Loading AI tools
พระวรชายาของ เจ้าชายวิลเลี่ยม เจ้าชายแห่งเวลส์ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แคเธอริน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (อังกฤษ: Catherine, Princess of Wales; 9 มกราคม ค.ศ. 1982)[1] หรือนามเดิม แคเธอริน เอลิซาเบธ มิดเดิลตัน (อังกฤษ: Catherine Elizabeth Middleton) เป็นพระชายาในเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 1 ในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์อังกฤษ ซึ่งทำให้แคเธอรินเป็นว่าที่สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักรในอนาคต[2]
แคเธอริน | |
---|---|
เจ้าหญิงแห่งเวลส์ | |
แคเธอริน ในปี 2023 | |
ประสูติ | โรงพยาบาลรอยัลบาร์กเชอร์ บาร์กเชอร์ อังกฤษ, สหราชอาณาจักร แคเธอรีน เอลิซาเบธ มิดเดิลตัน | 9 มกราคม ค.ศ. 1982
พระสวามี | เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ (2011–ปัจจุบัน) |
พระบุตร | เจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวลส์ เจ้าชายหลุยส์แห่งเวลส์ |
ราชวงศ์ | วินด์เซอร์ (เสกสมรส) |
พระบิดา | ไมเคิล ฟรานซิส มิดเดิลตัน |
พระมารดา | คาโรล เอลิซาเบธ โกลด์สมิธ |
ศาสนา | คริสตจักรอังกฤษ |
ลายพระอภิไธย |
แคเธอรีน เอลิซาเบธ มิดเดิลตันประสูติเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2525[3] ณ โรงพยาบาลรอยัลบาร์กเชอร์ (Royal Berkshire Hospital) เมืองเรดดิง (Reading) บาร์กเชอร์ (Berkshire) พระองค์เป็นบุตรของ ไมเคิล ฟรานซิส มิดเดิลตัน และ คาโรล เอลิซาเบธ โกลด์สมิธ พระองค์ได้เข้าศึกษา ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ ประเทศสกอตแลนด์ ในระหว่างศึกษาพระองค์ได้พบกับเจ้าชายวิลเลียมและได้คบหากันเมื่อ พ.ศ. 2549 แม้ความสัมพันธ์จะห่างกันในปีต่อมา แต่ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2551 มิดเดิลตันก็ได้ร่วมงานประดับยศทางทหารอากาศของวิลเลียม
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 สำนักพระราชวังอังกฤษได้แถลงว่า เจ้าชายวิลเลียมได้ทรงหมั้นกับมิดเดิลตันในประเทศเคนยา และเข้าพระราชพิธีเสกสมรสในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554 ณ เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์[3] หลังพระราชพิธีเสร็จสิ้นพระองค์ทรงได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเป็นดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
ทั้งสองมีพระโอรส-ธิดาด้วยกันสามพระองค์ คือ เจ้าชายจอร์จ (22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556) เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ (2 พฤษภาคม พ.ศ. 2558) และเจ้าชายหลุยส์ (23 เมษายน พ.ศ. 2561) ผู้สืบราชสันตติวงศ์สหราชอาณาจักรลำดับที่สอง สาม และสี่ ตามลำดับ[4][5][6][7][8]
วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565 สำนักพระราชวังอังกฤษได้แถลงว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต ทำให้เจ้าชายชาลส์ พระสัสสุระ ขึ้นสืบราชสมบัติเป็น สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3
ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2565 สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 มีพระราชดำรัสถวายอาลัยแด่พระราชชนนีผู้ล่วงลับ และทรงสถาปนาพระราชโอรส เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งคอร์นวอลล์และเคมบริดจ์ ผู้เป็นพระสวามีในแคเธอริน เป็น เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ ทำให้แคเธอรินทรงดำรงพระอิสริยยศที่ เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ในฐานะพระชายาในเจ้าชายแห่งเวลส์
เจ้าหญิงแห่งเวลส์เสด็จไปทรงรับการถวายการผ่าตัดช่องพระนาภี ที่เดอะลอนดอนคลินิก ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2024 ซึ่งไม่ได้มีการระบุสาเหตุรวมถึงพระอาการเบื้องต้น[9] เจ้าหญิงทรงเลื่อนหมายกำหนดการพระกรณียกิจไปจนถึงช่วงหลังอีสเตอร์ ปีเดียวกัน[10] สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการเข้ารับการถวายการผ่าตัดและพระอาการของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ว่า “ไม่ใช่มะเร็ง”[11] การคาดเดาต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับการไม่ปรากฏพระองค์ของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ก่อให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดมากมาย รวมทั้งยังดึงดูดความสนใจของเหล่าสื่อมวลชนเป็นวงกว้าง[12][13]
กระทั่งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 2024 แคเธอริน เจ้าหญิงแห่งเวลส์มีพระดำรัสประกาศผ่านวิดีโอส่วนพระองค์ว่า ผลการวินิจฉัยพระอาการที่ได้ทรงเข้ารับการถวายการผ่าตัดครั้งที่ผ่านมาได้ยืนยันแล้วว่าทรงประชวรพระโรคมะเร็ง และจะทรงเข้ารับการถวายการรักษาด้วยเคมีบำบัด[14][15]
อย่างไรก็ดี ผลการวินิจฉัยหลังการผ่าตัดพบว่ามีมะเร็งอยู่ ดังนั้น ทีมแพทย์ของข้าพเจ้าจึงแนะนำว่าข้าพเจ้าควรรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด และตอนนี้ข้าพเจ้าก็อยู่ในช่วงต้นของการรักษาดังกล่าว
— แคเธอริน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ตรัสในวิดีโอส่วนพระองค์
ทั้งนี้ การถวายการรักษาด้วยเคมีบำบัดเริ่มต้นขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ทางสำนักพระราชวังระบุว่า จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นส่วนพระองค์ใด ๆ เพิ่มเติม และจะไม่มีการเปิดเผยด้วยว่าเป็นมะเร็งชนิดใด[16]
วันที่ 14 มิถุนายน ปีเดียวกัน สำนักพระราชวังเคนซิงตันเผยแพร่พระฉายาลักษณ์และข้อความประทานเกี่ยวกับการรักษาพระอาการประชวรจากเจ้าหญิงแห่งเวลส์ หลังจากทรงได้รับการวินิจฉัยพบมะเร็งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ยังทรงรับการถวายการรักษามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรักษาด้วยเคมีบำบัด[17] และทรงเผยว่าจะเสด็จไปทรงร่วมพระราชพิธีสวนสนามเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาประจำปีนี้ที่ด้วย[18]
ในข้อความประทาน ทรงมีพระดำรัสว่า ยังทรงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนในการรักษามะเร็ง หากแต่โดยรวมเป็นไปได้ด้วยดี แต่มีบางวันที่ทรงมีพระอาการแปรปรวนเล็กน้อยเท่านั้น
(การรักษา)บางวันทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกอ่อนล้า ไม่มีเรี่ยวแรงจะยืน ก็ต้องพักผ่อนร่างกายบ้าง (การรักษา)บางวันที่รู้สึกดี ใช้เวลาอยู่กับตัวเองที่ทำให้มีพลัง ได้ทำงานทำการในบ้านบ้าง
— แคเธอริน เจ้าหญิงแห่งเวลส์
โฆษกประจำสำนักพระราชวังบักกิงแฮม ได้เผยว่า สมเด็จพระเจ้าชาลส์ ทรงปีติโสมนัสอย่างยิ่งที่เจ้าหญิงแห่งเวลส์ จะโดยเสด็จในพระราชพิธีใหญ่ครั้งนี้ด้วย
กระทั่งวันที่ 15 มิถุนายน 2024 แคเธอริน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ประทับรถยนต์พระที่นั่ง โดยเสด็จเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ เสด็จไปทรงร่วมพระราชพิธีสวนสนามเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ และเสด็จออกสีหบัญชรพระราชวังบักกิงแฮมร่วมกับสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 สมเด็จพระราชินีคามิลลา และพระบรมวงศ์[19] ถือได้ว่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ได้เสด็จออกร่วมงานเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนธันวาคม 2023 ที่ทรงร่วมเสด็จออกในพิธีทางศาสนาในวันคริสต์มาส ณ เขตพระราชฐานซานดริงแฮม
วันที่ 10 กันยายน 2024 สำนักพระราชวังเคนซิงตันเผยแพร่วิดีโอเกี่ยวกับพระสุขภาพของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ที่เต็มไปด้วยอารมณ์และสีสันอบอุ่นของฤดูเก็บเกี่ยว จนราวจะให้ความรู้สึกเศร้าสร้อย ซึ่งฉายภาพให้เห็นช่วงเวลาที่เจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงพระดำเนินในชนบทกับครอบครัว ซึ่งการถ่ายทำเกิดขึ้นในมณฑลนอร์ฟอล์กเมื่อเดือนที่แล้ว ไม่ใช่รูปแบบแถลงการณ์ปกติของพระราชวงศ์อังกฤษ
การเปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับพระสุขภาพของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ส่งสัญญาณเชิงบวกเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการรับการรักษา แต่สำนักพระราชวังเคนซิงตันระบุว่า ในขั้นตอนนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าทรงปลอดมะเร็งหรือไม่อย่างไร[20]
...ในขณะที่ฤดูร้อนกำลังสิ้นสุดลง ข้าพเจ้าไม่อาจบอกท่านทั้งหลายได้ว่าข้าพเจ้ารู้สึกโล่งใจแค่ไหนที่ในที่สุด ข้าพเจ้าก็เสร็จสิ้นการรักษาด้วยเคมีบำบัด...
...เส้นทางสู่การรักษาและการฟื้นตัวเต็มที่ของข้าพเจ้ายังอีกยาวไกล และข้าพเจ้าต้องค่อย ๆ รับมือกับทุกวันตามที่มันเป็นไป...— แคเธอริน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ มีพระดำรัสผ่านภาพยนตร์
ภายหลังการอภิเษกสมรสกับเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ (พระยศในขณะนั้น) ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2554 ทำให้แคทเธอรีนทรงเป็นเจ้าหญิงแห่งสหราชอาณาจักรโดยทันที และได้รับอิสริยยศเป็นดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ เคาน์เตสแห่งสแตรธเอิร์น และบารอนเนสแคร์ริกเฟอร์กัส[21] พระอิสริยยศเต็มของพระองค์ในขณะนั้นคือ เฮอร์รอยัลไฮเนส ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ ยกเว้นในสกอตแลนด์ พระอิสริยยศของพระองค์จะถูกเรียกว่า เฮอร์รอยัลไฮเนส เคาน์เตสแห่งสแตรธเอิร์น แทน[3]
ส่วนพระอิสริยยศเต็ม ตั้งแต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธืที่ 2 เสด็จสววรคตเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2565 คือ เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าฟ้าหญิงวิลเลียม อาเธอร์ ฟิลิป หลุยส์ , เจ้าหญิงแห่งเวลส์, ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์, ดัชเชสแห่งรอธซี, ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์, เคาน์เตสแห่งเชสเตอร์, เคาน์เตสแห่งแคร์ริก, เคาน์เตสแห่งสแตรธเอิร์น, บารอนเนสแห่งเรนฟรูว์, บารอนเนสแคร์ริกเฟอร์กัส, เลดี้แห่งดิไอล์, เจ้าหญิงและจอมทัพหญิงแห่งสกอตแลนด์, ท่านผู้หญิงแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญแห่งสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.