Remove ads
สาธารณรัฐในทวีปยุโรปตอนใต้ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรีซ (อังกฤษ: Greece; กรีก: Ελλάδα, อักษรโรมัน: Elládha, ออกเสียง [e̞ˈlaða]) หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐเฮลเลนิก[12] (อังกฤษ: Hellenic Republic; กรีก: Ελληνική Δημοκρατία, อักษรโรมัน: Ellinikí Dhimokratía [e̞ˌliniˈci ðimo̞kraˈtiˌa]) เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ตอนใต้สุดของคาบสมุทรบอลข่าน มีพรมแดนทางเหนือติดกับประเทศบัลแกเรีย มาซิโดเนีย และแอลเบเนีย มีพรมแดนทางตะวันออกติดกับประเทศตุรกี อยู่ติดทะเลอีเจียนทางด้านตะวันออก ติดทะเลไอโอเนียนและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางด้านตะวันตกและใต้ มีประชากรราว 10.7 ล้านคน[13] มีเมืองหลวงคือกรุงเอเธนส์ซึ่งยังเป็นนครที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมี เทสซาโลนีกี และ เพทรัสเป็นนครที่ใหญ่รองลงมา
สาธารณรัฐเฮลเลนิก | |
---|---|
ที่ตั้งของ ประเทศกรีซ (สีเขียวเข้ม) – ในยุโรป (สีเขียวอ่อน & สีเทาเข้ม) | |
เมืองหลวง และเมืองใหญ่สุด | เอเธนส์ 37°58′N 23°43′E |
ภาษาราชการ และภาษาประจำชาติ | กรีก |
ศาสนา (ค.ศ. 2017) |
|
เดมะนิม | ชาวกรีก |
การปกครอง | สาธารณรัฐรวมรัฐสภา |
กาเตรีนา ซาเกลาโรปูลู | |
Kyriakos Mitsotakis | |
• ประธานรัฐสภา | Konstantinos Tasoulas |
สภานิติบัญญัติ | รัฐสภาเฮลเลนิก |
ประวัติการสถาปนา | |
25 มีนาคม ค.ศ. 1821 (วันที่ของสงครามประกาศอิสรภาพกรีซแบบดั้งเดิม) 15 มกราคม ค.ศ. 1822 (วันที่ประกาศอย่างเป็นทางการ) | |
• ได้รับการยอมรับ | 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1830 |
• รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน | 11 มิถุนายน ค.ศ. 1975 |
พื้นที่ | |
• รวม | 131,957 ตารางกิโลเมตร (50,949 ตารางไมล์)[4] (อันดับที่ 95) |
1.51 (ณ ค.ศ. 2015)[5] | |
ประชากร | |
• ค.ศ. 2020 ประมาณ | 10,718,565[6] (อันดับที่ 85) |
• สำมะโนประชากร ค.ศ. 2011 | 10,816,286[7] |
82[8] ต่อตารางกิโลเมตร (212.4 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 98) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | ค.ศ. 2021 (ประมาณ) |
• รวม | 339.668 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[9] |
• ต่อหัว | 31,821 ดอลลาร์สหรัฐ[9] |
จีดีพี (ราคาตลาด) | ค.ศ. 2021 (ประมาณ) |
• รวม | 211.645 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[9] |
• ต่อหัว | 19,827 ดอลลาร์สหรัฐ[9] |
จีนี (ค.ศ. 2020) | 31.4[10] ปานกลาง |
เอชดีไอ (ค.ศ. 2019) | 0.888[11] สูงมาก · อันดับที่ 32 |
สกุลเงิน | ยูโร (€) (EUR) |
เขตเวลา | UTC+02:00 (EET) |
UTC+03:00 (EEST) | |
รูปแบบวันที่ | วว-ดด-ปปปป (AD) |
ขับรถด้าน | ขวามือ |
รหัสโทรศัพท์ | +30 |
โดเมนบนสุด | |
|
ประเทศกรีซได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมตะวันตก และยังเป็นเป็นต้นกำเนิดของประชาธิปไตย, ปรัชญา, วรรณกรรมโบราณ, ประวัติศาสตร์นิพนธ์, รัฐศาสตร์, ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์, โรงละคร และการแข่งขันโอลิมปิก นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสต์ศักราช ชาวกรีกอยู่รวมกันเป็นนครรัฐอิสระหลายแห่งเรียกว่า poleis (หมายถึงเมือง ในภาษากรีกโบราณ) ซึ่งทอดยาวจรดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลดำ พีลิปโปสที่ 2 แห่งมาเกโดนีอา ได้รวมดินแดนส่วนใหญ่ในปัจจุบันเข้าด้วยกันในศตวรรษที่ 4 อเล็กซานเดอร์มหาราช โอรสของพระองค์สร้างชื่อด้วยการพิชิตโลกโบราณในระยะเวลาอันสั้น ตั้งแต่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปจนถึงอินเดีย ก่อนจะเข้าสู่สมัยเฮลเลนิสต์ซึ่งวัฒนธรรมกรีกโบราณขยายอิทธิพลไปทั่ว ก่อนที่ดินแดนทั้งหมดจะถูกผนวกเข้ากับสาธารณรัฐโรมันในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราช โดยกลายเป็นส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่ในยุคจักรวรรดิโรมันและจักรวรรดิไบแซนไทน์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกรีซทั้งในด้านวัฒนธรรมและภาษา[14][15] คริสตจักรออร์โธดอกซ์ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 1 ช่วยสร้างเอกลักษณ์ของยุคกรีกสมัยใหม่และถ่ายทอดวัฒนธรรมกรีกสู่อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ ภายหลังสิ้นสุดสงครามครูเสดครั้งที่ 4 ในช่วงต้นศตวรรษที่ 13 ดินแดนของรัฐต่างๆ ได้ถูกสถาปนาขึ้นในพื้นที่บริเวณคาบสมุทร ทว่าดินแดนส่วนใหญ่ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยจักรวรรดิออตโตมันในช่วงกลางศตวรรษที่ 15
กรีซได้กลายสภาพเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ใน ค.ศ. 1830 หลังสิ้นสุดสงครามประกาศอิสรภาพ[16] ในช่วงศตวรรษแรกของการก่อตั้งราชอาณาจักรกรีซ ผู้ปกครองอาณาจักรแสวงหาการขยายดินแดนซึ่งประสบความสำเร็จในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในระหว่างสงครามบอลข่านก่อนจะลงเอยด้วยความปราชัยอย่างย่อยยับในสงครามสงครามกรีก-ตุรกี ค.ศ. 1919–1922 ซึ่งส่งผลต่อความเสื่อมโทรมของอาณาจักรอีกหลายปี สาธารณรัฐเฮลเลนิกที่สองก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองรวมถึงการตั้งถิ่นฐานโดยผู้ลี้ภัยชาวตุรกี ระบอบเผด็จการกษัตริย์มีจุดเริ่มต้นใน ค.ศ. 1936 และครอบงำประเทศซึ่งตามมาด้วยการยึดครองกรีซของฝ่ายอักษะในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง, สงครามกลางเมืองกรีซ และนำไปสู่การยึดอำนาจโดยคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองใน ค.ศ. 1967 อย่างไรก็ตาม กรีซมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงระว่างทศวรรษ 1950–70 และกลายสภาพเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ระบอบประชาธิปไตยได้รับการฟื้นฟูใน ค.ศ. 1974 จากเหตุการณ์การรุกรานไซปรัสของตุรกี ซึ่งตามมาด้วยการก่อตั้งสาธารณรัฐกรีกที่สามมาถึงปัจจุบัน
ประเทศกรีซปกครองแบบสาธารณรัฐระบบรัฐสภา ถือเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และเป็นประเทศอำนาจปานกลาง โดยมีรายรับสูงและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากร[17] เศรษฐกิจของประเทศมีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศคาบสมุทรบอลข่าน ซึ่งเป็นแหล่งลงทุนระดับภูมิภาคที่สำคัญ กรีซเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งสหประชาชาติ, สมาชิกสหภาพยุโรป และเป็นส่วนหนึ่งของยูโรโซน รวมทั้งเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ อาทิ สภายุโรป, เนโท, องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, องค์การการค้าโลก และ องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป กรีซมีเอกลักษณ์ในด้านมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียง มีมรดกโลกโดยยูเนสโกจำนวน 19 แห่ง[18] รวมทั้งขึ้นชื่อในด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการเดินเรือ[19] โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลกใน ค.ศ. 2023
ประเทศกรีซประกอบด้วยแผ่นดินใหญ่ในทางทิศใต้ไปจนถึงแหลมบอลข่านและเกาะมากมายกว่า 3,000 เกาะ รวมทั้งเกาะครีต (Vrete) เกาะโรดส์ (Rhodes) เกาะไคออส (Chios) เกาะเลสบอส 7 (Euboea) และหมู่เกาะโดเดคะนีส (Dodecanese) และพวกไซแคลดิกทางทะเลอีเจียน ที่เหมือนกับชาวกรีกบนหมู่เกาะไอโอเนียน กรีซมีแนวชายฝั่งทะเลยาว 15,000 กิโลเมตร และเส้นแบ่งเขตแดน ยาว 1,160 กิโลเมตร
ราว ๆ 80% ของประเทศกรีซประกอบด้วยภูเขา และเนินเขา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กรีซเป็นประเทศหนึ่งในยุโรปที่มีภูเขามากที่สุด ทางตะวันตกของกรีซจะเป็นทะเลสาบและพื้นที่ชื้นแฉะพินดัส เป็นภูเขาทางตอนกลางซึ่งมีความสูงถึง 2,636 เมตร เมื่อพิจารณาดูแล้ว ภูเขาพินดัสอาจจะมีการขยายออกมาจากเทือกเขาดิแนริดได้ แนวเทือกเขาที่ต่อเนื่องกัน กลายเป็นแหลมเพโลพอนนีส เกาะคีทีรา (Kythera) และเกาะแอนติคีทีรา (Antikythera) พบที่จุดปลายของเกาะกรีก
ทางตอนกลางและทางตะวันตกของกรีซ เป็นที่สูงชัน มียอดเขาสูงที่แยกออก เป็นหุบเขาลึกมากมาย และมีลำธารระหว่างหุบเขาต่าง ๆ เช่น ช่องแคบ Meteora และ Vikos มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากแกรนด์แคนยอนในสหรัฐ
ยอดเขาโอลิมปัสเป็นจุดที่สูงที่สุดของกรีซ คือ 2,919 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ทางตอนเหนือก็ยังมีเทือกเขาสูง ๆ อีก อย่าง Rhodope ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของมาซิโดเนียและเทรซ พื้นที่นี้ถูกปกคลุมไปด้วย ป่าทึบเก่าแก่ขนาดใหญ่ เหมือนกับ Dadia ที่เป็นที่รู้จักกัน
ทางตะวันออกของกรีซเต็มไปด้วยทุ่งกว้างมากมาย คือตรงตอนกลางของมาซิโดเนียและเทรซ โวลอสและลาริสซา เป็น 2 เมืองใหญ่ ของทางตะวันออกของกรีซ
สภาพอากาศของกรีซ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เทือกเขาแอลป์ และ Temperate แบบแรก ภูมิประเทศแบบฝนตกในฤดูหนาว แห้งแล้งในฤดูร้อน อุณหภูมิไม่ค่อยสูง อย่างไรก็ตามก็มีหิมะตกบางในกรุงเอเธนส์ หมู่เกาะซิคละดิส หรือเกาะครีตมีสภาพอากาศหนาว เทือกเขาแอลป์ก่อตัวมาจากทางตะวันตกของกรีซ สภาพอากาศแบบสุดท้ายก่อตัวจากทางตอนกลางและทางมาซิโดเนียตะวันออก เทรซ Xanthi และ Evros เหนือ มีอากาศหนาว ชื้น ในฤดูหนาว และ แห้งแล้งในฤดูร้อน เป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับกรุงเอเธนส์ที่ ตั้งอยู่ระหว่างสภาพอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน กับเทือกเขาแอลป์ ดังนั้นชานเมืองทางตอนใต้จะมีสภาพอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน ในขณะที่ทางตอนเหนือมีสภาพอากาศแบบ เทือกเขาแอลป์
50% ของประเทศกรีซ ถูกปกคลุมไปด้วยป่า ที่มีพืชนานาชนิด จากเทือกเขาแอลป์ ป่าสนของทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ทะเลรอบ ๆ ประเทศกรีซ มีแมวน้ำ เต่าทะเล และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่หายากอาศัยอยู่ ในขณะที่ป่าของกรีซ เป็นที่บ้านหลังสุดท้ายของยุโรปตะวันตก ที่มีหมีสีน้ำตาล แมวป่า กวางโร แกะป่า สุนัขจิ้งจอก และหมูป่า
ในยุคสำริด 3,000-2,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช เป็นยุคที่อารยธรรมชนเผ่าไซแคลดิกและไมซีแนเอียนกำลังมีอิทธิพลรุ่งเรืองอยู่ในกรีซ แต่พอถึงศตวรรษที่ 11 ก่อนคริสตกาล อิทธิพลของวัฒนธรรมไซแคลดิกและไมซีแนเอียนก็ถึงกาลเสื่อมสลายลง เพราะถูกรุกรานโดยนักรบเผ่าดอเรียนที่รุกมาจากทางเหนือ อารยธรรมต่าง ๆ ในกรีซจึงเริ่มเข้าสู่ยุคมืด
ช่วงเวลา 800 ปีก่อนคริสตกาล เป็นช่วงเวลาที่อารยธรรมกรีซเฟื่องฟูขึ้นมาอีกครั้ง วัฒนธรรมและกิจการทหารของกรีซเจริญรุ่งเรืองมากที่สุด เมืองเอเธนส์ลัสปาต้าเป็นศูนย์กลางของอำนาจมหาอาณาจักรกรีซประกอบด้วยอิตาลีทางตอนใต้อันเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ กรีซย่างก้าวเข้าสู่ยุคคลาสสิกหรือยุคทอง ในยุคนี้เองนักปราชญ์ชื่อ เพเรอคลิส ผู้ทำให้วิหารพาร์เธนอนเป็นที่รู้จักของชาวโลก โซโฟคลิสได้เขียนมหากาพย์อีดิปุสขึ้น และโสกราตีสหรือซาเครอทิส ได้เริ่มการสอนลูกศิษย์ชาวเอเธนส์ให้รู้จักวิชาตรรกวิทยาและหลักการของประชาธิปไตย ต่อมาไม่นานนักยุคทองของกรีซก็ถึงจุดเสื่อม แล้วกรีซก็เข้าสู่ยุคสงครามเปลโอปอนนีเซียน ซึ่งกองทหารอันเกรียงไกรของเปอร์เซียได้ยกกำลังเข้าบดขยี้ชาวเอเธนส์เสียจนย่อยยับ
ในขณะที่กองทัพเปอร์เซียกำลังรุกรานกรีซอย่างย่ามใจทางตอนเหนือ พระเจ้าฟิลิปแห่งอาณาจักรมาซิโดเนียกำลังไล่ตีเมืองเล็กเมืองน้อยรุกคืบเข้ามาใกล้กรีซทุกที แต่ทว่าความทะเยอทะยานที่จะเป็นผู้พิชิตในภูมิภาคนี้ของพระเจ้าฟิลิปก็ถูกบดบังรัศมีโดยโอรสของพระองค์เองคือ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ผู้สามารถยาตราทัพไปถึงเอเชียไมเนอร์และอียิปต์ ซึ่งที่อียิปต์นี้เองพระองค์ได้รับการยกย่องให้เป็นฟาโรห์ ผู้สร้างเมืองอเล็กซานเดรีย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสามารถยกทัพไปถึงเปอร์เซียและดินแดนส่วนที่เป็นอินเดียและอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ในรัชสมัยของอาณาจักรมาซิโดเนียเรียกกันว่า ยุคเฮลเลนิสติก (Hellenistic Period) เพราะยุคนี้มีการผสมผสานปรัชญาและวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองของชนชั้นปกครองจนกลายเป็นวัฒนธรรมแบบใหม่ที่ศิวิไลซ์ยิ่งขึ้น หลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสิ้นพระชนม์ เมื่อพระชนมายุ 33 ปีแล้ว มีกษัตริย์ปกครองกรีซสืบต่อมาอีก 3 รัชกาล
ครั้นถึงปีที่ 205 ก่อนคริสต์ศักราช อิทธิพลของโรมันแผ่ขยายเข้ารุกรานกรีซ และเมื่อถึงปี 146 ก่อนคริสตกาล กรีซกับมาซิโดเนียตกอยู่ใต้การปกครองของโรมัน หลังจากที่มีการแบ่งอาณาจักรโรมันเป็นอาณาจักรตะวันออกและตะวันตก กรีซได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรไบแซนไทน์ และเมื่อเกิดสงครามครูเสดขึ้น อิทธิพลของอาณาจักรไบแซนไทน์ก็เสื่อมถอยเพราะถูกรุกรานโดยชาวเวนิส กาตาลา เจนัว แฟรงก์ และนอร์มัน
ใน ค.ศ. 1453 กรุงคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์ถูกพวกเติร์กยึดครอง และเมื่อถึง ค.ศ. 1500 ดินแดนของกรีซทั้งหมดก็ตกอยู่ใต้อำนาจของเติร์ก ดินแดนที่เป็นกรีซในปัจจุบันแต่ก่อนเป็นศูนย์กลางการค้าทางเรือของยุโรปตอนกลางและเป็นที่ชุนนุมนักปราชญ์กับศิลปินของโลก เพราะที่นี่เป็นหมู่บ้านกรีกที่มีประเพณีและวัฒนธรรมของกรีกออร์ทอดอกซ์ ในการทำสงครามเพื่อกู้เอกราชจากเติร์ก กรีซได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากนักคิด นักเขียน และนักปรัชญา เช่น ไบรอน แชลเลย์ และเกอเธ อย่างไรก็ตามการต่อสู้ที่ขาดเอกภาพของกรีซ ทำให้ฝรั่งเศส รัสเซีย และอังกฤษ ตัดสินใจเข้ามาแทรกแซง หลังจากกรีซได้รับเอกราชแล้ว กลุ่มอำนาจในยุโรปมีความเห็นว่ากรีซควรมีการปกครองระบบกษัตริย์จึงได้จัดการให้กษัตริย์ออตโตแห่งบาวาเรีย เป็นกษัตริย์ปกครองกรีซใน ค.ศ. 1833 หลังจากนั้นกรีซก็มีกษัตริย์ขึ้นครองราชย์อีกหลายพระองค์ด้วยกัน จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 1 จึงได้รับพระราชทานกฎหมายรัฐธรรมนูญให้กรีซใน ค.ศ. 1864 ทำให้กรีซมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพกรีซอยู่ข้างฝ่ายสัมพันธมิตร และเข้ายึดครองเมืองเทรซ เมื่อสงครามโลกยุติ กรีซได้ส่งกองกำลังเข้าไปช่วยปลดปล่อยเมืองสเมอร์นาของตุรกี (ปัจจุบันคืออิซมีร์) ให้ได้รับอิสรภาพ เพราะเมืองนี้มีประชาชนชาวกรีกอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กองกำลังกรีกถูกต่อต้านอย่างแข็งแกร่งจากกองทัพของอตาเติร์ก ซึ่งได้เข่นฆ่าชาวกรีกในเมืองนั้นเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก ผลของสงครามนี้ทำให้มีการตกลงแลกเปลี่ยนพลเมืองของ 2 ประเทศกันใน ค.ศ. 1923 ประชากรกรีกเพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีผู้อพยพชาวคริสเตียนมาอยู่ในกรีซมากถึง 1,300,000 คน ทำให้กรีซมีปัญหาด้านเศรษฐกิจตามมา คนเหล่านี้กระจายกันไปอยู่นอกเมือง ภายหลังมีการก่อตั้งสหภาพแรงงานต่าง ๆ ขึ้นในกลุ่มพวกอพยพที่อาศัยอยู่ตามหัวเมืองรอบนอก และใน ค.ศ. 1936 พรรคคอมมิวนิสต์ในกรีซก็เติบโตและมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการสนับสนุนของประชาชนทั่วประเทศ
ปี ค.ศ. 1936 นายพลเมเตอซัส ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาเป็นผู้ปกครองประเทศที่นิยมการปกครองแบบเผด็จการ ถึงแม้ว่าจะได้เห็นความเป็นไปในชะตากรรมของพวกนาซีเยอรมนี แต่ตัวเขาเองกลับกระทำการต่าง ๆ ที่ทำให้เขาได้รับฉายาว่าเป็นภาพจำลองของอาณาจักรไรน์ในกรีซ นายพลเมเตอซัสทำการต่อต้านไม่ยอมให้เยอรมนีกับอิตาลีเดินทัพผ่านกรีซ ถึงแม้ว่ากลุ่มสัมพันธมิตรจะเข้าช่วยกรีซแต่กรีซก็ต้องตกเป็นของเยอรมนีใน ค.ศ. 1941 เป็นผลให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้น มีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล เกิดความวุ่นวายขึ้นในประเทศที่มีทั้งฝ่ายสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์และฝ่ายสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ เป็นชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองนองเลือดขึ้นในกรีซ และยุติลงใน ค.ศ. 1949 โดยฝ่ายนิยมกษัตริย์อ้างชัยชนะ
ในช่วงเวลานั้นสหรัฐกำลังเคร่งครัดในลัทธิทรูแมน รัฐบาลอเมริกันในขณะนั้น มีนโยบายให้เงินก้อนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลที่ต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์ แต่ความกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์จะครองเมืองทำให้คณะทหารของกรีซทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลเมื่อ ค.ศ. 1967[20] กล่าวกันว่าการปฏิวัติในกรีซเป็นผลมาจากการแทรกแซงทางการเมืองของหน่วยงานซีไอเอของสหรัฐที่เข้ามาปฏิบัติการในทวีปยุโรปกลุ่มทหารที่ครองอำนาจในกรัซทำตนมีอำนาจเหนือราษฎรและทำการกดขี่ข่มเหงประชาชน ยิ่งกว่านั้นคณะนายพลของทหารกรีซได้ทำการวางแผนลอบสังหารผู้นำของไซปรัสในขณะนั้น เป็นผลให้ตุรกีฉวยโอกาสเข้ารุกเข้ายึดครองตอนเหนือของไซปรัส ทำใหเหตุการณ์นี้เป็นข้อบาดหมางระหว่างกรีซกับตุรกีมาจนถึงทุกวันนี้
ใน ค.ศ. 1981 กรีซเข้าเป็นสมาชิกสมาคมสหภาพยุโรป พรรคสังคมนิยม PASOK นำโดยนายแอนเดรียส์ ปาปันเดรโอ ชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลให้สัญญาว่าจะจัดการให้สหรัฐย้ายฐานทัพอากาศออกไปจากกรีซและกรีซจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของนาโตแต่รัฐบาลทำไม่สำเร็จ สตรีชาวกรีซเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงประเพณีเรื่องสินสอดและเรียกร้องให้กฎหมายสนับสนุนการทำแท้งเสรีความไม่สงบในประเทศทำให้ปาปันเดรโอกับรัฐบาลของเขาเสียอำนาจการปกครองประเทศให้กับรัฐบาลผสมระหว่างพรรคอนุรักษนิยมกับพรรคคอมมิวนิสต์ใน ค.ศ. 1989 การเลือกตั้งในกรีซเมื่อ ค.ศ. 1990 พรรคอนุรักษนิยมได้ที่นั่งมากที่สุดและได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศแต่ไม่สำเร็จ การเลือกตั้งใหม่ใน ค.ศ. 1993 กรีซได้ปาปันเดรโอผู้นำเฒ่าของพรรคเสรีนิยมกลับมาครองอำนาจกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ท่านผู้นำถึงแก่อนิจกรรมใน ค.ศ. 1996 หลังจากที่ท่านลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองกรีซได้ผู้นำคนใหม่ชื่อ คอสทาส สมิทิส ต่อมากรีซกับตุรกีขัดแย้งกันอย่างหนักจนใกล้จะระเบิดสงครามเมื่อผู้สื่อข่าวของตุรกีได้นำธงชาติกรีซมาย่ำยีเล่น สมิทิสได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีกรีซอีกครั้ง รัฐบาลใหม่ให้สัญญากับประชาชนว่าจะเร่งการนำประเทศเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มอียู นายกรัฐมนตรีเป็นเพื่อนร่วมชั้นกับรัฐมนตรีโทนี แบลร์ของอังกฤษตั้งแต่สมิทิสมีอำนาจในการบริหารประเทศเขามีนโยบายเห็นด้วยกับกลุ่มฝ่ายค้านพรรคประชาธิปไตยใหม่แทบทุกเรื่อง
กรีซมีการปกครองแบบสาธารณรัฐรัฐสภา หลังจากที่ประชาชนลงมติให้เลิกล้มการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1974 วันประกาศอิสรภาพของกรีซคือวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1821 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของกรีซประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1975 แก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้ง คือ เดือนมีนาคม ค.ศ. 1986 และเดือนเมษายน ค.ศ. 2001
ระบบกฎหมายของกรีซมีพื้นฐานมาจากหลักกฎหมายของโรมัน
กรีซมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ ประธานาธิบดีได้มาจากการเลือกตั้งของรัฐสภา อยู่ตำแหน่งคราวละ 5 ปี ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีที่ได้มาจากการเสนอชื่อของนายกรัฐมนตรี
สมาชิกนิติบัญญัติได้มาจากการเลือกตั้งทั่วไป มีจำนวน 300 ที่นั่ง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี
กรีซแบ่งการปกครองประเทศออกเป็น 13 ภูมิภาค (regions) มี 9 แคว้นบนพื้นแผ่นดินใหญ่ และ 4 แคว้นบนหมู่เกาะ* แคว้นต่าง ๆ จะแบ่งเป็นจังหวัด รวม 54 จังหวัด (prefectures - nomos)
|
นอกจากนี้ทางแถบมาซิโดเนีย ยังมี เขตปกครองตนเอง (autonomous region) ของสงฆ์หนึ่งแห่ง คือ เมานต์อะทอส (Mount Athos)
ไทยและกรีซได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1958 ในช่วงแรกที่สถาปนาความสัมพันธ์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม ดูแลประเทศกรีซในฐานะประเทศในเขตอาณา ต่อมา ไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเอเธนส์ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1985 มีหน้าที่ดูแลสาธารณรัฐมอลตาในฐานะประเทศในเขตอาณา และติดตามสถานการณ์ในเซอร์เบียและมอนเตเนโกร (อดีตสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย) รวมทั้งดูแลความสัมพันธ์ไทย - นอร์ทมาซิโดเนีย อย่างไม่เป็นทางการ นอกจากนี้ มีสำนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ประจำกรุงเอเธนส์ด้วย ในขณะที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ และสำนักงานแรงงาน ณ กรุงเอเธนส์ได้ปิดลงก่อนหน้านี้ ส่วนกรีซได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1989 โดยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศใกล้เคียง อาทิ พม่า ลาว และกัมพูชา และเปิดสำนักงานพาณิชย์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006 ปัจจุบัน นายชัยเลิศ ลิ้มสมบูรณ์ เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรีซ ส่วนเอกอัครราชทูตกรีซประจำประเทศไทยได้แก่นายนิโคลาออส ไกเมนากีส (H.E. Mr. Nikolaos Kaimenakis)
การค้ารวมระหว่างไทย-กรีซมีมูลค่าเฉลี่ย 272 ล้านเหรียญสหรัฐ (ตัวเลขฝ่ายไทยโดยเป็นค่าเฉลี่ยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา) ซึ่งสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่น โดยไทยส่งออก 247 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 25 ล้านเหรียญสหรัฐ และได้เปรียบดุลการค้า 222 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ในขณะที่สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าประกอบด้วยผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผลไม้ และยารักษาโรค เป็นต้น สำหรับการลงทุนระหว่างกัน ยังไม่ปรากฏข้อมูลทางการเกี่ยวกับเรื่องนี้ในปัจจุบัน
ในภาพรวม การนำเข้า - ส่งออกสินค้าระหว่างไทยกับกรีซดำเนินไปด้วยดี โดยมักผ่านทางผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งบางครั้งพบอุปสรรคในการตรวจพบสารเคมีในผลิตภัณฑ์อาหารส่งออก และมีปัญหาข้อพิพาทระหว่างกัน เช่น ไม่ชำระเงิน จัดส่งสินค้าไม่ครบ / ล่าช้า / ไม่ถูกต้อง เป็นต้น
ความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกรีซสามารถขยายตัวได้อีกมาก หากนักธุรกิจของทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มความสนใจตลาด และศึกษาโอกาส ลู่ทาง และศักยภาพของกันและกันมากกว่าที่ผ่านมา โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพแข่งขันในระดับโลก ยังคงมีแนวโน้มที่ดีในตลาดกรีซ อาทิ
นอกจากนี้ การลงทุน และประกอบธุรกิจร่วมระหว่างไทย - กรีซ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ควรศึกษาความเป็นไปได้ เนื่องจากกรีซมีนักธุรกิจร่ำรวยจำนวนมาก ซึ่งนิยมนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ กอปรกับได้ชื่อว่า มีชั้นเชิงทางธุรกิจสูง และมีทักษะเรื่องการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดประเทศเพื่อนบ้านของกรีซ ดังนั้น หากนักธุรกิจไทยสามารถหาหุ้นส่วนทางธุรกิจที่เหมาะสมได้ ก็จะช่วยกระจายสินค้าไทยไปสู่ตลาดบอลข่าน ซึ่งไทยยังไม่คุ้นเคยได้เป็นอย่างดี
นักปรัชญากรีซที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในฐานะ เสาหลักของปรัชญาตะวันตก มีอยู่ 3 คนคือ โสกราตีส เพลโต และอริสโตเติล
อริสโตเติลเป็นนักคิดคนแรกที่ค้นพบวิชา ตรรกวิทยา โดยอาศัยข้อเท็จจริง 2 ข้อ สนับสนุนกันและกัน เช้น ความดีทุกอย่างควรสรรเสริญ และความกรุณาก็เป็นความดีอันหนึ่ง ฉะนั้นความกรุณาจึงควรได้รับการสรรเสริญด้วย เป็นต้น วรรณคดี
กวีสมัยโบราณที่ยิ่งใหญ่ของกรีซคือ โฮเมอร์กับ ฮีเสียดทั้ง 2 ท่านได้เขียนมหากาพย์ที่สำคัญ หลายเรื่อง และมหากาพย์เรื่องกรุงทรอยอยู่ด้วย นักเขียนนักค้นคว้าชื่อ เฮ็นริช ชีลมานน์ ได้ค้นคว้าเรื่องเมืองทรอย จนค้นพบว่ามีอยู่จริง ที่เมือง Hissarlik ทางตอนเหนือของตุรกีในอดีตกาล เมื่อพบเมืองทรอยแล้ว ชีลมานน์ขุดค้นพบประวัติศาสตร์ในยุคบรอนซ์ตามที่อ้างในมหากาพย์ของโฮเมอร์ต่อไป การขุดหาสมบัติในวรรณคดีของเขานำไปสู่การค้นพบ 3 นครสำคัญ ที่ได้ชื่อว่า กนกนคร ตามประวัติศาสตร์ในยุคสมัยของโฮเมอร์นั่นคือ Mycenae, Tiryns และ Orchomenos ก่อนที่นักเขียนนักค้นคว้าคนสำคัญของโลกจะตายไป เขาได้เผยให้เห็นเค้าโครงรูปร่างของอาณาจักรมาซิเนียนให้ประจักษ์แก่ตาชาวโลก
นักค้นคว้าชื่อ อาร์เธอร์ อีแวนส์ค้นพบแหล่งอารยธรรมมิโนอัน และร่องรอยของอารยธรรมที่เคยรุ่งเรืองในอดีตของอาณาจักรไมนอส ซึ่งเป็นการยืนยันว่า โฮเมอร์ มหากวีเอกของโลกชาวกรีก ได้บันทึกเรื่องราวของยุคสมัยไว้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง มิได้เขียนขึ้นจากความคิดเพ้อฝันแต่อย่างใด
กรีซมีชื่อเสียงทางเรื่องศิลปะเป็นต้นแบบของงานสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเด่นและสง่างามของเสาหินแบบวิหารพาร์เธนอน ที่ตกแต่งตรงส่วนบนของหัวเสาด้วยศิลปะแบบกรีกมี 3 แบบ คือ ดอริก, ไอโอนิก และคอรินเธียน จะเห็นเสาหินแบบกรีกเป็นส่วนตกแต่งด้านหน้าของอาคารสำคัญ ๆ และสิ่งก่อสร้างที่เป็นงานสถาปัตยกรรมเลื่องชื่อของโลกตามเมืองหลวงของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย สถานที่ทำงานสำคัญ ๆ ของประเทศที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ล้วนนำสถาปัตยกรรมศิลป์ของกรีซไปประยุคผสมผสาน ในการก่อสร้างเป็นการยอมรับในอารยธรรมที่รุ่งเรืองของกรีซโบราณและเป็นการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่เคยเฟื่องฟูในอดีตของกรีซไปทุกมุมโลกนอกจาก งานสถาปัตยกรรมที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของกรีซที่เผยแพร่ไปทั่วโลกแล้ว งานจิตรกรรมและประติมากรรมของกรีซยังเป็นมรดกล้ำค่าที่บรรดาพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ต่าง ๆ พยายามเสาะหามาเป็นสมบัติเก็บสะสมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ถึงแม้งานศิลปะชั้นเยี่ยมของกรีซจะกลายเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของประเทศอื่นแต่กรีซก็ยังมีงานศิลปะโบราณอยู่ในประเทศอีกมาก
อาหารของชาวกรีกสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของอาหารเมดิเตอร์เรเนียนได้เป็นอย่างดี โดยผสมผสานวัตถุที่สดใหม่และมีความหลากหลาย ที่มีชื่อเสียงได้แก่ สลัดกรีกคลาสสิก ฟาโซลาดา สปานาโกปิตา และซูฟลากิ อาหารบางจานสามารถสืบย้อนไปถึงสมัยกรีกโบราณได้ เช่น สกอร์ดาเลีย (วอลนัท อัลมอนด์ กระเทียมบด และน้ำมันมะกอก) ซุปถั่วเลนทิล เรตซินา (ไวน์ขาวหรือไวน์โรเซ่ปิดผนึกด้วยเรซินสน) และพาสเทล (ลูกกวาดอบเมล็ดงาอบ) กับน้ำผึ้ง) ทั่วทั้งประเทศกรีซ ผู้คนมักเพลิดเพลินกับการรับประทานอาหารจานเล็ก ๆ เช่น meze กับน้ำจิ้มต่างๆ เช่น tzatziki ปลาหมึกย่าง และปลาตัวเล็ก เฟต้าชีส dolmades (ข้าว ลูกเกด และเมล็ดสนห่อด้วยใบเถา) ถั่วต่าง ๆ มะกอกและชีส และน้ำมันมะกอกเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารเกือบทุกชนิด
ละครกรีกสันนิษฐานว่า ถือกำเนิดขึ้นประมาณ 800 – 700 ปีก่อนคริสตกาล โดยเริ่มจากการประกวดการร้องรำทำเพลงเป็นหมู่ (Choral dance) ซึ่งเรียกว่า ดิธีแรมบ์ (dithyramb) ในเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อบวงสรวงเทพเจ้าไดโอนีซุส (Dionysus) เทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่นและความอุดมสมบูรณ์ จากการร้องรำทำเพลงเป็นหมู่โดยกลุ่มคนที่เรียกว่า คอรัส (Chorus) ในการแสดงดิธีแรมบ์ ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การแสดงในรูปแบบของละคร กล่าวคือมีนักแสดงเดี่ยว ๆ แยกออกมาต่างหาก และทำการสนทนาโต้ตอบกับกลุ่มคอรัส ฉะนั้น แทนที่จะเป็นเพียงการร้องเพลงเล่าเรื่องจากพวกคอรัสตรง ๆ ก็เปลี่ยนเป็นการสนทนาระหว่างตัวละครกับกลุ่มคอรัส
ในปี 534 ก่อนคริสตกาล เริ่มมีการประกวดการแต่งบทและการจัดแสดงละครแทรเจดี นักการละครชื่อ เธสพิส (Thespis) เป็นผู้ชนะการประกวดครั้งแรกนี้ ละครของเธสพิสใช้นักแสดงเพียงคนเดียว เล่นทุกบทที่มีอยู่ในละครเรื่องนั้น โดยใช้การเปลี่ยนหน้ากาก เป็นการเปลี่ยนบทที่แสดง และมีคอรัสเป็นตัวเชื่อมโยงเรื่องราวเข้าด้วยกัน 500 ปีก่อนคริสตกาล ถือว่าเป็นยุคทองของการละครกรีก มีการประกวดเขียนบทละครและจัดการแสดงละครในด้านต่าง ๆ ทำให้การละครรุ่งเรืองมาก บทละครส่วนใหญ่ของกรีกที่เหลือมาถึงปัจจุบัน ก็เป็นบทละครที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลนี่เอง ประเภทของละครกรีก
ละครกรีก ที่หลงเหลือมาถึงยุคปัจจุบันมี 2 ประเภท คือ
ละครแทรเจดีของกรีกแสดงให้เห็นชีวิตตัวละครตัวเอก ที่มีความน่ายกย่องสรรเสริญ แต่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับอำนาจของชะตากรรมซึ่งเทพเจ้าเป็นผู้ลิขิต แม้ว่าในที่สุดจะต้องพ่ายแพ้และประสบหายนะ แต่เป็นความพ่ายแพ้ที่ดิ้นรนต่อสู้ถึงที่สุดแล้ว เรื่องราวของละครกรีกยุคแรก ๆ เป็นการสรรเสริญและเล่าเรื่องราวเทพเจ้า โดยมักนำโครงเรื่องมาจากมหากาพย์อีเลียด (Iliad) และ โอดิสซี (Odyssey)
ละครคอมเมดีเป็นละครที่ให้ความรู้สึกตลกขบขัน เพราะความบกพร่องของมนุษย์ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ซึ่งเกี่ยวกับการเมือง สงครามและสันติภาพ ทัศนะเกี่ยวกับศิลปะในแง่ต่าง ๆ การโจมตีหรือเสียดสีตัวบุคคล ฯลฯ คอมเมดีเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่ มากกว่านำมาจากตำนานเช่นแทรเจดี
กฎหมายของกรีซระบุว่าทุกวันอาทิตย์ถือเป็นวันหยุดราชการ และวันหยุดสาธารณะ โดยถือเป็นวันพักผ่อนของประชากรมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และยังมีวันหยุดสำคัญดังต่อไปนี้: วันชาติกรีก (25 มีนาคม), เทศกาลอีสเตอร์ (15 สิงหาคม), วันคริสต์มาส (25 ธันวาคม), วันแรงงาน (1 พฤษภาคม) และวันโอไฮ (28 ตุลาคม)
กรีซเป็นประเทศต้นกำเนิดของกีฬาโอลิมปิก โดยมีหลักฐานในบันทึกครั้งแรกเมื่อ 776 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งจัดขึ้นที่ โอลิมเปีย และเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่มาแล้วสองครั้งใน โอลิมปิกฤดูร้อน 1896 ซึ่งเป็นโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรก และล่าสุดในโอลิมปิกฤดูร้อน 2004 ขบวนพาเหรดนักกีฬาของกรีซมักได้รับเกียรติให้เดินขบวนเป็นชาติแรกในการแข่งขันโอลิมปิกทุกครั้ง ในฐานะที่เป็นชาติต้นกำเนิดของกีฬาดังกล่าว กรีซเป็น 1 ใน 4 ชาติที่ร่วมแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนทุกครั้ง และชนะเหรียญรางวัลรวม 110 เหรียญ (30 เหรียญทอง, 42 เหรียญเงิน และ 38 เหรียญทองแดง) อยู่ในอันดับที่ 32 จากการจัดอันดับจำนวนเหรียญรางวัลตลอดกาล ผลงานที่ดีที่สุดของพวกเขาคือโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรกใน ค.ศ. 1896 ซึ่งคว้าไป 10 เหรียญทอง
ฟุตบอลทีมชาติกรีซ ขึ้นถึงอันดับ 8 ของโลกใน ค.ศ. 2011 และ 2008 และสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการชนะการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2004 ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในรายการการแข่งขันกีฬาที่มีผลการแข่งขันเหนือความคาดหมายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์[22] ซูเปอร์ลีกกรีซ ถือเป็นลีกสูงสุดของประเทศประกอบไปด้วยสมาชิก 14 สโมสร ทีมที่มีชื่อเสียงได้แก่ โอลิมเบียโกส, ปานาซีไนโกส และ อาเอกเอเธนส์
บาสเกตบอลชายของกรีซเป็นหนึ่งในทีมที่มีชื่อเสียงในยุโรป เคยขึ้นถึงอันดับ 4 ของโลกใน ค.ศ. 2012 และอันดับ 2 ของยุโรปในขณะนั้นชนะเลิศการแข่งขันชิงแชมป์ยุโรป 2 สมัยใน ค.ศ. 1987 และ 2005 และทำอันดับติด 1 ใน 4 ในบาสเกตบอลชิงแชมป์โลก 3 ครั้ง กีฬาอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมได้แก่โปโลน้ำ วอลเลย์บอล และแฮนด์บอล
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.