Loading AI tools
จุดผ่านแดนถาวรของประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก[1] หรือ ด่านอรัญประเทศ[2] เป็นจุดผ่านแดนถาวรระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาภายในพื้นที่สระแก้ว ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านคลองลึก ตำบลอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยมีคลองลึก[3]เป็นเส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ ตั้งอยู่ตรงข้ามเมืองปอยเปต อำเภอโอโจรว[4] จังหวัดบันทายมีชัย ประเทศกัมพูชา[5]
จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก | |
---|---|
จุดผ่านแดนฝั่งกัมพูชา ตรงข้ามจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก | |
พื้นที่พรมแดนไทย (ซ้าย) และกัมพูชา (ขวา) | |
ที่ตั้ง | |
ประเทศ | ไทย, กัมพูชา |
ที่ตั้ง |
|
พิกัด | 13.6621°N 102.5487°E |
รายละเอียด | |
เปิดทำการ | พ.ศ. 2449 ด่านเก็บภาษี พ.ศ. 2474 ด่านพรมแดน พ.ศ. 2534 จุดผ่อนปรนการค้า พ.ศ. 2540 จุดผ่านแดนถาวร |
ดำเนินการโดย | • กรมศุลกากร • สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง |
ประเภท | จุดผ่านแดนถาวร |
จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก มีจุดเริ่มต้นมาจากการเสียเมืองเสียมราฐ เมืองพระตะบอง และเมืองศรีโสภณ คืนให้กับประเทศฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2449 ทางการไทยจึงได้ตั้งด่านเก็บภาษีอรัญประเทศขึ้น เพื่อจัดเก็บภาษีต่าง ๆ ในการเข้าออกของสินค้าต่าง ๆ ในจุดผ่านแดนดังกล่าว สังกัดกรมสรรพากรนอก กระทรวงมหาดไทย[5]
จากนั้นในปี พ.ศ. 2474เมื่อเปลี่ยนโครงสร้างของหน่วยงานด้านการจัดเก็บภาษีใหม่จึงได้โอนมาขึ้นกับกรมศุลกากร สังกัดในด่านพรมแดนของท่ากรุงเทพตามกฎเสนาบดี ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีที่ตั้งอยู่หลังสถานีรถไฟอรัญประเทศ เพื่อจัดเก็บภาษีจากสินค้าที่มาพร้อมกับการขนส่งทางรถไฟจากกัมพูชาในขณะนั้น ซึ่งอยู่ห่างจากเขตแดนไทย - กัมพูชาประมาณ 6 กิโลเมตร ในปี พ.ศ. 2528 ด่านศุลกากรอรัญประเทศจึงได้ย้ายที่ทำการมาอยู่บริเวณบ้านคลองลึก ถนนสุวรรณศร ตำบลอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ โดยห่างจากเขตแดนประมาณ 1 กิโลเมตร[5]
ในช่วงปี พ.ศ. 2518 ประเทศไทยได้ประกาศปิดแนวชายแดน เนื่องจากปัญหาภายในของประเทศกัมพูชาคือสงครามกลางเมืองจนกระทั่งเกิดสงครามกัมพูชา–เวียดนามขึ้นมา แต่ถึงแม้ทางรัฐบาลจะประกาศปิดพรมแดน แต่ก็ยังมีประชาชนกัมพูชาลี้ภัยข้ามมายังฝั่งไทยอยู่ตลอด และยังคงมีการลักลอบค้าขายกันระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ จนกระทั่งเกิดตลาดมืดขึ้นมาในช่วงปี พ.ศ. 2522 - 2524 ซึ่งมีเงินหมุนเวียนมากกว่า 200 ล้านบาทในขณะนั้น[6]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 จังหวัดปราจีนบุรี (จังหวัดสระแก้วยังไม่แยกตัวในขณะนั้น) และกองกำลังบูรพาจึงได้ประชุมร่วมกันและมีความเห็นร่วมกันที่จะตั้งจุดผ่อนปรนขึ้น โดยแรกกองกำลังบูรพาได้เสนอให้เปิดจุดผ่อนปรนการค้าขึ้นบริเวณบ้านหนองเสม็ด อำเภอตาพระยา เนื่องจากในพื้นที่ตรงข้ามอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังกัมพูชาที่รักชาติ ง่ายต่อการรักษาความปลอดภัยในจุดผ่อนปรนดังกล่าว[6] ซึ่งในขณะเดียวกันนั้นได้ผ่อนผันให้ทำการค้าขายได้บริเวณบ้านโนนหมากมุ่น อำเภอตาพระยา บ้านโคกสะแบง อำเภออรัญประเทศ และบ้านเขาดิน อำเภอคลองหาด ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือบริเวณบ้านโคกสะแบง มีการแลกเปลี่ยนสินค้าทางการเกษตรกับสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น โดยมีประชาชนข้ามแดนไปซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าฝั่งกัมพูชาวันละประมาณ 4,000-5,000 คนต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่มากเกินความควบคุมของกองกำลังบูรพา จึงได้เสนอให้มีการประชุมร่วมกับจังหวัดอีกครั้งในวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2533 เพื่อเสนอให้เปิดจุดผ่อนปรนการค้าในบริเวณบ้านหนองเสม็ด อำเภอตาพระยา พร้อมด้วยบริเวณบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศอีกแห่ง และผ่อนผันให้ค้าขายที่บ้านโคกสะแบงได้จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2533 เท่านั้น โดยจังหวัดปราจีนบุรีได้เสนอการขอเปิดจุดผ่อนปรนดังกล่าวไปยังกระทรวงมหาดไทย และสภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินการ และได้รับการตอบกลับมาว่าสามารถเปิดจุดผ่อนปรนการค้าได้เพียงแค่ที่บ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณและความพร้อมของพื้นที่บ้านคลองลึกที่มีความเหมาะสมมากกว่า[6]
จากนั้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2534 ได้มีการจัดการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา โดยผู้บัญชาการกองกำลังบูรพา และผู้ว่าราชการจังหวัดบันเตียเมียนเจย (บันทายมีชัย) ได้ข้อสรุปว่าจะเปิดตลาดการค้าขึ้นบริเวณสถานีรถไฟปอยเปตซึ่งห่างจากพรมแดนไทยประมาณ 500 เมตร โดยยังไม่กำหนดจุดแน่นอน และได้ประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2534 พร้อมทั้งกำหนดจุดที่จะเปิดพื้นที่การค้า ในฝั่งกัมพูชาคือบริเวณสถานีรถไฟปอยเปต และในฝั่งไทยบริเวณโรงเกลือเก่าซึ่งอยู่ทิศเหนือของทางรถไฟ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านไร่ ติดกับพื้นที่บ้านคลองลึก ในเขตของเทศบาลอรัญประเทศ โดยฝ่ายไทยและกัมพูชาได้เปิดจุดผ่อนปรนการค้าร่วมกันเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2534 เป็นที่รู้จักกันในชื่อตลาดโรงเกลือมาจนถึงปัจจุบัน[6]
หลังจากเปิดจุดผ่อนปรนการค้าบ้านคลองลึกแล้ว ได้มีการค้าขายระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งในขณะนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่อีกหลายข้อ อาทิ ยังมีการกำหนดประเภทสินค้าที่สามารถซื้อขายกัน ยังมีระยะเวลาปิดเปิดจุดผ่านแดนซึ่งต้องพิจารณาตามสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้มีการพิจารณาเพื่อยกระดับขึ้นเป็นจุดผ่านแดนถาวร จึงได้มีการขอความเห็นชอบจากรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศในขณะนั้น ซึ่งฝั่งไทยได้ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในประกาศกระทรวงมหาดไทยตามมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบ[6] โดยมีผลอย่างเป็นทางการตามที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2540[7]
จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึกเปิดทำการตั้งแต่เวลา 06.00–22.00 น.[4][8] สำหรับผู้ที่ต้องการจะเดินทางผ่านแดนนั้นจะต้องมีเอกสารประจำตัว อย่างใดอย่างหนึ่ง คือหนังสือเดินทาง (passport) หรือบัตรผ่านแดน (border pass)[9][10]
จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึกมีตลาดการค้าชายแดนที่เรียกว่า ตลาดโรงเกลือ ซึ่งมาจากสถานที่ตั้งของตลาดเคยเป็นโรงเกลือเก่า ซึ่งเป็นตลาดการค้าชายแดนในภาคตะวันออกของประเทศไทยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่เต็มไปด้วยสินค้าชนิดต่าง ๆ จำหน่ายทั้งขายปลีก และขายส่ง รวมถึงสินค้ามือสองต่าง ๆ โดยภายในตลาดโรงเกลือนั้น มีตลาดย่อยภายในจำนวน 5 ตลาด[11] ได้แก่
นอกจากนี้ยังมีบ่อนกาสิโนขนาดใหญ่ในเมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก เปิดให้บริการเป็นจำนวนมากโดยในตลอดทั้งปีนั้นมีผู้ข้ามฝั่งไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในประเทศอื่น ๆ ที่เดินทางมาเที่ยวชมและเล่นการพนัน[12]
ด่านพรมแดนบ้านคลองลึก[13] อยู่ภายในความดูแลของด่านศุลกากรอรัญประเทศ ตั้งอยู่เลขที่ 371 ถนนสุวรรณศร อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อยู่ห่างจากพรมแดนไทย–กัมพูชาประมาณ 1 กิโลเมตร[5]
ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้วเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก[14]
จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก สามารถเดินทางมาได้ทั้งด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล และระบบขนส่งสาธารณะ[15] เพื่อเยี่ยมชมตลาดการค้าชายแดน และข้ามไปยังฝั่งกัมพูชา โดยก่อนหน้านี้จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึกเป็นเส้นทางหลักในการข้ามไปยังประเทศกัมพูชา ทำให้ในบางช่วงเวลาเกิดการจราจรที่ติดขัด[16] ทำให้ทางการไทยและกัมพูชาหารือกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้ยกระดับจุดผ่อนปรนการค้าบ้านเขาดินขึ้นเป็นจุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน เพื่อบรรเทาความหนาแน่นของจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก[17]
จากจังหวัดสระแก้ว เดินทางตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 (ถนนสุวรรณศร) ไปทางทิศตะวันออก มุ่งหน้าอำเภออรัญประเทศ เส้นทางจะสิ้นสุดบริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก
ปัจจุบันมีการเดินรถโดยสารระหว่างกรุงเทพมหานคร–อรัญประเทศ และการเดินรถจากกรุงเทพฯ ข้ามไปยังฝั่งกัมพูชา โดยมีปลายทางที่กรุงพนมเปญ ผ่านทางด่านพรมแดนถาวรบ้านคลองลึก ประกอบไปด้วย
สามารถนั่งรถไฟจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตามทางรถไฟสายตะวันออก มาที่สถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก มีการเดินขบวนรถทุกวัน โดยขบวนรถดังนี้
โดยในอนาคตมีแผนที่จะกลับมาเดินรถเข้าไปในประเทศกัมพูชาอีกครั้ง ทั้งการบูรณะสะพานคลองลึกข้ามคลองพรมโหดที่เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาโดยฝ่ายไทย[21] และการเตรียมความพร้อมเส้นทางเพื่อเชื่อมต่อและเดินรถ เหลือเพียงความพร้อมของกัมพูชาในการเริ่มเดินรถเท่านั้น[22]
กรมศุลกากรได้ดำเนินการก่อสร้างด่านศุลกากรอรัญประเทศแห่งใหม่ บริเวณบ้านป่าไร่ หมู่ที่ 8ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว บนพื้นที่ราชพัสดุที่ได้รับมอบจากกรมธนารักษ์ เนื้อที่ 525 ไร่ 3 งาน อยู่ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึกประมาณ 10 กิโลเมตร[23] โดยวางศิลาฤกษ์อาคารด่านศุลกากรไปเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560 โดยคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานในปี พ.ศ. 2562[24]
สำหรับการพัฒนาดังกล่าวเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น และรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยมีพื้นที่ของด่านศุลกากรสำหรับตรวจสินค้า และอาคารตรวจผู้โดยสารอยู่ในอาณาเขตเดียวกัน เพื่อความสะดวกรวดเร็วและรัดกุมในการควบคุมดูแลการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งบริเวณดังกล่าวเชื่อมต่อกับเมืองโอเนียง รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ปอยเปต–โอเนียง[24] แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะยังเป็นพื้นที่ทับซ้อนก็ตาม[25]
ปัจจุบันยังไม่มีการเชื่อมต่อเส้นทางและการเปิดใช้งานแต่อย่างใด[23] มีเพียงแนวคิดการใช้งานพื้นที่ชั่วคราวเพื่อใช้เป็นสถานที่กักตัวแรงงานจากประเทศกัมพูชาในการกักตัวเพื่อสังเกตอาการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปี พ.ศ. 2563[23]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.