Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อัลลอฮ์ (อาหรับ: الله, สัทอักษรสากล: [ʔaɫ.ɫaːh] ) เป็นคำศัพท์ภาษาอาหรับสำหรับพระเจ้าในศาสนาอับราฮัม ส่วนภาษาอังกฤษ คำนี้มีความหมายโดยทั่วไปเป็นพระเป็นเจ้าในศาสนาอิสลาม[1][2][3] กล่าวกันว่า คำนี้มาจากสองคำที่ถูกย่อ คือ อัล-อิลาฮ์ ซึ่งหมายถึง "เทพองค์นั้น" และมีความสัมพันธ์ทางภาษากับคำว่าพระเจ้าในภาษาฮีบรูกับภาษาแอราเมอิกว่า เอล (เอโลฮิม) และ อีลาฮ์[4][5]
คำว่า อัลลอฮ์ ถูกใช้โดยชาวอาหรับหลายศาสนามาตั้งแต่ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะปรากฏ[6] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชาวมุสลิม (ทั้งอาหรับและไม่ใช่อาหรับ) และอาหรับคริสเตียน[7] และแม้ว่าจะไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม ก็ยังคงมีการใช้ในลัทธิบาบี, ศาสนาบาไฮ, ชาวอัศศอบิอะฮ์, ชาวคริสต์ในประเทศอินโดนีเซียกับมอลตา และชาวยิวมิซราฮี[8][9][10][11] การใช้แบบเดียวกันโดยชาวคริสต์และชาวซิกข์ในมาเลเซียตะวันตกได้สร้างความขัดแย้งทางการเมืองและกฎหมาย[12][13][14][15]
ศัพทมูลวิทยาของคำว่า อัลลอฮ์ ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในนักนิรุกติศาสตร์ภาษาอาหรับคลาสสิก[16] นักไวยากรณ์จากสำนักบัศเราะฮ์ถือว่ามันอาจเป็นทั้ง "อย่างเป็นธรรมชาติ" (มุรตะญัล) หรือเป็นรูปเฉพาะของ ลาฮ์[16] บางส่วนถือว่าคำนี้เป็นคำยืมจากภาษาซีรีแอกหรือฮีบรู แต่ส่วนใหญ่ถือว่าคำนี้แยกจากการย่อคำนำหน้านามเฉพาะเจาะจงภาษาอาหรับว่า อัล- กับ อิลาฮ์ "เทพ, พระเจ้า" กลายเป็น อัลอิลาฮ์ หมายถึง "เทพองค์นั้น" หรือ "พระเจ้าองค์นั้น"[16] นักวิชาการสมัยใหม่ส่วนใหญ่สนับสนุนทฤษฎีข้อหลัง และมองทฤษฎีคำยืมเป็นวิมตินิยม[17]
คำร่วมเชื้อสายของพระนาม "อัลลอฮ์" ปรากฏในกลุ่มภาษาเซมิติก เช่นภาษาฮีบรูกับภาษาแอราเมอิก[18] สอดคล้องกับรูปภาษาแอราเมอิกเป็น เอลาห์ (אלה) แต่ในสถานะสำคัญ (emphatic state) เป็น เอลาฮา (אלהא) ในภาษาอราเมอิกไบเบิลเขียนเป็น ܐܠܗܐ (ʼĔlāhā) และในภาษาซีรีแอกเขียนเป็น ܐܲܠܵܗܵܐ (ʼAlâhâ) ทั้งสองคำหมายถึง "พระเจ้า"[19]
ความหลากหลายของคำว่า อัลลอฮ์ พบได้ทั้งจารึกพวกนอกศาสนาและศาสนาคริสต์[6][20] อีกทฤษฎีหนึ่งนำเสนอว่าบทบาทของอัลลอฮ์ในลัทธิพหุเทวนิยมก่อนอิสลาม ผู้เขียนบางส่วนแนะนำว่า ชาวอาหรับพหุเทวนิยมใช้ชื่อนี้ถึงพระผู้สร้างหรือเทพผู้เป็นใหญ่ในแพนเธออน (pantheon)[21][22] คำนี้อาจเป็นที่คลุมเครือในศาสนาที่มักกะฮ์[21][23] สันนิษฐานหนึ่งที่สืบไปถึงยูลีอุส เวลเฮาเซินกล่าวถึงอัลลอฮ์ (เทพสูงสุดของสหพันธ์เผ่าของกุเรช) ว่าการกำหนดที่อุทิศความเหนือกว่าของฮุบัล (เทพสูงสุดของกุเรช) อยู่เหนือเทพองค์อื่น[6] อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานว่าอัลลอฮ์กับฮุบัลคือเทพคนละองค์กัน[6] ตามสันนิษฐานนี้ กะอ์บะฮ์เป็นสถานที่แรกที่ถวายแด่เทพสูงสุดนามว่าอัลลอฮ์และต่อมาเป็นเจ้าบ้านในแพนเธออนของกุเรชหลังพิชิตมักกะฮ์เป็นเวลาประมาณศตวรรษหนึ่งก่อนสมัยมุฮัมมัด[6] จารึกบางส่วนในศตวรรษก่อนหน้าใช้บันทึกอัลลอฮ์เป็นพระนามของเทพในพหุเทวนิยม แต่ไม่มีใครทราบแน่นอนว่าใช้ทำอะไร[6] นักวิชาการบางส่วนกล่าวแนะว่า อัลลอฮ์อาจเป็นเทพผู้สร้างที่ห่างเหินที่ค่อย ๆ ถูกบดบังโดยเทพเจ้าท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะมากขึ้น[24][25] มีความเห็นแตกต่างกันว่าอัลลอฮ์มีบทบาทหลักในลัทธิทางศาสนามักกะฮ์[24][26] โดยไม่มีการพบรูปลักษณ์เฉพาะของพระองค์[26][27] และเป็นพระเจ้าองค์เดียวในมักกะฮ์ที่ไม่มีเทวรูป[28] อับดุลลอฮ์ ชื่อพ่อของศาสดามุฮัมมัด หมายถึง "ทาสของพระเจ้า"[23]
ผู้พูดภาษาอาหรับในกลุ่มศาสนาอับราฮัมทั้งหมด ใช้คำว่า "อัลลอฮ์" ที่หมายถึง "พระเจ้า"[8] ชาวอาหรับคริสเตียนในปัจจุบัน ไม่พบคำอื่นสำหรับ "พระเจ้า" มากไปกว่า "อัลลอฮ์"[29] เช่นเดียวกันกับคำว่า "พระเจ้า" ในภาษาแอราเมอิกคือ เอลาฮา (ʼĔlāhā) หรือ อาลาฮา (แม้แต่ภาษามอลตา ซึ่งสืบมาจากภาษาอาหรับ ในประเทศมอลตา เป็นประเทศที่ประชากรเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกใช้คำว่า Alla หมายถึง "พระเจ้า") ตัวอย่างในอาหรับคริสเตียน เช่น คำว่า อัลลอฮุลอับ (الله الأب) คือพระเจ้าพระบิดา อัลลอฮุลอิบน์ (الله الابن) สำหรับพระบุตรพระเป็นเจ้า และ อัลลอฮุรรูฮิลกุดส์ (الله الروح القدس) สำหรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ (สำหรับแนวคิดพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาคริสต์ ดูพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาคริสต์)
อาหรับคริสเตียนมีบทภาวนาสองรูปแบบที่เป็นหน่วยคำเติมในจุดเริ่มต้นของงานเขียน โดยพวกเขานำคำว่า บิสมิลลาฮ์ ของมุสลิม และสร้าง บิสมิลลาฮ์ ที่แปลงเป็นตรีเอกภาพของตนมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8[30] บิสมิลลาฮ์ ของมุสลิมแปลได้เป็น: "ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ" ส่วน บิสมิลลาฮ์ แบบตรีเอกภาพแปลได้เป็น: "ในพระนามของพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระเจ้าองค์เดียว" บทภาวนาภาษาซีรีแอก ลาติน และกรีกไม่มีคำว่า "พระเจ้าองค์เดียว" ต่อท้าย การเพิ่มส่วนนี้มีไว้เพื่อเน้นถึงมุมมองเอกเทวนิยมของความเชื่อแบบตรีเอกภาพ และทำให้มันเป็นที่พอใจแก่มุสลิมมากกว่า[30]
รายงานจากมาร์แชลล์ ฮอดจ์สัน ดูเหมือนว่าในช่วงก่อนการมาของศาสนาอิสลาม ชาวอาหรับคริสเตียนบางส่วนแสวงบุญที่กะอ์บะฮ์ ซึ่งตอนนั้นยังคงเป็นวิหารของพวกนอกศาสนา ยกย่องอัลลอฮ์ในฐานะพระผู้สร้าง[31]
อักษรภาษาซีรีแอก ܐܠܗܐ (ʼĔlāhā) สามารถพบในรายงานและรายชื่อมรณสักขีในศาสนาคริสต์ที่อาระเบียใต้[32][33] เช่นเดียวกันกับรายงานเอกสารภาษาซีรีแอกโบราณของชื่อมรณสักขีในสมัยอาณาจักรฮิมยัรกับอาณาจักรอักซุม[34]
ในชีวประวัติของอิบน์ อิสฮาก มีผู้นำคริสเตียนชื่อว่า อับดุลลอฮ์ อิบน์ อะบูบักร์ อิบน์ มุฮัมมัด ผู้พลีชีพที่นัจญ์รอนใน ค.ศ. 523 สวมแหวนที่สลักว่า "อัลลอฮ์คือพระเจ้าของข้า"[35]
ในจารึกมรณสักขีในศาสนาคริสต์ที่สืบถึง ค.ศ. 512 กล่าวถึงอัลอิลาฮ์ (الاله)[36] สามารถพบได้ทั้งภาษาอาหรับกับแอราเมอิก จารึกนี้เริ่มต้นด้วยประโยค "ด้วยความช่วยเหลือจากอัลอิลาฮ์"[37][38]
ในพระวรสารก่อนการมาของศาสนาอิสลาม คำที่ใช้สื่อถึงพระเจ้าคือ "อัลลอฮ์" เพราะหลักฐานจากพันธสัญญาใหม่ฉบับภาษาอาหรับที่ค้นพบบางส่วนซึ่งบันทึกโดยชาวอาหรับคริสเตียนในช่วงอาระเบียก่อนการมาของศาสนาอิสลามในคาบสมุทรอาหรับตอนเหนือและใต้[39] อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยล่าสุดของสาขาอิสลามศึกษาโดย Sydney Griffith และคณะฯ (2013), David D. Grafton (2014), Clair Wilde (2014), ML Hjälm และคณะฯ (2016 & 2017) ยืนยันว่า "ทุกคนสามารถพูดได้เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของพระวรสารฉบับก่อนอิสลามแบบศาสนาคริสต์ในภาษาอาหรับว่า ยังไม่มีการพบสัญลักษณ์ที่แน่ชัดในการมีอยู่จริงของมันเลย"[40][41][42][43][44] ที่มากไปกว่านั้น ในงานวิจัยล่าสุดของ ML Hjälm (2017) กล่าวไว้ว่า "ไม่มีการพบเอกสารตัวเขียนที่แปลจากพระวรสารใดที่พบก่อน ค.ศ. 873"[45]
อิรฟาน ชะฮีด กล่าวถึงกิตาบุลอะฆอนี ชุดสะสมสารานุกรมคริสต์ศตวรรษที่ 10 ไว้ว่า มีรายงานชาวคริสต์ก่อนการมาของศาสนาอิสลามได้ส่งเสียงสิงหนาทว่า "ยาลาอิบาดุลลอฮ์" (โอ้ทาสของอัลลอฮ์) เพื่อเรียกให้ผู้คนเข้าสนามรบ[46] รายงานจากชะฮีด จากอัลมัรซุบานี นักวิชาการมุสลิมในคริสต์ศตวรรษที่ 10 บันทึกว่า มีการกล่าวถึง "อัลลอฮ์" ในกวีชาวคริสต์ก่อนการมาของศาสนาอิสลามจากนักกวีชาวฆ็อสซานิดบางส่วนและตานูคิดในประเทศซีเรียกับคาบสมุทรอาหรับตอนบน[47][48][49]
ในศาสนาอิสลาม อัลลอฮ์ นั้นเป็นพระเจ้าองค์เดียว มีอำนาจ และไม่เหมือนใคร และเป็นผู้สร้างจักรวาลซึ่งเหมือนกับพระเจ้าในศาสนาอับราฮัมอื่น ๆ[9][10] ส่วนใหญ่มักมอง อัลลอฮ์ เป็นพระนามของพระเจ้า ซึ่งขัดแย้งกับนักวิชาการร่วมสมัย กับคำถามที่ว่า คำว่า อัลลอฮ์ ควรแปลว่า พระเจ้า หรือไม่[50]
ตามหลักความเชื่อของศาสนาอิสลาม อัลลอฮ์เป็นคำเรียกทั่วไปของพระเจ้ามากที่สุด[51] ซึ่งมีความสัมพันธ์กันกับหลักเตาฮีด ดังบทที่ 112 ของอัลกุรอาน (อัลอิคลาศ) ไว้ว่า:
และในอายะตุลกุรซี ซึ่งอยู่ในโองการที่ 255 ของบทที่ยาวที่สุด (บทที่ 2) ของอัลกุรอาน อัลบะเกาะเราะฮ์ ไว้ว่า:
"อัลลอฮฺนั้นคือไม่มีผู้ที่เป็นที่เคารพสักการะใด ๆ ที่เที่ยงแท้ นอกจากพระองค์เท่านั้น ผู้ทรงมีชีวิต ผู้ทรงบริหารกิจการทั้งหลาย โดยที่การง่วงนอน และการนอนหลับใด ๆ จะไม่เอาพระองค์
สิ่งที่อยู่ในบรรดาชั้นฟ้าและสิ่งที่อยู่ในแผ่นดินนั้นเป็นของพระองค์ ใครเล่าคือผู้ที่จะขอความช่วยเหลือให้แก่ผู้อื่น ณ ที่พระองค์ได้ นอกจากด้วยอนุมัติของพระองค์เท่านั้น
พระองค์ทรงรู้สิ่งที่อยู่เบื้องหน้าของพวกเขาและสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของพวกเขา และพวกเขาจะไม่ล้อมสิ่งใด จากความรู้ของพระองค์ไว้ได้ นอกจากสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์เท่านั้น
เก้าอี้พระองค์นั้นกว้างขวางทั่วชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และการรักษามันทั้งสองก็ไม่เป็นภาระหนักแก่พระองค์
และพระองค์นั้นคือผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงยิ่งใหญ่"
ในธรรมเนียมอิสลาม มี 99 พระนามของพระเจ้า (อัลอัสมาอุลฮุสนา แปลตรงตัว: 'พระนามที่ดีที่สุด' หรือ 'พระนามที่สวยงามที่สุด') ที่กล่าวถึงคุณลักษณะเฉพาะของอัลลอฮ์[10][54] พระนามทั้งหมดที่กล่าวถึงอัลลอฮ์นั้น เป็นพระนามที่สูงสุดและครอบคลุมทั้งหมด[55]
มุสลิมส่วนใหญ่จะไม่แปลประโยคภาษาอาหรับของคำว่า อินชาอัลลอฮ์ (หมายถึง 'ถ้าพระเจ้าทรงประสงค์') หลังกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคต[56] มุสลิมที่เลี่อมใสในทางศาสนาส่งเสริมให้เริ่มต้นด้วยคำว่า บิสมิลลาฮ์ (หมายถึง 'ด้วยพระนามของพระผู้เป็นเจ้า')[57] มีประโยคอื่นที่มุสลิมใช้สรรเสริญพระเจ้า เช่น "ศุบฮานัลลอฮ์" (พระสิริเป็นของพระเจ้า) "อัลฮัมดุลิลลาฮ์" (บรรดาการสรรเสริญเป็นของพระเจ้า) "ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์" (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์) หรือบางครั้งก็ "ลาอิลาฮะอิลลาอันต์ / ฮูว์" (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจาก พระองค์) และ "อัลลอฮุอักบัร" (พระเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่) เป็นการให้ข้อคิดทางวิญญาณในการรำลึกถึงพระเจ้า (ษิกร์)[58]
ในลัทธิศูฟีมีการปฏิบัติที่มีชื่อว่า ษิกรุลลอฮ์ (ذكر الله แปลว่า "การรำลึกถึงพระเจ้า") โดยกลุ่มศูฟีจะครุ่นคิดและกล่าวถึงพระนาม อัลลอฮ์ หรือพระนามอันวิจิตรซ้ำ ๆ ขณะควบคุมการหายใจของตน[59]
รายงานจากฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด ปีเตอส์ "กุรอานยืนยัน มุสลิมเชื่อมั่น และนักประวัติศาสตร์ยืนยันว่ามุฮัมมัดกับผู้ติดตามของท่านสักการะพระเจ้าองค์เดียวกันกับชาวยิว (29:46) อัลลอฮ์ในอัลกุรอานเป็นพระผู้สร้างองค์เดียวกันที่ให้พันธสัญญาแก่อับราฮัม" ปีเตอส์กล่าวว่า กุรอานพรรณนาถึงอัลลอฮ์ให้มีอานุภาพและห่างไกลมากกว่าพระยาห์เวห์ และเป็นเทพเจ้าสากล (universal deity) ซึ่งต่างจากพระยาห์เวห์ที่คอยติดตามชนเผ่าอิสราเอลอย่างใกล้ชิด[60]
ประวัติของคำว่า อัลลอฮ์ ในภาษาอังกฤษน่าจะได้อิทธิพลมาจากการศึกษาศาสนาเปรียบเทียบในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เช่น บางครั้ง Thomas Carlyle (1840) ใช้คำว่าอัลลอฮ์แต่ไม่บอกความนัยว่าต่างจากพระเจ้าอย่างไรอย่างไรก็ตาม ในหนังสือ biography of Muḥammad (1934) ของ Tor Andræ ใช้คำว่า อัลลอฮ์ เสมอ แม้ว่าในหนังสือ "conception of God" ได้กล่าวโดยนัยว่าพระองค์แตกต่างจากเทววิทยาแบบยิวกับคริสต์[61]
หลายภาษาไม่ค่อยใช้คำว่า อัลลอฮ์ หมายถึงพระเจ้า แต่ยังคงใช้คำอุทานอื่นแทน เช่น เนื่องจากมุสลิมอาศัยอยู่ในคาบสมุทรไอบีเรียนานหลายศตวรรษ คำว่า ojalá ในภาษาสเปน และ oxalá ในภาษาโปรตุเกส เป็นคำยืมมาจากภาษาอาหรับว่า อินชาอัลลอฮ์ (إن شاء الله) แปลตรงตัวคือ 'ถ้าพระเจ้าทรงประสงค์'[62]
มุสลิมบางส่วนไม่แปลคำว่า "อัลลอฮ์" เป็นภาษาอังกฤษมากกว่าที่จะใช้คำแปลภาษาอังกฤษว่า "God"[63] เนื่องจากคำนี้มักนำไปใช้กับมนุษย์บางส่วนเป็นบุคลาธิษฐานของคำและแนวคิด[64][65]
คริสต์ศาสนิกชนในประเทศมาเลเซียกับอินโดนีเซียใช้คำว่า อัลลอฮ์ เพื่ออิงถึงพระเจ้าในภาษามาเลเซียและภาษาอินโดนีเซีย (รูปแบบมาตรฐานของสองภาษาคือภาษามลายู) การแปลพระคัมภีร์กระแสหลักใช้คำว่า อัลลอฮ์ เป็นคำแปลของภาษาฮีบรูว่า เอโลฮิม (พระผู้เป็นเจ้า)[66] ซึ่งสามารถสืบถึงผลงานแปลโดยฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 16[67][68] พจนานุกรมภาษาดัตช์-มลายูฉบับแรกโดย Albert Cornelius Ruyl, Justus Heurnius และ Caspar Wiltens ใน ค.ศ. 1650 (ฉบับปรับปรุงในรุ่น ค.ศ. 1623 และฉบับภาษาลาตินรุ่น ค.ศ. 1631) บันทึกคำว่า "อัลลอฮ์" แปลเป็นภาษาดัตช์ว่า "Godt"[69] นอกจากนี้ Ruyl ก็แปลพระวรสารนักบุญมัทธิวเป็นภาษามลายูใน ค.ศ. 1612 (พระคัมภีร์ที่แปลเป็นภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษายุโรปช่วงแรก[70] ซึ่งเผยแพร่หลังคัมภีร์ไบเบิลฉบับคิงเจมส์ปีเดียว[71][72]) ซึ่งตีพิมพ์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1629 ต่อมาเขาแปลพระวรสารนักบุญมาระโก ซึ่งเผยแพร่ใน ค.ศ. 1638[73][74]
ใน ค.ศ. 2007 รัฐบาลมาเลเซียออกกฎหมายห้ามผู้ใดใช้คำว่า อัลลอฮ์ นอกจากมุสลิม แต่ใน ค.ศ. 2009 สภาสูงมาเลเซียยกเลิกกฎหมายนี้ เพิกถอนกฎหมาย วินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในขณะที่คำว่า อัลลอฮ์ ถูกใช้เป็นพระนามพระเจ้าในศาสนาคริสต์มาตั้ง 4 ศตวรรษ ข้อโต้แย้งสมัยใหม่เริ่มขึ้นจากหนังสือพิมพ์โรมันคาทอลิก เดอะเฮรัลด์ ใช้คำว่า อัลลอฮ์ ในหนังสือพิมพ์ของตน รัฐบาลจึงร้องเรียนต่อศาล และสภาสูงระงับการดำเนินการตามคำตัดสินของศาลจนกว่าจะได้รับการอุทธรณ์ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2013 สภาเห็นชอบการแบนของรัฐบาล[75] ในช่วงต้น ค.ศ. 2014 รัฐบาลมาเลเซียได้ยึดคัมภีร์ไบเบิลมากกว่า 300 เล่มที่ใช้พระนามนี้สื่อถึงพระเจ้าในศาสนาคริสต์ในมาเลเซียตะวันตก[76] อย่างไรก็ตาม การใช้คำว่า อัลลอฮ์ ไม่ได้ถูกห้ามในรัฐซาบะฮ์และรัฐซาราวัก[77][78] สาเหตุหลักที่ไม่ได้ถูกห้ามในสองรัฐนี้เพราะมีการใช้คำนี้มาอย่างยาวนาน และอัลกีตับท้องถิ่น (คัมภีร์ไบเบิล) ถูกตีพิมพ์อย่างเสรีในมาเลเซียตะวันออกโดยไม่มีข้อจำกัดมาหลายปี[77] และทั้งสองรัฐไม่มีกฎหมายรัฐอิสลาม (Islamic state laws) ที่คล้ายกับมาเลเซียตะวันตก[15]
เพื่อตอบสนองต่อคำวิจารณ์ของสื่อ รัฐบาลมาเลเซียได้เสนอ แนวทาง 10 จุด (10-point solution) เพื่อหลีกเลี่ยงข้อมูลที่สับสนหรือสร้างความเข้าใจผิด[79][80] แนวทาง 10 จุดนั้น สอดคล้องกับข้อตกลง 18 และ 20 ในรัฐซาราวักกับซาบะฮ์[15]
คำว่า อัลลอฮ์ เขียนโดยไม่มีอะลิฟเสมอ เพื่อที่จะสะกดเป็นสระ อา นั่นเพราะว่าการสะกดแบบนี้มีมาก่อนที่ชาวอาหรับจะเริ่มใช้ อะลิฟ ไว้สะกดเสียง อา อย่างเป็นปกติวิสัย อย่างไรก็ตาม ในการสะกดคำ จะมี อะลีฟ เล็กบน ชัดดะฮ์ เพื่อระบุการสะกด
ข้อยกเว้นหนึ่งอาจพบในจารึกซะบาดที่มีมาก่อนศาสนาอิสลาม[81] โดยสุดที่สัญญาณไม่ชัดเจนที่อาจเป็นรูป ฮ ยาว หรืออาจไม่ได้เชื่อมกัน ล-ฮ:-
ไทป์ฟอนต์อาหรับหลายอันมีตัวแฝดสำหรับคำว่า อัลลอฮ์[82]
ยูนิโคดมีรหัสสำหรับคำว่าอัลลอฮ์ ﷲ = U+FDF2 ในบล็อก Arabic Presentation Forms-A ซึ่งมีไว้เพื่อ "เข้ากันได้กับชุดอักขระรุ่นเก่าบางชุดที่เข้ารหัสรูปแบบการนำเสนอโดยตรง"[83][84] ส่วนตราแผ่นดินของอิหร่านถูกบันทึกในส่วน Miscellaneous Symbols ที่รหัส U+262B (☫)
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.