลโดกล่าวว่าเขารู้สึกดีขึ้นและต้องการลงเล่น ทำให้ผู้ฝึกสอนส่งชื่อของเขาลงเล่นทันที โรนัลโดเล่นได้ต่ำกว่ามาตรฐานในเกมนัดนั้น ส่งผลให้ทีมพ่ายแพ้ต่อฝรั่งเศสที่นำทีมโดยซีเนดีน ซีดาน 3–0[50]

ในฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วม บราซิลซึ่งนำทัพโดยสามประสานกองหน้า "3R" (โรนัลโด, รีวัลดู และรอนัลดีนโย) สามารถคว้าแชมป์สมัยที่ 5 ได้สำเร็จ พวกเขาเริ่มต้นด้วยการเอาชนะคู่แข่งครบทั้งสามนัดในรอบแบ่งกลุ่มที่เกาหลีใต้ โดยในนัดเปิดสนามที่บราซิลพบกับตุรกีที่อุลซันนั้น รีวัลดูล้มลงบนพื้นพร้อมเอามือกุมหน้า หลังจากที่ถูกผู้เล่นของตุรกีอย่าง Hakan Ünsal เตะลูกบอลไปโดนขาของเขา รีวัลดูรอดพ้นจากการถูกแบน แต่ต้องเสียค่าปรับ 5,180 ปอนด์จากการแสดงละครตบตา เขากลายเป็นผู้เล่นคนแรกที่ถูกลงโทษด้วยกรณีพุ่งล้มจากทางฟีฟ่า ในรอบแพ้คัดออกที่แข่งขันกันที่ญี่ปุ่น บราซิลเอาชนะเบลเยียม 2–0 ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายที่โคเบะ ต่อมาพวกเขาเอาชนะอังกฤษ 2–1 ในรอบก่อนรองชนะเลิศที่ชิซูโอกะ โดยได้ประตูชัยจากฟรีคิกระยะ 40 หลาของรอนัลดีนโย[51] และเอาชนะตุรกี 1–0 ในรอบรองชนะเลิศที่ไซตามะ ก่อนที่จะเข้าชิงชนะเลิศกับเยอรมนีที่โยโกฮามะ ซึ่งโรนัลโดทำสองประตูช่วยให้บราซิลเอาชนะไปได้ 2–0[52] โรนัลโดได้รับรางวัลรองเท้าทองคำประจำทัวร์นาเมนต์จากการที่เขาทำได้ถึง 8 ประตู[53] ความสำเร็จของบราซิลครั้งนั้นทำให้เขาได้รับรางวัลทีมยอดเยี่ยมแห่งปีของลอรีอุสเวิลด์สปอร์ตส[54]
ไร้ความสำเร็จในฟุตบอลโลก (2002–ปัจจุบัน)
บราซิลชนะเลิศโกปาอาเมริกา 2004 ซึ่งเป็นแชมป์รายการที่สามจากการแข่งขันสี่ครั้งหลังสุดนับตั้งแต่ ค.ศ. 1997[55] นอกจากนี้ พวกเขายังชนะเลิศฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ 2005 ซึ่งถือเป็นแชมป์สมัยที่สองของพวกเขาในรายการนี้[56] ผู้จัดการทีมอย่างการ์ลุส อับแบร์ตู ปาร์ไรราก่อร่างสร้างทีมด้วยระบบ 4–2–2–2 ซึ่งมีชื่อเรียกติดปากว่า "เมจิกควอเต็ต" (Magic quartet) ระบบนี้มีผู้เล่นในแนวรุกถึงสี่คน ได้แก่ โรนัลโด, อาดรียานู, กาก้า และรอนัลดีนโย[57]
ในฟุตบอลโลก 2006 บราซิลชนะในสองนัดแรกเหนือโครเอเชีย (1–0) และออสเตรเลีย (2–0) และในนัดสุดท้ายของกลุ่ม บราซิลเอาชนะฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นไปได้ถึง 4–1 โดยโรนัลโดทำสองประตูจนกลายเป็นสถิติร่วมของผู้ที่ทำประตูในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมากที่สุด ต่อมาในรอบ 16 ทีมสุดท้าย บราซิลเอาชนะกานา 3–0 โดยโรนัลโดทำประตูที่ 15 ในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นที่ทำประตูในรายการนี้มากที่สุดแต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตาม บราซิลตกรอบก่อนรองชนะเลิศด้วยการพ่ายแพ้ต่อฝรั่งเศส 1–0 ซึ่งฝรั่งเศสได้ประตูชัยจากตีแยรี อ็องรี[57]
ดุงกาเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีมใน ค.ศ. 2006[58] บราซิลชนะเลิศโกปาอาเมริกา 2007 ซึ่งกองหน้าอย่างโรบินยูได้รับรางวัลรองเท้าทองคำและผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนต์ สองปีถัดมา บราซิลชนะเลิศฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ 2009 ด้วยการเอาชนะสหรัฐ 3–2 ในรอบชิงชนะเลิศ ทำให้พวกเขาคว้าแชมป์รายการนี้ได้เป็นสมัยที่สาม[59] กาก้าได้รับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนต์ ในขณะที่กองหน้าตัวเป้าอย่างลูอีส ฟาเบียนูได้รับรางวัลดาวซัลโวประจำทัวร์นาเมนต์[60]

ในฟุตบอลโลก 2010 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ พวกเขาเอาชนะสองนัดแรกในรอบแบ่งกลุ่มเหนือต่อเกาหลีเหนือ (2–1) และโกตดิวัวร์ (3–1) ก่อนที่จะเสมอกับโปรตุเกส 0–0 ในนัดสุดท้าย พวกเขาเอาชนะชิลีในรอบ 16 ทีมสุดท้าย 3–0 ก่อนที่จะตกรอบก่อนรองชนะเลิศด้วยการแพ้เนเธอร์แลนด์ 2–1[61]
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2010 มาโน มีนีซีสเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนคนใหม่[62] ในโกปาอาเมริกา 2011 บราซิลตกรอบก่อนรองชนะเลิศด้วยการแพ้ต่อปารากวัย แม้ว่าบราซิลจะผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายของฟุตบอลโลก 2014 ด้วยการเป็นเจ้าภาพ แต่การไม่ได้แข่งขันในรอบคัดเลือก ทำให้พวกเขามีอันดับโลกฟีฟ่าที่ตกลงไปถึงอันดับที่ 11
การกลับมาของสโกลารี (2013–14)
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2012 มาโน มีนีซีสถูกไล่ออกจากตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอน โดยมีลูอิส ฟีลีปี สโกลารีเข้ามาทำหน้าที่แทน[63][64]

วันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 2013 บราซิลรั้งอันดับโลกฟีฟ่าที่อันดับ 22 ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ของพวกเขา[65] พวกเขาเข้าร่วมแข่งขันฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ 2013 ในฐานะแชมป์เก่า โดยในรอบชิงชนะเลิศ พวกเขาเอาชนะสเปน 3–0[66] และคว้าแชมป์รายการนี้ได้เป็นสมัยที่สี่[67][68] เนย์มาร์ นอกจากจะได้รับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนต์แล้ว ยังได้รับรางวัลบอลทองคำและรองเท้าเงินอาดิดาส ในขณะที่ผู้รักษาประตูอย่างชูลีอู เซซาร์ได้รับรางวัลถุงมือทองคำและผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนต์[69]
ฟุตบอลโลก 2014
ในฟุตบอลโลก 2014 บราซิลประเดิมสนามด้วยการเอาชนะโครเอเชียโดยได้สองประตูจากเนย์มาร์และอีกหนึ่งประตูจากโอสการ์ ทำให้พวกเขาชนะนัดเปิดสนามฟุตบอลโลกในประเทศตัวเองเป็นครั้งแรกในรอบ 64 ปี[70] นัดถัดมา พวกเขาเสมอกับเม็กซิโก และสามารถผ่านเข้าสู่รอบแพ้คัดออกได้หลังจากที่เอาชนะแคเมอรูน 4–1 โดยได้สองประตูจากเนย์มาร์และอีกคนละประตูของแฟรจีและเฟร์นังจิญญู[71][72] ต่อมาในรอบ 16 ทีมสุดท้ายที่บราซิลเสมอกับชิลี 1–1 พวกเขาได้ประตูขึ้นนำในนาทีที่ 18 จากดาวิด ลูอีซ ซึ่งถือเป็นประตูของเขาในนามทีมชาติ ก่อนที่สุดท้าย บราซิลจะเอาชนะการยิงลูกโทษไปได้ 3–2 จากการยิงของเนย์มาร์, ดาวิด ลูอีซ และมาร์เซลู และการเซฟทั้งสามลูกยิงของชูลีอู เซซาร์[73]

ต่อมาในรอบก่อนรองชนะเลิศ พวกเขาพบกับทีมจากอเมริกาใต้อีกครั้ง โดยสามารถเอาชนะโคลอมเบียไปได้ 2–1 พวกเขาได้ประตูจากกองหลัง ดาวิด ลูอีซ และกัปตันทีม ชียากู ซิลวา อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของเกม เนย์มาร์ต้องออกจากการแข่งขันหลังจากที่เข่าของฆวน คามิโล ซูนิกาไปกระแทกใส่หลังของกองหน้าคนนี้ เนย์มาร์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและได้รับการวินิจฉัยว่ากระดูกสันหลังหัก ทำให้เขาจะไม่ได้ลงเล่นในนัดที่เหลือต่อจากนี้[74] ก่อนที่จะบาดเจ็บ เนย์มาร์ยิงได้สี่ประตู ทำหนึ่งแอสซิสต์ และได้รับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำนัดถึงสองครั้ง บราซิลต้องพบกับปัญหาใหญ่ในรอบรองชนะเลิศที่จะพบกับเยอรมนี เมื่อชียากู ซิลวาติดโทษแบนหลังจากที่ได้รับใบเหลืองครบสองใบในทัวร์นาเมนต์หลังจบรอบก่อนรองชนะเลิศ[75]
ในรอบรองชนะเลิศ บราซิลแพ้เยอรมนียับเยิน 1–7 นี่เป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดในฟุตบอลโลกและเป็นความพ่ายแพ้ในบ้านในเกมการแข่งขันครั้งแรกของพวกเขานับตั้งแต่ ค.ศ. 1975[76] ก่อนที่จะจบเกม แฟนบอลเจ้าบ้านส่งเสียงร้องเพลง "โอเล" ในทุก ๆ ครั้งที่เยอรมนีจ่ายบอล และส่งเสียงโห่ใส่ผู้เล่นของฝั่งตนเองหลังจากที่มีเสียงนกหวีดเป่าจบเกม[77] เกมนั้นถูกเรียกว่า มีเนย์ราซู ตามชื่อสนามมีเนย์เรา เพื่อให้คล้ายกับเหตุการณ์มารากานาซูที่บราซิลแพ้ในบ้านต่ออุรุกวัยในปี 1950[78] ต่อมา บราซิลพ่ายแพ้ต่อเนเธอร์แลนด์ในรอบชิงอันดับที่สาม 0–3[79][80] ทำให้ในการแข่งขันครั้งนั้น บราซิลกลายเป็นชาติที่เสียประตูเยอะที่สุดในบรรดา 32 ชาติที่เข้าร่วมแข่งขัน โดยเสียไปทั้งสิ้น 14 ประตู[81] มีเพียงเกาหลีเหนือและซาอุดีอาระเบียเท่านั้นที่เสียมากกว่าหรือเท่ากับ 12 ประตูในการแข่งขันฟุตบอลโลกรูปแบบปัจจุบัน[82] หลังจากที่ทำผลงานได้ย่ำแย่ สโกลารีได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอน[83]
การกลับมาของดุงกา (2014–2016)

วันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 2014 ดุงกากลับมาเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนอีกครั้งหลังจากที่ลาออกไปตอนฟุตบอลโลก 2010[84] ดุงกาคุมทีมหนที่สองเป็นนัดแรกในเกมกระชับมิตรที่พบกับโคลอมเบียที่ซันไลฟ์สเตเดียมในไมอามีเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 2014 ซึ่งบราซิลเอาชนะไปได้ 1–0 ด้วยประตูชัยจากฟรีคิกของเนย์มาร์ในนาทีที่ 83[85] นัดถัดมา ดุงกาคุมทีมเอาชนะเอกวาดอร์ (1–0),[86] อาร์เจนตินา (2–0),[87] ญี่ปุ่น (4–0),[88] ตุรกี (0–4)[89] และออสเตรีย (1–2)[90] ดุงกายังคงคุมทีมชนะอย่างต่อเนื่องใน ค.ศ. 2015 โดยเอาชนะฝรั่งเศสในเกมกระชับมิตร 3–1 ต่อด้วยการเอาชนะชิลี (1–0), เม็กซิโก (2–0) และฮอนดูรัส (1–0)
บราซิลประเดิมสนามในโกปาอาเมริกา 2015 ด้วยการเอาชนะเปรู 2–1 โดยได้ประตูชัยจากโดกลัส กอสตาในช่วงท้ายเกม[91] นัดถัดมา พวกเขาพลิกแพ้ต่อโคลอมเบีย 1–0[92] ก่อนที่จะกลับมาเอาชนะเวเนซุเอลา 2–1 ในนัดสุดท้ายของกลุ่ม[93] ต่อมาในรอบแพ้คัดออก บราซิลพบกับปารากวัย ทั้งสองทีมเสมอกันในเวลา 1–1 ก่อนที่บราซิลจะแพ้การยิงลูกโทษต่อปารากวัย 4–3[94] ทำให้บราซิลไม่สามารถผ่านเข้าไปเล่นในฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี[95]
ต่อมาในโกปาอาเมริกาเซนเตนาริโอครั้งพิเศษที่จัดขึ้นใน ค.ศ. 2016 บราซิลประเดิมสนามด้วยการเสมอแบบไร้ประตูกับเอกวาดอร์ โดยในช่วงครึ่งหลัง เอกวาดอร์ทำประตูได้แต่ก็ถูกปฏิเสธ[96] นัดถัดมา บราซิลถล่มเอาชนะเฮติ 7–1 โดยฟีลีปี โกชิญญูสามารถทำแฮตทริกได้[97] และในนัดสุดท้าย พวกเขาขอเพียงแค่ผลเสมอก็จะสามารถผ่านเข้าสู่รอบแพ้คัดออกได้ อย่างไรก็ตาม บราซิลพ่ายแพ้เปรูอย่างพลิกความคาดหมาย 1–0 โดยเปรูได้ประตูชัยจากราอุล รุยดิอัซในนาทีที่ 75[98] บราซิลแพ้เปรูเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ค.ศ. 1985[99] และตกรอบแบ่งกลุ่มของรายการใหญ่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่โกปาอาเมริกา 1987[100][101][102]
ยุคของชีชี (2016–22)


วันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 2016 ดุงกาถูกไล่ออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีม[103] โดยมีชีชี ผู้จัดการทีมที่เคยพาโกริงชังส์คว้าแชมป์กังเปโอนาตูบราซีเลย์รูแซรียีอาในปี 2015 และฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลกในปี 2012 เข้ารับตำแหน่งในอีกหกวันถัดมา[104] ชีชีประเดิมคุมทีมนัดแรกในนัดที่บุกไปเอาชนะเอกวาดอร์ 3–0 เมื่อวันที่ 2 กันยายน[105] หลังจากนั้น เขาคุมทีมเอาชนะโคลอมเบีย 2–1, ชนะโบลิเวีย 5–0 และบุกชนะเวเนซุเอลา 2–0 ทำให้บราซิลขึ้นเป็นอันดับที่หนึ่งของตารางคะแนนฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกนับตั้งแต่ ค.ศ. 2011[106] บราซิลกลายเป็นทีมแรกที่ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก 2018 รอบสุดท้าย (หากไม่นับเจ้าภาพอย่างรัสเซีย) หลังจากที่เอาชนะปารากวัย 3–0[107]
บราซิลประเดิมสนามฟุตบอลโลก 2018 ด้วยการเสมอกับสวิตเซอร์แลนด์ โดยบราซิลได้ประตูจากฟีลีปี โกชิญญูในระยะ 25 หลา นี่เป็นครั้งแรกที่บราซิลไม่ชนะในนัดเปิดสนามของฟุตบอลโลกนับตั้งแต่ปี 1978[108] นัดถัดมา โกชิญญูและเนย์มาร์ทำคนละประตูช่วยให้ทีมเอาชนะคอสตาริกา 2–0[109] และในนัดสุดท้ายของกลุ่ม พวกเขาเอาชนะเซอร์เบีย 2–0 โดยได้ประตูจากเปาลิญญูและชียากู ซิลวา ทำให้บราซิลผ่านเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายในฐานะแชมป์กลุ่ม[110] ต่อมาในวันที่ 2 กรกฎาคม เนย์มาร์และโรแบร์ตู ฟีร์มีนูทำคนละประตูช่วยให้บราซิลชนะเม็กซิโก 2–0 ผ่านเข้าสู่รอบก่อนรองชนะเลิศ[111] อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 6 กรกฎาคม บราซิลตกรอบก่อนรองชนะเลิศด้วยการแพ้เบลเยียม 2–1 โดยเฟร์นังจิญญูพลาดทำเข้าประตูตัวเอง ในขณะที่เรนาตู เอากุสตูเป็นผู้ทำประตูให้กับบราซิล[112][113][114]
แม้ว่าจะล้มเหลวในฟุตบอลโลก แต่ชีชียังคงได้รับโอกาสคุมทีมลุยศึกโกปาอาเมริกา 2019 อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มต้นทัวร์นาเมนต์ เนย์มาร์ได้รับบาดเจ็บในเกมกระชับมิตรที่บราซิลเอาชนะแชมป์เอเชียนคัพ 2019 อย่างกาตาร์ 2–0[115] แม้ว่าทีมจะไม่มีเนย์มาร์ แต่ชีชีก็คุมทีมคว้าแชมป์โกปาอาเมริกาได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ค.ศ. 2007 บราซิลประเดิมสนามด้วยการเอาชนะโบลิเวียแม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการที่พวกเขาทำประตูในครึ่งแรกไม่ได้[116] นัดถัดมา พวกเขาถล่มเอาชนะเปรู 5–0[117] ก่อนที่จะเสมอกับเวเนซุเอลาแบบไร้ประตูทั้งที่พวกเขาทำประตูได้ถึงสามครั้งแต่ก็ถูกปฏิเสธโดยวีเออาร์ทั้งหมด[118] ต่อมาในรอบก่อนรองชนะเลิศ บราซิลชนะการยิงลูกโทษต่อปารากวัย 4–3 หลังจากที่เสมอกันในเวลาแบบไร้ประตู[119] ต่อมาในรอบรองชนะเลิศ พวกเขาเอาชนะคู่ปรับร่วมทวีปอย่างอาร์เจนตินาไปได้ 2–0 ผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศโดยจะพบกับเปรูอีกครั้ง[120] และในรอบชิงชนะเลิศ บราซิลก็สามารถเอาชนะเปรูได้อีกครั้งด้วยผล 3–1 คว้าแชมป์โกปาอาเมริกาสมัยที่ 9 ได้สำเร็จ[121] อย่างไรก็ตาม แชมป์ของบราซิลในครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติอาร์เจนตินาอย่างลิโอเนล เอสกาโลนิว่ามีการล็อกวีเออาร์และมีการเอื้อประโยชน์ให้บราซิลได้แชมป์[122] โดยชีชีได้ออกมาปฏิเสธข้อหาดังกล่าว
ในวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 2021 บราซิลบุกไปเอาชนะปารากวัยด้วยผลประตู 2–0 ที่อาซุนซิออน ถือเป็นการชนะที่ประเทศปารากวัยครั้งแรกนับตั้งแต่ ค.ศ. 1985[123] ในฟุตบอลโลก 2022 บราซิลคว้าอันดับหนึ่งในรอบแบ่งกลุ่ม โดยเอาชนะเซอร์เบีย 2–0, ชนะสวิตเซอร์แลนด์ 1–0 และแพ้แคเมอรูน 0–1 ตามด้วยการเอาชนะเกาหลีใต้ขาดลอย 4–1[124] แต่ต้องหยุดเส้นทางในรอบต่อมาด้วยการแพ้จุดโทษโครเอเชีย[125] จากความล้มเหลวดังกล่าว เป็นเหตุให้ชีชีลาออก[126]
2024–ปัจจุบัน
บราซิลภายใต้การนำของผู้ฝึกสอนอย่าง ดูริวัล จูเนียร์ ทำผลงานได้น่าผิดหวังในการแข่งขันโกปาอาเมริกา 2024 โดยแพ้อุรุกวัยในรอบก่อนรองชนะเลิศจากการดวลจุดโทษ ต่อมาในวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 2025 มีประกาศว่าการ์โล อันเชลอตตี จะเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนคนใหม่ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 2025[127]
Remove ads
ฉายา
ฟุตบอลทีมชาติบราซิลมีฉายาที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคของโลก ฉายาที่ใช้เรียกทีมชาติ อาทิ คานาริญญู แปลว่า 'นกน้อย' สื่อถึงนกสายพันธุ์หนึ่งที่พบได้เฉพาะที่บราซิล มีสีเหลืองสว่าง ฉายานี้ถูกเรียกกันมากขึ้นจากอิทธิพลของนักเขียนการ์ตูน Fernando "Mangabeira" Pieruccetti ในช่วงฟุตบอลโลก 1950[128] ฉายาอื่น ๆ ได้แก่ Amarelinha (พวกสีเหลืองน้อย), Seleção (ผู้ถูกเลือกของชาติ), Verde-amarela (เขียวเหลือง), Pentacampeão (แชมป์ห้าสมัย)[129] และ Esquadrão de Ouro (ผู้เล่นทองคำ) ในขณะที่นักวิจารณ์ชาวละตินอเมริกาบางคนก็เรียกชื่อทีมบราซิลว่า El Scratch (The Scratch)[130]
Remove ads
ภาพลักษณ์ทีม
สรุป
มุมมอง
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ชุดแข่งขันของฟุตบอลทีมชาติบราซิล
ขุดแข่งขันแรกของทีมบราซิลเป็นเสื้อสีขาวที่มีคอปกสีน้ำเงิน แต่หลังจากความพ่ายแพ้ที่สนามกีฬามารากานังในฟุตบอลโลก 1950 สีนี้กลับถูกวิจารณ์ว่าไร้ชาตินิยม สมาพันธ์กีฬาบราซิลจึงอนุญาตให้หนังสือพิมพ์ Correio da Manhã จัดการประกวดชุดแข่งใหม่โดยอิงจากสีของธงชาติ[131] ชุดแข่งขันที่ชนะเลิศคือชุดแข่งที่มีเสื้อสีเหลืองขริบเขียว กางเกงขาสั้นสีน้ำเงินขริบขาว ซึ่งออกแบบโดย Aldyr Garcia Schlee เด็กหนุ่มอายุ 19 ปีจากเมือง Pelotas[132] ชุดแข่งแบบใหม่ถูกใช้งานครั้งแรกในนัดที่พบกับชิลีเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1954 และชุดแข่งนั้นก็ใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน ท็อปเปอร์เป็นผู้ผลิตชุดแข่งจนถึงนัดที่พบกับเวลส์เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1991 หลังจากนั้น อัมโบรได้เข้ามาผลิตชุดแข่งแทนนับตั้งแต่นัดที่พบกับยูโกสลาเวียในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1991 เป็นต้นมา[133] ปัจจุบัน ไนกี้เป็นผู้ผลิตชุดแข่งทีมชาติ โดยผลิตชุดแข่งครั้งแรกในฟุตบอลโลก 1998[134]
สีน้ำเงินและขาวถูกใช้เป็นสีชุดแข่งขันที่สองโดยอิงจากสีประจำราชวงศ์โปรตุเกส พวกเขาใช้สีนี้มาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1930 และได้ใช้งานถาวรอันเนื่องจากความบังเอิญในฟุตบอลโลก 1958 รอบชิงชนะเลิศ ที่บราซิลจะต้องพบกับสวีเดนที่สวมชุดแข่งสีเหลืองในฐานะทีมเหย้า แต่บราซิลไม่มีชุดแข่งที่สอง จึงต้องสวมเสื้อสีน้ำเงินธรรมดาพร้อมเย็บตราทีมชาติที่แกะออกจากเสื้อแข่งสีเหลือง[135]
ผู้ผลิตชุดแข่ง
สัญญาชุดแข่ง
สนามแข่ง

บราซิลไม่ได้มีสนามเหย้าของทีมชาติเช่นเดียวกันกับหลายชาติอื่น ๆ พวกเขาหมุนเวียนใช้งานสนามหลายแห่งสำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก อาทิ สนามกีฬามารากานังในรีโอเดจาเนโร ตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 2006 บราซิลลงเล่นเกมกระชับมิตรที่เอมิเรตส์สเตเดียมของสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอล นอกจากนี้ ยังลงเล่นเกมกระชับมิตรอีกหลายนัดที่สหรัฐและส่วนอื่นของโลกสำหรับทัวร์กระชับมิตรบราซิล
ทีมชาติลงฝึกซ้อมที่กรันจาคอมารีที่ Teresópolis ซึ่งอยู่ห่างจากรีโอเดจาเนโร 90 กิโลเมตร[138] สนามซ้อมแห่งนี้เปิดใช้งานใน ค.ศ. 1987[139] และปรับปรุงใหม่ใน ค.ศ. 2013 และ 2014
Remove ads
ทีมงานฝึกสอน
ผู้เล่น
สรุป
มุมมอง
ผู้เล่นชุดปัจจุบัน
รายชื่อผู้เล่น 26 คนที่ถูกเรียกตัวในการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2022[140][141][142]
ข้อมูลการลงเล่นและการทำประตูนับถึงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2565 หลังจากการพบกับ ตูนิเซีย
อดีตผู้เล่นคนสำคัญ
- กาฟู
- ฌาอีร์ซิญญู
- การ์ริงชา
- เบแบตู
- เปเล่
- ซีกู
- อาเลชังดรี ปาตู
- ตอสเตา
- โซกราติส
- ตาฟาแรล
- รีวัลดู
- โรนัลโด
- โรเบร์ตู การ์ลุส
- โรมารีอู
- ดุงกา
- รอนัลดีนโย
- กาก้า
- เลโอนาโด้
- แจร์ซินโญ
Remove ads
สถิติส่วนบุคคล
สถิติผู้เล่น
ผู้เล่นที่ลงเล่นมากที่สุด
- ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2021[143]
- ผู้เล่น ตัวหนา คือผู้เล่นที่ยังคงเล่นให้กับทีมชาติบราซิล

ผู้เล่นที่ทำประตูสูงสุด

ผู้เล่นอายุน้อยที่สุดที่ทำประตูได้
- เปเล่ (16 ปี 9 เดือน)[144]
สถิติผู้จัดการทีม
- คุมทีมมากที่สุด
- Mário Zagallo: 72 นัด
Remove ads
สถิติของทีม
สถิติการแข่งขัน
สรุป
มุมมอง
ฟุตบอลโลก
บราซิลผ่านรอบคัดเลือกไปเล่นฟุตบอลโลกได้ทุกครั้งโดยไม่จำเป็นต้องแข่งขันในรอบเพลย์ออฟ พวกเขาชนะเลิศการแข่งขันรายการนี้มากกว่าชาติอื่น ๆ ในโลก
- *การเสมอนับรวมถึงการตัดสินด้วยการยิงลูกโทษ
โกปาอาเมริกา
- *การเสมอนับรวมถึงการตัดสินด้วยการยิงลูกโทษ
ฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ
สถิติโอลิมปิกส์เกมส์
แพนอเมริกาเกมส์
Remove ads
เกียรติประวัติ

ทีมชุดใหญ่
แชมป์
- ฟุตบอลโลก:
- ฟุตบอลชิงแชมป์อเมริกาใต้ / โกปาอาเมริกา:
- ฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ:
- แพนอเมริกันแชมเปียนชิป:
- ชนะเลิศ (2): 1952, 1956
- รองชนะเลิศ: 1960
- คอนคาแคฟโกลด์คัพ:
- รองชนะเลิศ (2): 1996, 2003
- อันดับที่สาม: 1998
รางวัล
- ทีมยอดเยี่ยมแห่งปีของฟีฟ่า:
- ชนะเลิศ (12): 1994, 1995, 1996, 1997, 1998, 1999, 2000, 2002, 2003, 2004, 2005, 2006
- ทีมยอดเยี่ยมแห่งปีของเวิลด์ซอกเกอร์
- ชนะเลิศ (2): 1982, 2002
- ทีมยอดเยี่ยมแห่งปีของลอริอุสเวิลด์
- ชนะเลิศ: 2003
กระชับมิตร
- บราซิลเลียนอินดีเพนเดนซ์คัพ: 1972
- Taça do Atlântico (3): 1956, 1970, 1976[145]
- ยูเอสเอ ไบเซนเทนเนียลคัพทัวร์นาเมนต์: 1976
- รูสคัพ: 1987
- ออสเตรเลียไบเซนเตแนรีโกลด์คัพ: 1988
- อัมโบรคัพ: 1995
- เนลสัน แมนเดลาแชลเลนจ์: 1996
- ลูนาร์นิวเยียร์คัพ: 2005
- โรกาคัพ / ซูเปร์กลาซิโก เด ลัส อาเมริกัส: (12): 1914, 1922, 1945, 1957, 1960, 1963, 1971, 1976, 2011, 2012, 2014, 2018
- โกปารีโอบรังโก: (7): 1931, 1932, 1947, 1950, 1967, 1968, 1976
- Taça Oswaldo Cruz: (8): 1950, 1955, 1956, 1958, 1961, 1962, 1968, 1976
ทีมโอลิมปิกและแพนอเมริกัน

- โอลิมปิกฤดูร้อน:[146]
- แพนอเมริกันเกมส์:
- คอนเมบอลปรีโอลิมปิกทัวร์นาเมนต์:
- ชนะเลิศ (7): 1968, 1971, 1976, 1984, 1987, 1996, 2000
- รองชนะเลิศ (2): 1964, 2020
- อันดับที่สาม (2): 1960, 2004
ตารางสรุป
Remove ads
ดูเพิ่ม
หมายเหตุ
- แม้ว่าเยอรมนีตะวันออกจะชนะเลิศโอลิมปิกในปี 1976 แต่การชนะเลิศนี้ไม่ถูกรวมในเกียรติประวัติของทีมชาติเยอรมนีในปัจจุบัน
อ้างอิง
ข้อมูล
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Remove ads