Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธงชาติกรีซ (กรีก: Σημαία της Ελλάδος, โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า Γαλανόλευκη หรือ Κυανόλευκη แปลว่า "ธงน้ำเงิน-ขาว") เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นธงเป็นแถบริ้วสีน้ำเงินสลับขาวรวมทั้งหมด 9 แถบ ที่มุมธงบนด้านคันธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีน้ำเงิน กว้างยาวเป็น 5 ใน 9 ส่วนของความกว้างธง ภายในมีรูปกางเขนสีขาวมีปลายจดขอบสีน้ำเงิน กางเขนดังกล่าวนี้หมายถึงศาสนาคริสต์นิกายกรีกออร์โธดอกซ์ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ ส่วนแถบสีน้ำเงินสลับขาว 9 แถบนั้น โดยทั่วไปชาวกรีกหมายถึงพยางค์ 9 พยางค์ในประโยคภาษากรีกที่ว่า "Ελευθερία ή Θάνατος" (อ่านว่า "เอ-เลฟ-เท-ริ-อา-อิ-ทา-นา-ทอส" ("E-lef-the-ri-a i Tha-na-tos") แปลว่า เสรีภาพหรือความตาย) โดยแถบสีน้ำเงิน 5 แถบหมายถึง 5 พยางค์แรก ส่วนแถบสีขาว 4 แถบ หมายถึง 4 พยางค์สุดท้ายของประโยคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า แถบทั้ง 9 แถบนี้หมายถึงเทพธิดามิวเซส (Muses) ผู้เป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการต่างๆ ทั้ง 9 องค์ ในตำนานกรีกโบราณ[2] สำหรับสัดส่วนธงอย่างเป็นทางการนั้นกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน[3]
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ชื่ออื่น ๆ | Σημαία της Ελλάδος (ธงชาติกรีซ), Γαλανόλευκη, Κυανόλευκη (ธงน้ำเงิน - ขาว) |
---|---|
การใช้ | ธงชาติ ensign |
สัดส่วนธง | 2:3 |
ประกาศใช้ | 22 ธันวาคม ค.ศ. 1978 (ธงนาวี ตั้งแต่ ค.ศ. 1822-1978, ธงชาติ ตั้งแต่ ค.ศ. 1969-1970 และตั้งแต่ ค.ศ. 1978 เป็นต้นมา) |
ลักษณะ | ธงพื้นแถบแนวนอนสีน้ำเงินสลับขาว 9 แถบ มีรูปกางเขนสีขาวในช่องสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินที่มุมธงบนด้านคันธง |
ธงสำหรับงานพิธีการ | |
การใช้ | ธงพลเรือน และ ธงราชการ |
สัดส่วนธง | 2:3 |
ประกาศใช้ | พ.ศ. 2365 |
ลักษณะ | ธงพื้นสีน้ำเงิน ภายในมีกากบาทสีขาว[1] |
อนึ่ง สีน้ำเงินและสีขาวที่ใช้ในธงนี้มีการตีความความหมายต่างๆ อยู่มาก บ้างก็ว่าหมายถึงสีของท้องฟ้าและน้ำทะเลในประเทศนี้ บ้างก็ว่าเป็นสีของเครื่องแต่งกายชาวกรีกตามธรรมเนียมโบราณ ทั้งนี้ ระดับของสีน้ำเงินในธงชาตินี้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้ง โดยแบบสีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเริ่มใช้มาตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1960
รูปแบบธงดังที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ เป็นแบบธงที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมรัฐสภาแห่งชาติของกรีซครั้งแรก ณ เมืองเอปิเดารุส (The First National Assembly at Epidaurus) เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1822[1]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ในช่วงแห่งการปกครองของจักรวรรดิออตโตมานนั้น ชาวกรีกได้ใช้ธงของตนอย่างไม่เป็นทางการขึ้นหลายแบบ ซึ่งปกติมักใช้รูปนกอินทรีสองหัวของไบแซนไทน์ รูปกางเขน รูปนักบุญต่างๆ ในศาสนาคริสต์และคำขวัญต่างๆ อย่างหลากหลาย กองทหารม้าซีปาฮี (sipahi) ของชาวกรีกที่นับถือศาสนาคริสต์ซึ่งถูกจ้างโดยสุลต่านแห่งออตโตมานได้รับอนุญาตให้มีธงของตนเอง (ซึ่งเป็นแบบธงชาวคริสต์อย่างชัดเจน) ใช้ได้ในเขตเอปิรุส (Epirus) และเพโลปอนนีส (Peloponnese) ลักษณะเป็นธงรูปกางเขนสีฟ้าบนพื้นสีขาว ตรงกลางเป็นภาพนักบุญจอร์จปราบมังกร ปรากฏการใช้ระหว่าง ค.ศ. 1431 จนถึง ค.ศ. 1639 เมื่ออภิสิทธิ์ในการใช้ธงได้ถูกจำกัดไว้เป็นอย่างมากจากสุลต่านออตโตมาน ธงที่มีลักษณะคล้ายกับธงดังกล่าวได้ถูกใช้โดยผู้นำชาวกรีกระดับท้องถิ่นคนอื่นๆ เช่นกัน ส่วนธงที่อาจนับได้ว่าใกล้เคียงกับความเป็น "ธงชาติ" ของชาวกรีกมากที่สุดในยุคนี้ ได้แก่ธงซึ่งถูกเรียกชื่อว่า "ธงกรีก-ออตโตมาน" (กรีก: Γραικοθωμανική παντιέρα) อันเป็นธงเรือสินค้าที่พ่อค้าชาวกรีกออร์โธดอกซ์ในความปกครองของออตโตมานได้รับอนุญาตให้ชักขึ้นในเรือของตนได้ ธงนี้ประกอบด้วยแถบสีแดงของจักรวรรดิออตโตมานและแถบกลางสีน้ำเงินของพวกกรีกออร์โธดอกซ์ ต่อมาหลังการทำสนธิสัญญากือชุก เคย์นาร์กา (Treaty of Küçük Kaynarca) เรือสินค้าของชาวกรีกสามารถชักธงชาติรัสเซีย ขึ้นในเรือได้ด้วยอีกธงหนึ่ง
ระหว่างการลุกฮือต่อต้านจักรวรรดิออตโตมานในปี ค.ศ. 1769 ธงกางเขนฟ้าพื้นขาวในประวัติศาสตร์ได้ถูกรื้อฟื้นกลับมาใช้อีกครั้งโดยผู้นำสำคัญทางทหาร และจะถูกนำมาใช้โดยผู้นำทางทหารชาวกรีกทั้งหมดในการปฏิวัติปี ค.ศ. 1821 ธงดังกล่าวได้กล่าวเป็นธงปฏิวัติที่ได้รับความนิยมจากมหาชนมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงอีกว่าสมควรจะใช้ธงนี้เป็นธงชาติด้วย ธงแบบสลับสีคือพื้นธงสีฟ้ามีกางเขนสีขาวก็ได้มีการอุบัติขึ้นในฐานะธงของชาวกรีกอีกธงหนึ่งในระหว่างการลุกฮือดังกล่าวด้วยเช่นกัน แบบธงอย่างหลังนี้เป็นธงอีกแบบหนึ่งที่ชาวกรีกเคยใช้มาก่อนในลักษณะของสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่น กองทหารอาสาสมัครชาวกรีกในกองทัพใหญ่ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้าร่วมการสงครามที่อียิปต์ในปี ค.ศ. 1798 เลือกใช้ธงกางเขนขาวบนพื้นสีฟ้า แทรกรูปธงสามสีของฝรั่งเศสไว้ที่สี่เหลี่ยมมุมธงบนด้านคันธง เป็นเครื่องของตนเอง[5] ผู้นำทางทหารคนหนึ่ง คือ ยิอานนิส สตาทาซ (Giannis Stathas) ใช้ธงกางเขนขาวบนพื้นฟ้า ชักขึ้นบนเสากระโดงเรือของตนนับตั้งแต่ ค.ศ. 1800 ลักษณะแบบแรกของธงของเขาพ้องกันโดยบังเอิญและถูกใช้โดยวิหารของประกาศกบนเกาะสเกียทอส (Skiathos) ในปี ค.ศ. 1807 บรรดาผู้นำทางทหารที่โดดเด่นจำนวนมาก (เช่น ทีโอดอรอส คอลอคอทรอนิส และอันเดรียส มีอาอูลิส) ได่ร่วมกลุ่มปรึกษาหารือเกี่ยวการลุกฮือต่อต้านออตโตมาน พวกเขาได้สาบานต่อธงนี้ร่วมกันโดยมีมุขนายก (bishop) ในท้องถิ่นเป็นผู้ทำพิธีให้[6]
ในช่วงก่อนหน้าและตอนต้นของสงครามประกาศเอกราชกรีซ (ค.ศ. 1821–1829) ได้ปรากฏการออกแบบ การเสนอ และการใช้ธงต่างโดยปัญญาชนชาวกรีกจำนวนมากที่ในยุโรป, บรรดาผู้นำท้องถิ่น และสภาท้องถิ่นต่างๆ ของกรีซ นอกจากการใช้ธงที่มีรูปกางเขนแล้ว ธงอื่นๆ จำนวนมากมักใช้รูปนักบุญในคริสต์ศาสนา, รูปนกฟินิกซ์, (สัญลักษณ์การกำเนิดใหม่ของชาติกรีซ), คำขวัญต่าง เช่น เสรีภาพหรือความตาย ("Ελευθερία ή Θάνατος") หรือรูปสัญลักษณ์ที่คล้ายกับขวานมัดหวาย (fasces) ของสมาคมฟิลิกี เอเทเรอา (Philiki Etaireia) ซึ่งเป็นสมาคมลับที่อยู่เบื้องหลังในการลุกขึ้นสู้ต่อต้านจักรวรรดิออตโตมานครั้งนี้
ด้วยเหตุที่ชาติราชาธิปไตยในยุโรปซึ่งเป็นพันธมิตรกันภายใต้ชื่อ "ระบบคองเกรสแห่งยุโรป" หวาดระแวงต่อขบวนการที่เคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติแห่งชาติหรือการปฏิวัติสังคมต่างๆ ดังเช่นการตั้ง "เอทาอิเรอา" ("Etaireia) หรือการประชุมสภาแห่งชาติครั้งแรกของกรีซที่เมืองเอปิเดารุส ซึ่งจัดให้มีขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 1822 ได้นำไปสู่การเข้าแทรกแซงสภาดังกล่าว และทำให้กรีซกลายเป็นรัฐชาติกำเนิดใหม่ที่มีลักษณะ "เป็นแบบแผนตามธรรมเนียมนิยม" กล่าวคือเป็นรัฐที่ถูกจัดระเบียบใหม่ (โดยมหาอำนาจยุโรป)[6] ซึ่งมิเพียงแต่มีการล้มเลิกสภาท้องถิ่นและรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเท่านั้น แต่ยังมีการตัดสินใจยกเลิกธงของการปฏิวัติทั้งหมดและกำหนดแบบธงร่วมให้ใช้ทั่วไปเพียงธงเดียว แต่เหตุผลที่ทำให้แบบธงกางเขนขาวบนพื้นสีฟ้าถูกเลือกให้ใช้เป็นธงชาติ แทนที่จะเป็นธงการเขนฟ้าบนพื้นขาวซึ่งได้รับควานิยมมากกว่านั้น ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด[6]
ในวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1822 รัฐบาลเฉพาะกาลได้ออกคำสั่งที่ 540 กำหนดแบบของธงที่แน่นอนขึ้น โดยให้ใช้ธงกางเขนขาวบนพื้นสีฟ้าเป็นธงสำหรับใช้บนแผ่นดิน ธงเก้าริ้วสีฟ้าสลับขาวมีกางเขนขาวบนพื้นฟ้าที่มุมบนด้านคันธงเป็นธงนาวี และธงสีฟ้ามีรูปกางเขนสีฟ้าในสี่เหลี่ยมสีขาวที่มุมธงบนด้านคันธงเป็นธงเรือราษฎร์สำหรับกองเรือพาณิชยนาวี (ธงเรือสินค้าพลเรือน)[6][3] ต่อมาในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1828 โดยคำสั่งของข้าหลวงอิอวนนิส คาปอดิเทรียส (Ioannis Kapodistrias) ธงเรือสินค้าแบบดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไป และใช้ธงรูปริ้วสีและกางเขนเป็นธงเรือประจำประเทศแทน ทั้งในเรือสินค้าและในเรือของกองทัพ[6] แบบธงดังกล่าวเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในหมู่ชาวกรีกแทบจะทันทีทันใด และในทางปฏิบัติแล้ว ชาวกรีกมักจะใช้ธงนี้คู่กับธงชาติซึ่งเป็นรูปกางเขนขาวบนพื้นฟ้าอยู่เสมอ
หลังการสถาปนาราชอาณาจักรกรีซในปี ค.ศ. 1832 พระเจ้าออตโตแห่งราชวงศ์วิตเตลสบาค กษัตริย์พระองค์ใหม่ ได้ทรงเพิ่มตราประจำพระองค์ไว้ที่กลางรูปกางเขนขาวในธงของกองทัพทั้งฝ่ายทหารบกและฝ่ายทหารเรือ ตราดังกล่าวเป็นตราอาร์มลวดลายตารางแบบตราอาร์มของรัฐบาเยิร์นประดับมงกุฎ ซึ่งบ่งบอกถึงปฐมวงศ์แห่งกษัตริย์พระองค์นั้น[3] ต่อมาเพื่อพระเจ้าออตโตได้ทรงสละราชสมบัติในปี ค.ศ. 1862 ตราอาร์มดังกล่าวได้ถูกเอาออกจากธง คงเหลือแต่เพียงรูปมงกุฎกษัตริย์เพียงอย่างเดียวเมื่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ คือ พระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งกรีซ ซึ่งเป็นเจ้าชายเดนมาร์ก ได้เสด็จมายังกรีซเพื่อรับราชสมบัติแทนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดิม
ธงแบบสำหรับใช้ในแผ่นดินในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กลางธงมีรูปนักบุญจอร์จ ได้รับการยอมรับเมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1864 ในฐานะของธงศึกประจำกองทัพบก[6] แบบธงที่มีการจัดเรียงลักษณะที่คลึงกันเช่นนี้ได้ถูกนำไปใช้ในธงของพระราชวงศ์ ซึ่งใช้รูปตราอาร์มของราชวงศ์ราชวงศ์ชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บวร์ก-กลึคสบวร์ก แบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสมาประดับที่กลางธงชาติ ลักษณะรูปทรงที่แน่นอนและกฎเกณฑ์การใช้ธงดังกล่าวได้ถูกกำหนดไว้ตามพระบรมราชโองการลงวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1867[6] ต่อมาจึงได้มีพระบรมราชโองการฉบับใหม่ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1914 กำหนดให้ธงแบบสำหรับใช้ในแผ่นดินซึ่งมีรูปมงกุฎกษัตริย์ประกอบอยู่ด้วยใช้เป็นธงราชการสำหรับกระทรวงทบวงกรม สถานทูต และ หน่วยงานราชการพลเรือน ส่วนธงสำหรับเรือเดินทะเลนั้น ได้อนุญาตให้ใช้สำหรับพลเมืองทั่วไป[6]
ในวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1924 ได้มีการนำรูปมงกุฎออกจากธงทุกชนิด อันเป็นผลสืบเนื่องจากการสถาปนาสาธารณรัฐเฮลเลนนิคที่ 2 [6] ต่อมาจึงได้มีการกำหนดสัดส่วนของธงที่แน่นอนในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1930 โดยมีความกว้างเป็น 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน กิ่งของกางเขนแต่ละด้านมีความกว้างเป็น "หนึ่งในห้าส่วนของความกว้างธง" แบบธงสำหรับในแผ่นดินนั้นถูกใช้โดยกระทรวงต่างๆ และสถานทูต ส่วนธงสำหรับเรือเดินทะเลนั้นถูกใช้โดยกองทัพเรือ เรือสินค้าเอกชน กิจการกงสุล และประชาชนโดยทั่วไป การฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยโดยนายกรัฐมนตรีจอร์จีออส คอนดีลิส ในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1935 ได้ทำให้มีการฟื้นฟูการใช้รูปมงกุฎในธงชาติขึ้นใหม่[6] รูปดังกล่าวก็ได้ถูกลบล้างออกไปอีกครั้งโดยรัฐบาลเผด็จการทหารในปี ค.ศ. 1967 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการปฏิวัติซ้อนที่ล้มเหลวและการเสด็จลี้ภัยทางการเมืองของพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 2 ในวันที่ 13 ธันวาคมของปีนั้น ธงสำหรับเรือเดินทะเลได้ถูกกำหนดให้เป็นธงชาติกรีซเพียงธงเดียวในปี ค.ศ. 1969 โดยใช้โทนสีฟ้าเข้มมาก (กล่าวอีกนัยหนึ่งคือสีน้ำเงิน) และได้มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนธงจาก 2:3 เป็น 7:12 ในวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1970[6]
หลังการฟื้นฟูประชาธิปไตยในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1974 ธงแบบสำหรับใช้ในแผ่นดินได้ถูกฟื้นฟูให้ใช้เป็นระยะสั้นๆ ตามกฎหมายเลขที่ 48/1975 คำสั่งประธานาธิบดีที่ 515/1975 จนถึงปี ค.ศ. 1978[6]
ในปี ค.ศ. 1978 แบบธงชาติกรีซซึ่งเป็นแบบที่เคยใช้สำหรับเรือเดินทะเล (sea flag) ได้รับการรับรองให้เป็นแบบธงชาติกรีซโดยส่วนรวมทั้งหมดเพียงแบบเดียว โดยกำหนดสัดส่วนธงไว้ที่กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน [10] ธงดังกล่าวนี้ ใช้ทั้งบนแผ่นดินและในทะเลทั้งหมด และใช้เป็นทั้งธงนาวีของกองทัพเรือและธงเรือพลเรือน ทดแทนแบบธงอื่นไ ที่ใช้ในหน้าที่อย่างเดียวกันในยุคก่อนหน้าทั้งหมด ซึ่งการใช้ธงชาตินั้นได้ห้ามการทำเครื่องหมายสัญลักษณ์หรือข้อความใดๆ ปรากฏในธงเป็นอันขาด อย่างไรก็ตาม โทนสีของสีฟ้า/สีน้ำเงินที่ใช้ในธงไม่ได้มีการบัญญัติไว้ชัดเจน ทำให้ในทางปฏิบัติปรากฏธงชาติกรีซที่มีโทนสีหลากหลายตั้งแต่สีฟ้าอ่อนไปจนถึงสีน้ำเงินเข้ม สำหรับวันธงชาติกรีซได้กำหนดไว้ตรงกับวันที่ 27 ตุลาคม ของทุกปี
ธงชาติสำหรับใช้บนแผ่นดินแบบเดิมยังคงมีการชักไว้ ณ อาคารรัฐสภาเก่า ในกรุงเอเธนส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติของกรีซ และประชาชนบางส่วนยังนิยมประดับธงนี้ในลักษณะไม่เป็นทางการ
การใช้ธงชาติกรีซถูกกำหนดไว้ด้วยกฎหมายเลขที่ 851 ของประเทศกรีซ[11] กล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติไว้ว่า:
รัฐบาลกรีซมิได้กำหนดสีฟ้าของธงที่แน่นอนไว้ว่าควรใช้สีฟ้าแบบใด ดังนั้นจึงทำให้ธงชาติกรีซที่ปรากฏมีแบบสีต่างๆ ที่หลากหลายมาก ในกฎหมายฉบับล่าสุดที่เกี่ยวกับธงของกรีกได้กล่าวไว้ว่า
Law 851/1978, Regarding the National Flag, Article 1, Clause 1
การใช้ชื่อสีว่า "cyan" (ภาษากรีก: Κυανός, Kyanos) ซึ่งในภาษากรีกอาจหมายถึงสีฟ้า ("blue") ได้เช่นกัน [12] เฉดสีที่แน่นอนของสีฟ้าในที่นี้จึงค่อนข้างกำกวม แม้ความในกฎหมายจะบอกเป็นนัยว่าให้ใช้สีฟ้าอ่อนตามแบบที่ใช้ในธงขององค์การสหประชาชาติ แต่แนวโน้มของสีธงจริงกลับเป็นไปในทางสีเข้ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระหว่างยุคเผด็จการทหาร ค.ศ. 1967 - 1974 และในช่วงเวลาไม่นานมานี้ ยกเว้นแต่ในสมัยแห่งการปกครองของพระเจ้าออตโต ซึ่งใช้ธงชาติกรีซด้วยสีฟ้าที่อ่อนมาก
แบบสีทางการ (ขาว) | แบบสีทางการ (ฟ้า) | ระบบสี | ที่มา | ปี | URL |
---|---|---|---|---|---|
ไม่ระบุ | 286 C | แพนโทน | Album des Pavillons | 2000 | [13] |
ไม่ระบุ | 100% - 60% - 0% - 5% | CMYK | Album des Pavillons | 2000 | [13] |
ไม่ระบุ | 285 | แพนโทน | 2008 Summer Olympics Flag Manual | 2008 | [14] |
NA | Reflex Blue | Pantone | 2012 Summer Olympics Flag Manual | 2012 | [15] |
กฎหมาย 851/1978 ได้กำหนดวันเวลาในภาพรวมไว้สำหรับการประดับธงชาติในวาระอันสมควร การชักธงชาติในวันหยุดของทางราชการและวันหยุดสาธารณะในท้องถิ่นนั้นถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของชาวกรีกทุกคน ตั้งแต่เวลา 8:00 น. จนกระทั่งพระอาทิตย์ตกดิน[11] สำหรับวันหยุดราชการนั้น ข้อกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ แต่ในกรณีวันหยุดของท้องถิ่นนั้น มีผลแต่เพียงสำหรับบริเวณที่ได้กำหนดวันดังกล่าวให้เป็นวันเฉลิมฉลองของท้องถิ่นเท่านั้น[11] อนึ่ง ธงชาติยังสามารถชักขึ้นได้ในวันที่กำหนดให้มีการไว้ทุกข์ทั่วประเทศด้วยเช่นกัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการกำหนดวันประดับธงในกรณีที่ยังไม่มีการกำหนดวันดังกล่าวขึ้นมาก่อน ส่วนการกำหนดวันประดับธงประจำท้องถิ่นนั้น เป็นอำนาจของผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นประมุขขององค์การบริหารการปกครองส่วนภูมิภาคในท้องถิ่นนั้นๆ[11]
วันที่ | ชื่อวัน | เหตุผล |
---|---|---|
25 มีนาคม | วันที่ระลึกเหตุการณ์ 25 มีนาคม | เฉลิมฉลองครบรอบวันเริ่มสงครามประกาศอิสรภาพกรีซ[16] |
28 ตุลาคม | "Ochi Day" (วันแห่งการปฏิเสธ) | เฉลิมฉลองครบรอบการปฏิเสธการยื่นคำขาดของอิตาลีระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1940[16] |
17 พฤศจิกายน | วันโพลีเทคนิค | เฉลิมฉลองครบรอบปีของการลุกฮือของกลุ่มนักเรียนโพลีเทคนิคในกรุงเอเธนส์ เพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร (วันหยุดโรงเรียน)[17] |
ทั้งนี้ แม้วันที่ 17 พฤศจิกายน จะไม่ใช่วันที่ทางราชการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการก็ตาม แต่ในคำสั่งประธานาธิบดีที่ 201/1998 ได้ระบุไว้ว่า พึงแสดงความเคารพต่อธงชาติเนื่องในวันดังกล่าวด้วย[17]
ธงชัยของทหารบก, ทหารอากาศ และ ตำรวจ มีลักษณะเดียวกันคือ เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นสีฟ้า พาดทับด้วยกางเขนแบบกรีกสีขาว ที่ใจกลางรูปกางเขนมีรูปของนักบุญจอร์จสำหรับธงชัยของทหารบก ส่วนธงชัยของทหารอากาศจะใช้รูปของอัครเทวดามิคาเอล[3] และ ธงชัยของตำรวจจะใช้รูปของนักบุญไอริน[3]
ธงดังกล่าวนี้เป็นธงสำหรับใช้โดยกองทหารราบ ทหารยานเกราะ และหน่วยรบพิเศษ มีกำลังรบในระดับกองพัน และ ระดับกรม, โรงเรียนนายร้อยเอเวลปีดอน (Evelpidon Military Academy) และ กองทหารรักษาการณ์ของประธานาธิบดี ในยามเข้าสู้รบหรือในการสวนสนาม[18] อย่างไรก็ตาม การนำธงชัยเข้ารบในสมรภูมิด้วยนั้นไม่เป็นที่นิยมตามวิธีการรบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ธงแสดงสัญชาติของกรีซที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ใช้ธงชาติกรีซเป็นธงเรือประจำชาติ
รูปลักษณ์ของธงกางเขนขาวบนพื้นสีฟ้าปรากฏการใช้อยู่ในธงฉานของกองทัพเรือกรีซ และในเป็นแบบพื้นฐานสำหรับธงหมายยศต่างๆ ของกองทัพเรือกรีซ ธงเหล่านี้ปรากฏความบรรยายอยู่ในหมวด 21 มาตรา 2101-2130 ของข้องบังคับทหารเรือของกรีซ ธงฉานของกรีซนั้น นอกจากจะใช้บนเรือรบของกองทัพเรือแล้ว ยังใช้สำหรับเรือยามฝั่งของประเทศกรีซด้วยอีกหน่วยหนึ่ง
หน่วยทหารในกองทัพเรือกรีก และ หน่วยย่อยของกองเรือยามฝั่งในการเดินสวนนามจะใช้ธงชาติ (ธงนาวี) เป็นเครื่องหมายแทนการใช้ธงชัยประจำหน่วย[19]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.