Remove ads
วันหยุดและเทศกาลฉลองในศาสนาคริสต์ มักฉลองในวันที่ 25 ธันวาคม จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คริสต์มาส (อังกฤษ: Christmas; อังกฤษเก่า: Crīstesmæsse, หมายถึง "พิธีมิสซาของพระคริสต์") หรือ วันสมโภชพระคริสตสมภพ (อังกฤษ: Feast of the Nativity) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซู[6][7] เป็นวันหยุดทางศาสนาและวัฒนธรรม ประชากรหลายพันล้านคนทั่วโลกจัดการเฉลิมฉลองในวันที่ 25 ธันวาคม วันดังกล่าวเน้นปีพิธีกรรมของคริสต์ศาสนิกชนเป็นสำคัญ วันคริสต์มาสเป็นวันปิดเทศกาลเตรียมการรับเสด็จ (Advent) และวันเริ่มต้นเทศกาลพระคริสตสมภพ (Christmastide) สิบสองวัน[8] คริสต์มาสเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศทั่วโลก และมีผู้ที่ไม่ใช่คริสต์ศาสนิกชนหันมาเฉลิมฉลองกันมากขึ้น[1][9][10] และเป็นส่วนสำคัญในคริสต์มาสและฤดูวันหยุด
คริสต์มาส | |
---|---|
ฉากการประสูติของพระเยซู | |
ชื่ออื่น | วันสมโภชพระคริสตสมภพ โนเอล การประสูติของพระเยซู Xmas ตรุษฝรั่ง |
จัดขึ้นโดย | คริสต์ศาสนิกชน และผู้นับถือศาสนาอื่นจำนวนมาก[1][2] |
ประเภท | ศาสนา, วัฒนธรรม |
ความสำคัญ | เฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซู |
การถือปฏิบัติ | ศาสนพิธีในโบสถ์, การให้ของขวัญ, การรวมตัวของครอบครัวหรือสังคมอื่น, การตกแต่งเชิงสัญลักษณ์ |
วันที่ |
|
ความถี่ | ทุกปี |
ส่วนเกี่ยวข้อง | เทศกาลพระคริสตสมภพ, คริสต์มาสอีฟ, เทศกาลเตรียมการรับเสด็จ, แม่พระรับสาร, วันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์, การทรงรับบัพติศมาของพระคริสต์, การถือศีลอดพระคริสตสมภพ, การประสูติของพระเยซู, คริสต์มาสน้อย, ตรุษฝรั่ง, วันนักบุญสเทเฟน, วันเปิดกล่องของขวัญ, วันสิ้นปี, วันขึ้นปีใหม่ |
วันที่พระเยซูประสูติจริง ๆ นั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่คะเนไว้ว่าราว 2 ปีก่อน ค.ศ. และ ค.ศ. 7[11] ในช่วงต้นถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 4 ศาสนาคริสต์ตะวันตกกำหนดวันคริสต์มาสตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม ซึ่งต่อมาศาสนาคริสต์ตะวันออกได้รับวันดังกล่าวไปด้วย[12][13] มีทฤษฎีอธิบายว่า เหตุผลที่เลือกวันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันเฉลิมฉลองคริสตสมภพนั้นเพราะเป็นเวลาเก้าเดือนพอดีหลังคริสต์ศาสนิกชนสมัยแรกเฉลิมฉลองวันแม่พระรับสาร[14] หรือตรงกับวันเหมายันของโรมัน[15] หรือเทศกาลฤดูหนาวเพเกินโบราณเพื่อยุติการเฉลิมฉลองเหล่านี้และแทนที่ด้วยการฉลองของคริสต์ศาสนิกชน[14][16]
วันการเฉลิมฉลองในศาสนาคริสต์ตะวันออกแต่เดิม คือ วันที่ 6 มกราคม โดยเชื่อมโยงกับวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ ในปัจจุบัน วันดังกล่าวยังเป็นวันเฉลิมฉลองสำหรับคริสตจักรอาร์มีเนียอะโพสโตลิกและในประเทศอาร์มีเนียซึ่งเป็นวันหยุดราชการ จนถึง ค.ศ. 2011 ระหว่างปฏิทินเกรโกเรียนสมัยใหม่และปฏิทินจูเลียนที่เก่ากว่า มีวันคลาดเคลื่อนกันอยู่ 13 วัน ผู้ที่ยังใช้ปฏิทินจูเลียนหรือเทียบเท่าต่อไปจึงเฉลิมฉลองวันที่ 25 ธันวาคมและ 6 มกราคมที่ประชากรโลกส่วนใหญ่เฉลิมฉลอง ในวันที่ 7 มกราคมและ 19 มกราคมแทน ด้วยเหตุนี้ เอธิโอเปีย รัสเซีย ยูเครน มาเซโดเนียและมอลโดวาจึงเฉลิมฉลองคริสต์มาส ทั้งที่เป็นวันสมโภชของคริสต์ศาสนิกชนและที่เป็นวันหยุดราชการ ตามในปฏิทินเกรโกเรียนคือ วันที่ 7 มกราคม
ประเพณีการเฉลิมฉลองอันเป็นที่นิยมที่เหมือนกันในหลายประเทศมีการผสมผสานแนวคิดและกำเนิดก่อนศาสนาคริสต์ สมัยศาสนาคริสต์ และฆราวาส[17] ประเพณีสมัยใหม่ที่ได้รับความนิยมในวันดังกล่าวมีการให้ของขวัญ เพลงคริสต์มาสและเพลงเทศกาล การแลกเปลี่ยนการ์ดคริสต์มาส การตกแต่งโบสถ์ มื้อพิเศษ และการจัดแสดงการประดับตกแต่งหลายอย่าง รวมทั้งต้นคริสต์มาส แสงไฟ ฉากการประสูติของพระเยซู มาลัย พวงหรีด มิสเซิลโทและฮอลลี นอกเหนือจากนั้น บุคคลที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดและแทนกันได้บ่อยครั้งหลายคน เช่น ซานตาคลอส ฟาเธอร์คริสต์มาส นักบุญนิโคลัส และคริสต์คินด์ เกี่ยวข้องกับการให้ของขวัญแก่เด็กในเทศกาลคริสต์มาส และต่างมีประเพณีและตำนานเป็นของตนเอง[18] เพราะการให้ของขวัญและอีกหลายส่วนของเทศกาลคริสต์มาสเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในบรรดาคริสต์ศาสนิกชนและผู้ที่มิใช่ วันคริสต์มาสจึงเป็นเหตุสำคัญและช่วงลดราคาหลักสำหรับผู้ค้าปลีกและธุรกิจ ผลกระทบทางเศรษฐกิจของคริสต์มาสเป็นปัจจัยซึ่งเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาในหลายภูมิภาคทั่วโลก
คำว่า '"Christmas" ในภาษาอังกฤษ เกิดขึ้นเป็นคำประสมหมายถึง "พิธีมิสซาของพระคริสต์" มาจากคำในภาษาอังกฤษสมัยกลาง Christemasse ซึ่งมาจากคำว่า Cristes mæsse ในภาษาอังกฤษเก่าอีกทอดหนึ่ง คำนี้พบครั้งแรกในเอกสารที่บันทึกใน ค.ศ. 1038[7] คำว่า Crīst (แสดงความเป็นเจ้าของ Crīstes) มาจากภาษากรีก Christos ซึ่งเป็นคำแปลของ Māšîaḥ (เมสสิยาห์) ในภาษาฮีบรู และ "mæsse" มาจากภาษาละติน missa คือ การเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท รูปแบบ "Christenmas" ยังพบใช้ในอดีตเช่นกัน แต่ปัจจุบันถูกมองว่าโบราณและเฉพาะถิ่น[19] คำดังกล่าวมาจากภาษาอังกฤษกลางว่า Cristenmasse อันมีความหมายตามอักษรว่า "มิสซาคริสเตียน"[20] "Xmas" เป็นการย่อคำว่า คริสต์มาส ส่วนใหญ่พบในสื่อตีพิมพ์ มาจากอักษรตัวแรก Χ ในคำว่า Khrīstos (Χριστός) ภาษากรีก ซึ่งหมายถึง "คริสต์" แม้รูปแบบการเขียนหลายแห่งไม่สนับสนุนการใช้[21] การใช้นี้มีแบบอย่างในภาษาอังกฤษกลาง Χρ̄es masse (โดยที่ "Χρ̄" เป็นการย่อ Χριστός) [20]
นอกเหนือไปจาก "คริสต์มาส" แล้ว วันดังกล่าวยังรู้จักกันในชื่ออื่นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน พวกแองโกล-แซกซันเรียกงานสมโภชกลางฤดูหนาว (midwinter) [22][23] หรือที่พบน้อยกว่า Nātiuiteð จากภาษาละติน nātīvitās[22][24] "Nativity" หมายถึง "การเกิด" มาจากภาษาละติน nātīvitās[25] ในภาษาอังกฤษเก่า Gēola ("ตรุษฝรั่ง", Yule) หมายถึง ช่วงเวลาซึ่งสัมพันธ์กับเดือนมกราคมและธันวาคม[26] ภาษานอร์สโบราณที่มาจากกำเนิดเดียวกัน Jól ภายหลังได้ใช้เป็นชื่อของวันหยุดเพเกินสแกนดิเนเวีย ซึ่งผนวกรวมกับคริสต์มาสราว ค.ศ. 1000[22] "Noel" (หรือ "Nowell") เข้าสู่ภาษาอังกฤษในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 และมาจากภาษาฝรั่งเศสเก่า noël หรือ naël คำนี้มาจากภาษาละติน nātālis (diēs) หมายถึง " (วัน) แห่งการเกิด"[27]
วันคริสต์มาสเป็นเทศกาลหลักและวันหยุดราชการในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่มิใช่คริสต์ศาสนิกชน ในบางประเทศที่มิใช่คริสต์ ประเทศเหล่านี้รับคริสต์มาสเข้ามาระหว่างถูกปกครองเป็นอาณานิคม (เช่น ฮ่องกง) ส่วนในประเทศอื่น ประชากรค่อย ๆ รับเอาการเฉลิมฉลองของคริสต์ศาสนิกชนกลุ่มน้อยหรืออิทธิพลจากวัฒนธรรมต่างประเทศ ในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งคริสต์มาสเป็นที่นิยมแม้มีคริสตศาสนิกชนน้อย ก็ได้รับเอาคริสต์มาสส่วนที่เป็นฆราวาสหลายอย่าง เช่น การให้ของขวัญ การประดับตกแต่ง และต้นคริสต์มาส ประเทศที่คริสต์มาสไม่ใช่วันหยุดราชการ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน (ยกเว้นฮ่องกงและมาเก๊า) ญี่ปุ่น ซาอุดิอาระเบีย อัลจีเรีย ไทย เนปาล อิหร่าน ตุรกี และเกาหลีเหนือ การเฉลิมฉลองคริสต์มาสรอบโลกอาจมีรูปแบบแตกต่างกันชัดเจนมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละชาติ
ในกลุ่มประเทศที่มีประเพณีแบบคริสต์มั่นคง การเฉลิมฉลองคริสต์มาสอันหลากหลายได้รับการปรับปรุงกระทั่งกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในแต่ละถิ่นและภูมิภาค สำหรับคริสต์ศาสนิกชน การเข้าร่วมศาสนพิธีถือเป็นส่วนสำคัญในการยอมรับเทศกาลดังกล่าว คริสต์มาส ตลอดจนเทศกาลอีสเตอร์ เป็นช่วงที่มีคนเข้าโบสถ์มากที่สุดในแต่ละปี ในประเทศคาทอลิก ประชากรจัดการเดินขบวนทางศาสนาหรือขบวนแห่ก่อนคริสต์มาส ในประเทศอื่น มีการจัดการเดินขบวนฆราวาสหรือขบวนแห่ซึ่งนำเสนอซานตาคลอสและบุคคลสัญลักษณ์ของเทศกาลอื่น ๆ ที่มักจัดขึ้นบ่อยครั้ง การรวมญาติและการแลกของขวัญได้กลายมาเป็นลักษณะเด่นของเทศกาลอย่างกว้างขวาง ประเทศส่วนใหญ่มีประเพณีการให้ของขวัญ ส่วนวันอื่นที่มีการแลกของขวัญ ได้แก่ วันนักบุญนิโคลัส ที่ตรงกับวันที่ 6 ธันวาคม และการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์ ที่ตรงกับวันที่ 6 มกราคม
นักเขียนคริสต์ศาสนิกชนยอมรับว่าคริสต์มาสเป็นวันประสูติของพระเยซูที่ถูกต้องเป็นเวลาหลายศตวรรษ นักบุญจอห์น คริสซอสตอมเทศนาในแอนติออกเมื่อประมาณ ค.ศ. 386 ซึ่งสถาปนาวันคริสต์มาสตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมตามปฏิทินจูเลียนเพราะการตั้งครรภ์พระเยซู (ลูกา 1:26) ได้รับการประกาศระหว่างเดือนที่หกของการตั้งครรภ์ของเอลิซาเบธกับนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา (ลูกา 1:10-13) ดังที่บันทึกไว้จากพันธกิจซึ่งซาคาริยาส์กระทำในวันทดแทนบาป (Day of Atonement) ระหว่างเดือนที่เจ็ดของปฏิทินฮีบรู เอธานิมหรือตีซรี (เลวีนิติ 16:29, 1 พงษ์กษัตริย์ 8:2) ซึ่งตกอยู่ในเดือนกันยายนถึงตุลาคม[7]
ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 นักวิชาการเริ่มเสนอคำอธิบายอื่นแทน ไอแซก นิวตันแย้งว่า คริสต์มาสถูกเลือกให้ตรงกับเหมายัน[15] ซึ่งชาวโรมันเรียกว่า บรูมา และเฉลิมฉลองในวันที่ 25 ธันวาคม[28] ใน ค.ศ. 1743 คริสเตียนชาวเยอรมัน พอล แอร์นสท์ จาบลอนสกี ให้เหตุผลว่า คริสต์มาสจัดตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมเพื่อให้ตรงกับวันหยุดทางสุริยคติของโรมัน ดีเอส นาตาลิส โซลิส อินวิกติ และดังนั้นจึงเป็นการทำให้เป็นเพเกินซึ่งลดคุณค่าศาสนจักรที่แท้จริง[16] ใน ค.ศ. 1889 หลุยส์ ดือแชนเสนอว่าวันที่คริสต์มาสนั้นคำนวณมาจากเก้าเดือนหลังฉลองแม่พระรับสาร วันที่แต่เดิมถือเป็นการเริ่มตั้งครรภ์พระเยซู ซึ่งวันนั้นตั้งอยู่บนความเชื่อแต่โบราณว่าพระองค์ทรงมาตั้งครรภ์และถูกตรึงบนไม้กางเขนในวันเดียวกัน คือ วันที่ 15 เดือนนิสาน[29][14]
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ไม่ว่าวันประสูติของพระเยซูจะตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมหรือไม่นั้น ไม่ถูกมองว่าเป็นปัญหาสำคัญในศาสนาคริสต์กระแสหลัก[30][31][32] แต่การเน้นการเฉลิมฉลองการที่พระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์เพื่อไถ่บาปแก่มนุษยชาติถือว่าเป็นความหมายหลักของคริสต์มาส[30][31][32]
คริสตจักรอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ รวมทั้งรัสเซีย จอร์เจีย ยูเครน มาเซโดเนีย มอนเตเนโกร เซอร์เบีย และเขตอัครบิดรกรีกแห่งเยรูซาเล็มกำหนดวันที่งานสมโภชโดยใช้ปฏิทินจูเลียนที่เก่ากว่า วันที่ 25 ธันวาคมตามปฏิทินจูเลียน ซึ่งปัจจุบันตรงกับวันที่ 7 มกราคมในปฏิทินเกรโกเรียนที่นานาชาติใช้กัน อย่างไรก็ดี คริสต์ศาสนิกชนออร์โธด็อกซ์อื่น เช่น ศาสนจักรกรีซ โรมาเนีย แอนติโอก อเล็กซานเดรีย อัลเบเนีย ฟินแลนด์ และศาสนจักรออร์โธด็อกซ์ในอเมริกา เช่นเดียวกับที่อื่น ๆ เริ่มใช้ปฏิทินจูเลียนที่ได้รับการปรับปรุงในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งตรงกับปฏิทินเกรโกเรียนพอดี[5]
คริสตจักรออร์ทอดอกซ์เหล่านี้เฉลิมฉลองคริสต์มาสวันเดียวกับศาสนาคริสต์ตะวันตก คริสตจักรออร์ทอดอกซ์ทางตะวันออกยังใช้ปฏิทินของตนเอง ซึ่งส่วนมากแล้วคล้ายกับปฏิทินจูเลียน คริสตจักรอะโพสโตลิกอาร์มีเนียเฉลิมฉลองการประสูติร่วมกับวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ในวันที่ 6 มกราคม โดยปกติคริสตจักรอาร์มีเนียใช้ปฏิทินเกรโกเรียน แต่บางแห่งใช้ปฏิทินจูเลียน ดังนั้นจึงเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสตรงกับวันที่ 19 มกราคม และคริสต์มาสอีฟวันที่ 18 มกราคม ตามปฏิทินเกรโกเรียน[5]
คริสต์ศาสนิกชนเฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซูผ่านทางนางมารีย์สาวพรหมจารีว่าเป็นการบรรลุคำทำนายพระเมสสิยาห์ของคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม[33] โดยคัมภีร์ไบเบิลได้บันทึกเรื่องราวซึ่งอธิบายเหตุการณ์การประสูติของพระเยซู แตกต่างกันเป็นสองเวอร์ชันตามมุมมองของผู้นิพนธ์พระวรสารสี่ท่าน[34][35][36][37] โดยพบในพระวรสารนักบุญมัทธิว คือ มัทธิว 1:18 และพระวรสารนักบุญลูกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกา 1:26 และ 2:40 ตามบันทึกเหล่านี้ พระเยซูประสูติแต่นางมารีย์ โดยได้รับความช่วยเหลือจากโยเซฟ สามีของเธอ ในเมืองเบธเลเฮม
ตามความเชื่อที่ได้รับความนิยม การประสูติมีขึ้นในคอกม้า ล้อมรอบด้วยสัตว์ในไร่นา แม้ทั้งคอกม้าหรือสัตว์ต่าง ๆ จะมิได้ถูกกล่าวถึงอย่างเจาะจงในบันทึกไบเบิล อย่างไรก็ดี มีการกล่าวถึงรางหญ้าในลูกา 2:7 ซึ่งเขียนไว้ว่า มารีย์ "เอาผ้าอ้อมพันและวางไว้ในรางหญ้า เพราะว่าไม่มีที่ว่างให้เขาในโรงแรม" การแทนการประสูติของพระเยซูทางประติมาวิทยาช่วงแรกได้วางสัตว์และรางหญ้าไว้ในถ้ำ (ซึ่งตามความเชื่อตั้งอยู่ใต้คริสตจักรการประสูติในเบธเลเฮม) มากกว่าคอกม้า
คนเลี้ยงแกะในทุ่งหญ้าใกล้กับเบธเลเฮมได้รับการบอกเล่าถึงการประสูติโดยทูตสวรรค์ และเป็นคนกลุ่มแรกที่มาพบพระกุมารเยซู[38] ตามความเชื่อที่ได้รับความนิยมยังมีว่า กษัตริย์สามพระองค์หรือนักปราชญ์สามคน คือ เมลชอร์ แคสปาร์ และบัลธาซาร์ ได้เดินทางมาเยี่ยมพระกุมารเยซูในรางหญ้า แม้ความเชื่อนี้จะไม่ตรงตามคัมภีร์ไบเบิลอย่างเคร่งครัดก็ตาม แต่ในพระวรสารนักบุญมัทธิวเล่าว่า มีผู้วิเศษหรือโหราจารย์มาพบโดยไม่ระบุจำนวน หลังจากที่พระเยซูประสูติแล้ว ขณะที่ครอบครัวอาศัยอยู่ในเรือน (มัทธิว 2:11) และได้ถวายของขวัญเป็นทองคำ, กำยานและมดยอบแก่พระกุมารเยซู แขกผู้มาเยือนนั้นได้รับทราบจากดาวประหลาด ซึ่งมักรู้จักกันในชื่อ ดาวแห่งเบธเลเฮม เชื่อกันว่าดาวนี้ประกาศการประสูติของกษัตริย์แห่งยิว พิธีฉลองการมาเยือนนี้ งานสมโภชการเสด็จมาของพระเยซู เฉลิมฉลองในวันที่ 6 มกราคม และเป็นวันสิ้นสุดเทศกาลคริสต์มาสในบางคริสตจักร
คริสต์ศาสนิกชนเฉลิมฉลองคริสต์มาสในหลายวิธี นอกเหนือไปจากวันนี้จะเป็นหนึ่งในวันทีสำคัญที่สุดและนิยมที่สุดในการเข้าร่วมพิธีในโบสถ์, การอุทิศตนและประเพณีอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมอีก ในศาสนาคริสต์บางนิกาย เด็ก ๆ จะแสดงละครเหตุการณ์การประสูติของพระเยซูโดยมีสัตว์ร่วมแสดงด้วยเพื่อความสมจริง หรือร้องบทเพลงซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ในวันนั้น คริสต์ศาสนิกชนบางคนยังสร้างฉากเหตุการณ์การประสูติในบ้านของพวกเขาด้วย โดยใช้ตุ๊กตาขนาดเล็กประดับเป็นตัวละครหลักในเหตุการณ์ ก่อนวันคริสต์มาส คริสตจักรอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์จะมีการจัดเทศกาลถือศีลอดพระคริสตสมภพ (Nativity Fast) 40 วันล่วงหน้าการประสูติของพระเยซู ขณะที่ศาสนาคริสต์ตะวันตกส่วนใหญ่เฉลิมฉลองเทศกาลเตรียมการรับเสด็จสี่สัปดาห์ สำหรับการฉลองวันคริสต์มาสจะกระทำในคือนวันก่อนวันคริสต์มาส หรือที่เรียกว่าวันคริสต์มาสอีฟ
ประเพณีเกี่ยวกับศิลปะอันยาวนานได้พัฒนาขึ้นเป็นการผลิตการวาดภาพเขียนสีการประสูติในศิลปะ ฉากการประสูตินั้นแต่เดิมจัดในคอกม้าพร้อมปศุสัตว์ และมีมารีย์ โยเซฟ และพระกุมารเยซูในรางหญ้า นักปราชญ์สามคน คนเลี้ยงแกะกับแกะของพวกเขา ทูตสวรรค์และดาวแห่งเบธเลเฮม[39]
ประเพณีการประดับตกแต่งเป็นพิเศษในวันคริสต์มาสนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 มีบันทึกว่าในกรุงลอนดอน การประดับตกแต่งเป็นประเพณีในวันคริสต์มาสสำหรับทุกบ้าน และทุกโบสถ์ประจำเขตแพริชต้อง "ตกแต่งด้วยโอ๊กโฮล์ม ไอวี เบย์ลอเรลและอะไรก็ตามที่ฤดูกาลนี้ในช่วงปีให้เพื่อเป็นสีเขียว"[40] ใบไอวีรูปหัวใจกล่าวกันว่าเป็นสัญลักษณ์การเสด็จมายังโลกมนุษย์ของพระเยซู ขณะที่ฮอลลีถูกมองว่าเป็นการคุ้มครองจากพวกเพเกินและแม่มด หนามของมันและผลเบอร์รีสีแดงถือเป็นสัญลักษณ์มงกุฎหนามซึ่งพระเยซูทรงสวมที่การตรึงกางเขนและพระโลหิตที่พระองค์ทรงหลั่ง[41][42]
ฉากการสมภพเป็นที่ทราบกันจากกรุงโรมสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 10 ซึ่งนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีทำให้เป็นที่นิยมนับแต่ ค.ศ. 1223 และได้แพร่กระจายไปทั่วยุโรปอย่างรวดเร็ว[43] ของประดับตกแต่งหลายประเภทได้พัฒนาขึ้นทั่วโลกคริสต์ศาสนิกชน ขึ้นอยู่กับประเพณีท้องถิ่นและทรัพยากรที่หาได้ ของประดับที่ผลิตขึ้นเชิงพาณิชย์ครั้งแรกปรากฏในเยอรมนีในคริสต์ทศวรรษ 1860 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากโซ่กระดาษที่เด็กทำ[44] ในประเทศซึ่งการแทนฉากคริสตสมภพเป็นที่นิยมมาก ผู้คนต่างได้รับการสนับสนุนให้ประกวดและสร้างฉากที่เหมือนดั้งเดิมหรือเหมือนจริงที่สุด ในบางครอบครัว แม่พิมพ์ที่ใช้ทำฉากนั้นถูกมองว่าเป็นมรดกมีค่าประจำตระกูล
สีของคริสต์มาสแต่โบราณ คือ เขียวและแดง[45] ส่วนสีขาว เงินและทองก็ได้รับความนิยมเช่นกัน สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของพระโลหิตของพระเยซู ซึ่งทรงหลั่งในการถูกตรึงบนกางเขน สีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตนิรันดร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในไม้ไม่ผลัดใบ ซึ่งไม่เสียใบในฤดูหนาว[42][45]
ต้นคริสต์มาสถูกมองว่าเป็นการทำให้ประเพณีและพิธีกรรมเพเกินรอบเหมายันเป็นคริสเตียน ซึ่งรวมถึงการใช้กิ่งไม้ไม่ผลัดใบและการดัดแปลงการบูชาต้นไม้ของเพเกิน[46] ตามข้อมูลของนักชีวประวัติสมัยคริสต์ศตวรรษที่แปด เอดดี สเตฟานัส นักบุญโบนิฟาส (ค.ศ. 634-709) ผู้เป็นมิชชันนารีในเยอรมนี หยิบขวานไปยังต้นโอ๊กที่อุทิศให้ธอร์และชี้ไปยังต้นเฟอร์ ซึ่งเขากล่าวว่าเป็นวัตถุควรแก่การเคารพที่เหมาะสมกว่า เพราะมันชี้ไปยังสวรรค์และมีรูปทรงสามเหลี่ยม ซึ่งเขาว่าเป็นสัญลักษณ์ของตรีเอกภาพ[47] วลีภาษาอังกฤษ "ต้นคริสต์มาส" ได้รับบันทึกครั้งแรกใน ค.ศ. 1835[48] และแสดงให้เห็นการรับมาจากภาษาเยอรมัน ประเพณีต้นคริสต์มาสสมัยใหม่เชื่อกันว่าเริ่มต้นในเยอรมนีในคริสต์ศตวรรษที่ 18[46] แม้หลายคนแย้งว่า มาร์ติน ลูเธอร์เริ่มประเพณีดังกล่าวในคริสต์ศตวรรษที่ 16[49][50]
ประเพณีต้นคริสต์มาสนำเข้าสู่อังกฤษจากเยอรมนีครั้งแรกผ่านพระนางชาร์ล็อตต์ พระมเหสีในพระเจ้าจอร์จที่ 3 จากนั้น เจ้าชายอัลเบิร์ตทรงนำเข้ามาอีกครั้งในรัชสมัยพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ซึ่งครั้งนี้ประสบความสำเร็จมากกว่า จนถึง ค.ศ. 1841 ต้นคริสต์มาสได้แพร่หลายในอังกฤษมากยิ่งขึ้น[51] จนถึงคริสต์ทศวรรษ 1870 ผู้คนในสหรัฐอเมริกาได้รับเอาประเพณีการตกแต่งต้นคริสต์มาส[52] ต้นคริสต์มาสอาจตกแต่งด้วยแสงไฟและเครื่องตกแต่ง
นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 พอยเซตเทีย พืชท้องถิ่นจากเม็กซิโก ได้มาเกี่ยวข้องกับคริสต์มาส พืชประจำเทศกาลที่ได้รับความนิยมอื่นอีกมีฮอลลี มิสเซลโท พืชจำพวกว่าน (amaryllis) สีแดง และกระบองเพชรคริสต์มาส ร่วมกับต้นคริสต์มาส ภายในบ้านอาจประดับตกแต่งด้วยพืชเหล่านี้ เช่นเดียวกับพวงมาลัยและใบพืชไม่ผลัดใบ การแสดงหมู่บ้านคริสต์มาสได้กลายมาเป็นประเพณีในหลายบ้านช่วงเทศกาลนี้ ของนอกบ้านอาจประดับตกแต่งด้วยแสงไฟ และบางครั้งด้วยเลื่อนหิมะประดับไฟ มนุษย์หิมะและสัญลักษณ์คริสต์มาสอื่น ๆ
ของประดับตามประเพณีอย่างอื่นมีระฆัง เทียน อมยิ้มไม้เท้า ถุงเท้ายาว พวงหรีดและทูตสวรรค์ ทั้งการแสดงพวงหรีดและเทียนในหน้าต่างแต่ละบานนั้นเก่าแก่กว่าการจัดแสดงคริสต์มาสเสียอีก การจัดพวกใบที่มีศูนย์กลาง โดยมักมาจากพืชไม่ผลัดใบ ขึ้นเป็นพวงหรีดคริสต์มาสและได้รับการออกแบบเพื่อเตรียมคริสต์ศาสนิกชนสำหรับเทศกาลเตรียมการรับเสด็จ เทียนในหน้าต่างแต่ละบานตั้งใจให้แสดงข้อเท็จจริงที่ว่าคริสต์ศาสนิกชนเชื่อว่า พระเยซูคริสต์เป็นแสงทั้งหมดของโลก[53]
แสงไฟและธงคริสต์มาสอาจแขวนไว้ตามท้องถนน มีดนตรีบรรเลงจากลำโพง และต้นคริสต์มาสวางไว้ตามสถานที่สำคัญ[54] ในหลายพื้นที่ของโลก ใจกลางเมืองและพื้นที่เดินซื้อของผู้บริโภคมักสนับสนุนและจัดแสดงของประดับตกแต่ง ม้วนห่อกระดาษสีสดใสพร้อมลวดลายคริตส์มาสทางฆราวาสหรือเกี่ยวข้องกับศาสนาผลิตขึ้นใช้ห่อของขวัญ ในบางประเทศ การประดับตกแต่งคริสต์มาสตามประเพณีจะถูกปลดลงในคืนที่สิบสอง ตอนเย็นของวันที่ 5 มกราคม
เพลงสวดคริสต์มาสเพลงแรกปรากฏขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ในกรุงโรม เริ่มเผยแพร่ไปยังอารามยุโรปเหนือในคริสต์ศตวรรษที่ 9 และ 10 ต่อมา จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ในฝรั่งเศส เยอรมนี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิตาลี ภายใต้อิทธิพลของนักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซี มีการพัฒนาประเพณีเพลงคริสต์มาสในภาษาถิ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมั่นคง เพลงสวดคริสต์มาสในภาษาอังกฤษปรากฏครั้งแรกในผลงานของจอห์น เอาด์เลย์ (John Awdlay) เพลงเก่าแก่ที่ยังร้องกันอยู่เป็นประจำ คือ ขอเชิญท่านผู้วางใจ (ละติน: Adeste Fidelis) ปรากฏในรูปปัจจุบันตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ส่วนเนื้อร้องประพันธ์ขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13
ส่วนเพลงเทศกาลคริสต์มาสทางฆราวาสทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 "เดกเดอะฮอลส์" (Deck The Halls) สืบประวัติไปได้ถึง ค.ศ. 1784 และเพลง "จิงเกิลเบลส์" ของอเมริกัน จดลิขสิทธิ์ใน ค.ศ. 1857
อาหารครอบครัวคริสต์มาสมื้อพิเศษตามประเพณีเป็นส่วนสำคัญในการเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส และอาหารซึ่งรับประทานนั้นแตกต่างกันไปตามประเทศ บางภูมิภาค เช่น ซิซิลี มีอาหารมื้อพิเศษในวันคริสต์มาสอีฟ โดยรับประทานปลา 12 ชนิด ในอังกฤษและประเทศซึ่งได้รับอิทธิพลจากประเพณีอังกฤษ มื้อคริสต์มาสมาตรฐานมีไก่งวงหรือห่าน เนื้อสัตว์ เกรวี มันฝรั่ง ผัก และบางครั้งมีขนมปังและไซเดอร์ นอกจากนี้ยังมีการเตรียมของหวานพิเศษเช่นกัน เช่น พุดดิงคริสต์มาส พายไส้เนื้อสัตว์และเค้กผลไม้[55][56]
การแลกของขวัญเป็นหนึ่งในแง่มุมหลักของการเฉลิมฉลองคริสต์มาสสมัยใหม่ ซึ่งทำให้เทศกาลคริสต์มาสเป็นช่วงทำกำไรสูงสุดของปีสำหรับผู้ค้าปลีกและธุรกิจทั่วโลก การให้ของขวัญเป็นปกติในการเฉลิมฉลองแซเทิร์นาเลีย (Saturnalia) เทศกาลโบราณของโรมันซึ่งจัดขึ้นในปลายเดือนธันวาคมและอาจมีอิทธิพลต่อประเพณีคริสต์มาส[57] การให้ของขวัญคริสต์มาสถูกห้ามโดยคริสตจักรคาทอลิกในยุคกลางเพราะสงสัยประเพณีดังกล่าวว่ามีต้นกำเนิดมาจากเพเกิน[57] ภายหลังคริสตจักรใช้เหตุผลตัดสินบนพื้นฐานว่าเป็นการเชื่อมโยงนักบุญนิโคลัสกับคริสต์มาส และของขวัญที่เป็นทองคำ กำยานและมดยอบก็ได้มอบถวายแด่พระกุมารเยซูโดยนักปราชญ์ทั้งสาม
มีหลายคนทั้งที่ถือกำเนิดขึ้นตามแบบคริสต์และตามตำนานเกี่ยวข้องกับคริสต์มาสและการให้ของขวัญตามเทศกาล ในบรรดาบุคคลเหล่านี้มี ซานตาคลอส, ปิแอร์ นอแอล (Père Noël) และไวนัคท์สมันน์ (Weihnachtsmann), นักบุญนิโคลัสหรือซินเทอร์กลาส (Sinterklaas), คริสต์คินด์ (Christkind), คริส ครินเกิล (Kris Kringle), จูลูปูกี (Joulupukki), บับโบ นาตาเล (Babbo Natale), นักบุญบาซิล (Saint Basil) และฟาเธอร์ฟรอสต์
บุคคลซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดและรู้จักกันแพร่หลายที่สุดในบรรดาชื่อเหล่านี้ในการเฉลิมฉลองสมัยใหม่ทั่วโลกคือ ซานตาคลอส ผู้ให้ของขวัญตามตำนาน แต่งกายชุดแดง โดยที่มานั้นมีเรื่องเล่าหลากหลาย ชื่อซานตาคลอสสามารถสืบย้อนไปยังคำภาษาดัตช์ว่า ซินเทอร์กลาส ซึ่งมีความหมายอย่างง่ายว่า นักบุญนิโคลัส นิโคลัสเป็นบิชอปแห่งไมรา ในตุรกีปัจจุบัน ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 4 ในบรรดาคุณลักษณะอย่างนักบุญอื่น ๆ เขาถูกจดจำสำหรับการดูแลเด็ก ความเอื้อเฟื้อและการให้ของขวัญ งานสมโภชเขาในวันที่ 6 ธันวาคมจึงมีการเฉลิมฉลองในหลายประเทศด้วยการให้ของขวัญ[58]
นักบุญนิโคลัสตามประเพณีปรากฏในเครื่องแต่งกายของบิชอป ร่วมกับผู้ช่วยเหลือ สอบถามถึงพฤติกรรมของเด็กในช่วงปีที่ผ่านมาก่อนตัดสินใจว่าพวกเขาสมควรได้รับของขวัญหรือไม่ จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 นักบุญนิโคลัสเป็นที่รู้จักกันในดีในเนเธอร์แลนด์ และการปฏิบัติให้ของขวัญในชื่อของเขาได้แพร่ขยายไปยังส่วนอื่นของยุโรปกลางและใต้ ในห้วงการปฏิรูปศาสนาในยุโรปคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ผู้นับถือโปรแตสแตนท์หลายคนเปลี่ยนผู้นำของขวัญไปเป็นคริสต์ไชล์ (Christ Child) หรือคริสต์คินล์ (Christkindl) แผลงในภาษาอังกฤษเป็นคริส ครินเกิล และวันที่ให้ของขวัญเปลี่ยนจากวันที่ 6 ธันวาคมมาเป็นวันคริสต์มาสอีฟ[58]
อย่างไรก็ดี ภาพลักษณ์สมัยใหม่ที่ได้รับความนิยมของซานตาคลอสนี้ถูกสร้างขึ้นในสหรัฐอเมริกา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิวยอร์ก การเปลี่ยนรูปดังกล่าวประสบความสำเร็จด้วยความช่วยเหลือของผู้มีส่วนสำคัญ รวมทั้งนักวาดการ์ตูน โธมัส แนสต์ (ค.ศ. 1840-1902) หลังสงครามปฏิวัติอเมริกัน ผู้อยู่อาศัยบางคนในนครนิวยอร์กมองหาสัญลักษณ์ของนครในอดีตที่มิใช่อังกฤษ นิวยอร์กแต่เดิมก่อตั้งขึ้นเป็นเมืองอาณานิคมดัตช์ชื่อ นิวอัมสเตอร์ดัม และประเพณีซินเทอร์กลาสของดัตช์ได้ถูกนำเสนอใหม่เป็นนักบุญนิโคลัส[59]
ใน ค.ศ. 1809 สมาคมประวัติศาสตร์นิวยอร์กชุมนุมกันและให้ชื่อแซนค์เตคลอส (Sancte Claus) เป็นนักบุญผู้ปกปักษ์รักษานิวอัมสเตอร์ดัม ซึ่งเป็นชื่อดัตช์ของนครนิวยอร์ก อันมีผลย้อนหลัง[60] ในภาพลักษณ์อย่างอเมริกันครั้งแรกของเขาใน ค.ศ. 1810 ซานตาคลอสถูกวาดในชุดคลุมบิชอป อย่างไรก็ดี เมื่อศิลปินคนใหม่เข้ามา ซานตาคลอสได้พัฒนามาเป็นเครื่องแต่งกายทางฆราวาสมากขึ้น[61] แนสต์วาดภาพใหม่ของซานตาคลอสทุกปี เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1863 จนถึงคริสต์ทศวรรษ 1880 ซานตาของแนสต์ได้พัฒนาไปเป็นสวมชุดคลุม แต่งกายด้วยชุดเฟอร์ อันเป็นรูปที่คุ้นเคยกันในปัจจุบัน ซึ่งบางทีอาจนำมาจากบุคคลฟาเธอร์คริสต์มาสของอังกฤษ รูปดังกล่าวได้รับการสร้างมาตรฐานโดยนักโฆษณาในคริสต์ทศวรรษ 1920[62]
ฟาเธอร์คริสต์มาส ชายมีเคราผู้ร่าเริงที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีผู้เป็นแบบอย่างจิตวิญญาณแห่งของความชื่นชมยินดีในวันคริสต์มาส เกิดขึ้นก่อนตัวละครซานตาคลอส เขาได้รับบันทึกครั้งแรกในอังกฤษต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่ยังเกี่ยวข้องกับการทำสนุกและความมึนเมาช่วงเทศกาลมากกว่าการนำของขวัญมาให้[48] ในสมัยวิกตอเรีย ภาพลักษณ์ของเขาถูกนำเสนอใหม่ให้ตรงกับของซานตา ปิแอร์ นอแอลของฝรั่งเศสได้วิวัฒนาในแนวคล้ายกัน จนสุดท้ายได้รับเอาภาพลักษณ์แบบซานตามา ในอิตาลี บับโบ นาตาเลประพฤติเฉกเช่นซานตาคลอส ขณะที่ลา เบฟานา (La Befana) เป็นผู้นำของขวัญและมาถึงมาในวันก่อนการเสด็จมาของพระเยซู กล่าวกันว่าลา เบฟานาเดินทางมาเพื่อนำของขวัญไปให้พระกุมารเยซู แต่เกิดหลงระหว่างทาง ปัจจุบัน เธอนำของขวัญมาให้แก่เด็กทุกคน ในบางวัฒนธรรม ซานตาคลอสเกี่ยวข้องกับอัศวินรูเพิร์ต (Knecht Ruprecht) หรือปีเตอร์ดำ (Black Peter) ในเวอร์ชันอื่น พวกเอลฟ์ทำของเล่น ภรรยาของเขาเรียกกันว่า คุณนายคลอส
มีฝ่ายที่คัดค้านการบรรยายการวิวัฒนาซานตาคลอสเป็นซานตายุคใหม่ของอเมริกัน ซึ่งก็มีการให้เหตุผลว่า สมาคมนักบุญนิโคลัสนั้นยังไม่ถูกจัดตั้งขึ้นกระทั่ง ค.ศ. 1835 นับเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษหลังสงครามประกาศอิสรภาพสิ้นสุดลง[63] ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษา "หนังสือเด็ก วารสารและวารสารวิชาการ" ของนิวอัมสเตอร์ดัม โดยชาลส์ โจนส์ ได้เปิดเผยว่าไม่มีการอ้างถึงนักบุญนิโคลัสหรือซินเทอร์กลาสเลย[64] อย่างไรก็ดี มิใช่นักวิชาการทั้งหมดจะเห็นด้วยกับการค้นพบของโจนส์ ซึ่งเขากล่าวซ้ำอีกครั้งในการศึกษาใน ค.ศ. 1978[65] ฮาวาร์ด จี. แฮเกมัน แห่งโรงเรียนศาสนาเทววิทยานิวบรันสวิก ยังสนับสนุนประเพณีการเฉลิมฉลองซินเทอร์กลาสในนิวยอร์กยังมีชีวิตและยังดีอยู่นับแต่การตั้งถิ่นฐานแรกเริ่มในฮัดสันวัลเลย์เป็นต้นมา[66]
ประเพณีปัจจุบันในหลายประเทศละตินอเมริกา (เช่น เวเนซุเอลาและโคลัมเบีย) ถือว่า ซานตาเป็นผู้สร้างของเล่น จากนั้นเขาถวายแด่พระกุมารเยซู ซึ่งเป็นผู้ส่งของเล่นมายังบ้านของเด็ก ๆ ที่แท้จริง ซึ่งเป็นการผสมผสานความเชื่อทางศาสนาแต่เดิมกับประติมานวิทยาของซานตาคลอสซึ่งรับมาจากสหรัฐอเมริกา
ในไทรอลใต้ (อิตาลี) ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ก เยอรมนีตอนใต้ ฮังการี ลิกเตนสไตน์ สโลวาเกียและสวิตเซอร์แลนด์ คริสต์คินด์เป็นผู้นำของขวัญ เด็กชาวกรีกได้รับของขวัญจากนักบุญบาซิลในวันสิ้นปี วันก่อนหน้างานสมโภชพิธีกรรมของนักบุญนั้น[67] นักบุญนิโคเลาส์ของเยอรมันไม่เหมือนกับไวนัคท์สมันน์ (ซึ่งเป็นซานตาคลอส/ฟาเธอร์คริสต์มาสเวอร์ชันเยอรมัน) นักบุญนิโคเลาส์สวมเครื่องแต่งกายบิชอปและยังนำของขวัญเล็ก ๆ มาให้ (มักเป็นลูกกวาด ถั่วและผลไม้) ในวันที่ 6 ธันวาคม และมาด้วยกันกับอัศวินรูเพิร์ตและผู้ให้ของขวัญคนอื่น บางคนปฏิเสธการปฏิบัตินี้ โดยมองว่าเป็นการสร้างความเข้าใจผิด[68]
หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของการเฉลิมฉลองวันที่ 25 ธันวาคมเป็นงานสมโภชการประสูติของพระเยซูตามพิธีกรรมแบบคริสต์นั้นปรากฏใน "ปฏิทินแห่ง ค.ศ. 354" (Chronography of 354 AD) ซึ่งเป็นหลักฐานในกรุงโรม ขณะที่ศาสนาคริสต์ตะวันออก การประสูติของพระเยซูนั้นมีการเฉลิมฉลองโดยเชื่อมโยงกับการเสด็จมาของพระเยซูในวันที่ 6 มกราคมแล้ว[69][70] การเฉลิมฉลองวันที่ 25 ธันวาคม ทางตะวันออกได้รับไปภายหลัง ในแอนติออก โดยจอห์น คริสซอสตอม ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 4[70] อาจเป็น ค.ศ. 388 และในอเล็กซานเดรียเฉพาะในอีกศตวรรษต่อมา[71] แม้ในทางตะวันตก การเฉลิมฉลองการสมภพของพระเยซูดูเหมือนจะมีต่อไปกระทั่งหลัง ค.ศ. 380[72]
ประเพณีที่ได้รับความนิยมจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับคริสต์มาสพัฒนาขึ้นโดยแยกจากพิธีฉลองการประสูติของพระเยซู โดยบางส่วนมีกำเนิดในเทศกาลก่อนคริสเตียนรอบเทศกาลฤดูหนาวโดยประชากรเพเกินผู้ที่ภายหลังเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ส่วนเหล่านี้ รวมทั้งเค้กขอนไม้จากตรุษฝรั่ง และการให้ของขวัญจากแซเทิร์นาเลีย[57] ได้ผสมเข้ากับคริสต์มาสในห้วงหลายศตวรรษ บรรยากาศซึ่งมีอยู่ทั่วไปของคริสต์มาสยังได้วิวัฒนาอย่างต่อเนื่องนับแต่การเริ่มต้น โดยมีหลากหลายตั้งแต่สภาพเสียงดัง มึนเมาและคล้ายงานรื่นเริงในยุคกลาง[73] มาเป็นธีมที่สงบลง โดยเน้นครอบครัวและยึดเด็กเป็นศูนย์กลางเริ่มตั้งแต่การปฏิรูปในคริสต์ศตวรรษที่ 19[74][75] ยิ่งไปกว่านั้น การเฉลิมฉลองคริสต์มาสยังเคยถูกห้ามมากกว่าหนึ่งครั้งในนิกายโปรแตสแตนท์เพราะความกังวลว่าประเพณีนั้นเป็นเพเกินหรือแย้งต่อคัมภีร์ไบเบิลมากเกินไป[76][77] [78][79][80]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.