Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สโลวาเกีย (อังกฤษ: Slovakia; สโลวัก: Slovensko) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐสโลวัก (อังกฤษ: Slovak Republic; สโลวัก: Slovenská republika)[3] เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในภูมิภาคยุโรปกลาง มีอาณาเขตทางตะวันตกเฉียงเหนือติดต่อกับเช็กเกีย ทางเหนือติดต่อกับโปแลนด์ ทางตะวันออกติดต่อกับยูเครน ทางใต้ติดต่อกับฮังการี และทางตะวันตกเฉียงใต้ติดต่อกับออสเตรีย สโลวาเกียมีพื้นที่ 49,000 ตารางกิโลเมตร (19,000 ตารางไมล์) มีประชากร 5.4 ล้านคน เมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศคือบราติสลาวา รองลงมาคือกอชิตเซ
สาธารณรัฐสโลวัก Slovenská republika (สโลวัก) | |
---|---|
คำขวัญ: ไม่มี | |
เมืองหลวง และเมืองใหญ่สุด | บราติสลาวา 48°09′N 17°07′E |
ภาษาราชการ | ภาษาสโลวัก |
การปกครอง | รัฐเดี่ยว สาธารณรัฐระบบรัฐสภา |
• ประธานาธิบดี | เปเตร์ เปเลกรีนี |
• นายกรัฐมนตรี | รอเบร์ต ฟิตซอ |
ได้รับเอกราช | |
• จาก เชโกสโลวาเกีย1 | 1 มกราคม พ.ศ. 2536 |
พื้นที่ | |
• รวม | 49,036 ตารางกิโลเมตร (18,933 ตารางไมล์) (127) |
น้อยมาก | |
ประชากร | |
• ก.ค. 2548 ประมาณ | 5,431,363 (103) |
• สำมะโนประชากร 2544 | 5,379,455 |
111 ต่อตารางกิโลเมตร (287.5 ต่อตารางไมล์) (67) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | 2560 (ประมาณ) |
• รวม | $ 178.660 พันล้าน |
• ต่อหัว | $ 32,895 |
จีดีพี (ราคาตลาด) | 2560 (ประมาณ) |
• รวม | $ 94.997 พันล้าน |
• ต่อหัว | $ 17,491 |
จีนี (2018) | 20.9[1] ต่ำ · 8 |
เอชดีไอ (2019) | 0.860[2] สูงมาก · 39 |
สกุลเงิน | ยูโร (EUR) |
เขตเวลา | UTC+1 (CET) |
UTC+2 (CEST) | |
รหัสโทรศัพท์ | 4212 |
โดเมนบนสุด | .sk |
1เชโกสโลวะเกียแยกออกเป็นสาธารณรัฐเช็ก (เช็กเกีย) และสโลวาเกีย 2ใช้รหัส 42 ร่วมกับสาธารณรัฐเช็กจนถึงปี พ.ศ. 2540 |
ชาวสลาฟเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนปัจจุบันของสโลวาเกียประมาณศตวรรษที่ 5 ถึงศตวรรษที่ 6 และนำไปสู่การก่อตั้ง จักรวรรดิซาโมในศตวรรษที่ 7 ต่อมาในศตวรรษที่ 9 เกิดการสถาปนาราชรัฐญิตราซึ่งต่อมาถูกยึดครองโดยราชรัฐมอเรเวียและนำไปสู่การสถาปนาจักรวรรดิมอเรเวีย การล่มสลายของจักรวรรดิทำให้ดินแดนทั้งหมดถูกผนวกกลายเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรฮังการีใน ค.ศ. 1000[4] การบุกครองทวีปยุโรปของมองโกลในศตวรรษที่ 13 ทำให้ดินแดนส่วนใหญ่ถูกทำลาย และได้รับการบูรณะอีกครั้งโดยกษัตริย์เบลาที่ 4 แห่งฮังการี ในช่วงเวลานั้น ชาวเยอรมันคาร์เพเทียนซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเยอรมันมีบทบาทสำคัญในดินแดนทั้งหมด โดยเฉพาะทางภูมิภาคตอนกลางและตะวันออกของสโลวาเกียในปัจจุบัน[5]
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและการล่มสลายของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ประเทศเชโกสโลวาเกียได้ถือกำเนิดขึ้น ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนของสโลวัก ก่อให้เกิดสาธารณรัฐสโลวักที่ 1 ในฐานะรัฐบริวารของนาซีเยอรมนี นำไปสู่การกดขี่ประชากรชาวยิวอย่างรุนแรงและลงเอยด้วยการเนรเทศและสังหารชาวยิวกว่า 70,000 ราย ขบวนการต่อต้านนาซีก่อให้เกิดการก่อการกำเริบชาติสโลวาเกีย แม้ว่าในที่สุดการจลาจลจะถูกปราบปราม แต่การต่อต้านยังคงดำเนินต่อไป และเชโกสโลวาเกียได้รับเอกราชอีกครั้งเมื่อสิ้นสุดสงคราม และภายหลังการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยในช่วงเวลาสั้น ๆ เชโกสโลวาเกียก็กลายเป็นรัฐคอมมิวนิสต์หลังการรัฐประหารใน ค.ศ. 1948 และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มตะวันออกที่นำโดยสหภาพโซเวียต ความพยายามในการเปิดเสรีทางการเมืองในประเทศสิ้นสุดลงในช่วงปรากสปริง ซึ่งถูกปราบปรามโดยการบุกครองเชโกสโลวาเกียของฝ่ายกติกาสัญญาวอร์ซอในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1968 ต่อมาใน ค.ศ. 1989 เกิดเหตุการณ์การปฏิวัติกำมะหยี่ซึ่งเปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองของประเทศ และถือเป็นจุดสิ้นสุดของระบอบคอมมิวนิสต์ที่ครอบงำประเทศหลายทศวรรษและเปลี่ยนไปเป็นรัฐแบบทุนนิยม การยุบเชโกสโลวาเกียส่งผลให้สโลวาเกียมีฐานะเป็นรัฐเอกราชเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1993
สโลวาเกียเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายได้สูงและระบบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า โดยมีการผสมผสานระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเข้ากับระบบประกันสังคมที่ครอบคลุม รวมถึงการให้พลเมืองได้รับการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า และระบบการศึกษาโดยไม่เสียค่าเล่าเรียน อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชากรหญิงสามารถใช้สิทธิ์ลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้างยาวนานที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกโออีซีดี[6] สโลวาเกียเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป, ยูโรโซน, พื้นที่เชงเกน, สหประชาชาติ, เนโท, องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป และ องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป สโลวาเกียมีแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโกแปดแห่ง และยังเป็นประเทศที่มีอัตราการผลิตรถยนต์ต่อหัวรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีการผลิตมากกว่า 1.1 ล้านคันใน ค.ศ. 2019 คิดเป็น 43% ของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด[7]
ที่ตั้ง อยู่ตอนกลางของทวีปยุโรป ไม่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเล ทิศเหนือติดกับโปแลนด์ ทิศใต้ติดกับฮังการี ทิศตะวันออกติดกับยูเครน และทิศตะวันตกติดกับเช็กเกียและออสเตรีย พื้นที่ 49,035 ตารางกิโลเมตร เมืองหลวง กรุงบราติสลาวา (Bratislava) ภูมิอากาศ อากาศเย็นในหน้าร้อน และช่วงหน้าหนาวค่อนข้างหนาว มีหมอกและอากาศชื้น
ในช่วงเวลาประมาณ 450 ปีก่อนคริสต์ศักราช บริเวณดินแดนที่เป็นประเทศสโลวาเกียทุกวันนี้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของพวกเคลต์ซึ่งเป็นผู้สร้างออปปีดา (oppida - ชุมชนขนาดใหญ่ในช่วงปลายยุคเหล็ก มีลำน้ำล้อมรอบ) ที่บราติสลาวาและฮาฟรานอค เหรียญเงินที่มีชื่อของกษัตริย์เคลต์จารึกไว้ ที่เรียกว่า ไบอะเท็ก (Biatec) เป็นสิ่งแสดงถึงการใช้ตัวอักษรเป็นครั้งแรกในดินแดนแห่งนี้ ในปี ค.ศ. 6 (ประมาณ พ.ศ. 549) จักรวรรดิโรมันอันกว้างใหญ่ได้จัดตั้งและบำรุงแนวกองรักษาด่านรอบ ๆ แม่น้ำดานูบ ต่อมาราชอาณาจักรวานนีอุสได้ปรากฏขึ้นในสโลวาเกียตอนกลางและตะวันตก โดยการจัดตั้งของพวกอนารยชนเผ่าควอดี ซึ่งเป็นชนเผ่าเยอรมันสาขาหนึ่ง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 20-50 (ประมาณปี พ.ศ. 563-593)
ชาวสลาฟเข้ามาตั้งหลักแหล่งในดินแดนสโลวาเกียในคริสต์ศตวรรษที่ 5 และภาคตะวันตกของสโลวาเกียกลายเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิกษัตริย์ซาโมในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ต่อมารัฐสโลวักที่ชื่อ ราชรัฐญิตรา (Principality of Nitra) ก็ได้ก่อตัวขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 8 และเมื่อถึงปี ค.ศ. 828 (พ.ศ. 1371) เจ้าชายพรีบีนาสร้างโบสถ์คริสต์แห่งแรกขึ้นในสโลวาเกีย ราชรัฐนี้ได้เข้าร่วมกับแคว้นมอเรเวียเป็นบริเวณศูนย์อำนาจของจักรวรรดิเกรตมอเรเวีย (Great Moravian Empire) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 833 (พ.ศ. 1376) จุดสูงสุดของราชรัฐสโลวักแห่งนี้ได้มาถึงพร้อมกับการเข้ามาของนักบุญซีริลและนักบุญเมโทดีอุสในปี ค.ศ. 863 (พ.ศ. 1406) อยู่ในสมัยของเจ้าชายราสตีสลาฟ และอีกช่วงหนึ่งคือช่วงขยายดินแดนในสมัยพระเจ้าสเวตอพลุคที่ 1
ภายหลังการกระจัดกระจายของจักรวรรดิเกรตมอเรเวียในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 ชาวมอยอร์ (ชาวฮังการี) ก็ค่อย ๆ เข้าครอบครองดินแดนสโลวาเกียปัจจุบัน ภายในศตวรรษเดียวกัน สโลวาเกียตะวันตกเฉียงใต้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชรัฐฮังการี (Hungarian principality) ซึ่งมีฐานะเป็นราชอาณาจักรฮังการี (Kingdom of Hungary) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1000 (พ.ศ. 1543) พื้นที่ส่วนใหญ่ของสโลวาเกียถูกผนวกเข้ากับราชอาณาจักรแห่งนี้เมื่อถึงปี ค.ศ. 1100 (พ.ศ. 1643) และพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อถึงปี ค.ศ. 1400 (พ.ศ. 1943)
เนื่องจากเศรษฐกิจระดับสูงและการพัฒนาทางวัฒนธรรมที่มากขึ้น สโลวาเกียจึงยังคงมีความสำคัญในรัฐใหม่แห่งนี้ เป็นเวลาเกือบสองศตวรรษที่ราชรัฐญิตรามีการปกครองตนเองภายในราชอาณาจักรฮังการี การตั้งถิ่นฐานของชาวสโลวักได้ขยายเข้าไปในตอนเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ของฮังการีในปัจจุบัน ในขณะที่ชาวแมกยาร์ก็เริ่มตั้งหลักแหล่งทางใต้ของสโลวาเกีย การผสมผสานทางชาติพันธุ์มีความหลากหลายมากขึ้นหลังจากการเข้ามาของชาวเยอรมันคาร์เพเทียนในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ชาววลาคในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และชาวยิว
การสูญเสียประชากรขนานใหญ่เกิดขึ้นเมื่อพวกมองโกลจากเอเชียกลางเข้ามารุกรานในปี ค.ศ. 1241 (พ.ศ. 1784) ซึ่งก่อให้เกิดทุพภิกขภัยตามมา อย่างไรก็ตาม เมืองต่าง ๆ สโลวาเกียในยุคกลางก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีการก่อสร้างปราสาทหลายแห่ง รวมทั้งมีการพัฒนาศิลปะ ในปี ค.ศ. 1467 (พ.ศ. 2010) มัตตีอัส กอร์วีนุสได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกขึ้นในบราติสลาวา แต่สถาบันแห่งนี้ก็ดำรงอยู่ได้ไม่นาน
ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 หลังจากที่จักรวรรดิออตโตมันได้เริ่มขยายอาณาเขตเข้ามาในฮังการีและสามารถยึดครองเมืองสำคัญ คือ บูดา (Buda) และแซแคชแฟเฮร์วาร์ (Szekesfehérvár) ไว้ได้ ศูนย์กลางของอาณาจักรฮังการี (ภายใต้ชื่อ รอแยลฮังการี) ได้ย้ายขึ้นไปสู่สโลวาเกีย บราติสลาวา (ขณะนั้นรู้จักกันในชื่อ เพรสส์บูร์ก โพโชนย์ เพรชพอรอค หรือ โปโซนีอุม) ได้กลายเป็นเมืองหลวงของรอแยลฮังการีในปี ค.ศ. 1536 (พ.ศ. 2079) แต่สงครามออตโตมันและการจลาจลต่อต้านราชวงศ์ฮับสบูร์กที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งได้ก่อให้เกิดการทำลายล้างที่ใหญ่หลวงโดยเฉพาะในเขตชนบท ความสำคัญของสโลวาเกียภายในฮังการีลดลงเมื่อพวกเติร์กได้ล่าถอยออกไปจากอาณาจักรในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 แต่บราติสลาวายังคงสถานะเป็นเมืองหลวงของฮังการีจนกระทั่งปี ค.ศ. 1848 (พ.ศ. 2391) จึงย้ายเมืองหลวงกลับไปที่บูดาเปสต์
ระหว่างการปฏิวัติในปี 1848-1849 (พ.ศ. 2391-2392) ชาวสโลวักให้การสนับสนุนจักรพรรดิออสเตรียด้วยความหวังที่จะแยกตัวจากฮังการี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ในยุคสมัยของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1867-1918 (พ.ศ. 2410-2461) ชาวสโลวักต้องประสบกับการกดขี่ทางวัฒนธรรมอย่างเข้มงวดจากนโยบายทำให้เป็นแมกยาร์ที่รัฐบาลฮังการีเป็นผู้ส่งเสริม
ในปี ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461) สโลวาเกียได้ร่วมกับแคว้นโบฮีเมีย (Bohemia) และแคว้นมอเรเวีย (Moravia) ซึ่งเป็นดินแดนข้างเคียงเพื่อก่อตั้งประเทศเชโกสโลวาเกีย (Czechoslovakia) เป็นอิสระจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี โดยได้รับการรับรองจากสนธิสัญญาแซงแชร์แมงและสนธิสัญญาตรียานง ในปีถัดมา คือ ค.ศ. 1919 (พ.ศ. 2462) เป็นช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายที่ตามมาหลังการแตกแยกของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ดินแดนสโลวาเกียได้ถูกโจมตีจากสาธารณรัฐโซเวียตฮังการี (Hungarian Soviet Republic) พื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของสโลวาเกียได้ถูกยึดครองและตั้งเป็นสาธารณรัฐโซเวียตสโลวัก (Slovak Soviet Republic) อยู่ไม่ถึงหนึ่งเดือน จึงถูกกองทัพเชโกสโลวักยึดพื้นที่คืนมาได้
ในปี ค.ศ. 1939 ประธานาธิบดียอเซฟ ตีซอ ผู้นิยมนาซีเยอรมนี ได้ประกาศให้สาธารณรัฐสโลวักที่ 1 (First Slovak Republic) เป็นเอกราชจากเชโกสโลวาเกีย จึงเกิดขบวนการต่อต้านนาซีขึ้นซึ่งได้ก่อการประท้วงที่รู้จักกันในชื่อ การลุกฮือของชาวสโลวัก (Slovak National Uprising) ในปี ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487) แม้ว่ากลุ่มผู้ก่อการจลาจลจะถูกปราบปรามลงได้ แต่การสู้รบแบบกองโจรก็ยังดำเนินต่อไป จนกระทั่งกองทัพโซเวียต (ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพโรมาเนีย) เข้ามาขับไล่นาซีออกไปจากสโลวาเกียในปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488)
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เชโกสโลวาเกียได้รับการจัดตั้งเป็นประเทศขึ้นใหม่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตและสนธิสัญญาวอร์ซอตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) เป็นต้นมา ต่อมาในปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ประเทศนี้ได้กลายเป็นรัฐสหพันธ์ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเช็ก (Czech Socialist Republic) และสาธารณรัฐสังคมนิยมสโลวัก (Slovak Socialist Republic)
การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ในเชโกสโลวาเกียสิ้นสุดลงเมื่อถึงปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) ซึ่งอยู่ในช่วงการปฏิวัติเวลเวต (Velvet Revolution) อันเป็นไปอย่างสันติ ตามมาด้วยการสลายตัวของประเทศออกเป็นรัฐสืบสิทธิ์สองรัฐ นั่นคือ สโลวาเกียและสาธารณรัฐเช็กได้แยกออกจากกันหลังวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) เหตุการณ์นี้บางครั้งเรียกว่าการแยกทางเวลเวต (Velvet Divorce) อย่างไรก็ตาม สโลวาเกียยังคงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสาธารณรัฐเช็กเช่นเดียวกับประเทศยุโรปกลางอื่น ๆ ในกลุ่มวีเซกราด สโลวาเกียได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547)
สโลวาเกียเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีระบบหลายพรรค การเลือกตั้งรัฐสภาครั้งสุดท้ายมีขึ้นในวันที่ 30 กันยายน 2023 และมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2 รอบในวันที่ 16 และ 30 มีนาคม 2019
ประมุขแห่งรัฐสโลวักและหัวหน้าอย่างเป็นทางการของผู้บริหารคือประธานาธิบดี (ปัจจุบันคือ ซูซานา ชาปูตอวา ประธานาธิบดีหญิงคนแรก) แม้ว่าจะมีอำนาจที่จำกัดมากก็ตาม ประธานาธิบดีได้รับเลือกโดยการลงคะแนนเสียงโดยตรงและได้รับความนิยมภายใต้ระบบสองรอบ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปี อำนาจบริหารส่วนใหญ่ตกเป็นของหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี (ปัจจุบันคือ รอเบร์ต ฟิตซอ) ซึ่งโดยปกติจะเป็นผู้นำของพรรคที่ชนะและต้องการจัดตั้งแนวร่วมเสียงข้างมากในรัฐสภา นายกรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ส่วนที่เหลือของคณะรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี
สภานิติบัญญัติสูงสุดของสโลวาเกียคือสภาแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐสโลวักซึ่งมีสภาเดียวซึ่งมีที่นั่ง 150 ที่นั่ง (Národná rada Slovenskej republiky) ผู้แทนจะได้รับเลือกให้มีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปีบนพื้นฐานของการเป็นตัวแทนตามสัดส่วน
หน่วยงานตุลาการที่สูงที่สุดของสโลวาเกียคือศาลรัฐธรรมนูญแห่งสโลวาเกีย (Ústavný súd) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลประเด็นด้านรัฐธรรมนูญ สมาชิก 13 คนของศาลนี้ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีจากรายชื่อผู้สมัครที่ได้รับการเสนอชื่อโดยรัฐสภา
รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐสโลวักได้ถูกประกาศเมื่อวันที่ 1 กันยายน 1992 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1993 ได้รับการแก้ไขในเดือนกันยายน 1998 เพื่อให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง และอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2001 เนื่องจากข้อกำหนดการรับเข้าร่วมสหภาพยุโรป ระบบกฎหมายแพ่งใช้รหัสออสโตร - ฮังการี ประมวลกฎหมายได้รับการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) และเพื่อล้างทฤษฎีกฎหมายของลัทธิมากซ์-เลนิน สโลวาเกียยอมรับเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศภาคบังคับ
สโลวาเกียแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 แคว้น (Regions - kraje) แต่ละแคว้นมีชื่อเรียกตามเมืองหลักของแคว้นนั้น โดยมีอำนาจในการปกครองตนเองมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545)
แคว้นต่าง ๆ แบ่งย่อยออกเป็น เขต (districts - okresy) ปัจจุบัน ในสโลวาเกียมี 79 เขต
นโยบายต่างประเทศในปัจจุบัน ภายใต้การนำของนาย Jan Kubis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตนักการทูต ซึ่งเชี่ยวชาญการทูตพหุภาคี เปลี่ยนแนวทางจากการให้ความสำคัญและสร้างความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มาเป็นการให้ความสำคัญกับสหภาพยุโรป และปรับนโยบายต่างประเทศตามแนวทางของสหภาพยุโรปแทน
ปัจจุบันสโลวาเกียมีบทบาทที่สำคัญในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ วาระปี 2549-2550 นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกของ OSCE OECD นาโต้ และ สหภาพยุโรป ตั้งแต่ปี 2547
ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างสโลวาเกียกับฮังการีเป็นประเด็นที่อ่อนไหวในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสโลวาเกีย อันเนื่องมาจากปัญหาชนกลุ่มน้อยเชื้อสายฮังกาเรียนใน สโลวาเกีย ซึ่งมีอยู่ประมาณประมาณ 600,000 คน หรือ ร้อยละ 9.7 (ฮังการีเคยปกครองสโลวาเกียอยู่กว่า 1,000 ปีภายใต้จักรวรรดิออสโตร-ฮังการเรียน จึงมีชาวฮังการีในสโลวาเกียจำนวนมาก) ในสมัยของนายกรัฐมนตรี Meciar ได้เคยออกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิของชาวฮังกาเรียน เช่น ประกาศใช้ภาษาสโลวักเป็นภาษาทางการเพียงภาษาเดียว อีกทั้งยังห้ามใช้ป้ายภาษาฮังการีแม้แต่ในย่านที่อยู่อาศัยของชาวฮังกาเรียนกลุ่มน้อย ในขณะที่ฮังการีได้ออกกฎหมายที่จะให้สิทธิและความคุ้มครองชนเชื้อสายฮังการีแม้จะเป็นประชากรของประเทศอื่น ๆ จึงส่งผลให้ประเทศทั้งสองมีความขัดแย้งกันในระดับหนึ่ง
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก |
เศรษฐกิจของสโลวาเกียเริ่มมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงขึ้นภายหลังจากที่รัฐบาลของนาย Mikulas Dzurinda ได้เข้ามาบริหารประเทศในปี 2541 โดยนโยบายหลักของรัฐบาลคือการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ไปสู่ระบบเศรษฐกิจการตลาด การสร้างเสถียรภาพ และการปฏิรูปโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจมหภาค ตลอดจนดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและระบบธนาคาร ซึ่งส่งผลให้สภาวะทางเศรษฐกิจของสโลวักมีความมั่นคงและการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น สโลวาเกียเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment) ที่สูงมากเนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่เอื้ออำนวยการลงทุนจากต่างชาติ (ธนาคารส่วนใหญ่ในประเทศเป็นของคนต่างชาติ) ศักยภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่สูง เนื่องจากในสมัยสังคมนิยมถูกกำหนดให้เป็นศูนย์อุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้าจักรกล อุปกรณ์โดยเฉพาะอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ นอกจากนี้สโลวาเกียยังมีข้อได้เปรียบเรื่องค่าแรงที่ถูก และแรงงานมีการศึกษา มีระบบโครงสร้างภาษีที่เอื้ออำนวยต่อนักลงทุน ปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติ อาทิ U.S. Steel, Volkswagen, Siemens, Plastic Omnium Matsushita, Deutsche Telecom และ Sony เข้าไปลงทุนในสโลวาเกีย นอกจากนี้ สโลวาเกียยังเป็นฐานการผลิตสินค้าราคาถูกสำหรับประเทศในสหภาพยุโรปอีกด้วย
ภายหลังจากที่นาย Robert Fico เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2549 มีนโยบายที่เน้นความเป็นชาตินิยมและการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดน้อยลงกว่า 2-3 ปีก่อน โดยมีการคาดการณ์กันว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะอยู่ในระดับร้อยละ 6.5-7 ในปี 2550
Slovak Academy of Sciences เป็นสถาบันทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยที่สำคัญที่สุดในประเทศมาตั้งแต่ปี 1953 ชาวสโลวาเกียมีส่วนสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคที่โดดเด่นตลอดประวัติศาสตร์ ขณะนี้สโลวาเกียอยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิกขององค์การอวกาศยุโรป สถานะผู้สังเกตการณ์ได้รับในปี 2010 เมื่อสโลวาเกียลงนามในข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยความร่วมมือ[8] ซึ่งมีการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับโครงการการศึกษาที่กำลังดำเนินอยู่ และสโลวาเกียได้รับเชิญให้เข้าร่วมการเจรจาต่างๆ ของ ESA ในปี พ.ศ. 2558 สโลวาเกียได้ลงนามในข้อตกลงรัฐความร่วมมือแห่งยุโรป โดยสโลวาเกียให้คำมั่นในโครงการรับเข้าทางการเงินชื่อ PECS (แผนสำหรับรัฐความร่วมมือแห่งยุโรป) ซึ่งทำหน้าที่เป็นการเตรียมการสำหรับการเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ องค์กรวิจัยและพัฒนาของสโลวาเกียสามารถสมัครขอรับทุนสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศได้ คาดว่าจะเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของสโลวาเกียใน ESA ในปี 2020 หลังจากลงนามในอนุสัญญา ESA สโลวาเกียจะต้องกำหนดงบประมาณของรัฐรวมถึงเงินทุนของ ESA สโลวาเกียอยู่ในอันดับที่ 33 ในดัชนีนวัตกรรมระดับโลกในปี 2021[9]
โครงการประเมินนักศึกษานานาชาติ ซึ่งประสานงานโดย OECD ในปัจจุบันจัดอันดับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาของสโลวาเกียเป็นอันดับที่ 30 ของโลก (อยู่ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาและอยู่เหนือสเปนเพียงเล็กน้อย)[10]
การศึกษาในประเทศสโลวาเกียเป็นภาคบังคับตั้งแต่อายุ 6 ปี ถึง 16 ปี ระบบการศึกษาประกอบด้วยโรงเรียนประถมศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (อายุ 6-10 ปี) และชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 (อายุ 10-15 ปี) ซึ่งจบโดยรับทั่วประเทศ การทดสอบที่เรียกว่า Monitor ในภาษาสโลวักและคณิตศาสตร์ ผู้ปกครองอาจสมัครขอความช่วยเหลือทางสังคมสำหรับเด็กที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาตอนปลายได้ หากได้รับการอนุมัติ รัฐจะจัดเตรียมสิ่งจำเป็นในการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับเด็ก โรงเรียนจัดเตรียมหนังสือให้กับนักเรียนทุกคน ยกเว้นหนังสือสำหรับเรียนภาษาต่างประเทศตามปกติและหนังสือที่ต้องจดบันทึก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดแรก
หลังจากจบชั้นประถมศึกษา นักเรียนจะต้องเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายหนึ่งปี
หลังจากจบมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ และได้รับการสนับสนุนอย่างมากให้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย สโลวาเกียมีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดคือ มหาวิทยาลัยคอเมนุส ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1919 แม้ว่าจะไม่ใช่มหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เคยก่อตั้งขึ้นในดินแดนสโลวัก แต่ก็เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงเปิดดำเนินการ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในสโลวาเกียได้รับทุนจากรัฐซึ่งใครๆ ก็สามารถสมัครได้ พลเมืองทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาฟรีในโรงเรียนของรัฐ
สโลวาเกียมีมหาวิทยาลัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากเอกชนหลายแห่ง แต่มหาวิทยาลัยของรัฐก็มีคะแนนในการจัดอันดับที่ดีกว่ามหาวิทยาลัยเอกชนอย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยมีเกณฑ์การรับนักศึกษาที่แตกต่างกัน ใครๆ ก็สามารถสมัครเข้ามหาวิทยาลัยใดก็ได้
ประชากรมีมากกว่า 5.4 ล้านคน และส่วนใหญ่ประกอบด้วยชาวสโลวัก ความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ยอยู่ที่ 110 คนต่อตารางกิโลเมตร[11] จากการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2021 ชาวสโลวาเกียส่วนใหญ่เป็นชาวสโลวัก (83.82%) ชาวฮังการีเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุด (7.75%) กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ได้แก่ โรมา (1.23%)[12] เช็ก (0.53%), รูซึน (0.44%) และอื่นๆ หรือไม่ระบุ (6.1%)[13]
ในปี 2018 อายุเฉลี่ยของประชากรสโลวักคือ 41 ปี[14]
การอพยพครั้งใหญ่ของชาวสโลวักเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ในการสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกาในปี 1990 ผู้คน 1.8 ล้านคนระบุตัวตนว่ามีเชื้อสายสโลวัก[15]
รัฐธรรมนูญสโลวักรับประกันเสรีภาพในการนับถือศาสนา ในปี 2021 ประชากร 55.8% ระบุว่าเป็นนิกายโรมันคาทอลิก, 5.3% นับถือศาสนาลูเทอแรน, 1.6% นับถือศาสนาคาลวิน, 4% นับถือศาสนากรีกคาทอลิก, 0.9% นับถือศาสนาออร์ทอดอกซ์, 23.8% ระบุว่าตนเองเชื่อว่าไม่มีพระเจ้าหรือไม่นับถือศาสนา และ 6.5% ไม่ได้ระบุ ตอบคำถามเกี่ยวกับความเชื่อของพวกเขา[16]ในปี 2004 สมาชิกคริสตจักรประมาณหนึ่งในสามเข้าร่วมพิธีของคริสตจักรเป็นประจำ[17] โบสถ์กรีกคาทอลิกสโลวักเป็นโบสถ์คาทอลิกแบบพิธีกรรมตะวันออก ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยิวประมาณ 90,000 คนอาศัยอยู่ในสโลวาเกีย (1.6% ของประชากรทั้งหมด) แต่ส่วนใหญ่ถูกสังหารระหว่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หลังจากการลดลงเพิ่มเติมเนื่องจากการอพยพหลังสงคราม ปัจจุบันเหลือชาวยิวเพียงประมาณ 2,300 คนเท่านั้น (0.04% ของประชากรทั้งหมด)[18]
มีศาสนาที่จดทะเบียนโดยรัฐ 18 ศาสนาในสโลวาเกีย โดย 16 ศาสนาเป็นคริสเตียน 1 ศาสนาเป็นยิว และ 1 ศาสนาเป็นศาสนาบาไฮ[19] ในปี 2559 รัฐสภาสโลวักส่วนใหญ่สองในสามได้ประกาศผ่านร่างกฎหมายใหม่ที่จะขัดขวางไม่ให้ศาสนาอิสลามและองค์กรศาสนาอื่น ๆ กลายเป็นศาสนาที่รัฐยอมรับ โดยเพิ่มเกณฑ์ผู้ติดตามขั้นต่ำเป็นสองเท่าจาก 25,000 คนเป็น 50,000 คน อย่างไรก็ตาม Andrej Kiska ประธานาธิบดีในขณะนั้นของสโลวาเกียได้คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว[19]ในปี 2010 มีชาวมุสลิมประมาณ 5,000 คนในสโลวาเกีย คิดเป็นไม่ถึง 0.1% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ[20] สโลวาเกียเป็นรัฐเดียวของสหภาพยุโรปที่ไม่มีมัสยิด[21]
ภาษาราชการคือภาษาสโลวัก ซึ่งเป็นสมาชิกของตระกูลภาษาสลาวิก ภาษาฮังการีเป็นภาษาพูดกันอย่างแพร่หลายในภาคใต้ และภาษารูซึน ถูกใช้ในบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาษาของชนกลุ่มน้อยมีสถานะเป็นทางการร่วมในเขตเทศบาล ซึ่งขนาดของประชากรชนกลุ่มน้อยตรงตามเกณฑ์ทางกฎหมายที่ 15% ในการสำรวจสำมะโนสองครั้งติดต่อกัน[22]
สโลวาเกียได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำในสหภาพยุโรปเกี่ยวกับความรู้ภาษาต่างประเทศ ในปี 2550 68% ของประชากรอายุระหว่าง 25 ถึง 64 ปีอ้างว่าพูดภาษาต่างประเทศได้ตั้งแต่สองภาษาขึ้นไป โดยอยู่ในอันดับที่สองในสหภาพยุโรป ภาษาต่างประเทศที่รู้จักกันดีที่สุดในสโลวาเกียคือภาษาเช็ก รายงานของ Eurostat ยังแสดงให้เห็นว่า 98.3% ของนักเรียนสโลวักในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเรียนภาษาต่างประเทศสองภาษา ซึ่งอยู่ในอันดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 60.1% ในสหภาพยุโรป[23] จากการสำรวจของ Eurobarometer ในปี 2012 พบว่า 26% ของประชากรมีความรู้ภาษาอังกฤษในระดับการสนทนา รองลงมาคือภาษาเยอรมัน (22%) และรัสเซีย (17%)[24]
ชุมชนคนหูหนวกใช้ภาษามือสโลวัก แม้ว่าภาษาเช็กและสโลวักจะพูดคล้ายกัน แต่ภาษาสัญลักษณ์สโลวักก็ไม่ได้ใกล้เคียงกับภาษามือเช็กเป็นพิเศษ
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.