Loading AI tools
คัมภีร์ของศาสนาอิสลาม จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อัลกุรอาน บ้างเรียก โกหร่าน หรือ โก้หร่าน[1] (อาหรับ: القرآن, แปลตรงตัว 'สิ่งที่ถูกอ่าน') เป็นคัมภีร์ของศาสนาอิสลามที่มุสลิมเชื่อว่าถูกประทานมาจากพระเป็นเจ้า (อัลลอฮ์ ซ.บ.)[2] ซึ่งถือกันโดยทั่วไปกว่าเป็นผลงานวรรณกรรมภาษาอาหรับคลาสสิกที่ดีที่สุด[3][4][i][ii] อัลกุรอานแบ่งออกเป็น 114 บท (ซูเราะฮ์ (อาหรับ: سور; เอกพจน์: อาหรับ: سورة)) ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายโองการ (อายะฮ์ (อาหรับ: آيات; เอกพจน์: อาหรับ: آية))
มุสลิมเชื่อว่าอัลกุรอานถูกประทานแบบปากเปล่าจากพระเจ้าแก่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) ศาสดาคนสุดท้ายผ่านเทวทูตญิบรีล[7][8] ทีละเล็กทีละน้อยเป็นระยะเวลากว่า 23 ปี ตั้งแต่เดือนเราะมะฎอน[9] ในตอนที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) อายุ 40 ปี และจบลงหลังท่านเสียชีวิตใน ค.ศ. 632[2][10][11] มุสลิมถือว่าอัลกุรอานเป็นปาฏิหาริย์ที่สำคัญที่สุดของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) โดยเป็นหลักฐานในการเป็นศาสดาของท่าน[12]และเป็นคัมภีร์ชุดสุดท้ายที่ถูกประทานมาตั้งแต่สมัยนบีอาดัม (อ.) ได้แก่ เตารอต (โทราห์), ซะบูร ("เพลงสดุดี") และอินญีล ("พระวรสาร; ไบเบิล") ในอัลกุรอานมีคำว่า กุรอาน ปรากฏอยู่ 70 ที่ และมีชื่อกับคำอื่นที่สามารถอิงถึงอัลกุรอานได้[13]
มุสลิมเชื่อว่าอัลกุรอานไม่ได้เพียงแค่ถูกประทานลงมาเท่านั้น แต่ยังเป็นพระดำรัสจากพระเจ้าด้วย[14] ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) ไม่ได้เขียนมันเพราะท่านเขียนไม่เป็น โดยมีเหล่าเศาะฮาบะฮ์บางส่วนของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) ทำหน้าที่คัดลอก บันทึกโองการแทน[15] หลังท่านศาสดาเสียชีวิตไม่นาน เหล่าเศาะฮาบะฮ์จึงทำหน้าที่รวบรวมอัลกุรอาน ผ่านการเขียนหรือจำบางส่วน[16] เคาะลีฟะฮ์อุษมานเป็นผู้จัดตั้งฉบับมาตรฐานที่มีชื่อว่าอุษมานิกโคเด็กซ์ ซึ่งทั่วไปถือว่าเป็นต้นแบบของอัลกุรอานในปัจจุบัน แต่มีวิธีการอ่านหลายแบบ[15]
มีการกล่าวถึงอัลกุรอานว่า เป็นคัมภีร์ที่ชี้นำมวลมนุษยชาติ (กุรอาน 2:185) บางครั้งมีรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์จำเพาะ และมักเน้นความสำคัญทางศีลธรรมของเหตุการณ์มากกว่าลำดับการเล่าเรื่อง[17] สิ่งที่เสริมอัลกุรอานด้วยคำอธิบายโองการอัลกุรอานที่คลุมเครือ และการพิจารณาคดีที่มีส่วนในหลักการชะรีอะฮ์ (กฎหมายอิสลาม) ในนิกายส่วนใหญ่ของอิสลาม[18][iii] คือฮะดีษ—ธรรมเนียมทั้งทางวาจาและลายลักษณ์อักษรที่เชื่อว่าเป็นเป็นคำพูดและการกระทำของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) [iv][18] ในช่วงเวลาละหมาด จะอ่านอัลกุรอานเป็นภาษาอาหรับเท่านั้น[19]
ผู้ที่จำอัลกุรอานทั้งเล่มจะถูกเรียกเป็นฮาฟิซ ('ผู้ท่องจำ') ในช่วงเดือนเราะมะฎอน มุสลิมมักจะอ่านอัลกุรอานทั้งเล่มในช่วงละหมาดตะรอเวียะห์ ถ้ามุสลิมคนไหนต้องการอนุมานความหมายของโองการ มุสลิมจะพึ่งอรรถกถาหรือคำบรรยาย (ตัฟซีร) มากกว่าการแปลตรงตัว[20]
คำว่าอัลกุรอานปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานประมาณ 70 ครั้ง โดยมีหลายความหมาย คำนี้เป็นคำนามที่มาจากคำกริยา (มัศดัร) ว่า เกาะเราะอะ (قرأ) แปลว่า 'เขาอ่าน' หรือ 'เขาถูกอ่าน' ซึ่งตรงกับภาษาซีรีแอกว่า qeryānā (ܩܪܝܢܐ) ซึ่งสื่อถึง 'การอ่านคัมภีร์' หรือ 'บทเรียน'[21] ในขณะที่นักวิชาการตะวันตกบางส่วนถือว่าคำนี้มาจากภาษาซีรีแอก ส่วนมุสลิมที่มีอำนาจส่วนใหญ่ถือต้นกำเนิดของคำนี้มาจากคำว่า เกาะเราะอะ[2] ถึงกระนั้น คำนี้กลายเป็นภาษาอาหรับในสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล)[2]
ในบันทึกทางประวัติศาตร์อิสลามได้บันทึกไว้ว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล)ได้รับโองการแรกในถ้ำฮิรออ์ในคืนหนึ่งที่ท่านแยกตัวอยู่คนเดียวบนภูเขา หลังจากนั้น ท่านได้รับโองการใหม่ตลอด 23 ปี ตามรายงานจากฮะดีษและประวัติศาสตร์มุสลิม หลังจากมุฮัมมัดอพยพไปยังมะดีนะฮ์และก่อตั้งสังคมมุสลิมขึ้น ท่านสั่งให้เศาะฮาบะฮ์หลายคนอ่านอัลกุรอาน เรียนรู้ และใช้งานในด้านกฎหมาย กล่าวกันว่าชาวกุเรชบางส่วนที่ถูกจับเป็นเชลยในยุทธการที่บะดัรได้รับอิสรภาพหลังสอนมุสลิมให้อ่านภาษาแบบพื้นฐานออกในช่วงเวลาหนึ่ง ดังนั้น กลุ่มมุสลิมจึงอ่านหนังสือออก เพราะในตอนแรก กุรอานถูกบันทึกในแผ่นดินเหนียว กระดูก และส่วนปลายที่กว้างของใบต้นอินทผลัม อย่างไรก็ตาม อัลกุรอานยังไม่ได้รวมเป็นเล่มในตอนที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) เสียชีวิตใน ค.ศ. 632[22][23][24] มีข้อตกลงระหว่างนักวิชาการว่าท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) ไม่ได้เขียนคัมภีร์นี้[25]
มีฮะดีษในเศาะฮีฮ์ อัลบุคอรีที่บันทึกว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) กล่าวถึงการประทานโองการว่า "บางครั้ง (ถูกประทาน) เหมือนเสียงสั่นของกระดิ่ง" และพระนางอาอิชะฮ์ (รอฎิยัลลอฮุอันฮา) รายงานว่า "ฉันเห็นท่านศาสดาได้รับโองการในวันที่เย็นมาก และสังเกตเห็นเหงื่อไหลออกจากหน้าผากของท่าน (หลังประทานเสร็จแล้ว)"[v] รายงานจากอัลกุรอาน โองการแรกของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) ถูกประทานมาจาก "ผู้ทรงพลังอำนาจอันมากมาย"[27] ซึ่งเป็น "ผู้ทรงพลังอันแข็งแรง ดังนั้นเขาจึงปรากฏในสภาพที่แท้จริง ขณะที่เขาอยู่บนขอบฟ้าอันสูงส่ง แล้วเขาได้เข้ามาใกล้ และเข้ามาใกล้จนชิด เขาเข้ามาใกล้ (จนอยู่) ในระยะของปลายคันธนูทั้งสอง หรือใกล้กว่านั้นอีก"[23][28] Welch กล่าวว่า ยังไม่เป็นที่กระจ่างว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) อ้างตนเองเป็นศาสดา[29]
อัลกุรอานกล่าวถึงท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) เป็น "อุมมี"[30] ซึ่งมักแปลว่า 'ไม่รู้หนังสือ' แต่ความหมายที่แท้จริงซับซ้อนกว่านี้ อัฏเฏาะบะรีกล่าวว่า คำนี้มีสองความหมาย ความหมายแรกคือการที่ไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้ในแบบทั่วไป ความหมายที่สองคือการขาดประสบการณ์หรือไม่รู้ถึงหนังสือหรือพระคัมภีร์ก่อนหน้า (แต่ส่วนใหญ่มักให้แก่ความหมายแรก) การไม่รู้หนังสือของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) ถูกยกเป็นสัญญาณหนึ่งของการเป็นศาสดา โดยฟัครุดดีน อัรรอซีรายงานว่า ถ้าท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) มีความเชี่ยวชาญในด้านการเขียนหรือการอ่าน เขาอาจจะถูกสงสัยว่าได้ศึกษาหนังสือของบรรพบุรุษมาก่อนแล้ว นักวิชาการบางส่วนเช่น Watt ยอมรับในความหมายที่สองของคำว่า อุมมี—โดยบ่งบอกว่าพวกเขาไม่คุ้นเคยกับคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สมัยก่อน[23][31]
โองการสุดท้ายของอัลกุรอานถูกประทานในวันที่ 18 ซุลฮิจญะฮ์ ฮ.ศ. 10 ซึ่งน่าจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ค.ศ. 632 ที่ท่านศาสดาเสร็จจากการให้โอวาทที่เฆาะดีรคุมม์
หลังจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) เสียชีวิตใน ค.ศ. 632 เศาะฮาบะฮ์จำนวนมากที่รู้กุรอานจากใจถูกฆ่าในยุทธการที่อัลยะมามะฮ์โดยมุซัยลิมะฮ์ อะบูบักร์ (เสียชีวิตใน ค.ศ. 634) เคาะลีฟะฮ์องค์แรกตัดสินใจรวบรวมหนังสือให้เป็นฉบับเดียว โดยให้ซัยด์ อิบน์ ษาบิต (เสียชีวิตใน ค.ศ. 655) เป็นคนรวบรวมอัลกุรอาน เพราะ "เขาเคยเขียนพระดำรัสจากศาสนทูตของอัลลอฮ์" ดังนั้น กลุ่มผู้บันทึก โดยเฉพาะซัยด์ จึงรวบรวมโองการและผลิตเป็นเอกสารตัวเขียนฉบับเต็ม โดยต้องเก็บจากแผ่นหนัง ก้านใบตาล หินบาง และจากคนที่จำขึ้นใจ เอกสารเหล่านี้ยังคงอยู่กับเขาจนกระทั่งอะบูบักร์เสียชีวิต[32] ใน ค.ศ. 644 หน้าที่นี้จึงตกไปเป็นของฮัฟเศาะฮ์ บินต์ อุมัร ภรรยาหม้ายของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) แล้วท้ายที่สุด อุสมาน อิบน์ อัฟฟาน เคาะลีฟะฮ์องค์ที่ 3 จึงสั่งให้ทำฉบับมาตรฐานจากของฮัฟเศาะฮ์ในช่วงประมาณ ค.ศ. 650[33]
ในประมาณ ค.ศ. 650 เคาะลีฟะฮ์องค์ที่สาม อุษมาน อิบน์ อัฟฟาน (เสียชีวิตใน ค.ศ. 656) เริ่มสังเกตเห็นความแตกต่างในการออกเสียงกุรอาน เพราะศาสนาอิสลามเริ่มขยายออกนอกคาบสมุทรอาหรับไปยังเปอร์เซีย ลิแวนต์ และแอฟริกาเหนือ เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของอัลกุรอาน พระองค์จึงสั่งให้คณะกรรมการที่มีซัยด์เป็นหัวหน้า นำเอกสารของอะบูบักร์มาใช้และเตรียมทำอัลกุรอานฉบับมาตรฐาน[22][34] จากนั้นจึงส่งฉบับนั้นไปทั่วโลกมุสลิมและเชื่อว่าฉบับอื่น ๆ อาจถูกเผาทำลาย[22][35][36][37] นักวิชาการมุสลิมยอมรับว่าอัลกุรอานฉบับปัจจุบันเป็นฉบับดั้งเดิมที่รวบรวมโดยอะบูบักร์[23][24][vi]
ชีอะฮ์รายงานว่า อะลี (เสียชีวิต ค.ศ. 661) รวมฉบับกุรอานไม่นานหลังท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) เสียชีวิต ถึงกระนั้น ท่านไม่ได้โต้แย้งในการทำกุรอานฉบับมาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีกุรอานฉบับอื่น เช่นฉบับของอิบน์ มัสอูดกับอุบัย อิบน์ กะอับ ไม่มีเล่มใดเหลือรอดมาถึงปัจจุบัน[2][22][39]
มุสลิมเชื่อว่าอัลกุรอานคือพระดำรัสสุดท้ายที่พระเจ้าประทานแก่มวลมนุษย์ ซึ่งเป็นคำแนะนำจากพระเจ้าที่เปิดเผยแก่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) ผ่านเทวทูตญิบรีล[10][40]
เพราะเหตุนี้ จึงเป็นเหตุให้
ไม่ควรตั้งมันใต้หนังสืออื่น ๆ แต่ตั้งข้างบนหนังสืออื่น ๆ เสมอ...และจะต้องฟังอย่างตั้งใจ มันเป็นวัตถุมงคลที่สามารถปัดเป่าโรคและภัยพิบัติได้[41][42]
ตามธรรมเนียม มีการให้ความสำคัญอย่างมากในการให้เด็ก ๆ จำโองการอัลกุรอานมากกว่า 6,200 โองการ ใครก็ตามที่ทำได้จะได้ยศนำหน้าว่าฮาฟิซ และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายคนถือว่ามันมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์[43][44]
บางโองการในอัลกุรอานกล่าวโดยนัยว่าถ้ามีคนอ่านอัลกุรอาน แม้แต่คนที่ไม่พูดภาษาอาหรับก็สามารถเข้าใจได้[45] อัลกุรอานกล่าวถึงคัมภีร์ฉบับก่อนถูกเขียนว่า "อยู่ในแผ่นจารึกที่ถูกเก็บรักษาไว้" ซึ่งเป็นพระดำรัสจากพระเจ้าก่อนที่จะถูกประทานลงมา[46][47]
มุสลิมเชื่อว่าโองการในอัลกุรอานสอดคล้องกับโองการที่ประทานแก่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) และตามการตีความในโองการ 15:9 ระบุว่าถูกป้องกันจากการบิดเบือน ("แท้จริงเราได้ให้ข้อตักเตือน (อัลกุรอาน) ลงมา และแท้จริงเราเป็นผู้รักษามันอย่างแน่นอน")[48]
ผู้คนจะอ่านอัลฟาติฮะฮ์หลายครั้งในเวลาละหมาดและในโอกาสอื่น ๆ ซูเราะฮ์นี้มี 7 อายะฮ์ ซึ่งเป็นซูเราะฮ์ที่ถูกอ่านมากที่สุดในอัลกุรอาน:[2]
بِسْمِ ٱللَّهِ ٱلرَّحْمَٰنِ ٱلرَّحِيمِ |
ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ |
—กรอาน 1:1–7 | —แปลไทย |
การเคารพข้อความอัลกุรอานเป็นสิ่งสำคัญในความเชื่อของมุสลิมหลายคน โดยบางส่วนเชื่อว่าตนต้องทำน้ำละหมาดก่อนจับอัลกุรอาน แม้ว่ามุมมองนี้จะไม่เป็นสากลก็ตาม[2] อัลกุรอานที่ขาดชำรุดจะเก็บในผ้าและตั้งในที่ที่ปลอดภัย ฝังในมัสยิดหรือสุสานมุสลิม หรือเผาและนำขี้เถ้าไปฝังหรือโปรยลงน้ำ[49]
การแปลอัลกุรอานมักมีปัญหาและความยุ่งยากเสมอ ส่วนใหญ่โต้แย้งว่าโองการในอัลกุรอานไม่สามารถแปลเป็นภาษาหรือรูปแบบอื่นได้[50] มากไปกว่านั้น คำศัพท์ภาษาอาหรับอาจมีหลายความหมายขึ้นอยู่กับรายละเอียด ทำให้การแปลอย่างสมบูรณ์ยิ่งยากขึ้นไปอีก[51]
ถึงกระนั้น อัลกุรอานก็ถูกแปลเป็นภาษาในทวีปแอฟริกา, เอเชีย และยุโรปส่วนใหญ่[39] ผู้แปลอัลกุรอานคนแรกคือซัลมาน อัลฟาริซี ผู้แปลซูเราะฮ์อัลฟาติฮะฮ์ไปเป็นภาษาเปอร์เซียในคริสต์ศตวรรษที่ 7[52] ต่อมามีการแปลอัลกุรอานเสร็จใน ค.ศ. 884 ที่อัลวาร์ (แคว้นสินธ์ ประเทศอินเดีย ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน) ตามพระราชกระแสรับสั่งของอับดุลลอฮ์ อิบน์ อุมัร อิบน์ อับดุลอะซีซ ตามคำขอของฮินดูราชเมฮ์รุก (Hindu Raja Mehruk)[53]
ใน ค.ศ. 1936 มีการแปลอัลกุรอานไปแล้ว 102 ภาษา[51] ใน ค.ศ. 2010 ทาง Hürriyet Daily News and Economic Review รายงานว่า ในนิทรรศการกุรอานนานาชาติครั้งที่ 18 ที่เตหะราน มีอัลกุรอานที่ถูกแปลเป็นภาษาอื่นถึง 112 ภาษา[54]
Lex Mahumet pseudoprophete อัลกุรอานฉบับแปลของรอเบิร์ตแห่งเคตตันใน ค.ศ. 1143 เป็นหนังสือแรกที่แปลเป็นภาษาตะวันตก (ภาษาลาติน)[55]
พระองค์ได้ทรงประทานคัมภีร์นั้น ลงมาแก่เจ้าเป็นครั้งคราว พร้อมด้วยความจริง เพื่อยืนยันคัมภีร์ที่อยู่เบื้องหน้าคัมภีร์นั้น และได้ทรงประทานอัตเตารอต และอัล-อินญีล (ให้มี) มาก่อน ในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์...[57]
อัลกุรอานได้ระบุความสัมพันธ์ของคัมภีร์ก่อนหน้า (โทราห์และพระวรสาร) ว่ามาจากพระเจ้าองค์เดียวกัน[58]
Christoph Luxenberg กล่าวว่าภาษาในอัลกุรอานมีความคล้ายกับภาษาซีรีแอก[59] อัลกุรอานมีเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนและเหตุการณ์ในคัมภีร์ของชาวยิวและคริสต์ (ทานัค, ไบเบิล) แม้ว่าจะมีเนื้อหาที่แตกต่างกัน ท่านนบีมูซา (อ.) ถูกกล่าวถึงในอัลกุรอานมากกว่าคนอื่น ๆ[60] และพระเยซูถูกกล่าวถึงในอัลกุรอานมากกว่าท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล) (เฉพาะชื่อ — มุฮัมมัดมักพาดพิงในฐานะ "ท่านศาสดา" หรือ "ศาสนทูต") ส่วนมารีย์ถูกกล่าวถึงในอัลกุรอานมากกว่าพันธสัญญาใหม่[61]
"Its outstanding literary merit should also be noted: it is by far, the finest work of Arabic prose in existence."[5]
"It may be affirmed that within the literature of the Arabs, wide and fecund as it is both in poetry and in elevated prose, there is nothing to compare with it."[6]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.