Remove ads
ขุนนางไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน (14 ธันวาคม พ.ศ. 2431 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2512) นักปราชญ์และนักการศึกษาคนสำคัญของไทย ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมและเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลกชาวไทย ประจำปี พ.ศ. 2531 ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) | |
---|---|
ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากร | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2486 – พ.ศ. 2492 | |
นายกคณะกรรมการ | แปลก พิบูลสงคราม |
ก่อนหน้า | สถาปนามหาวิทยาลัย |
ถัดไป | พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | หลีกวงหยง 14 ธันวาคม พ.ศ. 2431 เมืองพระนคร ประเทศสยาม (ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย) |
เสียชีวิต | 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 (80 ปี) จังหวัดพระนคร ประเทศไทย (ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร) |
สัญชาติ | ไทย |
คู่สมรส | ละไม อุมารัติ |
บุตร | 10 คน |
บุพการี |
|
การศึกษา | โรงเรียนบ้านพระยานานา โรงเรียนอัสสัมชัญ |
อาชีพ | ข้าราชการ นักเขียน นักวิชาการ |
ลายมือชื่อ | |
อาชีพนักเขียน | |
นามปากกา | เสฐียรโกเศศ |
ผลงานที่สำคัญ | กามนิต-วาสิฏฐี |
พระยาอนุมานราชธน เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2431 ที่เรือนไม้หลังหนึ่ง ติดคูด้านใต้วัดพระยาไกร แถวโรงเลื่อยบริษัทบอร์เนียว ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลพระยาไกร อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร (ซึ่งปัจจุบันคือแขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร) เป็นบุตรของนายหลีกับนางเฮียะ มีชื่อเดิมว่า หลีกวงหยง ต่อมา ได้เปลี่ยนเป็น ยง และได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าเสฐียรโกเศศ [1] ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 จึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ราชทินนามอนุมานราชธนเป็นชื่อสกุล[2]
เมื่ออายุราวห้าหกขวบได้เริ่มเรียนหนังสือกับบิดา โดยต้องตื่นตั้งแต่ตีห้ามาอ่านหนังสือ ครั้นอายุได้สักสิบขวบมารดาก็พาไปฝากเข้าโรงเรียนบ้านพระยานานา อยู่แถวใต้ปากคลองวัดทองเพลง เป็นนิวาสถานเดิมของพระยานานาพิพิธ บุตรชายคนหนึ่งของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ โรงเรียนนี้สอนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เด็กชายยงเรียนได้เร็วมากกว่าคนอื่นเพราะได้เรียนหนังสือมาแล้วกับบิดา
ต่อมาจึงเข้าเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ในปี พ.ศ. 2443 ได้เลขประจำตัว อสช 1112[3] ขณะนั้นโรงเรียนใช้ระบบการสอนเป็นภาษาอังกฤษ มีการสอนภาษาไทยบ้างสัปดาห์ละสองชั่วโมงเท่านั้น ยง เสฐียรโกเศศ ได้เล่าเรียนจบชั้นมัธยม 4 พอขึ้นชั้นมัธยม 5 ก็ต้องออกจากโรงเรียนเพราะครอบครัวมีฐานะไม่ดี รวมทั้งมีพี่น้องหลายคนและพระยาอนุมานราชธนเป็นบุตรคนโต กระนั้นท่านกลับศึกษานอกระบบโรงเรียนและศึกษาตลอดชีวิต ด้วยมีนิสัยรักความรู้ กระทั่งได้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์คนสำคัญของไทย
หลังออกจากโรงเรียนท่านได้เริ่มชีวิตการทำงานด้วยการไปฝึกหัดผสมยาที่โอสถศาลาของรัฐบาล และได้เรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมในตอนกลางคืน แต่เมื่อมิได้รับเบี้ยเลี้ยง จึงลาออกไปทำงานโรงแรมโอเรียนเต็ล ได้เงินเดือนๆ ละ 60 บาท ทำได้ไม่ถึงปีจึงลาออกไปทำงานที่กรมศุลกากรในตำแหน่งเสมียน เงินเดือนๆ ละ 50 บาท ทั้งนี้เพื่อมีเวลาพักผ่อนมากกว่าและรับยกเว้นเกณฑ์เข้าเป็นทหารด้วย ที่กรมศุลกากร พระยาอนุมานราชธนได้พบนายนอร์แมน แมกสแวล ผู้เป็นทั้งหัวหน้าและเป็นผู้สอนภาษาอังกฤษให้พระยาอนุมานราชธนจนแตกฉาน รับราชการก้าวหน้ามาโดยตลอด และได้เลื่อนตำแหน่งจากขุน เป็นหลวง เป็นพระ ตามลำดับ
จนถึงปี พ.ศ. 2467 จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอนุมานราชธน มีตำแหน่งราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ถือศักดินา 1000[4]
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีเหตุต้องออกจากราชการในปี พ.ศ. 2476 ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดี แต่สองปีถัดมา หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) ซึ่งเป็นอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ได้ชวนให้กลับมารับราชการที่กรมศิลปากร และด้วยความรู้ความสามารถของท่านจึงได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นตามลำดับ ตำแหน่งสุดท้ายได้เป็นอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งภายหลังการเกษียณอายุราชการและการต่ออายุราชการหลายครั้ง จึงออกจากราชการมารับบำนาญ
พระยาอนุมานราชธน สมรสกับคุณหญิงละไม อนุมานราชธน (สกุลเดิม อุมารัติ) บิดาและมารดาแยกทางกันจึงอาศัยอยู่กับป้า ชื่อ แม่หมออี้ ซึ่งเป็นชีอยู่นิกายคริสต์คาทอลิก นางสาวละไมจึงเข้ารีตตามป้าไปด้วย
ความรักของพระยาอนุมานราชธนกับคุณหญิงอนุมานราชธนเป็นรักแรกพบ มีความประทับใจเมื่อแรกเห็นจึงพยายามทำความรู้จัก และขอคุณหญิงอนุมานราชธนแต่งงานโดยเหตุที่ว่าเธอเป็นแม่บ้านแม่เรือนรู้จักจัดการต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และคงปรนนิบัติมารดาและพี่น้องของท่านให้ได้รับความสะดวกสบายได้
ท่านมิได้จัดงานเลี้ยง เนื่องจากทางครอบครัวโดยเฉพาะมารดาไม่พอใจกับสะใภ้ที่เข้ารีตผู้นี้ คุณหญิงอนุมานราชธนท่านก็มีขันติอดทนอดกลั้นเป็นอย่างดี พระยาอนุมานราชธนก็มีความซื่อสัตย์ต่อภริยาเป็นอย่างยิ่ง มิได้มีภริยาอื่นเพิ่มเติมอีก
พระยาอนุมานราชธน และคุณหญิงอนุมานราชธน มีบุตรธิดาร่วมกัน 10 คน ดังรายนามต่อไปนี้
หลังเกษียณอายุแล้ว ท่านก็ยังคงเขียนหนังสือและตำราออกมาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะงานเขียนร่วมกับพระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ซึ่งมักทำงานด้วยกันโดยใช้นามปากกาว่า เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เรียบเรียงหนังสือ ตำรา และวรรณกรรมอันทรงคุณค่าออกมาเป็นจำนวนมาก
พระยาอนุมานราชธนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2512
ผลงานสำคัญของพระยาอนุมานราชธนในช่วงเวลา 80 ปีเศษแห่งชีวิตของท่านมีมากนับเป็นหนังสือได้มากกว่า 200 รายการ ดังปรากฏในเว็บไซต์ของคลังปัญญาชนสยาม ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับงานวรรณกรรมของประเทศไทย เรียงตามลำดับปีที่ตีพิม์เท่าที่ทราบดังนี้
ปีที่ตีพิมพ์ที่ปรากฏเป็นปีตีพิมพ์ที่ทราบ มีหลายรายการที่มีการตีพิมพ์มาก่อนแล้ว เช่น หิโตปเทศ ที่ตีพิมพ์โดย "โรงพิมพ์ไท" มาตั้งแต่ครั้งแรกร่วมงานกับพระสารประเสริฐ หรือ "นาคะประทีป"
|
|
|
|
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.