Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลัตเวีย (อังกฤษ: Latvia; ลัตเวีย: Latvija, [ˈlatvija]; ลัตกาเล: Latveja; ลิโวเนีย: Leţmō) หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐลัตเวีย (อังกฤษ: Republic of Latvia;[15] ลัตเวีย: Latvijas Republika; ลัตกาเล: Latvejas Republika; ลิโวเนีย: Leţmō Vabāmō) เป็นประเทศในภูมิภาคยุโรปเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับอีก 2 รัฐบอลติก คือ เอสโตเนียทางทิศเหนือ และลิทัวเนียและเบลารุสทางทิศใต้ จดรัสเซียทางทิศตะวันออก ส่วนทางทิศตะวันตกนั้น ลัตเวียมีอาณาเขตทางทะเลติดต่อกับสวีเดน กรุงรีกา เมืองหลวงของลัตเวียเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาเมืองที่อยู่ในกลุ่มรัฐบอลติก ลัตเวียครอบคลุมพื้นที่ 64,589 ตารางกิโลเมตร (24,938 ตารางไมล์) มีประชากร 1.9 ล้านคน ประเทศมีสภาพอากาศอบอุ่นตามฤดูกาล[16] ชาวลัตเวียอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์บอลต์ และพูดภาษาลัตเวีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสองภาษาบอลติกที่ยังหลงเหลืออยู่ มีชาวรัสเซียอาศัยตามภูมิภาคต่าง ๆ เป็นชนกลุ่มน้อยที่โดดเด่นในประเทศ คิดเป็นเกือบหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด
สาธารณรัฐลัตเวีย Latvijas Republika (ลัตเวีย) | |
---|---|
ที่ตั้งของ ประเทศลัตเวีย (เขียวเข้ม) – ในยุโรป (เขัยว & เทาเข้ม) | |
เมืองหลวง และเมืองใหญ่สุด | รีกา 56°57′N 24°6′E |
ภาษาราชการ | ลัตเวียa |
ภาษาอื่น ๆ | ลัตกาเล ลิโวเนีย |
กลุ่มชาติพันธุ์ (ค.ศ. 2021[1]) | |
ศาสนา (ค.ศ. 2011)[2] | |
เดมะนิม | ชาวลัตเวีย |
การปกครอง | สาธารณรัฐระบบรัฐสภาแบบรัฐเดี่ยว |
• ประธานาธิบดี | Edgars Rinkēvičs |
• นายกรัฐมนตรี | เอวิกา ซิลิญา |
• ประธานสภา | Daiga Mieriņa |
สภานิติบัญญัติ | ซาอีมา |
เอกราช จาก เยอรมนี และสหภาพโซเวียต | |
18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 | |
• รับรองเอกราช | 26 มกราคม ค.ศ. 1921 |
• ใช้รัฐธรรมนูญ | 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 |
21 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | |
• เข้าร่วมสหภาพยุโรป | 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2004 |
พื้นที่ | |
• รวม | 64,589 ตารางกิโลเมตร (24,938 ตารางไมล์) (อันดับที่ 122) |
2.09 (ใน ค.ศ. 2015)[5] | |
ประชากร | |
• ค.ศ. 2020 ประมาณ | 1,907,675[6] (อันดับที่ 147) |
• สำมะโนประชากร ค.ศ. 2011 | 2,070,371[7] |
29.6 ต่อตารางกิโลเมตร (76.7 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 147) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | ค.ศ. 2022 (ประมาณ) |
• รวม | 70.320 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[8] |
• ต่อหัว | 37,009 ดอลลาร์สหรัฐ[8] |
จีดีพี (ราคาตลาด) | ค.ศ. 2022 (ประมาณ) |
• รวม | 40.830 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[8] |
• ต่อหัว | 21,489 ดอลลาร์สหรัฐ[8] |
จีนี (ค.ศ. 2019) | 35.2[9] ปานกลาง |
เอชดีไอ (ค.ศ. 2019) | 0.866[10] สูงมาก · อันดับที่ 37 |
สกุลเงิน | ยูโร (€) (EUR) |
เขตเวลา | UTC+2 (EET) |
UTC+3 (EEST) | |
รูปแบบวันที่ | วว.ดด.ปปปป |
ขับรถด้าน | ขวา |
รหัสโทรศัพท์ | +371 |
โดเมนบนสุด | .lvc |
|
หลังจากอยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมนี สวีเดน โปแลนด์-ลิทัวเนีย และรัสเซียเป็นเวลาหลายศตวรรษ สาธารณรัฐลัตเวียก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 เมื่อแยกออกจากจักรวรรดิเยอรมันและประกาศอิสรภาพภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[3] อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ประเทศอยู่ใต้การปกครองของระบอบเผด็จการหลังจากการรัฐประหารใน ค.ศ. 1934 ได้จัดตั้งระบอบเผด็จการภายใต้การบริหารของ คาร์ลิส อุลมานิส ผู้นำประเทศคนแรก[17] ต่อมา ความเป็นอิสระโดยพฤตินัยของประเทศถูกขัดขวางอีกครั้งในช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มต้นด้วยการถูกยึดครองโดยสหภาพโซเวียต ตามด้วยการรุกรานและยึดครองโดยนาซีเยอรมนีใน ค.ศ. 1941 และการยึดครองโดยโซเวียตอีกครั้งใน ค.ศ. 1944 และสถาปนาเป็น สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตลัตเวีย ในอีก 45 ปีต่อมา การเรียกร้องให้มีการปฏิวัติการโดยร้องเพลงอย่างสันติ (Singing Revolution) เริ่มต้นใน ค.ศ. 1987 และจบลงด้วยการฟื้นคืนเอกราชโดยพฤตินัยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1991 ตั้งแต่นั้นมา ลัตเวียก็กลายเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบรวมรัฐสภา
ลัตเวียเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว[18] และมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจสูง มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ในระดับสูง และประชากรมีเสรีภาพในการดำรงชีวิตสูง รวมทั้งยังเป็นประเทศที่ให้เสรีภาพทางด้านสื่อ การสื่อสาร และการแสดงออกทางการเมือง ลัตเวียเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป, ยูโรโซน, เนโท, สภายุโรป, สหประชาชาติ, สภารัฐทะเลบอลติก, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ, นอร์ดิก-บอลติกแปด, ธนาคารเพื่อการลงทุนนอร์ดิก, องค์การเพื่อเศรษฐกิจ ความร่วมมือและการพัฒนา, องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป และองค์การการค้าโลก
ประเทศลัตเวียอยู่ทางยุโรปตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเอสโตเนียซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศตะวันออกติดกับประเทศรัสเซีย ทางทิศใต้ติดกับประเทศลิทัวเนีย ทิศตะวันตกติดกับทะเลบอลติก ทางตะวันตกเฉียงเหนือติดกับอ่าวริก้า แผ่นดินด้านตะวันตกและทางตะวันตกเฉียงเหนือติดกับทะเล
พื้นที่เกือบทั้งประเทศเป็นที่ราบที่อุดมสมบูรณ์สลับกับเนินสูง ประกอบด้วยแม่น้ำสายเล็กมากมาย แม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลผ่านลัตเวียคือแม่น้ำ เวสเทิร์นดวินา (ภาษาลัตเวียเรียกว่า daugava) เป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่หลายแห่ง มีทะเลสาบมากกว่า 3,000 แห่ง ป่าไม้มีพื้นที่ประมาณ 2 ใน 5 ของประเทศแต่ทรัพยากรป่าไม้ได้รับการพัฒนาน้อย มียอดเขาสูงที่สุดชื่อ Gaizins มีความสูง 312 เมตรจากระดับน้ำทะเล
เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบจึงมีพื้นที่บางส่วนที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำเหมือนบริเวณป่าพรุ และมีลมจากทะเลพัดผ่านตลอดปีทำให้บางปีมีอากาศเย็นจนต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง
ระบบการเมือง หลังจากได้รับเอกราช เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2533 ลัตเวียได้มีการปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2535 ซึ่งมีผลบังคับใช้แทนรัฐธรรมนูญที่สหภาพโซเวียตประกาศใช้มาก่อนหน้านั้นแล้ว และในปัจจุบันได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2535*
สถาบันทางการเมืองลัตเวียมีประธานาธิบดีเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญระบบรัฐสภาเป็นระบบสภาเดียว เรียกว่า Saiema ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 100 คน โดยประธานาธิบดีจะเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เพื่อลงมติให้ความไว้วางใจ ในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ (พรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐสภาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินร้อยละ 4 จากการลงคะแนนเสียงทั่วประเทศ)
เป้าหมายสำคัญที่สุดของนโยบายด้านความมั่นคงที่แถลงออกมาอย่างชัดแจ้งของลัตเวีย คือ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงของลัตเวีย เนื่องจากลัตเวียยังคงมีความระแวงต่อ ภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นจากรัสเซีย ซึ่งพัฒนาการล่าสุดในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การ NATO ของลัตเวีย และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านบอลติก คือ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2546 สมาชิกองค์การ NATO 19 ประเทศ ได้ลงนามในพิธีสารว่าด้วยการรับสมาชิกใหม่ 7 ประเทศ คือ บัลแกเรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย โรมาเนีย สโลวะเกีย และสโลวีเนีย ที่กรุงบรัสเซลส์ ต่อมา เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2547 ประเทศสมาชิกองค์การ NATO ใหม่ ทั้ง 7 ประเทศ ได้มอบภาคยานุวัตรสารให้แก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และในด้านนโยบายต่างประเทศ คือ การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) เพื่อเข้าร่วมกระบวนการรวมตัวของยุโรป โดยลัตเวียและประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มบอลติก คือ เอสโตเนีย และลิทัวเนีย พร้อมด้วยสาธารณรัฐเช็ก ไซปรัส ฮังการี มอลตา โปแลนด์ สโลวีเนีย และสโลวะเกีย ได้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรปอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 (ค.ศ. 2004)
นอกจากนี้ ลัตเวียและประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มบอลติกยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์กรภูมิภาคอื่นๆ เช่น คณะมนตรีบอลติก (Baltic Council) และองค์การเพื่อความมั่นคง และความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe - OSCE) เป็นต้น
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ลัตเวีย และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านบอลติก คือ เอสโตเนียและลิทัวเนีย พร้อมประเทศยุโรปตะวันออก ซึ่งได้แก่ สาธารณรัฐเช็ก ไซปรัส ฮังการี มอลตา โปแลนด์ สโลวีเนีย และสโลวะเกีย รวม 10 ประเทศ ได้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรปอย่างสมบูรณ์ สรุปพัฒนาการของลัตเวียต่อสหภาพพยุโรปในช่วงเวลาที่ผ่านมา 1. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2537 รัฐสภาลัตเวียได้ให้สัตยาบันต่อความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (Free Trade Accord) เป็นผลให้ลัตเวียสามารถเป็นภาคีสมาชิกความตกลงดังกล่าว กับสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 โดย ส่งผลให้ลัตเวียได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าต่าง ๆ จากสหภาพยุโรป ในรูปของอัตราภาษีศุลกากร โควตาและ GSP 2. ลัตเวียได้ลงนามความตกลงเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมทบของสหภาพยุโรป (Association Agreement) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2538 โดยมีการกำหนดระยะเวลาปรับตัวไว้ ต่อมาลัตเวียได้ยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพ EU โดยสมบูรณ์ต่อ คณะกรรมมาธิการยุโรป 3. เมื่อวันที่ 26กันยายน 2539 ลัตเวียได้ส่งคำตอบแบบสอบถามรายละเอียดให้ คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาถึงความพร้อมที่จะทำการเจรจาว่าด้วยการเข้าเป็นสมาชิกภาพ EU โดยสมบูรณ์ ซึ่งลัตเวียได้พยายามทุกวิถีทางที่จะปฏิรูประบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมให้สอดคล้องกับมาตรฐานและระเบียบกฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรป เพื่อที่จะได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปโดยสมบูรณ์ในช่วงปี ค.ศ. 2004 พร้อมกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านบอลติก ซึ่งได้แก่ ลัตเวียและลิทัวเนีย ทั้งนี้ แม้ว่า ลัตเวียจะไม่ได้ร่วมอยู่ในกลุ่มแรกที่สหภาพยุโรป เริ่มกระบวนการเจรจาเพื่อรับสมาชิกใหม่ เนื่องจากระดับการพัฒนาของลัตเวียนั้นยังล้าหลัง และไม่เจริญเท่าประเทศอื่น ๆ เช่น เอสโตเนีย โปแลนด์ ฮังการี และสาธารณรัฐเช็ก ก็ตาม แต่ลัตเวียถือว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเป็นเป้าหมายสำคัญในด้านการต่างประเทศ
พัฒนาการที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประวัติบุคคลสำคัญทางการเมือง
ประเทศลัตเวียได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การในภูมิภาคดังนี้
ไทยประกาศรับรองรัฐลัตเวียเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2534 พร้อมกับการประกาศรับรองรัฐเอสโตเนีย และลิทัวเนีย ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2535 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้ไทยดำเนินการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับลัตเวีย และให้มีการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูต ในระดับเอกอัครราชทูตระหว่างกัน โดยให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสต็อกโฮล์ม มีเขตอาณาครอบคลุมฟินแลนด์ ลัตเวียและเอสโตเนีย โดยนายสุจินดา ยงสุนทรเอกอัครราชทูต ณ กรุงสต็อกโฮล์ม ได้เดินทางไปยื่นพระราชสาส์นตราตั้งเป็นเอกอัครราชทูตคนแรกประจำลัตเวีย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2544เห็นชอบให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออลโล มีเขตอาณาครอบคลุมลัตเวียแทนสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสต็อกโฮล์ม และปัจจุบันเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำลัตเวีย อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย สำหรับ ลัตเวียยังมิได้ตั้งสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย แต่ได้จัดตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำประเทศไทย โดยมีนายประสงค์ จงรัตนากุล ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ลัตเวียประจำประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2538
ลัตเวียพร้อมที่จะขยายความร่วมมือกับไทยในทุก ๆ ด้าน ทั้งในกรอบทวิภาคีและกรอบพหุภาคี ในด้านความสัมพันธ์ทางการทูต ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นโดยมีการแลกเปลี่ยนสารแสดงความยินดีระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศอย่างสม่ำเสมอในโอกาสสำคัญๆ อาทิเช่น การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของลัตเวีย เป็นต้น นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังได้สนับสนุนการดำเนินงานในกรอบเวทีการเมืองประเทศระหว่างกัน โดยเฉพาะการให้ความสนับสนุนของลัตเวียต่อผู้สมัครของไทยในองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญๆ เช่น องค์การสหประชาชาติ เป็นต้น
ลัตเวียตระหนักถึงความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของไทยในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะขีดความสามารถในการส่งเสริมการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ลัตเวียได้มองไทยโดยเปรียบเทียบกับบางประเทศในเอเชียในเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ทางการค้า เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่นและจีน ฝ่ายลัตเวียเสนอตัวที่จะเป็นประตูการค้าให้ไทยสำหรับการค้าขายกับรัสเซีย และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช เนื่องจากสภาพที่ตั้งของประเทศมีความคุ้นเคยกับวิธีการค้าและรู้จักอุปนิสัยของคนรัสเซีย อีกทั้งมีท่าเรือปลอดน้ำแข็งอยู่ด้วย นอกจากนี้ ภาวะการเงินของลัตเวียก็เริ่มมีเสถียรภาพขึ้น การโอนเงินตราเข้าออก สามารถกระทำได้โดยมีข้อจำกัดน้อยมาก ส่วนระบบธนาคารอาจจะมีจำนวนมากเกินไป แต่การแข่งขันก็เป็นไปโดยเสรีและเชื่อว่าจำนวนธนาคารซึ่งมีอยู่มากเกินไปในขณะนี้จะลดลงเรื่อย ๆ
สถิติการค้าระหว่างไทยกับลัตเวียในช่วงปี 2549 (ม.ค.-ส.ค.) มีปริมาณการค้ารวม 13.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีมูลค่าการส่งออกไปลัตเวีย 13.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ นำเข้า 0.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 12.6ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับปริมาณการค้าไทย-ลัตเวียในปี 2548 มีมูลค่า 17.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 16.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้า 1.2 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 14.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย คือ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกมส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ รวมทั้งอุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ สัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แปรรูป เป็นต้น
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ชาวลัตเวียเริ่มมาท่องเที่ยวประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เกาะสมุย ระหว่างปี 2537 - 2539 บริษัทนำเที่ยวของลัตเวียได้จัดเที่ยวบินเช่าเหมาลำมายังประเทศไทยหลายเที่ยวบิน โดยมีสถิติดังนี้
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแผยแพร่ภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้ชาว ลัตเวียมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมลัตเวียได้จัดโครงการนำคณะสื่อมวลชนลัตเวียเดินทางมาเยือนไทย ระหว่างวันที่ 8 - 16 มิถุนายน 2546
ลัตเวียแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 36 เทศบาล (novads) กับ 7 นครแห่งรัฐ* (valstspilsēta) ได้แก่
ลัตเวียเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของรัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบอุตสาหกรรมการส่งออกของลัตเวียเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต ลัตเวียพยายามที่จะแสวงหาตลาดใหม่ๆ หลังจากที่ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS พังทลาย แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ในปี 2545 (ค.ศ. 2002) GDP ของ ลัตเวียมีมูลค่า 18.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับด้านดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2541 (ค.ศ. 1998) ขาดดุลร้อยละ 11.1 ของ GDP ซึ่งเป็นการขาดดุลที่สูงที่สุดในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของยุโรปกลางและตะวันออก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินทุน ลัตเวียมีนโยบายที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2540 (ค.ศ. 1997) และต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม 2541 (ค.ศ. 1998) ลัตเวียได้เข้าเป็นสมาชิก WTO ซึ่งได้ช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าให้มากขึ้น และการปรับระบบภายในเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก ก็จะช่วยในการเตรียมการของลัตเวียที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป นอกจากนั้น การเข้าร่วมในเขตการค้าเสรี สินค้าเกษตรระหว่างประเทศบอลติก ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2540 (ค.ศ. 1997) ก็จะช่วยกระตุ้นให้มีการค้าขายระหว่างกันมากขึ้น
ในด้านการค้าระหว่างประเทศ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าที่สำคัญของลัตเวีย
สำหรับเรื่องการว่างงาน ตามสถิติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระบุว่า มีผู้ลงทะเบียนเป็นผู้ว่างงานร้อยละ 8.6 ของประชากรในวัยทำงาน ซึ่งอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นหลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในรัสเซีย โดยเขตที่มีการว่างงานในอัตราสูงอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศ ในด้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลแต่ละชุดได้ดำเนินการอย่างจริงจังที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยในปี 2539 (ค.ศ. 1996) รัฐบาลได้โอนกรรมสิทธิ์รัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่อยู่ในข่ายจะต้องแปรรูปไปให้แก่หน่วยงานPrivatization Agency โดยวางแผนว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางกำหนดเสร็จสิ้นภายในปี 2540 (ค.ศ. 1997) นอกจากนั้น รัฐบาลยังเร่งดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีการดำเนินการในลักษณะผูกขาด โดยมีจุดประสงค์ที่จะให้บริษัทหรือรัฐวิสาหกิจต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจอย่างเดียวกันเข้ามาลงทุน
ประเทศลัตเวียมีมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐบาลคือมหาวิทยาลัยลัตเวีย (อันดับ 1 ของประเทศและอันดับ 1016 ของโลก) และมหาวิทยาลัยชั้นนำของเอกชนคือมหาวิทยาลัยตูรีบา (อันดับ 7 ของประเทศและอันดับ 6084 ของโลก) [19][20]
ลัทธิลูเทอแรน 19.6% คริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ 15.3% คริสต์นิกายอื่น ๆ 1% อื่น ๆ 0.4% และระบุไม่ได้ 63.7%
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.