Loading AI tools
สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร ระหว่าง ค.ศ. 1936-1952 จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอลิซาเบธ แองเจลา มาร์เกอริต โบวส์-ลีออน (อังกฤษ: Elizabeth Angela Marguerite Bowes-Lyon; 4 สิงหาคม ค.ศ. 1900 - 30 มีนาคม ค.ศ. 2002) เป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร และเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักรและประเทศในเครือจักรภพตั้งแต่ ค.ศ. 1936 จนพระราชสวามีเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1952 จึงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนกับพระราชธิดาพระองค์ใหญ่คือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก่อนการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติของพระสวามีในช่วงระหว่างปี 1923 จนถึงปี 1936 ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นดัชเชสแห่งยอร์ก อีกทั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งไอร์แลนด์และจักรพรรดินีแห่งอินเดียพระองค์สุดท้ายอีกด้วย ประชาชนนิยมเรียกพระองค์ว่า ควีนมัม
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
เอลิซาเบธ โบวส์-ลีออน | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระราชชนนี | |||||
สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร และเครือจักรภพ | |||||
ดำรงพระยศ | 11 ธันวาคม 1936 – 6 กุมภาพันธ์ 1952 | ||||
ราชาภิเษก | 12 พฤษภาคม 1937 | ||||
ก่อนหน้า | แมรี
(พระราชินี) | ||||
ถัดไป | ฟิลิป (พระราชสวามี) | ||||
จักรพรรดินีเเห่งอินเดีย | |||||
ดำรงพระยศ | 11 ธันวาคม 1936 - 15 สิงหาคม 1947 | ||||
ก่อนหน้า | จักรพรรดินีแมรี | ||||
ถัดไป | สิ้นสุด | ||||
พระราชชนนีพันปีหลวง | |||||
ดำรงพระยศ | 6 กุมภาพันธ์ 1952 - 30 มีนาคม 2002 | ||||
พระราชสมภพ | 4 สิงหาคม ค.ศ. 1900 ลอนดอน, อังกฤษ | ||||
สวรรคต | 30 มีนาคม ค.ศ. 2002 ปี) วินด์เซอร์, เบิร์กไชร์ | (101||||
ฝังพระศพ | 9 เมษายน ค.ศ. 2002 โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์, วินด์เซอร์, เบิร์กไชร์ | ||||
พระราชสวามี | สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร | ||||
พระราชบุตร | สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เจ้าหญิงมาร์กาเรต เคาน์เตสแห่งสโนว์ดอน | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | วินด์เซอร์ (โดยอภิเษก) | ||||
พระราชบิดา | คอลด โบวส์-ลีออน เอิร์ลที่ 14 แห่งสตราธมอร์และคิงฮอร์น | ||||
พระราชมารดา | เซซิเลีย โบวส์-ลีออน เคาน์เตสแห่งสตราธมอร์และคิงฮอร์น | ||||
ลายพระอภิไธย |
เอลิซาเบธซึ่งพระราชสมภพในครอบครัวตระกูลผู้ดีชาวสก็อต ได้กลายมาเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในปี 1923 เมื่อเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก พระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 และ สมเด็จพระราชินีแมรี ในฐานะที่เป็นดัชเชสแห่งยอร์ก พระองค์ พระสวามีและพระธิดาทั้งสองคือ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ และเจ้าหญิงมาร์กาเรต ได้ทรงปฏิบัติตนตามแบบครอบครัวชนชั้นกลาง ดัชเชสได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจด้านสาธารณชนต่าง ๆ มากมายและเป็นที่รู้จักกันว่า "ดัชเชสผู้แย้มยิ้ม" อันเป็นผลมาจากการปรากฏองค์ต่อหน้าสาธารณชนอยู่เป็นประจำ และเมื่อหลังอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัลเบิร์ตจนมีสองพระธิดา วอลลิส ซิมป์สัน ก็ได้เอ่ยล้อเลียนว่าเอลิซาเบธเป็น "แม่ครัวอ้วนชาวสก็อต"
ในปี 1936 เอลิซาเบธได้ทรงกลายเป็นพระราชินีอย่างไม่คาดฝันเมื่อสมเด็จพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 8 ได้ทรงสละราชสมบัติอย่างกะทันหันเพื่อไปอภิเษกกับนางวอลลิส ซิมป์สัน แม่ม่ายชาวอเมริกันที่เคยหย่าร้างแล้วสองครั้ง ในฐานะสมเด็จพระราชินี พระองค์ได้โดยเสด็จพระราชสวามีไปในการเสด็จเยือนทางการทูตยังประเทศฝรั่งเศสและทวีปอเมริกาเหนือในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในระหว่างสงครามด้วยความแข้มแข็งเด็ดเดี่ยวที่ไม่ย่อท้ออย่างเห็นได้ชัดทำให้เกิดแรงสนับสนุนทางจิตใจต่อสาธารณชนอังกฤษอย่างมากเท่ากับการสำเหนียกรู้ถึงภาระหน้าที่ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการชวนเชื่อ ได้ทำให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์กล่าวถึงพระองค์ว่าเป็น "ผู้หญิงที่อันตรายที่สุดในยุโรป" หลังจากสงครามพระพลานามัยของพระสวามีได้อ่อนแอลงและทรงกลายเป็นม่ายเมื่อพระชนมายุ 52 พรรษา
ในการเสด็จไปประทับยังต่างประเทศของพระเชษฐภรรดาและการเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระราชินีนาถของพระธิดาองค์ใหญ่ตอนพระชนมายุ 26 พรรษาเมื่อสมเด็จพระราชินีแมรีเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1953 พระองค์ได้ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ที่อาวุโสที่สุดและกลายเป็นหัวหน้าครอบครัว ในช่วงปลายพระชนม์ชีพก็ยังทรงเป็นสมาชิกในพระราชวงศ์อังกฤษที่มีชื่อเสียงอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่สมาชิกพระราชวงศ์องค์อื่น ๆ ตกอยู่ในการเสื่อมความนิยมจากสาธาณชนมากขึ้น
หลังจากการประชวรและการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงมาร์กาเรต พระธิดาองค์เล็กเพียงไม่นาน พระพลานามัยของพระองค์ก็แย่ลงเรื่อย ๆ และได้เสด็จสวรรคตในอีกหกสัปดาห์ภายหลัง ขณะมีพระชนมพรรษา 101 ปี 238 วัน
เอลิซาเบธ โบวส์-ลีออน เป็นธิดาคนที่สี่และที่เก้าในสิบคนของโคลด จอร์จ โบวส์-ลีออน ลอร์ด กลามิส (ต่อมาคือ เอิร์ลแห่งสตราธมอร์และคิงฮอร์น) และ เซซิเลีย นินา คาเวนดิช-เบ็นทิงค์ สถานที่เกิดของเอลิซาเบธยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ว่ากันว่าเกิดในคฤหาสน์เบลเกรฟ อุทยานกรอสเวเนอร์ ที่เป็นบ้านของพระบิดามารดาในกรุงลอนดอนและในรถพยาบาลม้าลากขณะจะไปยังโรงพยาบาล การเกิดของเอลิซาเบธได้รับการจดทะเบียนที่เมืองฮิทชิน เทศมณฑลฮาร์ทฟอร์ดเชอร์ ใกล้กับบ้านเซนต์พอลส์วัลเดนเบอรี ซึ่งเป็นบ้านพักชนบทของตระกูลสตราธมอร์ และเป็นที่เข้าพิธีบัพติศมาเมื่อวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1900 ณ โบสถ์ท้องถิ่นในเขตนั้น
เอลิซาเบธใช้ชีวิตในวัยเยาว์ส่วนมากที่เมืองเซนต์พอลส์วัลเดนและปราสาทกลามิส ซึ่งเป็นบ้านของบรรพบุรุษในตระกูลอยู่ในเมืองกลามิส มณฑลแองกัส สก็อตแลนด์ ได้รับการศึกษาครั้งแรกที่บ้านโดยมีครูพี่เลี้ยงมาสอนและชื่นชอบกีฬากลางแจ้ง ลูกม้าและสุนัขอย่างมาก เมื่ออายุ 8 ปี เอลิซาเบธก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน โดยได้ทำให้เหล่าครูผู้สอนประหลาดใจด้วยการเริ่มต้นเขียนเรียงความด้วยอักษรกรีกสองตัวจากหนังสือชื่อ Anabasis ของนักปราชญ์กรีกนามว่า ซีโนโฟน และวิชาที่เก่งที่สุดคือ วรรณคดีและประติมากรรม หลังจากกลับมาเรียนหนังสือเป็นส่วนตัวกับครูพี่เลี้ยงชาวเยอรมันก็สามารถผ่านสอบข้อเขียนในการสอบเก็บคะแนน Oxford Local Examination ด้วยความสามารถพิเศษขณะมีอายุเพียง 13 ปี
ในวันเกิดครบรอบ 14 ปีของเอลิซาเบธ ประเทศอังกฤษได้ประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี เฟอร์กัส พี่ชายคนโตที่เข้ารับราชการอยู่ในกองทัพ Black Watch เสียชีวิตในหน้าที่ในปี ค.ศ. 1915 ที่เมืองลูส ประเทศฝรั่งเศส ส่วนพี่ชายอีกคนหนึ่งคือ ไมเคิล ได้รับรายงานว่าสูญหายไปในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1917 อย่างไรก็ดี เขาได้ถูกจับไปหลังจากได้รับบาดแผลฉกรรจ์และอยู่ในค่ายคุมขังเชลยศึกสงครามในช่วงตลอดระยะเวลาสงคราม ปราสาทกลามิสกลายมาเป็นสถานที่พักฟื้นของเหล่าบรรดาทหารที่ด้รับบาดแผล ซึ่งเอลิซาเบธได้เข้ามาช่วยเหลือด้วย
เจ้าชายอัลเบิร์ต หรือ "เบอร์ตี" ที่รู้จักกันในหมู่พระราชวงศ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 พระองค์ได้ทรงขออภิเษกสมรสกับเอลิซาเบธครั้งแรกในปี ค.ศ. 1921 แต่เอลิซาเบธได้ปฏิเสธพระองค์โดยกล่าวว่า "กลัวจะไม่ได้คิด พูด และทำในสิ่งที่ควรทำอย่างอิสระเสรีอีกต่อไป" ต่อมาเมื่อเจ้าชายประกาศว่าจะไม่อภิเษกกับใครอีกเลย สมเด็จพระราชินีแมรี พระมารดาจึงได้เสด็จฯ ไปยังปราสาทกลามิสด้วยพระองค์เองเพื่อพบกับหญิงสาวที่ได้ขโมยหัวใจพระราชโอรสของพระองค์ไป พระราชินีทรงเชื่อว่าเอลิซาเบธเป็น "ผู้หญิงคนเดียวที่จะทำให้เบอร์ตี้มีความสุขได้" แต่กระนั้นพระองค์ก็ไม่ปฏิเสธที่จะเข้าก้าวก่ายในเรื่องการอภิเษก
ในที่สุดเอลิซาเบธก็ยอมตกลงที่จะอภิเษกกับเจ้าชายเบอร์ตี แม้ว่าจะยังหวาดหวั่นกับชีวิตในพระราชวงศ์ก็ตาม ได้มีการประกาศการหมั้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 1923 เสรีภาพของเจ้าชายอัลเบิร์ตในการเลือกเอลิซาเบธ ซึ่งเป็นสามัญชนเป็นพระชายาถือว่าเป็นสัญญาณไปสู่ความทันสมัยในทางการเมือง เนื่องจากในสมัยก่อนบรรดาเจ้าชายต้องอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงจากราชวงศ์อื่น ทั้งสองได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1923 ณ เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ กรุงลอนดอน เอลิซาเบธได้วางช่อดอกไม้ลงบนหลุมฝังศพของทหารนิรนามระหว่างทางไปยังวิหาร ซึ่งนับว่าเป็นธรรมเนียมที่เจ้าสาวในราชวงศ์ปฏิบัติสืบต่อ ๆ กันมา แม้ว่าในเวลาต่อมาเจ้าสาวเลือกที่จะมาวางช่อดอกไม้หลังจากเข้าพิธีอภิเษกแล้วมากกว่าระหว่างทางที่จะไปเข้าพิธี นับแต่นั้นเอลิซาเบธจึงดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าหญิงดัชเชสแห่งยอร์ก (HRH The Duchess of York) ทั้งสองพระองค์เสด็จไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่ตำหนักโพลส์เดนลาเซย์ ซึงเป็นคฤหาสน์ตั้งอยู่ในมณฑลเซอร์เรย์และต่อจากนั้นก็ได้เสด็จไปยังสก็อตแลนด์
ในปี ค.ศ. 1926 ทั้งสองพระองค์ก็มีพระธิดาพระองค์แรกคือ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ที่ต่อมาได้เสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ส่วนพระธิดาอีกพระองค์หนึ่งคือ เจ้าหญิงมาร์กาเรต โรส ที่ประสูติอีกสี่ปีต่อมา ดยุกและดัชเชสแห่งยอร์กเสด็จเยือนประเทศออสเตรเลียเพื่อเปิดอาคารรัฐสภาในกรุงแคนเบอร์ราในปี ค.ศ. 1927
ในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1936 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 เสด็จสวรรคตและการสืบราชสมบัติก็ตกทอดไปสู่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ พระเชษฐาในเจ้าชายอัลเบิร์ต ซึ่งได้เถลิงราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 8 ทั้งสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 และ สมเด็จพระราชินีแมรีได้เตรียมรับมือกับความขัดแย้งต่อพระราชโอรสองค์โต อันที่จริงแล้วสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงแสดงความประสงค์ไว้ว่า "ข้าพเจ้าอธิษฐานต่อพระเป็นเจ้าว่าขอให้ลูกชายคนโตของข้าพเจ้าจะไม่ได้อภิเษกและจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับเบอร์ตีและลิลีเบ็ต และราชบัลลังก์ได้"
ราวกับว่าความประสงค์ของพระบิดาและพระมารดาเป็นจริง เอ็ดเวิร์ดทำให้เกิดวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญขึ้นโดยการยืนยันจะอภิเษกสมรสกับนางวอลลิส ซิมป์สัน แม่ม่ายชาวอเมริกัน แม้ว่าในทางกฎหมายเอ็ดเวิร์ดจะทรงสามารถอภิเษกสมรสกับนางซิมป์สันได้และคงดำรงพระอิสริยยศพระมหากษัตริย์ แต่คณะรัฐมนตรีของพระองค์เสนอแนะว่าประชาชนจะไม่มีทางยอมรับนางซิมป์สันในฐานะพระราชินีได้และยังขัดค้านการอภิเษกสมรสนี้ด้วย อันที่จริงถ้าสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงเพิกเฉยต่อคำแนะนำเหล่านั้น พวกเขาก็จะตัองลาออก และจะทำให้เป็นการทำลายสถานภาพของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างยากที่จะเยียวยาได้ จึงทำให้ทรงยอมรับคำแนะนำจากคณะรัฐมนตรีโดยดี พระองค์จึงได้ทรงเลือกที่จะสละราชสมบัติให้แก่เจ้าชายอัลเบิร์ต ซึ่งมิได้ทรงมีความปรารถนาจะเป็นกษัตริย์และทรงได้รับการอบรมมาเพียงน้อยนิด (แม้ว่าทั้งพระชนกและพระชนนีจะคาดหวังกับพระองค์ไว้ล่วงหน้าแล้ว) เจ้าชายอัลเบิร์ตทรงเลือกพระปรมาภิไธยว่า จอร์จที่ 6 พระองค์และเอลิซาเบธ พระชายา ทรงเข้าพิธีราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์และพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ ไอร์แลนด์และดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร สมเด็จพระจักรพรรดิและจักรพรรดินีแห่งอินเดียเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1937 ซึ่งเป็นวันที่กำหนดไว้สำหรับพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8
สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงสนับสนุนการตัดสินพระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ที่จะไม่พระราชทานพระอิสริยยศชั้นรอยัลไฮเนส (Royal Highness) ให้กับพระชายาและเชื้อสายคนใดในอดีตพระมหากษัตริย์ เมื่อเอ็ดเวิร์ดและวอลลิส ซิมป์สันอภิเษกกัน จึงทำให้นางซิมป์สันได้อิสริยยศเป็นแค่เกรซ (Grace)ดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ เท่านั้น
ในปี ค.ศ. 1939 สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ และพระราชสวามีทรงเป็นกษัตริย์และพระราชินีในราชบัลลังก์พระองค์แรกที่เสด็จเยือนประเทศแคนาดาและสหรัฐ การเสด็จเยือนสถานที่ต่าง ๆ ทำให้สองพระองค์ต้องเสด็จไปทั่วประเทศแคนาดาจากอีกฝั่งทะเลหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งทั้งขาไปและกลับ พร้อมทั้งเสด็จอ้อมไปยังสหรัฐอเมริกาในช่วงสั้น โดยทรงพบกับครอบครัวรูสเวลท์ที่ทำเนียบขาวและบ้านพักในบริเวณหุบเขาแม่น้ำฮัดสันด้วย การต้อนรับทั้งสองพระองค์จากชาวแคนาดาและสาธารณชนอเมริกันเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้ความรู้สึกว่าทั้งสองพระองค์เป็นตัวแทนที่ไม่มีความสลักสำคัญของสมเด็จเจ้าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ที่หลงเหลืออยู่มลายหายไป สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธเคยตรัสกับแม็กเคนซี คิง นายกรัฐมนตรีของแคนาดาว่า "การมาเยือนนี้ทำให้เราเป็นที่รู้จัก" และพระองค์ได้เสด็จกลับมาเยือนแคนาดาอีกหลายครั้งทั้งแบบราชการและส่วนพระองค์
ในประเทศแคนาดาพระองค์ทรงได้รับการกล่าวถึงตลอดพระชนม์ชีพเกี่ยวกับคำตอบแบบฉับพลันตามที่มีรายงานในคราวเสด็จมาถึงในปี ค.ศ. 1939 เมื่อมีทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คนหนึ่งทูลถามพระองค์ในระหว่างการพบปะพสกนิกรติดต่อกันครั้งหนึ่งของทั้งสองพระองค์ในช่วงแรกสุดว่า "ฝ่าพระบาทรงเป็นชาวสก็อตหรือชาวอังกฤษ" พระราชินีตรัสตอบว่า "เราก็เป็นชาวแคนาดาไงล่ะ!"
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พระมหากษัตริย์และพระราชินีทรงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความอดทนของชาติ ภายหลังจากการประกาศสงครามได้ไม่นาน ได้มีการจัดทำหนังสือ "The Queen's Book of the Red Cross" (หนังสือกาชาดในสมเด็จพระราชินี) ขึ้น นักประพันธ์และศิลปินจำนวนห้าสิบคนได้ช่วยกันเขียนเนื้อหาภายในเล่ม โดยหน้าปกเป็นพระฉายาลักษณ์ที่ถ่ายโดยเซซิล บีตันและนำออกขายเพื่อช่วยเหลือกาชาด สมเด็จพระราชินีทรงปฏิเสธที่จะเสด็จออกจาก กรุงลอนดอนแม้ว่าจะมีการทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องเมื่อทรงได้รับการถวายคำแนะนำจากเหล่าคณะรัฐมนตรี พระองค์ตรัสว่า "เด็ก ๆ จะไม่ไปไหนทั้งนั้นหากไม่มีเราไปด้วย เราจะไม่ทิ้งพระเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าอยู่หัวจะไม่เสด็จหนีไปไหนเด็ดขาด"
พระองค์เสด็จเยี่ยมสถานที่ต่าง ๆ ที่ตกเป็นเป้าทิ้งระเบิดจากกองทัพอากาศนาซีเยอรมันในกรุงลอนดอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตใน East End ใกล้กับเขต London's docks การเสด็จเยี่ยมในตอนแรกทำให้เกิดการต่อต้าน ผู้คนปาเศษขยะและหัวเราะเยาะใส่พระองค์ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ฉลองพระองค์ด้วยอาภรณ์ที่หรูหราราคาแพง ซึ่งทำให้พระองค์ผิดแผกแปลกไปจากคนอื่นซึ่งทุกข์ทรมานจากการขาดแคลนสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพอันเกิดจากสงคราม พระองค์ตรัสอธิบายว่าถ้าสาธารณชนมาเห็นพระองค์ก็จะแต่งตัวให้ดีที่สุดเช่นกัน ดังนั้นพระองค์จึงต้องตอบสนองไปในแบบเดียวกัน นอร์แมน ฮาร์ทเนลล์ ช่างพระภูษาประจำราชวงศ์ได้ฉลองพระองค์ให้สมเด็จพระราชินีด้วยสีอ่อนหวานและไม่ใช้สีดำเลย เพื่อแสดงให้เห็นถึง "สายรุ้งแห่งความหวัง" เมื่อพระราชวังบักกิงแฮมโดนระเบิดหลายครั้งระหว่างการทิ้งระเบิดหนักที่สุด พระองค์ตรัสว่า "ข้าพเจ้าดีใจที่พวกเราโดนทิ้งระเบิด มันทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าสามารถมองเห็น East End อยู่ไม่ไกลนัก"
แม้ว่าพระมหากษัตริย์และพระราชินีทรงปฏิบัติพระราชภารกิจระหว่างวันที่พระราชวังบักกิงแฮม ในส่วนของความปลอดภัยและเหตุผลของครอบครัวทั้งสองพระองค์จึงประทับค้างคืนที่ปราสาทวินด์เซอร์ (ประมาณ 20 ไมล์ หรือ 35 กิโลเมตรไปทางตะวันตกจากใจกลางกรุงลอนดอน) พร้อมกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ มกุฎราชกุมารีและเจ้าหญิงมาร์กาเรต สำนักพระราชวังต้องสูญเสียข้าราชบริพารจำนวนมากให้กับกองทัพและห้องในพระราชวังส่วนมากก็ถูกปิดลง
เนื่องจากอิทธิพลของสมเด็จพระราชินีต่อจิตใจชาวอังกฤษ กล่าวกันอดอล์ฟ ฮิตเลอร์เรียกพระองค์เป็น "ผู้หญิงที่อันตรายที่สุดในยุโรป" อย่างไรก็ดี ก่อนสงครามจะประทุขึ้น พระองค์และพระราชสวามี เช่นเดียวกับเสียงข้างมากในรัฐสภาและสาธารณชนอังกฤษได้สนับสนุนการยอมอ่อนข้อและเนวิลล์ แชมเบอร์เลน ที่เชื่อในประสบการณ์จากสงครามโลกครั้งที่ 1 เห็นว่าจะต้องหลีกเลี่ยงสงครามไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หลังจากการลาออกของแชมเบอร์เลน สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงขอให้วินส์ตัน เชอร์ชิลล์ตั้งรัฐบาลขึ้นมา แม้ว่าในตอนแรกพระองค์ยังทรงลังเลที่จะสนับสนุนเชอร์ชิลล์ แต่ทั้งพระองค์และสมเด็จพระราชินีก็ทรงเคารพนับถือและชื่นชอบในความกล้าหาญและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของเขา
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1952 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคมะเร็งที่บัปผาสะ หลังจากนั้นไม่นานสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี" พระราชอิสริยยศนี้ได้ถูกนำเอามาใช้เพราะว่าพระราชอิสริยยศตามธรรมดาของพระราชินีหม้ายในกษัตริย์องค์ก่อน "สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ" คล้ายคลึงกับพระราชอิสริยยศของพระธิดาองค์โต ซึ่งตอนนี้คือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มากเกินไป พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายว่า "สมเด็จพระราชชนนี" หรือ "ควีนมัม"
พระองค์ทรงโทมนัสกับการเสด็จสวรรคตของพระราชสวามีเป็นอย่างมากและได้ทรงปลีกพระองค์ไปประทับยังสก็อตแลนด์ แต่กระนั้นหลังจากการพบปะกับนายวินส์ตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีแล้วก็ทรงเลิกเก็บพระองค์อยู่โดดเดี่ยวและเสด็จกลับมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจเช่นเดิม ในที่สุดพระองค์ก็ทรงงานมากมายในฐานะพระราชชนนีอย่างที่เคยทรงกระทำในสมัยเป็นพระราชินี ในช่วงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1953 พระองค์เสด็จเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกตั้งแต่งานพระราชพิธีพระบรมศพของพระราชสวามี ไปในการวางฐานเสาหินที่เมือง Mount Pleasant ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยซิมบับเวในปัจจุบัน
สมเด็จพระราชชนนียังทรงควบคุมงานบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทเมย์ที่ตั้งอยู่ไกลออกไปตรงชายฝั่งมณฑลเคธเนส สก็อตแลนด์ ซึ่งได้เคยทรงใช้เป็นที่ "หลบให้พ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง" เป็นเวลาสามสัปดาห์ในเดือนสิงหาคมและสิบวันในเดือนตุลาคม พระองค์ทรงเริ่มสนพระทัยในการแข่งม้าที่ยังอยู่ต่อเนื่องตลอดพระชนม์ชีพ โดยทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ผู้ชนะจากการแข่งขันจำนวนห้าร้อยรายการ สีฟ้าอ่อนที่โดดเด่นของพระองค์ได้นำมาผูกไว้กับม้ามากมาย อย่างเช่น Special Cargo ซึ่งเป็นผู้ชนะในการแข่งขัน Whitbread Gold Cup และ The Argonaut ในปี ค.ศ. 1984 แม้ (ตรงข้ามกับข่าวลือ) พระองค์ไม่ทรงเคยวางพนัน แต่ก็ทรงได้บทวิจารณ์การณ์การแข่งขันโดยตรงยังตำหนักคลาเรนซ์ พระราชฐานในกรุงลอนดอนของพระองค์ ดังนั้นจึงทรงติดตามการแข่งขันได้
ก่อนการอภิเษกสมรสของไดอานา สเปนเซอร์กับเจ้าชายชาลส์และหลังจากการสิ้นพระชนม์ของไดอานา สมเด็จพระราชชนนีซึ่งเป็นที่รู้จักในเรื่องของเสน่ห์ส่วนพระองค์และต่อสาธารณชนทรงเป็นสมาชิกที่น่านิยมชมชอบมากที่สุดในพระราชวงศ์อังกฤษ ฉลองพระองค์อันเป็นสัญลักษณ์ที่มีพระมาลาเปิดหน้าประดับด้วยตาข่ายและชุดกระโปรงที่มีดิ้นประดับลายผ้ากลายมาเป็นรูปแบบส่วนพระองค์ที่โดดเด่นเป็นพิเศษ สมเด็จพระราชชนนีทรงมีความรักอันเข้าถึงได้ต่อศิลปะและทรงซื้อผลงานของโคลด โมเน็ต์ ออกัสตัส จอห์น และปีเตอร์ คาร์ล ฟาแบร์เช มากกว่าศิลปินคนอื่น ๆ ภาพเขียนต่าง ๆ ที่ทรงซื้อมาได้โอนย้ายไปสู่สำนักการสะสมงานศิลป์หลวง (Royal Collection) ภายหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระองค์
ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จพระราชชนนีทรงเป็นที่รู้จักในเรื่องของพระชนมายุที่ยืนยาว งานเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 100 พรรษาจัดขึ้นในหลายรูปแบบ เช่น ขบวนพาเหรดที่เฉลิมฉลองเหตุการณ์สำคัญในพระชนม์ชีพของพระองค์ การร่วมแสดงของนอร์แมน วิสด็อมและจอห์น มิลส์ พระองค์ทรงร่วมเสวยพระกระยาหารกลางวันที่ศาลาว่าการกิลด์ฮอล กรุงลอนดอน กับ จอร์จ คาเรย์ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ซึ่งพยายามจะดื่มไวน์ในแก้วของพระองค์โดยบังเอิญ แต่การรีบห้ามของพระองค์โดยตรัสว่า "นั่นของเรานะ" ได้สร้างความขบขันไปทั่ว
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2001 สมเด็จพระราชชนนีทรงหกล้ม ทำให้กระดูกเชิงกรานของพระองค์ร้าว แต่ยังทรงยืนกรานที่ยืนเคารพเพลงชาติในงานพระราชพิธีรำลึกถึงพระราชสวามีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ในปีต่อมา เพียงสามวันต่อมา เจ้าหญิงมาร์กาเรต พระราชธิดาพระองค์ที่สองก็สิ้นพระชนม์ลง นอกจากนี้พระองค์ทรงหกล้มและ เกิดบาดแผลบนพระกรในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2002 ณ พระราชวังซันดริงแฮม แพทย์และรถพยาบาลพร้อมด้วยหน่วยช่วยชีวิต (หน่วยหลังมาเพื่อการป้องกันไว้ล่วงหน้า) ถูกเรียกมายังพระราชวังแซนดริงแฮม ซึ่งแพทย์ได้รักษาบาดแผลที่พระกรให้กับพระองค์ แม้ว่าจะทรงหกล้ม สมเด็จพระราชชนนีมีพระประสงค์จะเสด็จไปในงานพระศพของเจ้าหญิงมาร์กาเรตที่โบสถ์เซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์ในสองวันต่อมา ซึ่งเป็นวันศุกร์ในสัปดาห์นั้น สมเด็จพระราชินีนาถและพระบรมวงศ์ต่างก็ทรงเป็นห่วงกับการเสด็จมาของสมเด็จพระราชชนนีซึ่งต้องเสด็จตรงจากนอร์โฟล์คยังวินด์เซอร์ แม้กระนั้นพระองค์ก็เสด็จมาแต่ทรงยืนกรานว่าจะต้องไม่ทรงเผชิญหน้ากับสื่อมวลชนเลย ดังนั้นจึงไม่มีภาพของพระองค์ประทับบนเก้าอี้รถเข็นให้เห็นเลย ซึ่งทำให้ได้เพียงแค่เป็นภาพที่พระองค์ประทับบนรถพระที่นั่งเท่านั้น
ในวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 2002 เวลา 15.30 นาฬิกา สมเด็จพระราชชนนีเสด็จสวรรคตอย่างสงบขณะบรรทมหลับที่ตำหนักรอยัลล็อดจ์ เมืองวินด์เซอร์ โดยมีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชธิดายังคงทรงพระชนม์ชีพประทับอยู่เคียงข้าง พระองค์ประชวรด้วยโรคหวัดมาตลอดสี่เดือน มีพระชนมพรรษาได้ 101 พรรษาและยังทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ที่มีพระชนม์ชีพยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ
พระองค์ทรงปลูกดอกชาในทุกอุทยานของพระองค์ และด้วยพระบรมศพของพระองค์ถูกนำมาจากตำหนักรอยัลล็อดจ์ เมืองวินด์เซอร์เพื่อตั้งไว้ให้พสกนิกรมาสักการะที่ห้องโถงใหญ่เวสต์มินสเตอร์ ดอกชาจากอุทยานของพระองค์จึงถูกนำมาวางบนโลงพระบรมศพคลุมด้วยธงพระอิสริยายศประจำพระองค์ พสกนิกรจำนวนมากกว่าสองแสนคนเรียงแถวมาถวายสักการะพระบรมศพเพราะว่าโลงพระบรมศพตั้งอยู่ในห้องโถงใหญ่เวสต์มินสเตอร์ ในอาคารรัฐสภาเป็นเวลาสามวัน ในช่วงเวลานั้นโลงพระบรมศพจะมีทหารม้าของสำนักพระราชวังและจากเหล่าทัพอื่นคุ้มกันอยู่ พระราชนัดดาทั้ง 4 พระองค์ และ 1 ท่านคือ สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเอดินบะระ และ เดวิด อาร์มสตรอง-โจนส์ เอิร์ลที่ 2 แห่งสโนว์ดอน ได้ประทับยืนคุ้มกันอยู่สี่มุมของโลงพระบรมศพที่จุดหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีเจมส์ บลันท์ พนักงานหน่วยกู้ชีวิตหนุ่ม ซึ่งต่อมากลายเป็นนักร้องชื่อดัง ร่วมยืนแบกโลงพระศพในช่วงเวลาหนึ่งด้วยเหมือนกัน
9 เมษายน ซึ่งเป็นวันพิธีพระบรมศพ พสกนิกรมากกว่าหนึ่งล้านคนอยู่เต็มลานนอกเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์และยาวตลอด 23 ไมล์จากใจกลางกรุงลอนดอนจนถึงที่พำนักสุดท้ายของพระองค์เคียงข้างพระราชสวามีและพระราชธิดาองค์เล็กในโบสถ์เซ็นต์จอร์จ ที่ปราสาทวินด์เซอร์ และจากความต้องการของพระองค์ หลังจากพิธีพระบรมศพให้นำพวงหรีดที่ได้วางอยู่บนโลงพระศพไปวางไว้บนหลุมฝังศพของทหารนิรนามในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ซึ่งสะท้อนให้รำลึกถึงวันอภิเษกสมรสของพระองค์
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.