อดีตพระราชวงศ์อังกฤษ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (อังกฤษ: Diana, Princess of Wales; 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1961 – 31 สิงหาคม ค.ศ. 1997) มีพระนามเดิม ไดอานา ฟรานเซส สเปนเซอร์ (อังกฤษ: Diana Frances Spencer) เป็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ เป็นพระชายาพระองค์แรกในสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อครั้งยังดำรงพระราชอิสริยยศเป็น เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ ตั้งแต่ปี 1981 จนถึงปี 1996 และเป็นพระมารดาของเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี่ พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปจากพระราชกรณียกิจด้านมนุษยธรรมและจากบุคลิกอันทรงเสน่ห์ของพระองค์
ไดอานา | |||||
---|---|---|---|---|---|
เจ้าหญิงแห่งเวลส์ | |||||
ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ในปี 1997 | |||||
ประสูติ | 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1961 นอร์ฟอล์ก อังกฤษ | ||||
สวรรคต | 31 สิงหาคม ค.ศ. 1997 ปี) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส | (36||||
ฝังพระศพ | 6 กันยายน ค.ศ. 1997 คฤหาสน์อัลทอร์พ นอร์แทมป์ตันเชอร์ | ||||
พระสวามี | สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร (1981–1996) | ||||
พระราชบุตร | |||||
| |||||
ราชวงศ์ | วินด์เซอร์ (โดยอภิเษก) | ||||
พระราชบิดา | จอห์น สเปนเซอร์ เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 8 | ||||
พระราชมารดา | ฟรานเซส โรช | ||||
ลายพระอภิไธย |
พระองค์ประสูติในตระกูลขุนนางชาวอังกฤษที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดพระราชวงศ์ และพักอาศัยอยู่พาร์กเฮาส์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในอาณาบริเวณของตำหนักซานดริงแฮม ในปี 1981 พระองค์ทรงเข้าพิธีหมั้นกับเจ้าชายชาลส์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และภายในปีเดียวกันนั้น ได้ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสที่อาสนวิหารเซนต์พอล และได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเป็น เจ้าหญิงแห่งเวลส์
เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ มีพระราชโอรสด้วยกัน 2 พระองค์ คือ เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี่ ผู้สืบราชสันตติวงศ์สหราชอาณาจักรลำดับที่หนึ่งและห้า ตามลำดับ
หลายปีต่อมา ชีวิตคู่ของไดอานากับชาลส์ก็ต้องจบลงโดยมีสาเหตุมาจากเรื่องความเข้ากันไม่ได้ และความสัมพันธ์นอกสมรส ทั้งสองพระองค์ทรงแยกทางกันในปี 1992 หลังจากที่สาธารณชนได้รับรู้ถึงปัญหาชีวิตคู่อันระหองระแหงของครอบครัวเวลส์มาได้สักระยะหนึ่งจากสื่อมวลชน ทั้งสองพระองค์หย่าขาดจากกันในปี 1996
ด้วยพระราชฐานะของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ไดอานาทรงออกปฏิบัติพระราชกิจต่างๆ แทนสมเด็จพระราชินีนาถฯ และพระราชวงศ์ทั่วทั้งดินแดนเครือจักรภพ ทรงได้รับการยกย่องในเรื่องบุคลิกส่วนพระองค์ ความงาม แฟชันการแต่งกาย และงานการกุศลส่วนพระองค์ที่แตกต่างไปจากธรรมเนียมพระราชวงศ์ ในช่วงแรกๆ ทรงอุปถัมภ์โครงการที่เกี่ยวกับเด็กและผู้สูงอายุ และต่อมาได้ทรงสนพระทัยในงานด้านมนุษยธรรม เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติและการยอมรับต่อผู้ป่วยโรคเอดส์ และอีกโครงการหนึ่งก็คือทรงรณรงค์การเก็บกู้ทุ่นระเบิดสงคราม ร่วมกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ นอกจากนั้น ยังทรงสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมวิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ป่วยจิตเวช แม้ว่าในช่วงแรกที่ดำรงตำแหน่งเจ้าหญิงแห่งเวลส์ พระองค์ทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการมีอุปนิสัยเขินอาย แต่ด้วยบุคลิกที่มีเสน่ห์และเป็นมิตร ทำให้ทรงเป็นที่รักใคร่ของสาธารณชน ด้วยพระสิริโฉมอันน่าดึงดูดและสไตล์การแต่งกายที่โดดเด่น พระองค์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นแฟชันไอคอนแห่งยุค 1980 ถึง 1990 และถือว่าเป็นหนึ่งในสตรีชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกในช่วงปลายศตวรรษที่ 20
ไดอานาทรงสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ขณะหลบหนีช่างภาพปาปารัสซีในกรุงปารีส ในเดือนสิงหาคม ปี 1997 ก่อให้เกิดความโศกเศร้าสะเทือนใจไปทั่วทั้งโลก จากการที่สื่อมวลชนทั่วโลกต่างพร้อมกันรายงานข่าวอุบัติเหตุของพระองค์แทบจะในทันที และยังทำให้สังคมอังกฤษแสดงออกถึงความไม่พอใจและโกรธแค้นต่อปฏิกิริยาของพระราชสำนักในช่วงสัปดาห์แรกหลังการสิ้นพระชนม์ จนอยู่ในระดับเลวร้ายที่สั่นคลอนสถาบันกษัตริย์อังกฤษ[1] การไต่สวนกรณีการสิ้นพระชนม์โดยตำรวจนครบาลในปี 2004 สรุปได้ว่าอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นจากความประมาทของคนขับรถยนต์พระที่นั่ง
ไดอานา ฟรานเซส สเปนเซอร์ เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1961 ณ พาร์กเฮาส์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตำหนักซานดริงแฮม มณฑลนอร์ฟอล์ก เป็นบุตรคนที่สี่จากทั้งหมดห้าคน และเป็นธิดาคนเล็กของจอห์น สเปนเซอร์ ไวส์เคานต์อัลทอร์พที่ 8 (ค.ศ. 1924–1992) กับฟรานเซส สเปนเซอร์ ไวส์เคาน์เตสอัลทอร์พ (สกุลเดิม โรช; ค.ศ. 1936–2004)[2]
ตระกูลสเปนเซอร์มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระราชวงศ์อังกฤษมายาวนาน[3] โดยทั้ง ซินเธีย สเปนเซอร์ เคาน์เตสสเปนเซอร์ ผู้เป็นย่า และรูธ โรช บารอนเนสเฟอร์มอย ผู้เป็นยาย ซึ่งต่างก็เป็นขุนนางสตรีชั้นสูง ทั้งสองท่านได้เคยรับใช้ถวายงานเป็นนางสนองพระโอษฐ์แด่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี[4]
ครอบครัวของเธอในเวลานั้นต่างคาดหวังให้ทารกเป็นเพศชาย เพื่อสืบทอดตำแหน่งขุนนางผ่านทางสายบิดา ด้วยไม่ได้คิดว่าจะได้ลูกสาว ครอบครัวของเธอจึงไม่ได้เตรียมชื่อสำหรับเด็กหญิงไว้เผื่อล่วงหน้า แต่แล้วฟรานเซสก็ได้ให้กำเนิดทารกเพศหญิงโดยที่ยังไม่มีชื่อ หนึ่งสัปดาห์ต่อมา ครอบครัวสเปนเซอร์ได้ตั้งชื่อให้แก่บุตรสาวผู้นี้ว่า ไดอานา ฟรานเซส โดยที่ชื่อแรกของเธอได้มาจากบรรพบุรุษในตระกูลสเปนเซอร์ “เลดี้ไดอานา สเปนเซอร์” (ค.ศ. 1710–1735) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นดัชเชสแห่งเบดฟอร์ด เคยเป็นหนึ่งในสุภาพสตรีที่ได้รับคัดเลือกให้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายเฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์ (ค.ศ.1707–1751)[5] และได้ชื่อกลางว่า “ฟรานเซส” อันเป็นชื่อแรกของมารดา ไดอานามีชื่อเล่นที่เรียกกันแต่ในครอบครัวว่า "ดัช" ซึ่งมาจากกิริยาท่าทางหรูหราแบบดัชเชสของเธอในตอนวัยเด็ก[6]
ไดอานารับบัพติศมาในวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1961 ณ โบสถ์เซนต์แมรีแมกดาลีน เมืองซานดริงแฮม[7] เธอมีพี่น้องรวมทั้ง 4 คน ได้แก่ ซาราห์ (ปัจจุบันคือ เลดี้ซาราห์ แมคคอร์เคอเดล), เจน (ปัจจุบันคือ เจน เฟลโลวส์ บารอนเนสเฟลโลวส์) และชาลส์ (ปัจจุบันเป็น เอิร์ลแห่งสเปนเซอร์ที่ 9)[8] และ จอห์น พี่ชาย (เสียชีวิตขณะยังเป็นทารก ประมาณหนึ่งปีก่อนที่ไดอานาเกิด)[9]
เกิดความคุกรุ่นภายในครอบครัวสเปนเซอร์ เมื่อบิดามารดาต้องการมีลูกชายไว้สืบทอดสกุล ณ เวลานั้นไวส์เคานต์อัลทอร์พมีบุตรสาวอยู่แล้วถึง 2 คน[10][9] จนเป็นเหตุให้เลดี้อัลธอร์พต้องเข้าไปพบแพทย์ในกรุงลอนดอน เพื่อตรวจหา "ความผิดปกติ" ชาลส์ เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 9 กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่าทำให้มารดาของตนได้รับความอับอาย เป็นช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดในครอบครัว และเป็นจุดเริ่มต้นการหย่าร้างของบิดามารดา[8]
ไดอานาเติบโตในคฤหาสน์พาร์กเฮาส์ ภายในอาณาเขตของตำหนักซานดริงแฮม[8] ครอบครัวสเปนเซอร์เช่าคฤหาสน์หลังนี้จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ซึ่งไดอานาเรียกว่า "คุณป้าลิลีเบ็ต" โดยเป็นธรรมเนียมที่พระราชวงศ์อังกฤษมักจะเสด็จมาประทับที่ตำหนักซานดริงแฮมนี้ในฤดูหนาวเป็นประจำทุกปี และในสถานที่แห่งนี้เองที่ไดอานาได้มีโอกาสได้รู้จักและร่วมเล่นกับเชื้อพระวงศ์ชั้งสูงที่ยังทรงพระเยาว์ นั่นคือเจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด[11][12]
บิดาและมารดาของไดอานาหย่าร้างกันเมื่อเธออายุได้ 7 ขวบ ในช่วงที่บิดามารดาแยกกันอยู่ ไดอานาได้อยู่กับมารดาในลอนดอนระหว่างในช่วงปี 1967 แต่ในวันคริสต์มาสปีเดียวกันนั้น ลอร์ดอัลทอร์พไม่ยอมให้ฟรานเซสพาไดอานากลับลอนดอนไปด้วย จนเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องอำนาจปกครองบุตรระหว่างบิดากับมารดา โดยมีบารอนเนสเฟอร์มอย แม่ของฟรานเซสและยายของไดอานา ได้ให้ความช่วยเหลือลูกเขยจนชนะคดี[13]
ปี 1976 ลอร์ดอัลทอร์พสมรสใหม่กับ เรน เคาน์เตสแห่งดาร์ตมัธ ธิดาเพียงคนเดียวของอเล็กซานเดอร์ แมคคอเคอร์เดล กับบาร์บารา คาร์ตแลนด์ นักเขียนนิยายรักโรแมนติกชื่อดัง[14]
ปี 1975 ไดอานาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น เลดี้[15] หลังจากที่บิดาสืบทอดบรรดาศักดิ์เป็นเอิร์ลแห่งสเปนเซอร์ และครอบครัวสเปนเซอร์จำเป็นต้องย้ายออกจากพาร์กเฮาส์ เพื่อกลับไปพำนักที่คฤหาสน์อัลทอร์พ อันเป็นคฤหาสน์เก่าแก่ประจำตระกูลสเปนเซอร์ในนอร์แทมป์ตันเชอร์[16]
ไดอานาเริ่มต้นการเรียนจากที่บ้าน (home school) กับครูประจำบ้านชื่อว่า เกอร์ทรูด อัลเลน[18] และได้เข้าเรียนครั้งแรกในโรงเรียนเอกชนซิลฟิลด์ เมืองเกย์ตัน มณฑลนอร์ฟอล์ก[19] เมื่ออายุ 9 ขวบ ได้ย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนประจำหญิงริดเดิลสเวิร์ธ ใกล้เมืองเทตฟอร์ด จนกระทั่งเมื่ออายุ 12 ปี เธอเข้าเรียนที่โรงเรียนเวสต์ฮีธเกิร์ลส์สคูล ในเมืองเซเวนโอ๊กส์ มณฑลเคนต์ โดยเวลานั้นพี่สาวทั้งสองคนก็กำลังเรียนที่โรงเรียนนี้เช่นกัน[20]
แม้จะเรียนไม่ค่อยเก่ง เพราะมีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และไม่ผ่านการทดสอบวิชาพื้นฐานระดับประเทศ (O-Levels) ถึงสองครั้ง แต่ไดอานาก็ได้รับรางวัลนักเรียนดีจากกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะจากโรงเรียน[21] เธอลาออกจากโรงเรียนแห่งนี้เมื่ออายุ 16 ปี[22] ชาลส์ ผู้เป็นน้องชายกล่าวถึงพี่สาวว่า ไดอานาเป็นเด็กสาวที่เรียบร้อยและขี้อายมาก[23][24] กิจกรรมที่นอกเหนือการเรียนที่เธอถนัดและโปรดปราน คือ เล่นเปียโน ว่ายน้ำ ดำน้ำ เต้นบัลเลต์ ไปจนถึงเต้นแท็ป[25]
ปี 1978 ไดอานาทำงานเป็นพี่เลี้ยงให้กับ ฟิลิปปา และเจเรมี วิแทกเกอร์ ที่แฮมป์เชอร์[26] เป็นเวลาสามเดือน ต่อมาเธอสมัครเรียนต่อที่โรงเรียนการเรือน อังสติตู อัลแป็ง วิเดมาแน็ต ในเมืองรูฌมงต์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่เข้าเรียนได้ภาคเรียนเดียวก็เดินทางกลับลอนดอน
เธอพักอยู่ที่อะพาร์ตเมนต์ของแม่ในลอนดอน โดยแชร์ห้องกับรูมเมตสองคน ที่เป็นเพื่อนสมัยเรียน[27] ไดอานาลงเรียนในหลักสูตรทำอาหารขั้นสูงไปพร้อมกับรับจ้างทำงานที่ได้เงินเล็กน้อยอีกหลายอย่าง เช่น เธอเคยทำงานเป็นครูสอนเต้นรำให้เด็กๆ แต่ต้องลาออกเมื่อหยุดพักงานไปกว่าสามเดือนเพื่อรักษาตัวหลังประสบอุบัติเหตุขณะเล่นสกี[28] งานรับจ้างต่างๆ ของไดอานาระหว่างที่อยู่ในลอนดอน มีตั้งแต่งานผู้ช่วยพี่เลี้ยงโรงเรียนเตรียมอนุบาล รับจ้างทำความสะอาดบ้านให้กับซาราห์ และเจน พี่สาวสองคนของเธอ รวมทั้งเป็นบริกรเสิร์ฟอาหารในงานเลี้ยง[29] นอกจากนี้ เธอยังได้รับว่าจ้างให้เป็นพี่เลี้ยงของครอบครัวโรเบิร์ตสัน รวมทั้งตำแหน่งผู้ช่วยครูโรงเรียนเตรียมอนุบาล ยัง อิงแลนด์ สกูล ในเขตพิมลิโค[30]
ปี 1979 ไดอานาได้รับอะพาร์ตเมนต์จากมารดาเป็นของขวัญในวันเกิดอายุ 18 ปี[31] อะพาร์ตเมนต์นี้เป็นส่วนหนึ่งของตึกอะพาร์ตเมนต์ โคลเฮิร์นคอร์ต ซึ่งอยู่ในย่านเอิร์ลส์คอร์ต เธอพักอยู่กับรูมเมตสามคนที่เป็นเพื่อนสมัยเรียนเป็นเวลานานกว่าสองปี จนกระทั่งย้ายออกไปในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1981[32] หลังประกาศหมั้นกับเจ้าชายชาลส์
เดือนพฤศจิกายน ปี 1977 ไดอานาในวัย 16 ปี ได้มีโอกาสพบเจ้าฟ้าชายชาลส์เป็นครั้งแรก ขณะที่ยังทรงคบหาดูใจกับเลดี้ซาราห์[33][34] ขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุ 29 ชันษา
ฤดูร้อนปี 1980 เจ้าชายชาลส์และไดอานาได้รับเชิญให้ไปร่วมสังสรรค์ช่วงสุดสัปดาห์ที่บ้านของเพื่อนในซัสเซ็กส์ ทรงเกิดสนพระทัยไดอานาอย่างจริงจัง เนื่องจากทรงเห็นว่าเธอเหมาะสมที่จะเป็นเจ้าสาวในอนาคตของพระองค์ พระองค์ทรงพัฒนาความสัมพันธ์ด้วยการเชิญไดอานาให้ไปร่วมล่องเรือพระที่นั่งบริตาเนีย เพื่อท่องเที่ยวพักผ่อนในเมืองคาวส์ เมืองท่าตากอากาศบนเกาะไอล์ออฟไวต์ ทางตอนใต้ของเกาะอังกฤษ
เดือนพฤศจิกายนปี 1980 ไดอานาได้รับเชิญให้ไปร่วมพักผ่อนกับพระราชวงศ์อีกครั้ง ณ ปราสาทบัลมอรัลในสกอตแลนด์ ในครั้งนี้ เธอได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2, เจ้าชายฟิลิป, และสมเด็จพระราชชนนี[35][36] ต่อมา เจ้าชายชาลส์ทรงตามจีบไดอานาและในที่สุดทั้งสองก็ได้คบหากันในช่วงเวลาสั้นๆ จนเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1981 พระองค์ทรงขอหมั้นไดอานาเป็นการส่วนพระองค์ ไดอานาตกลงรับหมั้นและเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับอยู่นาน 18 วัน จนกระทั่งมีการประกาศหมั้นอย่างเป็นทางการจากสำนักพระราชวัง[32]
พิธีหมั้นอย่างเป็นทางการของเจ้าฟ้าชายชาลส์ กับ เลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1981[18] โดยไดอานาเป็นผู้เลือกแหวนหมั้นด้วยตัวเอง[18] ซึ่งเป็นแหวนทองคำขาว 18 กะรัต ประดับไพลินซีลอนรูปไข่ 12 กะรัต มีเพชรเม็ดเล็ก 14 เม็ดล้อมรอบไพลินเม็ดกลาง[37] ผลิตโดย การ์ราร์ด ร้านอัญมณีประจำราชสำนัก ณ เวลานั้น แหวงวงนี้ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากเข็มกลัดไพลินเพชรล้อม ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงได้รับจากเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี ในโอกาสวันครบรอบวันแต่งงาน เมื่อปี 1840 ต่อมาในภายหลัง เจ้าชายวิลเลียม พระโอรสองค์โตของพระองค์ ได้ทรงประทานแหวนวงนี้เพื่อเป็นแหวนหมั้นแก่นางสาวแคเธอริน มิดเดิลตัน ในพิธีหมั้นของพระองค์ในปี 2010 [38]
หลังจากได้เป็นพระคู่หมั้นแล้ว ไดอานาลาออกจากงานผู้ช่วยครูอนุบาล เธอย้ายไปอยู่ในพระตำหนักคลาเรนซ์เฮาส์ และพระราชวังบักกิงแฮม ตามลำดับ[39] ก่อนที่จะเข้าพิธีอภิเษกสมรส นักเขียนชีวประวัติได้ตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านสถานะสู่การเป็นพระคู่หมั้นคือช่วงเวลาเปล่าเปลี่ยวที่สุดในชีวิตของไดอานา[40]
ไดอานานับเป็นสตรีชาวอังกฤษคนแรกในรอบ 300 ปีที่ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารอังกฤษ ถัดจาก แอนน์ ไฮด์ ที่เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจมส์ ดยุกแห่งยอร์กและอัลบานี (ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็น พระเจ้าเจมส์ที่ 2) เมื่อปี 1660 นอกจากนี้ เธอยังเป็นสะใภ้หลวงคนแรกของราชวงศ์วินด์เซอร์ที่มีอาชีพและรายได้เป็นของตัวเอง[18][21]
งานสังคมครั้งแรกในฐานะพระคู่หมั้นที่ได้ตามเสด็จฯ พร้อมกับเจ้าฟ้าชายชาลส์ คืองานบอลการกุศล ณ โกลด์สมิท ฮอลล์ อีกทั้งยังได้เข้าเฝ้าฯ เจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก เป็นครั้งแรก[39][41]
วันที่ 29 กรกฎาคม 1981 พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายชาลส์ กับเลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่หรูหรา ณ อาสนวิหารเซนต์พอล กรุงลอนดอน จนเป็นที่กล่าวขานกันว่า งดงามราวงานแต่งงานในเทพนิยาย ทั้งสองฟากฝั่งของเส้นทางขบวนเสด็จ ตั้งแต่หน้าพระราชวังบักกิงแฮมไปจนถึงอาสนวิหารเซนต์พอล คลาคล่ำไปด้วยฝูงชนราว 600,000 คน ที่เดินทางมาเฝ้ารอชมพระโฉมของคู่บ่าวสาวอย่างปลื้มปิติยินดี โดยมีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีอภิเษกทางโทรทัศน์ไปยัง 74 ประเทศ มีผู้รับชมการถ่ายทอดสดครั้งนี้กว่า 750 ล้านคนทั่วโลก[18][42]
ไดอานาเดินเข้าสู่หน้าอาสนวิหารพร้อมกับบิดา เธอสวมชุดเจ้าสาวผ้าไหมสีงาช้างฟูฟ่อง ประดับจีบและริบบิ้นรอบคอและแขน ตกแต่งด้วยลูกไม้โบราณ ปักเลื่อมและไข่มุกจำนวน 10,000 เม็ด มีความยาวชายกระโปรง 7.6 เมตร เจ้าสาวยังได้สวมรัดเกล้าประจำตระกูลสเปนเซอร์ และผ้าคลุมหน้าผ้าทูลล์สีขาว ความยาวถึง 140 เมตร [43][44][45]
ไดอานาในวัย 20 ปี ไดัรับพระอิสริยยศ “เจ้าหญิงแห่งเวลส์” ในพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งในขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ 32 ชันษา เกิดความผิดพลาดขึ้นในขณะพิธีแลกเปลี่ยนคำสัญญาที่หน้าแท่นบูชา คือไดอานาขานพระนามเต็มของเจ้าชายชาลส์ไม่ถูกต้อง โดยสลับตำแหน่งชื่อที่สองกับชื่อแรกว่า “Philip Charles Arthur George” แทนที่ควรจะเป็น “Charles Philip Arthur George” และไดอานาไม่ได้กล่าวว่า “จะเชื่อฟัง[เจ้าบ่าว]” เนื่องจากเจ้าบ่าวและเจ้าสาวได้ขอให้ตัดวลีนี้ออกไป[46]
หลังพิธีอภิเษกสมรส เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์มีที่ประทับอยู่ในกรุงลอนดอน ได้แก่ อะพาร์ตเมนต์หมายเลข 8 และ 9 ภายในพระราชวังเค็นซิงตัน อีกแห่งคือพระตำหนักไฮโกรฟ เมืองเทตบรี มณฑลกลอสเตอร์เชอร์
5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1981 สำนักพระราชวังบักกิงแฮมประกาศว่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงพระครรภ์ [47]
เดือนมกราคม ค.ศ. 1982 หรืออีก 12 สัปดาห์ต่อมา ไดอานาทรงประสบอุบัติเหตุตกบันไดที่ตำหนักซานดริงแฮม โดยทรงมีอาการฟกช้ำรุนแรง สูตินรีแพทย์ประจำราชสำนักได้ถวายรักษาและตรวจวินิจฉัยพระครรภ์ พบว่าพระกุมารทรงไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด[48] ซึ่งในเวลาต่อมาเจ้าหญิงทรงยอมรับภายหลังว่า พระองค์ตั้งใจกระโดดลงจากบันไดเพราะรู้สึกว่าพระองค์ไม่ดีพอ
21 มิถุนายน ค.ศ. 1982 ไดอานามีพระสูติกาลพระโอรส 'เจ้าชายวิลเลียม อาร์เธอร์ ฟิลิป หลุยส์' ที่โรงพยาบาลเซนต์แมรี ลอนดอน และทรงประสบความทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด[48]
เดือนมีนาคม ค.ศ. 1983 เจ้าหญิงตัดสินพระทัยเสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์พร้อมด้วยพระโอรส ภายหลังจากที่ มัลคอล์ม เฟรเซอร์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย (ในขณะนั้น) กราบทูลฯ ให้พระองค์เสด็จฯ พร้อมด้วยเจ้าชายวิลเลียม ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อ ซึ่งแท้จริงแล้ว ในตอนแรกพระองค์ไม่ได้มีพระประสงค์ให้พระโอรสน้อยร่วมเสด็จฯ ด้วย [49]
'เจ้าชายเฮนรี ชาลส์ อัลเบิร์ต เดวิด' พระโอรสองค์ที่สองของเจ้าหญิง ทรงประสูติเมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1984[50] พระองค์ตรัสว่าทรงมีความใกล้ชิดกับพระสวามีมากที่สุดระหว่างทรงพระครรภ์เจ้าชายแฮร์รี โดยเจ้าหญิงไม่ได้ทรงเปิดเผยเพศของพระกุมารให้แก่ผู้ใดทราบล่วงหน้า รวมทั้งพระสวามี
ไดอานาทรงเลี้ยงดูพระโอรสด้วยพระองค์ โดยถ่ายทอดประสบการณ์และมุมมองแตกต่างไปจากธรรมเนียมราชสำนัก พระองค์ทรงยืนกรานหนักแน่นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระโอรส และทรงไม่ยอมอ่อนข้อให้พระสวามีและพระราชวงศ์กับเรื่องดังกล่าว ทั้งยังฝ่าฝืนธรรมเนียมปฏิบัติของราชสำนัก เช่น ทรงไม่โปรดให้มีตำแหน่งพระพี่เลี้ยงสำหรับพระโอรส และเจ้าหญิงยังเป็นผู้คัดเลือกโรงเรียน ไปจนถึงเครื่องแต่งกายของพระโอรสด้วยพระองค์เอง รวมทั้งจัดสรรเวลาทรงงานของพระองค์เพื่อให้มีเวลาว่างสำหรับกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับพระโอรส[51] และยังทรงเปรียบเปรยพระโอรสแต่ละพระองค์ไว้อย่างมีอารมณ์ขันว่า เจ้าชายวิลเลียม พระโอรสองค์ใหญ่คือพ่อเฒ่าตัวน้อยผู้เฉลียวฉลาดของพระองค์ ส่วนเจ้าชายแฮร์รี พระโอรสองค์เล็กเป็นคนซน ๆ เหมือนกับพระองค์
เมื่อย่างเข้าปีที่ห้า ชีวิตคู่ของเจ้าชายฟ้าชายชาลส์และเจ้าหญิงไดอานาเริ่มแสดงให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันและช่องว่างระหว่างวัย ด้วยความที่ทั้งสองพระองค์มีพระชันษาห่างกันถึง 12 ปี[52]
ในปี 1986 ไดอานาทรงเริ่มความสัมพันธ์นอกสมรสกับ เจมส์ ฮิววิตต์ อดีตครูสอนขี่ม้าของพระองค์ ส่วนเจ้าฟ้าชายชาลส์ทรงกลับไปคบหากับ คามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์ อดีตคนรักของพระองค์[53] และในเวลานั้นเอง มีรายงานข่าวลือเรื่องที่ว่าเจมส์ ฮิววิตต์ คือบิดาที่แท้จริงของเจ้าชายแฮร์รี เนื่องจากเจ้าชายทรงมีลักษณะทางกายภาพที่คล้ายคลึงกับฮิววิตต์หลายอย่าง แต่อย่างไรก็ตาม ฮิววิตต์และบุคคลผู้ที่ใกล้ชิดไดอานาได้ออกมาปฏิเสธข่าวลือนี้อยู่บ่อยครั้ง และมีหลักฐานสำคัญที่เชื่อได้ว่า เจ้าหญิงได้มีพระประสูติกาลเจ้าชายแฮร์รีก่อนหน้าที่จะทรงมีความสัมพันธ์กับฮิววิตต์ถึงสองปี[54][55]
ราวๆ ปี 1987 รอยร้าวในชีวิตคู่ของพระองค์เริ่มเผยให้เห็นชัดเจน จากท่าทีห่างเหินเย็นชาและความระทมทุกข์ของเจ้าชายและเจ้าหญิง ได้กลายเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนตีแผ่นำเสนอข่าว[56][57]
หนังสือ Diana: Her True Story (ชีวิตจริงของไดอานา) เรียบเรียงโดยแอนดรูว์ มอร์ตัน ซึ่งวางจำหน่ายในปี 1992 ได้ให้ข้อมูลว่า ไดอานาเผชิญหน้ากับคามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์ ชู้รักของพระสวามี[58][59] ที่งานเลี้ยงวันเกิดของน้องสาวของคามิลลาเมื่อปี 1989 ทำให้ไดอานาไม่มีความสุขในชีวิตคู่ จนพยายามที่จะปลิดชีพพระองค์เอง หนังสือเล่มนี้ยิ่งจุดชนวนความสนใจของสาธารณชนจนสื่อรุมแย่งชิงกันนำเสนอเรื่องส่วนพระองค์และชีวิตคู่ที่ล้มเหลว ย้อนไปในปี 1991 เจมส์ โคลเธิสท์ บันทึกเสียงการสัมภาษณ์ไดอานาอย่างลับๆ โดยพระองค์ได้ทรงเล่าถึงปัญหาชีวิตคู่ของพระองค์เองจนหมดเปลือก เทปบันทึกเสียงนี้เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่มอร์ตันนำไปใช้เขียนหนังสือเล่มดังกล่าว[60][61] แม้พระองค์จะทรงปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในหนังสือของมอร์ตัน แต่เป็นที่รับรู้กันว่า ไดอานาทรงเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนในฉบับปรับปรุง ที่ตีพิมพ์อีกครั้งในชื่อใหม่ว่า “Diana: Her True Story in Her Own Words”[62]
ในเวลาต่อมา สมเด็จพระราชินีนาถฯ และเจ้าชายฟิลิป มีพระราชดำรัสสั่งให้เจ้าฟ้าชายชาลส์และไดอานาเข้าเฝ้าฯ เพื่อปรับความเข้าใจกันและแก้ปัญหาชีวิตคู่ของทั้งสอง แต่ความพยายามนี้ไม่เป็นผลสำเร็จ[63] เจ้าชายฟิลิปทรงมีลายพระหัตถ์ถึงไดอานา โดยมีเนื้อหาแสดงถึงความไม่พอพระทัยต่อการนอกใจกันของทั้งพระโอรสและพระสุณิสา และทรงร้องขอให้ไดอานาไตร่ตรองการกระทำนี้ด้วยมุมมองของอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน[64] ไดอานาทรงรู้สึกว่าพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ค่อนข้างรุนแรง แต่ก็ทรงยอมรับถึงความตั้งใจของเจ้าชายฟิลิปที่ทรงพยายามจะแก้ไขปัญหาชีวิตคู่ของพระองค์[65] พระสหายของไดอานากล่าวว่า เจ้าชายฟิลิปและเจ้าหญิงไดอานาทรงมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยจะราบรื่น[66][67] แต่หลายฝ่ายเห็นว่า หลักฐานที่ทั้งสองพระองค์ทรงส่งลายพระหัตถ์ไปมาถึงกันอยู่เป็นประจำ จึงทำให้เชื่อได้ว่าไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างพระองค์กับเจ้าชายฟิลิป[68] อีกทั้งเจ้าชายฟิลิปยังทรงออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาที่พระองค์ทรงใช้ถ้อยคำรุนแรงกับพระสุณิสาอีกด้วย[69]
ระหว่างปี 1992 ถึง 1993 เทปบันทึกเสียงสนทนาโทรศัพท์ของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์กับบุคคลอื่นถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ ส่งผลร้ายต่อภาพลักษณ์ชีวิตคู่ของของพระองค์[70]
เดือนสิงหาคม 1992 หนังสือพิมพ์ เดอะซัน เผยแพร่เนื้อหาจากเทปบันทึกเสียงการสนทนาของไดอานากับชายคนรัก เจมส์ กิลบี ผ่านบริการโทรศัพท์สายด่วน และได้ตีพิมพ์ข้อความถอดเทปภายในเดือนเดียวกันนั้น[18] กรณีอื้อฉาวนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ “สควิดจีเกต” หรือ “ไดอานาเกต”
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 1992 มีการตีพิมพ์ข้อความจากเทปบันทึกเสียงสนทนาของเจ้าฟ้าชายชาลส์กับคามิลลา ในหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวและเรื่องวาบหวิว เป็นที่รู้จักกันในสื่อว่า “คามิลลาเกต”[71][72]
เดือนธันวาคม 1992 นายกรัฐมนตรีจอห์น เมเจอร์ แถลงเรื่องการแยกกันอยู่ของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ต่อสภาล่าง[73]
ระหว่างปี 1992 ถึง 1993 ไดอานาทรงจ้าง ปีเตอร์ เซทเทเลน โค้ชเสียง เพื่อพัฒนาทักษะการพูดในที่สาธารณะของพระองค์[74] จากเทปวิดีโอที่บันทึกในปี 1992 ไดอานาทรงตรัสว่าพระองค์ตกหลุมรักบุคคลผู้หนึ่งอย่างมากตั้งแต่ปี 1984 ถึง 1986 ซึ่งอยู่แวดล้อมพระองค์[75][76] เชื่อกันว่า พระองค์ทรงหมายถึง บาร์รี มานนาคี[77] ราชองครักษ์ของพระองค์ ซึ่งถูกย้ายตำแหน่งจากตำแหน่งราชองค์รักษ์ไปยังหน่วยอื่นเมื่อปี 1986 เนื่องจากมีข้อกังวลเรื่องความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมระหว่างเขากับเจ้าหญิง[78][79] และเจ้าหญิงทรงตรัสในคลิปวิดีโอว่า มานนาคีถูกย้ายไปเพราะมีผู้สงสัยว่าเขามีความสัมพันธ์กับพระองค์[80] และเพนนี จูเนอร์ ระบุในหนังสือของเธอว่า ไดอานาและบาร์รีมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวเป็นเรื่องจริง[81] แต่พระสหายของเจ้าหญิงปฏิเสธคำกล่าวอ้างนี้ว่าไม่เป็นความจริง[82] ในเทปวิดีโอต่อมา พระองค์ทรงแสดงความรู้สึกต่อมานนาคี และเต็มใจที่สละชีวิตของพระองค์เพื่อเขา พระองค์ทรงกล่าวยกย่องเขาว่าเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของพระองค์ และปฏิเสธว่าไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับมานนาคี[83] โดยเจ้าหญิงยังทรงวิจารณ์การกระทำของพระสวามีด้วย โดยกล่าวเจ้าชายชาลส์ทำให้พระองค์รู้สึกไม่มีคุณค่าพอในทุกทาง เมื่อใดที่ทรงสบายพระทัย พระสวามีจะทรงทำให้พระองค์กลับมารู้สึกแย่อีก[84][85]
เจ้าหญิงทรงกล่าวโทษคามิลลาว่าเป็นตัวปัญหาในชีวิตคู่ของพระองค์ แต่พระองค์ทรงเริ่มเกิดความสงสัยว่าเจ้าฟ้าชายชาลส์ยังมีสัมพันธ์กับหญิงอื่นอีก เดือนตุลาคม 1993 พระองค์ทรงส่งลายพระหัตถ์ถึงมหาดเล็ก พอล เบอร์เรล ทรงอ้างว่าพระสวามีกำลังคบหากับ ทิกกี เล็กก์-เบิร์ก อดีตพระพี่เลี้ยงที่เจ้าชายชาลส์ทรงจ้างไว้อภิบาลพระโอรส และกำลังวางแผนสังหารพระองค์เพื่อสมรสใหม่กับสตรีผู้นี้[86][87] ซึ่งไดอานาทรงไม่พอพระทัยที่พระโอรสทรงสนิทสนมกับพระพี่เลี้ยงของเจ้าชาย[88]
ในวันที่ 29 มิถุนายน 1994 เจ้าชายชาลส์ทรงยอมรับเรื่องความสัมพันธ์นอกสมรสกับคามิลลาต่อสาธารณชนในรายการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ โดยทรงกล่าวว่า พระองค์ทรงกลับไปคบหากับคามิลลาอีกครั้งหลังจากที่ชีวิตคู่กับไดอานาแตกสลายจนไม่สามารถกลับคืนมาได้[89][90]
หนังสือ Princess in Love ที่วางจำหน่ายในปี 1994 อ้างถึงรายละเอียดสัมพันธ์รักระหว่างเจ้าหญิงกับฮิววิตต์ โดยฮิววิตต์เป็นผู้ให้ข้อมูลด้วยตัวเอง ซึ่งมีรายงานว่าพระองค์ทรงไม่พอพระทัยและกริ้วที่จะมีการวางจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ยังอ้างว่า ไดอานาทรงยินยอมให้ฮิววิตต์เป็นผู้ให้ข้อมูลหลักสำหรับเขียนหนังสือ[91] เพื่อจะได้เลี่ยงไม่เขียนเกี่ยวกับเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับฮิววิตต์ในหนังสือเล่มที่สองของมอร์ตัน
หนังสือแท็บลอยด์ News of the World ยังได้รายงานข่าวว่า ไดอานามีความสัมพันธ์กับโอลิเวอร์ ฮอร์ พ่อค้าผลงานศิลปะที่แต่งงานแล้ว[92][93] แต่ไดอานาทรงปฏิเสธข่าวลือดังกล่าวและยืนยันว่าเขาเป็นเพียงพระสหายคนหนึ่งของพระองค์เท่านั้น[94][95] นอกจากนี้ จากการรายงานของสื่อ พระองค์ยังทรงถูกโยงว่ามีความสัมพันธ์กับ วิลล์ คาร์ลิง นักกีฬารักบี้[96][97] และทีโอดอร์ เจ. ฟอร์สต์แมนน์[98][99] นักลงทุนชาวอเมริกัน แต่รายงานดังกล่าวยังคงไม่ได้รับการยืนยันหรือพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องจริง[100][101]
มาร์ติน บาชีร์ ได้รับพระอนุญาตจากเจ้าหญิงแห่งเวลส์เพื่อขอสัมภาษณ์พระองค์ในรายการ พาโนรามา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในกระแส และเทปการสัมภาษณ์เจ้าหญิงออกอากาศเมื่อ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1995[102]
ทรงตรัสถึงเจมส์ ฮิววิตต์ว่า "ใช่ ฉันเคยหลงรักเขา ใช่ฉันเคยหลงรักเขา แต่เขาทำให้ฉันเสียหายอย่างที่สุด” ทรงตรัสถึงความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายชาลส์กับนางคามิลลาว่า “มีคนสามคนในชีวิตคู่และเรารู้สึกอึดอัด” ทรงตรัสถึงพระองค์ในอนาคตว่า “ฉันปรารถนาที่จะเป็นราชินีในใจของประชาชน” และทรงแสดงความกังวลต่อความเหมาะสมในการขึ้นครองราชย์ของพระสวามีว่า “หน้าที่ [ในฐานะประมุข] เป็นภารกิจสำคัญอย่างยิ่ง และมาพร้อมกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากมาย และฉันไม่รู้ว่าเจ้าชายจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับตำแหน่งพระประมุขได้หรือไม่”[102]
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1995 สำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์ เรื่อง สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ทรงแนะนำให้พระโอรสและพระสุณิสาทรงหย่าขาดกัน[103][104] สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าพระราชหัตถเลขาและความเคลื่อนไหวของสมเด็จพระราชินีนาถเกิดขึ้นหลังจากพระองค์ได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีและคณะองคมนตรีชั้นผู้ใหญ่หลังใช้เวลาปรึกษาหารือนาน 2 สัปดาห์[105] และในเวลาต่อมาไม่นานมีเอกสารแถลงการณ์ยินยอมหย่าร้างจากเจ้าชายแห่งเวลส์
กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996 เจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงยอมรับข้อตกลงการหย่าร้างหลังการเจรจากับเจ้าชายและตัวแทนของสมเด็จพระราชินีนาถ[106] แต่เกิดความวุ่นวายภายขึ้นในสำนักพระราชวังบักกิงแฮม เมื่อไดอานาต้องการให้มีการประกาศยินยอมหย่าพร้อมกับชี้แจงข้อตกลงต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ
กรกฎาคม ค.ศ. 1996 เจ้าหญิงและเจ้าชายยอมรับข้อตกลงในการหย่าร้าง[107]
28 สิงหาคม ค.ศ. 1996 การหย่าร้างมีผลสมบูรณ์[108] และไม่กี่วันก่อนมีคำสั่งศาลให้ทั้งสองพระองค์หย่าขาด สำนักพระราชวังบักกิงแฮมเผยแพร่เอกสารสิทธิระบุว่า ไดอานาจะต้องสูญเสียฐานันดรศักดิ์ชั้นเจ้าฟ้า (Her Royal Highness) เนื่องจากมิได้เป็นเจ้าหญิงพระชายาในเจ้าชายแห่งเวลส์อีกต่อไป และให้ใช้พระนาม “ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์” แต่เพียงเท่านั้น[109] มีการรายงานเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระราชินีนาถทรงตัดสินพระทัยให้คงไว้ซึ่งพระอิสริยศ “เจ้าหญิงแห่งเวลส์” ท้ายพระนามของหลังการหย่าร้าง แต่เจ้าชายชาลส์ทรงคัดค้านและเรียกร้องให้ริบคืนพระอิสริยศดังกล่าวจากอดีตพระชายา
เนื่องจากเป็นพระมารดาของเจ้าชายวิลเลียม ผู้ซึ่งเป็นรัชทายาทอันดับสองและมีความเป็นไปได้ที่จะได้ทรงขึ้นครองราชย์ในภายภาคหน้า จึงมีความเห็นพ้องกันภายในราชสำนักว่า หลังทรงหย่าร้าง ควรให้ไดอานาดำรงพระอิสริยศเช่นเดียวกับที่ทรงเคยได้รับระหว่างการเป็นพระชายาในเจ้าชายแห่งเวลส์ เจ้าชายวิลเลียมเคยตรัสปลอบใจพระมารดาครั้งหนึ่งว่า “ไม่เป็นไรครับ ผมจะคืนยศให้แม่เองในวันที่ผมได้เป็นพระราชา”
ทินา บราวน์ ระบุว่าก่อนหน้าการหย่าร้างเพียง 1 ปี เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ได้ทรงส่งจดหมายส่วนพระองค์เพื่อเตือนพระสุณิสา ว่า “ถ้าเธอไม่ประพฤติตัวให้ดี เราจะริบยศเธอคืน” และเจ้าหญิงทรงเขียนตอบกลับพระสัสุระว่า “พระยศของหม่อมฉันเก่าแก่กว่าของท่าน ฟิลิป”[107]
ไดอานาได้รับเงินจำนวนมหาศาลเพื่อดำรงชีพจากเจ้าชายชาลส์หลังการหย่าร้างจำนวน 17 ล้านปอนด์ พร้อมเงินรายปีจำนวน 400,000 ปอนด์ต่อปี (15.65 ล้านบาทต่อปี–อัตราแลกเปลี่ยน สิงหาคม ค.ศ. 1996) ทั้งสองพระองค์ร่วมลงนามในข้อตกลงซึ่งมีเงื่อนไขเพิ่มเติมพิเศษ ห้ามมิให้ทั้งสองฝ่ายนำรายละเอียดต่าง ๆ ในระหว่างชีวิตคู่จนถึงการหย่าร้างไปเผยแพร่ไม่ว่าในกรณีใด ๆ[110][107]
หลังการหย่าร้างไม่นาน ไดอานาทรงกล่าวหา ทิกกี เล็กจ์-เบิร์ก ผู้ช่วยของเจ้าชายชาลส์ ว่า ลอบไปทำแท้งหลังตั้งท้องกับเจ้าชาย โดยเล็กจ์-เบิร์กไม่พอใจอย่างมากและได้เรียกร้องพระองค์ทรงกล่าวคำขอโทษ [111][112] ต่อมา แพทริก เจฟสัน เลขานุการของไดอานา ขอลาออกหลังมีการกล่าวหาเกิดขึ้น และได้เขียนข้อความพาดพิงเจ้าหญิงไว้ว่า “ทรงสำราญพระทัยจากการให้ร้ายเล็กจ์-เบิร์กว่าหล่อนแอบไปทำแท้ง”[113][114]
ไดอานาทรงมีความขัดแย้งกับพระมารดาอย่างรุนแรงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1997 เมื่อฟรานเซสให้สัมภาษณ์กับนิตยสารฮัลโหล ว่า เธอพอใจจากการถูกเรียกคืนอิสริยศหลังหย่าร้างกับเจ้าชายชาลส์ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทั้งสองต่างไม่ยอมพูดจาหรือติดต่อกันอีกเลยจนกระทั่งไดอานาสิ้นพระชนม์[115]
สำนักพระราชวังบักกิงแฮมชี้แจงว่า ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ สิ้นพระชนม์ในขณะที่ยังเป็นสมาชิกราชวงศ์ เนื่องจากเป็นพระมารดาของรัชทายาทอันดับที่สองและสาม และข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันจาก บารอนเนส บัทเลอร์-สลอส เจ้าหน้าที่โคโรเนอร์แห่งราชสำนัก ก่อนการพิจารณาคดีการสิ้นพระชนม์ของไดอานาเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 2007 โดยกล่าวว่า "ดิฉันรู้สึกพึงพอใจที่ ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ยังคงสถานะเป็นสมาชิกราชวงศ์อยู่ แม้ว่าจะสิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ตาม”[116] และความเป็นสมาชิกราชวงศ์ของพระองค์ได้รับการรับรองอีกครั้งโดยคณะลูกขุนแห่งศาลสูงไฮคอร์ท ซึ่งเป็นผู้กล่าวรับคำร้องพิจารณาคดีมรณกรรมของไดอานาและโดดีในฝรั่งเศส ดังนี้ “การพิจารณาคดีครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตสองคน ผู้หนึ่งเป็นสมาชิกแห่งพระราชวงศ์ (ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์) แต่อีกผู้หนึ่งไม่ใช่ (โดดี อัลฟาเยด) ”[117]
พระกรณียกิจอย่างเป็นการครั้งแรกของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ คือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเวลส์พร้อมกับเจ้าชายแห่งเวลส์เป็นเวลา 3 วัน ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1981[21] และเสด็จไปร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาอังกฤษเป็นครั้งแรกเมื่อ 4 พฤศจิกายน ในปีเดียวกัน[118] ต่อมาในวันที่ 18 พฤศจิกายนในปีเดียวกัน พระองค์ทรงเป็นประธานเปิดไฟต้นคริสต์มาสบนถนนรีเจนต์ ซึ่งถือว่าเป็นการเสด็จประกอบพระกรณียกิจครั้งแรกที่ไม่ได้เสด็จร่วมพระสวามีและพระบรมวงศานุวงศ์[119]
เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1982 เสด็จร่วมทอดพระเนตรการสวนสนามทหารกองเกียรติยศในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชินีนาถ และเจ้าหญิงทรงปรากฏพระองค์บนระเบียงมุขพระราชวังบักกิงแฮมต่อประชาชนที่มาเข้าเฝ้า[21]และใน ค.ศ. 1982 เจ้าหญิงไดอานาเสด็จเยือนต่างประเทศโดยเพียงพระองค์เดียวเป็นครั้งแรก เพื่อเสด็จไปทรงร่วมพระราชพิธีพระศพของเจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก ต่อมาในปีเดียวกัน เสด็จพร้อมด้วยเจ้าชายชาลส์ไปในการเสด็จเยือนเนเธอร์แลนด์ และเจ้าหญิงทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Order of the Crown จากสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์[120]
ใน ค.ศ. 1983 เจ้าชายแห่งเวลส์และเจ้าหญิงแห่งเวลส์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ พร้อมด้วยเจ้าชายวิลเลียม และทั้งสามพระองค์ทรงได้รับการต้อนรับจากตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองมาวรีในนิวซีแลนด์[21] ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ค.ศ. 1983 เจ้าชายและเจ้าหญิงเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศแคนาดา ในการเสด็จฯ เยือนครั้งนี้ ทรงร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน 1983 ที่เมืองเอ็ดมันตัน และเสด็จพระราชดำเนินไปเกาะนิวฟันด์แลนด์เพื่อรำลึกการครบรอบ 400 ปีที่อังกฤษประกาศกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนแห่งนี้[121]
ในเมษายน ค.ศ. 1985 เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ พร้อมด้วยเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี[21] เสด็จฯ เยือนประเทศอิตาลี และทรงได้พบกับประธานาธิบดีอาเลสซานโดร เปอร์ตินี และเสด็จพระราชดำเนินไปสันตะสำนักแห่งโรม และทรงเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2[122] ในพฤศจิกายน ค.ศ. 1985 เจ้าชายและเจ้าหญิงเสด็จฯ เยือนสหรัฐ ณ ทำเนียบขาว ทรงเข้าพบโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดี และแนนซี เรแกน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง[21]
ใน ค.ศ. 1986 เจ้าหญิงและเจ้าชายแห่งเวลส์เสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, สเปน และเสด็จไปทอดพระเนตรงานเวิลด์เอกซ์โป 1986 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา[121]
ใน ค.ศ. 1988 เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์เสด็จฯ เยือนออสเตรเลียเป็นเวลา 10 วัน และทรงเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองวันชาติออสเตรเลียครบรอบ 200 ปี[21][123]
ในระหว่างวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1988 เจ้าหญิงและเจ้าชายแห่งเวลส์เสด็จฯ เยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะ เพื่อทรงร่วมถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา [124]
ในกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1989 เจ้าหญิงเสด็จฯ เยือนนครนิวยอร์ก สหรัฐ และในระหว่างการเสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลฮาร์เลม และทรงสร้างความประหลาดใจแก่สาธารณชนเมื่อทรงโอบกอดเด็กอายุ 7 ขวบคนหนึ่งซึ่งป่วยด้วยโรคเอดส์[125]
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1990 เจ้าชายชาลส์และเจ้าหญิงไดอานาเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไนจีเรียและแคเมอรูน และทรงร่วมเสวยพระกระยาหารค่ำที่ประธานาธิบดีแห่งแคเมอรูนจัดเลี้ยงถวายที่กรุงยาอุนเด[126] โดยพระกรณียกิจหลักในการเสด็จฯ เยือนแคเมอรูนครั้งนี้คือ การเสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลและเยี่ยมชมโครงการพัฒนาสตรี[126] ในพฤษภาคม ค.ศ. 1990 เจ้าชายชาลส์และเจ้าหญิงไดอานาเสด็จฯ เยือนประเทศฮังการีเป็นเวลา 4 วัน[125][127] ซึ่งถือได้ว่าเจ้าชายและเจ้าหญิงเป็นสมาชิกราชวงศ์สองพระองค์แรกที่เสด็จฯ เยือนอดีตรัฐสมาชิกในกติกาสัญญาวอร์ซอ[125] ทั้งสองได้ร่วมงานเลี้ยงพระยาหารค่ำ ซึ่งจัดถวายโดยประธานาธิบดีรักษาการ อาร์พาร์ด กอนทส์ และเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงแฟชันที่พิพิธศิลปะประยุกต์ในกรุงบูดาเปสต์[127]
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1990 เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ[21][128]
เพื่อเป็นการส่งเสริมขวัญกำลังใจให้แก่หน่วยกำลังพลที่ปฏิบัติงานในสงครามอ่าวเปอร์เซีย เจ้าหญิงแห่งเวลส์จึงเสด็จฯ เยือนประเทศเยอรมนีในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1990 เพื่อทรงพบกับครอบครัวทหารที่เข้าร่วมสงคราม[125] และไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เสด็จฯ เยือนเยอรมนีอีกครั้งในเดือนมกราคม ค.ศ. 1991 เพื่อเสด็จเยี่ยมฐานบินเบรอเกน และทรงเขียนจดหมายให้กำลังเพื่อตีพิมพ์ในนิตยสารทางการทหาร ได้แก่ Soldier, Navy News และ RAF News[125]
ในกันยายน ค.ศ. 1991 เจ้าหญิงเสด็จฯ เยือนปากีสถานเพียงพระองค์เดียว และร่วมเสด็จฯ เยือนประเทศบราซิลพร้อมกับเจ้าชายชาลส์[129] ระหว่างการเสด็จฯ เยือนบราซิล เจ้าหญิงเสด็จไปที่องค์กรการกุศลที่ช่วยเหลือคนไร้บ้านและเยาวชนเร่ร่อน[129]
การเสด็จฯ เยือนต่างประเทศครั้งสุดท้ายของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ คือ การเสด็จฯ เยือนประเทศอินเดีย เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1992 และประเทศเกาหลีใต้ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2535[21] ในการเสด็จฯ เยือนอินเดียคราวนั้น เจ้าหญิงได้เสด็จไปเยี่ยมแม่ชีเทเรซา ในสถานสงเคราะห์เมืองโกลกาตา และทั้งสองจึงได้เริ่มติดต่อกันอย่างไม่เป็นทางการนับแต่นั้นมา[130]
ในพฤษภาคม พ.ศ. 2535 เจ้าหญิงเสด็จฯ เยือนประเทศอียิปต์ และทรงเข้าพบกับประธานาธิบดีฮุสนี มุบาร็อก[131]
แม้ว่าในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1993 ทรงประกาศถอนตัวจากกิจกรรมสาธารณะอย่างไม่มีกำหนด แต่เจ้าหญิงไดอานาทรงยืนยันว่าจะยังคงปรากฏพระองค์ในกิจกรรมการกุศลอยู่บ้างเป็นครั้งคราว[21][125] ในฐานะที่ทรงดำรงตำแหน่งรองประธานสภากาชาดบริติช พระองค์ได้ทรงร่วมเป็นกำลังสำคัญในการจัดงานฉลองครบรอบ 125 ปี[125] สภากาชาดบริติช ต่อมาสมเด็จพระราชินีนาถทรงส่งคำเชิญอย่างเป็นทางการให้เจ้าหญิงไดอานาทรงร่วมพิธีรำลึกวันดี-เดย์[21]
กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1995 เจ้าหญิงแห่งเวลส์เสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่น และได้ทรงเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ณ พระราชวังหลวงโตเกียว[128]
มิถุนายน ค.ศ. 1995 เจ้าหญิงไดอานาเสด็จฯ เยือนเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เพื่อทรงเข้าร่วมเทศกาลศิลปะเวนิสเบียนนาเล[132] พฤศจิกายน ค.ศ. 1995 เจ้าหญิงเสด็จฯ เยือนประเทศอาร์เจนตินา เป็นเวลา 4 วัน เพื่อร่วมงานการกุศล ทั้งนี้ได้เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วยโรงพยาบาลดอกเตอร์แองเจิล รอฟโฟ กรุงบัวโนสไอเรส[133]
ในระหว่างปี 1995-1997 พระองค์ได้เสด็จฯ เยือนอีกหลายประเทศ เช่น เบลเยียม เนปาล สวิตเซอร์แลนด์ ซิมบับเว บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา แองโกลา[21] และอื่น ๆ และระหว่างเวลา 4 ปีที่ทรงแยกกันอยู่กับเจ้าชายชาลส์ เจ้าหญิงเสด็จพระราชดำเนินไปร่วมพิธีใหญ่สำคัญ ๆ ในฐานะพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ เช่น พิธีรำลึกครบรอบ 50 ปี วันชัยในทวีปยุโรป ค.ศ. 1995 และพิธีรำลึกวันชัยเหนือญี่ปุ่น[21]
งานฉลองวันคล้ายวันประสูติปีที่ 36 ของพระองค์และเป็นครั้งสุดท้าย จัดขึ้นที่หอศิลป์เทต กรุงลอนดอน และยังตรงกับการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งหอศิลป์แห่งนี้อีกด้วย[21]
ใน ค.ศ. 1983 พระองค์ทรงตรัสถึงความกดดันในสถานะใหม่ของพระองค์กับ นายไบรอัน เพ็กฟอร์ด ผู้ว่าการรัฐนิวฟันด์แลนด์ ณ ขณะนั้น ว่า “ฉันรู้สึกว่าเป็นการยากมากเหลือเกินที่จะทนต่อความดันในการเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ แต่ฉันกำลังเรียนรู้เพื่อจะพร้อมรับมือกับหน้าที่นี้” [134]โดยในฐานะเจ้าหญิงแห่งเวลส์ สาธารณชนต่างคาดหวังให้พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนโรงพยาบาล โรงเรียน และสถานที่สำคัญต่าง ๆ ดังที่สมาชิกพระราชวงศ์ทรงให้การสนับสนุนช่วยเหลือสังคมในช่วงศตวรรษที่ 20
ไม่นานหลังทรงอภิเษกสมรส เจ้าหญิงทรงเริ่มปฏิบัติพระกรณียกิจด้านการกุศลเพิ่มมากขึ้น ใน ค.ศ. 1988 พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจจำนวน 191 ครั้ง[135] และเพิ่มขึ้นเป็น 397 ครั้งใน ปี 1991[136] เจ้าหญิงทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเหลือโครงการหรือองค์กรการกุศลที่เกี่ยวข้องกับโรคร้ายและสุขอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคเอดส์และโรคเรื้อน ซึ่งยังไม่มีสมาชิกราชวงศ์พระองค์ใดทรงปฏิบัติมาก่อน สตีเฟน ลี ผู้อำนวยการสถาบันควบคุมการระดมทุนเพื่อการกุศลแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวถึงพระองค์ว่า พระองค์ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลในการระดมทุนเพื่อการกุศลในศตวรรษที่ 20[137]
นอกจากพระกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยแล้ว เจ้าหญิงยังทรงขยายขอบเขตงานในอีกหลายด้าน เช่น การรณรงค์คุ้มครองสัตว์ และการรณรงค์ต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิด[138] พระองค์เคยดำรงตำแหน่งองค์อุปถัมภ์องค์กรการกุศลที่ให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้าน เยาวชน ผู้ติดยาเสพติด และผู้สูงอายุ ทรงดำรงตำแหน่งประธานโรงพยาบาลเด็กเกรทออร์มันด์สตรีทตั้งแต่ปี 1989 ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ เฮดเวย์ ซึ่งเป็นสมาคมเพื่อผู้ป่วยทางสมอง ตั้งแต่ปี 1991-1996[139][140] ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์พิพิธภัณฑ์เนเชอรัลฮิสทรี[139][141] และทรงทำหน้าที่ประธานสถาบันดุริยางค์ศิลป์แห่งลอนดอนในพระราชูปถัมภ์[111][142][139]
ใน ค.ศ. 1988 ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์สภากาชาดบริติชและทรงให้ความช่วยเหลือหน่วยงานย่อยของสภากาชาดบริติชในต่างประเทศ อีกทั้งทรงมักจะเสด็จไปเยี่ยมผู้ป่วยโรคร้ายและผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลรอยัลบรอมป์ตันเป็นประจำทุกสัปดาห์[125]
ใน ค.ศ. 1992 เจ้าหญิงทรงเป็นองค์อุปถัมภ์พระองค์แรกของโครงการเชสเตอร์ชายด์เบิร์ธแอพพีล ซึ่งเป็นโครงการด้านการกุศลที่ให้ความช่วยเหลือด้านการผดุงครรภ์[143] และทรงใช้ช่องทางต่าง ๆ เพื่อระดมทุนช่วยเหลือโครงการแห่งนี้จนได้รับเงินบริจาคจำนวนมากถึง 1 ล้านปอนด์ และทรงประทานพระอนุญาตให้นำพระอิสริยศส่วนหนึ่งของพระองค์ (เคานต์เตสแห่งเชสเตอร์) มาใช้ตั้งชื่อโครงการ[143]
ในมิถุนายน ค.ศ. 1995 เจ้าหญิงเสด็จฯ เยือนกรุงมอสโก และเสด็จฯ เยี่ยมโรงพยาบาลเด็กที่พระองค์ทรงเคยให้ความช่วยด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ และมีการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลอินเตอร์เนชันแนลเลโอนาร์โดไพรซ์แก่เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ซึ่งรางวัลนี้จะมอบให้เฉพาะแก่ผู้อุปถัมภ์และบุคคลที่มีความโดดเด่นในด้านศิลปะ การแพทย์ และกีฬา[138] ธันวาคม ค.ศ. 1995 เจ้าหญิงไดอานาทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลมนุษยธรรมแห่งปีจากองค์กรยูไนเต็ดเซรีบรัลพอลซี นครนิวยอร์ก จากการที่พระองค์ทรงให้การอุปถัมภ์องค์กรการสาธารณกุศลต่าง ๆ มากมาย[144][145][146]
ในตุลาคม ค.ศ. 1996 เจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองในการประชุมด้านสุขภาพ ซึ่งจัดการประชุมโดยศูนย์ปีโอมันซุ เมืองรีมีนี ประเทศอิตาลี[147]
หนึ่งวันหลังจากทรงหย่า ไดอานาทรงประกาศลาออกจากองค์กรการกุศลจำนวนกว่า 100 แห่ง เพื่อทรงทุ่มเทพระราชกิจกับ 6 องค์กรหลัก ได้แก่ มูลนิธิเซ็นเตอร์พอยท์ บริษัทอิงลิชเนชันแนลบัลเลต์ โรงพยาบาลเด็กเกรทออร์มันด์สตรีท พันธกิจเพื่อต่อสู้โรคเรื้อน กองทุนโลกเพื่อต่อสู้โรคเอดส์ และโรงพยาบาลรอยัลมาร์สเดน[148] แต่พระองค์ยังทรงปฏิบัติงานร่วมกับโครงการรณรงค์ต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิดแห่งสภากาชาดบริติช แม้ไม่ได้ทรงดำรงตำแหน่งองค์อุปถัมภ์อีกต่อไป[149][150]
ในพฤษภาคม ค.ศ. 1997 ไดอานาเสด็จฯ ไปเปิดศูนย์ริชาร์ด แอทเทนเบอเรอห์เพื่อผู้พิการและศิลปะ หลังจากตกลงรับคำเชิญของ ริชาร์ด แอทเทนเบอเรอห์[151]
ในมิถุนายน ค.ศ. 1997 ชุดราตรีและชุดสูทของไดอานาถูกนำออกประมูลโดยสถาบันคริสตีส์ในลอนดอนและนิวยอร์ก และรายได้จากการประมูลถูกนำไปบริจาคให้แก่องค์กรการกุศล[21]
พระกรณียกิจสุดท้ายอย่างเป็นทางการก่อนสิ้นพระชนม์ คือ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงพยาบาลนอร์ธวิกพาร์ก กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1997[21]
เจ้าหญิงไดอานาทรงเริ่มปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อช่วยเหลือและให้กำลังใจผู้ป่วยโรคเอดส์ตั้งแต่ ค.ศ. 1982[152] เป็นต้นมา ใน ค.ศ. 1989 เจ้าหญิงเสด็จฯ ไปทรงเปิดศูนย์บริการสุขภาพเพื่อผู้ป่วยโรคเอดส์แลนด์มาร์ก ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงลอนดอน[153][154] พระองค์ทรงไม่รังเกียจที่จะสัมผัสร่างกายผู้ป่วยเอดส์ ทั้งที่การแพทย์ในสมัยนั้นยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าโรคเอดส์สามารถติดต่อผ่านทางการสัมผัส[130][155][156] เจ้าหญิงจึงถือเป็นสมาชิกพระราชวงศ์อังกฤษพระองค์แรกที่ทรงสัมผัสผู้ป่วยโรคเอดส์[152] ทรงพยายามลบล้างความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคเอดส์ โดยทรงกุมมือผู้ป่วยโรคเอดส์คนหนึ่งในระหว่างเสด็จฯ เยี่ยมโรงพยาบาลเมื่อ ค.ศ. 1987 ทรงมีรับสั่งในเวลาต่อมาว่า “ผู้ป่วยเชื้อเอชไอวีไม่ได้น่ากลัวอย่างหลายคนคิด เราสามารถจับมือและโอบกอดพวกเขาได้ สวรรค์เท่านั้นที่ทรงรู้ว่าพวกเขาต้องการ ยิ่งกว่านั้น เรายังสามารถอยู่อาศัยในบ้านเดียวกันร่วมกับผู้ป่วยได้ ทำงานในสถานที่เดียวกันได้ ตลอดทั้งใช้สนามเด็กเล่นและของเล่นร่วมกันได้อีกด้วย”[125][157][158] เจ้าหญิงไดอานาทรงไม่พอทัยเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถทรงไม่โปรดให้พระองค์ทรงงานการกุศลเกี่ยวผู้ป่วยเอดส์ พร้อมทั้งทรงแนะนำให้เจ้าหญิงเลือกปฏิบัติพระราชกิจที่ “น่าอภิรมย์” มากกว่านี้[152]
ในตุลาคม ค.ศ. 1990 เจ้าหญิงเสด็จฯ ไปทรงเปิดแกรนด์มาส์เฮาส์ ซึ่งเป็นสถานสงเคราะห์เพื่อเยาวชนที่ป่วยด้วยโรคเอดส์ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา[159] และยังเคยเป็นองค์อุปถัมภ์กองทุนโลกเพื่อต่อสู้โรคเอดส์ ค.ศ. 1991 เจ้าหญิงเสด็จฯ ไปโรงพยาบาลมิดเดิลเซ็กส์ และได้ทรงกอดผู้ป่วยคนหนึ่งที่แผนกผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งกลายเป็นภาพข่าวโด่งดังในเวลาต่อมา ระหว่างที่ทรงให้การอุปถัมภ์องค์การเทิร์นนิงพอยท์[125] ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุข และใน ค.ศ. 1992 เจ้าหญิงทรงมีโอกาสเสด็จฯ ไปเยี่ยมชนโครงการของเทิร์นนิงพอยท์เพื่อผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและและผู้ป่วยเอดส์[160] ต่อมาทรงริเริ่มการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยเพื่อรักษาโรคเอดส์[18]
ในมีนาคม ค.ศ. 1997 เสด็จฯ เยือนประเทศแอฟริกาใต้ และทรงเข้าพบประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา[161][162] 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 แมนเดลามีถ้อยแถลงว่า กองทุนเนลสัน แมนเดลา เพื่อเด็กและเยาวชนจะร่วมงานภารกิจกับกองทุนอนุสรณ์ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคเอดส์อย่างรุนแรงในประเทศแอฟริกาใต้ โดยจะให้การช่วยเหลือผู้ป่วยและเยาวชนในที่ได้รับผลกระทบจากโรคร้ายนี้[163] และเขายังระบุว่า ไม่กี่เดือนก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ เจ้าหญิงทรงมีแผนที่จะผนวกสององค์กรเพื่อทำงานการกุศลด้านโรคเอดส์ร่วมกัน แมนเดลายังกล่าวถึงเจ้าหญิงผู้ล่วงลับว่า “เมื่อพระองค์ทรงสัมผัสร่างกายผู้ป่วยโรคเรื้อหรือทรงประทับบนเตียงร่วมกับผู้ป่วยเอดส์ชายรายหนึ่งพร้อมทรงกุมมือให้กำลังใจเขา พระองค์ได้เปลี่ยนแปลงความคิดสาธารณชนและเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยเหล่านั้นได้มีชีวิตอยู่ต่อ” แมนเดลายังกล่าวว่าเจ้าหญิงทรงใช้สถานะและชื่อเสียงของพระองค์เพื่อขจัดอคติที่มีต่อผู้ป่วยเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์[163][164]
พระองค์ทรงมีความสนใจด้านต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิดจากการที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรฮาโลทรัสต์ ซึ่งทำหน้าที่เก็บกู้ทุ่นระเบิดที่หลงเหลือในพื้นที่ที่เคยเกิดสงคราม[165][166] ในมกราคม ค.ศ. 1997 ภาพข่าวเจ้าหญิงในชุดเกราะและหน้ากากป้องกันแรงอัดระหว่างเสด็จฯ ไปเขตพื้นที่ทุ่นระเบิดในประเทศแองโกลา ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก[165][166] ระหว่างการเสด็จฯ เยือนแองโกลา แต่ขณะเดียวกับพระองค์ทรงถูกวิจารณ์ว่ากำลังเข้าไปแทรกแซงการเมืองและเป็น ”ตัวอันตราย”[167] ท่ามกลางกระแสวิจารณ์องค์กรฮาโลทรัสต์ได้ออกมาชี้แจงว่า พระกรณียกิจของไดอานากระตุ้นให้นานาชาติตระหนักถึงผลเสียหายร้ายแรงจากการใช้ทุ่นระเบิดและผู้ที่ได้บาดเจ็บจากอาวุธสงครามชนิดนี้[165][166]
ในมิถุนายน ค.ศ. 1997 พระองค์ทรงขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ระหว่างการประชุมเรื่องทุ่นระเบิด ซึ่งจัดขึ้น ณ สมาคมภูมิศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์ และเสด็จฯ ไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อร่วมรณรงค์โครงการต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิดของสภากาชาดอเมริกา[21] และในระหว่างวันที่ 7–10 สิงหาคม ค.ศ. 1997 เพียงไม่กี่วันก่อนจะสิ้นพระชนม์ พระองค์ได้เสด็จฯ เยือนประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เพื่อให้กำลังผู้ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิด [21][168][169][170] พระราชกิจการต่อต้านทุ่นระเบิดของพระองค์นั้นเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง โดยเห็นได้ชัดจากการที่นานาประเทศร่วมลงนามในสนธิสัญญาออตตาวา เพื่อการยกเลิกใช้ทุ่นระเบิดในภาวะสงคราม และต่อมาสภาสามัญชนแห่งรัฐสภาอังกฤษก็ได้ผ่านร่างกฎหมายต่อต้ารการใช้ทุ่นระเบิดเมื่อปี 1999[171]
แครอล เบลลามี ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า พื้นทุ่นระเบิดยังคงเป็นอันตรายต่อเด็กน้อยไร้เดียงสาทั่วโลก และเธอเสนอให้กลุ่มประเทศที่ผลิตและสะสมทุ่นระเบิดในคลังสรรพาวุธ ซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย เกาหลีเหนือ ปากีสถาน และรัสเซีย เข้าร่วมลงนามในสนธิสัญญาต่อต้านทุ่นระเบิด[172]
ปลายปี 1997 โครงการต่อต้านทุ่นระเบิดสากลที่พระองค์ทรงร่วมรณรงค์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบล และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ หลังจากที่สิ้นพระชนม์เพียงไม่กี่เดือน[173]
การเสด็จพระราชดำเนินไปสถาบันเฉพาะทางด้านโรงมะเร็งครั้งแรกอย่างเป็นทางการของพระองค์ คือการเสด็จฯ ไปโรงพยาบาลศูนย์มะเร็งรอยัลมาร์สเดน เอ็นเอชเอสฟันเดชันทรัสต์ กรุงลอนดอน ใน ค.ศ. 1985[174] และพระองค์ทรงมอบเงินจำนวนหนึ่งที่ได้จากการประมูลฉลองพระองค์เมื่อ ค.ศ. 1997 ให้แก่โรงพยาบาลแห่งนี้[174] ผู้จัดการกองทุนโรงพยาบาลรอยัลมาร์สเดนกล่าวถึงพระองค์ว่า “เจ้าหญิงทรงขจัดอคติและทัศนคติที่ไม่ดีของโรคร้าย เช่น โรคเอดส์ เชื้อเอชไอวี และโรคเรื้อน"[174] และทรงดำรงตำแหน่งประธานโรงพยาบาลศูนย์มะเร็งรอยัลมาร์สเดนตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1989[175][176][177] ในเวลาต่อมาเสด็จฯ มาเปิดแผนกผู้ป่วยมะเร็งเด็กวูล์ฟสันในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536[175]
ในมิถุนายน ค.ศ. 1996 เจ้าหญิงเสด็จฯ เยือนเมืองชิคาโกในฐานะประธานโรงพยาบาลรอยัลมาร์สเดน เพื่อทรงร่วมงานระดมทุนการกุศลและทรงจัดหาทุนได้มากถึง 1 ล้านปอนด์เพื่อการค้นคว้าวิจัยการรักษาโรงมะเร็ง[125] และในกันยายน ค.ศ. 1996 พระองค์ทรงตอบรับคำเชิญของแคเธอริน เกรแฮม และเสด็จฯ ไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อร่วมเสวยพระกระยาหารเช้าที่ทำเนียบขาว ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์นีนา ไฮด์ เพื่อการวิจัยมะเร็งทรวงอก[178] และพระองค์ยังเสด็จฯ ไปร่วมงานระดมทุนประจำปีสำหรับศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งนี้ด้วย ซึ่งมีสำนักพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน[18][179]
เจ้าหญิงเสด็จฯ ไปทรงเปิดมูลนิธิชิลเดรนวิธลูคีเมียอย่างเป็นทางการ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น มูลนิธิชิลเดรนวิธแคนเซอร์ยูเค) เพื่อเป็นการรำลึกถึงเยาวชนที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเมื่อปี 1988[180][181][182] ย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1987 ไม่กี่วันหลังจาก เจ้าหญิงทรงได้พบกับพ่อและแม่ของจีน[181][182] โอกอร์แมน เด็กหญิงชาวอังกฤษที่เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง การเสียชีวิตของจีนและพี่ชายของเธอในเวลาไล่เลี่ยกันสร้างความสะเทือนใจให้พระองค์เป็นอันมาก และทรงมอบความช่วยเหลือแก่ครอบครัวโอกอร์แมนเพื่อจัดตั้งมูลนิธิด้วย[180][181][182] มูลนิธิดังกล่าวมีพิธีเปิดอย่างทางการเมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1988 ที่โรงเรียนมัธยมมิลล์ฮิลล์ โดยพระองค์เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิด และทรงบริจาคเงินแก่มูลนิธิแห่งนี้จนกระทั่งทรงสิ้นพระชนม์[180][182]
ในพฤศจิกายน ค.ศ. 1989 เจ้าหญิงแห่งเวลส์เสด็จฯ เยี่ยมโรงพยาบาลผู้ป่วยโรคเรื้อนในอินโดนีเซีย[183][152] หลังจากนั้นไม่นานทรงให้การอุปถัมภ์พันธกิจเพื่อต่อสู้โรคเรื้อน ซึ่งองค์การกุศลที่ให้ความช่วยเหลือและการรักษาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อน และพระองค์ทรงสนับสนุนองค์การแห่งนี้จนสิ้นพระชนม์[148] นอกจากนี้เจ้าหญิงยังเสด็จฯ ไปโรงพยาบาลโรคเรื้อนในอีกหลายแห่งทั่วโลกในประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย เนปาล ซิมบับเว และไนจีเรีย[125][184] และทรงสัมผัสผู้ป่วยโรคเรื้อน ทั้งที่ ณ เวลานั้นผู้คนไม่กล้าแตะต้องตัวผู้ป่วยเพราะความเข้าใจที่ผิดว่าโรคเรื้อนสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส[125][183] พระองค์ทรงตรัสถึงการเสด็จเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อนว่า “ฉันคิดคำนึงอยู่ตลอดในเรื่องการสัมผัสตัวผู้ป่วยโรคเรื้อน จึงได้พยายามใช้วิธีอย่างง่าย ๆ เพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกว่ากำลังโดนหยามเหยียดหรือเป็นที่รังเกียจ"[184]
หลังจากสิ้นพระชนม์ ศูนย์สุขศึกษาไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ในเมืองนอยดา ประเทศอินเดีย มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2001 โดยศูนย์ดังกล่าวนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกเป็นพระเกียรติคุณของพระองค์ และเพื่อดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคเรื้อนและภาวะทุพพลภาพ ศูนย์แห่งนี้ได้รับเงินทุนก่อตั้งโดยกองทุนอนุสรณ์ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์[184]
เจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงเป็นผู้สนับสนุนหลักขององค์กรเซ็นเตอร์พอยท์มาตั้งแต่ปี 1992[185][186] องค์กรแห่งนี้ให้การช่วยจัดหาที่อยู่และช่วยเหลือคนไร้บ้านในอังกฤษ พระองค์ทรงให้กำลังใจแก่เยาวชนเร่ร่อนและทรงตรัสว่า “พวกเขาสมควรได้โอกาสเพื่อเริ่มต้นชีวิตที่ดีอีกสักครั้ง” [187]“พวกเรา ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ควรตระหนักว่า เยาวชนของเรา ผู้ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศนี้ สมควรได้รับโอกาสอีก”[187] เจ้าหญิงไดอานาทรงมักพาเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รีเสด็จเป็นการส่วนพระองค์เพื่อไปเยี่ยมศูนย์เซ็นเตอร์พอยท์[187][18] เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในศูนย์แห่งนี้เล่าถึงช่วงเวลานั้นว่า เยาวชนในศูนย์ทุกคนรู้สึกปลาบปลื้มใจอย่างมาก เพราะทุกครั้งพระองค์เสด็จฯ เจ้าหญิงทรงไม่เสแสร้งและไม่ถือพระองค์แต่อย่างใด[188] ปัจจุบันเจ้าชายวิลเลียมทรงดำรงตำแหน่งองค์อุปถัมภ์องค์การเซ็นเตอร์พอยท์[185]
เจ้าหญิงทรงให้การสนับสนุนมูลนิธิและองค์การกุศลที่ช่วยเหลือสังคมและให้บริการทางสุขภาพจิต เช่น รีเลตและเทิร์นนิงพอยท์[125] รีเลตเป็นองค์การก่อตั้งขึ้นใหม่ในปี 1987 จากเดิมเคยเป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตคู่ และเจ้าหญิงทรงให้ความอุปถัมภ์องค์การรีเลตมาตั้งแต่ ค.ศ. 1989[125]เทิร์นนิงพอยท์ คือ องค์การที่ดูแลด้านสาธารณสุขที่ให้การบำบัดช่วยเหลือแก่ผู้ติดยาเสพติดและแอลกอฮอล์ รวมทั้งผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต พระองค์ทรงเริ่มให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ ปี 1987[125] และได้เสด็จฯ มาเยี่ยมผู้เข้ารับการบำบัดที่องค์การแห่งนี้อยู่เป็นประจำ ทรงกล่าวสุนทรพจน์เมื่อ ค.ศ. 1990 ที่องค์การเทิร์นนิงพอยท์ ดังนี้ว่า "เราต้องใช้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์พูดจาหว่านล้อมสังคมที่หวาดกลัวให้ยอมรับบุคคล ผู้ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความวิกลจริตกลับเข้าสู่สังคม ตลอดจนผู้ที่มีความผิดปกติของระบบประสาทและอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ครั้งหนึ่งเคยถูกผลักไสให้พ้นไปจากสังคมสมัยวิกตอเรีย"[125]
แม้ว่าจะทรงประสบความยุ่งยากในการเดินทางไปประเทศกลุ่มมุสลิม แต่ภายในปีเดียวกัน พระองค์ก็ได้เสด็จฯ เยือนประเทศปากีสถาน เพื่อทรงเยี่ยมศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติดในกรุงลาฮอร์ เพื่อเป็นนัยบ่งบอกว่าการต่อต้านการใช้สารเสพติดคือหนึ่งในพระราชกิจหลัก[125]
หลังจากการหย่าร้าง ไดอานาได้รับอะพาร์ตเมนต์หมายเลข 8 และ 9 ทางปีกขวาด้านหลังพระราชวังเคนซิงตัน อพาร์ตเมนต์แห่งนี้ใช้เป็นที่พักอย่างเป็นการตั้งแต่การอภิเษกสมรสกับเจ้าชายชาลส์เมื่อ ค.ศ. 1981 เธอย้ายกองงานส่วนพระองค์มาที่พระราชวังเคนซิงตัน และยังได้พระบรมราชานุญาตให้ใช้สเตทอะพาร์ตเมนต์ในพระราชวังเซนต์เจมส์ได้เช่นกัน[107][189] นอกจากนี้ไดอานาจะยังมีสิทธิ์ในการยืมเครื่องประดับและอัญมณีแห่งราชวงศ์ ดังเช่นที่เคยทรงได้รับอภิสิทธิ์เช่นนี้ระหว่างดำรงพระอิสริยศเจ้าหญิงแห่งเวลส์ และยังสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินพระที่นั่งสำหรับพระราชวงศ์ของรัฐบาลอังกฤษได้ตามปกติ หากว่ามีพระกรณียกิจจำเป็นทั้งในสหราชอาณาจักรและในต่างประเทศ[107] แต่ในหนังสือซึ่งถูกวางจำหน่ายใน ค.ศ. 2003 เขียนโดย พอล เบอร์เรล อดีตมหาดเล็กคนสนิทของไดอานา อ้างว่า ในจดหมายลับส่วนพระองค์ของเจ้าหญิงได้เปิดเผยว่า น้องชายของพระองค์ ชาลส์ สเปนเซอร์ ห้ามไม่ให้พี่สาวเสด็จกลับไปพักที่คฤหาสน์อัลธอร์พตามความตั้งใจ[112]
ไดอานาคบหากับศัลยแพทย์โรคหัวใจชาวอังกฤษ-ปากีสถาน นายแพทย์ฮัสนัท ข่าน พระสหายหลายคนกล่าวถึงชายผู้นี้ว่า “รักแท้ของไดอานา”[190] และไดอานาเองกล่าวถึงเขาว่าเป็น “มิสเตอร์วอนเดอร์ฟูล”[191][192][193][194] เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1996 ไดอานาเดินทางเยือนกรุงลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน ตามคำเชิญจากอิมราน ข่าน ญาติของฮัสนัท ข่าน และได้พบกับครอบครัวของฮัสนัทอย่างเป็นการส่วนตัว[195][196] ข่านเป็นผู้ที่รักความเป็นส่วนตัวอย่างมากและความสัมพันธ์ระหว่างไดอานากับเขาเป็นไปในทางลับ โดยที่ไดอานาบอกปัดข่าวลือผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนเมื่อถูกถามในเรื่องความสัมพันธ์นี้ ความสัมพันธ์ของทั้งสองกินเวลายาวนานราว ๆ 2 ปี และจบลงอย่างคลุมเครือ[196][197] เนื่องจากไดอานาเคยตัดพ้อถึงความเสียใจที่เขาบอกเลิกพระองค์[190] แต่คำให้การของฮัสนัทในระหว่างพิจารณาคดีการสิ้นพระชนม์ เขาเล่าว่าไดอานาเป็นผู้บอกเลิกนี้ในกลาง ค.ศ. 1997[198] และพอล เบอร์เรล ก็ได้ยืนยันไปในทิศทางเดียวกันว่า เธอได้บอกเลิกกับเขาในเดือนกรกฎาคมปีนั้นเอง[66]
หนึ่งเดือนต่อมา ไดอานาได้พบกับโดดี อัลฟาเยด ลูกชายของมหาเศรษฐี โมฮัมเหม็ด อัลฟาเยด ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการท่องเที่ยวในช่วงลาพักร้อนให้กับเธอในปีนั้น[199] ไดอานาวางแผนที่จะพาพระโอรสเดินทางไปพักร้อนที่หมู่บ้านเศรษฐีแฮมป์ตัน บนเกาะลองไอส์แลนด์ รัฐนิวยอร์ก แต่เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยปฏิเสธแผนการนี้ หลังจากตัดสินใจเลื่อนการเดินทางเยือนประเทศไทย เธอตอบรับคำชวนของโดดีที่ร่วมเดินทางไปพักร้อนกับครอบครัวอัลฟาเยดที่ภาคใต้ของฝรั่งเศส ภายใต้การดูแลรักษาความปลอดภัยของครอบครัวอัลฟาเยด จึงทำให้หน่วยราชองครักษ์อนุญาตให้เธอพร้อมพระโอรสเดินทางไปพักร้อนที่ฝรั่งเศส และได้เดินทางท่องเที่ยวทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้วยเรือยอชท์หรูชื่อว่า “โจนิคัล” ที่โมฮัมเหม็ดซื้อมาเพื่อรับรอ
ในกลางดึกของคืนวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1997 ไดอานาประสบอุบัติเหตุในรถยนต์ที่อุโมงค์ลอดใต้สะพานปองต์เดอลัลมา ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ความรุนแรงทำให้นายโดดี อัลฟาเยด พระสหาย และนายอองรี ปอล ผู้จัดการฝ่ายความปลอดภัยของโรงแรมริตช์เสียชีวิตทันที ไดอานาได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1997 หลังจากทีมแพทย์ได้ทำการรักษาอย่างสุดความสามารถ ณ โรงพยาบาลปิเต-ซาลเปตริแยร์ กรุงปารีส
พระราชพิธีพระศพมีขึ้นในวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1997 ที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ และมีผู้รับชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธีในสหราชอาณาจักรมากถึง 32.1 ล้านคน ซึ่งเป็นหนึ่งในการถ่ายทอดสดที่มีผู้ชมมากที่สุดของประเทศ นอกจากนี้ยังมีผู้ติดตามรับชมพระราชพิธีนี้ทั่วทุกมุมโลกกว่าหลายร้อยล้านคน[200][201]
เจ้าหน้าที่พิพากษาฝรั่งเศสทำการสืบสวนคดีอุบัติเหตุนี้เบื้องต้น และสรุปว่าสาเหตุของอุบัติเหตุนี้ เป็นผลมาจากความประมาทของ อองรี ปอล ผู้ขับรถเมอร์เซเดสเบนซ์ในคืนนั้นที่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้เนื่องจากมีอาการมึนเมา [202] บิดาของโดดี นายโมฮัมเหม็ด อัล ฟาเยด เจ้ากิจการโรงแรมริทซ์ปารีส และเป็นนายจ้างของนายปอล[203] กล่าวอ้างว่า อุบัติเหตุนี้เป็นการปลงชีพไดอานา[204] ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยข่าวกรองเอ็มไอ 6 ของอังกฤษ และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ
มีการสืบสวนคดีอุบัติเหตุของไดอานาเป็นครั้งที่ 2 ในปีระหว่าง ค.ศ. 2004 และ ค.ศ. 2007-2008[205] ศาลอังกฤษพิพากษาว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นจากความประมาทร้ายแรงของอองรี ปอล ซึ่งขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงเพื่อหลบหนีการไล่ล่าช่างภาพปาปารัสซี[206] วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2551 คณะลูกขุนยืนตามคำพิพากษาเดิม ชี้ขาดว่าการสิ้นพระชนม์ของไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เกิดจากการกระทำโดยประมาทของนายอองรี ปอล
ภายหลังการตัดสินคดี นายโมฮัมเหม็ด ฟาเยด ประกาศวางมือจากต่อสู้คดีดังกล่าวที่กินเวลายืดเยื้อกว่า 10 ปี [207] โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นรักษาพระเกียรติของพระโอรสทั้งสองของไดอานา[208]
การเสียชีวิตของไดอานา ผู้ทรงเสน่ห์อย่างกะทันหันและไม่คาดคิด สร้างความโศกเศร้าสะเทือนใจไปทั่วโลก บุคคลสำคัญในหลายประเทศได้ส่งสาส์นแสดงความอาลัยมายังสหราชอาณาจักร ประชาชนทยอยนำช่อดอกไม้ เทียน การ์ดและจดหมายแสดงความอาลัยไปวางไว้หน้าประตูพระราชวังเคนซิงตัน เป็นเวลาต่อเนื่องกันนานหลายเดือน[209] เมื่อเครื่องบินอัญเชิญศพ พร้อมด้วยเจ้าชายชาลส์ อดีตพระสวามี และพี่สาวทั้งสองของไดอานา เดินทางถึงกรุงลอนดอน ในตอนบ่ายวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1997[210][211] และมีการนำศพไดอานาไปเก็บรักษาต่อที่ห้องเก็บศพแห่งหนึ่งภายในกรุงลอนดอน จากนั้นโลงศพจึงได้รับการประดิษฐาน ณ โบสถ์หลวงในพระราชวังเซนต์เจมส์[210]
พระราชพิธีพระศพจัดขึ้นภายในวิหารเวสต์มินสเตอร์เมื่อวันเสาร์ที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1997 และเมื่อเย็นวาน (5 กันยายน ค.ศ. 1997) สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชดำรัสแสดงความเสียพระราชหฤทัยต่อการสิ้นพระชนม์ของไดอานา ซึ่งถ่ายทอดสดสัญญาณภาพตรงจากพระราชวังบักกิงแฮม[21]
พระโอรสสองพระองค์ เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รีได้ทรงร่วมเสด็จตามขบวนพระศพพระมารดา พร้อมด้วยเจ้าชายชาลส์ อดีตพระสวามี เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินเบอระ อดีตพระสสุระ ชาลส์ สเปนเซอร์ เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 9 น้องชายของไดอานา พร้อมด้วยตัวแทนจากสมาชิกหน่วยงานมูลนิธิและองค์การกุศลที่ไดอานาทรงให้การอุปถัมภ์[21]
เอิร์ลสเปนเซอร์กล่าวถึงพี่สาวผู้ล่วงลับว่า “ไดอานาได้แสดงให้เห็นว่าในปีสุดท้ายของชีวิต เธอไม่จำเป็นต้องใช้ยศฐาบรรดาศักดิ์ใด ๆ มาสร้างมนต์เสน่ห์แสนพิเศษให้ตัวเธอ”[212]
เอลตัน จอห์น ได้ดัดแปลงเนื้อร้องเพลง Candle in the Wind สำหรับขับร้องประกอบเปียโนเป็นกรณีพิเศษในระหว่างช่วงหนึ่งของพิธีศพ ซึ่งเพลงนี้ถูกนำมาขับร้องสดในที่สาธารณะเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น และเพลง Candle in the Wind วางจำหน่ายเป็นซิงเกิลใน ค.ศ. 1997 และรายได้ทั้งหมดที่ได้จากการขายซิงเกิลนี้ถูกนำไปบริจาคให้แก่องค์การกุศลของไดอานา[212][213][214]
ในเวลาบ่ายของวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1997 ครอบครัวสเปนเซอร์ประกอบพิธีฝังศพภายในพื้นที่คฤหาสน์อัลธอร์พ ซึ่งเป็นบ้านประจำตระกูลสเปนเซอร์ โดยพิธีถูกจัดขึ้นอย่างเป็นการส่วนตัว มีเพียงญาติและผู้ใกล้ชิดที่ได้รับเชิญเท่านั้นเข้าร่วมพิธีฝังพระศพ ได้แก่ เจ้าชายชาลส์ อดีตพระสวามี, เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี พระโอรสทั้งสองพระองค์ของไดอานา นางฟรานเซส ชานด์-คิดด์ พระมารดา เลดี้ซาราห์ แมคคอร์เคอเดล และบารอนเนสเจน เฟลโลวส์ พี่สาว ชาลส์ สเปนเซอร์ เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 9 น้อง เพื่อสนิท และบาทหลวงผู้ประกอบพิธี[215]
ไดอานาอยู่ชุดเดรสแขนยาวสีดำสนิท ออกแบบและตัดเย็บโดยแคธรีน วอล์กเกอร์ ซึ่งชุดเดรสนี้พระองค์ทรงเลือกไว้ใช้ส่วนพระองค์เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน พระองค์บรรทมอยู่ในโลงพระศพ พระหัตถ์ทั้งสองกุมสร้อยประคำซึ่งเป็นของขวัญที่ทรงได้รับจากแม่ชีเทเรชาแห่งกัลกัตตา ผู้วายชนม์ในสัปดาห์เดียวกันกับพระองค์ พระศพได้รับการฝังบนเกาะกลางทะเลสาบรูปไข่ (52.283082°N 1.000278°W) ซึ่งตั้งอยู่ทางสวนป่าทิศตะวันออกเฉียงเหนือของคฤหาสน์[215]
กำลังพลจากกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบรักษาพระองค์ ในเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่อัญเชิญโลงพระศพไปยังหลุมพระศพบนเกาะกลางทะเลสาบ ก่อนหน้านี้พระญาติตั้งใจว่าจะทำพิธีบรรจุพระศพที่สุสานประจำตระกูล ณ โบสถ์ในเมืองเกรทบริงตัน แต่เมื่อเอิร์ลสเปนเซอร์ พระอนุชา พิจารณาเรื่องความปลอดภัยและผู้คนจำนวนมากที่ต้องการเดินทางมาเคารพพระศพ ดังนั้นจึงมีการตกลงกันภายในครอบครัวว่าจะฝังพระศพที่คฤหาสน์อัลธอร์พ ซึ่งครอบครัวสามารถดูแลรักษาได้สะดวก อีกทั้งพระโอรส และพระญาติยังสามารถเดินทางมาสุสานพระองค์ได้อย่างเป็นการส่วนตัว
ภายหลังการสิ้นพระชนม์ กองทุนอนุสรณ์ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการจัดการลิขสิทธิ์ภาพ ตราอาร์ม และสัญลักษณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไดอานา[216] ใน ค.ศ. 2001 เจ้าหน้าที่กองทุน นำโดย เลดี้ซาราห์ พระเชษฐภคินี ได้ฟ้องร้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์กับบริษัทแฟรงคลินมินท์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายตุ๊กตาไดอานา รวมทั้งจานและเครื่องประดับที่มีรูปพระองค์ปรากฏอยู่บนสินค้า ภายหลังจากที่ทางกองทุนปฏิเสธการให้สิทธิ์ใช้ภาพไดอานาแก่โรงกษาปณ์แห่งนี้[217][218][219]
การพิจารณีคดีละเมิดลิขสิทธิ์นี้ถูกนำขึ้นไต่สวนที่ศาลรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่การฟ้องร้องในกรณีที่เกี่ยวกับการนำภาพถ่ายบุคคลไปใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น โดยเจ้าของภาพถ่ายนั้นได้ถึงแก่ความตาย ฝ่ายโจทก์สามารถดำเนินคดีแทนผู้ตายได้ หากก่อนถึงแก่ความตาย ผู้เสียชีวิตได้พำนักอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นเวลารวมกัน 1 ปีขึ้นไป แต่ไดอานาไม่ทรงเข้าเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้ประทับอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียก่อนสิ้นพระชนม์ ฉะนั้นศาลจึงถือว่าการฟ้องร้องคดีครั้งนี้ กองทุนเป็นผู้ดำเนินคดีแทนในฐานะผู้จัดการมรดก เป็นเหตุให้ศาลไม่รับฟ้อง และกองทุนฯ แพ้คดีในที่สุด
ต่อมาแฟรงคลินมินท์เรียกร้องให้กองทุนอนุสรณ์ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ จ่ายค่าชดเชยทางกฎหมายเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 3 ล้านปอนด์ จนเป็นเหตุให้กองทุนไม่สามารถให้การสนับสนุนทางการเงินแก่องค์การกุศลอื่น ๆ ได้[217][218][219]
ต่อมาใน ค.ศ. 2003 แฟรงคลินมินท์ตัดสินใจฟ้องกลับกองทุนอนุสรณ์ฯ แต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2004 ทั้งสองฝ่ายตกลงยอมความในชั้นศาล โดยกองทุนอนุสรณ์ฯ ยอมจ่ายเงินค่าชดเชยจำนวน 13.5 ล้านปอนด์ ให้แก่บริษัทแห่งนี้ และให้กองทุนอนุสรณ์ฯ และแฟรงคลินมินท์สามารถนำเงินส่วนหนึ่งจากค่าชดเชยดังกล่าว ไปบริจาคให้แก่องค์การกุศลหรือนำไปใช้จ่ายเพื่อสาธารณประโยชน์ตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นสมควร[220]
13 กรกฎาคม ค.ศ. 2006 นิตยสารอิตาลี Chi ตีพิมพ์ภาพถ่ายไดอานาขณะทรงติดอยู่ภายในซากรถเมอร์เซเดสเบนซ์[221] แม้ว่าจะมีการขอร้องห้ามไม่ให้เผยแพร่ภาพดังกล่าวสู่สาธารณชน[222] ด้านบรรณาธิการนิตยสาร Chi ได้ออกมากล่าวปกป้องการตัดสินของกองบรรณาธิการ โดยอ้างว่า ตีพิมพ์ภาพดังกล่าวเนื่องจากยังไม่เคยได้รับการเผยแพร่ที่ใดมาก่อน และภาพเหล่านี้ไม่ได้เป็นการหมิ่นพระเกียรติแต่อย่างใด[222]
1 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี เป็นเจ้าภาพการจัดคอนเสิร์ตการกุศลเพื่อรำลึกถึงพระมารดา ณ เวมบลีย์สเตเดียม ซึ่งตรงกับคล้ายวันประสูติปีที่ 46 ชันษาของไดอานา
พิธีทางศาสนาเพื่อรำลึกถึงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ซึ่งเป็นวาระครบ 10 ปีของการสิ้นพระชนม์ ถูกจัดขึ้นเมื่อ 31 สิงหาคม ค.ศ. 2007 ณ โบสถ์การ์ดชาเพล ค่ายเวลลิงตัน กรุงลอนดอน มีสมาชิกพระราชวงศ์และพระประยูรญาติ สมาชิกจากตระกูลสเปนเซอร์ พระสหาย อดีตข้าราชบริพารและที่ปรึกษาในพระองค์ ตัวแทนจากองค์กรการกุศลของพระองค์ นักการเมือง เช่น กอร์ดอน บราวน์ โทนี แบลร์ และจอห์น เมเจอร์ ตลอดทั้งพระสหายจากแวดวงบันเทิง เช่น เดวิด ฟรอสต์ เอลตัน จอห์น และ คลิฟฟ์ ริชาร์ด
ภาพถ่ายส่วนพระองค์ระหว่างที่ยังเป็นวัยรุ่น ซึ่งกำลังนอนหนุนตักชายหนุ่มนิรนามผู้หนึ่ง โดยสันนิษฐานว่าอาจถูกบันทึกไว้เมื่อ ค.ศ. 1979-1980 และรอยดินสอเขียนไว้บนภาพว่า “ห้ามเผยแพร่” ภาพนี้อยู่ในคลังภาพของหนังสือพิมพ์เดลิมิเรอร์ และถูกนำออกประมูลที่ประเทศอังกฤษใน ค.ศ. 2013[223]
19 มีนาคม ค.ศ. 2013 ชุดราตรีจำนวน 10 ชุดของไดอานา รวมทั้งชุดราตรีกำมะหยี่สีน้ำเงินรัตติกาลที่พระองค์สวมใส่ไปร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่ทำเนียบขาว และทรงได้ร่วมเต้นรำกับนักแสดงฮอลลีวู้ด จอห์น ทราโวลตา (ต่อมาชุดราตรีนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ทราโวลตาเดรส) ถูกนำออกประมูลได้เงินจำนวน 800,000 ปอนด์[224]
เดือนมกราคม ค.ศ. 2017 จดหมายของไดอานาและสมาชิกพระราชวงศ์วินด์เซอร์ที่ทรงเขียนถึงมหาดเล็กพระราชวังบักกิงแฮม ถูกนำออกจำหน่ายในคอลเลกชัน “จดหมายส่วนตัวของมหาดเล็กผู้ซื่อสัตย์กับพระบรมศานุวงศ์” [225][226]จดหมายทั้ง 6 ฉบับของไดอานาส่วนใหญ่มีใจความกล่าวถึงพระจริยวัตรประจำวันของพระโอรสสองพระองค์ และสามารถขายได้เงินจำนวน 15,100 ปอนด์[225][226]
นิทรรศการ “Diana: Her Fashion Story” ซึ่งจัดแสดงฉลองพระองค์ชุดราตรีและชุดสูทที่เจ้าหญิงทรงสวมใส่จำนวน 25 ชุด และได้เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการที่พระราชวังเคนซิงตัน ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 เพื่อรำลึกการครบรอบ 20 ปีแห่งการสิ้นพระชนม์ เสื้อผ้าอาภรณ์ที่ทรงโปรดปรานเป็นผลงานออกแบบและตัดเย็บของแฟชันดีไซเนอร์ชื่อดังหลายคน เช่น แคทเธอรีน วอล์กเกอร์ และวิกเตอร์ เอเดลสไตน์[227][228] โดยนิทรรศการจะมีไปจนถึง ค.ศ. 2018[229][230]
พระอนุชา ชาลส์ สเปนเซอร์ เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 9 ได้จัดพิธีรำลึกครบรอบการสิ้นพระชนม์เป็นประจำทุกปีและมีการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้และภาพถ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับไดอานา ณ คฤหาสน์อัลธอร์พ บ้านประจำตระกูลสเปนเซอร์[231] นอกจากนี้แล้วยังมีการงานกิจกรรมต่าง ๆ โดยมูลนิธิรางวัลไดอานาเมโมเรียลอวอร์ด[232] เช่น การปรับปรุงออกแบบสวนเคนซิงตันการ์เดนส์ให้เป็นนัยสอดคล้องกับพระบุคลิกภาพและพระชนม์ชีพของไดอานา[227][228]
ไดอานาทรงเป็นหนึ่งในสมาชิกราชวงศ์อังกฤษที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ และพระองค์ทรงมีอิทธิพลต่อราชสำนักและพระราชวงศ์รุ่นหลัง[233][234] ตั้งแต่การประกาศหมั้นกับเจ้าชายแห่งเวลส์ใน ค.ศ. 1981 จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1997 ไดอานาคือบุคคลสำคัญของโลก และถือได้ว่าพระองค์เป็นสตรีที่ถูกถ่ายภาพมากที่สุดในโลก[18][235] พระองค์มีชื่อเสียงจากความเห็นอกเห็นใจผู้ตกทุกข์ได้ยาก[236] สไตล์การแต่งกาย บุคลิกทรงเสน่ห์ของพระองค์ พระราชกิจด้านกาารกุศลระดับโลกของพระองค์ และชีวิตสมรสอันขมขื่นกับเจ้าชายแห่งเวลส์ อดีตราชเลขานุการส่วนพระองค์กล่าวถึงพระองค์ว่า ทรงบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ ได้ดีเยี่ยมและมุ่งมั่นในการทรงงาน เจ้าชายชาลส์พระสวามีทรงไม่สามารถยอมรับความจริงได้ว่า ไดอานานั้นได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างล้นหลาม[237] แต่ความมุมานะของพระองค์สามารถแปรเปลี่ยนเป็นความเกรี้ยวกราว หากว่าทรงรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม[237]
พอล เบอร์เรล อดีตมหาดเล็กที่เคยถวายงานรับใช้พระองค์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ กล่าวว่าพระองค์ทรงเป็นนักคิดที่สุขุมและลึกซึ้ง[238] ภาพลักษณ์ของไดอานาต่อสาธารณชนคือการเป็นพระมารดาที่ทุ่มเทอุทิศพระองค์ให้แก่พระโอรส[18][239] และพระบุคลิกภาพของพระโอรสทั้งสองได้รับอิทธิพลมาจากพระบุคลิกภาพและพระจริยวัตรของเจ้าหญิงอย่างไม่ต้องสงสัย ในช่วงปีแรก ๆ ของการเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ทรงถูกจดจำจากพระบุคลิกภาพที่เขินอายและสนุกสนานร่าเริง[233][240] พระปฏิภาณไหวพริบ ตลอดจนการแต่งกายโก้หรูของพระองค์[234] ผู้คนที่ได้มีโอกาสติดต่อปฏิสัมพันธ์กับพระองค์ต่างให้ความเห็นว่าทรงปฏิบัติพระองค์ตามความต้องการจากพระทัย[18] พระองค์ทรงเข้มแข็งอดทน ซึ่งเห็นได้จากการที่ทรงปฏิบัติหน้าที่ได้เหมาะสมตามความคาดหวังของพระราชวงศ์ และทรงเอาชนะอุปสรรคและความทุกข์ยากต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาในระหว่างชีวิตสมรส ทั้ง ๆ ที่ทรงเข้ามาสู่ราชสำนักในขณะที่ยังเป็นเด็กสาวที่มีการศึกษาไม่มาก[137]
การเสด็จออกไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้ป่วย ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ยากไร้ และผู้ที่ถูกทอดทิ้ง ทำให้ไดอานาเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย[241][240] พระองค์ทรงรับรู้ถึงปัญหาและความรู้สึกของผู้คนที่ทรงออกไปเยี่ยมเยือน ในรายการ Panorama ทรงให้สัมภาษณ์ถึงความปรารถนาที่ทรงอยากเป็นที่รักของประชาชน เมื่อ ค.ศ. 1995 ว่า “ฉันปรารถนาที่จะเป็นราชินีในใจประชาชน”[240] นักชีวประวัติ ทินา บราวน์ ระบุว่า "เพียงแค่พระองค์สบตา ก็ทรงสามารถดึงดูดใจผู้คนที่มาเข้าเฝ้าได้ราวกับว่าต้องมนต์สะกด” [242] ชื่อเสียงของพระองค์แผ่กระจายไปทั่วโลกจนนายโทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ถึงกับกล่าวว่า “เจ้าหญิงทรงแสดงถึงความเป็นอังกฤษสมัยใหม่”[238] ตลอดพระชนม์ชีพไดอานาทรงได้สานความผูกพันระหว่างพระองค์กับประชาชนทั่วโลก และเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ ทั่วทุกมุมโลกต่างแสดงความอาลัย บางคนตกอยู่ในอาการโศกเศร้าและร้องไห้คร่ำครวญเมื่อทราบข่าวการสิ้นพระชนม์[243]
พระองค์ทรงเป็นผู้ปูทางให้แก่สมาชิกพระราชวงศ์พระองค์อื่น ๆ ได้ประกอบพระกรณียกิจด้านการกุศลที่หลากหลายและเหมาะสมกับยุคสมัยใหม่มากขึ้น[137] และยังส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบหลายอย่างภายในราชสำนัก[244]
ยูจีน โรบินสัน เขียนไว้ในคอลัมน์หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ ว่า “ไดอานาทรงผสมผสานบทบาทหน้าที่เจ้าหญิงเข้ากับความมีชีวิตชีวา ความกระตือรือร้น และสำคัญที่สุดคือ ความมีเสน่ห์ดึงดูดใจ”[18] อลิเซีย แคร์รอล แห่งหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ เปรียบเทียบพระองค์ว่าเหมือนกับ “สายลมอันสดชื่น”[245] และพระองค์เป็นส่วนช่วยให้ราชวงศ์อังกฤษเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา
แม้ว่าจะทรงตกเป็นข่าวอื้อฉาวและมีปัญหามากมายในชีวิตสมรส แต่ความนิยมในตัวพระองค์ก็ยังอยู่ในระดับสูงสุดไม่เคยเสื่อมคลายจากผลการสำรวจต่าง ๆ[18] ทว่าเจ้าชายชาลส์ พระสวามีกลับมีคะแนนความนิยมตกตำเป็นอย่างมาก โดยคะแนนความนิยมของไดอานาในระหว่าง ค.ศ. 1981-2012 อยู่ที่ร้อยละ 47[246]
พระองค์ทรงได้รับการเคารพรักราวกับปูชนียบุคคลจากชาวอังกฤษ หลังจากนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ เรียกพระองค์ว่า “เจ้าหญิงของประชาชน” ในระหว่างการแถลงข่าวการสิ้นพระชนม์ การสิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุอย่างกะทันหันและไม่คาดฝันนำไปสู่ความโศกเศร้าของประชาชนทั่วเกาะอังกฤษและทั่วโลก[247] และตามมาด้วยวิกฤติการณ์ร้ายแรงภายในประเทศที่สั่นคลอนราชสำนัก[248][249][250] แอนดรูว์ มาร์ กล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ว่า พระองค์ทรงนำพา “อารมณ์ความรู้สึก” กลับคืนสู่สังคมอังกฤษอีกครั้ง[137]
เอิร์ล สเปนเซอร์ พระอนุชา ได้ขึ้นกล่าวคำอาลัยในพระราชพิธีพระศพ ดังนี้ว่า
"ไดอานาเป็นเนื้อแท้ของความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ภาระหน้าที่ สไตล์ และความงาม เธอเป็นสัญลักษณ์ของมนุษย์ทั่วโลกที่ไม่แก่ตัว เป็นผู้แบกรับระบบอำนาจเบ็ดเสร็จ และเป็นหญิงชาวอังกฤษแท้ ๆ ที่โดดเด่นเหนือเกินความเป็นชาติ เป็นเพียงคนธรรมดาไร้ยศฐาบรรดาศักดิ์แต่มีคุณธรรมสูงส่ง และได้แสดงให้เห็นแล้วว่าในปีสุดท้ายของชีวิต เธอไม่จำเป็นต้องใช้ยศฐาบรรดาศักดิ์ใด ๆ มาสร้างมนต์เสน่ห์แสนพิเศษให้กับตัวเธอ”[251]
ใน ค.ศ. 1997 พระองค์เป็นหนึ่งในผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้าชิงในตำแหน่ง “บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์”[252] และปี พ.ศ. 2542 นิตยสารไทม์คัดเลือกพระองค์ให้อยู่ในรายชื่อ “100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งศตวรรษที่ 20”[253] ผลการสำรวจใน ค.ศ. 2002 ของสถานีโทรทัศน์บีบีซี ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ได้รับการโหวตให้อยู่อันดับที่ 3 ของชาวสหราชอาณาจักรผู้ยิ่งใหญ่ นำหน้าความนิยมสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และสมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่น ๆ[254] ใน พ.ศ. 2548 ไดอานาอยู่ในอันดับที่ 12 ของผลการสำรวจ “100 บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น”[255]
ถึงพระองค์จะเป็นบุคคลสาธารณะและสมาชิกพระราชวงศ์ที่ได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชน แต่ตลอดพระชนม์ชีพไดอานาทรงตกเป็นประเด็นให้สื่อรุมวิพากย์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้ง แพทริก เจฟสัน เลขานุการส่วนพระองค์ซึ่งปฏิบัติหน้าที่รับใช้เจ้าหญิงมานาน 8 ปีเต็ม ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ เดอะเดลีเทเลกราฟ ว่า “ทรงมีความสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกนักวิจารณ์จิกสับตลอดพระชนม์ชีพ และแม้ว่าจะทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้ว คำครหาเหล่านั้นก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะเบาบางลง”[233]
ผู้สังเกตการณ์หลายคนให้ความเห็นว่า ไดอานาทรงปล่อยให้นักข่าวและช่างภาพปาปารัสซีเข้ามาในชีวิตของพระองค์ เพราะทรงรู้ว่าจะใช้สื่อมวลชนเป็นฐานอำนาจของพระองค์ได้อย่างไร[238] เช่นนั้นจึงทรงออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายเกินความจำเป็น และทรงทำลายเส้นแบ่งขอบเขตระหว่างชีวิตส่วนพระองค์และชีวิตสาธารณะ[137][256] พระองค์ถูกวิจารณ์จากศาสตราจารย์ปรัชญา แอนโทนี โอเฮียร์ ว่า "พระองค์ไม่สามารถปฏิบัติพระราชกิจได้อย่างสมบูรณ์แบบ พฤติกรรมบุ่มบ่ามขาดความยั้งคิดของพระองค์กำลังบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และทรงงานการกุศลเพียงเพื่อ “ตอบสนองความต้องการส่วนพระองค์” เท่านั้น[188] ภายหลังคำวิจารณ์ของศาสตราจารย์โอเฮียร์ถูกเผยแพร่ออกไป องค์กรการกุศลต่าง ๆ ที่เจ้าหญิงทรงให้การอุปถัมภ์ได้ออกมาโต้แย้งคำวิจารณ์นี้ว่าน่ารังเกียจและไม่เป็นการมิบังควร[188] กระแสต่อต้านพระองค์ยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีกเมื่อมีการกล่าวหาเจ้าหญิงว่า "ทรงใช้สถานะพิเศษทางสังคมเพื่อกอบโกยประโยชน์ส่วนพระองค์[257] และเกิดผลเสียร้ายแรงต่อภาพลักษณ์กองงานในพระองค์"[233] การทรงงานการกุศลของพระองค์ที่บางครั้งเจ้าหญิงมักทรงสัมผัสร่างกายผู้ป่วยโรคร้ายแรงและเป็นเรื่องแปลกใหม่ในสมัยนั้น ก่อให้เกิดกระแสตีกลับในทางลบจากสื่อมวลชน[233]
แซลลี บีเดล สมิธ บรรยาถึงพระบุคลิกภาพของไดอานาว่า “คาดเดาไม่ได้ เห็นแก่ตัว และหึงหวง”[257]สมิธยังได้โต้แย้งในความปรารถนาของพระองค์ในการทรงงานการกุศลว่า “ได้แรงจูงใจจากความต้องการส่วนพระองค์ มากกว่าความตั้งใจจริงเพื่อเยียวยาปัญหาสังคม”[257]แต่อย่างไรก็ดี ยูจีน โรบินสัน ออกมาแก้ต่างว่า พระองค์จริงจังในพระราชกิจการกุศลนี้"[18]
อย่างไรก็ตาม ซาราห์ แบรดฟอร์ด เปิดเผยว่า ไดอานานั้นมีความชิงชังต่อราชวงศ์วินด์เซอร์อยู่ไม่น้อยตามคำให้สัมภาษณ์ของผู้ใกล้ชิด ทรงให้ความเห็นว่าราชวงศ์ปัจจุบันเสวยราชสมบัติในฐานะ “เจ้าต่างเมือง” และยังทรงเรียกสมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่นว่า “พวกเยอรมัน” [238] แบรดฟอร์ดเชื่อว่า ไดอานาทรงตกเป็นเหยื่อของการตัดสินใจที่ผิดพลาดและลงเอยด้วยการที่ทรงสูญเสียอภิสิทธิ์ทางสังคมหลังการให้สัมภาษณ์ในรายการพาโนรามา[238] นักประวัติศาสตร์หลายคนมองว่าพระองค์มีเล่ห์เหลี่ยมและมารยา[248][234] และอ้างว่าเจ้าหญิงทรงมีความสัมพันธ์ไม่สู้ดีนักกับพระสสุระ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ[66][152] แต่บ้างก็มีแย้งว่าเนื้อหาในจดหมายที่สองพระองค์ทรงเขียนติดต่อกันไม่ได้ชี้ชัดว่าทรงมีความบาดหมางใจระหว่างกัน[249]
แอนน์ แอปเปิลบาม เชื่อว่า ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของไดอานา ไม่ได้ทำให้เกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงของมติมหาชนแต่อย่างใด [137]แนวคิดดังกล่าวนี้ได้ถูกรับรองโดยโจนาทาน ฟรีดแลนด์ เขาเคยเขียนในบทความไว้ตอนหนึ่งในหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนว่า “ความทรงจำและอิทธิพลของไดอานาแทบจะถูกกลืนหายไปภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีหลังการสิ้นพระชนม์”[244] แต่ ปีเตอร์ คอนราด นักข่าวอีกคนแห่งเดอะการ์เดียน โต้แย้งว่า "แม้จะสิ้นพระชนม์ไปนานแล้วกว่าหนึ่งทศวรรษ แต่พระองค์ก็ยังไม่เคยเงียบหายไปจากสื่อ”[238] และอัลลัน มาสซี จากหนังสือพิมพ์ เดอะเทเลกราฟ ให้คำนิยามว่า ไดอานาคือ “คนดังของคนดัง” และทัศนคติของพระองค์ “จะยังคงกำหนดทิศทางในสังคมต่อไป”[256]
ไดอานาทรงเป็นผู้นำแฟชันและหญิงสาวมากมายทั่วโลกเลียนแบบสไตล์การแต่งกายของพระองค์ เอียน ฮอลลิงเชด แห่งหนังสือพิมพ์เทเลกราฟ เคยเขียนว่า “ไดอานาสามารถทำให้เครื่องแต่งกายขายดิบดี เพียงแค่สินค้าชิ้นนั้นปรากฏบนรูปถ่ายพระองค์” [265][266]ซึ่งคำอ้างดังกล่าวอิงจากปรากฏการณ์รองเท้าบู๊ตยางซึ่งทำยอดขายในอังกฤษพุ่งกระฉูดในคริสต์ทศวรรษ 1980 มาแล้ว เมื่อช่างภาพถ่ายภาพพระองค์ทรงสวมรองเท้าบู๊ตยางรุ่นดังกล่าวไปร่วมล่าสัตว์กับเจ้าชายชาลส์ ณ ปราสาทบัลมอรัล[265][267]
ดีไซเนอร์และผู้ที่มีโอกาสได้ถวายงานรับใช้พระองค์ ระบุว่า ไดอานาทรงใช้แฟชันและสไตล์การแต่งกายมาเพื่อส่งเสริมงานการกุศลของพระองค์ และแสดงความรู้สึกและสื่อสารผ่านการแต่งกาย[268][269][270] นอกจากนี้พระองค์ยังคงเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับสไตลิสต์ บุคคลผู้ชื่อเสียง และหญิงสาวผู้รักแฟชันทั่วโลก[270][271][272][227] [273][274]รวมทั้งนักร้อง ริอานนา ที่ยอมรับว่าเธอได้อิทธิพลทางแฟชันจากพระองค์ เธอยังบอกว่าชื่นชอบการแต่งกายในลุคต่าง ๆ ของพระองค์ โดยเฉพาะเสื้อแจ็คเก็ตแบบโอเวอร์ไซส์ของพระองค์ และพระมาลาหลากหลายสไตล์[275][276]
เจ้าหญิงทรงเลือกสไตล์การแต่งตัวตามแบบอย่างราชสำนักและสไตล์ที่เป็นนิยมในอังกฤษ[277] และทรงสร้างสรรค์แฟชันหลายแบบเพื่อพระองค์เอง[278] ในการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศเพื่อการเจริญสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหลายชิ้นของพระองค์ถูกคัดเลือกเพื่อให้เหมาะสมกับประเทศที่จะเสด็จไป และโปรดการสวมแต่งกายอย่างลำลองด้วยเสื้อแจ็คเก็ตทรงหลวมกับกางเกงจัมเปอร์ในเวลาส่วนพระองค์[272][279] แอนนา ฮาร์วีย์ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร โว้ก และที่ปรึกษาด้านแฟชันของเจ้าหญิง กล่าวว่า "พระองค์ทรงคิดคำนึงอยู่ตลอดเวลาว่าการแต่งกายของพระองค์จะสื่อความหมายได้อย่างไรบ้าง และนี่เป็นสิ่งสำคัญต่อพระองค์อย่างมาก”[272][280]
เดวิน แซสซูน หนึ่งในแฟชันดีไซเนอร์ที่เคยร่วมงานกับพระองค์ เชื่อว่าเจ้าหญิงทรง “ฉีกกฎ” ระเบียบราชสำนักระหว่างทรงทดลองสไตล์ใหม่ ๆ[263] ไดอานาทรงเลิกสวมถุงมือตามอย่างพระราชวงศ์ฝ่ายใน เนื่องจากทรงเห็นว่าการสวมถุงมือนั้นเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่พระองค์เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคร้าย อย่างเช่น โรคเอดส์[270][279] ในการเสด็จฯ ไปร่วมงานการกุศล เจ้าหญิงทรงเลือกใช้เครื่องแต่งกายที่มีรูปแบบหรือสีสันที่เข้ากันกับสภาพจิตใจของผู้ที่มาเข้าเฝ้าฯ ตัวอย่างเช่น ทรงเลือกเดรสสีสดและเครื่องประดับที่มีเสียงดังกรุ๊งกริ๊งสำหรับการเสด็จฯ ไปเยี่ยมและสามารถร่วมเล่นกับผู้ป่วยเด็กที่โรงพยาบาลได้[270][279]
ดอนนาเทลลา เวอร์ซาเช แฟชันดีไซเนอร์แห่งเวอร์ซาเช ซึ่งครั้งหนึ่งเคยร่วมออกแบบแฟชันกับเจ้าหญิง และจานนี เวอร์ซาเช พี่ชายผู้ล่วงลับของเธอ[268] ระบุว่า ความสนใจด้านแฟชันของพระองค์เริ่มต้นขึ้นหลังที่ทรงแยกกันอยู่กับเจ้าชายชาลส์ และไม่เคยมีใครมีความทุ่มเทเพื่อแฟชันอย่างเช่นพระองค์มาก่อน[268]
แคเธอริน วอล์กเกอร์ ซึ่งเป็นดีไซเนอร์คนโปรดของไดอานา[278] และทั้งสองได้ร่วมกันออกแบบและตัดเย็บ “ชุดยูนิฟอร์มของราชสำนัก”[263] เมื่อเจ้าหญิงจะเสด็จฯ ไปต่างประเทศอย่างเป็นทางการ แคเธอรินและสามีจะทำการค้นคว้าข้อมูลสำหรับใช้เป็นแนวทางในการออกแบบ และยึดกฎเกณฑ์ว่าเครื่องแต่งกายนั้นต้องไม่โดดเด่นเกินพระองค์โดยเด็ดขาด[268] และข้อมูลนี้สอดคล้องกับ ตากิ เธโอโดราโคปูโลส นักเขียน ได้เขียนถึงสไตล์การแต่งกายของไดอานาว่า “ทรงไม่ต้องการให้เสื้อผ้าสวมใส่พระองค์”[268]
อีเลรี ลินน์ ภัณฑรักษ์นิทรรศการ Diana: Her Fashion Story ให้ความเห็นว่า พระองค์ทรงไม่ต้องการเป็น “ไม้แขวนเสื้อ”[270] สไตล์เครื่องแต่งกายที่พระองค์และแคเธอรินร่วมกันออกแบบมีความเพรียวระหงและคล่องแคล่ว ซึ่งตัดส่วนประกอบที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น ชิ้นผ้าจับจีบกรุยกราย ซึ่งเป็นที่นิยมในคริสตทศวรรษ 1980 แต่ยังคงรักษาความโก้หรูที่ช่วยเสริมรูปร่างของพระองค์และด้วยลุคเช่นนี้เองทำให้พระองค์กลายเป็นที่ตรึงตาตรึงใจไปทั่วโลก[281]
ไดอานาเปิดตัวในแวดวงหญิงสาวสังคมชั้นสูงเป็นครั้งแรก โดยการไปร่วมงานบอลล์แห่งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2522 เธอสวมชุดเดรสเกาะอกสีฟ้าจับจีบลูกไม้ตาข่ายจากห้องเสื้อเรกามุส ซึ่งเป็นหนึ่งในห้องเสื้อยอดนิยมของชนชั้นสูงในอังกฤษ[272]
ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่อยู่ในราชสำนัก พระองค์เลือกใช้เครื่องแต่งกายที่ออกแบบและตัดเย็บโดยดีไซเนอร์หลายราย อาทิเช่น แคเธอริน วอล์กเกอร์ วิกเตอร์ เอเดลสไตน์ จานนี เวอร์ซาเช จอร์โจ อาร์มานี คริสตินา สแตมโบเลียน แจสเปอร์ คอนแรน เดวิด และเอลิซาเบธ เอมานูแอล ฮาชิ จอห์น กาลลิอาโน[282] ราล์ฟ ลอเรน[283] คริสติย็อง ลาครัวซ์[280] บรูซ โอลด์ฟิลด์[284] ฌัก อาซากูรี[285] เดวิด แซสซูน[263] เมอร์เรย์ อาร์เบด[278] จิมมี ชู[286] นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดเครื่องแต่งกายจากบริษัทแฟชันชั้นนำ ได้แก่ เวอร์ซาเช อาร์มานี ชาแนล ดิออร์ และ คลาร์กส์[272][275][283][284]
ในบรรดาฉลองพระองค์ชุดราตรีที่ทรงสวมใส่ มีชุดที่โด่งดังของพระองค์ คือ 1. ชุดราตรีเกาะอกสีดำที่ทรงสวมไปร่วมงานคอนเสิร์ตการกุศลใน พ.ศ. 2524 ขณะยังเป็นพระคู่หมั้น[280] 2. ชุดค็อกเทลของคริสตินา สแตมโบเลียน มีฉายาว่า “เดรสแก้แค้น” ซึ่งทรงสวมใส่ไปร่วมงานการกุศลในวันเดียวกับที่รายการโทรทัศน์แพร่เทปสัมภาษณ์คำสารภาพสัมพันธ์รักเจ้าชายชาลส์และคามิลลา ปาร์เกอร์ โบลส์[287] 3. ชุดราตรีกำมะหยี่สีน้ำเงินรัตติกาลของวิกเตอร์ เอเดลสไตน์ ซึ่งพระองค์สวมไปร่วมงานเลี้ยงรับรองที่ทำเนียบขาว และได้ร่วมเต้นรำกับนักแสดงฮอลลีวูด จอห์น ทราโวลตา และต่อมาชุดนี้ถูกเรียกว่า "ทราโวลตาเดรส"[263][278][272] และ 4. ชุดราตรีเกาะอกปักมุกพร้อมเสื้อแจ็กเก็ตปักมุก หรือเป็นที่รู้จักในนาม “เอลวิสเดรส”[284][278] โดยแคเธอริน วอล์กเกอร์ ซึ่งพระองค์ทรงสวมใส่เป็นครั้งแรกระหว่างการเสด็จเยือนอาณานิคมฮ่องกง พ.ศ. 2532[270][288]
ในปีแรก ๆ ของคริสต์ทศวรรษ 1980 พระองค์โปรดฉลองพระองค์เสื้อคอปกลายดอกไม้ เสื้อคอจีบ และใช้สร้อยไข่มุกเป็นเครื่องประดับ[272][278][289] และทำให้เสื้อผ้าแบบดังกล่าวและไข่มุกกลายเป็นเทรนด์แฟชันของยุคนั้น[272] ภายหลังการประกาศหมั้นของพระองค์ นิตยสารโว้กตีพิมพ์ภาพระฉายาลักษณ์ไดอานาในชุดเสื้อชีฟองสีชมพูอ่อนและคอริบบินผ้าซาติน และเสื้อชีฟองตัวนี้ถูกลอกเลียนแบบและผลิตซ้ำอย่างรวดเร็ว และยังขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน[278] การปรากฏพระองค์ด้วยฉลองพระองค์ไหล่กว้างและเนื้อผ้าหรูหรา ทำให้สื่อมวลชนเรียกพระองค์ว่า “Dynasty Di”[290][263][270]
ในเวลาต่อมาหลังทรงแยกกันอยู่และหย่าร้าง ไดอานาทรงมีความมั่นใจในด้านแฟชันเพิ่มมากขึ้น[263][274][280][291] และทรงเปลี่ยนสไตล์การแต่งกายของพระองค์ ในการเสด็จฯ ไปประกอบพระกรณียกิจที่เป็นทางการ ทรงเลือกสวมใส่เสื้อเบลเซอร์ ชุดราตรีเปิดไหล่ข้างเดียว ชุดราตรีเกาะอก ชุดสูทสองสี ชุดสูทแบบทหาร และชุดเครื่องแต่งกายสีนู้ด[274] นอกจากนี้ทรงทดลองแฟชันด้วยการแต่งกายหลายแบบ เช่น ทรงสวมเสื้อเชิ้ตขาวและกางเกงยีนส์ เดรสลายสกอต จัมพ์สูท และเดรสเข้ารูป[292][293][274]
หลังจากที่ทรงแยกกันอยู่และหย่าร้างในเวลาต่อมา ไดอานาทรงได้รับอิทธิพลการแฟชันการแต่งกายจากดารานางแบบผู้มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ซินดี ครอว์ฟอร์ด, มาดอนนา, เอลิซาเบธ เทย์เลอร์[278] หลังจากที่สิ้นพระชนม์ ชุดเดรสจำนวนหนึ่งของพระองค์ถูกนำออกประมูลและจำหน่ายให้บรรดาผู้สะสมและพิพิธภัณฑ์มากมาย และเดรสเหล่านี้มักจะทำเงินได้มากถึงหลักแสนปอนด์เมื่อนำออกประมูล[283][294]
ทรงพระเกศาที่สั้นเป็นเอกลักษณ์ของพระองค์ ออกแบบโดย แซม แม็คไนท์ ภายหลังทรงเสร็จสิ้นการถ่ายภาพแฟชันนิตยสารโว้กเมื่อ พ.ศ. 2533 ซึ่งแม็คไนท์และเวอร์ซาเชลงความเห็นว่า พระเกศาสั้นสื่อถึงอิสรภาพของพระองค์[268] ก่อนเสด็จฯ ไปปฏิบัติพระกรณียกิจ ไดอานามักจะทรงแต่งพระพักตร์ด้วยพระองค์เองและมีช่างพระเกศามาประจำทุกครั้ง และพระองค์ทรงเคยตรัสกับแม็คไนท์ว่า “สิ่งเหล่านี้ (การแต่งพระพักตร์และแต่งพระเกศา) ไม่ได้ทำเพื่อตัวฉันเลยนะ แซม, ฉันทำเพื่อประชาชนที่ฉันไปหาหรือเพื่อคนที่เดินทางมาหา, พวกเขาไม่ต้องการพบฉันในแบบสบาย ๆ นอกเวลาทำงานหรอกนะ, เขาต้องการเจ้าหญิง, มาแปลงโฉมเป็นเจ้าหญิงตามที่พวกเขาต้องการเถอะ”[268]
พ.ศ. 2532 ไดอานาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในสตรีผู้แต่งกายดีที่สุดในโลก[295] พ.ศ. 2547 นิตยสารพีเพิล ยกย่องให้พระองค์เป็นหนึ่งในสตรีที่งดงามที่สุดตลอดกาล[296] และ พ.ศ. 2555 นิตยสารไทม์จัดลำดับให้ไดอานาอยู่ในรายชื่อ 100 แฟชันไอคอนตลอดกาล[297]
พ.ศ. 2559 ชาร์มาดีน รีด แฟชันดีไซเนอร์ ออกแบบคอลเลกชันเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเพื่อจำหน่ายบนเว็บไซต์ ASOS.com[298] โดยได้รับแรงบันดาลใจจากสไตล์การแต่งกายของไดอานา ชาร์มาดีนแถลงผ่านสื่อว่า “พระองค์ทรงมีความผูกพันอย่างไม่น่าเชื่อกับชุดกีฬาธรรมดา ๆ กับเสื้อผ้าแฟชันสุดหรู และนี่จึงเป็นที่มาของคอลเลคชันนี้ และให้ความทันสมัยกว่าที่เคยมีมา”[289]
เดือนกุมภาพันธ์ มีการเปิดนิทรรศการแสดงฉลองพระองค์ของไดอานาที่พระราชวังเคนซิงตัน แคเธอริน เบนเน็ต แห่งหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน วิจารณ์ว่า นิทรรศการแสดงเครื่องแต่งกายเช่นนี้เป็นหนึ่งในวิธีการเหมาะสมกับการระลึกถึงบุคคลสาธารณะที่ประสบความสำเร็จในด้านใดด้านหนึ่ง ผ่านมุมมองด้านแฟชันและการแต่งกาย แต่คุณงามความดีที่ไดอานาได้มอบให้แก่สังคมนั้นยังคง “น่ากังขา”[299]
เมื่อสำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกประกาศไดอานาสิ้นพระชนม์ ประชาชนหลายเชื้อชาตินำดอกไม้และจุดเทียนเพื่อไว้อาลัยหน้าประตูพระราชวังเคนซิงตันอย่างเนืองแน่น ในเวลาต่อมาได้มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์หลายแห่ง ดังนี้
ประติมากรรม "ฟลามม์เดอลาลิเบอร์เต" ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเหนือถนนลอดอุโมงค์สะพานปองต์เดอลัลมา กรุงปารีส ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณที่พระองค์ประสบอุบัติเหตุ กลายเป็นอนุสรณ์อย่างไม่ทางการภายหลังการสิ้นพระชนม์[301][302] และนายโมฮัมเหม็ด อัลฟาเยด ได้จัดให้มีการแสดงสิ่งของที่ระลึกตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์ ซึ่งครอบครัวอัลฟาเยดเป็นเจ้าของกิจการระหว่าง พ.ศ. 2528–2553 ได้แก่ รูปถ่ายของไดอานาและโดดี พร้อมรูปทรงปิรามิดบรรจุแก้วไวน์ที่ใช้ในพระกระยาหารเย็นมื้อสุดท้าย และแหวนหนึ่งวงที่โดดีเพิ่งมอบให้แก่พระองค์ก่อนสิ้นพระชนม์ และใน พ.ศ. 2548 ประติมากรรมรูปหล่อทองแดง "อินโนเซนต์วิกทิม" ถูกนำมาจัดตั้งภายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นรูปเหมือนไดอานาและโดดีเต้นรำใต้ปีกนกอัลบาทรอส[303]
บริษัทฮาร์กเนส ประเทศอังกฤษ ทำการปรับปรุงสายพันธ์กุหลาบ “Hardinkum”[304] ให้ดอกสีขาวนวลทรงกลีบดอก 2 ชั้น มีกลิ่นหอมกลางถึงหอมแรง ในเวลาต่อมาได้รับการตั้งชื่อว่า Rosa ‘Princess of Wales’ เพื่อเป็นการรำลึกพระภารกิจที่ทรงรับอุปถัมภ์สมาคมโรคปอดแห่งสหราชอาณาจักรเป็นเวลายาวนานกว่าสิบปี[305][306] และดอกกุหลาบขาวนี้เป็นดอกไม้ที่ไดอานาทรงโปรดปราน[306]
ฤดูร้อน พ.ศ. 2541 กุหลาบสายพันธุ์ Rosa ‘Diana, Princess of Wales’ ถูกนำเข้าไปปลูกครั้งแรก ณ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.[307]
พ.ศ. 2541 บริษัทไปรษณีย์อาเซอร์มาร์กาแห่งประเทศอาเซอร์ไบจาน จำหน่ายแผ่นตราไปรษณียากรที่ระลึกไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ โดยมีคำบรรยายภาษาอังกฤษว่า "DIANA, PRINCESS OF WALES The Princess that captured people's hearts (1961–1997)" “ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เจ้าหญิงผู้ครองหัวใจประชาชน (1961–1997) ”[308] และในปีเดียวกันนั้นหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร โซมาเลีย คองโก และอาร์เมเนีย ได้จัดสร้างดวงไปรษณียากรที่ระลึกเจ้าหญิงแห่งเวลส์เช่นเดียวกัน[309][310]
พระนามต้นของพระองค์ “ไดอานา” ถูกนำมาใช้ในสร้อยพระนามของพระนัดดา เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ เอลิซาเบธ ไดอานา (ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2558)[311][312][313] และใช้ในสร้อยพระนามของพระภาติยะ[314] เลดี้ชาร์ลอตต์ ไดอานา (กำเนิดเมื่อ พ.ศ. 2555) ธิดาของชาลส์ สเปนเซอร์[315]
พ.ศ. 2560 เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี ทรงมอบหมายให้สร้างพระรูปปั้นเจ้าหญิงไดอานา พระมารดา เพื่อที่ระลึกในวาระครบ 20 ปีแห่งการสิ้นพระชนม์[231] และจะนำไปตั้งอยู่ภายในสวนเคนซิงตัน ทั้งสองพระองค์ทรงระบุว่า พระมารดาทรงเข้าถึงชีวิตจิตใจผู้คนมากมาย และทรงหวังว่า พระรูปปั้นนี้จะช่วยย้ำเตือนไปเยี่ยมชมพระราชวังเคนซิงตันให้รำลึกถึงชีวิตและผลงานของพระมารดา[231] โดยจะใช้ทุนทรัพย์ในการก่อสร้างผ่านการบริจาค และมีคณะกรรมการดำเนินการควบคุมการก่อสร้าง ประกอบด้วยเป็นพระสหายและที่ปรึกษาผู้ใกล้ชิดของเจ้าหญิง รวมทั้งพระเชษฐภคินี เลดี้้ซาราห์ แมคคอร์เคอเดล[316]
ค.ศ. 1993 กลุ่มหนังสือพิมพ์เดอะมิเรอร์ลงภาพแอบถ่ายของเจ้าหญิงไดอานาระหว่างทรงออกกำลังกายอยู่ภายในโรงยิมแอลเอฟิตเนส ในภาพ เจ้าหญิงทรงอยู่ในชุดออกกำลังกายแนบเนื้อและกางเกงขาสั้น[317][318] ภาพดังกล่าวลักลอบถ่ายโดย ไบรซ์ เทย์เลอร์ เจ้าของโรงยิม ทนายความของไดอานาดำเนินการทางกฎหมายทันทีที่ภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ โดยมีคำร้องให้ศาลห้ามให้มีการวางจำหน่ายและเผยแพร่ภาพดังกล่าวอย่างถาวร[317][318] แต่อย่างไรก็ตามภาพถ่ายชุดนี้ถูกลักลอบนำไปตีพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์นอกสหราชอาณาจักร[317] ท้ายที่สุด ศาลมีคำสั่งห้ามกลุ่มหนังสือพิมพ์มิเรอร์และนายเทย์เลอร์ให้ทำซ้ำหรือเผยแพร่ภาพถ่ายของไดอานาเพิ่มเติมอีกเป็นอันขาด[317]สุดท้ายกลุ่มหนังสือพิมพ์มิเรอร์ยอมประกาศขอโทษหลังถูกตั้งข้อครหาและวิจารณ์อย่างหนักจากหลายฝ่ายในสังคม มีการรายงานว่ากลุ่มหนังสือพิมพ์เดอะมิเรอร์ได้ชดเชยค่าเสียหายจำนวน 1 ล้านปอนด์ให้แก่เจ้าหญิงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย อีกทั้งยังบริจาคเงินจำนวน 2 แสนปอนด์ให้แก่องค์กรการกุศลของพระองค์[317] นายเทย์เลอร์ยอมจ่ายค่าเสียหายให้แก่ไดอานาเช่นเดียวกันด้วยเงิน 3 แสนปอนด์ แต่มีข่าวลือว่ามีสมาชิกราชวงศ์พระองค์หนึ่งได้ช่วยเหลือนายเลอร์ในเรื่องเงินค่าเสียหายดังกล่าว[317]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.