Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา (9 มกราคม พ.ศ. 2475 – 12 มกราคม พ.ศ. 2553) เป็นสถาปนิกชาวไทย นักธุรกิจ ผู้ก่อตั้งสำนักงานออกแบบคาซ่า อาจารย์และอดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คนที่ 4 พ.ศ. 2517–2521)[1], นักแสดง นักบินสมัครเล่น อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี พ.ศ. 2503 และปี พ.ศ. 2507[2] อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 11 และศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ปี พ.ศ. 2550
กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา | |
---|---|
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 11 | |
ดำรงตำแหน่ง 19 เมษายน 2535 – 18 เมษายน 2539 (3 ปี 364 วัน) | |
ก่อนหน้า | พลตรี จำลอง ศรีเมือง |
ถัดไป | พิจิตต รัตตกุล |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 9 มกราคม พ.ศ. 2475 จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 12 มกราคม พ.ศ. 2553 (78 ปี) โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
พรรคการเมือง | พลังธรรม (2531–2539) ประชากรไทย (2539–2553) |
คู่สมรส | สุชาดา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา |
บุตร | 3 คน |
อาชีพ |
|
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | ไทย |
สังกัด | กองทัพบกไทย |
ประจำการ | 2500 – 2503 |
ยศ | ร้อยเอก |
กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา | |
---|---|
เกิด | ไทย |
สัญชาติ | ไทย |
ศิษย์เก่า | |
รางวัล | ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) |
การทำงาน | บริษัท คาซ่า จำกัด |
ผลงานสำคัญ |
|
กฤษฎา เป็นสถาปนิกผู้บุกเบิกงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่คนสำคัญของไทย ด้วยผลงานออกแบบที่เป็นที่รู้จักกันดีเช่น เอ็มบีเคเซ็นเตอร์ อาคารศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โบสถ์เซเวียร์ เป็นต้น ผลงานของกฤษฎา มักเป็นอาคารเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่และส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร
กฤษฎา เกิดเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2475 เป็นบุตรของหม่อมหลวงวงศ์อรุณ อรุณวงษ์ จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ (อสช 12977) ปริญญาตรีและโททางสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2498, 2499 ได้รับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส ไปศึกษาด้านสถาปัตยกรรมที่ โรงเรียนวิจิตรศิลป์เอกอลเดโบซาร์ และดูงานสถาปัตยกรรม เป็นเวลา 6 เดือน ในปี พ.ศ. 2503[3] กฤษฎา สมรสกับ สุชาดา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 1 คน
กฤษฎา เคยรับราชการที่กรมยุทธโยธาทหารบกหลังสำเร็จการศึกษา จนถึงยศร้อยเอก แล้วจึงโอนมาเป็นอาจารย์สอนวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2503–2532) และมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นอดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม (อาษา) , อดีตอุปนายกของสภาสถาปนิกเอเซีย (ARCASIA) , อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธา (พ.ศ. 2533–2535) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (19 เมษายน 2535 – 18 เมษายน 2539) โดยการสนับสนุนของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่าฯ คนก่อน ได้รับมอบปริญญา สถาปัตยกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ประจำปี พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2551 จากการเสนอของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.)[4]
กฤษฎา เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท คาซา (CASA) มีผลงานออกแบบอาคารหลายแห่ง ที่มีชื่อเสียง เช่น อาคารใหม่สวนอัมพร[5] อาคารสินธร ถนนวิทยุ[6] อาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาชิดลม สาขาสีลม[7] และสาขาหัวหมาก สำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลม[4] ตึกไอบีเอ็ม ถนนพหลโยธิน[6] สำนักงานใหญ่การบินไทย[6] และเมื่อปี 2539 ได้รับเลือกให้เป็นสถาปนิกดีเด่นของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์[8]
ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา เป็นราชบัณฑิตประเภทวิชาสถาปัตยศิลป์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม สํานักศิลปกรรม ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2551[9]
กฤษฎา ถึงแก่กรรมด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจโป่งพอง เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553 ที่โรงพยาบาลศิริราช รวมอายุได้ 78 ปี[10] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553 ณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร
กฤษฎา เป็นนักบินสมัครเล่น เคยมีผลงานเป็นนักแสดงรับเชิญ ในภาพยนตร์เรื่อง เสือ โจรพันธุ์เสือ (2541) โดยรับบทเป็น พระยาบริรักษ์ประชาราษฎร์ บิดาของ เสือใบ (อำพล ลำพูน) ตัวเอกในเรื่อง และ เรื่องพรางชมพู (2545)[11] แสดงละครโทรทัศน์เทิดพระเกียรติเรื่อง พ่อ ตอน ชีวิตที่พอเพียง (2542) และแสดงละครเวที
กฤษฎา ได้เข้ารับราชการในกองทัพไทยในปี พ.ศ. 2500 – 2503 และได้เป็นนักกีฬายิงปืนทีมชาติในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี พ.ศ. 2503 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี และปี พ.ศ. 2507 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น[2]
กฤษฎา ได้รับพระราชทานยศนายกองเอกแห่งกองอาสารักษาดินแดน[12]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.