คำถามยอดนิยม
ไทมไลน์
แชท
มุมมอง
เซ็นทรัล ชิดลม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Remove ads
เซ็นทรัล ชิดลม (อังกฤษ: Central Chidlom) เป็นห้างสรรพสินค้าที่บริหารงานโดย บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ตั้งอยู่บนถนนเพลินจิต ในพื้นที่แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ใกล้กับการไฟฟ้านครหลวง สำนักชิดลม และเชื่อมต่อกับสถานีชิดลม ของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ผ่านสะพานเชื่อม ถือเป็นสาขาระดับเรือธงของบริษัทตั้งแต่เปิดให้บริการ และเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลในรูปแบบสแตนอโลนหนึ่งในสองแห่งที่เปิดดำเนินการจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่กลุ่มเซ็นทรัล และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเซ็นทรัลแบงค็อก ซึ่งประกอบด้วยเซ็นทรัล ชิดลม, เซ็นทรัล เอ็มบาสซี และเซ็นทรัลเวิลด์
Remove ads
Remove ads
ประวัติ
สรุป
มุมมอง
ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาชิดลม ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2513 บนที่ดินริมถนนเพลินจิตขนาด 7 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของตำหนักหม่อมเจ้าวิมวาทิตย์ รพีพัฒน์[2] เมื่อแรกเริ่มทางบริษัทได้กู้เงินจากธนาคารกรุงเทพ จำนวน 60 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างและตกแต่งอาคาร[3] โดยสร้างเป็นอาคารห้างสรรพสินค้าหลังเล็กความสูง 4 ชั้น ออกแบบโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา[4]
หลังเปิดทำการใน พ.ศ. 2516 เซ็นทรัล ชิดลม มีจุดเด่นที่ถูกกล่าวขานในช่วงแรกจนเป็นนิยามของสาขาคือ "กระเบื้องสีส้ม เด่นสุดในชิดลม" ด้วยการใช้กระเบื้องสีส้มตัดกับสีขาวซึ่งเป็นสีหลักของอาคาร[5] โดยสาขานี้สามารถคืนทุนการก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว ด้วยสินค้าจากต่างประเทศที่ไม่เคยมีในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลสาขาก่อนหน้านี้ จนทำให้ยอดขายของสาขาสูงกว่าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลสาขาอื่น ๆ ในสมัยนั้น[6]
ต่อมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 อาคารห้างสรรพสินค้าเกิดเพลิงไหม้เกือบทั้งหลัง มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บสาหัส 11 ราย[5][7] คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งความเสียหายยังรวมไปถึงสินค้าและเอกสารสำคัญของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลที่ไม่สามารถนำออกมาจากตัวอาคารได้ บริษัทสรุปสาเหตุเบื้องต้นว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร แต่มีกระแสข่าวว่าอาจเป็นการลอบวางเพลิงจากกลุ่มคนที่ไม่พอใจผู้บริหารเครือเซ็นทรัล[8] บางก็ว่าเป็นการเผาทางการเมือง
ความเสียหายดังกล่าว ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลตัดสินใจรื้อก่อสร้างอาคารใหม่ทั้งหมด โดยสร้างเป็นอาคารสูง 7 ชั้น[5] และย้ายสำนักงานใหญ่ของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลไปที่สาขาลาดพร้าวเป็นการชั่วคราว ท่ามกลางวิกฤตต้มยำกุ้งที่สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังไม่ฟื้นตัวดี รวมถึงการก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอสบนถนนเพลินจิตในขณะนั้นด้วย[8]
เซ็นทรัล ชิดลม เปิดทำการอีกครั้งในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารห้างสรรพสินค้า[9] ต่อมามีการอัญเชิญครุฑตราตั้งห้าง ที่ บจก.สรรพสินค้าเซ็นทรัล ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขึ้นประดิษฐานบนอาคารเป็นโครงการแรกของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2549[10][11]
ในปี พ.ศ. 2567 เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ได้ดำเนินการปรับปรุงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม ครั้งใหญ่ ด้วยแนวคิด "The Store of Bangkok" โดยใช้งบลงทุน 4,000 ล้านบาท ดำเนินการปรับปรุงเปลือกนอกอาคาร เพิ่มแผนกรวมสินค้าหรูหราพร้อมทางเชื่อมจากสถานีรถไฟฟ้าเข้าสู่ส่วนนี้โดยตรง[12] เพิ่มร้านอาหารและคาเฟ่ อีกทั้งปรับปรุงอัตลักษณ์โดยใช้โทนสีชมพูกุหลาบ ซึ่งจะมีเฉพาะเซ็นทรัล ชิดลม สาขาเดียว[13][14][15] โดยการปรับปรุงทั้งหมดแล้วเสร็จและมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ปีเดียวกัน[16] พร้อมกันนี้ยังได้เปิดตัว นัม จู-ฮย็อก เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์คนแรกอีกด้วย[17]
Remove ads
การดำเนินงานและภาพลักษณ์
ปัจจุบัน เซ็นทรัล ชิดลม ถือเป็นห้างสรรพสินค้าระดับเรือธงของกลุ่มเซ็นทรัล โดยเป็นสาขาที่รวบรวมสินค้าเอาไว้อย่างหลากหลาย มีโซนสินค้าระดับสูง (ภายหลังได้เปิดโซนดังกล่าวเพิ่มที่สาขาลาดพร้าว, ภูเก็ต[18], พัทยา และบางนา) โซนร้านอาหาร และโซนสินค้าโดยนักออกแบบชาวไทยให้บริการในสาขา นอกจากนี้ยังเป็นสาขาที่ทำรายได้สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของธุรกิจห้างสรรพสินค้าในกลุ่มเซ็นทรัล[19] รวมถึงมีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนและมีความพึงพอใจต่อการบริการสูง แม้จะมีโครงการศูนย์การค้าระดับหรูหรา เช่น สยามพารากอน และเอ็มโพเรียม มาเปิดในละแวกใกล้เคียงก็ตาม[20]
เซ็นทรัล ชิดลม ยังเป็นห้างสรรพสินค้าของไทยแห่งแรก ๆ ที่มีบริการผู้ช่วยช้อปปิ้งส่วนบุคคล (Personal Shopper) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540[21] ก่อนที่กลุ่มเซ็นทรัลจะขยายบริการนี้ไปยังห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลและโรบินสันสาขาอื่น ๆ รวมถึงช่องทางออนไลน์ในเวลาต่อมา[22] อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเซ็นทรัลแบงค็อก ซึ่งมีเซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงเซ็นทรัล เอ็มบาสซี เป็นสมาชิกของโครงการ[23] นอกจากนี้ยังเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลในรูปแบบอาคารแยกเฉพาะ หรือสแตนอโลน หนึ่งในสองแห่งที่ยังเปิดดำเนินการจนถึงปัจจุบัน โดยอีกแห่งหนึ่งคือ เซ็นทรัล ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต[24]
Remove ads
การจัดสรรพื้นที่
เซ็นทรัล ชิดลม เป็นอาคารห้างสรรพสินค้าครบวงจรแบบตอนเดียว ความสูง 8 ชั้น รวมชั้นใต้ดิน โดยมีพื้นที่สำคัญ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, ท็อปส์ ฟู้ด ฮอลล์[25] ซึ่งปรับปรุงมาจาก ท็อปส์ มาร์เก็ต เพลส[26], ซูเปอร์สปอตส์, เพาเวอร์บาย, บีทูเอส ธิงค์สเปซ[27], มูจิ ซึ่งเป็นสาขาแรกในไทยที่มีมุมอาหารกล่องและบริการออกแบบตกแต่งภายในบ้าน[28], ศูนย์อาหารลอฟท์เตอร์[29], ดิ อีเวนต์ ฮอลล์, พับบลิก มาร์เก็ต[30][31], พับบลิก เลน[32] และอาคารสำนักงานเซ็นทรัลชิดลม ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ บจก.กลุ่มเซ็นทรัล[33] และ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น[34] โดยมีทางเชื่อมไปยังสถานีชิดลมของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ที่ชั้น 1 และ 2 รวมถึงทางเชื่อมไปยังเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ที่ชั้น 1 นอกจากนี้ เซ็นทรัลชิดลมยังเป็นที่ตั้งของคาเฟ่ % อะราบิกา ซึ่งเป็นสาขาแรกในไทยที่จำหน่ายค็อกเทลและแชมเปญ[35] อีกทั้งยังเคยเป็นที่ตั้งของร้านสตาร์บัคส์สาขาแรกในประเทศไทย ซึ่งเปิดบริการเมื่อปี พ.ศ. 2541[36]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Remove ads