Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส บ้างเรียก ฝรั่งโลสงโปรตุเกศ (มาจาก Luso), บรเทศ หรือ แขกเมืองฝรั่งปัศตุกัน[3][4] เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลูกผสมเชื้อสายโปรตุเกสที่อาศัยอยู่ประเทศไทย มีบรรพบุรุษเป็นชาวโปรตุเกสที่อาศัยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา แล้วอพยพลงมากรุงเทพมหานครหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง มีแหล่งตั้งถิ่นฐานสองแห่งคือชุมชนบ้านเขมร มีศูนย์กลางที่วัดคอนเซ็ปชัญ และอีกชุมชนหนึ่งคือชุมชนกุฎีจีน มีศูนย์กลางอยู่ที่วัดซางตาครู้ส ถือเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาในอาณาจักรอยุธยาตั้งแต่ ค.ศ. 1511 โดยมีเป้าประสงค์ด้านการค้าทางทะเลเป็นสำคัญ แต่ภายหลังชาวโปรตุเกสในสยามเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเป็นทหารอาสาในราชสำนักอยุธยา และการติดต่อค้าชายทางทะเลนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาณาจักรอยุธยากลายเป็นรัฐเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองขึ้น[5]
ภาพของทรัพย์ (ศาสนนาม แองเจลินา; ค.ศ. 1805–1884) หญิงเชื้อสายโปรตุเกสบ้านกุฎีจีน เธอเป็นลื่อของพระยาวิไชเยนทร์ กับท้าวทองกีบม้า และเป็นภรรยาของหลวงอาวุธวิเศษ[1] | |
ประชากรทั้งหมด | |
---|---|
1,400–2,000 คน (ค.ศ. 1830)[2] | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
ธนบุรี · บางกอกใหญ่ · ดุสิต กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย กัมปงเซอรานี รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย | |
ภาษา | |
ไทย อดีต: เขมร · โปรตุเกส | |
ศาสนา | |
ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก | |
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง | |
โปรตุเกสพลัดถิ่น · ไทยสยาม · ไทยเชื้อสายจีน · เขมร · มอญ · ญวน · อินเดีย |
ปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสเลิกใช้ภาษาโปรตุเกสในการสื่อสารไปแล้ว ทั้งยังมีรูปพรรณไม่ต่างไปจากคนไทยทั่วไป คงเหลือแต่วัฒนธรรมด้านอาหารและประเพณีทางศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่ยังตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน
มีหลักฐานว่าชาวโปรตุเกสปรากฏตัวในอาณาจักรอยุธยามาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16[6] เมื่อโปรตุเกสยึดครองเมืองมะละกาได้ใน ค.ศ. 1511 จึงมีการส่งทูตชื่อดูวาร์ตึ ฟือร์นังดึช (Duarte Fernandes) เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการแก่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งทรงต้อนรับอย่างดีและมีพระราชประสงค์จะเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ากรุงโปรตุเกสด้วย[7] โปรตุเกสจึงส่งทูตชื่ออังตอนียู ดึ มีรันดา ดึ อาเซเวดู (António de Miranda de Azevedo) เพื่อติดต่อด้านการค้าและสนับสนุนด้านการทหารให้แก่อยุธยาด้วย ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงตอบรับข้อเสนอ และเริ่มทำการค้าข้าวสารกับเมืองมะละกาใน ค.ศ. 1513[8] หลังจากนั้นเป็นต้นมา จึงเริ่มมีพ่อค้าและทหารรับจ้างเชื้อสายโปรตุเกสเดินทางเข้าไปพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยา พวกเขาเป็นทหารชั้นล่างของโปรตุเกส (Lançados) ที่ผันตัวเป็นพ่อค้าและตั้งชุมชนการค้าเองไม่ขึ้นกับรัฐบาลโปรตุเกส[9] ในกรุงศรีอยุธยา พวกเขาถูกดึงดูดด้วยสิทธิพิเศษด้านการค้าและการยกเว้นภาษี[10] ดังจะพบว่าชาวโปรตุเกสที่อาศัยในกรุงศรีอยุธยาประกอบอาชีพอย่างหลากหลาย เช่น ช่างอัญมณี นักเดินเรือ แพทย์แผนตะวันตก ช่างหล่อปืน สถาปนิก วิศวกร พ่อค้า เสมียน นักดนตรี หรือแม้กระทั่งพราหมณ์[11] ปลายรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พบว่ามีพ่อค้าโปรตุเกสอาศัยอยู่ในอยุธยาราว 300 คน[12] เอกสารของฟือร์เนา เม็งดึช ปิงตู (Fernão Mendes Pinto) ระบุว่ามีทหารชาวโปรตุเกสจำนวน 160 นาย ร่วมทัพอยุธยาไปตีเมืองเชียงใหม่ใน ค.ศ. 1545[13] และมีทหารโปรตุเกสอีก 120 นายร่วมทัพอยุธยาไปตีเชียงใหม่อีกครั้งในสองปีต่อมา[14] และเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่งใน ค.ศ. 1569 มีชาวโปรตุเกสถูกสังหารประมาณ 27 คน และอีกจำนวนหนึ่งถูกกวาดต้อนไปเมืองพะโค[15]
ในห้วงเวลาเดียวกันนั้น เจ้าเมืองมะละกาภายใต้การปกครองของโปรตุเกสได้ส่งมานูแอล ฟัลเกา (Manuel Falcão) ไปเจรจาด้านการค้ากับสุลต่านอิสมาอิล ชะฮ์ หรือรายาอินทิรา กษัตริย์อาณาจักรปัตตานี เมื่อ ค.ศ. 1516 หลังจากนั้นก็ทรงอนุญาตให้โปรตุเกสตั้งชุมชนโปรตุเกสและเปิดโรงเก็บสินค้าในปัตตานีอย่างเป็นทางการ ครั้น ค.ศ. 1533 เปาลู ดา กามา (Paulo da Gama) เจ้าเมืองมะละกาคนถัดมา ประสบความสำเร็จจากการติดต่อด้านการค้ากับพระมเหสีของสุลต่านมูซัฟฟาร์ ชะฮ์ เป็นผลทำให้ประชาคมโปรตุเกสในปัตตานีขยายตัวขึ้น โดยใน ค.ศ. 1538 มีชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่ในปัตตานีมากถึง 300 คน[16] แต่หลังโปรตุเกสเสียเมืองมะละกาแก่ฮอลันดาใน ค.ศ. 1641 ชาวโปรตุเกสจึงเลิกสถานีการค้าย่านคาบสมุทรมลายูทั้งหมด รวมถึงเมืองปัตตานีด้วย ชาวโปรตุเกสจึงย้ายออกไปจนหมด[17] นอกจากปัตตานีแล้ว ยังมีชุมชนโปรตุเกสอีกแห่งที่ภูเก็ต มีการตั้งสถานีการค้าและเผยแผ่ศาสนาที่นั่น ครั้นเมื่อผู้ชายโปรตุเกสหมดภารกิจบนเกาะแล้ว ก็ไม่ได้รับผิดชอบลูกที่เกิดกับหญิงพื้นเมือง อย่างไรก็ตามทางโปรตุเกสได้ส่งคนสอนศาสนาเข้าไปเผยแผ่[18] หลังการเข้ามาของชาวโปรตุเกส ก็ทำให้มีชาวยุโรปเข้ามาตั้งถิ่นฐานชุมชนในอยุธยาเพิ่มขึ้น โดยมีชาวฮอลันดาเข้ามาใน ค.ศ. 1598 ชาวอังกฤษใน ค.ศ. 1612 และชาวฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1663[19]
ทหารรับจ้างโปรตุเกสได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจโดยราชสำนักอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีทหารรับจ้างโปรตุเกสอย่างน้อยสองคนที่อยู่กับพระองค์เมื่อทำศึกกับพระมหาอุปราชา สมเด็จพระเอกาทศรถมีทหารรับจ้างคู่พระทัยชื่อ ตริสตาว โกลายู (Tristao Golaio) และสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีทหารรับจ้างคู่พระทัยชื่อ กริสตูวาว รีเบลู (Cristovao Rebelo)[20] อาชีพที่โดดเด่นอีกอาชีพคือพ่อค้า ชาวโปรตุเกสทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางค้าขายกับยุโรปและเอเชีย นำสินค้าสำคัญเข้าสู่อยุธยาเช่น ดินปืน เสื้อเกราะ และยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ[21] นอกจากทหารรับจ้างและพ่อค้าแล้ว คณะเดินทางชาวโปรตุเกสมักจะมีบาทหลวงร่วมอยู่ด้วยเสมอ เพราะเป็นศูนย์รวมจิตใจของนักเดินเรือ โดยเฉพาะการนำสวด หรือสวดส่งวิญญาณเมื่อมีคนตายบนเรือ ด้วยเหตุนี้ชุมชนชาวโปรตุเกสจึงมีโบสถ์คริสต์เป็นจุดศูนย์กลางของชุมชนเสมอ และทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาแก่ผู้คนในประเทศที่ตนอาศัย[22] ในช่วงแรกพวกเขาสมรสกับหญิงจากอินเดียจนกลายเป็นประชากรลูกครึ่งกลุ่มหลัก[23] กระทั่งชั้นหลังจึงเริ่มสมรสข้ามชาติพันธุ์กับชนพื้นเมืองไทย มอญ และจีน สืบสายเลือดลงมาเป็นประชากรลูกครึ่งจำนวนมาก จนเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง[24][25] ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ บัญญัติห้ามมิให้หญิงไทยและมอญสมรสกับคนต่างศาสนา อันได้แก่ ฝารัง (โปรตุเกส), อังกฤษ วิลันดา, ชวา และมลายู เพราะเป็นภัยต่อแผ่นดินและพุทธศาสนา กำหนดโทษไว้หกประการ[26] ในเวลาต่อมากลุ่มลูกครึ่งเหล่านี้มักจะหมั้นหมายแต่งงานกันในกลุ่มของตัวเอง หรือสมรสกับชนต่างด้าวกลุ่มอื่น ๆ ที่เข้ามาทำงานในอยุธยา[27] ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ญวน เขมร อินเดีย ลังกา ซึ่งเปลี่ยนศาสนาเพื่อหลีกเลี่ยงพันธะทางสังคม[28]
ในอยุธยา กลุ่มชาติพันธุ์โปรตุเกสมีแหล่งอาศัยอยู่ที่ค่ายโปรตุเกสหรือเกาะโปรตุเกส[25] (พงศาวดารเรียก "บ้านดิน") มีเนื้อที่ราว 500 ไร่ อยู่ทางทิศใต้ของเกาะเมือง ตั้งอยู่ท่ามกลางประชาคมต่างด้าวอื่น ๆ[30] ปรากฏการตั้งชุมชนมาตั้งแต่ ค.ศ. 1515 เป็นต้นมา[9] นับเป็นฝรั่งชาติแรกที่ได้รับพระราชทานที่ดินอย่างเป็นทางการ[21] แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มดอมินิกัน ตั้งอยู่ตรงข้ามบ้านญี่ปุ่น มีศูนย์กลางที่วัดนักบุญดอมินิก และกลุ่มเยสุอิต ตั้งอยู่ทางใต้เกือบถึงคลองตะเคียน มีศูนย์กลางอยู่ที่วัดนักบุญเปาโล ต่อมาในยุคหลังมีการสร้างโบสถ์นักบุญออกัสตินทางตอนเหนือของหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง[31] ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีประชากรโปรตุเกสอาศัยอยู่ในอยุธยาราว 700-800 ครอบครัว[24] หรือมีประชากรลูกครึ่งในชุมชนมากถึง 6,000 คน[32] ต่อมามีการก่อสร้างโบสถ์คริสต์แห่งหนึ่งในเมืองบางกอก ชื่อวัดคอนเซ็ปชัญใน ค.ศ. 1674 เข้าใจว่าชุมชนนี้น่าจะเป็นหมู่บ้านฝรั่งเศสมาก่อน[33] โดยมีประชากรกลุ่มแรกเป็นชาวกวยเข้ารีตราวสี่ถึงห้าครอบครัวคอยดูแลที่ดิน[34] ก่อนถูกแทนที่ด้วยชาวโปรตุเกสในชั้นหลัง[35] และยังดำรงชุมชนอยู่จนถึงปัจจุบัน[36]
ครั้นเข้าสู่ยุคราชวงศ์บ้านพลูหลวง ศาสนาคริสต์ไม่ได้รับการสนับสนุนดังเดิม ในบันทึกของบิชอปหลุยส์ เดอ ซีเซ (Louis de Cicé) ระบุว่าใน ค.ศ. 1713 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ เหลือคริสตังยุโรปประมาณ 20 ครอบครัว[37] กระทั่งการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ชาวโปรตุเกสบางส่วนถูกสังหาร บางส่วนก็ถูกเกณฑ์เป็นเชลยในพม่า ค่ายโปรตุเกสและโบสถ์ต่าง ๆ ในกรุงศรีอยุธยา ก็ถูกพม่าเผาทำลายลงไป[25][38] ชาวโปรตุเกสบางส่วนก็ลี้ภัยไปพิษณุโลก จันทบุรี บ้างก็หนีไปถึงเมืองเขมร[39] บ้างก็อพยพไปเมืองมะละกาและเมืองกัว[40] อีกส่วนก็อพยพไปสมทบกับชาวโปรตุเกสวัดคอนเซ็ปชัญในบางกอก[41][42]
หลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี มีชุมชนชาวโปรตุเกสตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนั้นมาแต่เดิมคือชุมชนวัดคอนเซ็ปชัญ และได้พระราชทานที่ดินให้ชาวโปรตุเกสอีกกลุ่มตั้งถิ่นฐานที่ชุมชนกุฎีจีน มีจำนวน 14 คน[43] เป็นความชอบที่ชาวโปรตุเกสช่วยพระองค์ในการรบกับพม่าที่เมืองจันทบุรีและติดตามพระองค์มาที่กรุงธนบุรี[44][45] บาทหลวงฝรั่งเศสจึงก่อสร้างวัดซางตาครู้ส (Santa Cruz) มีลักษณะเหมือนวัดจีน ทั้งยังตั้งอยู่บนที่ดินที่เคยมีคนจีนอาศัยอยู่ก่อน จึงเรียกว่า "วัดกุฎีจีน" ส่วนชาวโปรตุเกสในนั้นก็ถูกเรียกว่า "ฝรั่งกุฎีจีน"[46][47] คนเชื้อสายโปรตุเกสที่อาศัยอยู่เพิ่มจำนวนขึ้นราว 413 คน ต่อมามีชาวโปรตุเกสจากเขมรอพยพมาสมทบอีก 379 คน[41] สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดปรานคนเชื้อสายโปรตุเกส ด้วยมีราชองครักษ์เป็นคนโปรตุเกสจำนวน 79 นาย[41] มีชาวโปรตุเกสคอยถวายรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระราชมนเทียร ดังปรากฏเรื่องราวของชิดภูบาลและชาญภูเบศร์ สองขุนนางเชื้อสายโปรตุเกสที่ลักลอบทำชู้กับบาทบริจาริกาสองคนและนางรำอีกสี่คน ซึ่งเขียนใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ความว่า "...วิบัติหนูกัดพระวิสูตร รับสั่งให้ชิดภูบาล ชาญภูเบศร์ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่ให้เข้ามาไล่จับหนูใต้ที่เสวย (แล) ในที่ (บรรทม) ด้วย เจ้าประทุมทูลว่าฝรั่งเปนชู้กับหม่อมฉิม หม่อมอุบล กับคนรำ ๔ คน เปน ๖ คนด้วยกัน..."[48] พอช่วงปลายรัชกาล สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเรียกประชุมผู้นำศาสนาทั้งพุทธ อิสลาม และคริสต์ ใน ค.ศ. 1776 เพื่อหารือเรื่องการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต พระภิกษุในศาสนาพุทธเห็นว่าการห้ามนั้นถูกต้อง แต่ผู้นำศาสนาอิสลามและคริสต์ออกมาโต้แย้ง ทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่พอพระทัยเป็นอย่างมาก จึงทรงประกาศพระราชกฤษฎีกาห้ามประชาชนหันไปนับถือศาสนาคริสต์และอิสลาม โดยรับสั่งไว้ว่า[49]
"...ถ้าหากสังฆราชมิชชันนารี หรือคริสตัง หรือมุสลิมคนใดทำคนไทยแม้แต่คนเดียวไปเข้ารีตเป็นมุสลิมหรือคริสตัง ก็ให้จับกุมสังฆราช หรือมิชชันนารี หรือมุสลิมคนนั้น และให้ถือว่าสมควรจะต้องตาย ให้จับกุมคนไทยที่อยากจะเข้ารีตมุสลิมหรือคริสตัง และให้ถือว่าสมควรจะต้องตาย..."
ต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระโกรธคนโปรตุเกสที่ไม่เข้าร่วมพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาด้วยข้อจำกัดทางศาสนา ตามคำสอนของเหล่ามิชชันนารี "...พวกมิชชั่นนารี ซึ่งอยู่ในเมืองไทยได้สอนพวกเข้ารีตถึงความบริสุทธิ์ของศาสนาคริสเตียน ซึ่งจะเอาการอย่างอื่นเช่นการกราบไหว้ตุ๊กตาเข้ามาปนไม่ได้เป็นอันขาด และได้ชี้แจงโดยเฉพาะถึงการที่ตนจะต้องการทำสาบานที่จะมีความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าแผ่นดินนั้น ว่าพวกเข้ารีตจะเข้าไปทำพิธีซึ่งเป็นประเพณีของไทยเช่นในวัด และดื่มน้ำซึ่งพราหมณ์และพระสงฆ์ได้ทำพิธีแช่งไว้ และซึ่งเอาอาวุธของพระเจ้าแผ่นดินจุ่มลงตามแบบไทยไม่ได้..."[50] ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการขาดความจงรักภักดี ทำให้ทหารโปรตุเกสสามนาย และบาทหลวงฝรั่งอีกสามรูปถูกเฆี่ยน สุดท้ายทหารทั้งสามก็ยอมร่วมพิธีดื่มน้ำในวัดพุทธ[41] ส่วนบาทหลวงทั้งสามรูปถูกขับออกนอกประเทศ ทำให้ช่วงปลายรัชกาลไม่มีบาทหลวงประจำโบสถ์เลย[49]
จากความวุ่นวายในช่วงปลายรัชกาลนี้ สร้างความไม่พอใจแก่ประชาคมโปรตุเกสนัก ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสในภูเก็ตส่วนหนึ่งอพยพออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เมืองไทรบุรี ก่อนย้ายไปรวมตัวตั้งหมู่บ้านในย่านปูเลาตีกุซบนเกาะปีนัง[51] หนึ่งในนั้นคือมาร์ตินา โรแซลส์ (Martina Rozells) ชื่อไทยว่า ทองดี เป็นภรรยาของฟรานซิส ไลต์ ที่ลี้ภัยทางศาสนาออกจากภูเก็ตในยุคธนบุรี[52] ทำให้เหลือชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่บนเกาะภูเก็ตราว 2-3 คน ภายใต้การดูแลของนักบวชคณะฟรันซิสกัน[53] ถึงกระนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ไม่ได้เกลียดคนเข้ารีตแต่อย่างใด เพราะเมื่อเกิดเหตุกบฏพระยาสรรค์ ซึ่งได้จับกุมพวกเข้ารีตที่มีหน้าที่รักษาพระราชวัง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงขอให้ปล่อยตัวพวกเข้ารีตเหล่านั้น[49]
ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้คนโปรตุเกสที่ลี้ภัยไปเมืองเขมรพร้อมชาวเขมรเข้ารีตจำนวน 400-500 คน กลับเข้ามาตั้งบ้านเรือนที่วัดคอนเซ็ปชัญ จึงเรียกชื่อชุมชนว่า "บ้านเขมร" และเรียกโบสถ์ว่า "วัดเขมร" มาแต่นั้น[54][55] ต่อมาชาวโปรตุเกสบางส่วนของชุมชนกฎีจีนแยกตัวออกไปตั้งชุมชนใหม่เรียกว่า "ค่ายแม่พระลูกประคำ"[41] เพราะไม่ยอมรับบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่ปกครองวัดซางตาครู้ส จึงแยกตัวออกมาและตั้งชื่อชุมชนตามรูปแม่พระลูกประคำที่นำมาจากอยุธยา ครั้น ค.ศ. 1786 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานที่ดินให้ชาวโปรตุเกสอย่างเป็นทางการเพราะความชอบที่ช่วยรบเมื่อคราวทำสงครามกับพม่า มีการสร้างโบสถ์กาลหว่าร์ (Calvario) เป็นศูนย์กลางของชุมชน แต่ต่อมาชาวโปรตุเกสกลุ่มนี้ลดจำนวนลง โบสถ์กาลหว่าร์ถูกแทนที่ด้วยคริสตังจีนในเวลาต่อมา[56] ในยุครัตนโกสินทร์นี้ คนโปรตุเกสวัดคอนเซ็ปชัญสืบเชื้อสายจากฝรั่งแม่นปืน แต่คนวัดซางตาครู้สนั้นโดยมากเป็นล่าม จึงมีการเปรียบเปรยเอาไว้ว่า "ผู้สืบเชื้อสายโปรตุเกสบ้านกุฎีจีน เป็นฝ่ายบุ๋น (คือถนัดทางเจรจา) ฝ่ายผู้สืบเชื้อสายโปรตุเกสบ้านคอนเซ็ปชัญ เป็นฝ่ายบู๊ (คือถนัดทางการรบ)"[57] ใน ค.ศ. 1782 ฟรังซิสกู ดัส ชากัส (Francisco das Chagas) ถูกส่งมาจากเมืองกัวเพื่อดูแลชาวโปรตุเกสในกรุงเทพมหานคร ซึ่งในช่วง ค.ศ. 1785-1788 ชุมชนโปรตุเกสประกอบไปด้วย คริสตังโปรตุเกส 513 คน ชาวโปรตุเกสจากเขมร 379 คน ญวนในอาณัติโปรตุเกส 580 คน และลูกครึ่งโปรตุเกส-เขมรที่เป็นแพทย์หลวงและทหารในราชสำนักอีกจำนวนหนึ่ง[58] โดยรัฐบาลสยามมีนโยบายให้ลูกหลานชาวโปรตุเกสเหล่านี้เข้าสู่ระบบมูลนาย มีพันธะในการถูกเกณฑ์แรงงาน และต้องทำงานแก่สังกัดกรมกองต่าง ๆ[59] ส่วนชาวโปรตุเกสและคนเข้ารีตในภูเก็ตเมื่อ ค.ศ. 1810 ซึ่งตรงกับช่วงที่ทำสงครามกับพม่า พบว่าขณะนั้นเหลือผู้ใหญ่ 3 คน และเด็กเล็ก 20 คน ซึ่งผู้ใหญ่สองคนเป็นบาทหลวง[60] ส่วนโบสถ์คาทอลิกในภูเก็ตทั้งสามแห่งถูกทำลายจนสิ้นจากสงครามดังกล่าว[61]
หลังสยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริงเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อังกฤษกลายสภาพเป็นคู่ค้าหลักของสยาม ระบบการค้าแบบเก่าของโปรตุเกสก็ซบเซาลง ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทายาทของคนเชื้อสายโปรตุเกสเปลี่ยนสถานะเป็นคนสยามโดยสมบูรณ์และลดบทบาทด้านการค้าลง พวกเขาเข้ารับราชการเป็นทหาร บ้างก็รับราชการในสังกัดกรมท่าและกรมพระคลังสินค้า[62] แต่ด้วยความสามารถด้านภาษาและการค้ากับต่างประเทศ พวกเขาจึงผันตัวไปเป็นล่าม เสมียน และพ่อค้า พวกเขาใกล้ชิดกับราชสำนัก ทำให้ย่านกุฎีจีนเจริญมากขึ้น เป็นที่ตั้งของห้างฝรั่งและร้านถ่ายรูปแห่งแรกของสยาม[4][63] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายในพระราชสาส์นไปต่างประเทศ ความว่า[64]
"...คนโปรตุเคศที่อยู่ในเมืองสยามไม่มีที่พึ่งที่อ้างในเมืองเดิมแล้ว ก็กลับกลายเป็นคนเป็นข้าแผ่นดินสยามไป ครั้นนานมาได้ภรรยาสยามแลเขมร มอญ ญวนต่าง ในกรุงสยามนี้ก็มีบุตรชายหญิงเกิดต่อ ๆ ลงมามีรูปคล้ายกับคนในประเทศนี้ไป ถึงกระนั้นก็ยังถือศาสนาโรมันคาทอลิคมั่นคงอยู่ แลถือธรรมดากิริยาว่าเป็นพวกโปรตุเคศที่เรียกว่าฝรั่งนั้นอยู่ บางคนก็ยังรู้ภาษาโปรตุเคศอยู่บ้าง ครั้นเมื่อกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาเก่า มีการศึกใหญ่แล้วเป็นเมืองร้างไป คนยุโรปชาติอื่นก็หลีกเลี่ยงไปเสียหมด ยังมีอยู่แต่คนซึ่งเป็นตระกูลบุตรหลานโปรตุเคศยังคงมีอยู่ในกรุงสยามเป็นอันมาก ทำราชการเป็นทหารบ้าง เป็นล่ามบ้าง เป็นหมอบ้าง เป็นต้นหนเดินเรือบ้าง พระเจ้าแผ่นดินจึงโปรดให้ตั้งบ้านเรือนมีวัดโรมันคาทอลิคอยู่หลายตำบลด้วยสืบมา..."
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เศรษฐกิจสยามเฟื่องฟู มีการพัฒนาประเทศให้มีความทันสมัยให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพครั้งใหม่จากมาเก๊าของโปรตุเกส เพราะต้องการเงินลงทุนจากชาวโปรตุเกสที่มาจากมาเก๊าเหล่านี้มาพัฒนา เช่น หลุยส์ มารีอา ซาเวียร์ (Luis Maria Xavier) ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการและพ่อค้าในมาเก๊าก่อน ค.ศ. 1840[2][65] เข้าไปอาศัยอยู่แถบโบสถ์กาลหว่าร์ย่านตลาดน้อย[66] มีบุตรชายคือเศเลสติโน มารีอา ซาเวียร์ (Celestino Maria Xavier) เข้ารับราชการในกรุงสยาม เป็นที่ พระยาพิพัฒนโกษา เคยดำรงตำแหน่งในกระทรวงการคลัง และกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งยังเป็นเจ้าของโรงสีข้าวในกรุงเทพฯ[65] นอกจากนี้ยังมีชาวโปรตุเกสจากมาเก๊าคนอื่น ๆ อพยพเข้ามาสมทบอีก โดยประกอบกิจเป็นพ่อค้า ข้าราชการ ล่าม หรือแม้กระทั่งครู[65] และมอบรายได้ของตนสนับสนุนโบสถ์คริสต์ อันเป็นศาสนาที่ตนเองนับถือ[66] ส่วนชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสในจังหวัดภูเก็ต ปรากฏเรื่องราวอีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสเมืองถลาง (ปัจจุบันคือจังหวัดภูเก็ต) พระองค์พระราชนิพนธ์ถึงคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าฝรั่ง ทรงเข้าพระทัยว่าน่าจะเป็นเชื้อสายโปรตุเกสครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่บนเกาะภูเก็ตในช่วงนั้นไว้ ความว่า[67]
"...เมืองถลางมีคนข้างจะแปลกคนหนึ่ง คือ ชาวถลางเรียกกันว่าฝรั่ง ได้เรียกตัวมาสนทนาซักไซ้ดูคนหนึ่ง รูปร่างหน้าตาก็เป็นไทย ๆ ชื่อปอด บอกว่าตนถือศาสนาฝรั่ง คือ ถือวันอาทิตย์เป็นวันพระ... พ่อให้รับศีลแล้วชื่อว่า ดอมินิโค ภรรยาเป็นคนไทยยังไม่ได้รับศีล มีบุตรได้รับศีลแล้ว 2 คน คนหนึ่งเป็นหญิงพ่อให้ชื่อว่า นาตาเลีย คนหนึ่งเป็นชายพ่อให้ชื่อว่า เปา (คือเปาโล หรือปอล) ถามว่าถือฝรั่งมานานหรือยัง ตอบว่าถือต่อ ๆ กันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว...ถามว่า รู้หรือไม่ว่าชั้นเดิมทำไมพวกฝรั่งจึงได้มาอยู่เมืองถลาง ตอบว่าไม่รู้...ตามความจริงพวกนี้บางทีจะเป็นลูกหลานของโปรตุเกสที่ได้มาอยู่ในเมืองถลางแต่ครั้งโบราณ หรือมิฉะนั้นก็เป็นแต่ลูกหลานไทย ๆ ที่เข้ารีตตั้งแต่โปรตุเกสมาสอนไว้..."
ในยุคสมัยหลังนี้ รัฐบาลสยามได้รับแนวคิดจากตะวันตกในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา มีการออกพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456 และพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ทำให้ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสมีชื่อและนามสกุลเป็นภาษาไทย เพื่อแสดงถึงความเป็นพลเมืองไทย พวกเขาจึงมีสถานะเป็นคนเชื้อชาติไทย และสัญชาติไทย เพียงแต่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก รวมทั้งเข้ารับการศึกษาด้วยแบบเรียนภาษาไทย นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงบทสวดทางศาสนาจากภาษาละตินให้เป็นภาษาไทย และใช้การไหว้แทนการจูบรูปเคารพทางศาสนา[59] ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสในยุคก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับอิทธิพลความเป็นอยู่อย่างคนไทยเต็มที่ แม้พวกเขาจะมีความรู้สึกเป็นอื่นอยู่ ด้วยเรียกคนนอกชุมชนของตนเองว่าคนไทย แต่มองว่าพวกตนนั้น "ไม่ไทย"[68] พวกเขานิยมสร้างที่อยู่อาศัยเป็นบ้านไม้ทรงไทยยกใต้ถุนสูง บ้างปลูกเรือนแพริมแม่น้ำเจ้าพระยา[69] มีทางเดินทุกสายมุ่งตรงไปสู่โบสถ์คริสต์ อันเป็นศูนย์กลางของชุมชน[70]
ปัจจุบันคนเชื้อสายโปรตุเกสเหลืออยู่เพียงสองชุมชน คือ ชุมชนบ้านเขมร และชุมชนกุฎีจีน ส่วนชุมชนที่โบสถ์กาลหว่าร์ ชาวโปรตุเกสที่นั้นอพยพย้ายออกไปหมดตั้งแต่ ค.ศ. 1837[71] ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่หลงเหลืออยู่แต่งงานข้ามชาติพันธุ์กับไทย มอญ จีน ญวน และเขมร ทำให้มีรูปพรรณที่ต่างออกไปจากชาวยุโรปที่เป็นบรรพบุรุษ[68] ที่ชุมชนบ้านเขมรก็ไม่มีใครยอมรับว่าเป็นเขมรเลย ต่างระบุตัวตนว่าเป็นคนโปรตุเกสทั้งหมด[55] บางครอบครัวที่เป็นขุนนางหรือข้าราชการชั้นสูง "...ไม่มีใครพอใจที่จะถูกกล่าวหาว่ามีเชื้อสายเขมร..." และกล่าวอีกว่า "...ไม่มีใครในหมู่บ้านนี้จะยอมรับว่าตนสืบเชื้อสายจากชาวเขมร เพราะถือว่าชาวเขมรได้มาอาศัยพักพิงอยู่เพียงชั่วคราว แล้วก็กลับคืนประเทศเขมรไปหมดสิ้นแล้ว ยังเหลือแต่ผู้สืบเชื้อสายจากชาวโปรตุเกสเป็นพื้น ปนกับคนไทยที่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านนี้ในภายหลัง..."[72] ทั้ง ๆ ที่มีการสมรสจนเกิดการผสมผสานทางเชื้อชาติไปแล้ว อย่างผู้สืบเชื้อสายในสกุลวิเศษรัตน์ และวงศ์ภักดี ที่ต่างไม่แน่ใจว่าบรรพชนจะเป็นโปรตุเกสหรือเขมรดี[73] แต่ชุมชนโดยรอบก็ยังคงเรียกชื่อ "บ้านเขมร" และ "วัดเขมร"[55] พวกเขายังคงธำรงเอกลักษณ์สำคัญของชุมชน เช่น พิธีกรรมทางศาสนา คือ พิธีแห่พระธาตุ พิธีแห่แม่พระ พิธีแห่พระคริสตกายา และพิธีถอดพระ[56][74] ซึ่งจะมีความแตกต่างจากชุมชนคาทอลิกแห่งอื่น คือการใช้ภาษาไทยและภาษาละตินในพิธีกรรมทางศาสนา บ้างก็ใช้ภาษาโปรตุเกสในบ้าน ขบวนแห่แม่พระก็ใช้บุษบกอย่างไทย แสดงออกถึงความเป็นไทยได้ชัดเจนกว่าคาทอลิกที่เป็นจีนหรือญวนซึ่งเป็นศาสนิกกลุ่มใหญ่ในประเทศไทย[75] และอาหารพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส เช่น เนื้อแซนโม ต้มมะฝาด ขนมฝรั่งกุฎีจีน สัพแหยก และขนมจีนแกงไก่คั่ว เป็นต้น[76][77]
ในยุคกรุงศรีอยุธยา ชาวโปรตุเกสที่เข้ามารุ่นแรกจะเป็นกลุ่มที่สามารถพูดได้มากกว่าสองภาษาขึ้นไป ภาษาโปรตุเกสกลายเป็นภาษาทางการของอยุธยาโดยปริยาย เพราะในสนธิสัญญาที่กรุงศรีอยุธยากระทำกับยุโรปชาติอื่น มักมีภาษาโปรตุเกสควบคู่ไปกับภาษาไทยและจีน[79] แอลิกแซนเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) ระบุไว้ว่า "...ในชุมชนชายฝั่งทะเล ชาวโปรตุเกสได้ทิ้งร่องรอยของภาษาเขา แม้ว่าจะงู ๆ ปลา ๆ แต่ก็ยังเป็นภาษาที่ชาวยุโรปส่วนมากเรียนรู้เริ่มแรกเลย เพื่อที่จะมีวิธีสื่อสารระหว่างกัน และกับชาวถิ่นต่าง ๆ ที่อินเดียด้วย..." ด้วยเหตุนี้ภาษาโปรตุเกสจึงเป็นภาษากลางที่สำคัญของอยุธยาเป็นลำดับที่สาม รองจากภาษามลายู และเปอร์เซีย เมื่อพุทธศตวรรษที่ 21[80]
พวกลูกครึ่งโปรตุเกสจึงถูกว่าจ้างไปเป็นเสมียนหรือล่ามของบริษัทยุโรปในกรุงศรีอยุธยาเสียมาก[79][80] เช่น ฟร็องซัว ปีเญรู (Francois Pinhero) ลูกครึ่งโปรตุเกส บุตรชายหลวงวรวาที (แว็งซ็อง ปีเญรู) แต่เป็นล่ามภาษาฝรั่งเศส ทั้งพ่อและลูก[81] รัฐบาลโปรตุเกสเองก็มีนโยบายสนับสนุนให้ชายชาวโปรตุเกสสมรสกับหญิงพื้นเมือง จึงมีประชากรลูกครึ่งที่ใช้ภาษาโปรตุเกสเพิ่มขึ้นโดยลำดับ[82] พวกเขาต้องทำเอกสารรายงานเกี่ยวกับความเป็นไปในกรุงศรีอยุธยา การค้า หรือแม้แต่การเผยแผ่ศาสนาไปยังรัฐบาลโปรตุเกส เอกสารเหล่านี้กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องการปกครองของอยุธยา แม้จะมีข้อมูลผิดเพี้ยนไปบ้างก็ตาม[83] และด้วยความที่โปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่ติดต่อกับอาณาจักรอยุธยา หากบาทหลวงฝรั่งเศสต้องการจะติดต่อกับขุนนางอยุธยา ก็จะต้องติดต่อผ่านชาวโปรตุเกสที่หมู่บ้านโปรตุเกสเสียก่อน รวมทั้งต้องหัดเรียนภาษาโปรตุเกสเพื่อความสะดวกของตนเองในยามที่จะต้องติดต่อกับขุนนางอยุธยา[84]
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขุนนางระดับสูงจนถึงระดับล่างของอยุธยา สามารถเจรจากับชาวต่างชาติด้วยภาษาโปรตุเกสหลายคน ดังปรากฏใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 35 และ 36 ความว่า "...เหล่าขุนนางอยุธยาพูดภาษาโปรตุเกสได้หลายคน ข้าราชสำนักระดับล่างก็สามารถใช้ภาษาโปรตุเกสในการสื่อสารได้เป็นอย่างดี..."[85] และเมื่อคราวที่อาแล็กซ็องดร์ อัศวินแห่งโชมง เข้าเฝ้าทูลเกล้าถวายพระราชสาส์นแด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) รับหน้าที่เป็นล่ามแปลความจากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาโปรตุเกสเสียก่อน แล้วจึงกราบบังคมทูลเป็นภาษาไทยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[85] นอกจากนี้ยังมีการสอนภาษาโปรตุเกสเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การร้องเพลง หรือการกล่าววาจาสำคัญในพิธีกรรม[82]
ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ยังพบว่าชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสมีการตั้งชื่อและนามสกุลเป็นภาษาโปรตุเกส แม้กระทั่งหลุมศพยังจารึกชื่อและนามสกุลเป็นภาษาโปรตุเกส[86] ชาวโปรตุเกสในชุมชนบ้านเขมรเป็นชุมชนแรกที่เลิกพูดภาษาโปรตุเกส พวกเขาหันไปพูดภาษาเขมรตามอย่างเขมรเข้ารีตตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นต้นมา จากการสมรสกับเชลยชาวเขมรที่ถูกกวาดต้อนเข้ามา[73] ต่อมาเปลี่ยนไปใช้ภาษาไทยที่เขียนด้วยอักษรโรมัน เรียกว่า "ภาษาเขมร"[87] ขณะที่ชุมชนชาวโปรตุเกสวัดกาลหว่าร์ก็สลายตัวไปใน ค.ศ. 1837 ไม่มีผู้สืบเชื้อสายอีก[71] คงเหลือแต่ชาวโปรตุเกสที่บ้านกุฎีจีนที่ยังใช้ภาษาโปรตุเกสอยู่ เมื่อคราวที่จอห์น ครอว์เฟิร์ด ทูตอังกฤษติดต่อการค้ากับกรุงสยามตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ใช้ให้ชาวโปรตุเกสบ้านกุฎีจีนเป็นล่ามแปลภาษาให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ ความว่า "...ครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาถึงปากน้ำเจ้าพระยา ได้รับอนุญาตให้เรือกำปั่นมาถึงกรุงเทพฯ มาจอดที่หน้าบ้านพระยาสุริยวงศ์มนตรี ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกใต้วัดประยูรวงศ์ฯ และพระยาสุริยมนตรีจัดตึกซึ่งสร้างไว้หน้าบ้านเป็นที่ไว้สินค้า ให้เป็นที่พักของครอเฟิดและพวกที่มา...ทั้งสองฝ่ายพูดไม่เข้าใจภาษากัน ในเวลานั้นไม่มีไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้ อังกฤษก็ไม่มีที่พูดภาษาไทยได้ ทั้งหนังสือและคำพูดต้องใช้แปลเป็นภาษาโปรตุเกสบ้าง ภาษามะลายูบ้าง แล้วจึงแปลเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษอีกชั้น ๑...ฝ่ายล่ามไทยเล่า ล่ามที่ใช้สำหรับแปลภาษาโปรตุเกสก็ใช้พวกกะฎีจีน..."[88] และ "...โปรตุเกศนั้นมีพวกเชื้อสายโปรตุเกศบางคนยังรู้ภาษาพอเปนล่ามโปรตุเกศได้..."[89] ภาษาโปรตุเกสถูกใช้เป็นภาษากลางทางการทูต ในการทำสนธิสัญญาการค้าและพาณิชย์ในสยามที่ทำกับชาวต่างชาติช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จะเขียนควบคู่กันสามภาษาคือ ไทย จีน และโปรตุเกส[4]
ภาษาโปรตุเกสอยู่รอดมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายในพระราชสาสน์เรื่องชาวโปรตุเกสในไทยว่า "...บางคนยังรู้ภาษาโปรตุเคศอยู่บ้าง..."[64] แต่ในรัชกาลของพระองค์นั้นเองมีคณะทูตจากโปรตุเกสเข้ามาเจรจาทำสนธิสัญญาระหว่างกันเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2402 กลับพบว่าไม่มีขุนนางสยามคนใดเข้าใจภาษาโปรตุเกสได้อีกต่อไป ดังปรากฏใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 62 เรื่อง ทูตฝรั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ ความว่า "...พระราชสาส์นซึ่งได้รับนั้นเขียนเป็นภาษาโปรตุเคส กรุงสยามอ่านเองเข้าใจเองไม่ได้ ได้ขอให้ราชทูตและกุงศุลโปรตุเคส แปลโดยภาษาเองคฤศห์ [ภาษาอังกฤษ] และจึงได้อ่านทราบความถ้วนถี่ทุกทุกประการแล้ว..."[90] และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัส ณ สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสเมื่อ ค.ศ. 1859 ตรัสถึงชาวโปรตุเกสในไทย ว่าพวกเขาแต่งงานข้ามเชื้อชาติกับคนจีน เขมร มอญ ญวน และตรัสอีกว่า "บางคนยังเจรจาด้วยภาษาโปรตุเกสกันอยู่"[91] ในหนังสือ เรื่องคติฝรั่งเข้ามาเมืองไทย พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อ ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) ทรงกล่าวถึงการใช้ภาษาโปรตุเกสของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่คงมีจำนวนที่จำกัดจำเพาะลงกว่าแต่ก่อน เนื้อความระบุว่า "...และในประเทศสยามจนทุกวันนี้ ยังคงถือสาสนาโรมันคาโธลิก และบางคนยังรู้ภาษาโปรตุเกศบ้าง แต่อย่างอื่นเหมือนกับชาวต่างประเทศเสียโดยมาก"[92]
ในปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสเลิกใช้ภาษาโปรตุเกสในการสื่อสารไปแล้ว ส่วนผู้มีเชื้อสายโปรตุเกสบ้านเขมรที่เคยใช้ภาษาเขมรแทบไม่เหลือคนพูดได้อีก[86] บ้างว่าสูญไปแล้ว[55] นามสกุลโปรตุเกสเปลี่ยนเป็นนามสกุลไทยทั้งหมด[93] บางส่วนยังคงใช้คำศัพท์โปรตุเกสในการเรียกเครือญาติอยู่[86][94] โดยใช้ในลักษณะพูดเป็นคำ ๆ ไม่เป็นประโยค[95] ขณะลูกหลานชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่อพยพจากภูเก็ตไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านกัมปงเซอรานี รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้หันไปพูดภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน แต่ยังปะปนด้วยคำศัพท์จากภาษาโปรตุเกส ไทย และมลายู[96]
ภาษาโปรตุเกสในไทย | ความหมาย | หมายเหตุ |
---|---|---|
ป๋าย[86][94] | พ่อ | ตรงกับโปรตุเกส pai |
ติว[86][94] | อาผู้ชาย | ตรงกับโปรตุเกส tio |
เต[86][94] | อาผู้หญิง | ตรงกับโปรตุเกส tia |
จง | ปู่, ตา | เทียบกับโปรตุเกส avô |
อาโว, โว[68][95][97] | ย่า, ยาย | ตรงกับโปรตุเกส avó |
นาตัล,[95] น่าตัน[68] | วันคริสตสมภพ | ตรงกับโปรตุเกส natal |
ปะแตน[98] | ขนมปัสแตล | ตรงกับโปรตุเกส pastel |
ภาษาไทยมีการรับอิทธิพลจากภาษาโปรตุเกสมาตั้งแต่อาณาจักรอยุธยาซึ่งเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีพัฒนาการประกอบคำให้เป็นประโยคสำหรับเอกสารทางการหรือกวีนิพนธ์ โดยเฉพาะการยืมคำศัพท์ ตัวสะกด หรือแม้แต่จังหวะและเสียงสัมผัสในบทกวี จนทำให้ภาษาไทยในยุคหลังเข้าใจวรรณกรรมยุคเก่าได้ยาก[99] พจนานุกรมโดยราชบัณฑิตยสถาน ระบุคำไทยที่ยืมมาจากภาษาโปรตุเกสและออกเสียงต่างออกไปจากภาษาเดิมทั้งสิ้น ได้แก่ กะละแม (มาจาก caramelo), กัมประโด (มาจาก comprador), ขนมปัง (มาจาก pão), เลหลัง (มาจาก leilão) และสบู่ (มาจาก sabão)[100] มีคำที่เชื่อว่าพัฒนามาจากคำโปรตุเกส คือ บาทหลวง (มาจาก padre) และ กระดาษ (มาจาก cartas) เป็นต้น[101] รวมทั้งศัพท์ในศาสนาคริสต์ที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาโปรตุเกสที่เริ่มใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ นักบุญ เทพวิญญาณ และ ศีลจุ่ม/บัพติศมา[102]
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวโปรตุเกสและผู้สืบเชื้อสายยังคงรับประทานอาหารอย่างยุโรปอยู่ แม้จะอาศัยอยู่ในเอเชียก็ตาม[103] ชาวต่างชาติในกรุงศรีอยุธยาสามารถซื้อหาอาหารและเครื่องดื่มได้หลากหลาย ทั้งพื้นถิ่นและต่างถิ่น เช่น ขนมปัง เนย นม เนื้อแพะ เนื้อแกะ ไก่งวง เบียร์ เหล้าองุ่น กาแฟ โกโก้ วิสกี และบรั่นดี แม้จะไม่บริบูรณ์เท่าแต่ก็มีให้เลือกสรร[27] ดังจะพบร่องรอยการรับอาหารคาวหวานอย่างโปรตุเกสตกทอดอยู่ในตำรับอาหารไทยจนถึงปัจจุบัน ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีคณะทูตจากฝรั่งเศสเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในอยุธยา การนี้พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ผู้สมรสกับท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์) หญิงสยามลูกครึ่งญี่ปุ่นโปรตุเกส ได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับคณะทูตด้วยสำรับอาหารญี่ปุ่นและโปรตุเกส ส่วนสุราเมรัยนำเข้าจากสเปน เปอร์เซีย และฝรั่งเศส[103]
ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของไทย ทำให้มีเนื้อสัตว์และพืชที่ใช้ในการประกอบอาหารต่างออกไปจากโปรตุเกสอันเป็นประเทศต้นทาง ชาวโปรตุเกสในไทยจึงต้องปรับใช้วัตถุดิบหรืออุปกรณ์ที่สามารถหาได้ในประเทศไทยเพื่อประกอบอาหารแทน เช่น ชนิดของเนื้อสัตว์ เครื่องปรุงรส หรืออุปกรณ์ทำอาหารและขนม เป็นอาทิ[59]
ของหวานอย่างโปรตุเกสกลายเป็นขนมไทยที่ใช้เลี้ยงในงานมงคลต่าง ๆ เช่น ทองหยิบ (มาจาก Trouxas das Caldas), ทองหยอด (มาจาก Ovos Moles de Aveiro), ฝอยทอง (มาจาก Fios de ovos), ขนมบ้าบิ่น (มาจาก Queijadas de Coimbra) และลูกชุบ (มาจาก Massapães) เป็นต้น ซึ่งของหวานเหล่านี้ถูกคิดค้นโดยบาทหลวงและแม่ชีชาวโปรตุเกส[103] แต่ในประวัติศาสตร์กระแสหลักในไทยจะยกประโยชน์แก่ท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์) หญิงเชื้อสายโปรตุเกส ที่เคยทำงานอยู่ราชสำนักเป็นผู้เผยแพร่จนเป็นที่รู้จักกันทั่ว[104][105][106] ซึ่งขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกสนี้ ได้แพร่หลายไปสู่ดินแดนเขมร เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง สังขยาฟักทอง และข้าวเหนียวสังขยา เป็นที่รู้จักในชื่อ "ของกินสยาม"[107]
ปัจจุบันชุมชนชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสทั้งสองแห่งคือ ชุมชนบ้านเขมร และชุมชนกุฎีจีน ยังคงทำอาหารโปรตุเกสพื้นถิ่นอยู่ อาหารนี้มีการดัดแปลงวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารตามถิ่นที่อยู่ โดยมากมักประกอบอาหารในช่วงวันคริสตสมภพหรือโอกาสสำคัญ จำเพาะในชุมชนของตนเองเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เช่น ต้มมะฝาด (มาจาก cozido à portuguesa), เนื้อแซนโม (หรือ ซัลโม, มาจาก Lombo de Porco à Alentejana), แกงเหงาหงอด (มาจาก Bouillabaisse), ต้มเค็มโปรตุเกส, ขนมจีนแกงไก่คั่ว, สัพแหยก[76][77][108][109][110] กุ้งฟิต และหมูหันบ้านเขมร[111] ชุมชนกุฎีจีนมีตำราอาหารชื่อ ตำราเล่มเล็ก ที่บันทึกอาหารประจำชุมชนเอาไว้นอกเหนือจากอาหารที่กล่าวไว้ข้างต้น ได้แก่ ยำทวาย และซุปสิงคโปร์[112] ส่วนของหวานได้แก่ ขนมกุสรัง (เดิมเรียก ขนมตรุษฝรั่ง, มาจาก filhos), ขนมปะแตน (หรือ ปัสแตล, มาจาก pastel), ขนมหน้านวล, ขนมก๋วยตั๊ด (หรือ กวยตัส) และขนมฝรั่งกุฎีจีน (มาจาก queque)[105][113][114] ซึ่งปัจจุบันบางบ้านไม่ได้ทำอาหารดังกล่าวรับประทานภายในครอบครัวอีกต่อไปแล้ว คนรุ่นเก่าที่ทำอาหารดังเดิมได้ดีบางส่วนโยกย้ายออกจากชุมชน บางส่วนก็เสียชีวิตลงโดยไม่มีผู้สืบทอดการทำอาหารต่อ[97] ทำให้สำรับคาวแบบโปรตุเกสในพิธีกรรมทางศาสนาหาได้ยากยิ่ง[106]
ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสมีธรรมเนียมการตั้งชื่อตัวด้วยภาษาโปรตุเกสหรือชื่อทางศาสนา ใช้นามสกุลโปรตุเกสตามอย่างบรรพบุรุษ และมีชื่อไทยอีกต่างหาก เช่น ปัสกัล ริเบย์รู ดึ อัลแวร์กาเรียส (Pascal Ribeiro de Alvergarias) มีชื่อไทยว่า แก้ว[115] และโรซา ริเบย์รู ดึ อัลแวร์กาเรียส (Rosa Ribeiro de Alvergarias) มีชื่อไทยว่า น้อย[1] ในกรณีของหลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) เอง ก็มีการใช้ชื่อว่า ฟรานซิศจิต หรือ มิศฟะรันซิศจิตร ไว้หน้าที่ชื่อตนเอง ซึ่งเสฐียรโกเศศ อธิบายไว้ว่า "...ที่มีอักษรย่อว่า F อยู่ข้างหน้า เห็นจะเป็นคำว่า Francis ซึ่งเป็นชื่อนักบุญในศาสนาคฤสต์นิกายโรมันคาโทลิก ใช้เป็นชื่ออยู่หน้าชื่อของผู้ที่นับถือคฤสตศาสนาในนิกายนี้ เมื่อเข้าลัทธิพิธีรับ "ศีลล้างบาป"..."[116][117] ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้นามสกุลในประเทศไทย พวกเขาจึงเปลี่ยนนามสกุลให้เป็นไทย และใช้ชื่อเยี่ยงชาวไทยทั่ว ๆ ไป ปัจจุบันยังมีนามสกุลของคนเชื้อสายโปรตุเกสอยู่ เช่น เจริญสุข (มาจาก Felipe), ประสาทพร และมณีประสิทธิ์ (มาจาก Bento), สิงหทัต (มาจาก Olim), นพประไพ (มาจาก Fontsecca), วงศ์ภักดี (มาจาก Ribeiro), วิเศษรัตน์ และสมานไมตรีรักษ์ (มาจาก Dias), อนงค์จรรยา (มาจาก Rodiquez), วัฒนธีรกุล และบูรณพันธ์ (มาจาก Da Cruz) เป็นต้น[118]
ในอดีตชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสจะจัดเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคมตามปฏิทินคริสตัง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เรียกว่า วันบานูอารีโอ แปลว่า "วันต้นปีใหม่ฝ่ายเราคริสตัง" โดยเริ่มกิจกรรมตั้งแต่หัวค่ำของวันที่ 31 ธันวาคม ได้แก่การเต้นรำวง และการสวดมิสซาช่วงเช้ามืดของศกใหม่ จากนั้นจะมีกิจกรรมไหว้ขอพรจากผู้ใหญ่ตามธรรมเนียมไทย ขณะไหว้จะพูดเป็นภาษาโปรตุเกสว่า ลาวาโด เซยา เยซู คริสโต แปลว่า "ขอให้พระเยซูเจ้าได้รับการสรรเสริญ" จากนั้นผู้อาวุโสรับไหว้ กล่าวตอบกลับไปว่า แปร์ เซม แปร์ แปลว่า "ตลอดไป"[119]
อีกเทศกาลหนึ่งที่เคยมีในชุมชนชาวโปรตุเกสในไทย เรียกว่า คาร์เนวัล (มาจาก Carnaval) เป็นงานรื่นเริงก่อนวันพุธรับเถ้า ตามธรรมเนียมจะมีการขว้างปาไข่ดิบใส่กันโดยไม่ถือสา[119]
ชาวโปรตุเกสมักมีการจัดเลี้ยง การแสดงประกอบดนตรี และการเต้นรำในงานรื่นเริงต่าง ๆ ตามธรรมเนียมของตน โดยเฉพาะพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การฉลองวันคริสตสมภพ วันอีสเตอร์ วันอัสสัมชัญ และวันฉลองนักบุญต่าง ๆ รวมทั้งการเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาและวันฉัตรมงคลของพระราชวงศ์โปรตุเกส นิยมจัดอย่างเอิกเกริก พวกเขาใช้บทเพลงเป็นสื่อในการสอนศาสนาของตน มีรายงานว่าชาวกรุงศรีอยุธยามักไปฟังเสียงออร์แกนที่โบสถ์คริสต์เสมอ[120] ด้วยความสามารถนี้ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ คริสตังโปรตุเกสจึงถูกเกณฑ์ให้ไปร้องรำทำเพลงในงานประเพณีของชาวไทยพุทธด้วย ดังปรากฏในจดหมายของ ม. เดอ โลลีแยร์ ความว่า "...ในเวลามีงานวันนักขัตฤกษ์ไหว้พระของไทย พวกเข้ารีตก็มาดูงานเป็นอันมาก และเวลามาดูงานของไทยนั้น พวกเข้ารีตก็ได้มาช่วยร้องรำทำเพลง ดีดสีตีเป่าเหมือนกัน..."[120] แต่เพราะดนตรีไม่มีศาสนามาขวางกั้น จึงมีการจัดมโหรีฝรั่งในแผ่นดินสยาม ซึ่งใช้เครื่องดนตรีอย่างฝรั่ง โดยในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดมโหรีฝรั่งร่วมกับมหรสพอื่น ๆ สำหรับสมโภชพระแก้วมรกต เมื่อราว ค.ศ. 1779 และยังมีเล่นเรื่อยมาเป็นครั้งคราวในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น[121] ปัจจุบันในวัดซางตาครู้ส และโบสถ์กาลหว่าร์ ยังมีเครื่องดนตรีพิเศษอย่างหนึ่ง เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า การีย็อง (Le Carillon) คือระฆังชุด 16 ใบ สำหรับใช้ตีเป็นเพลงต่าง ๆ ใช้ในกิจกรรมของโบสถ์และชุมชน[122] เช่น วันคริสต์มาส วันปัสกา หรือวันขึ้นปีใหม่ มีพระเรี่ยมวิรัชชพากย์ (เรี่ยม ทรรทรานนท์) เป็นผู้ริเริ่มตีระฆังชนิดนี้เป็นคนแรก และมีผู้รับช่วงตีระฆังดังกล่าวมาเรื่อย ๆ ปัจจุบันสวัสดิ์ สิงหทัต เป็นผู้ตีระฆังประจำวัดซางตาครู้ส แต่ยังขาดผู้ที่จะสืบทอดการตีระฆังการีย็อง ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการขาดผู้ตีระฆังนี้ในอนาคต[123]
ทำนองดนตรีของโปรตุเกสตกทอดและผสมผสานเป็นเพลงไทยเดิมที่มีมาแต่กรุงศรีอยุธยา เช่น เพลงฝรั่งถอนสมอ ฝรั่งรำเท้า ฝรั่งโยสลัม โดยเฉพาะเพลงแขกบรเทศ และต้นวรเชษฐ์ (หรือต้นบรเทศ) ที่คาดว่าเป็นเพลงสำเนียงโปรตุเกส ซึ่งใกล้เคียงกับเพลงวิลันดาโอด ที่เป็นของชาวดัตช์หรือฮอลันดา[120] โดยเพลงโยสลัม ถือเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมเหนือเพลงพื้นบ้านอยุธยา และเป็นทำนองของเพลงไทยลูกทุ่งและลูกกรุงหลายเพลง[124] นอกจากนี้ในบริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีการรับเครื่องดนตรียุโรปไว้ในวัฒนธรรมเพลงของมลายูท้องถิ่นปัตตานี เช่น ไวโอลิน ซิตเทิร์น กีตาร์โบราณของโปรตุเกส หีบเพลงชัก ฮาร์มอนิกา แมนโดลิน และกัมบุส เดินทำนองเพลง[125] และยังมีนาฏศิลป์ท้องถิ่นเรียกว่า รองเง็ง เป็นการเต้นที่วิวัฒนาการมาจากการเต้นรำพื้นเมืองของชาวสเปนหรือโปรตุเกสที่เข้ามาติดต่อค้าขายในคาบสมุทรมลายูและผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมพื้นบ้าน นิยมเต้นรองเง็งในวังของเจ้าเมืองที่เน้นความสนุกสนาน จนแพร่หลายสู่ชาวบ้าน[120]
ชาวโปรตุเกสนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นส่วนมาก เมื่อแรกชาวโปรตุเกสเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา พวกเขามุ่งเน้นการติดต่อค้าขายกับคนพื้นเมืองมากกว่าการประกาศศาสนา[126] โดยปรกติแล้วในคณะเรือสำรวจของชาวโปรตุเกสจะมีนักบวชในศาสนาคริสต์ราว 2-3 รูปร่วมเดินทางไปด้วยเพื่อเผยแผ่ศาสนาแก่ดินแดนอนารยชน และมีบทบาทสำคัญของการเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวโปรตุเกสโพ้นทะเลระหว่างเดินทางหรือทำพิธีกรรมบนเรือ เช่น มิสซา หรือสวดส่งวิญญาณ เพราะฉะนั้นในชุมชนโปรตุเกสมักจะมีโบสถ์คริสต์เป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน[22] มีการสร้างโบสถ์สองแห่ง คือ โบสถ์นักบุญเปาโล และโบสถ์นักบุญดอมินิกในบ้านโปรตุเกส สำหรับการแพร่ธรรม ทั้งนี้สันนิษฐานคำว่า "บาทหลวง" มาจากคำว่า padre แปลว่า "คำนำหน้านักบวช" และคำว่า "คริสตัง" cristão แปลว่า "คริสต์ศาสนิกชน" เป็นคำยืมมาจากภาษาโปรตุเกส[127]
ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา มีบาทหลวงจากคณะดอมินิกันจากเมืองกัวเข้ามาในอยุธยาสองรูป คือ บาทหลวงเจรูนิมู ดา กรุซ (Jéronimo da Cruz) และบาทหลวงเซบัสเตียว ดึ กังตู (Sébastião de Canto) เมื่อ ค.ศ. 1567[126] ในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่งใน ค.ศ. 1569 ทหารพม่าทำการประหารบาทหลวงสามรูปด้วยการตัดศีรษะขณะท่านกำลังสวดภาวนาอยู่ในโบสถ์[128] เมื่อรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงตีเมืองละแวกได้จึงกวาดต้อนเชลยซึ่งมีส่วนหนึ่งเป็นชาวโปรตุเกสและนักบวชแพร่ธรรมอยู่ในเมืองเขมร ต่อมาพระองค์ปลดปล่อยให้เชลยเหล่านี้เป็นอิสระ[129] แต่รัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้มีพระราชกฤษฎีกาตราไว้ในกฎหมายตราสามดวง เล่ม 4 เรื่องการห้ามหญิงไทยและมอญสมรสกับคนต่างชาติต่างศาสนา โดยปรากฏเนื้อหา ความว่า[26]
"...13 มาตราหนึ่ง ราษฎรข้าแผ่นดินชายหญิงไทยมอน บมิยำบมิกลัวพระราชอาญาพระราชกำหนดกฎหมาย เหนพัศดุเข้ามาของเงินทองของมฤฉาทิฐิอันมาค้าขายแต่นานาประเทศนอกด่านต่างแดนแลยกลูกสาวยกหลานสาวให้เปนเมียฝารัง [เข้าใจว่าเป็นโปรตุเกส] อังกฤษ วิลันดา ชวา มลายู อันต่างสาสนา แลให้เข้ารีตหย่างมฤฉาทิฐิยนอกพระสาสนา ท่านว่ามันผู้นั้นเปนเสี้ยนหนามในแผ่นดิน แลมันเอาใจไปเผื่อแผ่แก่ประจามิตข้าศึก ศัตรูหมู่ร้าย ท่านให้ลงโทษ 6 สถาน ๆ หนึ่งคือ ให้ฟันคอ ริบเรือน สถานหนึ่งคือ ให้จำใส่ตรุไว้กว่าจตาย สถานหนึ่งคือให้ริบราชบาต แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง สถานหนึ่งคือ ให้ไหมจัตรคูณ สถานหนึ่ง คือให้ไหมตรีคูณ สถานหนึ่ง คือให้ไหมทวีคูณ อย่าให้ดูเยี่ยงกัน เหตุใดจึ่งกล่าวดั่งนี้ เหตุว่าพ่อมันดั่งพืชน์หว่านลงเหนือแผ่นดินจะเป็นพืชน์ผลสืบไป ฝ่ายพ่อมันลูกมัน จเอากิจการบ้านเมืองไปแจ้งแก่นานาประเทษ ๆ มันรู้แล้ว มันจคิดมาเบียดเบียนพระนครธานี ขอบขัณฑเสมา พระพุทธสาสนาก็จพลอยเศร้าหมองไป..."
รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระองค์ไม่โปรดคนโปรตุเกสนัก คริสต์ศาสนิกชนโปรตุเกสถูกชาวฮอลันดาและคนต่างศาสนาเบียดเบียน แต่ภายหลังสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงฟื้นฟูสัมพันธไมตรีกับโปรตุเกสและไม่วางพระทัยชาวฮอลันดาแทน จึงพระราชทานที่ดินโบสถ์คริสต์ร้างแห่งหนึ่งแก่คริสตัง[130] แม้จะประสบปัญหาหลายอย่าง แต่การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ของชาวโปรตุเกสได้เผยแผ่ออกไปกว้างขวางในหมู่ชาวไทยสยาม และยุโรปชาติอื่น ๆ ที่ไม่มีโบสถ์ของตนเอง นอกจากนี้โบสถ์ของบาทหลวงโปรตุเกสยังครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ลี้ภัยศาสนาชาวญี่ปุ่นและญวนในกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย[131] ในบันทึกของนีกอลา แฌร์แวซ ระบุว่ามีคนไทยเข้ารีตศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมากถึง 2,000 คน[132] ส่วนบันทึกของของบาทหลวงกีย์ ตาชาร์ บรรยายบรรยากาศของงานรื่นเริงที่จัดขึ้นในค่ายโปรตุเกส ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไว้ อันแสดงให้เห็นถึงมโนทัศน์ของชาวโปรตุเกสในสยามถึงจิตสำนึกความเป็นโปรตุเกส ความว่า[133]
"...หลังจากที่เรามาถึงกรุงศรีอยุธยาได้ไม่กี่วัน โบสถ์ฝรั่งของเราซึ่งอยู่ในค่ายหรือหมู่บ้านโปรตุเกสนั้นก็ประกอบพิธีทางศาสนาอย่างมโหฬารถึงสองครั้ง ครั้งแรกจัดอุทิศถวายแก่สมเด็จพระราชินีกรุงปอร์ตุเกสผู้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ครั้งหลังจัดอุทิศถวายแด่กษัตริย์ดอม อัลฟองซ์ผู้สิ้นพระชนม์ไปแล้วดุจกัน หลวงพ่อซูอาเรซกับหลวงพ่อคณะแซงต์โดมินิกเป็นผู้เทศนาแสดงความอาลัย ครั้นแล้วก็ถึงงานฉลองราชาภิเษกของดอม เปรโด พระเจ้ากรุงปอร์ตุเกสรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งกระทำกันในโบสถ์ของพระบาทหลวงคณะโดมินิกัน พระบาทหลวงของเขารูปหนึ่งเป็นผู้เทศนา ม.ก็องสตังซ์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในงานถวายความอาลัยและงานฉลองนั้น และเขาคงจะได้ให้ประกอบพิธีอุทิศถวายแด่สมเด็จพระเจ้ากรุงอังกฤษซึ่งเสด็จสวรรคตแล้วอีกด้วยเป็นแน่...ตอนเริ่มต้นรับประทานอาหาร ท่านราชทูตชวนดื่มถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้ากรุงปอร์ตุเกสกับสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม การดื่มแต่ละครั้งมีปืนใหญ่ยิงสลุตกึกก้องกัมปนาท งานรื่นเริงนี้มีการละเล่นหลายอย่าง แรกทีเดียวเป็นสุขนาฏกรรมของจีน...จบการแสดงนี้แล้วเป็นมโหรีของชาวชาติต่าง ๆ พวกสยาม มลายู มอญ และลาว ต่างผลัดกันแสดงมโหรีฝ่ายละรอบ..."
หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ย้ายราชธานีลงมาตั้งที่กรุงธนบุรี บาทหลวงและคริสต์ศาสนิกชนจึงได้ก่อสร้างศาสนสถานตามความเชื่อของตน แต่เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงไม่พอพระทัยคนเข้ารีต บาทหลวงในชุมชนโปรตุเกสจึงออกนอกแผ่นดินสยาม "...ครั้นเมื่อเมืองธนบุรีเกิดยุคเข็ญ บาดหลวงทั้งปวงจึงพากันเตลิดออกไปอีกครั้งทิ้งวัดกดีจีน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วัดซังตากรุส"..."[134] ในยุครัตนโกสินทร์ ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสยังคงนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกสืบเนื่องต่อมา แต่กลับไม่มีบาทหลวงโปรตุเกสปกครองโบสถ์เลย พบแต่บาทหลวงฝรั่งเศสปฏิบัติศาสนกิจ "...ในสมัยนั้นฝรั่งที่อยู่ในบางกอกมีแต่บาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งกลับเข้ามาอยู่กับพวกคฤศตังเชื้อสายโปรตุเกศที่กุฎีจีน แต่ครั้งแผ่นดินหลวงพระยาตาก..."[89] โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่มีการผลัดแผ่นดินและย้ายราชธานีไปยังฝั่งพระนคร คณะบาทหลวงก็หวนกลับเข้ามาปฏิบัติศาสนกิจอีกครั้ง "...พวกบาดหลวงก็ทยอยกันเข้ามาอีก เพราะว่ามีพวกเข้ารีดและโบสถ์อยู่ในเมืองธนบุรีแล้ว พวกปอตุคอลเข้ามาครั้งนี้คือ คณะโดมีนิแกง มาจากเมืองมาเก๊า มีหมายตั้งจากสงฆราชเมืองโออามามาด้วย เดิมก็มีบาดหลวงปอตุคอลมีวัดของตนอยู่กรุงเก่าแล้ว ต่อมาก็มีบาดหลวงฝรั่งเศสเข้ามาบางกอกอีก..."[134]
ปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสมีศาสนสถานของตนเองสามแห่งคือ วัดคอนเซ็ปชัญ วัดซางตาครู้ส และโบสถ์กาลหว่าร์ ทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร มีประเพณีโบราณที่สืบทอดมาจากโปรตุเกสที่เด่นชัดที่สุดอย่างหนึ่ง คือ "พิธีถอดพระ" จัดขึ้นในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อระลึกถึงวันที่พระเยซูถูกทรมานและสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน เดิมมีศาสนสถานทั้งสามแห่งจัดพิธีรำลึกนี้ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงสองแห่งคือ วัดคอนเซ็ปชัญ และวัดซางตาครู้ส โดยพิธีถอดพระจะมีการเดินมรรคาศักดิ์สิทธิ์รอบวัดจากสถานที่ 1 ถึงสถานที่ 11 แล้วจัดการแสดงการตรึงกางเขน การสิ้นพระชนม์ของพระเยซู และการปลดพระศพลงจากไม้กางเขนหรือการถอดพระ จากนั้นจึงนำรูปพระศพพระเยซูหรือที่เรียกว่าพระตายแห่แหนรอบวัด และแสดงความเคารพพระศพ เป็นอันจบพิธี ขณะที่โบสถ์กาลหว่าร์เหลือเพียงพิธีแห่รูปพระตายรอบวัดเพื่อให้สัตบุรุษแสดงความเคารพรูปพระตาย[135][136] ในอดีตสตรีเชื้อสายโปรตุเกสจะนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อเข้ารูป คล้องผ้าคลุมไหล่ซึ่งเป็นผ้าแพรปังลิ้นมาอัดกลีบคล้ายสไบ และจะดึงผ้าคลุมไหล่ดังกล่าวมาคลุมศีรษะเมื่อมีการรับศีล แต่ปัจจุบันไม่มีใครแต่งกายเช่นนี้แล้ว[68][95] ทุกวันนี้พวกเขายังคงนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นหลักตามอย่างบรรพบุรุษ แต่ก็มีบางส่วนที่สมรสและเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธหรืออิสลามตามคู่สมรส[137] อย่างในสกุลของหลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อฟรานซิศจิตร ที่ลูกหลานยังคงนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แต่ลูกหลานบางสายก็พบว่าเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ[116] กลุ่มชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่ยังนับถือศาสนาคริสต์อยู่ก็มีทักษะในการอยู่ร่วมกับคนต่างศาสนา โดยเฉพาะกับพุทธศาสนิกชนซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ เช่น ร่วมกิจกรรมเวียนเทียน หรือตักบาตร ซึ่งเป็นกิจกรรมของพุทธศาสนิกชน ด้วยมองว่าเป็นการให้ทาน[138]
นอกจากเรื่องศาสนาแล้ว ยังมีคติชนที่เป็นกุศโลบายของคนยุคเก่าในชุมชนกุฎีจีน คือ ผีหัวพริก หรือ ผีหนูเลี้ยบ เป็นผีเด็กนุ่งผ้าแดงที่คอยจับเด็กเล็กไปลักซ่อนในยามวิกาล เรื่องนี้มีไว้เพื่อกำชับให้ลูกหลานที่ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน จะต้องกลับมาให้ถึงบ้านทันทีที่ได้ยินเสียงระฆังโบสถ์ตอนหกโมงเย็น มิเช่นนั้นจะถูกผีตนนี้ลักซ่อนไปเล่นด้วย[139]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.