คำถามยอดนิยม
ไทมไลน์
แชท
มุมมอง
มหาวิทยาลัยศิลปากร
มหาวิทยาลัยรัฐในประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Remove ads
มหาวิทยาลัยศิลปากร (อังกฤษ: Silpakorn University; อักษรย่อ: มศก. – SU)[1] เป็นมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ห้าของประเทศไทย แต่เดิมมีชื่อเสียงทางด้านศิลปะ การออกแบบ สถาปัตยกรรม และดนตรี แต่ปัจจุบันเปิดสอนครอบคลุมทุกสาขาวิชา
Remove ads
มหาวิทยาลัยศิลปากรถือกำเนิดจาก "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร" ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับจนเป็น "โรงเรียนศิลปากร" และเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น ได้พัฒนาหลักสูตรจนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยศิลปากร"[6] ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนมาบริหารจัดการแบบมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
Remove ads
ประวัติ
สรุป
มุมมอง

มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม[8] เดิมคือ "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัด กรมศิลปากร" ซึ่งก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2476 โดยหลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น และพระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) มี ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี หรือชื่อเดิม กอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ชาวอิตาลีซึ่งเดินทางมารับราชการในประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอาจารย์ผู้สอนหลัก โดยใช้พื้นที่วังกลางและวังตะวันออกของวังท่าพระ ซึ่งในตอนนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จไปประทับตำหนักปลายเนินแล้ว รัฐบาลจึงรับซื้อมาจากทายาทของพระองค์ และทำการเปิดสอนให้แก่ข้าราชการและนักเรียนในสมัยนั้นโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน ต่อมา พ.ศ. 2478 ได้รวมเอาโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ที่ตั้งอยู่วังหน้าไว้ด้วย พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "โรงเรียนศิลปากร"
วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) อธิบดีกรมศิลปากร ได้พัฒนาหลักสูตรจนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยศิลปากร"[6] เพื่อเป็นสถาบันอุดมศึกษาขั้นสูงทางศิลปะของชาติ โดยมีปณิธานที่จะสร้างสรรค์ศิลปะวิทยาการและภูมิปัญญาเพื่อสังคม พร้อมทั้งจัดตั้งคณะจิตรกรรมและประติมากรรมขึ้นเป็นคณะวิชาแรก (ปัจจุบันคือคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์) โดย ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นคณบดีคนแรก และใน พ.ศ. 2498 ได้จัดตั้งคณะสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งมีศาสตราจารย์ พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) เป็นผู้ก่อตั้ง (ซึ่งต่อมาได้ปรับหลักสูตรและเปลี่ยนชื่อเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์) และคณะโบราณคดี จากการวางรากฐานโดย ศาสตราจารย์ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) และหลังจากนั้นได้จัดตั้งคณะมัณฑนศิลป์ซึ่งได้แยกตัวจากคณะจิตรกรรมและประติมากรรมขึ้นในปีต่อมาและศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นคณบดีคนแรก
ต่อมาเมื่อผู้แทนขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ให้คำแนะนำในการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยให้มีลักษณะสอดคล้องกับหลักการสากล คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาโครงการปรับปรุงมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อขยายการศึกษาวิชาต่าง ๆ โดยไม่จำกัดเฉพาะศิลปะและโบราณคดีเท่านั้น ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้ดำเนินการจัดตั้งคณะอักษรศาสตร์ขึ้นเป็นคณะวิชาลำดับที่ 5 และเป็นคณะวิชาแรกของวิทยาเขตแห่งใหม่ คือ วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม โดยเริ่มเปิดสอนนักศึกษารุ่นแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 และคณะอักษรศาสตร์ได้ถือวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาคณะอักษรศาสตร์ตลอดมา และได้ทำการจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ขึ้นใน พ.ศ. 2513 คณะวิทยาศาสตร์ ใน พ.ศ. 2515 คณะเภสัชศาสตร์ ใน พ.ศ. 2529 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมใน พ.ศ. 2535 (ปัจจุบันคือคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม)
เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 36 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2534 และเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสมบูรณ์ทางด้านศิลปะมากยิ่งขึ้น จึงเริ่มจัดตั้งคณะดุริยางคศาสตร์ใน พ.ศ. 2541 ภายใต้ชื่อโครงการจัดตั้งคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยดำริของ ศาสตราจารย์ ตรึงใจ บูรณสมภพ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความร่วมมือจากบุคคลในวงการดนตรีหลายท่าน นับเป็นคณะวิชาลำดับที่ 10 ของมหาวิทยาลัยศิลปากร มีผู้อำนวยการคนแรก คือ เรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ และทำการจัดการเรียนการสอนตลอดหลักสูตรที่สำนักงานอธิการบดีตลิ่งชัน
ใน พ.ศ. 2542 ศาสตราจารย์ ตรึงใจ บูรณสมภพ อธิการบดีในขณะนั้น จึงขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในการย้ายวิทยาเขตใหม่ไปที่ หมู่ที่ 1 หมู่บ้านไร่ใหม่พัฒนา ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และมีแผนในการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตรขึ้นเป็นคณะแรก เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าพื้นที่โดยรอบมีประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มหาวิทยาลัยจะได้ให้บริการได้โดยตรง จากการประชุมสภามหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 1/2544 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2544 ได้อนุมัติโครงการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร พร้อมทั้งให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้ง สุภสร ชโยวรรณ เป็นผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร
ต่อมาสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 2/2544 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2544 จึงได้เปลี่ยนชื่อจากโครงการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นโครงการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร และอนุมัติหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรในปัจจุบัน) และใน พ.ศ. 2545 ได้มีการจัดตั้งคณะวิทยาการจัดการเป็นคณะวิชาลำดับที่ 12 ของมหาวิทยาลัยศิลปากร จากนั้นคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรจึงได้ย้ายมาเปิดการเรียนการสอนเต็มรูปแบบที่วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ตามด้วยการจัดตั้งคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมวิทยาลัยนานาชาติ ใน พ.ศ. 2546 เป็นสองคณะวิชาล่าสุด
วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศใช้ "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2559" โดยได้ยกเลิก "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2530[9] และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2541[10]" และกำหนดให้มหาวิทยาลัยมีสถานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559[11]
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยศิลปากรเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ครอบคลุมทั้งกลุ่มสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยมีหน่วยงานจัดการเรียนการสอนทั้งหมด 16 คณะวิชา และบัณฑิตวิทยาลัย โดยมีคณะสหเวชศาสตร์เป็นคณะใหม่ล่าสุดที่จะเปิดรับนักศึกษาใน พ.ศ. 2569 ณ วิทยาเขตเพชรบุรี และปัจจุบันมีการจัดการเรียนการสอน 3 วิทยาเขต ได้แก่ วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม และวิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
Remove ads
เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยศิลปากร
สรุป
มุมมอง
ชื่อและความหมาย
มหาวิทยาลัยศิลปากร ใช้คำว่า "ศิลปากร" (อ่านว่า สิน–ละ–ปา–กอน) เป็นชื่อภาษาไทยของมหาวิทยาลัย และใช้อักษรโรมันว่า "Silpakorn"
"ศิลปากร" เป็นคำสนธิระหว่าง "ศิลป" หมายถึง ฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การทำให้วิจิตรพิสดาร และ "อากร" หมายถึง บ่อเกิด, ที่เกิด ดังนั้น "ศิลปากร" จึงมีความหมายว่า "บ่อเกิดแห่งศิลปะ"
อีกทั้งชื่อของมหาวิทยาลัยศิลปากร ยังพ้องกับชื่อของ กรมศิลปากร เนื่องจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ถือกำเนิดจาก "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร" และต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับจนเป็น "โรงเรียนศิลปากร" จนกระทั่งได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยศิลปากร" ในปัจจุบัน ซึ่งชื่อ "ศิลปากร" นั้นมาจาก
...แยกการช่างที่เป็นประณีตศิลปไว้ส่วนหนึ่ง แลให้ยกกรมพิพิธภัณฑ์จากกระทรวงธรรมการ มารวมกันตั้งขึ้นเป็น "กรมศิลปากร" มีผู้บัญชาการกรมขึ้นตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน...
— พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชโองการ ณ วันที่ 27 มีนาคม ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454)[12], left
ดังนั้น การใช้ชื่อ "ศิลปากร" จึงดูเหมาะสมและถูกต้อง เพราะมหาวิทยาลัยศิลปากรมีความเกี่ยวข้องกับกรมศิลปากรในอดีต ต่อมาในสมัยที่ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอธิการบดีมหาวิทยาลัย ได้แยกมหาวิทยาลัยศิลปากรกับกรมศิลปากรออกจากกัน ในปัจจุบันทั้งสองส่วนราชการจึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันแล้ว
สัญลักษณ์มหาวิทยาลัยศิลปากร
พระคเณศ เป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ทั้งยังเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการและการประพันธ์ พระหัตถ์ขวาบนทรงตรีศูล พระหัตถ์ขวาล่างทรงงาช้าง พระหัตถ์ซ้ายบนทรงปาศะ (เชือก) พระหัตถ์ซ้ายล่างทรงครอบน้ำ ประทับบนบัลลังก์เมฆที่เขียนด้วยลายกนก ภายใต้มีอักษรว่า "มหาวิทยาลัยศิลปากร" โดยประกาศใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2494[13] ซึ่งคล้ายคลึงกับกรมศิลปากร
และเมื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยได้มีประกาศใช้ตราสัญลักษณ์ใหม่แทนตราสัญลักษณ์ครุฑเพื่อใช้ในหนังสือราชการ หนังสือประทับตรา บันทึกข้อความ คำสั่ง และประกาศต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559[14]
Remove ads
การศึกษา
มหาวิทยาลัยศิลปากรเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ครอบคลุมทั้งกลุ่มสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยมีหน่วยงานจัดการเรียนการสอนทั้งหมด ดังต่อไปนี้[15]
คณะกลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
คณะกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี |
คณะกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพส่วนที่จัดการสอนและงานวิจัยเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษา
|
วิทยาเขต
สรุป
มุมมอง
วังท่าพระ
วังท่าพระ ตั้งอยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน ตรงข้ามพระบรมมหาราชวังและท่าช้างวังหลวง มีพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ เดิมเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นวิทยาเขตแรกและเป็นจุดกำเนิดของมหาวิทยาลัย
เป็นที่ตั้งของ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะโบราณคดี คณะมัณฑนศิลป์ และหอศิลป์ต่าง ๆ และยังรวมไปถึงพื้นที่...
ตลิ่งชัน
เป็นที่ตั้งของสำนักงานอธิการบดี คณะดุริยางคศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ และ บัณฑิตวิทยาลัย
วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
เป็นที่รู้จักในชื่อว่า "ม.ทับแก้ว" ตั้งอยู่ในบริเวณ พระราชวังสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ซึ่งเคยเป็นพระราชวังของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพื้นที่ประมาณ 888 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา แต่ใช้เป็นที่ก่อสร้างอาคารของมหาวิทยาลัยเพียง 428 ไร่
เป็นที่ตั้งของ คณะอักษรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเปิดให้มีการเรียนการสอนแบบสหศึกษาแก่นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษาปีที่ 1–6 และชั้นมัธยมปีที่ 1–6 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันวิจัยและพัฒนา ศูนย์วิทยาศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการต่าง ๆ
สาเหตุที่เลือกจังหวัดนครปฐมเป็นที่ตั้งวิทยาเขตแห่งใหม่ พระราชวังสนามจันทร์ เหมาะสมที่จะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยเหตุผลดังนี้
- ประการแรก พระราชวังสนามจันทร์เคยเป็นพระราชวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้สนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งในทางโบราณคดีและศิลปะทั้งปวง ทรงเป็นนักโบราณคดีและศิลปินชั้นเยี่ยมโดยเฉพาะทางวรรณศิลป์ ทรงสนับสนุนนาฏศิลป์ตลอดรัชสมัยของพระองค์
- ประการที่สอง บริเวณพระราชวังสนามจันทร์เป็นที่ตั้งของเทวาลัยคเณศร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น นอกจากนี้ พระคเณศยังเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ และเป็นตราของทางมหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่แล้ว
- ประการสุดท้าย ที่จังหวัดนครปฐมมีพระปฐมเจดีย์ประดิษฐานอยู่ นับได้ว่าเป็นศูนย์กลางของโบราณคดีและศิลปะที่สำคัญในประเทศไทย ดังนั้นบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ จึงเหมาะที่จะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร
วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี
สืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบโครงการขยายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปสู่ภูมิภาคของประเทศไทยในรูปแบบของวิทยาเขตสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงมีปณิธานและปรัชญาการขยายโอกาสทางการศึกษาแก่พื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศ โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ ให้ใช้ที่ราชพัสดุ ณ ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 621 ไร่ และได้รับอนุญาตจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี โดยกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ให้ใช้พื้นที่เพิ่มเติม จำนวน 200 ไร่ เพื่อรองรับการเรียนการสอนของ คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร
ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาการจัดการ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะสหเวชศาสตร์ และคลังโบราณวัตถุของคณะโบราณคดี
Remove ads
สถานที่สำคัญ
สรุป
มุมมอง
วังท่าพระ
- ประตูและกำแพงวังท่าพระ
กำแพงก่ออิฐถือปูนมีใบเสมาประกอบ กำแพงนี้คาดว่าก่อสร้างพร้อมกับ วังท่าพระ ตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะด้านริมถนนหน้าพระลาน ถือเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร
- ท้องพระโรงและกำแพงแก้ว
ปัจจุบันเป็นหอศิลป์ของมหาวิทยาลัย ลักษณะท้องพระโรงเป็นแบบเรือน 5 ห้อง เฉลียงรอบหันหน้ายาวออกหน้าวัง รูปทรงท้องพระโรงที่ปฏิสังขรณ์ใหม่นั้นภายนอกคงยึดตามแบบที่ปรากฏเมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ภายในคงไว้แต่เสาเดิม มีบันไดใหญ่เข้าทางด้านหน้าได้ทางเดียว กำแพงนั้นเป็นสถาปัตยกรรมใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลูกกรงที่ทำด้วยเหล็กหล่อเป็นลายสวยงาม และได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
- ตำหนักกลางและตำหนักพรรณราย
สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกรุ่นแรก ๆ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือเป็นตึกสองชั้น มีเฉลียงหลังหนึ่งหันเข้าหาอีกหลังหนึ่ง ส่วนหลังนอกนั้นอยู่ข้างสวนแก้ว ตึกหลังในที่มีเฉลียงทำเรียบกว่าหลังนอก และมีเสาทึบ หัวเสาเป็นแบบศิลปะโรมัน ช่องคูหาด้านล่างเป็นช่องโค้ง มีการตกแต่งที่ส่วนต่าง ๆ ภายนอกอาคารเล็กน้อย ส่วนตึกหลังนอกมีรูปทรงทึบกว่า มีการตกแต่งผิวหนังโดยการเซาะเป็นร่องในชั้นล่าง ส่วนชั้นบนผนังเรียบ มีเสาติดผนังระหว่างช่องหน้าต่างและประตูต่าง ๆ ด้วยลายปูนปั้นหรือตีตารางไม้ไว้ในช่องแสงเหนือประตูบางส่วน ตึกหลังนอกมีกันสาด มีเท้าแขนรับกันสาดทำอย่างเรียบ ๆ และประดับชายคาด้วยลายฉลุไม้ ตึกหลังในนี้เป็นที่ประทับของ พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย พระมารดาของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยตำหนักกลางนั้นได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ปัจจุบันใช้เป็นที่ตั้งของหอศิลป์และหน่วยงานของมหาวิทยาลัย
- ศาลาในสวนแก้ว
เรียกว่า ศาลาดนตรี เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์เจ้าของวังเคยประทับที่ศาลานี้เพื่อชมการแสดงหรือประชันดนตรีซึ่งจะตั้งวงกันในสวนแก้ว เพราะในวังท่าพระขณะนั้นมีวงดนตรีประจำวังที่มีชื่อเสียง ศาลาในสวนนี้ทำเป็นศาลาโปร่งมีผนังด้านเดียว หันหน้าเข้าหาสวนแก้ว หลังคาเป็นแบบปั้นหยา มีลายประดับอาคารอย่างละเอียดซับซ้อนกว่าตัวตำหนัก จึงเข้าใจว่าสร้างทีหลัง ลายฉลุไม้ทั้งที่ชายคาท้าวแขนระเบียบทำอย่างประณีตงดงาม
- อนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี
เป็นหนึ่งในศูนย์รวมใจของชาวศิลปากร สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ตั้งอยู่บริเวณลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี หลังตึกกรมศิลปากร
วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
พระตำหนักที่โดดเด่นที่สุดในหมู่พระตำหนักและพระที่นั่ง และเป็นสัญลักษณ์ของ พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามใหญ่ สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2451 โดยมี หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ จุดเด่นของพระตำหนักองค์นี้คือสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับปราสาท ซึ่งเป็นการผสมระหว่างศิลปะเรอเนซองส์ของฝรั่งเศส กับอาคารแบบฮาล์ฟ ทิมเบอร์ของอังกฤษ แต่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย ใน พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระตำหนักว่า "พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์"[16] และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนัก เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460
พระตำหนัก 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทอง ทาสีแดง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกของประเทศทางตะวันตก แต่ได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบบางส่วนให้เหมาะกับภูมิอากาศแบบเมืองร้อน พระตำหนักองค์นี้สร้างขึ้นคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ โดยมีฉนวนทางเดินทำเป็นสะพาน จากชั้นบนด้านหลังของพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ข้ามคูน้ำเชื่อมกับชั้นบนด้านหน้าของพระตำหนัก สะพานดังกล่าวหลังคามุงกระเบื้อง และติดหน้าต่างกระจกทั้งสองด้าน ตลอดความยาวของสะพานที่เชื่อมติดต่อถึงกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักนี้ ในราว พ.ศ. 2459 โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ
- พระตำหนักทับแก้ว
อาคารตึกสองชั้นในพระราชวังสนามจันทร์ เคยเป็นที่ประทับในฤดูหนาวของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในอาคารมีเตาผิงและหลังคา มีปล่องไฟตามแบบตะวันตก ในระหว่างที่มีการซ้อมรบเสือป่า พระตำหนักเป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่ากองเสนาน้อยราบเบารักษาพระองค์ โดยพื้นที่ด้านหลังของพระตำหนักเป็นที่ตั้งของวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ อันเป็นที่มาของคำว่า "ม.ทับแก้ว"
เป็นเรือนไทยภาคกลางที่อาจเรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบที่สุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อรักษาศิลปะบ้านไทยแบบโบราณ และใช้พระตำหนักองค์นี้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่าราบหนักรักษาพระองค์ โดยบริเวณกลางชานเรือนปลูกต้นจันใหญ่แผ่กิ่งก้านไว้ให้ร่มเงาอยู่ เหตุนี้ต้นจันจึงถูกกำหนดให้เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย
- เทวาลัยคเณศร์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ณ ที่อันเป็นศูนย์กลางของพระราชวังสนามจันทร์ สำหรับประดิษฐานพระคเณศ ซึ่งนับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ปราดเปรื่องในศิลปวิทยาทุกแขนง และเพื่อความเป็นสิริมงคลแห่งพระราชวังสนามจันทร์ และเมื่อมองจากพระที่นั่งพิมานปฐม จะเห็นพระปฐมเจดีย์ เทวาลัยคเณศร์ และพระที่นั่งพิมานปฐมอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน
- อนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล บุคคลสำคัญของโลกและศิลปินแห่งชาติ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ก่อตั้งวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่บริเวณหน้าคณะศึกษาศาสตร์ ทางทิศเหนือของสำนักงานอธิการบดี
- สระแก้ว สะพานสระแก้ว และศาลาสระแก้ว
สระน้ำขนาดใหญ่กลางมหาวิทยาลัย อยู่คู่กับพระราชวังสนามจันทร์ มีบรรยากาศร่มรื่น มีการสร้างสะพานข้ามสระหลายแห่ง แต่ที่โดดเด่นคือสะพานไม้หน้าโรงอาหารสระแก้ว ใกล้กันมีศาลาไม้แปดเหลี่ยมแบบโปร่ง ฉลุตามแบบตะวันตก สระน้ำนี้เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและใช้จัดงานลอยกระทงที่มีชื่อเสียง
- ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร
สร้างขึ้นในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 เป็นอาคารขนาดใหญ่ ขนาดความสูง 2 ชั้น ใช้ในกิจกรรมสำคัญของมหาวิทยาลัย อาทิ พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา พิธีปฐมนิเทศและบายศรีสู่ขวัญนักศึกษาชั้นปีที่ 1
วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี
- เทวาลัยพระคเณศ
พระคเณศหล่อโลหะขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หน้าตักกว้าง 96 นิ้ว ประดิษฐานเมื่อ พ.ศ. 2550 ปัจจุบันอยู่บริเวณลานเทวาลัยพระคเณศ เนื่องในปีมหามงคลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเททองหล่อองค์พระคเณศ ออกแบบปั้นและหล่อโดย อาจารย์ เสวต เทศน์ธรรม ประติมากรอาวุโส ศิษย์คนสำคัญของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นสิริมงคลแก่วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี
- ลานประติมากรรม
ลานเนินสูงต่ำหลายเนิน ปูคลุมทั้งหมดด้วยสนามหญ้า มีต้นไม้และสระน้ำขนาดใหญ่ กว้างขวาง จัดแสดงผลงานประติมากรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ของศิลปินที่มีชื่อเสียงจากทั้งในและต่างประเทศหลายชิ้น ตั้งอยู่บริเวณหน้าวิทยาเขต มีชื่อเล่นว่า "ลานเทเลทับบีส์" เนื่องจากมีลักษณะคล้ายกับสถานที่ในละครทีวีเรื่องเทเลทับบีส์ เป็นสถานที่พักผ่อนและใช้จัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ พิธีบรวงสวงพระคเณศ เทศกาลตลาดศิลป์ และพิธีลอยกระทง
- อาคารบริหาร
อาคารสูง 7 ชั้น มีลักษณะโดดเด่น ก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้วัสดุและแนวคิดประหยัดพลังงาน เป็นที่ตั้งของสำนักงานอธิการบดีและหน่วยงานต่าง ๆ ในวิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี และเป็นสัญลักษณ์ของวิทยาเขต ด้านข้างอาคารมีทางเดินเชื่อมกับอาคารเรียนรวม 1 เรียกว่าระเบียงชงโค
- สถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ
ระเบียงภาพ
มศก. วังท่าพระ ประตู มศก. วังท่าพระ กำแพง มศก. วังท่าพระ ท้องพระโรงและกำแพงแก้ว วังท่าพระ อนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ใน มศก. วังท่าพระ ประตูฝั่งถนนทรงพล หน้า มศก. สนามจันทร์ สระแก้วและสะพานสระแก้ว ใน มศก. สนามจันทร์
Remove ads
วันสำคัญของมหาวิทยาลัย
สรุป
มุมมอง
- วันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากร
วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 เป็นวันที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยศิลปากร"
- วันศิลป พีระศรี
ด้วยคุณูปการที่ ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี มีให้ต่อประเทศไทย ทำให้มีการรำลึกถึงท่านทุกวันที่ 15 กันยายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายเกิดของท่าน เรียกกันว่า "วันศิลป พีระศรี" โดยถือเป็นวันสำคัญของวงการศิลปะไทยและนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ในวันศิลป พีระศรีนั้น มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ จะจัดกิจกรรมขึ้นในมหาวิทยาลัยเพื่อให้ศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่าหรือผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน มีการวางดอกไม้เป็นการรำลึกถึงท่านที่ลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ โดยนักศึกษาจะเปิดร้านขายของที่ระลึกและมีการแสดงดนตรีสดตลอดทั้งวัน นอกจากนั้นยังมีการเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมแสดงความเคารพต่ออัฐิของท่านใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ และพิธีสำคัญจะเริ่มขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งทุ่ม ซึ่งจะเป็นการจุดเทียนที่ลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี พร้อมไปกับการร้องเพลงซานตาลูชีอา และเพลงศิลปากรนิยม เพื่อเป็นการรำลึกถึงท่านในวันสำคัญนี้
- วันศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
เป็นบุคคลที่มหาวิทยาลัยศิลปากรมีความภาคภูมิใจในเกียรติประวัติและเกียรติคุณของท่าน ท่านมีคุณปการด้านการศึกษาที่โดดเด่น จนได้รับการยกย่องจาก องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น บุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา เนื่องในวาระฉลองชาติกาลครบ 100 ปี เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2546
เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านเคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยดำรงตำแหน่ง 3 วาระเป็นท่านแรก และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์ โดยตั้งคณะอักษรศาสตร์ขึ้นเป็นคณะวิชาแรก แล้วจึงมีคณะอื่น ๆ ขึ้นมาตามลำดับดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ท่านจึงเป็นเป็นผู้มีส่วนพัฒนามหาวิทยาลัยให้ก้าวหน้า ทำให้เกิดการขยายตัวทางการศึกษาหลายสาขาวิชา มหาวิทยาลัยมีความรำลึกถึงพระคุณของ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้ วันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปีเป็น "วันศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล" และได้จัดกิจกรรมในวันดังกล่าวเพื่อรำลึกถึงพระคุณท่านที่มีต่อมหาวิทยาลัยศิลปากรมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 อันเป็นปีที่เปิดอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
Remove ads
พิธีพระราชทานปริญญาบัตร
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี อดีตผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเสด็จฯ ครั้งแรกในวันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2507 ซึ่งเป็นวันที่ตรงกับวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากร ณ ท้องพระโรง วังท่าพระ[17]
ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร
Remove ads
ทำเนียบนายกคณะกรรมการและนายกสภามหาวิทยาลัย
สรุป
มุมมอง
นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยศิลปากรมีนายกคณะกรรมการและนายกสภามหาวิทยาลัยมาแล้ว 11 คน ดังรายนามต่อไปนี้
- หมายเหตุ ตำแหน่งในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น
Remove ads
ทำเนียบผู้อำนวยการและอธิการบดี
สรุป
มุมมอง
นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยศิลปากรมีผู้อำนวยการและอธิการบดีมาแล้ว 21 คน ดังรายพระนามและรายนามต่อไปนี้[48]
- หมายเหตุ ตำแหน่งทางวิชาการในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น
Remove ads
บุคคลสำคัญจากมหาวิทยาลัย
พระบรมวงศานุวงศ์
ศิลปินแห่งชาติ
- เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2549[78] คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2543[79] นักเขียน จิตรกร
- จรูญ อังศวานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ประจำ พ.ศ. 2557 [80]
- เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2554[81] ศิลปินระดับนานาชาติ ผู้สร้าง วัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย
- ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ.ศ. 2541[82]
- ช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2556[83] ศิลปินระดับนานาชาติ
- ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2544[84]
- ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2548[85]
- นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ.ศ. 2549[86]
- ประยูร อุลุชาฎะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2535[87] เจ้าของนามปากกา น. ณ ปากน้ำ
- ประเวศ ลิมปรังษี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) พ.ศ. 2532[88]
- ประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) พ.ศ. 2541[89]
- ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2552[90]
- พิชัย นิรันต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2546[91]
- พุฒ วีระประเสริฐ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร และอดีต Member of the board of Co–ordinators Concerning SPAFA Regional Centre
- พูน เกษจำรัส ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ศิลปะภาพถ่าย) พ.ศ. 2531[92]
- เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2528[93] โรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัด กรมศิลปากร
- มานิตย์ ภู่อารีย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) พ.ศ. 2542[94]
- เมธา บุนนาค ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) พ.ศ. 2554[95] ผู้ก่อตั้งสำนักงานสถาปนิก บริษัทบุนนาค อาร์คิเท็คส์ จำกัด
- ฤทัย ใจจงรัก ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ศิลปะสถาปัตยกรรม) พ.ศ. 2543[96]
- วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ศิลปะสถาปัตยกรรม(แบบประเพณี)) พ.ศ. 2546[97] สถาปนิกหญิงของชาติ
- สวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2534[98]
- สุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (วรรณศิลป์) พ.ศ. 2545[99]
- อังคาร กัลยาณพงศ์ กวี จิตรกร และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) พ.ศ. 2532[100]
- อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) พ.ศ. 2541[101] อดีตอธิบดี กรมศิลปากร
- อิทธิพล ตั้งโฉลก ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2551[102]
- อินสนธิ์ วงศ์สาม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ.ศ. 2542[103]
นักแสดง / นักร้อง / พิธีกร / นักเขียน / นักออกแบบ
- วาณิช จรุงกิจอนันต์ นักเขียนและกวีชาวไทย ได้รับรางวัลซีไรต์ ในปี พ.ศ. 2527 จากเรื่อง "ซอยเดียวกัน" ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์
- สุจิตต์ วงษ์เทศ กวี, นักเขียน, นักหนังสือพิมพ์, ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เจ้าของคอลัมน์ "สยามประเทศไทย" ในหนังสือพิมพ์มติชน และผู้บรรยายพิเศษด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ศิษย์เก่าคณะโบราณคดี
- ขรรค์ชัย บุนปาน หนึ่งในผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน, ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นักหนังสือพิมพ์, คอลัมนิสต์, นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ประจำปี พ.ศ. 2548 ศิษย์เก่าคณะโบราณคดี
- เจนภพ จบกระบวนวรรณ (ชื่อตามบัตรประชาชน : สันติภพ เจนกระบวนหัด) นักวิชาการเพลงไทยลูกทุ่งชาย, นักจัดรายการวิทยุ - โทรทัศน์ชาวไทย, เป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่ง สถานีวิทยุเสียงศิลปิน 105.25 FMz สถาบันวิชาไทย, และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ศิษย์เก่าคณะโบราณคดี
- ชาญณรงค์ ขันทีท้าว (ติ๊ก กลิ่นสี) นักแสดง, พิธีกร, อดีตกรรมการบริษัท ทริปเปิ้ลทู จำกัด ร่วมกับ เกียรติ กิจเจริญ ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์
- จันทร์ยวีร์ สมปรีดา (รอมแพง) นักบทประพันธ์นวนิยายชาวไทย ที่มีชื่อเสียงจากนวนิยายเรื่อง บุพเพสันนิวาส ศิษย์เก่าคณะโบราณคดี
- พล นพวิชัย นักร้อง, นักแสดง ศิษย์เก่าสาขาดนตรีเชิงพาณิชย์ คณะดุริยางคศาสตร์
- วรรณรท สนธิไชย นักแสดงสังกัดช่องวัน 31 ศิษย์เก่าเอกมานุษยวิทยา โทสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะโบราณคดี
- เจนนี่ ปาหนัน นักแสดงสังกัดจีเอ็มเอ็มทีวี, พิธีกรรายการ เทยเที่ยวไทย ศิษย์เก่าเอกภาษาฝรั่งเศส คณะโบราณคดี
- จุมพล อดุลกิตติพร นักแสดงสังกัดจีเอ็มเอ็มทีวี ศิษย์เก่าสาขานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- ลักษณ์นารา เปี้ยทา อดีตนักแสดงสังกัดช่อง 3 เอชดี ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์[104]
- พลอยพัชรา ศรีดารา นักแสดง, นางแบบ ศิษย์เก่าสาขาเทคโนโลยีอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
- อิสราภา ธวัชภักดี สมาชิกวง BNK48 รุ่นที่ 1 กัปตันทีมเอ็นไฟว์ (Team NV) ศิษย์เก่าวิชาเอกภาษาเกาหลี (เกียรตินิยมอันดับ 2) คณะอักษรศาสตร์[105]
- ภัคธีมา ชิลเลอร์ นักร้องสังกัด Universal Music Thailand ศิษย์เก่าสาขาธุรกิจดนตรีและบันเทิง คณะดุริยางค์ศาสตร์
- ชวัลกร วรรธนพิสิฐกุล นักแสดง, พิธีกร, เชฟ ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์
- วิชญาณี เปียกลิ่น นักร้อง, นักแสดง สาขาดนตรีแจ๊ส ศิษย์เก่าคณะดุริยางคศาสตร์
- เหมือนแพร พานะบุตร นักร้อง, นักแสดง สาขาดนตรีแจ๊ส ศิษย์เก่าคณะดุริยางคศาสตร์
- ธีร์ วณิชนันทธาดา นักแสดง ศิษย์เก่าเอกจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์
- ไอรดา ศิริวุฒิ นักแสดง, นางแบบ, เน็ตไอดอล ศิษย์เก่าสาขาวิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
- อรุณพงศ์ ชัยวินิตย์ นักร้อง, นักแสดง ศิษย์เก่าสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์
- ภาสิดี เพชรสุธี นางแบบ, นักแสดงสังกัดจีเอ็มเอ็มทีวี ศิษย์เก่าสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่น คณะมัณฑนศิลป์
- ภาวดี คุ้มโชคไพศาล นักแสดงสังกัดช่อง 3 เอชดี ศิษย์เก่าสาขาวิชาภาพยนตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- นนทพร ธีระวัฒนสุข นักแสดง, นางแบบ ศิษย์เก่าวิชาเอกภาษาอังกฤษ วิชาโทประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์
- ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช นักแสดงซีรี่ส์ ศิษย์เก่าสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์
- ณัฐชยกานต์ ปากหวาน นักแสดงสังกัดช่อง 7HD ศิษย์เก่าคณะโบราณคดี
- น้ำหนึ่ง สุทธิเดชานัย นักแสดงสังกัดช่อง 3 เอชดี ศิษย์เก่าสาขาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์
- อิษยา ฮอสุวรรณ นักแสดงสังกัดช่อง 3 เอชดี ศิษย์เก่าสาขานิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์
- ชนัญชิดา รุ่งเพชรรัตน์ นักแสดงนางเเบบ, อินฟลูเอนเซอร์ ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- นันทิกานต์ สิงหา นักแสดงสังกัดช่อง 3 เอชดี, นักออกแบบ ศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์
- มนสภรณ์คณ ชาญเฉลิม นักแสดง, ช่างสัก ศิษย์เก่าสาขาออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑนศิลป์
- เผ่าทอง ทองเจือ นักโบราณคดี, นายแบบ, พิธีกร, นักแสดง, อดีตอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อดีตผู้ก่อตั้งและคณบดีคนแรกของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อาจารย์พิเศษโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าและโรงเรียนจิตรลดา, มีชื่อเสียงจากการเข้าไปขุดค้นในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ศิษย์เก่าคณะโบราณคดี
- พริมา พันธุ์เจริญ นักแสดงสังกัดช่อง 3 เอชดี ศิษย์เก่าสาขาการจัดการโรงแรม วิทยาลัยนานาชาติ
- ระชา รักขะพันธ์ ผู้แข่งขัน เดอะเฟซไทยแลนด์, นางงาม, ครูสอนร้องเพลง, แอร์โฮสเตส ศิษย์เก่าเอกร้องคลาสสิค-โอเปร่า คณะดุริยางคศาสตร์
- กรกต อารมย์ดี ศิลปินและนักออกแบบ เจ้าของแบรนด์ KORAKOT INTERNATIONAL LIMITED PARTNERSHIP. ศิษย์เก่าสาขาประยุกต์ศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์
- กฤตธีรา อินพรวิจิตร พิธีกรรายการโทรทัศน์, นักเขียน, คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- กวี ลักษณะสกุลชัย สไตลิสท์ชื่อดังจากนิตยสาร "แพรว" ศิษย์เก่าสาขาออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑนศิลป์
- คงรัฐ สุนทรโรจน์พัฒนา มัณฑนากร และอาจารย์ประจำ คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต ศิษย์เก่าสาขาออกแบบภายในคณะมัณฑนศิลป์
- คณิต เสตะรุจิ มัณฑนากรและหนึ่งในนักออกแบบยอดเยี่ยมแห่งปี 2004 ศิษย์เก่าสาขาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์
- คมภิญญ์ เข็มกำเนิด ผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงจากการผลิตแอนิเมชัน "ก้านกล้วย" คณะมัณฑนศิลป์
- คาริญญ์ยวัฒ ดุรงค์จิรกานต์ นักร้องนำวง Slot Machine คณะมัณฑนศิลป์
- จิดาภา แช่มช้อย (แพนด้า BNK48) สมาชิกวง บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต (BNK48) รุ่นที่ 2 เค็งกีวเซ (Kenkyūsei) ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- จิตกร บุษบา สื่อมวลชน, นักเขียน, คอมลัมนิสต์การเมือง, อาจารย์ประจำโรงเรียนพระดาบส, ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์
- ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ ผู้สร้างสรรค์การ์ตูน "ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชั่น" ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- ชัยยศ อิษฏ์วรพันธุ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและศิลปะ, อาจารย์ที่ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- ชัยยุทธ์ พลายเพ็ชร นักออกแบบ, ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Propaganda ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- ชยานนท์ เครือเอี่ยม มือกลองวง The Jukks ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- ชูเกียรติ ลิขิตปัญญารัตน์ Design Director–Brandcreate, นักศึกษาเก่าดีเด่นประจำปี 2554 ประเภทผู้ส่งเสริมการศึกษาวิชาการ ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- เชาวเลข สร่างทุกข์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนค่ายเพลง Smallroom ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- ทรงศีล ทิวสมบุญ นักเขียนการ์ตูน "ถั่วงอกและหัวไฟ" ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ นักเขียนการ์ตูน นักเขียนภาพประกอบ เช่น หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, BANGKOK POST, นิตยสารพลอยแกมเพชร และ IMAGE MAGAZINE ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- ทีปกร แย้มกสิกร มัณฑนากร ศิษย์เก่าสาขาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์
- ธนาวัฒน์ สุขัคคานนท์ มัณฑนากรและเลขาธิการสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย, กรรมการผู้จัดการบริษัท INTERIOR VISION ศิษย์เก่าสาขาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์
- ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง นักวาดภาพประกอบคนไทยที่ไปมีชื่อเสียงในประเทศอังกฤษ ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- ธีรวัลย์ วรรธโนทัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ศิษย์เก่าสาขาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์
- นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์, ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์, ผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ยุคใหม่ มีชื่อเสียงจากการกำกับภาพยนตร์ 2499 อันธพาลครองเมือง ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- นันทิรัตน์ สุวรรณเกต แฟชั่นดีไซน์เนอร์และเจ้าของแบรนด์ Koi Suwanagate ซึ่งเป็น 1 ใน 10 นักออกแบบหน้าใหม่ที่น่าจับตามองประจำปี 2009 จาก CFDA ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- บรรณนาท ไชยพาน มัณฑนากรและอาจารย์พิเศษ คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ The ar+d Awards for Emerging Architecture 2011 ของประเทศอังกฤษ จากการออกแบบ สถาบันกันตนา ศิษย์เก่าสาขาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์
- พงษ์สรวง คุณประสพ อาร์ตไดเร็คเตอร์ ผู้ก่อตั้ง Dudesweet ศิษย์เก่ายอดเยี่ยม คณะมัณฑนศิลป์
- ไพโรจน์ ธีระประภา (โรจ สยามรวย) ผู้ออกแบบชุดตัวอักษร ตระกูล SR เช่น ฟอนต์อักษรที่ใช้ในใบปิดภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าทะลายโจร กับ หมานคร, ศิลปินศิลปาธรประจำปี 2557 สาขาเรขศิลป์ ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- เหมือนฝัน ทรัพย์เอนก นักวาดภาพประกอบสำหรับเด็ก ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- ยิ่งยง โอภากุล นักร้องเพลงเพื่อชีวิต, นักออกแบบภายใน, นักธุรกิจ ศิษย์เก่าสาขาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์
- ยุทธเลิศ สิปปภาค ผู้กำกับภาพยนตร์ มีชื่อเสียงจากการกำกับภาพยนตร์เรื่อง มือปืน/โลก/พระจันทร์ และ บุปผาราตรี ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- ลักษมณ์ เตชะวันชัย นายกสมาคมแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกไทย (TACGA) คนแรกที่ดำรงตำแหน่งถึงสองสมัย (พ.ศ. 2550 – 2554) ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- วิฑูรย์ คุณาลังการ มัณฑนากร, ผู้ออกแบบโครงการโนเบิลรีมิกซ์และกลุ่มร้านเกรย์ฮาวด์ ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์ ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- วิศุทธิ์ พรนิมิตร นักเขียนการ์ตูน (hesheit) ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- ศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ อดีตผู้ประกาศข่าวช่อง 3-ททบ.5และศูนย์ข่าวแปซิฟิก, พิธีกรรายการ"ช่วยคิดช่วยทำ"-รายการ"ชีวิตชีวา"-รายการ"ผู้หญิงผู้หญิง"-รายการ"เช้าวันนี้" ผู้จัดการบริษัท Ms. Organics จำกัด และบริษัท สาระศิลป์ไทยทัศน์ จำกัด ศิษย์เก่าเอกประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์
- สมชาย จงแสง มัณฑนากร, ศิลปิน รางวัลศิลปาธร ประจำปี 2552 ศิษย์เก่าสาขาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์
- สุทธิชาติ ศราภัยวานิช นักเขียนการ์ตูน Joe the Sea–cret Agent ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- สุรเชษฐ์ เฑียรบุญเลิศรัตน์ ผู้สร้างสรรค์แอนิเมชั่น ปักษาวายุ ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- สุวรรณ คงขุนเทียน มัณฑนากรและนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เจ้าของแบรนด์ "โยธกา" ศิษย์เก่าสาขาาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์
- อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์
- ศาสตราจารย์ เอกชาติ จันอุไรรัตน์ อดีตคณบดีคณะมัณฑนศิลป์ สาขาวิชาการออกแบบภายใน มหาวิทยาลัยศิลปากร ศิษย์เก่าสาขาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์
ข้าราชการ
- ประทีป เพ็งตะโก อดีตอธิบดีกรมศิลปากร
Remove ads
อ้างอิง
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Remove ads