Loading AI tools
ผู้ก่อตั้งและศาสดาพยากรณ์ของศาสนาอิสลาม จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มุฮัมมัด[2][a] (อาหรับ: مُحَمَّد, อักษรโรมัน: Muḥammad; ป. ค.ศ. 570 – 8 มิถุนายน ค.ศ. 632)[b] เป็นผู้นำทางศาสนา สังคม และการเมืองชาวอาหรับ และผู้ก่อตั้งศาสนาอิสลาม[c] หลักคำสอนอิสลามระบุว่าท่านเป็นศาสดาที่ได้รับพระวจนะเพื่อสั่งสอนและยืนยันความเป็นเอกภาพที่ถูกสอนมาตั้งแต่อาดัม, อิบรอฮีม, มูซา, อีซา และนบีท่านอื่น[3][4][5] เชื่อกันว่าท่านเป็นคอตะมุนนะบียีน โดยมีอัลกุรอานและหลักคำสอนกับหลักปฏิบัติเป็นรากฐานในความเชื่อของศาสนาอิสลาม
มุฮัมมัด | |
---|---|
مُحَمَّد | |
"มุฮัมมัด ศาสนทูตของอัลลอฮ์" ภาพถ่ายที่ประตูมัสยิดอันนะบะวีในเมืองมะดีนะฮ์ | |
ชื่ออื่น |
|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | ป. ค.ศ. 570 (53 ปีก่อน ฮ.ศ.)[1] มักกะฮ์ ฮิญาซ อาระเบีย |
เสียชีวิต | 8 มิถุนายน ค.ศ. 632 (ฮ.ศ. 11; 61–62 ปี) มะดีนะฮ์ ฮิญาซ อาระเบีย |
ที่ฝังศพ | โดมเขียวที่มัสยิดอันนะบะวี มะดีนะฮ์ อาระเบีย 24°28′03″N 39°36′41″E |
คู่สมรส | ดู ภรรยาของมุฮัมมัด |
บุตร | ดู ลูกของมุฮัมมัด |
บุพการี |
|
รู้จักจาก | ผู้ก่อตั้งศาสนาอิสลาม |
ชื่ออื่น |
|
ญาติ |
มุฮัมมัดถือกำเนิดที่มักกะฮ์เมื่อประมาณ ค.ศ. 570[1] โดยเป็นบุตรของอับดุลลอฮ์ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบกับอามินะฮ์ บินต์ วะฮบ์ อับดุลลอฮ์ บิดาผู้เป็นบุตรของอับดุลมุฏฏอลิบ หัวหน้าเผ่ากุร็อยช์ เสียชีวิตไม่กี่เดือนก่อนที่มุฮัมมัดถือกำเนิด ส่วนอามินะฮ์เสียชีวิตตอนท่านอายุ 6 ขวบ ทำให้ท่านกลายเป็นเด็กกำพร้า[6] ท่าได้รับเลี้ยงจากอับดุลมุฏฏอลิบ ปู่ของท่าน และอะบูฏอลิบ ลุงฝ่ายพ่อ[7] ในช่วงปีหลัง ๆ ท่านเก็บตัวอยู่ในถ้ำบนภูเขาฮิรออ์เป็นเวลาหลายคืน จนกระทั่งเมื่อประมาณ ค.ศ. 610 ตอนอายุ 40 ปี มีรายงานว่าท่านพบกับทูตสวรรค์ญิบรีลในถ้ำ[1] และได้รับโองการแรกจากพระเจ้า ต่อมาใน ค.ศ. 613[8] มุฮัมมัดจึงเริ่มเผยแผ่คำสอนอย่างเปิดเผย[9] โดยประกาศว่า "พระเจ้ามีเพียงองค์เดียว" และ "การจำนน" (อิสลาม) ต่อพระเจ้า (อัลลอฮ์) อย่างสมบูรณ์คือวิถีชีวิตที่ถูกต้อง (ดีน)[10] และท่านเป็นศาสดาและศาสนทูตของอัลลอฮ์คล้ายกับนบีในศาสนาอิสลามท่านอื่น ๆ[4][11][12]
ในช่วงแรก ผู้ติดตามของมุฮัมมัดมีจำนวนน้อย และประสบกับการกดขี่จากชาวมักกะฮ์ที่นับถือพระเจ้าหลายองค์เป็นเวลา 13 ปี เพื่อหลีกเลี่ยงการกดขี่ที่ยังคงมีอยู่ ท่านจึงส่งผู้ติดตามบางส่วนไปยังอะบิสซิเนียใน ค.ศ. 615 ก่อนที่ท่านกับผู้ติดตามอพยพจากมักกะฮ์ไปยังมะดีนะฮ์ (ในเวลานั้นมีชื่อว่า ยัษริบ) ใน ค.ศ. 622 เหตุการณ์นี้ (ฮิจเราะห์) ถือเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิทินอิสลาม ซึ่งมีอีกชื่อว่า ปฏิทินฮิจเราะห์ ในมะดีนะฮ์ มุฮัมมัดรวมชนเผ่าต่าง ๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญมะดีนะฮ์ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 629 หลังสู้รบกับชนเผ่ามักกะฮ์เป็นระยะ ๆ ถึง 8 ปี มุฮัมมัดจึงรวบรวมกองทัพที่มีมุสลิม 10,000 คนและเดินทัพไปมักกะฮ์ การพิชิตครั้งนี้ส่วนใหญ่ไม่มีผู้โต้แย้ง และมุฮัมมัดก็ยึดเมืองนี้ได้โดยมีการนองเลือดเพียงเล็กน้อย ท้ายที่สุดใน ค.ศ. 632 หลังกลับจากฮัจญ์อำลาเพียงไม่กี่เดือน ท่านจึงล้มป่วยและเสียชีวิต ในช่วงที่เสียชีวิตนั้น ผู้คนในคาบสมุทรอาหรับส่วนใหญ่หันมาเข้ารับอิสลามแล้ว[13][14]
วิวรณ์ (อายะฮ์) ที่มุฮัมมัดได้รับจนกระทั่งเสียชีวิตได้รับการรวมรวมเป็นโองการจากอัลกุรอาน ซึ่งมุสลิมถือว่าเป็น "พระดำรัสของพระเจ้า" แบบคำต่อคำ นอกจากอัลกุรอานแล้ว หลักคำสอนและหลักปฏิบัติของมุฮัมมัด (ซุนนะฮ์) ที่พบในสายรายงาน (ฮะดีษ) และในชีวประวัติ (ซีเราะฮ์) ยังยึดถือและใช้เป็นแหล่งที่มาของกฎหมายอิสลาม
อัลกุรอานเป็นคัมภีร์หลักของศาสนาอิสลาม มุสลิมเชื่อว่าเป็นพระดำรัสของพระเจ้าที่เปิดเผยผ่านทูตสวรรค์ญิบรีลแก่มุฮัมมัด[15][16][17] โดยหลักอัลกุรอานระบุถึง "ศาสนทูตของอัลลอฮ์" ที่สื่อถึงมุฮัมมัดในหลายโองการ โองการอัลกุรอานยังระบุถึงการตั้งถิ่นฐานของผู้ติดตามในยัษริบหลังจากที่ถูกพวกกุร็อยช์ขับไล่ และกล่าวถึงการเผชิญหน้าทางทหารเพียงสั้น ๆ เช่น ชัยชนะของมุสลิมที่บัดร์[18]
อย่างไรก็ตาม อัลกุรอานให้ข้อมูลสำหรับชีวประวัติตามลำดับเวลาของมุฮัมมัดเพียงเล็กน้อย โองการอัลกุรอานส่วนใหญ่ไม่ได้ให้บริบทและลำดับเวลาทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ[19][20] ผู้ติดตามของมุฮัมมัดแทบไม่ปรากฏด้วยชื่อในอัลกุรอาน ทำให้อัลกุรอานไม่ให้ข้อมูลเพียงพอสำหรับประวัติโดยย่อ[18] อัลกุรอานถือว่ามีอายุร่วมสมัยกับมุฮัมมัด และเอกสารตัวเขียนเบอร์มิงแฮมได้รับการหาอายุจากคาร์บอนว่าอยู่ในช่วงชีวิตของท่าน การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นการปัดตกทฤษฎีลัทธิแก้ (revisionist theories) เกี่ยวกับต้นกำเนิดอัลกุรอานของฝั่งตะวันตก[21][22]
ข้อมูลสำคัญที่สุดเกี่ยวกับชีวิตของมฺุฮัมมัดอาจพบในผลงานประวัติศาสตร์โดยนักเขียนช่วงฮิจเราะห์ศตวรรษที่ 2 ถึง 3 (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 8 ถึง 9)[23] ข้อมูลเหล่านี้รวมชีวประวัติมุฮัมมัดแบบดั้งเดิมของมุสลิม ซึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชีวิตของท่าน[24]
ซีเราะฮ์ (ชีวประวัติของมุฮัมมัดและคำพูดที่ระบุว่ามาจากท่าน) รูปเขียนแรกสุดคือ ชีวิตศาสนทูตของอัลลอฮ์ ของอิบน์ อิสฮาก เขียนประมาณ ค.ศ. 767 (ฮ.ศ. 150) แม้ว่าผลงานต้นฉบับสูญหาย ซีเราะฮ์นี้ยังคงหลงเหลือเป็นข้อความที่ตัดตอนมาอย่างกว้างขวางในผลงานของอิบน์ ฮิชาม และของอัฏเฏาะบะรี[25][26] อย่างไรก็ตาม อิบน์ ฮิชามเขียนคำนำในชีวประวัติมุฮัมมัดของตนเองว่า เขาได้ละเว้นเรื่องราวจากชีวประวัติของอิบน์ อิสฮากที่ "จะทำให้บางคนไม่สบายใจ"[27] ข้อมูลประวัติศาสตร์ยุคแรกอีกอันคือประวัติการทัพของมุฮัมมัดโดยอัลวากิดี (เสียชีวิตใน ฮ.ศ. 207) และผลงานของอิบน์ ซะอด์ อัลบัฆดาดี (เสียชีวิตใน ฮ.ศ. 230) เลขานุการของอัลวากิดี[23]
นักวิชาการหลายคนยอมรับว่าชีวประวัติในยุคแรกเหล่านี้เป็นเรื่องจริง แม้ว่าอาจไม่ยืนยันความถูกต้องแม่นยำได้ก็ตาม[25] การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ทำให้นักวิชาการแยกแยะระหว่างธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมาย และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ล้วน ๆ โดยในกลุ่มกฎหมายอาจมีการประดิษฐ์ธรรมเนียมขึ้น ในขณะที่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ อาจอยู่ภายใต้ "การกำหนดรูปแบบแนวโน้ม" เท่านั้น นอกเหนือจากกรณีพิเศษ[28]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
คาบสมุทรอาหรับส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แห้งแล้งที่อุดมไปด้วยดินภูเขาไฟ ทำให้เกษตรกรรมทำได้ยาก เว้นแต่บริเวณใกล้กับโอเอซิสหรือน้ำพุ เมืองและนครตั้งกระจัดกระจายทั่วภูมิภาค โดยเมืองที่มีความสำคัญที่สุดสองแห่งคือมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ โดยมะดีนะฮ์เป็นที่ตั้งถิ่นฐานทางการเกษตรขนาดใหญ่ที่เจริญรุ่งเรือง ส่วนมักกะฮ์เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญสำหรับชนเผ่าหลายกลุ่มโดยรอบ[29] ในทะเลทราย ชีวิตสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอยู่รอด ชนเผ่าพื้นเมืองพึ่งพาซึ่งกันและกัน เพื่ออดทนต่อสภาวะและวิถีชีวิตที่ท้าทาย ความผูกพันของชนเผ่ามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสามัคคีในสังคม ไม่ว่าจะผ่านความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือพันธมิตร [30] ชาวอาหรับพื้นเมืองอาจเป็นทั้งชนร่อนเร่หรือตั้งถิ่นฐาน กลุ่มชนร่อนเร่เดินทางแสวงหาน้ำและทุ่งหญ้าสำหรับฝูงแกะอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ที่อยู่ประจำที่เข้าตั้งถิ่นฐานและเน้นการค้าขายและการเกษตร การอยู่รอดของชนร่อนเร่ยังขึ้นอยู่กับการจู่โจมกองคาราวานหรือโอเอซิส ซึ่งคนร่อนเร่ไม่ได้มองว่าเป็นอาชญากรรม[31]
ในอาระเบียก่อนอิสลาม เทพหรือเทพีถูกมองเป็นผู้พิทักษ์ชนเผ่าจำเพาะ ดวงวิญญาณของเทพมีความเกี่ยวโยงกับต้นไม้ หิน น้ำพุ และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วิหารกะอ์บะฮ์ในมักกะฮ์ นอกจากจะเป็นที่แสวงบุญทุกปีแล้ว ยังเป็นที่ตั้งเทวรูป 360 องค์ที่เป็นเทพผู้อุปถัมภ์ชนเผ่า เทพีที่ได้รับการบูชามี 3 องค์ ในบางพื้นที่จัดให้เป็นพระธิดาในอัลลอฮ์ คือ: อัลลาต มะนาต และอัลอุซซา ชุมชนเอกเทวนิยมมีอยู่ในอาระเบีย เช่น ชาวคริสต์และชาวยิว[d] บางครั้งมีการจัดให้กลุ่มฮะนีฟ ชาวอาหรับพื้นเมืองก่อนอิสลามที่ "นับถือพระเจ้าองค์เดียวที่เข้มงวด"[32] ร่วมกับชาวยิวและคริสต์ในอาระเบียก่อนอิสลาม แม้ว่านักวิชาการหลายคนโต้แย้งในด้านหลักฐานทางประวัติศาสตร์[33][34] ธรรมเนียมมุสลิมระบุว่า ตัวมุฮัมมัดเองเป็นฮะนีฟ และเป็นหนึ่งในลูกหลานของอิสมาอีล บุตรของอิบรอฮีม[35][36]
ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 6 เป็นช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วนทางการเมืองในอาระเบีย และเส้นทางการคมนาคมไม่ปลอดภัยอีกต่อไป[37] การแบ่งแยกศาสนาเป็นสาเหตุหลักของวิกฤตินี้[38] โดยศาสนายูดาห์กลายเป็นศาสนาหลักในเยเมน ส่วนศาสนาคริสต์เข้าตั้งถิ่นฐานในพื้นที่อ่าวเปอร์เซีย[38] ภูมิภาคนี้พบเห็นผู้ที่ปฏิบัติตามพหุเทวนิยมลดลง และมีความสนใจรูปแบบศาสนาทางจิตวิญญาณเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าหลายคนไม่เต็มใจที่จะเปลี่ยนมานับถือศาสนาต่างชาติ แต่ความเชื่อเหล่านั้นก็ให้ข้อมูลอ้างอิงทางปัญญาและจิตวิญญาณ[38]
ในช่วงต้นปีของมุฮัมมัด เผ่ากุร็อยช์ที่ท่านอยู่กลายเป็นชนเผ่าที่มีอำนาจในอาระเบียตะวันตก[39]
มุฮัมมัด อิบน์ อับดุลลอฮ์ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบ อิบน์ ฮาชิม[40]เกิดที่มักกะฮ์[41]เมื่อประมาณ ค.ศ. 570[1] และเชื่อกันว่าวันเกิดอยู่ในเดือนเราะบีอุลเอาวัล[42] ท่านอยู่ในตระกูลบะนูฮาชิม ซึ่งเป็นหนึ่งในตระกูลที่มีความโดดเด่นอีกตระกูลหนึ่งจากเผ่ากุร็อยช์ในเมืองนี้ แม้ว่าตระกูลนี้จะดูขาดความมั่งคั่งในช่วงปีแรก ๆ[12][e] ชื่อมุฮัมมัดหมายถึง "ได้รับการสรรเสริญ" ในภาษาอาหรับและปรากฏในอัลกุรอาน 4 ครั้ง[43] ในวัยหนุ่มเป็นที่รู้จักกันในนาม อัลอะมีน (แปลว่า น่าเชื่อถือ) อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์มีความเห็นต่างกันว่า ชื่อนี้ตั้งขึ้นเพื่อสะท้อนถึงนิสัยของท่าน[44] หรือเป็นเพีัยงชื่อตัวจากพ่อแม่ นั่นคือ รูปเพศชายของชื่อแม่ของท่าน ("อามินะฮ์")[45] มุฮัมมัดได้รับกุนยะฮ์ อะบูกอซิม หลังการถือกำเนิดของกอซิม ลูกชายที่เสียชีวิตเมื่อสองปีให้หลัง[46]
ธรรมเนียมอิสลามระบุว่าปีเกิดของมุฮัมมัดตรงกับช่วงที่อับเราะฮะฮ์ กษัตริย์เยเมนที่ประสบความล้มเหลวในการยึดครองมักกะฮ์[47] อย่างไรก็ตาม การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ท้าทายแนวคิดนี้ เนื่องจากมีหลักฐานอื่นๆ ชี้ให้เห็นว่า หากเกิดขึ้นจริง เหตุการณ์นี้คงจะเกิดขึ้นเป็นนัยยะสำคัญก่อนที่มุฮัมมัดจะถือกำเนิด[1][48][49][50][51][45] นักวิชาการมุสลิมยุคหลังสันนิษฐานว่าเชื่อมโยงชื่ออันโด่งดังของอับเราะฮะฮ์กับเรื่องเล่าการกำเนิดของมุฮัมมัดเพื่ออธิบายข้อความที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับ "พวกเจ้าของช้าง" ในคัมภีร์อัลกุรอาน 105:1–5[48][52] The Oxford Handbook of Late Antiquity จัดให้เรื่องราวการทัพด้วยช้างศึกของอับเราะฮะฮ์เป็นเรื่องปรัมปรา[49]
อับดุลลอฮ์ พ่อของมุฮัมมัด เสียชีวิตก่อนที่ท่านเกิดเกือบ 6 เดือน[53] ตามธรรมเนียมอาหรับในสมัยนั้นระบุว่า หลังจากถือกำเนิดแล้ว ท่านถูกส่งไปอยู่กับครอบครัวเบดูอินในทะเลทราย แต่นักวิชาการตะวันตกบางคนปฏิเสธประวัติธรรมเนียมนี้[54] มุฮัมมัดอาศัยอยู่กับแม่เลี้ยงฮะลีมะฮ์ บินต์ อะบีษุอัยบ์ กับสามีของเธอจนกระทั่งท่านอายุ 2 ขวบ ตอนอายุ 6 ขวบ อะมีนะฮ์ บินต์ วะฮับ แม่ของมุฮัมมัด ป่วยแล้วเสียชีวิต และทำให้ท่านกลายเป็นเด็กกำพร้า[54][55] จนกระทั่งอายุ 8 ขวบ มุฮัมมัดได้อยู่ในความคุ้มครองของอับดุลมุฏฏอลิบ ผู้นำเผ่าบนูฮาชิม ผู้เป็นปู่ของท่าน จนกระทั่งเขาเสียชีวิต แล้วจึงอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของอบูฏอลิบ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบ ลุงของท่าน ผู้เป็นผู้นำคนใหม่ของบะนูฮาชิม[7]
ธรรมเนียมอิสลามระบุว่า เมื่อมุฮัมมัดอายุ 9 หรือ 12 ขวบ เข้าร่วมกองคาราวานมักกะฮ์ที่เดินทางไปซีเรีย ท่านพบกับบาทหลวงคริสต์นามบะฮีรอที่กล่าวว่ามองเห็นอาชีพในอนาคตของมุฮัมมัดในฐานะศาสทูตของพระเจ้า[56] ในช่วงวัยรุ่น ท่านได้ช่วยลุงไปค้าขายที่แผ่นดินชาม หรือบริเวณประเทศซีเรียในปัจจุบัน เพื่อเก็บประสบการณ์ทางการค้า[57]
ข้อมูลเกี่ยวกับช่วงวัยรุ่นของท่านมีน้อย เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่กระจัดกระจาย ทำให้เป็นการยากที่จะแยกประวัติศาสตร์ออกจากตำนาน[57] มีรายงานว่าท่านกลายเป็นพ่อค้าและ "มีส่วนในการค้าขายระหว่างมหาสมุทรอินเดียถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน"[58] ชื่อเสียงของท่านทำให้มีข้อเสนอจากเคาะดีญะฮ์ เศรษฐินีที่ประสบความสำเร็จใน ค.ศ. 595 ภายหลังมุฮัมมัดก็ได้แต่งงานกับนาง ซึ่งทุกสายรายงานบอกว่าเป็นการแต่งงานที่มีความสุข[58]
ใน ค.ศ. 605 ตามรายงานที่อิบน์ อิสฮากรวบรวมไว้ เมื่อถึงช่วงที่มีการตั้งหินดำใหม่ มีการโต้เถียงกันว่าตระกูลใดควรได้รับสิทธิพิเศษนี้ ทำให้มีการตัดสินว่าบุคคลแรกที่เข้ามาในลานกะอ์บะฮ์จะเป็นผู้ชี้ขาด และผู้ที่มาคนแรกคือมุฮัมมัด ท่านจึงขอผ้าคลุมแล้วยกหินตั้งบนนั้น แล้วให้ผู้นำตระกูลต่าง ๆ จับผ้าผืนนั้นพร้อมกัน และท่านจะเป็นคนนำหินตั้งเอง[60][61]
มุฮัมมัดเริ่มอธิษฐานคนเดียวในถ้ำฮิรออ์บนเขาญะบะลุนนูรใกล้มักกะฮ์เป็นเวลาหลายสัปดาห์ของทุกปี[62][63] ในธรรมเนียมอิสลามระบุว่า ใน ค.ศ. 610 เมื่อท่านมีอายุ 40 ปี ทูตสวรรค์ญิบรีลปรากฏตัวต่อหน้าท่าน และสั่งให้มุฮัมมัดอ่าน เมื่อมุฮัมมัดสารภาพว่าตนไม่รู้หนังสือ ญิบรีลจึงเข้าบีบรัดอย่างแรง ทำให้ท่านแทบจะหายใจไม่ออก และออกคำสั่งซ้ำ ขณะที่มุฮัมมัดย้ำว่าตนอ่านหนังสือไม่ออก ญิบรีลจึงบีบรัดอีกครั้งในลักษณะเดียวกัน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกครั้งก่อนที่ญิบรีลอ่านโองการเหล่านี้ในที่สุด ทำให้มุฮัมมัดสามารถจดจำได้[64][65][66] โองการเหล่านี้ภายหลังจัดให้อยู่ในอัลกุรอาน ซูเราะฮ์ที่ 96:1-5[67]
ประสบการณ์นี้ทำให้มุฮัมมัดรู้สึกหวาดกลัว แต่ก็รู้สึกอุ่นใจกับเคาะดีญะฮ์ ภรรยาของท่าน และวะเราะเกาะฮ์ อิบน์ เนาฟัล ลูกพี่ลูกน้องที่นับถือศาสนาคริสต์ของเธอ ในทันที[68]
กิริยาท่าทางของมุฮัมมัดในช่วงที่มีการดลใจเป็นถี่ ๆ นำไปสู่การกล่าวหาจากคนร่วมสมัยว่า ท่านอยู่ภายใต้อิทธิพลของญิน ผู้ทำนาย หรือนักมายากล โดยเสนอว่าประสบการณ์ของท่านในระหว่างเหตุการณ์เหล่านี้มีความคล้ายคลึงกับประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในอาระเบียโบราณ กระนั้น เหตุการณ์ครอบงำอันลึกลับเหล่านี้อาจเป็นหลักฐานโน้มน้าวใจสำหรับผู้ติดตามของท่านในเรื่องต้นกำเนิดอันศักดิ์สิทธิ์ของการเปิดเผยโองการ นักประวัติศาสตร์บางคนตั้งข้อสังเกตว่าคำอธิบายภาพอาการของมุฮัมมัดในกรณีเหล่านี้น่าจะเป็นเรื่องจริง เนื่องจากไม่น่าจะเป็นไปได้ที่มุสลิมรุ่นหลังจะประดิษฐ์เรื่องนี้ขึ้นได้[69][70]
หลังวะเราะเกาะฮ์เสียชีวิตไม่นาน การประทานวะฮ์ยูนั้นหยุดไปช่วงหนึ่ง ทำให้มุฮัมมัดรู้สึกทุกข์ใจอย่างมากและคิดฆ่าตัวตาย[66][f] ในช่วงหนึ่ง มีรายงานว่าท่านปีนขึ้นเขาเพื่อตั้งใจที่จะกระโดดลงไป อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงยอดเขา ญิบรีลปรากฏต่อท่านเพื่อยืนยันสถานะศาสนทูตของอัลลอฮ์อย่างแท้จริง การเผชิญหน้าครั้งนี้ทำให้มุฮัมมัดสงบลง และก็กลับบ้าน ต่อมาเมื่อมีการเว้นช่วงระหว่างการประทานโองการเป็นเวลานานอีก ท่านก็ทำเช่นนี้อีก แต่ญิบรีลก็เข้ามาแทรกแซงในทำนองเดียวกัน ทำให้ท่านสงบลงและกลับบ้าน[71][72]
มุฮัมมัดมั่นใจว่าสามารถแยกแยะความคิดของตนเองจากข้อความเหล่านี้ได้[73] การเปิดเผยอัลกุรอานในยุคแรกใช้วิธีการเตือนผู้ไม่ศรัทธาด้วยการลงโทษจากสวรรค์ ขณะเดียวกันก็สัญญาว่าจะให้รางวัลแก่ผู้ศรัทธา พวกเขาถ่ายทอดผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ความอดอยากและการสังหารผู้ที่ปฏิเสธพระเจ้าของมุฮัมมัด และพาดพิงถึงภัยพิบัติทั้งในอดีตและอนาคต โองการในคัมภีร์ยังเน้นย้ำถึงการพิพากษาครั้งสุดท้ายที่ใกล้จะมาถึง และภัยคุกคามจากไฟนรกสำหรับผู้คลางแคลงใจ[74] ธรรมเนียมมุสลิมระบุว่า เคาะดีญะฮ์ ภรรยาของท่าน เป็นบุคคลแรกที่เชื่อว่าท่านเป็นศาสดา[75] ตามมาด้วยอะลี อิบน์ อะบี ฏอลิบ ลูกพี่ลูกน้องอายุ 10 ขวบของท่าน อะบูบักร์ เพื่อนใกล้ชิด และซัยด์ บุตรบุญธรรม[75]
มุฮัมมัดเริ่มเผยแผ่คำสอนแก่สาธารณชนเมื่อประมาณ ค.ศ. 613[9][76] ในตอนแรก ท่านไม่ได้ประสบกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากพลเมืองมักกะฮ์ที่เฉยเมยต่อกิจกรรมเปลี่ยนศาสนาของท่าน แต่เมื่อท่านเริ่มโจมตีความเชื่อของพวกเขา ความตึงเครียดจึงเกิดขึ้น[77][78][79][80] เผ่ากุร็อยช์ท้าให้ท่านแสดงปาฏิหารย์ เช่น นำน้ำพุออกมา แต่ท่านปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าความสม่ำเสมอของธรรมชาติเป็นข้อพิสูจน์ถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่เพียงพอแล้ว บางคนเยาะเย้ยต่อความล้มเหลวของท่านโดยสงสัยว่าทำไมพระเจ้าไม่ประทานทรัพย์สมบัติให้ท่านเสียที ในขณะที่อีกกลุ่มขอให้ท่านเดินทางไปสวรรค์และกลับมาพร้อมนำม้วนกระดาษอัลกุรอานที่จับต้องได้ แต่มุฮัมมัดยืนยันว่า อัลกุรอานในรูปแบบที่ท่านถ่ายทอดออกมานั้นเป็นข้อพิสูจน์ที่น่ามหัศจรรย์อยู่แล้ว[81][82]
อัมร์ อิบน์ อัลอาศรายงานว่า ชาวกุร็อยช์บางคนรวมตัวกันที่ฮิจญร์และปรึกษาว่าพวกเขาไม่เคยเจอปัญหาร้ายแรงอย่างที่พวกเขาพบกับมุฮัมมัดมาก่อน พวกเขากล่าวว่าท่านได้ดูหมิ่นวัฒนธรรม ดูหมิ่นบรรพบุรุษ ดูหมิ่นความศรัทธา ทำลายชุมชน และสาปแช่งเทพเจ้าของพวกเขา[83][84][85]
พวกกุร็อยช์จึงพยายามหลอกล่อให้มุฮัมมัดหยุดสอนศาสนาด้วยการให้ท่านเข้าสู่วงในของพ่อค้า ตลอดจนการแต่งงานที่ได้เปรียบ แต่ท่านปฏิเสธทั้งสองข้อเสนอ[86]
ขณะที่มุสลิมกลุ่มหนึ่งทำการละหมาดในหุบเหว ชาวกุร็อยช์บางคนวิ่งไปหาาและกล่าวหาพวกเขาในสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ ซะอด์ อิบน์ อะบี วักกอศ บุคคลหนึ่งในมุสลิมกลุ่มนั้น จึงถือกระดูกขากรรไกรอูฐไปตีชาวกุเรชจนทำให้หัวแตก ถือเป็นการนองเลือดครั้งแรกในศาสนาอิสลาม[87][88]
นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่หลายคนกล่าวถึงการกดขี่ในช่วงแรกโดยชาวมักกะฮ์ว่า "ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง"[89][90][91] ซึ่งถูกจำกัดโดยระบบเผ่าที่เป็นหลักประกันความปลอดภัยภายในมักกะฮ์[89] เพื่อให้แน่ใจว่าความรุนแรงระหว่างกลุ่มจะถือเป็นการโจมตีเพื่อเกียรติยศของคนทั้งกลุ่ม ภัยคุกคามของการดำเนินการตอบโต้สามารถป้องกันกรณีความรุนแรงที่ร้ายแรงต่อผู้อ้างว่าเป็นมุสลิมได้เป็นส่วนใหญ่ที่กลับตกอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการดูหมิ่นทางวาจาเป็นหลัก[89][90][92] กรณีความรุนแรงทางร่างกายต่อชาวมุสลิมที่โดดเด่นที่สุดในช่วงเวลานี้คือความรุนแรงต่อทาส โดยเฉพาะต่อบิลาล อิบน์ เราะบาห์กับอามิร อิบน์ ฟุฮัยเราะฮ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจากตระกูล[89] อัลกุรอานไม่ได้กล่าวถึงการกดขี่นี้ โดยเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งนี้พบในซีเราะฮ์[93]
ใน ค.ศ. 615 ด้วยความกลัวว่าผู้ติดตามของท่านจะถูกล่อลวงออกจากศาสนาของพวกเขา[94] มุฮัมมัดจึงส่งบางส่วนอพยพไปที่อาณาจักรอักซุมของอะบิสซีเนียและจัดตั้งอาณานิคมขนาดเล็กภายใต้การคุ้มครองของอันนะญาชี จักรพรรดิเอธิโอเปียที่นับถือศาสนาคริสต์[12] ในบรรดาผู้อพยพกลุ่มนั้นได้แก่อุมม์ฮะบีบะฮ์ ลูกสาวของอะบูซุฟยาน หนึ่งในหัวหน้าเผ่ากุร็อยช์ และสามีของเธอ[95] ฝ่ายกุร็อยช์จึงส่งตัวชายสองคนให้นำตัวพวกเขากลับมา เนื่องจากงานเครื่องหนังในอะบิสซีเนียสมัยนั้นมีราคาแพงมาก พวกเขาจึงรวบรวมผืนหนังจำนวนมากและขนส่งไปที่นั่นเพื่อแจกจ่ายให้กับนายพลของอาณาจักรแต่ละแห่ง แต่กษัตริย์ทรงปฏิเสธคำร้องขอของพวกเขาอย่างเหนียวแน่น[96]
ในขณะที่อัฏเฏาะบะรีกับอิบน์ ฮิชามกล่าวถึงการอพยพไปอะบิสซีเนียเพียงครั้งเดียว อิบน์ ซะอด์ระบุว่ามีการอพยพถึงสองชุด โดยในสองชุดนั้น ประชากรกลุ่มแรกส่วนใหญ่เดินทางกลับมักกะฮ์ก่อนเหตุการณฺฮิจเราะห์ ส่วนประชากรส่วนใหญ่ในกลุ่มที่สองยังคงอยู่ที่อะบิสซีเนียและเดินทางไปยังมะดีนะฮ์หลังเหตุการณ์ฮิจเราะห์ บันทึกเหล่านี้ยอมรับว่าการกดขี่มีบทบาทสำคัญต่อการที่มุฮัมมัดส่งพวกเขาไปที่นั่น ในจดหมายของอุรวะฮ์ที่อัฏเฏาะบะรีรักษาไว้ระบุว่า ผู้ที่อพยพเดินทางกลับมาหลังการเข้ารับอิสลามของบุคคลที่มีตำแหน่งหลายคน เช่น อุมัรกับฮัมซะฮ์[97]
ใน ค.ศ. 616 มีการจัดทำข้อตกลงโดยตระกูลอื่น ๆ ในเผ่ากุร็อยช์ทั้งหมดที่บังคับใช้การคว่ำบาตรต่อบะนูฮาชิม ห้ามค้าขายและแต่งงานกับพวกเขา[98] ถึงกระนั้น สมาชิกบะนูฮาชิมยังคงสามารถเดินทางรอบตัวเมืองได้อย่างมีอิสระ แม้ว่ามุฮัมมัดเผชิญกับการดูหมิ่นทางวาจามากขึ้น ท่านยังคงเดินทางและมีส่วนในการโต้วาทีในที่สาธารณะโดยไม่ถูกทำร้ายทางร่างกาย[92] ในช่วงหลัง ฝ่ายกุร็อยช์จำนวนหนึ่งที่เห็นอกเห็นใจต่อบะนูฮาชิมริเริ่มความพยายามยุติการคว่ำบาตร ส่งผลให้เกิดฉันทามติทั่วไปให้ยกเลิกการคว่ำบาตรใน ค.ศ. 619[99][97]
ใน ค.ศ. 619 มุฮัมมัดประสบกับช่วงแห่งความโศกเศร้า เนื่องจากเคาะดีญะฮ์ ภรรยาผู้สนับสนุนทางการเงินและอารมณ์ที่สำคัญของท่าน เสียชีวิต[100] และอะบูฏอลิบ ลุงและผู้พิทักษ์ของท่าน ก็เสียชีวิตในปีเดียวกัน[101][102] แม้ว่ามุฮัมมัดเรียกร้องให้อะบูฏอลิบเข้ารับอิสลามตอนที่เขาอยู่บนเตียงนอนขณะกำลังจะเสียชีวิต แต่เขาก็ยึดติดกับความเชื่อพหุเทวนิยมจนกระทั่งเสียชีวิต[103][102] อะบูละฮับ ลุงของมุฮัมมัดอีกคนที่ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าตระกูลบะนูฮาชิมต่อ ในตอนแรกเต็มใจที่จะปกป้องมุฮัมมัด แต่หลังได้ยินจากมุฮัมมัดว่าอะบูฏอลิบกับอับดุลมุฏฏอลิบจะต้องตกนรกเนื่องจากไม่ยอมรับอิสลาม เขาจึงถอนการสนับสนุน[103][104]
จากนั้นมุฮัมมัดจึงเดินทางไปยังอัฏฏออิฟเพื่อพยายามก่อร่างตนเองในเมืองและได้รับความช่วยเหลือกับการคุ้มครองจากชาวมักกะฮ์[105][97][106] แต่กลับมีเสียงตอบมาว่า: "ถ้าแกเป็นศาสดาจริง ๆ ทำไมต้องการความช่วยเหลือจากเราด้วย? ถ้าพระเจ้าส่งแกมาในฐานะศาสนทูต ทำไมพระองค์ไม่ปกป้องแก? และถ้าอัลลอฮ์ประสงค์ที่จะส่งศาสดาลงมา ทำไมพระองค์ไม่พบคนที่ดีไปกว่าแก ไอ้เด็กกำพร้าอ่อนแอไร้พ่อ?"[107] เมื่อพบว่าภารกิจของท่านล้มเหลว มุฮัมมัดจึงขอให้ผู้คนในอัฏฏออิฟเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ ด้วยความกลัวว่าสิ่งนี้จะเสริมสร้างความเป็นศัตรูของกุร็อยช์ต่อท่าน แต่ทว่า แทนที่จะตอบรับคำขอ พวกเขากลับขว้างก้อนหินใส่จนทำให้ขาของท่านบาดเจ็บ[108]
เมื่อมุฮัมมัดเดินทางกลับมักกะฮ์ ข่าวเหตุการณ์ในอัฏฏออิฟถึงหูของอะบูญะฮล์ และเขาตอบว่า "พวกเขาไม่ยอมให้มันเขาอัฏฏออิฟ ดังนั้นเราไม่ให้มันเข้ามักกะฮ์ด้วย" เมื่อรู้ถึสถานการณ์เช่นนีเ มุฮัมมัดจึงถามคนที่ขี่ม้าผ่านมาให้ส่งข้อความไปยังอัลอัคนัส อิบน์ ชุร็อยก์ สมาชิกทางฝั่งตระกูลแม่ เพื่อขอความคุ้มครองให้ท่านเข้าเมืองได้อย่างปลอดภัย แต่อัลอัคนัสปฏิเสธ โดยกล่าวว่าตนเป็นเพียงผู้เกี่ยวข้องกับเผ่ากุร็อยช์เท่านั้น จากนั้นมุฮัมมัดจึงส่งข้อความไปยังซุฮัยล์ อิบน์ อัมร์ที่ปฏิเสธตามหลักชนเผ่าเช่นเดียวกัน ท้ายที่สุด มุฮัมมัดจึงส่งคนไปถามมุฏอิม อิบน์ อะดี หัวหน้าตระกูลบะนูเนาฟัล มุฏอิมยอมรับ แล้วเตรียมตัวและขี่ออกไปตอนเช้าพร้อมบรรดาลูกและหลานชายเพื่อนำมุฮัมมัดเข้าเมือง เมื่ออะบูญะฮล์เห็นเขา เขาถามว่ามุฏอิมแค่ให้การคุ้มครองหรือหันไปเข้ารีตศาสนาของท่านแล้ว มุฏอิมกล่าวว่า "แค่ให้การคุ้มครองเขา" อะบูญะฮล์จึงตอนว่า "เราจะปกป้องใครก็ตามที่เจ้าคุ้มครอง"[109]
ในช่วงที่ตกต่ำของชีวิตมุฮัมมัดเป็นช่วงที่มีรายงานซีเราะฮ์เกี่ยวกับอิสรออ์กับเมียะอ์รอจญ์ ปัจจุบัน มุสลิมเชื่อว่าอิสรออ์คือการเดินทางของมุฮัมมัดจากมักกะฮ์ไปยังเยรูซาเลม ส่วนเมียะอ์รอจญ์คือการเดินทางจากเยรูซาเลมสู่ชั้นฟ้า[111] ไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับเมียะอ์รอจญ์ในอัลกุรอาน เนื่องจากอัลกุรอานไม่ได้กล่าวถึงสิ่งนี้โดยตรง[112]
มีการมอบหมายหน้าที่ในสภาของสิบสองชนเผ่าสำคัญแห่งมะดีนะฮ์ ได้เชิญชวนให้มุฮัมมัดเป็นหัวหน้าของสังคมทั้งหมด เพราะว่าท่านมีสถานะเป็นกลาง[113][114] โดยมีการต่อสู้ในมะดีนะฮ์ ข้อแรกคือความขัดแย้งระหว่างชาวอาหรับกับชาวยิวที่มีมานานกว่าร้อยปี[113]
มุฮัมมัดได้บอกให้ผู้ติดตามให้อพยพไปมะดีนะฮ์ทั้งหมด ตามรายงานธรรมเนียมอิสลามว่า พวกมักกะฮ์วางแผนลอบสังหารมุฮัมมัด แต่ด้วยความช่วยเหลือจากอะลี มุฮัมมัดจึงรอดจากการถูกฆ่า และหนีอออกไปจากเมืองกับอบูบักร์[115] ในปีค.ศ. 622 มุฮัมัมดได้อพยพไปยังมะดีนะฮ์ โดยใครที่อพยพมาจากมักกะฮ์จะถูกเรียกเป็น มุฮาญิรีน (ผู้อพยพ)
Julius Wellhausen นักบูรพาคดีในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ระบุว่า เมื่อมุฮัมมัดเดินทางถึงใน ค.ศ. 622 ชนเผ่ายิวเป็นพันธมิตรกับชนเผ่าอาหรับสองกลุ่มที่อยู่ในสังกัด อย่างไรก็ตาม Russ Rodgers นักประวัติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ปฏิเสธสิ่งนี้ เขาโต้แย้งว่าในช่วงการทำสัตยาบันอะเกาะบะฮ์ครั้งที่สองของมุฮัมมัด สมาชิกชนเผ่าอาหรับกล่าวว่าพวกตนต้องทำลายความเป็นพันธมิตรกับชาวยิวเนื่องจากลักษณะของคำมั่นสัญญา Rodgers อนุมานได้ว่าชนเผ่าอาหรับเป็นผู้ยอมจำนน หรืออย่างมากที่สุดก็มีตำแหน่งเท่าเทียมกับชาวยิว เพราะมิฉะนั้น ชาวยิวก็จะถูกดึงเข้าสู่พันธสัญญานี้[116]
หลังจากบรรยายเรื่องฮิจเราะห์แล้ว อิบน์ อิสฮากยืนยันว่ามุฮัมหมัดเขียนข้อความที่ปัจจุบันเรียกว่ารัฐธรรมนูญมะดีนะฮ์และเปิดเผยเนื้อหาที่สันนิษฐานไว้โดยไม่มีการระบุอิสนาด หรือหลักฐานใด ๆ มาสนับสนุน[117] โดยทั่วไปถือเป็นการตั้งชื่อที่ไม่ชัดเจน เนื่องจากข้อความนี้ไม่ได้กำหนดสถานะหรือบัญญัติกฎเกณฑ์อัลกุรอาน[118] แต่เป็นการกล่าวถึงเรื่องชนเผ่า[119] ในขณะที่นักวิชาการทั้งฝั่งตะวันตกและโลกมุสลิมยอมรับถึงความน่าเชื่อถือของข้อความ ยังคงมีข้อขัดแย้งว่าสิ่งนี้เป็นสนธิสัญญาหรือคำประกาศฝ่ายเดียวของมุฮัมมัด จำนวนเอกสารที่มีประกอบ ฝ่ายหลัก ระยะเวลาเฉพาะของการประดิษฐ์ (หรือส่วนของส่วนประกอบ) ไม่ว่าจะร่างไว้ก่อนหรือหลังมุฮัมมัดกำจัดชนเผ่ายิวชั้นนำสามกลุ่มในมะดีนะฮ์ และแนวทางในการแปลที่ถูกต้อง[117][120]
— กุรอาน (22:39–40)
หลังการอพยพ ชาวมักกะฮ์ได้ยึดทรัพย์สินของชาวมุสลิมที่อพยพไปยังมะดีนะฮ์[121] และสงครามได้เกิดขึ้นระหว่างชาวมักกะฮ์กับมุสลิม ศาสดาได้บอกโองการจากอัลกุรอานที่อนุญาตให้มุสลิมต่อสู้ได้ (ดูซูเราะฮ์อัลฮัจญ์ กุรอาน 22:39–40).[122]รายงานจากธรรมเนียมมุสลิม ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 624 ในขณะละหมาดที่มัสยิดอัลกิบละตัยน์ในมะดีนะฮ์ มุฮัมมัดได้รับโองการจากอัลลอฮ์ให้เปลี่ยนกิบลัตจากเยรูซาเลมไปยังมักกะฮ์[123]
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 624 มุฮัมมัดได้นำทหาร 300 นาย ไปโจมตีกองคาราวานของมักกะฮ์ โดยซุ่มอยู่ที่บัดร์[124] แต่เนื่องจากพวกมักกะฮ์รู้แผนก่อน จึงเลี่ยงเส้นทางนั้น และถึงที่หมายอย่างปลอดภัย ทำให้เกิดยุทธการที่บะดัรขึ้น[125] แม้ว่าพวกมักกะฮ์มีจำนวนมากกว่ามุสลิมอยู่ 3 ต่อ 1 แต่ฝ่ายมุสลิมก็ชนะสงคราม โดยชาวมักกะฮ์ถูกฆ่าไป 45 คน และฝ่ายมุสลิมถูกฆ่าไป 14 คน และได้ฆ่าหัวหน้าชาวมักกะฮ์คนสำคัญหลายคน เช่น อบูญะฮัล[126] มีการจับนักโทษ 70 คน โดยส่วนใหญ่ถูกไถ่แล้ว[127][128][129] มุฮัมมัดกับผู้ติดตามเห็นชัยชนะครั้งนี้เป็นการยืนยันความศรัทธา และท่านกล่าวว่าชัยชนะนี้เกิดจากกลุ่มเทวทูต อายะฮ์กุรอานในช่วงนั้นกล่าวถึงการจัดการปัญหาของรัฐบาลและปัญหาต่าง ๆ [130]
มุฮัมมัดได้สั่งเนรเทศเผ่าบนูกุร็อยเซาะฮ์ หนึ่งในสามชนเผ่ายิว ออกจากมะดีนะฮ์ แต่นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากท่านเสียชีวิตไปแล้ว[131] รายงานจากอัลวะกีดี หลังจากอับดุลลอฮ์ อิบน์ อุบัยด์พูดกับพวกเขา มุฮัมมัดละเว้นการประหารชีวิต และสั่งให้เนรเทศพวกเขาออกจากมะดีนะฮ์[132] หลังจากสงครามนี้ มุฮัมมัดได้สร้างพันธมิตรกับชนเผ่าเบดูอินหลายเผ่า เพื่อปกป้องสังคมของท่านจากการโจมตีในบริเวณตอนเหนือของฮิญาซ
ส่วนนี้ของบทความอาจต้องปรับปรุงให้มีมุมมองที่เป็นกลาง เนื่องจากนำเสนอมุมมองเพียงด้านเดียว ดูหน้าอภิปรายประกอบ โปรดอย่านำป้ายออกจนกว่าจะมีข้อสรุป |
ชาวมักกะฮ์ต้องการแก้แค้น เพื่อให้เศรษฐกิจกลับคืนมา พวกเขาต้องฟื้นฟูศักดิ์ศรีที่สูญเสียไปที่บะดัร[133] ไม่กี่เดือนต่อมา พวกมักกะฮ์ส่งหน่วยสอดแนมไปที่มะดีนะฮ์ ในขณะที่มุฮัมมัดเดินทางไปที่ชนเผ่าที่สวามิภักดิ์ต่อมักกะฮ์ และส่งหน่วยจู่โจมไปที่คาราวานมักกะฮ์[134] อบูซุฟยานได้เตรียมกองทัพ 3,000 คนไปโจมตีมะดีนะฮ์[135]
หน่วยสอดแนมได้แจ้งมุฮัมมัดถึงการมาและจำนวนทหารของฝ่ายมักกะฮ์ เช้าวันต่อมาได้มีการประชุมเกี่ยวกับสงคราม มุฮัมมัดกับผู้อาวุโสหลายคนมีมติว่าควรสู้ในมะดีนะฮ์ แต่ฝ่ายมุสลิมโต้แย้งว่าฝ่ายมักกะฮ์จะทำลายพืชผล และการสู้รบในเมืองอาจทำลายศักดิ์ศรีของมุสลิม มุฮัมมัดจึงยอมรับและเตรียมกองทัพไปสู้รบที่ภูเขาอุฮุด (ที่ตั้งของค่ายชาวมักกะฮ์) แล้วสู้รบในสงครามอุฮุด เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 625[136][137] ถึงแม้ว่าฝ่ายมุสลิมมีความได้เปรียบในช่วงแรก แต่ความหละหลวมต่อยุทธวิธีของพลธนูทำให้ฝ่ายมุสลิมพ่ายแพ้ โดยถูกฆ่าไป 75 คน ซึ่งรวมถึงฮัมซะฮ์ อิบน์ อับดุลมุฏฏอลิบ ลุงของมุฮัมมัด พวกมักกะฮ์ไม่ได้ไล่ตามพวกมุสลิม แต่ได้รวมพลกลับมักกะฮ์เพื่อประกาศชัยชนะ เพราะพวกเขาคิดว่ามุฮัมมัดบาดเจ็บและคงตายไปแล้ว เมื่อพวกเขาพบว่ามุฮัมมัดยังไม่ตาย พวกมักกะฮ์จึงล้มเหลวต่อการกำจัดพวกมุสลิมให้สิ้นซาก[138][139] ชาวมุสลิมได้ฝังศพและกลับบ้านในเวลาเย็น แล้วถามถึงสาเหตุความพ่ายแพ้ มุฮัมมัดได้กล่าวอายะฮ์กุรอาน 3:152 ว่าสาเหตุการพ่ายแพ้มีอยู่สองอย่าง คือ: การไม่เชื่อฟัง และการทดสอบความแน่วแน่[140]
อบูซุฟยานได้นำกองทัพอีกกลุ่มไปโจมตีมะดีนะฮ์ โดยได้ผู้สนับสนุนจากชนร่อนเร่ในบริเวณตอนเหนือกับตะวันออกของมะดีนะฮ์ ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับจุดอ่อนของมุฮัมมัด สัญญาที่จะปล้น ความทรงจำในศักดิ์ศรีของเผ่ากุเรช และสินบน[141] มุฮัมมัดรู้ถึงความดื้อดึงต่อผู้คนในมะดีนะฮ์ และตอบสนองอย่างดี[142] ตัวอย่างแรกคือ การลอบสังหารกะอับ อิบน์ อัลอัชรอฟ หัวหน้าเผ่ายิวบนูนาดีร อัลอัชรอฟไปยังมักกะฮ์แล้วเขียนกวีให้ชาวมักกะฮ์แก้แค้นต่อสงครามบะดัร[143][144] ในปีต่อมา มุฮัมมัดได้เนรเทศเผ่าบนูนาดีรไปจากมะดีนะฮ์[145]โดยบังคับให้อพยพไปที่ซีเรีย ซึ่งทำให้ศัตรูรวมกันเป็นหนึ่งเพื่อทำลายท่านเสีย มุฮัมมัดพยายามหลีกเลี่ยงการรวมตัวของพวกเขาแต่ล้มเหลว ถึงแม้ว่าท่านสามารถเพิ่มจำนวนพลทหารและหยุดชนเผ่าอื่นเข้าร่วมฝ่ายศัตรูก็ตาม[146]
เมื่อรู้ว่าชัยชนะของตนที่อุฮุดล้มเหลวต่อการทำให้ตำแหน่งของมุฮัมมัดอ่อนแอลงอย่างมาก ในขณะที่ท่านยังคงเตรียมการจู่โจมคาราวานสินค้าของพวกเขาต่อไป พวกกุร็อยช์ ในที่สุดก็มองเห็นความจำเป็นในการยึดครองมะดีนะฮ์ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่พวกเขาเคยละเลยไปก่อนหน้านี้[147] ข้อมูลมุสลิมระบุว่า การตัดสินใจครั้งนี้ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากผู้นำเผ่าบะนูนะฎีรบางส่วนที่ทุกข์ใจต่อการสูญเสียดินแดนของตน[148][147] อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนั้นอาจเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อของมุสลิม[149] ด้วยความตระหนักถึงทักษะการทำสงครามที่จำกัดในฐานะพ่อค้าในเมืองของตน พวกกุร็อยช์จึงเริ่มการเจรจากับชนเผ่าเบดูอินกลุ่มต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง โดยรวบรวมกองกำลังที่เชื่อกันว่ามีจำนวนประมาณ 10,000 คน[147] มุฮัมมัดหลังได้รับแจ้งล่วงหน้าจากพันธมิตรของท่านในมักกะฮ์ สั่งให้ผู้ติดตามเสริมกำลังมะดีนะฮ์ด้วยสนามเพลาะ ตามคำแนะนำของซัลมาน อัลฟาริซี[150] ชาวยิวบะนูกุร็อยเซาะฮ์ได้ช่วยเหลือด้วยการขุดสนามเพลาะ และให้มุสลิมยืมเครื่องมือใช้[151][152][153] ฝ่ายกุร็อยช์และพันธมิตรที่ไม่คุ้นเคยกับการทำสงครามสนามเพลาะจึงต้องทำการปิดล้อมที่ยืดเยื้อ มุฮัมมัดใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ด้วยใช้การเจรจาอย่างลับ ๆ กับเผ่าเฆาะเฏาะฟานให้ไปสร้างความปั่นปวนในกลุ่มศัตรู เมื่อสภาพอากาศย่ำแย่ ขวัญกำลังใจของชาวกุเรชและพันธมิตรจึงเสื่อมถอยลง นำไปสู่การถอนทัพ[147] การล้อมครั้งนี้มีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตน้อย โดยฝั่งมุสลิมได้รับความสูญเสียเพียง 5 ถึง 6 คน ส่วนฝ่ายล้อมเมืองเสียเพียง 3 คน[154][155]
ในช่วงต้น ค.ศ. 628 หลังจากที่มุฮัมมัดฝันถึงการแสดวบุญในมักกะฮ์โดยไร้แรงต่อต้าน ท่านจงเริ่มต้นการเดินทาง โดยแต่งกายด้วยชุดแสวงบุญตามธรรมเนียมและมีผู้ติดตามกลุ่มหนึ่งติดตามไปด้วย[157] ก่อนเดินทางถึงฮุดัยบิยะฮ์ พวกเขาเผชิญหน้ากับตัวแทนของชาวกุร็อยช์ที่ตั้งคำถามถึงความตั้งใจของพวกเขา มุฮัมมัดอธิบายว่าพวกเขามาเพื่อแสดงความเคารพต่อกะอ์บะฮ์ ไม่ใช่สู้รบ[158] จากนั้นท่านจึงส่งอุษมาน ลูกของลูกพี่ลูกน้องของอะบูซุฟยาน ไปเจรจากับพวกกุร็อยช์ ขณะที่การเจรจายืดเยื้อ เริ่มมีการจุดข่าวลือเรื่องการเสียชีวิตของอุษมาน ซึ่งกระตุ้นให้มุฮัมมัดเรียกผู้ติดตามให้ต่ออายุคำสาบานแห่งความจงรักภักดี อุษมานกลับมาพร้อมกับข่าวอุปสรรคในการเจรจา มุฮัมมัดยังคงยืนหยัดในสิ่งต่อไป ท้ายที่สุด ฝ่ายกุร็อยช์จึงส่งตัวซุฮัยล์ อิบน์ อัมร์ ทูตที่มีอำนาจต่อรองเต็มที่ ในที่สุด หลังจากหารือกันอย่างยาวนาน ก็มีการประกาศใช้สนธิสัญญานี้[159] โดยมีเงื่อนไข ดังนี้:
สนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮ์ถูกใช้แค่ 2 ปี[160][161]เพราะเผ่าบนูคุซาอะฮ์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับมุฮัมมัด ในขณะที่ศัตรูของพวกเขาซึ่งเป็นเผ่าบนูบักร์ได้เป็นพันธมิตรกับมักกะฮ์[160][161] เผ่าบนูบักร์ได้โจมตีเผ่าคุซาอะฮ์ในเวลากลางคืน และฆ่าไปบางคน[160][161] พวกมักกะฮ์ได้ช่วยเหลือบนูบักร์อย่างดี และในบางรายงานกล่าวว่า มีพวกมักกะฮ์บางคนเข้าร่วมด้วย[160] หลังจากเหตุการณ์นั้น มุฮัมมัดได้ส่งจดหมายแก่ชาวมักกะฮ์ โดยมีสามเงื่อนไข และต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ: พวกมักกะฮ์อาจต้องจ่ายด้วยเลือดสำหรับการฆ่าคนจากเผ่าบนูคุซาอะฮ์, ประกาศปฏิเสธการกระทำของพวกบนูบักร์ หรือทำให้สนธิสัญญาฮุดัยบิยะฮ์เป็นโมฆะ[162]
พวกมักกะฮ์ได้เลือกข้อสุดท้าย (สัญญาเป็นโมฆะ)[162] จากนั้นพวกเขาจึงรู้ถึงความผิดพลาด และส่งอบูซุฟยานไปเพื่อทำสัญญาใหม่ แต่มุฮัมมัดปฏิเสธ
มุฮัมมัดเรื่มเตรียมการพิชิตขึ้นในปีค.ศ. 630[163] มุฮัมมัดเดินทางไปมักกะฮ์พร้อมกับมุสลิม 10,000 คน แล้วควบคุมมักกะฮ์ได้[164] ท่านประกาศนิรโทษกรรมแก่ทุกคน ยกเว้นชายและหญิง 10 คนที่ "มีความผิดจากการฆ่าคนหรืออื่น ๆ หรือก่อสงครามและทำลายสันติภาพ"[165] บางคนถูกให้อภัยในภายหลัง[166] ชาวมักกะฮ์ส่วนใหญเข้ารับอิสลาม และมุฮัมมัดเริ่มดำเนินการทำลายรูปปั้นเทพเจ้าอาหรับทั้งหมดจากข้างในและรอบกะอ์บะฮ์[167][168] รายงานจากอิบน์อิสฮักกับอัลอัซรอดี มุฮัมมัดที่ได้งดเว้นภาพหรือเฟรสโกของพระแม่มารีย์กับพระเยซู แต่ในรายงานอื่นกล่าวว่า ภาพทุกรูปถูกลบหมด[169] ในอัลกุรอานได้กล่าวถึงเหตุการณ์พิชิตมักกะฮ์[170][171]
หลังได้ยินว่ามักกะฮ์ตกเป็นของมุสลิมแล้ว บะนูฮะวาซินจึงรวบรวมทั้งเผ่าให้ต่อสู้[172] ประมาณการว่ามีนักรบประมาณ 4,000 นาย[173][174] มุฮัมมัดนำทัพ 12,000 นายไปโจมตี แต่พวกเขากลัับจู่โจมท่านที่วาดีฮุนัยน์[175] ฝ่ายมุสลิมเอาชนะพวกเขาและยึดบรรดาผู้หญิง เด็ก ๆ และสัตว์หลายตัวของพวกเขาไป[176] จากนั้นมุฮัมมัดหันความสนใจไปที่อัฏฏออิฟ นครที่มีชื่อเสียงในด้านไร่องุ่นและสวน ท่านสั่งให้สวนเหล่านี้ต้องถูกทำลาย และล้อมนครที่มีกำแพงล้อมรอบ หลังประสบความล้มเหลวในการทำลายฝ่ายป้องกันเป็นเวลา 15–20 วัน ท่านจึงละทิ้งความพยายามดังกล่าว[177][178]
เมื่อท่านแบ่งทรัพย์ที่ปล้นจำนวนมากมาจากฮุนัยน์ให้แก่เหล่าทหาร เผ่าฮะวาซินที่เหลือหันไปเข้ารับอิสลาม[179] และวิงวอนมุฮัมมัดให้ปล่อยตัวเด็กและผู้หญิงของพวกเขา โดยเตือนให้ท่านรำลึกว่าเคยได้รับการดูแลจากผู้หญิงบางคนเมื่อตอนยังเป็นทารก ท่านปฏิบัติตามแต่ยังคงยึดส่วนปล้นที่เหลือไว้ คนของท่านบางคนคัดค้านการแบ่งส่วนของตน ดังนั้นท่านจึงชดเชยแต่ละคนด้วยด้วยอูฐหกตัวจากการปล้นในครั้งหลัง[180] มุฮัมมัดแบ่งทรัพย์ที่ยึดได้ในสงครามจำนวนมากให้แก่ผู้ที่หันมานับถือศาสนาใหม่จากเผ่ากุร็อยช์ อะบูซุฟยานกับบุตร 2 คน มุอาวิยะฮ์กับยะซีด แต่ละคนได้รับอูฐ 100 ตัว[181][182] ชาวอันศอรที่เข้าสู้รบอย่างกล้าหาญในยุทธการนี้ แต่แทบไม่ได้รับรางวัลใด รู้สึกไม่พอใจต่อสิ่งนี้[183][184]
ประมาณเกือบ 10 เดือนหลังยึดครองมักกะฮ์ มุฮัมมัดจึงนำกองทัพไปโจมตีมณฑลชายแดนซีเรียของไบแซนไทน์ที่ร่ำรวย[185][186] โดยมีการเสนอแรงจูงใจหลายประการ ซึ่งรวมถึงการแก้แค้นความพ่ายแพ้ที่มุอ์ตะฮ์และรับของที่ถูกปล้นจำนวนมาก[187][188] เนื่องจากความแห้งแล้ง และความร้อนแรงในขณะนั้น มุสลิมบางส่วนจึงไม่เข้าร่วมสงคราม สิ่งนี้นำไปสู่การประทานโองการอัลกุรอาน 9:38 ที่ตำหนิคนเกียจคร้านเหล่านั้น[189] เมื่อมุฮัมมัดและกองทัพของท่านเดินทางถึงตะบูก กลับไม่มีกองกำลังศัตรูอยู่เลย[190] อย่างไรก็ตาม ท่านสามารถบังคับให้หัวหน้าเผ่าท้องถิ่นบางคนยอมรับการปกครองของท่านและจ่ายญิซยะฮ์ กองทัพภายใต้การนำของคอลิด อิบน์ อัลวะลีดที่ท่านส่งไปโจมตี ก็ได้รับสินทรัพย์สงครามบางส่วน ซึ่งรวมถึงอูฐ 2,000 ตัวกับโค 800 ตัว[191]
การเข้ารับอิสลามของฮะวาซินทำให้อัฏฏออิฟสูญเสียพันธมิตรหลักสุดท้าย[192] หลังจากอดกลั้นต่อการโจรกรรมและการโจมตีด้วยความหวาดกลัวอย่างไม่หยุดยั้งจากฝ่ายมุสลิมหลังการปิดล้อมนานถึงหนึ่งปี ท้ายที่สุด ชาวอัฏฏออิฟที่รู้จักกันในชื่อบะนูษะกีฟ เข้าถึงจุดเปลี่ยน และยอมรับว่าการเข้ารับอิสลามเป็นเส้นทางที่สมเหตุสมผลที่สุดสำหรับพวกตน[193][194][195]
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 631 มุฮัมมัดได้รับโองการที่ให้พวกบูชารูปปั้นได้รับความกรุณาเป็นเวลาสี่เดือน หลังจากนั้นชาวมุสลิมจะโจมตี สังหาร และปล้นพวกเขาไม่ว่าจะพบกันที่ไหนก็ตาม[196][197]
ในช่วงทำฮัจญ์ใน ค.ศ. 632 มุฮัมมัดเป็นผู้นำพิธีและให้โอวาทด้วยตนเอง บรรดาประเด็นสำคัญได้แก่ ห้ามกินดอกเบี้ยกับความอาฆาตพยาบาทที่เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมในอดีตจากยุคก่อนอิสลาม ความเป็นภราดรภาพของมุสลิมทุกคน และการใช้เดือนจันทรคติสิบสองเดือนโดยไม่มีการทดปฏิทิน[198][199] ท่านยังยืนยันอีกครั้งว่าสามีมีสิทธิ์ที่จะลงโทษทางวินัย และทุบตีภรรยาโดยไม่ต้องใช้กำลังมากเกินไป หากพวกเธอนอกใจหรือประพฤติตนไม่เหมาะสม ท่านอธิบายว่าภรรยาได้รับความไว้วางใจจากสามี และสมควรได้รับอาหารและเสื้อผ้า หากพวกเธอเชื่อฟัง นั่นเพราะพวกเธอเป็นของขวัญจากพระผู้เป็นเจ้า...[200]
หลังละหมาดในที่ฝังศพในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 632 มุฮัมมัดประสบกับอาการปวดศีรษะสาหัสจนทำให้ท่านร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด.[201][202] ท่านยังคงนอนหลับกับภรรยาคืนละคน[203] แต่เป็นลมในกระท่อมของมัยมูนะฮ์[204] ท่านร้องขอบรรดาภรรยาของท่านอนุญาตให้ท่านอยู่ในกระท่อมอาอิชะฮ์ ท่านเดินโดยให้อะลีกับฟัฎล์ อิบน์ อับบาสพยุง เนื่องจากขาสั่น บรรดาภรรยากับอับบาส ลุงของท่าน ให้ยารักษาอะบิสซีเนียในตอนที่ท่านไม่รู้สึกตัว[205] เมื่อท่านฟื้นก็ถามถึงเรื่องนั้น และพวกเขาอธิบายว่า พวกเขากลัวท่านเป็นเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ท่านตอบว่าอัลลอฮ์จะไม่ทรมานท่านด้วยโรคร้ายเช่นนี้ และสั่งให้ผู้หญิงทุกคนรับการรักษาด้วย[206] ข้อมูลหลายแหล่ง ซึ่งรวมถึงเศาะฮีฮ์ อัลบุคอรี ระบุว่า มุฮัมมัดกล่าวว่าท่านรู้สึกว่าเส้นเลือดใหญ่ของท่านขาดเนื่องจากอาหารที่ท่านกินที่ค็อยบัร[207][208] จากนั้น มุฮัมมัดเสียชีวิต ณ วันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 632 ในช่วงวาระสุดท้าย มีรายงานท่านพูดว่า:
โอ้อัลลอฮ์ โปรดให้อภัยและเมตตาข้า และให้ข้าอยู่ร่วมกับสหายที่สูงส่งด้วยเถิด[209][210][211]
— มุฮัมมัด
อัลเฟรด ที. เวลช (Alfred T. Welch) นักประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่าการเสียชีวิตของมุฮัมมัดมีสาเหตุจากไข้มะดีนะฮ์ ซี่งมีอาการรุนแรงขึ้นจากความเหนื่อยล้าทางร่างกายและจิตใจ[212]
ร่างของมุฮัมมัดถูกฝังในบ้านของอาอิชะฮ์[12][213][214] ในรัชสมัยอัลวะลีดที่ 1 ของอุมัยยะฮ์ มีการขยายมัสยิดอันนะบะวีจนครอบพื้นที่สุสานมุฮัมมัด[215] โดมเขียวบนสุสานสร้างขึ้นโดยสุลต่านอัลมันศูร เกาะลาวูนแห่งมัมลูกในคริสต์ศตวรรษที่ 13 แม้ว่าสีเขียวบนโดมได้รับการทาสีในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในรัชสมัยสุลต่านสุลัยมานผู้เกรียงไกรของออตโตมัน[216] สุสานที่ติดกับมุฮัมมัดเป็นของผู้ติดตามของท่าน (เศาะฮาบะฮ์) คือ เคาะลีฟะฮ์สององค์แรก (อะบูบักร์และอุมัร) และห้องว่างที่มุสลิมเชื่อว่าจะมีการฝังอีซาตรงนี้[214][217][218]
เมื่อซะอูด อิบน์ อับดุลอะซีซยึดครองมะดีนะฮ์ใน ค.ศ. 1805 เพชรและทองที่ประดับอยู่หน้าสุสานถูกนำออกไป[219] ผู้ที่นับถือนิกายวะฮาบีย์ทำลายโดมสุสานในมะดีนะฮ์เกือบทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงการเลื่อมใสในสุสาน[219] และมีรายงานว่าสุสานของมุฮัมมัดรอดได้อย่างหวุดหวิด[220] และเหตุการณ์ที่คล้ายกันเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1925 เมื่อกองกำลังติดอาวุธซาอุดียึดเมืองอีกครั้ง[221][222][223] ในการตีความอิสลามแบบวะฮาบีย์ การฝังศพควรจัดในหลุมศพที่ไม่มีเครื่องหมาย[220] กระนั้น ผู้แสวงบุญหลายคนยังคงทำการซิยาเราะฮ์—เยี่ยมชมเชิงพิธี—ที่สุสานอยู่ดี แม้ว่าทางฝั่งซาอุดีจะไม่ยอมรับสิ่งนี้[224][225]
หลังมุฮัมมัดเสียชีวิต มีความขัดแย้งในเรื่องที่ใครจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของท่าน[13][14] อุมัร เศาะฮาบะฮ์ที่มีชื่อเสียง เลือกอะบูบักร์ เพื่อนและผู้มีส่วนร่วมกับมุฮัมมัด อะบูบักร์ได้รับการยืนยันเป็นเคาะลีฟะฮ์องค์แรกพร้อมเสียงสนับสนุน การเลือกครั้งนี้ถูกโต้แย้งจากเศาะฮาบะฮ์บางส่วนที่ยกให้อะลี ลูกเขยและลูกพี่ลูกน้องของท่าน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สืบทอดของมุฮัมมัดที่ฆอดิรคุมม์ อะบูบักร์สั่งให้โจมตีกองทัพไบแซนไทน์ (หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก) ทันทีเนื่องจากความพ่ายแพ้ช่วงก่อนหน้า แม้ว่าในตอนแรกท่านจะกำจัดกบฏชนเผ่าอาหรับในเหตุการณ์ที่นักประวัติศาสตร์มุสลิมยุคหลังระบุเป็นสงครามริดดะฮ์ หรือ "สงครามต่อผู้ละทิ้งศาสนา"[g]
ตะวันออกกลางยุคก่อนอิสลามมีจักรวรรดิไบแซนไทน์และซาเซเนียนที่เป็นใหญ่ สงครามโรมัน–เปอร์เซียสร้างความเสียหายให้กับภูมิภาคนี้ ทำให้จักรวรรดิทั้งสองไม่เป็นที่นิยมในชนเผ่าท้องถิ่น ที่มากไปกว่านั้น ในดินแดนที่จะถูกฝ่ายมุสลิมพิชิต ชาวคริสต์หลายคน (เนสตอเรียน, Monophysite, Jacobites และคอปต์) ไม่พอใจต่อคริสต์จักรอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ที่มองพวกตนเป็นพวกนอกรีต กองทัพมุสลิมเข้าพิชิตเมโสโปเตเมีย ซีเรีย อียิปต์ของไบแซนไทน์[226] พื้นที่ส่วนใหญ่ของเปอร์เซียภายในทศวรรษ และสถาปนารัฐเคาะลีฟะฮ์รอชิดูน
ชีวิตของท่านแบ่งออกเป็นสองช่วง คือ: ก่อนฮิจเราะห์ (อพยพ) ในมักกะฮ์ (ตั้งแต่ ค.ศ. 570 ถึง 622) และหลังฮิจเราะห์ในมะดีนะฮ์ (ตั้งแต่ ค.ศ. 622 ถึง 632) กล่าวกันว่าท่านมีภรรยาถึง 13 คน (ถึงแม้ว่าอีกสองคน คือ ร็อยฮานะฮ์ บินต์ ซัยด์กับมาริยะฮ์ อัลกิบฏียะฮ์ มีรายงานที่กำกวมว่าเป็นภรรยาหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันโดยไม่ได้สมรส)[h][227]
ตอนอายุ 25 ปี มุฮัมมัดแต่งงานกับเคาะดีญะฮ์ บินต์ คุวัยลิดที่มีอายุ 40 ปี[228] โดยอยู่กินด้วยกันเป็นเวลา 25 ปี และถือเป็นการแต่งงานที่มีความสุข[229] หลังการแต่งงานในครั้งนั้น ท่านไม่ได้แต่งงานกับใครอีกเลย[230][231] หลังจากเคาะดีญะฮ์เสียชีวิต เคาละฮ์ บินต์ ฮากิมได้แนะนำให้ท่านแต่งงานกับเซาดะฮ์ บินต์ ซัมอะฮ์ หญิงมุสลิมหม้าย หรืออาอิชะฮ์ ลูกสาวของอุมมุรูมานกับอะบูบักร์ กล่าวกันว่าท่านขอการจัดเตรียมการแต่งงานกับทั้งคู่[232] ข้อมูลสมัยคลาสสิกระบุว่า มุฮัมมัดแต่งงานกับอาอิชะฮ์ตอนที่เธออายุ 6–7 ขวบ โดยมีการจัดพิธีแต่งงานโดยสมบูรณ์ในภายหลังตอนที่เธอมีอายุ 9 ขวบ และท่านมีอายุ 53 ปี[i]
มุฮัมมัดทำงานบ้านต่าง ๆ เช่น เตรียมอาหาร เย็บเสื้อ และซ่อมรองเท้า ท่านได้ให้ภรรยาคุ้นเคยต่อการพูด ท่านฟังคำแนะนำของพวกเธอ และภรรยาของท่านได้ถกเถียงและแม้แต่โต้แย้งกับท่าน[233][234][235]
เคาะดีญะฮ์มีลูกสาว 4 คนกับมุฮัมมัด (รุก็อยยะฮ์ บินต์ มุฮัมมัด, อุมมุกุลษูม บินต์ มุฮัมมัด, ซัยนับ บินต์ มุฮัมมัด, ฟาฏิมะฮ์) และลูกชาย 2 คน (อับดุลลอฮ์ อิบน์ มุฮัมมัด กับกอซิม อิบน์ มุฮัมมัด ทั้งคู่เสียชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก) ลูกทุกคนเสียชีวิตก่อนหน้าท่าน ยกเว้นฟาฏิมะฮ์ ลูกสาวคนเดียว[236] นักวิชาการชีอะฮ์บางคนโต้แย้งว่าฟาฏิมะฮ์เป็นลูกสาวคนเดียวของมุฮัมมัด[237] มาริยะฮ์ อัลกิบฏียะฮ์ ให้กำเนิดลูกชายคนเดียวชื่ออิบรอฮีม อิบน์ มุฮัมมัด ซึ่งเสียชีวิตตอนอายุ 2 ขวบ[236]
ภรรยา 9 คนของท่านยังมีชีวิตต่อหลังจากที่ท่านเสียชีวิต[227] อาอิชะฮ์ ผู้กลายเป็นที่รู้จักในฐานะภรรยาคนโปรดของมุฮัมมักในธรรมเนียมซุนนี มีชีวิตอยู่หลังจากท่านหลายทศวรรษ และช่วยรายงานฮะดีษของศาสดามุฮัมมัดในนิกายซุนนี[232]
ซัยด์ อิบน์ ฮาริษะฮ์เป็นทาสที่เคาะดีญะฮ์ให้มุฮัมมัด เขาถูกซื้อตัวจากฮะกีม อิบน์ ฮิซาม หลานชายของเธอ ที่ตลาดอุกาซ[238] จากนั้น ซัยด์กลายเป็นบุตรบุญธรรมของทั้งคู่ แต่ภายหลังปฎิเสธสถานะนี้เมื่อมุฮัมมัดจะแต่งงานกับซัยนับ บินต์ ญะฮช์ อดีตภรรยาของซัยด์[239] ผลสรุปของบีบีซีรายงานไว้ว่า "ศาสดามุฮัมมัดไม่ได้ต้องการเลิกทาส และซื้อ ขาย จับ และครองทาสด้วยตนเอง แต่ท่านได้ยืนหยัดว่านายทาสควรดูแลทาสให้ดีและเน้นถึงผลบุญของการปล่อยทาส มุฮัมมัดได้ดูแลทาสเหมือนกับมนุษย์ทั่ว ๆ ไป..."[240]
หลังจากประกาศความเป็นเอกะของพระเจ้า ความเชื่อเรื่องการเป็นศาสนทูตของมุฮัมมัดเป็นมุมมองหลักในความเชื่ออิสลาม มุสลิมทุกคนกล่าวชะฮาดะฮ์ว่า: "ข้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และข้าขอปฏิญาณว่ามุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์" ชะฮาดะฮ์นี้เป็นหลักความเชื่อพื้นฐานของศาสนาอิสลาม ชะฮาดะฮ์เป็นคำแรกที่ทารกแรกเกิดจะได้ยิน เด็ก ๆ จะได้รับการสอนทันทีและจะท่องจำจนกระทั่งเสียชีวิต มุสลิมจะกล่าวชะฮาดะฮ์ซ้ำในอะซานและเวลาละหมาด คนที่ไม่ใช่มุสลิมที่หวังเข้ารับอิสลามจะต้องกล่าวคำปฏิญาณนี้ก่อน[241]
ในศาสนาอิสลามเชื่อว่ามุฮัมมัดเป็นศาสดาคนสุดท้ายที่พระเจ้าส่งลงมา[243][244] อัลกุรอานยืนยันว่าปาฏิหารย์เดียวที่พระเจ้าประทานให้มุฮัมมัดคือตัวอัลกุรอานเอง[112][245][246] และให้เหตุผลหลายประการว่าทำไมท่านแสดงปาฏิหารย์อื่น ๆ ในตอนที่ศัตรูของท่านร้องขอไม่ได้[81][82] อย่างไรก็ตาม งานเขียนยุคหลังอย่างฮะดีษและซีเราะฮ์อ้างถึงปาฏิหาริย์หรือเหตุการณ์เหนือธรรมชาติหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับมุฮัมมัด หลังจากที่ท่านเสียชีวิต[246] หนึ่งในนั้นคือการแยกดวงจันทร์ที่อิบน์ อับบาส ลูกพี่ลูกน้องของมุฮัมมัดรายงานไว้ ที่จริงคือจันทรุปราคา แต่เหตุการณ์นี้กลับกลายเป็นการแยกตัวของดวงจันทร์แบบตามตัวอักษรในการตีความภายหลัง[82]
ซุนนะฮ์ คือการกระทำ และคำพูดของมุฮัมมัด (บันทึกไว้ในฮะดีษ) ซึ่งครอบคลุมไปถึงกิจกรรมและความเชื่อตั้งแต่พิธีกรรมทางศาสนา สุขอนามัยส่วนบุคคล และการฝังศพผู้เสียชีวิต จนถึงคำถามเกี่ยวกับความรักระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสืบทอดของวัฒนธรรมมุสลิม ในการทักทายที่ศาสดามุฮัมมัดได้กล่าวให้มุสลิมกล่าวเมื่อเจอกันว่า "ขอความสันติสุข จงมีแด่ท่าน" (อาหรับ: อัสสลามุอะลัยกุม) ซึ่งชาวมุสลิมทั่วโลกใช้งานกัน พิธีกรรมสำคัญของอิสลามส่วนใหญ่อย่างการละหมาด 5 เวลาทุกวัน ถือศีลอด และทำพิธีฮัจญ์ พบเฉพาะในฮะดีษ และไม่มีในอัลกุรอาน[247]
มุสลิมมีการกล่าวถึงความรักและความเลื่อมใสต่อมุฮัมมัด ชีวประวัติของมุฮัมมัด การอธิษฐานและปาฏิหาริย์ของท่านมักถูกกล่าวเป็นบทกวี[248] ในกุรอานกล่าวถึงมุฮัมมัดว่าเป็น "ผู้มีเมตตา (เราะฮ์มัต) แก่มนุษยชาติ"[249][12] วันเกิดของมุฮัมมัดได้รับการฉลองกันทั่วโลกอิสลาม ยกเว้นพวกวะฮาบีย์ที่ถือว่าเป็นบิดอะฮ์[250] เมื่อมุสลิมคนใดกล่าวหรือเขียนชื่อของมุฮัมมัด ส่วนใหญ่มักตามดามด้วยคำว่า ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม (ขอความโปรดปรานแห่งอัลลอฮฺ และความสันติจงมีแด่ท่าน)[251] ในการเขียนปกติ บางครั้งถูกย่อเป็น ศ็อลฯ (ภาษาอาหรับ) ส่วนในเอกสารใช้อักษรวิจิตรขนาดเล็ก (ﷺ)
แหล่งข้อมูลต่าง ๆ นำเสนอรายละเอียดของมุฮัมมัดในช่วงรุ่งโรจน์ของชีวิตที่น่าจะเป็นไปได้ ท่านสูงกว่าความสูงโดยเฉลี่ยเล็กน้อย มีรูปร่างแข็งแรงและหน้าอกกว้าง คอยาว มีศีรษะใหญ่และมีหน้าผากกว้าง ดวงตาได้รับการอธิบายว่ามืดมนและเข้มข้น เน้นด้วยขนตายาวสีเข้ม ผมมีสีดำและไม่หยิกจนเกินไป ยาวห้อยคล้องหู หนวดเคราที่ยาวและหนาของท่านโดดเด่นตัดกับหนวดที่ขลิบอย่างเรียบร้อย จมูกยาวงุ้มและมีปลายแหลม ฟันเว้นระยะห่างกันดี ใบหน้าได้รับการอธิบายว่าดูเปรื่องปราด และผิวใสของท่านมีขนตั้งแต่คอจนถึงสะดือ แม้จะโน้มตัวเล็กน้อย แต่ก้าวย่างของท่านก็รวดเร็วและมีจุดมุ่งหมาย[252] ริมฝีปากและแก้มของท่านถูกหนังสติ๊กยิงจนฉีกขาดในช่วงยุทธการที่อุฮุด[253][254] ภายหลังมีการการจี้แผลนั้น ทิ้งแผลเป็นบนใบหน้า[255]
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฮะดีษห้ามวาดภาพสิ่งมีชีวิต ศิลปะทางศาสนาอิสลามส่วนใหญ่เน้นไปที่คำศัพท์[256][257] ชาวมุสลิมโดยทั่วไปจึงเลี่ยงการวาดภาพมุฮัมมัด และมัสยิดได้รับการตกแต่งด้วยอักษรวิจิตร โองการอัลกุรอาน หรือรูปทรงเรขาคณิต[256][258] ปัจจุบัน ข้อห้ามการวาดภาพมุฮัมมัดที่มีจุดประสงค์หลีกเลี่ยงการสักการะมุฮัมมัดแทนอัลลอฮ์ พบเห็นในมุสลิมนิกายซุนนี (85%–90% ของมุสลิมทั้งหมด) และอะห์มะดียะฮ์ (1%) เคร่งครัดในเรื่องเหล่านี้มากกว่าในบรรดาชีอะฮ์ (10%–15%)[259] ในขณะที่ทั้งซุนนีและชีอะฮ์เคยวาดภาพมุฮัมมัดในอดีต[260] ภาพวาดมุฮัมมัดนั้นหายาก[256] ส่วนใหญ่จำกัดอยู่เพียงภาพขนาดเล็กในสื่อส่วนตัวและสื่อชั้นนำเท่านั้น และนับจากนั้นมีภาพประมาณ 1500 ภาพที่ส่วนใหญ่แสดงมุฮัมมัดคลุมหน้า หรือแสดงรูปเปลวเพลิงเป็นสัญลักษณ์[258][261]
ปัจจุบัน มีการทำสำเนาประวัติศาสตร์และรูปภาพสมัยใหม่หลายล้านภาพในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะในประเทศตุรกีและอิหร่าน ทั้งบนโปสเตอร์ ไปรษณียบัตร และแม้แต่ในหนังสือโต๊ะกาแฟ แต่ไม่เป็นที่รู้จักในส่วนอื่น ๆ ของโลกอิสลาม และเมื่อมุสลิมจากประเทศอื่น ๆ พบสิ่งนี้ ก็อาจทำให้เกิดความตกตะลึงและขุ่นเคืองเป็นอย่างมาก[260][261]
วิลเลียม มอนต์โกเมอรี วัตต์รายงานว่า ศาสนาสำหรับมุฮัมมัดไม่ได้ไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัวและส่วนบุคคล แต่เป็น "การตอบสนองโดยรวมถึงบุคลิกภาพของท่านต่อสถานการณ์ทั้งหมดที่ท่านพบด้วยตัวเอง ท่านตอบสนอง [ไม่เพียงแต่]... ในด้านศาสนาและความรู้ของสถานการณ์ แต่ยังรวมถึงแรงกดดันทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ตัวเมืองมักกะฮ์ร่วมสมัยต้องเผชิญ"[262] เบอร์นาร์ด ลูอิสกล่าวว่ามีธรรมเนียมทางการเมืองที่สำคัญสองประการในศาสนาอิสลาม—มุฮัมมัดในฐานะรัฐบุรุษในมะดีนะฮ์ และมุฮัมมัดในฐานะกบฏในมักกะฮ์ ในมุมมองของเขา อิสลามคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อมีการแนะนำในสังคมใหม่ คล้ายกับการปฏิวัติ[263]
นักประวัติศาสตร์โดยทั่วไปยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมของอิสลามในขอบเขตอย่างหลักประกันสังคม โครงสร้างครอบครัว ความเป็นทาส และสิทธิสตรีกับเด็กดีกว่าสถานะเดิมของสังคมอาหรับ[263][j] เช่น ลูอิสรายงานว่า อิสลาม "ขั้นแรกประณามสิทธิพิเศษชนชั้นสูง ปฏิเสธลำดับชั้น และได้นำสูตรอาชีพที่เปิดรับผู้มีความสามารถเข้ามาใช้"[263] ถ้่อยคำของมุฮัมมัดเปลี่ยนแปลงสังคมและระเบียบศีลธรรมของชีวิตในคาบสมุทรอาหรับ สังคมมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงการรับรู้อัตลักษณ์ โลกทัศน์ และลำดับขั้นของคุณค่า[264][ต้องการเลขหน้า] การปฏิรูปเศรษฐกิจกล่าวถึงชะตากรรมของคนยากจนที่เคยเป็นปัญหาในมักกะฮ์ยุคก่อนอิสลาม[265] อัลกุรอานกำหนดให้ต้องชำระภาษีบริจาคทาน (ซะกาต) เพื่อประโยชน์ของคนยากจน เมื่ออำนาจของมุฮัมมัดเพิ่มมากขึ้น ท่านจึงเรียกร้องให้ชนเผ่าที่ประสงค์จะเป็นพันธมิตรกับท่านปฏิบัติซะกาตเป็นการเฉพาะ[266][267]
กีโยม ปงแตล (Guillaume Postel) เป็นหนึ่งในบุคคลแรกที่แสดงมุมมองของมุฮัมมัดในแง่บวก เมื่อเขาโต้แย้งว่าชาวคริสต์ควรยกย่องมุฮัมมัดเป็นศาสดาที่ถูกต้อง[12][268] ก็อทฟรีท ไลบ์นิทซ์ชื่นชมมุฮัมมัดเนื่องจาก "ท่านไม่ได้หันเหจากศาสนาธรรมชาติ"[12] อ็องรี เดอ บูแล็งวีลเยร์ (Henri de Boulainvilliers) กล่าวในหนังสือ Vie de Mahomed ของตนเองที่ตีพิมพ์หลังเสียชีวิตใน ค.ศ. 1730 ระบุถึงมุฮัมมัดเป็นผู้นำทางการเมืองที่มีพรสวรรค์ และผู้ร่างกฎหมายที่ยุติธรรม[12] เขาเสนอท่านเป็นศาสดาที่พระเจ้าส่งมาเพื่อทำให้ชาวคริสเตียนตะวันออกที่ทะเลาะวิวาทเกิดความสับสน และปลดปล่อยชาวตะวันออกจากการปกครองแบบเผด็จการของโรมันและเปอร์เซีย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความเป็นเอกภาพของพระเจ้าจากอินเดียถึงสเปน[269] วอลแตร์มีความเห็นต่อมุฮัมมัดผสมกัน: ในบทละคร Le fanatisme, ou Mahomet le Prophète เขาทำให้มุฮัมมัดเป็นตัวร้ายเป็นที่สัญลักษณ์ของความคลั่งไคล้ และในเรียงความ ค.ศ. 1748 เขาเรียกท่านว่า "คนหลอกลวงผู้ประเสริฐและร่าเริง" แต่ในการสำรวจทางประวัติศาสตร์ Essai sur les mœurs ของวอลแตร์ เขาเสนอมุฮัมมัดเป็นผู้บัญญัติกฎหมายและผู้พิชิต และเรียกท่านว่า "ผู้กระตือรือร้น"[269] ฌ็อง-ฌัก รูโซกล่าวไว้ในหนังสือ โซเชียลคอนแทร็กต์ (1762) ว่า "ปัดตำนานอันโหดร้ายของมุฮัมมัดในฐานะผู้หลอกลวงและคนโกงทิ้งไปเสีย จงนำเสนอท่านในฐานะปราชญ์ผู้บัญญัติกฎหมายที่รวมอำนาจทางศาสนาและการเมืองอย่างชาญฉลาด"[269] โกลด-แอมานุแอล เดอ ปัสโตเรต์ (Claude-Emmanuel de Pastoret) กล่าวไว้ในหนังสือ โซโรอัสเตอร์ ขงจื๊อ และมุฮัมมัด ใน ค.ศ. 1787 ซึ่งเขาเสนอชีวิต "ชายผู้ยิ่งใหญ่" ทั้งสามคนเป็น "ผู้บัญญัติกฎหมายที่ดีที่สุดของจักรวาล" และเปรียบเทียบอาชีพทั้งสามเป็นผู้ปฏิรูปศาสนากับผู้ร่างกฎหมาย[269] นโปเลียน โบนาปาร์ตชื่นชมมุฮัมมัดและอิสลาม[270] และกล่าวถึงท่านเป็นต้นแบบผู้ร่างกฎหมายและผู้พิชิต[271][272] ทอมัส คาร์ไลล์กล่าวถึง "มาโฮเหม็ด" ไว้ในหนังสือ ออนฮีโรส์ ฮีโร-เวอร์ชิพ แอนด์เดอะฮีโรอิกอินฮิสทรี (1840) ว่าเป็น "ดวงวิญญาณอันยิ่งใหญ่ที่เงียบสงบ; ท่านเป็นหนึ่งในบุคคลที่ไม่สามารถพูด แต่ อย่างจริงจังได้"[273] นักวิชาการมุสลิมหลายคนอ้างอิงการตีความของคาร์ไลล์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงนักวิชาการฝั่งตะวันตกยืนยันสถานะของมุฮัมมัดในฐานะบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์[274]
คำวิจารณ์ต่อมุฮัมมัดปรากฏขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 เมื่อมุฮัมมัดถูกประณามจากชาวอาหรับที่ไม่นับศาสนาอิสลามร่วมสมัยว่าสอนหลักเอกเทวนิยม และชนเผ่ายิวในอาระเบียจากการรับรู้ถึงการถือครองรายงานและบุคคลจากพระคัมภีร์ และการประกาศตนเองเป็น "คอตะมุนนะบียีน"[275][276][277][278] ในสมัยกลาง โลกตะวันตกและไบแซนไทน์ตราหน้าท่านเป็นศาสดาเทียม ศัตรูของพระคริสต์ หรือวาดเป็นพวกนอกรีตดังที่ปรากฏในโลกคริสเตียนเป็นบ่อยครั้ง[279][277][280][278] ข้อวิจารณ์ร่วมสมัยมักเกี่ยวข้องกับการตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของมุฮัมหมัดในฐานะศาสนทูต ความประพฤติทางศีลธรรม การแต่งงาน การเป็นเจ้าของทาส การดูแลศัตรู แนวทางเรื่องหลักคำสอน และสุขภาพจิต[279][281][282][283]
พระบะฮาอุลลอฮ์ ศาสดาของศาสนาบาไฮ กล่าวถึงนบีมุฮัมมัดว่าเป็นผู้เผยพระวจนะที่พระเป็นเจ้าทรงส่งมาเพื่อทำหน้าที่นำพาและให้ความรู้แก่มนุษย์ในยุคสมัยหนึ่ง เช่นเดียวกับผู้เผยพระวจนะท่านอื่น ๆ คือ พระกฤษณะ โมเสส ซาราธุสตรา พระพุทธเจ้า พระเยซู พระบาบ[284] โดยบาฮาอุลลอฮ์อ้างว่าตนเองคือผู้เผยพระวจนะที่พระเจ้าส่งมาในยุคปัจจุบัน เป็นนบีอีซาผู้กลับมาบนโลกอีกครั้งตามที่นบีมุฮัมมัดทำนายไว้ในคัมภีร์หะดีษ นอกจากนี้ยังอ้างว่าตนเองคือฮุซัยน์ อิบน์ อะลี ผู้กลับมาตามที่ชาวชีอะฮ์รอคอย[285]
ลัทธิอนุตตรธรรมถือว่าอนุตตรธรรมเป็นรากเหง้าของทุกศาสนารวมทั้งศาสนาอิสลาม โดยนบีมุฮัมมัดเป็นศาสดาองค์หนึ่งที่พระแม่องค์ธรรมทรงส่งมาเพื่อโปรดเวไนยในช่วงธรรมกาลยุคแดง เช่นเดียวกับพระโคตมพุทธเจ้าและพระเยซู และยุคแดงได้สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) ปัจจุบันจึงเป็นธรรมกาลยุคขาวซึ่งมีลู่ จงอี เป็นผู้ปกครอง[286]
พระโอวาทพระอนุตตรธรรมมารดาสิบบัญญัติ (จีน: 皇母訓子十誡) ซึ่งเป็นคัมภีร์เล่มหนึ่งของลัทธิอนุตตรธรรม อ้างว่านบีมุฮัมมัดได้มาประทับทรงในกระบะทราย แล้วประกาศว่าการไปละหมาดที่มัสยิดนั้นเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า เพราะไม่ได้ช่วยให้เข้าถึงสัจธรรม การปฏิบัติตามอัลกุรอานก็ไม่อาจช่วยให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ แต่ต้องเข้ารับธรรมะจากวิสุทธิอาจารย์ (จีน: 明師) เท่านั้นจึงจะพบหนทางกลับสวรรค์[287][288]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.