คำถามยอดนิยม
ไทมไลน์
แชท
มุมมอง

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โรงเรียนแพทย์สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Remove ads

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อังกฤษ: Faculty of Medicine, Chulalongkorn University) เป็นหน่วยงานระดับคณะวิชาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพระราชกฤษฎีกาประกาศตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2490 โดยสังกัดอยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จนกระทั่งถูกโอนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2510 เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ถือกำเนิดจากพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 การดำเนินการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้เริ่มขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงเพียงแปดเดือนเท่านั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทย ประสบความยากลำบากทางการเมืองและเศรษฐกิจ อีกทั้งจำเป็นต้องมีการบูรณะบ้านเมืองที่เสียหายจากการทิ้งระเบิด คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวงการสาธารณสุขของประเทศ ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ควบคู่ไปกับการพัฒนามาตรฐานแพทยศาสตรศึกษา ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก 3 สาขา ได้แก่ ศูนย์ความร่วมมือด้านแพทยศาสตรศึกษา ศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยการสืบพันธุ์ของมนุษย์ ศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยและฝึกอบรมด้านไวรัสและโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน[1][2][3][4]

ข้อมูลเบื้องต้น ชื่อเดิม, ชื่อย่อ ...
Remove ads

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย[5] มีหน้าที่หลักในการผลิตบัณฑิตทั้งในระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์และสหศาสตร์[5] เผยแพร่ความรู้สู่สังคมและให้การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนทั่วไป มีชื่อเสียงและผลงานด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

ในปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีภาควิชาที่ทำการเรียนการสอนอยู่ 22 ภาควิชา และมีหน่วยงานภายใน 12 หน่วยงาน[6] โดยแต่ละภาควิชาจะมีฐานะเป็นแผนกหนึ่งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นบุคคลคนเดียวกัน[7] นอกจากนี้คณาจารย์ในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อีกด้วย[8]

ที่ตั้งของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ในพื้นที่ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นพื้นที่ใจกลางเขตธุรกิจ การเงินและการทูตของประเทศไทย ด้านทิศตะวันตกติดกับถนนอังรีดูนังต์ ทิศใต้ติดกับถนนพระรามที่ 4 ด้านทิศตะวันออกติดกับถนนราชดำริและสวนลุมพินี ทิศเหนือติดกับราชกรีฑาสโมสร หรือ สนามม้าปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางมาถึงได้โดย รถยนต์ส่วนตัว รถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้ามหานครและรถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[9]

Remove ads

ประวัติ

สรุป
มุมมอง
Thumb
ป้ายคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นโดยตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพระราชวังบวรสถานพิมุขหรือวังหลัง พระราชทานนามว่า โรงศิริราชพยาบาล (ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลศิริราช) ซึ่งมีความจำเป็นต้องหาแพทย์มาประจำในโรงพยาบาลจึงมีความจำเป็นต้องเปิดโรงเรียนแพทย์ขึ้นเพื่อผลิตแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งโรงเรียนแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช ต่อมาได้รับพระราชทานชื่อว่า โรงเรียนราชแพทยาลัย (ปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล) ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกอบรมแพทย์เพียงแห่งเดียวของประเทศในขณะนั้นซึ่งตั้งเป้าหมายการผลิตแพทย์ไว้ประมาณ 50 คนต่อปี แต่ความนิยมของผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันนั้นมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ยิ่งทำให้เกิดความต้องการแพทย์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลต้องเพิ่มจำนวนการรับนักเรียนแพทย์แต่ด้วยมีทรัพยากรและสถานที่จำกัดทำให้รับนักเรียนแพทย์ได้ไม่เกิน 100 คนต่อปีเท่านั้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า "...พระองค์มีพระราชประสงค์ให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์ผู้ได้สำเร็จหลักสูตรให้มีปริมาณมากขึ้น เพื่อออกมาช่วยเหลือประเทศชาติ..."

เพื่อสนองพระราชประสงค์ดังกล่าว รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจำนวนหนึ่งให้แก่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เพื่อให้สามารถผลิตแพทย์เป็นจำนวนมากพอกับความต้องการของประเทศชาติ และมีการเสนอแนวทางเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวไว้ 3 แนวทางด้วยกัน ได้แก่

  1. ขยายกิจการของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
  2. จัดสร้างโรงเรียนแพทย์แห่งใหม่
  3. จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นในโรงพยาบาลแห่งใดแห่งหนึ่งที่มีอยู่ในขณะนั้น

เมื่อพิจาณาจาก 3 แนวทางขั้นต้น พบว่า แนวทางแรกนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากในขณะนั้นคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มีทรัพยากรและสถานที่จำกัดไม่สามารถรองรับการผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นได้อีก ส่วนแนวทางที่สองนั้นต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมากและไม่ทันการกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ ดังนั้น แนวทางที่ 3 จึงเป็นแนวทางที่ใช้เวลาและงบประมาณไม่มากนัก รวมทั้ง ยังสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้รวดเร็วที่สุด โดยที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ของสภากาชาดไทย มีความพร้อมทั้งในด้านสถานที่และอุปกรณ์ ด้วยเคยใช้เป็นโรงเรียนแพทย์ทหารบกมาก่อน สามารถพัฒนาให้เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่สองของประเทศต่อไปได้

Thumb
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Thumb
พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 ในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ นพ.เฉลิม พรมมาส ผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในขณะนั้น จึงได้ติดต่อประสานงานการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์แห่งใหม่ผ่านทางผู้อำนวยการกองบรรเทาทุกข์และอนามัย สภากาชาดไทย พระยาดำรงแพทยาคุณ (ชื่น พุทธิแพทย์) หรือ ศาสตราจารย์อุปการคุณ พลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ โดยขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน คณะแพทยศาสตร์แห่งใหม่จึงก่อกำเนิดขึ้นในนาม "คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์" และสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ ภายใน 9 เดือนเศษนับจากวันที่ได้เริ่มมีการติดต่อครั้งแรก โดยมีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2490[10] ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 มีผลบังคับใช้วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2490 ให้แบ่งส่วนราชการคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ออกเป็น 10 แผนก ได้แก่ แผนกอำนวยการ แผนกกายวิภาคศาสตร์ แผนกสรีระวิทยา แผนกพยาธิวิทยา แผนกอายุรศาสตร์ แผนกศัลยศาสตร์ แผนกสูติศาสตร์–นรีเวชวิทยา แผนกรังสีวิทยา แผนกกุมารเวชศาสตร์ และ แผนกจักษุวิทยาและวิทยาโสตนาสิกลาริงซ์ และได้เปิดการภาคเรียนเป็นปฐมฤกษ์ ในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2490 มีนักศึกษาปีแรก 67 คน (ขณะอยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ใช้คำเรียกผู้ศึกษาว่า "นักศึกษา")

ภายหลังได้โอนไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2510[11][12][13]

ปัจจุบันแบ่งส่วนงานออกเป็น 23 ภาควิชาและสำนักงานเลขานุการคณะ[14] โดยในแต่ละภาควิชาของคณะแพทยศาสตร์มีฐานะเป็นแผนกหนึ่งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นอกจากนี้คณาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์ ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ประจำในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อีกด้วย[15]

โดย 23 ภาควิชาประกอบไปด้วย[16]

  • ภาควิชากายวิภาคศาสตร์
  • ภาควิชาวิสัญญีวิทยา
  • ภาควิชาชีวเคมี
  • ภาควิชานิติเวชศาสตร์
  • ภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตร
  • ภาควิชาอายุรศาสตร์
  • ภาควิชาจุลชีววิทยา
  • ภาควิชาสูติศาสตร์–นรีเวชวิทยา
  • ภาควิชาจักษุวิทยา
  • ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
  • ภาควิชาออร์โธปิดิกส์
  • ภาควิชาพยาธิวิทยา
  • ภาควิชาปรสิตวิทยา
  • ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
  • ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
  • ภาควิชาเภสัชวิทยา
  • ภาควิชาสรีรวิทยา
  • ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
  • ภาควิชารังสีวิทยา
  • ภาควิชาศัลยศาสตร์
  • ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
  • ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
  • ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว
Remove ads

หลักสูตร

สรุป
มุมมอง

หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หลักสูตรระดับปริญญาบัณฑิต ...
ข้อมูลเพิ่มเติม หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต, ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ...

หมายเหตุ : หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต จำนวนปีละ 313 คน ได้แก่

หากโครงการใดรับไม่เต็มจำนวน จะรับเพิ่มในโครงการรับตรงร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยให้ครบตามจำนวน 313 คน

หลักสูตรควบข้ามระดับข้ามศาสตร์ ปริญญาตรีแพทยศาสตรบัณฑิต และปริญญาโทวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตร 2 ปริญญา : พ.บ.– วท.ม.) จำนวน 1 หลักสูตร ได้แก่
หลักสูตรควบข้ามระดับศาสตร์เดียวกัน ปริญญาตรีแพทยศาสตรบัณฑิต และปริญญาโทวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตร 2 ปริญญา : พ.บ.– วท.ม.) จำนวน 6 หลักสูตร ได้แก่
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) จำนวนปีละ 40 คน
Remove ads

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะ

สรุป
มุมมอง
Thumb
อาคารต่าง ๆ ในบริเวณคณะแพทยศาสตร์
Thumb
ภูมิทัศน์คณะแพทยศาสตร์เมื่อมองจากสวนลุมพินี

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขาต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการบริการทางการแพทย์และความก้าวหน้าทางวิชาการ ดังนี้

  • ศูนย์วิจัยมหาจักรีสิรินธรในพระราชูปถัมภ์ (Maha Chakri Sirindhorn Clinical Research Center Under the Royal Patronage)
  • ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  • ศูนย์โรคลมชักครบวงจร ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
  • ศูนย์โรคตับและปลูกถ่ายตับ
  • ศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ (Chula Excimer Laser Center)[21]
  • ศูนย์เลเซอร์วิเคราะห์ขั้วประสาทตา Glaucoma Imaging & Diagnostic Center
  • ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  • ศูนย์รักษาพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติแบบครบวงจร
  • ศูนย์ข้อมูลโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Information Center for Emerging Infectious Diseases)
  • ศูนย์ผลิตและพัฒนาสื่อคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา
  • ศูนย์สุขภาพเฉลิมพระเกียรติ (Wellness Center)
  • ศูนย์ฝึกผ่าตัด
  • ศูนย์วิทยาการวิจัยแพทยศาสตร์
  • ศูนย์เทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Chula Medical Inventor Technology Center, Chula–MITC)
  • ศูนย์การจัดประชุมวิชาการ
  • ศูนย์เวชศาสตร์ครอบครัวโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

การมีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยของประชาชน

สรุป
มุมมอง

ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยให้กับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยได้หลายวิธี ดังนี้

การอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา วิจัยและการรักษาทางการแพทย์

Thumb
ศาลาทินทัต

การอุทิศร่างกายมีส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษาด้านแพทยศาสตร์เป็นอย่างมาก ผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาจะถูกเรียกว่า "อาจารย์ใหญ่" เพราะนอกจากท่านจะเป็นผู้ให้ความรู้โดยละเอียดด้านกายวิภาคศาสตร์ได้สมบูรณ์แบบและเสมือนจริงที่สุดอย่างไม่มีสิ่งใดทดแทนได้ให้แก่นิสิตแพทย์แล้ว อาจารย์ใหญ่แต่ละร่างยังเป็นผู้ฝึกอบรมทักษะการช่วยชีวิตผู้ป่วยและการผ่าตัดขั้นสูงด้วย ซึ่งในแต่ละปี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำเป็นต้องใช้ร่างอาจารย์ใหญ่มากกว่า 300 ท่าน[22] ประชาชนทั่วไปสามารถศึกษารายละเอียดและแสดงความจำนงเป็นผู้อุทิศร่างกายได้ที่ ศาลาทินทัต ด้านข้างอาคาร ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เวลา 08.30–16.30 น วันจันทร์–ศุกร์ (เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์) อย่างไรก็ตามคณะแพทยศาสตร์ไม่สามารถรับศพผู้อุทิศร่างกาย ดังนี้[23]

  1. ผู้อุทิศร่างกายฯ ที่ถึงแก่กรรมมีสาเหตุจากติดเชื้อโรคร้ายแรง เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) ไวรัสตับอักเสบ วัณโรคและพิษสุนัขบ้า[24]
  2. ผู้อุทิศร่างกายที่ผ่านการฉายรังสีในการรักษาโรคต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 1 ปี[24]
  3. ผู้อุทิศร่างกายฯ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ มีคดี เกี่ยวข้องกับคดีหรือมีการผ่าพิสูจน์[24]
  4. ร่างกายผู้อุทิศร่างกายฯ มีลักษณะกลิ่นจากการเนื้อเยื่อเน่าเสีย[24]

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ มีนิสิตทั้งระดับปริญญาบัณฑิต (ปริญญาตรี) และบัณฑิตศึกษา (สูงกว่าปริญญาตรี) รวมถึงแพทย์เพิ่มพูนประสบการณ์อีกเป็นจำนวนมาก ในแต่ละปีการศึกษามีการจัดการเรียนการสอนที่จำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านร่างอาจารย์ใหญ่มากมาย มีการฝึกผ่าตัดเพื่อเพิ่มพูนทักษะ สร้างความแม่นยำในการรักษาแก่แพทย์ประจำบ้านและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญปีละกว่า 100 ครั้ง[25] และมีแนวโน้มที่จะมีการฝึกผ่าตัดกับร่างอาจารย์ใหญ่มากขึ้นทุกปี อาจารย์ใหญ่จึงเป็นบุคคลสำคัญอย่างมากในการศึกษาด้านแพทยศาสตร์ทุกระดับ ผู้อุทิศร่างกายทุกท่านถือเป็นบุคคลสำคัญและมีคุณูปการอย่างที่สุดต่อวงวิชาการทางการแพทย์และการศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภากาชาดไทย[26] อันจะนำมาสู่การสร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถระดับสูง และวิทยาการทางการทางการแพทย์ใหม่ ๆ ที่จะเป็นความหวังของผู้ป่วยทั่วประเทศไทย

ปัจจุบันการอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาให้กับคณะแพทศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถทำได้ง่ายขึ้นผ่านระบบลงทะเบียนออนไลน์ ทางเว็บไซต์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นสถานปฏิบัติการ (โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์) ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเลือกเมนู อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา เก็บถาวร 2018-10-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

การที่ผู้ป่วยยินยอมให้นิสิตแพทย์และพยาบาลเข้าร่วมสังเกตการรักษาและให้ความร่วมมือแก่นิสิตระหว่างการรักษา เช่น การให้ข้อมูลของผู้ป่วยโดยละเอียด ถูกต้อง เป็นความจริง ระหว่างการติดตามอาการและการบันทึกประวัติ ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้อาจารย์แพทย์ได้ทำการสอนนิสิตจากสภาพจริง เอื้อต่อการเพิ่มพูนทักษะให้กับนิสิตแพทย์และพยาบาลในหลายด้าน เป็นขั้นตอนสำคัญของการศึกษาด้านแพทยศาสตร์และจะช่วยให้คณะฯ สามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีทักษะการปฏิบัติที่ดีออกสู่สังคมได้มากขึ้น การมีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยของผู้ป่วยและประชาชนผู้เข้ารับการรักษาจึงเป็นการอุปการะอย่างสำคัญต่อวงการแพทย์[27]

จุฬาลงกรณ์เวชสาร

จุฬาลงกรณ์เวชสาร เป็นวารสารวิชาการประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกำหนดการออกเผยแพร่ทุก 2 เดือน หรือ 6 ฉบับต่อปี มีเนื่อหาด้านแพทยศาสตร์และศาสตร์ที่เกี่ยวของกับการแพทย์อื่น ๆ โดยเผยแพร่ทั้งในรูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ บทความประเภทนิพนธ์ต้นฉบับ (Original Research) และรายงานผู้ป่วย (Case Report) ต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ในระดับนานาชาติและรักษามาตรฐานของวารสาร ส่วนบทความประเภทอื่น ๆ อาจเขียนเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ เพื่อให้สะดวกต่อการสื่อสารความรู้สู่ผู้อ่านและสมาชิกของวารสาร ทั้งนี้บทความที่ส่งมาต้องไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน[28]

จุฬาลงกรณ์เวชสารสามารถเข้าถึงได้อย่างเสรีทางอินเทอร์เน็ต[29] นอกจากนี้ยังเผยแพร่ในรูปแบบตีพิมพ์ด้วยกระดาษในระบบห้องสมุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแหล่งรวมทรัพยากรวิชาการของสถานศึกษาด้านการแพทย์อื่น ๆ สำนักงานบรรณาธิการของจุฬาลงกรณ์เวชสาร ตั้งอยู่ที่ชั้น 5 อาคารอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[30]

Remove ads

เกียรติประวัติ

สรุป
มุมมอง

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จทางด้านการแพทย์มากมาย โดยผลงานเด่น ๆ มีดังนี้ [31]

  • พ.ศ. 2491 คณะแพทยศาสตร์ค้นคว้าวิจัย Leptospirosis หรือ โรคฉี่หนูจนเป็นที่อ้างอิงในระดับนานาชาติ[32]
  • พ.ศ. 2494 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการผ่าตัด Leino–renal shunt รักษาโรคหลอดเลือดที่หลอดอาหารโป่งพองครั้งแรกของประเทศ
  • พ.ศ. 2494 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการผ่าตัด Pneumonectomy ครั้งแรกของประเทศ
  • พ.ศ. 2494 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการรักษาโปลิโอด้วย Artificial Respirator เครื่องแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2494 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการทำ Cerebral angiography & air study ครั้งแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2495 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมครั้งแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2496 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดการโป่งของหมอนรองกระดูกสันหลังรายแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2496 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการ Cardiac Catheterization ครั้งแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2496 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการผ่าตัด Lobectomy ครั้งแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2496 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดหัวใจ Patent ductus arteriosus ครั้งแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2497 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดเข้าในหัวใจครั้งแรกของประเทศไทย (closed mitral valvulotomy)
  • พ.ศ. 2500 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการทำ TUR–P รายแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2501 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการรักษามะเร็งด้วย Cobalt 60 ครั้งแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2502 การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาดำครั้งแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2502 ผ่าตัดหัวใจโดยใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมครั้งแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2504 ผ่าตัดหูโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ครั้งแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2505 เปิดสาขาประสาทศัลยศาสตร์และแผนกวิสัญญีวิทยาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2507 ริเริ่มรักษาไตวายด้วยเครื่องฟอกไตเทียมเป็นแห่งแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2508 เปิดหน่วยวิจัยคุมกำเนิดและวางแผนครอบครัวเป็นแห่งแรกของประเทศ
  • พ.ศ. 2511 ริเริ่ม Radioimmunoassay แห่งแรก
  • พ.ศ. 2513 ริเริ่มให้วัคซีน BCG ในเด็กแรกคลอดทุกราย
  • พ.ศ. 2514 ริเริ่มการใช้ Lithium รักษา Manic depressive ครั้งแรก
  • พ.ศ. 2515 การผ่าตัดเปลี่ยนไตเป็นครั้งแรกของประเทศไทย[33]
  • พ.ศ. 2516 จัดตั้งห้องปฏิบัติการโครโมโซมแห่งแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2516 ริเริ่มการผ่าตัดสายตาด้วยเลเซอร์เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2517 ริเริ่มการใช้ ultrasound เป็นแห่งแรกในประเทศไทย
  • พ.ศ. 2517 ริเริ่มการทำหมันผ่านช่องคลอด
  • พ.ศ. 2519 ริเริ่มรักษาทางจิตเวชด้วยการช็อกไฟฟ้า โดยการดมยาสลบเป็นครั้งแรกของประเทศ
  • พ.ศ. 2521 ริเริ่มโครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบทแห่งแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2522 ริเริ่มผ่าตัดทำหมันหญิงโดยใช้ห่วง Falopering ผ่านกล้องเป็นครั้งแรก
  • พ.ศ. 2523 ทำ Transphenoidal surgery for pituitary tumor เป็นครั้งแรก
  • พ.ศ. 2524 ริเริ่มการใช้ CT scan เป็นแห่งแรกในประเทศไทย
  • พ.ศ. 2525 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดแยกแฝดสยามรายแรกของประเทศและรายที่ 3 ของโลก
  • พ.ศ. 2525 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดย้ายนิ้วเท้ามาแทนนิ้วมือด้วยจุลศัลยกรรมครั้งแรกของประเทศไทย
  • พ.ศ. 2525 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดเนื้องอกลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องครั้งแรก
  • พ.ศ. 2527 วินิจฉัยผู้ป่วยเอดส์รายแรกในประเทศไทย
  • พ.ศ. 2528 ริเริ่มรักษามะเร็งปากมดลูกด้วยแร่กัมมันตภาพรังสี Cs137
  • พ.ศ. 2528 First Cochlear transplantation
  • พ.ศ. 2529 ริเริ่มทำ Fine needle aspiration ครั้งแรก
  • พ.ศ. 2529 ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดรักษาโรคงวงช้างด้วยวิธี "จุฬาฯ เทคนิค" โดยไม่ต้องเปิดกระโหลกศีรษะเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เป็นความสำเร็จที่มีชื่อเสียงอย่างมากในระดับนานาชาติ[34]
  • พ.ศ. 2530 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเป็นครั้งแรก ในประเทศไทย
  • พ.ศ. 2530 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการรักษาภาวะการมีบุตรยากด้วยวิธีเด็กหลอดแก้ว (Thailand First test tube baby) รายแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย
  • พ.ศ. 2531 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนตับเป็นครั้งแรกใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • พ.ศ. 2531 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการใช้เครื่องระเบิดนิ่วรายแรก
  • พ.ศ. 2531 คณะแพทยศาสตร์ริเริ่มโครงการผลิตแพทย์แนวใหม่ ครั้งแรกของประเทศไทยโดยความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-กองทัพอากาศ
  • พ.ศ. 2535 ตั้งคลินิกสตรีวัยทอง (Manopause) แห่งแรก
  • พ.ศ. 2535 ริเริ่มผ่าตัดผ่านกล้อง Arthroscope ครั้งแรก
  • พ.ศ. 2540 ริเริ่มทำ Ultrasound 3 มิติแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • พ.ศ. 2540 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการคิดค้นวิธีการเตรียม soft cadever ที่มีลักษณะคล้ายเนื้อเยื่อของมนุษย์ที่มีชีวิตครั้งแรกของประเทศ ทำให้คณะฯมีชื่อเสียงและเป็นศูนย์กลางของการจัดทำ workshop โดยการฝึกผ่าตัดกับร่างอาจารย์ใหญ่
  • พ.ศ. 2544 คณะแพทยศาสตร์ประสบความสำเร็จในการผ่าคลอดท้องนอกมดลูกที่วินิจฉัยและเลี้ยงไว้ได้นานที่สุดได้สำเร็จเมื่ออายุครรภ์ได้ 34 สัปดาห์
  • พ.ศ. 2546 ริเริ่มทำ Ultrasound Realtime 4 มิติ แห่งแรกในประเทศไทย
  • พ.ศ. 2546 นิสิตแพทย์ จุฬาฯ พิชิตรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันโครงการวิจัยของนิสิตนักศึกษาแพทย์ในเอเชีย จากการศึกษาตรวจหาเชื้อไวรัสไข้เลือดออกในยุงลายในฤดูแล้งก่อนที่โรคไข้เลือดออกจะระบาด
  • พ.ศ. 2547 คณะแพทยศาสตร์ ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากรกเด็กรักษาโรคธาลัสซีเมียและโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิดได้หายขาดสำเร็จเป็นรายแรกของอาเซียน
  • พ.ศ. 2547 คณะแพทยศาสตร์ ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนข้อกระดูกสันหลังเทียม
  • พ.ศ. 2548 คณะแพทยศาสตร์ ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ด้วยกล้องส่อง
  • พ.ศ. 2548 คณะแพทยศาสตร์ ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดรักษาโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติในโรคพาร์กินสันและโรคดิสโทเนียด้วยเทคนิคใหม่เป็นครั้งแรกในไทยและเอเชีย
  • พ.ศ. 2550 คณะแพทยศาสตร์ ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดก้อนฮีมาร์โตมา(Hematoma) ในโพรงสมองด้วยวิธีการส่องกล้องรายแรกในประเทศไทย
  • พ.ศ. 2550 คณะแพทยศาสตร์ ประสบความสำเร็จในการสร้างสายพันธุ์เซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนของมนุษย์ (Human Embryonic Stem Cells) สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
  • พ.ศ. 2550 นิสิตแพทย์ จุฬาฯ ได้รับรางวัล AMEE awards ในหมวด teaching & learning และหมวด student issues จากการนำเสนอเรื่อง Cinemeducation: Learning professionalism through films at Chulalongkorn Medical School ในการประชุม Association of medicial Education in Europe 2007 ณ เมือง Trondheim ราชอาณาจักรนอร์เวย์
  • พ.ศ. 2552 คณะแพทยศาสตร์ ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนของมนุษย์ (Human Embryonic Stem Cells Bank) สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย สายพันธุ์เซลล์ต้นกำเนิดสายพันธุ์ไทย ชื่อ Chula2.hES ได้รับการยอมรับเป็นครั้งแรกในระดับนานาชาติ และขึ้นทะเบียนกับสหภาพยุโรป[35]
  • พ.ศ. 2556 ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยื่นจดสิทธิบัตรรองเท้าสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งผ่านการทำวิจัยในกลุ่มผู้สูงอายุจนได้รูปแบบรองเท้าที่เหมาะสม สามารถลดปัญหาสุขภาพเท้าในผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี[36]
  • พ.ศ. 2557 ถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม การทำหัตถการสวนหัวใจเพื่อรักษาผู้ป่วยโครงสร้างหัวใจผิดปกติในการประชุมนานาชาติ Cardiac Structural Intervention (CSI) โดยนำเสนอการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter Aortic Valve Implantation - TAVI) ซึ่งประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ[37]
  • พ.ศ. 2558 คณะแพทยศาสตร์ ได้รับรางวัล ASPIRE to Excellence Awards สาขา Student Engagement ในการประชุม Association for Medical Education in Europe (AMEE) ณ ประเทศสหราชอาณาจักร โดย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชียที่เคยได้รับรางวัลนี้[38]
  • พ.ศ. 2558 ห้องปฏิบัติการของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นห้องปฏิบัติการแห่งแรกในประเทศไทยที่ตรวจพบโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง[39][40]
  • พ.ศ. 2558 ห้องปฏิบัติการของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นห้องปฏิบัติการแห่งแรกในประเทศไทยที่สามารถตรวจเชื้อไวรัสอีโบลาได้[40]
  • พ.ศ. 2559 ปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือด ด้วยเทคนิคล้างน้ำเหลืองปลูกถ่ายไตโดยไม่ทำลายภูมิคุ้มกันทั้งหมด เป็นรายแรกในอาเซียน[41]
  • พ.ศ. 2560 คณะแพทยศาสตร์ สามารถรักษาโรคหอบหืดเรื้อรังขั้นรุนแรงโดยการส่องกล้องจี้หลอดลมด้วยความร้อน (Bronchial thermoplasty) ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกในประเทศไทย[42]
  • พ.ศ. 2562 คณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดดำเนินงานศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นเครื่องมือทางรังสีรักษาที่สามารถใช้รักษาโรคมะเร็งได้อย่างตรงจุด และเกิดผลข้างเคียงน้อย โดยตัวเครื่องมีมูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท นำเข้าจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นับเป็นเครื่องเร่งอนุภาคโปรตอนเพื่อใช้ในทางรังสีรักษาเครื่องแรกและเครื่องเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[43]
  • พ.ศ. 2563 ห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยทำการถอดรหัสโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (SARS–CoV–2) และยืนยันว่าตรงกับไวรัสที่กำลังระบาดในประเทศจีนได้เป็นที่แรกของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยเริ่มรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้อย่างจริงจังในเวลาต่อมา[44]
  • พ.ศ. 2563 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เริ่มพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประเภทเอ็มอาร์เอ็นเอ[45] โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา วัคซีนดังกล่าวมีชื่อว่า "ChulaCov19"[46]
Remove ads

ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับความไว้วางใจจากองค์การอนามัยโลกให้เป็น WHO Collaborating Centre หรือ ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก ในสาขาต่าง ๆ อาทิ

Remove ads

บุคคล

สรุป
มุมมอง

คณบดี

ตามข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และสภากาชาดไทยให้คณบดีคณะแพทยศาสตร์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นบุคคลคนเดียวกันแต่แยกการบริหารออกเป็น 2 หน่วยงาน รายนามคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีดังนี้

ข้อมูลเพิ่มเติม ทำเนียบคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รายนามคณบดี ...

นิสิตเก่าและคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง

ดูเพิ่มที่ รายนามบุคคลจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย‎

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลิตบุคลากรทางด้านการแพทย์ ทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก โดยคณาจารย์และศิษย์เก่าได้รับรางวัลมากมายทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เช่น นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น, เมธีวิจัยอาวุโส สกว., นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ นอกจากนี้ ศิษย์เก่ายังมีบทบาททางการเมือง การปกครอง และการบริหารต่าง ๆ นิสิตเก่าและคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง เช่น

  • รางวัลนิวตัน – ศ. นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ (พ.ศ. 2560) เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้[48][49]
  • รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล – บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย – ศ. นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, ศ. นพ.ชวลิต อ่องจริต, ศ.กิตติคุณ นพ.จรัญ มหาทุมะรัตน์, ผศ. นพ.ช่อเพียว เตโชฬาร, ศ.กิตติคุณ นพ.นิกร ดุสิตสิน, ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ
  • รางวัลแพทย์ดีเด่น – ศ.เกียรติคุณ พ.ญ.เพ็ญแข ลิ่มศิลา, รศ. พ.ญ คุณหญิงส่าหรี จิตตินันทน์ (พ.ศ. 2541)[50], น.พ. รณไตร เรืองวีรยุทธ (พ.ศ. 2549)[51], พญ.เสาด๊ะ ยุทธสมภพ (พ.ศ. 2551),[52] นพ.ย์วิชัย อัศวภาคย์ (พ.ศ. 2553),[53] นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์, พญ.อุไรวัลย์ ตินนังวัฒนะ
  • รางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น – นพ.เฉิดพันธุ์ ภัทรพงศ์สินธุ์, นพ.ธวัติ บุญไทย (พ.ศ. 2548),[54] นพ.วิชัย อัศวภาคย์ (พ.ศ. 2549)[55]
Remove ads

สิ่งก่อสร้างสำคัญ

สรุป
มุมมอง

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ในพื้นที่ของสภากาชาดไทย มีอาคารเรียนและอาคารฝึกปฏิบัติหลายแห่ง เพื่อรองรับอุปกรณ์การแพทย์ บุคลากรและนิสิตที่มีจำนวนมากและผู้เข้ารับการบริการทางการแพทย์ รวมถึงรถยนต์ที่มากตามจำนวนคน ที่ตั้งที่อยู่ใจกลางเขตเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครนี้มีข้อจำกัดในการขยายตัว อาคารหลายหลังจึงเป็นอาคารสูงและหลายหลังมีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น อาทิ อาคารอำนวยการหลังแรกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบศิลปะตะวันตก อาคารสถาปัตยกรรมร่วมสมัยอย่างอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ซึ่งอาคารเหล่านี้เป็นจุดสังเกตสำคัญในการเดินทางมายังคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[56]

พิพิธภัณฑ์

Remove ads

การเดินทางมาสู่คณะ

Thumb
รถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Pop Bus)

สิ่งสืบเนื่อง

สรุป
มุมมอง

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

Thumb
ที่ตั้งปัจจุบันของพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 ด้านหลังอาคารแพทยพัฒน์

คณะกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์ ได้ดำเนินการขอพระบรมราชานุญาตจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเพื่อประดิษฐานหน้าอาคาร อานันทมหิดล โดยได้ติดต่อคุณไข่มุกด์ ชูโต เป็นประติมากรออกแบบปั้นพระบรมรูป ซึ่งหล่อด้วยส่วนผสมของทองเหลืองและทองแดง มีขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง ประทับนั่งเหนือพระเก้าอี้ ผินพระพักตร์ไปทางเบื้องขวาเล็กน้อย โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์แท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2528 และ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเททองหล่อพระบรมรูป เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2528 หลังการดำเนินการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์แล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 [63] อนึ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ เป็นประจำทุกปี ปัจจุบันพระบรมราชานุสาวรีย์ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานด้านหลังอาคารแพทยพัฒน์ ด้านหน้าอาคาร อปร.

วันอานันทมหิดล

วันอานันทมหิดล เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ผู้กำเนิดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงดำริที่จะจัดงานวันอานันทมหิดลขึ้นเป็นประจำทุกปี[64]

กิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วยพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ด้านหน้าอาคาร "อปร.", การจัดทำเข็มกลัดที่ระลึกเนื่องในวันอานันทมหิดล เพื่อออกรับบริจาคโดยนิสิตแพทย์ เป็นรายได้สมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดลและช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้, การจัดการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการชีววิทยาและวิทยาศาสตร์การแพทย์ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, การจัดงานเสวนาเนื่องสัปดาห์วันอานันทมหิดล และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อื่น ๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล[65]

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางวิชาการและการบริการทางการแพทย์ให้ดีที่สุดเพื่อสุขภาพของผู้ป่วยทุกประเภท[66]

Remove ads

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและสถาบันร่วมผลิตแพทย์

สรุป
มุมมอง

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ริเริ่มจัด โครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท (Medical Education for Students in Rural Area Project–MESRAP) เป็นครั้งแรกของประเทศเมื่อ พ.ศ. 2521[67] เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาทางด้านแพทยศาสตร์ไปสู่ชนบทเป็นครั้งแรก และเป็นแม่แบบของ โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (Collaborative Project to Increase Production of Rural Doctor–CPIRD) ของกระทรวงสาธารณสุขในเวลาต่อมา โดยคณะได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข จัดการเรียนการสอนชั้นคลินิกที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรีและโรงพยาบาลชลบุรี นอกจากนี้ยังได้ริเริ่ม โครงการการศึกษาแพทย์แนวใหม่เป็นแห่งแรกของประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2531 โดยเป็นโครงการร่วมระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกองทัพอากาศดำเนินการรับนิสิตที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสายวิทยาศาสตร์ มาศึกษาต่อในสาขาแพทยศาสตร์เป็นเวลา 5 ปี โดยใช้โรงพยาบาลภูมิพลอดุลเดชเป็นสถานที่เรียนชั้นคลินิก และยุติโครงการไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ในปี พ.ศ. 2556 ทางโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ได้เปิดโครงการร่วม "แพทย์จุฬาฯ–ทหารอากาศ" โดยศึกษาชั้นปีที่ 1–3 ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และศึกษาชั้นปีที่ 4–6 ที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช

ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงการผลิตแพทย์ต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีโครงการที่ยังคงดำเนินการอยู่ ได้แก่ โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 โครงการทุนกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (One Doctor One District project–ODOD) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 และโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐด้านสาธารณสุข (Mega project) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549–พ.ศ. 2550 โดยนิสิตในทุกโครงการจะศึกษาในชั้นปีที่ 1–3 (พรีคลินิก) ที่คณะแพทยศาสตร์และคณะอื่น ๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นจึงไปศึกษาต่อระดับชั้นคลินิกในโรงพยาบาลที่ให้ความร่วมมือในโครงการผลิตแพทย์ต่าง ๆ ดังนี้

ข้อมูลเพิ่มเติม โรงพยาบาลหลัก, ที่ตั้ง ...
Remove ads

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

Loading related searches...

Wikiwand - on

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Remove ads