Remove ads
ภาษาในตระกูลโรมานซ์ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาษาฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: français, ออกเสียง: [fʁɑ̃sɛ]; หรือ langue française, ออกเสียง: [lɑ̃ɡ fʁɑ̃sɛːz]) เป็นภาษากลุ่มโรมานซ์ภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน สืบทอดมาจากภาษาละตินสามัญในจักรวรรดิโรมันเช่นเดียวกับภาษากลุ่มโรมานซ์ทั้งหมด ภาษาฝรั่งเศสวิวัฒนาการมาจากภาษาโรมานซ์กอลซึ่งเป็นภาษาละตินที่พูดกันในกอล (โดยเฉพาะกอลตอนบน) ภาษาที่ใกล้ชิดกับภาษานี้คือล็องก์ดอยล์ (กลุ่มของภาษาที่พูดกันในตอนเหนือประเทศฝรั่งเศสและตอนใต้ของประเทศเบลเยียมในอดีต ซึ่งถูกแทนที่ด้วยภาษาฝรั่งเศสเป็นส่วนมากในเวลาต่อมา) ภาษาฝรั่งเศสยังได้รับอิทธิพลจากภาษากลุ่มเคลต์ในแกลเลียเบลจิกาและภาษาแฟรงก์ (ภาษากลุ่มเจอร์แมนิก) ของชาวแฟรงก์หลังสมัยโรมัน
ภาษาฝรั่งเศส | |
---|---|
français | |
ออกเสียง | [fʁɑ̃sɛ] |
ประเทศที่มีการพูด | ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, เบลเยียม, ลักเซมเบิร์ก |
จำนวนผู้พูด | 76.8 ล้านคนทั่วโลก (ไม่พบวันที่) 321 ล้านคน (ภาษาแม่บวกภาษาที่สอง; 2022)[1][2] |
ตระกูลภาษา | อินโด-ยูโรเปียน
|
รูปแบบก่อนหน้า | ละตินเก่า
|
ระบบการเขียน | อักษรละติน (ชุดตัวอักษรฝรั่งเศส) อักษรเบรลล์ฝรั่งเศส |
สถานภาพทางการ | |
ภาษาทางการ | 28 ประเทศ หน่วยในภาวะพึ่งพิงและหน่วยระดับอนุภูมิภาค 10 หน่วย |
ผู้วางระเบียบ | อากาเดมีฟร็องแซซ (ฝรั่งเศส) และสำนักงานภาษาฝรั่งเศสเกแบ็ก (เกแบ็ก) |
รหัสภาษา | |
ISO 639-1 | fr |
ISO 639-2 | fre (B) fra (T) |
ISO 639-3 | fra |
Linguasphere | 51-AAA-i |
ประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการและภาษาหลัก
ประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ แต่ไม่ใช่ภาษาหลัก
ประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่สอง
ประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษารอง | |
ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการใน 28 ประเทศในหลายทวีป[3] ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส (อออิฟ) ภาษาฝรั่งเศสยังเป็นหนึ่งในหกภาษาทางการของสหประชาชาติ[4] และเป็นภาษาแม่ (ตามจำนวนผู้พูด) ในฝรั่งเศส; แคนาดา (โดยเฉพาะรัฐเกแบ็ก, รัฐออนแทรีโอ และรัฐนิวบรันสวิก); เบลเยียม (แคว้นวอลลูนและภูมิภาคเมืองหลวงบรัสเซลส์); ภาคตะวันตกของสวิตเซอร์แลนด์ (รอม็องดี); ส่วนหนึ่งของลักเซมเบิร์ก; ส่วนหนึ่งของสหรัฐ (รัฐลุยเซียนา, รัฐเมน, รัฐนิวแฮมป์เชียร์ และรัฐเวอร์มอนต์); โมนาโก; แคว้นวัลเลดาออสตาในอิตาลี และอื่น ๆ [5]
ใน ค.ศ. 2015 ประมาณร้อยละ 40 ของประชากรที่พูดภาษาฝรั่งเศส (รวมผู้พูดภาษาที่สองและผู้พูดได้บางส่วน) อาศัยอยู่ในทวีปยุโรป, ร้อยละ 36 อยู่ในแอฟริกาใต้สะฮาราและมหาสมุทรอินเดีย, ร้อยละ 15 อยู่ในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง, ร้อยละ 8 อยู่ในทวีปอเมริกา และร้อยละ 1 ในทวีปเอเชียและโอเชียเนีย[6] ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ที่มีผู้พูดมากเป็นอันดับสองในสหภาพยุโรป[7] ประมาณหนึ่งในห้าของชาวยุโรปที่พูดภาษาอื่นเป็นภาษาแม่สามารถพูดภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่สอง[8] สถาบันทั้งหมดของสหภาพยุโรปใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทำงานร่วมกับภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมัน และในบางสถาบันใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทำงานเพียงภาษาเดียว (เช่นศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป)[9] ภาษาฝรั่งเศสยังเป็นภาษาแม่ที่มีผู้พูดมากเป็นอันดับ 18 ของโลก ภาษาที่มีจำนวนผู้พูดมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นภาษาที่มีการเรียนรู้มากเป็นอันดับ 2 หรือ 3 ทั่วโลก (มีผู้เรียนประมาณ 120 ล้านคน)[10] ลัทธิอาณานิคมของฝรั่งเศสและเบลเยียมตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาส่งผลให้ภาษาฝรั่งเศสเริ่มกระจายไปในทวีปอเมริกา, แอฟริกา และเอเชีย ผู้พูดภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่สองส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาที่พูดภาษาฝรั่งเศส ได้แก่ กาบอง, แอลจีเรีย, โมร็อกโก, ตูนิเซีย, มอริเชียส, เซเนกัล และโกตดิวัวร์[11]
ภาษาฝรั่งเศสมีผู้พูดเป็นภาษาแม่ประมาณ 76 ล้านคน โดยมีผู้พูดอย่างคล่องแคล่วในชีวิตประจำวันประมาณ 235 ล้านคน[12][13][14] และผู้พูดเป็นภาษาที่สอง 77–110 ล้านคนในระดับความคล่องแคล่วที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา[15] อออิฟรายงานว่าประมาณ 300 ล้านคนทั่วโลก "สามารถพูดภาษานี้ได้"[16] โดยไม่ระบุเกณฑ์การประมาณหรือกลุ่มบุคคลที่สำรวจ[2] รายงานจากการฉายภาพประชากรของมหาวิทยาลัยลาวาลและเครือข่ายประชากรศาสตร์แห่งสมาคมมหาวิทยาลัยที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสคาดว่าในอนาคตอาจจะมีจำนวนผู้พูดภาษาฝรั่งเศสสูงถึงประมาณ 500 ล้านคนใน ค.ศ. 2025 และ 650 ล้านคนใน ค.ศ. 2050[17] อออิฟประมาณการว่าจะมีผู้พูดถึง 700 ล้านใน ค.ศ. 2050 โดยร้อยละ 80 อาศัยอยู่ในแอฟริกา[6]
ภาษาฝรั่งเศสมีประวัติศาสตร์อย่างยาวนานว่าเป็นภาษาระหว่างประเทศในวรรณกรรมและวิทยาศาสตร์ และเป็นภาษาแรกหรือภาษาที่สองในหลายองค์กร เช่น สหประชาชาติ, สหภาพยุโรป, เนโท, องค์การการค้าโลก, คณะกรรมการโอลิมปิกสากล และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ใน ค.ศ. 2011 บลูมเบิร์กบิสเนสวีก จัดให้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่เหมาะแก่การทำธุรกิจมากที่สุดเป็นอันดับสาม เป็นรองเพียงภาษาอังกฤษและภาษาจีนมาตรฐาน[18]
ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาในกลุ่มภาษาโรมานซ์ กล่าวคือ เป็นภาษาที่มีต้นกำเนิดจากภาษาละตินที่พูดกันในจักรวรรดิโรมันโบราณ ก่อนหน้าที่ดินแดนที่เป็นที่ตั้งประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบันจะอยู่ใต้การปกครองของโรมัน ดินแดนดังกล่าวเคยอยู่ใต้การปกครองของพวกกอล ซึ่งเป็นหนึ่งในชนชาติเคลต์ ในสมัยนั้นดินแดนประเทศฝรั่งเศสมีคนที่พูดภาษาถิ่นต่าง ๆ กันหลายภาษา แม้ว่าชาวฝรั่งเศสจะชอบสืบที่มาของภาษาของตนไปถึงพวกโกล (les Gaulois) แต่มีคำในภาษาฝรั่งเศสเพียง 2,000 คำเท่านั้นที่มีที่มามาจากภาษาของพวกโกล ซึ่งโดยมากจะเป็นคำที่ใช้เป็นชื่อสถานที่ หรือเป็นคำที่มีความหมายเกี่ยวกับธรรมชาติ
หลังจากที่ชาวโรมันได้เข้ามายึดดินแดนของพวกโกล คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นก็ได้เปลี่ยนมาพูดภาษาละติน ซึ่งภาษาละตินที่พูดกันในบริเวณนี้ ไม่ใช่ภาษาละตินชั้นสูงแบบที่พูดกันในหมู่ชนชั้นสูงของกรุงโรม แต่เป็นภาษาละตินสามัญ (vulgar latin) ที่พูดกันในหมู่ชาวบ้านและพลทหาร นอกจากนี้ ภาษาละตินที่พูดกันอยู่ในฝรั่งเศสนั้น ก็ได้รับอิทธิพลจากภาษากอลอยู่พอควร เนื่องจากสิ่งของบางอย่างที่ใช้กันอยู่ในกอล พวกโรมันไม่มีชื่อเรียก จึงต้องขอยืมคำในภาษาโกลมาเรียกสิ่งของเหล่านั้น เช่น les braies ซึ่งแปลว่าเครื่องแต่งกายจำพวกกางเกงของชาวโกล ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการ และภาษาที่ใช้ปกครองในชุมชนต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ด้วย (เช่น สหภาพยุโรป ไอโอซี องค์การสหประชาชาติ และสหภาพสากลไปรษณีย์) ในสมัยก่อนภาษาฝรั่งเศสถือเป็นภาษาสากลที่แพร่หลายที่สุด โดยมีสถานะเฉกเช่นภาษาอังกฤษในปัจจุบัน หนังสือเดินทางของไทยก็เคยใช้ภาษาฝรั่งเศสควบคู่กับภาษาไทย
หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 3 เป็นต้นมา จักรวรรดิโรมันก็เสื่อมอำนาจ ดินแดนหลายส่วนของจักรวรรดิโรมันตกอยู่ในเงื้อมมือของชนเผ่าป่าเถื่อนหลายพวก ชนเผ่าป่าเถื่อนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน ได้แก่ ชนเผ่าแฟรงก์ที่อาศัยอยู่ทางเหนือ ชนเผ่าวิซิกอทที่อาศัยอยู่ทางใต้ ชนเผ่าเบอร์กันดีในบริเวณริมแม่น้ำโรน และชนเผ่าเอลแมนที่อาศัยอยู่บริเวณพรมแดนของประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี ชนเผ่าป่าเถื่อนเหล่านี้พูดภาษากลุ่มเจอร์แมนิก สำเนียงของชนเหล่านี้ได้ส่งผลต่อภาษาละตินที่เคยพูดอยู่เดิมในฝรั่งเศส และคำจากภาษาของชนป่าเถื่อน ได้แก่ คำที่มีความหมายเกี่ยวกับยุทธวิธีในการรบ และชนชั้นทางสังคม ได้ถูกนำมาใช้ในภาษาละตินที่พูดกันอยู่ในฝรั่งเศส โดยภาษาฝรั่งเศสปัจจุบันมีคำที่มีที่มาจากคำในภาษาของชนป่าเถื่อนอยู่ประมาณ ร้อยละ 60
นักภาษาศาสตร์ได้จัดจำแนกภาษาฝรั่งเศสที่พูดกันในยุคกลางออกเป็น 3 จำพวก คือ พวกแรกคือภาษาที่เรียกกันว่า Langue d'Oïl พูดกันอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ พวกที่สองคือ Langue d'Oc ที่พูดกันอยู่ทางใต้ของประเทศ และพวกที่สามคือ Franco-Provençal ซึ่งเป็นการผสมผสานกันของสองภาษาแรก
Langue d'Oïl เป็นภาษาที่ใช้คำว่า oïl ในคำพูดว่า "ใช่" (ปัจจุบันใช้คำว่า oui) ในสมัยกลางภาษานี้จะพูดกันในตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส ภาษา Langue d'oïl เติบโตต่อมาจนกลายเป็นภาษาฝรั่งเศสเก่า ช่วงระยะเวลาของภาษาฝรั่งเศสเก่าอยู่ระหว่าง ศตวรรษที่ 8 กับ ศตวรรษที่ 14 ภาษาฝรั่งเศสเก่ามีลักษณะร่วมกันหลายอย่างกับภาษาลาติน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลำดับคำในประโยคซึ่งมีอิสระสูงเหมือนภาษาลาติน และต่างกับการบังคับทางไวยกรณ์ของภาษาฝรั่งเศสในปัจจุบัน
Langue d'Oc เป็นภาษาที่ใช้คำว่า oc ในคำพูดว่า "ใช่" ภาษานี้พูดกันอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสและทางเหนือของสเปน ซึ่งภาษานี้จะมีลักษณะคล้ายกับภาษาละตินมากกว่า Langue d'Oïl
นักวิชาการเรียกภาษาฝรั่งเศสที่พูดในช่วงก่อนหน้าปี พ.ศ. 1843 ซึ่งก็คือภาษา Langue d'Oïl ว่าเป็นภาษาฝรั่งเศสเก่า เอกสารฉบับแรกที่เขียนขึ้นเป็นภาษาฝรั่งเศสเก่า คือ "คำปฏิญาณแห่งสตราสบูร์ก" (Strasbourg) ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 1385
ในปี พ.ศ. 2082 พระเจ้าฟรองซัวที่ 1 ได้ออกพระราชกฎษฎีกาที่กำหนดให้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการของฝรั่งเศสแทนที่ภาษาละติน และกำหนดให้ใช้ภาษาฝรั่งเศสในการบริหารราชการ ในราชสำนัก และในการพิจารณาคดีในศาล ในช่วงนี้ได้มีการปรับปรุงตัวสะกดและการออกเสียงในภาษาฝรั่งเศส นักวิชาการเรียกภาษาฝรั่งเศสในยุคนี้ว่า ภาษาฝรั่งเศสยุคกลาง ในศตวรรษที่ 17 หลังจากที่มีการกำหนดมาตรฐานภาษาฝรั่งเศสให้พูดสำเนียงเดียวกันทั่วประเทศ การปรับปรุงและการกำหนดหลักต่าง ๆ ของภาษา ก็ทำให้เกิดภาษาฝรั่งเศสที่เรียกกันว่าภาษาฝรั่งเศสยุคใหม่ ซึ่งพูดกันอยู่ในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2177 พระคาร์ดินัลรีเชอลีเยอ (Richelieu) ได้ก่อตั้งองค์กรที่เรียกว่า L'Académie Française (ลากาเดมีฟร็องแซซ หรือ บัณฑิตยสถานฝรั่งเศส ซึ่งเปรียบได้กับสำนักงานราชบัณฑิตยสภาของไทย) เพื่อทำหน้าที่ดูแลรักษาภาษาฝรั่งเศสไว้ไม่ให้วิบัติ และคงภาษาฝรั่งเศสให้อยู่ในรูปแบบเดิมให้มากที่สุด ในช่วงศตวรรษที่ 17-19 ฝรั่งเศสได้มีบทบาทสำคัญในการเมืองของทวีปยุโรป และเป็นศูนย์กลางของปรัชญารู้แจ้งที่แพร่หลายกันอยู่ในสมัยนั้น ทำให้อิทธิพลของภาษาฝรั่งเศสแผ่ออกไปกว้างขวางและกลายเป็นภาษากลางของยุโรป มีบทบาทสำคัฐทางการทูต วรรณคดี และศิลปะ มหาราชในยุคนั้นสองพระองค์ คือ พระนางแคทเธอรีนมหาราชินีแห่งรัสเซีย และพระเจ้าเฟรดริกมหาราชแห่งปรัสเซีย สามารถตรัสและทรงพระอักษรเป็นภาษาฝรั่งเศสได้ดี
ภาษาฝรั่งเศสในปัจจุบัน ถูกแทรกซึมโดยอิทธิพลของภาษาอังกฤษที่แผ่ขยายอย่างกว้างขวาง มีการนำคำภาษาอังกฤษมาใช้ปะปนกับภาษาฝรั่งเศสเดิมอย่างแพร่หลาย ซึ่งมีผลเสียต่อการอนุรักษ์ภาษาฝรั่งเศส รัฐบาลได้ออกกฎหมายบางฉบับเพื่ออนุรักษ์ภาษาฝรั่งเศส โดยกำหนดให้ใช้คำจากภาษาฝรั่งเศสแท้ ๆ ในโฆษณา ประกาศ และเอกสารราชการต่าง ๆ นอกจากนี้ยังกำหนดให้สถานีวิทยุทุกสถานี เปิดเพลงภาษาฝรั่งเศสอย่างน้อยร้อยละ 40 ของเพลงทั้งหมดที่เปิดในสถานีนั้น
ฝรั่งเศสกำหนดให้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการของประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 รัฐบาลกำหนดให้เอกสารราชการ สัญญาต่าง ๆ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การศึกษา จะต้องทำเป็นภาษาฝรั่งเศส หากจำเป็นต้องใช้คำภาษาต่างประเทศ ก็ให้ใส่คำแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสควบคู่กันไปด้วย
อย่างไรก็ดี ทางการไม่ได้ควบคุมการใช้ภาษาในเอกสารของเอกชน และในเว็บไซต์ของเอกชน ซึ่งหากทำการควบคุมแล้ว ก็อาจขัดต่อหลักการเสรีภาพในการพูดได้
ร้อยละ 12 ของคนที่พูดภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ในโลกนี้เป็นชาวแคนาดา และภาษาฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในภาษาทางการสองภาษาของแคนาดา (อีกภาษาหนึ่งคือภาษาอังกฤษ) กฎหมายของแคนาดากำหนดให้บริการต่าง ๆ ของรัฐบาลกลางจะต้องจัดให้เป็นสองภาษาเสมอ กฎหมายต่าง ๆ ที่ผ่านรัฐสภา จะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส และฉลากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่วางขายในแคนาดาจะต้องมีภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ร้อยละ 22 ของชาวแคนาดาใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ และร้อยละ 18 ของชาวแคนาดาสามารถพูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส
ภาษาฝรั่งเศสมีสถานะเป็นภาษาทางการเพียงภาษาเดียวของรัฐเกแบ็กมาตั้งแต่การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยภาษาฝรั่งเศส (Bill 101) ผลสำคัญข้อหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้คือกำหนดให้เด็กในเกแบ็กต้องได้รับการศึกษาเป็นภาษาฝรั่งเศส ยกเว้นถ้าบิดามารดาของเด็กคนนั้นได้รับการศึกษาส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษภายในประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นการทำลายค่านิยมของผู้อพยพที่มักส่งบุตรหลานของคนเข้าเรียนในโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ กฎหมายนี้ยังกำหนดให้ใช้ภาษาฝรั่งเศสในการพิจารณาคดี โฆษณา การอภิปรายในสภา และการพิจารณาคดีในศาล ภายในเกแบ็ก ใน พ.ศ. 2536 กฎหมายนี้ได้รับการแก้ไข โดยอนุญาตให้เขียนป้ายสัญลักษณ์หรือโฆษณาต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษได้บ้าง ตราบใดที่ยังมีภาษาฝรั่งเศสเป็นส่วนมาก นอกจากนี้ยังทำให้คนที่พูดภาษาอังกฤษแต่อาศัยในเกแบ็กสามารถรับบริการทางสุขภาพและบริการของรัฐเป็นภาษาอังกฤษได้
รัฐอื่น ๆ ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษ ได้แก่รัฐนิวบรันสวิก ยูคอนเทร์ริทอรี นอร์ทเวสต์เทร์ริทอรีส์ และนูนาวุต ในรัฐออนแทรีโอ และแมนิโทบา ภาษาฝรั่งเศสไม่ได้มีสถานะเป็นภาษาทางการ แต่รัฐบาลของรัฐทั้งสองรัฐได้จัดการบริการต่าง ๆ เป็นภาษาฝรั่งเศสคู่กับภาษาอังกฤษ ในบริเวณที่มีคนที่พูดภาษาฝรั่งเศสอาศัยอยู่มาก
ภาษาฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในภาษาทางการของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภาษาอื่น ๆ ได้แก่ภาษาเยอรมัน ภาษาอิตาลี และภาษารูมันช์
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.