สวิตเซอร์แลนด์ (อังกฤษ: Switzerland; เยอรมัน: Schweiz; ฝรั่งเศส: Suisse; อิตาลี: Svizzera; รูมันช์: Svizra) มีชื่อทางการว่า สมาพันธรัฐสวิส (อังกฤษ: Swiss Confederation; ละติน: Confoederatio Helvetica) เป็นรัฐชาติที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลอันตั้งอยู่ในยุโรปตะวันตก[14] มีพรมแดนติดกับประเทศเยอรมนี ประเทศฝรั่งเศส ประเทศอิตาลี ประเทศออสเตรีย และประเทศลีชเทินชไตน์[15] มีเมืองหลวงโดยพฤตินัยคือกรุงแบร์น และมีประชากรราว 8.5 ล้านคน[16]
สมาพันธรัฐสวิส ชื่อทางการใน 5 ภาษา
| |
---|---|
คำขวัญ: (ดั้งเดิม) "หนึ่งเดียวสู่ทั้งปวง ทั้งปวงสู่หนึ่งเดียว" (ละติน: Unus pro omnibus, omnes pro uno) | |
ที่ตั้งของ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (เขียว) ในทวีปยุโรป (เขียวและเทาเข้ม) | |
เมืองหลวง |
46°57′N 7°27′E |
เมืองใหญ่สุด | ซือริช |
ภาษาราชการ | |
รูมันช์ | |
กลุ่มชาติพันธุ์ (ค.ศ. 2019)[3] |
|
ศาสนา (ค.ศ. 2018[4]) |
|
เดมะนิม | ชาวสวิส |
การปกครอง | สหพันธ์ระบอบประชาธิปไตยกึ่งทางตรงภายใต้คณะผู้อำนวยการที่เป็นอิสระจากสภานิติบัญญัติ [5][6] |
• คณะมนตรีสหพันธ์ |
|
• นายกรัฐมนตรี | วิคทอร์ รอสซี |
สภานิติบัญญัติ | รัฐสภาแห่งสมาพันธ์ |
• สภาสูง | สภาแห่งรัฐ |
• สภาล่าง | สภาแห่งชาติ |
ประวัติ | |
• วันก่อตั้ง | ป. 1300[note 2] (ดั้งเดิมคือวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1291) |
24 ตุลาคม ค.ศ. 1648 | |
• การฟื้นฟู | 7 สิงหาคม ค.ศ. 1815 |
• สมาพันธรัฐ | 12 กันยายน ค.ศ. 1848[note 3][7] |
พื้นที่ | |
• รวม | 41,285 ตารางกิโลเมตร (15,940 ตารางไมล์) (อันดับที่ 132) |
4.34 (ใน ค.ศ. 2015)[8] | |
ประชากร | |
• ค.ศ. 2019 ประมาณ | 8,570,146[9] (อันดับที่ 99) |
• สำมะโนประชากร ค.ศ. 2015 | 8,327,126[10] |
207 ต่อตารางกิโลเมตร (536.1 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 48) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | ค.ศ. 2020 (ประมาณ) |
• รวม | 584,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[11] (อันดับที่ 38) |
• ต่อหัว | 67,557 ดอลลาร์สหรัฐ[11] (อันดับที่ 9) |
จีดีพี (ราคาตลาด) | ค.ศ. 2020 (ประมาณ) |
• รวม | 749,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[11] (อันดับที่ 20) |
• ต่อหัว | 86,673 ดอลลาร์สหรัฐ[11] (อันดับที่ 2) |
จีนี (ค.ศ. 2018) | 29.7[12] ต่ำ · อันดับที่ 19 |
เอชดีไอ (ค.ศ. 2019) | 0.955[13] สูงมาก · อันดับที่ 2 |
สกุลเงิน | ฟรังก์สวิส (CHF) |
เขตเวลา | UTC+1 (เวลายุโรปกลาง) |
UTC+2 (เวลาออมแสงยุโรปกลาง) | |
รูปแบบวันที่ | วว.ดด.ปปปป (ค.ศ.) |
ขับรถด้าน | ขวา |
รหัสโทรศัพท์ | +41 |
รหัส ISO 3166 | CH |
โดเมนบนสุด | .ch, .swiss |
ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของสวิตเซอร์แลนด์อยู่ระหว่างที่ราบสูงสวิส เทือกเขาแอลป์ และเทือกเขาฌูว์รา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 41,285 ตารางกิโลเมตร (15,940 ตารางไมล์) โดยมีพื้นที่ที่เป็นแผ่นดิน 39,997 ตารางกิโลเมตร (15,443 ตารางไมล์) แม้ว่าเทือกเขาแอลป์จะครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ประชากรเกือบทั้งหมดอาศัยอยู่ในที่ราบสูง[17] ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ซือริช เจนีวา และบาเซิล เมืองเหล่านี้เป็นที่ตั้งของสำนักงานองค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น องค์การการค้าโลก[18] องค์การอนามัยโลก[19] องค์การแรงงานระหว่างประเทศ สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (ฟีฟ่า)[20] สหประชาชาติ[21] และธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (บีไอเอส)[22] นอกจากนี้ ท่าอากาศยานหลักของประเทศก็ตั้งอยู่ในเมืองเหล่านี้เช่นกัน[23] สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่วางตัวเป็นกลางทางการเมืองมาหลายศตวรรษ[24][25][26]
การก่อตั้งสมาพันธรัฐสวิสเก่าเกิดขึ้นในช่วงปลายสมัยกลางซึ่งเป็นผลมาจากชัยชนะทางการทหารที่มีต่อออสเตรียและดัชชีบูร์กอญ ความเป็นอิสระของสวิสจากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในสนธิสัญญาสันติภาพเว็สท์ฟาเลิน[27] ในปี ค.ศ. 1648 กฎบัตรของรัฐบาลกลางถือเป็นเอกสารสำคัญซึ่งรับรองการก่อตั้งประเทศและมีการเฉลิมฉลองในวันชาติจนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่การปฏิรูปประเทศในศตวรรษที่ 16 สวิตเซอร์แลนด์ยังคงวางตัวเป็นกลางด้านสงคราม และปราศจากสงครามระหว่างประเทศนับตั้งแต่ ค.ศ. 1815 และไม่ได้เข้าร่วมกับองค์การสหประชาชาติจนกระทั่ง ค.ศ. 2002 อย่างไรก็ตาม สวิตเซอร์แลนด์ได้ดำเนินนโยบายด้านต่างประเทศอย่างแข็งขันและมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างสันติภาพทั่วโลก สวิตเซอร์แลนด์เป็นแหล่งกำเนิดของสภากาชาดซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรด้านมนุษยธรรมที่เก่าแก่และเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก และยังเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งของสมาคมการค้าเสรียุโรป แต่ไม่ได้เข้าร่วมสหภาพยุโรป เขตเศรษฐกิจยุโรป และยูโรโซน แต่ยังคงมีส่วนร่วมในพื้นที่เชงเกนและการค้าในยุโรปผ่านสนธิสัญญาทวิภาคี[28]
สวิตเซอร์แลนด์ประกอบไปด้วยภูมิภาคที่มีความแตกต่างภาษาและวัฒนธรรมสี่ภูมิภาคหลัก ได้แก่ ภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอิตาลี และภาษารูมันช์ โดยประชากรส่วนใหญ่จะพูดภาษาเยอรมัน[29] ทว่าอัตลักษณ์ประจำชาติสวิสก็มีรากฐานมาจากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และค่านิยมร่วมกันโดยสะท้อนให้เห็นจากระบอบสหพันธรัฐ การปกครองแบบประชาธิปไตยโดยตรง และเทือกเขาแอลป์ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนความหลากหลายของเชื้อชาติต่าง ๆ ในภูมิภาค อัตลักษณ์นี้แผ่ขยายไปยัง ภาษา กลุ่มชาติพันธุ์ และศาสนา
สวิตเซอร์แลนด์ถือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมีความมั่งคั่งสูงที่สุดชาติหนึ่ง[30][31][32] และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก และยังมีระบบการจัดเก็บภาษีและระบบสวัสดิการสังคมที่มีคุณภาพสูง[33][34] โดยมีระบบการศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคม และสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ และมีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและมีดัชนีการพัฒนามนุษย์สูง[35] เมืองสำคัญได้แก่ ซือริช เจนีวา และบาเซิล ล้วนติดอันดับเมืองที่มีคุณภาพชีวิตประชากรสูง[36] แม้จะมีค่าครองชีพที่สูงที่สุดในโลกก็ตาม[37] ใน ค.ศ. 2020 สถาบันการจัดการนานาชาติได้จัดอันดับให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศอันดับหนึ่งซึ่งดึงดูดแรงงานที่มีทักษะในการเข้ามาทำงาน และสภาเศรษฐกิจโลกได้จัดอันดับให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีอัตราการแข่งขันสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก[38]
ศัพทมูลวิทยา
ชื่อประเทศ Switzerland ในภาษาอังกฤษเกิดจากการควบคำว่า Switzer ซึ่งเป็นคำเก่าแก่ที่ใช้เรียกชาวสวิสระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 19 เข้ากับคำว่า land จึงมีความหมายตรงตัวว่า "ดินแดนแห่งชาวสวิส"[39] ส่วนคำคุณศัพท์ Swiss ในภาษาอังกฤษเป็นคำยืมจากคำภาษาฝรั่งเศสว่า Suisse ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เช่นกัน คำว่า Switzer มาจากคำในภาษาถิ่นของเยอรมนีว่า Schwiizer ซึ่งใช้หมายถึงบุคคลที่มาจากเมืองชวีทซ์ เมืองหลวงของรัฐชวีทซ์ในสวิตเซอร์แลนด์และภูมิภาคใกล้เคียงซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของสมาพันธรัฐสวิสเก่า ชาวสวิสเริ่มใช้ชื่อดังกล่าวเรียกตนเองภายหลังสงครามสเวเบียในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยใช้ร่วมกับศัพท์ Eidgenossen ซึ่งหมายถึง "สมาพันธรัฐ" รหัสข้อมูลของประเทศของสวิตเซอร์แลนด์ (ตัว CH) ย่อมาจากวลี Confoederatio Helvetica ในภาษาละติน (แปลว่า "สมาพันธรัฐเฮลเวติก")
ภูมินาม Schwyz ปรากฏหลักฐานยืนยันการใช้เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 972 ในรูปสะกด Suittes ในภาษาเยอรมันสูงเก่า ซึ่งอาจเกี่ยวข้องคำว่า swedan ซึ่งแปลว่า "เผา" (เทียบนอร์สเก่า svíða "เผา") ซึ่งหมายถึงพื้นที่ป่าที่ถูกเผาทำลายเพื่อสร้างเมืองใหม่ ในช่วงแรก ชื่อ Schwyz นี้ใช้เพื่อสื่อถึงพื้นที่ที่รัฐดังกล่าวมีอำนาจปกครอง และหลังจากสงครามสเวเบียใน ค.ศ. 1499 ก็เริ่มมีการนำมาใช้เพื่อกล่าวถึงดินแดนทั้งหมดของสมาพันธ์[40] ชื่อประเทศในภาษาเยอรมันแบบสวิสว่า Schwiiz มีเสียงพ้องกับชื่อของรัฐชวีทซ์และเมืองหลวง จึงต้องแยกให้ต่างกันโดยใช้คำกำกับนามชี้เฉพาะ (เรียกสมาพันธ์ทั้งมวลว่า d'Schwiiz[41] และเรียกรัฐและเมืองชวีทซ์ว่า Schwyz)[42]
ชื่อประเทศในภาษาละตินว่า Confoederatio Helvetica เป็นคำสร้างใหม่และเริ่มมีการนำมาใช้ภายหลังการก่อตั้งสมาพันธรัฐใน ค.ศ. 1848 ซึ่งมีประวัติสืบไปถึงสมัยของสาธารณรัฐเฮลเวติกซึ่งถือเป็น "สาธารณรัฐพี่น้อง" ของฝรั่งเศสในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในช่วงระหว่างสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส โดยคำว่า Helvetica มาจากคำว่า Helvetii ซึ่งเป็นชื่อเรียกชนเผ่ากอลเก่าแก่ที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบสูงสวิสก่อนสมัยจักรวรรดิโรมัน
แฮ็ลเวติอา (Helvetia) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า โกงฟ็อยแดราติโอแฮ็ลเวติกา เป็นชื่อสตรีซึ่งเปรียบเสมือนบุคลาธิษฐานของชาติ มีที่มาในคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยโยฮัน คัสพาร์ ไวเซินบัค[43][44] ในอุปมานิทัศน์มักบรรยายถึงลักษณะของแฮ็ลเวติอาว่ามักสวมชุดยาว ถือหอกและโล่ที่ประดับด้วยธงชาติสวิส และไว้ผมถักเปีย
ภูมิศาสตร์
ภูมิประเทศ
พื้นที่มากกว่า 70% เป็นเขตภูเขา คือ เทือกเขาแอลป์ มีแม่น้ำสำคัญ คือ แม่น้ำไรน์ แม่น้ำโรน แม่น้ำตีชีโน และแม่น้ำอิน ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญมีเพียงหินแกรนิต หินปูน และหินที่ใช้ในการก่อสร้างเท่านั้น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีขนาดค่อนข้างเล็กและไม่มีทางออกสู่ทะเล เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางของทวีปยุโรปและมีพรมแดนติดกับหลายประเทศด้วยกัน[45] สวิสเซอร์แลนด์ได้รับสมญานามว่า "หลังคาแห่งทวีปยุโรป" เนื่องด้วยมีเทือกเขาสูงสลับแซมด้วยดงดอกไม้ป่าและทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ และยังมีภูเขาใหญ่น้อยสลับกับป่าไม้ที่แทรกตัวอยู่ตามเนินเขา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีพื้นที่ประมาณ 41,287 ตารางกิโลเมตร และเป็นประเทศที่มีทะเลสาบมาก ลักษณะของภูมิประเทศจึงไม่ค่อยมีพื้นที่ราบ[46]
ภูมิอากาศ
ภูมิอากาศแบบสวิสโดยทั่วไปมีอุณหภูมิปานกลาง แต่อาจแตกต่างกันมากระหว่างท้องที่ ตั้งแต่สภาพน้ำแข็งบนยอดเขาไปจนถึงภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนอบอุ่นทางตอนใต้ ฤดูร้อนมักจะอบอุ่นและชื้นในบางครั้งโดยมีฝนตกเป็นระยะ ๆ จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ ฤดูหนาวจะมีอากาศชื้นโดยเฉพาะบนภูเขาอาจมีหิมะตกกินเวลานานเป็นสัปดาห์ ในขณะที่พื้นที่ด้านล่างมักจะประสบกับการผกผัน ของสภาพอากาศในช่วงเวลาเหล่านี้ และอาจมองไม่เห็นดวงอาทิตย์เป็นเวลาหลายสัปดาห์
ประวัติศาสตร์
ยุคก่อนประวัติศาสตร์
เมื่อ 10,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช พวกกลุ่มนักล่าสัตว์และกลุ่มคนเร่ร่อนได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัยในเขตทางตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์ (Alp) ซึ่งในปัจจุบันก็คือพื้นที่บริเวณ Graubünden ใจกลางประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นครั้งแรก[47] ต่อมาก็ได้มีการขยายอาณาเขตออกไปเรื่อย ๆ ตามพื้นที่บริเวณลุ่มทะเลสาบต่าง ๆ จนกระทั่งเมื่อประมาณ 400 ปีก่อนคริสต์ศักราชชนเผ่าเคลต์ (Celt คือกลุ่มชนชาติที่พูดภาษากลุ่มเคลต์) ได้เริ่มย้ายถิ่นฐานจากทางเยอรมนีตอนใต้ เข้าไปสู่พื้นที่ลุ่มทะเลสาบในตอนกลางของประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มมากขึ้น โดยทางด้านตะวันออกของสวิตเซอร์แลนด์เป็นที่อยู่อาศัยของพวก Raetia ส่วนทางด้านตะวันตกถูกครอบครองโดยชาว Helvetii นอกจากนั้นก็ยังมีชนเผ่าอื่น ๆ ที่กระจัดกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกเป็นจำนวนมาก คือ ชนเผ่า Lepontier ทางแคว้น Tessin ชนเผ่า Seduner ในเขต Wallis และทะเลสาบเจนีวา[48]
ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุครุ่งเรืองของอาณาจักรโรมันในประมาณ 58 ปีก่อนคริสต์ศักราช ชนเผ่าโรมันภายใต้การนำของจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ได้เข้าโจมตีและยึดดินแดนของชนเผ่า Helvetii และดินแดนส่วนอื่น ๆ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมัน ช่วงนี้เองที่ได้เริ่มที่การก่อสร้างถนนหนทางและระบบผังเมืองขึ้นในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ขึ้นเป็นครั้งแรก เช่น ในบริเวณเมืองบาเซิล, คูร์, เจนีวา, ซือริช ในปัจจุบัน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง Avenches
ในช่วงปลายของยุคสมัยโรมัน ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 4 ถึง 6 ศาสนาคริสต์ได้เผยแผ่เข้ามาในเขตประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้ได้มีการตั้งตำแหน่งบิชอป ขึ้นตามเมืองต่าง ๆ และเชื่อกันว่าอาณาจักรโรมันก็ล่มสลายลงในช่วงนี้เอง[49]
หลังจากที่อาณาจักรโรมันค่อย ๆ เริ่มเสื่อมลง พวกชาวเยอรมันเผ่าต่าง ๆ ก็อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเข้ามาในเขตนี้แทน[50] โดยชนเผ่าเบอร์กันดี เข้ามายึดครองบริเวณทางแถบ Jura ทางตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์ บริเวณแม่น้ำโรน และทะเลสาบเจนีวา ส่วนพวกอลามานนิค ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำไรน์ (Rhein) ส่วนการเผยแผ่ศาสนาก็ยังคงมีอยู่เรื่อย ๆ โดยพระนักสอนศาสนาเข้ามามีบทบาทสำคัญในเขตเมืองต่าง ๆ รวมทั้งยังมีการสร้างวัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองซังคท์กัลเลิน และ ซือริช เมื่อเริ่มเข้าสู่ยุคโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire ซึ่งอาณาจักรนี้เป็นอาณาจักรของจักรรรดิชาร์ลมาญแห่งเยอรมันหรือเรียกว่าเป็นอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แห่งชนชาติเยอรมัน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาณาจักรโรมันในสมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์แต่อย่างใด) ก็ได้มีการนำระบบกฎหมายต่าง ๆ เข้ามาใช้ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์[51] โดยมีการร่างสนธิสัญญาเวอร์ดัน ขึ้นใน ค.ศ. 834 โดยพื้นที่บริเวณตะวันตกของสวิตเซอร์แลนด์ (Burgundain) ตกอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์โลทาร์ที่ 1 และทางด้านตะวันออก (Alamannic) อยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ลุดวิจชาวเยอรมัน ในศตวรรษที่ 10 เมื่อระบบการปกครองแบบใช้กฎหมายเสื่อมลง พวกชนเผ่าแมกยาร์ (Magyar) ก็เข้ามาทำลายเมืองใหญ่ต่าง ๆ ของเผ่าเบอร์กันดี และ อลามันนิค แต่ต่อมาเมื่อกษัตริย์ออตโตที่ 1 ทำสงครามชนะพวกชนเผ่าแมกยาร์ใน ค.ศ. 955 ก็มีการรวมพื้นที่บริเวณของ 2 ชนเผ่าเข้าด้วยกันเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ อีกครั้ง และยังได้มีการรวบรวมแคว้นต่าง ๆ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ อาณาจักรนี้ถูกปกครองโดยราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค (Habsburg dynasty) ไปจนกระทั่งกษัตริย์รูดอล์ฟ ที่ 1 แห่งราชวงศ์ฮาพส์บวร์คสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 1291
ยุคของอดีตสมาพันธรัฐสวิส
ช่วงที่ถือได้ว่าเป็นช่วงของการก่อตั้งประเทศสวิตเซอร์แลนด์หรือสมาพันธรัฐสวิสอย่างเป็นทางการเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 1291 เมื่อรัฐ 3 รัฐในเขตเทือกเขาแอลป์ คือ Uri, Schwyz และ Unterwalden ได้รวมตัวกันขึ้นเป็นอดีตสมาพันธรัฐสวิส (Old Swiss Conferderation หรือที่เรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า Alte Eidgenossenschaft) ซึ่งการรวมกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อต้องการแยกออกเป็นประเทศ แต่เพียงเพื่อต้องการจะต่อต้านอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บวร์ก อย่างไรก็ตามการรวมกลุ่มครั้งนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากราชวงศ์ฮับส์บวร์กและมีการทำสงครามกันเรื่อยมา ในปี1315 กลุ่มของชาวบ้านที่เป็นทหารของสวิสในสมัยนั้นก็ทำสงครามชนะทหารของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คในสงคราม Morgaten หลังจากนั้นเมือง Zürich, Lucerne, Glarus, Zug และ Bern ก็ได้เข้าร่วมเป็นอดีตสมาพันธรัฐสวิส และได้มีการเรียกชื่อกลุ่มการรวมตัวของรัฐ 8 รัฐนี้ว่า Schwyz ภายหลังจากการรวมตัวนี้แล้ว ก็ยังคงมีการรวมตัวของรัฐต่าง ๆ อยู่เรื่อย ๆ จนเมื่อสิ้นสุด ค.ศ. 1513 ก็มีรัฐเข้าร่วมทั้งหมด 13 รัฐ
ภายหลังจากที่มีการรวมตัวกันใน ค.ศ. 1513 แล้ว ก็ยังคงมีการทำสงครามกันภายในพื้นที่ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปัจุจบันอยู่เรื่อย ๆ โดยส่วนใหญ่จะเป็นสงครามทางศาสนา แต่สงครามที่ยาวนานที่สุด คือ สงคราม 30 ปี (Thirty Years´War ค.ศ. 1618-48) ซึ่งในช่วงแรกของสงครามนี้เป็นสงครามระหว่างศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกกับโปรแตสแตนท์ แต่ต่อมาสงครามได้ขยายวงกว้างไปเป็นสงครามการขยายอำนาจภายในทวีปยุโรป สงคราม 30 ปีสิ้นสุดลงเมื่อมีการประกาศสันติภาพ Peace of Westphalia และสืบเนื่องมาจาก Peace of Westphalia นี้เอง ประเทศสมาพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ประกาศแยกตัวออกจากอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1648
ในยุคที่ราชวงศ์ของฝรั่งเศสเริ่มเข้ามามีบทบาทในประวัติศาสตร์ยุโรป กองทัพของนโปเลียน (Napolean Bonaparte) ก็เข้าครอบครองสวิตเซอร์แลนด์และสถาปนาเป็นสาธารณรัฐเฮลเวติก ใน ค.ศ. 1798 ทำให้ดินแดนของสวิตเซอร์แลนด์ถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส ต่อมาใน ค.ศ. 1803 ภายใต้การปกครองของนโปเลียนได้มีการรวบรวมรัฐต่าง ๆ ในสมาพันธรัฐสวิสอีกครั้งนอกจากนั้นยังได้สถาปนาเขต 6 เขต คือ ขึ้นเป็นรัฐใหม่ ใน ค.ศ. 1815 ได้มีการสถาปนาสมาพันธรัฐสวิสขึ้นมาใหม่ ที่คองเกรสแห่งเวียนนา (Congress of Vienna) ขึ้น โดยมีการเพิ่มจำนวนรัฐเข้าไปอีก 3 รัฐ ในคองเกรสนี้เองได้มีการลงนามให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่เป็นกลางทางการเมือง คือเป็นการประกาศว่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไม่ให้มีการทำสงครามกันระหว่างฝรั่งเศส เยอรมนี และออสเตรีย และได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใน ค.ศ. 1848 (Fereral Constitution) ซึ่งในรัฐธรรมนูญระบุให้เมือง Bern เป็นเมืองหลวงของสมาพันธรัฐ โดยมีภาษาที่ใช้เป็นภาษาทางการ 3 ภาษา คือ ภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอิตาลี
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้วางตัวเป็นกลางทางด้านการทหาร[52] บทบาทสำคัญเพียงอย่างเดียวของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็คือการส่งสภากาชาดเข้ามาช่วยเหลือ เมื่อสงครามโลกผ่านพ้นไป กลิ่นอายแห่งสงครามกลับทำให้เศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ตกต่ำลง[53] และเริ่มฟื้นฟูขึ้นใหม่ในช่วง ค.ศ. 1930 ยุคนี้ยังเป็นยุคแห่งการถือกำเนิดของศิลปินชื่อดังอีกด้วย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นครเจนีวาได้กลายเป็นที่ตั้งของสันนิบาตชาติ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้ว่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะวางตัวเป็นกลาง นาซีเยอรมนีได้วางแผนที่จะยึดประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อเส้นทางในเทือกเขาแอลป์ระหว่างเยอรมนี-อิตาลี แต่ทางสวิตเซอร์แลนด์ได้ตักเตือนว่า ถ้ากองทัพเยอรมันบุกเข้ามายังสวิตเซอร์แลนด์ ประชาชนทั้งหมดจะลุกขึ้นต่อต้านอย่างถึงที่สุดเพราะประชาชนชาวสวิสนั้นได้เป็นทหารกันหมดแล้วและพร้อมจะระดมพลได้ทุกเมื่อ นอกจากนั้นจะระเบิดทำลายถนนเส้นทางอีกด้วย จึงทำให้นาซีเยอรมันต้องยกเลิกโจมตีไปทำให้สวิตเซอร์แลนด์สามารถรักษาความเป็นกลางและเอกราชไว้ได้ตลอดมาในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สวิตเซอร์แลนด์กลับมีบทบาทสำคัญในทางด้านเศรษฐกิจในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คือธนาคารของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้กลายเป็นสถานที่เพื่อใช้แลกเปลี่ยนเงินผิดกฎหมายของพวกนาซีเยอรมัน
ครั้งหนึ่ง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เคยมีความพยายามที่จะส่งกองทัพเยอรมันบุกสวิตเซอร์แลนด์[54] แม้สวิตเซอร์แลนด์จะประกาศความเป็นกลางมาหลายร้อยปีแล้วก็ตาม ปฏิบัติการดังกล่าว เรียกกันว่า Operation Tannenbaum มีความพยายามตั้งแต่ ค.ศ. 1940-1944 แต่ไม่เคยมีการบุกจริง มีเพียงความเห็นของฝั่งเยอรมนีที่มองว่า ระบอบการเมืองของสวิตเซอร์แลนด์ เป็นพวกอนาธิปไตยที่น่ารังเกียจ และพวกเขาคืออีกหนึ่งศัตรูที่แท้จริงของเยอรมนี[55] เป็นสิวเสี้ยนบนใบหน้าของยุโรป และพวกเขาลืมไปแล้วพวกเขาคือส่วนหนึ่งของเรา (ชนเชื้อสายเยอรมันเป็นหนึ่งในเชื้อสายสำคัญของชาวสวิตเซอร์แลนด์) ในความเป็นจริง สวิตเซอร์แลนด์ก็มีการเตรียมรับมือกับเยอรมนีเช่นกัน เห็นได้จากค่าใช้จ่ายทางการทหารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ภายหลังจากที่นาซีขึ้นครองอำนาจในเยอรมนีแล้วจาก 15 ล้านฟรังค์ เป็น 90 ล้านฟรังค์ อย่างไรก็ตาม การรบไม่เคยเกิดขึ้นจริง เนื่องจากสภาพภูมิประเทศในสวิตเซอร์แลนด์ที่ยากต่อการส่งกำลังรบ รวมทั้งความวุ่นวายในแนวรบอื่น ๆ อีกทั้งความไม่แน่นอนของอิตาลี ซึ่งต่อมาถูกกองกำลังสัมพันธมิตรบุกโจมตีจากทางใต้ ทำให้แผนการ Tannenbaum ถูกยกเลิกไปในที่สุด
ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1945 ได้มีการก่อตั้งสหประชาชาติ ขึ้น โดยมีสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา และสำนักงานภาคพื้นยุโรปที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (ในอาคารที่เคยเป็นที่ตั้งของ สันนิบาตชาติ เดิม) ประเทศหลายประเทศได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหประชาชาติแต่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเจ้าบ้านกลับไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในสมัยแรก เนื่องจากสวิตเซอร์แลนด์ยืนยันยึดมั่นในหลักการความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด โดยองค์การสากลแห่งแรกที่สวิสเข้าร่วมเป็นสมาชิกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือองค์การ UNESCO ซึ่งเข้าร่วมใน ค.ศ. 1948 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหประชาชาติเมื่อ ค.ศ. 2002 ต่อมาใน ค.ศ. 2005 ประชาชนชาวสวิตเซอร์แลนด์ได้ลงประชามติเพื่อให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เข้าร่วมเป็นประเทศในสนธิสัญญาเช็งเก็น (Schengen Agreement)
ตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาเช็งเก็น นักท่องเที่ยวที่มีใบอนุญาตเช็งเก็น (Schengen Visa) แบบมัลติเพิลของประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มเช็งเก็นสามารถเดินทางเข้าออกประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มเช็งเก็นได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าของประเทศนั้น ๆ ปัจจุบันประเทศในกลุ่มเช็งเก็นมีด้วยกันทั้งหมด 27 ประเทศรวมทั้ง ประเทศเบลเยียม, ประเทศฝรั่งเศส, ประเทศอิตาลี, ประเทศลักเซมเบิร์ก, ประเทศเนเธอร์แลนด์, ประเทศเดนมาร์ก, ประเทศกรีซ, ประเทศโปรตุเกส, ประเทศสเปน, ประเทศเยอรมนี, ประเทศออสเตรีย, ประเทศฟินแลนด์, ประเทศสวีเดน, ประเทศนอร์เวย์, ประเทศไอซ์แลนด์, ประเทศมอลตา, สาธารณรัฐเช็ก, ประเทศเอสโตเนีย, ประเทศฮังการี, ประเทศโปแลนด์, ประเทศสโลวาเกีย, ประเทศสโลวีเนีย, ประเทศลัตเวีย, ประเทศลิทัวเนีย ประเทศโมนาโก และ ประเทศโครเอเชีย
การเมืองการปกครอง
แต่ละรัฐมีรัฐธรรมนูญและรัฐบาลท้องถิ่นของตนเองโดยมีอิสระจากการบริหารราชการของส่วนกลาง อำนาจนิติบัญญัติของสมาพันธ์ฯ อยู่ที่รัฐสภาแห่งสมาพันธ์ (Federal Assembly)
บริหาร
ในการบริหารราชการส่วนกลาง อำนาจบริหารจะอยู่ที่คณะรัฐมนตรีเรียกว่า the Federal Council ซึ่งมีสมาชิกเรียกว่า Federal Councillor (มนตรีแห่งสมาพันธ์) มีทั้งหมด 7 คน ทำหน้าที่ควบคุมบริหารงานในหน่วยงานระดับกระทรวง 7 แห่ง รัฐสภาแห่งสมาพันธ์เป็นผู้เลือกมนตรีแห่งสมาพันธ์ มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี และในจำนวนมนตรีแห่งสมาพันธ์ทั้ง 7 คน จะได้รับเลือกจากรัฐสภาแห่งสมาพันธ์ผลัดเปลี่ยนกันครั้งละหนึ่งคน เพื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี โดยมีสถานะเป็น “the first among equals” ดังนั้น ประธานาธิบดีสวิสจึงไม่มีการเยือนต่างประเทศในฐานะประมุขแห่งรัฐ[56]
นิติบัญญัติ
ซึ่งประกอบด้วยสภาแห่งชาติ (National Council) และ สภาแห่งรัฐ (Council of States) ทั้งสองสภามีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกันสภาแห่งชาติ ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงมีจำนวน 200 คน แต่ละรัฐจะมีจำนวนผู้แทนของตนมากน้อยตามจำนวนประชากร (1:34,000) แต่อย่างน้อยที่สุด แต่ละรัฐจะมีผู้แทน 1 คน สภาแห่งรัฐ มีจำนวนสมาชิก 46 คน โดยแต่ละรัฐมีผู้แทน 2 คน การดำเนินงานที่สำคัญของรัฐสภาแห่งสมาพันธ์ กระทำผ่าน standing committees ด้านต่าง ๆ อาทิ การคลัง การต่างประเทศ เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และการวิจัย การทหาร สุขภาพและสิ่งแวดล้อม การคมนาคม พลังงาน ฯลฯ
นับตั้งแต่ ค.ศ. 1959 เป็นต้นมา สวิตเซอร์แลนด์ได้ปกครองและบริหารโดยพรรคการเมืองหลัก 4 พรรค ได้แก่ พรรค Radical Democratic (RDP) พรรค Social Democratic Party (SDP) พรรค Christian Democratic People’s Party (CDP) และพรรค Swiss People’s Party (SVP) ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า แต่ละพรรคจะได้รับจัดสรรตำแหน่งมนตรีของสมาพันธ์พรรคละ 2 คน ยกเว้น Swiss People’s Party ได้ 1 คน นอกจากนั้น ผู้จะดำรงตำแหน่งมนตรีแห่งสมาพันธ์จะมาจาก Canton เดียวกันเกิน 1 คนไม่ได้ และเป็น ธรรมเนียมว่าจะต้องมีผู้แทนจาก 3 Canton หลัก ได้แก่ Zurich, Berne และ Vaud แห่งละ 1 คน ลักษณะพิเศษของระบบประชาธิปไตยแบบสวิสคือ อำนาจสูงสุดในทางนิติบัญญัติมิได้อยู่ที่สภาแต่อยู่ที่ประชาชนโดยตรง เพราะตามรัฐธรรมนูญประชาชนมีสิทธิในการออกเสียงประชามติ (referendum) และการริเริ่ม (initiative) กล่าวคือ กฎหมายทุกฉบับที่ผ่านสภาแห่งสมาพันธ์แล้ว จะยังไม่มีผลบังคับใช้ เป็นกฎหมาย จะต้องรอให้ครบ 90 วันเสียก่อน ในระหว่างนั้นประชาชนจะมีสิทธิคัดค้านโดยจะต้องเข้าชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า 50,000 คน เพื่อให้มีการจัดทำประชามติ ส่วนอำนาจในการริเริ่มของประชาชนจะสามารถใช้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนต้องเข้าชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า 100,000 คน เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติ
ตุลาการ
ด้านอำนาจตุลาการ ศาลชั้นต้นและศาลชั้นกลางจะเป็นศาลของรัฐ โดยใช้กฎหมายสมาพันธ์ร่วมด้วย และ ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งผู้พิพากษาโดยตรง แม้แต่ผู้พิพากษาสมทบก็อาจเป็นบุคคลที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ ที่ได้รับเลือกจากคนในท้องถิ่น ส่วนศาลฎีกาแห่งสมาพันธ์ (Federal Supreme Court) มี ที่ตั้งอยู่ที่เมืองโลซานน์ เพื่อเน้นการแบ่งแยกอำนาจจากรัฐบาลกลางที่กรุงแบร์น ศาลฎีกาเป็นทั้งศาลแพ่งและศาลอาญา ประกอบด้วยผู้พิพากษาประมาณ 30 คน ที่ได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภาแห่งสมาพันธ์
การแบ่งเขตการปกครอง
นับตั้งแต่ ค.ศ. 1848 สวิตเซอร์แลนด์ได้เริ่มใช้ระบบการปกครองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่มีลักษณะการรวมตัวของรัฐต่าง ๆ อยู่ภายใต้รัฐบาลกลาง เรียกว่า สมาพันธรัฐ ซึ่งประกอบด้วย 26 รัฐ (เยอรมัน: Kanton; ฝรั่งเศส: canton; อิตาลี: cantone) ได้แก่
รัฐ | เมืองหลวงรัฐ | รัฐ | เมืองหลวงรัฐ | ||
---|---|---|---|---|---|
อาร์เกา | อาเรา | *นิดวัลเดิน | ชตันส์ | ||
*อัพเพินท์เซ็ลเอาเซอร์โรเดิน | เฮริเซา | *อ็อพวัลเดิน | ซาร์เนิน | ||
*อัพเพินท์เซ็ลอินเนอร์โรเดิน | อัพเพินท์เซ็ล | ชัฟเฮาเซิน | ชัฟเฮาเซิน | ||
*บาเซิล-ลันท์ชัฟท์ | ลีสทาล | ชวีทซ์ | ชวีทซ์ | ||
*บาเซิล-ชตัท | บาเซิล | โซโลทวร์น | โซโลทวร์น | ||
แบร์น | แบร์น | ซังคท์กัลเลิน | ซังคท์กัลเลิน | ||
ฟรีบูร์ | ฟรีบูร์ | ทัวร์เกา | เฟราเอินเฟ็ลท์ | ||
เจนีวา | เจนีวา | ตีชีโน | เบลลินโซนา | ||
กลารุส | กลารุส | อูรี | อัลท์ดอร์ฟ | ||
เกราบึนเดิน | คูร์ | วาเล | ซียง | ||
ชูรา | เดอเลมง | โว | โลซาน | ||
ลูเซิร์น | ลูเซิร์น | ซูค | ซูค | ||
เนอชาแตล | เนอชาแตล | ซือริช | ซือริช |
รัฐเหล่านี้มีประชากรเป็นจำนวนระหว่าง 15,000 คน (รัฐอัพเพินท์เซ็ลอินเนอร์โรเดิน) และ 1,253,500 คน (รัฐซือริช) และมีขนาดพื้นที่ระหว่าง 37 ตารางกิโลเมตร (รัฐบาเซิล-ชตัดท์) และ 7,105 ตารางกิโลเมตร (รัฐเกราบึนเดิน) รัฐแต่ละแห่งจะมี เทศบาล (อังกฤษ: communes, เยอรมัน: Gemeinden) รวมทั้งหมด 2,889 เขตเทศบาล
ชื่อต่อไปนี้เป็นเขตปกครองที่มีดินแดนของสวิตเซอร์แลนด์โอบล้อมอยู่: บือซิงเงิน (Büsingen) เป็นดินแดนของประเทศเยอรมนี และกัมปีโอเนดีอิตาเลีย (Campione d'Italia) เป็นดินแดนของประเทศอิตาลี
ประชาธิปไตยโดยตรง
ประชาธิปไตยโดยตรงและสหพันธรัฐ เป็นเอกลักษณ์ของระบบการปกครองของสวิตเซอร์แลนด์[57] ประชาชนชาวสวิสแต่ละคนจะอยู่ใต้การปกครอง 3 ระดับ คือ เทศบาล รัฐ/แคนทอน และสหพันธรัฐ
รัฐธรรมนูญปี 2391/2542 ได้กำหนดกลไกทางประชาธิปไตยโดยตรงหลายอย่าง การปกครองแบบนี้บางครั้งจึงเรียกว่า "ประชาธิปไตยกึ่งโดยตรง" หรือ "ประชาธิปไตยโดยตรงแบบมีผู้แทน" กลไกเยี่ยงนี้ในระดับสหพันธรัฐที่เรียกว่า "สิทธิประชาชน" (อังกฤษ: popular rights, เยอรมัน: Volksrechte, ฝรั่งเศส: droits populaires, อิตาลี: Diritti popolari)[58] รวมสิทธิการเสนอ "การริเริ่มเปลี่ยนรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐโดยประชาชน" และ "การขอ/ลงประชามติ" ที่สามารถล้มกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาได้[59][60]
กระบวนการนี้ทำให้ประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอาจต่อสู้กับกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา ถ้าสามารถรวบรวมลายเซ็น 50,000 รายหลังจากที่กฎหมายประกาศใช้เป็นทางการภายใน 100 วัน ถ้าสำเร็จ ก็จะมีการจัดให้ออกเสียงทั้งประเทศ ที่ประชาชนจะตัดสินโดยเสียงข้างมากว่า จะยอมรับหรือไม่ยอมรับกฎหมาย รัฐ 8 รัฐร่วมกันยังสามารถร้องให้มีการลงประชามติต่อกฎหมายของสหพันธรัฐได้ด้วย[59]
โดยคล้าย ๆ กัน การริเริ่มเปลี่ยนรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐโดยประชาชนอนุญาตให้ประชาชนร้องให้ลงประชามติเพื่อเพิ่มบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ถ้าสามารถรวบรวมลายเซ็น 100,000 รายได้ภายใน 18 เดือน แต่รัฐบาลทั้งฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติก็สามารถเสนอการเพิ่มบทบัญญัติตอบโต้เคียงคู่กับที่ประชาชนเสนอ โดยประชาชนจะบ่งความชอบใจในบัตรเลือกตั้งเผื่อกรณีที่ข้อเสนอของประชาชนและข้อเสนอตอบโต้ทั้งสองได้คะแนนเสียงยอมรับเหมือนกัน การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเสนอโดยประชาชนหรือรัฐสภา ต้องได้คะแนนเสียงข้างมากจากทั้งประชาชนทั่วประเทศและรัฐทุกรัฐ
นโยบายต่างประเทศ
ก่อนปี 1980 นโยบายต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์ยึดหลักการ 4 ประการ คือ ความเป็นกลาง (neutrality) ความมีน้ำหนึ่งใจเดียว (solidarity) ความเป็นสากล (universality) และความเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม (availability) ต่อมาเมื่อกิจการต่างประเทศเริ่มมีส่วนเกี่ยวพันกับกิจการสาขาอื่น ๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ การเงิน สิ่งแวดล้อม และกฎหมาย และการที่โลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์และหน่วยงานหรือ องค์กรต่าง ๆ ได้เริ่มมีบทบาทในกิจการต่างประเทศมากขึ้น ทำให้สวิตเซอร์แลนด์ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศ และได้จัดทำสมุดปกขาวว่าด้วยนโยบายต่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในศตวรรษที่ 90 ซึ่งได้รับ ความเห็นชอบจากรัฐบาลในปี 1993 นโยบายต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์สำหรับปี 2002 สรุปได้ดังนี้
การเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
สวิตเซอร์แลนด์ให้ความสำคัญลำดับแรกต่อการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญขององค์การสหประชาชาติ ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งสี่พรรค ได้ให้ความเห็นชอบต่อการเข้าเป็นสมาชิกดังกล่าว และได้จัดการลงประชามติทั่วประเทศในวันที่ 3 มีนาคม 2002 โดยก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนมีนาคม 1986 รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้จัดการลงประชามติการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ แต่ประชาชนสวิสส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากเกรงจะเสียความเป็นกลางซึ่งเป็นนโยบายหลักของประเทศตลอดมา แต่ในการลงประชามติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2002 เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนสวิสและเสียงส่วนใหญ่ของรัฐ (Canton) ได้ลงมติให้ความเห็นชอบการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติของสมาพันธรัฐสวิส โดยผู้ลงมติเห็นด้วยคิดเป็นร้อยละ 54.61 ผู้ลงมติไม่เห็นด้วยร้อยละ 45.39 และรัฐ (Canton) ที่เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยมีจำนวน 12 รัฐ จากจำนวนรัฐ ทั้งหมด 23 รัฐ การลง ประชามติครั้งนี้มีประชาชนออกมาใช้สิทธิร้อยละ 57.7 ทั้งนี้ สมาพันธรัฐสวิสได้ยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิก สหประชาชาติอย่างเป็นทางการและได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติในช่วงการประชุมสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 57 ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2002
การเจรจาทวิภาคีกับสหภาพยุโรป
รัฐบาลสวิสชุดปัจจุบันได้ประกาศเป็นนโยบายแน่ชัดที่จะเข้าไปมีบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศให้มากขึ้น อาทิ การจะเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และการพยายามจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เนื่องจากเห็นว่า สวิตเซอร์แลนด์จะไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้อีกต่อไป ในปี ค.ศ. 1992 สวิตเซอร์แลนด์ได้จัดการลงประชามติเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกเขตการค้าเสรียุโรป (European Economic Area) แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบ รัฐบาลจึงหาทางออกโดยการเปิดการเจรจากับสหภาพยุโรปตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1994 เพื่อทำความตกลงทวิภาคีใน 7 สาขา คือ การเคลื่อนย้ายบุคคลและแรงงานเสรี การวิจัย การขนส่งทางบก การบิน การเปิดเสรีทางการค้า การให้สิทธิภาคเอกชนของประเทศสหภาพยุโรปและ
สวิตเซอร์แลนด์เข้าไปประมูลหรือดำเนินกิจกรรมที่เป็นการจัดซื้อโดยรัฐในอีกประเทศหนึ่งได้เท่าเทียมคนชาติ การลดอุปสรรคการค้าระหว่างกัน และเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 1999 สวิตเซอร์แลนด์และสหภาพยุโรปได้ ลงนามความตกลงดังกล่าวซึ่งสภาแห่งชาติของสวิตเซอร์แลนด์ได้ให้สัตยาบันความตกลงฯ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 1999 และผ่านการลงประชามติจากประชาชนร้อยละ 62.7 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2000 รวมทั้งได้ผ่านการให้สัตยาบันจากรัฐสภาเบลเยี่ยมเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประเทศสุดท้ายแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2001 ซึ่งหลังจากนั้น รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้เริ่มการเจรจาทวิภาคีกับสหภาพยุโรปอีก 10 สาขา คือ การบริการ การจ่ายเงินบำนาญ การแปรรูปสินค้าเกษตร สิ่งแวดล้อม สถิติ การศึกษา กิจการเยาวชน บัญชีเงินฝากธนาคาร ความร่วมมือเพื่อต่อต้านการฉ้อโกง และความร่วมมือด้านการศาสนา กิจการตำรวจและการอพยพย้ายถิ่นฐาน อย่างไรก็ตาม มีกระแสเรียกร้องให้เปิดการเจรจากับสหภาพยุโรปโดยทันทีเพื่อเร่งรัดการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งรัฐบาลสวิสไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องนี้ เนื่องจากเห็นว่า สวิตเซอร์แลนด์จะพร้อมเปิดการเจรจากับสหภาพยุโรปในช่วงระหว่างปี 2004-2007 และอาจพร้อมที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหลังปี 2010 แต่เมื่อมีประชาชน 100,000 คน เข้าชื่อเรียกร้องให้จัดการลงประชามติ รัฐบาลสวิสก็ได้จัดการลงประชามติขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2001 ผลปรากฏว่าประชาชนกว่าร้อยละ 76.7 ลงคะแนนไม่เห็นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้สนับสนุนการเปิดการเจรจากับสหภาพยุโรป จะเป็นชาวสวิสในเขตสวิส ฝรั่งเศส ในขณะที่ชาวสวิสเยอรมันเกินร้อยละ 85 ลงคะแนนไม่เห็นด้วย
ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศเอเชีย-แปซิฟิก
รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเอเชียแปซิฟิก ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และได้เริ่มมิติใหม่ต่อการพัฒนาความร่วมมือด้านเทคโนโลยี แต่ นาย Deiss ได้ยอมรับว่ารัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์มีบทบาทแข็งขันในการช่วยเหลือพัฒนาประเทศเอเชียใต้ เช่น ปากีสถาน เนปาล ภูฐาน อินเดีย บังคลาเทศ และเอเชียกลาง เช่น คีร์กิซสถาน ซึ่งความช่วยเหลือส่วนใหญ่จะทำในกรอบความร่วมมือพหุภาคีภายใต้องค์การระหว่างประเทศ และมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ (pool of experts) กว่า 600 คน ซึ่งพร้อมจะเดินทางไปให้ความร่วมมือช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี สำหรับอัฟกานิสถานนั้น สวิตเซอร์แลนด์เข้าไปมีบทบาททั้งในการเจรจาด้านการเมืองและได้มอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์การกาชาดสากล (ICRC) เป็นมูลค่ากว่า 17 ล้านฟรังค์สวิสในปี 2001 โดยให้ความสำคัญกับการ ช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศและการยกระดับความเป็นอยู่ของสตรี แต่จะไม่เข้าร่วมในกองกำลังรักษาสันติภาพ และในครึ่งแรกของปี 2002 สวิตเซอร์แลนด์กำหนดจะเปิดสำนักงานติดต่อ (coordination Office) ที่กรุงคาบูล แต่ในขณะนี้ยังใช้ช่องทางการติดต่อผ่านสถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำปากีสถาน
กองทัพ
กองกำลังสวิสประกอบด้วยกองทัพบกและกองทัพอากาศ ซึ่งมาจากทหารเกณฑ์เป็นส่วนใหญ่โดยมีช่วงอายุตั้งแต่ 20 ถึง 34 ปี (ในกรณีพิเศษไม่เกิน 50 ปี) สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลจึงไม่มีกองทัพเรือ อย่างไรก็ตามในทะเลสาบที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านจะใช้เรือลาดตระเวนทางทหารติดอาวุธเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยมีกฎหมายห้ามมิให้พลเมืองสวิสรับราชการในกองทัพต่างประเทศยกเว้น Swiss Guards of the Vatican หรือเว้นแต่เป็นพลเมืองสองสัญชาติในต่างประเทศและอาศัยอยู่ที่นั่น[61]
รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์มีกฎหมายอนุญาตให้ทหารทุกคนสามารถเก็บอาวุธไว้ ณ ที่พักอาศัยของตนเองได้ และถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกองกำลังอาสาเพศหญิง ซึ่งประชากรหญิงหลายคนสมัครใจเข้าร่วมกองทัพสวิสโดยทุกปีจะมีผู้เข้ารับการฝึก ณ ค่ายทหารประมาณ 20,000 คนเป็นระยะเวลา 18 ถึง 21 สัปดาห์[62]
เศรษฐกิจ
ภาวะเศรษฐกิจ
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 - 20 ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ การจ้างงานในภาคเกษตรกรรมลดลงจากร้อยละ 60 ของปี 1850 เหลือเพียงร้อยละ 30 ในปี 1911 และตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา มีแรงงานเพียงร้อยละ 5 ที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม
ภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีบทบาทตั้งแต่ปี 1880 และภาคบริการเริ่มเข้ามาตั้งแต่ช่วงทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี 1991-96 เป็นผลจากมาตรการทางการเงินที่เข้มงวด ของสวิตเซอร์แลนด์เองและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของสวิตเซอร์แลนด์[64]
ในช่วงปี 1997-99 สภาวะเศรษฐกิจสวิตเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 1.8 ต่อปี มาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ธนาคารชาติสวิสนำมาใช้ทำให้ค่าของเงินฟรังก์สวิตลดลงเกือบร้อยละ 10 รวมทั้งสภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยที่เอื้อให้การส่งออกของสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันภาวะการจ้างงานภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นก็ช่วยให้การบริโภคภายในประเทศสูงขึ้นด้วย[65]
แม้ว่าสวิตเซอร์แลนด์จะมีค่าจ้างแรงงานสูงเป็นอันดับสามของประเทศอุตสาหกรรมรองจากเดนมาร์กและนอร์เวย์ แต่เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำ แรงงานที่มีคุณภาพสูง บวกกับต้นทุนทางสังคมที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้สวิตเซอร์แลนด์ได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความสามารถทางการแข่งขันสูงสุดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ในปี 2000
ภาคบริการของสวิตเซอร์แลนด์มีการจ้างงานกว่าสองในสามของการจ้างงานทั้งหมด รายได้ประชาชาติกว่าสองในสามมาจากภาคบริการ ที่สำคัญได้แก่ ภาคบริการผู้ผลิต อาทิ บริการด้านการเงิน การประกันภัย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งทำรายได้ถึงหนึ่งในสาม[66]
- ภาคบริการการจำหน่าย เช่น การค้า การขนส่ง การสื่อสารโทรคมนาคม
- ภาคบริการสังคม เช่น สุขภาพ การศึกษา ภาคราชการ บริการด้านวัฒนธรรม และ การพักผ่อน
- ภาคบริการบุคคล (personal services) อาทิ การท่องเที่ยว บริการต่าง ๆ สำหรับครัวเรือน และบริการรายบุคคลอื่น ๆ[67]
ภาคอุตสาหกรรมของสวิตเซอร์แลนด์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แม้ประเทศจะมีขนาดเล็กแต่มีบริษัทข้ามชาติมากมายที่ตั้งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ อาทิ ด้านอาหาร (Nestle) เวชภัณฑ์ (Novartis, Roche) วิศวกรรม (ABB) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และเวชภัณฑ์ ทำรายได้จากการส่งออกสูงสุดของสวิตเซอร์แลนด์ การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคการผลิตสินค้าพวกเครื่องจักรกล เครื่องไฟฟ้าและเครื่องเหล็ก การแข็งค่าของเงินฟรังก์ทำให้ภาคอุตสาหกรรมพยายามลดค่าใช้จ่ายโดยการพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพสูงมากขึ้น อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลของสวิตเซอร์แลนด์เป็นอุตสาหกรรมที่ดีที่สุดในโลก ปัจจุบันสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดประเทศหนึ่ง ในปี 2000 GDP ต่อหัว สูงถึง 33,464 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงเป็นที่สามของโลกรองจากญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา การเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในปีก่อน เป็นร้อยละ 3.4 ในปี 2000 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบสิบปี
ปี 2000 เศรษฐกิจสวิสเติบโตสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นมาเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และการอ่อนค่าเงินฟรังก์สวิส GDP ในปี 2543 มีอัตราร้อยละ 3.4 การส่งออกเพิ่มเป็นสองเท่าในขณะที่การนำเข้าก็เพิ่มสูงขึ้น การลงทุนเพิ่มเป็นร้อยละ 10.3 (เทียบกับร้อยละ 9 ของปี 1999) ส่วนอัตราการว่างงานลดลงจากร้อยละ 2.7 เป็นร้อยละ 2 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 1.6
กระทรวงการคลังรายงานว่า ในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2001 การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 คิดเป็นมูลค่า 88,533 ล้านฟรังก์ และนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 คิดเป็นมูลค่า 88,719 ฟรังก์ ขาดดุลการค้า 90.5 ล้านฟรังก์ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจปี 2000
ธนาคาร UBS ประเมินว่า เศรษฐกิจสวิสจะเติบโตร้อยละ 1 ในปี 2002 แต่สมาพันธรัฐสวิสจะไม่ตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเหมือนช่วงครึ่งแรกของ ค.ศ. 2001 ทั้งนี้ เป็นผลจากนโยบายและการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและทันการณ์ของธนาคารชาติสวิสและเนื่องจากตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นสูง ในไตรมาสที่สองของ ค.ศ. 2001 GDP ของสมาพันธรัฐสวิสเติบโตร้อยละ 1.7 โดยเฉลี่ยการเติบโตในแต่ละไตรมาสอยู่ประมาณร้อยละ 1.5 – 2 ซึ่งสูงกว่าเยอรมนี (-0.1) ฝรั่งเศส (1) และอิตาลี (0.1) แต่ตัวเลขการ เติบโตในครึ่งแรกของปี 2001 และดัชนีต่าง ๆ ชี้ว่าการเติบโตเริ่มช้าลง ค่าใช้จ่ายในการลงทุนเริ่มลดลงในไตรมาสที่สองเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ค่าเงินฟรังก์สวิสสูงขึ้นและกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศเพิ่มในอัตราที่ต่ำ UBS คาดว่าปี 2002 การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเหลือเพียงร้อยละ 1 และอัตราเงินเฟ้อ ค.ศ. 2002 จะเท่ากับร้อยละ 1 เพราะปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ราคาสินค้าจะไม่สูงขึ้นมาก อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง อัตราการเพิ่มค่าจ้างแรงงานก็จะช้าลง และเงินฟรังก์สวิสที่แข็งค่าขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากราคาสินค้าเข้าที่เพิ่มขึ้น
การพัฒนาทางเศรษฐกิจ
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
สวิตเซอร์แลนด์ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ 2 ใน 3 ของประเทศเป็นภูเขา เพียง 1 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น ที่สามารถทำการเพาะปลูก ซึ่งผลิตผลการเกษตรสามารถรองรับความต้องการด้านอาหารของประเทศได้เกินกว่าครึ่งหนึ่ง แต่สวิสขาดแคลนวัตถุดิบ จึงต้องนำเข้าวัตถุดิบและส่งออกกลับไปในรูปของผลิตภัณฑ์คุณภาพ จึงต้องนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบ คู่ค้าสำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ได้แก่สมาชิกองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development – OECD) เศรษฐกิจสวิสผูกพันกับเศรษฐกิจยุโรปอย่างมากโดยเฉพาะเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์นำเข้าจากสหภาพยุโรปร้อยละ 63 (เยอรมนีร้อยละ 23) และส่งออกไปสหภาพยุโรปกว่าร้อยละ 80 (เยอรมนีร้อยละ 33)[68]
สวิตเซอร์แลนด์ขาดดุลการค้าตลอดมาเว้นแต่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งส่งผลให้การนำเข้าลดลง แม้ว่าสวิตเซอร์แลนด์จะขาดดุลการค้ากับประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของยุโรป (ยกเว้นอังกฤษ) แต่สวิตเซอร์แลนด์ได้ดุลการค้าจากประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าเช่น สเปน โปรตุเกส และประเทศกำลังพัฒนา เครื่องจักรกล อุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทางเวชกรรม นาฬิกา และอัญมณี เป็นสินค้าส่งออกหลักของสวิตเซอร์แลนด์ สินค้านำเข้าหลักได้แก่เครื่องจักรกล อุปกรณ์ไฟฟ้า นาฬิกา เคมีภัณฑ์[69]
ผลผลิตทางการเกษตร โลหะ สิ่งทอ และเครื่องแต่งกาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่นำเข้าวัตถุดิบโดยใช้แรงงานที่มีคุณภาพสูงของตนแปรรูปให้เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง การส่งออกภาคบริการของสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงปี 1996-1999 เพิ่มประมาณร้อยละ 6.5 ต่อปี โดยมีสัดส่วนร้อยละ 20 ของการส่งออกทั้งหมด การท่องเที่ยวก็เป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมบริการ
สวิตเซอร์แลนด์ได้ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ประชาชาติสูงสุดของโลก การได้ดุลจำนวนมากนี้เป็นผลจากการทำธุรกรรมด้านบริการ โดยเฉพาะภาคการเงิน บริษัทสวิสลงทุนในต่างประเทศมากกว่าบริษัทต่างประเทศมาลงทุนในสวิตเซอร์แลนด์ประมาณ 2.5 เท่า การลงทุนทางตรงของสวิตเซอร์แลนด์ในต่างประเทศส่วนใหญ่อยู่ในสหภาพยุโรป และ สหรัฐอเมริกา ในขณะที่สหภาพยุโรปมีสัดส่วนการลงทุนในสวิตเซอร์แลนด์เป็นสองในสามของการลงทุนต่างประเทศในสวิตเซอร์แลนด์
การท่องเที่ยว
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
โครงสร้างพื้นฐาน
คมนาคม และ โทรคมนาคม
สวิตเซอร์แลนด์มีเครือข่ายถนนและทางรถไฟหนาแน่น เครือข่ายการขนส่งโดยรถไฟสาธารณะมีมีจุดเดินทางขนส่งผู้โดยสาร ความยาวรวม 24,500 กิโลเมตรและมีสถานีและจุดจอดมากกว่า 2600 แห่งทั่วประเทศ การข้ามเทือกเขาแอลป์เป็นเส้นทางสำคัญสำหรับการคมนาคมของยุโรปเนื่องจากเทือกเขาแอลป์แยกยุโรปเหนือออกจากยุโรปใต้ นักท่องเที่ยวมักเดินทางข้ามบริเวณนี้เนื่องจากมีทิวทัศน์ที่สวยงามมาก เครือข่ายถนนของสวิสได้รับทุนจากค่าผ่านทางถนน และภาษีรถยนต์ ระบบมอเตอร์เวย์ของสวิสต้องซื้อภาษีถนน - ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 40 ฟรังก์สวิส เพื่อใช้สัญจรทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถบรรทุก เครือข่ายมอเตอร์เวย์ของสวิสมีความยาวรวม 1,638 กิโลเมตร (ณ ปี 2000) และมีพื้นที่ 41,290 กม.2 - มีความหนาแน่นของมอเตอร์เวย์ที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก[70]
ท่าอากาศยานซือริช เป็นประตูการบินระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์รองรับผู้โดยสาร 24.9 ล้านคนในปี 2013[71] สนามบินที่ใหญ่เป็นอันดับสองได้แก่ Geneva Cointrin ในกรุงเจนีวารองรับผู้โดยสาร 14.4 ล้านคน (2013) และอันดับสามคือ EuroAirport Basel Mulhouse Freiburg ในบาเซิล มีสายการบินประจำชาติคือ สวิสอินเตอร์เนชันแนลแอร์ไลน์ (Swiss International Air Lines) เป็นบริษัทลูกของสายการบินลุฟต์ฮันซา มีฐานการบินหลักอยู่ที่ท่าอากาศยานซือริช[72] ให้บริการสู่จุดหมายปลายทางในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชีย สวิสอินเตอร์เนชั่นแนลแอร์ไลน์ก่อตั้งขึ้นหนึ่งปีหลังจากสายการบินสวิสแอร์ล้มละลายเมื่อปี 2001
วิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยี
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
สาธารณสุข
ชาวสวิสมักซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกันเอกชนซึ่งมีคุณภาพสูง และมีรายงานว่าผู้ป่วยโดยทั่วไปพอใจกับคุณภาพประกันเหล่านี้[73][74] ในปี 2012 อายุเฉลี่ยของประชากรคือ 80.4 ปีสำหรับผู้ชายและ 84.7 ปีสำหรับผู้หญิง ซึ่งมากที่สุดในโลก[75] สวิตเซอร์แลนด์มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพคิดเป็น 11.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (ปี 2010) เทียบเท่ากับเยอรมนีและฝรั่งเศส (11.6%) และประเทศอื่น ๆ ในยุโรป และเป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา (17.6%) และการใช้จ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อนับตั้งแต่ปี 1990 โดยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีคุณภาพการสาธารณสุขที่ดีที่สุดชาติหนึ่ง[76]
มีการรายงานว่าประมาณหนึ่งในหกของชาวสวิสป่วยเป็นโรคซึมเศร้า[77][78][79][80]
การศึกษา
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ถูกกล่าวถึงว่ามีระบบการศึกษาที่ดีแห่งหนึ่งของโลกเนื่องจากรัฐแต่ละรัฐมีหน้าที่รับผิดชอบในการบริการทางศึกษา ระดับอนุบาล มัธยมศึกษา มหาวิทยาลัย ทำให้การศึกษานี้อาจจะแตกต่างกันในระหว่างรัฐ[81] ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีมหาวิทยาลัยรวม 11 แห่ง ซึ่ง 9 แห่งดำเนินการโดยรัฐต่าง ๆ อีก 2 แห่งดำเนินการโดยสมาพันธรัฐ โดยแบ่งระดับการศึกษาออกดังต่อไปนี้:[82]
1. ระดับอนุบาล
เด็ก ๆ ชาวสวิสไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าเรียนระดับอนุบาลหรือผู้ปกครองอาจจะให้บุตรหลานเข้าเรียนระดับอนุบาลเป็นเวลา 1 ปีหรือ 2 ปีก็ได้
2. ระดับประถมศึกษา
เป็นระบบการศึกษาภาคบังคับ โดยก่อนที่นักเรียนจะเข้าเรียนโรงเรียนประถมศึกษา นักเรียนส่วนใหญ่มักจะเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลก่อน
3. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นโดยทั่วไปจะต่อจากประถมศึกษาอีก 3 ปี (เกรด 7 ถึงเกรด 9) แต่ในบางรัฐระดับนี้จะต่อจากประถมศึกษาอีก 5 ปี โดยเริ่มต้นที่เกรด 5 และบางรัฐจะต่อจากประถมศึกษาอีก 4 ปี (โดยเริ่มต้นที่เกรด 6) ในระดับนี้จะให้การศึกษาโดยทั่วไป และเตรียมตัวสำหรับนักเรียนที่จะเข้าเรียนการศึกษาสายอาชีวะระดับพื้นฐาน หรือสำหรับนักเรียนที่จะโอนเข้าสู่โรงเรียนสายสามัญในระดับมัธยมปลาย[83]
4. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
ระดับนี้จะแยกระหว่างนักเรียนที่ต้องการเรียนสายสามัญและสายอาชีวะ โดยนักเรียนที่เรียนสายสามัญจะเลือกเรียนได้ในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (Matura School / Gymnasien) หรือโรงเรียนเฉพาะทาง (Specialised Middle Schools / Fachmittelschulen) ส่วนนักเรียนที่ต้องการจะมุ่งสู่สายอาชีพโดยตรงจะเข้าสู่การศึกษาในสายอาชีวะซึ่งระบบการศึกษาอาชีวะจะขึ้นตรงต่อกฎหมายตามรัฐบาลกลางของประเทศ
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (Matura School / Gymnasien) ตั้งอยู่ในรัฐทุกรัฐของประเทศ นักเรียนจะเริ่มสมัครเรียนได้เมื่อจบเกรด 9 หรือเกรด 10 (อายุ 13/14 ปี) จากนั้นจึงเรียนต่อ 4 ปีในกรณีส่วนใหญ่ และในบางรัฐที่ใช้ภาษาเยอรมันในการสื่อสารอาจะมีโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่เริ่มตั้งแต่เกรด 7 (Langzeitgymnasium; ใช้ระยะเวลาเรียนทั้งหมด 6 ปี) หลังจากผ่านการสอบในระดับเตรียมอุดมศึกษาแล้ว นักเรียนจะได้รับใบรับรองจากทางโรงเรียนซึ่งสามารถนำใบรับรองนี้เป็นเอกสารในการเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย, สถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือมหาวิทยาลัยครู
โรงเรียนเฉพาะทาง (Specialised Middle Schools / Fachmittelschulen) เป็นโรงเรียนทางด้านสายสามัญซึ่งพัฒนามาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและในระดับการศึกษาทางอาชีพ ซึ่งเหมาะสำหรับนักเรียนที่จะเตรียมตัวเข้าเรียนในระดับสายอาชีพในวิทยาลัยอาชีวะระดับสูง และในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยสาขาที่เข้าเรียนได้แก่ สาขาสุขภาพและการทำงานเพื่อสังคม, การศึกษาและการออกแบบ, ศิลปะ โดยจะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 3 ปี
5. ระดับอุดมศึกษา
การศึกษาในระดับอาชีวะขั้นสูง (Higher Vocational Education and Training) ให้การศึกษาในระดับอุดมศึกษานอกมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการศึกษาในสวิสซึ่งหาได้ยากในประเทศอื่น ๆ โดยหลักสูตรการเรียนจะเป็นสายอาชีพและบทบาทความเป็นผู้นำ เพื่อฝึกพนักงานและบุคคลที่ผ่านการศึกษาอาชีวะระดับพื้นฐานแล้ว[84]
ประชากรศาสตร์
เชื้อชาติ
ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2012 ประชากรประมาณ 8.703 ล้านคน เป็นชาวสวิตเยอรมันร้อยละ 65 สวิตฝรั่งเศสร้อยละ 18 สวิตอิตาเลียน ร้อยละ 10 รูมันช์ ร้อยละ 1 อื่น ๆ ร้อยละ 9
ศาสนา
ศาสนาในสวิตเซอร์แลนด์ – 2012[85] | ||||
---|---|---|---|---|
ศาสนา | เปอร์เซ็นต์ | |||
โรมันคาทอลิก | 38.2% | |||
โปรเตสแตนต์ | 26.9% | |||
ไม่ได้นับถือศาสนา | 21.4% | |||
ศาสนาคริสต์อื่น ๆ | 5.7% | |||
อิสลาม | 4.9% | |||
ยูดาย | 0.3% | |||
อื่น ๆ | 1.3% |
ประชาชนร้อยละ 48 นับถือนิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ 44 นับถือนิกายโปรเตสแตนท์ ร้อยละ 8 นับถือศาสนาอื่น ๆ
ภาษา
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีภาษาราชการทั้งสิ้น 4 ภาษาได้แก่[86] ภาษาเยอรมัน (ร้อยละ 64) เป็นภาษาที่มีการพูดกว้างขวางที่สุดในประเทศ ทางภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 19 รัฐใน 26 รัฐ, ภาษาฝรั่งเศส (ร้อยละ 19) คนส่วนใหญ่ที่พูดภาษาฝรั่งเศสในประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นจะอยู่ในภาคตะวันตกของประเทศ โดยมี 4 รัฐด้วยกันคือ เจนีวา, ฌูรา, นิดวัลเดิน และโว และมีอีก 3 รัฐ (แบร์น, ฟรีบูร์ และวาเล) ที่ใช้ทั้งภาษาเยอรมันและฝรั่งเศสในการสื่อสาร, ภาษาอิตาลี (ร้อยละ 8) ทางภาคใต้ในรัฐตีชีโน และอีก 4 หมู่บ้านทางใต้ของรัฐเกราบึนเดิน และภาษารูมันช์ (ร้อยละ 1) (Rhaeto-Romanic – ภาษาละตินโบราณ) ส่วนใหญ่ใช้ในรัฐเกราบึนเดินซึ่งใช้ภาษาในการสื่อสารมากถึง 3 ภาษา (ภาษารูมันช์, ภาษาเยอรมัน และภาษาอิตาลี) ภาษารูมันช์นั้นคล้ายกับภาษาอิตาลีและฝรั่งเศสซึ่งมีรากฐานของภาษามาจากละติน นอกจากนี้สวิตเซอร์แลนด์ยังถือว่าเป็นชาติที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี[87]
วัฒนธรรม
แหล่งมรดกโลก
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีแหล่งท่องเที่ยวซึ่งมีความสำคัญและได้รับการจัดให้เป็นมรดกโลกทั้งสิ้น 12 แห่ง โดยแบ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจำนวน 9 แห่ง ได้แก่ คอนแวนต์นักบุญจอห์นของคณะเบเนดิกตินที่มึชไตร์, คอนแวนต์แซ็ง-กาล, กรุงแบร์น (เมืองหลวงของประเทศ), ปราสาทสามหลัง กำแพง และแนวป้องกันของเมืองตลาดนัดแห่งเบลลินโซนา, ลาโว ไร่องุ่นขั้นบันได, ทางรถไฟสายรีเชียในภูมิทัศน์แม่น้ำอัลบูลา / แบร์นีนา, ลาโช-เดอ-ฟง, แหล่งที่อยู่อาศัยแบบเรือนยกพื้นยุคก่อนประวัติศาสตร์โดยรอบเทือกเขาแอลป์ และงานสถาปัตยกรรมของเลอกอร์บูซีเย
นอกจากนี้ยังมีมรดกโลกทางธรรมชาติอีก 3 แห่งได้แก่ ยุงเฟรา-อาเลทช์ ภูเขาแอลป์ในสวิตเซอร์แลนด์, มอนเตซานจอร์โจ และแอ่งแปรสันฐานซาร์โดนา[89]
สถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมถือได้ว่าเป็นจุดเด่นอีกด้านหนึ่งของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามและยังคงความสมบูรณ์แบบ[90] สถาปัตยกรรมโกธิคตามโบสถ์ในเมืองต่าง ๆ เช่น โบสถ์เมืองแบร์นเป็นต้น นอกจากนั้นยังมีสถาปัตยกรรมในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาและแบบบารอก ซึ่งสามารถพบเห็นได้บริเวณทะเลสาบเจนีวาซึ่งมีพื้นที่ติดกับประเทศฝรั่งเศส
ดนตรี
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
วรรณกรรม
เนื่องจากสมาพันธรัฐซึ่งก่อตั้งในปี 1291 เกือบทั้งหมดประกอบด้วยภูมิภาคที่พูดภาษาเยอรมัน วรรณคดีรูปแบบแรกสุดจึงเป็นภาษาเยอรมัน ในศตวรรษที่ 18 ฝรั่งเศสกลายเป็นภาษาที่ทันสมัยในแบร์นและที่อื่น ๆ ในบรรดานักเขียนคลาสสิกของวรรณคดีเยอรมันสวิส ผู้ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ได้แก่ Jeremias Gotthelf (1797–1854) และ Gottfried Keller (1819–1890) รวมถึงผู้ประพันธ์วรรณคดีสวิสในศตวรรษที่ 20 คือ Max Frisch (1911–91) และ Friedrich Dürrenmatt (1921–90)
วรรณกรรมเยาวชนที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ ไฮดี้[91][92][93] เรื่องราวของเด็กกำพร้าที่อาศัยอยู่กับคุณปู่ของเธอในเทือกเขาแอลป์ เป็นหนึ่งในหนังสือเด็กที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ Johanna Spyri (1827–1901) ผู้แต่งได้เขียนหนังสือเล่มอื่น ๆ อีกหลายเล่มในเนื้อหาที่มีลักษณะคล้ายกัน
กีฬา
การเล่นสกี สโนว์บอร์ด และการปีนเขาเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์[94] ธรรมชาติของประเทศมีความเหมาะสมเป็นพิเศษสำหรับกิจกรรมดังกล่าว การแข่งขันสกีระดับโลกครั้งแรกจัดขึ้นที่ Mürren (1931) และ St. Moritz (1934) และยังเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งที่สองในปี 1928 และครั้งที่ห้าในปี 1948
กีฬาที่มีคนดูมากที่สุด ได้แก่ ฟุตบอล ฮ็อกกี้น้ำแข็ง สกีอัลไพน์ "ชวิงเก้น" และเทนนิส โดยมีนักเทนนิสที่มีชื่อเสียงระดับโลกและประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์คือ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์[95][96] อดีตมือวางอันดับหนึ่งของโลกซึ่งชนะเลิศแกรนด์สแลม 20 สมัย และยังเป็นเจ้าของสถิติโลกมากมาย เช่น การครองตำแหน่งมือวางอันดับหนึ่งจำนวน 237 สัปดาห์ติดต่อกัน และชนะเลิศแกรนด์สแลมวิมเบิลดัน 8 สมัย และมีนักเทนนิสที่มีชื่อเสียงอีกได้แก่ สตาน วาวรีงกา และ มาร์ติน่า ฮินกิส ซึ่งเคยชนะเลิศแกรนด์สแลม ทีมเทนนิสชายของสวิตเซอร์แลนด์ยังเคยคว้าแชมป์โลกในรายการเดวิสคัพ 1 สมัยในปี 2014[97]
สำนักงานใหญ่ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติและฮ็อกกี้น้ำแข็ง (FIFA และ IIHF) ตั้งอยู่ในซือริช สำนักงานใหญ่ของสหพันธ์กีฬานานาชาติหลายแห่งยังตั้งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ เช่น คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) พิพิธภัณฑ์โอลิมปิกของ IOC และศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา (CAS) ตั้งอยู่ในโลซาน
สวิตเซอร์แลนด์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 1954 และเป็นเจ้าภาพร่วมกับออสเตรียในการแข่งขันยูโร 2008 ลีกอาชีพสูงสุดคือ Swiss Super League และประเทศนี้ยังเป็นที่ตั้งของสนามฟุตบอลที่สูงที่สุดของยุโรปที่ความสูง 2,000 เมตร (6,600 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเล ชื่อว่า Ottmar Hitzfeld Stadium[98][99] ทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์เคยเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 11 สมัย และเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย 3 ครั้ง และยังมีส่วนร่วมในฟุตบอลยูโรอีก 5 สมัย มีสโมสรชั้นนำได้แก่ สโมสรบาเซิล, สโมสรลูเซิร์น และ เบเอ็สเซ ยังบอยส์
กีฬาอื่นที่กระจายตัวตามท้องถื่น ได้แก่ มวยปล้ำสวิสหรือ "ชวิงเกน" เป็นประเพณีเก่าแก่จากเขตภาคกลางในชนบทและถือว่าเป็นกีฬาประจำชาติโดยคนบางกลุ่ม รวมถึง Hornussen เป็นกีฬาพื้นเมืองของสวิสอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเปรียบเสมือนการผสมผสานระหว่างเบสบอลกับกอล์ฟ (ใช้ไม้ตีลูกเพื่อทำคะแนน)
อาหาร
สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ได้รับอิทธิพลทางด้านอาหารมาจากหลากหลายเชื้อชาติ[100] เช่น อิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส และเป็นประเทศที่ผลิตนมและชีสที่ได้คุณภาพระดับโลก ทำให้อาหารของที่นี่จะมีเนยและชีสเป็นส่วนประกอบในเกือบทุกเมนู อาหารของสวิตเซอร์แลนด์จะเน้นที่รสชาติที่ดีเลิศที่มาจากคุณภาพที่ดีของวัตถุดิบ[101] ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในอดีตเป็นเมืองเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกมันฝรั่งและการทำชีส ซึ่งชีสสวิสที่มีชื่อเสียงอย่างมาก นั่นคือ Emmental Cheese, Gruyère, Vacherin, และ Appenzeller นอกจากนี้ยังมีวัตถุดิบที่มีชื่อเสียงอย่างมากนั่นคือช็อคโกแล็ต ช็อคโกแล็ตสวิสมีหลากหลายขนาด, รูปร่าง และกลิ่น และถือได้ว่าเป็นหนึ่งในช็อคโกแล็ตที่ดีที่สุดในโลกด้วยการควบคุมคุณภาพในโรงงานผลิตและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยทางสมาคมผู้ผลิตช็อคโกแล็ตสวิส (Chocosuisse) เคยกล่าวไว้ว่าชาวสวิสเป็นผู้ที่บริโภคช็อคโกแล็ตมากที่สุดในโลก[102] สวิตเซอร์แลนด์มีอาหารที่มีชือเสียงระดับมากมาย เช่น ฟงดูว์ชีส (Cheese Fondue), โรสตี (Rösti, มันฝรั่งหั่นฝอย ผสมกับชีสที่ละลายแล้ว), Basler Leckerli (ขนมของเมือง Basel บิสกิสแบบดั้งเดิมของประเทศสวิตเซอร์แลนด์), Zürcher Geschnetzeltes (เนื้อลูกวัวย่าง), พายตับบด,พายเนื้อบด (Luzerner Chugelipastete)[103]
หมายเหตุและอ้างอิง
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.