Loading AI tools
ตัวอักษรไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฅ เป็นพยัญชนะตัวที่ 5 ในบรรดาพยัญชนะ 44 ตัวของอักษรไทย ในลำดับถัดจาก ค และก่อนหน้า ฆ จัดอยู่ในกลุ่มอักษรต่ำในระบบไตรยางศ์ ออกเสียงอย่าง ค (ควาย) นิยมเรียกกันว่า "ฅ คน"
อักษร ฅ เป็นได้ทั้งพยัญชนะต้น แทนเสียง [kʰ] ไม่มีในตำแหน่งตัวสะกด
ฅ เป็นอักษรที่เลิกใช้แล้ว ไม่มีคำศัพท์ในหมวดคำ ฅ ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่ยังมีการใช้ ฅ อยู่บ้างในบางแวดวง นัยว่าเพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้ตัวอักษรไทยมีใช้ครบ 44 ตัว เท่าที่พบเห็น มักจะใช้ในคำว่า ฅน (คน) โดยเฉพาะในบันเทิงคดีต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ในแบบเรียนอักษรไทย ยังคงมีอักษร ฅ อยู่
อักษร ฅ นี้เป็นอักษรที่ใช้แทนเสียงในภาษาไทดั้งเดิม ในชุดอักษรสำหรับภาษาตระกูลอื่นๆ ที่ลำดับอักษร ก ข ค ฆ ง แบบอักษรอินเดีย เช่น อักษรเทวนาครี อักษรขอม อักษรมอญ ฯลฯ มักจะไม่มีตัวอักษร ฅ น่าจะเป็นการประดิษฐ์แทรกเช่นเดียวกับอักษร ฃ ซ ฎ ด บ ฝ ฟ ฯลฯ ที่ไทยได้เติมเข้าในวรรคอักษรแบบอินเดีย โดยเหตุผลเพื่อต้องการใช้แทนเสียงที่มีอยู่ให้ครบถ้วน โดยมีพัฒนาการควบคู่กันมากับอักษร ฃ (ขวด)
หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏการใช้ ฅ ในภาษาไทย คือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หรือศิลาจารึกหลักที่ 1 มีการใช้ ฅ อยู่ 2 คำ ได้แก่ "แฅว" (แคว)และ "ฅุ๋ม" (คุ้ม, ในสมัยนั้น เครื่องหมายกากบาท ตรงกับไม้โทในการเขียนแบบปัจจุบัน)การใช้ ฅ ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นไปอย่างแม่นยำ หมายความว่า ไม่มีการใช้ ค ในคำที่ใช้ ฅ นั้นเลย อย่างไรก็ตาม ในสมัยใกล้เคียงกัน มีการใช้ ฅ ในศิลาจารึกหลักอื่น ได้แก่ คำว่า ฅ (คอ), ฅ้อน (ค้อน), ฅา (คา), ฅาบ (คาบเวลา), ฅืน (กลับคืน), แฅน (ดูแคลน), แฅ่ง (แข้ง), แฅว (แคว), ฅวาม (ความ) และ ฅวาง (คว้าง)
ในสมัยหลังจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เริ่มมีการใช้ ค และ ฅ สับสน และใช้แทนที่กันในหลายแห่ง เช่น ใช้ "ฅ่ำ" บ้าง "ค่ำ" บ้าง ทั้งนี้มีคำว่า ฅวาม เพิ่มเข้ามา ครั้นมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา การใช้ ฅ เริ่มลดลงอย่างมาก แต่ก็ยังมีใช้ ทว่าไม่ปรากฏหลักเกณฑ์การใช้ ฅ ในตำราว่าด้วยอักขรวิธีของไทยในสมัยนั้น
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ระบุคำที่เขียนด้วย ฅ ในหนังสือชื่อ นิติสารสาธก เล่ม 1 มีอยู่คำเดียว คือ ฅอ (คอ)
ครั้นถึงสมัย รัชกาลที่ 7 เมื่อมีปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2470 ก็ระบุว่า "ฅ เป็นพยัญชนะตัวที่ห้าของพยัญชนะไทย แต่บัดนี้ไม่มีที่ใช้แล้ว" เป็นอันหมดวาระของ ฅ นับแต่นั้นมา
นักภาษาศาสตร์ได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของพยัญชนะ ฅ (และ ฃ) และสันนิษฐานว่า ฅ นั้นเดิมมีฐานเสียงที่แตกต่างจากฐานเสียงของ ค โดยมีลักษณะเสียงเป็น พยัญชนะลิ้นไก่โฆษะ (ส่วน ฃ นั้น เป็นพยัญชนะลิ้นไก่อโฆษะ) ซึ่งพบได้ในภาษาต่างๆ ในกลุ่มภาษาไท และภาษาอื่น ทว่าในภายหลังหน่วยเสียงนี้ค่อย ๆ สูญหายไป โดยออกเสียง ค แทน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ฅ มีใช้ในตำแหน่งที่เป็นพยัญชนะต้น ไม่ปรากฏในตำแหน่งตัวสะกดเลย นอกจากนี้ยังมีข้อที่น่าสังเกตว่าคำว่า "คน" ซึ่งเป็นชื่อของพยัญชนะตัวนี้ ก่อนหน้าที่จะใช้เป็นชื่อพยัญชนะ เฉพาะในสยามไม่เคยเขียนด้วย ฅ (นั่นคือ ฅน) มาก่อนเลย แต่มาจาก "ฅ ฅอคน" (คอของคน) ในแบบเรียน ก ไก่ สมัยก่อน
จากนั้น เครื่องพิมพ์ดีดได้เริ่มเข้ามาในประเทศไทย และการจัดเรียงอักษรแบบ QWERTY นั้น ไม่สามารถบรรจุอักษรลงไปทั้งหมดได้ จึงทำการตัดแปลงตัวอักษรที่ใช้ ฅ และ ฃ เพื่อที่จะไม่ต้องเพิ่มในแป้นพิมพ์ดีด แต่สำหรับคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ จะมี ฅ และ ฃ อยู่ แต่จะไว้คนละตำแหน่งกันแล้วแต่ยี่ห้อ เช่น หน้า Backspace บน Enter หลังปุ่ม Shift บ้าง (ส่วนใหญ่ ทั้งสองอักษรจะวางบนแป้น backslash ซึ่งจะมีเครื่องหมาย "|" กับ "\")
ปัจจุบันสามารถพบเห็นการใช้ ฅ ในชื่อเฉพาะบางอย่างเช่น รายการโทรทัศน์ คนค้นฅน หรือภาพยนตร์ ฅนไฟบิน และในเอกสารที่ถอดมาจากตัว ᨤ ในอักษรธรรมล้านนา[1] เช่นคำว่า ฅิง ฅืน ฅาบ ฅวาย และ ฅน เป็นต้น
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.