Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แนวรบด้านตะวันออกเป็นเขตสงครามหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่สอง มีอักษะประเทศในทวีปยุโรป และคู่สงครามร่วมฟินแลนด์ฝ่ายหนึ่ง กับสหภาพโซเวียต โปแลนด์และชาติสัมพันธมิตรจำนวนหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคู่สงคราม เขตสงครามนี้กินอาณาบริเวณยุโรปตะวันออก บางส่วนของยุโรปเหนือและยุโรปใต้ สู้รบกันระหว่างวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1941 ถึง 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 เขตสงครามดังกล่าวมีเรียกหลายชื่อแตกต่างกันไปตามประเทศ ชื่อที่โดดเด่น เช่น "มหาสงครามของผู้รักชาติ" (รัสเซีย: Великая Отечественная война, อักษรโรมัน: Velikaya Otechestvennaya voyna) ในอดีตสหภาพโซเวียต; แนวรบด้านตะวันออก (เยอรมัน: die Ostfront)[3] การทัพตะวันออก (เยอรมัน: der Ostfeldzug) หรือ การทัพรัสเซีย (เยอรมัน: der Rußlandfeldzug) ในเยอรมนี[4][5]
แนวรบด้านตะวันออก | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามโลกครั้งที่สอง | |||||||||
เรียงตามเข็มนาฬิกาจากบนซ้าย: รถถังที-34 ของโซเวียตระหว่างยุทธการที่เบอร์ลิน; รถถังทีเกอร์ 1 ของเยอรมนีระหว่างยุทธการที่คูสค์; เครื่องบินดำทิ้งระเบิดสตูกาของเยอรมนีบนแนวรบด้านตะวันออก ฤดูหนาว ค.ศ. 1943–1944; การฆ่าชาวยิวโดยไอน์ซัทซกุรพเพนของเยอรมนีในยูเครน; วิลเฮล์ม ไคเทิลลงนามตราสารยอมจำนนของเยอรมนี; กำลังโซเวียตในยุทธการที่สตาลินกราด | |||||||||
| |||||||||
คู่สงคราม | |||||||||
สนับสนุนทางเรือและอากาศ: | |||||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||||
|
| ||||||||
กำลัง | |||||||||
1941
|
1941
| ||||||||
ความสูญเสีย | |||||||||
เสียชีวิตประมาณ 5.1 ล้านคน ถูกจับเป็นเชลย 4.5 ล้านคน |
เสียชีวิตประมาณ 8.7 ถึง 10 ล้านคน ถูกจับเป็นเชลย 4.1 ถึง 5.7 ล้านคน | ||||||||
พลเรือนเสียชีวิต: 18–24 ล้านคน |
การยุทธ์บนแนวรบด้านตะวันออกประกอบกันเป็นการเผชิญหน้าทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มีลักษณะของความรุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน การทำลายไม่เลือกหน้า การเนรเทศขนานใหญ่ ตลอดจนการสูญเสียชีวิตมหาศาลอันเนื่องมาจากการสู้รบ ความอดอยาก การทอดทิ้ง โรคระบาด และการสังหารหมู่ แนวรบด้านตะวันออก อันเป็นแหล่งค่ายมรณะ การเดินขบวนแห่งความตาย (death march) เกตโต และโพกรมแทบทั้งหมด ถือเป็นศูนย์กลางของฮอโลคอสต์ จากตัวเลขประเมินผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่สอง 70 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตราว 30 ล้านคนในแนวรบด้านตะวันออก[III] ซึ่งเป็นพลเรือนเสียมาก แนวรบด้านตะวันออกมีส่วนสำคัญในการกำหนดผลของสงครามโลกครั้งที่สอง และถือเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งอันนำไปสู่ความปราชัยของเยอรมนี[6] สงครามนี้ลงเอยด้วยการล่มสลายของนาซีเยอรมนี การแบ่งประเทศเยอรมนีนานเกือบครึ่งศตวรรษ และการก้าวขึ้นเป็นรัฐอภิมหาอำนาจทางทหารและอุตสาหกรรมของสหภาพโซเวียต
แม้เยอรมนีกับสหภาพโซเวียตจะชังในอุดมการณ์ของอีกฝ่าย แต่ทั้งสองต่างไม่ชอบผลของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งด้วยกัน สหภาพโซเวียตเสียดินแดนผืนใหญ่ในยุโรปตะวันออกไป อันเป็นผลมาจากสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ ซึ่งได้ยกให้ตามข้อเรียกร้องของเยอรมนีและยอมยกโปแลนด์ ลิทัวเนีย เอสโตเนีย ลัตเวียและฟินแลนด์ ฯลฯ ให้แก่ "ฝ่ายมหาอำนาจกลาง" ต่อมา เมื่อเยอรมนียอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรบ้าง ดินแดนเหล่านี้ถูกปลดปล่อยภายใต้เงื่อนไขของการประชุมสันติภาพปารีส ค.ศ. 1919 แต่ขณะนั้นรัสเซียอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่รับรองรัฐบาลบอลเชวิค และสหภาพโซเวียตยังไม่ถูกก่อตั้งขึ้นจนอีก 4 ปีให้หลัง ฉะนั้นจึงไม่มีผู้แทนรัสเซียเข้าร่วมประชุม
สนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ ซึ่งมีการลงนามเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939 เป็นความตกลงไม่รุกรานระหว่างนาซีเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต ซึ่งมีพิธีสารลับที่มุ่งย้อนยุโรปกลางคืนสู่สถานะเดิมก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยการแบ่งดินแดนระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต ฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวียและลิทัวเนียจะกลับไปอยู่ในการควบคุมของโซเวียต ขณะที่โปแลนด์และโรมาเนียจะถูกแบ่งระหว่างทั้งสอง
ตามข้อมูลของแอนดรูว์ นากอร์สกี (Andrew Nagorski) (2007; The Greatest Battle) อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการบุกครองสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1939 ต่อคาร์ล ยาคอบ บูร์คฮาร์ดท์ ข้าหลวงสันนิบาตชาติ โดยกล่าวว่า "ทุกอย่างที่ผมทำมุ่งต่อต้านพวกรัสเซีย ถ้าทางตะวันตกโง่และตาบอดเกินกว่าจะฉวยสิ่งนี้ เช่นนั้นผมจะถูกบังคับให้หันไปทำความตกลงกับพวกรัสเซีย เอาชนะตะวันตก และจากนั้นหลังประเทศเหล่านั้นแพ้แล้ว ค่อยหันกำลังของผมทั้งหมดต่อสหภาพโซเวียต ผมต้องการยูเครนเพื่อที่เขาจะทำให้เราอดอยากไม่ได้ เหมือนที่เคยเกิดในสงครามครั้งที่แล้ว"
เยอรมนีกับสหภาพโซเวียตบุกครองและแบ่งโปแลนด์ใน ค.ศ. 1939 เดือนพฤศจิกายนปีนั้น หลังฟินแลนด์ปฏิเสธเงื่อนไขสนธิสัญญาความร่วมมือร่วมกันของโซเวียต สหภาพโซเวียตจึงรุกรานฟินแลนด์ในสงครามที่ต่อมาได้ชื่อว่า สงครามฤดูหนาว ซึ่งเป็นความขัดแย้งอันขมขื่นที่ลงเอยด้วยชัยชนะเพียงบางส่วนของโซเวียต เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940 สหภาพโซเวียตยึดครองและผนวกรัฐบอลติกทั้งสามอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่ละเมิดอนุสัญญาเฮกปี 1899 และ 1907 อนุสัญญาและสนธิสัญญาทวิภาคีที่สหภาพโซเวียตลงนามกับรัฐบอลติกจำนวนมาก และรัฐตะวันตกส่วนมากไม่เคยรับรอง[7] สนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพให้หลักประกันอย่างเห็นได้ชัดแก่โซเวียตในการยึดครองทั้งรัฐบอลติกและภูมิภาคทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของโรมาเนีย (บูโควินาเหนือและเบสซาราเบีย) แม้ฮิตเลอร์จะประกาศการบุกครองสหภาพโซเวีตย โดยอ้างการผนวกดินแดนบอลติกและโรมาเนียของโซเวียตว่าละเมิดความเข้าใจต่อสนธิสัญญาฯ ของเยอรมนี ดินแดนโรมาเนียที่ถูกผนวกนั้นถูกแบ่งระหว่างสาธารณรัฐโซเวียตยูเครนและมอลโดวา
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์โต้เถียงใน ไมน์คัมพฟ์ อัตชีวประวัติของตน ถึงความจำเป็นของแนวคิดเลเบนซเราม์ (เยอรมัน: Lebensraum) ซึ่งเป็นการเข้ายึดดินแดนใหม่เพื่อการตั้งถิ่นฐานของชาวเยอรมันทางตะวันออกของเยอรมนี เขาดำริการตั้งถิ่นฐานชาวเยอรมันในที่นั้นเป็นชนชาติปกครอง (master race) ขณะที่กำจัดหรือเนรเทศผู้อยู่อาศัยส่วนมากไปยังไซบีเรียและใช้ที่เหลือเป็นแรงงานทาส[8] สำหรับพวกนาซีที่ยึดมั่นในหลักการ (ดังเช่นฮิมม์เลอร์) สงครามกับสหภาพโซเวียตเป็นการต่อสู้ของนาซีต่อคอมมิวนิสต์ และเชื้อชาติอารยันต่ออุนแทร์เมนซเชน (ต่ำกว่ามนุษย์)[9] สลาฟ ฮิตเลอร์เอ่ยถึงโดยใช้คำพิเศษว่า "สงครามแห่งการทำลายล้าง" ในแผนการชื่อ "เจเนรัลพลันโอสท์" (Generalplan Ost) ประชากรยุโรปกลางและสหภาพโซเวียตที่ถูกยึดครองจะถูกเนรเทศไปยังไซบีเรียตะวันตกบางส่วน บางส่วนตกเป็นทาส และถูกกำจัดทิ้งไปในที่สุด ชาวเยอรมันหรือ "ผู้ที่แผลงเป็นเยอรมัน" (Germanized) จะตั้งนิคมในดินแดนที่พิชิตได้[10] นอกจากนี้ พวกนาซียังมุ่งกวาดล้างประชากรชาวยิวขนาดใหญ่ในยุโรปกลางและตะวันออก[11] เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนาซีที่มุ่งกำจัดชาวยิวทุกคนในยุโรป[12]
หลังความสำเร็จขั้นต้นของเยอรมนีที่ยุทธการเคียฟ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์มองว่าสหภาพโซเวียตอ่อนแอทางทหารและสุกงอมแก่การพิชิตทันทีทันใด วันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1941 เขาประกาศว่า "เราทำแค่เตะที่ประตู และอาคารที่ผุพังทั้งหลังก็จะถล่มลงมา"[13] ดังนั้น เยอรมนีคาดหวังบลิทซครีกช่วงสั้น ๆ อีกครั้งหนึ่ง และไม่มีการเตรียมการจริงจังต่อการสงครามยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี หลังชัยชนะอย่างเด็ดขาดของโซเวียตที่ยุทธการสตาลินกราดและสถานการณ์ทางทหารอันเลวร้ายมากของเยอรมนีอันเป็นผล ฮิตเลอร์และโฆษณาชวนเชื่อนาซีประกาศว่า สงครามเป็นการป้องกันอารยธรรมตะวันตกต่อการถูกทำลายโดย "ฝูงบอลเชวิก" (Bolshevik horde) ใหญ่โตที่กำลังหลั่งไหลเข้าสู่ยุโรป
ระบอบโซเวียต ซึ่งมีโจเซฟ สตาลินเป็นผู้นำ วางแผนการขยายอุดมการณ์ลัทธิมากซ์-เลนิน และให้ความช่วยเหลือแก่ความคืบหน้าของการปฏิวัติโลก ในความเป็นจริง สตาลินได้ยึดหลักการสังคมนิยมประเทศเดียว (Socialism in one country) และใช้หลักการนั้นสร้างความชอบธรรมแก่การปรับให้สหภาพโซเวียตเป็นประเทศอุตสาหกรรมช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 นาซีเยอรมนี ซึ่งวางตัวเป็นรัฐที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์มาอย่างต่อเนื่อง และได้ยืนยันฐานะอย่างเป็นทางการด้วยการลงนามในกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์นกับญี่ปุ่น[14] และอิตาลี[15][16] นับเป็นขั้วตรงข้ามทางอุดมการณ์โดยตรงกับสหภาพโซเวียต ความตึงเครียดจากอุดมการณ์ได้เปลี่ยนไปเป็นสงครามตัวแทนระหว่างนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียต[17] เมื่อ ใน ค.ศ. 1936 เยอรมนีและฟาสซิสต์อิตาลีเข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองสเปน โดยสนับสนุนฝ่ายชาตินิยมสเปน ขณะที่ฝ่ายโซเวียตสนับสนุนสาธารณรัฐสเปนที่สอง[15] ซึ่งนำโดยพวกสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์อย่างโดดเด่น[18]
เหตุการณ์อันชลุสส์ออสเตรียของเยอรมนี ใน ค.ศ. 1938 และการตัดเชโกสโลวาเกียแสดงถึงความเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างระบบความมั่นคงร่วมในทวีปยุโรป[19] ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากมักซิม ลิตวินอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศโซเวียต[20][21] ความล้มเหลวดังกล่าว ตลอดจนความไร้ความสามารถของผู้นำอังกฤษและฝรั่งเศสที่จะลงนามพันธมิตรทางการเมืองและทางทหารเพื่อต่อต้านเยอรมนีเต็มขั้นกับสหภาพโซเวียต[22] นำไปสู่สนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพระหว่างสหภาพโซเวียตกับเยอรมนีช่วงปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939[23] การลงนามดังกล่าวนี้นำไปสู่การพลิกผันการโฆษณาชวนเชื่อของโซเวียต นาซีไม่ถูกพรรณนาว่าเป็นศัตรูคู่อาฆาตอีกต่อไป และสื่อสหภาพโซเวียตนำเสนอว่าเยอรมนีเป็นกลาง และกล่าวโทษโปแลนด์ สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสว่าเป็นผู้ก่อสงคราม อย่างไรก็ดี หลังเยอรมนีบุกตี ฐานะของรัฐบาลโซเวียตก็เปลี่ยนมาเป็นต่อต้านนาซีเต็มตัว
เป็นช่วงเวลาเกือบสองปีที่แนวชายแดนเยอรมนี-โซเวียตคงความสงบอยู่ ขณะที่เยอรมนีรุกรานเดนมาร์ก นอร์เวย์ ฝรั่งเศส กลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำและคาบสมุทรบอลข่าน ฮิตเลอร์มีความตั้งใจที่จะฉีกสนธิสัญญาไม่รุกรานและโจมตีสหภาพโซเวียต ความพยายามของฮิตเลอร์กลายเป็นรูปเป็นร่างเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิของปี 1940 ฮิตเลอร์เชื่อว่าสหภาพโซเวียตจะต้องยอมจำนนอย่างง่ายดายหลังจากต้องเผชิญกับการโหมกระหน่ำบุกของกองทัพเยอรมัน และสงครามน่าจะยุติลงก่อนที่ฤดูหนาวอันทารุณในสหภาพโซเวียตจะมาถึง
บางคนมีความเห็นว่าโจเซฟ สตาลินมีความกลัวที่จะทำสงครามกับเยอรมนี หรือไม่คาดว่าเยอรมนีจะทำสงครามสองด้าน และไม่ต้องการรบกวนฮิตเลอร์ บางคนบอกว่าสตาลินต้องการให้เยอรมนีทำสงครามกับประเทศทุนนิยมอื่น อีกแง่มุมหนึ่งก็คือ สตาลินเชื่อว่าสงครามจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1942 เมื่อทุกอย่างเตรียมพร้อมเสร็จสิ้นแล้ว และไม่เชื่อว่าสงครามจะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นอย่างแน่นอน
ถึงแม้ว่าเยอรมนีจะรวบรวมกองทัพขนาดใหญ่ไว้ในโปแลนด์ตะวันออก และใช้เครื่องบินสำรวจเหนือแนวชายแดนหลายรอบ แต่สตาลินละเลยสัญญาณดังกล่าว รวมไปถึงหน่วยสืบราชการลับด้วยเช่นกัน ไม่กี่คืนก่อนหน้าการรุกรานจะเริ่มต้น ทหารโซเวียตได้รับคำสั่งที่ลงนามโดยจอมพลแซมยอน ติโมเชนโก และพลเอกเกออร์กี จูคอฟ ตามคำสั่งของสตาลินว่า "ห้ามตอบโต้การกระทำใด ๆ" และ "ห้ามลงมือต่อข้าศึกโดยปราศจากคำสั่งโดยตรง" การโจมตีสหภาพโซเวียตของเยอรมนีทำให้นายพลระดับสูงของโซเวียตพากันแปลกใจ แม้ว่าสตาลินจะได้รับรายงานของหน่วยข่าวกรองเตือนว่าจะมีการรุกรานก็ตาม
ปฏิบัติการบาร์บารอสซาเริ่มต้นขึ้นก่อนรุ่งอรุณของวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1941 เล็กน้อย ฝ่ายเยอรมันทำลายเครือข่ายสายโทรเลขในมณฑลทหารบกทางชายแดนด้านตะวันตกของสหภาพโซเวียตทั้งหมด เพื่อทำลายการติดต่อสื่อสารของโซเวียต[24] เวลา 3.15 น. ของวันนั้น 99 กองพล จากทั้งหมด 190 กองพลของเยอรมนี รวมถึงกองพลยานเกราะ 14 กองพล และกองพลยานยนต์ 10 กองพล เคลื่อนย้ายเข้าวางกำลังต่อสหภาพโซเวียตจากทะเลบอลติกถึงทะเลดำ นอกจากนี้ยังมี 10 กองพลของโรมาเนีย 9 กองพลน้อยของโรมาเนียและ 4 กองพลน้อยของฮังการีเข้าสมทบ[25]
เพื่อสถาปนาความเป็นเจ้าอากาศ ลุฟท์วัฟเฟอเริ่มการเข้าตีฉับพลันต่อสนามบินโซเวียต และทำลายกองสนามบินกองทัพอากาศโซเวียตที่เคลื่อนเข้าวางกำลังส่วนหน้าซึ่งประกอบด้วยอากาศยานที่ล้าสมัยส่วนใหญ่เป็นอันมากก่อนที่นักบินจะทันนำเครื่องขึ้นจากพื้นดิน[26] เป็นเวลากว่าเดือนที่การรุกสามทางหยุดไม่อยู่ เมื่อกำลังยานเกราะโอบล้อมกองทหารโซเวียตนับแสนในวงล้อมขนาดใหญ่ซึ่งถูกลดทอนโดยกองทัพทหารราบที่เคลื่อนที่ได้ช้ากว่า ขณะที่ยานเกราะยังรักษาการรุก ตามหลักนิยมบลิทซครีก
วัตถุประสงค์ของกองทัพกลุ่มเหนือ คือ เลนินกราด ผ่านรัฐบอลติก ประกอบด้วยกองทัพที่ 16 ที่ 18 และกลุ่มยานเกราะที่ 4 รูปขบวนนี้เคลื่อนที่ผ่านลิทัวเนีย ลัตเวีย เอสโตเนีย และเขตปสคอฟและนอฟโกรอดของรัสเซีย ในลิทัวเนีย ลัตเวียและเอสโตเนีย พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากผู้ก่อการกำเริบทอ้งถิ่น โดย "ปลดปล่อย" ลิทัวเนียเกือบทั้งประเทศ ลัตเวียตอนเหนือและเอสโตเนียตอนใต้ก่อนที่กองกำลังเยอรมันจะมาถึง[27][28]
สองกลุ่มยานเกราะ ของกองทัพกลุ่มกลาง ได้แก่ กลุ่มยานเกราะที่ 2 และที่ 3 เคลื่อนที่ไปทางเหนือและใต้ของเบรสท์-ลีตอฟสก์ และมาบรรจบกันทางตะวันออกของมินสค์ ตามด้วยกองทัพที่ 2 ที่ 4 และที่ 9 กำลังยานเกราะผสมถึงแม่น้ำเบเรสินาในหกวัน ซึ่งอยู่ห่างจากแนวเริ่มต้น 650 กิโลเมตร วัตถุประสงค์ต่อไป คือ ข้ามแม่น้ำนีเปอร์ ซึ่งประสบความสำเร็จในวันที่ 11 กรกฎาคม จากนั้น เป้าหมายต่อไป คือ สโมเลนสก์ ซึ่งแตกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม แต่การต้านทานอย่างดุเดือดของโซเวียตในพื้นที่สโมเลนสก์ และความล่าช้าของเวร์มัคท์ในการรุกทางเหนือและทางใต้บีบให้ฮิตเลอร์หยุดการผลักดันตรงกลางที่กรุงมอสโกและหันกลุ่มยานเกราะที่ 3 ไปทางเหนือ ที่สำคัญ กลุ่มยานเกราะที่ 2 ของกูเดเรียนถูกสั่งให้เคลื่อนไปทางใต้ในกลยุทธ์คีมยักษ์ร่วมกับกองทัพกลุ่มใต้ที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ยูเครน กองพลทหารราบของกองทัพกลุ่มกลางแทบไม่เหลือการสนับสนุนจากยานเกราะในการดำเนินการรุกคืบที่ล่าช้าไปยังกรุงมอสโก[29]
การตัดสินใจนี้ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ภาวะผู้นำอย่างรุนแรง ผู้บังคับบัญชาสนามของเยอรมนีสนับสนุนการรุกไปยังกรุงมอสโกทันทีทันใด แต่ฮิตเลอร์ปฏิเสธพวกเขา โดยอ้างความสำคัญของทรัพยากรเกษตรกรรม เหมืองแร่และอุตสาหกรรมของยูเครน เช่นเดียวกับการระดมกำลังเพิ่มเติมของโซเวียตในพื้นที่โกเมลระหว่างปีกด้านใต้ของกองทัพกลุ่มกลางและปีกด้านเหนือของกองทัพกลุ่มใต้ที่ถูกหน่วงไว้ การตัดสินใจนี้ ที่ได้ชื่อว่า "ช่วงหยุดฤดูร้อน" ของฮิตเลอร์[29] เชื่อกันว่ามีผลกระทบร้ายแรงต่อผลของยุทธการมอสโก โดยยอมเสียความเร็วในการรุกคืบไปยังกรุงมอสโกไปโอบล้อมกองทหารโซเวียตขนาดใหญ่รอบเคียฟ[30]
กองทัพกลุ่มใต้ ร่วมกับกลุ่มยานเกราะที่ 1 กองทัพที่ 6 ที่ 11 และที่ 17 ได้รับมอบหมายให้เคลื่อนที่ผ่านกาลีเซียเข้าสู่ยูเครน อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าของพวกเขาค่อนข้างช้า และได้รับความสูญเสียอย่างหนักในยุทธการรถถังใหญ่ ด้วยฉนวนมุ่งสู่เคียฟถูกเข้าครองเมื่อถึงกลางเดือนกรกฎาคม กองทัพที่ 11 ด้วยความช่วยเหลือจากกองทัพโรมาเนีย 2 กองทัพ สู้รบผ่านเบสซาราเบียมุ่งสู่โอเดสซา กลุ่มยานเกราะที่ 1 เบนจากเคียฟช่วงหนึ่ง โดยรุกเข้าสู่หัวโค้งนีเปอร์ (มณฑลนีโปรเปตรอฟสก์ตะวันตก) เมื่อกลุ่มยานเกราะที่ 1 เชื่อมกับส่วนใต้ของกองทัพกลุ่มใต้ที่อูมัน กลุ่มฯ ก็จับเชลยโซเวียตได้ราว 100,000 นายในวงล้อมขนาดใหญ่ กองพลยานเกราะของกองทัพกลุ่มใต้ที่กำลังรุกคืบพบกับกลุ่มยานเกราะที่ 2 ของกูเดเรียนใกล้กับโลฮ์วึตซาในกลางเดือนกันยายน โดยตัดกองทหารกองทัพแดงจำนวนมากในกระเป๋าทางตะวันออกของเคียฟ[29] เชลยโซเวียต 400,000 คนถูกจับเมื่อเคียฟยอมจำนนในวันที่ 19 กันยายน[29]
ระหว่างที่กองทัพโซเวียตร่นถอยอยู่หลังแนวแม่น้ำนีเปอร์และแม่น้ำดวีนา สตัฟกาของโซเวียตมุ่งความสนใจไปกับการอพยพอุตสาหกรรมในภูมิภาคทางตะวันตกให้ได้มากที่สุด โรงงานถูกรื้อและบรรจุลงในรถไฟขนสินค้า และตั้งขึ้นใหม่ในพื้นที่ห่างไกลกว่าในเทือกเขาอูราล คอเคซัส เอเชียกลางและไซบีเรียตะวันออกเฉียงใต้ พลเรือนส่วนมากถูกทิ้งให้หนีมาทางตะวันออกเอง เพราะมีเพียงกรรมกรอุตสาหกรรมเท่านั้นที่จะถูกอพยพพร้อมอุปกรณ์ และประชากรจำนวนมากถูกทิ้งไว้เบื้องหลังกับความเมตตาของกองกำลังฝ่ายบุกครอง
โจเซฟ สตาลินสั่งการให้กองทัพแดงที่กำลังร่นถอยริเริ่มนโยบาย scorched earth เพื่อไม่ให้เยอรมนีและพันธมิตรได้เสบียงพื้นฐานขณะที่พวกเขาเคลื่อนมาทางตะวันออก เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งนั้น กองพันทำลายถูกตั้งขึ้นในพื้นที่แนวหน้า มีอำนาจประหารชีวิตบุคคลต้องสงสัยอย่างรวบรัด กองพันทำลายเผาหมู่บ้าน โรงเรียนและอาคารสาธารณะ[31] ส่วนหนึ่งของนโยบายนี้ ผู้ตรวจการกิจการภายในประชาชน (People's Commissariat for Internal Affairs - NKVD) สังหารหมู่นักโทษ โดยมีนักโทษต่อต้านโซเวียตหลายพันคนถูกประหารชีวิต[32]
จากนั้น ฮิตเลอร์ตัดสินใจกลับมารุกสู่กรุงมอสโกต่อ โดยได้มีการจัดกลุ่มยานเกราะเป็นกองทัพยานเกราะเพื่อการณ์นี้ ในปฏิบัติการไต้ฝุ่น ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน กองทัพยานเกราะที่ 2 เร่งรุดตามถนนลาดยางตั้งแต่โอริออล (ถูกยึดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม) ไปจนถึงแม่น้ำโอกาที่ปลัฟซโคเย ขณะที่กองทัพยานเกราะที่ 4 (ถูกโอนจากกองทัพกลุ่มเหนือมายังกองทัพกลุ่มกลาง) และกองทัพยานเกราะที่ 3 ล้อมกำลังโซเวียตในวงล้อมขนาดใหญ่สองวงที่เวียซมาและเบรียนสก์ กองทัพกลุ่มเหนือตั้งอยู่หน้าเลนินกราดและพยายามตัดเส้นทางรถไฟเชื่อมที่มกา (Mga) ไปทางตะวันออก นับเป็นจุดเริ่มต้นของการล้อมเลนินกราดนาน 900 วัน เหนือเส้นอาร์กติกเซอร์เคิลขึ้นไป กำลังผสมเยอรมัน-ฟินแลนด์เริ่มต้นบุกไปยังมูร์มันสก์ แต่ไม่อาจบุกไปได้เกินกว่าแม่น้ำซาปัดนายา ลิตซา ที่ซึ่งหยุดตั้งมั่นไว้
กองทัพกลุ่มใต้ผลักลงใต้จากแม่น้ำนีเปอร์ไปยังฝั่งทะเลอะซอฟ ทั้งยังเคลื่อนทัพผ่านฮาร์คอฟ คูสค์ และสตาลิโน กองทัพที่ 11 เคลื่อนเข้าสู่ไครเมียและเข้ายึดทั้งคาบสมุทรได้เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง (ยกเว้นซาวัสโตปอล ซึ่งสามารถต้านทานได้ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1942) วันที่ 21 พฤศจิกายน ฝ่ายเยอรมันยึดรอสตอฟ ประตูสู่คอเคซัส อย่างไรก็ดี แนวรบเยอรมันยังยืดยาวเกินไป และโซเวียตฝ่ายตั้งรับตีโต้ตอบหัวหอกของกองทัพยานเกราะที่ 1 จากทางเหนือ บีบให้กองทัพยานเกราะที่ 1 ต้องถอนตัวออกจากนครและถอยไปหลังแม่น้ำมีอุส (Mius) นับเป็นการร่นถอยสำคัญครั้งแรกของเยอรมนีในสงคราม
ขณะที่ฤดูหนาวใกล้เข้ามา ฝ่ายเยอรมันเริ่มต้นบุกครั้งสุดท้ายซึ่งเปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน เมื่อฝ่ายเยอรมันพยายามโอบล้อมกรุงมอสโก วันที่ 27 พฤศจิกายน กองทัพยานเกราะที่ 4 บุกไปถึงรัศมี 30 กิโลเมตรจากเครมลิน เมื่อบุกไปถึงจุดพักสุดท้ายของแนวมอสโกที่ฮิมคี ขณะเดียวกันนั้น กองทัพยานเกราะที่ 2 แม้จะพยายามอย่างเต็มที่ ก็ไม่อาจยึดตูลา นครโซเวียตแห่งสุดท้ายที่ขวางทางบุกสู่กรุงมอสโกได้ หลังการประชุมซึ่งจัดที่ออร์ชา ระหว่างพลเอก ฟรันซ์ ฮัลแดร์ หัวห้าเสนาธิการทหารบก และหัวหน้ากลุ่มกองทัพและกองทัพทั้งสาม ได้ตัดสินใจผลักดันไปยังกรุงมอสโก ซึ่งจอมพล เฟดอร์ ฟอน บอค หัวหน้ากองทัพกลุ่มกลาง ให้เหตุผลว่า จะเป็นการดีกว่าแก่พวกเขาที่จะเสี่ยงดวงในสมรภูมิแทนที่จะคอยให้ข้าศึกรวบรวมกำลังมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เมื่อถึงวันที่ 6 ธันวาคม เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เวร์มัคท์อ่อนแอเกินกว่าจะยึดกรุงมอสโกได้ และการเข้าตีถูกหยุดพักไว้ จากนั้น จอมพลชาโปชนิคอฟเริ่มการตีโต้ตอบของเขา โดยใช้กองหนุนที่เพิ่งระดมมาใหม่ ๆ เช่นเดียวกับกองพลตะวันออกไกลที่ได้รับการฝึกอย่างดีที่เพิ่งย้ายมาจากทางตะวันออก หลังญี่ปุ่นรับประกันจะวางตนเป็นกลาง
ช่วงฤดูใบไม้ร่วง สตาลินได้ย้ายเอากองกำลังโซเวียตใหม่และมีอาวุธอย่างดีจากไซบีเรียและภาคตะวันออกไกลมายังกรุงมอสโก วันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1941 กำลังเพิ่มเติมเหล่านี้เข้าตีแนวรบเยอรมันรอบกรุงมอสโก โดยได้รับการสนับสนุนจากรถถังที-34 และเครื่องยิงจรวดคัทยูชาใหม่ กำลังโซเวียตใหม่นี้เตรียมพร้อมรับมือกับการสงครามฤดูหนาวดีกว่าข้าศึก และโซเวียตยังมีกองพันสกีอยู่หลายกองพัน ฝ่ายเยอรมันที่เหนื่อยล้าและหนาวจนแข็งถูกขับออกจากกรุงมอสโกเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1942
โซเวียตเข้าตีอีกหนในปลายเดือนมกราคม โดยพุ่งเป้าไปยังรอยต่อระหว่างกองทัพกลุ่มเหนือและกลุ่มกลางระหว่างทะเลสาบเซลีเกียร์กับรซเฮฟ (Rzhev) และขับช่องว่างระหว่างสองกลุ่มกองทัพเยอรมัน ประกอบกับการรุกจากคาลูกาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงมอสโก มีการตั้งใจให้การรุกทั้งสองบรรจบกันที่สโมเลนสก์ แต่ฝ่ายเยอรมันชุมนุมพลและสามารถแยกการเข้าตีทั้งสองสายออกจากกัน จึงยังสามารถรักษาแนวยื่นออกไป (salient) ที่รซเฮฟไว้ได้ การส่งพลร่มโซเวียตลงสู่โดโรโกบุชที่เยอรมนียึดครองอยู่นั้น ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และพลร่มที่รอดชีวิตเหล่านั้นจำต้องหลบหนีไปยังดินแดนที่พลพรรคยึดครองอยู่และกำลังก่อตัวขึ้นหลังแนวรบเยอรมัน ทางเหนือ ฝ่ายโซเวียตล้อมที่ตั้งทหารเยอรมันในเดเมียนสก์ ซึ่งต้านทานโดยมีการส่งกำลังบำรุงทางอากาศได้นานถึงสี่เดือน และจัดวางกำลังอยู่หน้าโฮล์ม เวลิช และเวลีคี ลูคี
ในทางใต้ กองทัพแดงข้ามแม่น้ำโดเนตส์ที่อีซูย์ม และสถาปนาแนวรบยื่นเข้าไปในแนวรบเยอรมันได้กว่า 100 กิโลเมตร เจตนาเพื่อตรึงกองทัพเยอรมันกับทะเลอะซอฟ แต่เมื่อเริ่มพ้นฤดูหนาว ฝ่ายเยอรมันสามารถตีโต้ตอบและตัดกำลังโซเวียตที่ถลำเข้ามาลึกเกินได้ในยุทธการฮาร์คอฟครั้งที่สอง
แม้จะมีการวางแผนเข้ากรุงตีมอสโกอีกหน แต่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1942 การรุกกลับเปิดฉากไปอีกทางหนึ่ง กองทัพกลุ่มใต้เป็นฝ่ายริเริ่ม ยึดแนวรบด้วยยุทธการโวโรเนช จากนั้น ตามด้วยแม่น้ำดอนไปทางตะวันออกเฉียงใต้ แผนการใหญ่ คือ ยึดแม่น้ำดอนและวอลกาก่อน แล้วค่อยเคลื่อนเข้าคอเคซัสมุ่งสู่ทุ่งน้ำมัน แต่การพิจารณาทางปฏิบัติการและความโอหังของฮิตเลอร์ทำให้เขาสั่งการให้ดำเนินตามวัตถุประสงค์ทั้งสองพร้อมกัน รอสตอฟถูกยึดคืนได้เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม เมื่อกองทัพยานเกราะที่ 1 เข้าร่วม และจากนั้น กลุ่มดังกล่าวเคลื่อนลงไปทางใต้มุ่งสู่ไมคอป ส่วนหนึ่งของแผนการนี้ มีการดำเนินปฏิบัติการชามิล แผนการซึ่งกลุ่มบรันเดนบูร์เกอร์คอมมันโดแต่งกายเป็นกองทหาร NKVD ของโซเวียต เพื่อบ่อนทำลายการป้องกันไมคอป และให้กองทัพยานเกราะที่ 1 เข้าสู่เมืองน้ำมันแห่งนี้โดยมีการต่อต้านเพียงเล็กน้อย
ขณะเดียวกัน กองทัพที่ 6 กำลังมุ่งหน้าสู่สตาลินกราด ซึ่งไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพยานเกราะที่ 4 เป็นเวลานาน เพราะถูกเปลี่ยนให้ไปช่วยกองทัพยานเกราะที่ 1 ข้ามแม่น้ำดอน เมื่อกองทัพยานเกราะที่ 4 เข้าร่วมการรุกสตาลินกราดอีกครั้ง การต้านทานของโซเวียต อันประกอบด้วยกองทัพที่ 62 ภายใต้การบังคับบัญชาของวาซีลี ชุยคอฟ ก็ได้เหนียวแน่นแล้ว การข้ามแม่น้ำดอนทำให้กำลังเยอรมันไปถึงแม่น้ำวอลกาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม แต่อีกสามเดือนถัดมา เวร์มัคท์จะต้องสู้รบในยุทธการสตาลินกราดแบบถนนต่อถนน
ส่วนทางใต้ กองทัพยานเกราะที่ 1 ไปถึงตีนเขาคอเคซัสและแม่น้ำมัลคา เมื่อถึงปลายเดือนสิงหาคม กองทหารภูเขาของโรมาเนียเข้าร่วมกับหัวหอกคอเคซัส ขณะที่กองทัพที่ 3 และ 4 ของโรมาเนียมีการวางกำลังใหม่ หลังภารกิจกวาดล้างชายฝั่งอะซอฟสัมฤทธิ์ผล โดยเข้าประจำที่อยู่ด้านใดด้านหนึ่งของสตาลินกราดเพื่อให้กองกำลังเยอรมันสู้รบอย่างเหมาะสม ความเป็นปรปักษ์ที่ดำเนินอยู่ระหว่างพันธมิตรอักษะโรมาเนียและฮังการีเหนือทรานซิลเวเนีย ทำให้กองทัพโรมาเนียในคุ้งดอนถูกแยกจากกองทัพฮังการีที่ 2 โดยกองทัพอิตาลีที่ 8 ดังนั้น พันธมิตรทั้งหมดของฮิตเลอร์จึงเข้ามามีส่วน รวมทั้งกองกำลังที่เผื่อไว้ของสโลวาเกียกับกองทัพยานเกราะที่ 1 และกรมของโครเอเชียที่ขึ้นสมทบกองทัพที่ 6
การรุกเข้าสู่คอเคซัสถูกหน่วง โดยฝ่ายเยอรมันไม่สามารถสู้รบผ่านมัลโกเบคไปยังกรอซนีอันเป็นจุดหมายหลักได้ จึงได้เปลี่ยนทิศทางการบุกให้เข้าสู่กรอซนีจากทางใต้ โดยข้ามแม่น้ำมัลคาเมื่อปลายเดือนตุลาคมและเข้าสู่นอร์ทออสเซเตีย ในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน บริเวณชานเมืองออร์ดโฮนีคิดเซ หัวหอกของกองพลยานเกราะที่ 13 ถูกตัดออก และกำลังยานเกราะจำต้องร่นถอย การรุกเข้าสู่รัสเซียก็สิ้นสุดลง
ขณะที่กองทัพที่ 6 และกองทัพยานเกราะที่ 4 กำลังบุกไปยังสตาลินกราดอยู่นั้น กองทัพโซเวียตได้มารวมพลกันอยู่ด้านใดด้านหนึ่งของนคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขตหัวสะพานดอนซึ่งกองทัพโรมาเนียไม่ได้ลดทอน และกองทัพโซเวียตได้โจมตีมาจากหัวสะพานเหล่านี้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1942 ในปฏิบัติการยูเรนัส สองแนวรบโซเวียตเจาะผ่านแนวรบโรมาเนียและมาบรรจบกันที่คาลัชเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ซึ่งดักกำลังอักษะ 300,000 นายไว้เบื้องหลัง[33] การรุกที่เกิดขึ้นพร้อมกันในเขตรซเฮฟ ที่มีชื่อว่า ปฏิบัติการมาร์ส นั้น ควรจะรุกไปถึงสโมเลนสก์ แต่ล้มเหลว ด้วยความสามารถทางยุทธวิธีของเยอรมนี
ฝ่ายเยอรมนีเร่งส่งกองทหารไปยังรัสเซียด้วยความพยายามอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือสตาลินกราด หากการบุกต้องเลื่อนออกไปจนวันที่ 12 ธันวาคม ซึ่งจนถึงขณะนั้น กองทัพที่ 6 ในสตาลินกราดกำลังอดอยากและอ่อนแอเกินกว่าจะตีฝ่าออกมาบรรจบกับกำลังที่ส่งมาช่วย ปฏิบัติการพายุฤดูหนาว ด้วยกองพลยานเกราะที่ถูกย้ายมาสามกองพล ซึ่งเร่งรุดเคลื่อนที่จากโคเทลนีโคโวมุ่งสู่แม่น้ำอัคไซ แต่ถูกหยุดขณะอยู่ห่างจากจุดหมาย 65 กิโลเมตร เพื่อเบนความพยายามช่วยเหลือ ฝ่ายโซเวียตตัดสินใจขยี้ฝ่ายอิตาลีและขัดขวางความพยายามสับเปลี่ยนกำลังหากทำได้ ปฏิบัติการนั้นเริ่มเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ในปฏิบัติการดังกล่าว ฝ่ายโซเวียตสามารถทำลายอากาศยานจำนวนมากที่ส่งกำลังบรรเทาไปยังสตาลินกราด ขอบเขตการรุกของโซเวียตที่ค่อนข้างจำกัด แม้ในท้ายที่สุดจะยังพุ่งเป้าไปยังรอสตอฟ ยังให้เวลาฮิตเลอร์มองเห็นเหตุผลและดึงกองทัพกลุ่มเอออกจากคอเคซัสและกลับจากแม่น้ำดอน[34]
31 มกราคม ค.ศ. 1943 ทหารผู้รอดชีวิต 90,000 นาย จากทั้งหมด 300,000 นายของกองทัพที่ 6 ยอมจำนน ถึงขณะนั้น กองทัพฮังการีที่ 2 ก็ถูกกวาดล้างไปแล้วเช่นกัน ฝ่ายโซเวียตรุกจากแม่น้ำดอนไปทางตะวันตกของสตาลินกราดได้ไกล 500 กิโลเมตร โดยเคลื่อนผ่านผ่านคูสค์ (ยึดคืนได้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943) และฮาร์คอฟ (ยึดคืนได้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943) เพื่อรักษาที่ตั้งทางใต้ ฝ่ายเยอรมันจึงตัดสินใจสละแนวยื่นที่รซเฮฟในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้มีกองทหารเพียงพอที่จะตอบโต้อย่างฉับพลันได้สำเร็จในยูเครนตะวันออก การรุกโต้ตอบของมันสไทน์ ซึ่งได้รับการเสริมกำลังจากเหล่ายานเกราะเอสเอสที่มีรถถังทีเกอร์ เปิดฉากเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 และสู้รบไปตามทางจากโปลตาวาเข้าไปในฮาร์คอฟในสัปดาห์ที่สามของเดือนมีนาคม เมื่อหิมะที่ละลายในฤดูใบไม้ผลิขัดขวาง ทำให้แนวรบโซเวียตเกิดรอยนูนซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่คูสค์
หลังความพยายายามยึดสตาลินกราดล้มเหลว ฮิตเลอร์มอบอำนาจการวางแผนในฤดูการทัพที่จะมาถึงแก่กองบัญชาการทหารสูงสุด และให้กูเดเรียนมีบทบาทเด่นตามเดิม โดยคราวนี้เป็นจเรกำลังยานเกราะ การถกเถียงในหมู่เสนาธิการเกิดการแบ่งขั้ว แม้แต่ฮิตเลอร์เองก็กังวลเกี่ยวกับความพยายามใด ๆ ในการบีบแนวยื่นที่คูสค์ เขาทราบว่า ในช่วงหกเดือน ที่ตั้งของโซเวียตที่คูสค์มีการเสริมกำลังอย่างหนาแน่นด้วยปืนต่อสู้รถถัง กับดักรถถัง ทุ่นระเบิด รั้วลวดหนาม สนามเพลาะ รังปืนกล ปืนใหญ่และปืนครก อย่างไรก็ดี หากสามารถเปิดการรุกบลิทซครีกครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายได้ครั้งหนึ่ง เช่นนั้น ฝ่ายโซเวียตจะเบาบางลง และจะได้หันความสนใจไปยังภัยคุกคามจากฝ่ายสัมพันธมิตรในแนวรบด้านตะวันตก การรุกจะมาจากแนวยื่นที่โอริออลทางเหนือของคูสค์ และจากเบลโกรอดทางใต้ ปีกทั้งสองจะมาบรรจบกันบริเวณพื้นที่ทางตะวันออกของคูสค์ และหากสำเร็จจะสามารถฟื้นฟูแนวรบของกลุ่มกองทัพใต้ ณ จุดเดียวกับที่เคยยึดครองในช่วงฤดูหนาว ค.ศ. 1941-1942
แม้ฝ่ายเยอรมันจะทราบว่า กำลังพลสนับสนุนของกองทัพแดงเคยหมดลงในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1941 และ 1942 ฝ่ายโซเวียตยังมีการจัดหากำลังพลเพิ่ม โดยการเกณฑ์ทหารจากพื้นที่ซึ่งยึดคืนได้
ด้วยแรงกดดันจากบรรดานายพล ฮิตเลอร์จึงตกลงเข้าตีที่คูสค์ โดยทราบเพียงเล็กน้อยว่า ข่าวกรองของอับเวร์ต่อที่ตั้งของโซเวียตนั้นถูกบ่อนทำลายโดยการให้ข้อมูลผิด ๆ ของสตัฟกาและการทัพต่อต้านข่าวกรอง ซึ่งดำเนินโดยแหวนสายลับลูซีในสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อฝ่ายเยอรมันเริ่มปฏิบัติการ หลังจากหยุดพักไปหลายเดือนเพื่อรอรถถังและยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ ขณะนั้นฝ่ายโซเวียตก็ได้เสริมกำลังแนวยื่นที่คูสค์ด้วยกำลังยิงต่อสู้รถถังมากกว่าที่เคยรวมอยู่ที่เดียวทั้งก่อนและนับแต่นั้น
ทางเหนือ กองทัพที่ 9 ของเยอรมนีทั้งหมดถูกวางกำลังใหม่จากแนวยื่นรซเฮฟไปยังแนวยื่นที่โอริออล และเคลื่อนจากมาโลอาร์ฮันเกลสก์ไปยังคูสค์ แต่กองกำลังนี้ไม่ผ่านกระทั่งวัตถุประสงค์แรกที่ออลโฮวัตคา ที่อยู่ห่างจากจุดเริ่มต้นการรุกเพียง 8 กิโลเมตร กองทัพที่ 9 เสียหัวหอกไปกับสนามทุ่นระเบิดของโซเวียต จากนั้น การบุกถูกเปลี่ยนทิศทางไปยังโปนืยรี ทางตะวันตกของออลโฮวัตคา แต่กองทัพที่ 9 ไม่สามารถเจาะผ่านที่นี่เช่นกัน และต้องเปลี่ยนไปตั้งรับแทน ฝ่ายโซเวียตโจมตีกลับ วันที่ 12 กรกฎาคม กองทัพแดงสู้รบผ่านแนวแบ่งเขตระหว่างกองพลที่ 211 และที่ 293 ริมแม่น้ำจิซดรา และมุ่งสู่คาราเชฟ ที่อยู่หลังพวกตนและหลังโอริออล
การรุกทางใต้ ซึ่งมีกองทัพยานเกราะที่ 4 เป็นหัวหอก นำโดย พลเอกฮอท โดยมีเหล่ารถถังสามเหล่าสร้างความคืบหน้า เหล่ายานเกราะเอสเอสที่ 2 และกองพลกรอสส์ดอยท์ชลันด์ พันเซอร์เกรนาดีร์รุกไปตามแม่น้ำด้านหนึ่งของโดเนตส์บนตรงฉนวนแคบ ๆ ซึ่งต้องผ่านสนามทุ่นระเบิดและเหนือที่สูงเมื่อเทียบกันมุ่งสู่โอโบยัน การต้านทานอย่างดุเดือดทำให้ต้องเปลี่ยนทิศทางการบุกจากทางตะวันออกเป็นตะวันตกของแนวรบ แต่รถถังยังรุกไป 25 กิโลเมตรก่อนเผชิญกับกำลังหนุนของกองทัพรถถังป้องกัน (Guards Tank Army) ที่ 5 ของโซเวียต นอกโปรโฮรอฟกา ยุทธการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม โดยมีรถถังราวหนึ่งพันคันอยู่ในการยุทธ์ หลังสงคราม นักประวัติศาสตร์โซเวียตยึดว่า ยุทธการใกล้กับโปรโฮรอฟกา เป็นยุทธการรถถังใหญ่ที่สุดตลอดกาล การรบปะทะที่โปรโฮรอฟกาเป็นความสำเร็จในการตั้งรับของโซเวียต แม้ต้องสูญเสียไปมากก็ตาม กองทัพรถถังป้องกันที่ 5 ของโซเวียต ซึ่งมีรถถังเบาและกลางราว 800 คัน เข้าตีเหล่ายานเกราะเอสเอสที่ 2 การสูญเสียรถถังของทั้งสองฝ่ายเป็นที่มาของการถกเถียงตั้งแต่นั้นมา แม้กองทัพรถถังป้องกันที่ 5 จะมิได้บรรลุวัตถุประสงค์ แต่การบุกของเยอรมนีก็หยุดลง
เมื่อวันนั้นสิ้นสุดลง ทั้งสองฝ่ายสู้รบจนคุมเชิงกัน หากแม้จะคุมเชิงกันอยู่ในทางเหนือ มันสไทน์ยังตั้งใจเข้าตีต่อไปด้วยกองทัพยานเกราะที่ 4 แต่ฝ่ายโซเวียตสามารถตั้งรับการเข้าตีดังกล่าว และการรุกทางยุทธศาสตร์ของเยอรมนี ที่ชื่อว่า ปฏิบัติการซิทาเดล ก็หยุดลง ด้วยความประทับใจต่อปฏิบัติการตีโต้ตอบที่บรรลุผลทางใต้ กองทัพแดงจึงเริ่มปฏิบัติการการรุกอย่างรุนแรงในแนวยื่นโอริออลทางเหนือ และสามารถเจาะผ่านปีกของกองทัพที่ 9 ของเยอรมนีได้ ฮิตเลอร์ที่เป็นกังวลกับการยกพลขึ้นบกในซิซิลีของฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม จึงตัดสินใจหยุดการรุก แม้กองทัพที่ 9 ของเยอรมนีจะได้พื้นที่อย่างรวดเร็วในทางเหนือก็ตาม การรุกทางยุทธศาสตร์ครั้งสุดท้ายของเยอรมนีในสหภาพโซเวียตยุติลงด้วยการตั้งรับต่อการตีโต้ตอบใหญ่ของโซเวียตซึ่งกินเวลาถึงเดือนสิงหาคม การรุกที่คูสค์เป็นการรุกขนาดเดียวกับเมื่อครั้ง ค.ศ. 1940 และ 1941 ครั้งสุดท้ายที่เวร์มัคท์สามารถปฏิบัติได้ และการรุกในภายหลังล้วนแสดงเพียงเงาของอดีตอำนาจการรุกของเวร์มัคท์เท่านั้น
ฝ่ายโซเวียตรุกต่อไปยังแนวยื่นที่โอริออลของเยอรมนี การเบี่ยงเบนกองพลกรอสส์ดอยท์ชลันด์ที่มียุทธโธปกรณ์อย่างดีจากเบลโกรอดไปยังคาราเชฟก็ไม่อาจหยุดยั้งได้ และมีการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ให้สละโอริออล (ซึ่งถูกกองทัพแดงยึดคืนได้เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1943) และร่นถอยไปยังแนวฮาเกนที่อยู่หน้าเบรียนสค์ทางใต้ ฝ่ายโซเวียตทะลวงผ่านที่ตั้งเบลโกรอดของกองทัพกลุ่มใต้ และมุ่งหน้าสู่ฮาร์คอฟอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างยุทธการอันเข้มข้นตลอดปลายเดือนกรกฎาคม เข้าสู่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1943 แม้รถถังทีเกอร์จะทำลายรถถังโซเวียตในด้านหนึ่ง แต่ไม่ช้าก็ถูกโอบล้อมในอีกด้านหนึ่งทางตะวันตก ขณะที่ฝ่ายโซเวียตเคลื่อนลงมายังเปสล (Psel) และฮาร์คอฟจะต้องถูกอพยพเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม
กำลังเยอรมันริมแม่น้ำมีอุส ซึ่งขณะนี้ประกอบด้วยกองทัพยานเกราะที่ 1 และกองทัพที่ 6 ที่สถาปนาขึ้นใหม่ อ่อนแอเกินกว่าจะขับการเข้าตีของโซเวียตบนแนวรบของตนได้ เมื่อถึงเดือนสิงหาคม และเมื่อฝ่ายโซเวียตตีกองทัพทั้งสอง ก็จำต้องร่นถอยผ่านนิคมอุตสาหกรรมดอนบาส (Donbass) ไปจนถึงนีเปอร์ สูญเสียทรัพยากรทางอุตสาหกรรมและพื้นที่เกษตรกรรมครึ่งหนึ่งที่เยอรมนีบุกครองสหภาพโซเวียตเพื่อใช้ประโยชน์ ถึงขณะนี้ ฮิตเลอร์ตกลงให้มีการร่นถอยใหญ่ไปยังแนวนีเปอร์ ซึ่งแนวดังกล่าวตั้งใจจะให้เป็นโอสท์วัลล์ ซึ่งเป็นแนวป้องกันคล้ายคลึงกับแนวซีกฟรีด ป้อมสนามตามชายแดนตะวันตกของเยอรมนี ปัญหาหลักของฝ่ายเยอรมัน คือ การป้องกันเหล่านี้ยังไม่ถูกสร้างขึ้น และเมื่อกองทัพกลุ่มใต้ได้ถอนตัวจากยูเครนตะวันออกและเริ่มร่นถอยข้ามแม่น้ำนีเปอร์ช่วงเดือนกันยายน ฝ่ายโซเวียตก็ไล่หลังมาอย่างกระชั้นแล้ว ทหารหน่วยเล็ก ๆ พายเรือข้ามแม่น้ำกว้าง 3 กิโลเมตรอย่างทรหด และสถาปนาหัวสะพานขึ้น ความพยายามครั้งที่สองของฝ่ายโซเวียตที่จะยึดพื้นที่โดยใช้พลร่ม มีขึ้นที่คาเนฟเมื่อวันที่ 24 กันยายน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไร้โชคเช่นเดียวกับที่โดโรโกบุชเมื่อสิบแปดเดือนก่อน และพลร่มก็ถูกขับไล่ไปในเวลาอันสั้น แต่ก็หลังจากที่กำลังกองทัพแดงที่หนุนเข้ามาได้ใช้การกำบังที่พลร่มเหล่านี้เตรียมไว้ข้ามแม่น้ำนีเปอร์และครองสนามเพลาะอย่างปลอดภัย เมื่อเข้าสู่เดือนตุลาคม ฝ่ายเยอรมันพบว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะยื้อแนวนีเปอร์เมื่อหัวสะพานของโซเวียตเติบโตขึ้น และเมืองสำคัญตามแม่น้ำนีเปอร์เริ่มแตก เริ่มจากซาโปโรเจียตามมาด้วยเนโปรเปตรอฟสก์ ในที่สุด ต้นเดือนพฤศจิกายน ฝ่ายโซเวียตฝ่าออกจากหัวสะพานทั้งสองฝั่งของเคียฟและยึดเมืองหลวงของยูเครน ซึ่งขณะนั้นเป็นนครใหญ่ที่สุดอันดับสามในสหภาพโซเวียต ไว้ได้
ห่างจากเคียฟไปทางตะวันตกแปดสิบไมล์ กองทัพยานเกราะที่ 4 ซึ่งยังเชื่อว่ากองทัพแดงเป็นกองกำลังที่อ่อนแรง สามารถโต้ตอบฉับพลันที่จึยโตมีร์เป็นผลสำเร็จเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน บั่นทอนหัวสะพานของโซเวียตโดยการโจมตีจากด้านข้างอย่างห้าวหาญที่ดำเนินโดยเหล่ายานเกราะเอสเอสตามแม่น้ำเตเตเรฟ ยุทธการนี้ยังให้กองทัพกลุ่มใต้ยึดโครอสเตนคืน ตลอดจนมีเวลาหยุดพักบ้าง อย่างไรก็ดี ในวันคริสต์มาสอีฟ การล่าถอยเริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อแนวรบยูเครนที่หนึ่ง (เปลี่ยนชื่อจากแนวรบโวโรเนช) เข้าตีพวกเขา ณ จุดเดียวกัน การเคลื่อนของโซเวียตดำเนินต่อตามเส้นทางรถไฟกระทั่งถึงพรมแดนโปแลนด์-โซเวียตครั้ง ค.ศ. 1939 เมื่อวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1944 ทางใต้ แนวรบยูเครนที่สอง (เดิมชื่อแนวรบสเต็ปป์) ข้ามแม่น้ำนีเปอร์ที่เครเมนชุกและบุกต่อไปทางตะวันตก ในสัปดาห์ที่สองของเดือน แนวรบยูเครนที่สองเลี้ยวไปทางเหนือ บรรจบกับกำลังรถถังของวาตูติน ซึ่งได้แกว่งลงใต้จากการตีฝ่าเข้าสู่โปแลนด์และล้อมกองพลเยอรมนีสิบกองพลที่คอร์ซุน-เชฟเชนคอฟสกี ทางตะวันตกของเชียร์คัสซี การยืนกรานให้รักษาแนวนีเปอร์ของฮิตเลอร์ แม้อาจเผชิญกับโอกาสความพ่ายแพ้หายนะนั้น ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อเขาเชื่อมั่นว่า วงล้อมเชียร์คัสซีจะสามารถตีฝ่าออกมาได้ และรุกไปยังเคียฟได้ด้วย แต่มันสไทน์กังวลมากกว่าถึงการสามารถรุกไปยังขอบวงล้อม และขอให้กำลังที่ถูกล้อมตีฝ่าออกมา จนถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ขั้นแรกเสร็จสิ้น โดยยานเกราะกับวงล้อมเชียร์คัสซีถูกคั่นด้วยแม่น้ำกนีลอย ตีคิชเท่านั้น ภายใต้กระสุนปืนใหญ่และรถถังโซเวียตที่ไล่ติดตามมา กองทหารเยอรมันที่ถูกล้อม ซึ่งมีกองพลยานเกราะเอสเอสที่ 5 วีคิงรวมอยู่ด้วย ตีข้ามแม่น้ำจนรอดปลอดภัย แม้จะเสียกำลังพลไปครึ่งหนึ่งและยุทโธปกรณ์ทั้งหมดก็ตาม พวกเขาสันนิษฐานว่าพวกโซเวียตจะไม่เข้าตีอีกย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ แต่ในวันที่ 3 มีนาคม แนวรบโซเวียตยูเครนเปลี่ยนไปรุก เมื่อโดดเดี่ยวไครเมียด้วยการแยกคอคอดเปเรคอปแล้ว กำลังของมาลีนอฟสคีก็รุกข้ามปลักโคลนไปยังพรมแดนโรมาเนีย โดยไม่หยุดริมแม่น้ำปรุต (Prut)
ความเคลื่อนไหวสุดท้ายหนึ่งในทางใต้ยุติฤดูการทัพ ค.ศ. 1943–44 ซึ่งรวมการรุกกว่า 500 ไมล์ ในเดือนมีนาคม 20 กองพลของเยอรมนี แห่งกองทัพยานเกราะที่ 1 ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอกฮันส์-วาเลนทิน ฮูเบอ ถูกโอบล้อมในวงล้อมฮูเบอ ใกล้กับคาเมเนตส์-โปดอลสคียี (Kamenets-Podolskiy) หลังการสู้รบอย่างดุเดือดสองสัปดาห์ กองทัพยานเกราะที่ 1 สามารถหลบหนีออกจากวงล้อมได้ โดยประสบความสูญเสียเพียงเล็กน้อยถึงปานกลางเท่านั้น เมื่อถึงจุดนี้ ฮิตเลอร์สั่งปลดนายพลที่โดดเด่นหลายคน รวมทั้งมันสไทน์ ในเดือนเมษายน กองทัพแดงยึดโอเดสซาคืนได้ ตามด้วยการทัพของแนวรบยูเครนที่ 4 ในการฟื้นฟูการควบคุมเหนือไครเมีย ซึ่งสิ้นสุดลงด้วยการยึดซาวัสโตปอลในวันที่ 10 พฤษภาคม
ตามแนวรบของกองทัพกลุ่มเหนือ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1943 กองกำลังนี้ถูกผลักดันมาจากแนวฮาเกนอย่างช้า ๆ โดยยึดดินแดนได้ค่อนข้างเล็กน้อย แต่การเสียเบรียนสก์และสโมเลนสก์ที่สำคัญกว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ทำให้เวร์มัคท์เสียหลักสำคัญของระบบการป้องกันของเยอรมนีทั้งระบบ กองทัพที่ 4 ที่ 9 และกองทัพยานเกราะที่ 3 ยังยึดพื้นที่อยู่ฝั่งตะวันออกของนีเปอร์บน คอยขัดขวางความพยายามของโซเวียตที่จะไปถึงวีเตบสค์ บนแนวรบของกองทัพกลุ่มเหนือ มีการสู้รบเพียงเล็กน้อยกระทั่งเดือนมกราคม ค.ศ. 1944 เมื่อแนวรบวอลฮอฟและแนวรบบอลติกที่สองโจมตีอย่างไม่คาดฝัน ในการทัพสายฟ้า ฝ่ายเยอรมันถูกผลักดันจากเลนินกราด และนอฟโกรอดถูกกองกำลังโซเวียตยึดคืน เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ กองทัพแดงถึงพรมแดนเอสโตเนียหลังการบุก 75 ไมล์ ทะเลบอลติกเหมือนจะเป็นเส้นทางเร็วที่สุดที่จะนำการสู้รบไปถึงแผ่นดินเยอรมนีในปรัสเซียตะวันออกและยึดควบคุมฟินแลนด์สำหรับสตาลิน[35] การรุกของแนวรบเลนินกราดสู่ทาลลินน์ เมืองท่าบอลติกที่สำคัญ ถูกหยุดในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1944 กลุ่มกองทัพ "นาร์วา" ของเยอรมนี ซึ่งรวมทหารเกณฑ์เอสโตเนีย คอยปองกันการสถาปนาเอกราชใหม่ของเอสโตเนีย [36][37]
นักวางแผนของเวร์มัคท์เชื่อว่า ฝ่ายโซเวียตจะเข้าตีอีกครั้งในทางใต้ ที่ซึ่งแนวรบอยู่ห่างจากลวีฟ 50 ไมล์ และเป็นเส้นทางที่ตรงสู่กรุงเบอร์ลินที่สุด ฉะนั้น จึงมีการดึงกำลังจากกองทัพกลุ่มกลาง ที่ซึ่งแนวรบยื่นลึกเข้าไปในสหภาพโซเวียต ฝ่ายเยอรมันได้ย้ายบางหน่วยไปยังฝรั่งเศสเพื่อต่อต้านการบุกครองนอร์ม็องดีเมื่อสองสัปดาห์ก่อน การรุกเบลารุส (ชื่อรหัสว่า ปฏิบัติการบากราติออน) ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1944 เป็นการเข้าตีขนานใหญ่ของโซเวียต ประกอบด้วยสี่กลุ่มกองทัพของโซเวียต รวมกว่า 120 กองพล ซึ่งบดขยี้เข้าไปในแนวรบบาง ๆ ที่เยอรมนีถือครองอยู่ ฝ่ายโซเวียตพุ่งเป้าการเข้าตีขนานใหญ่ไปยังกองทัพกลุ่มกลาง มิใช่กองทัพกลุ่มเหนือยูเครนซึ่งฝ่ายเยอรมันคาดการณ์ไว้เดิม ทหารโซเวียตกว่า 2.3 ล้านนายเข้าร่วมรบต่อกองทัพกลุ่มกลางของเยอรมนี ที่มีกำลังพลไม่ถึง 800,000 นาย ณ เวลาแห่งการเข้าตี ฝ่ายโซเวียตได้เปรียบทั้งด้านกำลังพลและยุทธโธปกรณ์อย่างขาดลอย กองทัพแดงมีอัตราส่วนรถถังต่อข้าศึกถึงสิบต่อหนึ่ง และอากาศยานถึงเจ็ดต่อหนึ่ง กรุงมินสค์ เมืองหลวงของเบลารุส ถูกยึดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ดักทหารเยอรมันราว 100,000 นาย สิบวันให้หลัง กองทัพแดงไปถึงพรมแดนโปแลนด์ก่อนสงคราม บาราติออนเป็นหนึ่งในปฏิบัติการทางทหารเดี่ยว ๆ ที่ใหญ่ที่สุดในสงคราม ไม่ว่าจะวัดด้วยเกณฑ์ใดก็ตาม เมื่อถึงปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1944 ฝ่ายเยอรมันมีทหารเสียชีวิต บาดเจ็บ สูญหายและเจ็บป่วยประมาณ 400,000 นาย ซึ่งในจำนวนนี้ถูกจับเป็นเชลย 160,000 นาย และรถถัง 2,000 คัน ตลอดจนยานพาหนะอื่น 57,000 คันถูกยึด ในปฏิบัติการดังกล่าว กองทัพแดงมีทหารเสียชีวิตและสูญหายราว 180,000 นาย (รวมทั้งสิ้น 765,815 นาย ทั้งการบาดเจ็บและป่วย และชาวโปแลนด์ 5,073 นาย)[38] เช่นเดียวกับปืนใหญ่และรถปืนใหญ่อัตตาจร 2,957 คัน การรุกที่เอสโตเนียเป็นเหตุให้ทหารโซเวียตสูญเสียกำลังพลอีก 480,000 นาย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 100,000 นาย[39][40]
การรุกลวอฟ–ซานโดเมียร์ซข้างเคียงเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 และตีกำลังเยอรมันในยูเครนตะวันตกพ่ายอย่างรวดเร็ว ลวีฟถูกโซเวียตยึดครองอีกครั้งเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม เป็นครั้งแรกตั้งแต่พันธมิตรนาซี-โซเวียตในเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 และการร่วมบุกครองโปแลนด์ ครั้งนี้ นครถูกยึดคืนโดยแนวรบยูเครนที่ 1 ได้ค่อนข้างง่าย ความหวังของชาวยูเครนที่จะได้รับเอกราชถูกทำลายท่ามกลางกำลังที่ท้วมท้นของโซเวียต เช่นเดียวกับรัฐบอลติก กองทัพผู้ก่อการกำเริบยูเครน UPA จะยังทำสงครามกองโจรต่อโซเวียตต่อไปถึงคริสต์ทศวรรษ 1950 ฝ่ายโซเวียตรุกต่อไปทางใต้เข้าสู่โรมาเนีย และ หลังรัฐประหารต่อรัฐบาลฝักใฝ่อักษะของโรมาเนีย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม กองทัพแดงก็ยึดกรุงบูคาเรสต์ได้เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ในกรุงมอสโก เมื่อวันที่ 12 กันยายน โรมาเนียและสหภาพโซเวียตลงนามสงบศึกด้วยเงื่อนไขที่แท้จริงแล้วโซเวียตบังคับ การยอมจำนนของโรมาเนียทำให้เกิดช่องในแนวรบด้านตะวันออกทางใต้ของเยอรมนี ซึ่งเป็นเหตุให้สูญเสียบอลข่านทั้งหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความคืบหน้าอย่างรวดเร็วของปฏิบัติการบากราติออนคุกคามที่จะตัดขาดและโดดเดี่ยวกองทัพกลุ่มเหนือของเยอรมนีที่กำลังต้านทานการรุกของโซเวียตสู่ทาลลินน์อย่างขมขื่น ในการเข้าตีอย่างดุร้ายที่เขา Sinimäed ประเทศเอสโตเนีย แนวรบเลนินกราดของโซเวียตไม่สามารถตีผ่านการป้องกันของหน่วยสมทบ "นาร์วา" ที่เล็กกว่าและมีการจัดการป้องกันอย่างดีในภูมิประเทศที่ไม่เหมาะแก่ปฏิบัติการขนาดใหญ่[41][42]
บนคอคอดคาเรเลียน ฝ่ายโซเวียตเปิดฉากการเข้าตีขนานใหญ่ต่อแนวรบฟินแลนด์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1944 (ประสานกับการบุกครองนอร์ม็องดีของฝ่ายสัมพันธมิตร) สามกองทัพถูกส่งไปรบกับฟินแลนด์ ซึ่งมีรูปขบวนปืนเล็กองครักษ์ (guards rifle) ที่มีประสบการณ์รวมอยู่ด้วยจำนวนมาก การเข้าตีเจาะแนวตั้งรับของฟินแลนด์ได้ที่ Valkeasaari เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน และกองกำลังฟินแลนด์ร่นถอยไปยังแนวป้องกันอันดับรอง แนววีที การเข้าตีของโซเวียตได้รับการสนับสนุนจากการระดมยิงของปืนใหญ่หนัก การทิ้งระเบิดทางอากาศและกองกำลังยานเกราะ แนววีทีถูกเจาะเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน และหลังการตีโต้ตอบที่ล้มเหลวใน Kuuterselkä โดยกองพลยานเกราะฟินแลนด์ การป้องกันของฟินแลนด์จำต้องถูกดึงกลับไปยังแนววีเคที หลังการสู้รบอย่างหนักในยุทธการ Tali-Ihantala และ Ilomantsi ในที่สุดกำลังฟินแลนด์ก็สามารถหยุดการเข้าตีของโซเวียตได้
ในโปแลนด์ เมื่อกองทัพแดงมาถึง กองทัพป้องกันชาติโปแลนด์ (AK) เปิดฉากปฏิบัติการเทมเพสต์ ระหว่างการก่อการกำเริบโปแลนด์ กองทัพแดงหยุดที่แม่น้ำวิสตูลา ไม่สามารถหรือไม่มีเจตนาจะเข้ามาช่วยเหลือการต่อต้านของโปแลนด์ได้ ความพยายามของกองทัพโปแลนด์ที่ 1 ที่คอมมิวนิสต์ควบคุม ที่จะปลดปล่อยนครไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพแดงและถูกกำราบในเดือนตุลาคมโดยได้รับความสูญเสียอย่างหนัก ในสโลวาเกีย การก่อการกำเริบแห่งชาติสโลวาเกียเริ่มขึ้นด้วยการต่อสู้ด้วยอาวุธระหว่างกำลังเวร์มัคท์ของเยอรมนีกับกองกำลังกบฏสโลวาเกียตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ค.ศ. 1944
เมื่อวันที่ 8 กันยายน ปี ค.ศ. 1944 กองทัพแดงได้โจมตีที่ดักลา พาสบริเวณชายแดนระหว่างสโลวาเกีย-โปแลนด์.สองเดือนต่อมา,กองทัพโซเวียตได้รับชัยชนะและเคลื่อนทัพเข้าสู่สโลวาเกีย.จำนวนความเสียหายทั้งหมดสูงมาก:ทหารกองทัพแดงเสียชีวิตไป 2 หมื่นนาย,รวมทั้งเยอรมันหลายพันนาย,ชาวสโลวักและชาวเช็ก.
ภายใต้จากการผลักดันของโซเวียตรุกทะเลบอลติก,กองทัพกลุ่มตอนเหนือได้ถอนตัวออกจากการสู้รบที่ซาเรมา,คูร์แลนด์และ Memel.
สหภาพโซเวียตเข้าสู่กรุงวอร์ซอในที่สุด เมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1945 หลังถูกทำลายและละทิ้งโดยเยอรมนี เป็นเวลาสามวันบนแนวรบกว้างซึ่งประกอบด้วยสี่แนวรบกองทัพ กองทัพแดงเริ่มการรุกข้ามแม่น้ำนาแรฟและจากกรุงวอร์ซอ ฝ่ายโซเวียตมีจำนวนเหนือกว่าฝ่ายเยอรมนีโดยเฉลี่ย คือ กำลังพลประมาณห้าถึงหกต่อหนึ่ง ปืนใหญ่หกต่อหนึ่ง รถถังหกต่อหนึ่ง และปืนใหญ่อัตตาจรสี่ต่อหนึ่ง หลังผ่านไปสี่วัน กองทัพแดงเริ่มเคลื่อนที่ได้สามสิบถึงสี่สิบกิโลเมตรต่อวัน ยึดรัฐบอลติก ดันซิก ปรัสเซียตะวันออก พอซนาน และสถาปนาแนวรบห่างจากกรุงเบอร์ลินไปทางตะวันออกหกสิบกิโลเมตรตามแม่น้ำโอเดอร์ ระหว่างห้วงการรุกวิสตูลา-โอเอร์เต็ม ๆ (23 วัน) กองกำลังกองทัพแดงมีกำลังพลสูญเสียทั้งสิ้น 194,191 นาย (เสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหาย) และเสียรถถังและรถปืนใหญ่อัตตาจร 1,267 คัน
วันที่ 25 มราคม ค.ศ. 1945 ฮิตเลอร์เปลี่ยนชื่อสามกลุ่มกองทัพ กองทัพกลุ่มเหนือเป็นกองทัพกลุ่มคูร์ลันด์ กองทัพกลุ่มกลางเป็นกองทัพกลุ่มเหนือ และกองทัพกลุ่มอาเป็นกองทัพกลุ่มกลาง กองทัพกลุ่มเหนือ (หรือกองทัพกลุ่มกลางเดิม) ถูกขับไปอยู่ในวงล้อมขนาดเล็กกว่าเดิมรอบเคอนิชส์แบร์คในปรัสเซียตะวันออก
การตีโต้ตอบที่จำกัด (มีชื่อรหัสว่า ปฏิบัติการอายัน) โดยกองทัพกลุ่มวิสตูลาที่เพิ่งตั้งใหม่ ภายใต้การบังคับบัญชาของไรช์ซฟือแรร์-เอสเอส ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ ล้มเหลวเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และฝ่ายโซเวียตขับเข้าสู่โพเมราเนียและกวาดล้างฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโอเดอร์ ทางใต้ ความพยายามสามหนของเยอรมนีในการแก้ไขบูดาเปสต์ที่ถูกล้อมล้มเหลวและนครนั้นเสียให้แก่โซเวียตเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ วันที่ 6 มีนาคม เยอรมนีตีโต้ตอบอีกครั้ง ฮิตเลอร์ยืนกรานภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ในการยึดแม่น้ำดานูบคืน วันที 16 มีนาคม การเข้าตีล้มเหลวและกองทัพแดงตีโต้ตอบในวันเดียวกัน วันที่ 30 มีนาคม โซเวียตเข้าสู่ออสเตรียและยึดกรุงเวียนนาได้เมื่อวันที่ 13 เมษายน
OKW อ้าง ความสูญเสียของเยอรมนีที่ ทหารเสียชีวิต 77,000 นาย บาดเจ็บ 334,000 นาย และสูญหาย 292,000 นาย รวมทั้งสิ้น 703,000 นาย บนแนวรบด้านตะวันออกระหว่างเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945[43]
วันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1945 เคอนิชส์แบร์คในปรัสเซียตะวันออกเสียแก่กองทัพแดงในที่สุด แม้ส่วนที่เหลือยู่ที่กระจัดกระจายของกองทัพกลุ่มกลางยังต่อต้านที่สันดอนจะงอยวิสตูลาและคาบสมุทรเฮลกระท่งสิ้นสุดสงครามในยุโรป ปฏิบัติการปรัสเซียตะวันออก แม้มักถูกบดบังด้วยปฏิบัติการวิสตูลา-โอเดอร์และยุทธการเบอร์ลินในภายหลัง อันที่จริงแล้วเป็นหนึ่งในปฏิบัติการใหญ่ที่สุดและนองเลือดที่สุดโดยกองทัพแดงตลอดสงคราม ระหว่างปฏิบัติการดังกล่าว (13 มกราคม - 25 เมษายน) กองทัพแดงมีกำลังพลสูญเสีย 584,788 นาย และเสียรถถังและรถปืนใหญ่อัตตาจร 3,525 คัน
การเสียเคอนิชส์แบร์คทำให้สตัฟกาปล่อยให้แนวรบเบลารุสที่ 2 ของพลเอกคอนสตันติน โรคอสซอฟสกีเคลื่อนที่มาทางตะวันตกถึงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโอเอร์ ระหว่างสองสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน ฝ่ายโซเวียตจัดการวางกำลังใหม่แนวรบอย่างเร็วที่สุดในสงคราม พลเอกเกออร์กี จูคอฟรวมกำลังแนวรบเบลารุสที่ 1 ของเขา ซึ่งถูกวางกำลังตามแม่น้ำโอเดอร์จากแฟรงก์เฟิร์ตทางใต้ไปจนถึงบอลติก เข้าไปในพื้นที่หน้าที่สูงซีโลว์ ขณะที่กองทัพแดงกำลังวางกำลังใหม่ ช่องว่างซึ่งเหลืออยู่ในแนวรบและส่วนที่เหลือของกองทัพที่ 2 ของเยอรมนีซึ่งถูกปิดกันในวงล้อมใกล้ดันซิก จัดการหลบหนีข้ามแม่น้ำโอเดอร์ได้ ทางใต้ พลเอกอีวาน โคเนฟย้ายส่วนใหญ่ของแนวรบยูเครนที่ 1 ออกจากอัปเปอร์ซีเลเซียตะวันตกเฉียงเหนือไปยังแม่น้ำนีสเซอ[44] แนวรบโซเวียตสามแนวรบรวมกันมีกำลัง 2.5 ล้านนาย (รวมทั้งทหาร 78,556 นายแห่งกองทัพโปแลนด์ที่ 1) รถถัง 6,250 คัน อากาศยาน 7,500 ลำ ปืนใหญ่และปืนครก 41,600 กระบอก เครื่องปล่อยจรวดคัทยูชาติดตั้งบนรถบรรทุก 3,255 คัน และยานยนต์ 95,383 คัน[44]
สิ่งที่โซเวียตยังเหลือต้องทำ คือ เปิดฉากการรุกเพื่อยึดเยอรมนีตอนกลาง (ซึ่งจะมาเป็นเยอรมนีตะวันออกหลังสงคราม) การรุกของโซเวียตมีวัตถุประสงค์สองข้อ เพราะความแคลงใจของสตาลินเกี่ยวกับเจตนาของสัมพันธมิตรตะวันตกที่จะส่งมอบดินแดนที่ตนยึดครองในเขตยึดครองโซเวียตหลังสงคราม การรุกจึงจะเป็นแนวรบกว้างและจะเคลื่อนที่ให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ไปทางตะวันตก เพื่อพบกับสัมพันธมิตรตะวันตกให้เลยไปทางตะวันตกที่สุด แต่วัตถุประสงค์ข้อที่สำคัญกว่า คือ ยึดกรุงเบอร์ลิน ทั้งสองวัตถุประสงค์นี้เติมเต็มซึ่งกันเพราะการครอบครองดินแดนจะไม่สามารถพิชิตได้โดยเร็วหากกรุงเบอร์ลินไม่ถูกยึด อีกการพิจารณาหนึ่ง คือ กรุงเบอร์ลินมีเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ รวมทั้งอดอล์ฟ ฮิตเลอร์และโครงการระเบิดอะตอมของเยอรมนี[45]
การรุกเพื่อยึดเยอรมนีตอนกลางและกรุงเบอร์ลินเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน ด้วยการโจมตีแนวรบเยอรมนีตรงแม่น้ำโอเดอร์และนีซเซ หลังการสู้รบอย่างหนักหลายวัน แนวรบเบลารุสที่ 1 และแนวรบยูเครนที่ 1 เปิดช่องผ่านแนวรบเยอรมนีและกระจัดกระจายทั่วเยอรมนีตอนกลาง จนถึงวันที่ 24 เมษายน ส่วนต่าง ๆ ของแนวรบเบลารุสที่ 1 และแนวรบยูเครนที่ 1 สำเร็จการล้อมกรุงเบอร์ลินและยุทธการเบอร์ลินเข้าสู่ขั้นสุดท้าย วันที่ 25 เมษายน แนวรบเบลารุสที่ 2 เจาะผ่านแนวของกองทัพยานเกราะที่ 3 ของเยอรมนีทางใต้ของสเทททิน ตอนนี้จึงมีอิสระในการเคลื่อนที่ไปทางตะวันตกมุ่งสู้กลุ่มกองทัพที่ 21 ของอังกฤษ และทางเหนือสู่ท่าบอลติกสทรัลซุนด์ กองพลปืนเล็กยาวองครักษ์ที่ 58 ของกองทัพองครักษ์ที่ 5 ติดต่อกับกองพลทหารราบที่ 69 ของกองทัพที่ 1 ใกล้กับทอร์เกา ประเทศเยอรมนี ใกล้กับแม่น้ำเอลเบอ[46][47]
วันที่ 29 และ 30 เมษายน เมื่อกำลังโซเวียตสู้รบเข้าไปยังใจกลางกรุงเบอร์ลิน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์สมรสกับเอวา เบราน์ และจากนั้นทำอัตวินิบาตกรรมโดยทานไซยาไนด์และยิงตัวตาย เฮลมุท ไวด์ลิง ผู้บัญชาการการป้องกันกรุงเบอร์ลิน ยอมจำนนนครแก่โซเวียตเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม[48] ทั้งหมด ปฏิบัติการเบอร์ลิน (16 เมษายน – 2 พฤษภาคม) กองทัพแดงเสียกำลังพล 361,367 นาย (เสียชีวิต สูญหาย บาดเจ็บและป่วย) และรถถังและรถปืนใหญ่อัตตาจร 1,997 คัน ความสูญเสียของเยอรมนีในสงครามยังเป็นไปไม่ได้ที่จะค้นความจริงอย่างน่าเชื่อถือ[49]
เมื่อเวลา 2.41 น. ของวันที่ 7 พฤษภาคม 1945 ที่กองบัญชาการทหารสูงสุดกำลังรบนอกประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร (SHAEF) เสนาธิการเยอรมนี พลเอก อัลเฟรด โยลด์ ลงนามในตราสารยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขแก่กำลังเยอรมนีทั้งหมดแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งมีวลีว่า "ทุกกำลังภายใต้การควบคุมของเยอรมนีจะยุติปฏิบัติการที่ยังดำเนินอยู่เมื่อเวลา 23.01 น. ตามเวลายุโรปกลางของวันที่ 8 พฤษภาคม 1945" ไม่นานก่อนเที่ยงคืนของวันรุ่งขึ้น จอมพล วิลเฮล์ม ไคเทล ย้ำการลงนามในกรุงเบอร์ลินที่กองบัญชาการของจูคอฟ เป็นการยุติสงครามในทวีปยุโรป[50]
กองทัพกลุ่มกลางของเยอรมนีปฏิเสธที่จะยอมจำนนในขั้นต้นและยังสู้รบต่อไปในเชโกสโลวาเกียกระทั่งวันที่ 11 พฤษภาคม[51]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
I. ^ โดยรวมแล้ว ชาติพันธมิตรของเยอรมนีได้ให้ความสนับสนุนทางด้านกำลังคนและยุทโธกรณ์จำนวนมากแก่ทหารในแนวหน้า นอกจากนี้ยังได้มีการเกณฑ์ทหารมาจากต่างประเทศอีก โดยหน่วยทหารที่มีชื่อเสียงได้แก่ กองพลสีน้ำเงินของสเปน
II. ^ กองทัพโปแลนด์ทางตะวันออกและรัฐใต้ดินโปแลนด์สู้ร่วมกับกองทัพแดง (นับตั้งแต่ ค.ศ. 1943) จากสหภาพโซเวียตจนถึงเบอร์ลิน สหภาพโซเวียตยังได้เกณฑ์หน่วยทหารต่างชาติ (เชโกสโลวาเกีย โรมาเนียและรัฐบอลติก[52] สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรยังได้ให้ความช่วยเหลือบางส่วนแก่สหภาพโซเวียต และยังได้รับความช่วยเหลือทางทหารเล็กน้อยจากเชโกสโลวาเกีย
III. ^ ตามข้อมูลของ จี. ไอ. คริโวเชเยฟ[53] ในแนวรบด้านตะวันออก ประเทศฝ่ายอักษะและคู่สงครามร่วมของเยอรมนีสูญเสียทหาร 1,468,145 นาย (เสียชีวิตหรือสูญหาย 668,163 นาย) เฉพาะเยอรมนีประเทศเดียวสูญเสียทหารไป 7,181,000 นาย (เสียชีวิตหรือสูญหาย 3,604,800 นาย) และมีเชลยศึกเสียชีวิตไป 579,900 คนในการควบคุมของโซเวียต ดังนั้น จำนวนทหารที่เสียชีวิตและสูญหายในแนวรบด้านตะวันออก (ค.ศ. 1941-1945) ของฝ่ายอักษะจึงอยู่ที่ 4.8 ล้านนาย กว่าครึ่งของการสูญเสียชีวิตทหารทั้งหมดของฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่สอง (รวมทั้งเขตสงครามเอเชียแปซิฟิก) ฝ่ายสหภาพโซเวียตสูญเสียทหารไป 10.5 ล้านนาย (รวมทั้งเชลยศึกในการควบคุมของเยอรมนี ตามข้อมูลของวาดิม เอียร์ลิคมัน[54]) จำนวนทหารเสียชีวิตของทั้งสองฝ่ายรวมกันราว 15 ล้านนาย มากกว่าเขตสงครามอื่น ๆ ในสงครามโลกครั้งที่สองมาก ในแหล่งข้อมูลเดียวกัน[54] จำนวนพลเรือนโซเวียตที่เสียชีวิตในพรมแดนหลังสงครามอยู่ที่ 15.7 ล้านคน จำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตในประเทศยุโรปกลางอื่นและความสูญเสียพลเรือนเยอรมันไม่รวมอยู่ด้วย
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.